ข้ามไปเนื้อหา

นวโกวาท/คำชี้แจง

จาก วิกิซอร์ซ
กลับไปหน้าหลัก
ถัดไป

คำชี้แจง

[แก้ไข]

นวโกวาทเป็นหนังสือสำหรับศึกษาความรู้เบื้องต้นในพระพุทธศาสนา ซึ่งแพร่หลายมากที่สุด ได้ยินว่าเดิมหนังสือนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จประทับอยู่ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม (พ.ศ. ๒๔๔๒-๔) ได้ทรงเลือกแปลธรรมวินัยในพระไตรปิฎกสำหรับทรงสั่งสอนภิกษุสามเณรในวัดนั้น ผู้ศึกษาต้องจดไปท่องบ่นกันก่อน ต่อมาเมื่อเสด็จกลับมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารแล้ว ก็ยังทรงสั่งสอนด้วยวิธีนั้น ภายหลังจึงรับสั่งให้รวบรวมข้อธรรมวินัยนั้น ๆ พิมพ์ขึ้นสำหรับเป็นแบบเรียนธรรมวินัยของมหามกุฏราชวิทยาลัยสืบมา เพราะนวโกวาทนี้ไม่ได้ทรงแต่งอย่างหนังสืออื่น จึงมีคำแปลชื่อธรรมบางอย่างในหมวดนั้น ๆ ต่างกันด้วยพลความ เหมือนกันด้วยอรรถรส.

ในการพิมพ์ครั้งที่ ๙/๒๔๔๗ และครั้งที่ ๑๒/๒๔๕๓ ได้ทรงแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่ปรากฏในคำนำนั้นแล้ว. ต่อมาเมื่อครั้งที่ ๓๐/๒๔๖๘ และครั้งที่ ๓๗/๒๔๗๗ ก็มีแก้ไขเพิ่มเติมอีก ส่วนการพิมพ์ครั้งที่ ๓๘/๒๔๗๙ นี้ ได้ตั้งใจว่าจะพยายามรักษาแบบของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ไว้ เพราะฉะนั้น แม้มีคำแปลชื่อธรรมต่างกันบ้างดังกล่าวแล้ว ก็คงไว้อย่างนั้น แต่คำใดที่สันนิษฐานได้ว่าเคลื่อนคลาดจากฉบับเดิมเพราะการพิมพ์เป็นต้น และเพราะประการอื่น ได้ปรับคำนั้น ๆ ให้เข้าแนวบาลีอรรถกถาและระเบียบ ไม่มีเพิ่มข้อธรรมอื่นใดขึ้นอีกเพราะได้เตรียมการแต่งธรรมวิภาคปริเฉทที่ ๑ มีอธิบายดุจธรรมวิภาคปริเฉทที่ ๒ ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ถ้ามีแก้ไขเพิ่มเติม จักทำในที่นั้น.

อนึ่ง เมื่อพิมพ์ครั้งที่ ๓๗/๒๔๗๗ พระราชสุธี (วิจิตร อาภากโร ป. ธ. ๙) วัดมหาธาตุ ได้รับมอบจากที่ประชุมคณะกรรมการตรวจชำระแบบเรียนให้ค้นหาที่มาแห่งธรรมนั้น ๆ มาลงไว้แผนก ๑ ส่วนในการพิมพ์ครั้งนี้ กรรมการกองตำราได้ค้นที่มาเพิ่มเติมและลงไว้ในที่สุดแห่งชื่อธรรมนั้น ๆ ด้วยอักษรย่อนามคัมภีร์และเลขหน้าแห่งเดียวบ้างหลายแห่งบ้าง เพื่อเป็นหลักฐานและเป็นประโยชน์ในการสอบสวน ส่วนที่ยังค้นไม่พบ ได้ปล่อยว่างไว้ก่อน.

ถึงอย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าทั้งหลายได้จัดทำด้วยกุศลเจตนา หวังบูชาพระคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ พระองค์นั้น และมุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่กุลบุตรทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้แล.

