ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชกาลที่ 6/เล่ม 3/เรื่อง 7

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชบัญญัติขนานนามสกุล
พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพรปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า สมควรจะมีบัญญัติวิธีจดฐะเบียรคนเกิดคนตายแลทำงานสมรสให้เปนการมั่นคงชัดเจนสืบไป แลวิธีจดฐะเบียรอันนี้ย่อมอาศัยสอบสวนตำหนิรูปพรรณสัณฐานบุทคนแลเทือกเถาเหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใดให้ได้ความแม่นยำก่อนจึงจะทำได้ เพื่อจะให้เปนผลสำเร็จดังพระราชประสงค์นี้ ทรงพระราชดำริห์ว่า บุทคนทุก ๆ คนจำต้องมีทั้งชื่อตัวแลเชื้อสกุล แลวิธีขนานนามสกุลนั้นควรให้ใช้แพร่ลายทั่วถึงประชาชนพลเมืองตลอดทั้งพระราชอาณาจักร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโดยบทมาตราไว้ต่อไปดังนี้

มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

มาตรา ๒

ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เปนกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑ เดือนกรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๖

มาตรา ๓

ชื่อของคนไทยทุกคนต้องประกอบด้วยชื่อตัวแลชื่อสกุล

มาตรา ๔

ชื่อตัวเปนชื่ออันได้ให้แก่เด็กตั้งแต่กำเนิด

มาตรา ๕

ชื่อสกุลเปนชื่อประจำวงษ์สกุลซึ่งสืบเนื่องมาแต่บิดาถึงบุตร์

มาตรา ๖

หญิงได้ทำงานสมรสมีสามีแล้ว ให้ใช้ชื่อสกุลของสามี แลคงใช้ชื่อตัวแลชื่อสกุลเดิมของตนได้

มาตรา ๗

เมื่อบิดาของบุทคนใดไม่ปรากฎอยู่ชั่วกาลใด บุทคนนั้นต้องใช้ชื่อสกุลฝ่ายมารดาชั่วกาลนั้น

มาตรา ๘

ห้ามมิให้บุทคนใดเปลี่ยนชื่อตัวฤๅชื่อสกุลของตน ฤๅของบุตร์หลานเหลนผู้สืบเชื้อสายตน เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากเสนาบดีเจ้ากระทรวงผู้บังคับราชการท้องที่อำเภอทั้งในกรุงแลหัวเมือง

มาตรา ๙

ภายในกำหนด ๖ เดือนนับตั้งแต่วันได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้เปนต้นไป ให้บรรดาผู้เปนหัวน่าครอบครัวทุก ๆ ครัวเรือนเลือกสันถือเอาชื่อสกุลอันหนึ่ง แล้วให้จดฐะเบียรชื่อสกุลนั้นณที่สำนักว่าการอำเภอท้องที่

มาตรา ๑๐

หัวน่าครอบครัวนี้ ท่านประสงค์ว่า บุรพบุรุษคนหนึ่งซึ่งยังมีชีวิตอยู่เปนผู้ใหญ่มีอายุสูงในครอบครัวนั้นเอง

มาตรา ๑๑

ถ้าครอบครัวใดมีชื่อสกุลประจำใช้อยู่แล้ว ท่านให้เอาชื่อสกุลนั้นจดลงฐะเบียร

มาตรา ๑๒

ถ้าครอบครัวใดยังไม่มีชื่อสกุลไซ้ ให้หัวน่าครอบครัวนั้นเลือกหาชื่อใดชื่อหนึ่งตามสมควร เว้นแต่ว่าชื่อนั้น ๆ

(๑)อย่าให้พ้องกับพระนามพระราชวงษานุวงษ์ผู้ทรงอิศริยยศฐานันดรตั้งแต่พระองค์เจ้าขึ้นไป

(๒)อย่าให้เปนชื่อที่มุ่งหมายคล้ายคลึงกับราชทินนามอันเปนตำแหน่งยศบันดาศักดิ์

(๓)อย่าให้เปนชื่อมีอรรถหยาบคายไม่สมควร

(๔)อย่าให้เปนชื่อซึ่งจะต้องเขียนเกินกว่าสิบอักษร

(๕)อย่าให้เปนชื่อซ้ำเหมือนกับชื่อสกุลซึ่งได้ใช้อยู่แล้วขณะวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ ฤๅซ้ำกับชื่อซึ่งได้จดฐะเบียรไว้แล้วในแขวงอำเภอท้องที่เดียวกันฤๅในแขวงอำเภอท้องที่ติดต่อกัน

มาตรา ๑๓

ให้เสนาบดีผู้เปนเจ้ากระทรวงบังคับราชการท้องที่อำเภอทั้งในกรุงแลหัวเมืองมีน่าที่คิดชื่อสกุลแลพิมพ์ลงเปนบานจำหน่ายให้แก่นายอำเภอท้องที่ทุกตำบลเพื่อเปนเค้าให้ราษฎรผู้ต้องการได้เลือกถือเอาชื่อนั้น ๆ

มาตรา ๑๔

ในหนังสือแบบฐะเบียรนั้น ให้ลงชื่อนายอำเภอผู้จดหมาย แลให้ทำสำเนาคู่มือมอบให้แก่หัวน่าครอบครัวฉบับหนึ่ง

มาตรา ๑๕

การจดฐะเบียรนี้ อย่าให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมเลย

มาตรา ๑๖

ถ้าหัวน่าครอบครัวมีตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปเปนพี่น้องร่วมบิดาที่ล่วงลับไปแล้ว ย่อมจะเลือกชื่อสกุลอย่างเดียวกันก็ได้

มาตรา ๑๗

ชื่อสกุลอันหัวน่าครอบครัวได้เลือกแล้วนั้น ท่านให้ใช้เปนชื่อสกุลของบุตร์แลธิดาด้วย ของหลานเหลนแลผู้ซึ่งสืบสาโลหิตแต่ฝ่ายบุตร์ชายหลานชายนั้น ๆ ต่อเปนลำดับลงไปด้วย

มาตรา ๑๘

ถ้าหญิงใดหาญาติผู้ใหญ่ซึ่งเปนบุรพบุรุษยังมีชีวิตอยู่มิได้ ก็ให้ถือเอาชื่อสกุลของชายผู้เปนญาติสนิทสืบสาโลหิตตน ฤๅแม้ว่าญาติชายสนิทเช่นนี้หามิได้ ก็ให้ถือเอาชื่อสกุลอย่างเดียวกับผู้ชายที่เปนญาติห่างถัดไปนั้น

มาตรา ๑๙

เมื่อพ้นกำหนด ๖ เดือนนับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้เปนบทกฎหมายแล้ว ห้ามมิให้เรียกขาดขีดเขียนชื่อบุทคลใด ๆ ในหนังสือราชการ นอกจากใช้ออกชื่อตัวแลชื่อสกุลของบุทคลนั้น ถ้าแลเปนการไม่พ้นวิสัย ให้เจ้าพนักงานผู้มีกิจทำหนังสือเอกสารนั้นสอบสวนสำเนาฐะเบียรซึงนายอำเภอได้มอบให้ฤๅตรวจดูต้นฐะเบียรแล้วให้ออกขานชื่อสกุลให้ถูกต้องตามนั้น

มาตรา ๒๐

ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงซึ่งได้บังคับราชการท้องที่อำเภอทั้งในกรุงแลหัวเมืองมีน่าที่รักษาพระราชบัญญัตินี้ แลมีอำนาจออกกฎข้อบังคับเพื่อวางระเบียบการให้ดำเนิรไปโดยสดวก เมื่อกฎข้อบังคับนั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแลได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ถือว่าเปนส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัตินี้

ประกาศมาณวันที่ ๒๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๕ เปนวันที่ ๘๖๓ หรือปีที่ ๓ ในรัชกาลปัตยุบันนี้