อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม/เรื่อง 4
ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีเหตุสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งไม่ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร คือ ที่ได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับโปจุเกต เปนทีแรกที่กรุงสยามจะได้เปนไมตรีกับฝรั่ง เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๘๐ พ.ศ. ๒๐๖๑ ตรงกับ ค.ศ. ๑๕๑๘
ตำนานเหตุการณ์ที่ฝรั่งชาติโปจุเกตมาเปนไมตรีนั้น แต่เดิมมาทางที่ไปมาค้าขายในระหว่างยุโรปกับประเทศทางตวันออก (คือประเทศทั้งหลายตั้งแต่อินเดียตลอดไปจนถึงเมืองจีน) ไปมากันใน ๓ ทาง คือ ทางสายเหนือ เดิรบกได้ตั้งแต่เมืองจีนมาข้างเหนือประเทศธิเบต ไปลงแม่น้ำอมุราหรือโอซุส มีทางจากอินเดียขึ้นไปบัญจบกันที่แม่น้ำนี้ ล่องน้ำลงไปแล้วต้องขึ้นเดิรบกเลียบชายทเลคัสเปียนไปลงท่าที่ทเลดำ ทาง ๑ ทางสายกลาง ใช้เรือแต่เมืองจีนแล่นมาทางทเลจีน (ความปรากฎว่า จีนรู้จักใช้เข็มทิศเดิรเรือในทเลมาแต่เวลาร่วมพุทธกาลแล้ว) ผ่านอ่าวสยามไปทางเกาะสุมาตรา แล่นเลียบไปจนถึงอินเดีย จากอินเดียก็ใช้เรือแล่นเลียบฝั่งไปทางอ่าวเปอเซียจนถึงแม่น้ำติคริส แล้วขึ้นเดิรบกไปลงท่าที่ทเลเมดิเตอเรเนียน ทางสายกลางนี้ถ้าเดิรบกจากอินเดียไปทางประเทศเปอเซียก็ได้เหมือนกัน อยู่มาพวกอาหรับที่อยู่ตามเมืองชายทเลแดงซึ่งเคยแล่นเรือเลียบฝั่งมาอินเดียทางอ่าวเปอเซียมาสังเกตรู้ลมมรสุมว่า มีระดูที่ลมพัดแน่วแน่อยู่ทางทิศเดียว จึงจับเวลาให้สบมรสุมแล่นเรือข้ามทเลอาหรับไปมาอินเดียได้ เกิดพบทางเส้นใต้นี้อีกสาย ๑ รับสินค้าบันทุกเรือไปทางทเลแดงได้จนถึงประเทศอิยิปต์ ต้องขึ้นเดิรบกหน่อยหนึ่งก็ไปถึงท่าทเลเมดิเตอเรเนียน พวกพ่อค้าที่ทำการค้าขายในระหว่างประเทศทางตวันออกกับยุโรปเดิรไปมาค้าขายตามทาง ๓ สายที่กล่าวมานี้ อนึ่ง แต่โบราณมา สิ่งสินค้าซึ่งเปนของเกิดทางประเทศฝ่ายตวันออก เปนของดีมีราคาที่ต้องการใช้ในยุโรป มีหลายอย่าง เปนต้นว่า ผ้าแพรแลถ้วยชามซึ่งส่งไปจากเมืองจีน ทองคำแลเพ็ชรนิลจินดาซึ่งเปนของเกิดในสุวรรณภูมิประเทศแลในอินเดีย ตลอดจนเครื่องเทศมีขิงแลพริกไทยเปนต้นซึ่งปลูกเปนแต่ทางตวันออกนี้ บันดาที่ซื้อขายใช้สอยกันในยุโรปเปนของที่พ่อค้าหาไปจากประเทศทางตวันออกทั้งนั้น เพราะฉนั้น การค้าขายกับประเทศทางตวันออกเปนการที่เกิดกำไรแก่พวกพ่อค้า แลเปนผลประโยชน์แก่เมืองท่าที่รับส่งสินค้าเปนอันมากแต่โบราณ
เมื่อ พ.ศ. ๕๔๓ เกิดพระเยซูขึ้นในหมู่ชนชาติยิวในมณฑลปาเลสตินซึ่งเปนเมืองขึ้นของประเทศโรมในยุโรป พระเยซูประกาศตั้งคฤสตสาสนา มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาเกิดขึ้น แต่พวกยิวที่เปนศัตรูเก่าของพระเยซูมีมากกว่า จึงจับพระเยซูประหารชีวิตเสียที่เมืองเยรูซาเลมเมื่อ พ.ศ. ๕๗๔ แต่เหตุที่พระเยซูถูกประหารชีวิตนั้นเอง กลับทำให้พวกสานุศิษย์เชื่อมั่นในลัทธิสาสนาของพระเยซู จนคฤสตสาสนาแพร่หลายไปถึงยุโรป จำเนียรกาลนานมา เปนสาสนาที่ฝรั่งนับถือแทบทั่วไป
ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๔ เกิดพระนาบีมหมัดขึ้นในหมู่ชนชาติอาหรับที่เมืองเมกกะ พระนาบีมหมัดประกาศตั้งสาสนาอิสลามขึ้นอีกสาสนา ๑ นับศักราชสาสนาอิสลามตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๑๑๖๕ พระนาบีมหมัดเที่ยวรบพุ่งแผ่สาสนาอิสลามอยู่ ๑๐ ปี ก็กระทำกาลกิริยาเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๕ ต่อจากนั้นมา มีกาหลิฟ (ภาษาอาหรับแปลว่า ผู้รับทายาท) เปนหัวหน้าสาสนาอิสลามทำการรบพุ่งแผ่อาณาจักรแลสาสนาอิสลามตามอย่างพระนาบีมหมัดต่อมา สาสนาอิสลามแพร่หลายรวดเร็วมาก เมื่ออุมาเปนกาหลิฟ นับเปนองค์ที่ ๒ พวกอิสลามได้บ้านเมืองในประเทศที่ใกล้เคียงไว้ในอำนาจตั้งแต่ต่อแดนอินเดียออกไปจนถึงยุโรป