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘
พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ ป.ธ. ๙
หัวหน้ากองตำรา
มหามกุฏราชวิทยาลัย
๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๙

คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๓๐/๒๔๖๘)

[แก้ไข]

เมื่อสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์หนังสือวินัยมุขขึ้นแล้ว ไม่ทันมีโอกาสที่จะทรงแก้ไขสำนวนความเรียงในส่วนวินัยบัญญัติ ซึ่งปรากฏความแผกเพี้ยนบางบทบางตอน ยากในการหมายใจสังเกตรูปความเมื่อเทียบเคียงของผู้แรกศึกษา ตลอดเวลาจนสิ้นพระชนม์ เห็นสมควรที่จะชำระอนุโลมตามเค้าเงื่อนแห่งวินัยมุข ข้าพเจ้าจึงแก้ไขให้สอดคล้องกันในส่วนเค้าความและคำที่เรียงนั้น ๆ ซึ่งอาศัยคำแปลในวินัยมุขเป็นหลัก.

พระสาสนโสภณ
วัดเทพศิรินทราวาส
วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๑๒/๒๔๕๓)

[แก้ไข]

เมื่อหนังสือนี้ฉบับที่ ๑๑ หมดแล้ว จะได้พิมพ์ฉบับที่ ๑๒ ได้เพิ่มหมวดธรรมที่สาควรจะรู้เข้าอีกหลายหมวด เพราะเห็นว่าหนังสือนี้ได้ใช้แพร่หลาย ไม่เฉพาะแต่ภิกษุใหม่ ควรจะให้ความรู้กว้างขวางออกไป. หมวดธรรมที่เพิ่มคราวนี้ ทุกะหมวด ๒ และหมวดธรรมอันสงเคราะห์เข้าในโพธิปักขิยธรรมเป็นพื้น. เมื่อเพิ่มขึ้นดังนี้ ข้อศึกษาของภิกษุใหม่ก็มากขึ้น ภิกษุผู้มีสติปัญญาพอประมาณหรือค่อนข้างทรามจะเรียนไม่จบก็อาจเป็นได้. เมื่อเป็นเช่นนี้ อุปัชฌายะอาจารย์ผู้ฝึกหัดจะงดธรรมบางหมวดที่ไม่ใช้สำหรับภิกษุใหม่ หรือที่มีซ้ำกับหมวดธรรมอื่นบ้างแล้ว ไม่ใช้สอนก็ควร. นอกจากนี้ คราวนี้ยังได้แก้สำนวนในหนังสือนี้ด้วย.

กรมหลวงวชิรญาณวโรรส
วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙

คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๙/๒๔๔๗)

[แก้ไข]

แต่เดิม ในหนังสือนี้ ไม่ค่อยใช้ศัพท์บาลี แต่งขึ้นสำหรับเหมาะแก่ผู้เริ่มศึกษาในยุคนี้ ใช้บ้างแต่ในที่จะย่นความกำหนดหรือความจำเข้าได้ดีกว่าใช้คำไทย ภายหลังหนังสือนี้แพร่หลายไปในหมู่ญาติโยมของผู้บวชใหม่ ผู้ได้สดับมากต่างก็พอใจในความคิดแต่งหนังสือนี้ แต่เห็นกันโดยมากว่า ถ้าใช้ศัพท์บาลีเข้าด้วยจะดีขึ้นอีกมาก เหตุว่า คนชั้นผู้ใหญ่เคยศึกษาในศัพท์บาลี เมื่อไม่พบศัพท์บาลีก็ชักให้งง. มักต้องนึกเทียบศัพท์บาลีก่อนจึงจะเข้าใจได้ตลอดดีว่า ธรรมหมวดนั้น ๆ เล็งเอาพระบาลีหมวดนั้น ๆ ถึงการกำหนดหรือการจำเล่า ท่านก็เห็นว่าศัพท์บาลีง่ายกว่า ยกขึ้นพูดก็สะดวกกว่า. หวังจะให้หนังสือนี้เป็นไปตามประสงค์ของคนชั้นผู้ใหญ่ด้วย จึงได้เติมศัพท์บาลีเข้าด้วยในหมวดธรรมที่มีคำบาลีสำหรับใช้เฉพาะศัพท์ เว้นไว้แต่หมวดธรรมที่จะต้องใช้คำผสมเป็นประโยค เช่นในอภิณหปัจจเวกขณะข้อต้นว่า ชราธมฺโมฺหิ ชรํ อนตีโต ซึ่งแปลว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ในหมวดธรรมเช่นนี้ ยังคงใช้คำไทยล้วนตามเดิม จะใช้ประโยคบาลีเข้าด้วยก็จะกลายเป็นหนังสือสวดมนต์แปลไป ผิดกับความประสงค์เดิม จะพาให้ผู้บวชใหม่ท้อถอยในการศึกษาพระธรรมวินัย ถึงศัพท์บาลีที่ใช้นั้นก็เรียงไว้ต่างวิธีกัน เรียงไว้ข้างต้นก็มี ข้างท้ายก็มี ที่เรียงไว้ข้างต้นนั้น ผู้เริ่มศึกษาไม่ถนัดกำหนดหรือจำศัพท์บาลี จะงดเสีย กำหนดหรือจำแต่ความไทยก็ได้ ถ้ากำหนดหรือจำได้ด้วย ก็เป็นอันได้ความรู้กว้างขวางออกไป จะอ่านหนังสือธรรม หรือฟังเทศนา ก็จะกำหนดได้ง่ายขึ้น

ที่เรียงไว้ข้างท้ายนั้น เป็นศัพท์พิเศษใช้เฉพาะข้อความนั้น สมควรที่จะรู้ไว้. ถึงท่านผู้เป็นอุปัชฌายะหรืออาจารย์ ผู้จะฝึกภิกษุสามเณรบวชในสำนักของตน ก็ควรรู้จักผ่อนปรนฝึกฝนตามสมควรแก่อุปนิสัยของเธอทั้งหลาย ถือเอาความรู้ความเข้าใจพระธรรมวินัยเป็นประมาณ. เมื่อเป็นคราวที่ควรจะแก้ไขหนังสือฉบับนี้ใหม่ จึงได้เพิ่มหมวดธรร,ที่สมควรอันยังไม่มีในนี้เข้าอีกบ้าง ทั้งเรียบเรียงใหม่ในพวกหนึ่ง ๆ ให้ลุ่มลึกไปโดยลำดับ จับแต่ง่ายไปหายาก เพื่อให้ง่ายแก่ผู้ยังจะต้องใช้ความจำเบื้องหน้า. ฉบับใหม่นี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมเพียงเท่านี้.

กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๓๐ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๓

คำนำ (พิมพ์ครั้งที่ ๕/๒๔๔๒)

[แก้ไข]

หนังสือเล่มนี้ เรียงย่อเกินประมาณดังนี้ สำหรับภิกษุสามเณรบวชใหม่, เพราะผู้บวชใหม่ย่อมบวชเพียงพรรษาเดียว คือสี่เดือนเป็นพื้น; อุปัชฌายะอาจารย์ผู้หวังความรู้แก่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก ต้องหาอุบายสั่งสอนให้เขาได้ความรู้มากที่สุดตามแต่จะเป็นได้, ถ้าใช้แบบสอนที่พิสดาร เรียนรู้ยังไม่ถึงไหนก็ถึงเวลาสึก จึงต้องใช้แบบย่อให้จุข้อความที่ควรจะศึกษา นี้เป็นเหตุเริ่มเรียงหนังสือเล่านี้ขึ้น หนังสือนี้ถึงเป็นแบบย่อ ถ้าเข้าใจวิธีสอน ก็ทำให้ภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่เข้าใจกว้างขวางได้เหมือนกัน ข้าพเจ้าได้ใช้ฝึกศิษย์ด้วยวิธีดังจะกล่าวต่อไปนี้.

ให้ผู้ศึกษากำหนดจำหัวข้อในหนังสือเล่มนี้ให้ได้ตลอด เอาแต่ใจความ ไม่ต้องจำถึงพยัญชนะ, แต่คนอ่านแล้วถอดใจความจำไว้ในใจไม่ได้ ยังต้องท่องเหมือนท่องสวดมนต์; กำหนดระยะให้ ๓ เดือน (ยกเดือนต้นไว้สำหรับยุรพกิจอย่างอื่น), เดือนที่ ๒ วินัยบัญญัติ เดือนที่ ๓ ธรรมวิภาค, เดือนท้ายเมื่อจวนสึก คิหิปฏิบัติ. ผู้ประกอบด้วยสติปัญญา อุตสาหะกล้าก็ได้เร็วกว่ากำหนด, ปานกลางก็พอทันกำหนด, ทรามก็ไม่ทันกำหนด. ในระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น ในชั้นต้น เมื่อถึงกถาอะไรได้สอบถามให้เล่าหัวข้อเหล่านั้นให้ฟังจนเห็นว่าขึ้นใจแล้ว. ส่วนวินัยให้ผูกเป็นปัญหาให้ตัดสิน, ปัญหานั้นให้ตัดสินได้ด้วยเทียบตามแบบ เช่น " ภิกษุพยาบาลคนไข้ วางยาผิด คนไข้ตาย, จะต้องปาราชิกหรือไม่ ? " ผู้ตอบต้องใคร่ครวญดูเจตนาของผู้วางยาว่า เหมือนกับเจตนาของผู้ที่กล่าวไว้ในแบบหรือไม่ ? เท่านี้ก็ตัดสินได้. ถึงธรรมวิภาคและคิหิปฏิบัติก็มีปัญหาถามเหมือนกัน เช่น " อย่างไร ความคบสัตบุรุษเป็นต้น จึงเป็นเครื่องเจริญของมนุษย์ ? " ในที่นี้ผู้ตอบต้องอธิบายตามความเห็นของตนให้สมแก่รูปปัญหา. อีกข้อหนึ่ง " ทรัพย์ที่จับจ่ายด้วยประการไร จึงได้ชื่อว่าเป็นประโยชน์ ? " ในที่นี้ต้องเอากระทู้ความในหมวดที่ว่าด้วยประโยชน์เกิดแต่การถือเอาโภคทรัพย์ มาอธิบายแก้ให้สมรูปปัญหา. เมื่อถึงกำหนด ได้มีการสอบความรู้ใน ๓ อย่างนั้น เพื่อเป็นอุบายให้เอาใจใส่ดีขึ้น.

ยังมีวิธีที่ช่วยทำให้ผู้บวชใหม่ ได้ความรู้กว้างขวางออกไปกว่านี้อีก. ส่วนวินัย ถามปัญหาให้เทียบตามแบบไม่ได้ เช่น " ภิกษุตีเด็ก ต้องอาบัติอะไร ? " ในแบบมีแต่ว่าตีภิกษุต้องปาจิตตีย์. เช่นนี้ทำให้ค้นคว้าในสิกขาเล่มใหญ่ พอพบแล้วก็จำได้ทันที. ส่วนธรรมวิภาคนั้นได้แจกกระทู้พุทธภาษิต เช่น " คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร, ได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ " วันละข้อ. แจกให้อย่างเดียวกันหมด ให้ไปแต่งแก้แล้วนำมาอ่านในที่ประชุมในกำหนด; ผู้แต่งต้องตริตรองด้วยน้ำใจให้เห็นเองก่อนว่า " ความเพียรเป็นเหตุ, ความล่วงทุกข์เป็นผล. ความสัตย์เป็นเหตุ, ชื่อเสียงเป็นผล; " จึงจะเรียงความแต่งมาอ่านได้ ในเวลาที่อ่าน ต่างคนก็ต่างมุ่งฟังของกันและกัน. เมื่อใครอธิบายดี ก็จำไว้, และที่สุดได้รับวินิจฉัย ว่าถูกหรือผิด. ข้อนี้เป็นเหตุให้ค้นคว้าข้อความในหนังสือธรรมมาอธิบาย ได้ความรู้กว้างขวางและตริตรองเห็นความดี เห็นความชั่ว ด้วยน้ำใจเอง.

หนังสือเล่มนี้ แต่งขึ้นสำหรับสอนภิกษุสามเณรบวชใหม่ให้พอควรแก่เวลาจะศึกษาได้ จึงตั้งชื่อว่า นวโกวาท และมีข้อความแต่โดยย่อ ๆ เพียงเท่านี้.

กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
วัดบวรนิเวศวิหาร
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๘


๑. มหาขันธก์, บุพพสิกขาวรรณนา, วินัยมุข.
๒. วิธีสอนแบบนี้ ภายหลังได้ทรงรวบรวมขึ้นเป็นหนังสือพุทธศาสนสุภาษิต.