ข้ามไปเนื้อหา

ตำนานเมืองจำปาศักดิ์ ฉะบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์

ฉะบับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ และเจ้าราชวงศ์

เมืองนครจำปาศักดิ์


วัน ๔ เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๓ ปีระกาตรีศกศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับปีคฤสตศักราช ๑๘๖๑ เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชชกาลที่ ๔ ในพระบรมราชวงศ์อันนี้

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธสมมติเทพยพงศ์วงศาดิศวรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมราชมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรเมธรรหิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ ๔ ในพระบรมราชวงศ์อันนี้ มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งพระศรีสุนทรโวหารเจ้ากรมพระอาลักษณ์ และเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์เจ้าเมืองอุบลราชธานี และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์เก่า ซึ่งเป็นโทษต้องถอดออกนอกราชการค้างอยู่นานในกรุงเทพมหานคร มารวบรวมพงศาวดารเก่าของเมืองนครจำปาศักดิ์ และรวบรวมจดหมายเหตุเก่าใหม่มีใน ๔ แผ่นดินมาเลือกเอาความตามสมควร แล้วเรียงเรื่องพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกเอกอุดมลงไว้ เพื่อจะให้ผู้อ่านได้ทราบความเดิม ตามเหตุที่มีจริงเป็นจริงดังจะกล่าวไปนี้

พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกซึ่งทรงพระปรารภเป็นสาทนิยารมณ์พระองค์นี้ เป็นพระพุทธปฏิมาล้วนแล้วด้วยแก้วผลึกอย่างเอกอุดมที่ช่างพลอยเรียกว่าบุศน้ำขาวบ้าง เพ็ชรน้ำค้างบ้าง และมีส่วนทรวดทรงฝีมือช่างทำงานดีกว่าพระพุทธรูปอื่นบรรดามีในที่ต่าง ๆ ซึ่งช่างดี ๆ ได้ทำไว้ เมื่อพิเคราะห์ไปโดยละเอียดจนถึงจับกางเวียนมาจับกระเบียดเทียบเคียงดู จะจับส่วนที่คลาดเคลื่อนไม่เที่ยงเท่ากันนั้น ก็จะได้เป็นอันยาก มีประมาณสูงแต่ที่สุดทับเกษตรขึ้นไปจนสุดปลายพระจุฬาธาตุ ๑๒ นิ้ว ๒ กระเบียดอัศฎางค์ หน้าตักวัดแต่ระหว่างพระชานุทั้งสอง ๙ นิ้วกับ ๔ กระเบียดอัศฎางค์ ระหว่างพระกรรปุรทั้งสอง ๖ นิ้ว ๑ กระเบียดอัศฏางค์ ระหว่างพระอังศกูฎ ๕ นิ้วกับ ๗ กระเบียดอัศฎางค์ ประมาณพระเศียรแต่ปลายพระหนุขึ้นไปถึงที่สุดพระจุฬาธาตุ ๑ นิ้วกึ่งกับ ๑ กระเบียดอัศฎางค์ กว้างพระพักตร์วัดในระหว่างปลายพระกรรณสองข้าง ๒ นิ้วกับ ๗ กระเบียดอัศฎางค์ นิ้วที่ว่านั้นคือนิ้วช่างไม้ นับนิ้วหนึ่งคือเจ็ดเมล็ดข้าวเปลือกเรียงกัน พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้ แต่เดิมจะเป็นก้อนแก้วณตำบลใด ท่านผู้ใดได้มาแล้วและสร้างขึ้น สร้าง ณ ที่ใดเมื่อใดความลับลึกไปไม่ได้ความแจ้งชัด พระพุทธปฏิมากรแก้วบุศน้ำขาวพระองค์นี้ ได้มายังกรุงเทพมหานครนี้แต่เมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อปลายปีมะแมตรีศกศักราช ๑๑๗๓ เป็นปีที่ ๓ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นแผ่นดินที่ ๒ ในพระบรมราชวงศ์นี้

เมืองนครจำปาศักดิ์นั้น เป็นเมืองลาวขึ้นกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในฝั่งแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำใหญ่ไหลมาแต่เมืองลาว หรือ ๑๒ พันนาที่ไม่ได้ขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร และไหลมาทางเมืองเชียงแสนและเมืองหลวงพระบาง เมืองล้านช้าง และเมืองเวียงจันทน์ และอื่น ๆ ซึ่งเป็นเมืองกรุงเทพมหานคร ตลอดไปในแผ่นดินเขมรและไปมีปากน้ำออกน้ำออกทะเลในแผ่นดินเขมรที่อยู่ในอำนาจญวน คือปากน้ำป่าสักพระตะพัง เมืองนครจำปาศักดิ์นั้นตั้งอยู่ในที่ต่อลาวกับแดนเขมร เมืองนครจำปาศักดิ์นั้นแต่ก่อนเป็นแต่ตำบลชื่อจำปะยังไม่ได้เป็นบ้านเมืองมีเจ้านายเปนที่เปลี่ยวอยู่ เมืองล้านช้างเมืองเวียงจันทน์ตั้งก่อนช้านาน ครั้งหนึ่งไม่รู้กำหนดว่าปีใดนานกว่าปี ๒๐๐ ปีมาแล้ว ก่อนแต่เมืองล้านช้างและเมืองเวียงจันทน์ได้มาขึ้นกรุงเทพมหานคร เมื่อปีกุนเอกศกศักราช ๑๑๔๑ ตรงกับปีมีคฤสตศักราช ๑๗๗๙ นั้นไปช้านาน เมืองเวียงจันทน์ยังเป็นเมืองไม่ขึ้นข้างไหนมีเจ้าแผ่นดินครองเมืองเอง ครั้นเจ้าเวียงจันทน์องค์หนึ่งจำชื่อไม่ได้เป็นเจ้าแผ่นดินถึงพิราลัยลง เจ้านายบุตรหลานวิวาทรบพุ่งกันอยู่ช้านาน จนไพร่บ้านพลเมืองได้ความร้อนรนระส่ำระสาย เพราะเจ้านายชักเย่อแย่งชิงจับกุมเอาไปเป็นพวกข้างโน้นข้างนี้ แล้วกะเกณฑ์ให้รบพุ่งฆ่าฟันรันตีกัน ไม่เป็นอันที่จะได้ทำมาหากินล่วงกาลนานหลายปีไป จึงมีลาวบางจำพวกซึ่งเป็นไพร่มากมายหลายครอบครัวด้วยกัน เห็นว่าจะอยู่ในเขตต์แคว้นแดนแขวง ใกล้เคียงเมืองล้านช้างเมืองเวียงจันทน์จะหามีความสุขไม่ ครั้นจะหนีเข้าป่าดงพงไพรไปทั้งครอบครัวบุตรภรรยาก็เห็นว่าจะยากลำบาก ด้วยไม่มีถิ่นที่ไร่นาทำมาหากิน จะต้องซุกซ่อนปล้อนปลิ้นหลบลี้หนีเจ้านายไม่วายลง ถ้าจะพากันลงเรือแพแล้วถ่อพายทวนน้ำขึ้นไป อาศัยเขตต์แขวงเมืองเซ่าหลวงพระบางหรือเมืองเชียงแสนเมืองเชียงรุ้ง ก็จะได้ความลำบาก ยากที่จะหนีเจ้านายที่วุ่นวายกันอยู่นั้นให้พ้นไปได้ จึงพากันผูกแพบ้าง ที่มีเรือก็ลงเรือบ้าง รวบรวมสะเบียงอาหารบรรทุกแล้วพาครอบครัวล่องน้ำลำของลงไปเป็นอันมากด้วยกัน ครั้งนั้นมีพระครูอยู่วัดโพนเสม็ด เป็นอาจารย์บอกพระกรรมฐานเป็นที่นับถือของชนเป็นอันมาก ได้ลงไปกับครอบครัวลาวเหล่านั้นด้วยเมื่อพวกครอบครัวเหล่านั้น จะมีการขุ่นข้องหมองหมางไม่สมัครสโมสรกันประการใด พระครูโพนเสม็ดช่วยว่ากล่าวเกลี่ยไกล่ ชักโยงให้สมัครสโมสรพร้อมเพรียงกัน แล้วพากันล่องลงไปจนถึงเขาลี่ผีแล้วยังจะกลัวว่าจะหนีนายฝ่ายเวียงจันทน์ไม่พ้น พากันล่วงข้ามเขาเขาลี่ผีผูกพ่วงแพหนีต่อไป เข้าอาศัยอยู่ณที่เมืองพนมเพ็ญในแผ่นดินแดนเมืองเขมรช้านาน ครั้นล่วงกาลนานมาผู้ครองฝ่ายเขมรเห็นว่าพวกลาวเป็นคนผิดเพศภาษา มาอาศัยอยู่ในอำนาจของตัวแล้ว ถึงแต่แรกได้รับรองอนุเคราะห์ให้เป็นสุขพอเป็นที่ยินดี ภายหลังก็มีกรุณาน้อยไปกะเกณฑ์ใช้การงานหนักบ่าหนักแรงมาก และเรียกส่วยไร่เกินพิกัดทำให้ไพร่ลาวเหล่านั้น ได้ความยากจนทนมิได้ พวกลาวเหล่านั้นพร้อมใจกันกับพระครูโพนเสม็ด ยกอพยพหลบหนีขึ้นมาข้างบนจนข้ามเขาลี่ผีพ้นแดนเขมรมาได้ ครั้นจะกลับคืนไปยังภูมิลำเนาเดิม ก็ยังกริ่งเกรงผู้ครองฝ่ายเมืองเวียงจันทน์อยู่ จึงได้พากันตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลนั้น ๆ ที่ได้ชื่อว่าเชียงแตงและโขงและอัตปือและคำทองน้อยคำทองใหญ่และอื่น ๆ แต่พระครูโพนเสม็ดกับครอบครัวพวกพ้องเป็นอันมาก มาตั้งอยู่ที่ตำบลจำปะ เพราะเห็นว่าที่นั้นเป็นภูมิสถานอันดีควรเป็นที่ตั้งอยู่สบาย เมื่อพระครูโพนเสม็ดกับครอบครัว ยกอพยพมาจากเมืองเขมรมาตั้งอยู่ที่ตำบลเชียงแตงเป็นที่แรกนั้น ได้เรี่ยไรพวกครอบครัวให้ประมวญทองแดงทองเหลืองเป็นอันมากหนักได้ ๑๖๐ ชั่งเศษ หล่อขึ้นเป็นพระพุทธรูปพระองค์หนึ่งเนื้อหนาดี ขัดสีเกลี้ยงเกลางาม พระครูโพนเสม็ดถวายพระนามว่าพระแสน เพราะคิดน้ำหนักได้กว่าแสนเฟื้องตั้งไว้ในวัด ซึ่งเปนที่อยู่ของพระครูโพนเสม็ดณเมืองเชียงแตง พระแสนนั้นก็อยู่ที่เมืองเชียงแตงมาจนถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบทราบต้องพระราชประสงค์ เสด็จลงมากราบทูลขอให้มีท้องตราให้ข้าหลวงขึ้นไปเชิญอาราธนาลงมา เมื่อปีมะแมนักษัตรเอกศกศักราช ๑๒๒๑ ตรงกับปีมีคฤสตศักราช ๑๘๕๙ ครั้นเชิญเสด็จพระแสนลงมาถึงแล้วก็พระราชทานไปในพระบวรราชวังตามพระราชประสงค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้อัญเชิญไปสร้างแท่นฐาน ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดหงส์รัตนารามคลองบางกอกใหญ่อยู่จนทุกวันนี้ พระแสนนั้นรูปพรรณเป็นฝีมือช่างลาวโบราณประหลาดอยู่ ก็พระครูโพนเสม็ดนั้นอยู่ที่เชียงแตงไม่สบายก็ย้ายถิ่นยกครอบครัวมาตั้งอยู่ที่เมืองโขง เป็นเกาะกลางแม่น้ำโขง แล้วไปอยู่ที่ตำบลอัตปือแล้วจึงไปอยู่ที่คำทองน้อย แล้วย้ายไปอยู่ที่คำทองใหญ่ แล้วไปอยู่ตำบลมั่นตำบลเจียม ภายหลังจึงมาตั้งอยู่ที่ตำบลจำปะ ก็เมื่อพระครูนั้นยักย้ายที่อยู่ไปในที่ต่าง ๆ รอบครัวญาติโยมยกเหย้าย้ายเรือนตามต่อไปบ้าง คงตั้งอยู่ตามที่ตั้งนั้น ๆ บ้าง นายครัวผู้ใหญ่ที่ตั้งอยู่ในที่นั้น ก็เกลี้ยกล่อมผู้คนไปมา และชาวป่าชาวดอนมาอยู่ด้วยแน่นหนามากขึ้น พวกนั้นเพราะเป็นศิษย์ญาติโยมครูโพนเสม็ด เมื่อมีเหตุการณ์วิวาทบาดคล้องกันบ้างประการใด ๆ ก็พากันตามไปฟ้องร้องต่อพระครูโพนเสม็ด ให้ช่วยว่ากล่าวไกล่เกลี่ยระงับความให้สงบไป การก็เรียบร้อยกันอยู่ได้ไม่แตกร้าวจากกัน ตำบลต่าง ๆ ตั้งแต่เชียงแตงมาจนถึงจำปะ ก็อยู่ในอำนาจพระครูโพนเสม็ดทั้งสิ้นหลายปี ครั้นภายหลังไม่ช้ามีเจ้าฝ่ายลาวเวียงจันทน์ผู้หนึ่ง ชื่อว่าเจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ มีความวิวาทกับญาติพี่น้องซึ่งเป็นเจ้านายผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ จึงได้พาครอบครัวบุตรภรรยาบ่าวไพร่เป็นอันมาก ลงเรือล่องน้ำหนีลงมาจนถึงตำบลจำปะ ได้พบกับพระครูโพนเสม็ด และพวกครอบครัวซึ่งตั้งอยู่ก่อนก็สมัครสโมสร ขึ้นอยู่กลมเกลียวเป็นอันเดียวกัน ด้วยประการนี้ที่ตำบลจำปะนั้น ก็เป็นถิ่นสถานโตใหญ่ขึ้นควรจะเป็นบ้านเมือง จึงพระครูโพนเสม็ดปรึกษาพร้อมกับนายครัว ซึ่งมีกำลังเป็นญาติโยมและศิษย์ทั้งปวงว่า เจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ นั้นเป็นเชื้อสายเจ้านายเมืองเวียงจันทน์มาแต่เดิม ขอให้ชาวบ้านทั้งปวง ยอมยกให้เจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ เป็นเจ้าแผ่นดินว่าราชการเมือง แล้วให้ตั้งบ้าน จำปะนั้นเป็นเมืองหลวง เรียกว่าเมืองนครจำปาศักดิ์เถิด นายครัวทั้งปวงก็เห็นชอบด้วย ยอมทำตามพระครูโพนเสม็ดทุกประการ ตั้งแต่นั้นมาเจ้าสร้อยสมุท ฯ ก็ได้เป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์เป็นปฐมเมืองนครจำปาศักดิ์นั้นเมื่อตั้งขึ้นแล้ว เจ้านครจำปาศักดิ์มีอำนาจ ได้ว่ากล่าวลาวชาวตำบลต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ตั้งขึ้นเรียกว่าเมืองเจ็ดหัวเมือง คือเมืองโขง เมืองเชียงแตง เมืองอัตปือ เมืองคำทองน้อย เมืองทองคำใหญ่ เมืองมั่น เมืองเจียม เมืองนครจำปาศักดิ์ครั้ง นั้นก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ ไม่ได้ขึ้นอยู่ในอำนาจแผ่นดินไทย และเขมร และญวนและลาวเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองมีอำนาจใหญ่อยู่รอบด้านเพราะครั้งนั้นเมืองทั้งปวงก็มีการทัพจับศึกวุ่นวายไม่สบายอยู่ด้วยเหตุ ต่าง ๆ เจ้านครจำปาศักดิ์สร้อยศรีสมุทมีบุตรชายใหญ่ ๆ สี่คือ เจ้าไชยกุมาร ๑ เจ้าธรรมเทโว ๑ เจ้าสุริโย ๑ เจ้าโพธิสาร ๑ ภายหลังพระครูโพนเสม็ดก็ถึงมรณภาพ แล้วเจ้านครจำปาศักดิ์สร้อยศรีสมุท ฯ ก็ถึงแก่พิราลัยล่วงไป ท้าวเพี้ยผู้ใหญ่ในเมืองนครจำปาศักดิ์พร้อมกัน ตั้งเจ้าไชยกุมารบุตรผู้ใหญ่ของเจ้านครจำปาศักดิ์สร้อยศรีสมุท ฯ นั้น เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์สืบมา แล้วจึงตั้งเจ้าธรรมเทโวเป็นเจ้าอุปราช ตั้งเจ้าสุริโยเป็นเจ้าราชวงศ์ รักษาเมืองนครจำปาศักดิ์สืบไป ก็เมื่อเวลาเจ้าไชยกุมารเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์อยู่นั้น มีลูกค้าลาวผู้หนึ่งชาวนครจำปาศักดิ์ มาแจ้งความแก่เจ้าไชยกุมารผู้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ และเจ้าธรรมเทโวผู้เป็นอุปราชว่า ได้เห็นพระพุทธรูปแก้วงามดีเป็นของวิเศษมีอยู่ในเรือนพรานป่า ชื่อพรานทึงพรานเทิงตำบลบ้านส้มป่อยนายอน พรานทึงพรานเทิงสองคนหาได้นับถือเป็นพระไม่ ถือว่าเป็นผีเสื้อหน้าไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงซ่อนเก็บไว้เป็นมิ่งบ้านขวัญเรือน ลูกค้าผู้นั้นเห็นว่าไม่ควร เพราะพระพุทธรูปเป็นของดี ถ้าได้มาไว้เป็นที่มหาชนได้นมัสการด้วยกันเป็นอันมากจึงจะสมควร เจ้าไชยกุมารผู้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้าธรรมเทโวอุปราชจึงได้สั่งให้ลูกค้าผู้นั้น นำท้าวเพี้ยกรมการไปยังบ้านพรานทึงพรานเทิง ขอดูพระพุทธรูปแก้วได้เห็นว่ามีจริงแล้ว จึงได้ให้ท้าวเพี้ยกรมการพร้อมกัน แห่พระพุทธรูปแก้วนั้นเข้ามาไว้ในเมืองนครจำปาศักดิ์ ทำสักการบูชาสมโภชฉลองเป็นอันมากแล้ว ยกไพร่ข่าบ้านส้มป่อยนายอนบ้านพรองบ้านจองออน ถวายเป็นข้าพระแก้วเก็บส่วยมาทำสักการบูชา และสร้างสถานที่ไว้ที่โดยสมควร พรานทึงพรานเทิงพรานป่าเจ้าของพระแก้วนั้น เมื่อเจ้านครจำปาศักดิ์ซักถามว่า พระพุทธรูปแก้วนี้ได้มาแต่ที่ไหน พรานทึงพรานเทิงให้การว่า ตัวพรานทึงพรานเทิงเป็นพรานป่าไปเที่ยวยิงสัตว์ในป่า แต่ก่อนหาใคร่จะพบปะสัตว์ที่ควรจะยิงไม่ วันหนึ่งเดินไปถึงถ้ำเปลี่ยวในเขาส้มป่อยนายอน เป็นเวลาร้อนแวะเข้าไปในปากถ้ำ จึงได้เห็นพระพุทธรูปแก้วองค์นี้ ตั้งอยู่ในถ้ำเป็นของประหลาดอยู่ เข้าใจว่าจะมีผีศักดิ์สิทธิสิง จึงกราบไหว้บนบานขอให้ยิงสัตว์ได้มากจะถวายเครื่องเซ่น ครั้นพรานทึงพรานเทิงไปเที่ยวยิงสัตว์ในป่า แต่นั้นมาก็พบช้างพบแรด และสัตว์ที่ควรจะยิงมากกว่าปกติแต่ก่อน พรานทึงพรานเทิงทำเครื่องเซ่นไปสังเวย ใช้บนพระพุทธรูปแก้วแล้วก็บนต่อไปด้วยเหตุนี้ พรานทึงพรานเทิงต้องทำเครื่องเซ่นไปใช้บนพระพุทธรูปแก้วเนือง ๆ ภายหลังพรานทึงพรานเทิงมีความเกียจคร้าน เพื่อจะไปยังถ้ำเปลี่ยวนั้นเนือง ๆ อนึ่งมีความวิตกว่า เมื่อพรานทึงพรานเทิงเดินไปมายังถ้ำนั้นเนือง ๆ เกลือกจะมีผู้อื่นรู้เข้าตามไป แล้วยักเอาพระพุทธรูปแก้วไปอื่นเสีย พรานทึงพรานเทิงจึงได้อาราธนาอัญเชิญพระพุทธรูปแก้ว ว่าเชิญท่านไปอยู่บ้านด้วยกันเถิด จะได้เครื่องเซ่นวักบูชาเนือง ๆ ทุกวัน เมื่อว่าดังนี้แล้วจึงได้เอาสายหน้าไม้ผูกพระศอพระพุทธรูปแก้ว ให้ติดเนืองแน่นกับขาหน้าไม้ แล้วคอนกลับมาบ้าน เมื่อคอนกวัดแกว่งไปมา ปลายพระกรรณขวาของพระพุทธรูปแก้ว กระทบกับขาหน้าไม้ลิหักแตกตกหายไปเสียข้างหนึ่ง ครั้นมาถึงบ้านแล้ว พรานทึงพรานเทิงจึงเชิญพระพุทธรูปแก้วไว้ในเรือนเซ่นวักสักการบูชา เมื่อไปยิงช้างได้งา ยิงแรดได้นอเมื่อใด ก็นำเอาโลหิตสัตว์มาทาเข้าไปในองค์พระพุทธรูปแก้วเป็นสังเวยเมื่อนั้น ครั้นนานมาโลหิตสัตว์ก็ติดกรังหนาพอกพระองค์พระพุทธรูปแก้วอยู่ เมื่อไรพรานทึงพรานเทิงและบุตรภรรยา จะตากเข้าหรือเนื้อสัตว์ไว้ และมีกิจธุระไปนาไปไร่ไปเที่ยวยิงสัตว์ ก็ได้ว่าสั่งพระพุทธรูปแก้ว ที่เรียกว่าผีเสื้อหน้าไม้นั้น ให้อยู่เฝ้าเรือนเฝ้าของที่ตากไว้ ถึงเรือนและของที่ตากไว้นั้นไม่มีผู้ใดเฝ้า ก็ไม่เคยมีอันตรายเลย โจรผู้ร้ายไม่ได้ขึ้นเรือน นกกาไก่ก็ไม่ได้มากินเข้ากินเนื้อซึ่งเป็นของตากไว้ พรานทึงพรานเทิงจึงเห็นว่า พระพุทธรูปแก้วที่ชื่อผีเสื้อหน้าไม้นี้เป็นของที่ดีที่ลาวเรียกว่าคำคุณ ควรหวงควรสงวนซ่อนไว้ ก็ลูกค้าซึ่งนำท้าวเพี้ยกรมการไปรับพระพุทธรูปแก้ว ผู้นั้นได้เห็นพรานทึงพรานเทิงมีนอระมาดงาช้าง มากกว่าพรานป่าที่หากินด้วยยิงสัตว์ทั้งปวงทุกแห่ง จึงได้ไปขอซื้อนอระมาดงาช้างเนือง ๆ จนคุ้นเคยเข้าสนิทเป็นมิตรสหาย ลูกค้านั้นถามถึงพรานทึงพรานเทิงว่าด้วยเหตุอันใด พรานทึงพรานเทิงจึงยิงสัตว์ได้มากกว่าผู้อื่น พรานทึงพรานเทิงจึงได้บอกว่าได้ด้วยอำนาจผีเสื้อหน้าไม้เป็นของคำคุณ ลูกค้าผู้นั้นขอดู พรานทึงพรานเทิงได้ให้ดู ลูกค้านั้นเห็นแล้วจึงว่าของนี้ใช่เจว็ดผี เป็นพระพุทธรูปแท้ แล้วจึงมาแจ้งความแก่เจ้านครจำปาศักดิ์ ดังนี้ และเจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมาร ได้รักษาพระพุทธรูปแก้วองค์นี้ไว้ในเมืองนครจำปาศักดิ์เก่า ได้เป็นใหญ่รักษาแผ่นดินอยู่ตามอำนาจเดิมนั้น นานล่วงกาลหลายปีมา จนเจ้าธรรมเทโวอุปราชและเจ้าสุริโยผู้น้องถึงแก่พิราลัยล่วงไปก่อน ภายหลังพวกเมืองนครจำปาศักดิ์ สมคบกับผู้สำเร็จราชการกรมการเมืองนางรอง พระยานางรอง เพราะสมคบกับพวกเมืองนครจำปาศักดิ์เป็นกำลัง ก็มีความกำเริบกระด้างกระเดื่องขึ้น ครั้งนั้นฝ่ายไทย เจ้าตากสินเป็นเจ้าแผ่นดินใหญ่อยู่ ณ กรุงธนบุรี ประมาณเมื่อนั้นเป็นปีมะแมสัปตศกศักราช ๑๑๓๗ ตรงกับปีมีคฤสตศักราช ๑๗๗๘ ผู้สำเร็จราชการ และกรมการเมืองนครราชสิมาเป็นเมืองขึ้นกรุงธนบุรี จึงมีหนังสือบอกลงมายังกรุงธนบุรีเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้แต่งกองทัพขึ้นไป กำราบปราบปรามพระยานางรองและเพราะมีการเกี่ยวข้องกับพวกเมืองนครจำปาศักดิ์ กองทัพไทยจึงได้ยกไปปราบปรามเมืองนครจำปาศักดิ์และเมืองลาว ซึ่งขึ้นแก่นครจำปาศักดิ์ทั้งปวงนั้นด้วย ครั้งนั้นเจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมารยอมแพ้ขอถวายดอกไม้ทองเงินเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงธนบุรี ตั้งแต่ปีระกานพศกศักราช ๑๑๓๙ มา ตรงกับปีมีคฤสตศักราช ๑๗๓๗ และเมื่อกองทัพใหญ่ฝ่ายไทย ขึ้นไปปราบปรามเมืองนครจำปาศักดิ์ครั้งนั้น เจ้านครจำปาศักดิ์จึงยอมแพ้ขอขึ้นแก่กรุงธนบุรี ก็ยังมีความตระหนี่เสียดายซ่อนพระพุทธปฏิมากรแก้ว ซึ่งเป็นของวิเศษนั้นเสีย ปิดความไม่ให้แม่ทัพนายกองฝ่ายไทยได้ทราบความเลย ว่าพระพุทธปฏิมากรแก้วมีอยู่ในเมืองนครจำปาศักดิ์ ครั้นกาลล่วงมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมืองนครจำปาศักดิ์ก็คงขึ้นแก่กรุงเทพมหานครอยู่ ภายหลังมีข่าวว่า เจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมารแก่ชรา เจ้าหลานผู้บุตรของเจ้าธรรมเทโวเจ้าสุริโยผู้น้อง และบุตรของเจ้าหน่อเมือง ผู้บุตรของเจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมาร เกิดวิวาทริษยาชิงกันจะเป็นใหญ่จนเกิดรบพุ่งฆ่าฟันกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงมีพระราชโองการ ให้ข้าหลวงเชิญท้องตราขึ้นไปเมืองนครจำปาศักดิ์ให้หาตัวเจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมาร กับหลานซึ่งมีกำลังจะได้ราชการลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อจะทรงบังคับบัญชาไกล่เกลี่ยการบ้านเมืองเสียให้เป็นปกติเรียบร้อย ข้าหลวงไปถึงเมืองนครจำปาศักดิ์แล้ว จึงพาตัวเจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมาร กับเจ้าหลานสามนายลงมาจากเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมารป่วยลงกลางทาง ลาข้าหลวงกลับคืนไปรักษาตัวที่เมืองนครจำปาศักดิ์ แล้วป่วยหนักลงถึงแก่พิราลัย เจ้าหลานสามนายลงมากับข้าหลวงจนถึงกรุงเทพมหานคร ต้องตกค้างอยู่นานเพราะการไม่ตกลงกัน ก็เพราะเจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมารถึงแก่พิราลัยลง แล้วไม่มีผู้เป็นใหญ่ในเมืองนครจำปาศักดิ์ มีลาวผู้หนึ่งชื่อนายเชียงแก้วชาวเมืองโขง ตั้งซ่องสุมผู้คนมีกำลังได้มาก ยกเข้ามาตีเอาเมืองนครจำปาศักดิ์แตกกระจัดกระจาย ครั้งนั้นเจ้าหน้าอยู่บ้านสินท่า เป็นเชื้อสายสืบวงศ์วานมาแต่เจ้าอุปราชเวียงจันทน์คนเก่า กับท้าวพรหมบ้านเจรแม และท้าวคำบ้านคงเพนียงพร้อมใจกัน คุมคนไปรบพวกนายเชียงแก้วเอาไชยชะนะได้แล้วรวบรวมไพร่บ้านพลเมืองให้ตั้งอยู่ตามภูมิลำเนาโดยปกติ รักษาเมืองนครจำปาศักดิ์ไว้ แล้วมีใบบอกลงมายังกรุงเทพมหานครพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริเห็นว่าเจ้าหน้าและท้าวพรหมท้าวคำมีความชอบมาก จึงมีพระราชโองการดำรัสให้หาตัวลงมา แล้วทรงแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ท้าวพรหมเป็นพระพรหมราชวงษา บ้านเจรแมเป็นเมืองคือเมืองอุบล ราชธานี ท้าวคำเป็นพระเทพวงษา แล้วยกบ้านคงเพนียงเป็นเมืองคือเมืองเขมราช ให้ขึ้นแก่กรุงเทพมหานครทั้งสามเมือง บ้านสินท่าบ้านเดิมของเจ้าหน้านั้น ก็ให้ยกเป็นเมืองคือเมืองยโสธร แล้วจึงตั้งท้าวม่วงน้องชายเจ้าหน้าเป็นพระสุนทรราชวงษาเจ้าเมือง แต่ให้ขึ้นแก่เมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อเจ้าหน้าได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์แล้ว ก็ยังหวงซ่อนพระปฏิมากรแก้วผลึกไว้ไม่เชิญลงมา หรือบอกข่าวลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ภายหลังเจ้าหน้าผู้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ไม่ชอบใจสถานที่เมืองนครจำปาศักดิ์เก่า ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลจำปะแต่เดิมนั้นคิดยักย้ายมาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ตำบลบ้านคันตะเกิง อยู่ฝั่งแม่น้ำของฝ่ายตะวันตก ก่อเป็นกำแพงเมืองมีใบเสมา และสร้างพระวิหารสถานที่ประดิษฐานพระปฏิมากรแก้วผลึกขึ้นในที่นั้น แล้วบอกกล่าวป่าวร้องพระสงฆ์สามเณรท้าวเพี้ยราษฎรทั้งปวง ให้พร้อมกันอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก แห่ออกจากเมืองนครจำปาศักดิ์เก่ามายังเมืองใหม่ แล้วประดิษฐานไว้ในพระวิหารใหม่ซึ่งสร้างขึ้นนั้น แล้วแบ่งข้าพระพวกที่เจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมารได้อุทิศถวายไว้แต่ก่อน ให้ผลัดกันมาพิทักษ์รักษาปฏิบัติอยู่ เจ้าหน้าเจ้านครจำปาศักดิ์กับบุตรหลานท้าวเพี้ยทั้งปวงถือใจว่า พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้เป็นของสำหรับเมืองนครจำปาศักดิ์มาแต่เดิม เมื่อไม่มีท้องตราไปแต่กรุงเทพมหานคร บังคับให้ส่งมาก็นิ่งอยู่ ความที่พระพุทธปฏิมากรแก้วมีอยู่ที่เมืองนครจำปาศักดิ์นั้น ในกรุงเทพมหานครก็ยังไม่มีผู้ใดรู้ จะกล่าวขึ้นให้ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตลอดแต่ต้นจนสิ้นสุดรัชชกาลแผ่นดินนั้น เจ้าหน้าได้เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณรักษาบ้านเมืองเป็นปกติ ถวายดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ ส่งลงมากรุงเทพมหานครทุกปีมิได้ขาด ล่วงกาลนานถึง ๓๐ ปี จึงป่วยโรคชราถึงแก่พิราลัยลง ในปีมะเมียนักษัตรโทศกศักราช ๑๑๗๒ ตรงกับปีมีคฤสตศักราช ๑๘๑๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นเมื่อปีมะแมตรีศกศักราช ๑๑๗๓ ตรงกับปีคฤสตศักราช ๑๘๑๑ เป็นลำดับปีนั้นมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทราบความพิราลัยของเจ้านครจำปาศักดิ์ แล้วจึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้แต่งข้าหลวงเชิญหีบศิลาหน้าเพลิง และเครื่องไทยธรรมของพระราชทานในการศพเจ้าหน้า ซึ่งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ที่ถึงแก่พิราลัยนั้น ขึ้นไปพระราชทานเพลิง ครั้งนั้นข้าหลวงเมื่อไปถึงเมืองนครจำปาศักดิ์แล้ว ได้เข้าไปนมัสการพระพุะทธปฏิมากรแก้วผลึก พิเคราะห์ดูเห็นว่าเป็นของดีมาก ควรที่จะเป็นของต้องพระราชประสงค์ และเป็นสิ่งมิ่งมงคลศรีสวัสดิ์รัตนราชดิลก เฉลิมกรุงเทพมหานคร ไม่ควรจะประดิษฐานอยู่ในเมืองนครจำปาศักดิ์เป็นแต่เมืองประเทศราชน้อยจึงได้ไต่ถามความต้นเดิมว่า พระพุทธปฏิมากรแก้วพระองค์นี้ ได้มีมาอยู่ในเมืองนครจำปาศักดิ์แต่ครั้งใดท้าวเพี้ยทั้งปวงก็แจ้งความตามเรื่องซึ่งบรรยายมาแต่หลัง ตั้งแต่พรานทึงพรานเทิงได้พระพุทธปฏิมากรแก้วองค์นี้ มาแต่ถ้ำเขาส้มป่อยนายอนนั้นเป็นเดิม มาจนถึงเวลาเมื่อเจ้าหน้าเจ้านครจำปาศักดิ์ เชิญมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้นให้ข้าหลวงฟังทราบทุกประการ ข้าหลวงได้จดหมายไว้แล้ว จึงชักชวนท้าวเพี้ยทั้งปวงให้พร้อมใจกันเข้าชื่อกับข้าหลวง ลงใบบอกมายังลูกขุน ณ ศาลา ให้กราบทูลถวายพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วข้าหลวงได้มอบให้ท้าวเพี้ยรักษาพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกนั้นไว้ ให้มั่นคงมิให้มีอันตราย แล้วก็คุมใบบอกลงมากรุงเทพมหานครวางยังศาลามหาดไทย ขอให้กราบทูลพระกรุณา ครั้นเมื่อความในใบบอกนั้นเจ้าพนักงานได้กราบทูลพระกรุณาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงสดับก็ทรงพระโสมนัสโดยพระราชศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระราชโองการ ดำรัสให้กรมมหาดไทยมีท้องตราให้ข้าหลวงคุมขึ้นไปสั่งเมืองรายทาง ให้แต่งที่ทางรับส่งพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก ด้วยแห่แหนสักการบูชา และฉลองสมโภชในระยะทางและที่ประทับโดยสมควรทุกเมือง ตามระยะเมืองรายทางตั้งแต่เมืองสระบุรีขึ้นไป จนถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ แล้วให้ข้าหลวงกับท้าวเพี้ยเมืองนครจำปาศักดิ์พร้อมกัน ทำสักการบูชาสมโภชฉลองพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก ที่เมืองนคจำปาศักดิ์โดยสมควร แล้วก็ตั้งกระบวนแห่รับเชิญออกจากเมืองนครจำปาศักดิ์พรักพร้อมด้วยราษฎรที่มีความเลื่อมใสศรัทธามาตามส่งเป็นอันมาก เจ้าเมืองกรมการแลราษฎรทุกหัวเมืองตามรายทางก็มีความชื่นชมยินดี ได้แต่งกระบวนการแห่แลการสมโภชสักการบูชามาทุกเมือง ตามระยะทางตลอดเวลาอันควร จนพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกมาถึงเมืองสระบุรี มีใบบอกลงมากราบทูลพระกรุณา จึ่งมีพระราชโองการให้เจ้าพนักงานคุมเรือพระที่นั่งศรี มีเรือดั้งแลเรือเจ้าพนักงานป้องกันขึ้นไปรับ เชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วลงเรือพระที่นั่งศรี ล่องลงมาโดยทางชลมารคแต่เมืองสระบุรีมา มีกำหนดให้ประทับสมโภชที่กรุงเก่า แล้วล่วงลงมาประทับที่วัดเขียนตลาดแก้วแขวงเมืองนนทบุรีทันในวันมีมงคลศุภนักขัตตฤกษ์แล้ว ในกรุงเทพมหานครให้กะเกณฑ์กระบวนมหาพยุหยาตราอย่างใหญ่ เรือพระที่นั่งกิ่ง เรือไชย เรือพระที่นั่งศรี เรือพระที่นั่งกราบ เรือรูปสัตว์เหราทั้งปวง แลเรือข้าราชการทุกตำแหน่ง ฝ่ายพระบรมมหาราชวังแลพระบวรราชวัง จัดขะบวนเป็นขะบวน ๆ แห่พระพุทธรูป ทอดลงมาแต่วัดเขียนตลาดแก้วขะบวนหนึ่งขะบวนเสด็จพระราชดำเนิน ในพระบรมมหาราชวังขะบวนหนึ่งขะบวนเสด็จพระราชดำเนินในพระบวรราชวังขะบวนหนึ่ง แล้วให้บอกบุญป่าวร้องพระราชาคณะถานานุกรมเจ้าอธิการ แลลูกค้าวานิชราษฎรในกรุงเทพมหานคร บรรดาที่มีเรือพายแลกำลังผู้พายจะไปได้ ให้แต่งเครื่องสักการบูชาตั้งแลธงปักในลำเรือ ไปแห่รับพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกตามศรัทธา ครั้นเมื่อพระพุทธปฏิมากร เจ้าพนักงานไปรับมาแต่เมืองสระบุรีถึงวัดเขียนตลาดแก้ว ทันในวันกำหนดพยุหยาตราใหญ่ไปรับแล้วนั้น เจ้าพนักงานก็เชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก ขึ้นประดิษฐานบนพานทองใหญ่แล้วเชิญขึ้นตั้งบนบัลลังก์บุษบกพิมาน ในเรือกิ่งไกรแก้วจักรรัตน์ เป็นเรือพระที่นั่งใหญ่ประดับไปด้วยเครื่องพระอภิรมย์หักทองขวางอย่างเอก มีพานพุ่มแลเชิงเทียนทอง ตั้งบูชาในชั้นเก็ดพระที่นั่งบุษบกนั้น แลเรือไชยอื่นก็มีเครื่องสูงแลเครื่องสักการบูชา ตั้งบนพระที่นั่งบุษบกพิมานทุกลาแวดล้อมเป็นบริวารมีแตรสังข์อยู่ในท้ายเรือกิ่งเรือไชยเป็นที่ให้สัญญา กลองชะนะในเรือคู่ชักแลเรือดั้งเป็นลำดับมา พร้อมทั้งพิณพาทย์มโหรีดุริยางค์ดนตรีต่าง ๆ ทุกลำ พลพายเรือขะบวนแห่พระพุทธรูปทั้งเรือนำ แลเรือตามสวนสอดสวมเสื้อสีงามต่างกัน เจ้าพนักงานรายตีนตอง แลนักสาตรสำรับเรือกิ่งเรือไชยทุกลำนุ่งสมปักษ์ลายสอดสวมเสื้อครุย แลพอกเกี้ยวตามอย่างธรรมเนียมพยุหยาตราใหญ่ ทอดไว้คอยรับเสด็จพระราชดำเนิน ณตำบลวัดเขียนตลาดแก้วแขวงกรุงเทพมหานครกับเมืองนนทบุรีต่อกัน ครั้นได้เวลาจึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระเลิศเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรือพระที่นั่งกราบดาดสีลายทอง เสด็จพระราชดำเนินโดยขะบวนมีเรือดั้งตามตำแหน่ง เรือตำรวจนำแลตามเรือประตูหน้าประตูหลัง แลเรืออาสากลองนำพร้อมอย่างเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกฐิน แลขะบวนเสด็จพระราชดำเนินพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวร ฯ ก็จัดไปพร้อมตามตำแหน่งเหมือนกัน พระราชวงศานุวงศ์แลเสนาบดีข้าทูลละอองธุลีพระบาทก็โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือกราบ ตามบรรดาศักดิ์ทั้งสิ้นพร้อมทั้งเรือโขมดยาพระราชาคณะ แลเรือต่าง ๆ ของถานานุกรมเปรียญเจ้าอธิการเจ้าคณะแลเรือต่าง ๆ ของราษฎรขึ้นไปรับถึงตำบลตลาดแก้วพร้อมกัน ครั้งนั้นเรือขบวนแลเรืออื่นแน่นนันเต็มไปทั้งแม่น้ำ ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงขบวนพระพุทธรูปทอดอยู่ ก็ให้ประทับเรือพระที่นั่งเข้าขนานกับเรือพระที่นั่งกิ่งไกรแก้วจักรรัตน์ซึ่งทรงพระพุทธรูปอยู่นั้น แล้วทรงถวายนมัสการพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก ทรงจุดเทียนทองธูปกระแจะหอม แล้วทรงระลึกพระพุทธคุณอุทิศเป็นพุทธบู ชาแล้วตั้งบนเก็ดหน้าพระที่นั่งบุษบกพิมานซึ่งทรงพระพุทธรูปอยู่ แล้วมีพระราชโองการดำรัสถามเจ้าพนักงานว่า พระพุทธรูปแก้วผลึกองค์นี้เมื่ออยู่เมืองลาวมีเครื่องประดับประดาเป็นอย่างไร เจ้าพนักงานกราบทูลว่ามีปลอกทองคำประดับด้วยแก้วต่าง ๆ รัดทับเกษตรอยู่โดยรอบกับเทริดอย่างลาวแลเครื่องประดับทองคำบ้าง ได้ตามเสด็จพระพุทธรูปมาด้วยจึ่งมีพระราชโองการดำรัสให้เจ้าพนักงานนำเครื่องประดับเดิมออกประดับเข้าในองค์พระปฏิมากรถวายทอดพระเนตร ครั้นทอดพระเนตรแล้วทรงพระราชดำริว่า เครื่องประดับนั้นเป็นฝีมือลาวรุงรังนัก เมื่อประดับอยู่ในองค์พระพุทธรูปแห่ลงไปกำบังเนื้อแก้วเป็นของวิเศษเสีย หางามสมควรไม่ ให้เปลื้องเครื่องตั้งไว้แต่พระองค์เปล่าเห็นเนื้อแก้วปลอดโปร่งตลอดงามดีกว่า ครั้นทรงมนัส การบูชาแลทอดพระเนตรแล้ว ก็ให้ปละเรือพระที่นั่งออกตั้งขะบวนแห่พระพุทธรูป ลงมาในกลางแม่น้ำลำเจ้าพระยาขะบวนเสด็จในพระบรมมหาราชวัง กระหนาบขะบวนแห่พระพุทธรูปมาโดยฝั่งตะวันออก ขะบวนเสด็จพระราชดำเนินฝ่ายพระราชวังบวร ฯ กระหนาบขะบวนแห่พระพุทธรูปมาโดยฝั่งตะวันตก ครั้นถึงหน้าท่าราชวรดิษฐ์แล้ว ให้ประทับเรือพระที่นั่งกิ่งไกรแก้วจักรรัตน์เข้ากับแพขะบวนซึ่งผูกแล้วทอดสมอไว้กลางแม่น้ำ เพื่อจะให้ราษฎรได้นมัสการทั่วกัน บรรดาเรือไชยเรือศรีเหรารูปสัตว์ในขะบวนแห่พระพุทธรูปนั้น ก็ให้จอดกับบวบซึ่งทอดไว้เรียงรายแวดล้อมเป็นบริวารเรือพระที่นั่งกิ่งไกรแก้วจักรรัตน์ เหนือน้ำบ้างใต้น้ำบ้างพร้อมทั้งเครื่องสูงแลเครื่องสักการบูชา เรือเหราเรือรูปสัตว์ซึ่งมีปืนหน้าเรือก็ให้ทอดไว้ เป็นเรือจุกช่องล้อมวงด้านเหนือน้ำด้านท้ายน้ำ มีคนเฝ้าประจำรักษาอยู่ทุกลำ แลที่บนบวบข้างเรือพระที่นั่งกิ่งไกรแก้วจักรรัตน์ มีราวเทียนกระถางธูป ตั้งไว้สำหรับรับเทียนรับธูปดอกไม้เครื่องสักการบูชา โปรดให้พระสงฆ์สามเณรแลราษฎรลงเรือเข้าไปนมัสการใกล้ ๆ ตามปรารถนา แล้วให้มีงานมหรสพโขนหุ่นละครมอญรำต่าง ๆ ในโรงบนแพบวบทอดรายอยู่เหนือน้ำใต้น้ำบ้างสามวัน มีดอกไม้เพลิงในเรือดอกไม้ ในกลางคืนด้วยทั้งสามวัน มีละครข้างในที่โรงเรือริมที่ประทับท่าน้ำด้วยทั้งสามวัน ตั้งแต่วันขะบวนแห่มาถึง มีพระราชโองการโปรดให้อาราธนาพระราชาคณะ มาสวดพระพุทธมนต์ ที่พระที่นั่งประทับริมน้ำเวลาบ่ายเวลาเช้าพระราชทานบิณฑบาตรทานแลไทยธรรมโดยสมควรแก่พระสงฆ์มีประมาณพอสมควรแก่ที่บนพระที่นั่งที่ประทับริมน้ำนั้น ผลัดเปลี่ยนต่อไปทั้งสามเวลา ครั้นการฉลองในน้ำเสร็จแล้ว มีพระราชโองการให้เชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วขึ้นบกโดยท่าราชวรดิษฐ์ แล้วเชิญขึ้นพระยานุมาศ แวดล้อมด้วยขุนนางคู่เคียงอินทร์พรหม และเครื่องพระภิรมย์เอกหน้าหลัง แตรสังข์กลองชะนะธงชายธงฉานแห่ขึ้นจากท่าราชวรดิษฐ์ เข้าในพระบรมมหาราชวัง โดยประตูรัตนพิศาลมาทางหน้าศาลาลูกขุนใน แล้วแห่วงไปโดยถนนริมกำแพง ข้างวัดพระศรีรัตนศาสนาดารามด้านเหนือ วงไปจนถึงประตูหน้าพระอุโบสถ แล้วเชิญเข้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประดิษฐานไว้ในพานทองตั้งอยู่บนพระแท่นทอง แลมีเครื่องนมัสการทองสำรับใหญ่ตั้งบูชาในเบื้องพระพักตร์พระพุทธปฏิมากร แล้วโปรดให้พระราชวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน มาทำสักการบูชาตามปรารถนาเมื่อเวลาแห่พระพุทธปฏิมากรขึ้นมานั้น เสด็จประทับอยู่ที่พลับพลาโรงละครด้านตะวันตกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้มีละครข้างในรับเสด็จพระพุทธปฏิมากรเมื่อเวลาแห่นั้นด้วย ตั้งแต่วันนั้นมาโปรดให้อาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะ ถานานุกรมเปรียญ มีประมาณโดยสมควรแก่ฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มาสวดพระพุทธมนต์เวลาบ่าย เวลาเช้าขึ้นพระราชทานบิณฑบาตรทานเลี้ยงพระสงฆ์ แล้วพระราชทานไทยธรรมโดยสมควร ผลัดเปลี่ยนพระสงฆ์ไปทั้งสามวัน เวลาบ่ายก่อนพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ แลในวันสุดนั้นเจ้าพนักงานได้ตั้งบายศรีเงินบายศรีทองบายศรีแก้ว แลเสนาบดีมีสกุลเป็นเชื้อพราหมณ์แลเชื้อเจ้านายโบราณ เบิกแว่นเวียนเทียนรอบพระอุโบสถทั้งสามวัน ในวันทั้งสามนี้นับเป็นสี่ กับทั้งวันเชิญพระพุทธปฏิมาขึ้นแห่เข้าในพระราชวังนั้น มีละครข้างในที่โรงละครใหญ่ แลมีการเล่นต่าง ๆ บนบกแลดอกไม้เพลิงเวลากลางคืน เป็นการสมโภชด้วยทั้ง ๔ วัน ๔ คืน รวมการสมโภชพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกเมื่อแรกมาถึงเป็นเจ็ดวันเจ็ดคืน ในงานสี่วันนั้นก็ดี พ้นวันงานวันนั้นไปหลายวันก็ดี พระราชวงศ์ศานุวงศ์ แลข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลพระภิกษุสงฆ์สามเณรราษฎรเป็นอันมาก มานมัสการพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกเนือง ๆ ไปหลายวันหลายเวลา ครั้นชนนมัสการเบาบางช้าไปแล้ว จึ่งมีพระราชโองการให้เชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกนั้นไปประทับไว้ในโรงที่ประชุมช่างอยู่ข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร ให้ช่างจัดเนื้อแก้วผลึกที่เหมือนกับเนื้อแก้วในพระองค์พระพุทธรูป มาเจียรไนเป็นรูปปลายพระกรรณที่ลิอยู่นั้นต่อติดให้บริบูรณ์แล้ว ให้ขัดเกลาชักเงาชำระพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก ให้เกลี้ยงเกลามีเงาขึ้นสนิทเสมอกัน แล้วทรงพระราชดำริพระราชทานอย่างให้ช่างปั้นฐาน มีหน้ากระดานชั้นสิงห์บัวหงาย แลหน้ากระดานบนลวดทับหลัง ย่อเก็ดเป็นหลั่น แลมีหน้ากระดานท้องไม้ชั้นรองรับบัวกลุ่มหุ้มรับทับเกษตรแก้วต่อองค์พระพุทธปฏิมา โดยทรวดทรงสัณฐานที่พึงพอพระราชหฤทัยแล้ว ก็ให้หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ แต่งให้เกลี้ยงเกลาสนิทแล้วหุ้มด้วยทองคำทำให้เกลี้ยงกวดขึ้นเงางาม ด้วยชอบพระราชหฤทัย ว่าเนื้อแก้วเกลี้ยงใสสะอาด ติดต่อกับเครื่องทองอันเกลี้ยงนั้นงามยิ่งนัก เพราะพระราชประสงค์ครั้งนั้น จะใคร่ให้เนื้อแก้วอันบริสุทธิ์ใสสะอาด ทึบทั้งแท่งนั้นปรากฏตลอดงามดี แต่ยอดพระรัศมีแลพระศกยังไม่มีต้องอย่างแบบแผนพระพุทธรูป จึ่งมีพระราชโองการให้ช่างแผ่ทองคำหุ้มส่วนพระเศียรที่มีพระศก แล้วดุนเป็นเม็ดพระศกเต็มตามที่แล้วต่อกับพระรัศมีลงยาราชาวดี มีเพ็ชรประดับใจกลาง หน้าหลังแลกลีบต้นพระรัศมี เมื่อเครื่องทองพระศกพระรัศมีเสร็จแล้วถวายสวมลง พื้นทองแลช่องดุนพระศก ก็มาปรากฏข้างพระพักตร์เป็นรวงผึ้งไป พระพักตร์ก็เห็นพรรณเหลืองคล้ำไม่ผ่องใสเหมือนสีพระองค์ จึ่งมีพระราชโองการให้ชุมนุมนายช่างที่มีสติปัญญาปรึกษากันคิดแก้ไข จึ่งปรึกษาตกลงกัน เอาเนื้อเงินไล่ขาวบริสุทธิหุ้มลงเสียก่อนชั้นหนึ่ง แล้วขัดข้างในให้เกลี้ยงชักเงางามแล้ว จึ่งสวมพระศกทองคำลงชั้นนอกแผ่นเงิน ก็เห็นพระพักตร์ใสสะอาดขาวนวลดีเสมอกับพระองค์ แล้วมีพระราชโองการให้ทำพระสุวรรณกรัณฑ์น้อยพอจะสอดลงในช่องบนพระจุฬาธาตุ ได้เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุไว้ให้สมควรเป็นอุดมปูชนียวัตถุ แลให้ทำตัวทองน้อยเท่ากับช่องพระเนตร แล้วลงยาราชาวดีขาวดำ ตามที่พระเนตรขาวดำ แล้วฝังให้แนบพระเนตรให้งามดีขึ้น เพราะแต่ก่อนนั้นช่องพระเนตรเป็นแต่ขุม แล้วแลแต้มหมึกแลฝุ่นเป็นขาวดำเท่านั้น ไม่มีผิวเป็นมันมั่นคงเหมือนผิวยาราชาวดี แลมีพระราชโองการให้ช่างทองทำฉัตรทองคำ ๕ ชั้น ๆ ต้นเท่าส่วนพระอังศา ลงยาราชาวดีประดับพลอยมีใบโพธิ์แก้วห้อยเป็นเครื่องประดับ ปลายคันฉัตรปักลงไปในสายยูเนื่องกับฐาน เบื้องพระปฤษฏางค์พระพุทธปฏิมากร แลให้ทำสันถัดห้อยหน้าฐานพระพุทธปฏิมา ด้วยทองคำจำหลักลายพื้นเป็นทรงเข้าบินมีชายกรวยเชิงงอนแล้วลงยาราชาวดีประดับพลอยเพ็ชร ครั้นการสำเร็จจึ่งให้เชิญไปประดิษฐานในหอพระเทพาติเทพย์พิมาน ซึ่งประดิษฐานอยู่ข้างบูรพทิศ ของพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่มนัสการ ข้างในบรรจุพระบรมธาตุไว้สามพระองค์ ในพระสุวรรณกรัณฑ์ซึ่งมีอยู่ในช่องบนพระจุฬาธาตุ แล้วทรงสักการบูชานมัสการวันละสองเวลาเช้าค่ำมิได้ขาด แลการซึ่งได้ทรงบริจาค แลพระราชอุสาหในที่ประดับพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก ครั้งเป็นประถมเพียงนี้ด้วยพระราชหฤทัยรีบร้อน จะให้การแล้วเร็วทันตามพระราชประสงค์ จะตั้งไว้ทอดพระเนตรนมัสการไปเนือง ๆ ทรงพระปฏิญญาณว่าจะค่อยทรงพระราชดำริการที่ควร แล้วจึงจะให้ทำแก้ไขเพิ่มเติมต่อภายหลังตั้งแต่พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกมาไว้ในพระนคร แลทรงสักการบูชาดังนี้ ก็ดูประหนึ่งว่าจะเห็นผลเป็นทิฎฐธรรมเวทนีย์มีโชคไชยพระเดชานุภาพพระบารมีจำเริญมากขึ้นไป ในปีวอกจัตวาศกศักราช ๑๑๗๔ ตรงกับปีมีคฤสตศักราช ๑๘๑๒ ซึ่งเป็นแต่ปีมแมตรีศกนั้นมา ก็ได้พระยาเศวตกุญชรช้างเผือกพรายมาประดับพระบารมีเป็นศรีพระนครครั้นล่วงข้ามสามปีไปถึงปีชวดอัฏฐศกศักราช ๑๑๗๘ ตรงกับปีมีคฤสตศักราช ๑๘๑๖ แลปีฉลูนพศกศักราช ๑๑๗๙ ตรงกับปีคฤสตศักราช ๑๘๑๗ เป็นปีที่ ๘ ที่ ๙ ในรัชชกาลอันนั้น ก็ได้พระยาเศวตไอยราแลพระยาเศวตคชลักษณ์ เป็นช้างเผือกพรายมีลักษณในกาย เหมือนกันเป็นอันเดียวกับพระยาเศวตกุญชร มาสู่พระนครเป็นมิ่งมงคลสวัสดิ์ศรีพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งพระเทพกุญชรช้างเผือกพังเก่า ซึ่งมาสู่พระนครแต่ปีระกาตรีศกศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับปีมีคฤสตศักราช ๑๘๐๑ ก่อนแต่เวลาเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ๘ ปีนั้น ได้ตั้งโรงเรียงกันเป็นแถวไปในระวางพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท กับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีแต่ช้างเผือกเอกอุดมทั้งสี่ ไม่มีช้างอย่างอื่นคั่นอนึ่งในปีจอฉศกต่อกันกับปีกุนสัปตศก เป็นปีที่ ๖ ที่ ๗ แห่งรัชชกาลอันนั้น มีคนครอบครัวพะม่ารามัญเป็นอันมากกว่าสามหมื่นเศษ ซึ่งเป็นชาวเมืองเมาะตะมะ แลเมืองใกล้เคียงเป็นข้าแผ่นดินเจ้าอังวะ เมื่อไม่มีใคร ฝ่ายไทยไปเกลี้ยกล่อมก็พร้อมใจกันสวามิภักดิ์ อพยพยกครอบครัวเข้ามาขอพึ่งพระบารมียอมเป็นข้าแผ่นดิน เมื่ออ้ายพะม่าข้าศึกคิดอ่านไปสมคบเมืองญวน ชักชวนให้คิดร้ายต่อกรุงเทพมหานครพะม่าที่ไปนั้นก็มีผู้จับได้นำตัวเข้ามาถวาย ทำลายความประสงค์ศัตรูเสียได้ เมื่อผู้ครองฝ่ายญวนทราบความไปแล้ว แต่งทูตให้โดย สารจ้างกำปั่นลูกค้าไปเมืองพะม่า แล้วกลับรับเอาทูตพะม่ามาถึงเมืองเกาะหมาก กำปั่นลำนั้นก็เกิดเพลิงไหม้ทูตญวนทูตพะม่าแตกกระจัดกระจายกันไป ข้าศึกภายในคือ ผู้ใดคิดการลอบลักกระทำผิด ๆ ไม่สัตย์ซื่อตรงต่อพระเดชพระคุณ ความก็ปรากฏอื้ออึงออกเอง จนผู้ผิดนั้นต้องอันตรายไปต่าง ๆ เห็นประจักษ์เป็นหลายเรื่องหลายราย ลูกค้าวานิชต่างประเทศที่ไม่เคยเข้ามาค้าขายก็เข้ามา มีเครื่องบรรณาการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอพึ่งพระบารมีไปมาค้าขายมากมายหลายพวก จนสมบัติในพระนครจำเริญขึ้นกว่าแต่ก่อน ตั้งแต่พระพุทธปฏิมากรแก้วผลึกพระองค์นี้มาอยู่ในพระนคร เมื่อมีการพระราชพิธีใหญ่ ๆ คือเฉลิมพระที่นั่งใหม่ลงสรงโสกันต์ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์สำหรับปี แลพระราชพิธีพิรุณสาตร แลอาพาธวินาศอุทโกสารนะสำหรับการเมื่ออุบัติมีมา ก็มีพระราชโองการให้เชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วผลึก ไปตั้งบนแท่นพระมณฑล ทำสักการบูชาเสร็จการพระราชพิธีแลเชิญไปเป็นประธาน ในการที่มีขบวนแห่เรือแลบกตามนิยม การพระราชพิธีนั้น ๆ ทุกครั้ง อนึ่งเวลาใดว่าง ๆ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยสำราญพระราชหฤทัย ก็มีพระราชโองการให้เชิญพระพุทธปฏิมากรแก้ว ไปสมโภชทำสักการบูชาในที่นั้น ๆ เนือง ๆ นับครั้งไม่ถ้วน