ข้ามไปเนื้อหา

นิทานโบรานคดี/นิทานที่ 6

จาก วิกิซอร์ซ


ครั้งฉันไปอินเดียไน พ.ส. 2434 เมื่อไปถึงเมืองพารานสี Benares พระมหาราชาจัดวังนันเทสวรอันเปนที่สำหรับรับแขกเมืองมีบันดาสักดิไห้เปนที่พัก วังนันเทสวรหยู่ต่างฟากแม่น้ำคงคากับวังรามนครที่มหาราชาหยู่ เปนตึกฝรั่งมีสวนและกำแพงล้อมรอบ รัถบาลอังกริดส้างแต่เมื่อยังไม่ได้ปล่อยไห้เมืองพารานสีเปนประเทสราช เดิมเปนที่จวนของข้าหลวงอังกริดที่บันชาการเมือง ครั้นเมืองพารานสีได้เปนประเทสราช มหาราชาจึงรับซื้อไว้เปนที่รับแขกเมืองมีบันดาสักดิ ไห้ชื่อว่า วังนันเทสวร ประเพนีประเทสราชไนอินเดียรับแขกเมืองผิดกันหย่างหนึ่ง เมืองไหนเจ้าเมืองถือสาสนาอิสลามเช่นมหาราชาไนชัม–เมืองไฮเดอระบัด มีการเลี้ยงไห้เปนเกียรติยสเหมือนหย่างฝรั่ง แต่เมืองที่เจ้าเมืองถือสาสนาฮินดูไม่มีการเลี้ยง เพราะสาสนาฮินดูห้ามมิไห้กินร่วมกับคนถือสาสนาอื่น หรือแม้คนถือสาสนาฮินดูด้วยกัน ถ้าเกิดไนสกูลต่างวรรนะ เช่นพราหมน์กับกสัตร ก็กินร่วมกันไม่ได้ เมื่อฉันพักหยู่เมืองพารานสี เขาเลี้ยงหย่างฝรั่ง แต่มหาราชาไห้จัดอาหารหย่างฮินดูส่งมาเลี้ยงด้วย เปนสำรับกับข้าวเช่นเดียวกับของไทย เปิดพิจารนาดู ทำหย่างประนีตบันจงหย่างของห้องเครื่อง เปนต้นว่า ข้าวที่ไส่มาไนชาม ก็ปิดทองคำเปลวเหมือนหย่างเข้าทิพพิธีสาท นึกว่า จะลองกินกับข้าวฮินดูไห้รู้รสว่า ผิดกับของไทยหย่างไร แต่เมื่อหยิบขึ้นถึงปาก ได้กลิ่นเนย "ฆี" หรือที่เรียกไนบาลีว่า "สปฺปิ นวนีตํ" ซึ่งพวกฮินดูชอบปรุงกับอาหารแทบทุกหย่าง ฉุนทนไม่ไหว ก็ได้แต่ชิมเล็กน้อยพอเปนกิริยาบุญ ไม่พอที่จะพรรนนาได้ว่า รสอาหารผิดกับของไทยหย่างไร