ทางค้าขายไปมาที่กล่าวมาแล้วทั้งสายใต้แลสายกลางตกอยู่ในอำนาจของพวกอิสลาม อุมาแลเห็นประโยชน์ที่อาจจะได้ในการค้าขายมาเปนกำลังตั้งอำนาจแลบำรุงการแผ่สาสนาอิสลาม จึงอุดหนุนให้พวกที่ถือสาสนาอิสลาม โดยมากเปนพวกอาหรับ ให้เอาเปนธุระทำการค้าขายพร้อมไปกับทำกิจในสาสนา แม้พวกที่ส่งไปเที่ยวสอนสาสนาอิสลามตามเมืองต่างประเทศที่ยังไม่ได้ขึ้นแก่กาหลิฟ ก็สั่งให้ไปเที่ยวตั้งทำการค้าขายพร้อมกับการสั่งสอนสาสนาด้วย เหตุนี้พวกฝรั่งที่ถือสาสนาพระเยซูเปนอริอยู่กับพวกอิสลามด้วยผิดลัทธิสาสนากัน จะค้าขายกับประเทศทางตวันออกจึงไม่สดวกดังแต่ก่อน ต้องคิดหาทางที่จะหลีกเลี่ยงอำนาจของพวกอิสลามมาค้าขายกับประเทศทางตวันออกโดยทางข้างสายเหนือ แต่ต่อมาเมื่อประเทศในทางสายนั้นตกอยู่ใต้อำนาจแขกอิสลาม ฝรั่งก็ต้องจำใจรับสินค้าทางตวันออกที่พวกอิสลามนำไปขาย ต้องยอมเสียกำไรให้แก่พวกอิสลามอีกชั้น ๑
ความคิดเห็นได้มีแก่ฝรั่งมานานแล้วว่าน่าจะแล่นเรือทางทเลเลียบตามแนวฝั่งตวันตกของทวีปอาฟริกามาถึงอินเดียแลเมืองจีนได้ แต่ในครั้งนั้นความรู้ภูมิศาสตร์ยังมีน้อย แลกำลังติดการรบพุ่งกับพวกแขกอิสลามเสียช้านานหลายร้อยปี จน พ.ศ. ๑๖๔๓ เมื่ออำนาจพวกอิสลามถอยลง ฝรั่งตีคืนบ้านเมืองที่เปนประเทศสเปนแลโปจุเกตเดี๋ยวนี้ได้โดยมาก ได้ตั้งราชอาณาจักรโปจุเกตขึ้นแล้วมีราชโอรสของพวกพระเจ้าดองยวงพระเจ้าโปจุเกตองค์ ๑ ทรงพระนามว่า ดองเฮนริก เปนผู้มีอัธยาศัยนิยมในวิชาการเดิรเรือ คิดพากเพียรจะเดิรเรือมาให้ถึงอินเดีย จึงรับอาสาพระเจ้าแผ่นดินโปจุเกตแต่งเรือไปเที่ยวตามเมืองต่างประเทศแสวงหาผลประโยชน์อย่างวิธีซึ่งพวกอิสลามเคยทำมาแต่ก่อนบ้าง คือ เที่ยวสอนคฤสตสาสนาให้แพร่หลาย ประการ ๑ เที่ยวค้าขายหากำไรเปนผลประโยชน์ให้แก่เมืองโปจุเกต ประการ ๑ แลถ้าพบบ้านเมืองควรจะเอาไว้ในอำนาจได้ ก็ขยายอาณาจักรโปจุเกตให้กว้างขวางออกไปด้วย ประการ ๑ พระเจ้าแผ่นดินโปจุเกตทรงพระดำริห์เห็นชอบด้วย จึงอนุญาตให้ดองเฮนริกลงมาตั้งอยู่ที่เมืองชายทเลแห่ง ๑ ดองเฮนริกเกลี้ยกล่อมผู้ที่ชำนาญการเดิรเรือแลฝึกสอนผู้คนควบคุมเข้าได้เปนพวก ลงทุนจัดหาเรือเดิรทเลบันทุก⟨สิ⟩นค้าของยุโรป ส่งเรือเหล่านั้นไปค้าขายตามเมืองอาฟริกาข้างตวันตกได้สำเร็จประโยชน์มาก คือ ไปได้บ้านเมืองที่ฝรั่งยังไม่เคยไปแต่ก่อนเปนเมืองขึ้นของโปจุเกตหลายแห่ง ในส่วนการค้าขาย เอาสินค้ายุโรปไปเที่ยวแลกของดีมีราคาในอาฟริกา คือ งาช้าง แลทองคำ เปนต้น ก็ได้กำไรมาก ส่วนการสอนคฤสตสาสนานั้น นอกจากพาบาดหลวงไปเที่ยวสั่งสอน ดองเฮนริกยังให้เที่ยวรับซื้อพวกแขกดำซึ่งเปนทาสเปนเชลยอยู่ตามอาฟริกาพาบันทุกเรือมาเมืองโปจุเกตขายต่อไปแก่พวกโปจุเกตที่มีใจศรัทธาจะสั่งสอนพวกมิจฉาทิษฐิรับซื้อไปไว้ใช้สอยแลสั่งสอนให้เข้ารีตคฤสตสาสนา เกิดกำไรในการนี้ด้วยอีกประการ ๑ เมื่อการที่ดองเฮนริกทำได้ประโยชน์ดีเกินกว่าที่คาดหมายดังกล่าวมานี้ จึงเกิดความวิตกขึ้นว่าจะมีผู้อื่นมาทำการประชัน พระเจ้าแผ่นดินโปจุเกตจึงตั้งพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดแต่งเรือออกมาเที่ยวค้าขายทำการประชันกับดองเฮนริก แลเพื่อจะป้องกันมิให้ฝรั่งชาติอื่นมาแย่งชิง ดองเฮนริกได้ไปทูลขออาชญาต่อโป๊บผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ในคฤสตสาสนาที่เมืองโรม โป๊ปก็ออกอาชญาอนุญาตให้แก่ดองเฮนริกว่า บันดาเมืองมิจฉาทิษฐิที่โปจุเกตได้ไปพบปะ ให้เปนอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินโปจุเกต ห้ามมิให้ชาติอื่นไปแย่งชิง แต่โปจุเกตจะต้องทำการสอนคฤสตสาสนาให้แพร่หลายในบันดาเมืองที่ได้ไปพบปะนั้น จึงจะถืออำนาจตามอาชญาของโป๊ปได้ เมื่อดองเฮกริกทำการสำเร็จประโยชน์แลได้อำนาจดังกล่าวมาแล้ว กิติศัพท์ก็แพร่หลาย