ประกาศนับเวลาในราชการ ลงวันที่ 10 กันยายน 2460
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป, เพื่อความสดวกแก่กิจการโดยทั่วไป, การนับเวลาในราชการ ให้ใช้อย่างวิธีโหราศาสตร์, ซึ่งในราชการกรุงสยามได้เคยใช้มาแล้วในโบราณสมัย แลในประจุบันนี้ได้ใช้อยู่ทั่วไปแล้วในประเทศยุโรปแลอเมริกา, คือ นับวันใหม่ตั้งแต่เที่ยงคืน, ระยะทุ่มโมง ให้เรียกว่า นาฬิกา; (ตามภาษาที่เคยใช้มาในทางราชการแต่โบราณ) เวลาตั้งแต่เที่ยงคืนถึงเที่ยงวัน, เรียกว่า ก่อนเที่ยง, เวลาตั้งแต่เที่ยงวันล่วงแล้วไปบรรจบเที่ยงคืน เรียกว่า หลังเที่ยง. คือ ระยะที่ ๑ แห่งเที่ยงคืนล่วงแล้ว เรียกว่า ๑ นาฬิกาก่อนเที่ยง แลมีลำดับไปถึง ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑, นาฬิกาก่อนเที่ยง จนถึง ๑๒ นาฬิกากลางวันหรือเที่ยง; แล้วต่อไปนับเวลา ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑, นาฬิกาหลังเที่ยงถึง ๑๒ นาฬิกากลางคืนหรือเที่ยง ดังนี้ เวียนกันเสมอไป.
ส่วนระยะนาทีแลวินาที คงใช้ตามเดิม, แต่เพื่อความสดวกสำหรับสาธารณะชน จะใช้เรียกระยะ ๑๕ นาทีว่า ๑ ภาค, และระยะ ๓๐ นาที ว่า ครึ่งนาฬิกา ดังนี้ก็ได้ แลในระยะยังไม่ถึง ๑ นาฬิกาก่อนเที่ยง หรือยังไม่ถึง ๑ นาฬิกาหลังเที่ยง ให้ใช้ว่า เที่ยงวันกับเท่านั้นนาที หรือเที่ยงคืนกับเท่านั้นนาที, ดังนี้
พระราชกำหนดเดิมที่ขัดกับประกาศนี้ ให้ยกเลิก เว้นแต่วิธีตีรฆังในเรือแห่งราชนาวี
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ประกาศนับเวลาในราชการ ลงวันที่ 10 กันยายน 2460". (2460, 13 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 34, ตอน 0 ก. หน้า 421–422.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"