ตำนานพระปริต

จาก วิกิซอร์ซ
สำหรับงานที่มีชื่อทำนองเดียวกัน ดู ตำนานพระปริตร
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตำนานพระปริต
พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์
ราชบัณฑิตยสภา
พิมพ์ถวายพระภิกษุสามเณรเป็นของชำร่วย
เมื่อมาเยี่ยมหอพระสมุดฯ และพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
พ.ศ. ๒๔๗๒
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

คำนำ

เวลานักขัตฤกษเข้าวัสสา ถึงวันแรม ๔ ค่ำ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ได้เคยเปิดหอพระสมุดฯ และพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเป็นการพิเศษ เพื่อให้เป็นโอกาศแก่พระภิกษุสามเณรได้มาชมทุกปีมาหลายปีแล้ว ใน ๒ วันนั้น มีผู้อุปการจัดของมาช่วยเลี้ยงพระสงฆ์สามเณรก็หลายราย ส่วนราชบัณฑิตยสภานั้นพิมพ์หนังสือถวายเป็นของชำร่วยแก่พระภิกษุสามเณรองค์ละเล่ม เป็นงานปีซึ่งบังเกิดประโยชน์และความชื่นชมยินดีด้วยกันทุกฝ่าย จึงได้จัดให้มีเสมอมาไม่ขาด

หนังสือซึ่งราชบัณฑิตยสภาจะพิมพ์ถวายเป็นของชำร่วยแก่พระภิกษุสามเณรซึ่งมาชมหอพระสมุดฯ และพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครใน พ.ศ. ๒๔๗๒ นี้ ข้าพเจ้าเลือกเรื่อง ตำนานพระปริต ให้พิมพ์ ด้วยคิดเห็นว่า พระภิกษุสามเณรได้ไป เห็นจะพอใจอ่านกันโดยมาก หนังสือเรื่อง ตำนานพระปริต นี้ มหาเสวกเอก เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ ได้ขอให้ข้าพเจ้าแต่งขึ้นประกอบกับบาลีราชปริต (สวดมนตร์ ๗ ตำนานและ ๑๒ ตำนาน) ซึ่งพิมพ์แจกในงานปลงศพสนองคุณมารดาเมื่อเดือนกรกฎาคมศกนี้ เรื่องตำนานที่ข้าพเจ้าแต่งเป็นคำอธิบายมูลเหตุที่จะเกิดมีราชปริตและสันนิษฐานประกอบบ้าง ไม่ใช่บอกบัญชีรายเรื่องพระปริตและแปลพระปริต หนังสือที่บอกรายเรื่องพระปริตต่าง ๆ กับทั้งบทบาลีแจ้งอยู่ในหนังสือสวดมนตร์ ฉะบับหลวง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิษฐ ได้ทรงรวบรวม มีฉะบับพิมพ์อยู่แล้ว คำแปลพระปริตก็มีความเก่าซึ่งแปลครั้งรัชชกาลที่ ๓ หอพระสมุดฯ ได้พิมพ์ความหนึ่ง กับความใหม่ซึ่งพระสาสนโสภณ วัดมงกุฎกษัตริย์ แปล ดูเหมือนท่านจะได้พิมพ์หลายครั้งแล้ว อีกความหนึ่ง ถ้าท่านผู้ใดประสงค์จะทราบว่า พระปริตหรือบทบาลีสวดมนตร์และอนุโมทนามีอันใดบ้าง หรือจะใคร่ทราบว่า แปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร ขอจงศึกษาในหนังสือ ๓ เล่มซึ่งได้กล่าวมานั้นเถิด

ข้าพเจ้าขอถือโอกาศนี้ขอบพระคุณของพระภิกษุสามเณรซึ่งได้อุปการแก่หอพระสมุดฯ และพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครมาด้วยประการต่าง ๆ ปีนี้ ขอให้อนุโมทนาการที่จัดเครื่องบูชาพระศาสนาไว้ในพระที่นั่งพรหมเมศธาดา (คือ พระวิมานหลังเหนือ) โดยฉะเพาะ ด้วยจัดสำเร็จไปเพราะความอุปการของพระสงฆ์เป็นพื้น ยกเป็นอุทาหรณ์ เช่น ตู้สำหรับไว้ตัวอย่างพัดยศนั้น เป็นของพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยนับแต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเป็นต้นได้ช่วยสร้าง นอกจากนั้น เช่น พัดรอง เครื่องบริขาร และผ้ากราบตราต่าง ๆ ก็ดี เครื่องบูชาและเครื่องใช้สอยในวัดซึ่งเป็นของควรเก็บรักษาไว้ให้มหาชนได้เห็นมิให้ศูนย์เสีย เป็ของพระภิกษุมีแก่ใจให้มาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครโดยมาก ราชบัณฑิตยสภาหวังใจว่า เมื่อพระภิกษุสามเณรทั้งหลายได้มาเห็นจัดไว้อย่างไร คงจะยินดีอนุโมทนาและมีแก่ใจช่วยหอพระสมุดฯ และพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครสืบไป

  • ลายมือชื่อของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  • นายกราชบัณฑิตยสภา
  • วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒


การสวดพระพุทธมนตร์เช่นที่เราได้ฟังพระสงฆ์สวดในงานต่าง ๆ ที่จริงเป็น ๒ อย่างต่างกัน คือ สวดพระธรรมเพื่อรักษาพระศาสนา อย่าง ๑ สวดพระปริตเพื่อจะคุ้มครองกันภยันตราย อย่าง ๑ กิริยาที่สวดมนตร์พร้อม ๆ กัน จะสวดพระธรรมก็ดี หรือสวดพระปริตก็ดี เรียกว่า คณะสาธยาย (คำว่า สวด มาแต่คำ สาธยาย นั้นเอง) จะนำอธิบายเรื่องตำนานมาแสดงต่อไปโดยลำดับ แต่ขอบอกให้ท่านทั้งหลายเข้าใจไว้เสียก่อนว่า ความที่จะกล่าวนั้น พบหลักฐานบ้าง เป็นแต่สันนิษฐานบ้าง แม้สันนิษฐานผิดไป ต้องขออภัย และขอให้ท่านทั้งหลายช่วยค้นหาหลักฐานที่ถูกด้วย

จะว่าด้วยการสวดคณะสาธยายก่อน ประเพณีที่พวกพุทธบริษัท คือ พระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ชวนกันท่องจำพระธรรมวินัยแล้วสวดพร้อม ๆ กันอย่างพระสวดมนตร์ทุกวันนี้ หาปรากฏว่ามีในครั้งพุทธกาลไม่ แม้อัฏฐกถาธรรมบทกล่าวในนิทานบางเรื่องว่า พระสงฆ์พุทธสาวกสวดปริตและพุทธมนตร์ตั้ง ๗ คืน ๗ วัน เช่น ในเรื่องอายุวัฒนกุมารตอนสหัสส ก็จะฟ้องเป็นหลักฐานไม่ได้ ด้วยอัฏฐกถาธรรมบทนั้นแต่งต่อเมื่อพุทธกาลล่วงแล้วเกือบ ๑๐๐๐ ปี เป็นสมัยเมื่อมีประเพณีสวดพระปริตเกิดขึ้นแล้ว พิเคราะห์ดูความที่อ้าง ไม่สมกับประเพณีในครั้งพุทธกาล เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมวินัยด้วยภาษาบาลีอันเป็นภาษากลางสำหรับชาวมัชฌิมประเทศใช้พูดจากันแพร่หลายยิ่งกว่าภาษาอื่น ผู้ฟังพระธรรมเทศนาหรือผู้ที่รับพระธรรมไปเที่ยวสั่งสอน ย่อมจำข้อความเป็นสำคัญ ส่วนถ้อยคำ ไม่รู้สึกลำบาก ด้วยเป็นภาษาซึ่งเข้าใจซึมซาบและใช้พูดจากันอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่เราฟังเทศน์ในภาษาไทยทุกวันนี้ ก็ตั้งใจจำข้อความเป็นสำคัญ หาถือว่าจำเป็นจะต้องจำถ้อยคำสำนวนที่พระเทศน์ทั้งหมดไม่ ความที่ยกมาเป็นอุทาหรณ์ฉันใด สันนิษฐานว่า การศึกษาและสั่งสอนพระธรรมวินัยเมื่อครั้งพุทธกาล ความจำเป็นที่จะต้องท่องและสวดซ้อมพร้อม ๆ กันเป็นคณะสาธยายก็ย่อมไม่มีด้วยเหตุอันเดียวกัน

