นิทานโบรานคดี (2487)/นิทานที่ 12

จาก วิกิซอร์ซ
นิทานที่ 12
เรื่องตั้งโรงพยาบาล

มีเรื่องเกร็ดที่ฉันได้รู้เห็นไนสมัยเมื่อมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักสาพยาบาล และการป้องกันความไข้เจ็บมาแต่ก่อนหลายเรื่อง แต่เปนเรื่องที่หยู่ไนการที่ไม่ปรากตจดหมายเหตุ ถ้าไม่มีไครเขียนลงไว้ เมื่อหมดตัวผู้รู้ก็จะเลยสูญเสีย จึงเอามาเขียนเล่าไนนิทานนี้ แต่เปนเรื่องยาวจึงแยกเปนนิทาน 2 เรื่อง เล่าเรื่องไนสมัยเมื่อก่อนฉันเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทย เรียกว่า "เรื่องตั้งโรงพยาบาล" เรื่องหนึ่ง แล้วเล่าเรื่องไนสมัยจัดการป้องกันความไข้เจ็บเมื่อฉันเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทยแล้ว เรียกว่า "เรื่องอนามัย" ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง

(1)

เมื่อ พ.ส. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวมีพระราชประสงค์จะไห้มีโรงพยาบาลขึ้นไนบ้านเมืองสมกับเปนประเทสที่รุ่งเรือง ซงตั้งกัมการคนะหนึ่งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ไห้เปนพนักงานจัดการตั้งโรงพยาบาลตามพระราชประสงค์ ผู้ซึ่งเปนกัมการรวม 9 คนด้วยกัน คือ

พระเจ้าน้องยาเทอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาส เปนนายก 1
พระเจ้าน้องยาเทอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ 1
พระเจ้าน้องยาเทอ พระองค์เจ้าสรีเสาวภางค์ 1
พระเจ้าน้องยาเทอ พระองค์เจ้าวัธนานุวงส์
(กรมขุนมรุพงส์สิริพัธน์) 1
พระวรวงส์เทอ พระองค์เจ้าสายสนิธวงส์ 1
พระวรวงส์เทอ พระองค์เจ้าปริสดางค์ 1
พระยาโชดึกราชเสตถี(เถียร ต้นสกุล โชติกเสถียร) 1
เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (บุส เพญกุล) 1
ดอกเตอร์ ปีเตอร์ เคาแวน แพทย์ประจำพระองค์ 1

กัมการประชุมปรึกสากันเห็นว่า โรงพยาบาลเปนของไหม่แรกจะมีขึ้น ควนตั้งแต่แห่งเดียวก่อน เมื่อจัดการรักสาพยาบาลไห้คนทั้งหลายเห็นคุนของโรงพยาบาลประจักส์ไจแล้ว จึงคิดขยายการตั้งโรงพยาบาลไห้แพร่หลายออกไป ไนชั้นต้น จึงกราบทูนขอแบ่งที่วังหลังข้างตอนไต้ อันเปนที่หลวงร้างหยู่ทางฟากธนบุรี ส้างโรงพยาบาลขึ้นไนที่นั้น และซื้อที่ริมน้ำข้างเหนือโรงเรียน (แหม่มโคล) ของมิชชันนารีอเมริกันทำท่าขึ้นไปยังโรงพยาบาล เดิมเรียกว่า "โรงพยาบาลวังหลัง" เปนโรงพยาบาลหลวงแรกมีไนเมืองไทย

(2)

ไนการตั้งโรงพยาบาลนั้น กัมการสมมตไห้พระองค์เจ้าสรีเสาวภางค์ (จะเรียกต่อไปโดยสดวกแต่ว่า พระองค์สรี) กับตัวฉันไห้เปนผู้ทำงาน เช่นเปนอนุกัมการด้วยกัน 2 คน แบ่งหน้าที่กัน ตัวฉันเปนพนักงานก่อสร้าง พระองค์สรีเปนพนักงานจัดการพายไนโรงพยาบาล ความประสงค์ของกัมการไนชั้นนี้ จะไห้มีโรงพยาบาลพร้อมด้วยพนักงานรักสาพยาบาล และคนไข้หยู่ไนโรงพยาบาลบ้างแล้ว จึงจะเชินสเด็ดพระเจ้าหยู่หัวไห้ซงทำพิธีเปิดโรงพยาบาล พระองค์สรีกับฉันจึงต้องพบปะปรึกสาหารือ รู้เห็นการที่ทำนั้นด้วยกันเสมอ

การแผนกที่ฉันทำมีจำกัดหยู่ที่เงินทุนที่จะไช้มีน้อย การก่อสร้างจึงต้องทำแต่พอไห้ตั้งเปนโรงพยาบาลได้ ว่าโดยย่อคือรื้ออิถปูนกำแพงวังหลังก่อกำแพงและปูถนนไนบริเวนโรงพยาบาลหย่างหนึ่ง ซื้อที่ทำท่าโรงพยาบาลหย่างหนึ่ง นอกจากนั้นก็ไห้ไปรื้อเรือนไม้หลังไหย่ของพระไชยบูรน์ (อิ่ม) ซึ่งตกเปนของหลวง พระราชทานไห้เอามาปลูกเปนที่ว่าการรวมกับที่ผสมยาหลังหนึ่ง และปลูกเรือนผู้ดูการโรงพยาบาล กับโรงครัวโรงแถวที่หยู่ของคนรับไช้ที่ริมน้ำหมู่หนึ่ง ปลูกโรงพยาบาลด้วยเครื่องไม้มุงจาก 4 หลัง พอคนไข้หยู่ได้สัก 50 คนหย่างหนึ่ง การก่อสร้างชั้นต้นว่าตามที่ยังจำได้ดูเหมือนจะเพียงเท่านั้น ไม่ยากลำบากอันได แต่การไนแผนกของพระองค์สรีมีความลำบากมาแต่ต้นหลายหย่าง ดังจะพรรนนาต่อไป ซึ่งคิดดูไนเวลานี้บางหย่างก็น่าจะเห็นขัน

(3)

