ตำนานหนังสือสามก๊ก/ส่วน 1/ตอน 7
ไทยเรารู้เรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่นในพงศาวดารจีนฉันใด อาจจะอ้างต่อออกไปถึงรูปภาพจีนว่า ไทยเราคุ้นกับรูปบุคคลในเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าในเรื่องอื่นทั้งนั้นก็ว่าได้ ข้อนี้พึงสังเกตรูปภาพจีนอย่างที่เขียนในแผ่นกระจกสำหรับติดฝาผนังที่ชอบใช้แต่งตำหนักรักษาเหย้าเรือนกันมาแต่ก่อนก็มักเปนรูปเรื่องสามก๊กเปนพื้น[1] ไทยดูงิ้วก็ชอบดูเรื่องสามก๊กชำนาญตากว่าเรื่องอื่น จนเห็นตัวงิ้วก็มักบอกได้ทันทีว่า เปนบุคคลผู้ใดในเรื่องสามก๊ก แต่รูปภาพในเรื่องสามก๊กนั้น เมื่อสืบสวนหาตำรา ได้ความว่า เปนรูปคิดสมมติขึ้นทั้งนั้น น่าสันนิษฐานว่า พวกจีนเล่นงิ้วจะคิดสมมติขึ้นก่อน โดยเอาวิสัยของตัวบุคคลตามที่ปรากฎในเรื่องมาคิดแต่งหน้าแต่งตัวแลทำกิริยาอาการให้เห็นว่า เปนเช่นนั้น ๆ คนดูก็รู้สึกนิยมตาม จนเลยยุติเปนแบบแผนว่า บุคคลนั้นหน้าต้องเปนสีนั้น มีหนวดยาวหรือหนวดสั้น หรือหน้าเกลี้ยง ส่วนเครื่องแต่งตัวนั้น รูปภาพเรื่องสามก๊กซึ่งจีนเขียนก็ดี หรือแต่งเล่นงิ้วก็ดี ได้ความว่า เปนแบบเครื่องแต่งตัวในสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง คือ ในระวาง พ.ศ. ๑๙๑๑ จน พ.ศ. ๒๑๘๖ มิใช่เปนแบบเครื่องแต่งตัวอย่างเก่าถึงสมัยสามก๊ก ข้อนี้ก็เปนเค้าเงื่อนชวนให้สันนิษฐานว่า รูปภาพในเรื่องสามก๊กอย่างเช่นปรากฏทุกวันนี้น่าจะเกิดขึ้นร่วมสมัยกับเมื่อมีหนังสือสามก๊กอ่านนิยมกันแพร่หลาย แต่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง สังเกตดูรูปภาพที่จีนทำในเรื่องสามก๊กต่างกันเปน ๒ แบบ ถ้าเปนรูปปั้นระบายสี มักเขียนหน้าสลับสีอย่างงิ้ว ไม่นิยมที่จะให้แม้นเหมือนสีเนื้ออย่างธรรมดา แต่ถ้าเปนรูปเขียน เช่น เขียนในแผ่นกระจกสำหรับติดฝา หรือเขียนในฉาก มักระบายสีหน้าให้คล้ายสีเนื้อธรรมดา แม้ตัวบุคคลซึ่งในเรื่องกล่าวว่า หน้าดำหรือหน้าแดง ก็ประสานสีหน้าพอให้คล้ามหรือให้แดงแปลกกว่าผู้อื่นสักเล็กน้อยพอเปนที่สังเกต ยกตัวอย่างดังเช่น ฉากเขียนรูปกวนอูอันมีรูปจิวฉ่องกับกวนเป๋งยืนสองข้างซึ่งแขวนณะที่บูชาตามบ้านจีนเห็นอยู่แพร่หลายก็เปนเช่นว่า ข้อที่ช่างจีนทำรูปภาพปั้นกับรูปภาพเขียนผิดกันดังว่ามาจะเปนเพราะเหตุใดยังไม่ทราบ จีนทำหนังฉายเรื่องสามก๊ก ก็พยายามจะให้เหมือนคนธรรมดา เปนแต่แต่งหน้าให้เข้าเค้าภาพสามก๊ก ทำดีได้หนักหนา
รูปภาพที่พิมพ์ไว้ในหนังสือสามก๊กฉะบับภาษาจีนมีเปน ๒ ประเภท คือ ภาพรูปตัวคน ประเภท ๑ ภาพเรื่อง ประเภท ๑ ได้จำลองภาพเรื่องพิมพ์ไว้ตรงเรื่องในหนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุ ส่วนภาพตัวบุคคลได้จำลองมาพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มตำนานตอนนี้.
ที่ | ๑ | พระเจ้าเหี้ยนเต้ นางตังกุยหุย นางฮกเฮา | ||
ที่ | ๒ | อ้องอุ้น ตังสิน ฮกอ๋วน | ||
ที่ | ๓ | ตั๋งโต๊ะ ลิโป้ นางเตียวเสียน | ||
ที่ | ๔ | อ้วนเสี้ยว อ้วนสุด บุนทิว งันเหลียง | ||
ที่ | ๕ | เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย | ||
ที่ | ๖ | ชีซี บังทอง ขงเบ้ง | ||
ที่ | ๗ | จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตง จิวฉอง กวนเป๋ง | ||
ที่ | ๘ | เล่าเจี้ยง เตียวสง หวดเจ้ง | ||
ที่ | ๙ | เงียมหงัน เกียงอุย อองเป๋ง ม้าเจ๊ก | ||
ที่ | ๑๐ | เบ้งเฮ็ก เลียวฮัว เตียวเปา กวนหิน | ||
ที่ | ๑๑ | ซุนเกี๋ยน ซุนเซ็ก ซุนกวน | ||
ที่ | ๑๒ | จิวยี่ โลซก จูกัดกิ๋น | ||
ที่ | ๑๓ | ฮันต๋ง อุยกาย งำเต๊ก จิวท่าย | ||
ที่ | ๑๔ | โกะหยง ชีเซ่ง เตียวเจียว เตงฮอง | ||
ที่ | ๑๕ | โจโฉ กุยแก ซุนฮก | ||
ที่ | ๑๖ | โจจู๋ อีเกียด เกียดเป๋ง ฮัวโต๋ | ||
ที่ | ๑๗ | เคาทู เตียนอุย ซีหลง | ||
ที่ | ๑๘ | เตียวคับ งักจิ้น อองสง | ||
ที่ | ๑๙ | โจจิ๋ว เตียวเลี้ยว อิกิ๋ม บังเต๊ก แฮหัวเอี๋ยน | ||
ที่ | ๒๐ | แฮหัวตุ้น ฮัวหิม อองลอง | ||
ที่ | ๒๑ | โจหอง โจหยิน โจเจียง | ||
ที่ | ๒๒ | โจผี นางเอียนสี โจสิด | ||
ที่ | ๒๓ | สุมาอี้ สุมาสู สุมาเจียว สุมาหู เตงงาย จงโฮย |
- ↑ รูปภาพเช่นนั้น ที่เปนเครื่องประดับพระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคล ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครก็มีมาก