ประเพณีที่พระสงฆ์สวดคณะสาธยายปรากฏมีขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอริยสาวกทั้งหลาย มีพระมหากัสสปเป็นประธาน ประชุมกันณถ้ำสัตบรรณในแขวงกรุงราชคฤหมหานครทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก เพราะคำว่า "สังคายนา" นั้นเองแปลว่า ซักซ้อมสวดพร้อม ๆ กัน จึงฟังเป็นหลักฐานได้ว่า การที่พระสงฆ์สวดคณะสาธยายเกิดมีขึ้นเมื่อครั้งทำปฐมสังคายนานั้น เมื่อคิดดูว่า เหตุใดพระสงฆ์อริยสาวกจึงใช้วิธ๊ท่องจำพระธรรมวินัยแล้วสวดซ้อมพร้อม ๆ กัน ก็ดูเหมือนจะเห็นเค้าเงื่อน ด้วยเมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน ได้มีพระพุทธฎีกาตรัสสั่งแก่พระสาวกทั้งปวงว่า พระธรรมวินัยจะแทนพระองค์อื่นไป ครั้นพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอริยสาวกจึงประชุมกันสำรวจพระธรรมวินัยซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติตรัสสอนเพื่อจะรักษาไว้ให้เป็นหลักฐานมั่นคง ก็พระธรรมวินัยทั้งปวงนั้น เมื่อในสมัยพุทธกาล พระสาวกย่อมทรงจำไว้โดย "อัตถะ" (คือ ข้อความ) ดังกล่าวมาแล้ว ครั้นเมื่อสอบถามกันและกันในที่ประชุม พระสาวกต่างองค์คงแถลงโดย "พยัญชนะ" ต่างกัน (คือ โดยสำนวนต่าง ๆ กัน) ซึ่งพากระเทือนไปถึงความเข้าใจอัตถะแตกต่างกันในบางแห่ง พระกัสสปจึงเลือกสรรพระสาวกซึ่งนิยมกันว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น พระอานนท์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระธรรม พระอุบาลี เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย ให้เป็นผู้วินิจฉัย ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า คงจะมีพระสาวกองค์อื่นช่วยวินิจฉัยด้วยอีก เป็นทำนองอย่างตั้งอนุกรรมการ ๒ กอง ให้พระอานนท์กับพระอุบาลีเป็นประธานอนุกรรมการนั้นองค์ละกอง (หาใช่เพียงอาราธนาแต่ฉะเพาะพระอานนท์และพระอุบาลีให้เป็นผู้แสดงพระธรรมและพระวินัยแต่โดยลำพังดังความที่กล่าวในเรื่องตำนานสังคายนาชวนให้เข้าใจไม่) ต่อเมื่ออนุกรรมการวินิจฉัยลงมติแล้ว พระอานนท์จึงนำมติส่วนพระธรรม และพระอุบาลีนำมติส่วนพระวินัย มาแสดงในที่ประชุมพระอริยสาวกทั้งปวง เมื่อที่ประชุมยอมรับมติตามที่พระอานนท์และพระอุบาลีเสนอแล้ว จึงลงมติของที่ประชุมใหญ่ต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า ให้พระสงฆ์ท่องทำพระธรรมวินัยทั้งอัตถะและพยัญชนะ (คือ ทั้งข้อความและสำนวน) อย่างเช่นพระอานนท์และพระอุบาลีเสนอนั้น เพื่อจะป้องกันมิให้เกิดแตกต่างกันได้อีก ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันนี้ ก็คงให้เขียนพระธรรมวินัยลงเป็นอักษรแล้วพิมพ์แจกกันรักษาไว้ แต่ในสมัยนั้น ยังไม่ใช้วิธีจดเป็นอักษร จึงต้องใช้กระบวนท่องจำ การท่องจำจะอยู่ได้มั่นคง ก็ต้องอาศัยซักซ้อมด้วยสวดสาธยาย จึงเกิดวิธีสวดคณะสาธยายพระธรรมวินัยขึ้นเมื่อพุทธศักราชปีที่ ๑ แล้วประพฤติเป็นแบบแผนสืบมาด้วยประการฉะนี้

ทีนี้ จะกล่าวอธิบายเรื่องสวดพระธรรมต่อไป พระธรรมวินัยซึ่งรวบรวมไว้เป็นหลักพระศาสนามีมากมายหลายคัมภีร์ด้วยกัน ผู้ศึกษา เช่น พระภิกษุซึ่งบวชใหม่ เป็นต้น จำต้องท่องจำและหัดสาธยายไปทีละสูตรละส่วน แม้ถึงท่านผู้ที่สามารถทรงจำไว้ได้ทั้งหมดแล้ว จะสวดสาธยายพระธรรมวินัยให้หมดในคราวเดียวกัน ก็เป็นเวลาช้านานนัก จำต้องแบ่งสาธยายแต่คราวละส่วน วันหนึ่งสวดสาธยายส่วนหนึ่งพอสมควรแก่เวลา แล้วสวดสาธยายส่วนอื่นต่อ ๆ ไปในวันหลัง แต่คงมิให้ขาดสาธยายทุกวัน สันนิษฐานว่า ประเพณีที่พระสวดมนตร์เย็นอันถือเป็นกิจวัตต์ทั่วทุกสังฆารามสืบมาจนทุกวันนี้ เห็นจะเป็นประเพณีเก่าแก่สืบมาแต่สมัยเมื่อยังใช้ความท่องจำเป็นสำคัญ การสวดอย่างว่ามานี้เป็นการสวดสาธยายพระธรรมเพื่อจะรักษาหลักพระศาสนาไว้ให้มั่นคง แต่เมื่อมามีวิธีเขียนพระธรรมวินัยลงไว้เป็นอักษรได้ ความจำเป็นที่จะต้องท่องจำมีน้อยลง จึงคงท่องและสวดสาธยายพระธรรมวินัยแต่บางส่วนซึ่งจำเป็นแก่กิจของพระสงฆ์ในชั้นหลัง

ทีนี้ จะกล่าวอธิบายถึงการสวดพระปริตต่อไป คำว่า "ปริตฺต" แปลว่า คุ้มครอง การสวดพระปริต จึงหมายความว่า สวดเพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตราย ผิดกับสวดสาธยายพระธรรมที่อธิบายมาแล้ว ประเพณที่พระสงฆ์สวดพระปริตเกิดขึ้นในลังกาทวีปประมาณว่า เมื่อพุทธกาลล่วงแล้วราว ๕๐๐ ปี ในเรื่องตำนานพระพุทธศาสานาปรากฏว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าพระนิพพานแล้วได้ ๓๐๐ ปีเศษ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนายกขึ้นเป็นศาสนาสำหรับประเทศในอินเดีย แล้วแต่งทูตให้เที่ยวประกาศคุณพระพุทธศาสนาไปยังนานาประเทศ พระเจ้าเทวานัมปิยดิศซึ่งครองกรุงลังกาเกิดเลื่อมใส จึงทูลขอให้พระเจ้าอโศกมหาราชจัดคณะสงฆ์ส่งไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป พระเจ้าอโศกก็ทรงอาราธนาพระมหินทรเถร ผู้เป็นพระราชบุตรพระองค์หนึ่งซึ่งออกทรงผวชอยู่ ให้เป็นประธานพาคณะสงฆ์ไปสั่งสอนพระธรรมวินัย และให้อุปสมบทพวกชาวลังกา จึงได้ถือพระพุทธศาสนาและมีคณะสงฆ์ขึ้นในลังกาทวีปเป็นเดินมา ก็แต่ลังกาทวีปเป็นประเทศอยู่ต่างหากจากอินเดีย ชาวลังกาไม่รู้ภาษาบาลีแพร่หลายเหมือนกับชาวอินเดีย การสอนและการรักษาพระธรรมวินัยในลังกาทวีปจึงต้องใช้ ๒ ภาษา คือ สอนด้วยภาษาสิงหฬอันเป็นภาษาของชาวลังกา แต่ท่องจำพระธรรมวินัยรักษาไว้ด้วยภาษาบาลีตามเดิม ต่อภายหลังมา ว่า เมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ พระสงฆ์ในลังกาทวีปจึงได้ช่วยกันเขียนพระธรรมวินัยลงเป็นอักษร ทำให้ความจำเป็นต้องท่องจำน้อยลงกว่าแต่ก่อน ถึงกระนั้น การศึกษาพระธรรมวินัยที่ในลังกาทวีปก็ลำบากกว่าที่ในอินเดีย ด้วยจำต้องเรียนภาษาบาลีจนรู้แตกฉานก่อน จึงจะสามารถอ่านพระไตรปิฎกให้รอบรู้พระธรรมวินัยได้ การเรียนภาษาบาลีจึงถือกันว่า เป็นกิจของผู้ออกบวชจะต้องเรียน และนับถือกันว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ เพราะทรงใว้ซึ่งพระพุทธศาสนา แม้ผู้ซึ่งมิได้เรียนรู้ภาษาบาลี เมื่อได้ยินพระสงฆ์สาธยาย ก็รู้ว่า เป็นพระธรรมคำของพระพุทธเจ้า พากันอนุโมทนาสาธุการและถือว่า เป็นสิริมงคล แต่ในลังกาทวีปนั้น มีพวกทมิฬเข้ามาอยู่มาก ในเรื่องพงศาวดาร ปรากฏว่า พวกทมิฬมีอำนาจปกครองบ้านเมืองอยู่นาน ๆ ก็หลายครั้ง พวกทมิฬนับถือไสยศาสตร์ พาศาสนาพราหมณ์มาสั่งสอนในลังกาทวีปด้วย ก็ตามคติศาสนาพราหมณ์นั้น นิยมว่า ผู้ทรงพระเวทอาจจะร่ายมนตร์ให้เกิดสิริมงคลหรือป้องกันแก้ไขภยันตรายแก่มหาชนได้ สันนิษฐานว่า พวกชาวลังกา แม้ที่ถือพระพุทธศาสนา ก็ย่อมมีเวลาปรารถนาสิริมงคลและมีเวลาหวาดหวั่นต่อภยันตรายตามธรรมดาสามัญมนุษย์ คงจะขอให้พระสงฆ์เถรานุเถระชาวลังกาช่วยหาทางในพระพุทธศาสนาสงเคราะห์เพื่อให้เกิดสิริมงคลหรือป้องกันภยันตรายให้แก่ตนบ้าง พระสงฆ์มีความกรุณา จึงคิดวิธีสวดปริตขึ้นให้สมประสงค์ของประชาชน ก็แต่วิธีร่ายเวทมนตร์ของพราหมณ์นั้น เขาวิงวอนขอพรต่อพระเป็นเจ้า คติพระพุทธศาสนาห้ามการเช่นนั้น พระสงฆ์จึงค้นในพระไตรปิฎกเลือกเอาพระสูตรและปาฐพระคาถาสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยอันมีตำนานอ้างว่า เกิดขึ้นเนื่องด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ มาสวดเป็นมนตร์ จะยกพอเป็นตัวอย่าง ดังเลือกเอารัตนสูตรซึ่งมีตำนานว่า พระอานนท์เคยถือคุณพระรัตนตรัยระงับโรคระบาดอันเกิดแต่ความอดอยากที่เมืองเวสาลี มาใช้เป็นมนตร์สวดเรื่องหนึ่ง เป็นต้น สันนิษฐานว่า จะเกิดมีพระปริตขึ้นด้วยประการดังกล่าวมานี้ ชั้นเดิม จะสวดสูตรไหนหรือคาถาไหน ก็เห็นจะแล้วแต่เหตุการณ์ เช่น นิมนต์ไปสวดเพื่อจะให้เป็นมงคล ก็สวดมงคลสูตร ถ้านิมนต์ไปสวดให้คนไข้เจ็บฟัง ก็สวดโพชฌงค์ เป็นต้น แต่ชั้นเดิม เห็นจะหาได้ร้อยกรองพระปริตเข้าต่อเนื่องกันยืดยาวไม่ เมื่อมีวิธีสวดพระปริตเกิดขึ้นแล้ว คนทั้งหลายก็คงนิยมกันแพร่หลาย มีผู้ประสงค์ให้พระสงฆ์สวดพระปริตเพื่อเหตุการณ์อื่น ๆ กว้างขวางออกไป พระสงฆ์ก็ค้นหาพระสูตรและปาฐพระคาถาในพระไตรปิฎกมาสวดเป็นพระปริตมากขึ้นเป็นลำดับ

มีคำกล่าวในลังกาทวีปว่า[1] เมื่อ พ.ศ. ๙๐๐ พระเถระทั้งหลาย มีพระเรวัตตเถระเป็นประธาน ช่วยกันสำรวจรวมพระปริตต่าง ๆ เรียบเรียงเข้าไว้เป็นคัมภีร์เรียกว่า "ภาณวาร" สันนิษฐานว่า ความคิดเดิมก็เห็นจะให้เป็นแบบแผนอันเดียวกัน เมื่อเกิดมีคัมภีร์ภาณวารอันรวบรวมพระพุทธมนตร์ทุกอย่างอยู่ในนั้น ก็เป็นธรรมดาที่คนทั้งหลายจะเกิดปรารถนาให้พระสงฆ์สวดพระพุทธมนตร์ตลอดทั้งคัมภีร์ภาณวารในเมื่อทำการพิธีสำคัญ แต่คัมภีร์ภาณวารยืดยาว มีพระปริตต่าง ๆ ถึง ๒๒ เรื่อง จัดไว้เป็น ๔ ภาค กว่าจะสวดตลอดเป็นเวลาช้านานกว่าครึ่งวัน จึงต้องคิดวิธีสวดภาณวารขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ นิมนต์คณะสงฆ์ให้ผลัดกันสวดคราวละ ๔ รูป และบางทีจะมีพระเถระผู้เชี่ยวชาญนั่งกำกับตรวจทานด้วยอีกรูป ๑ (เหมือนอย่างสวดภาณวารที่ไทยเราใช้เป็นแบบอยู่ทุกวันนี้) มีหลักฐานว่า ชาวลังกานับถือคัมภีร์ภาณวารมาก ถึงมีพระมหาเถระองค์หนึ่งทรงนามว่า อโนมทัสสี แต่งอัฏฐกถาอธิบายคุณภาณวารขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง ให้ชื่อว่า สารัตถสมุจจัย เป็นคัมภีร์ใหญ่จำนวนหนังสือถึง ๑๓ ผูกใบลาน (ได้แปลเป็นภาษาไทยเมื่อรัชชกาลที่ ๓ และหอพระสมุดฯ ได้พิมพ์แล้ว) ก็ในพงศาวดารลังกาว่า มีพระอโนมทัสสีเป็นพระมหาเถระสำคัญองค์หนึ่งอยู่ในรัชชกาลพระเจ้าบัณฑิตปรักกมพาหุซึ่งเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๙ ถ้าเป็นองค์เดียวกัน ก็เป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งว่า คัมภีร์ภาณวารเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๑๘๐๙ บางทีจะก่อนนั้นตั้งหลายร้อยปี

ตั้งแต่เกิดมีคัมภีร์ภาณวารขึ้นแล้ว พึงสันนิษฐานได้ว่า พระสงฆ์ชาวลังกาคงอาศัยคัมภีร์นั้นเป็นตำราท่องสวดมนตร์ และลักษณะการที่สวดมนตร์คงเป็น ๒ อย่างต่างกัน คือ คณะสงฆ์ ๔ รูปผลัดกันสวดภาณวารจนตลอดทั้งคัมภีร์ อย่าง ๑ เลือกฉะเพาะสูตรฉะเพาะคาถาไปสวดอนุโลมตามเหตุการณ์ อย่าง ๑ และการสวดฉะเพาะสูตร์และฉะเพาะคาถานั้น พระเถระผู้นำสวดมักกล่าวเป็นลำนำสรรเสริญคุณของพระสูตรและคาถานั้น ๆ (ที่เราเรียกกันว่า "ขัดตำนาน") ก่อน แล้วจึงชวนให้คณะสงฆ์สวด จำนวนพระสงฆ์ไปเท่าใด ก็สวดด้วยกันหมด แต่วิธีขัดตำนานจะมีมาก่อนภาณวารหรือจะมีขึ้นต่อภายหลัง ข้อนี้ไม่มีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐาน เพราะอาาจะเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง แต่ในพระปริตฉะบับลังกาซึ่งพึ่งพบเมื่อแต่งตำนานนี้ มีบทขัดคำนานเกือบจะทุกสูตรในภาณวาร

พระปริตอย่าง ๗ ตำนานและ ๑๒ ตำนานก็เกิดขึ้นในลังกาทวีป แต่จะเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่มีหลักฐานที่จะกำหนด ได้แต่สันนิษฐานว่า คงจะเกิดภายหลังแต่งคัมภีร์สารัตถสมุจจัย และมีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐานได้อีกอย่างหนึ่งว่า คงจะเกิดขึ้นโดยพระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้เรียกนามตามภาษาบาลีว่า "ราชปริตฺต" ลองคิดค้นหาเหตุ ก็เห็นมีเค้าพอจะสันนิษฐานได้ ด้วยการสวดภาณวารอยู่ข้างยืดยาวเปลืองเวลามากฝ่ายหนึ่ง และการสวดพระปริตซึ่งพระสงฆ์เลือกพระสูตรและคาถาต่าง ๆ ไปสวดให้ต้องตามเหตุการณ์อยู่ข้างจะสั้นไป และบางทีมีงานหลวง พระสงฆ์จะเลือกมิใคร่ถูกพระราชอัธยาศัยด้วย น่าจะเป็นด้วยเหตุดังกล่าวมา จึงมีรับสั่งให้พระสังฆเถระคิดปรุงพระปริตขึ้นสำหรับสวดงานหลวง ให้มีทั้งฝ่ายเจริญสิริมงคลและฝ่ายที่จะคุ้มครองป้องกันอุปัทวันตรายรวมอยู่ด้วยกัน แต่อย่าให้ยืดยาวนัก พระสงฆ์จึงเลือกพระปริตต่าง ๆ มาแต่ในภาณวารเป็นพื้น และเอาคาถาที่นับถือกันเพิ่มเข้าบ้าง ปรุงเป็นราชปริตขึ้น แล้วจึงแต่งคาถาเป็นคำเตือนพระสงฆ์ผู้ไปสวดให้ช่วยกันแผ่เมตตาอธิษฐานให้พระปริตช่วยคุ้มครองพระเจ้าแผ่นดินและให้ตั้งใจสวดพระปริตสำหรับขัดตำนานก่อนสวดพระปริตนั้นด้วยบทว่า

  • สรชฺชํ สเสนํ สพนฺธุํ นรินฺทํ
  • ปริตฺตานุภาโว สทา รกฺขตูติ ฯลฯ

ดังนี้ เมื่อมีราชปริตเป็นแบบสำหรับสวดในงานหลวง ก็เป็นธรรมดาที่คนทั้งหลายจะเกิดนิยมอยากให้สวดพระปริตนั้นณที่อื่น ๆ ต่อไปจนเป็นประเพณีในพื้นเมือง แต่น่าสงสัยอยู่ข้อหนึ่ง ด้วยราชปริตปรากฏเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า "จุลราชปริต" (๗ ตำนาน) อย่าง ๑ "มหาราชปริต" (๑๒ ตำนาน) อย่าง ๑ อย่างใหนจะเป็นตัวแบบเดิม ข้อนี้เคยสันนิษฐานกันมาแต่ก่อนว่า อย่าง ๑๒ ตำนานเห็นจะเป็นราชปริตเดิม ครั้นต่อมาภายหลัง มีพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งอาจเป็นต่างประเทศกับลังกา ทรงพระดำริเห็นว่า ยังยาวนัก จึงโปรดให้ตัดลงเป็นอย่าง ๗ ตำนาน มีราชปริตเป็น ๒ อย่างขึ้น จึงได้เรียกอย่างยาวว่า มหาราชปริต เรียกอย่างสั้นว่า จุลราชปริต ดังนี้ แต่เมื่อมาพิจารณากันในคราวจะแต่งตำนานพระปริตนี้ มีบัณฑิตหลายคน คือ พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) เป็นต้น กลับเห็นว่า อย่าง ๗ ตำนานจะเป็นแบบเดิม อย่าง ๑๒ ตำนานเป็นของปรุงใหม่ต่อภายหลัง อ้างเหตุให้เห็นเช่นนั้น ด้วยบทพระปริตต่าง ๆ ใน ๗ ตำนานกับ ๑๒ ตำนานเหมือนกันโดยมาก เป็นแต่วางลำดับผิดกัน ถ้าว่าฉะเพาะตัวพระปริต ไม่ยาวสั้นผิดกันกี่มากน้อยนัก เป็นแต่มีบทขัดตำนานมากกว่ากัน ถ้าประสงค์เพียงจะตัดพระปริตอย่าง ๑๒ ตำนานให้สั้นเข้า คงไม่ทำเช่นปรากฏอยู่ อีกประการ ๑ สังเกตเห็นว่า ลักษณที่ัจัดลำดับพระปริตต่าง ๆ ทั้งที่เพิ่มคำขัดตำนานขึ้นเป็น ๑๒ ตำนาน เป็นระเบียบเรียบร้อยดีกว่าอย่าง ๗ ตำนาน จึ่งสันนิษฐานว่า ราชปริตเดิมเห็นจะเป็นอย่าง ๗ ตำนาน ต่อมา มีผู้รู้คิดอก้ไขให้เป็นอย่าง ๑๒ ตำนาน ข้าพเจ้าเห็นชอบ ด้วยมีข้อสนับสนุนวินิจฉัยนั้นอยู่ในทางโบราณคดี ที่ประเพณีการสวดมนตร์ในประเทศนี้ แม้ตั้งแต่โบราณมา ย่อมสวด ๗ ตำนานเป็นพื้น ๑๒ ตำนานสวดฉะเพาะแต่ในงานใหญ่ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่า คงได้แบบสวดมนตร์อย่าง ๗ ตำนานเข้ามาจากลังกาก่อนช้านาน จนใช้สวดกันเป็นประเพณีบ้านเมืองแล้ว ครั้นเกิดแบบสวด ๑๒ ตำนานขึ้นในลังกาทวีป ได้มายังประเทศนี้เมื่อภายหลัง จึงมิได้ใช้สวดกันในพื้นเมืองแพร่หลายเหมือนอย่าง ๗ ตำนาน

เมื่อแต่งตำนานพระปริตนี้ ข้าพเจ้าได้ให้สืบสวนถึงการสวดพระปริตในลังกาทวีปและประเทศพะม่าในปัจจุบันนี้[2] ได้ความว่า การสวดราชปริตที่ในลังกาทวีปเลิกเสียนานแล้ว แม้ฉะบับก็ศูนย์ จนพระองค์เจ้าปฤษฎางค์หาไปประทาน (พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ตรัสบอกว่า ได้ฉะบับเมืองยะใข่ไป) จึงกลับมีขึ้น การที่สวดมนตร์ พระลังกาสวดพระสูตร์และคาถาต่าง ๆ ตามแต่จะสะดวก แต่การสวดภาณวารในลังกาทวีปยังนับถือกันมากว่า เวลามีการงานของผู้มีบรรดาศักดิ์ เช่น ทำบุญวันเกิด มักนิมนต์พระไปสวดภาณวาร ผลัดกันสวดคราวละ ๔ องค์บ้างหรือ ๒ องค์บ้าง สวดทั้งกลางวันและกลางคืนตลอด ๓ วันก็มี ๕ วันและถึง ๗ วันก็มี ส่วนพระพะม่านั้น พระอรัญรักษา (ซอเหลียง ปิยะเมธี) บอกว่า มีหนังสือสวดมนตร์ รับไปหาฉะบับพิมพ์มาให้ได้เป็นมหาราชปริต ๑๒ ตำนานเช่นเดียวกับของไทย มีถ้อยคำผิดกันแต่เล็กน้อย เห็นเป็นหลักฐานสมตามความที่ได้กล่าวมาว่า พะม่า มอญ ไทย เขมร ต่างได้แบบราชปริตมาจากลังกาด้วยกันทั้งนั้น

พระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศสยามนี้ร่วมราวคราวเดียวกับที่ไปประดิษฐานในลังกาทวีป หรือถ้าจะมาภายหลัง ก็ไม่ช้านัก ด้วยมีหลักฐานปรากฏอยู่ทั้งโบราณวัตถุและเรื่องตำนานว่า ประเทศนี้ เมื่อชั้นแรกได้รับพระพุทธศาสนามาแต่ชาวมคธราฐ และพระธรรมวินัยที่มาสู่ประเทศสยามในชั้นแรกนั้น ก็เป็นภาษาบาลี ครั้นต่อมา เมื่อแรกเกิดลัทธิพระพุทธศาสนาอย่างมหายานขึ้นในอินเดีย แปลงพระธรรมวินัยเป็นภาษาสังสกฤต พวกชาวอินเดียข้างฝ่ายใต้มาสอนลัทธิมหายาน ชาวประเทศสยามก็รับถือตาม และเปลี่ยนไปศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาสังสกฤตเสียทอดหนึ่งช้านาน ครั้นถึงสมัยเมื่อพวกถือศาสนาพราหมณ์และพวกถือศาสนาอิสลามได้เป็นใหญ่ในอินเดียพากันเบียดเบียฬพระพุทธศาสนาจนแทบจะเสื่อมศูนย์ นานาประเทศที่ถือพระพุทธศาสนา เมื่อไม่ได้อาศัยอินเดียซึ่งเป็นแหล่งเดิม ต่างก็ปฏิบัติตามรู้ตามเห็นของตนมา พระพุทธศาสนาก็เสื่อมลงด้วยกันทุกประเทศ ครั้นเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๙๖ พระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชได้ครองลังกาทวีป ทรงพยายามฟื้นพระพุทธศาสนาขึ้นด้วยประการต่าง ๆ มีทำสังคายนาพระธรรมวินัยภาษาบาลีให้เรียบร้อย เป็นต้น พระพุทธศาสนาก็กลับรุ่งเรืองขึ้นในลังกาทวีป กิตติศัพท์แพร่หลายมาถึงประเทศพะม่า มอญ ไทย เขมร ก็มีพระสงฆ์ชาวประเทศเหล่านี้พากันไปศึกษาพระธรรมวินัยในลังกาทวีป แล้วอุปสมบทเป็นนิกายลังกาวงศ์ พาลัทธิซึ่งฟื้นขึ้นกับทั้งพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่สังคายนาใหม่มายังประเทศของตน ในชั้นแรก เป็นแต่มาตั้งเป็นคณะหนึ่งต่างหาก แต่เมื่อคุณธรรมปรากฏแพร่หลาย ก็มีคนนับถือและเข้าสมัครบวชเรียนตามลัทธิลังกาวงศ์มากขึ้นทุกที จนถึงพระเจ้าแผ่นดินทรงรับอุปถัมภ์ พระสงฆ์ในประเทศพะม่า มอญ ไทย เขมร ก็ถือลัทธิลังกาวงศ์ด้วยกันหมด ตามเรื่องตำนานที่กล่าว พึงเห็นได้ว่า พระธรรมวินัยก็ดี ข้อวัตตปฏิบัติก็ดี ซึ่งพระสงฆ์สยามประพฤติในชั้นหลังตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมา ได้แบบอย่างมาแต่ลังกาทวีป แม้จนวิธีการสวดพระพุทธมนตร์ซึ่งแยกเอามาแสดงในเรื่องตำนานพระปริตนี้ ก็มีครบทุกอย่างตามแบบที่มีในลังกา ดั่งจะกล่าวอธิบายต่อไป คือ

พระสงฆ์ในประเทศนี้ทุกสังฆารามถือเป็นกิจวัตต์ที่ต้องสวดมนตร์ (สาธยายธรรม) เวลาเย็นทุกวันมิได้ขาด และมีหอสวดมนตร์ประจำวัดทุกแห่ง ชาวบ้านก็พอใจนิมนต์พระสงฆ์มาสาธยายธรรมเมื่อบำเพ็ญกุศล เช่น สวดพระอภิธรรม สวดแจง และสวดพระสูตรต่าง ๆ ในงานศพและพิธีบุพพเปตพลีทั้งปวง ข้าพเจ้าเคยนึกว่า คนทั้งหลายทำไมจึงชอบนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมในงานศพ หรือแม้จนในงานบุพพเปตพลี ต่อมา ได้เห็นอธิบายในหนังสือ ปฐมสมโพธิ ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนเทศนาปริวัต บริเฉทที่ ๑๗ กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปยังดาวดึงส์สวรรค์เพื่อจะเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ทรงปรารภว่า ถ้าประทานเทศนาพระสูตรหรือพระวินัยคุณยังไม่เท่าทันพระคุณของพระพุทธมารดาที่ได้มีมาแก่พระองค์ มีแต่พระอภิธรรมอย่างเดียวซึ่งมีคุณสมควร "ใช้ค่าน้ำนมและเข้าป้อน" ของพระพุทธมารดาได้ ดังนี้ จึงเข้าใจว่า การซึ่งคนทั้งหลายพอใจนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมเกิดแต่ประสงค์จะสนองคุณผู้มรณภาพ

ได้ยินว่า แต่โบราณมีประเพณีพระสงฆ์ถือกันเป็นคติอย่างหนึ่งว่า พระภิกษุบวชใหม่ในพรรษาแรกต้องท่องจำ "ทำวัตต์พระ" (คำนมัสการข้างตอนต้นภาณวาร) กับ "พระอภิธรรม" ให้สวดได้ ต่อไปในพรรษาที่ ๒ ต้องท่องจำ "พระปริต" (ทั้ง ๗ ตำนานและ ๑๒ ตำนาน) ถึงพรรษาที่ ๓ ต้องท่องจำภาณวารให้สวดได้ทั้งคัมภีร์กับทั้งธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและมหาสมัยสูตรด้วย พรรษาต่อไปต้องท่องจำปาติโมกข์ให้ได้ภายในพรรษาที่ ๕ ประเพณีที่กล่าวนี้เคยประจักษ์แก่ข้าพเจ้าครั้งหนึ่งเมื่อตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประพาสเมืองกาญจนบุรีใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ครั้งนั้น พลับพลาประทับแรมตั้งที่ริมน้ำทางฟากตะวันตกตรงข้ามกับวัดชัยชุมพล ถึงเวลาค่ำ พระวิสุทธิรังสี (เปลี่ยน) เมื่อยังเป็นพระครู พาพระสงฆ์ราว ๒๐ รูปลงมาสวดมนตร์ที่แพหน้าวัดถวายทรงสดับทุกคืน ประทับแรมอยู่ ๓ ราตรี สวดภาณวารได้ตลอดทั้งคัมภีร์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสรรเสริญว่า อุตสาหะท่องจำ แล้วโปรดฯ พระราชทานรางวัลพระสงฆ์ทั้งอาราม ข้าพเจ้าเข้าใจว่า จะเป็นด้วยรักษาคติโบราณที่กล่าวนั้นสืบกันมา ส่อให้เห็นว่า แต่โบราณคงมีการนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดภาณวารตามรั้ววังบ้านเรือนผู้มีบรรดาศักดิ์เนือง ๆ เหมือนอย่างเช่นยังมีอยู่ในลังกาทวีปในปัจจุบันนี้ แต่หากเสื่อมมาโดยอันดับ น่าจะเป็นเพราะเกิดชอบเอาพิธีไสยศาสตร์เข้ามาปนกับพิธีทางพระพุทธศาสนา ดังจะกล่าวในที่อื่นต่อไปข้างหน้า การสวดภาณวารจึงคงมีแต่ในงานหลวงและฉะเพาะที่เป็นพระราชพิธีสำคัญ และพระสงฆ์ใช้อ่านหนังสือแทนสวดปากเปล่า เพื่อจะให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยสมบูรณ์ทั้งอัตถะและพยัญชนะมิได้คลาดเคลื่อน หนังสือภาณวารสำหรับพระสงฆ์อ่านสวดมีฉะบับเก่า ฝีมือเขียนครั้งกรุงศรีอยุธยา อยู่ในหอพระสมุดฯ จึงสันนิษฐานว่า ประเพณีอ่านสวดภาณวารจะมีมาแล้วแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

พระราชพิธีที่มีสวดภาณวารนั้น ที่เป็นพิธีประจำปีมีแต่พิธีตรุษ นอกจากนั้นก็เป็นพิธีจร คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีลงสรงโสกันต์เจ้าฟ้า พระราชพิธีพรุณศาสตรขอฝน กับพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปสำคัญ เช่น พระชัยวัฒนะประจำรัชชกาล เป็นต้น และพิธีพุทธาภิเษกฉลองพระพุทธรูปสำคัญ การสวดภาณวารในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น แต่เดิม (เป็นส่วนพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร) พระสงฆ์ ๕ รูปนั่งสวดบนพระแท่นที่บรรทม และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับทรงสดับสวดภาณวารในห้องนั้น แบ่งภาณวารสวดเป็น ๓ วัน ถึงรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้เปลี่ยนมาสวด (เป็นส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) เหมือนกับสวดภาณวารในพระราชพิธีอื่น ๆ คือ ตั้งเตียงสวดที่ท้องพระโรง พระสงฆ์ขึ้นสวดสำรับละ ๔ รูป ผลัดกันสวดทีละ ๒ รูป มีพระเถระนั่งปรกอยู่เตียงหนึ่งต่างหากอีกองค์หนึ่ง สวดทั้งกลางวันกลางคืนตลอด ๓ วัน ๓ คืน ถ้าเป็นพิธีอย่างน้อย ก็สวดวันกับคืนหนึ่ง พระสงฆ์ที่สวดภาณวารนั้น ถ้าเป็นพิธีใหญ่ เช่น บรมราชาภิเษก พระราชาคณะสวด ถ้าเป็นอย่างสามัญ พระพิธีธรรมสวด ยังเป็นประเพณีมาจนปัจจุบันนี้

การที่ไทยเราได้ราชปริตของชาวลังกามาเป็นตำรา สันนิษฐานว่า คงได้ราชปริตอย่าง ๗ ตำนานมาก่อน จึงได้สวดกันแพร่หลายแต่อย่างเดียว ส่วนราชปริตอย่าง ๑๒ ตำนานนั้นคงได้มาต่อภายหลัง จึงสวดฉะเพาะงานใหญ่บางอย่าง แต่พิเคราะห์ดูในราชปริต มีคาถาอื่นนอกจากที่รวมไว้ในภาณวารเพิ่มเติมหลายอย่าง ที่แทรกอยู่ข้างต้น เช่น คาถา "สมฺพุทฺเธฯ" ก็มี แทรกลงต่อข้างท้ายพระปริต เช่น คาถามหากรุณิโกนาโถฯ เป็นต้น ก็มี สันนิษฐานว่า คาถาแทรกเหล่านั้นคงมีนักปราชญ์เลือกคัดมาแต่พระไตรปิฎกหรือแต่งขึ้นใหม่แล้วเอาสวดเพิ่มในพระปริตเพื่อจะให้เป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น แล้วก็เลยถือเป็นแบบแผนมีมาแล้วแต่ในลังกาทวีป เพราะฉะนั้น เมื่อรับพระปริตมาสวดในประเทศนี้ นักปราชญ์ไทยที่เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกจึงแต่งและเปลี่ยนบทแทรกในพระปริตเพื่อประโยชน์อย่างเดียวกัน จะยกพอเป็นตัวอย่างดังเช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์คาถานโม ๘ บทสำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแต่งคาถา "โย จกฺขุมา" เปลี่ยนคาถา สมฺพุทฺเธ เป็นต้น ที่เพิ่มข้างท้ายพระปริตก็มี เช่น คาถา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และคาถา ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นต้น คาถาแทรกซึ่งกล่าวมาสวดเพิ่มทั้งใน ๗ ตำนานและ ๑๒ ตำนาน อนึ่ง การพิธีซึ่งพระสงฆ์สวดพระปริตในประเทศนี้ลักษณะเป็น ๒ อย่างต่างกัน คือ เป็นพิธีทางพุทธศาสนาล้วน อย่าง ๑ เป็นพิธีพุทธศาสนาเจือกับไสยศาสตร อย่าง ๑ ดังจะแสดงอธิบายต่อไป

การพิธีพุทธศาสนาล้วนแต่ก่อนมา ถ้าเป็นงานมงคลอย่างสามัญ เช่น ทำบุญเรือน หรือฉลองพระ หรือโกนจุก เป็นต้น สวด ๗ ตำนาน ถ้าเป็นงานมงคลวิเศษกว่าสามัญ เช่น การพระราชพิธีใหญ่ แต่สวดมนตร์วันเดียวดังพิธีถือน้ำและพิธีแรกนา เป็นต้นก็ดี งานชเลยศักดิ์ซึ่งเป็นงานสำคัญ เช่น งานฉลองอายุและแต่งงานบ่าวสาว เป็นต้นก็ดี ย่อมสวด ๑๒ ตำนาน แต่เดี๋ยวนี้ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปแล้ว พระปริตอย่าง ๑๒ ตำนานคงสวดแต่ในงานหลวงบางอย่าง คือ งานพระราชพิธีถือน้ำ อย่าง ๑ งานพระราชพิธีแรกนา อย่าง ๑ กับพระราชพิธีเฉลิมพระชันษา (สวดในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) อย่าง ๑ นอกจากนี้ สวด ๗ ตำนานเป็นพื้น การสวด ๗ ตำนาน กระบวนสวดก็ผิดกันเป็นหลายอย่าง คือ

 สวดทำนองผิดกัน พระมอญสวดทำนอง ๑ พระมหานิกายสวด (เรียกกันว่า สวดอย่างสังโยค) ทำนอง ๑ พระธรรมยุติกาสวดทำนอง ๑ ทำนองที่พระธรรมยุติกาสวดนั้น ได้ยินมาว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริขึ้นเมื่อยังทรงผนวช (สังเกตดู เหมือนจะเอาทำนองลังกากับมอญประสมกัน) แต่ถ้าพระสงฆ์หลายนิกายสวดด้วยกัน ย่อมสวดทำนองอย่างมหานิกายเป็นแบบ

 ระเบียบผิดกัน ระเบียบพระปริตที่พระมหานิกายกับพระมอญสวดเหมือนกัน แต่ระเบีบยสวดมนตร์ของพระธรรมยุติกา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้ไขเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก ราชปริต ๑๒ ตำนานหาสวดไม่ สวดแต่อย่าง ๗ ตำนาน ตัดโมรปริตออก และทรงแก้ไขตัดรอนคาถาที่เพิ่มนอกปริตหลายแห่ง แม้ระเบียบ ๗ ตำนานที่พระมหานิกายสวดนั้นก็ยังมีอย่างพิสดารและอย่างย่อ อย่างพิสดาร สวดในงานซึ่งไม่จำเป็นจะต้องสวดเต็มตำรา ยกตัวอย่างเช่น ในงานหลวงอันมีสวดภาณวารด้วย คือ งานโสกันต์เจ้าฟ้า เป็นต้น เพราะพระปริตทั้งปวงมีอยู่ในภาณวารทั้งนั้นแล้ว พระสงฆ์หมู่ใหญ่สวด ๗ ตำนาน ถึงจะสวดแต่สังเขป ก็ไม่ขาดพระปริตในงานพิธีนั้น เรื่องนี้ เจ้านายเคยทรงปรารภกันเป็นปัญหาว่า พระปริตทั้งปวง พระสงฆ์ก็สวดในภาณวารแล้ว ทำไมพระสงฆ์หมู่ใหญ่ซึ่งมาเป็นผู้กำกับการพระราชพิธีจึงต้องสวดมนตร์เย็นด้วยทุกวัน กรมพระสมมตอมรพันธุ์ประทานอธิบายซึ่งได้เคยทรงสดับมาว่า กิจของพระสงฆ์ทั้งปวงมีอยู่ที่จะต้องสาธยายพระธรรมทุก ๆ วันเพื่อรักษาพระศาสนา (ทำนองแต่ก่อนมา ถึงเวลาเย็น พระสงฆ์หมู่ใหญ่เห็นจะต้องกลับไปสาธยายธรรมที่วัดมิให้ขาด) ทีหลัง ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สาธยายธรรมตามหน้าที่ได้ที่ในพระราชฐานมิให้ลำบาก ถึงเวลาเย็น พระสงฆ์หมู่ใหญ่จึงสวดพระปริตเพื่อสาธยายธรรมทุก ๆ วัน ด้วยเหตุนี้ ในพระราชพิธีที่มีสวดภาณวาร พระสงฆ์หมู่ใหญ่ที่สวดพระปริตจะตัดเท่าหนึ่งเท่าใดก็ได้ ไม่ขัดข้องแก่การพิธี การสวดสังเขปมีในงานอีกชะนิดหนึ่งซึ่งพระสงฆ์เห็นว่า เจ้าของงานมีกิจภาระจะต้องบำเพ็ญมาก จึงสวดแต่เนื้อพระธรรมที่อยู่ในพระปริต เพื่อจะมิให้เวลาสวดมนตร์นานนัก สวดมนตร์ตามบ้านมักสวดอย่างสังเขปโดยมาก ถึงงานหลวงเดี๋ยวนี้ก็ตัดคาถาท้ายสวดมนตร์อย่างแบบโบราณออกเสียโดยมากด้วยเหตุอันเดียวกัน

 ขัดตำนาน ตามตำราพระปริต พระสังฆนายกผู้นำสวดมนตร์เป็นผู้ขัดตำนาน (ข้อนี้ รู้ได้ด้วยคำบาลีท้ายบทขัดตำนานซึ่งลงว่า "ภณาม เห" เป็นคำสำหรับผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย) สันนิษฐานว่า ในสมัยต่อมา จะเป็นด้วยบางคราวพระสังฆนายกผู้นำสวดมนตร์แก่ชราหรือมีเสียงแหบเครือไม่สามารถจะขัดตำนานได้สะดวก จึงสมมตให้พระภิกษุองค์อื่นขัดตำนานแทน ก็เลยเกิดเป็นประเพณีสมมตให้พระภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งเสียงดีหรือว่าทำนองเพราะเป็นผู้ขัดตำนาน แต่เช่นนั้นก็ยังหายาก การสวดมนตร์ในพื้นเมืองจึงมิใคร่ขัดตำนาน แม้แต่ว่า สคฺเค เชิญเทวดามาฟังพระปริต ก็มักให้คฤหัสถ์ว่า ส่วนบทขัดตำนานนั้น พระสงฆ์สวดไปด้วยกันกับสวดพระปริต อนึ่ง บทขัดตำนานนั้น แบบเดิมมีแต่ขัดในราชปริต ๗ ตำนานกับ ๑๒ ตำนาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสให้สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ ทรงแต่งบาลีบทขัดตำนานพระสูตรอื่น ๆ ขึ้นอีก เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและมหาสมัยสูตร เป็นต้น (พึงรู้ได้ด้วยบทขัดตำนานของสมเด็จพระสังฆราชย่อมลงท้ายว่า "ภณาม เส" เป็นคำสำหรับใคร ๆ ใช้ได้ทั้งนั้น) อีกอย่างหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งแบบให้พระสังฆนายกบอกนามสูตรและปาฐคาถาให้พระสงฆ์สวด อันบทบาลีนั้นขึ้นว่า หนฺท มยํ เป็นเทือกเดียวกับขัดตำนานย่อ ๆ แบบนี้ยังใช้อยู่แต่คณะธรรมยุติกา

 เพิ่มพระปริต การสวดพระปริตเดิมมีแต่อย่าง ๗ ตำนานกับอย่าง ๑๒ ตำนาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเลือกพระสูตรและพระธรรมปริยายมาให้พระสงฆ์ธรรมยุติกาสวดอีกหลายอย่าง เช่น อนัตตลักขณสูตรและอาทิตตปริยายสูตร เป็นต้น ถึงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและมหาสมัยสูตรเดิมก็อยู่ท้ายภาณวาร ทรงพระราชดำริให้มาใช้สวดอย่างปริต และยังมีปาฐคาถาต่าง ๆ ซึ่งเป็นของเก่าบ้าง ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่บ้าง พระสงฆ์ธรรมยุติกาสวดกันเป็นแบบอยู่แต่ก่อน สมเด็จพระสังฆราช (สา) ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือสวดมนตร์ ฉะบับหลวง โดยพิศดาร

 สวดมนตร์ ๓ วัน แต่ก่อนมา มีงานพระราชพิธีบางอย่างซึ่งพระสงฆ์สวดมนตร์ ๓ วัน แต่ไม่มีสวดภาณวาร เช่น พิธีสารทและพิธีโสกันต์ชั้นรองเจ้าฟ้าลงมา เป็นต้น งานเช่นนี้ พระสงฆ์สวด ๗ ตำนานในวันแรก สวด ๑๒ ตำนานในวันกลาง สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรกับมหาสมัยสูตรในวันหลัง แต่มาแก้ไขเมื่อในรัชชกาลที่ ๕ เป็นสวด ๗ ตำนานวันแรก สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรวันกลาง สวดมหาสมัยสูตรวันหลัง ยังคงสวดในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาอยู่ในบัดนี้

การทำน้ำมนตร์เป็นส่วนหนึ่งของสวดพระปริต เพราะฉะนั้น จึ่งเป็นประเพณีบ้านเมืองมาแต่โบราณ ถ้ามีการสวดพระปริตที่ใด ก็ย่อมตั้งบาตรหรือหม้อใส่น้ำมีเทียนจุดติดไว้และผูกด้ายสายสิญจน์ล่ามมาให้พระสงฆ์ทั้งปวงถือในเวลาสวดพระปริต

จะขอกล่าววินิจฉัยแทรกลงตรงนี้สักหน่อย ข้าพเจ้าเคยนิมนต์พระสงฆ์ลังกาและพระสงฆ์พะม่ามาทำบุญ สังเกตดู เวลาสวดมนต์ ตั้งตาลิปัตรทั้งพระสงฆ์ลังกาและพะม่า แต่พระสงฆ์ไทยมอญสวดมนตร์ไม่ตั้งตาลิปัตร ที่ผิดกันจะเป็นด้วยเหตุใด พิเคราะห์ดูก็เห็นเค้าเงื่อน สันนิษฐานว่า ประเพณีเดิมในอินเดีย ตาลิปัตรเป็นของพระสงฆ์ใช้ในเวลาเข้าบ้าน จะเทศน์หรือจะสวดมนตร์ในบ้าน คงตั้งตาลิปัตร พระไทยมอญทุกวันนี้ เวลาให้ศีลก็ดี สวดอนุโมทนาก็ดี หรือสวดภาณวารและพระอภิธรรมบนเตียงสวดก็ดี ก็ตั้งตาลิปัตร ที่ไม่ตั้งตาลิปัตรในเวลาสวดมนตร์เดิมเห็นจะเป็นเพราะถือสายสิญจน์ฉันใด ที่เทศน์ไม่ตั้งตาลิปัตรก็คงเป็นเพราะถือคัมภีร์อยู่เป็นทำนองเดียวกัน แล้วจึงมากลายเป็นประเพณีไม่ตั้งตาลิปัตรเวลาสวดมนตร์ ไม่เลือกว่า จะต้องถือสายสิญจน์หรือไม่ ลักษณการทำน้ำมนตร์นั้น สันนิษฐานว่า แบบเดิม เมื่อพระสงฆ์สวดไปถึงบท "สกฺกตฺวา" (คือ ครบ ๗ ตำนานแล้ว) พระสังฆนายกปลดเทียนมาเวียนปากบาตรหยดขี้ผึ้งลงในน้ำ พอจบมนตร์บทนั้น ก็เอาเทียนจุ่มน้ำที่ในบาตรดับไฟ ข้าพเจ้าได้เห็นทำอย่างว่านี้ที่วัดบ้านโคน แขวงจังหวัดกำแพงเพ็ชร ซึ่งเป็นวัดบ้านนอกห่างหลักแหล่งแห่งเรียนทั้งปวง จึงนึกเห็นว่า จะเป็นวิธีเดิมบอกเล่าสืบกันมาในวัดนั้น ได้ยินกล่าวกันอีกอย่างหนึ่งว่า การทำน้ำมนต์พระปริตแบบเก่านั้น คฤหัสถ์เป็นผู้ทำเหมือนอย่างเป็นผู้สวด สคฺเค ข้าพเจ้าพึ่งได้เห็นดังกล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่บ้านแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ คือ มีเทียนจุดติดปากบาตรและหม้อน้ำมนตร์และล่ามสายสิญจน์ดังกล่าวมาแล้ว พอพระสงฆ์สวดขึ้นอิติปิโสในธชัคคสูตร คฤหัสถ์ผู้เป็นนายงานพิธีก็เข้าไปปลดเทียนหยดขี้ผึ้งลงในบาตรแล้วเอากลับติดดังเก่า ครั้นจบสวดมนตร์ ก็กลับเข้าไปปลดเทียนทิ้งลงให้ดับในน้ำมนตร์ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ทำอย่างนี้หาใช่แบบแผนไม่ น่าจะเกิดขึ้นแต่พระสงฆ์บางแห่งไม่รู้วิธีทำน้ำมนตร์ คฤหัสถ์ผู้รู้จึงเข้าไปทำแทน การทำน้ำมนตร์ตามแบบหลวงในพระราชพิธีสามัญ ถือว่า น้ำซึ่งตั้งในพระมณฑลย่อมเป็นน้ำมนตร์อยู่แล้ว ต่อเป็นการพระราชพิธีซึ่ง (ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า จะมีขึ้นในรัชชกาลที่ ๔) ต้องพระราชประสงค์น้ำมนต์สำหรับโสรจสรงเป็นพิเศษ จึงทรงจุดเทียนซึ่งติดหลังครอบน้ำมนตร์ของหลวง แล้วทรงประเคนครอบนั้นแก่พระสังฆนายก ๆ เอาด้ายสายสิญจน์พันเชิงครอบซึ่งตั้งไว้ตรงหน้า แล้วสวดพระปริตไปจนรัตนสูตร เมื่อถึงบาทท้ายซึ่งขึ้นว่า "ขีณํ ปุราณํ" ก็เปิดฝาครอบ แล้วปลดเทียนเวียนให้ขี้ผึ้งหยดลงในน้ำ ครั้นจบบทว่า "นิพฺพนฺติ ธีรา ยถายมฺปทีโป" ก็จุ่มเทียนลงให้ดับในน้ำ แล้วปิดฝาครอบติดเทียนไว้อย่างเดิม แต่การสวดพระปริตทำน้ำพระพุทธมนตร์ถือเป็นการสำคัญในราชประเพณีอย่างหนึ่ง มีตำแหน่งพระครูพระปริตไทย ๔ รูป พระครูพระปริตมอญ ๔ รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ ในบรรดางานพระราชพิธีซึ่งมีสรงมุรธาภิเษก พระราชาคณะไทยรูป ๑ มอญรูป ๑ กับพระครูพระปริต ๘ รูปนั้น สวดทำน้ำพระพุทธมนตร์สำหรับสรงมุรธาภิเษกทุกงาน และโดยปกติ พระครูพระปริตมอญต้องเข้ามาสวดทำน้ำมนตร์ที่หอศาสตราคมทุกวัน น้ำมนตร์พระปริตนั้น ส่วนหนึ่งแบ่งส่งไปสำหรับเป็นน้ำสรงพระพักตร์และโสรจสรง อีกส่วนหนึ่งใส่บาตร ๒ ใบ ให้สังฆการีถือตามพระครูพระปริต ๒ องค์เข้าไปเดิรประด้วยกำหญ้าคาที่ในพระราชวังเวลาบ่าย ๑๔ นาฬิกาทุกวันเป็นนิตย์มาแต่โบราณ อธิบายเรื่องพระมอญทำน้ำมนตร์พระปริต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในประกาศฉลองหอเสถียรธรรมปริต (ซึ่งหอพระสมุดฯ ได้พิมพ์ไว้ในประชุมประกาศพระราชพิธีจร) พระปริตที่พระครูสวดทำน้ำมนตร์นั้นก็สวด ๗ ตำนานนั้นเอง มิได้ใช้พระปริตอื่นแปลกออกไป

ยังมีวิธีสวดพระปริตฉะเพาะงานอีกอย่างหนึ่ง คือ ในงานพระราชพิธีแรกนา เมื่อสวดพระปริต ๑๒ ตำนานแล้ว สวดคาถาพืชมงคลเพิ่มเข้าด้วยฉะเพาะงานนั้นอย่างหนึ่ง งานฉลองอายุ ถ้าสวดมนตร์วันเดียว สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก่อน แล้วสวด ๗ ตำนานต่อ มีขัดตำนาน แต่พระปริตสวดอย่างสังเขป อีกอย่างหนึ่งนั้น ในงานบุพพเปตพลี เช่น ทำบุญหน้าศพ สัปตมวาร ปัญญาสมวาร และศตมาหะ สวดอนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร และสูตรอื่นบ้าง บางทีก็สวดธัมมจักกัปปวัตตสูตร สวดมนตร์อย่างนี้มีพระอภิธรรมต่อท้าย ที่จริง การสวดมนตร์ในเรื่องบุพพเปตพลีเป็นสาธยายธรรม แต่กระบวนที่สวด ปรุงเป็นอย่างสวดพระปริต หาใช่เป็นพระปริตตรงตามตำราเดิมไม่

มีบทสวดมนตร์อยู่อีกคัมภีร์ ๑ เรียกว่า "มหาทิพมนตร์" มีมนตร์ต่าง ๆ รวมอยู่ในคัมภีร์นั้น คือ มหาทิพมนตร์ ๑ ชัยมงคล ๑ มหาชัย ๑ อุณหิสวิชัย ๑ มหาสาวัง ๑ รวม ๕ อย่างด้วยกัน สำหรับสวดเพื่อให้เกิดสวัสดีมีชัยและให้อายุยั่งยืน ได้ยินว่า แต่โบราณ เมื่อยกกองทัพไปทำสงคราม ย่อมสอนให้พวกทหารสวดมหาทิพมนตร์ในเวลาค่ำทุก ๆ วัน อีกสถานหนึ่ง ในงานมงคล เช่น ทำบุญฉลองอายุ เป็นต้น มักให้นักสวด ๔ คนขึ้นนั่งเตียงสวดมหาทิพมนตร์ และกล่าวกันว่า ทำนองสวดนั้นไพเราะน่าฟัง พิธีอย่างนี้ ผู้มีบรรดาศักดิ์พอใจทำมาแต่ก่อน พึ่งมาเลิกเมื่อในรัชชกาลที่ ๕ เห็นจะเป็นด้วยรังเกียจว่า คล้ายกับสวดศพ เพราะพวกนักสวดคฤหัสถ์ที่เป็นคนคะนองมักเอาบทมหาชัยไปสวดอวดทำนองเล่นในเวลาประกวดสวดศพ อีกสถานหนึ่ง เพราะเกิดมีพิธีสวดนวครหายุสมธรรมขึ้นแทน การสวดมหาทิพมนตร์ก็ศูนย์ไป ยังเหลืออยู่แต่ตัวตำรา ทั้งคำบาลีและที่แปลเป็นกลอนภาษาไทยกำกับไว้ (หอพระสมุดฯ ได้พิมพ์แล้ว) สันนิษฐานว่า มหาทิพมนตร์นี้เห็นจะเป็นของแต่งขึ้นทางกรุงศรีสัตนาคนหุตเมื่อเมืองเวียงจันท์ยังเป็นอิสสระ แต่แต่งในสมัยเมื่อความรู้ทางภาษาบาลีเสื่อมทรามเสียมากแล้ว และสันนิษฐานว่า จะใช้สวดอย่างภาณวารซึ่งยังใช้กันอยู่ทางมณฑลอุดรและมณฑลอีสาณจนสมัยปัจจุบันนี้ แต่สำนวนแปลเป็นกลอนเป็นภาษาไทยข้างใต้ แต่ก็เห็นจะเก่าเกือบถึงครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้ตำราลงมาจากข้างเหนือชั้นเดิม เห็นจะนิมนต์พระสวดอยู่ก่อน ต่อเมื่อเกิดคำแปล จึงให้คฤหัสถ์สวดทั้งภาษาบาลีและคำแปล นักสวดคฤหัสถ์คงคิดทำนองสวดให้ไพเราะเพราะพริ้งยิ่งขึ้นเป็นอันดับมา จนกระทั่งกลายเป็นเครื่องเล่นไป