มีพวกฝรั่งทั้งชาติโปจุเกตแลชาติอื่นขอเข้าเปนพวกดองเฮนริกเปนอันมาก ดองเฮนริกแต่งเรือไปเที่ยวตามเมืองต่างประเทศโดยอาการดังกล่าวมาคราวละ ๒ ลำบ้าง ๓ ลำบ้างทุก ๆ ปี ตั้งแต่ดองเฮนริกได้เริ่มทำการมาตลอดเวลา ๔๐ ปี ตรวจทางทเลตามฝั่งอาฟริกาลงมาได้เพียงแหลมเวอเด ด้วยการที่ใช้ใบในมหาสมุทร์แอตแลนติกต้องฝ่าคลื่นฝืนลม เรือที่มีใช้อยู่ในเวลานั้นลงมาได้ด้วยยาก ดองเฮนริกสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๓ เพราะการที่ดองเฮนริกทำเพราะกลายเปนการสำคัญของโปจุเกต ทั้งที่ได้ทรัพย์แลได้อำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินโปจุเกตจึงจัดเอาเปนราชการแผ่นดินต่อมา
ถึง พ.ศ. ๒๐๒๙ ในรัชกาลพระเจ้าดองยวงที่ ๒ ครองประเทศโปจุเกต พระเจ้าดองยวงแต่งให้บาโทโลมิวเดอดายส์คุมเรือกำปั่น ๒ ลำแล่นมาตรวจทาง บาโทโลมิวเดอดายส์แล่นก้าวในมหาสมุทร์แอตแลนติกหลงเลยมาได้ถึงแหลมอาฟริกาใต้ที่เรียกว่า แหลมกุ๊ดโฮ๊บ ในบัดนี้ ได้ความรู้ว่า ได้พบทางที่จะมาอินเดียเปนแน่แล้ว บาโทโลมิวเดอดายส์จะแล่นเรือเลยมาอินเดีย แต่พวกลูกเรือถูกลำบากกรากกรำเสียช้านาน ไม่ยอมแล่นต่อมาอีก จึงจำต้องกลับไปเมืองโปจุเกต
ต่อมา มีฝรั่งชาวเยนัวคนหนึ่งชื่อ คฤสโตเฟอโคลัมบัส ได้ไปเดิรเรืออยู่กับโปจุเกตหลายปี ไปได้ความที่เกาะมะไดราซึ่งอยู่ในมหาสมุทร์แอตแลนติกใกล้ฝั่งอาฟริกาว่า มีไม้คลื่นซัดมาในมหาสมุทร์จากทางทิศตวันตกมาติดเกาะนั้น ไม้มีรอยคนแกะเปนลวดลาย จึงเกิดความคิดเห็นว่า แผ่นดินอินเดียที่โปจุเกตค้นหาทางไปอยู่นั้นจะเปนแผ่นดินยาวแต่ตวันออกไปจนทางตวันตกตลอดมหาสมุทร์แอตแลนติก คฤสโตเฟอโคลัมบัสจึงนำความเห็นทั้งนี้ทูลแก่พระเจ้าแผ่นดินโปจุเกต จะขอรับอาสาคุมเรือไปเที่ยวหาประเทศอินเดียถวายโดยทางตวันตกอีกทาง ๑ พระเจ้าแผ่นดินโปจุเกตให้ที่ประชุมผู้ชำนาญแผนที่แลการเดิรเรือปรึกษาความเห็นของคฤสโตเฟอโคลัมบัส ที่ประชุมไม่เห็นด้วย คฤสโตเฟอโคลัมบัสมีความน้อยใจ จึงลอบออกจากเมืองโปจุเกตไปรับอาญาพระเจ้าแผ่นดินสเปน ประเทศสเปนเวลานั้นยังแบ่งเปน ๒ ราชอาณาจักร แต่รวมกันด้วยพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ฝ่ายได้ทำการวิวาหกัน พระเจ้าแผ่นดินสเปนแต่งเรือให้คฤสโตเฟอโคลัมบัสคุมไปเที่ยวหาประเทศอินเดียตามประสงค์ คฤสโตเฟอโคลัมบัสแล่นเรือข้ามมหาสมุทร์แอตแลนติกเพียรไปจนพบหมู่เกาะในทวีปอเมริกาเหนือที่ยังเรียกอยู่จนทุกวันนี้ว่า หมู่เกาะอินเดียฝ่ายตวันตก โดยเข้าใจในครั้งนั้นว่าเปนประเทศอินเดีย มิใช่ทวีป ๑ ต่างหาก คฤสโตเฟอโคลัมบัสถือเอาแผ่นดินที่ไปพบนั้นเปนเมืองขึ้นของประเทศสเปน จึงเกิดอำนาจแข่งโปจุเกตขึ้นในทางเที่ยวหาเมืองขึ้นแต่ครั้งนั้น จนต้องไปขออาชญาโป๊ปให้ป้องกันการที่จะแย่งชิงเมืองขึ้นกันในระหว่างโปจุเกตกับสเปน โป๊ปจึงเอาแผนที่โลกเท่าที่รู้อยู่ในเวลานั้นมาขีดเส้นแต่เหนือไปใต้ แลบอกอาชญาว่า บันดาแผ่นดินข้างตวันตกของเส้นนั้น ถ้าพวกสเปนไปพบ ให้เปนเมืองขึ้นของสเปน ข้างตวันออกของเส้นออกของเส้น ให้เปนของโปจุเกต แต่ทั้งสองประเทศต้องสอนคฤสตสาสนาให้แพร่หลายในเมืองเหล่านั้น จึงจะมีอำนาจตามอาชญาของโป๊ป
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๙ ในรัชกาลของพระเจ้ามานูเอลครองกรุงโปจุเกต พระเจ้ามานูเอลให้วัสโคดาคามาคุมเรือรบ ๓ ลำพร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธบันทุกสินค้ายุโรปแลเครื่องราชบรรณาการสำหรับที่จะถวายพระเจ้าแผ่นดินตามเมืองในประเทศตวันออก แล่นอ้อมทวีปอาฟริกาออกมาให้ถึงอินเดียให้จงได้ วัสโคดาคามาแล่นเรือฝ่าคลื่นลมออกมาด้วยความลำบากเปนอันมาก เรือมาเสียลงลำ ๑ เหลืออยู่แต่ ๒ ลำ มาถูกพายุใหญ่ พวกลูกเรือทนความลำบากกรากกรำไม่ได้ จะขอให้กลับหลายครั้ง วัสโคดาคามาไม่ยอมกลับ แต่เพียรแล่นเรือมาถึง ๑๑ เดือน จึงแล่นอ้อมทวีปอาฟริกามาได้ถึงเมืองเมลินเดซึ่งอยู่ทางชายทเลด้านตวันออก มาหานำร่องได้ที่เมืองเมลินเด แล้วแล่นข้ามทเลอาหรับมาถึงเมืองกาฬีกูฎที่อินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๐๔๑
สมัยเมื่อเมื่อโปจุเกตแล่นเรือจากยุโรปออกมาถึงอินเดียได้นั้น ในประเทศอินเดียได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงมากกว่าแต่ก่อนเสียเปนอันมาก เปนต้นว่า ตั้งแต่เกิดสาสนาอิสลามขึ้นในแว่นแคว้นแดนอาหรับ ถึงพวกอิสลามไม่ได้ยกกองทัพมารบพุ่งจนถึงแดนอินเดียก็จริง แต่ได้พากันออกมาเที่ยวตั้งทำการค้าขายแลมาเที่ยวสอนสาสนาอิสลามอยู่ตลอดเวลาถึง ๖๐๐ ปี มีผู้คนพลเมืองเข้ารีตถือสาสนาอิสลามเปนอันมาก บ้านเมืองในประเทศอินเดียในเวลานั้นก็ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีอานุภาพปกครองเปนราชอาณาจักรใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าอโศก แยกกันอยู่เปนประเทศน้อย ๆ เมืองทางอินเดียข้างฝ่ายเหนือ มีคันธารราฐเปนต้น ในเวลานั้นผู้คนพลเมืองก็เข้ารีตนับถือสาสนาอิสลามเสียแล้ว ข้างตอนกลางบางเมืองถือสาสนาอิสลาม แต่ที่ยังถือสาสนาพราหมณ์ก็ยังมีอยู่มาก แต่ตอนข้างใต้ยังถือสาสนาพราหมณ์ เมืองกาฬีกูฎที่วัสโคดาคามาแล่นเรือมาถึงเปนทีแรกตั้งอยู่ชายทเลข้างตวันตกในแหลมมละบาด เปนราชธานีของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งถือสาสนาพราหมณ์ เรียกพระนามว่า พระเจ้าสมุทรินทร ส่วนการค้าขายตามหัวเมืองชายทเลในอินเดีย ไม่ว่าในเมืองที่ถือสาสนาอิสลามหรือถือสาสนาพราหมณ์ มีพวกพ่อค้าแขกอิสลามไปตั้งทำการค้าขายอยู่ช้านานแล้วทุกแห่ง วิธีค้าขายของพวกเหล่านี้ ไปทูลขออนุญาตต่อพระเจ้าแผ่นดินตั้งห้างตามเมืองท่ารับซื้อสินค้าในพื้นเมืองบันทุกเรือไปเที่ยวจำหน่ายตามนานาประเทศตลอดจนยุโรป แลรับสินค้าต่างประเทศมาจำหน่ายในพื้นเมือง ส่วนพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองบ้านเมืองตั้งแต่มีพวกอิสลามมาตั้งทำการค้าขายก็เกิดผลประโยชน์ทั้งในทางเก็บภาษีอากร แลตั้งคลังสินค้าซื้อขายสิ่งของบางอย่างเปนของหลวงได้กำไรอีกชั้น ๑ เมื่อว่าโดยย่อ ในเวลานั้นการค้าขายในระหว่างยุโรปกับประเทศทางตวันออก คืออินเดียเปนต้น อยู่ในมือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามทุกอย่าง ไม่มีผู้ใดสามารถจะแย่งชิง เมื่อวัสโคดาคามาแล่นเรือมาถึงเมืองกาฬีกูฎ ให้ขึ้นไปทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่าเปนราชทูตเชิญพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการมาจากพระเจ้ากรุงโปจุเกตให้มาเจริญทางพระราชไมตรี ขอไปค้าขายกับเมืองกาฬีกูฎ ฝ่ายพระเจ้าสมุทรินทรเคยได้ผลประโยชน์อยู่ในการค้าขายดังกล่าวมาแล้ว เมื่อได้ทราบว่ามีฝรั่งโปจุเกตจะมาขอทำการค้าขายอีกชาติ ๑ ก็ไม่มีความรังเกียจ รับรองวัสโคดาคามาอย่างราชทูต แลยอมอนุญาตให้โปจุเกตซื้อขายสินค้าตามประสงค์ แต่ฝ่ายพวกพ่อค้าแขกอิสลามในเมืองกาฬีกูฎเมื่อรู้ว่า โปจุเกตแล่นเรือบันทุกสินค้ามาถึงอินเดียได้จากยุโรป ก็คิดการล่วงหน้าแลเห็นได้ตลอดว่า ถ้าพวกฝรั่งไปค้าขายกับอินเดียได้โดยทางเรือ ผลประโยชน์การค้าขายของตนจำจะต้องตกต่ำ ด้วยทางที่พวกพ่อค้าแขกขนสินค้าไปมาในระหว่างอินเดียกับยุโรปต้องบันทุกเรือแล้วขนขึ้นเดิรบกไปลงเรืออีก ต้องเสียค่าขนสินค้ามาก ฝรั่งเอาสินค้าบันทุกเรือแล่นตรงมาได้รวดเดียว เสียค่าขนน้อย คงจะขายสินค้ายุโรปได้ราคาถูกกว่า แลอาจจะซื้อสินค้าพื้นเมืองได้ราคาแพงกว่าตน ถ้าขับเคี่ยวกันไป การค้าขายคงจะไปตกอยู่ในมือฝรั่งหมด พวกพ่อค้าแขกอิสลามคิดเห็นดังนี้ จึงตั้งใจจะกีดกันมาแต่แรกเพื่อจะมิให้โปจุเกตไปมาค้าขายในอินเดียได้ดังประสงค์ ในเบื้องต้นพวกพ่อค้าแขกอิสลามทำอุบายให้เกิดข่าวเล่าลือให้ราษฎรหวาดหวั่นต่าง ๆ จนไม่กล้ามาค้าขายกับฝรั่ง แลไปบลบานเจ้าพนักงานให้แกล้งกีดขวางหน่วงเหนี่ยววัสโคดาคามามิให้ทำการได้สดวก แต่เผอิญในเวลานั้นมีฝรั่งชาวสเปนคน ๑ ซึ่งแขกอิสลามเอาเข้ารีตแล้วพามาไว้ที่เมืองกาฬีกูฎ ได้ทราบความคิดของพวกพ่อค้าแขกอิสลาม มีความสงสารพวกโปจุเกตด้วยเปนชาติฝรั่งด้วยกัน จึงลอบนำความไปแจ้งแก่วัสโคดาคามา ๆ จึงอุบายซ้อนกลพวกพ่อค้าแขกโดยแกล้งทำเปนไม่รู้เท่าราษฎรในเชิงค้าขาย เมื่อเวลาเอาสินค้ายุโรปขึ้นไปค้าขาย แม้พวกชาวเมืองจะต่อตามจนถึงขาดทุนก็ยอมขาย ส่วนสินค้าที่ชาวเมืองนำมาขายให้ ถึงจะโก่งเอาราคาแพง วัสโคดาคามาก็ยอมซื้อ พวกชาวเมืองเข้าใจว่าฝรั่งโง่ ก็พากันมาซื้อขายกับวัสโคดาคามามากขึ้น พวกพ่อค้าแขกอิสลามเห็นดังนั้นจึงเอาความไปยุยงแก่ขุนนางผู้ใหญ่ให้กราบทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่า กิริยาที่พวกโปจุเกตซื้อขายดูไม่คิดถึงทุนรอนตามทำนองค้าขาย เห็นจะเปนคนสอดแนมที่ฝั่งแต่งให้มาสืบสวนการงารบ้านเมือง เมื่อรู้กำลังแล้ว ฝรั่งคงจะยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองเปนแน่ พระเจ้าสมุทรินทรเห็นจริงด้วย จึงให้จับวัสโคดาคามากับพรรคพวกซึ่งขึ้นไปบนบกขังไว้ ฝ่ายน้องชายวัสโคดาคามาซึ่งอยู่ในเรือเห็นพระเจ้าสมุทรินทรทำแก่พี่ของตนดังนั้น ก็จับขุนนางเมืองกาฬีกูฎซึ่งลงไปอยู่ในเรือไว้บ้าง เมื่อมีเหตุขึ้นดังนี้ พระราชครูผู้เปนปุโรหิตของพระเจ้าสมุทรินทรเห็นว่าจะเกิดวุ่นวาย จึงเข้าไปทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่า วัสโคดาคามาเปนราชทูตมาแต่พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศซึ่งพระเจ้าสมุทรินทรได้รับรองแล้วอย่างราชทูต ที่จะมาทำร้ายผู้เปนราชทูตผิดประเพณี พระเจ้าสมุทรินทรจึงให้ปล่อยวัสโคดาคามา แลว่ากล่าวไกล่เกลี่ยให้หายความเคียดแค้น วัสโคดาคามาได้ออกเรือจากเมืองกาฬีกูฎเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๐๔๑ แล่นไปแวะที่เมืองคานะนอซึ่งอยู่ชายทเลฝั่งมละบา ข้างเหนือเมืองกาฬีกูฎ พวกพ่อค้าแขกอิสลามที่เมืองนั้นก็แกล้งอีก แต่เจ้าเมืองคานะนอไม่เชื่อฟังคำยุยงของพ่อค้าแขกอิสลาม ช่วยเปนธุระแก่พวกโปจุเกตหาสินค้าได้จนเหลือระวางเรือ วัสโกดาคามาสำเร็จความประสงค์แล้วก็แล่นเรือจากอินเดียกลับไปถึงเมืองโปจุเกตเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๐๔๒
การที่วัสโคดาคามาแล่นเรือมาได้ถึงอินเดียคราวนั้นเปนประโยชน์อย่างสำคัญแก่โปจุเกต ด้วยตั้งแต่โปจุเกตพากเพียรตรวจทางทเลมาได้เกาะแลบ้านเมืองชายทเลอาฟริกาตามรายทางไว้เปนเมืองขึ้นบ้าง เปนไมตรีบ้าง ขยายอำนาจแลอาณาจักรออกมาโดยลำดับ มีที่พักเปนระยะมาตลอดทาง แล้วพอรู้ทางว่ามาถึงอินเดียได้ ก็อาจจะจัดการเดิรเรือไปมาค้าขายถึงอินเดียได้ทันที ส่วนผลประโยชน์ที่จะพึงได้ในการค้าขายกับอินเดียนั้น แต่เพียงในเที่ยวแรกที่วัสโคดาคามามาด้วยเรือ ๒ ลำ ราคาสินค้าที่ได้ไปเมื่อคิดราคาเทียบกับทุนที่แต่งเรือออกมาครั้งนั้น โปจุเกตได้กำไรถึง ๖๐ เท่า จึงเกิดความทเยอทยานยินดีกันอย่างใหญ่ในประเทศโปจุเกต ด้วยแลเห็นทั่วกันว่า ประเทศโปจุเกตจะเปนประเทศที่มีกำลังทั้งอำนาจแลทรัพย์สมบัติ ต่อมาการก็เปนจริงดังนั้นทุกประการ
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๔๓ พระเจ้ากรุงโปจุเกตให้แต่งเรือออกมาอินเดียอีก คราวนี้คิดการเตรียมแก้ไขความขัดข้องมาเสร็จ ด้วยได้ความรู้แล้วว่า ทางตวันออกพวกถือสาสนาอิสลามซึ่งเคยเปนข้าศึกกับฝรั่งมาหลายร้อยปียังมีอำนาจอยู่ แลการค้าขายทางตวันออกก็อยู่ในมือของคนพวกนั้น การที่พวกโปจุเกตออกมาประเทศตวันออก คงจะถูกพวกแขกที่ถือสาสนาอิสลามคิดร้ายรังเกียจกันทั้งการสอนคฤสตสาสนาแลการค้าขาย มิให้โปจุเกตทำการได้สดวก ด้วยเหตุนี้ เรือที่แต่งให้บันทุกสินค้าแลพาพวกบาดหลวงออกมาสอนคฤสตสาสนาในคราวที่ ๒ นั้น พระเจ้ากรุงโปจุเกตจึงให้แต่งเปนกองทัพมีจำนวนเรือรบ ๑๓ ลำ กระสุนดินดำ แลนายไพร่พลทหารประจำลำรวม ๑๕๐๐ คน ก็เลือกสรรค์แต่ล้วนที่กล้าหาญชำนาญศึก ให้เปโดร อัลวเรส คาบรัล เปนแม่ทัพแลเปนราชทูตคุมเครื่องราชบรรณาการออกมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองประเทศตามรายทางบันดาที่เข้ากับโปจุเกต แลมอบอำนาจออกมากับคาบรัลในครั้งนั้นว่า ถ้าบ้านใดเมืองใด หรือบุคคลจำพวกใด ขัดขวางแก่การของโปจุเกต ว่ากล่าวโดยดีไม่ตลอดแล้ว ก็ให้ใช้กำลังปราบปรามเอาไว้ในอำนาจให้จงได้
คาบรัลยกกองทัพเรือออกจากเมืองโปจุเกตเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๐๔๓ ใช้ใบเรือลงมาจนถึงแหลมเวอเดแล้ว แล่นก้าวออกไปในมหาสมุทร์แอตแลนติก เรือไปถูกพายุซัดพัดข้ามมหาสมุทร์ไปพบเมืองบราซิลในอเมริกาใต้เข้า จึงได้เมืองบราซิลเปนเมืองขึ้นของโปจุเกตในคราวนั้น คาบรัลแล่นเรือกลับจากเมืองบราซิลข้ามมหาสมุทร์แอตแลนติกมาถึงเมืองเมลินเดในอาฟริกาข้างตวันออกซึ่งเปนไมตรีกับโปจุเกตมาแต่ก่อน เมื่อเดือนกรกฎาคม เรือที่ไปด้วยกัน ๑๓ ลำ ไปแตกเสียกลางทางบ้าง พลัดกันบ้าง เหลืออยู่แต่ ๖ ลำ คาบรัลรับนำร่องที่เมืองเมลินเดแล้วก็แล่นข้ามทเลอาหรับมา รวมเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองโปจุเกตมาได้ ๖ เดือนจึงถึงท่าเมืองกาฬีกุฎเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม พระเจ้าสมุทรินทรเมื่อเห็นกองทัพเรือโปจุเกตยกมาคราวนี้ก็ให้ข้าราชการออกไปรับพาคาบรัลขึ้นไปเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการ แลยอมทำสัญญาอนุญาตที่ดินให้พวกโปจุเกตตั้งห้างค้าขายที่เมืองกาฬีกูฎตามประสงค์ แต่ครั้นเมื่อสร้างห้างสำเร็จแล้ว โปจุเกตหาซื้อสินค้าอยู่ ๒ เดือนไม่ได้สินค้า จึงสืบสวนได้ความว่า เพราะพวกพ่อค้าแขกอิสลามอุบายชิงรับซื้อบันดาสิ่งสินค้าซึ่งรู้ว่าพวกโปจุเกตต้องการไว้เสียก่อน ไม่ให้พวกโปจุเกตหาซื้อได้ คาบรัลไปทูลความต่อพระเจ้าสมุทรินทร ๆ ก็มิรู้ที่จะทำประการใด คาบรัลขัดใจ จึงให้ไปแย่งเอาสินค้าของพวกพ่อค้าแขกอิสลามซึ่งกำลังเอาลงบันทุกเรือที่จอดอยู่ในอ่าว พวกพ่อค้าแขกอิสลสามที่อยู่บนบกเมื่อเห็นพวกโปจุเกตปล้นเอาสินค้าของตนดังนั้น ก็คุมพรรคพวกยกมาปล้นสินค้าที่ห้างของโปจุเกตบ้าง พวกแขกอิสลามกับพวกโปจุเกตเกิดรบกันขึ้นในเมืองกาฬีกูฎ พวกแขกอิสลามมากกว่า ฆ่าพวกโปจุเกตตาย ๕๔ คน แลเผาห้างของโปจุเกตเสียสิ้น พวกกองทัพเรือโปจุเกตเห็นพวกแขกอิสลามทำร้ายพวกของตนที่อยู่บนบก ก็ยกกำลังไปตีปล้นเรือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามบันดาที่จอดอยู่ในอ่าวเมืองกาฬีกูฎ ฆ่าพวกแขกล้มตายเปนอันมาก แล้วเผาเรือเหล่านั้นเสียถึง ๑๐ ลำ แล้วเลยเอาปืนใหญ่ยิงเมืองกาฬีกูฎอยู่ ๒ ชั่วโมง แล้วจึงถอนสมอใช้ใบเรือไปจากเมืองกาฬีกูฎ ไปพบเรือแขกเข้าที่ไหน พวกโปจุเกตก็ปล้นเรือแขกตลอดทางมา จึงเกิดสงครามขึ้นระหว่างพวกโปจุเกตกับพวกแขกอิสลามขึ้นแต่ครั้งนั้น
เรื่องราวที่พวกโปจุเกตทำอย่างไรต่อมาในอินเดียมีมากมายเกินกว่าจะอธิบายได้โดยพิสดารในที่นี้ ตั้งแต่พวกโปจุเกตเกิดรบขึ้นกับพวกพ่อค้าแขกอิสลามที่เมืองกาฬีกูฎเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓ แล้ว แต่นั้นมาการค้าขายของพวกโปจุเกตก็กลายเปนเอากำลังเที่ยวแย่งชิงทรัพย์สมบัติ หาอำนาจแลอาณาจักรทางตวันออก เอาแต่ชื่อว่าเที่ยวสอนคฤสตสาสนาแลค้าขายขึ้นบังหน้า เพราะการใช้ปืนไฟใหญ่น้อยแลวิธีรบพุ่งในทางทเลพวกชาวตวันออกยังไม่ชำนาญเท่าโปจุเกต ๆ น้อย ๆ คนเคยรบชนะพวกชาวอินเดียที่มากกว่าหลายคราวจึงได้ใจ แต่นั้นโปจุเกตก็แต่งกองทัพเรือออกมาจากยุโรปทุกปี พบเรือแขกเข้าที่ไหน ก็ปล้นเอาทรัพย์สมบัติแลทำลายเรือเสีย ส่วนเมืองตามชายทเลในอินเดียเมืองไหนที่ยอมเข้ากับโปจุเกต โปจุเกตก็ตั้งห้าง แล้วเลยทำห้างขึ้นเปนป้อม เอากำลังทหารที่มารักษากดขี่เจ้าบ้านผ่านเมืองเอาเปนเมืองขึ้นของโปจุเกตบ้าง เมืองไหนที่ไม่เข้าด้วยหรือไม่ค้าขายด้วย โปจุเกตก็ถือว่าเปนข้าศึก เที่ยวรบพุ่งทำร้ายต่าง ๆ ไม่ช้านานเท่าใด เมืองอินเดียตามชายฝั่งทเลมละบาก็ตกอยู่ในอำนาจโปจุเกตหลายเมือง ส่วนการค้าขาย เมื่อโปจุเกตเที่ยวทำลายเรือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามเสียเปนอันมากแล้ว โปจุเกตก็ได้สินค้าประเทศทางตวันออก เมืองโปจุเกตเกิดเปนที่ชุมนุมการค้าขายกับประเทศทางตวันออกขึ้นใหญ่โต จนเมืองฝรั่งแถวทเลเมดิเตอเรเนียนซึ่งเคยร่ำรวยด้วยการค้าขายกับประเทศทางตวันออกตามเส้นทางเปอเซียแลอียิปต์ถึงความอัตคัดขัดสนไปหลายเมือง เมื่อการค้าขายกับประเทศทางตวันออกเปลี่ยนไปเฟื่องฟูเปนตลาดใหญ่อยู่ที่เมืองโปจุเกตดังกล่าวมานี้ จึงมีชาวโปจุเกตเปนอันมากทเยอทยานอยากออกมาหาทรัพย์สมบัติทางตวันอออก พวกผู้ดีมีสกุลก็เข้าไปรับอาสาเปนนายทหารบ้าง ออกมาเปนผู้สอนสาสนาบ้าง ที่เปนฝรั่งเลวก็ไปอาสาเปนลูกเรือแลพลทหาร ด้วยความเข้าใจทั่วกันว่าเปนช่องทางที่จะปราบปรามพวกอิสลาม เอาทรัพย์สมบัติของพวกมิจฉาทิษฐิไปเปนอาณาประโยชน์ อย่างพวกอิสลามได้เคยทำแก่ปู่ย่าตายายของตนมาแต่ก่อน ไม่ถือว่าเปนบาปกรรมอันใด
เมื่อโปจุเกตไปมาหาที่มั่นได้ที่ชายทเลอินเดียแล้ว ได้ข่าวว่า ทางตวันออกต่อมามีเมืองมละกาเปนเมืองท่าสำคัญในทางรับส่งสินค้าระหว่างเมืองจีนกับอินเดีย แลมีสินค้าตามเมืองที่ใกล้เคียงซึ่งมาขายที่เมืองมละกามาก เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๗๐ พ.ศ. ๒๐๕๑ ตรงในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระเจ้ากรุงโปจุเกตจึงแต่งให้โลเปสเดอสิไคราคุมเรือกำปั่นรบ ๔ ลำเปนราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับเจ้าเมืองมละกาซึ่งเปนแขกมลายูนับถือสาสนาอิสลามแล้วในเวลานั้น เจ้าเมืองมละกาก็รับรองสิไคราอย่างราชทูต แลยอมให้ที่ตั้งห้างตามประสงค์ แต่เมื่อพวกโปจุเกตขึ้นไปซื้อขายสินค้าที่ห้างตั้งใหม่ ไปเกิดวิวาทขึ้นกับพวกชาวเมืองมละกา สิไคราสงสัยว่า เจ้าเมืองมละกาคิดกลอุบายเข้ากับพวกพ่อค้าแขกอิสลามจะทำร้าย สิไครามีความโกรธเปนกำลัง จึงจับพวกชาวมละกาที่ลงมาอยู่ในเรือเอาลูกธนูเสียบหนังหัวประจานส่งขึ้นไปบอกเจ้าเมืองมละกาว่า ถ้าไม่คบกับโปจุเกตโดยดี โปจุเกตจะตีเอาเมืองมละกาให้จงได้ ฝ่ายเจ้าเมืองมละกาเห็นโปจุเกตดูหมิ่นก็โกรธ จึงให้ขุนนางคนหนึ่งมีตำแหน่งเปนบันดาหราว่าการฝ่ายทหาร คุมกำลังไปล้อมจับโปจุเกตที่ขึ้นไปซื้อขายอยู่บนบก ฆ่าฟันตายเสียบ้าง จับเปนไว้ได้เปนตัวจำนำก็หลายคน สิไคราไม่มีกำลังพอที่จะตีเอาเมืองมละกาได้ในคราวนั้น ด้วยพลเรือขึ้นไปถูกพวกชาวมละกาฆ่าฟันแลจับไว้เสียมาก จึงให้เผาเรือโปจุเกตเสีย ๒ ลำ เอาคนมาลงเรือที่ยังเหลืออยู่ ๒ ลำแล่นกลับไป เมื่อความทราบถึงกรุงโปจุเกตว่า เจ้าเมืองมละกาทำร้ายแก่พวกโปจุเกต ก็ให้เตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองมละกา แต่ประจวบเวลาเกิดเหตุขึ้นในอินเดียแลทางทเลแดง ด้วยพวกเจ้าบ้านผ่านเมืองแขกที่ถูกโปจุเกตรังแกกดขี่ต่าง ๆ หลายเมืองเข้ากันรบพุ่งโปจุเกต โปจุเกตต้องปราบปรามอยู่จนปีมแม จุลศักราช ๘๗๑ พ.ศ. ๒๐๕๒ อัฟฟอนโสอัลบูเคอเคแม่ทัพใหญ่ซึ่งเปนข้าหลวงต่างพระองค์ของพระเจ้าโปจุเกตจึงยกกองทัพเรือมายังเมือมละกา กองทัพอัลบูเคอเคแล่นมาพบเรือแขกที่ไหนก็ตีชิงเรื่อยมา จนถึงเมืองมละกาเมื่อเดือนมิถุนายน อุบายให้ไปบอกเจ้าเมืองมะละกว่า เปนราชทูตจะมาเปนไมตรีโดยดี ไม่รบพุ่ง ให้เจ้าเมืองมละกาส่งตัวพวกโปจุเกตที่จับไว้เปนตัวจำนำลงมาให้ แล้วอัลบูเคอเคก็จะขึ้นไปหาเจ้าเมือง ข้างเมืองมะละก็ให้มาบอกว่า จะยอมเปนไมตรี แลจะส่งพวกโปจุเกตคืนให้ แต่ขอให้อัลบูเคอเคขึ้นไปทำทางไมตรีเสียก่อน อัลบูเคอเคคอยอยู่ เห็นการไม่ตกลงกัน ก็ยกกำลังขึ้นตีเมืองมละกา ได้รบพุ่งกันถึงตลุมบอน ชาวมละกาสู้ไม่ได้ ต้องถอยออกไปนอกเมือง พวกโปจุเกตเผาเมืองมละกาเสีย แล้วก็ถอยกลับลงเรือ พวกชาวมละกาก็กลับเข้ามาตั้งค่ายอยู่ในเมืองอีก ในเวลานั้นมีสำเภาจีนมาค้าขายอยู่ที่เมืองมละกาประมาณ ๑๐๐ ลำ สำเภาจีนจะกลับไปเมือง อัลบูเคอเคจึงให้โปจุเกตคน ๑ ชื่อ เฟอนันเด ถือหนังสือโดยสานเรือสำเภาจีนเข้ามากรุงศรีอยุธยาขอเปนไมตรีไปค้าขายกับไทย ด้วยได้ทราบว่า เมืองมละกาเปนเมืองขึ้นของไทยมาแต่ก่อน
