ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (2503)/เรื่อง
อาทิเดิมยังมีเมืองหนึ่งชื่อ ทนบุรี เจ้าเมืองชื่อ ท้าวโกสีหราช มีพระอรรคมเหษีชื่อ นางมหาเทวี มีพระราชบุตรีผู้พี่ชื่อ นางเหมชาลา ชายชื่อ เจ้าทนทกุมาร และยังมีเมืองหนึ่งชื่อ เมืองชนทบุรี อยู่ข้างฝ่ายทักษิณทิศ เจ้าเมืองชื่อ ท้าวอังกุศราช พระอรรคมเหษีชื่อว่า จันทเทวี และท้าวอังกุศราชมารบชิงพระทันตธาตุแก่ท้าวโกสีหราช ๆ ก็ขาดหัวช้างเสียเมืองแก่ท้าวอังกุศราช นางเหมชาลากับเจ้าทันตกุมารก็รับเอาพระทันตธาตุลงสำเภาไปเมืองลังกา เกิดลมร้าย สำเภาแตก เจ้าทันตกุมารกับนางเหมชาลาก็พาพระทันตธาตุซัดขึ้นที่หาดทรายแก้วชเลรอบ ก็เอาพระธาตุฝังไว้ที่หาดทราย แล้วก็เข้าเร้นอยู่ในที่ลับยังมีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อ พระมหาเถรพรหมเทพ มาโดยนภากาศ เห็นรัศมีพระธาตุช่วงโชตนาการขึ้น พระมหาเถรก็ลงนมัศการพระธาตุ นางเหมชาลากับเจ้าทันตกุมารก็เล่าความแก่พระมหาเถรเหมือนกล่าวมาแล้วแต่หลัง แลพระมหาเถรทำนายว่า ในหาดทรายชเลรอบนี้ เบื้องหน้ายังมีพระยาองค์หนึ่งชื่อ พระยาศรีธรรมาโศกราช จะมาตั้งเป็นเมืองใหญ่ แล้วจะก่อพระมหาธาตุสูงได้ ๓๗ วา แล้วพระมหาเถรสั่งเจ้าสองพี่น้องไว้ว่า มีทุกข์สิ่งใด ให้เจ้าลำนึกถึงพระองค์ ว่าเท่านั้นแล้ว พระมหาเถรก็กลับไป
เจ้ากุมารทั้งสองก็พาพระธาตุนั้นไป ครั้นถึงท่าเมืองตรัง ก็โดยสารสำเภาไปถึงกลางทเลใหญ่ ก็เกิดอัศจรรย์ ใช้ใบสำเภาไปมิได้ ชาวสำเภาก็ชวนกันว่า เจ้าทั้งสองนี้ลงโดยสารสำเภา จึงเกิดอัศจรรย์ขึ้น และว่า จะฆ่าเจ้าทั้งสองนั้นเสีย เจ้าทั้งสองก็ลำนึกถึงพระมหาเถร ๆ ก็นิฤมิตเป็นครุทธ์ ปีกประมาณข้างละ ๓๐๐ วา เสด็จมาในอากาศ อัศจรรย์ก็หาย และพระมหาเถรบอกแก่ชาวสำเภาว่า พระญานาคพาบริวารขนมานมัศการพระธาตุ จึงเกิดอัศจรรย์ ว่าเท่านั้นแล้ว พระมหาเถรก็เสด็จไป นายสำเภาก็ใช้ใบไปถึงเมืองลังกาทวีป เจ้าลังกาก็รับพระธาตุขึ้นไว้บนปราสาท แล้วจึ่งตรัสถามเจ้าสองพี่น้องว่า จะกลับไปเมืองทนบุรีเล่า เจ้าลังกาก็ให้แต่งสำเภาให้เจ้าสองพี่น้อง แล้วบรรทุกของให้เต็มสำเภา แล้วจึ่งแต่งราชสารไปถึงเจ้าเมืองทนบุรีว่า เป็นบุตร์ท้าวโกสีหราชซึ่งทิวงคตในการสงครามนั้น กลับมาอยู่ในเมืองทนบุรีเล่า อย่าให้ท้าวอังกุศราชทำอันตรายแก่เจ้าสองพี่น้อง ถ้าท้าวอังกุศราชทำอันตรายแก่เจ้าสองพี่น้อง เห็นว่า เมืองทนบุรีกับกรุงลังกาจะเป็นศึกแก่กัน แล้วเจ้าลังกาให้มหาพราหมณ์ ๔ คนพาพระบรมธาตุมาทนานหนึ่ง ให้ฝังที่เจ้าสองพี่น้องซ่อนพระทันตธาตุนั้น มหาพราหมณ์กับเจ้าสองพี่น้องก็ใช้สำเภามาถึงหาดทรายแก้ว มหาพราหมณ์ก็แบ่งพระธาตุเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งใส่ผอบแก้ว แล้วใส่แม่ขันทองขึ้นฝังที่รอยเจ้าสองพี่น้องฝังพระธาตุแต่ก่อน ก่อนพระเจดีย์สรวมไว้ แล้วผูกภาพยนต์รักษาอยู่ ยังพระธาตุส่วนหนึ่งนั้น มหาพราหมณ์ก็พาไปเมืองทนทบุรี
ยังมีเมืองหนงชื่อ หงษาวดี มีกำแพงสามชั้นอ้อมสามวันจึ่งรอบเมือง ประตูเมืองมีนาคราชเจ็ดหัวเจ็ดหาง มีปราสาทราชมณเฑียร มีพระมหาธาตุ ๓๐๐๐ ยอด ใหญ่ ๓๐ ยอด ต่ำซ้ายต่ำขวา กลางสูงสุดหมอก มีพระพุทธรูป ๔๐๐๐ พระองค์ เจ้าเมืองนั้นชื่อ พระญาศรีธรรมาโศกราช มีพระอรรคมเหษีชื่อ สังขเทพี มีบุตร์ชายสองคน ๆ หนึ่งชื่อ ท้าวเจตราช อายุยืนได้ ๑๐๐ ปี ถัดนั้นชื่อ เจ้าพงษ์กระษัตริย์ ยังมีบาคู ๔ คนบำรุงเจ้าเมืองนั้นอยู่ อยู่มา เกิดไข้ยุบลมหายักษ์มาทำอันตราย ไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก พระยาก็พาญาติวงษ์และไพร่พลลงสำเภาใช้ใบมาตั้งอยู่ริมชเล