ในไสยศาสตร์มีตำรานับถือเทวดานพเคราะห์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู พระเกตุ เทวดา ๙ องค์นี้ ว่า เกี่ยวข้องด้วยกำเนิดของมนุษย์ และอาจให้คุณโทษ ทำให้อายุยืนหรืออายุสั้น และให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ได้ จึงมีวิธีบูชาเทวดานพเคราะห์เพื่อป้องกันและบำบัดอันตราย และให้เจริญสิริมงคลอายุวัฒนะ พวกพราหมณ์นำวิธีบูชาเทวดานพเคราะห์เข้ามาสั่งสอนในประเทศนี้เนื่องด้วยวิชชาโหราศาสตร์ จึงเชื่อถือกันแพร่หลาย เลยเกิดความประสงค์จะเอาการบูชาเทวดานพเคราะห์เข้าติดต่อในลัทธิพระพุทธศาสนาซึ่งไม่ขัดแก่กัน ด้วยตามลัทธิพระพุทธศาสนาก็ถือว่า มีเทวดา และถือว่า เทวดาอาจให้คุณและโทษแก่มนุษย์ได้อยู่บ้างแล้ว จึงเกิดวิธีสวดพระพุทธมนตร์เนื่องด้วยเทวดานพเคราะห์ขึ้นด้วยเหตุดังกล่าวมา ข้อที่เกี่ยวกันนั้น ถือเอากำลังเทวดานพเคราะห์เป็นเกณฑ์ ตามตำราพราหมณ์ว่า กำลังเทวดานพเคราะห์รวมกันเป็น ๑๐๘ ส่วน แยกจำนวนเป็นรายองค์ พระอาทิตย์ ๖ พระจันทร์ ๑๕ พระอังคาร ๘ พระพุธ ๑๗ พระเสาร์ ๑๐ พระพฤหัสบดี ๑๙ พระราหู ๑๒ พระศุกร์ ๒๑ พระเกตุ ๙ พระสงฆ์เอาจำนวนที่เป็นเกณฑ์นี้เข้าสงเคราะห์ในการสวดมนตร์พิธีอันเนื่องด้วยเทวดานพเคราะห์ เป็นต้นว่า ในพระราชพิธีพรุณศาสตร์ขอฝน เมื่อสวดพระปริตจบแล้ว สวดคาถาพรุณศาสตร์ซึ่งขึ้นว่า

"ภควา อรหํ สมฺมา- สมฺพุทฺโธ ฌายินํ วโร ฯลฯ
สจฺเจน เม สโม นตฺถิ เอสา เม สจฺจปารมีติ" นี้

ถ้าวันอาทิตย์ สวด ๖ จบ ถ้าวันอื่น ก็สวดเท่าจำนวนเกณฑ์กำลังเทวดาในวันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าสวดมนตร์ในการฉลองอายุ เมื่อสวดพระปริตจบแล้ว เอาบทขัดใน ๑๒ ตำนานสมมตให้สำหรับเทวดานพเคราะห์บทละองค์ คือ

พระอาทิตย์ สวด ปูเรนฺตมฺโพธิสมฺภาเร ฯลฯ
พระจันทร์ " ปุญฺญลาภํ มหาเตชํ ฯลฯ
พระอังคาร " ยฺสสานุภาวโต ยกฺขา ฯลฯ
พระพุธ " สพฺพาสีวิสชาตีนํ ฯลฯ
พระเสาร์ " ปริตฺตํ ยมฺภณนฺตสฺส ฯลฯ
พระพฤหัสบดี " ปาณิธานโต ปฏฺฐาย ฯลฯ
พระราหู " อปฺปสนฺเนหิ นาถสฺส ฯลฯ
พระศุกร์ " ยสฺสานุสฺสรเณนาปิ ฯลฯ
พระเกตุ " ชยํ เทวมนุสฺสานํ ฯลฯ

สวดท้ายพระปริตกี่จบ เท่ากำลังของเทวดานพเคราะห์องค์ที่เสวยอายุ

อีกอย่างหนึ่ง เพื่อจะให้เวลาสวดสั้นลงมา สมมตพระปริตต่าง ๆ ให้เป็นสำหรับเทวดานพเคราะห์องค์ละปริต ดังนี้

พระอาทิตย์ สวด อุทฺเทตยญฺจนกฺขุมา ฯลฯ
พระจันทร์ " ยนฺทุนฺนิมิตฺตํ ฯลฯ
พระอังคาร " กรณียมตฺถกุสเลน ฯลฯ
พระพุธ " วิรูปกฺเข ฯลฯ
พระเสาร์ " ยโตหํ ภคินิ ฯลฯ
พระพฤหัสบดี " ยานีธ ภูตานิ ฯลฯ
พระราหู สวด วิปสฺสิสฺส ฯลฯ
พระศุกร์ " ธชคฺคสูตร ฯลฯ
พระเกตุ " มหาการุณิโก ฯลฯ

และสวดมนตร์เป็น ๙ ตำนานให้ครบนพเคราะห์ตามสมมตนั้น ที่ว่ามานี้เป็นวิธีเก่า

ในรัชชกาลที่ ๕ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษา (เข้าใจว่า เมื่อพระชันษาครบ ๕๐ ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๑๒) ใคร่จะทรงทำพิธีพิเศษ แต่ทรงรังเกียจวิธีที่ทำกันมาแต่ก่อน จึงตรัสปรึกษากับสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) จัดแบบพิธีขึ้นใหม่ ให้โหรบูชาเชิญเทวดานพเคราะห์มาฟังสวดพระพุทธมนตร์ทีละองค์ และให้พระสงฆ์ ๕ รูปสวดพระธรรมต่าง ๆ อันมีข้อธรรมมีจำนวนเท่าเกณฑ์กำลังเทวดานพเคราะห์ฉะเพาะองค์ ๆ ให้ฟัง

สวด อนุตฺตริยปาฐ สำหรับ พระอาทิตย์
" จรณปาฐ " พระจันทร์
" มคฺควิภงคฺปาฐ " พระอังคาร
" อินฺทฺริย พล โพชฺฌงคฺปาฐ " พระพุธ
" ทสพลญาณปาฐ " พระเสาร์
" ทสสญฺญา นวอนุปุพฺพวิหารปาฐ " พระพฤหัสบดี
" สติปฏฺฐาน สมฺมปฺปธาน อิทฺธิปาทปาฐ " พระราหู
สวด สปฺปุริสธมฺม อริยธน สมฺมาสมาธิปริขารปาฐ สำหรับ พระศุกร
" อาฆาฏวตฺถุ วินยปาฐ " พระเกตุ

สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งบทขัดตำนานสำหรับพระธรรมนั้น ๆ ด้วย สวดสลับกับโหรบูชา ได้ทำพิธีนวครหายุสมธรรมที่วังสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นครั้งแรก ครั้นถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑ เมื่อพระชันษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๒๕ ปี เป็นเขตต์เบ็ญจเพส ทรงพระราชปรารภจะทำการพิธีเฉลิมพระชันษาในปีนั้นให้พิเศษกว่าที่ทำมาแต่ก่อน มีพระราชดำรัสหารือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงกราบทูลให้ทรงทำพิธีนวครหายุสมธรรม และได้ทำในงานหลวงในปีนั้นเป็นต้นมาทุกปี และผู้อื่นก็ทำตามในเมื่อทำบุญฉลองอายุเมื่อเข้าเขตต์สำคัญ เช่น ซายิด เป็นต้น ใช้เป็นแบบแพร่หลายสืบมา

พิธีสวดนวครหายุสมธรรมแต่แรก สวดกว่า ๔ ชั่วโมงจึงจบ มาถึงในรัชชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระราชดำริตัดพลความออก คงไว้แต่หัวข้อตัวพระธรรม เดี๋ยวนี้จึงสวดได้จบเพียงเวลาราว ๒ ชั่วโมง การสวดนวครหายุสมธรรมก็นับเป็นพระปริตอย่างหนึ่ง จึงได้แสดงอธิบายไว้ในตำนานนี้

พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
ตำบลถนนราชบพิธ จังหวัดพระนคร
วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒

  1. คำกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในคำนำของนายธรรมรตนะแต่งเมื่อพิมพ์หนังสือภาณวารใน ค.ศ. ๑๙๑๖ (พ.ศ. ๒๔๕๙)
  2. มอญเขมรสวดอย่างเดียวกับไทย

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2472). ตำนานพระปริต. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (ราชบัณฑิตยสภาพิมพ์ถวายพระภิกษุสามเณรเป็นของชำร่วยเมื่อมาเยี่ยมหอพระสมุดฯ และพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร พ.ศ. 2472).

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก