ข้ามไปเนื้อหา

นิทานโบรานคดี/นิทานที่ 18

จาก วิกิซอร์ซ


ฉันเคยค้นพบเมืองโบราน โดยต้องพยายามหย่างแปลกประหลาด 2 เมือง คือ เมืองชเลียง ซึ่งเปนเมืองมีเรื่องไนพงสาวดาร แต่ไม่มีไครรู้ว่า หยู่ที่ไหน เมืองหนึ่ง กับเมืองโบรานซึ่งตัวเมืองยังมีหยู่ แต่ไม่มีไครรู้จักชื่อ ผเอินฉันนึกแปลสัพท์ออก จึงรู้ว่า ชื่อ เมืองอู่ทอง เมืองหนึ่ง จะเล่าเรื่องค้นเมืองทั้งสองนั้นไนนิทานเรื่องนี้ แล้วจะเลยเล่าแถมถึงเรื่องพบพระเจดีย์ยุธหัตถีซึ่งสมเด็ดพระนเรสวรมหาราชซงส้างตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชาหงสาวดีด้วย เพราะลูกหยิงพูนพิสมัยกับลูกหยิงพัธนายุ (เหลือ) เทอหยากฟัง ด้วยเทอเคยทนลำบากขี่ม้าแรมทางตามฉันไปจนถึงทั้ง 3 แห่ง

มูลเหตุที่ฉันค้นหาเมืองชเลียง เกิดแต่ฉันสอบเรื่องพงสาวดารกรุงสรีอยุธยา เรื่องตอนหนึ่งว่า สมเด็ดพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) โปรดไห้พระราเมสวร ราชโอรส ขึ้นไปครองเมืองพิสนุโลก บังคับบันชาหัวเมืองเหนือทั้งปวง ครั้นสมเด็ดพระบรมราชาธิราชสวรรคต พระราเมสวร ราชโอรส ได้รับรัชทายาท ซงพระนามว่า สมเด็ดพระบรมไตรโลกนาถ สเด็ดลงมาครองกรุงสรีอยุธยา ไห้เจ้าเมืองเหนือต่างครองเมืองเปนอิสระแก่กัน เจ้าเมืองชเลียง (ไนหนังสือลิลิตยวนพ่ายว่า ชื่อ พระยายุทธิสถิระ แต่พงสาวดารเชียงไหม่เรียกเพี้ยนไปเปน ยุทธิสเจียง) เปนกบดโจทเจ้า เอาบ้านเมืองไปยอมขึ้นต่อพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงไหม่ แล้วนำกองทัพเมืองเชียงไหม่มาตีเมืองเหนือ สมเด็ดพระบรมไตรโลกนาถต้องสเด็ดขึ้นไปประทับหยู่เมืองพิสนุโลก รบพุ่งกับพระเจ้าติโลกราชหลายปี จึงได้เมืองเหนือกลับคืนมาหมด ฉันหยากรู้ว่า "เมืองชเลียง" ที่เจ้าเมืองเปนกบดนั้นหยู่ที่ไหน พิจารนาไนแผนที่เห็นว่า สมจะเปนเมืองสวรรคโลก เพราะหยู่ต่อแดนอานาเขตพระเจ้าเชียงไหม่ และไนเรื่องพงสาวดารว่า พระยาชเลียงพากองทัพเมืองเชียงไหม่ลงมาตีได้เมืองสุโขทัย แล้วเลยไปตีเมืองกำแพงเพชรและเมืองพิสนุโลก แต่ไม่กล่าวว่า ตีเมืองสวรรคโลกด้วย คงเปนเพราะเปนเมืองต้นเหตุ แต่เหตุไฉนไนหนังสือพระราชพงสาวดารจึงเรียกว่า เมืองชเลียง ไม่เรียกว่า เมืองสวรรคโลก หรือเมืองสรีสัชนาลัย ตามชื่อซึ่งเรียกเมื่อสมัยกรุงสุโขทัย ข้อนี้ทำไห้ฉันสงสัยหยู่ ดูไนทำเนียบหัวเมืองครั้งกรุงสรีอยุธยา ก็ไม่มีชื่อเมืองชเลียง ถามผู้อื่นก็ไม่มีไครรู้ว่า เมืองชเลียงหยู่ที่ไหน ฉันจึงไปค้นหาดูไนหนังสือเก่าเรื่องอื่น พบไนหนังสือพงสาวดารโยนกมีกล่าวถึงเมืองชเลียง 2 แห่ง แห่งหนึ่งว่า เมื่อ พ.ส. 919 ไทยไนแดนลานนาแข็งเมืองต่อขอม พวกขอมยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม แต่พระเจ้าพรหม หัวหน้าพวกไทย ตีกองทัพขอมแตกพ่าย แล้วไล่พวกขอมลงมาจนถึง "แดนเมืองชเลียง" แต่พระอินท์นรึมิตกำแพงกั้นไว้ พระเจ้าพรหมจึงหยุดหยู่เพียงนั้น อีกแห่งหนึ่งว่า เมื่อพระเจ้าพรหมสิ้นพระชนม์แล้ว ราชบุตร ซงพระนามว่า พระเจ้าชัยสิริ ได้รับรัชทายาทครองเมืองชัยปราการมาจน พ.ส. 946 พระยามอนเมืองสเทิ่มยกกองทัพเข้ามาตีเมืองชัยปราการ พระเจ้าชัยสิริเห็นข้าสึกมีกำลังมากนัก เหลือที่จะต่อสู้ กลัวชาวเมืองชัยปราการจะต้องเปนชเลย จึงไห้รื้อทำลายเมืองชัยปราการเสีย แล้วอพยพผู้คนพลเมืองหนีลงมาข้างไต้ มาถึงไนแดน "เมืองชเลียง" ซึ่งพระเจ้าพรหมเคยไล่พวกขอมลงมาถึงแต่ก่อนนั้น เห็นเมืองแปบร้างหยู่ริมฝั่งแม่น้ำพิงค์ทางฟากตะวันตกข้างไต้เมืองกำแพงเพชร จึงตั้งหยู่ที่นั่น แล้วส้างเมืองไห้กลับคืนดีดังเก่า ขนานนามว่า "เมืองไตรตรึงส์" ตรงกับนิทานเรื่องนายแสนปมข้างต้นหนังสือพระราชพงสาวดาร ฉบับพิมพ์ 2 เล่ม พงสาวดารโยนกชวนไห้ฉันคิดว่า เมืองชเลียงเห็นจะเปนเมืองเดิมที่มีมาแต่ก่อนราชวงส์พระร่วงตั้งกรุงสุโขทัย แต่ก็คงหยู่ที่ตรงเมืองสวรรคโลกนั่นเอง เห็นจะเปนด้วยพระเจ้าแผ่นดินไนราชวงส์พระร่วงองค์ไดองค์หนึ่งบุรนะเมืองชเลียงแล้วเปลี่ยนชื่อเปนเมืองสรีสัชนาลัย ฉันจึงไปตรวดดูไนสิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัย เห็นหลักอื่นออกชื่อแต่เมืองสรีสัชนาลัยทั้งนั้น ไม่มีชื่อเมืองชเลียงเลย มีแต่สิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักเดียวที่ออกชื่อทั้งเมืองชเลียงและเมืองสรีสัชนาลัย ดูประหลาดหยู่ ฉันจึงพิจารนาดูความที่กล่าวถึง 2 เมืองนั้น เห็นชอบไช้ชื่อเมืองสรีสัชนาลัยเปนเครื่องประดับพระเกียรติยสของพระเจ้ารามคำแหง เช่น บางแห่งออกพระนามว่า "พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสรีสัชนาลัยสุโขทัย" บางแห่งว่า "พ่อขุนรามคำแหง ลูกพ่อขุนสรีอินทราทิจ เปนขุนไนเมืองสรีสัชนาลัยสุโขทัย" ดังนี้ แต่ชื่อเมืองชเลียงนั้นมีแห่งเดียวไนตอนว่าด้วยสิลาจารึกว่า "เอามาสิลาจารึกอันหนึ่งมีไนเมืองชเลียง สถาปกไว้ด้วยพระสรีรัตนธาตุ" ดังนี้ ฉันตีความว่า พระเจ้ารามคำแหงเอาสิลาจารึกของเก่าอันมีหยู่นะเมืองชเลียงมาประดิสถานไว้นะวัดพระสรีรัตนธาตุที่เมืองสรีสัชนาลัย (คือ พระปรางค์ไหย่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า) ไนคำจารึกสแดงว่า เมืองชเลียงกับเมืองสรีสัชนาลัยเปนต่างเมืองกันและหยู่ต่างแห่งกัน มิไช่แปลงเมืองชเลียงเปนเมืองสรีสัชนาลัยหย่างฉันเข้าไจมาแต่ก่อน ก็กลับไม่รู้ว่า เมืองชเลียงหยู่ที่ไหนอีก

หยู่มาวันหนึ่ง ฉันค้นหนังสือกดหมายเก่า เห็นไนบานแผนกกดหมายลักสนะลักพาบทหนึ่งซึ่งพระเจ้าอู่ทองตั้งไนปีมะแม พ.ส. 1899 เมื่อส้างกรุงสรีอยุธยาได้ 5 ปี มีชื่อเมืองเหนือหยู่ไนนั้น 8 เมือง เรียกเปนคู่ ๆ กัน ดังนี้

เมืองชเลียง สุโขทัย
เมืองทุ่งยั้ง บางยม
เมืองสองแคว สะหลวง
เมืองชากังราว กำแพงเพชร

เมืองทั้ง 8 นั้นฉันรู้ว่า หยู่ที่ไหนแล้ว 6 เมือง คือ เมืองสุโขทัย เมืองทุ่งยั้ง เมืองกำแพงเพชร 3 เมืองนี้ยังเรียกชื่อหยู่หย่างเดิม เมืองสองแควเปลี่ยนชื่อเปนเมืองพิสนุโลก เมืองสะหลวงเปลี่ยนชื่อเมืองพิจิตร ไนสมัยกรุงสรีอยุธยา และเมืองชากังราวนั้นหยู่ที่ปากคลองสวนหมากตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเคยเปลี่ยนชื่อว่า "เมืองนครชุม" แต่พายหลังมารวมเปนเมืองเดียวกับเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองชากังราวก็สูญไป ฉันยังไม่รู้แห่งแต่เมืองชเลียงกับเมืองบางยม 2 เมืองเท่านั้น แต่สังเกตชื่อเมืองทั้ง 8 ที่มีไนบานแผนก ฉันประหลาดไจที่ขาดชื่อเมืองสรีสัชนาลัย และที่เอาชื่อเมืองชเลียงเข้าคู่กับเมืองสุโขทัย กลับหวนคิดว่า หรือเมืองชเลียงกับเมืองสรีสัชนาลัยจะเปนเมืองเดียวกัน แต่มีข้อขัดข้องด้วยพระเจ้ารามคำแหงได้ตรัดไว้ไนสิลาจารึกว่า เมืองชเลียงกับเมืองสรีสัชนาลัยเปน 2 เมืองต่างกัน จะลบล้างพระราชดำหรัดเสียหย่างไรได้ แต่ถึงสมัยนี้ ฉันออกจะเกิดมานะว่า จะค้นเมืองชเลียงไห้พบไห้จงได้ จึงถามพวกชาวเมืองสวรรคโลกว่า นอกจากเมืองสรีสัชนาลัย ยังมีเมืองโบรานหยู่ที่ไหนไนเขตเมืองสวรรคโลกอีกบ้างหรือไม่ เขาบอกว่า ยังมีอีกเมืองหนึ่ง หยู่ไนป่าริมแม่น้ำยมเก่า ฉันขึ้นไปเมืองสวรรคโลกอีกครั้งหนึ่ง จึงไห้เขาพาเดินบกไปทางนั้น ต้องค้างทางคืนหนึ่ง ก็พบเมืองโบรานหยู่ที่ริมลำน้ำยมเก่าดังเขาว่า มีเจดียวิหารวัดร้างหยู่ไนเมืองนั้นหลายแห่ง แต่สังเกตดูเปนเมืองขนาดย่อม ไม่สมกับเรื่องของเมืองชเลียง แต่ก็นกขึ้นได้ไนขนะนั้นว่า คือ เมืองบางยม ที่ยังไม่รู้แห่งหยู่อีกเมืองหนึ่งนั้นนั่นเอง เพราะหยู่ไนระหว่างเมืองทุ่งยั้งกับเมืองสรีสัชนาลัย และตัวเมืองก็ตั้งหยู่ริมลำน้ำยม เปนอันรู้แห่งเมืองทั้ง 8 เพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ยังขาดแต่เมืองชเลียงเมืองเดียว แต่ก็หมดสิ้นที่จะค้นหาต่อไป ต้องจำนนอีกครั้งหนึ่ง

ต่อนั้นมาไม่ช้านัก ฉันขึ้นไปเที่ยวมนทลพายัพ เมื่อพักหยู่ที่เมืองเชียงไหม่ บ่ายวันหนึ่ง ฉันไปเดินเที่ยวเล่น เมื่อผ่านคุ้มหลวงที่เจ้าเชียงไหม่แก้วเนาวรัถหยู่ เห็นผู้หยิงยืนหยู่ที่ประตูคุ้มคนหนึ่ง มันเห็นฉันก็นั่งลงด้วยความเคารพ ฉันจึงทักถามว่า "เจ้าหลวงหยู่ไหม" มันประนมมือไหว้ตอบว่า "มี, เจ้า." ฉันก็นึกขึ้นไนขนะนั้นว่า ได้ความรู้หย่างหนึ่ง ว่า ภาสาไทยเหนือเขาไช้คำ "มี" หมายความเหมือนหย่างไทยไต้ว่า "หยู่" ครั้นกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ วันหนึ่ง ฉันรื้อคิดขึ้นถึงเรื่องค้นหาเมืองชเลียง นึกว่า ไนจารึกของพระเจ้ารามคำแหงว่า "สิลาจารึกอันหนึ่งมีไนเมืองชเลียง" คำ "มี" จะไช้หมายความหย่างไทยเหนือดอกกะมัง จึงเอาสำเนาจารึกมาพิจารนาอีกครั้งหนึ่ง แต่ก่อนฉันเคยตรวดแต่ตรงว่าด้วยสิลาจารึกหลักที่เมืองชเลียง ครั้งนี้ตรวดต่อนั้นไปอีก เห็นกล่าวถึงสิลาจารึกอีก 2 หลักแล้วจึงหมดวัคว่าด้วยสิลาจารึก รวมสำเนาทั้งวัคเปนดังนี้ "และเอามาจารึกอันหนึ่งมีไนเมืองชเลียง สถาปกไว้ด้วยพระสรีรัตนธาตุ จารึกอันหนึ่งมีไนถ้ำพระรามหยู่ฝั่งน้ำสำพาย จารึกอันหนึ่งมีไนถ้ำรัตนธาร" ดังนี้ ผเอินสิลาจารึกไนถ้ำพระรามนั้น พระยารามราชภักดี (ไหย่) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ไปพบแล้ว ยังหยู่ไนถ้ำพระรามนั้นเอง ไม่ได้ย้ายเอาไปไว้ที่อื่น ไนคำจารึกที่ว่า "มีไนถ้ำพระราม" และ "มีไนถ้ำรัตนธาร" ก็ว่าหย่างเดียวกันกับ "มีไนเมืองชเลียง" ฉันนึกว่า ถ้าคำ "มี" ทั้ง 3 แห่งนั้นไช้หมายความว่า "หยู่" ความก็กลายไปว่า หลักสิลาจารึก "หยู่นะเมืองชเลียง" และ "หยู่นะถ้ำพระราม" กับ "หยู่นะถ้ำรัตนธาร" เหมือนกันทั้ง 3 หลัก ที่ออกนามพระสรีรัตนธาตุเปนแต่บอกว่า "หยู่ตรงไหน" ไนเมืองชเลียง เพราะเมืองเปนที่กว้างไหย่ แต่อีก 2 หลักเปนแต่ปักไว้ไนถ้ำ ไครไปถึงถ้ำก็แลเห็น ไม่ต้องบอกว่า เอาไว้ที่ตรงไหน ได้หลักถานดังนี้ ฉันจึงตีความไหม่ว่า พระเจ้ารามคำแหงได้เอาสิลาจารึกประดิสถานไว้ 3 แห่ง หยู่ที่เมืองชเลียงนะวัดพระสรีรัตนธาตุแห่งหนึ่ง หยู่ไนถ้ำพระรามแห่งหนึ่ง และหยู่ไนถ้ำรัตนธารแห่งหนึ่ง ตีความเปนหย่างนี้ คิดต่อไปก็แลเห็นหลักถานเรื่องเมืองชเลียงแจ่มแจ้งเข้ากันได้หมด คือ

เมืองชเลียงเปนเมืองเก่า มีมาก่อนตั้งกรุงสุโขทัย ตัวเมืองเดิมตั้งหยู่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า ตรงที่พระปรางค์ไหย่ปรากตหยู่จนบัดนี้ คำที่พระเจ้ารามคำแหงเรียกพระปรางค์องค์นั้นว่า "พระสรีรัตนธาตุ" ความก็หมายว่า เปน "พระมหาธาตุ" ที่เปนหลักเมือง สแดงว่า ที่ตรงนั้นต้องเปนเมือง จึงมีพระสรีรัตนธาตุ ไช่แต่เท่านั้น ที่วัดเจ้าจันท์ไม่ห่างกับวัดพระสรีรัตนธาตุนัก ยังมีเทวะสถานสิลาที่พวกขอมส้างไว้ปรากตหยู่แห่งหนึ่ง ก็สแดงว่า ตรงนั้นต้องเปนเมืองหยู่ก่อน เรื่องประวัติของเมืองชเลียงต่อมา ก็พอคิดเห็นได้ คือ เมื่อถึงสมัยกรุงสุโขทัย พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ไดพระองค์หนึ่ง จะเปนพระเจ้าสรีอินทราทิจผู้เปนต้นราชวงส์ หรือพระเจ้าบาลเมือง ราชโอรสซึ่งรับรัชทายาท หรือแม้พระเจ้ารามคำแหงก็เปนได้ ไห้ส้างเมืองไหม่ มีป้อมปราการก่อด้วยสิลาแลงหย่างมั่นคงสำหรับเปนราชธานีสำรองขึ้นข้างเหนือเมืองชเลียงห่างกันราวสัก 20 เส้น (ขนาดพระราชวังดุสิตห่างกับพระบรมมหาราชวังไนกรุงเทพฯ) ขนานนามเมืองไหม่นั้นว่า "เมืองสรีสัชนาลัย" บางทีจะได้รื้อสิลาปราการเมืองชเลียงไปไช้ส้างเมืองไหม่ แต่เจดียสถานของเดิมที่ไนเมืองชเลียง เช่น ปรางค์สรีรัตนธาตุ เปนต้น เห็นเปนของสักดิ์สิทธิ์มีมาแต่ดั้งเดิม จึงไห้คงรักสาไว้หย่างเดิม ไม่รื้อแย่ง ทิ้งซากเมืองชเลียงไห้คงหยู่ แต่เมื่อส้างเมืองไหม่แล้ว พนักงานบังคับบันชาราชการบ้านเมืองย้ายจากเมืองชเลียงขึ้นไปตั้งหยู่นะเมืองสรีสัชนาลัย ข้อนี้เปนเหตุไห้ชื่อเมืองสรีสัชนาลัยแทนเมืองชเลียงไนทางราชการ สิลาจารึกของเมืองสุโขทัยจึงมีแต่ชื่อเมืองสรีสัชนาลัย ไม่มีชื่อเมืองชเลียง แต่ไนจารึกของพ่อขุนรามคำแหงต้องออกชื่อเมืองชเลียง เพราะพระเจ้ารามคำแหงเอาสิลาจารึกไปประดิสถานไว้นะวัดพระสรีรัตนธาตุที่เมืองชเลียง มิได้เอาไปไว้นะเมืองสรีสัชนาลัย จึงต้องเรียกชื่อเมืองชเลียง

ไนเรื่องเมืองชเลียง มีประหลาดอีกหย่างหนึ่ง เมื่อฉันค้นสิลาจารึกและหนังสือเก่า สังเกตเห็นเรียกชื่อเมืองสรีสัชนาลัยแต่ไนหนังสือหรือจารึกซึ่งแต่งไนกรุงสุโขทัย ถ้าเปนหนังสือแต่งไนประเทสอื่น เช่น กรุงสรีอยุธยาก็ดี หรือเมืองเชียงไหม่ก็ดี ที่จะเรียกชื่อเมืองสรีสัชนาลัยหามีไม่ เรียกว่า เมืองชเลียง ทั้งนั้น จนอาดจะอ้างได้ว่า หนังสือเรื่องไดมีชื่อเมืองชเลียง เปนไม่มีชื่อเมืองสรีสัชนาลัย ถ้ามีชื่อเมืองสรีสัชนาลัย เปนไม่มีชื่อเมืองชเลียง เว้นแต่ไนสิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวมาแล้วแห่งเดียวเท่านั้น จะเปนเพราะเหตุได จะว่า เพราะต่างประเทสไม่รู้ว่า ส้างเมืองสรีสัชนาลัย ก็ไช่เหตุ คิดดูเห็นว่า ต่างประเทสคงเห็นว่า เมืองไหม่หยู่ไกล้ ๆ กันกับเมืองเดิม ส้างขึ้นแต่สำหรับเฉลิมพระเกียรติคล้ายกับพระราชวัง จึงคงเรียกว่า เมืองชเลียง ตามเคย เรียกมาจนชินแล้ว ไม่เปลี่ยนไปเรียกชื่อไหม่หย่างชาวสุโขทัย เห็นจะเปนเช่นนั้นมาจนตั้งชื่อไหม่ไนสมัยกรุงสรีอยุธยา ไห้เรียกชื่อรวมกันทั้งเมืองชเลียงและเมืองสรีสัชนาลัยว่า "เมืองสวรรคโลก" แต่ตัวเมืองชเลียงกับเมืองสรีสัชนาลัยก็ยังปรากตหยู่จนบัดนี้ทั้งสองเมือง

ไนหนังสือพระราชพงสาวดารฉบับแรกพิมพ์เมื่อรัชกาลที่ 4 มีนิทานเล่าถึงเรื่องต้นวงส์ของพระเจ้าอู่ทองหยู่ข้างต้นว่า มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งครองเมืองเชียงรายหยู่ไนแดนลานนา หยู่มา พวกมอนเมืองสเทิ่มยกกองทัพมาตีเมืองเชียงราย พระเจ้าเชียงรายเห็นว่า ข้าสึกมีกำลังมากมายไหย่หลวงนัก จะสู้ไม่ไหว ก็ทิ้งเมืองเชียงราย พาไพร่บ้านพลเมืองอพยพหนีข้าสึกมาทางแม่น้ำพิงค์ มาเห็นเมืองแปบร้างหยู่ทางฝั่งตะวันตกข้างไต้เมืองกำแพงเพชร จึงตั้งหยู่นะที่นั้น และส้างเมืองขึ้นเปนราชธานี ไห้ชื่อว่า "เมืองไตรตรึงส์" (หยู่ที่ตำบนวังพระธาตุ) แล้วเสวยราชย์สืบวงส์มา 3 ชั่ว ถึงรัชกาลพระเจ้าไตรตรึงส์องค์ที่ 3 มีชายทุคตะเข็นไจคนหนึ่ง รูปร่างวิกล เปนปมเปาไปทั่วทั้งตัว จนเรียกกันว่า "แสนปม" ตั้งทำไร่เลี้ยงชีพหยู่ที่เกาะอันหนึ่งข้างไต้เมืองไตรตรึงส์ ก็นายแสนปมนั้นมักไปถ่ายปัสสาวะที่โคนต้นมะเขือไนไร่ของตนเนือง ๆ ครั้นมะเขือออกลูก ผเอินมีผู้ได้ไปส่งทำเครื่องเสวยที่ไนวัง ราชธิดาองค์หนึ่งเสวยมะเขือนั้น ซงครรภ์ขึ้นมา โดยมิได้มีวี่แววว่า เคยคบชู้สู่ชาย แล้วคลอดบุตรเปนชาย พระเจ้าไตรตรึงส์ไคร่จะรู้ว่า ไครเปนบิดาของบุตรนั้น พอกุมารจเรินถึงขนาดรู้ความ ก็ประกาสสั่งไห้บันดาชายชาวเมืองไตรตรึงส์หาของมาถวายกุมารราชนัดดา และซงอธิถานว่า ถ้ากุมารเปนบุตรของผู้ได ขอไห้ชอบของผู้นั้น นายแสนปมถูกเรียกเข้าไปด้วย ไม่มีอะไรจะถวาย ได้แต่ข้าวสุกก้อนหนึ่งถือไป แต่กุมารฉเพาะชอบข้าวสุกของนายแสนปม เห็นประจักส์แก่ตาคนทั้งหลาย พระเจ้าไตรตรึงส์ได้ความอัปยสอดสู ก็ไห้เอากุมารหลานชายกับนางราชธิดาที่เปนมารดาลงแพปล่อยลอยน้ำไปเสียด้วยกันกับนายแสนปม แต่เมื่อแพลอยลงไปถึงไร่ของนายแสนปม พระอินท์จำแลงเปนลิงเอากลองสารพัดนึกลงมาไห้นายแสนปมไบหนึ่ง บอกว่า จะปราถนาสิ่งได ก็ไห้ตีกลองนั้น จะสำเหร็ดได้ดังปราถนา 3 ครั้ง นายแสนปมตีกลองครั้งแรก ปราถนาจะไห้ปมเปาที่ตัวหายไป ก็หายหมดกลับมีรูปโฉมเปนสง่างาม ตีครั้งที่ 2 ปราถนาจะมีบ้านเมืองสำหรับครอบครอง ก็เกิดเมืองขึ้นที่ไกล้บ้านโคนข้างไต้เมืองไตรตรึงส์ทางฝั่งตะวันออก ตีครั้งที่ 3 ปราถนาเปลทองคำสำหรับไห้กุมารนอน ก็เกิดเปลทองคำขึ้นดังปราถนา เพราะกุมารมีบุญได้นอนเปลทองคำของนรึมิตผิดกับคนอื่น จึงได้นามว่า "เจ้าอู่ทอง" ส่วนนายแสนปมก็ตั้งตัวเปนกสัตร ซงนามว่า "พระเจ้าสิริชัยเชียงแสน" ครองเมืองที่นรึมิตนั้น ขนานนามว่า "เมืองเทพนคร" เมื่อพระเจ้าสิริชัยเชียงแสนสิ้นชีพ เจ้าอู่ทองได้รับรัชทายาท ครองเมืองเทพนครมาได้ 6 ปี พระเจ้าอู่ทองปรารภหาที่ส้างราชธานีไหม่ไห้บริบูรน์พูนสุขกว่าเมืองเทพนคร ไห้ข้าหลวงเที่ยวตรวดตราหาที่ เห็นว่า ที่ตำบนหนองโสนเหมาะดี พระเจ้าอู่ทองจึงย้ายจากเมืองเทพนครลงมาส้างพระนครสรีอยุธยา ราชาภิเสก ซงพระนามว่า "สมเด็ดพระรามาธิบดี" เรื่องพระราชพงสาวดารตั้งต้นต่อนิทานนี้ เริ่มความแต่สมเด็ดพระรามาธิบดีที่ 1 ส้างกรุงสรีอยุธยาเมื่อปีขาน พ.ส. 1893

นิทานเรื่องนายแสนปมนี้ ที่เปนมูลเหตุไห้คนทั้งหลายเข้าไจกันว่า สมเด็ดพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งส้างกรุงสรีอยุธยา ซงพระนามเดิมว่า "อู่ทอง" เพราะมีบุญญาภินิหาร ได้บันทมเปลทองของนรึมิตเมื่อยังซงพระเยาว์ คำที่เรียกกันไนหนังสือต่าง ๆ ว่า "พระเจ้าอู่ทอง" จึงถือกันว่า เปนพระนามส่วนพระองค์ ทำนองเดียวกับ "พระสังข์" ไนนิทานที่ชอบเล่นละคอนกัน

แต่เรื่องพระเจ้าอู่ทองยังมีไนหนังสืออื่นอีก ไนหนังสือพงสาวดารเหนืออธิบายความไปอีกหย่างหนึ่งว่า เมื่อพระยาแกรกผู้มีบุญสิ้นพระชนม์แล้ว ราชวงส์ได้ครองเมือง (ชื่อไรไม่กล่าว) สืบมา 3 ชั่ว ถึงชั่วที่ 3 มีแต่ราชธิดา ไม่มีราชวงส์ที่เปนชายจะครองเมือง โชดกเสตถีกับกาลเสตถี (ทำนองจะเปนเสนาบดีผู้ไหย่) จึงปรึกสากันไห้ลูกชายของโชดกเสตถี ชื่อว่า "อู่ทอง" อภิเสกกับราชธิดา แล้วครองเมืองนั้น หยู่มาได้ 6 ปี เกิดห่า (โรคระบาด) ลงกินเมือง ผู้คนล้มตายมากนัก พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนพลเมืองหนีห่ามาเปนกรุงสรีอยุธยา แม้ไนเรื่องนี้ คำ "อู่ทอง" ก็ว่า เปน "ชื่อคน"

ยังมีพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็ดพระจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวอีกเรื่องหนึ่งซึ่งซงแต่งพระราชทานดอกเตอร์ดีน มิชชันนารีอเมริกัน ส่งไปลงพิมพ์ไว้ไนหนังสือ "ไชนีสริปอสิตอรี" ไนเมืองจีนเมื่อปีกุน พ.ส. 2394 แต่พระบรมราชาธิบายมีเพียงว่า พระเจ้าอู่ทองซึ่งส้างกรุงสรีอยุธยานั้นเปนราชบุตรเขยของพระเจ้าสิริชัยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงส์ทางพระมเหสี ครองเมือง (ชื่อไรมิได้มีไนพระราชนิพนธ์) หยู่ได้ 6 ปี เกิดห่าลงกินเมือง จึงย้ายมาตั้งกรุงสรีอยุธยา เรื่องพระเจ้าอู่ทองที่พบไนหนังสือเก่ามิได้กล่าวว่า คำ "อู่ทอง" เปนชื่อเมืองแต่สักเรื่องหนึ่ง แม้ตัวฉันก็ไม่เคยคิดว่า มีเมืองชื่อว่า "อู่ทอง" มูลเหตุที่จะพบ "เมืองอู่ทอง" นั้น เกิดแต่เมื่อปีแรกฉันเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทย ไปตรวดราชการเมืองสุพรรนบุรี เปนครั้งแรกที่เจ้านายสเด็ดไปเมืองนั้นดังเล่าไนนิทานเรื่องอื่นแล้ว ฉันถามชาวเมืองสุพรรนถึงของโบรานต่าง ๆ ที่มีไนเขตเมืองนั้น เขาบอกว่า มีเมืองโบรานร้างหยู่ไนป่าทางทิสตะวันตกเฉียงไต้เมืองสุพรรนบุรีแห่งหนึ่ง เรียกกันว่า "เมืองท้าวอู่ทอง" ผู้หลักผู้ไหย่เล่ากันมาว่า พระเจ้าอู่ทองเสวยราชย์หยู่ที่เมืองนั้นก่อน หยู่มา ห่าลงกินเมือง พระเจ้าอู่ทองจึงพาผู้คนหนีห่าย้ายไปส้างกรุงสรีอยุธยาเปนราชธานี และเล่าต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองหนีห่าครั้งนั้น พาผู้คนไปข้ามแม่น้ำสุพรรนตรงที่แห่งหนึ่ง ยังเรียกกันว่า "ท่าท้าวอู่ทอง" หยู่จนทุกวันนี้ ฉันได้ฟังก็เกิดหยากไปดูเมืองท้าวอู่ทอง แต่เขาว่า หยู่ไกลนัก ถ้าจะเดินบกไปจากเมืองสุพรรนฯ จะต้องแรมทางสัก 2 คืนจึงจะถึง ทางที่จะไปได้สดวกนั้นต้องไปเรือ เข้าคลองสองพี่น้องที่ไกล้กับแดนเมืองนครชัยสรี ไปทางคลองจนถึงบ้านสองพี่น้องที่หยู่ชายป่าแล้ว ขึ้นเดินบกต่อไปวันเดียวก็ถึง ฉันจึงไม่สามาถจะไปดูเมืองท้าวอู่ทองได้ไนคราวนั้น แต่ผูกไจไว้ว่า จะไปดูไห้ได้สักครั้งหนึ่ง

ต่อมาอีกสักสองสามปี จะเปนปีไดฉันจำไม่ได้ ฉันจะไปตรวดเมืองสุพรรนบุรีอีก ครั้งนี้ จะไปดูอำเภอสองพี่น้องอันเปนอำเภอไหย่ หยู่ข้างไต้เมืองสุพรรนบุรี ฉันนึกขึ้นถึงเมืองท้าวอู่ทอง จึงสั่งไห้เขาเตรียมพาหนะสำหรับเดินทางบก กับหาที่พักแรมไว้ที่เมืองท้าวอู่ทองด้วย เมื่อตรวดราชการที่อำเภอสองพี่น้องแล้ว ฉันก็ขี่ม้าเดินบกไป ทางที่ไปเปนป่าเปลี่ยว แต่มีไม้แก่นชนิดต่าง ๆ มาก ถึงมีหมู่บ้านตั้งหยู่ไนป่านั้น ชาวบ้านหากินแต่ด้วยทำเกวียนส่งไปขายยังที่อื่น ๆ เพราะหาไม้ต่าง ๆ สำหรับทำเกวียนได้ง่าย ฉันพักร้อนกินกลางวันที่บ้านนั้นแล้วเดินทางต่อไป พอตกเย็นก็ถึงบ้านจรเข้สามพันอันเปนที่พักแรม หยู่ที่ริมลำน้ำชื่อเดียวกันไต้เมืองท้าวอู่ทองลงมาไม่ห่างนัก รวมระยะทางที่เดินบกไปจากบ้านสองพี่น้องเห็นจะราวสัก 700 เส้น

วันรุ่งขึ้น ฉันเข้าไปดูเมืองท้าวอู่ทอง เมืองตั้งหยู่ทางฟากตะวันตกลำน้ำจรเข้สามพัน ดูเปนเมืองเก่าแก่ไหย่โต เคยมีป้อมปราการก่อด้วยสิลา แต่หักพังไปเสียเกือบหมดแล้ว ยังเหลือคงรูปแต่ประตูเมืองแห่งหนึ่ง กับป้อมปราการต่อจากประตูนั้นข้างละเล็กน้อย แนวปราการด้านหน้าตั้งบนที่ดอน ดูเปนตระพักสูงราว 6 สอก แล้วเปนแผ่นดินต่ำต่อไปสัก 5 เส้นถึงริมน้ำจรเข้สามพัน มีรอยถนนจากประตูเมืองตรงลงไปถึงท่า เรียกว่า "ท่าพระยาจักร" พิเคราะห์ดูลำน้ำจรเข้สามพัน เดิมเห็นจะเปนแม่น้ำไหย่ ที่สูงซึ่งส้างปราการจะเปนตลิ่ง ครั้นนานมา เกิดมีช่องทางพาสายน้ำไหลไปเสียทางอื่น แม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินแคบเข้าโดยลำดับ จนเกิดแผ่นดินที่ราบมีขึ้นริมตลิ่ง ก็ต้องทำถนนต่อออกไปจากเมืองจนถึงท่าเรือ ความที่ว่านี้เห็นได้ด้วยมีสะขุดขนาดไหย่ สัญถานเปนสี่เหลี่ยมรีหยู่ทั้งสองข้างถนน คงขุดสำหรับขังน้ำไว้ไช้ไนรึดูแล้ง น่าจะเปนเพราะเมืองกันดารน้ำหนักขึ้นนั่นเอง เปนเหตุไห้เกิดห่า (เช่น อหิวาตกโรค เปนต้น) ลงกินเมืองเนือง ๆ มิไช่เพียงแต่ครั้งเดียว พระเจ้าอู่ทองจึงต้องทิ้งเมืองย้ายมาหยู่ที่กรุงสรีอยุธยา ข้างไนเมืองท้าวอู่ทองเมื่อฉันไปดู เปนแต่ที่อาสัยของสัตว์ป่า ได้เห็นอีเก้งวิ่งผ่านหน้าม้าไปไกล้ ๆ แต่สังเกตดูพื้นที่เปนโคกน้อยไหย่ต่อ ๆ กันไปทุกทาง และตามโคกมีก้อนหินและอิถหักปนหยู่กับดินแทบทั้งนั้น เพราะเคยเปนที่ปูชนียสถาน เช่น พระเจดียวิหาร เมื่อบ้านเมืองยังดี เห็นจะมีมาก ฉันดูเมืองแล้ว ไห้คนแยกย้ายกันไปเที่ยวค้นหาของโบรานที่ยังมีทิ้งหยู่ไนเมืองท้าวอู่ทอง พบของหลายหย่าง เช่น พระเสียรพระพุทธรูป เปนต้น แบบเดียวกันกับพบที่พระปถมเจดีย์ แม้เงินเหรียญตราสังข์ของโบรานซึ่งเคยพบแต่ที่พระปถมเจดีย์ ชาวบ้านก็เคยขุดได้ที่เมืองท้าวอู่ทอง ดูประหลาดนักหนา ไช่แต่เท่านั้น แม้เทวะรูปโบรานที่นับถือกันไนสมัยพายหลังมา ก็มีรูปพระวิสนุแบบเก่าที่ทำไส่หมวกแทนมงกุฎหยู่ที่ท่าพระยาจักรองค์หนึ่ง ซึ่งคนถือว่า สักดิสิทธิ์ ไม่กล้าย้ายเอาไปที่อื่น ซากของชั้นหลัง เช่น พระเจดีย์แบบสมัยกรุงสุโขทัย ก็มี เมื่อฉันได้เห็นเมืองท้าวอู่ทองเปนดังว่ามา คิดว่า น่าจะเปนเมืองตั้งมาแต่ไนสมัยเมื่อเมืองที่พระปถมเจดีย์ เปนราชธานีของประเทส (ที่นักปราชญ์เขาค้นได้ไนจดหมายเหตุจีนว่า ชื่อ "ทวาราวดี") จึงไช้สิ่งของแบบเดียวกันมาก ไจฉันก็เริ่มผูกพันกับเมืองท้าวอู่ทองมาตั้งแต่ไปเห็นเมื่อครั้งแรก

ครั้นถึงสมัยเมื่อส้างเมืองนครปถมขึ้นที่ตำบนพระปถมเจดีย์ ฉันออกไปตรวดการบ่อย ๆ สังเกตเห็นที่พระปถมเจดีย์มีรอยลำน้ำเก่า 2 สาย สายหนึ่งวกวนขึ้นไปทางทิสเหนือ อีกสายหนึ่งวกวนไปทางทิสตะวันตก ฉันหยากรู้ว่า ลำน้ำสายไปข้างเหนือนั้น จะขึ้นไปถึงเมืองท้าวอู่ทองหรือไม่ จึงวานพระยานครพระราม (ม.ร.ว.เจ๊ก) เมื่อยังเปนนายอำเพอพระปถมเจดีย์ ไห้ตรวดแนวลำน้ำนั้นว่า จะขึ้นไปถึงไหน ด้วยแกเคยหยู่ไนกรมแผนที่ ทำแผนที่เปน พระยานครพระรามตรวดได้ความว่า แนวลำน้ำนั้นขึ้นไปผ่านหน้าเมืองกำแพงแสนซึ่งเปนเมืองโบรานเมืองหนึ่ง แล้วมีร่องรอยต่อขึ้นไปข้างเหนือ จนไปต่อกับลำน้ำจรเข้สามพันที่ตั้งเมืองท้าวอู่ทอง ไช่แต่เท่านั้น สืบถามที่เมืองสุพรรนบุรียังได้ความต่อไปว่า ลำน้ำจรเข้สามพันนั้นยืดยาวต่อขนไปทางเหนืออีกไกลมาก และมีของโบราน เช่น สะน้ำ 4 สะสำหรับราชาภิเสก เปนต้น หยู่ริมลำน้ำนั้นหลายแห่ง แต่ลำน้ำเดิมตื้นเขิน ยังมีน้ำแต่เปนตอน ๆ คนจึงเอาชื่อตำบนที่ยังมีน้ำเรียกเปนชื่อลำน้ำนั้น กลายเปนหลายชื่อ

ส่วนลำน้ำที่พระปถมเจดีย์อีกสายหนึ่งซึ่งไปทางตะวันตกนั้น ตรวดเมื่อพายหลังก็ได้ความรู้หย่างแปลกประหลาดว่า ไปต่อกับแม่น้ำราชบุรีที่ตำบนท่าผา และมีวัดพุทธาวาส พวกชาวอินเดียที่มาตั้งเมืองนะพระปถมเจดีย์ก่อส้างด้วยสิลา ปรากตหยู่ที่พงตึกทางฟากตะวันตกเหนือปากน้ำนั้น เปนอันพบหลักถานแน่นอนว่า เมืองโบรานที่พระปถมเจดีย์นั้น ตั้งหยู่ที่แม่น้ำสองสายประสบกัน และหยู่ไกล้ปากน้ำที่ออกทเลด้วย เพราะเคยขุดพบสายโซ่และสมอเรือทเลที่ตำบนธัมสาลา หยู่ห่างพระปถมเจดีย์มาทางทิสตะวันออกไม่ไกลนัก เพราะเปนเมืองมีทางคมนาคมค้าขาย ทั้งทางบก ทางทเล และทางแม่น้ำบริบูรน์ เมืองเดิมที่พระปถมเจดีย์จึงได้เปนราชธานีของประเทสทวาราวดี

ฉันคิดวินิจฉัยเรื่องเมืองท้าวอู่ทอง เห็นว่า เมื่อแรกตั้ง คงเปนเมืองไนอานาเขตของประเทสทวาราวดี มีมาก่อนสมัยพระเจ้าอู่ทองหลายร้อยปี และคงมีชื่อเปนหย่างไดหย่างหนึ่ง ฉันหยากรู้ชื่อเดิมของเมืองท้าวอู่ทอง คิดหาที่ค้นนึกขึ้นได้ว่า ไนสิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงตอนข้างท้ายมีชื่อเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยไนสมัยพระเจ้ารามคำแหงบอกไว้ทุกทิส จึงไปตรวดดูชื่อเมืองขึ้นทางทิสไต้ไนสิลาจารึกนั้น มีว่า "เบื้องหัวนอนรอด (ทิสไต้ถึงเมือง) โคนที พระบาง แพรก สุพรรนภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี สรีธัมราช ฝั่งทเลสมุทเปนที่แล้ว" ดังนี้ ก็เมืองเหล่านั้นฉันเคยไปแล้วทั้ง 7 เมือง รู้ได้ว่า ไนจารึกเรียบเรียงเปนลำดับกันลงมาตั้งแต่ต่อเมืองกำแพงเพชร คือ เมืองโคนที หยู่ที่ไกล้บ้านโคน ทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำพิงค์ ยังเปนเมืองร้างมีวัดวาของโบรานปรากตหยู่ตรงที่อ้างไนนิทานเรื่องนายแสนปมว่า เปน "เมืองเทพนคร" ที่พระบิดาของพระเจ้าอู่ทองนรึมิต ก็แต่สิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมีมาก่อนนิทานเรื่องนายแสนปมตั้ง 100 ปี ก็เปนอันลบล้างข้อที่อ้างว่า เปนเมืองเทพนคร และลบล้างต่อไปจนความข้อที่อ้างว่า พระเจ้าอู่ทองครองเมืองเทพนครนั้นหยู่ก่อนลงมาส้างกรุงสรีอยุธยา ต่อเมืองโคนทีลงมา ออกชื่อ "เมืองพระบาง" เมืองนั้นก็ยังเปนเมืองร้างปรากตหยู่ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำพิงค์ข้างหลังตลาดปากน้ำโพบัดนี้ แม้ไนหนังสือพระราชพงสาวดารตอนรัชกาลสมเด็ดพระอินทราชาธิราชก็มีว่า เมื่อเมืองเหนือเปนจลาจล สมเด็ดพระอินทราชาธิราชสเด็ดยกกองทัพขึ้นไปตั้งหยู่ที่เมืองพระบาง ต่อเมืองพระบางลงมาถึง "เมืองแพรก" คือ เมืองสรรค ก็ยังมีเมืองโบรานหยู่จนบัดนี้ ไนกดหมายและพงสาวดารของกรุงสรีอยุธยาก็เรียกว่า "เมืองแพรก" เพราะตั้งหยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยซึ่งแยกจากแม่น้ำพิงค์ไปทางตะวันตก เห็นจะมาเปลี่ยนชื่อเปน "เมืองสรรค" เมื่อพายหลัง ต่อเมืองแพรกลงมาถึง "เมืองสุพรรนภูมิ" พิเคราะห์ตามแผนที่ ตรงกับ "เมืองท้าวอู่ทอง" มิไช่ "เมืองสุพรรนบุรี" ซึ่งส้างเมื่อพายหลัง ต่อเมืองสุพรรนภูมิไป ไนจารึกก็ออกชื่อ เมืองราชบุรี ข้ามเมืองโบรานที่พระปถมเสีย หากล่าวถึงไม่ ข้อนี้ส่อไห้เห็นว่า จารึกแต่ชื่อเมืองอันเปนที่ประชุมชน เมืองร้างหากล่าวถึงไม่

ฉันนึกว่า เหตุไฉนไนจารึกของพ่อขุนรามคำแหงจึงเรียกชื่อ "เมืองท้าวอู่ทอง" ว่า "เมืองสุพรรนภูมิ" ก็สัพท์ 2 สัพท์นั้นเปนภาสามคธ คำ "สุพรรน" แปลว่า "ทองคำ" และคำ "ภูมิ" แปลว่า "แผ่นดิน" รวมกันหมายความว่า "แผ่นดินอันมีทองคำมาก" ถ้าไช้เปน "ชื่อเมือง" ก็ตรงกับว่า เปน "เมืองอันมีทองคำมาก" พอนึกขึ้นเท่านั้นก็คิดเห็นทันทีว่า ชื่อ "สุพรรนภูมิ" นั้นตรงกับชื่อ "อู่ทอง" ไนภาสาไทยนั่นเอง เพราะคำว่า "อู่" หมายความว่า "ที่เกิด" หรือ "ที่มี" ก็ได้ เช่น พูดกันว่า "อู่ข้าวอู่น้ำ" มิได้หมายแต่ว่า "เปล" สำหรับเด็กนอนหย่างเดียว และคำที่เรียกกันว่า ท้าวอู่ทอง ก็ดี พระเจ้าอู่ทอง ก็ดี น่าจะหมายความว่า "เจ้าเมืองอู่ทอง" ไครได้เปนเจ้าเมือง พวกเมืองอื่นก็เรียกว่า ท้าวอู่ทอง หรือ พระเจ้าอู่ทอง เช่นเรียกว่า ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา หรือพระเจ้าเชียงไหม่ และพระเจ้าน่าน มิไช่ชื่อตัวบุคคล คิดต่อไปว่า เหตุไฉนจึงเปลี่ยนชื่อเมืองสุพรรนภูมิเปนเมืองอู่ทอง เห็นว่า เมืองนั้น เดิมพวกพราหมน์คงตั้งชื่อว่า "สุพรรนภูมิ" ไนสมัยเดียวกันกับตั้งชื่อ "เมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรี" ต่อมา น่าจะร้างเสียสักคราวหนึ่ง เนื่องจากเหตุที่พระเจ้าราชาธิราชเมืองพุกามมาตีเมืองราชธานีที่พระปถมเจดีย์ไนระหว่าง พ.ส. 1600 ต่อมา พวกไทยลงมาจากข้างเหนือ อาดเปนพวกพระเจ้าสิริชัยเชียงแสนก็ได้ มาตั้งเมืองสุพรรนภูมิขึ้นอีก เรียกชื่อกันเปนภาสาไทย จึงได้นามว่า "เมืองอู่ทอง" แต่ไนจารึกของพระเจ้ารามคำแหงไช้ชื่อตามทำเนียมเดิม จึงเรียกว่า "เมืองสุพรรนภูมิ"

พอฉันโคสนาความที่คิดเห็นเรื่องเมืองอู่ทองไห้ปรากต พวกนักเรียนโบรานคดีก็เห็นชอบด้วยหมด เมืองนั้นจึงได้ชื่อเรียกกันว่า "เมืองอู่ทอง" แต่นั้นมา ถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อค้นพบพระเจดีย์ยุธหัตถีซึ่งสมเด็ดพระนเรสวรมหาราชซงส้างไว้ตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดีนะตำบนหนองสาหร่ายไนแขวงเมืองสุพรรนฯ พระบาทสมเด็ดพระมงกุฎเกล้าเจ้าหยู่หัวซงพระราชสัทธาอุตสาหะสเด็ดเดินป่าจากพระปถมเจดีย์ไปนมัสการพระเจดีย์นั้นเมื่อ พ.ส. 2456 ได้สเด็ดแวะทอดพระเนตรเมืองอู่ทองไนระหว่างทาง ประทับแรมหยู่ที่ไนเมืองคืนหนึ่ง ซงพระราชดำริเห็นว่า วินิจฉัยเรื่องเมืองอู่ทองมีหลักถานมั่นคง ต่อมาถึง พ.ส. 2468 เมื่อซงสถาปนาสมเด็ดพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เปนเจ้าฟ้าต่างกรม จึงพระราชทานพระนามกรมว่า เจ้าฟ้า "กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี" ชื่อเมืองอู่ทองก็เพิ่มขึ้นไนทำเนียบหัวเมืองอีกเมืองหนึ่งด้วยประการฉะนี้

การที่ค้นพบพระเจดีย์ยุธหัตถีของสมเด็ดพระนเรสวรมหาราชมีเกี่ยวข้องกับตัวฉันหยู่บ้าง และเหตุที่ค้นพบก็หยู่ข้างแปลกประหลาด จึงจะเล่าไว้ไนนิทานเรื่องนี้ด้วย

เรื่องสมเด็ดพระนเรสวรได้ซงทำยุธหัตถี คือ ขี่ช้างชนกันตัวต่อตัวกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้าง มีชัยชนะหย่างมหัสจรรย์ และได้ซงส้างพระเจดีย์ไว้ตรงที่ซงชนช้างองค์หนึ่งนั้น เปนเรื่องที่เลื่องลือเฉลิมพระเกียรติสมเด็ดพระนเรสวรฯ สืบมาแต่ครั้งกรุงสรีอยุธยา แต่มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินท์นี้ หาปรากตว่า มีไครได้เคยเห็นหรือรู้ว่าพระเจดีย์องค์นั้นหยู่ที่ตรงไหนไม่ มีแต่ชื่อเรียกกันว่า "พระเจดีย์ยุธหัตถี" หนังสือเก่าที่กล่าวถึงพระเจดีย์ยุธหัตถีก็มีแต่ไนหนังสือพระราชพงสาวดารว่า เมื่อสมเด็ดพระนเรสวรฯ ซงชนะยุธหัตถีแล้ว "ตรัดไห้ก่อพระเจดียสถานสวมสพพระมหาอุปราชาไว้นะตำบนตระพังกรุ" เพียงเท่านี้

ตัวฉันรักรู้โบรานคดี ตามสเด็ดพระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวมาตั้งแต่ก่อนเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทย นึกหยากเห็นพระเจดีย์ยุธหัตถีของสมเด็ดพระนเรสวรมานานแล้ว แต่ไม่สามาถจะไปค้นหาได้ เมื่อเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทย จึงไห้สืบถามหาตำบนตระพังกรุว่า หยู่ที่ไหน ได้ความว่า เดิมหยู่ไนเขตเมืองสุพรรนบุรี แต่เมื่อย้ายเมืองกาญจนบุรีจากเขาชนไก่มาตั้งที่ปากแพรกไนรัชกาลที่ 3 โอนตำบนตระพังกรุไปหยู่ไนเขตเมืองกาญจนบุรี แต่ไนเวลานั้น เมืองกาญจนบุรีก็ยังขึ้นหยู่ไนกะซวงกลาโหม ไม่กล้าไปค้น ต้องรอมาอีก 3 ปี จนโปรดไห้รวมหัวเมืองซึ่งเคยขึ้นกะซวงกลาโหมและกรมท่ามาขึ้นหยู่ไนกะซวงมหาดไทยแต่กะซวงเดียว มีโอกาสที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุธหัตถี ฉันจึงสั่งพระยากาญจนบุรี (นุช) ซึ่งเคยรับราชการหยู่ไกล้ชิดกับฉัน เมื่อยังเปนที่หลวงจินดารักส์ ไห้หาเวลาว่างราชการออกไปยังบ้านตระพังกรุเอง สืบถามว่า พระเจดีย์ยุธหัตถีที่สมเด็ดพระนเรสวรฯ ซงส้างมีหยู่ไนตำบนนั้นหรือไม่ ถ้าพวกชาวบ้านไม่รู้ ก็ไห้พระยากาญจนบุรีฯ เที่ยวตรวดดูเองว่า มีพระเจดีย์โบรานที่ขนาดหรือรูปซงสันถานสมกับเปนของพระเจ้าแผ่นดินจะได้ซงส้าง มีหยู่ไนตำบนตระพังกรุบ้างหรือไม่ พระยากาญจนบุรีไปตรวดหยู่นาน แล้วบอกรายงานมาว่า บ้านตระพังกรุนั้นมีมาแต่โบราน เปนที่ดอน ต้องอาสัยไช้น้ำบ่อ มีบ่อน้ำกรุอิถข้างไน ซึ่งคำโบรานเรียกว่า "ตระพังกรุ" หยู่หลายบ่อ แต่ถามชาวบ้านถึงพระเจดีย์ที่สมเด็ดพระนเรสวรฯ ซงส้าง แม้คนแก่คนเถ้าก็ว่า ไม่เห็นมีไนตำบนนั้น พระยากาญจนบุรีไปเที่ยวตรวดดูเอง ก็เห็นมีแต่พระเจดีย์องค์เล็ก ๆ หย่างที่ชาวบ้านชอบส้างกันตามวัด ดูเปนของส้างไหม่ทั้งนั้น ไม่เห็นมีพระเจดีย์แปลกตาซึ่งสมควนจะเห็นว่า เปนของพระเจ้าแผ่นดินซงส้าง ฉันได้เห็นรายงานหย่างนั้นก็จนไจ มิรู้ที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุธหัตถีต่อไปหย่างไรจนตลอดรัชกาลที่ 5

แต่ฉันรู้มาตั้งแต่ไนรัชกาลที่ 5 ว่า สมเด็ดพระนเรสวรฯ มิได้ซงส้างพระเจดีย์องค์นั้นสวมสพพระมหาอุปราชาหย่างว่าไนหนังสือพระราชพงสาวดาร เพราะไนหนังสือพงสาวดารพม่า ซึ่งพระไพรสนท์สารารักส์ (อองเทียน) กรมป่าไม้ แปลจากภาสาพม่าไห้ฉันอ่าน ว่า ครั้งนั้น พวกพม่าเชินสพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงสาวดี ฉันพิจารนาดูรายการที่ปรากตไนหนังสือพระราชพงสาวดาร ก็เห็นสมหย่างพม่าว่า เพราะรบกันวันชนช้างนั้น เดิมสมเด็ดพระนเรสวรฯ ตั้งขบวนทัพหมายจะตีปะทะหน้าข้าสึก ครั้นซงทราบว่า กองทัพหน้าของข้าสึกไล่กองทัพพระยาสรีไสยนรงค์ซึ่งไปตั้งขัดตาทัพมาไม่เปนขบวน ซงพระราชดำริเห็นได้ที ก็ตรัดสั่งไห้แปรขบวนทัพเข้าตีโอบด้านข้างข้าสึกไนทันที แล้วซงช้างชนนำพลออกไล่ข้าสึกด้วยกันกับสมเด็ดพระเอกาทสรถ มีแต่กองทัพที่ตั้งหยู่ไกล้ ๆ ตามสเด็ดไปด้วย แต่กองทัพที่ตั้งหยู่ห่างได้รู้กะแสรับสั่งช้าไปบ้าง หรือบางทีที่ยังไม่เข้าไจพระราชประสงค์ก็จะมีบ้าง ยกไปช้าไม่ทันเวลาดังพระราชประสงค์หลายกอง ซ้ำไนเวลาเมื่อสมเด็ดพระนเรสวรฯ ไล่กองทัพหน้าข้าสึกที่แตกพ่ายไปนั้น ผเอินเกิดลมพัดฝุ่นฟุ้งมืดมนท์ไปทั่วทั้งสนามรบ จนคนเห็นตัวกันมิไคร่ถนัด ช้างพระที่นั่งของสมเด็ดพระนเรสวรฯ กับช้างซงของสมเด็ดพระเอกาทสรถ เปนช้างชนกำลังบ่มมัน ต่างแล่นไล่ข้าสึกไปโดยเร็ว จนกองทัพพลเดินเท้าที่ตามสเด็ดล้าหลัง มีแต่พวกองครักส์ตามติดช้างพระที่นั่งไปไม่กี่คนนัก พอฝุ่นจางลง สมเด็ดพระนเรสวรฯ จึงซงทราบว่า ช้างพระที่นั่งพาทลวงเข้าไปจนถึงไนกองทัพหลวงของข้าสึก ด้วยทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชากับพวกเสนา ขี่ช้างยืนพักหยู่ด้วยกันไนร่มไม้นะที่นั้น ความมหัสจรรย์ไนพระอภินิหารของสมเด็ดพระนเรสวรฯ เกิดขึ้นไนขนะนี้ ที่ซงพระสติปัญญาว่องไวทันเหตุการน์ คิดเห็นไนทันทีว่า ทางที่จะสู้ข้าสึกได้เหลือหยู่หย่างเดียวแต่เปลี่ยนวิธีรบไห้เปนทำยุธหัตถี จอมพลชนช้างกันตัวต่อตัว อันนับถือกันว่า เปนวิธีรบของกสัตรซึ่งแกล้วกล้า ก็ขับช้างพระที่นั่งเข้าไปชวนพระมหาอุปราชาไห้ทำยุธหัตถี ฝ่ายพระมหาอุปราชาก็เปนกสัตร มีขัตติยมานะ จะไม่รับก็ละอาย จึงได้ชนช้างกัน เมื่อสมเด็ดพระนเรสวรฯ ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้างนั้น ทั้งพระองค์เองกับสมเด็ดพระเอกาทสรถหยู่ไนที่ล้อม พระองค์สมเด็ดพระนเรสวรฯ ก็ถูกปืนบาดเจ็บที่พระหัถ นายมหานุภาพ ควานช้างพระที่นั่ง ก็ถูกปืนตาย หมื่นภักดีสวร กลางช้างของสมเด็ดพระเอกาทสรถ ก็ถูกปืนตายไนเวลาซงชนช้างชนะมังจาชะโร ต้องซงเสี่ยงภัยหยู่ไนที่ล้อมทั้ง 2 พระองค์ แต่ไม่ช้านัก กองทัพพวกที่ตามสเด็ดก็ไปถึง แก้เอาออกจากที่ล้อมกลับมาค่ายหลวงได้ ส่วนกองทัพหงสาวดีกำลังตกไจกันอลหม่าน ด้วยพระมหาอุปราชาผู้เปนจอมพลสิ้นชีพ ก็รีบรวบรวมกันเลิกทัพ เชินสพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงสาวดีไนวันนั้น ฝ่ายทางข้างไทยต่อมาอีก 2 วัน กองทัพที่สมเด็ดพระนเรสวรฯ ไห้ไปตามตีข้าสึกจึงได้ยกไป ไปทันตีแตกพ่ายแต่ทัพหลังของพวกหงสาวดี ได้ช้างม้าสาตราวุธมาดังว่าไนหนังสือพระราชพงสาวดาร ส่วนกองทัพหลวงของข้าสึกนั้นรอดไปได้ เรื่องที่จริงเห็นจะเปนหย่างนี้ สมเด็ดพระนเรสวรฯ จึงซงพระพิโรธพวกแม่ทัพนายกอง มีเจ้าพระยาจักรีฯ เปนต้น ที่ไม่ยกไปทันตามรับสั่ง ถึงวางบทไห้ประหารชีวิตตามกดอัยการสึก เพราะพวกนั้นเปนเหตุไห้ข้าสึกไม่แตกพ่ายไปหมดทุกทัพ

แม้จะมีคำถามว่า ถ้าพระเจดีย์ยุธหัตถีมิได้ส้างสวมสพพระมหาอุปราชาหงสาวดีดังว่าไว้ไนหนังสือพระราชพงสาวดาร สมเด็ดพระนเรสวรฯ ซงส้างพระเจดีย์องค์นั้นขึ้นทำไม ข้อนี้ก็มีหลักถานไนหนังสือพระราชพงสาวดารพอจะคิดเห็นเหตุได้ ด้วยเมื่อสมเด็ดพระนเรสวรฯ สเด็ดกลับมาถึงพระนคร สมเด็ดพระพนรัตนวัดป่าแก้ว ซึ่งเปนตำแหน่งพระสังคราชฝ่ายขวา พาพระสงค์ราชาคนะ 25 รูปเข้าไปเฝ้าเยี่ยมถามข่าวตามประเพนี เห็นข้าราชการที่ถูกตัดสินประหารชีวิต ต้องจำหยู่ที่ไนวัง สมเด็ดพระพนรัตนทูนถามสมเด็ดพระนเรสวรฯ ว่า สเด็ดไปทำสงครามก็มีชัยชนะข้าสึก เหตุไฉนพวกแม่ทัพนายกองจึงต้องราชทันท์เล่า สมเด็ดพระนเรสวรฯ ซงเล่าเรื่องที่รบกันไห้สมเด็ดพระพนรัตน์ฟัง แล้วตรัดว่า ข้าราชการเหล่านั้น "มันกลัวข้าสึกมากกว่าโยม ละไห้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปไนท่ามกลางข้าสึก จนได้ทำยุธหัตถีกับพระมหาอุปราชามีชัยชนะแล้ว จึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากบารมีของโยม หาไม่แผ่นดินก็จะเปนของหงสาวดีเสียแล้ว"

สมเด็ดพระพนรัตนถวายพระพรว่า ซึ่งข้าราชการเหล่านั้นจะกลัวข้าสึกยิ่งกว่าพระองค์เห็นจะไม่เปนได้ ที่เกิดเหตุบันดานไห้สเด็ดเข้าไปมีชัยชนะโดยลำพังพระองค์ไนท่ามกลางข้าสึกนั้น น่าจะเปนเพราะพระบารมีบันดานจะไห้พระเกียรติปรากตไปทั่วโลก เปรียบเหมือนเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าสเด็ดประทับหยู่ไต้ต้นสรีมหาโพธิไนวันที่จะตรัดรู้พระโพธิญานนั้น เทวดาก็มาเฝ้าหยู่เปนอันมาก เมื่อพระยามารยกพลมาผจน ถ้าหากเทวดาช่วยรบพุ่งพระยามารไห้พ่ายแพ้ไป ก็จะไม่สู้อัสจรรย์นัก ผเอินเทวดาพากันหนีไปหมด ยังเหลือแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวซงสามาถปราบพระยามารกับทั้งรี้พลไห้พ่ายแพ้ได้ จึงได้พระนามว่า "สมเด็ดพระพิชิตมารโมลีสรีสรรเพชญ์ดาญาน" เปนมหัสจรรย์ไปทั่วอนันตจักรวาล ที่พระองค์ซงชนะสงครามครั้งนี้ก็คล้ายกัน ถ้าหากมีชัยชนะด้วยกำลังรี้พล พระเกียรติยสก็จะไม่เปนมหัสจรรย์เหมือนที่มีชัยด้วยซงทำยุธหัตถีโดยลำพังพระองค์กับสมเด็ดพระอนุชาธิราช จึงเห็นว่า หากพระบารมีบันดานเพื่อเฉลิมพระเกียรติยส ไม่ควนซงโทมนัสน้อยพระราชหรึทัย สมเด็ดพระนเรสวรฯ ได้ซงฟังสมเด็ดพระพนรัตนถวายวิสัชนา ก็ซงพระปีติโสมนัสสิ้นพระพิโรธ สมเด็ดพระพนรัตนจึงทูนขอชีวิตข้าราชการไว้ทั้งหมด แต่ไนหนังสือพระราชพงสาวดารขาดความหยู่ข้อหนึ่งซึ่งมีวัตถุและหลักถานปรากตหยู่ว่า สมเด็ดพระพนรัตนได้ทูนแนะนำไห้สมเด็ดพระนเรสวรฯ เฉลิมพระเกียรติที่มีชัยชนะครั้งนั้นด้วยบำเพ็นพระราชกุสลตามเยี่ยงหย่างพระเจ้าทุตถะคามนีที่ชาวลังกานับถือว่า เปนวีระมหาราช อันมีเรื่องหยู่ไนคัมภีร์มหาวงส์คล้ายกันมาก ไนเรื่องนั้นว่า เมื่อ พ.ส. 338 พระยาเอลารทมิลมิจฉาทิตถิ ยกกองทัพจากอินเดียมาตีได้เมืองลังกา แล้วครอบครองหยู่ถึง 40 ปี ไนเวลาที่เมืองลังกาตกหยู่ไนอำนาจมิจฉาทิตถินั้น มีเชื้อวงส์ของพระเจ้าเทวานัมปิยดิสองค์หนึ่ง ซงนามว่า พระยากากะวรรนดิส ได้ครองเมืองอันหนึ่งหยู่ไนโรหนะประเทสตอนกลางเกาะลังกา พระยากากะวรรนดิสมีโอรส 2 องค์ ๆ ไหย่ซงนามว่า ทุตถะคามนี องค์น้อยซงนามว่า ดิสกุมาร ช่วยกันซ่องสุมรี้พลหมายจะตีเอาเมืองลังกาคืน แต่พระยากากะวรรนดิสถึงแก่พิราลัยไปเสียก่อน ทุตถะคามนีกุมารได้เปนพระยาแทนพระบิดา พยายามรวบรวมกำลังได้จนพอการ แล้วยกกองทัพไปตีเมืองอนุราถบุรีราชธานี ได้รบกันพระยาเอลารทมิลถึงชนช้างกันตัวต่อตัว ทุตถะคามนีกุมารฟันพระยาเอลารทมิลสิ้นชีพบนคอช้าง ก็ได้เมืองลังกาคืนเปนของราชวงส์ที่ถือพระพุทธสาสนา ไนการฉลองชัยมงคลครั้งนั้น พระเจ้าทุตถะคามนีไห้ส้างพระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้นตรงที่ชนช้างชนะ แล้วส้างพระมหาสถูปอีกองค์หนึ่ง เรียกว่า มริจิวัตเจดีย์ ขึ้นที่ไนเมืองอนุราถบุรี เปนที่คนทั้งหลายสักการะบูชา เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าทุตถะคามนีสืบมา สมเด็ดพระนเรสวรฯ จึงโปรดไห้ส้างพระเจดีย์ยุธหัตถีขึ้นตรงที่ซงชนช้างองค์หนึ่ง แล้วซงส้างพระเจดีย์ไหย่อีกองค์หนึ่ง ขนานนามว่า "พระเจดีย์ชัยมงคล" ขึ้นที่ "วัดเจ้าพระยาไทย" อันเปนที่สถิตของพระสังคราชาฝ่ายขวา จึงมักเรียกกันว่า "วัดป่าแก้ว" ตามนามเดิมของพระสงค์คนะนั้น พระเจดีย์ชัยมงคลก็ยังปรากตหยู่ทางข้างตะวันออกของทางรถไฟ เห็นได้แต่ไกลจนบัดนี้ เหตุที่ส้างพระเจดีย์รู้มาแล้วแต่ไนรัชกาลที่ 5 ว่า เปนดังเล่ามา เปนแต่ยังไม่รู้ว่า พระเจดีย์ยุธหัตถีหยู่ที่ไหนเท่านั้น

เหตุที่จะพบพระเจดีย์ยุธหัตถีนั้นก็หยู่ข้างแปลกประหลาด ดูเหมือนจะเปนไนปีแรกรัชกาลที่ 6 พระยาปริยัติธัมธาดา (แพ ตาละลักสน์) เมื่อยังเปนที่หลวงประเสิดอักสรนิติ ช่วยเที่ยวหาหนังสือไทยฉบับเขียนของเก่าอันกะจัดกะจายหยู่ไนพื้นเมืองไห้หอพระสมุดสำหรับพระนคร วันหนึ่ง ไปเห็นยายแก่ที่บ้านแห่งหนึ่งกำลังรวบรวมเอาสมุดไทยลงไส่กะชุ ถามว่า จะเอาไปไหน แกบอกว่า จะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดูหนังสือไนสมุดเหล่านั้น เห็นเปนหนังสือเรื่องพงสาวดารหยู่เล่มหนึ่ง จึงขอยายแก่เอามาส่งไห้ฉันที่หอพระสมุดฯ ฉันเห็นเปนสมุดของเก่า เขียนตัวบันจงด้วยเส้นรง (มิไช่หรดาลที่ชอบไช้กันไนชั้นหลัง) พอเปิดออกอ่านก็ประหลาดไจ ด้วยขึ้นต้นมีบานแผนกว่า สมเด็ดพระนารายน์มหาราชตรัดสั่งไห้รวบรวมจดหมายเหตุต่าง ๆ แต่งหนังสือพระราชพงสาวดารฉบับนั้น เมื่อนะวันพุทธ เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลสักราช 1042 (พ.ส. 2223) แปลกกับหนังสือพระราชพงสาวดารฉบับอื่น ๆ ที่มีไนหอพระสมุดฯ ฉันจึงไห้เรียกว่า "พระราชพงสาวดาร ฉบับหลวงประเสิด" เพื่อเปนเกียรติยสแก่ผู้ได้มา

ต่อมา ฉันอ่านหนังสือพระราชพงสาวดาร ฉบับหลวงประเสิด เทียบกับฉบับพิมพ์ 2 เล่ม สังเกตได้ว่า ฉบับหลวงประเสิดแต่งก่อน ผู้แต่งฉบับพิมพ์ 2 เล่มคัดเอาความไปลงตรง ๆ คำก็มี เอาความไปแต่งเพิ่มเติมไห้พิสดารขึ้นก็มี แก้สักราชเคลื่อนคลาดไปก็มี แต่งแซกลงไหม่ก็มี บางแห่งเรื่องที่กล่าวไนพงสาวดารฉบับหลวงประเสิดแตกต่างกันกับที่กล่าวไนฉบับพิมพ์ 2 เล่มก็มี เมื่อฉันอ่านไปถึงตอนสมเด็ดพระนเรสวรฯ ชนช้าง เห็นไนฉบับหลวงประเสิดว่า พระมหาอุปราชามาตั้งประชุมทัพหยู่ตำบนตระพังกรุ แล้วมาชนช้างกับสมเด็ดพระนเรสวรฯ ที่ตำบนหนองสาหร่าย เมื่อวันจันท์ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง จุลสักราช 954 (พ.ส. 2135) พอเห็นหย่างนั้น ฉันก็นึกขึ้นว่า ได้เค้าจะค้นพระเจดีย์ยุธหัตถีอีกแล้ว รอพอพระยาสุพรรนฯ (อี้ กันสูตร ซึ่งพายหลังได้เปนพระยาสุนทรบุรีฯ สมุหเทสาภิบาลมนทลนครชัยสรี) เข้ามากรุงเทพฯ ฉันเล่าเรื่องพระเจดีย์ยุธหัตถีไห้ฟัง แล้วสั่งไห้ไปสืบดูว่า ตำบนชื่อหนองสาหร่ายไนแขวงเมืองสุพรรนฯ ยังมีหรือไม่ ถ้ามี ไห้พระยาสุพรรนฯ ออกไปเองถึงตำบนนั้น สืบถามดูว่า มีพระเจดีย์โบรานหยู่นะที่แห่งหนึ่งแห่งไดบ้าง พระยาสุพรรนฯ ออกไปสืบหยู่ไม่ถึงเดือน ก็มีรายงานบอกมาว่า ตำบนหนองสาหร่ายนั้นยังมีหยู่ไกล้กับนำน้ำท่าคอย ทางทิสตะวันตกเมืองสุพรรนฯ (คือ ลำน้ำเดียวกันกับลำน้ำจรเข้สามพันที่ตั้งเมืองอู่ทองนั่นเอง แต่หยู่เหนือขึ้นไปไกล) พระยาสุพรรนฯ ได้ออกไปที่ตำบนนั้น สืบถามถึงพระเจดีย์โบราน พวกชาวบ้านบอกว่า มีหยู่ไนป่าตรงที่เรียกกันว่า "ดอนพระเจดีย์" องค์หนึ่ง พระยาสุพรรนฯ ถามต่อไปว่า เปนพระเจดีย์ของไครส้างไว้ รู้หรือไม่ พวกชาวบ้านตอบว่า ไม่รู้ว่าไครส้าง เปนแต่ผู้หลักผู้ไหย่บอกเล่าสืบมาว่า "พระนเรสวรกับพระนารายน์ชนช้างกันที่ตรงนั้น" ก็เปนอันได้เรื่องที่สั่งไห้ไปสืบ พระยาสุพรรนฯ จึงไห้พวกชาวบ้านพาไปยังดอนพระเจดีย์ เมื่อแรกไปถึง ไม่เห็นมีพระเจดีย์หยู่ที่ไหน เพราะต้นไม้ขึ้นปกคลุมพระเจดีย์มิดหมดทั้งองค์ จนผู้นำทางเข้าไปถางเปนช่องไห้มองดู จึงแลเห็นอิถที่ก่อถาน รู้ว่า พระเจดีย์หยู่ตรงนั้น ถ้าไม่รู้จากชาวบ้านไปก่อน ถึงไครจะเดินผ่านไปไกล้ ๆ ก็เห็นจะไม่รู้ว่า มีพระเจดีย์หยู่ตรงนั้น ฉันนึกว่า คงเปนเพราะเหตุนั้นเอง จึงไม่รู้กันว่า พระเจดีย์ยุธหัตถียังมีหยู่ เลยหายไปกว่า 100 ปี พระยาสุพรรนฯ ระดมคนไห้ช่วยกันตัดต้นไม้ที่ปกคลุมพระเจดีย์ออกหมดแล้ว ไห้ช่างฉายรูปพระเจดีย์ส่งมาไห้ฉันด้วยกันกับรายงาน สังเกตดูเปนพระเจดีย์มีถานทักสินเปน 4 เหลี่ยม 3 ชั้น ขนาดถานทักสินชั้นล่างกว้างยาวราว 8 วา แต่องค์พระเจดีย์เหนือถานทักสินชั้นที่ 3 ขึ้นไปหักพังเสียหมดแล้ว รูปสันถานจะเปนหย่างไรรู้ไม่ได้ ประมานขนาดสูงของพระเจดีย์เมื่อยังบริบูรน์ เห็นจะราวเท่า ๆ กับพระปรางค์ที่วัดราชบูรนะไนกรุงเทพฯ พอฉันเห็นรายงานกับรูปฉายที่พระยาสุพรรนฯ ส่งมา ก็สิ้นสงสัย รู้ว่า พบพระเจดีย์ยุธหัตถีเปนแน่แล้ว มีความยินดีแทบเนื้อเต้น รีบนำความขึ้นกราบบังคมทูนพระบาทสมเด็ดพระมงกุฎเกล้าเจ้าหยู่หัว ก็ซงพระปีติโสมนัสตรัดว่า พระเจดีย์ยุธหัตถีเปนอนุสาวรีย์เฉลิมเกียรติของเมืองไทยสำคันหย่างยิ่งแห่งหนึ่ง ถึงหยู่ไกลไปลำบาก ก็จะสเด็ดไปสักการะบูชา จึงซงพระอุตสาหะสเด็ดไปเมื่อ พ.ส. 2456 ด้วยประการฉะนี้