ยังมีพราน ๘ คน ๆ หนึ่งชื่อ พรหมสุริย ตามเนื้อมาตามริมทเลมาถึงหาดทรายชเลรอบ พบแก้วดวงหนึ่งเท่าลูกหมากสง จึ่งพราน ๘ คนเอาแก้วไปถวายแก่พระญา แล้วกราบทูลว่า ได้ที่หาดทราย แลหาดทรายนั้นกว้างยาวมีน้ำอยู่รอบ พระญาก็ให้พรหมสุริยนำบาคูทั้ง ๔ คนมาดูที่นั้น บาคูทั้ง ๔ คนก็เขียนแผนที่นั้นไปถวาย พระญาให้แต่งสำเภาแล้วจัดคนที่รู้คุณพระพุทธเจ้า ๑๐๐ หนึ่ง กับบาคูทั้ง ๔ คน พาแผนที่ภูมิลำเนาไปถวายเจ้าเมืองลังกา ๆ ก็ยินดีหนักหนา จึ่งตรัสถามว่า พระสงฆ์ยังมีฤๅหาไม่ บาคูกราบทูลว่า พระสงฆ์เจ้าไม่มี แลเจ้าลังกาว่า ยังมีพระสงฆ์องค์หนึ่งชื่อ พระพุทธคำเภียร เกิดวิวาทกันกับเพื่อนสงฆ์ เจ้าเมืองลังกาขอโทษกันเสีย เจ้ากูไม่ลงให้ ก็ให้นิมนต์เจ้ากูไปเถิด พระพุทธคำเภียรก็ลงสำเภามาด้วยบาคูทั้ง ๔ คน ยังมีพระยาศรีธรรมโศกราช ๆ ก็มีน้ำใจศรัทธาในการกุศล ให้เกลี้ยกล่อมผู้คนซึ่งอยู่ดงป่าเข้ามาประชุมกันเป็นอันมาก แล้วพระยาศรีธรรมโศกราช เจ้าพงษ์กระษัตริย์ แลพระพุทธคำเภียร บาคูทั้ง ๔ คน ปฤกษากันจะตั้งเมืองหาดทราย แล้วจะก่อพระเจดีย์แลพระพุทธรูปไว้ ครั้นสนทนากันแลว พอเกิดไข้ยุบล คนล้มตายเป็นอันมาก พระญา กับพระพุทธคำเภียร บาคูทั้ง ๔ คน พาญาติวงษ์ช้างม้าหนีไปอยู่กะหม่อมโคกณหาดทรายชเลรอบนั้นแล เมื่อศักราชได้ ๑๐๙๘ ปี พระยาศรีธรรมาโศกราชก็สร้างการลงณหาดทรายชเลรอบเป็นเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร แล้วสั่งให้ทำอิฐทำปูนก่อพระธาตุครั้งนั้น แลยังมีพระสิหิงค์ล่องชเลมาแต่เมืองลังกามายังเกาะปินัง แลพ้นมาถึงหาดทรายแก้วที่จะก่อพระมหาธาตุนั้น
ครั้งนั้น ยังมีพระยาธรรมาโศกราชองค์หนึ่งเป็นเจ้าเมืองมัทยมประเทศ มีพระอรรคมเหษีชื่อ นางสันทมิตรา ให้นักเทษถือราชสารมาถึงพระยาศรีธรรมาโศกราช ในราชสารนั้นว่า พระญาศรีธรรมาโศกราชก่อพระมหาธาตุ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ แต่ยังมิได้พระบรมธาตุไปประจุ รู้ความไปว่า พระยาศรีธรรมาโศกราชก่อพระมหาธาตุองค์หนึ่งสูง ๓๘ วา แล้วยกพระบรมธาตุขึ้นประจุพระบรมธาตุ แลเมืองมัทยมประเทศ พะธาตุ ๘๔,๐๐๐ ยังหาได้พระบรมธาตุไปประจุไม่ จะขอแบ่งพระธาตุไปประจุ ครั้นแจ้งในราชสารนั้นแล้ว พระญาก็ให้นักเทษสั่งสอนบาคูทั้ง ๔ คนเล่าเรียนสวดมนตร์ไหว้พระตามนักเทษเรียนมา แลปฤกษาว่า จะคิดฉันใดที่จะรู้แห่งพระธาตุ จะเอาขึ้น จะได้แจกประจุพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ พระญาให้เอาทองเท่าลูกฟักผูกคอม้าป่าวทั่วทั้งเมือง
ยังมีผู้เถ้าคนหนึ่ง อายุได้ ๑๒๐ ปี ว่า รู้แห่ง อำมาตย์เอาทองส่งให้ แล้วเกาะตัวผู้เฒ่านั้นมาทูลแก่พระญา ๆ ก็ถาม ผู้เถ้ากราบทูลว่า เมื่อตัวข้าพเจ้ายังน้อย บิดาของข้าพเจ้าได้เอาดอกไม้ไปถวายที่นั้น พระญาก็ให้นำไปขุดลง พบพระเจดีย์มีภาพยนต์รักษาอยู่ เอาขึ้นมิได้ พระญาก็ให้นำเอาทองเท่าลูกฟักแขวนคอม้าไปป่าวหาผู้รู้แก้ภาพยนต์
ครั้งนั้น ยังมีบุรุษผู้หนึ่งชื่อ นายจันที แลบิดานั้นไปเรียนศิลปวิชชาเมืองโรมพิไสย ครั้นได้แล้ว เอาน้ำหมึกสักไว้ที่ลำขา แล้วกลับมา พระอาจาริย์ใช้ภาพยนต์มาตัดศีศะเอาไป อักษรอันนั้น ข้าพเจ้าเขียนเรียนไว้ อำมาตย์ก็เอาทองให้ แล้วพาตัวบุรุษมา พระญาก็ให้แก้ภาพยนต์ จึ่งร้อนขึ้นไปถึงพระอินทร์ ๆ ก็ใช้พระวิศณุกรรมมายกพระธาตุขึ้น พระญาก็ปันไปเมืองมัทยมประเทศตามมีตรามาขอนั้น จึ่งพระวิศณุกรรมช่วยพระญาก่อพระเจดีย์ประจุพระบรมธาตุนั้นไว้ แล้วตั้งเมืองสิบสองนักษัตร์ขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช ปีชวด ตั้งเมืองสาย ถือตราหนู หนึ่ง ปีฉลู ตั้งเมืองตานี ถือตราโค หนึ่ง ปีขาล เมืองกะลันตัน ถือตราเสือ หนึ่ง ปีเถาะ เมืองปาหัง ถือตรากะต่าย หนึ่ง ปีมะโรง เมืองไทร ถือตรางูใหญ่ หนึ่ง ปีมะเส็ง เมืองพัทลุง ถือตรางูเล็ก หนึ่ง ปีมะเมีย เมืองตรัง ถือตราม้า หนึ่ง ปีมะแม เมืองชุมพร ถือตราแพะ หนึ่ง ปีวอก เมืองปันท้ายสมอ ถือตราลิง หนึ่ง ปีระกา เมืองอุเลา ถือตราไก่ หนึ่ง ปีจอ เมืองตะกั่วป่า ถือตราสุนัข หนึ่ง ปีกุน เมืองกระ ถือตราหมู หนึ่ง เข้ากัน ๑๒ เมือง มาช่วยทำอิฐปูนก่อพระมหาธาตุขึ้น ยังหาสำเร็จไม่ ภอไข้ห่าลง พระญาก็พาญาติวงษ์ลงสำเภาหนี ใช้ใบถึงกลางชเล ผู้คนตายสิ้น เมืองนั้นก็ร้างอยู่ครั้งหนึ่ง
เมื่อศักราชได้ ๑๑๙๖ ปี ยังมีพระญาองค์หนึ่งชื่อ พระญาศรีไสณรง มาแต่ฝ่ายตวันตก นางอรรคมเหษีชื่อ นางจันทาเทวี น้องชายคนหนึ่งชื่อ เจ้าธรรมกระษัตริย์ ได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แลพระสิหิงค์มาประทักษิณพระธาตุแล้วอยู่ ๗ วัน ก็จากเมืองนครไปเมืองเชียงใหม่ พระยาศรีไสณรงถึงแก่กรรม ท้าวธรรมกระษัตริย์ผู้น้องได้เป็นเจ้าเมืองนั้น เมื่อศักราช ๑๑๙๘ ปี ท้าวธรรมกระษัตริย์ถึงแก่ความตาย
ยังมีพระญาองค์หนึ่งชื่อ ท้าวศรีธรรมาโศกราช เป็นเจ้าเมืองอินทปัตบุรีย์ น้องชายชื่อ ท้าวจันทภานู ๑ ชื่อ ท้าวพงษ์สุรา ๑ พาญาติวงษ์ไพร่พลช้างม้าหนีไข้ห่าดั้นดงมาช้านานประมาณได้ ๘–๙ ปี มาถึงหาดทรายแก้ว พบพรมสุริยทำไร่อยู่ นายเทียนบัณฑิตเป็นชีอยู่คนหนึ่ง แลพลพระญาศรีธรรมาโศกราชยกมาแต่อินทปัตนั้น ๓๐,๐๐๐ เกนตั้งค่ายลงมั่น แล้วเกนทำนาทำไร่ แลเกนทำอิฐปูนก่อกำแพงเมืองรอบแล้ว ก่อพระมหาธาตุขึ้นตามพระญาศรีธรรมาโศกราชทำไว้แต่ก่อน
ครั้งนั้น ยังมีผขาวอริยพงษ์อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบดไปถวายพระบาทในเมืองลังกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นปากพนัง พระบดซัดขึ้นปากพนัง ชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบดกางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอินทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูน เดินตามริมชเลมาถึงปากน้ำพระญาน้อย ชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบด ผขาวก็ร้องไห้ พระญาก็ถามผขาว ๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดีนิมนตพระสงฆ์ ผขาวก็ลงสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์มา ๒ พระองค์ องค์หนึ่งชื่อ มหาปเรียนทศศรี องค์หนึ่งชื่อ มหาเถรสัจจานุเทพ ฝ่ายนักเรียนทั้งสองพระองค์มาทำพระธาตุลงปูนเสร็จแล้ว พระญาให้แต่งสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์เมืองลังกามาเสกพระมหาธาตุ
ครั้งนั้น ยังมีสำเภาลำหนึ่งซัดขึ้นปากน้ำพระญาน้อย ในสำเภานั้นมีแต่ศรีผึ้งกับกะแซงเต็มลำสำเภา แต่คนไม่มี พระยาก็ให้เอากะแซงมามุงรอบพระมหาธาตุ ศรีผึ้งนั้นก็ให้ฝั้นเทียนสิ้น แล้วมีตราไปถึงเมืองขึ้นทั้ง ๑๒ นักษัตร์มาทำบุญฉลองพระธาตุ จึ่งปรากฏไปถึงท้าวพิไชยเทพเชียงภวาผู้เป็นบิดาท้าวอู่ทองเจ้ากรุงศรีอยุธยา ท้าวอู่ทองยกไพร่พลยี่สิบแสนเจ็ดพันสามร้อยมาตั้งอยู่แม่น้ำแห่งหนึ่ง มีพระราชสารมาถึงพระญาศรีธรรมาโศกราช ๆ ก็จัดเอาพลเมืองได้ยี่สิบแสนเจ็ดพันสามร้อย เท่ากับพลท้าวอู่ทอง ยกไปตั้งทำกำเร ท้าวอู่ทองยกไปตั้งบางตภาร ทำเพหารอารามไปทุกแห่งจนถึงบางตภาร แลทหารทัพหน้าทั้งสองฝ่ายรบกัน ไพร่พลทั้งสองฝ่ายล้มตายเป็นอันมาก พระญาศรีธรรมาโศกราชดำริหในพระไทยว่า ตัวเรานี้ได้สร้างพระเจดีย์วิหารแลก่อพระพุทธรูปปลูกไม้พระศรีมหาโพธิ แลได้ยกพระมาลิกะเจดีย์ที่เมืองอินทปัต แลทำประตู ๒ ประตู จ้างคนทำวันพันตำลึงทอง แลพระบรรธมองค์หนึ่ง ทำด้วยสำมฤฐ ยาว ๔ เส้น พระเจดีย์สูงสุดหมอก อิฐ ยาว ๕ วา หนาวา ๑ พระระเบียงสูง ๑๕ วา ระเบียงสูงเส้นหนึ่ง หนาเสา ๙ ศอก แปย่อมหิน พระนั่งย่อมสำมฤฐ สูงละองค์ ๑๕ วา ตะกั่วตาดท้องพระระเบียงหนา ๖ นิ้ว บนปรางกว้าง ๒ เส้น เหลี่ยมเสาพระเจดีย์กว้างเหลี่ยมละ ๒ เส้น กะไดฉัตรหิน ๙ วา แม่กะไดเหล็กใหญ่ ๔ กำ ลูก ๓ กำ ขึ้นถึงปรางบน หงษ์ทอง ๔ ตัวย่อมทองเนื้อแล้ว ๆ มาทำพระมาลิกะเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิ แลจำเริญพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช แล้วได้ไปนิมนต์พระเมืองลังกา เมืองหงษา มาทำบุญฉลองพระธาตุ ได้จำแนกแจกทานเป็นอันมาก แลทำศึกกัน รี้พลล้มตาย ก็จะเป็นนาระเวรไปเป็นอันมาก จะขอเป็นไมตรีนั่งอาศน์เดียวกันกับท้าวอู่ทอง เมื่อท้าวอู่ทองกับท้าวศรีธรรมาโศกราชจะเป็นไมตรีกันนั้น ท้าวอู่ทองขึ้นบนแล้วแล้ว พระญาศรีธรรมาโศกจะขึ้นไปมิได้ ท้าวอู่ทองก็จูงพระกรขึ้น มงกุฎของพระเจ้าศรีธรรมาโศกตกจากพระเศียร แล้วท้าวศรีธรรมาโศกสัญญาว่า เมื่อตัวพระองค์กับอนุชาของพระองค์ยังอยู่ ให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน ถ้าท้าวอู่ทองต้องประสงค์สิ่งใด จะจัดแจงให้ นานไปเบื้องหน้า ให้มาขึ้นกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายท้าวอู่ทองก็รับเป็นไมตรีแก่กัน แลท้าวอู่ทองว่า ถ้าท้าวศรีธรรมาโศกราชต้องการสิ่งใด ท้าวอู่ทองจะจัดให้มา เจรจาความกันแล้ว ต่างองค์ต่างยกไพร่พลคืนเมือง
ท้าวศรีธรรมาโศกก็ตั้งอาราม ก่อพระเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิรายทางมาจนถึงเมืองนคร ตั้งแต่นั้น ทั้งสองภาราได้แต่งของบรรณาการตอบแทนกันมิได้ขาดปี เมื่อพระญาศรีธรรมาโศกถึงแก่กรรม เมื่อศักราช ๑๒๐๐ ปี พระญาจันทภานูเป็นเจ้าเมือง พระญาพงษาสุราเป็นพระญาจันทภานู ตั้งฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุเป็นเมืองพระเวียง อยู่มา ท้าวศรีธรรมาโศกถึงแก่กรรม พระญาจันทภานูผู้น้องเป็นเจ้าเมือง ครั้งนั้น เจ้าเมืองชวายกไพร่พลมาทางเรือ มารบเอาเมืองมิได้ ชวาก็เอาเงินปรายเข้ากอไม้ไผ่แล้วกลับไป อยู่มาภายหลัง ชาวเมืองถางไม้ไผ่เก็บเงิน ชวากลับมารบอีกเล่า เจ้าเมืองแต่งทหารออกรบอยู่ แล้วเจ้าเมืองพาญาติวงษ์ออกจากเมืองไปอยู่เขาแดง แลกรมการรบกับชวา ๆ ก็แตกไป ภายหลัง ชวายกไพร่มาทอดอยู่ณปากน้ำ มีราชสารมาว่า เจ้าเมืองชวาให้เอาลูกสาวมาถวาย ให้เจ้าเมืองนครลงไปรับ พระญาก็แต่งไพร่พลลงไป ชวาก็จับตัวพระญาได้ นางอรรคมเหษีก็ตามพระญาไปถึงเกาะอันหนึ่ง ได้ชื่อว่า เกาะนาง โดยครั้งนั้น ชวาก็ให้เจ้าเมืองผูกส่วยไข่เป็ดแก่ชวา ๆ ก็ให้พระญาคืนมาเป็นเจ้าเมืองอยู่เล่า
อยู่มา ยังมีพระมหาเถรองค์หนึ่งชื่อ สัจจานุเทพ อยู่เมืองนครป่าหมาก รื้อญาติโยมมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราชด้วยพระมหาเถรพรหมสุริย ขอที่ตั้งเขตอารามปลูกพระศรีมหาโพธิก่อพระเจดีย์ก่อกำแพงไว้ ให้ญาติโยมรักษาอยู่ตามพระญาอุทิศถวายไว้นั้น ได้ชื่อว่า วัศพเดิม อยู่มา ลูกนายเทียน บัณฑิต ผิดด้วยข้าสาวของพระญา ๆ ก็ให้จับจะฆ่าเสีย จึ่งลูกนายเทียนแล่นเข้าในวัศ พระมหาเถรไม่ให้ อยู่มา ลูกนายเทียนไปดูงาน พระญารู้ก็ให้คนจับฆ่าเสีย พระมหาเถรรู้ก็เคืองใจ รื้อญาติโยมออกไปก่อพระวิหารพระพุทธรูป ได้ชื่อว่า วัศหว้าทยาน แล้วไปตั้งอารามอยู่เขาน้อย พระมหาเถรถึงแก่กรรม พระญาก็ขึ้นไปแต่งการศพ ได้ชื่อว่า เขาคุมพนม แล้วพระญาก็คืนเมือง จึ่งพระญาชวาให้มาเอาส่วยไข่เป็ดไข่ไก่โดยพระญาผูกนั้น
อยู่มา ยังมีเด็กคนหนึ่ง พ่อแม่แข็ญใจ อยู่ตำบลบ้านพเตียน เอาลูกใส่เปลไว้ร่มไม้กลางนา มีงูตัวหนึ่งเอาแก้วมาไว้ในเปล พ่อแม่นั้นได้แก้ว ตั้งชื่อลูกว่า พังพการ ครั้นเด็กใหญ่เลี้ยงโคกระบือได้ เด็กทั้งหลายก็มาเล่นด้วยพังพการ ๆ ให้ดาบไม้ภาเขคนละเล่ม วันหนึ่ง พังพการชวนพวกเด็กวิดปลา แล้วให้สัญญาแก่กันว่า ถ้าปลาออกหน้าที่ผู้ใด จะตัดหัวเสีย ปลาวิ่งออกหน้าที่เด็กคนหนึ่ง พังพการก็เอาดาบภาเขตัดหัวเด็กนั้นขาดตาย พ่อเด็กไปบอกกรมเมือง ๆ ไปทูลแก่พระญา ๆ ให้หาตัวเด็กนั้นมา เด็กนั้นเอาแก้วถวายแก่พระญา ๆ ก็เอาเด็กนั้นเป็นบุตร พระญาก็คิดแข็งเมืองกับชวา พระญาก็ให้ขุดคูรอบเมืองพระเวียง พระญาชวาให้มาเอาส่วย พระญาก็ไม่ให้ พระญาชวายกทัพเรือมารบ พระญาก็ให้พังพการเป็นทหารออกรบ พังพการฆ่าพวกชวาเสียสามสิบคนสี่สิบคนทุกวัน พลชวาตายมานัก แลจะได้เห็นตัวพังพการก็หาไม่ ชวาก็แตกหนีไป พระญาก็แบ่งเมืองให้พังพการฝ่ายหนึ่ง พระญามาถึงแก่กรรม ก็เกิดไข้ห่า ชาวเมืองล้มตาย หลบไข้ไปอยู่ตรอกห้วยตรอกเขา เมืองก็ร้างอยู่ช้านาน
ยังมีศรีมหาราชลูกนายนกกระทาสุรากับคนทั้งหญิงทั้งชาย ๑๐๐ หนึ่งมาตั้งอยู่สุดท่าน้ำชื่อว่า เมืองลานตกา ก็เกิดลูกชื่อ พระหล้า ๆ ก็เกิดลูกชื่อ ศรีมหาราชา เป็นผู้ใหญ่อยู่เมืองลานตกา ยังมีขุนศรีแปดอ้อมแสนเมืองขวางอยู่เมืองสระ มีพรานแปดคนตามเนื้อหลงมาพบพระเจดีย์เดิม จึ่งนายก็คืนไปบอกกับขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวาง เมืองสระนั้นขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช แลเมืองสระนั้นเกิดไข้ห่า จึ่งแม่นางแอดรื้อมาตั้งเมืองสระนั้นมาพบเมืองแล้วมาตั้งทุ่งหลวงหรดีเมือง
ยังมีนายไทยผู้หนึ่งชาวกรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำนครศรีธรรมราช นายไทยวางว่าว ๆ นั้นก็ขาด นายไทยตามว่าวมาพบพระเจดีย์เดิม แล้วพบเจ้าไทยสององค์ องค์หนึ่งชื่อ มหาเถรพุทธสาท องค์หนึ่งชื่อ มหาเถรพรหมสุรีย์ เที่ยวโคจรมา นายไทยก็เล่าความแก่เจ้าไทย ๆ ให้นำไปดูที่พระเจดีย์เดิม แล้วนายไทยก็ลงเรือไป ภายหลัง เจ้าไทยทั้งสองพบพระมหาธาตุทลายลงเทียมพระบรรลังก์ รอยเสือเอาเนื้อขึ้นกินที่นั้น เจ้าไทยก็กลับไปอยู่อารามดังเก่าเล่า
ยังมีผขาวอริยพงษ์อยู่กรุงศรีอยุธยา ใช้เรือมาทอดอยู่ปากน้ำพระญา แลมาพบเจ้าไทยทั้งสองพระองค์ แลผขาวอริยพงษ์นั้นว่า พบตำราพงษาวดาร ว่า เมืองนครผู้เถ้าผู้แก่แห่งผขาวมาทำพระมหาธาตุตกอยู่ช้านานแล้ว จึ่งพระมหาเถรบอกว่า เมืองร้างเสียช้านานแล้ว พระมหาธาตุก็ทำลายลงถึงบรรลังก์ ผขาวกับเจ้าไทยก็ชวนกันไปแผ้วถาง แล้วจดหมายกว้างยาวบรรลังก์พระมหาธาตุ แลพระพุทธรูปพระเจดีย์แลจังหวัดกำแพงเมือง แล้วผขาวอริยพงษ์ก็ลงเรือไปกรุงศรีอยุธยา นำเอาเรื่องราวขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัว ๆ รับสั่งให้นิมนต์ปเรียนทศศรีชาวหงษาวดีซึ่งมาอยู่กรุงศรีอยุธยา มหาปเรียนทศศรีออกมากับนายแวงจำพระบรรทูลมาด้วยพระมหาปเรียน แล้วมีตรามาให้นิมนต์พระสงฆ์มาช่วยแต่งพระบรมธาตุ แลพระสงฆ์ทั้งหลายรื้อญาติโยมมารักษาพระบรมธาตุ แลพระสงฆ์ทั้งหลายมาฟังพระบรรทูลแล้วกลับไปรื้อญาติโยม จึ่งนิมนต์พระมหาเถรสุทธิชาติพงษ์รื้อญาติโยมมาแต่ขนอน นายผ่องหัวพันคุมไพร่ส่วยพันไกรพลดานมาสร้างวัศมังคุด มหาเถรพรหมรังศรีรื้อญาติโยมมาแต่โองพตานสร้างวัศขนุน นิมนต์มหาเถรเพชมาแต่ยายคลัง รื้อญาติโยมไพร่ส่วยพันศรีชนามาสร้างวัศจันทเมาลี พระมหาเถรมังคลาจารรื้อญาติโยมมาแต่กุฎีหลวงสร้างวัศหรดีพระธาตุ พระมหาเถรโชติบาลมาแต่ปัตโวกเขาพระบาทกับนายมันทุสริสร้างวัศฝาง พระมหาเถรสรรเพชมาแต่โองพดาน รื้อญาติไพร่ส่วยพันศรีชนาสร้างวัศอาคเณพระธาตุ พระมหาเถรอุนุรุทธ์รื้อญาติโยมมาแต่ยศโสทรสร้างวัศประดู่ พระมหาเถรพงษารื้อญาติโยมมาแต่เพชบุรียสร้างวัศตโนดพายัพพระมหาธาตุ จึ่งมหาปเรียนทศศรีปลูกกุฎีอยู่พายัพพระมหาธาตุ จึ่งพระมหาเถรมงคลเอาไม้ศรีมหาโพธิใส่อ่างทองลงสำเภา รื้อญาติโยมมาแต่เมืองลังกาสร้างวัศพลับปลูกพระศรีมหาโพธิ ฝ่ายอุดรพระมหาธาตุ ปลูกทั้งอ่างทอง แล้วก่ออาศน์ล้อมรอบ ก่อพระพุทธรูปสามด้าน ฝ่ายปัจจิม ก่อพระบรรธมองค์หนึ่ง พระระเบียงรอบ ๒๘ ห้อง ชื่อว่า พระโพธิมณฑัยร จึ่งพระมหาปเรียนทศศรีแลผขาวอริยพงษ์นายแวงนิมนต์พระมหาเถรพุทธสาครวัศพระเดิมเป็นป่าแก้วตามพระบรรทูล พระเจ้าอยู่หัวให้นางแม่เรือนหลวงรับพระพุทธรูปมาใส่บาตรต่าง แลมีตราออกมาให้แม่เจ้าเรือนหลวง ๔๐ หัวงานเป็นข้าพระทานพระกันปัญญา จึ่งพระสงฆ์ทั้งหลายกับพระศรีมหาราชาเจ้าเมืองลานตกาก็ชักชวนคนช่องห้วยช่องเขาออกมาแต่งพระมหาธาตุแต่ยอดลงมาถึงบรรลังก์ แล้วทำการฉลองพระธาตุ พระศรีมหาราชาสร้างวัศหรดีพระธาตุ พระมหาเถรมงคลประชาออกมาแต่กรุงศรีอยุธยา พระศรีมหาราชานิมนต์ให้อยู่อารามนั้น ๆ ชื่อ กะดีจีนเก้าห้อง พระศรีมหาราชาก่อชุกชีแลวิหาร แล้วพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ขุนอินทาราผู้ลูกกินเมืองลานตกอยู่ เมียขุนอินทราชื่อ นางเอื่อย ลูกชายชื่อ นายศรี ลูกหญิงชื่อ นางราม มีพระราชโองการออกมาว่า ให้ขุนอินทาราแต่งลูกเข้าไปถวาย ขุนอินทาราแต่งลูกหมอช้างเข้าไปแทน หมอช้างก็ตามลูกเข้าไปด้วย หมอช้างให้กราบทูลว่า ขุนอินทาราหาเอาลูกสาวเข้ามาถวายไม่ โปรดให้ข้าหลวงออกมาสืบ ๆ สมตามถ้อยคำหมอช้างกราบทูล จึ่งให้เอาขุนอินทาราไปตีเสียที่ประตูท่าชี แล้วเอาลูกเมียผู้คนเข้าไปเป็นข้าหลวง นายศรี ลูกขุนอินทารานั้น โปรดให้เป็นนายศรีทนู ตั้งแต่นั้นมา เมืองนครศรีธรรมราชก็อันตรธานเป็นช้านาน หาผู้กินเมืองมิได้
เมื่อศักราชได้ ๑๘๑๕ ปี มีพระโองการให้นายศรีทนูออกมากินเมืองนครศรีธรรมราช จึ่งพระมหาปเรียนทศศรีแลพระสงฆ์ทั้งหลายทำเรื่องราวให้ผขาวอริยพงษ์กับนายแวงเอาเข้าไปถวาย มีรับสั่งให้นายช่างเอาทองแดงหล่อยอดพระมหาธาตุปิดทองเต็ม แล้วให้ผขาวอริยพงษ์รับออกมา ตรัสให้นายสามราชหงษ์ออกมาทำสารบาญชีย์ญาติโยมพระสงฆ์ทั้งปวงให้ขาดจากส่วยจากอากรจากอาณาประชาบาล ให้เป็นเชิงเป็นตระกูลข้าพระ นายสามราชหงษ์ทำบาญชีย์ข้าพระโยมสงฆ์ทั้งปวงอันรอมาอยู่นั้น ทำพระระเบียงล้อมพระธาตุ แล้วทำกำแพงล้อมพระระเบียงทั้งสี่ด้าน แล้วทำที่พระห้องพระระเบียงให้แก่พระสงฆ์ผู้ต้องพระราชนิมนต์นั้น ได้แก่มหามงคลแต่มุมอิสาน ๑๕ ห้อง ได้แก่โชติบาล ๑๒ ห้อง ข้างประตูเหมรังศรีถึงธรรมศาลา แต่นั้นไป ได้แก่มหาเถรสุทธิพงษื ๑๕ ห้องถึงมุมอาคเณ แต่นั้นไป ได้แก่พระสังฆเถรเพ็ช ๑๗ ห้อง ได้แก่ขุนไชยกุมารเจ้าเมืองบันท้ายสมอพระประทาน ห้องหนึ่ง ได้แก่พระมหาเถรสรรเพ็ช ๖ ห้อง ได้แก่พระธรรมกัลญาณ ๙ ห้องมุมหรดี แต่นั้นไปได้แก่ศรีสุดาร เจ้าเมืองไทร ๕ ห้อง ได้แก่มหาเถรนั้นห้อง ๑ ได้แก่มหาเถรมังคลาจาร ๒ ห้อง ได้แก่นนทสารีย ๑๐ ห้องทั้งประตูด้วย ได้แก่นางชีแก้วห้อง ๑ ได้แก่กระยามิตร ๓ ห้อง ได้แก่ขุนไชยสุราเจ้าเมืองสาย ๔ ห้อง ได้แก่ราชาศรีเทวาเจ้าเมืองกะลันตัน ๖ ห้อง ได้แก่ขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวางเจ้าเมืองสระ ๔ ห้อง ได้แก่แม่นางอั่วทองนายรามสักส่วยพฤทธิบาท ๗ ห้องถึงมุมพายัพ แต่นั้นไปได้แก่ขุนแปดสระเจ้าเมืองตรัง ๕ ห้อง ได้แก่ราชาพัทธยาเจ้าเมืองพัทลุง ๖ ห้อง ได้แก่ขุนจุลาเจ้าเมืองลงูห้อง ๑ ได้แก่ราชรัดหัวเมืองไสยบาท ๗ ห้องถึงมุมพายัพ แต่นั้นไปได้แก่ขุนแปดสระเจ้าเมืองตรัง ๕ ห้อง ได้แก่ราชาพัทธยาเจ้าเมืองพัทลุง ๖ ห้อง ได้แก่ขุนจุลาเจ้าเมืองลงูห้อง ๑ ได้แก่ราชรัดหัวเมืองไสยขุนอินทาราเจ้าเมืองเข้าด้วยห้อง ๑ ได้แก่นายสำเภาเสมียนขุนอินทราเข้าด้วย ๓ ห้อง ได้แก่นายญีน้อยหัวพันส่วย ๒ ห้อง ได้แก่นายจอมศรีนายน้อยยอดม่วงห้อง ๑ ได้แก่นายดำหัวปากห้อง ๑ ได้แก่นางเจ้าเรือนหลวงห้อง ๑ ได้แก่มหาปเรียนทศศรีผขาวอริยพงษ์นายพุทธศร ๑๐ ห้อง ได้แก่มหาเถรอนุรุทธ ๓ ห้อง ได้แก่ขุนคลองพล ๓ ห้องถึงมุมอิสาน เข้ากัน ๑๖๕ ห้อง พระพุทธรูป ๑๖๕ พระองค์
แลจึ่งมหาปเรียนทศศรี แลพระสงฆ์ทั้งหลาย แลผขาวอริยพงษ์ แลนายสามราชหงษ์ ก็ให้วัดกำแพงรอบพระระเบียงทั้งสี่ด้านให้แก่พระสงฆ์ทั้งปวงแลผู้ได้ห้องพระทั้งปวง กำแพงฝ่ายบูรรพ์ ๔ เส้น ๑๓ วา แต่มุมอิสานไปได้แก่พงไพลโพธิมณเฑียรเส้น ๖ วา ได้แก่นายรัตนในโชติบาลเส้น ๔ วา ได้แก่นายรัดมหาเถรเหมรังศรีถึงพระธรรมศาลา ๙ วา ได้แก่มหาเถรสุทธิชาติพงษ์วัศมังคุด ๑๙ วา ได้แก่เพหารหลวง ๙ วาจนมุมอาคเณ ด้านทักษิณได้แก่สังฆเถรเพ็ชเส้น ๒ วา ได้แก่เจ้าเมืองบันทายสมอ ๙ วา ได้แก่มหาเถรสรรเพ็ช ๑๙ วา ได้แก่มหาเถรธรรมกัลยาเส้น ๒ วาจนมุมหรดี ด้านปัจฉิมได้แก่เพหารหลวง ๘ วา ได้แก่ศรีสุดานเจ้าเมืองไทร ๙ วา ได้แก่มหาเถรราชเสนา ๕ วา ได้แก่มหาเถร ๒ วา ได้แก่มหาเถรมังคลาจาร ๔ วา ได้แก่มหานนทสาริย ๑๙ วา ได้แก่กัลยามิตร ๑๒ วาทั้งประตูด้วย ได้แก่ขุนไชยสุรา ๙ วาประตูข้างหนึ่งด้วย ได้แก่ราชาศรีเทวาเจ้าเมืองกะลันตัน ๙ วา ได้แก่ขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวางเจ้าเมืองสระ ๙ วา ได้แก่อั่วทองนายรามส่วยพฤทธิบาท ๑๒ วาจนมุมพายัพ แต่ด้านอุดรไปได้แก่ขุนแปดสันเจ้าเมืองตรัง ๘ วา ได้แก่ราชาภัทธยาเจ้าเมืองพัทลุง ๑๐ วา ได้แก่ขุนจุลาเจ้าเมืองลงู ๘ วา ได้แก่นายญีน้อยหัวปากส่วย ๔ วา ได้แก่นายจอมศรีนายน้อยยอดม่วง ๒ วา ได้แก่นายดำหัวปากส่วย ๒ วา ได้แก่แม่นางเจ้าเรือนหลวงขุนอินทราช่วยด้วย ๕ วา ได้แก่มหาเถรปเรียนทศศรีแลผขาวอริยพงษ์ ๑๕ วา ได้แก่มหาเถรอนุรุทธ์ ๙ วา ได้แก่ขุนคลองพล ๔ วาจนมุมอิสาน เข้ากันทั้งสี่ด้านเป็นกำแพงเท่านี้ ๑๗ เส้นกับวาหนึ่ง
จึ่งพระสงฆ์ทั้งหลายร้องฟ้องว่า จะขอที่ภูมิมีสัตไว้สำหรับญาติโยมทำเป็นนาจังหันสำหรับอารามสำหรับพระระเบียง จึ่งขุนอินทาราแลพระสงฆ์ทั้งหลายก็ทำกระบวนให้นายสามราชหงษ์แลผขาวอริยพงษ์เข้าไปถวาย จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้หาขุนอินทาราแลพระสงฆ์เข้าไป จึ่งขุนอินทาราแลพระสงฆ์เข้าไป จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้ขุนรัตนากรคุมคนสามร้อยมารั้งเมืองนครศรีธรรมราช จึ่งมีพระบรรทูลตรัสให้ขุนอินทาราเป็นศรีมหาราชา ๆ ก็ทูลด้วยกิจพระสาสนาแลพระสงฆ์ให้เจ้าคณะถวายขบวนแลบาญชีย์ พระสงฆ์ทั้งหลายก็ทูลด้วยที่ภูมิมีสัต ขอให้ญาติโยมทั้งหลายสร้างสวนไร่นาไว้สำหรับอารามสำหรับพระห้องสำหรับพระสงฆ์ทั้งหลาย แลมีพระบรรทูลให้นายสามจอมจำพระบรรทูลออกมาด้วย ศรีมหาราชาให้ทำสารบาญชีย์ที่ภูมิมีสัตทั้งสองฝ่ายชเลแดนไว้แก่พระสงฆ์เจ้า ให้ญาติสร้างสวนไร่นาดินป่าสำหรับพระห้องพระระเบียงแลพระสงฆ์เมื่อมหาศักราช ๑๕๕๐ ปีนั้น จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกดินป่าณหัวปากนายคำให้แก่พระมหาธาตุเจ้า ๑๕๐ เส้น ฝ่ายบูรรพ์ให้อำแดงสาขาพยาบาล ๙ เส้น แลให้นายศรีรักพยาบาล ๕ เส้นริ้วหนึ่ง เป็นนาจังหัน วัดให้แก่นายทองไสหัวปาก ในโพธิมณเฑียร วัดให้พระกัลปนา เป็นนาจังหันในหัวสิบหมวดนายทองไสยพยาบาล ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระเดิมแลมหาเถรพุทธสาครบัณฑิตเพียนพยาบาลตำบลสดกเมือง เป็นนา ๒,๐๙๙ กะบิ้ง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระระเบียงมหาเถรสุทธิชาติพงษ์ วัดภูมิมีสัต ให้แก่มหาเถรเหมรังศรี ให้นายเพงนายวัวพยาบาลอำแดงทาน้องมหาเถรเหมรังศรี สร้างเป็นนาจังหัน ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรปเรียนทศศรีสำหรับพระระเบียง ๑๐ ห้อง ให้นายพุทธศรพยาบาลฝ่ายทักษิณต่อแดนด้วยพระธรรมศาลา ฝ่ายตวันออกต่อแดนด้วยพระกัลปนา ฝ่ายตะวันตกทลาหลวง ฝ่ายสตีนแม่น้ำเป็นแดน เป็นนา ๑๑ เส้นกับริ้วหนึ่ง แลฝังสิลาไว้เป็นแดนทั้งสี่ทิศ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระกัลปนาให้นายส้อยผขาวพยาบาล ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่อุโบสถ ๖ เส้น ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรสังฆเถรเพ็ช เป็นนาจังหันตำบลปัจฉิมหรดีเมืองนาขวางเจ็ดริ้ว ให้แก่พระธรรมศาลาเป็นนา ๘ เส้น เป็นนาจังหันมหาเถรเหมรังศรีตำบลท่ากะสัง ให้แก่มหาเถรสังฆเถรเพ็ชตำบลท่าซาก เป็นนาจังหันเข้าพระเป็นนา ๑๗ เส้น ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายน้อยทองสุก ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พงไพลตำบลโพธิมณเฑียร ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรโชติบาลให้นายรัดพงษ์พญา ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระเดิม เป็นนาจังหันพระมหาเถรพุทธสาครตำบลตรอกเมืองเป็นนา ๑๑ เส้นกับริ้วหนึ่ง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระระเบียง เป็นนาจังหันพระมหาเถรธรรมราชแลมหาเถรเพ็ช ให้วัดภูมิมีสัตให้เป็นนาเชิงคดีเป็นนา ๒ เส้น ฝ่ายอาคเณเมืองเป็นนาเชิงคดีสงฆ์ให้เจ้าคณะ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่พระระเบียง เป็นนาจังหันพระมหาเถรธรรมกัลยา ให้บาคูรัดพยาบาล
แลศรีมหาราชาแลนายสามจอมวัดที่ภูมิมีสัตให้แก่ทั้งนี้ ให้ญาติทั้งปวงพยาบาล แลให้พระยาคำแพงแลพระระเบียงทั้งนั้นด้วยแล้ว แลให้ขุนศรีพลเอาเชิงกุฎีในวัดพระคูหาวัดลำพูนฉวางเมืองสระให้เอาจากมามุงพระธรรมศาลา ให้มหาเถรเหมรังศรีรักษา แลมหาเถรเหมรังศรีก็ร้องฟ้องว่า นาซึ่งแจกนั้นน้อยนัก แลจะขอดินป่าตำบลบางนำเดิมนาตะโหนอีกเล่า จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมให้นายรัดปลัดศรีมหาราชาไปวัดดินป่าแลบางน้ำเดิมนาตะโหนอีกเล่าให้แก่มหาเถรเหมรังศรี ๆ ก็ให้นายวัวอำแดงราอำแดงทาน้องมหาเถรเหมรังศรีสร้างเป็นนากำนันห้อง แล้วอำแดงเอื่อยให้แก่นายไสพี่พระมหาเถรเหมรังสี ข้างหัวนอนอำแดงหราสร้างนั้น ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่อำแดงสังสร้างเป็นนาจังหันพระเจดีย์ แล้วให้วัดภูมิมีสัตให้นายอุนจังหันเป็นนาพระกัลปนา ให้วัดภูมิมีสัตให้นายสามบุรักแลอำแดงใหม่รักษา ให้วัดภูมิมีสัตให้นายแผ่นหนาพระกัลปนา ให้วัดภูมิมีสัตให้มหาเถรเหมรังศรีให้นางเพงสร้างเป็นนาจังหัน ให้วัดภูมิมีสัตให้ในกัลปนาในหัวสิบนายหมู่สร้างเป็นนาจังหัน ๙ เส้น ๓ หมวด เป็นนาจังหันเจ้าคณะ แล้ววัดภูมิมีสัตตำบลท่าชีให้แก่พระธรรมศาลา ให้นายอินสร้างเป็นนาเข้าพระแลจังหันพระมหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายสามเพ็ชนายงัวด้วงอำแดงเอื่อยอำแดงบุนนองสร้างคลองแจระเป็นนาจังหันสำหรับพระธรรมศาลามหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายงัวอำแดงเอื่อยอำแดงบุนนองสร้างคลองตำบลปันแตมาตรเป็นนาจังหันสำหรับพระธรรมศาลามหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายอุ่นนายดำศรีสร้างตำบลพระกระเสดเป็นนาจังหันมหาเถรเหมรังศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่ชาวลางตีนสร้างตำบลลมุ ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรมังคลาจารแลมหาเถรนนทสารีย์สร้างตำบลยวนกระแลบทะ ให้นายเกิดสร้างพยาบาลสำหรับพระระเบียง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรแลผขาวอริยพงษ์ตำบลตะเพียนสร้างเป็นนาจังหันปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรแลผขาวอริยพงษ์สร้างตำบลท่าชี ๓ ริ้วเป็นนามหาปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายพุทธสรตำบลพายัพเมืองสร้างเป็นนาจังหันมหาปเรียนทศศรี ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่มหาเถรเพ็ชตำบลท่าชีสร้างสำหรับพระระเบียง ให้วัดภูมิมีสัตให้แก่นายคำสร้างตำบลฉลง ให้วัดภูมิมีสัดให้แก่นายเทพตำบลพะเตียนสำหรับพระธรรมศาลาแลมหาปเรียนทศศรีเหมรังศรี ทั้งนี้ย่อมศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกดินป่าให้ทุกสังกัดทุกหมู่ จึ่งศรีมหาราชาแลนายสามจอมแจกทำบาญชีที่เชิงกุฎีวัดให้แก่แม่นางเจ้าเรือนหลวงแลหัวสิบชาวปทารพระกัลปนาแลวัดให้ผู้ครองเพณีแลพระสงฆ์อันขึ้นแก่เจ้าคณะแลพระสงฆ์วัดนอกวัดเสศนารายทั้งหลายให้ทุกตำบลตามพระบรรทูล แล้วให้นายสามจอมเข้าไปถวายบังคม แล้วถวายขบวนพระมหาธาตุ แลพระระเบียง แลโพธิมณเฑียร แลพระเดิม แลอาราม แลบาญชี แลญาติพระสงฆ์ แลที่ภูมิมีสัตทั้งปวง แลนายสามจอมทูลด้วยพระเจดีย์แลพระเพหาร แลขอประดิษฐานผู้คนแลญาติไว้เป็นข้าพระแลขอที่ภูมิมีสัต จึ่งมีพระราชโองการอนุโมทนาด้วยนายสามจอม จึ่งให้นายแวงจำพระบรรทูลไปมอบที่ภูมิมีสัตแลข้าพระไว้สำหรับพระนั้น แลห้ามราชการทั้งปวงนั้น มีพระราชโองการไว้สำหรับพระแลนายสามจอมได้ที่ภูมิมีสัตตำบลบ้านสน ได้พระระเบียง ได้กำแพงล้อมพระมหาธาตุด้วย แล้วพระศรีมหาราชาสร้างพระวิหารฝ่ายทักษิณพระมหาธาตุ แลก่อพระเจดีย์เพหารสูง ๗ วาปิดทองลงถึงอาศน์ ก่อพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ๆ ละแปดพระองค์ เข้ากัน ๓๒ พระองค์ พระพุทธรูปประธานด้านละองค์ เป็นพระ ๓๖ พระองค์ ได้ชื่อ พระวิหารหลวง แลพระมหาเถรเหมรังศรีสร้างพระธรรมศาลา ขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวางเอาเชิงกุฎีวัศคูหาวัศฉวางวัศลำพูนเอาจากมามุงพระธรรมศาลา
อยู่มา พระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราช ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมาเป็นศรีมหาราชาแต่งพระธรรมศาลาทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุและก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานตกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรม เอาศพมาไว้วัศศภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด
เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษ์มาเป็นเจ้าเมืองมาทำวิหาร ฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจฉิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ ชื่อว่า เพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า
เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุง ไปทางเมืองสระ
เมื่อศักรา ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบ เสียขุนคำแหงปลัดณรอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกรบศึกหนีไป
เมื่อศักราช ๒๑๔๔ ปี โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะ จึงพระยาให้ขุดคูฝ่ายบูรรพ์ แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ
เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือพายพลประมาณห้าหมื่นเสศ รบกันเจ็ดวันเจ็ดคืน ขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืน ศึดแตกลงเรือ ศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา
ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราชเดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช