นิทานเวตาล เรื่องที่ ๗

จาก วิกิซอร์ซ
กลับไปหน้าหลัก
ก่อนหน้า ถัดไป

เวตาลเล่าว่า ยังมีเมืองชื่อ กุสมาวดี พระราชาคือท้าว สุพิจาร มีพระราชธิดาทรงนามนาง จันทร์ประภา เป็นนางงามยิ่งหญิงทั้งหลายและทรงชนมายุควรแก่การวิวาหะ

วันหนึ่งในวสันตฤดู พระราชธิดาแวดล้อมด้วยบริวาร เที่ยวชมพระราชอุทยาน ฤดูนั้นเป็นฤดูไม้เปลี่ยนใบแลผลิดอกงามไปทั้งสวน พระราชธิดาทรงเพลิดเพลินชมพรรณไม้ แลสนุกในการเย้าหยอกของหมู่นางที่ตามเสด็จ บ้างก็เก็บดอกไม้ไล่ซัดกันเป็นพวกๆ บ้างก็วิ่งแข่งกันตามทางอันราบรื่น บ้างก็ปีนต้นไม้เก็บดอกแลผล บางพวกก็เพียรจับเพื่อนกันผลักลงสระ เป็นเวลาที่รื่นรมย์ทั้งพวก ส่วนพระราชธิดานั้นทรงสนุกในการเล่นของนางทั้งหลาย แลทรงเข้าช่วยเก็บดอกไม้ซัด แลผลักคนลงสระมากกว่าคนอื่นกล้าทำ เพราะนางเป็นราชกุมารีไม่มีใครซัดดอกไม้ตอบหรือผลักลงสระได้
ในวันก่อนเจ้าหน้าที่เที่ยวไล่คนให้ออกไปพ้นราชอุทยาน เพราะข้างในจะเสด็จออกนั้น เผอิญมีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ มนัสวี เป็นบุตรพราหมณ์ แลเป็นผู้มีรูปร่างงดงามนัก เที่ยวเล่นในสวนแลมานอนหลับอยู่ในที่กำบังใต้ร่มไม้ เจ้าหน้าที่ไม่ทันเห็นจึงมิได้ปลุกให้ตื่นแลไล่ไปให้พ้นก่อนที่พระราชธิดาเสด็จออกชมราชอุทยาน แม้ในเวลาที่นางจันทร์ประภาแลบริวารมาเล่นอยู่แล้วนั้น มนัสวีพราหมณ์หนุ่มก็ยังหลับเป็นสุขอยู่
ฝ่ายนางจันทร์ประภาพระราชธิดาทรงวิ่งแลขว้างดอกไม้จนเหนื่อยแล้วก็หยุดเล่น เสด็จทรงดำเนินไปองค์เดียวห่างนางตามเสด็จทั้งหลาย โดยหวังจะเสด็จไปพักที่ตำหนักในสวน ขณะนั้นมนัสวีนอนอยู่ใกล้ทางดำเนิน แลได้นอนหลับมานานจนใกล้จะตื่นอยู่แล้ว ครั้นได้ยินเสียงนางทรงดำเนินร้องเพลงผ่านไปใกล้ๆ มนัสวีก็ตื่นแลลุกขึ้นนั่ง ตาสบพระเนตรพระราชธิดาต่างก็เกิดเสน่หาขึ้นในทันใด
พระวิกรมาทิตย์ตรัสแก่เวตาลว่า
"ไม่จริง หญิงกับชายจะรักกันในนาทีแรกที่สบตากันนั้นไม่มีในโลก ข้าไม่เชื่อเลยว่าพระกามเทพจะทรงทำอย่างที่เอ็งว่า" พระราชาตรัสเช่นนี้ เพราะข้อที่ไม่ทรงเชื่อนั้นได้เกิดแก่พระองค์เองหลายครั้งแล้ว แลไม่เป็นผลดีเลยจนครั้งเดียว เวตาลตอบว่า
"เสน่หาที่เกิดในทันทีที่หญิงกับชายได้เห็นกันเป็นครั้งแรกนั้นเป็นของมีแน่นอน จะปฏิเสธเสียอย่างไรได้" พระวิกรมาทิตย์ตรัสว่า
"ถ้าเช่นนั้นเอ็งจะอ้างหลักฐานได้ดอกกระมัง" เวตาลตอบว่า
"ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องอ้างหลักฐาน เพราะมนุษย์ชายหญิงย่อมเป็นอย่างนั้นอยู่มากด้วยกันแล้ว ความโง่ของมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งของพระราชา...."
พระวิกรมาทิตย์ตรัสว่า "เอ็งจะเล่านิทานก็เล่าไป หรือไม่เล่าก็นิ่งเสีย"
เวตาลเล่าต่อไปว่า เมื่อพระราชธิดาแลมนัสวีพราหมณ์หนุ่มได้สบตากันเป็นครั้งแรก ดังนั้นก็มีผลแปลกที่สุด คือ มนัสวีทนความรักรุมรึงในใจที่เกิดในทันทีไม่ได้ ก็ล้มลงสลบไปกับที่ ฝ่ายพระราชธิดาทรงเห็นดังนั้น พระชงฆ์ก็อ่อนแลพระกายก็สั่น ทรงล้มสลบไปเหมือนกัน มิช้าพวกสาวใช้ตามไปพบพระราชบุตรีเป็นดังนั้น ก็ตกใจช่วยกันเชิญพระองค์ไปทรงวอกลับคืนเข้าพระราชวัง
ฝ่ายมนัสวีสลบแน่นิ่งไม่รู้สึกตัวอยู่ช้านานจนมีพราหมณ์ผู้มีวิชา ๒ คน ชื่อ ศศี คนหนึ่ง มูลเทวะ คนหนึ่ง เดินเข้าไปในสวนหลวงพบพราหมณ์หนุ่มนอนสลบอยู่ พราหมณ์มูลเทวะจึงกล่าวแก่เพื่อนว่า
"ชายหนุ่มมานอนสลบอยู่กับพื้นดินเช่นนี้ เพราะเหตุใด" พราหมณ์ศศีกล่าวว่า
"คงจะเป็นด้วยมีนางงามยิงศรคือตาจากธนูคือคิ้วถูกชายหนุ่มคนนี้ล้มลงสลบไป" พราหมณ์มูลเทวะกล่าวว่า
"เราควรจะแก้ไขให้ฟื้นขึ้น" พราหมณ์ศศีถามว่า
"ประโยชน์อะไร" พราหมณ์มูลเทวะไม่ฟังเพื่อนทัดทาน วิ่งไปที่สระน้ำเอาปลายผ้าชุบน้ำมารดพราหมณ์หนุ่ม แลเช็ดหน้าให้ แล้วพยุงตัวให้นั่งขึ้น สักครู่หนึ่งพราหมณ์ก็ได้สติคืนมา พราหมณ์ทั้ง ๒ สังเกตเห็นได้ว่าเป็นโรคใจยิ่งกว่าโรคกาย จึงถามว่าเหตุใดจึงมานอนสลบอยู่ในราชอุทยาน มนัสวีกล่าวว่า
"บุรุษพึงเล่าความทุกข์ให้ฟังแต่เฉพาะผู้ที่จะช่วยแก้ทุกข์ได้ การกล่าวทุกข์ให้ผู้ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วช่วยระงับทุกข์ไม่ได้นั้นหาประโยชน์มิได้ ผู้มีทุกข์ไม่ได้ดีอะไรจากคำกล่าวว่าสงสาร หรือวาจาเช่นกัน"
พราหมณ์ทั้งสองได้ฟังมนัสวีกล่าวดังนั้น ก็พูดจาประเล้าประโลมเอาใจจนเห็นว่ากรุณาจริง มนัสวีจึงเล่าว่า
"พระราชธิดาเสด็จมาในสวนนี้เมื่อตอนบ่ายวันนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นนางก็เกิดความรักรุมรึงขึ้นในใจทันที มิอาจทรงกายอยู่ได้ ก็ล้มสลบลงอยู่ดังที่ท่านมาพบนั้น ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้นางผู้เป็นพระราชธิดา ข้าพเจ้าก็คงตาย ถ้าได้จึงจะคงชีวิตต่อไปได้" พราหมณ์มูลเทวะกล่าวว่า
"เจ้าจงมากับเราเถิด ข้าจะพยายามด้วยอุบายที่ข้าสามารถจะทำได้ทุกประการให้เจ้าได้นางดังประสงค์ แลถ้าข้าทำไม่สำเร็จ ข้าสัญญาจะให้เจ้าเป็นผู้มีทรัพย์มากมาย ไม่ต้องพึ่งใครในโลกอีกต่อไป" มนัสวีกล่าวว่า
"พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมณีขึ้นในโลกนี้เป็นอันมาก โดยพระประสงค์จะทรงอุปการะเหล่าชน แต่มุกดาคือสตรีนั้นเลิศยิ่งมณีทั้งหลาย บุรุษมีความใคร่ทรัพย์ก็เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่สตรี แลชายที่สละภริยาเสียแล้วแม้จะมีสมบัติก็ใช้อะไรไม่ได้ ชายที่ไม่มีเมียสวยนั้นดีกว่าดิรัจฉานที่ตรงไหน จะต่ำช้าไปกว่าสัตว์เลวทรามเสียอีก ทรัพย์นั้นเป็นผลของความอยู่ในธรรม ความสุขเป็นผลของความมีทรัพย์ แลภริยาเป็นผลของความมีสุข ชายไม่มีเมียจะมีความสุขอย่างไรได้" มนัสวีพูดเพ้อพร่ำไปในทำนองนี้ช้านาน เพราะความหลงรัก เราท่านฟังดูก็น่าจะเห็นแปลก แต่อาจเป็นอาการธรรมดาของโรครักก็เป็นได้
พราหมณ์มูลเทวะกล่าวว่า "สิ่งใดซึ่งเจ้าประสงค์ สิ่งนั้นข้าจะทำให้สำเร็จได้ด้วยความกรุณาของพระผู้เป็นเจ้า" มนัสวีกล่าวว่า
"ข้าแต่ท่านผู้เป็นบัณฑิต ขอท่านจงโปรดให้ข้าพเจ้าได้นางสมประสงค์เถิด"
พราหมณ์มูลเทวะรับสัญญาจะจัดการให้สมหมาย แล้วพามนัสวีกลับไปบ้านของมูลเทวะ เมื่อไปถึงบ้านแล้วก็รับรองเป็นอันดี เชิญให้นั่งในที่อันควรแล้วมูลเทวะก็ไปหยิบลูกอมมาสองลูก แล้วอธิบายที่ใช้แห่งลูกอมนั้นให้มนัสวีฟังว่า
"ในเรือนของเรานี้ มีวิชาลับซึ่งได้ส่งต่อเป็นมรดกกันมาหลายชั่วคน แลข้าใช้วิชานี้กระทำประโยชน์ให้เกิดแก่มนุษย์ แต่การใช้ความรู้ของข้านี้จะสำเร็จประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้ซึ่งมาขอให้ช่วยนั้นมีใจบริสุทธิ์แลตั้งใจจริงที่จะรับประโยชน์ ลูกอมลูกนี้ถ้าเจ้าอมเข้าในปาก เจ้าจะกลายเป็นหญิงอายุ ๑๒ ปี ถ้าเอาออกจากปากจึงจะคืนรูปเดิม ถ้าข้าให้ลูกอมนี้แก่เจ้า เจ้าต้องตั้งใจแน่นอนว่าจะเอาไปใช้แต่ทางที่ดี มิฉะนั้นจะเกิดเหตุเป็นทุกข์แก่เจ้าอย่างใหญ่ เหตุฉะนั้นเจ้าจงตรึกตรองในใจให้ดีเสียก่อนจึงรับลูกอมนี้ไปใช้ ถ้าไม่แน่ใจก็อย่ารับไปเลย"
เวตาลเล่าต่อไปว่า เมื่อพราหมณ์มูลเทวะกล่าวเช่นนี้ ชายหนุ่มซึ่งกำลังรักหญิงอย่างรุนแรงย่อมจะนึกแน่ใจแลกล่าวรับรองทันทีว่า ตนเป็นผู้มีใจบริสุทธิ์แลตั้งใจจริงที่สุดในโลก แลมนัสวีก็ได้กล่าวยืนยันเช่นนั้นในทันที มูลเทวะจึงส่งลูกอมลูกหนึ่งให้มนัสวีอมไว้ในปาก แต่กำชับให้ระวังมิให้กลืนล่วงลำคอเข้าไปเป็นอันขาด ส่วนลูกอมอีกลูกหนึ่งนั้นมูลเทวะอมเอง คนทั้งสองก็มีรูปเปลี่ยนไป มนัสวีเป็นหญิงสาวสวย มูลเทวะเป็นพราหมณ์แก่อายุไม่ต่ำกว่า ๘๐ ปี
เมื่อแปลงตัวดังนี้แล้ว คนทั้งสองก็เดินไปสู่พระราชวัง เข้าเฝ้าท้าวสุพิจารพระราชา ตรงเข้าไปยังที่เสด็จออกโดยที่มิต้องมีผู้ทูลเบิกเพราะพราหมณ์ผู้ใหญ่มีเกียรติที่จะทำเช่นนั้นได้
ฝ่ายพระราชาเมื่อทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ผู้มีอายุมากเข้าไปในท้องพระโรง ก็เสด็จลุกขึ้นต้อนรับเป็นอันดี เชื้อเชิญให้พราหมณ์แลนางซึ่งปรากฏเหมือนหนึ่งลูกสาวนั่งในที่อันควร พราหมณ์มูลเทวะก็ท่องมนตร์แลถวายพระพรพระราชาว่า
"พระผู้เป็นเจ้าองค์ใด เมื่อทรงรูปเป็นคนค่อมได้ล่อลวงท้าวพลีผู้เป็นราชาทรงศักดิ์ใหญ่ เมื่อเป็นนักรบผู้แกล้วกล้าได้นำกองทัพลิงจองถนนข้ามสมุทร เมื่อเป็นโคบาลได้ยกเขาโควรรธน์ชูไว้ในฝ่าพระหัตถ์ เป็นเครื่องป้องกันคนเลี้ยงโคทั้งชายแลหญิงให้พ้นภัย คือสายฟ้าอันมาแต่สวรรค์ ขอพระผู้เป็นเจ้าองค์นั้น จงคุ้มครองพระองค์ผู้เป็นพระราชาให้ทรงสวัสดิ์มีสุขทุกทิวาราตรี"
ท้าวสุพิจารทรงฟังเพลิน จนพราหมณ์หยุดพูดแล้วจึงรับสั่งถามว่า
"ท่านผู้เป็นอาจารย์มาจากสำนักใด" มูลเทวะทูลว่า
"เมืองของข้าพเจ้าอยู่ฟากเหนือแห่งแม่น้ำพระคงคา ข้าพเจ้าได้เที่ยวไปจากบ้านถึงประเทศที่ไกล แลได้พบนางคนนี้สมควรเป็นภริยาแห่งบุตรข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงพานางกลับบ้าน แต่ในเวลาที่ข้าพเจ้าไม่อยู่นั้น ข้าวปลาอาหารไม่มีพอคนกิน คนในละแวกบ้านของข้าพเจ้าอดอาหาร จะอยู่ไปในที่นั้นไม่ได้ ภริยาแลบุตรข้าพเจ้าก็อพยพไปอยู่ที่อื่น ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าที่ไหน แต่ข้าพเจ้ามีนางรุ่นสาวคนนี้เป็นเครื่องห่วงอยู่ จะออกเที่ยวตามบุตรแลภริยาก็ไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าได้ยินชนเลื่องลือเกียรติพระองค์ผู้ทรงธรรม มีพระหฤทัยประกอบด้วยกรุณา ข้าพเจ้าจึงกล่าวแก่ตัวเองว่าจะพานางมาถวายฝากไว้ เพื่อได้ทรงดูแลมิให้ภัยต่างๆ มีมาถึงนางจนกว่าข้าพเจ้าจะกลับ ขอพระองค์จงโปรดรับนางไว้ตามปรารถนาของข้าพเจ้าเถิด"
ท้าวสุพิจารได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงนั่งนิ่งตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่ง เพราะคำที่พราหมณ์กล่าวนั้นแม้เป็นการยกยอถูกต้องตามพระราชหฤทัยก็จริง แต่ทรงเห็นภัยมีอยู่ทั้งสองทาง ทางหนึ่งถ้าทรงรับตามปรารถนาแห่งพราหมณ์ ก็คือรับฝากนางสาวซึ่งรูปแลเค้าหน้างดงาม พูดจาสำเนียงไพเราะ แลทั้งมีตากระเดียดจะเป็นนักเลงอยู่ด้วย การรับฝากนางชนิดนี้ไว้ในเรือนนั้น เป็นภัยอยู่ในตัวไม่ต้องอธิบาย แต่ถ้าไม่รับฝากก็มีภัยอีกทางหนึ่ง คือจะถูกพราหมณ์สาปให้พระองค์แลบ้านเมืองย่อยยับไปด้วยอำนาจความโกรธของพราหมณ์ พระราชาทรงเทียบภัยทั้ง ๒ ข้าง เห็นว่าภัยข้างถูกสาปนั้นหนักกว่า จึงรับสั่งแก่พราหมณ์ว่า
"ข้าแต่ท่านผู้เกิดจากเศียรแห่งพระพรหม ข้าพเจ้าจะรับฝากนางรุ่นสาวนี้ไว้ตามปรารถนาของท่าน"
พราหมณ์มูลเทวะได้ฟังดังนั้น ก็ถวายพระพรพระราชาด้วยถ้อยคำอันดีแล้วรับพระราชทานพลูแลออกจากที่เฝ้าไป (เป็นธรรมเนียมเจ้าของบ้านต้องให้ใบพลูแลเครื่องเทศให้แขกเคี้ยว เมื่อเวลาจะแนะให้ลากลับ)
ครั้นพราหมณ์แก่ออกจากที่เฝ้าไปแล้ว พระราชารับสั่งเรียกนางจันทร์ประภาพระราชบุตรีเข้ามาเฝ้า ตรัสว่า
"นางนี้เป็นคู่หมั้นกับพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งแลพราหมณ์แก่ผู้เป็นพ่อผัวพามาฝาก ให้บิดาคุ้มครองรักษาไว้จนถึงเวลาที่พราหมณ์จะกลับมารับ เจ้าจงพานางเข้าไปข้างในให้อยู่ด้วยกันกับเจ้า เจ้าจงเอาใจใส่ดูแลด้วยดี ไม่ให้ไปพ้นจากตัวเจ้าทั้งกลางวันแลกลางคืน ทั้งเวลาหลับเวลาตื่นเวลากิน ทั้งเมื่ออยู่ในแลไปนอกพระราชวัง"
นางจันทร์ประภาพระราชธิดาได้ฟังรับสั่งดังนั้นก็พานางซึ่งเป็นสะใภ้พราหมณ์ไปยังตำหนักแห่งนาง ตำหนักนั้นเดิมเป็นที่สำราญแลที่สนุก แต่บัดนี้เป็นที่ซึ่งมีอาการเหี่ยวแห้งทำให้เกิดหงอยเหงาในใจ หน้าต่างก็ชักม่านให้มืด แลสาวใช้ที่เดินไปมาก็ระวังฝีเท้ามิให้ดังประหนึ่งว่า ความเดินดังจะทำให้เกิดความปวดศีรษะแก่ใครผู้อยู่
ฝ่ายพระราชธิดา เมื่อพาสะใภ้พราหมณ์ไปถึงตำหนักแล้ว ก็ทรงเอาใจใส่เป็นอันดีแลตรัสกับนางมากกว่าที่เคยตรัสเป็นปกติในหมู่นั้น จะเป็นด้วยนางสะใภ้พราหมณ์เป็นคนมีตาเป็นนักเลง หรือจะเป็นด้วยพระราชธิดาทรงรู้สึกด้วยไม่มีเหตุอะไรที่จะทราบได้ ว่าการจะเป็นไปดังซึ่งจะเป็นไปก็ตาม พระองค์ (พระวิกรมาทิตย์) ย่อมจะทรงทราบว่าอาจเป็นได้ด้วยเหตุทั้ง ๒ อย่าง
แต่ข้อที่จะเป็นด้วยเหตุใดนั้นไม่สู้สำคัญนัก เพราะนางสะใภ้พราหมณ์สังเกตเห็นได้ว่า พระราชธิดามีความเศร้าหฤทัยปรากฏอยู่ที่พระนลาฏ ครั้นเมื่อเข้าที่บรรทมด้วยกันแล้ว นางสะใภ้พราหมณ์จึงทูลถามว่า เพราะเหตุใดพระราชธิดาจึงมีทุกข์ นางจันทร์ประภาจึงตรัสเล่าเรื่องน่าสงสารให้นางสะใภ้พราหมณ์ฟังว่า
"วันหนึ่งในฤดูวสันต์ ข้ากับบริวารพากันไปเดินเล่นในอุทยาน ข้าได้พบพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งรูปร่างงดงามยิ่งนัก ครั้นตาเราทั้งสองสบกันเข้าก็ล้มลงสลบไป แลข้าก็ล้มแน่นิ่งไปเหมือนกัน ฝ่ายนางทั้งหลายซึ่งเป็นบริวารของข้า เมื่อเห็นข้าเป็นดังนั้นก็พาข้าคืนเข้าพระราชวัง ทั้งที่ข้ายังไม่รู้สึกตัว เหตุดังนั้นข้าไม่รู้ว่าพราหมณ์หนุ่มคนนั้นชื่อไร บ้านอยู่ที่ไหน แต่ความงามของเขาพิมพ์ไว้ในความทรงจำของข้า แลข้าไม่มีปรารถนาจะดื่มแลกินเลย เหตุฉะนี้ผิวพรรณแห่งข้าจึงเผือดซีดแลกายซูบผอมไป"
พระราชธิดาตรัสดังนี้แล้วก็ทรงถอนใจใหญ่ มีสำเนียงซึ่งมนัสวีผู้แปลงเป็นสะใภ้พราหมณ์ได้ยินไพเราะที่สุด แลพระราชธิดาทรงพยากรณ์ตามซึ่งหญิงผู้อยู่ในความอั้นปัญญาในเรื่องรัก มักจะพยากรณ์ว่าคงจะสิ้นพระชนม์ด้วยอาการฉับพลันในตอนต้นเดือนหน้านั้นเอง นางสะใภ้พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็แสร้งก้มหน้าทูลถามด้วยกิริยาเอียงอายว่า
"ข้าพเจ้าทำให้พราหมณ์หนุ่มผู้เป็นที่รักของนางเข้ามาเฝ้าได้ในบัดนี้ นางจะประทานอะไรแก่ข้าพเจ้าเป็นรางวัล" พระราชธิดาตรัสตอบว่า
"ข้าจะยอมเป็นทาสของนางรับใช้การอย่างต่ำที่สุด แลจะยืนพนมมือคอยปฏิบัตินางผู้มีคุณ"
นางสะใภ้พราหมณ์ได้ยินรับสั่งดังนั้น ก็คายลูกอมออกจากปากกลายเป็นมนัสวีพราหมณ์หนุ่มเข้าโลมพระราชธิดา นางจันทร์ประภาก็ทรงละอายหฤทัยยิ่งนัก
"ข้าพเจ้าจะเล่าถวายพิสดารว่า..." พระวิกรมาทิตย์ตรัสตอบว่า
"เอ็งไม่ต้องเล่าเรื่องตรงนั้นพิสดาร ข้าไม่อยากฟังของเอ็ง"
เวตาลเล่าต่อไปว่า ฝ่ายมนัสวีพราหมณ์หนุ่ม เมื่อได้เข้าถึงพระองค์พระราชธิดาสมปรารถนา ดังนั้น ก็คำนึงถึงลักษณะแห่งวิวาหะทั้งแปดอย่าง คือ

(๑) วิวาหะลักษณะพราหมณ์ คือบิดายกลูกสาวให้แก่พราหมณ์ (๒) วิวาหะโดยลักษณะเทวดา คือบิดายกลูกสาวให้แก่พราหมณ์ผู้กระทำพิธีบูชายัญ เป็นค่าจ้างในการกระทำพิธีนั้น (๓) วิวาหะโดยลักษณะฤาษี คือบิดายกลูกสาวให้แก่ชายซึ่งให้โคกระบือแก่บิดาคู่หนึ่งหรือสองคู่ (๔) วิวาหะโดยลักษณะประชาบดี คือเมื่อบิดาแห่งหญิงยกบุตรีให้แก่ชายแลกล่าวแก่คนทั้งสองว่า "เจ้าจงร่วมกันประพฤติธรรม" (๕) วิวาหะโดยลักษณะอสูร คือเมื่อชายได้ให้ทรัพย์แก่ญาติแห่งหญิงจนเต็มที่ซึ่งจะให้ได้แล้ว บิดาหญิงยกบุตรีให้เป็นภริยา (๖) วิวาหะโดยลักษณะรากษส คือชายแย่งหญิงได้ในการรบสู้กับผู้ปกครองของหญิง (๗) วิวาหะโดยลักษณะคนธรรพ์ คือเมื่อหญิงกับชายได้กันเองด้วยความเต็มใจทั้งสองฝ่าย (๘) วิวาหะโดยลักษณะปิศาจ คือชายลอบรักหญิงเมื่อเวลาหลับหรือเมา หรือสลบไม่มีสติ (มนูธรรมศาสตร์ ๓:๒๐ แลต่อไป)


มนัสวีคำนึงถึงลักษณะวิวาหะทั้งแปดนี้ เห็นว่าลักษณะคนธรรพ์เป็นลักษณะที่เหมาะกว่าอย่างอื่น เพราะพระราชธิดาเป็นนางสูงศักดิ์ มีพระชนมายุสมควรแก่การวิวาหะแล้ว แลมีอำนาจโดยธรรมเนียมที่จะร้องขอให้พระราชบิดาอำนวยการสยุมพร เมื่อพระราชธิดาได้เลือกพระสามีตามแบบอย่างซึ่งพระราม พระอรชุน พระนลเป็นต้น ได้พระราชธิดาแห่งกษัตริย์ทรงนามเลื่องลือมาเป็นชายา การที่มนัสวีพราหมณ์หนุ่มนึกเอาพระนามกษัตริย์ทรงมีเกียรติในโบราณกาลมาเข้าแถวกับตนเองเช่นนี้ ก็แสดงความกำเริบใจมิใช่น้อย แต่ความฮึกเหิมเช่นนั้น เป็นอาการของผู้ที่กำลังจะได้ลูกสาวของพระราชาเป็นภริยา
เมื่อมนัสวีได้พระราชธิดาสมประสงค์แล้ว ก็อยู่ภายในพระราชวังประมาณห้าเดือนเศษ เปลี่ยนแปลงกายเป็นชายแลหญิงทุกวันทุกคืน จนทราบได้ว่าไม่ช้าก็จะได้เป็นพ่อ...
เวตาลกล่าวต่อไปว่า ข้าพเจ้าก็รู้นิสัยคนมากอยู่ แต่นิสัยของมนัสวีนั้นแปลกกับนิสัยคนอื่นในความรู้ของข้าพเจ้า คนอื่นๆ เมื่อได้เปลี่ยนจากเพศชายเป็นเพศหญิง แลเปลี่ยนจากเพศหญิงเป็นเพศชายทุก ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ก็คงจะเป็นความเปลี่ยนที่มากพอในวันหนึ่งๆ แต่มนัสวียังต้องการเปลี่ยนอิริยาบถให้ยิ่งกว่านั้นอีก ไม่พอใจในการที่ต้องแอบซ่อนอยู่ในตำหนักทุกวันทุกคืน ต้องการจะเที่ยวเปลี่ยนที่ไปบ้าง จนถึงแก่กล่าวโทษพระราชธิดาว่าไม่พาออกเที่ยวเปลี่ยนอากาศ
ส่วนพระราชธิดานั้น เราท่านน่าจะคิดเห็นว่าเมื่อได้ล้มสลบอยู่กับที่ เพราะความเสน่หาซึ่งเกิดในนาทีแรกที่ได้พบชาย แลเมื่อฟื้นจากสลบแล้วยังได้บำเพ็ญพระองค์จะไปสู่ยมโลก เพราะรักยังไม่สำเร็จดังได้กล่าวมาแล้วเช่นนี้ ครั้นเมื่อได้ชายที่รักมาสมหมาย ก็น่าจะยังไม่เบื่อ ไม่นั่งหาว แลไม่แสดงพิโรธเล็กๆ น้อยๆ ก่อนปีหนึ่งจากวันที่ได้ชายนั้นมาเป็นสามี แต่การหาเป็นเช่นนั้นไม่ นางจันทร์ประภาพระราชธิดาทรงเบื่อมนัสวี แลเบื่อความไม่เห็นคนอื่นนอกจากมนัสวี เสมอกับมนัสวีเบื่อพระราชธิดา แลความไม่เห็นคนอื่นนอกจากพระราชธิดา จนนางใกล้จะชวนสามีออกเที่ยวอยู่แล้วหลายครั้ง
แต่ครั้นเมื่อสามีกล่าวชวนนางไปเที่ยวให้พ้นความอยู่ด้วยกันโดยจำเพาะไปบ้าง นางก็กลับทรงคิดขุ่นเคืองว่า มนัสวีเบื่อความอยู่ด้วยกันสองต่อสอง จึงตรัสประชดว่าคนมีคู่แล้ว ถ้าแม้นหมักหมมคลุกคลีกันอยู่สองต่อสองแลทะเลาะกันวันยังค่ำๆ ก็เป็นคู่ที่โง่ที่สุด มนัสวีแก้ว่า เขาไม่ได้คิดเบื่อนาง เขาไม่ต้องการอะไรยิ่งกว่าที่จะพานางออกแสดงให้รู้กันทั่วโลกว่าเป็นภริยาของเขา แต่นางก็ยังไม่เป็นที่พอหฤทัย ต้องการโต้ตอบกันอยู่อีกช้านาน ในที่สุดเป็นอันตกลงว่าจะเลิกขังตัวเองและออกเที่ยวในที่ต่างๆ นางจึงไปเฝ้าทูลท้าวสุพิจารพระราชบิดาว่านางแลหญิงสะใภ้พราหมณ์ต้องการออกเที่ยวกินลม แลไปในที่สำราญต่างๆ เพื่อผาสุก
ท้าวสุพิจารทรงยินดีที่ได้เห็นพระราชธิดามีอาการน้ำนวลขึ้น จึงตรัสอำนวยว่า เสด็จเที่ยวเตร่ไปในที่ใดที่สมควรแก่เกียรติยศ ก็แล้วแต่นางจะประสงค์ ดังนี้พระราชธิดาแลมนัสวีผู้สามี (ในรูปหญิงสะใภ้พราหมณ์) ก็ออกเที่ยวในที่ต่างๆ ตามสำราญ
วันหนึ่ง ท้าวสุพิจารเสด็จไปเป็นเกียรติยศแก่การแต่งงานที่บ้านมหาอำมาตย์ ผู้อยู่ในตำแหน่งโกษาธิบดี พระราชธิดาแลหญิงสะใภ้พราหมณ์ก็ตามเสด็จด้วย
ฝ่ายชายหนุ่มผู้เป็นบุตรโกษาธิบดี เมื่อได้เห็นหญิงสะใภ้พราหมณ์มีรูปร่างแลหน้าตางดงาม ก็หลงรักในทันใด เป็นครั้งที่สองในเรื่องนี้ ที่ชายรักหญิงในนาทีแรกที่เห็นหน้า ชายหนุ่มจึงกล่าวแก่เพื่อนสนิทของตนตามเคยว่า
"ถ้าข้าได้นางนั้น ข้าจะมีสำราญในโลก ถ้าไม่ได้ข้าจะต้องสละชีวิตเสีย"
ฝ่ายพระราชานั้นเมื่อได้ทรงสำราญในการเลี้ยงแล้ว ก็เสด็จคืนเข้าพระราชวังพร้อมด้วยพระราชธิดาแลผู้อื่นๆ ซึ่งตามเสด็จ
ส่วนบุตรโกษาธิบดีนั้น ครั้นนางสะใภ้พราหมณ์ตามเสด็จกลับเข้าพระราชวังแล้วก็เดือดร้อนกระวนกระวายเป็นกำลัง ตั้งแต่นั้นมาก็มีอาการซูบซีดเพราะทิ้งข้าวทิ้งน้ำแลหลับนอนไม่เป็นปกติ เพื่อนสนิทรู้ความในใจเป็นการลับไม่บอกให้ใครทราบ แต่ไม่นิ่งอยู่ได้นาน เพราะอดไม่ได้นั้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งอธิบายว่า บุตรโกษาธิบดีป่วยอาการหนัก ถ้าขืนนิ่งเสียก็คงจะถึงชีวิต ดังนี้ความลับนั้นก็ทราบถึงโกษาธิบดีในสองสามวันนั้นเอง โกษาธิบดีนึกหนักใจในการที่บุตรชายป่วยนั้นอยู่แล้ว ครั้นได้ทราบสมุฏฐานแห่งโรคก็รีบเข้าเฝ้าพระราชา ทูลว่า
"ข้าแต่พระมหาราชา บุตรชายของข้าพเจ้ารักหญิงสะใภ้พราหมณ์ คลั่งไคล้มีอาการป่วยปางตาย ไม่กินไม่นอน เฝ้าแต่พร่ำเพ้อละเมอฝัน ขอพระองค์จงโปรดกรุณาประทานนางแก่บุตรข้าพเจ้าเพื่อให้คงชีวิตไปเถิด"
ท้าวสุพิจารได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงแสดงกิริยาพิโรธตรัสว่า
"เจ้าเป็นบ้าไปเสียแล้วหรือจึงมากล่าวเช่นนี้ ข้าเป็นพระราชาจะกระทำอยุติธรรมเช่นนั้นด้วยประการใด เจ้าเป็นผู้ใหญ่ย่อมจะทราบว่าเมื่อมีผู้พาผู้อยู่ในความปกครองมาฝากให้อยู่ในอารักขาแห่งผู้มิอาจให้อารักขาได้ ผู้รับฝากจะยกผู้อยู่ในความฝากนั้นไปให้ผู้อื่นไม่ได้เป็นอันขาด เจ้าก็เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่มีสติปัญญา เหตุไฉนจึงมาขอเช่นนี้"
โกษาธิบดีทราบแจ้งอยู่ในใจว่า พระราชาทรงปกครองบ้านเมืองได้ด้วยเขาเป็นผู้อุดหนุน ถ้าเขาไม่ได้อยู่รับราชการเมื่อใด การบ้านเมืองก็จะทรุดโทรมไป แลพระราชาก็จะต้องทรงรับความเดือดร้อน อนึ่งโกษาธิบดีรู้จักพระหฤทัยพระราชาอยู่ว่า มักจะโอนเอนไปได้เพื่อความสะดวกอันควรแก่รูปการณ์ จึงนึกในใจว่า "พระหฤทัยดังนี้อีกหน่อยก็คงเปลี่ยน" แต่มิได้กล่าวอะไร นั่งก้มหน้านิ่งแสดงกิริยาเหมือนผู้ที่สิ้นหวัง
ฝ่ายท้าวสุพิจารนั้น ประเดี๋ยวก็ตรัสกริ้ว ประเดี๋ยวก็ตรัสปลอบ ติโทษบ้าง ยกยอบ้าง เพื่อจะให้โกษาธิบดีเปิดปากทูลขอคำอันใดที่จะทำให้ทรงเห็นความเป็นไปในใจของเขาได้ แต่เขาก็นิ่งอึ้ง ไม่พูดจาอะไรเลย จนในที่สุดกราบถวายบังคมลาออกจากที่เฝ้า เดินน้ำตาคลอออกไ ปจนถึงประตูวัง จึงกล่าวแก่ตนเอง แต่มีผู้อื่นได้ยินว่า "ตัวกูนี้อดข้าวเสียสัก ๑๐ วัน ก็คงได้ไปโลกหน้าสมหวัง"
ครั้นเมื่อโกษาธิบดีกลับไปถึงบ้านแล้ว ก็เรียกบ่าวไพร่มาพร้อมกันเข้าไปเยี่ยมลูกชายในห้อง พบลูกชายนอนอยู่บนเสื่อ หน้าตาซูบซีดเพราะอดอาหาร บิดาจึงจับมือบุตรไว้ แล้วกระซิบดังพอให้ได้ยินกันทั่วว่า
"ลูกเอ๋ย พ่อจะแก้ไขอะไรก็ไม่ได้แล้ว จำเป็นจะต้องตายไปตามกัน"
ฝ่ายพวกบ่าวไพร่เมื่อได้ยินนายพูดดังนั้น ต่างคนก็หลีกออกไปจากห้องแล้วเล่าสู่เพื่อนกันฟัง แลเพื่อนก็เล่าต่อๆ กันไปว่า โกษาธิบดีมีจำนงจะสละชีวิตเสียแล้ว แลต่างคนต่างก็เข้าไปด้อมมองคอยดูว่านายจะทำจริงตามพูดหรือไม่ แลถ้ายอมตายจะตายอย่างไร ตายที่ไหน แลตายเมื่อไร การที่บ่าวไพร่ได้ทราบความตั้งใจแห่งนายเช่นนี้ ถ้าจะกล่าวว่าพากันเศร้าโศกเสียใจก็ไม่เชิง จะว่าไม่รักนายก็ว่าไม่ได้ เพราะนายเป็นผู้ใจดีมีกรุณาต่อบ่าวแต่ถึงกระนั้นบ่าวก็ใคร่รู้ใคร่เห็นลังเลครึ่งๆ กลางๆ ในใจไม่แน่ว่าอยากให้เหตุเกิดหรือไม่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความตื่นเต้นในใจตามธรรมดามนุษย์ซึ่งหาความยั่งยืนมิได้
ตรงนี้พระวิกรมาทิตย์ทรงแค้นเคืองในพระหฤทัย เพราะเหตุเวตาลกล่าวติเตียนธรรมดาแห่งมนุษย์ ทรงแสดงพิโรธให้เวตาลรู้สึกแต่มันทำเป็นไม่รู้สึก เล่าต่อไปว่า
เมื่อโกษาธิบดีได้อดข้าวอดน้ำอยู่แล้วถึงสามวัน อำมาตย์ผู้ใหญ่ก็ประชุมปรึกษากันว่า ถ้าพระราชาไม่ยินยอมตามคำร้องขอ ก็จะพากันไปถวายบังคมลาออกจากราชการไปบวชเป็นโยคี หรือไปทำอะไรที่แปลกๆ ต่างๆ การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะโกษาธิบดีเป็นหัวหน้าจูงราชการให้ดำเนินไปนั้นข้อหนึ่ง อีกข้อหนึ่งอำมาตย์เหล่านั้นเห็นว่า ก็เมื่อผู้ใหญ่อยู่ในตำแหน่งสูงถึงโกษาธิบดีแล้วทูลขอเท่านี้ยังไม่ได้ ต่อไปข้างหน้าใครจะทูลอะไรได้เล่า เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำราชการไปทำไม
เช้าวันรุ่งขึ้นข้าราชการทั้งหลายก็พร้อมกันเข้าไปเฝ้าท้าวสุพิจาร ทูลว่าบุตรของโกษาธิบดีใกล้จะถึงตายอยู่แล้ว เพราะเหตุหัวใจเต็มแลท้องว่าง ถ้าบุตรตาย บิดาซึ่งไม่ได้กินแลดื่มมาถึงสามวันแล้ว ก็จะพลอยตายด้วย ถ้าโกษาธิบดีตาย ราชการบ้านเมืองก็จะเกิดยุ่งเหยิงเพราะเขาเป็นนายคลังใหญ่รู้บัญชีทั้งปวง แลมีคำกล่าว่าในเวลานี้ บัญชีของบ้านเมืองนั้นปลวกกินเสียครึ่งหนึ่งแล้ว ที่ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่งก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะกรดหมึกกัดกระดาษขาดไปมาก บัญชีหาติดต่อกันได้ความประการใดไม่ เหตุดังนั้นข้าราชการทั้งหลายจึงประชุมพรอ้มกัน ทูลขอให้พระราชาประทานนางสะใภ้พราหมณ์แก่บุตรโกษาธิบดีดังประสงค์ ความตั้งมั่นในพระหฤทัยของพระราชานั้นทนข่าวปลวกแลกรดหมึกไม่ได้ จึงทรงคิดโอนเอนไปข้างจะยอม แต่ยังมีพระประสงค์จะแสดงความมั่นคงในพระหฤทัยให้คนทั้งหลายเห็น จึงตรัสว่าโกษาธิบดีแลบุตรชายเป็นคนมีคุณดี เป็นประโยชน์แก่ราชการเพียงไรก็ทรงทราบอยู่แล้ว แลมีพระราชประสงค์จะช่วยบิดาแลบุตรนั้นทุกทางที่จะทรงช่วยได้ปราศจากอสัตย์ แต่ในเรื่องนี้ได้ทรงรับสัญญาเสียแล้วว่าจะคุ้มครองนางที่พราหมณ์เฒ่านำมาฝากไว้ พระองค์จะยอมสวรรคตเสียสิบสองครั้ง ยิ่งกว่าที่จะกระทำการเป็นที่เสียสัญญาหรือปฏิบัติหน้าที่ปราศจากความสัตย์ ทั้งทรงแสดงธรรมะต่างๆ ซึ่งไม่สู้เกี่ยวแก่การขอแลการให้หญิงสะใภ้พราหมณ์อันเป็นปัญหาอยู่ในเวลานั้น แต่ข้าราชกรที่เฝ้าอยู่ก็พากันตั้งใจฟังคำตรัส เพราะไม่มีใครรู้พระหฤทัยพระราชาเท่าที่โกษาธิบดีรู้ จึงพากันเห็นจริงแลชมธรรมะที่ทรงแสดงให้ฟัง แลต่างคนก็นั่งนิ่งอยู่
ฝ่ายพระราชาทรงคอยอยู่ครู่หนึ่งให้ธรรมะซึมซาบเข้าไปในใจผู้ฟังแล้ว ก็ตรัสเสียใหม่ให้ผลแห่งคำสอนที่มีในใจข้าราชการเหล่านั้นค่อยเบาบางลงไป โดยที่ตรัสว่าธรรมะซึ่งทรงแสดงนั้น ได้ทรงรับเป็นคำสั่งสอนของพระราชบิดาแลพระราชมารดาซึ่งทรงธรรมอย่างสูงทั้งสองพระองค์ แลเป็นธรรมะซึ่งบุรุษพึงประพฤติแลเคารพโดยปกติ แต่ถ้าเกิดปัญหาแปลกธรรมดาแลผิดปกติ การดำเนินทางธรรมจะแผกเพี้ยนไปจากรอยเดิมบ้าง ถ้ายังเป็นธรรมอยู่ ก็อาจแผกเพี้ยนไปได้ เพราะการดำเนินตามรอยแคบนั้น ย่อมแสดงน้ำใจแคบ พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ชนทั้งหลายเห็นว่า พระองค์มิใช่พระราชาที่มีพระหฤทัยแคบ จึงพระราชทานอนุญาตให้ข้าราชการทั้งหลายกล่าวชี้แจงให้ทรงเห็นชอบว่าในการเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะต้องเสียสัญญาที่ประทานไว้แก่พราหมณ์เฒ่า แลเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะต้องประทานเมียของคนอื่นให้แก่บุตรชายโกษาธิบดี
ฝ่ายเหล่าอำมาตย์ที่เฝ้าอยู่นั้น เมื่อได้ยินพระราชารับสั่งข้างท้ายนี้ก็ดีใจ จึงช่วยกันทูลชี้แจงด้วยคำต่างๆ กันซึ่งรวมอยู่ในชื่อว่าน้ำท่วมทุ่ง รวมความว่าพราหมณ์เฒ่านั้นก็สูญหายไปช้านาน บัดนี้คงจะตายแลมีผู้เผาเสียแล้ว อนึ่งหญิงสะใภ้แห่งพราหมณ์นั้นก็เป็นแต่ได้หมั้นคู่กันไว้กับบุตรพราหมณ์ หาได้มีวิวาหะไม่ เขาทั้งหลายจึงเห็นสมควรที่จะประทานนางซึ่งผู้นำมาฝากคงจะตายแล้วแก่บุตรโกษาธิบดี เพื่อให้ราชการบ้านเมืองยืนยงต่อไป ส่วนพราหมณ์เฒ่านั้นหากยังไม่ตายจะกลับมาก็ควรประทานทรัพย์ให้มากมายจนเป็นที่พอใจ หรือถ้ายังไม่พอใจ ก็ประทานนางอื่นซึ่งงามกว่านี้ให้พราหมณ์เฒ่าพาไปเป็นภริยาบุตร กล่าวการสละ คนควรสละบุคคลเพื่อประโยชน์แก่ครอบครัว สละครอบครัวเพื่อประโยชน์แก่กรุง สละกรุงเพื่อประโยชน์แก่พระราชา
ท้าวสุพิจารเมื่อได้ฟังอำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลดังนั้น ก็ตรัสว่า ปัญหานี้มีข้อที่ควรคำนึงทั้งสองฝ่าย จะทรงตรึกตรองดูให้รอบคอบในคืนนั้น รุ่งขึ้นขึงจะตรัสให้อำมาตย์ทั้งปวงทราบกระแสพระดำริ ตรัสดังนี้แล้วก็รับสั่งให้อำมาตย์ทั้งปวงออกจากที่เฝ้า
ฝ่ายพวกอำมาตย์เมื่อได้ยินรับสั่งดังนั้น ก็นึกแน่ใจว่าพระราชาคงจะเสด็จเข้าไปปรึกษาพระมเหสี แลนางข้างใน เขาทั้งหลายก็มีความยินดี เพราะหวังได้ว่านางทั้งปวงคงจะต้องการให้มีวิวาหะเป็นการใหญ่ แลส่วนนางสาวผู้เป็นสะใภ้พราหมณ์นั้น เมื่อจะได้แต่งงานดีเช่นนี้ก็คงไม่ทิ้งโอกาสปัจจุบัน คอยหาโอกาสอนาคต
อำมาตย์ทั้งปวงออกจากเฝ้าแล้วก็รีบไปเล่าความให้โกษาธิบดีทราบ แลโกษาธิบดีกับบุตรก็กินข้าวด้วยกันในคืนนั้นเป็นครั้งแรกในเวลาหลายวัน
ฝ่ายท้าวสุพิจารเมื่อเสด็จคืนเข้าข้างในแล้ว ก็เสด็จตรงไปยังตำหนักพระราชธิดา ตรัสแก่หญิงสะใภ้พราหมณ์ว่า
"เจ้าจงไปอยู่กับบุตรชายโกษาธิบดี"
เวตาลกล่าวต่อไปว่า นางจันทร์ประภากับมนัสวีในเวลากลางคืนทะเลาะกันแทบไม่เว้นคืน เพราะฉะนั้นในเวลากลางวัน นางจันทร์ประภาแลนางสะใภ้ พราหมณ์เกือบจะไม่พูดกันซึ่งๆ หน้า ครั้นเมื่อคนทั้งสองได้ยินพระราชารับสั่งให้พรากกันดังนั้นต่างคนก็....
พระธรรมธวัชพระราชบุตรทรงฟังเวตาลเพลิน ครั้นได้ยินเวตาลพูดถึงเพียงนี้ ยังไม่ทันขาดคำก็ทรงสอดถามขึ้นว่า
"ดีใจใช่หรือไม่" เวตาลตอบว่า
"หามิได้ ไม่ใช่ดีใจ เสียใจมาก พระราชบุตรยังอ่อนปัญญานัก"
พระวิกรมาทิตย์ตรัสกริ้วพระราชบุตร แลห้ามไม่ให้ตรัสถึงเรื่องที่ไม่รู้ แล้วเวตาลก็เล่าต่อไปว่า นางจันทร์ประภา หญิงสะใภ้พราหมณ์
เมื่อได้ฟังท้าวสุพิจารตรัสดังนั้นก็หน้าซีดแลกันแสงวิงวอนพระราชาด้วยถ้อยคำต่างๆ ให้ทรงถอนคำสั่ง แต่พระราชาหายอมตามไม่ นางสะใภ้พราหมณ์กล่าวว่า
"ความทรงธรรมอันงามของหญิง ย่อมจะสลายไปด้วยรูปงามเหลือเกินนัก พราหมณ์รับใช้พระราชาย่อมทำความเสื่อมให้แก่ศาสนาของตน นางโคถ้าไปกินหญ้าไกลถิ่นนักก็เกิดความเสื่อมเสีย ทรัพย์ย่อมจะสูญเพราะเจ้าของไม่ประพฤติธรรม แลความเจริญย่อมจะสิ้นไปในเรื่องซึ่งเจ้าของไม่ทำตามคำมั่นสัญญา"
นางสะใภ้พราหมณ์กล่าวเช่นนี้ ท้าวสุพิจารก็ทรงเห็นชอบทุกประการ มิได้ตรัสคัดค้านข้อความที่กล่าวนั้นประการใด แต่ก็ยังทรงยืนคำที่จะให้หญิงสะใภ้ พราหมณ์ไปเป็นภริยาแห่งบุตรโกษาธิบดีให้จงได้
นางจันทร์ประภากล่าวว่า พระราชบิดาเป็นพระราชาซึ่งทรงประพฤติเที่ยงธรรมอยู่เป็นปกติ มาบัดนี้มีพระประสงค์แผกเพี้ยนไปจากคลองธรรม คงจะเป็นด้วยหวังประโยชน์แก่พระองค์อย่างเดียว แลเมื่อใดความเห็นแก่ประโยชน์ตนเข้าครอบงำตน เมื่อนั้นขวาก็กลับเป็นซ้าย ซ้ายก็กลายเป็นขวา เหมือนเงาในกระจกคันฉ่อง
ท้าวสุพิจารตรัสว่า ความเปรียบของนางนั้นถูกต้องหาตำหนิมิได้ แต่ก็ยังมีพระประสงค์จะให้หญิงสะใภ้พราหมณ์ไปเป็นภริยาแห่งบุตรโกษาธิบดีอยู่นั่นเอง ฝ่ายนางสะใภ้พราหมณ์ เมื่อเห็นพระราชามิได้ลดหย่อนพระราชประสงค์เช่นนั้น ก็เพียรจะชักเวลาให้เยิ่นออกไป จึงทูลว่า
"ข้าแต่พระมหาราชา ถ้าพระองค์ทรงกำหนดในพระหฤทัยแน่นอนแล้ว ว่าจะให้ข้าพเจ้าเป็นภริยาแห่งบุตรโกษาธิบดี พระองค์จงโปรดให้ชายหนุ่มนั้นสัญญาว่า จะทำการสิ่งหนึ่งตามความประสงค์ของข้าพเจ้า ถ้าเขาไม่ยอมทำ ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมไปอยู่กับเขาเป็นอันขาด" พระราชาตรัสว่า
"เจ้าจะให้เขาทำอะไรก็จงว่าไปเถิด" นางทูลว่า
"ข้าพเจ้าอยู่ในตระกูลพราหมณ์ เขาอยู่ในตระกูลนักรบ ธรรมศาสตร์บัญญัติว่าเราทั้งสองจะวิวาหะกันไม่ได้ เว้นแต่เขาจะได้เที่ยวยาตราแล้วตามบุณยสถานทุกตำบล" พระราชาตรัสว่า
"เจ้าพูดถูกต้อง เป็นความจริงดังหนึ่งพระเวท" แลทรงคิดยินดีที่มีช่องทางจะยืดเวลาออกไปอีก แลในระหว่างเวลาที่ยืดออกไปนั้น พระองค์ยังจะสำแดงความมั่นคงในสัญญาให้ยาวไปได้อีกหน่อยหนึ่ง
คืนวันนั้น นางจันทร์ประภาแลมนัสวีระงับการทะเลาะประจำคืน ต่างคนต่างแสดงความยินดีต่อกันที่ได้ทำอุบายให้ภัยออกห่างไปได้โดยความนึก แต่มิได้ห่างออกไปโดยความจริงเลย
รุ่งขึ้นเช้าท้าวสุพิจารเสด็จออกรับสั่งให้อำมาตย์ทั้งปวงเข้าไปในที่เฝ้า รวมทั้งโกษาธิบดีแลบุตรชายด้วย แล้วรับสั่งบอกว่าหญิงสะใภ้พราหมณ์ได้กล่าวถูกต้องเป็นการสมควรยิ่งนัก คนทั้งหลายได้ทราบก็เห็นชอบพร้อมกัน
แต่บุตรโกษาธิบดีทูลขอว่าระหว่างที่ตัวเขาไปเที่ยวยาตราอยู่นั้น ให้นางไปอยู่คอยท่า ณ เรือนแห่งบิดาของเขา จนกว่าเขาจะกลับมา คำที่ทูลขอนี้พระราชาไม่สู้จะโปรด เพราะไม่พอพระหฤทัยที่จะพรากหญิงสะใภ้พราหมณ์ไปจากพระราชธิดา แต่โกษาธิบดีแลบุตรชายทำทีเหมือนจะกลับไปอดข้าวน้ำใหม่ พระราชาจึงจำเป็นจำต้องตรัสอำนวยตามประสงค์ หญิงสะใภ้พราหมณ์ก็ถูกฉุดคร่าพาไปยังบ้านโกษาธิบดี โกษาธิบดีพานางไปมอบไว้กับภริยาของตนคนที่สาวแลสวยที่สุด แลกำชับว่าให้อยู่ด้วยกันจงดีต่างคนต่างเอาใจกัน อย่าให้เกิดขุ่นข้องหมองใจขึ้นได้
ฝ่ายบุตรชายโกษาธิบดีนั้นก็ออกเที่ยวไปตามบุณยสถานต่างๆ ตามกำหนด ฝ่ายหญิงสะใภ้พราหมณ์ ได้อยู่ร่วมห้องกับภริยาสาวของโกษาธิบดี ทนเป็นหญิงอยู่ไม่ได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ก็กลายเป็นมนัสวีในกลางคืน แต่ก็ไม่ทำดังนั้นไปได้นาน เพราะบาปกรรมมาตามทันดังคำซึ่งมูลเทวะกล่าวไว้ คืนหนึ่งเมื่อได้เป็นมนัสวีพราหมณ์หนุ่มอยู่ตลอดคืนแล้ว จะแปลงตัวเป็นหญิงสะใภ้พราหมณ์ เอาลูกอมใส่ปากโดยความเลินเล่อ ลูกอมเลื่อนเลยเข้าคอไป มนัสวีจะแปลงตัวเป็นหญิงก็แปลงไม่ได้ จึงต้องรีบหนีโจนจากหน้าต่างห้องภริยาสาวของโกษาธิบดี ในเวลาที่ยังไม่สว่าง แลเหตุด้วยความมืด มนัสวีโจนพลาดขาแพลงล้มอยู่กับที่ลุกไปไม่ได้
ฝ่ายพราหมณ์มูลเทวะนั้น เมื่อได้แปลงเป็นพราหมณ์เฒ่า พามนัสวีซึ่งปลอมเป็นหญิงสะใภ้ไปฝากพระราชาไว้แล้ว ออกจากที่เฝ้าก็คืนรูปเป็นพราหมณ์มูล เทวะกลับไปหาพราหมณ์ศศี เล่าความให้ฟังทุกประการ พราหมณ์ศศีได้ยินดังนั้นก็ทำหน้าขุ่น ใช้คำแข็งกล่าวแก่พราหมณ์มูลเทวะว่า ความมีใจดีแลใจอ่อนพาให้มูลเทวะประกอบการเป็นบาปอย่างยิ่ง มูลเทวะเถียงว่า
"ข้าได้กำชับชายหนุ่มนั้นแล้วว่าจะทำการเป็นที่เรียบร้อยไปได้ก็ด้วยความบริสุทธ์ เพราะฉะนั้นอันตรายอะไรจะมีเล่า" พราหมณ์ศศีกล่าวว่า
"ท่านได้ให้อาวุธอันคมไปแก่คนโง่ มันคงจะไปทำอะไรเกิดเหตุขึ้นจงได้ แลข้าพเจ้าจะขอพนันกับท่านว่า ภายในหกเดือนนี้ ถ้าชายหนุ่มนั้นไม่ไปทำเลอะเทอะให้เกิดเหตุขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าจะยอมยกคัมภีร์ทั้งหลายของข้าพเจ้าให้เป็นทรัพย์ของท่าน แต่ถ้าชายหนุ่มนั้นไปทำให้เกิดความเป็นเหตุเสื่อมเสีย ท่านต้องใช้วิชาของท่านให้ข้าพเจ้าได้พระราชธิดาของท้าวสุพิจารมาเป็นภริยา"
พราหมณ์ทั้งสองสัญญากันมั่นคงแล้ว ต่างคนก็กล่าวตกลงแก่กันว่า จะไม่พูดถึงเรื่องนี้ไปอีกจนใกล้กำหนดหกเดือน ครั้นใกล้กำหนดพราหมณ์ทั้งสองก็เที่ยวสืบข่าวในที่ใกล้พระราชวัง แลสืบต่อไปจนถึงบ้านโกษาธิบดี ได้ทราบว่ามนัสวีคือสะใภ้พราหมณ์เฒ่าหายไปจากบ้านโกษาธิบดีในเวลากลางคืน ไม่มีใครทราบร่องรอยว่าไปทางไหน พราหมณ์มูลเทวะสืบข่าวได้ความต่อออกไปอีกบ้าง ตรึกตรองเห็นแน่ชัดว่าแพ้พนันเสียแล้ว จึงจัดการใช้หนี้ให้แก่พราหมณ์ศศีผู้เป็นเพื่อนคือส่งลูกอมอีกลูกหนึ่งให้แก่พราหมณ์ศศีอม เขาก็กลายเป็นพราหมณ์หนุ่มอ้วน รูปร่างสะสวย พราหมณ์มูลเทวะก็อมลูกอมอีกลูกหนึ่ง กลายเป็นพราหมณ์เฒ่าถือไม้เท้า พาพราหมณ์หนุ่มเข้าเฝ้าพระราชา
ฝ่ายท้าวสุพิจารเสด็จออกอยู่ในท้องพระโรง ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์เฒ่าเข้าไปก็จำได้ ให้เกิดกระวนกระวายในพระหฤทัย แต่ก็ทรงนบนอบรับสั่งให้พราหมณ์นั่งเป็นอันดี แลเมื่อทรงได้รับพรจากพราหมณ์แล้วก็รับสั่งถามทุกข์สุขตามธรรมเนียม ในที่สุดเมื่อได้รับสั่งวกเวียนอยู่ครู่ใหญ่แล้ว จึงตรัสถามพราหมณ์ว่า ไปไหนมาจึงหายไปช้านาน พราหมณ์เฒ่าทูลว่า
"ข้าพเจ้าเที่ยวไปหลายแห่งเพื่อจะตามให้พบบุตร ครั้นเมื่อพบแล้วก็พากลับมาเฝ้าในบัดนี้ ขอพระองค์จงโปรดประทานภริยาของเขาแก่เขา แลข้าพเจ้าจะทูลลาพาบุตรแลสะใภ้คืนไปสำนักของข้าพเจ้าตามเดิม"
ท้าวสุพิจารรับสั่งอ้อมแอ้มอยู่ช้านาน ตาจะปกปิดไว้ก็ไม่ได้ จึงรับสั่งเล่าเรื่องให้พราหมณ์เฒ่าทราบทุกประการ พราหมณ์เฒ่าแสดงอาการโกรธกล่าวว่า
"พระองค์ทำอะไรอย่างนี้ พระองค์ไม่อยู่ในคำสัตย์สัญญาเอาภริยาแห่งบุตรของข้าพเจ้าไปยกให้วิวาหะกับชายอื่น พระองค์กระทำแล้วตามพระหฤทัยประสงค์ แลบัดนี้จงฟังคำสาปของข้าพเจ้าเถิด"
ท้าวสุพิจารทรงตกประหม่าเดือดร้อน เกรงคำสาปเป็นกำลัง จึงตรัสแก่พราหมณ์ว่า
"ท่านจงกรุณาแก่ข้าพเจ้า อย่าโกรธ แลอย่าสาปเลย ท่านจะประสงค์อะไร ข้าพเจ้าจะยอมตามทุกประการ" พราหมณ์เฒ่ากล่าวว่า
"ถ้าพระองค์เกรงคำสาปของข้าพเจ้าแลเต็มพระหฤทัยจะประทานสิ่งใดไมว่าที่ข้าพเจ้าทูลขอ ก็จงประทานนางจันทร์ประภาพระราชธิดาให้เป็นภริยาบุตรข้าพเจ้า ถ้าทรงยอมดังนี้ ข้าพเจ้าจะยกโทษถวาย ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไป สร้อยมุกดาหรืองูเห่ามีพิษก็ตาม ฟูกอ่อนนุ่มหรือหินแข็งที่สุดก็ตาม ใบหญ้าใบหนึ่งหรือหญิงงามที่สุดก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นเหมือนกันทั้งนั้น ความประสงค์ของข้าพเจ้ามีอยู่แต่ว่าจะหาบุณยสถานสักแห่งหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าจะไปอยู่ภาวนาออกนามพระผู้เป็นเจ้าไปตราบเท่าเวลาตาย"
ท้าวสุพิจารทรงฟังดังนั้น เห็นพราหมณ์เป็นคนอยู่ในศีลในสัตย์ยิ่งขึ้น ก็ยิ่งกลัวคำสาปทวีขึ้นกว่าเก่า จึงรับสั่งเรียกโหรเข้ามา คำนวณถวายฤกษ์วิวาหะพระราชธิดากับพราหมณ์อ้วนบุตรพราหมณ์เฒ่า แล้วรับสั่งให้จัดการไปตามประเพณี แต่หาได้ประทานโอกาสให้พระราชธิดายินยอมหรือโต้แย้งการอันนี้ไม่ อันที่จริงถ้ารับสั่งถามพระราชธิดา พระราชธิดาก็คงจะไม่ขัด เพราะนางทรงทราบข่าวว่านางสะใภ้พราหมณ์หายไปจากเรือนโกษาธิบดี แลความในจะเป็นอย่างไร พระราชธิดาก็คงจะทรงเดาได้

อนึ่งนางจันทร์ประภาหยุดประชวรพระโรคลำดับเดือนมาหลายเดือนแล้ว แลนางสงสัยว่าพระราชบิดาคงจะไม่โปรดการวิวาหะแบบคนธรรพ์ กล่าวคือไม่โปรดให้พระราชบุตรีมีวิวาหะโดยวิธีนั้น ส่วนพระองค์พระราชาเองนั้นอีกอย่างหนึ่ง

ดังนี้พราหมณ์อ้วน ก็ได้รับพระราชธิดาไปเป็นภริยา พร้อมด้วยทรัพย์ซึ่งพระราชทานเป็นสินสมรสเป็นอันมาก ฝ่ายมนัสวีนั้นเมื่อลุกขึ้นได้จากที่ซึ่งล้มอยู่ในเวลาที่โจนจากหน้าต่างนั้นแล้ว ก็เที่ยวเร้นซ่อนต่อไป จนได้ทราบว่าพราหมณ์ศศีได้วิวาหะกับพระราชธิดา พาไปบ้านแล้ว มนัสวีก็ตามไปที่บ้านพราหมณ์ศศี กล่าวแก่เจ้าของบ้านว่า
"ท่านจงส่งภรรยาของข้าพเจ้าคืนให้ข้าพเจ้า" พราหมณ์ศศีเถียงว่านางเป็นภริยาของเขาต่างหาก แลอ้างพยานคือโหรหลวงแลพราหมณ์ในพระราชสำนัก รวมทั้งพยานอีกหกคนนั้นด้วย
มนัสวีสาบานโดยวิธีรุนแรงที่สุดว่า นางเป็นภริยาของเขาโดยวิวาหะตามที่ชอบ แลกุมารในครรภ์นางก็คือบุตรของเขา เหตุฉะนั้นนางจะเป็นภริยาของพราหมณ์ศศีอย่างไรได้ อนึ่งมนัสวีเพียรจะอ้างพราหมณ์มูลเทวะเป้นพยาน แต่มูลเทวะหลบหายไปเสีย มนัสวีจึงอ้างนางจันทร์ประภาเอง แต่นางกลับกล่าวโดยอาการแค้นเคืองว่าตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นมนัสวีเลย
เวตาลกล่าวต่อไปว่า แต่ถึงมนัสวีอ้างพยานไม่ได้ดังนั้น คนก็ยังเห็นจริง เพราะเรื่องของมนัสวีเป็นเรื่องแปลกแลไม่น่าเชื่อ คนจึงพากันเชื่อ แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีคนหลายคนที่เห็นว่ามนัสวีเป็นผู้ที่ได้กระทำวิวาหะกับพระราชธิดาโดยวิธีที่ถูกต้องตามธรรมศาสตร์
พระวิกรมาทิตย์ไม่โปรดการลอบรัก ครั้นได้ยินเวตาลกล่าวดังนั้นก็ตรัสว่า
"ถ้าใครเชื่ออย่างเอ็งกล่าวคนนั้นก็เป็นคนใจลามก เพราะไม่มีใครรู้เลยว่ามนัสวีชายชั่วนั้นเป็นพ่อของกุมารในครรภ์ ส่วนพราหมณ์ศศีได้แต่งงานต่อหน้าพยานโดยวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายแลยุติธรรม เหตุดังนั้นนางจึงต้องเป็นภริยาของศศี แลบุตรที่เกิดมานั้นก็อาจกรวดน้ำทำบุญไปให้บรรพบุรุษได้ ตามคัมภีรศาสตร์ กฎหมายแลยุติธรรมเป็นอย่างที่ข้าว่านี้"
เวตาลกล่าวว่า "ยุติธรรมนั้นบางทีก็ไม่ยุติธรรม แลพระองค์จงรีบก้าวพระบาทเถิด ลองดูว่าพระองค์จะกลับไปถึงต้นอโศกก่อนข้าพเจ้าได้บ้างหรือไม่" เวตาลกล่าวดังนั้นแล้วก็ออกจากย่ามลอยหัวเราะก้องฟ้ากลับไป
กลับไปหน้าหลัก
ก่อนหน้า ถัดไป