ข้ามไปเนื้อหา

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช (2491)

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช
ตำนาน
เมืองนครศรีธรรมราช
พิมพ์แจกในงานฌาปณกิจศพ
นายอาจิณ ลิมปิชาติ
ณวัดมงกุฎกษัตริยาราม
วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๑

คำนำ

ในการฌาปนกิจศพนายอาจิณ ลิมปิชาติ ณวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 27 กันยายน 2491 นางจือ ลิมปิชาติ ผู้มารดา และพลตำรวจโท หลวงชาติตระการโกศล ผู้พี่ เป็นเจ้าภาพ บอกความประสงค์มายังกรมศิลปากรขอเรื่องหนังสือสำหรับพิมพ์แจกเป็นมิตรพลีแก่ผู้ที่ไปในงานนี้สักเรื่องหนึ่ง และใคร่จะได้เรื่องที่เนื่องด้วยจังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะเป็นชาติภูมิของผู้วายชนม์ กรมศิลปากรเห็นว่า ถ้าพิมพ์เรื่องตำนานเมืองนครศรีธรรมราชจะเหมาะ ด้วยเป็นเรื่องเก่า ต้นฉะบับเดิมเป็นสมุดไทยชำรุดคร่ำคร่า เขียนด้วยเส้นหมึกดำ เป็นอักษรไทยย่อ ลบเลือนหลายแห่ง เคยตีพิมพ์ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สู้แพร่หลาย หากตีพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในประวัติศาสตร์ และเป็นการช่วยรักษาเรื่องราวสมัยโบราณอันเป็นสมบัติของชาติไว้ให้ยั่งยืนสืบไป จึงแนะนำให้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ซึ่งเจ้าภาพก็เห็นชอบด้วย และขอรับฉะบับไปพิมพ์ดังปรากฏในสมุดนี้

เรื่องตำนานเมืองนครศรีธรรมราชนี้ ถ้าอ่านกันธรรมดา ก็อาจนึกว่า เป็นนิยายนิทานก็ได้ แต่ถ้าอ่านด้วยพินิจพิเคราะห์ จะเห็นว่า ไม่ใช่นิทานธรรมดา คงเป็นเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ครั้งโบราณ มีผู้เล่าสืบต่อปากคำกันมา ที่มีผู้จดปะติดปะต่อไว้ได้เท่านี้ ก็น่าจะขอบใจผู้จดบันทึกอย่างมาก เพราะถ้าไม่จดเอาไว้ ป่านนี้เรื่องก็คงสูญเสียแล้ว

ข้อที่ว่า เกี่ยวกับเรื่องเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยโบราณ คือ ตอนที่ว่า พระพุทธสิหิงค์เสด็จมาจากเมืองลังกา ก็ตรงกับตำนานพระพุทธสิหิงค์ และมีตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมืองอู่ทองกับเมืองนครศรีธรรมราชเป็นไปมตรีกัน คือ ตอนที่พระเจ้าอู่ทองกับพระเจ้าศรีธรรมโศกราชมาพบกัน และแบ่งเขตต์แดนเมืองทั้งสอง โดยพระเจ้าอู่ทองชี้ว่า ตั้งแต่เทียมแท่นศิลาไป ฝ่ายใต้เป็นดินแดนของพระเจ้านครศรีธรรมราช ส่วนทางฝ่ายทิศเหนือนั้นเป็นแดนของพระองค์ ดั่งนี้ และมีอีกตอนหนึ่งว่า หลานของพระเจ้าศรีธรรมโศกราชแยกออกไปตั้งอยู่ณเมืองเพ็ชรบุรี จึงทำให้เข้าใจว่า เขตต์แดนเมืองอู่ทองกับเมืองนครศรีธรรมราชคงจะต่อกันที่เมืองเพ็ชรบุรี เช่นนี้เป็นต้น และยังมีข้อความอื่น ๆ ที่เมื่ออ่านโดยพินิจพิเคราะห์แล้ว อาจจะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาก

กรมศิลปากรขออนุโมทนาในกุศลสาธารณประโยชน์ซึงเจ้าภาพพิมพ์หนังสือนี้แจกให้แพร่หลาย และหวังใจว่า หนังสือนี้จะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้รับไปอ่านตามสมควร

  • กรมศิลปากร
  • 22 กันยายน 2491

อาจิณ ลิมปิชาติ เป็นบุตรขุนสุมนสุขภาร และคุณนายจือ สุมนสุขภาร เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ณบ้านตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อเยาว์วัยอยู่ ท่านบิดาได้ให้เข้าอบรมศึกษาในสำนักเรียนของโรงเรียนมิชันแนรี่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในต้นปี ๒๔๗๖ ได้เข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ในจังหวัดพระนคร ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้ย้ายจากโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์มาเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย แล้วเรียนอยู่จนสำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์ในโรงเรียนนี้เมื่อปี ๒๔๘๓ และในปีเดียวกันนี้เอง ได้ไปศึกษาในทางภาษาต่างประเทศอีกณเมืองปีนัง ได้ศึกษาอยู่ในที่นี้จนกระทั่งเกิดสงครามขึ้น จึงได้ชะงักการเรียน แล้วกลับมาอยู่ณบ้านเดิมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ในระหว่างเวลาที่กลับมาอยู่บ้านเดิมในระยะนี้ อาจิณได้มีโอกาสช่วยเหลือในกิจการค้าของคุณนายจือผู้เป็นมารดาอยู่เสมอ จนกระทั่งในต้นปี ๒๔๙๑ นี้ คุณนายจือผู้เป็นมารดาได้ดำริที่จะให้อาจิณไปประเทศออสเตรเลียเพื่อศึกษาและหาความชำนาญในด้านการค้าและการอุสาหกรรมสำหรับมาดำเนินงานของท่านในภายหน้าต่อไป

อาจิณจึงได้ขึ้นมากรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ปีนี้ เพื่อจัดการขอหนังสือเดินทางและเตรียมสิ่งที่จำเป็นสำหรับต้องใช้ในการเดินทางต่อไป ในการจากจังหวัดนครศรีอธรรมราชของอาจิณเพื่อเตรียมตัวครั้งนี้ อาจิณได้ร่ำลาคุณแม่และญติพี่น้องตลอดจนเพื่อนฝูงทั้งหลายเพื่อไปออสเตรเลียเลยทีเดียว เพราะเข้าใจว่า เมื่อได้รับหนังสือเดินทางแล้ว ก็จะได้เดินทางไปเลย ไม่ย้อนกลับไปนครศรีธรรมราชอีก.

ในระหว่างที่อาจิณกำลังรอรับหนังสือเดินทางอยู่นี้ ในวันคืนวันที่ ๑๑ กันยายน ตอนค่ำ อาจิณได้เริ่มป่วยขึ้นอย่างกระทันหัน คุณหลวงชาติฯ พี่ชาย ได้เชิญแพทย์มาตรวจอาการ แพทย์ได้แนะนำให้ส่งโรงพยาบาล จึงได้รีบจัดส่งโรงพยาบาลศิริราชในเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว แพทย์ก็ได้จัดการพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ แต่ก็ไม่สามารถจะช่วยชีวิตอาจิณไว้ได้ เพราะปรากฏว่า เส้นโลหิตในสมองของอาจิณแตก และถึงแก่กรรมในเวลา ๑๗.๕๐ น. ของวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๙๑

ตลอดเวลาที่อาจิณมีชีวิตอยู่ ชีวิตของอาจิณไม่เคยมีความทุกข์ เพราะอาจิณเป็นที่รักใคร่ของญาติพี่น้องทุกคน และโดยเฉพาะเป็นบุตรชายคนเล็กของคุณแม่ จึงทำให้คุณแม่มีความรักและกรุณาเป็นพิเศษ สำหรับในหมู่มิตรสหาย อาจิณเป็นที่รักใคร่ของทุกคนในบรรดาเพื่อนฝูง ทั้งในรุ่นใหญ่กว่าและในรุ่นเดียวกัน.

ในการที่อาจิณอันเป็นรักใคร่ของคุณแม่, ญาติ, พี่น้อง, และมิตรสหายทุกคน. มาด่วนสิ้นชีวิตลงอย่างกระทันหันโดยมิได้คาดฝัน ทั้ง ๆ ที่อยู่ในวัยที่ยังไม่สมควรเช่นนี้ จึงนำความเศร้าและสลดใจอย่างสุดซึ่งมาสู่ญาติและมิตรสหายตลอดจนผู้ที่คุ้นเคยกับอาจิณทุกคน.

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

อาทิเดิมเมืองหลวงชื่อเมืองนครบุรี พญาเสวยราชสมบัติชื่อท้าวโคศรีหราช ผู้อัครมเหษีชื่อเทวี มีพระราชบุตรีคนหนึ่งชื่อเหมมาลา ยังมีเมืองแห่งหนึ่งฝ่ายทักษิณชื่อเมืองขันบุรี พญาผู้เสวยราชย์ชื่อท้าวอังกุตราช ผู้เป็นอัครมเหสีชื่อนางจันทเทวี จึงท้าวอังกุตราชก็มารบด้วยท้าวโคศรีหราชชิงพระทันตธาตุ จึงพญาโคศรีหราชก็ให้นางเหมมาลาแลเจ้าธน[1] กุมาร จึงเจ้าธนกุมารเอาพระทันตธาตุไปไว้ในเมืองลังกาทวีปโพ้น จึงนางเหมมาลาเอาพระทันตธาตุห่อเกล้าชูดาทารออกจากเมืองลงสเภาจะไปลังกาทวีป สเภาอับปาง เจ้าสองพี่น้องเดินด้นดงพงไพร มาพบสบละหาดซายแก้วทะเลรอบ จึงนางเหมมาลา เจ้าธนกุมาร เอาพระทันตธาตุฝังไว้ณหาดซายนั้น แล้วนางเหมมาลา เจ้าธนกุมาร ก็เข้าเร้นอยู่ที่ลับ ยังมีพระมหาเถรพรหมเทพองค์หนึ่งเธอลุแก่อรหันต์ เหาะมานมัสการพระทันตธาตุ จึงนางเหมมาลาแลเจ้าธนกุมารก็ถามพระมหาเถรพรหมเทพว่า เจ้ามาแห่งใด มาไหว้พระทันตธาตุ จึงพระมหาเถรก็ว่า เรานี้ลูกพระตถาคต เราชื่อมหาเถรพรหมเทพ ๆ ก็ว่า เรานี้เห็นพระทันตธาตุเสด็จมา ถึงเรามานมัสการแล พระมหาเถรก็ถามนางเหมมาลา เจ้าธนกุมาร ๆ ก็บอกว่า พญาอังกุตราชมารบด้วยพญาโคศรีหราช จะชิงเอาพระทันตธาตุ พญาอังกุตราชก็ขาดหัวช้างแก่พญาโคศรีหราช ๆ ก็ให้เอาพระทันตธาตุไปไว้ในเมืองลังกาทวีปโพ้น จึงพระมหาเถรว่า รับพระทันตธาตุไปยากง่ายประการใดให้รำลึกถึงเราเถิด แลพระมหาเถรเสด็จไป นางเหมมาลาก็ยกมือไหว้ แล้วเจ้าธนกุมารก็ยกมือไหว้ลาพระมหาเถร แล้วก็เอาพระทันตธาตุห่อเกล้าชฎาท่าน จะไปลังกาทวีป เมือเถิงท่าตรัง ก็ขอโดยสารลงสภาท่านไป ครั้งเถิงกลางมหาสมุทร ก็เกิดอัศจรรย์นักหนา ใช้สเภาไปมิได้ จึงนายสเภา กรมการ คนงาน ตริกันว่า เอานางเหมมาลาแลเจ้าธนกุมารฆ่าเสีย จึงนางเหมมาลา เจ้าธนกุมาร ก็รำลึกเถิงพระมหาเถรพรหมเทพ ๆ ก็นิมิตเป็นพญาครุฑราชใหญ่ประมาณ ๓๐๐๐ วาเสด็จมา จึง . . . . . . . . . . (ต้นฉะบับลบ) . . . . . . . . . . จึงพระมหาเถรว่า . . . . . . . . . . ด้วยนาคราชทั้งหลาย ขึ้นมาถวายบังคมแก่พระทันตธาตุไส จึงพระมหาเถรพรหมเทพธก็ทำนายในกาลนั้นว่า สถานณหาดชายทะเลรอบนั้น ในถาอนาคตกาลไปเบื้องหน้า ยังมีพญาองค์หนึ่งชื่อพญาศรีธรรมโศกราชจะมาตั้งสถานณหาดซายทะเลรอบนั้นเป็นเมืองใหญ่ชื่อเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร แลพญาองค์นั้นจะก่อพระเจดีย์องค์หนึ่งใหญ่ เป็นพระมหาธาตุ สูง ๑๗ วา โดยพุทธทำนายนี้แล จึงนางเหมมาลาเจ้าธนกุมาร ไหว้พระมหาเถรว่า เจ้ากูมีพระคุณจริง[2] แล้วใช้สเภาไปได้ จึงพระมหาเถรก็เสด็จไปแล

อาทิเดิมเมืองหลวงยังมีพญานรบดีราชานั้นได้เสวยราชย์สุขเกษมเปรมประชา แต่นั้นมามีลูกชาย ๒ คน ๆ หนึ่งชื่อพญาเจตราชท้าวนั้นอายุเธอได้ ๑๐๐ ปี ถัดนั้นมาชื่อพญาเสนราชสมภารเหลือตราบุญหนักศักดิ์ใหญ่พ้นคณนา เมืองนั้นมีกำแพง ๓ ชั้น อ้อม ๓ วันจึงรอบ ก็มีรูปนาคราช ๗ หัว ๗ หางประกอบบนประตู มีเรือนหลวง มีพระธาตุ ๓๐ ยอด ๆ ตัมซ้ายขวากลางนั้นสูงสุดหมอก พระพุทธรูป ๔๐๐ องค์ ๆ หนึ่งมิอาจจะคณนาได้ ปีมะเมียก็เกิดไข้ยมบนทั้งพวกพลครุวนายักษ์จักกินคนตายวินาศ ก็หนีไข้ยมบนรอด พญานั้นใจบุญ ยังมีบาคู ๔ คนชวนพญาตริริกัน จึงพญาก็ฟังบาคูทั้ง ๔ นั้นให้แต่งสเภาแลเรือลงพากันหนีมาเขินหาดซายแก้วทะเลรอบตั้งอยู่ อยู่มายังมีนายพราน ๘ คนไล่เนื้อ นายพราน ๘ คนก็ด้นดงพงไพรตลอดมาตะวันออกได้ ๗ วัน มาพบหาดใหญ่กว้างรีตามริมทะเลที่ ๆ รอบแล นายพรานคนหนึ่งชื่อนายพรหมสุริยได้แก้วอันหนึ่งเท่าลูกหมากสง แลนายพรานก็ดั้งดงทั้ง ๘ คนไปเถิงพญา จึงนายพรายถวายแก้วนั้นแก่พญา ๆ ก็ให้ตั้งแก้วไว้ในท้องพระโรง แลพญาตริริกันด้วยบาคูทั้ง ๔ แล้วก็ให้แต่งสเภาคน ๑๐๐ รู้คุณพระพุทธเจ้าแลก็ให้ไปขอดูในเมืองลังกา จึงบาคูทั้ง ๔ คนก็แต่งที่ภูมิลำเนาทั้ง ๒ ฝ่ายโพ้น แล้วพญาก็ใช้ให้บาคูทั้ง ๔ คนแลคน ๑๐๐ นั้นให้ใช้สเภาไปลังกาทวีปโพ้น จึงพญาลังกาให้เกาะกุมบาคูทั้ง ๔ คนและคน ๑๐๐ นั้นไว้ จึงบาคูผู้หนึ่งชื่อพงศาอราชก็เอาที่ภูมิลำเนาจิริจาด้วยพญาลังกา ๆ ก็ยินดีนักหนา แลพญาลังกาก็ถามพงศาอราชว่า ยังมีเจ้าไทยฤๅหามิได้แห่งเมืองโพ้นไส เราจะให้เจ้าไทยไปแล เล่าสนทนาให้พญาฟัง เมื่อพระพุทธเจ้ายังแลสั่งสอนบุคคลทั้งหลาย พญาลังกาก็ว่า ยังมีเจ้าไทย ๒ พระองค์ ก็วิวาทกัน แลพญาลังกาขออนุโทษนั้นให้แก่พญา ๆ ก็ให้นิมนต์เจ้าไทยนั้นให้มาด้วยบาคูทั้ง ๔ นั้น จึงมหาพุทธคำเพียรก็รับนิพมนต์ แล้วมหาพุทธคำเพียรก็ว่า จะอยู่ไส จะวิวาทแก่กันนัก จึงบาคูทั้ง ๔ ก็ให้แต่งสเภาแล้วก็รับมหาพุทธคำเพียรมาเถิงพญาศรีธรรมโศกราชราชา จึงบาคูทั้ง ๔ ก็เล่าข้อต้นนั้นไปให้พญาฟัง จึงมหาพุทธคำเพียรก็เล่าสนทนาให้พญาฟังแล้ว ๆ ก็ว่าแก่บาคูทั้ง ๔ คนนั้นว่า ให้จัดเอาคนในช่องห้วยช่องเขานั้นแล พญาศรีธรรมโศกราช แลพญาพงศากษัตริย์ แลบาคู แลคนทั้งนั้น ก็ตริริกันจะตั้งเมืองแห่งหาดซายทะเลรอบโพ้น แล้วจะตั้งมฤคเจดีย์แลพระพุทธรูปไว้ให้ไหว้วันทนาให้ตำบลแห่งโพ้น ตามพุทธคำเพียรสนทนาเถิงพระทันต (ธาตุ) พระพุทธเจ้านั้นแล จะให้บาคูนำไปแห่งหาดซายทะเลรอบโพ้น จึงเกิดไข้ยมบนแก่คนทั้งหลายใหญ่น้อยตายสิ้นเป็นอันมาก จึงพญาศรีธรรมโศกราชแลพญาพงศาก็ซัดเจ้าไทย แลบาคู แลรี้พลทิ้ง . . . . . . . . . . คำสนทนาไปตั้งณโคกหาดซายทเะลรอบนั้น

เมื่อมหาศักราชได้ . . . . . . . . . . ปีนั้น พญาศรีธรรมโศกราชสร้างสถานลหาดซายนั้นเป็นกรุงเมืองชื่อเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร ผู้อรรคมเหษีชื่อนางสังคเทวี จึงพญาศรีธรรมโศกราช แลพญาพงศากษัตริย์ แลบาคู ตริริด้วยมหาพุทธเพี่ยรซึ่งจะทำอิฐปูนจะก่อพระมหาธาตุ จึงรู้ข่าวว่า พระสิหิงค์เสด็จออกแต่เมืองลังกาก็ล่องน้ำทะเลมาแล ว่า มีผีเสื้อผีพรายเงือกงูชลามพิมทองตามหลังรัศมีพระพุทธสิหิงค์ ๆ ลอยมาเถิงเรียกชื่อเกาะปีนัง แล้วก็คืนมาเห็นเกาะแก้ว เจ้าไทยนั้น . . . . . . . . . .

ยังมีนักเทศผู้หนึ่งชื่อพระราชสาร พญามัธยมเทศ พญาศรีธรรมโศกราชนั้นมีบุญมหิมานักหนา ผู้อัครมเหษีชื่อนางสนทมิตรา พญานั้นมีนางสนม ๘๔๐๐๐ ในพระราชสารนั้นว่า ให้พญาศรีธรรมโศกราชเมืองนครศรีธรรมราชก่อพระมหาธาตุองค์หนึ่งสูง ๓๗ วา พญาศรีธรรมโศกราชนั้นก่อพระมหาธาตุได้ ๘๔๐๐๐ พระองค์ พญาองค์นั้นรู้หลัก สามารถแก้บาลีด้วยเจ้าไทยแลพบดิจธรรมไซร้ พญาศรีธรรมโศกราชยินดีด้วยนักหนา เจ้าไทยก็ให้สั่งสอนบาคูให้เรียนสวดมนต์ไหว้พระทั้ง ๔ คนนั้น พญาก็ให้เร่งการพระราชพิธีสวดมนต์เขตต์คามอารามตั้งหินแลตั้งอิฐก่อฐานพระมหาธาตุเจ้านั้นตามพระราชสารตามตริกันนั้น จึงมีสารวิสัยพญาศรีธรรมโศกก็ให้มาขอพระสารีริกธาตุจะบรรจุพระมหาธาตุเจ้านั้นแล จะบรรจุพระมหาธาตุทั้ง ๘๔๐๐๐ ยอดนั้นแล พญาศรีธรรมโศกราชเมืองนครก็เป็นทุกประหรมนักหนาว่า จะคิดฉันใดแลจะได้พระสารีริกธาตุนั้น จึงพญาให้อำมาตย์เอาทองเท่าลูกฟักแขวนคอม้าป่าวทั่วทั้งเมือง ถ้าผู้ใดรู้แห่งที่สารีริกธาตุไส ก็ให้ทองแก่ผู้นั้น จึงอำมาตย์กระทำตามพญาสั่งนั้นไส

ยังมีผู้เฒ่าคนหนึ่งอายุได้ประมาณ ๑๒๐ ปีว่า เมื่อตูข้ายังน้อย พ่อตูข้ายัง พ่อตูข้านำตูเข้าไปชี้ที่พระสารีริกธาตุอยู่นั้นว่า มีผู้เอามาฝังไว้ในเมืองนครศรีธรรมราชนี้ จึงอำมาตย์เอาผู้เฒ่านั้นไปทูลแก่พญา ๆ ก็ให้ฤคูไส จึงพบพระเจดีย์ใต้ดิน มีภาพยนตร์ผัดอยู่ จะเอาขึ้นมิได้ จึงพญาก็เป็นทุกประหรมนักหนา จึงพญาก็ให้อำมาตย์เอาทองเท่าลูกฟักนั้นแขวนคอม้าป่าวว่า ผู้ใดรู้แก้ภาพยนตร์ไส ให้ทองแก่ผู้นั้น จึงอำมาตย์กระทำตามพญาสั่งไส

ยังมีกะทาชายผู้หนึ่งเข็ญใจหนักหนา กะทาชายว่า เมื่อพ่อข้ายังไส พ่อข้าไปเรียนภาพยนตร์เถิงเมืองโรมวิสัย เรียนแล้วพ่อข้าสักตำราด้วยหมึกไว้ในฝ่ามือ พ่อข้าคืนมาเถิงเมืองแล้ว เถิงเมืองโรมวิสัย จงใช้ภาพยนตร์ตามมาตัดคอพ่อข้าไป แลตำราซึ่งพ่อข้าสักไว้ในขานั้น ข้าได้เขียนไว้ตามตำรานั้นยังอยู่แก่ข้าแล จึงอำมาตย์ก็ให้เอาทองเท่าลูกฟักนั้นให้แก่กะทาชาย จึงอำมาตย์ก็นำกะทาชายมาทูลแก่พญา ๆ ก็ให้กะทาชายไปเก็บใบยาตามตำราซึ่งกะทาชายทูลนั้น จึงเก็บเอาใบยามาทอดใส่ภาพยนตร์ก็นิ่งอยู่ จึงร้อนขึ้นไปเถิงพระอินทร์ พระอินทร์ก็ให้พระวิศณุกรรม์ลงมาเอาพระสารีริกธาตุนั้นให้แก่พญา ๆ ก็ให้พระสารีริกธาตุไปแก่พญาศรีธรรมโศกราชก็บรรจุพระมหาธาตุทั้ง ๘๔๐๐๐ ยอดในเมืองมัธยมเทศโพ้นตามพระราชสารมาขอนั้น จึงพระวิศณุกรรม์ก็ช่วยพญาตกแต่งก่อพระมหาธาตุซึ่งบรรจุพระสารีริกธาตุแล้วไส จึงพระวิศณุกรรม์ก็ขึ้นไปยังพระอินทราธิราชแล้ว

จึงพญาศรีธรรมโศกราชตริริกันแล้ว ก็ให้สร้างเมืองขึ้น ๑๒ นักษัตร์ ปีชวด เมืองสาย ถือตราหนู ๑ ฉลู เมืองตานี ถือตราวัว ๑ ขาล เมืองกะลันตัน ถือตราเสือ ๑ เถาะ เมืองปะหัง ถือตรากระต่าย ๑ มะโรง เมืองไทร ถือตรางูใหญ่ ๑ มะเส็ง เมืองพัทลุง ถือตรางูเล็ก ๑ มะเมีย เมืองตรัง ถือตราม้า ๑ มะแม เมืองชุมพร ถือตราแพะ ๑ วอก เมืองบันไทยสมอ ถือตราวานร ๑ ระกา เมืองสะอุเลา ถือตราไก่ ๑ จอ เมืองตะกั่วถลาง ถือตราสุนัข ๑ กุน เมืองกระ ถือตราสุกร ๑ เมือง ๑๒ นักษัตร์หัวเมืองขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราชมหานคร แลพญาก็ก่อพระมหาธาตุสืบไปไส ไข้ห่าลงทั่วเมือง คนตาย เจ้าไทยแลนักเทศบาคูคนหนึ่งก็ตาย คนทั้งหลายก็ลงเรือนหนีไข้ร้าย จึงห่าก็ตามลงเรือพญา ๆ แลลูกเมียแลผู้คนก็พินาศพิราลัยกันหึงนาน

เมื่อศักราช ๑๑๙๖ ขวบนั้น ยังมีพญาองค์หนึ่งชื่อพญาศรีไสยณรงค์แต่ตะวันตกมาเสวยเมืองนครศรีธรรมราช ผู้เป็นอัครมเหษีชื่อ (ฉะบับขาด) . . . . . . . . . . สำเร็จแล้ว ท้าวอู่ทองยกพระหัตถ์เบื้องขวาขึ้นชี้ว่า แต่เทียมแท่นศิลาไปฝ่ายทักษิณเป็นแดนพระเจ้าศรีธรรมโศกราช แต่เทียมแท่นศิลาไปฝ่ายอุดรเป็นแดนท้าวอู่ทอง แลเดชโพธิสมภารของท้าวอู่ทอง พญาศรีธรรมโศกราช ไม้ทั้งปวงก็แหวกออกครานั้นแล ท้าวอู่ทอง พญาศรีธรรมโศกราช หลั่งน้ำทักษิโณทกอธิษฐานเป็นพระญาติพระวงศ์กันสืบไป ถ้าสิ้นบุญพญาศรีธรรมโศกราชแล้ว เธอฝากพระนางพญาศรีธรรมโศกราช แลทั้งพญาจันทรภาณุ พญาพงศ์สุราหะ ผู้น้องทั้ง ๒ ด้วย แลพญาศรีธรรมโศกราชว่าแก่ท้าวอู่ทอง ณเมืองของท่านโพ้นขัดสิ่งใดบ้างซึ่งหาไม่ ท้าวอู่ทองบอกว่า ขัดแต่หวาย, แส้ม้า, คันขอ, เชือกขวั้น, พวนคร้อง แลพญาศรีธรรมโศกราชว่า จะจัดให้เขาส่งทุกปี แลท้าวอู่ทองว่าแก่พญาศรีธรรมโศกราช เมืองของท่านขัดสิ่งใดเล่า แลพญาศรีธรรมโศกราชว่า ขัดแต่เกลือ อาณาประชาราษฎรไม่รู้ทำกิน แลท้าวอู่ทองว่า จงให้สำเภาเข้ามา จะจัดให้ออกไป จะได้ทำบุญให้ทาน แล้วพญาศรีธรรมโศกราช ท้าวอู่ทอง ปราไสกันแล้ว ก็เสด็จกลับมายังเมืองทั้ง ๒ ฝ่าย แลครั้นมาถึงเมืองนครศรีธรรมราช พญาศรีธรรมโศกราชให้เร่งคนทั้งหลายให้ทำพระมหาธาตุลงรักปิดทองสำเร็จแล้ว กะเกณฑ์ให้หัวเมือง ๑๒ นักษัตรทำพระห้อง แล้วพระญาศรีธรรมโศกราชก็ให้ทำพระไพหารใหญ่ชื่อไพหารหลวง แล้วส่งเครื่องบรรณาการมีพระราชสารบอกถวายให้ส่วนไปถึงท้าวอู่ทอง ๆ ก็ให้ทองมาปิดพระมหาธาตุแลเกลือมาด้วย อยู่มานาน พญาศรีธรรมโศกราชก็ถึงแก่กรรม

พระยาจันทรภาณุ ผู้น้อง เป็นพญาแทน แลบอกข่าวไปถึงท้าวอู่ทอง ๆ ก็ให้เครื่องไทยทานมาช่วยส่งการพระศพพญาศรีธรรมโศกราช แลพญาจันทรภาณุเป็นพญาอยู่ได้ประมาณ ๗ ขวบ เกิดไข้ยมบนลงทั้งเมือง คนตายวินาศประไลย แลพญาจันทรภาณุ พญาพงศสุราหะ ตริริกันด้วยมหาเถรสัจจานุเทพแล้วพาครอบครัวลงเรือหนีไข้ยมบน ไข้ก็ตามลงเรือพญา ๆ ลูกเมียก็ตายสิ้น พระมหาเถรสัจจาณุเทพก็ตาย เมืองนครก็ร้างเทอยู่เป็นป่ารังโรมอยู่หึงนาน

อาทิเดิมว่า พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชกษัตริย์พระบวรเชษฐาพระราชกุมารอันเป็นพระเจ้าหลาน และพระก็ลาพระปู่พระย่ามา ท่านมาตั้งอยู่เพ็ชรบุรี ท่านเอาพลมา ๓๓๐๐๐ ช้างพังพลาย ๕๐๐ ม้า ๗๐๐ พลอันตามท่านมาเองนั้น ๕๔๐๐๐ ท่านตั้งรั้ววังเรือนหลวงหน้าพระลานเรือนชาวแม่พระสนม แล้วก็ให้ทำนาเกลือ แลท่านก็ให้เอามาถวายแก่พระเจ้าปู่พระเจ้าย่า ๆ ท่านก็ชื่นชมหนักหนาว่า พระหลานเรารู้หลักมีบุญญาอันประเสริฐทุกประการ ก็ยินดีแล้วก็แต่งเพลาอันนี้ให้มาถึงพระหลานท่าน ให้ราชยาน, คานหาม, กลิงกลด, ชุมสาย, ทานตะวัน, จามร, จามจุรี, พัดโบก ให้มาแก่พระหลานท่าน จะไปตั้งแห่งใด ๆ ไสย ให้บอกแก่พระปู่พระย่าท่านให้รู้ แลท่านให้ทำนาบางตะพานได้ ๓๐๐ แล้วก็ตั้งอยู่ริมสมุทร ท่านก็เสวยราชอยู่ในกรุงเพ็ชรบุรีนั้นอยู่มินาน

ยังมีสำเภาจีนซัดเข้ามาลำหนึ่ง แลชาวกรุงเพ็ชรบุรีแลนำขุนล่ามจีนเอาเครื่องบรรณาการมาถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานฝางแด่พระเจ้าอยู่หัว ๆ ก็ให้พระราชทานฝางแก่ขุนล่ามจีนเต็มสำเภานั้นเอาไปถึงพระเจ้าร่มฟ้ากรุงจีน แลพระเจ้าร่มฟ้ากรุงจีนก็ชื่นชมยินดีนักหนาว่า พระพนมทะเลศรีมเหน(ท)ราธิราชกษัตริย์พระบวรเชษฐาพระราชกุมารเสด็จมาตั้งอยู่ริมสมุทรนี้ ควรเราเอานางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีทองสมุทรนี้ให้เป็นพระอัครมเหษีแก่พระบวรเชษฐาพระราชกุมารเจ้ากรุงเพ็ชรบุรี แลนางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีศรีทองสมุทรนี้เป็นลูกนางจันทรเมาลีศรีบาทนารถสุรวงศ์ นางเกิดในดอกหมาก ก็อยู่เมืองจำปาธิบดี ไปเป็นพระมเหษีแก่พระเจ้าร่มฟ้ากรุงจีน แลเกิดนางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีศรีทองสมุทรนี้ แลพระเจ้าร่มฟ้ากรุงจีนแต่งสำเภานั้นได้ ๑๙ ลำ แล้วแต่งนางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีศรีทองสมุทรให้เอามาถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวเป็นพระอัครมเหษี แลพระเจ้าร่มฟ้ากรุงจีนก็แต่งเงินทองผ้าผ่อนแพรพรรณ์แลชาวแม่พระสนมแลหญิงชายให้มาแก่นางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีศรีทองสมุทรนี้ได้ ๗๔๐๐ ให้ขุนล่ามจีนถือมาถวายแก่พระเจ้าอยู่หัว แลพระเจ้าอยู่หัวก็อภิเษกนางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีศรีทองสมุทรเป็นอัครมเหษีแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลพระเจ้าอยู่หัวก็แต่งค่ายกำแพงพรหมมาศพิมลทาน ท่านก็ให้ขุนกำแหงพรหมราชฦๅไชย เจ้าเมืองสุกกรมพัด ให้พระสนมมาเป็นนางเมือง แลเจ้าศรีให้เป็นพระพี่เลี้ยงท่าน ๆ ก็ให้กินเมืองแพรก แลเจ้าศรีราชานั้นแกล้วหาญ ท่านก็ให้ทหารไปอยู่สร้างเมืองทุกเมือง แลท่านให้ทหารไปนั้นเมืองทุกเมือง แลพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกุมาร ๓๐ มีพระราชบุตรี ๓๐ แลพระพนมวังแลนางสะเดียงทองบอกไว้ เดิมเจ้าเลี้ยงเกล้าเลี้ยงหัวมาเท่าบัดนี้มาแล อันเป็นเจ้าแก่เกล้าแก่หัวนี้าสืบไปเมื่อหน้าไส คงสุดทั่วพระจันทร์พระอาทิตย์ พระจันทร์พระอาทิตย์ก็หายไปไซ้ เจ้าก็หายด้วย อันจะได้เป็นใหญ่ไส เพราะรัตนาการเจ้าแลอันจะเป็นแทนสืบไปเหล่านั้นแล แลพระเจ้าอยู่หัวประทานให้พระพนมวังแลนางสะเดียงทองออกไปสร้างเมืองนครดอนพระ แลท่านให้พล ๗๐๐ แขก ๕๐ ช้าง ๓ ม้า ๒ มาประทานให้แก่พระพนมวังแลนางสะเดียงทอง อยู่มา ประทานให้แก่พระพนมวังแลนางสะเดียงทองอยู่ในเมืองนครดอนพระนั้นจงขาด แลมีลูกหลานให้อยู่กินเมือง มีญาติกาหญิงชายไสให้ถวายเข้ามาเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัว แลเมืองแห่งใด ๆ เป็นเมืองขึ้นไส พระพนมวังแลนางสะเดียงทองแต่งแขกนั้นให้ไปเป็นเจ้าเมืองนั้นอยู่จงทุกเมืองนั้น ให้มาขึ้นในเมืองนครดอนพระเป็นส่วยทอง แลให้ใต้หล้าฟ้าเขียวณบ้านเมืองไกล พระพนมวังแลนางสะเดียงทองไสเป็นธุระสร้างบ้านเมืองแลพระมหาธาตุจงลุสำเร็จ แล้วให้เจ้าศรีราชา ผู้ลูกพระพนมวังแลนางสะเดียงทอง เข้ามาเอาแก้วสำหรับยอดพระเจ้านั้นแลทองออกไป แลพระเจ้าอยู่หัวสั่งให้สร้างป่าเป็นนาจงทุกตำบล ให้ป่าวแก่คนอันอยู่ณเขาให้ออกมาทำไร่นาแลอยู่เป็นที่ถิ่นถาน บ้านที่อยู่ให้มีชื่อมีตำบล แลให้พระพนมวังกฎหมายไว้ ให้เจ้าศรีราชาเอาเข้ามาไหว้พระเจ้าอยู่หัวจงซับทราบ แลพระเจ้าอยู่หัวสั่งเท่านั้น แลพระพนมวัง แลนางสะเดียงทอง แลศรีราชา กราบลา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสั่งเท่านี้ แลให้มีศักราชตั้งไว้ ศักราช ๑๕๘๘ ปี มะเมียศกนักษัตร

เมื่อพระพนมวัง แลนางสะเดียงทอง แลศรีราชา ออกมาสร้างเมืองนครดอนพระนั้น แลพระพนมวังแลนางสะเดียงทองก็มาตั้งบ้านอยู่จงสระอยู่นอกเมืองนครดอนพระ สร้างป่าเป็นนา สร้างนาทุ่งเขน สร้างนาท่าทอง สร้างนาไชยคราม สร้างนากะนอม สร้างนาสะเพียง สร้างนาตระชน สร้างนากลอง แลให้นายรัก นายราช นายเขียว ไปอยู่สร้างนาเมืองไชยา สามนี้ตาขุนศรีพล แลนางอาม นายไอ นายพรหม สองนี้ตาขุนเทพ ให้ไปสร้างเมืองชุมพร นายศรี นายไส สองนี้ ตาขุนเทพอยูสร้างนาบางสะพาน นายยอดอยู่สร้างนาเวียงสระ แลในเมืองนครดอนพระนั้น ผีร้าย ไข้ห่าลง คนตายมากนักหนา แลคนทั้งหลายก็หนีออกจากเมืองนครดอนพระเข้าอยู่ในเขา แลพระพนมวังแลนางสะเดียงทองมีลูก ๓ คน เจ้าศรีราชา ๑ เจ้าสนตรา ๑ เจ้ากุมาร ๑ แลเจ้าศรีราชาเอานางสน หลานพระพนมวัง เป็นเมีย ขึ้นไปสร้างนาในเมืองสรอุเลา แลเจ้ากุมารเอานางจันทร์ หลานพระพนมวัง ขอเป็นเมีย อยู่ตำบลดำถะหมอท่าทอง สร้างนาทุ่งเอน แลเจ้าสนตราไสอินทราชาขอเอาเป็นเมีย ตั้งบ้านแทบทะเลตระหนอม สร้างนาศรีชิน สร้างนาสะเพียง แลกะนอม แลสร้างทั้งนั้น แลเมืองอะลองไส ให้นายเชียงแสนอยู่ ไชยคราม ให้นายมงคลอยู่ ๒ นี้หลานนางสะเดียงทอง คำเพ็ชร ๑ นางแก้ว ๑ นางอ่อน ๑ ๓ นี้หลานนางสะเดียงทอง นางราช ๑ นางศรี ๑ นางแก่น ๑ นางพะภู ๑ นางเพ็ชร ๑ นางเทศ ๑ นางบุญกอง ๑ นางประภาวดี ๑ (รวม) ๘ คนนี้ หลานพระพนมวัง

นายแสน ๑ นายแก้ว ๑ นายศรีไทย ๑ นายชาด ๑ นายเทพ ๑ นายศรีจัน ๑ นายอยู่ ๑ นายไสย ๑ นายสาม ๑ นายชะนะ ๑ นายวังเมือง ๑ นายอิน ๑ นายศรี ๑ นายโคด ๑ นายนัด ๑ ทั้งนี้หลานนางสะเดียงทอง ผู้มีชื่อทั้งนี้ย่อมเป็นตาทวดลูกหลานสืบไป ให้ลูกหลานเอาชื่อผู้เฒาผู้แก่ลุงตาทั้งนี้มาขึ้นชื่อ เรียกเอาชื่อผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งนี้ให้รู้จักเดิมนั้น

นางกรุงเมือง น้องพระพนมวัง นางจันเลาทอง นางพะทอง นางพานทอง หลานพระพนมวัง นางกรุงเมือง แม่เจ้าจันทกุมาร นางเลาทอง แม่เจ้ากู นางพานทอง แม่เจ้าอยู่ นางแก้ว นางหง นางอยู่ผอง น้องนางสะเดียงทอง นางสุก นางคำ นางดำ นางกองทอง นางแกล้ น้านางสะเดียงทอง นางบุญ นางอ่อน นางสุภัทรา นางเกลี้ยง นางแยม น้าพระพนมวัง นางทอง นางเรือง นางรัดเมือง หลานนางสะเดียงทอง เกิดในบ้านจงสระนี้แล ให้ลูกหลานผู้หญิงเอาชื่อยายทวดทั้งนี้ เอาชื่อผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งนี้ไว้ให้รู้จักเดิมนั้นแล

พระเจ้าอยู่หัวพระบาทเสด็จนฤพาน เอาพระศพพระธาตุเสด็จสถานวัดวาแห่งใด ๆ ให้ญาติพี่น้องแบ่งกันออกไปอยู่รักษาพระธาตุเป็นข้าวัดแห่งนั้น แลขอถวายพระราชกุศลทุก ๆ องค์เจ้า ถ้ามีลูกหลานหญิงชาย ก็ให้แต่งกันเข้าไปถวายเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัวทุกขณะ อย่าให้ขาดเลย พระพนมวัง นางสะเดียงทอง บอกว่าไว้เท่านี้แล

พระพนมวัง นางสะเดียงทอง แต่งเรือ ๙ ลำให้แก่แขกให้ไปเป็นเจ้าแก่เมืองแขกทุกเมือง แลพระพนมวัง นางสะเดียงทอง ให้เจอุมากินเมทองญี่หน ให้ชื่อราชาประหมัด เจมีระบูเมียหนึ่ง เจระวังสาให้ไปกินเมืองจะนะเทพา ให้ชื่อราชาระวัง เจลายูเมียหนึ่ง เจมสูมาให้กินเมืองปาหัง ให้ชื่อชาราประเมสรา เจสูมาเมียหนึ่ง เจศรีสุตหราให้ไปกินเมืองตานี ให้ชื่อราชาฤทธิเทวา แจะศรีเคเมียหนึ่ง เจอะเสนให้ไปกินเมืองสาย ให้ชื่อราชาศรีสุลตาน เจะสาลีเมียหนึ่ง เจสารงให้ไปกินเมืองพัทลุง ให้ชื่อราชาพาหะระยุ เจศรีดาญังเมียหนึ่ง เจสีเตประวังสาให้ไปกินเมืองไทร ให้ชื่อราชาพิติมัน เจเปราะเมียหนึ่ง เจสาวังให้ไปกินละงู ให้ชื่อราชายุรา เจสาคาญังเมียหนึ่ง เจศรีสะหลับให้ไปกินเมืองงอแจ ให้ชื่อราชาอะยุ เจปะราสีเมียหนึ่ง เจนาวาให้ไปกินเมืองพลู ให้ชื่อราชาปะเสน เจปารูเมียหนึ่ง ส่งเบี้ยปีละสามเกวียนสารา

แตงแขกกินเมืองไส้ พระพนมวังแลนางสะเดียงทองให้ผูกส่วยทองปีละ ๑๐ ตำลึงทองทุกเมือง แลพระพนมวัง นางสะเดียงทอง ตั้งบ้านอยู่จงสระแลแต่งแขกไปเป็นเจ้าเมืองนั้น เจสะหาปา เจสิลิเมา ๒ นี้เป็นทะนาย ใช้ให้เรียกส่วยทองทุกเมือง แลราชารงให้ไปอยู่เมืองไชยานั้น แลเจศรีเตเมื่อยังบอกไว้ให้รู้เดิมนั้นแลว่า อันใส่ไว้ณทุ่งนั้นยอมผีอยู่ณกะปลอกทุ่งบ้านนั้นแล พระพนมวัง นางสะเดียงทอง แต่งแขกให้ไปเป็นเจ้าเมืองทุกเมือง อยู่น้อยหนึ่ง พระพนมวังตาย

เจ้าศรีราชามาแต่เมืองสะอุเลา แต่งการศพพระพนมวัง แล้วสับรับเอาธาตุขึ้นไปไว้ในตำบลณเขาอัศริจัน แล้วก่อพระเจดีย์ไว้ เอาธาตุบรรจุไว้ในถ้ำนั้น แลไว้พันวังให้อยู่รักษาธาตุนั้น เจ้าศรีราชาทำบุญให้ทานณทุ่งพะนัง แลเรียกชื่อพะนังทานนี้แล เจ้าศรีราชาให้ยกกฎหมายเอาชื่อแขกซึ่งให้ไปกินเมืองเป็นเจ้าเมืองทุกเมือง แลกฎหมายเอาตำบลบ้านตำบลเมืองแลไร่นา แลคนมากน้อยในเมืองนครดอนพระ แลวัดวาอารามทุกตำบล แลพระมหาธาตุซึ่งยังไป่มิแล้วนั้น เข้ามาถวายแก่พระเจ้าอยู่หัว ๆ ไส ๆ ก็ยินดีนักหนา พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า รัตนาการเจ้าไส้ จะให้ครองสมบัติแทนสืบไป แลเจ้าศรีราชากราบบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทูลว่า ตั้งบ้านเมือง สร้างป่าเป็นนา ตั้งบ้านถิ่นถาน ป่าวคนทั้งหลายทำไรนา แล้วแต่งแขกไปกินเมืองแล้ว แลคนในเมืองนครดอนพระนั้นน้อยนัก แล้วเจ้าศรีราชากราบทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระพนมวังตายแล้ว แลพระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาปราณีพระพนมวัง พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์มีพระกรุณาแก่เจ้าศรีราชา ประทานให้ชื่อเป็นพญาศรีธรรมโศกราช สุรินทรราชาสุรวงศธิบดี ศิริยุธิษเถียร อภียพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพญานครศรีธรรมราชมหานคร นางสนไส้ พระราชทานให้ชื่อนางจันทรเทวีศรีรัตนฉายา นางเมืองนครศรีธรรมราชมหานคร พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชทานให้เงินแก่พญาศรีธรรมโศกราชมหานครพันตำลึง พญาศรีธรรมโศกราชก็ทูลพระกรุณาว่า เมืองท่าทองใต้หล้าฟ้าเขียวนี้ยากเงินทอง ข้าพระเจ้าพระบาทอยู่หัวจะขอทำเงินเล็กปิดตรานโมประจำแต่นี้ไปเมื่อหน้า แลพระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาให้ทำเงินเล็กปิดตราประจำแต่นี้ไปเมื่อหน้า แลพระเจ้าอยู่หัวเร่งพญาศรีธรรมโศกราชให้ออกไปตั้งบ้านเมืองให้สำเร็จ ก็เร่งให้แต่งพระมหาธาตุให้แล้วเสร็จ ตั้งบ้านทุกตำบล แลประมวลผู้คนเข้าอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชนั้น อันบ้านที่จรงสะนั้น ให้พระยาดีอยู่ครองเมืองที่นั้น พระเจ้าอยู่หัวสั่งแล้วเท่านั้น พญาศรีธรรมโศกราช นางจันทรเทวีศรีรัตนฉายา กราบบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ลาออกมาเมืองนครศรีธรรมราชไส้ พญาศรีธรรมโศกราชให้พันวังหมื่นตังบานตั้งบ้านอยู่จรุงสะรักษาธาตุพระพนมวังอยู่ในถ้ำซึ่งก่อบรรจุธาตนั้น แลญาติกาทั้งปวง แลลูกหลานพระพนมวัง นางสะเดียงทองไส้ พระยาไว้ให้อยู่ นางสนตรา เจ้าอินทราชกุมาร ก็แจกกันณบ้านจรุงสะ ให้อยู่ท่าทอง ให้อยู่ไชยคราม ให้อยู่กระหน่อม ให้อยู่ตระชน ให้อยู่อะลอง ให้อยู่ทุ่งหลวง ให้อยู่ไชยา ให้อยู่ชุมพร ให้อยู่กระ ให้อยู่บางตะพาน ให้อยู่คูหา แลแต่งให้พญาก็ยกช้างม้ารี้พลเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช แลพญาให้สร้างป่าเป็นนา แลทำอิฐ แต่งพระเจ้าแลสถานอารามอันตรธานนั้นแล

พระยาให้ทำนาดอนแล้วแลแต่งคนให้ไปตั้งบ้านสร้างป่าเป็นนาทุกตำบล พญาให้แต่งพระไพหารหลวงก่อน แล้วแลให้แต่งวัดพระเดิม แลให้แต่งสระบางแก้ว แลให้ขุดพูนถนน แล้วแต่งวัดเสมาเมือง แล้วแลพญาก็แต่งนายมูนเอาคนไปสร้างป่าเป็นนาในตำบลพระเข้าแดงชมาย ให้นายหมันคงไปสร้างป่าเป็นนาตำบลพนัง ให้นายสามบุรีรัด นายพรฤๅไชย นายสีวังไส้ เอาคนไปสร้างป่าเป็นนา ตำบลพญิงปลดต่อพนังตรา ให้นายศรีเมือง นายปรัชญา . . . . . . . . . . รัดเอาคนไปสร้างป่าเป็นนา ตำบลหนองไผ่ นาลึก คลองกะโดน ต่อขม้าย ใกล้วัดด่านหลวง ให้นายเถ้าบุนแก้ว ๑ เถ้าบุนสาม ๑ เถ้าสร้อย ๑ เถาสิลา ๑ ให้อยู่รักษาพระแล

สร้างนาหนองไผ่ นาลึก ให้พันพรหมเอาคนไปสร้างป่าเป็นนาตำบลปากช่อง ด่านเถื่อน ให้นายญอดเมืองเอาคนไปสร้างป่าเป็นนาตำบลกระ ให้นายอายเจ้าปาเอาคนไปสร้างป่าเป็นนา อยู่รักษาพระในวัดพะนังตรา ให้นายโดดเอาคนไปสร้างป่าเป็นนาสทุงกระบานใกล้ ให้นายหอมเอาคนไปสร้างป่าเป็นนาตำบลปราน ๑ ให้นายบุเอาคนไปสร้างป่าเป็นนาตำบลละลานสะเภา ๑ ให้นายพรหมงัวเอาคนไปสร้างป่าเป็นนาตำบลลดีแรงง ๑ ให้นายสาครเอาคนไปสร้างป่าเป็นนาตำบลสนนทรทะเล ๑ ให้นายศรีทองเอาคนไปสร้างป่าเป็นนาตำบลบางจาก ๑ ให้นายจัน นายพรหมไชย นายเทพ ตั้งบ้านอยู่ตำบลเจ้าเหล็ก รักษาพระโคกในพระถโพพระอยู่ในถ้ำเชื่องนั้น ให้นายอิน นายธรรมราช ตั้งบ้านอยู่ตำบล . . . . . . . . . . ๑ ให้นายไส นายแก้ว ตั้งบ้านอยู่กรุงชิง ๑ ให้นายสาม นายไกร ตั้งบ้านอยู่ตำบลนาพุ สร้างป่าเป็นนา ๑ ให้นายคง นายสง สร้างป่าเป็นนา ๑ ตำบลพะทิงวัด ๑ ให้นายไชย นายจัน เอาคนไปสร้างป่าเป็นนาตำบลกระแด้ะ ๑ แลพระพุทธเจ้าอยู่บนเขา พระเจ้าอยู่ในถ้ำ ให้นายง้อ นายทอง อยู่รักษาพระ สร้างวัดกระแด้ะ สร้างพระไพหาร สร้างนา ๑ ให้นายโสม นายศรี ทำพระในถ้ำเขานั้น ให้นายราช นายราม นายญอด นายศรี สร้างพระไพหารนั้น แลให้นายทองศรี เถ้าไกร เถ้าหอม อยู่จำเภาะ สร้างป่าเป็นนา ผูกหวายส่วยสะเดียง ให้นายหอม นายราชเสนหา เอาคนไปสร้างป่าเป็นนาตำบลสะนังพะแนะ ๑ ให้นายอิน นายบุน นายไส นายราช ทำวัดภูปลองทูลังลิด

ครั้นแต่งให้คนสร้างบ้านทำนาแล้ว พญาก็ให้ทำพระมหาธาตุ ไปคนในเมืองญีหน เมืองปหัง เมืองกหลันตัน เมืองพรู เมืองอแจ เมือจนะเรพา เมืองสาย เมืองตานี เมืองละงู เมืองไซร เมืองตรัง เมืองไชยา เมืองสะอุเลา เมืองชุมพร เมืองบางสะพาน ให้ช่วยทำพระมหาธาตุณเมืองนครศรีธรรมราชแล้วเสร็จไส้ พญาศรีธรรมโศกราชแต่งเครื่องบรรณาการเข้ามาถวาย แลพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปไล่ช้างสำคัญในตำบลบางสะพานไส้ พญาศรีธรรมโศกราชก็กราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทูลพระกรุณาว่า แต่งบ้านเมืองทั้งนั้นแลเมืองนครศรีธรรมราชเสร็จแล้ว ทำมหาธาตุใส่รากแล้ว ขอถวายพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว เป็นอันเสร็จ พระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาพญาศรีธรรมโศกราช ๆ กราบทูลพระกรุณาขอถวายสามชายสามหญิงแลพน ๑๐๐ พักพวกสามชายสามหญิง แลขอเอาลูกหลานสามชายสามหญิงเป็นเจ้าหัวพันสิบสองหัวปากหัวสิบนั้นทั้งนี้ไว้คนหนึ่ง ขอถวายสัตย์สามชายสามหญิงเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัวทูลบังคมสืบไปเมื่อหน้า พระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาให้พขุนพระคลังกฎหมายชื่อสามชายสามหญิงไว้ให้รู้จักชื่อ แล้วให้เรียกชื่อสามชายสามหญิงสืบแต่นี้ไปเมื่อหน้าแล

นายอยู่ น้องพญาศรีธรรมโศกราช เมียชื่อนางแก้ว นายกู นายอู ๒ นี้หลานพญาศรีธรรมโศกราช นายกู เมียชื่อนางคำ นายอู เมียชื่อนางคำเพ็ชร กฎหมายชื่อสามชายสามหญิงสามใจแล

พญาศรีธรรมโศกราชกราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระเจ้าอยู่หัว นายอูไส้มีญาติลูกหลานสืบไส้ เมื่อหน้าไส้ ขอพระทานถวายลูกหลานหญิงชายเป็นข้าทูลพระบังคมพระเจ้าอยู่หัว ขอพระทานเป็นข้าพระข้าวัด ข้าพระถือสร้างพระราชกุศลถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวสืบไปเมื่อหน้า ข้าพเจ้านายอยู่ไส้มีลูกหลานสืบไปเมื่อหน้า ขอพระทานทำช้างถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวสืบไปเมื่อหน้า ข้าพเจ้านายอยู่ไส้มีลูกหลานสืบไป ขอพระทานถวายเป็นอาษาพระเจ้าอยู่หัวแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ขอพระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาแก่สัตว์ผู้ยาก ข้าพระเจ้าอยู่หัวขอทูลพระบังคม พระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาว่า สามชายสามหญิงซึ่งพญาศรีธรรมโศกราชถวายนั้น ให้ไว้แก่พญาศรีธรรมโศกราชนั้นก่อน เมื่อใดมีราชการสิ่งใด ๆ ไปเมื่อหน้าไส้ ให้สามชายสามหญิงกราบพระบาทพระเจ้าอยู่หัว ขอถวายนางจันทรเทวี พระราชบุตรีผู้หลาน เป็นแม่นแล้ว ก็ลาพระเจ้าอยู่หัวออกมาเมืองนครศรีธรรมราชไส้

พญาศรีธรรมโศกราชเถิงแก่กรรมแล พระเจ้าอยู่หัวให้นายอู นายกู นายอยู่ เข้ามากราบพระบาทพระเจ้าอยู่หัว ขอผูกส่วยเงินตำลึงบาทสลึงภูกันขึ้นพระคลังหลวงแล

ข้าพระเจ้าอยู่หัว สามชายสามหญิงนี้ ขอเป็นงานหนึ่ง ตั้งพลร้อยหนึ่งเป็นงานส่วย แลที่ส่วยซึ่งพระเจ้าอยู่หัวในจังหวัดเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาให้ผูกส่วยเงินตำลึงบาทสะลึงภูกันนั้นขึ้นพระคลังหลวง ให้พขุนพระคลังกฎหมายไว้ว่า แต่นี้ไปเมื่อหน้า ให้ผูกส่วยอย่าให้ขาด อย่าชำรุด แลปรำมูนชาวส่วย ๑๐๐ คนอย่าให้แตกฉาน นายอู นายอยู่ ให้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ผูกส่วยขึ้นพระคลังหลวงทุกปี

แลนายญอดแก้วไส้ ให้ถือชาวเชิงกุดิทั้งปวงมาขึ้นในพระนครทุกเจ้าคณะ แลนายสมิงคโตพรหมาซึ่งเสียเรือแลมาอยู่ในเมืองนครแลให้นางพทองเป็นเมีย ให้เป็นผขาวอริยพงศ์อยู่รักษาพระมหาธาตุในเมืองนครแล

นายอู นายกู นายอยู่ ก็เอาส่วยมาผูกขึ้นณพระคลังหลวง แลกราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลาออกมาเมืองนคร

อยู่นานมา ชาวส่วยแตกฉานสัตพรัด นายอูก็เข้ามากราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ชาวส่วยแตกฉานสัตพรัดแลส่วยชำรุด พระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาแก่นายอู พระราชทานให้เอาเหมิ่น[3] สิดจอมราช ข้าหลวง พระทานให้ชื่อเหมิ่นสุดใจแมน เอาเหมิ่นจง ข้าหลวง พระทานให้ชื่อเหมิ่นแสนใจซื่อ ทั้งสองนี้พระทานให้ดาบทองคนละเล่ม ถือจำนำเป็นนายดาบหลวง พระทานให้ออกไปด้วยนายอูอยู่เป็นอันขาดในเมืองนครศรีธรรมราช เรียกเงินส่วยสาอากรแลส่วยแก่พลสามชายสามหญิง แลให้รู้จักลูกหลานนายอู นายกู นายอยู่ ซึ่งจะแทนทนไปเมื่อหน้า เหมิ่นสุดใจแมน เหมิ่นแสนใจซื่อ นายอู กราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ลาออกมาเมืองนครศรีธรรมราช จัดส้องสุมชาวส่วยประมูนไว้แล้ว แลเหมิ่นสุดใจแมน เหมิ่นแสนใจซื่อ แลราม ผู้ลูกนายอู แลนายเภ้า ถือเงินส่วยด้วยเหมิ่นสุดใจแมน เหมิ่นแสนใจซื่อ ขึ้นณพระคลังหลวงแล้วไส้ พขุนพระคลังนำนายรามซึ่งเข้ามากราบพระบาทพระเจ้าอยู่หัว ทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้า นายรามนี้ ลูกนายอู ข้าพระเจ้าอยู่หัว ๆ มีพระกรุณาพระทานให้ชื่อแก่นายนามชื่อเหมิ่นศรีจอมรัด เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แลเหมิ่นศรีจอมรัด เจ้าเมืองนคร แลเหมิ่นสุดใจแมน เหมิ่นแสนใจซื่อ กราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายบังคมลาออกมาเมืองนครศรีธรรมราช

เหมิ่นศรีจอมรัดเอานางบุนกอง หลานนายกู เป็นเมีย อยู่นานมา เกิดลูกหญิงผู้หนึ่งชื่อนางเอือย แลพระหลานเป็นพระยา แลซึ่งอยู่เมืองลานสะกา มาขอเอานางเอือยเป็นเมีย ก็เกิดลูก ๗ คน

หนึ่งชื่อเจ้าอู เจ้ากู เจ้าอยู่ บอกไว้ว่า ขุนแสนหลานพญาศรีธรรมโศกราชถวายไว้ให้ตายต่างเจ้าสองคน นางคงราชแม่หนึ่ง นางออนท้าวแม่หนึ่ง ขุนแสนแต่งนายอินทรพงศาเข้าไปถวายเป็นตายต่างพระเจ้าอยู่หัว ๆ มีพระกรุณาพระทานชื่อให้นายอินทรพงศาเป็นเหมิ่นแสนสอยดาว แล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงช้างจะชนด้วยช้างเถื่อนไส้ เหมิ่นแสนสอยดาวกราบทูลพระกรุณาว่า ช้างเถื่อนนั้นใหญ่นัก แลทรงพระกรุณาพระเจ้าอยู่หัวมิฟังเหมิ่นแสนสอยดาว จะชนด้วยเถื่อน เหมิ่นแสนสอยดาวแล่นเข้าไปหาช้างเถื่อนให้แทง เหมิ่นแสนสอยดาวตาย ชื่อว่าตายต่างเจ้า ถ้าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแทงได้ ๆ แลเห็นมิชอบตามบุรพประเพณีแต่ก่อนไส้ เหมิ่นแสนสอยดาวกราบทูลพระกรุณา ถ้าพระเจ้าอยู่หัวมิฟัง เหมิ่นแสนสอยดาวเห็นผิดประเพณีไส้ เหมิ่นแสนสอยดาวกราบทูลพระกรุณาแล เหมิ่นแสนสอยดาวเอาประเพณีแต่ก่อนพิจารณาแล้วแก้สารทุกข์นั้นเอง พระเจ้าอยู่หัวทรงช้างนำ ทรงยืน จะคล้องเถื่อน แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งชักช้าง แลเสด็จประภาษกลางคืน ขอทูลกรุณามิฟังไส้ เหมิ่นแสนสอยดาวรับพระราชอาชญาถวายชีวิต ขออาษาจนสิ้นพิพิธแล

เจ้าอู เจ้ากู เจ้าอยู่ บอกไว้ว่า พระพนมวังแลนางสะเดียงทองตั้งบ้านอยู่จรุงสระนั้น ให้หาจงพบ ต้นไม้ไม่แลต้นแซกติดกัน ท่านมีสิ่งของอยู่ใต้ต้นไผ่แลต้นแซะนั้นช้านานแล้ว และมิพบต้นแซะต้นไผ่นั้นเลย ถ้าพี่น้องลูกหลานพบต้นไผ่ต้นแซะนั้นไส ให้หาเครื่องบูชาเทพารักษ์จงคำนับ ให้ขุดเอาเถิด สิ่งนั้นให้เอาถวายเป็นเครื่องประดับพระที่นั่ง ประดับอาศน์พระพุทธเจ้าก็ได้แล

ขุนอินทรา เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช บอกไว้ว่า เดิมไส้นางกฤษณา แลนางทองมุก แลลูกหลานหญิงชาย ตั้งบ้านอยู่เมืองไชยา มีลูก . . . . . . . . . . (ฉะบับลบ) ผูกขึ้นเป็นส่วยขึ้นพระคลังหลวง ๑๐๐ กระบอก แลกระบอกสนานด้วยลูก ๕๐๐ แท้แล้วให้ชื่อรักที่ฉลุะแล นางทองสมุกแลนางกฤษณา . . . . . . . . . .

(สิ้นฉะบับเท่านี้)

  • พิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ์
  • บางขุนพรม พระนคร
  • โชติ แพร่พันธุ์ ผู้พิมพ์และโฆษณา
  • ๒๕/๙/๙๑

  1. ต้นฉะบับเขียน ทนณ
  2. ต้นฉะบับเขียน จิง
  3. ตรงกับ หมื่น

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก