ธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาล พระพุทธศักราช 2465/เรื่อง 3

จาก วิกิซอร์ซ
กฎธานิโยปการ
พระพุทธศักราช ๒๔๖๕

จำเดิมแต่ได้ตั้งดุสิตราชธานีขึ้นแล้ว, และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสิทธิแด่ประชาชนชาวดุสิตธานีให้มีโอกาศเลือกนคราภิบาลเปนผู้ปกครองและดูแลความทุกข์สุขของประชาชน, ก็เปนเวลาหลายปีแล้ว, กิจการในแพนกนคราภิบาลได้ดำเนินเปลี่ยนแปลงขึ้นมาทีละน้อยเปนลำดับ, นับว่า ถึงเวลาอันควรที่จะจัดหาทรัพย์เพื่อบำรุงราชธานี โดยวิธีที่เปนธรรมและถูกแบบแผนแห่งอารยชน, ซึ่งนิยมถือกฎธรรมะนิยมว่า ผู้ใดได้มีสิทธิแล้ว ย่อมจะต้องมีกรณียะเปนของคู่กัน, และถ้าแม้ได้รับผลดีเปนประโยชน์ ก็ต้องยอมเสียพลีเพื่อกิจอันนั้น.

ตามที่ได้เปนมาแล้ว ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนและสะพานอันเปนทางสาธารณะสัญจรขึ้นไว้โดยพร้อมมูลแล้วในเขตดุสิตราชธานี, ทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดสร้างประปาและต่อไฟฟ้ามาไว้เพื่อใช้เปนความสดวกแก่สาธารณะชน, และสิ่งซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นไว้แล้วนี้ ก็ต้องบำรุงรักษาด้วยพระราชทรัพย์นับเดือนละหลายพันบาท ฝ่ายทวยราษฎร์ได้ประโยชน์ คือ ความสดวกและความสุข จากสิ่งนั้นเปนอเนกประการ, แต่ยังหาได้เสียพลีทดแทนให้เพียงพอไม่ ตามที่เปนมาแล้ว, ประชาชนชาวดุสิตราชธานีเคยเสียเงินเปนส่วนราชพลีก็แต่เงินรัช์ชูปการ, กับเสียเงินธานิโยปการก็เพียงแต่เล็กน้อย และยังไม่เปนธรรมสม่ำเสมอกัน, โดยเหตุที่มีผู้หนหนทางหลีกเลี่ยงการเสียเงินนี้เสียเปนอันมาก.

ครั้นเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้มีการประชุมบรรดาทวยนาครแห่งดุสิตราชธานี, มีสมานะฉันท์เห็นพร้อมกันว่า ควรวางระเบียบและอัตราพิกัดภาษีอันเปนธานิโยปการสำหรับดุสิตราชธานีขึ้นใหม่, เพื่อให้นาครเสียเงินบำรุงธานีตามส่วนที่ได้รับผลดีแห่งการปกครองนั้นมากและน้อย.

อาศัยความตกลงพร้อมเพรียงกันในที่ประชุมอันกล่าวแล้วนั้น, อีกทั้งอำนาจของนคราภิบาลที่มีอยู่ตามพระธรรมนูญลักษณปกครองคณนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑, หมวดที่ ๔ มาตราที่ ๒๔, ข้าพเจ้า, พระยาอุดมราชาภักดี, นคราภิบาลดุสิตราชธานี, จึ่งตั้งกฎขึ้นใหม่เพื่อวางระเบียบการเก็บเงินธานิโยปการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้.

หมวดที่ ๑
ว่าด้วยนามและการใช้กฎนี้

มาตรา ๑. — กฎนี้ให้เรียกว่า "กฎธานิโยปการ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕," และให้ใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กันยายน, พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ เปนต้นไป.

มาตรา ๒. — นับจำเดิมแต่วันที่ได้ใช้กฎนี้แล้ว, บรรดาข้อความใด ๆ ที่ค้านกับข้อความในกฎนี้ ซึ่งมีอยู่ในกฎนคราภิบาลก่อน ๆ ให้ยกเลิกเสีย.

หมวดที่ ๒
วิเคราะห์ศัพท์

มาตรา ๓. — คำว่า "เจ้าของที่ดิน" ให้พึงเข้าใจว่า ผู้ที่มีนามปรากฎอยู่ในน่าโฉนดที่ดิน

มาตรา ๔. — คำว่า "เจ้าบ้าน" ให้พึงเข้าใจตามวิเคราะห์ศัพท์ในพระธรรมนูญลักษณปกครองนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑, คือ ผู้ที่ครองเคหสถานอันรวมอยู่ในขอบเขตที่ดินแปลง ๑, จะเปนเจ้าของซึ่งอยู่ที่ดินของตนเอง หรือเปนผู้เช่าอยู่ก็ตาม.

หมวดที่ ๓
ว่าด้วยภาษีที่ดิน

มาตรา ๕. — ให้ผู้เปนเจ้าของที่ดินในดุสิตราชธานีเสียภาษีที่ดินคิดเปนอัตราเงิน ๕๐ สตางค์ต่อ ๑ เมตร์จัตุรัสทุก ๆ เดือน.

มาตรา ๖. — ให้เจ้าพนักงานคลังของคณนคราภิบาลดุสิตราชธานีคำนวณอัตราภาษีที่ดินที่เจ้าของที่ดินจะต้องเสียนั้น โดยอาศัยเกณฑ์ขนาดผืนที่ดินตามที่เกษตร์มณฑลดุสิตราชธานีได้รังวัดไว้และออกโฉนดไปแล้วตามระเบียบ.

หมวดที่ ๔
ว่าด้วยการไฟฟ้า

มาตรา ๗. — ให้เจ้าบ้านเสียค่าแรงไฟที่ใช้ในบริเวณบ้านของตน ตามอัตราที่เจ้าพนักงานไฟฟ้าของคณนคราภิบาลจะได้กำหนดและประกาศให้ทราบเปนครั้งคราว. ค่าแรงไฟฟ้าต้องเสียทุก ๆ เดือน.

มาตรา ๘. — เปนน่าที่ของเจ้าบ้านต้องรับผิดชอบให้มีไฟฟ้าติดประจำและเปิดใช้ได้หลังคาเรือนละ ๑ ดวงเปนอย่างน้อย. และไฟฟ้าดวง ๑ ๆ ต้องมีแรงเทียนไม่น้อยกว่า ๕ แรงเทียน.

มาตรา ๙. — ห้ามเปนอันขาดมิให้ผู้ ๑ ผู้ใดนอกจากเจ้าพนักงานไฟฟ้าของคณนคราภิบาลทำการต่อล่ามหรือฝังสายไฟฟ้า, หรือเปลี่ยนแปลงเพิ่มลดไฟฟ้า โดยพลการตนเองเปนอันขาด. ถ้าผู้ใดปราถนาให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงไฟฟ้าในบ้านของตน ก็ให้แจ้งความแก่เจ้าพนักงานไฟฟ้าเพื่อไปจัดการได้. ถ้าแลปรากฎขึ้นว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใด ๆ ขึ้นที่ในบ้านใด, โดยเจ้าพนักงานไฟฟ้ามิได้รู้เห็นด้วย. ความผิดต้องตกอยู่แก่เจ้าบ้าน.

หมวดที่ ๕
ว่าด้วยการประปา

มาตรา ๑๐. — ในบ้านใดมีน้ำประปาหรือน้ำแม่น้ำลำคลองใช้. นอกจากที่สมมตว่ามีอยู่เองแล้วโดยธรรมชาติ เช่น มีลำน้ำผ่านไปในกลางที่บ้าน เปนต้น, ต้องเสียเงินค่าน้ำ ตามอัตราที่เจ้าพนักงานสุขาของคณนคราภิบาลจะได้กำหนดและประกาศให้ทราบ. เงินค่าน้ำต้องเสียทุกเดือน.

มาตรา ๑๑. — ห้ามเปนอะนขาดมิให้ผู้ ๑ ผู้ใดนอกจากเจ้าพนักงานประปาของคณนคราภิบาลทำการต่อท่อน้ำหรือทำทางน้ำเข้าบ้าน. ถ้าผู้ใดปราถนาจะมีน้ำประปาหรือน้ำท่าใช้ในบ้าน ก็ให้ขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานสุขาของคณนคราภิบาล, และต่อเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึ่งลงมือทำการได้.

หมวดที่ ๖
ว่าด้วยการเก็บเงินธานิโยปการ.

มาตรา ๑๒. — ให้เจ้าพนักงานคลังของคณนคราภิบาลดุสิตราชธานีเก็บเงินธานิโยปการทั้ง ๓ ประเภท. ตามที่กล่าวไว้แล้วในหมดวที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ แห่งกฎนี้, ทุก ๆ เดือน, และเงินธานิโยปการประจำเดือนใด ก็ให้เก็บในต้นเดือนนั้น.

ก่อนที่จะเก็บเงินธานิโยปการ ให้เจ้าพนักงานคลังประกาศบอกกำหนดวันให้นาคทราบล่วงน่า มีกำหนดไม่ต่ำกว่า ๗ วัน.

มาตรา ๑๓. — ให้เชษฐะบุรุษประจำตำบลมีหน้าที่ช่วยเจ้าพนักงานคลังในการเก็บเงินธานิโยปการ.

มาตรา ๑๔. — ให้นาคเสียเงินธานิโยปการตามที่กล่าวมาแล้วโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ต่อจากวันกำหนดในประกาศของเจ้าพนักงานคลัง.

ถ้าแลเงินธานิโยปการค้างอยู่แก่ผู้ใดเกินกว่ากำหนด ๓ เดือน, ให้ปรับผู้นั้นเปนเงินไม่เกินกว่าทวีคูณจำนวนที่ควรต้องเสียโดยปรกติ.

ถ้าเงินธานิโยปการค้างอยู่แก่ผู้ใดถึง ๖ เดือนนับตั้งแต่วันกำหนดในประกาศของเจ้าพนักงานคลังเปนต้นไป, และผู้ที่ไม่เสียเงินนั้นมิได้อ้างเหตุผลแสดงให้เปนที่พอใจแก่เจ้าพนักงานว่า ขัดข้องจริง ๆ, ให้ถือว่า ผู้นั้นไม่จงใจจะเปนนาครแห่งดุสิตธานีอีกต่อไปแล้ว และนคราภิบาลจะได้ประกาศคัดนามผู้นั้นออกจากทะเบียนนาคร; ส่วนที่ดินและบ้านเรือนของผู้นั้น ก็ให้ริบเปนของกลางของคณนคราภิบาลดุสิตราชธานี.

มาตรา ๑๕. — ในกาเรก็บเงินธานิโยปการตามที่กล่าวมาแล้วในมาตรา ๑๔ ถ้ามีข้อทุ่มเถียงกันในระหว่างเจ้าพนักงานคลังกับนาครผู้ที่จะต้องเสียเงินธานิโยปการ และมิสามารถจะทำความตกลงกันได้ ก็ให้นาครทำเรื่องราวยื่นต่อสภาเลขาธิการ, เพื่อนำเสนอนคราภิบาล, และนคราภิบาลจะได้วินิจฉัยคดีนั้น ๆ ในท่ามกลางสภาเชษฐบุรุษ. คำวินิจฉัยแห่งสภานั้น ให้นับว่า เปนที่สุดแห่งคดี.

หมวดที่ ๗
ว่าด้วยการยกเว้น.

มาตรา ๑๖. — เขตพระราชฐาน, เขตที่ทำการของรัฐบาล, ที่วัด และที่ธรณีสงฆ์, โรงเรียนสาธารณศึกษา และโรงพยาบาลของรัฐบาลหรือของคณนคราภิบาล; ยกเว้นไม่ต้องเสียเงินธานิโยปการทั้ง ๓ ประเภท.

  • ประกาศมาณวันที่ ๑๔ กันยายน, พระพุทธศักราช ๒๔๖๕
  • (ลงนาม) พระยาอุดมราชภักดี
  • นคราภิบาลดุสิตราชธานี.