รุ่งขึ้นถึงวันที่สองซึ่งฉันหยู่ไนเมืองพารานสี มหาราชาเชินไปที่วังรามนคร จัดรับเต็มยสตามแบบโบราน อังกริดเรียกว่า Official Durbar เวลาเช้าสัก 9 นาลิกา ออกจากวังนันเทสวรไปลงเรือที่ท่าแม่นํ้าคงคา มหาราชาไห้เรือที่นั่งลำหนึ่งมาคอยรับ เรือนั้นเปนเรือพายยาวสัก 7 วา แต่ต่อรูปร่างแปลกตาไม่เคยเห็น ข้างหัวเรือเรียว ท้ายเรือกว้าง ยกพื้นเปนบัลลังก์ข้างท้ายเรือ มีมนดปเสาหุ้มเงินหลังคาขึงผ้ากำมะหยี่ปักทอง ปูพรมตั้งเก้าอี้ไห้พวกเรานั่งไนมนดป ต่อยกพื้นลงไปข้างหน้า พวกฝีพายแต่งเครื่องแบบนั่งบนกะทงสองแคมตลอดไปจนหัวเรือ พอเรือออกจากท่า ผู้เปนบ่อโทนนายฝีพายก็ขานมนต์ภาสาสันสกริต ได้ยินขึ้นต้นว่า "โอมรามะลักสมัน" ต่อไปว่ากะไรฉันไม่เข้าไจ แต่ว่ายาววรรคหนึ่งพวกฝีพายก็ขานรับพร้อมกันคำหนึ่ง ว่ากะไรก็ไม่เข้าไจเหมือนกัน กะบวนคูคล้ายกับขานยาวเรือพระที่นั่งไนเมืองไทย และขานเปนระยะไปเสมอเช่นเดียวกัน ฉันถามผู้กำกับ เขาบอกอธิบายว่า ไนสาสนาฮินดูเชื่อว่า เมื่อพระรามจะไปจากมนุสโลก สเด็ดลงแม่น้ำคงคาหายไป เพราะฉะนั้น เวลาข้ามแม่น้ำคงคา จึงสวดบูชาพระรามไห้เกิดสวัสดิมงคล ฉันก็ตีความว่า คำที่บ่อโทนว่าคงเปนคำบูชา คำฝีพายว่าคำเดียวนั้นคงเปนหย่างรับว่า "สาธุ" เมื่อเรือไปถึงท่ารามนคร มีขบวนแห่คอยรับหยู่บนบก เขาผูกช้างงาตัวหนึ่งสูงกว่า 5 สอกสำหรับรับฉัน ช้างตัวนั้นแต่งเครื่องมีกำมะหยี่ปักทองผืนไหย่คลุมหลังลงมาจนเกือบจึงดิน ผูกสับปะคับโถงหุ้มเงิน มีที่นั่งสองตอนบนนั้น หน้าช้างมีผ้ากำมะหยี่ปักทองปกกะพอง และไส่ปลอกงากาไหล่ทองเปนปล้อง ๆ ทั้งสองข้าง มีคนแต่งเครื่องแบบขี่คอช้าง มือถือแส้จามร (คือ แส้หางจามรี) คอยโบกปัดมแลงวันคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งนั่งบนสับปะคับตอนหลังถือร่มระย้ากั้นฉัน (คือว่า กั้นฉัตร) นอกจากนั้น มีช้างพลายพังผูกสับปะคับหย่างสามัญสำหรับรับพวกบริพารอีกหลายตัว มีขบวนคนแห่ล้วนแต่งเครื่องแบบขี่ม้านำคู่หนึ่ง ต่อมาเปนคู่แห่ถือหอกเดินแซงสองข้าง ทางแต่ท่าเรือไปถึงวังรามนคร ประมานราวแต่ท่าพระเข้าไปถึงไนพระบรมมหาราชวังไนกรุงเทพฯ เมื่อแห่ไปถึงวัง พระมหาราชาคอยรับหยู่ที่ประตูตำหนัก พาเดินขึ้นไปยังห้องรับแขก น่าเรียกว่า ท้องพระโรง แต่หยู่ชั้นบน ไนนั้นตั้งเก้าอี้แถวยาวเรียงเปนรูปพระจันท์ครึ่งซีก ตรงกลางเปนเก้าอี้หุ้มทองคำ 2 ตัว ไห้ฉันนั่งตัวข้างขวา มหาราชานั่งตัวข้างซ้าย ต่อออกไปเปนเก้าอี้หุ้มเงินฝ่ายละสัก 3 ตัว แล้วเปนเก้าอี้ไม้ตลอดไป จัดไห้พวกที่ไปกับฉันทั้งไทยและฝรั่งนั่งทางฝ่ายขวา พวกญาติวงส์และเสนาอำมาจของมหาราชานั่งทางข้างฝ่ายซ้าย พอนั่งกันเรียบร้อยแล้วมีคนถือถาดไส่พวงมาลัยทำดัวยตาดและโหมด ออกมาส่งมหาราชา ๆ หยิบพวงมาลาตาดพวงหนึ่งมาคล้องคอไห้ฉัน เจ้าน้องชายคล้องมาลาโหมดไห้คนอื่นที่ไปด้วยต่อไป แล้วนั่งสนทนาปราสัยกันเฉพาะมหาราชากับตัวฉัน คนอื่นเปนแต่นั่งนิ่งหยู่ มหาราชาตรัดภาสาอังกริดได้คล่องไม่ต้องมีล่าม วันนั้น แต่งองค์ซงเครื่องเยียระบับ โพกผ้ามีเพชรพลอยประดับ เหน็บกริดฝักทองที่เอว บอกฉันว่า เคยเฝ้าสมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อสเด็ดไปเวลาเทอยังเปนเด็ก ได้รับพระราชทานกริดเล่มนั้นไว้เปนที่ระลึก สนทนากันไปสักครู่หนึ่ง พวกพินพาทย์ก็ออกมานั่งตั้งวงที่ตรงหน้า เริ่มบันเลงเพลงดนตรี แล้วมีหยิงสาวเปนนางนัจจะ Nautch Girl คนหนึ่งออกมาฟ้อนรำเข้ากับจังหวะพินพาทย์ ทำไห้นึกถึงเรื่องรามเกียรติ์ ดังจะพรรนนาที่อื่นต่อไปข้างหน้า มีการฟ้อนรำหยู่สักครู่หนึ่ง แล้วนางนัจจะกับพวกพินพาทย์ก็กลับไป เปนหมดพิธีเพียงเท่านั้น กลับมายังที่พักโดยขบวนเหมือนหย่างเมื่อขาไป

ชื่อที่เรียกวังว่า รามนคร นั้น สังเกตไนหนังสือเก่าดูยุติต้องกันกับคำของพวกพราหมน์ไนเมืองไทยซึ่งว่า บันพบุรุสบอกเล่ากันสืบมาว่า พราหมน์พวกโหรดาจารย์ที่เมืองพัทลุง เดิมหยู่เมืองพารานสี และพวกพราหมน์พิธีที่เมืองนครสรีธัมราช ว่า เดิมหยู่เมืองรามนครดังนี้ จึงสันนิถานว่า เดิมจะเปนชื่อบริเวนราชธานี หย่างเช่นเราเรียกว่า "พระนคร" ไนกรุงเทพฯ คำพารานสีเปนชื่อเรียกจังหวัด หย่างเราเรียกว่า "จังหวัดกรุงเทพฯ" และยังมีคำอื่นสำหรับเรียกรวมทั้งอานาเขตอีกคำหนึ่งว่า "กาสี" แม้ไนพระบาลีก็มีมาแต่โบราน พวกแขกยามไนกรุงเทพฯ ยังบอกว่า พวกของตนเปนชาวกาสี อันรวมอานาเขตกับเมืองพารานสี ดังนี้ ตัววังรามนครนั้น เห็นจะส้างมาช้านานหลายร้อยปี เปนแบบวังหย่างโบราน มีพร้อมด้วยป้อมปราการหยู่ไนตัว ล้วนก่อด้วยสิลาทำนองเดียวกับวังโบรานที่เมืองประเทสราชอื่นซี่งส้างแต่ครั้งบ้านเมืองยังเปนอิสระมีอีกหลายแห่ง เมื่อกลับมาจากรามนครไนบ่ายวันนั้น เขาพาฉันไปที่มรึคทายวันอันเปนที่พระพุทธองค์ซงสแดงปถมเทสนา ชาวเมืองเรียกว่า ตำบนสารนาถ Sarnath หยู่ห่างแม่นํ้าคงคาราวสัก 150 เส้น แต่เรื่องมรึคทายวันจะรอไว้พรรนนาไนนิทานเรื่องหนึ่งต่างหาก รวมกับเรื่องไปไหว้พระนะที่แห่งอื่น ๆ ไนอินเดีย

วันที่สามซี่งฉันหยู่นะเมืองพารานสี เขาพาไปดูพวกฮินดูลอยบาปไนแม่น้ำคงคา อันเปนที่ขึ้นชื่อลือเลื่องว่า ไม่มีที่ไหนน่าดูเหมือนที่เมืองพารานสี มหาราชาไห้เรือที่นั่งมารับเหมือนเมื่อวันก่อน ต้องไปแต่พอรุ่งเช้ายังไม่ทันแดดแขง ลงเรือพายผ่านไปริมฝั่งทางข้างเหนือ วันนั้น ฝีพายไม่ขานยาวเหมือนวันก่อน เห็นจะเปนเพราะเพียงแต่ขึ้นล่องไนแม่น้ำคงคา ไม่ได้ข้ามฟาก ที่สำหรับพวกฮินดูลอยบาปหยู่ริมแม่นํ้าคงคาทางฝั่งตะวันตกตลอดคุ้งนํ้ายาวกว่า 70 เส้น มีท่าทำเปนขั้นบันไดหินสำหรับคนลงนํ้าเรียกว่า ฆัต Ghat ติดต่อกันไปราว 30 ท่า แต่ละท่าที่ริมน้ำมีสพานไม้สำหรับคนลงนํ้า ต่อขึ้นไปเปนชานมีพราหมน์นั่งไนร่มอันไหย่คันปักดินคอยรับทักขินาทานช่วยชําระบาปและอวยพรแก่พวกสัปบุรุสรายกันไปแห่งละหลายคนทุกท่า ต่อท่าขึ้นไปถึงเขื่อนขั้นบันไดทางขึ้นไปบนตลิ่ง ที่บนตลิ่งมีถนนผ่านหน้าเทวะสถานส้างติด ๆ กันไป เห็นยอดปรางค์สลอน มีหอสูงวัดของพวกอิสลามคั่นบ้าง และมีสะนํ้าสำหรับทำพิธีพลีกัมตามเทวะสถานเปนแห่ง ๆ แลดูตั้งแต่เขื่อนลงมาจนริมน้ำ เห็นพวกฮินดูล้วนนุ่งห่มผ้าขาวนับด้วยหมื่น ไปมาราวกับฝูงมด หยู่ไนน้ำก็มี หยู่บนบกก็มี จะหาที่ว่างคนแทบไม่ได้ เห็นเข้าก็ติดตาน่าพิสวงด้วยไม่มีที่ไหนเหมือน จึงเปนที่เลื่องลือ แต่ประหลาดหย่างยิ่งนั้นที่มีลานสำหรับเผาสพหยู่ติด ๆ กับท่าอาบน้ำหลายแห่ง ตั้งแต่เช้าก็เผาสพควันขึ้นกรุ่นหยู่เสมอ บางแห่งเมื่อผ่านไปเห็นกำลังหามสพห่อผ้าขาวลงบันไดมาก็มี ที่กองฟืนเรียงไว้ไนลานสำหรับวางสพเผาบนนั้นก็มี บางแห่งกำลังเผาสพหยู่ก็มี ดูพวกคนลอยบาปที่ลงอาบน้ำไกล้ ๆ ไม่มีไครรังเกียด ประเพนีของพวกฮินดูเอาสพไว้แต่ 2 วันก็เผา เขาบอกว่า เมื่อเผาแล้วกวาดทั้งอัตถิธาตุและอังคารถ่านเถ้าทิ้งลงแม่น้ำคงคงหมด แต่สพเด็กทารกไม่เผา เอาห่อสพผูกกับคอหม้อถ่วงทิ้งไห้จมไปไนแม่น้ำคงคาทีเดียว พวกอังกริดกะซิบบอกฉันตั้งแต่วันไปถึงว่า ฝรั่งที่หยู่ไนเมืองพารานสีไม่มีไครกินปลาสดที่เมืองนั้น ด้วยรังเกียดการเผาสพพวกฮินดูว่า บางทีเปนสพที่ไม่มีญาติควบคุม สับปะเหร่อเผาไม่ทันไหม้หมด ก็ทิ้งลงน้ำด้วยมักง่าย ฉันก็ไม่ได้กินปลาตลอดเวลาที่หยู่นะเมืองพารานสี

แต่นี้จะเล่าถึงที่ฉันได้ความรู้แปลก ๆ นะเมืองพารานสี ซึ่งน่าจะเนื่องกับประเพนีโบรานของไทยเราต่อไป

เมื่อวันแรกไปถึงเมืองพารานสี เวลาค่ำฉันนั่งกินอาหารกับพวกที่ไปด้วยกันและพวกข้าราชการอังกริดยังไม่ทันแล้วเส็ด พอเวลายามหนึ่ง (21 นาลิกา) ได้ยินเสียงตีค้องโหม่งทางประตูวังย่ำลา 1 เช่นเดียวกันกับตีค้องระคังย่ำยามไนเมืองไทย ฉันนึกประหลาดไจ จึงถามข้าราชการอังกริดที่หยู่ไนเมืองนั้นว่า ตีค้องย่ำเช่นนั้นหมายความว่าหย่างไร เขาตอบว่า "เปนสัญญาเรียกคนมาเปลี่ยนพวกที่หยู่ยาม" พอฉันได้ยินอธิบายก็จับไจแทบจะร้องออกมาว่า "อ้อ" เพราะวิธีตีค้องระคังยามไนเมืองไทย เมื่อถึงเวลาเช้า 6 นาลิกา เวลาเที่ยงวัน เวลาค่ำ (18 นาลิกา) และเวลากลางคืนยาม 1 (21 นาลิกา) เวลาเที่ยงคืน เวลา 3 ยาม (3 นาลิกา) ก็ตีย่ำ ทำนองเดียวกับได้ยินที่เมืองพารานสี แม้คำที่ไทยเราพูดก็เรียกเวลา 6 นาลิกาเช้าว่า "ย่ำรุ่ง" เรียกเวลาเที่ยงวันว่า "ย่ำเที่ยง" และเรียกเวลา 18 นาลิกาว่า "ย่ำค่ำ" คำที่พูดว่า "ย่ำ" คงมาจากย่ำค้องระคังนั่นเอง แต่ฉันยังไม่เคยคิดมาแต่ก่อนว่า เพราะเหตุไดจึงตีย่ำ เมื่อได้ฟังอธิบายที่เมืองพารานสีก็เข้าไจซึมซาบไนทันทีว่า ย่ำเปนสัญญาเรียกคนเปลี่ยนยาม เห็นได้ว่า ประเพนีไทยแต่โบราน เวลากลางวันไห้คนหยู่ยามผลัดละ 6 ชั่วนาลิกา แต่กลางคืนผลัดระยะ 3 ชั่วนาลิกา และยังแลเห็นสว่างต่อไปอีก ด้วยประเพนีตีระคังยามที่ไนพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ เมื่อตีย่ำระคังแล้ว มีคนเป่าแตรงอนและเป่าปี่ตีมโหระทึกประโคมต่อไปอีกพักหนึ่ง และเวลามีพระบรมสพหรือพระสพเจ้านายตลอดจนสพขุนนางผู้ไหย่บันดาที่มีกลองชนะประโคม ย่อมประโคมกลองชนะตรงกับย่ำค้องระคังยามทั้งกลางวันกลางคืน อาการประกอบกันไห้เห็นว่า การย่ำค้องระคังเปนสัญญาเรียกคนไห้มาเปลี่ยนยาม การประโคมเปนสัญญาบอกว่า พวกหยู่ยามไหม่ได้เข้าประจำหน้าที่พร้อมกันแล้ว มูลของประเพนีย่ำค้องระคังยามและประโคมพระสพไนเมืองไทย เห็นว่า เปนดังกล่าวมา และอาดจะได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ

จะเลยเล่าแถมถึงประเพนีตีบอกเวลาไนเมืองพม่าซึ่งฉันได้ไปรู้เมื่อ พ.ส. 2478 ต่อไป เพราะได้เค้าที่เหมือนกับไทยอีกหย่างหนึ่ง ที่ไนพระราชวังเมืองมันดะเลมีหอนาลิกาหลังหนึ่งเปนหอสูง ข้างล่างมีห้องสำหรับไว้นาลิกา ข้างบนเปนหอโถงสำหรับแขวนกลองกับค้องที่ตีบอกเวลา เขาว่า เคยมีหอเช่นนั้นทุกราชธานีไนเมืองพม่าแต่ก่อนมา ฉันถามเขาว่า ค้องกับกลองที่แขวนไว้บนหอนั้นตีต่างกันหย่างไร ไม่มีไครบอกอธิบายได้ เพราะเลิกราชประเพนีพม่ามาเสียหลายสิบปีแล้ว ฉันนึกจับหลักได้ว่า ค้องสำหรับตีกลางวัน กลองสำหรับตีกลางคืน หลักนั้นหยู่ไนคำพูดของไทยเราเอง ที่เรียกเวลาตอนกลางวันว่า "โมง" เช่นว่า 4 โมง 5 โมง แต่ตอนเวลากลางคืนเรียกว่า "ทุ่ม" เช่นว่า 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม คำโมงกับทุ่มมาแต่เสียงค้องและกลองนั่นเอง ไนเมืองไทยแต่โบรานก็เห็นจะไช้ทั้งค้องและกลองตีบอกเวลาหย่างเดียวกันกับไนเมืองพม่า

ได้เล่ามาแล้วว่า เมื่อฉันลงเรือที่นั่งของมหาราชาพารานสีข้ามแม่น้ำคงคา บ่อโทนฝีพายขานรับคำบูชาพระรามและพลฝีพายขานรับ ดูเปนเค้าเดียวกับขานยาวพายเรือพระที่นั่งไนเมืองไทย แต่ผิดกันเปนข้อสำคันที่ขานยาวของชาวอินเดียขานเปนภาสาสันสกริต และมีความเปนคำบูชาพระราม แต่ขานยาวของไทยเรามีแต่บ่อโทนขานว่า "เหยอว" ฝีพายก็รับว่า "เย่อว" ไม่เปนภาสาได จะหมายความว่ากะไรก็แปลไม่ได้ จึงน่าสันนิถานว่า พราหมน์เห็นจะเอาแบบขานยาวไนอินเดียมาสอนไว้แต่โบราน เดิมก็คงจะเปนมนต์ภาสาสันสกริต มีความว่าหย่างไดหย่างหนึ่ง แต่ไทยเราไม่รู้ภาสานั้น จำคำได้แต่โดยเสียง นานมาก็แปรไป เช่นเดียวกันกับครูอังกริดมาสอนไห้บอกทหารว่า "โชละเดออามส์" (Shoulder Arms) ทหารไทยบอกว่า "โสลด หับ" ฉันนั้น แล้วเลือนหนักลงคงเหลือแต่ว่า "เหยอว เย่อว" คำขานยาวจึงไม่รู้ว่าภาสาไดและหมายความว่ากะไร แต่เห่เรือเปนประเพนีของไทย มิไช่ได้มาจากอินเดีย แต่มีมาเก่าแก่มากเหมือนกัน ข้อนี้พึงเห็นได้ไนบทช้าละวะเห่ เปนภาสาไทยเก่ามาก คงมีเห่บทอื่นที่เก่าปานนั้นอีก แต่คนชั้นหลังมาชอบไช้บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธัมธิเบสร์ซงพระนิพนธ์เมื่อปลายสมัยกรุงสรีอยุธยา ที่ขึ้นต้นว่า "พระสเด็ดโดยแดนชล ซงเรือต้นงามเฉิดฉาย" และบทที่ว่า "พิสพรรนปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเสร้าอารมน์" เปนต้น บทเก่าก็เลยสูญไป เหลือแต่ช้าละวะเห่ อันคงไช้เห่เพียงไนเวลาเมื่อเรือพระที่นั่งจะถึงท่า การเห่เรือพระที่นั่งนั้น สังเกตตามประเพนีไนชั้นหลัง เห่แต่เวลาสเด็ดโดยขบวนพยุหยาตรา ซึ่งชวนไห้เห็นว่า เห็นจะไช้เวลาไปทางไกล เช่น ยกขบวนทัพ เพื่อไห้พลพายรื่นเริง ถ้ามิไช่พยุหยาตรา เปนแต่ขานยาว ทำนองเห่ก็เปน 3 หย่างต่างกัน ถ้าพายจังหวะช้า เห่ทำนองหย่างหนึ่งเรียกว่า มูลเห่ มีต้นบทว่านำวัคหนึ่ง ฝีพายว่าตามวัคหนึ่ง ถ้าพายจังหวะเร็วขึ้นเปนหย่างกลาง เรียกว่า สวะเห่ ต้นบทว่าเนื้อความฝีพายเปนแต่รับว่า "ฮ้าไฮ้" เมื่อสิ้นวัคต้น และรับว่า "เหเฮฯ" เมื่อสิ้นวัคปลาย ยังมีคำสำหรับเห่เมื่อพายจ้ำเช่นว่าแข่งเรือ ต้นบทว่า "อีเยอวเยอว" ฝีพายรับว่า "เย่อว" คำคล้ายกับที่ไช้ขานยาว ดูชอบกล

เมื่อฉันไปเห็นลักสนะที่มหาราชาพารานสีรับฉันที่วังรามนครดังพรรนนามาแล้ว กลับมานึกถึงความไนบทละครเรื่องรามเกียรติ์เมื่อทสกันถ์รับเจ้าเมืองยักส์ที่เปนมิตรสหาย ไม่ปรากตว่า มเหสีเทวีออกมาพบแขก เปนแต่ทสกันถ์เชินแขกนั่งร่วมราชอาสน์สนทนาปราสัย แล้วมีนางกำนัลเชินเครื่องออกมาตั้งเสวยด้วยกัน และไนเวลาเสวยนั้น มีนางรำออกมาฟ้อนรำไห้ทอดพระเนตร ทสกันถ์รับพระยายักส์แขกเมืองทีไร ก็รับหย่างนั้นทุกคราว ประเพนีไนอินเดีย แม้ไนปัจจุบันนี้ มเหสีเทวีก็ไม่ออกรับแขก ที่ตั้งเก้าอี้หุ้มทองคำไห้ฉันนั่งเคียงกับพระมหาราชา ก็อนุโลมมาจากนั่งร่วมอาสน์ ที่มีนางนัจจะออกมาฟ้อนรำก็ตรงตามแบบโบราน ขาดแต่ไม่มีการเลี้ยง เพราะเลี้ยงไม่ได้ด้วยต่างสาสนากัน ดูแบบรับแขกเมืองหย่างทสกันถ์ยังคงไช้หยู่ไนอินเดีย ต่อมาพายหลังอีกหลายปี ฉันตามสเด็ดสมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงไปประเทสชวา พวกชวาแต่โบรานได้แบบหย่างขนบทำเนียมจากชาวอินเดียเหมือนกับไทยเรา เมื่อสุลต่าน เจ้าประเทสราชเมืองยกยา รับสเด็ดก็ดี สุสุหุนัน เจ้าเมืองโซโล รับสเด็ดก็ดี ก็ตั้งเก้าอี้รับสเด็ดเปนแถวและมีนางรำออกมาฟ้อนรำ ผิดกันกับไนอินเดียแต่เจ้าผู้หยิงชวาออกรับแขก และเลี้ยงเครื่องว่างไนเวลาทอดพระเนตรนางรำ เห็นได้ว่า พวกชวายังรับแขกเมืองตามแบบที่ได้ไปจากอินเดียแต่โบราน มาพิจารนาดูประเพนีรับแขกเมืองไนเมืองไทยแต่โบราน จะเทียบกับที่ฉันได้เห็นไนอินเดียและชวาไม่ได้ ด้วยไม่ปรากตไนเรื่องพงสาวดารว่า เคยมีแขกเมืองที่มีสักดิจะนั่งร่วมอาสน์กับพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกับสมเด็ดพระมหาจักรพัดิ แต่ครั้งนั้นเปนข้าสึกกัน นอกจากนั้นแขกเมืองเคยมีเพียงเจ้าประเทสราชกับราชทูต ก็รู้ไม่ได้ว่า ประเพนีที่รับแขกเมืองนั่งร่วมอาสน์เสวยด้วยกัน และไห้นางรำบำเรอ จะเคยมีไนเมืองไทยหรือไม่

ไนหนังสือไทยมีกล่าวถึงพิธีลอยบาปของพวกพราหมน์หลายเรื่อง ฉันเข้าไจมาแต่ก่อนว่า คงทำวัตถุเครื่องบูชาหย่างไดหย่างหนึ่ง ร่ายมนต์สมมตว่า ปล่อยบาปลงไนวัตถุนั้น แล้วเอาไปลอยน้ำเสีย เหมือนหย่างลอยกะทงกลางเดือน 11 เดือน 12 ต่อเมื่อไปเห็นที่เมืองพารานสีจึงรู้ว่า การลอยบาปไม่เปนเช่นเคยเข้าไจเลย ตามอธิบายไนหนังสือนำทางว่า เพราะเมืองพารานสีเคยเปนราชธานีเดิมของมัชชิมประเทส สาสนาได ๆ ที่เกิดขึ้นไนอินเดีย แม้จนพระพุทธสาสนา ก็เริ่มตั้งที่เมืองพารานสี จึงนับถือกันว่า เมืองพารานสีเปนหย่างอู่ของสาสนาฮินดูสืบมาจนบัดนี้ ถึงกล่าวกันว่า ถ้าไครได้ไปทำบุญที่เมืองพารานสีครั้งหนึ่ง ก็มีอานิสงส์เท่ากับได้ไปทำบุญที่อื่นทุกแห่งหมดไนอินเดีย ดังนี้ พวกฮินดูชาวอินเดีย ถึงจะหยู่ไนแว่นแคว้นแดนอันได ย่อมนับถือความสักดิสิทธิของเมืองพารานสี อุส่าห์พากันเดินทางไปทำพิธีพลีกัมมีจำนวนนับตั้งล้านคนทุกปี โดยเชื่อเหมือนหย่างว่า เมืองพารานสีหยู่ปากทางลัดที่จะตัดตรงไปเทวะโลกได้แน่นอน ลักสนะการพิธีที่ตรงกับเราเรียกว่า "ลอยบาป" นั้น ตั้งต้นผู้จะลอยบาปต้องเดินประทักสินรอบเมืองพารานสี และบูชาตามเทวะสถานต่าง ๆ ไนระยะทางราว 1,800 เส้น เปนเวลาราว 6 วัน แล้วลงไปยัง "ฆัต" คือ ท่าน้ำอันสักดิสิทธิแห่งไดแห่งหนึ่ง ที่ตลิ่งริมน้ำมีพราหมน์นั่งคอยสอนมนต์ไห้บริกัม เมื่อเรียนมนต์แล้วจึงลงไนแม่น้ำคงคา กินน้ำและดำหัวล้างบาปไห้ลอยไปกับสายน้ำ แล้วจึงขึ้นไปรับพรต่อพราหมน์เปนเส็ดพิธี ที่พรรนนานี้ว่าตามฉันเข้าไจความไนหนังสือ ไม่ได้มีโอกาสไถ่ถามพวกพราหมน์ไนที่นั้น อาดเข้าไจผิดบ้างก็เปนได้.

นอกจากลอยบาป พวกฮินดูยังนับถือความสักดิสิทธิของเมืองพารานสีต่อไปอีกหย่างหนึ่ง คือว่า ถ้าไครตายที่เมืองพารานสี หรือแม้ปลงสพที่นั่น จะได้ไปสู่เทวะโลกเปนแน่แท้ ถึงมีเสตถีฮินดูบางคนไปซื้อหาที่หยู่นะเมืองพารานสีเมื่อแก่ชราเพื่อจะไปตายที่นั่น ที่เผาสพที่ริมท่าน้ำก็ถือว่า สักดิสิทธิต่างกัน มีท่าหนึ่งชื่อ "มนีกรรนิกา" ว่า เปนสักดิสิทธิกว่าเพื่อน ไคร ๆ ก็อยากไห้เผาสพตนที่ท่านั้น คงเปนเพราะเกิดลำบากด้วยชิงจองท่าและกำหนดเวลาเผาสพพ้องกัน รัถบาลจึงตั้งข้อบังคับไห้ผู้จะเผาสพขออนุญาตเพื่อจดลงทเบียนท่าและเวลาที่จะเผาไว้ก่อน และไห้มีนักการคอยดูแลไห้เปนไปตามทเบียนนั้น ข้าราชการอังกริดที่หยู่ไนเมืองพารานสีเขาเล่าไห้ฉันฟังว่า บางทีนายทเบียนต้องถูกปลุกขึ้นรับโทรสัพท์ไนเวลาดึก บอกเปนคำของเสตถีคนไดคนหนึ่งว่า "ฉันจวนจะสิ้นไจหยู่แล้ว ขอไห้ช่วยสงเคราะห์ไห้ได้เผาที่ท่ามนีกรรนิกาเวลาพรุ่งนี้" เปนอุทาหรน์ไห้เห็นว่า พวกฮินดูเชื่อถือสาสนามั่นคงเพียงได พวกฮินดูเชื่อว่า พระอัคนีสามาถจะทำสิ่งทั้งปวงไห้บริสุทธิสอาด หรือว่าอีกนัยหนึ่ง บันดาสิ่งโสโครกทั้งปวง ถ้าเผาไฟแล้ว ก็กลับเปนของสอาดหมด เช่น มูตรคูถของโค ถ้าเผาแล้ว ก็อาดจะบริโภคและไช้เปนเครื่องจุนเจิมได้ เพราะฉะนั้น การเผาสพที่ท่าแล้วทิ้งอัตถิธาตุลงไนแม่น้ำคงคา พวกที่ลอยบาปอาบน้ำกินน้ำหยู่ไกล้จึงไม่รังเกียจ เพราะถือว่า เปนของสอาดแล้ว

ประเพนีเผาสพชาวอินเดียที่ฉันได้รู้เห็นนะเมืองพารานสี มีเหมือนกับประเพนีไทยแต่ที่ทิ้งธาตุลงน้ำ กับที่ขนันสพทารกทิ้งลงน้ำ ตามประเพนีโบรานไนอินเดีย สพย่อมเผาทั้งนั้น ต่างกันแต่พวกถือพระพุทธสาสนาเผาสพแล้วเอาอัตถิธาตุฝังและก่อกองดินหรือกองหินไว้ตรงที่ฝังเรียกว่า "สถูป" แต่พวกถือสาสนาฮินดูทิ้งอัตถิธาตุลงน้ำ ไทยเราถือพระพุทธสาสนาเปนพื้นเมือง เพราะฉะนั้น ถ้าเปนคนชั้นสูง ก็ก่อพระเจดีย์บันจุอัตถิธาตุ ถ้าเปนคนชั้นต่ำ ก็เปนแต่ฝังอัตถิธาตุหรือเอาไปกองทิ้งไว้ที่โคนต้นโพ แต่พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายซงถือประเพนีของพวกพราหมน์ด้วย จึงรับคติการถ่วงธาตุมาไช้ไนประเพนีพระบรมสพและพระสพเจ้านายทำทั้งสองทาง ส่วนพระอัตถิบันจุไว้ไนพระเจดีย์ตามทางพระพุทธสาสนา ส่วนพระอังคารหรือถ่านที่เผาพระสพเชินไปลอยปล่อยไปไนแม่น้ำตามทางสาสนาฮินดู เพิ่งมาเลิกลอยพระอังคารเปลี่ยนเปนบันจุเมื่อรัชกาลที่ 5 ประเพนีขนันสพทารกทิ้งน้ำนั้น ไทยเราเอาสพไส่ลงไนหม้อ ไม่ผูกกับคอหม้อเหมือนไนอินเดีย แต่เดี๋ยวนี้ก็เลิกแล้ว เปลี่ยนเปนฝังไห้สูญไปทีเดียว

ความรู้ที่ฉันได้จากเมืองพารานสีมีพ้องกับเมืองไทยบางหย่างดังได้พรรนนามา ฉันพักหยู่เมืองพารานสี 3 วัน แล้วก็ขึ้นรถไฟไปเมืองพุทธคยา ซึ่งจะเล่าไนนิทานเรื่องอื่นต่อไป.