ความลำบากข้อแรก เริ่มแต่หาหมอประจำโรงพยาบาล ตามความคิดของกัมการ หมายจะเลือกหมอที่ชำนาญการรักสาไข้เจ็บจนมีชื่อเสียง ซึ่งมักจะเปนหมอหลวงโดยมาก มาไห้รับเงินเดือนเปนตำแหน่งนายแพทย์และแพทย์รองประจำโรงพยาบาล แต่เมื่อพระองค์สรีไปเที่ยวตรัดชวนหมอหลวง ปรากตแก่เทอว่า หมอถือตัวกันเปนต่างพวก ไช้วิธีรักสาและยาที่รักสาโรคร่วมกันแต่ไนพวกของตน ซึ่งมักเปนลูกตัวหรือลูกเขย หรือเปนสิสของหมอที่เปนตัวครู ต่างพวกต่างรังเกียดกัน ตามคำที่พระองค์สรีเทอตรัดว่า "ดูราวกับเห็นพวกอื่นว่าไม่เปนหมอไปเสียทั้งนั้น"

ฉันเคยทูนถามว่า "ถ้าเช่นนั้น เอาตำราหมอของหลวงไช้เปนหลักสำหรับโรงพยาบาลไม่ได้หรือ"

เทอตรัดว่า "ได้ลองถามดูแล้ว ต่างคนต่างก็บอกว่าตำราหลวงนั้นไช้เปนหลักไม่ได้จิง อ้างเปนอุทาหรน์ดังเช่นตำรายาว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็ดพระนั่งเกล้าเจ้าหยู่หัวโปรดไห้ประชุมหมอหลวงแต่งตำรายาที่จารึก นะ วัดพระเชตุพนฯ หมอหลวงต่างคนก็ปิดพรางตำรายาดีของตนเสียไม่ได้ไปลงไนตำราหลวง คงมีตำราที่แต่งไว้แต่ยาหย่างบรมโบรานอันไคร ๆ ก็รู้ด้วยกันหมด แต่วิธีรักสาและยาดีที่ไช้ไนปัจจุบันหามีไม่"

เมื่อไม่สามาถจะไห้หมอร่วมมือกันได้เช่นนั้น กัมการก็ต้องไห้พระองค์สรีหาหมอที่มีชื่อเสียงแต่คนหนึ่งเปนตำแหน่งนายแพทย์ ส่วนแพทย์รองนั้นไห้นายแพทย์หามา จะเปนลูกหลานหรือสิสก็ตาม สุดแต่ไห้โรงพยาบาลไช้วิธีรักสาไข้และไช้ยาหย่างเดียวกันเปนสำคัน พระองค์สรีจึงเชินพระยาประเสิดสาตรธำรง (หนู) เมื่อยังเปนที่พระประสิทธิวิทยา เปนหมอมีชื่อเสียงซงคุ้นเคยยิ่งกว่าคนอื่น เปนตำแหน่งแพทย์ไหญ่ประจำโรงพยาบาล ส่วนแพทย์รองนั้น พระยาประเสิดฯ พาหมอหนุ่ม ๆ ซึ่งเคยเปนสิสมาไห้เปนตำแหน่ง 2 คน ชื่อว่าหมอคงคนหนึ่ง หมอนิ่มคนหนึ่ง หมอ 2 คนนี้มาทำการประจำหยู่ไนโรงพยาบาลตั้งแต่ยังหนุ่ม ได้เห็นและรักสาโรคต่าง ๆ หยู่เนืองนิจ ผิดกับหมอชเลยสักดิ์ซึ่งได้เห็นไข้ต่อเมื่อเขาหาไปรักสา จึงได้ความชำนิชำนาญการรักสาไข้เชี่ยวชาญ นานมาหมอคงถึงได้เปนพระยาพิสนุประสาทเวท และหมอนิ่มก็ได้เปนพระยาประเสิดสาตรธำรง ขึ้นชื่อเสียงนับถือกันว่าเปนหมอดีทั้ง 2 คน

(4)

นอกจากความลำบากเรื่องหาหมอ ยังมีความลำบากด้วยเรื่องหาคนไข้ต่อไป เมื่อมีโรงพยาบาลและมีพนักงานรักสาพยาบาลแล้ว กัมการไห้ประกาสว่า โรงพยาบาลหลวงจะรับรักสาไข้เจ็บไห้เปนทาน ทั้งจะไห้คนไข้กินหยู่นุ่งห่มเวลาหยู่ไนโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียเงินขวันข้าวค่ายาหย่างหนึ่งหย่างไดด้วย แต่หย่างนั้นคนก็ยังไม่ไว้ไจ ไม่มีคนไข้ไปยังโรงพยาบาล คอยหยู่หลายวันเริ่มมีผู้ส่งคนไข้ไปไห้รักสา แต่ก็ล้วนเปนคนไข้อาการเพียบส่งไปเมื่อไม่มีไครรับรักสาแล้ว ไปถึงโรงพยาบาลไม่ช้าก็สิ้นไจ ไม่มีโอกาสจะรักสาไห้หายได้ ทำไห้โรงพยาบาลกลายเปนเรือนตายของคนไข้ กัมการพากันวิตก เกรงจะเสียชื่อโรงพยาบาล จึงปรึกสากันไห้เที่ยวหาคนไข้ที่พอจะรักสาหายมาเข้าโรงพยาบาล มีผู้แนะนำว่า พวกคนเปนโรคมะเรงตามหน้าแข้งนั่งขอทานหยู่ที่สะพานหันและแห่งอื่น ๆ ไนถนนสำเพ็งมีมาก หมอเคาแวนว่า จะรักสาไห้หายได้ไม่ยาก จึงไห้ไปรับพวกเปนมะเรงเหล่านั้น แต่กลับมีผลผิดคาด ด้วยพวกคนที่เปนมะเรงล้วนเปนเจ๊กขอทาน ไม่มีไครยอมไปรักสาตัวที่โรงพยาบาล บอกสัญญาว่าจะรักสาไห้หายก็กลับโกรธเถียงว่า ถ้าแผลหายเสียแล้ว จะขอทานเขากินหย่างไรได้ ลงปลายกัมการต้องขอแรงกันเองไห้ช่วยชักชวนพวกพ้องบ่าวไพร่ของตนที่ป่วยเจ็บแม้เพียงเล็กน้อยไปขอยาหรือรักสาตัวที่โรงพยาบาลพอเปนตัวหย่างแก่มหาชน โดยกะบวนนี้พอปรากตว่า มีคนไปรักสาตัวหายเจ็บกลับไปจากโรงพยาบาล ก็มีผู้อื่นตามหย่าง ความเชื่อถือโรงพยาบาลจึงค่อยมียิ่งขึ้นโดยลำดับมา

(5)

ถึง พ.ส. 2430 ไนเวลากำลังส้างโรงพยาบาลที่วังหลังนั้น ประจวบงานพระเมรุพระราชทานเพลิงพระสพสมเด็ดพระเจ้าลูกยาเทอ เจ้าฟ้าสิริราชกกุธภันท์ ที่ท้องสนามหลวง สมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวง กับสมเด็ดพระสรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระมารดาของสมเด็ดพระเจ้าลูกยาเทอพระองค์นั้น ซงพระราชดำหริว่า ไนงานพระเมรุแต่ก่อน ๆ ได้เคยซงบำเพ็ญพระราชกุสลเกื้อกูลแก่สาธารนะประโยชน์หย่างอื่นมามากแล้ว ไนงานพระเมรุครั้งนั้นจะซงเกื้อกูลแก่โรงพยาบาลที่จัดขึ้นไหม่ และซงแนะนำแก่ผู้ประสงค์จะช่วยงานพระเมรุไห้ช่วยไนการตั้งโรงพยาบาลด้วย การส้างโรงพยาบาลก็สำเหร็ดด้วยได้รับความอุดหนุนไนงานพระเมรุสมเด็ดฯ เจ้าฟ้าสิริราชกกุธภันท์ เพราะเหตุนั้น เมื่อส้างสถานที่และวางระเบียบการสำเหร็ดแล้ว พระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวสเด็ดไปซงทำพิธีเปิดโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 26 เมสายน พ.ส. 2431 จึงพระราชทานนามโรงพยาบาลว่า "สิริราชพยาบาล" คนทั้งหลายชอบเรียกกันตามสดวกปากว่า "โรงพยาบาลสิริราช" แต่นั้นมา เมื่อเปิดโรงพยาบาลสิริราชแล้ว ก็โปรดไห้รวมการพยาบาลตั้งขึ้นเปนกรมหนึ่งไน พ.ส. 2431 นั้น เรียกว่า "กรมพยาบาล" ซงพระกรุนาโปรดไห้พระองค์เจ้าสรีเสาวภางค์เปนตำแหน่งอธิบดี ส่วนกัมการเมื่อได้จัดการสำเหร็ดตามรับสั่งแล้ว ก็เลิกไนคราวนั้นด้วย

(6)

เมื่อวันสมเด็ดพระเจ้าหยู่หัวสเด็ดไปซงทำพิธีเปิดโรงสิริราชพยาบาล กัมการเชินผู้คนไปมาก พอเห็นว่าตั้งโรงพยาบาลได้สำเหร็ด ก็พากันเลื่อมไส เพราะการบันเทาทุกข์เพื่อนมนุสย่อมถือว่าเปนกุสลกัมทุกสาสนา แต่นั้นมา คนทั้งหลายไม่เลือกว่าชาติไดหรือถือสาสนาไดก็มีแก่ไจช่วยโรงพยาบาลด้วยประการต่าง ๆ ยกตัวหย่างดังเช่นเมื่อ ค.ส. 1887 (พ.ส. 2430) มีการฉลองรัชกาลสมเด็ดพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียครบ 50 ปี พวกอังกริดที่หยู่ไนกรุงเทพ ๆ ประสงค์จะส้างสิ่งอนุสรน์เฉลิมพระเกียรติ เขาปรึกสากันเห็นว่า ควรจะช่วยส้างโรงพยาบาลที่รัถบาลตั้งขึ้นไหม่ จึงเรี่ยไรเข้าทุนกันส่งเงินมายังกรมพยาบาล ขอไห้ส้างตึกรับคนไข้ขึ้นไนโรงพยาบาลสิริราชหลังหนึ่ง จึงได้ส้างตึก "วิกตอเรีย" เปนตึกหลังแรกมีขึ้นไนโรงพยาบาลนั้น ต่อมาไนปีนั้นเอง เจ้าภาพงานพระสพพระอัคชายาเทอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ซงสรัทธาบริจาคทรัพย์ช่วยส้างตึกรับคนไข้ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ขนานนามว่า "ตึกเสาวภาคนารีรัตน์" เรียกโดยย่อว่า "ตึกเสาวภาค" เริ่มมีตึกขึ้นเปน 2 หลัง และยังมีผู้บริจาคทรัพย์พอส้างเรือนไม้สำหรับคนไข้ได้อีกหลายหลัง ผู้ที่เกื้อกูลไนการอื่นก็ยังมีต่อมาเนืองนิจ เลยเกิดประเพนีถือกันว่าโรงพยาบาลเปนที่ทำบุญแห่งหนึ่ง

เมื่อพระองค์สรีฯ ซงเห็นว่า โรงพยาบาลสิริราชจะจเรินต่อไปได้มั่นคงแล้ว ก็ซงพระดำหริขยายการกรมพยาบาลต่อออกไป การที่จัดต่างกันเปน 3 หย่าง คือ ปลูกฝีดาดไห้เปนทานแก่ประชาชนหย่างหนึ่ง ตั้งโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นที่อื่นหย่างหนึ่ง ตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์หย่างหนึ่ง ดังจะพรรนนาเปนหย่าง ๆ ต่อไป

(7)

การปลูกฝีดาดนั้นมีเรื่องตำนานปรากตมาแต่ก่อนว่า ดอกเตอร์บรัดเล มิชชันนารีอเมริกัน เปนผู้นำวิชาปลูกฝีเข้ามาสู่เมืองไทยไนรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ส. 2383 เดิมสั่งพรรนหนองฝีที่ทำสำหรับปลูกมาแต่ประเทสอเมริกา ก็ไนสมัยนั้นการคมนาคมระหว่างประเทสยังไช้เรือไบไปมา กว่าจะถึงกันนานวันมาก เมื่อได้พรรนหนองมา ไม่แน่ไจว่าจะยังไช้ได้หรือไม่ กล่าวกันว่า หมอบรัดเลลองปลูกฝีลูกของตนเองก่อน เมื่อฝีขึ้นได้ดังประสงค์ จึงเอาหนองฝีจากแผลลูกปลูกที่คนอื่นต่อ ๆ กันไป แต่ปลูกเพียงไนรึดูหนาวซึ่งอากาสเย็นเหมาะแก่การปลูกฝียิ่งกว่ารึดูอื่น แล้วต้องรอพรรนหนองฝีที่จะมาจากอเมริกาคราวหน้าต่อไป แต่การที่หมอบรัดเลปลูกฝีดาดมีคนเชื่อถือมาแต่แรก แม้พระบาทสมเด็ดพระนั่งเกล้าเจ้าหยู่หัวซงซาบ ก็ซงพระราชดำหริเห็นว่าเปนประโยชน์ ถึงโปรดไห้หมอหลวงไปหัดปลูกฝีต่อหมอบรัดเล แล้วพระราชทานบำเหน็จแก่หมอบรัดเลเปนเงินตรา 5 ชั่ง และโปรดไห้พิมพ์หมายประกาสเปนไบปลิว 10,000 ฉบับ แจกจ่ายชวนชาวพระนครไห้ปลูกฝี หมอบรัดเลเขียนไว้ไนจดหมายเหตุว่า รัถบาลไทยไช้การพิมพ์หนังสือเปนทีแรกไนครั้งนั้น

กรมพยาบาลปลูกฝีก็ยังต้องไช้วิธีเก่าเช่นพรรนนา คือ สั่งพรรนหนองฝีสำหรับปลูกฝีมาแต่ยุโรป ส่งมาทางไปรสนีย์ถึงเมืองไทยได้ไนราว 2 เดือน เร็วกว่ามาจากอเมริกา ไช้โรงพยาบาลสิริราชเปนสถานีรับปลูกฝี เมื่อปลูกฝีขึ้นแล้ว เลือกดูเด็กที่มีกำลังแข็งแรง จ้างแม่ไห้เลี้ยงเด็กนั้นหยู่ที่โรงพยาบาลจนกว่าแผลจะแห้งคราวละสองสามคน เอาหนองฝีที่แผลเด็กเปนพรรนปลูกไห้คนอื่นต่อไปจนสิ้นรึดูปลูกฝี แต่ผู้ไดจะไห้หมอโรงพยาบาลไปปลูกฝีที่บ้านเรือนของตนเองด้วยพรรนหนองต่างประเทสก็รับปลูก แต่เรียกค่าปลูกเหมือนเช่นหมอชเลยสักดิ์อื่น ๆ ตั้งแต่กรมพยาบาลรับปลูกฝี ก็มีคนนิยมมากมาแต่แรก เพราะราสดรอาดจะไปปลูกได้โดยง่าย ผู้มีทรัพย์ก็ชอบไห้หมอโรงพยาบาลไปปลูกฝี เพราะเห็นเปนผู้ชำนาญและเชื่อว่าได้พรรนหนองฝีที่ดีไว้ไจได้

(8)

เรื่องตั้งโรงพยาบาลที่อื่นต่อออกไปนั้นก็หยู่ไนวงความคิดของกัมการมาแต่เดิม แต่เมื่อตั้งกรมพยาบาลแล้ว มีเหตุหย่างหนึ่งเตือนไห้รีบจัด ด้วยมีผู้ขอส่งคนเสียจริตไห้โรงพยาบาลรักสาเนือง ๆ จะรับรักสาไนโรงพยาบาลสิริราชก็ไม่ได้ จะบอกเปิดไม่รับรักสาคนเสียจริต ก็เห็นขัดกับหน้าที่กรมพยาบาล จึงคิดจะตั้งโรงพยาบาลต่อออกไปที่อื่นพร้อมกับตั้งโรงพยาบาลรักสาคนเสียจริต การที่ตั้งโรงพยาบาลเพิ่มเติมไม่ยากเหมือนเมื่อตั้งโรงพยาบาลสิริราช เพราะได้ตั้งแบบแผนการไนโรงพยาบาลแล้ว หมอและพนักงานก็มีหยู่ไนโรงพยาบาลสิริราชพอที่จะแบ่งไปประจำโรงพยาบาลอื่นได้ ความลำบากมีหยู่แต่เงินทุนไม่มีพอจะปลูกส้างเปนโรงพยาบาลขึ้นไหม่ จึงกราบทูนขอบ้านที่ตกเปนของหลวง เช่น บ้านเจ้าภาสีนายอากรตีไช้หนี้หลวง เปนต้น มาแก้ไขเปนโรงพยาบาล โรงพยาบาลที่ตั้งเพิ่มครั้งนั้น 5 แห่ง คือ

ได้ตึกบ้านพระยาภักดีพัทรากร (เจ้าสัวเกงซัว) ที่ปากคลองสาร ตั้งเปนโรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งหนึ่ง

ได้ตึกบ้านอากรตา ที่ริมคลองคูพระนครตรงหน้าวังบูรพาภิรมย์ ตั้งเปนโรงพยาบาลสามัญ เรียกว่า "โรงพยาบาลบูรพา" แห่งหนึ่ง

ได้บ้านหลวงที่ปากถนนสีลมต่อกับถนนจเรินกรุง ซึ่งหมอเฮส์ได้รับอนุญาตไช้เปนที่รักสาพยาบาลฝรั่งหย่าง Nursing Home โอนมาเปนของกรมพยาบาลแห่งหนึ่ง

ส้างโรงพยาบาลไหม่ที่ปากถนนหลวง ตรงกับวัดเทพสิรินทราวาส ด้วยไช้เรือนไม้สองชั้นของพระราชทานครั้งพระเมรุสมเด็ดเจ้าฟ้าสิริราชกกุธภันท์เปนที่ว่าการ และปลูกเรือนไม้รับคนไข้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลสิริราชแห่งหนึ่ง เรียกว่า "โรงพยาบาลเทพสิรินทร์" แห่งหนึ่ง

ถึงตอนนี้ คนทั้งหลายเห็นคุนของโรงพยาบาลแล้ว พอเปิดโรงพยาบาลที่ไหน ก็มีคนไข้ไปไห้รักสา ไม่ต้องขวนขวายหาคนไข้เหมือนแต่แรก

(9)

การตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์นั้นเดิมมีความประสงค์สองหย่าง คือ จะหาหมอสำหรับประจำโรงพยาบาลต่อไปมิไห้ต้องลำบากเหมือนเมื่อแรกตั้งโรงพยาบาลดังพรรนนามาแล้วหย่างหนึ่ง ด้วยเห็นว่าหมอไทยแต่ก่อนมาเรียนรักสาโรคแต่ด้วยวิธีไช้ยา ไม่ได้เรียนวิธีรักสาด้วยตัดผ่า Surgery จะเพิ่มวิชานั้นแก่หมอไทย จึงไห้ส้างตึกตั้งโรงเรียนขึ้นที่ริมแม่น้ำหน้าโรงพยาบาลสิริราชเมื่อ พ.ส. 2432 รับนักเรียนที่สมัคจะเรียนวิชาแพทย์ไห้เรียนวิชารักสาไข้และไช้ยาไทยที่ไนโรงพยาบาลสิริราช ไห้ดอกเตอร์ยอช แมกฟาแลนด์ หมออเมริกัน (พายหลังได้เปนที่พระอาดวิทยาคม) ซึ่งสามาถสอนด้วยภาสาไทยได้ เปนครูสอนวิธีตัดผ่าและยาฝรั่ง แต่โรงเรียนนั้นยังไม่เห็นผลไนสมัยของพระองค์สรีฯ และสมัยเมื่อฉันรับการต่อมา จน พ.ส. 2436 ไนสมัยเมื่อกรมพยาบาลขึ้นหยู่ไนเจ้าพระยาภาสกรวงส์ นักเรียนจึงมีความรู้จบหลักสูตร สอบวิชาได้ประกาสนียบัตร เรียกกันว่า "หมอประกาสนียบัตร" เปนครั้งแรก มี 9 คน บางคนกรมพยาบาลไห้เปนหมอประจำโรงพยาบาล นอกจากนั้นไปเที่ยวรับรักสาไข้เจ็บเปนหมอชเลยสักดิ์โดยลำพังตน

แต่ผลของโรงเรียนวิชาแพทย์ไนชั้นแรกไม่เปนประโยชน์ได้ดังหวัง เพราะคนทั้งหลายยังเชื่อถือแต่หมอที่เปนลูกสิสของหมอมีชื่อเสียงหยู่หย่างเดิม หมอประกาสนียบัตรเที่ยวรักสาไข้เจ็บหาผลประโยชน์ไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องไปหาการอื่นทำช่วยเลี้ยงตัว บางคนถึงกับทิ้งวิชาแพทย์ไปหาเลี้ยงชีพด้วยการหย่างอื่นก็มี เลยเปนผลร้ายไปถึงโรงเรียน ด้วยมีคนสมัคเปนนักเรียนแพทย์น้อยลงกว่าแต่ก่อน โรงเรียนแพทย์มาพ้นความลำบากได้เมื่อกะซวงมหาดไทยมีเหตุดังจะเล่าไนนิทานเรื่องอนามัย เลือกเอาแต่หมอประกาสนียบัตรตั้งเปนแพทย์ประจำหัวเมือง และต่อมาเมื่อกรมหลวงนครไชยสรีสุรเดชซงจัดการทหานบก ก็เลือกเอาแต่หมอประกาสนียบัตรตั้งเปนแพทย์ทหาน เพราะรู้วิชาตัดผ่ารักสาแผลอาวุธ แต่นั้นคนก็สมัคเรียนวิชาแพทย์มากขึ้น โรงเรียนแพทย์จึงกลับรุ่งเรืองเปนลำดับมา จนกลายเปนราชแพทยาลัย

(10)

ได้กล่าวมาข้างต้นว่า พระบาทสมเด็ดพระเจ้าหยู่หัวซงตั้งกัมการ 9 คนไห้จัดการตั้งโรงพยาบาล และกัมการได้สมมตไห้พระองค์เจ้าสรีเสาวภางค์กับตัวฉันเปนผู้ทำการด้วยกัน 2 คน ตัวฉันเปนพนักงานก่อส้างอันเปนงานชั่วคราวไม่ยากลำบากอันได พอส้างโรงพยาบาลสำเหร็ดก็เส็ดธุระของฉัน แต่พระองค์สรีฯ เปนพนักงานจัดการพายไนโรงพยาบาลอันเปนงานประจำ มีความลำบากมาแต่แรกตั้งแต่หาหมอและหาคนไข้เปนต้นดังพรรนนามาแล้ว เมื่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นแล้ว งานไนหน้าที่ของพระองค์สรีฯ ก็ยิ่งมีมากขึ้นเปนลำดับมา พระองค์สรีฯ ซงสามาถจัดการพายไนโรงพยาบาลไห้จเรินมาจนตั้งโรงพยาบาลได้สำเหร็ด สมเด็ดพระเจ้าหยู่หัวจึงโปรดไห้เทอเปนอธิบดีกรมพยาบาลแต่แรกตั้งกรมนั้น

แต่พระองค์สรีฯ มีหน้าที่ราชการหย่างอื่นอีก คือ เปนอธิบดีอำนวยการหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกสาหย่างหนึ่ง และเปนตำแหน่งราชเลขานุการไนพระองค์ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง มาตั้งแต่เมื่อก่อนเปนกัมการตั้งโรงพยาบาล หน้าที่ราชเลขานุการไนพระองค์ต้องเข้าไปเขียนร่างพระราชหัถเลขาและพระราชนิพนธ์ตามตรัดบอกเสมอทุกคืน ครั้นมาเปนอธิบดีกรมพยาบาล เวลาเช้าเทอต้องสเด็ดไปทำการที่โรงพยาบาล ถึงกลางวันต้องสเด็ดไปยังสำนักงานหนังสือราชกิจจานุเบกสา เวลาค่ำยังต้องเข้าไปเขียนร่างรับสั่งทุกคืน ส่วนพระองค์ของพระองค์สรีฯ นั้น แม้เวลาเปนปรกติก็แบบบางหยู่แล้ว เมื่อมาต้องทำงานหนักขึ้น และเวลาที่จะผ่อนพักบำรุงพระองค์น้อยลงกว่าแต่ก่อน ไนไม่ช้าเท่าไดพระอนามัยก็ซุดโซมลง พอฉันสังเกตเห็นก็ได้เคยทูนตักเตือนแต่แรกว่า เทอทำราชการเกินพระกำลังนัก ควนจะคิดแบ่งเบาถวายเวนคืนหน้าที่เขียนพระราชนิพนธ์ซึ่งผู้อื่นทำแทนได้ไม่ยาก เอาพระกำลังและเวลาไปทำการกรมพยาบาลถวายแต่หย่างเดียว เจ้าพี่เจ้าน้องพระองค์อื่นก็ซงตักเตือนหย่างนั้น แต่เทอไม่ฟัง ตรัดว่า ถ้าพระเจ้าหยู่หัวยังซงไช้หยู่ตราบได เทอจะไม่ทิ้งพระเจ้าหยู่หัวด้วยเห็นแก่พระองค์เองเปนอันขาด เทอฝืนพระกำลังทำราชการมาจนประชวรลง หมอตรวจก็ปรากตว่า พระปัปผาสะพิการ เปนวันโรคพายไน (น่าสงสัยว่าจะเริ่มเปนมานานแล้ว มากำเริบขึ้นเมื่อต้องทำงานหนัก) สมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงซงซาบก็ตกพระทัย ออกพระโอถว่า "ไม่รู้เลยว่าไช้สรีเกินกำลัง" แต่ส่วนพระองค์สรีฯ เอง เวลานั้นตำหนักที่วังของเทอยังไม่ได้ส้าง เทอยังประทับหยู่แพจอดที่บางยี่ขัน พอรู้พระองค์ว่าประชวรเปนวันโรค ก็ย้ายไปประทับรักสาพระองค์หยู่ที่ตึกเสาวภาคไนโรงพยาบาลสิริราช ไครชวนไห้ไปรักสาพระองค์ที่อื่นก็ไม่ยอม เทอเคยตรัดแก่ฉันว่า ถ้ารักสาไม่หาย ก็หยากจะตายไนโรงพยาบาล คิดดูก็ชอบกล ถ้าเปนผู้อื่นก็เห็นจะไม่หยากไปหยู่ไนที่คนเจ็บคนตายเช่นโรงพยาบาล คงเปนเพราะพระหรึทัยเทอรักโรงพยาบาล เปรียบเหมือนเช่นรักลูกที่เทอได้ไห้เกิดและเลี้ยงมาเอง จึงไม่รังเกียด และถึงปลงพระหรึทัยหยากจะสิ้นพระชนม์ไนโรงพยาบาลเช่นนั้น ก็ไม่มีไครขืนพระทัย แม้สมเด็ดพระเจ้าหยู่หัวก็สเด็ดไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล พระญาติและมิตรก็พากันไปช่วยรักสาพยาบาลไม่ขาด มาจนกะทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ส. 2432 พระชนมายุเพียง 27 ปี ได้เปนอธิบดีกรมพยาบาลหยู่ไม่ถึง 2 ปี

สมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงซงสงสารจอมมารดาเหมซึ่งมีพระเจ้าลูกเทอแต่พระองค์สรีฯ พระองค์เดียว กับทั้งหม่อมเจ้าโอรสธิดาของพระองค์สรีฯ ซึ่งเปนกำพร้าแต่ยังเล็กหยู่ทั้ง 2 องค์ จึงซงพระกรุนาโปรดตั้งเจ้าจอมมารดาเหมไห้เปนที่ท้าวสมสักดิ์ รับพระราชทานเบี้ยหวัดเปนบำนาน และโปรดไห้รับหม่อมเจ้าหญิงสุรางค์สรีไปซงชุบเลี้ยงที่ไนพระบรมมหาราชวัง แต่หม่อมเจ้าชายปิยสรรพางค์นั้น กรมพระนราธิปประพันธพงส์ซงรับไปเลี้ยงตามที่ได้สัญญาไว้กับพระองค์สรีฯ จนจเรินพระชนม์ สมเด็ดพระเจ้าหยู่หัวจึงโปรดส่งไห้ไปสึกสาไนยุโรป เมื่อพระองค์สรีฯ สิ้นพระชนม์ แม้คนทั้งหลายอื่นพายนอกตลอดจนคนไข้ที่เคยไปรักสาตัวที่โรงพยาบาลบันดาได้เคยรู้พระคุนวุทธิมาแต่ก่อนก็พากันเสียดายทั่วไปไม่เลือกหน้า

มีเรื่องเนื่องกับพระประวัติของพระองค์สรีฯ หยู่เรื่องหนึ่ง ไนเวลานี้ดูเหมือนจะรู้หยู่แต่ตัวฉันคนเดียว ด้วยเปนเรื่องเนื่องไนเรื่องประวัติของฉันด้วย จะเขียนลงไว้มิไห้สูญไปเสีย ประเพนีแต่ก่อนเมื่อพระเจ้าหยู่หัวจะซงตั้งเจ้านายพระองค์ไดไห้เปนกรม อาลักสน์เปนพนักงานคิดนามกรม เมื่อครั้งตัวฉันจะรับกรม พระยาสรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) เห็นว่า ฉันรับราชการทหาน จึงคิดนามกรมว่า กรมหมื่นจตุรงครังสริสดิ์ นามหนึ่ง ว่า กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ นามหนึ่ง ถวายซงเลือก สมเด็ดพระพุทธเจ้าหลวงโปรดนามหลัง แต่ซงปรารภถึงคำ "ภาพ" ที่ลงท้ายว่า เมื่อถึงนามกรมของพระองค์สรีฯ ซึ่งเปนเจ้าน้องต่อตัวฉัน จะหาคำรับสัมผัสไห้คล้องกันได้ยาก พระยาสรีสุนทรฯ กราบทูนรับประกันว่าจะหาไห้ได้ จึงซงรับฉันเปนกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ พระยาสรีสุนทรฯ กราบทูนรับแล้วไม่นอนไจ คิดนามกรมสำหรับพระองค์สรีฯ ขึ้นสำรองไว้ว่า "กรมหมื่นสุภกาพย์กวีการ" เพราะเทอซงชำนิชำนาญการบทกลอนภาสาไทย แต่ลักสนะพิธีรับกรมไนสมัยนั้น พระเจ้าหยู่หัวสเด็ดไปพระราชทานพระสุพรรนบัฏที่วังเจ้านาย คือ ต้องส้างวังก่อนแล้วจึงรับกรม พระองค์สรีฯ ด่วนสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังไม่ได้ส้างวัง จึงมิได้เปนกรม นามกรมที่พระยาสรีสุนทรโวหารคิดไว้ก็เลยสูญ เมื่อโปรดไห้พระองค์เจ้าโสนบันทิต เจ้าน้องถัดพระองค์สรีฯ ไป รับกรม พระยาสรีสุนทรโวหารคิดพระนามไหม่ว่า "กรมหมื่นพิทยลาภพรึทธิธาดา" ก็สัมผัสคำ "ภาพ" ได้ไม่ขัดข้อง

(11)

เมื่อพระองค์เจ้าสรีเสาวภางค์สิ้นพระชนม์ ประจวบกับเวลาตั้งกะซวงธัมการ สมเด็ดพระเจ้าหยู่หัวโปรดไห้รวมกรมพยาบาล เข้าเปนส่วนหนึ่งไนกะซวงธัมการซึ่งตัวฉันเปนอธิบดี ฉันจึงได้ว่ากรมพยาบาลต่อพระองค์สรีฯ มา แต่ผิดกันเปนข้อสำคันหย่างหนึ่ง ด้วยฉันต้องบังคับบัญชาการกรมต่าง ๆ ซึ่งรวมหยู่ไนกะซวงธัมการ ไม่มีเวลาจะไปดูแลกรมพยาบาลได้มากเหมือนพระองค์สรีฯ จึงต้องกราบทูนขอไห้พระยาไกรโกสา (เทส) เปนอธิบดีผู้รักสาการกรมพยาบาล ตัวฉันเปนแต่ผู้คิดการต่าง ๆ ที่จะไห้จัด และไปตรวจการงานเองเปนครั้งคราว เช่น ไปตามโรงพยาบาลทุกแห่งสัปดาห์ละครั้งหนึ่ง เปนต้น การกรมพยาบาลที่จัดไนสมัยเมื่อขึ้นหยู่กับฉัน ก็ล้วนแต่จัดการต่าง ๆ ที่พระองค์สรีฯ ได้ซงเริ่มจัดไว้ไห้สำเหร็ดไปทุกหย่าง มีการจัดขึ้นไหม่ไนสมัยของฉันแต่เรื่องวิธีพยาบาลคนคลอดลูก ดังจะพรรนนาต่อไป

(12)

เมื่อจะเล่าถึงเรื่องแก้วิธีพยาบาลคนคลอดลูก จะต้องกล่าวถึงวิธีพยาบาลหย่างเดิมเสียก่อน ธัมดาการคลอดลูกย่อมเสี่ยงภัยแก่ชีวิตทั้งแม่และลูกที่คลอดไหม่ จึงต้องพยาบาลด้วยระมัดระวังมาก มนุสต่างชาติต่างมีวิธีพยาบาลการคลอดลูกที่เชื่อว่าจะปลอดภัยได้ดีกว่าหย่างอื่น และไช้วิธีที่ตนเชื่อถือสืบกันมา ไม่พอไจเปลี่ยนแปลงเพราะเกรงคนกลางจะเปนอันตราย ก็วิธีพยาบาลคนคลอดลูกที่ไทยเราไช้กันมาแต่โบรานนั้น ไห้หญิงที่คลอดลูกนุ่งผ้าขัดเตี่ยวนอนบนกะดานแผ่นหนึ่ง เรียกว่า "กะดานหยู่ไฟ" มีเตาสุมไฟไว้ข้างกะดานนั้น ไห้ส่งความร้อนกว่าอากาสปรกติถึงผิวหนังคนคลอดลูกหยู่เสมอตลอดเวลาราว 15 วัน และไห้กินยาทายาไปด้วยกัน ต่อเมื่อสิ้นเขต "หยู่ไฟ" แล้ว จึงลงจากกะดานไฟหยู่กับเรือนเหมือนแต่ก่อน ไทยเราโดยฉเพาะพวกผู้หญิงแต่ก่อนมาเชื่อคุนของการหยู่ไฟมั่นคง ถึงชอบยกเปนเหตุอ้างเมื่อเห็นผู้หญิงคนไดคลอดลูกแล้วร่างกายซุดโซมว่าเปนเพราะ "หยู่ไฟไม่ได้" ถ้าอ้วนท้วนผิวพรรนผ่องไส ก็ชมว่า "เพราะหยู่ไฟได้" เลยเปนปัจจัยไห้ตัวผู้หญิงที่ยังไม่เคยคลอดลูกเชื่อว่า หยู่ไฟเปนการป้องกันอันตราย และไห้คุนแก่ตนเมื่อพายหลัง แม้ไม่สบายก็ไม่รังเกียด แต่ที่จิงการหยู่ไฟถึงจะเปนคุนหรือไม่ไห้โทส ก็แต่ฉเพาะคนที่ไม่มีอาการจับไข้ ถ้ามีพิสไข้หยู่ไนตัว ไอไฟกลับไห้โทส ขืนหยู่ก็อาดจะเปนอันตราย แต่วิธีพยาบาลหย่างเดิม ถ้าคนคลอดลูกเปนไข้ ก็เปนแต่ลดไอไฟไห้น้อยลง หากล้าเลิกหยู่ไฟไม่ จึงมีเหตุถึงตายด้วยหยู่ไฟบ่อย ๆ

ทีนี้จะเล่าถึงมูลเหตุที่เปลี่ยนวิธีพยาบาลคนคลอดลูก กรมหมื่นปราบปรปักส์เคยตรัดเล่าไห้ฉันฟังว่า เมื่อท่านยังเปนหม่อมเจ้า มีบุตรคนแรก (คือเจ้าพระยาพระสเด็ด) หม่อมเปี่ยมมารดาเปนไข้ทุรนทุรายทนความร้อนไม่ได้ แต่พวกผู้ไหญ่ที่พยาบาลบังคับขืนไห้หยู่ไฟจนหม่อมเปี่ยมตาย ท่านก็ซงปติญานแต่นั้นมาว่า ถ้ามีลูกอีก จะไม่ไห้หม่อมหยู่ไฟเปนอันขาด ต่อมาเมื่อท่านจะมีลูกอีก ประจวบเวลาหมอเคาแวนเข้ามารับราชการเปนแพทย์ประจำพระองค์พระเจ้าหยู่หัว จึงไห้หมอเคาแวนเปนผู้ผดุงครรภ์และพยาบาลตามแบบหย่างฝรั่ง ก็ปลอดภัยสบายดี แต่นั้นมา ท่านจึงไช้แบบฝรั่ง ทั้งหม่อมและบุตรธิดาของท่านก็หยู่เย็นเปนสุข ไม่มีไครเปนอันตราย ผู้อื่นนอกจากกรมหมื่นปราบฯ ที่เลื่อมไสวิธีพยาบาลคนคลอดลูกตามแบบฝรั่งก็น่าจะมี แต่คงเปนเพราะพวกผู้หญิงไนครัวเรือนไม่ยอมเลิกหยู่ไฟ และไม่มีเหตุบังคับเหมือนกรมหมื่นปราบฯ กรมหมื่นปราบฯ จึงเปนผู้เลิกการหยู่ไฟ ไช้วิธีพยาบาลคนคลอดลูกตามแบบฝรั่งก่อนผู้อื่น กรมหมื่นปราบฯ เปนผู้ภักดีอุปถากสนองพระคุนสมเด็ดพระสรีพัชรินทราบรมราชินีหยู่เสมอ ได้ยินว่า เมื่อครั้งประสูติสมเด็ดเจ้าฟ้าอัสดางค์เดชาวุธ มีพระอาการเปนไข้ กรมหมื่นปราบฯ กราบทูนชี้แจงสแดงคุนของวิธีพยาบาลหย่างฝรั่ง สมเด็ดพระบรมราชินีซงเลื่อมไส ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเลิกผทมเพลิง ไห้หมอเคาแวนพยาบาลตามแบบฝรั่ง ก็ซงสมบูรน์พูนสุข ตระหนักพระราชหรึทัยว่า ดีกว่าวิธีหยู่ไฟหย่างเดิม แต่นั้นก็เริ่มเลิกวิธีหยู่ไฟที่ไนพระบรมมหาราชวัง และพวกผู้ดีมีบันดาดักดิ์ข้างนอกวังก็เอาหย่างตามสเด็ดสมเด็ดพระบรมราชินีมีมากขึ้นเปนลำดับมา ฉันจึงคิดจะไช้วิธีพยาบาลหย่างฝรั่งไนโรงพยาบาลขยายประโยชน์ต่อลงไปถึงราสดร แต่ไนเวลานั้นผู้หญิงไปคลอดลูกไนโรงพยาบาลยังมีน้อย และร้องขอไห้ไช้วิธีพยาบาลหย่างเดิม เช่น ไห้วงสายสิญจน์แขวนยันต์รอบห้องที่หยู่และไห้หยู่ไฟ เปนต้น ชี้แจงชักชวนไห้ไช้วิธีหย่างไหม่ก็ไม่มีไครยอม จึงเกิดขัดข้อง เพราะถ้าขืนไจก็คงไม่มีไครไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล เมื่อความขัดข้องนั้นซาบถึงสมเด็ดพระบรมราชินี ซงรับช่วยด้วยโปรดประทานอนุญาตไห้กรมพยาบาลอ้างกะแสรับสั่งชี้แจงแก่คนที่จะคลอดลูกไนโรงพยาบาลว่า พระองค์เองได้เคยผทมเพลิงมาแต่ก่อน แล้วมาเปลี่ยนไช้วิธีพยาบาลหย่างไหม่ ซงสบายกว่าหยู่ไฟหย่างแต่ก่อนมาก มีพระราชประสงค์จะไห้ราสดรได้ความสุขด้วย จึงซงแนะนำไห้ทำตามหย่างพระองค์ หย่าไห้กลัวเลย หามีอันตรายไม่ ถ้าไครทำตามที่ซงชักชวน จะพระราชทานเงินทำขวันลูกที่คลอดไหม่คนละ 4 บาท พอมีกะแสรับสั่งของสมเด็ดพระบรมราชินีหย่างนั้น ก็เริ่มมีคนสมัคไห้พยาบาลคลอดลูกตามวิธีไหม่ ไนชั้นแรก หมอเคาแวนไปดูแลคนไข้เอง แล้วฝึกหัดหมอกับคนพยาบาลมาจนชำนาญ แต่กะนั้น คนสมัคไห้พยาบาลหย่างไหม่ก็ยังมีน้อย ไนห้องเดียวกันมีทั้งคนคลอดลูกที่หยู่ไฟและไม่หยู่ไฟปนกันมาอีกหลายเดือน ต่อเมื่อเห็นกันว่า คนที่ไม่หยู่ไฟไม่ล้มตาย กลับสบายดีกว่าคนหยู่ไฟ ทั้งได้เงินทำขวันลูกด้วย จำนวนคนที่ขอหยู่ไฟก็น้อยลงจนเกือบไม่มี กรมพยาบาลจึงสามาถตั้งข้อบังคับรับไห้คนคลอดลูกไนโรงพยาบาลแต่คนที่สมัคไม่หยู่ไฟ เลิกประเพนีหยู่ไฟไนโรงพยาบาลแต่นั้นมา

ฉันได้ว่าการกรมพยาบาลหยู่ 2 ปี พอถึง พ.ส. 2435 ซงพระกรุนาโปรดไห้ฉันย้ายจากกะซวงธัมการไปเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทย ก็สิ้นเกี่ยวข้องกับกรมพยาบาลเพียงนั้น