ประกาศตั้งราชบัณฑิตย์สภา ลงวันที่ 19 เมษายน 2469
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า เดิมกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครมีหน้าที่แต่จัดการหอพระสมุดฯ อย่างเดียว ครั้นการหอพระสมุดสำหรับพระนครเจริญรุ่งเรืองขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อนจึงทรงเพิ่มการต่าง ๆ ให้เปนหน้าที่ของกรรมการหอพระสมุดฯ มากขึ้นโดยลำดับมา คือ หน้าที่อำนวยการวรรณคดีสโมสร และหน้าที่การตรวจรักษาของโบราณในพระราชอาณาเขตร เปนต้น ครั้นมาถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้โปรดฯ เพิ่มหน้าที่ให้จัดการพิพิธภัณฑสถานและการบำรุงวิชาช่างซึ่งยกมาแต่กรมศิลปากร และยังมีการอย่างอื่น ๆ อันเนื่องด้วยบำรุงวิชาความรู้ซึ่งทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ควรจะให้กรรมการนี้เปนพนักงานจัดทำ ยังมีอีกหลายอย่าง ทำเนียบระเบียบการที่ได้กำหนดไว้แต่เดิมมา และนามที่เรียกว่า กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ไม่สมกับหน้าที่ซึ่งเปนพนักงานอยู่ในบัดนี้ ชอบที่จะแก้ไขยให้เปนระเบียบเรียบร้อยตามสมควรแก่การ ก็ในทำเนียบกระทรวงราชการฝ่ายพลเรือนแต่โบราณ มีกรมราชบัณฑิตย์อยู่กรมหนึ่งซึ่งเปนตำแหน่งสำหรับทรงตั้งผู้มีความรู้ศาสตราคมไว้รับราชการ แต่หากราชการในหน้าที่ได้เปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับจนกลายเปนกรมน้อยขึ้นอยู่ในกระทรวงธรรมการ มีหน้าที่แต่สำหรับรักษาพระไตรปิฎกและบริกรรมทำการพิธีบางอย่าง ทรงพระราชดำริห์ว่า ควรจะฟื้นหน้าที่กรมราชบัณฑิตย์ให้ทำการสำคัญขึ้นตามศักดิ์แต่โบราณ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งราชบัณฑิตย์สภาขึ้นดังกล่าวต่อไปนี้
๑ตั้งแต่วันที่มีประกาศนี้ ให้เปลี่ยนนามกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ใช้ว่า ราชบัณฑิตย์สภา ต่อไป และบันดาการซึ่งกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครได้ทำอยู่แต่ก่อนก็ดี อำนาจหน้าที่ของกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครอันมีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายที่ได้ตั้งไว้ก็ดี และหน้าที่ของกรมราชบัณฑิตย์ซึ่งยังคงมีอยู่ก็ดี ให้รวมมาเปนอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตย์สภาทั้งสิ้น
๒บันดาสถานและวัดถุที่กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครเปนพนักงานพิทักษ์รักษาอยู่แต่ก่อนก็ดี ที่กรมศิลปากรพิทักษ์รักษาอยู่แต่ก่อนก็ดี ให้โอนมาอยู่ในอำนาจหน้าที่ราชบัณฑิตย์สภาทั้งสิ้น
๓ให้ราชบัญฑิตย์สภาจัดหน้าที่เปน ๓ แพนก คือ
๑)แพนกวรรณคดี เปนพนักงานจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร และสอบสวนพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์
๒)แพนกโบราณคดี เปนพนักงานจัดการพิพิธภัณฑ์สถาน ตรวจรักษาโบราณวัดถุสถาน
๓)แพนกศิลปากร เปนพนักงานจัดการบำรุงรักษาวิชาช่าง
๔พนักงานการอำนวยการราชบัณฑิตย์สภานั้น ให้กรรมการคณะ ๑ มีตำแหน่งสภานายกเปนผู้บัญชาการสภาทั่วไป ๑ มีอุปนายกเปนผู้จัดการประจำแพนกละคน รวม ๓ กับมีกรรมการเปนผู้ช่วยและเปนที่ปฤกษาการสภาอิก ๓ คน รวมทั้งสิ้นเปนคณะกรรมการราชบัณฑิตย์สภา ๗ คน เปนตำแหน่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งทั้งนั้น นอกจากนั้น ให้มีสภาเลขานุการ ๒ คน สมุหบาญชีคน ๑ เปนพนักงานกลาง และมีพนักงานประจำการตามแพนกอิกพอสมควร
๕ให้ราชบัณฑิตย์สภามีหน้าที่ดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
๑)ที่จะจัดการและรักษาวัดถุสถานต่าง ๆ อันได้โปรดให้อยู่ในหน้าที่เปนพนักงานปกครองรักษา เปนต้นว่า หอพระสมุดฯ ก็ดี พิพิธภัณฑสถานก็ดี โบราณสถานที่ลงมือจัดรักษาแล้วก็ดี ศิลปากรสถานก็ดี ให้เรียบร้อยถาวร อย่าให้เสื่อมทราม
๒)ที่จะคิดอ่านทำนุบำรุงการต่าง ๆ อันอยู่ในหน้าที่ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นทุกแพนก ถ้าเห็นสมควรจะมีพระราชกำหนดกฎหมาย หรือจัดการอันใดเพิ่มเติม หรือเพิกถอนการอันใดให้เปนคุณและเกิดประโยชน์แห่งการอันเปนหน้าที่ของสภา ก็ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ
๓)ที่จะวินิจฉัยคดีต่าง ๆ อันอยู่ในความสามารถของราชบัณฑิตย์สภา เมื่อมีรับสั่งส่งไปให้ปฤกษาเปนครั้งเปนคราว แล้วนำมัติขึ้นกราบบังคมทูลฯ
๖ให้ราชบัณฑิตย์สภามีการประชุมเนือง ๆ อย่างต่ำไม่น้อยกว่าปีละ ๔ ครั้ง และปฤกษาหารือช่วยกันจัดการต่าง ๆ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนหน้าที่ให้เจริญถาวรต่อไป
ประกาศมาณวันที่ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๙ เปนปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ประกาศตั้งราชบัณฑิตย์สภา". (2469, 25 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 43. หน้า 102–105.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"