อัลบูเคอเคมาตระเตรียมการอยู่ที่เรือ พอพร้อมเสร็จก็คุมกำลังขึ้นตีเมืองมละกาครั้งที่ ๒ ในเดือนสิงหาคม คราวนี้รบพุ่งกันเปนสามารถ พวกเจ้าเมืองมละกาสู้โปจุเกตไม่ได้ก็แตกหนี เมืองมละกาจึงได้อยู่ในอำนาจโปจุเกตแต่นั้นมา
เมื่อโปจุเกตได้เมืองมละกาไว้เปนที่มั่นแล้ว ถึงปีขาล จุลศักราช ๘๘๐ พ.ศ. ๒๐๖๑ พระเจ้ามานูเอลพระเจ้าแผ่นดินโปจุเกตจึงแต่งให้ดวดเตโคเอลโลเปนราชทูตเข้ามาทำสัญญามีทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ณกรุงศรีอยุธยาในคราว ๆ เดียวกับไปทำทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี ตามจดหมายของโปจุเกตว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงยินดีรับเปนไมตรีกับโปจุเกต พระราชทานอนุญาตให้โปจุเกตตั้งห้างไปมาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาแลที่เมืองปัตตานีได้ตามประสงค์ แลจะรับแต่งกองทัพไทยไปช่วยโปจุเกตปราบปรามพวกแขกที่มาตีเมืองมละกาด้วย ต่อมาปรากฎว่า โปจุเกตได้รับอนุญาตให้ไปตั้งห้างค้าขายที่เมืองนครศรีธรรมราชแลเมืองมฤทอีก ๒ เมือง
ถึงปีเถาะ จุลศักราช ๘๘๑ พ.ศ. ๒๐๖๒ โปจุเกตไปขอเปนไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี ๆ ก็ยอมให้ไปมาค้าขายตามประสงค์ แลให้โปจุเกตตั้งห้ามที่เมืองเมาะตะมะอีกแห่ง ๑ โปจุเกตจึงเปนไมตรีกับไทยแลมอญแต่นั้นมา
เรื่องที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เดิมเมืองมละกาเปนเมืองขึ้นของไทย ข้อนี้ไม่มีที่สงสัย ด้วยหนังสือทั้งปวงของไทย ของมลายู แลของฝรั่ง ถูกต้องกัน แลมีเนื้อความในพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า ไทยได้ยกกองทัพลงไปตีเมืองมละกาเมื่อปีกุญ จุลศักราช ๘๑๗ (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) พ.ศ. ๑๙๙๘ แต่จะมีผลอย่างไรไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เหตุที่ไทยยกกองทัพลงไปตีเมืองมละกาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น เห็นจะเปนด้วยเรื่องเจ้าเมืองเข้ารีตถือสาสนาอิสลาม เอาใจไปเผื่อแผ่แก่พวกอาหรับที่มาเปนครูบาอาจารย์สอนให้กระด้างกระเดื่องขึ้น แต่กองทัพไทยเห็นจะตีไม่ได้เมืองมละกาคราวนั้น เมื่อโปจุเกตมาตีเมืองมละกา เกรงจะเกิดวิวาทกันขึ้นกับไทยซึ่งเปนเจ้าของเมืองมละกาอยู่แต่เดิม จึงแต่งราชทูตเข้ามาขอเปนไมตรีกับไทย ในเวลานั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ยังไม่เสร็จสงครามกับเชียงใหม่ จึงรับเปนไมตรีกับโปจุเกต
การที่โปจุเกตมาเปนไมตรีกับไทยก็ดี กับมอญก็ดี ไม่มาเกะกะวุ่นวายเหมือนกับเมืองแขกในอินเดีย เพราะ ๒ ประเทศนี้ถือพุทธสาสนา ไม่มีสาเหตุที่จะวิวาทกันด้วยเรื่องลัทธิสาสนา ประการ ๑ อีกประการ ๑ ทั้ง ๒ ประเทศเปนประเทศใหญ่ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองได้สิทธิ์ขาด โปจุเกตจะทำร้ายไม่ได้เหมือนในอินเดีย จึงมาค้าขายแต่โดยดี ใช่แต่เท่านั้น ยังมีพวกฝรั่งโปจุเกตที่คิดหาสินจ้างโดยลำพังตัวพากันเข้ามาอยู่ในบ้านเมืองมารับจ้างเปนทหารทำการรบพุ่งให้ทั้งไทยแลมอญ การค้าขายแลเปนไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศได้เริ่มต้นมีมาแต่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ ๒ โดยมูลเหตุดังอธิบายมานี้.