ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชชกาลที่ 8/เล่ม 2/เรื่อง 16
(ฉะบับที่ ๔)
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗)
อาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาบางมาตรา
จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๔)”
มาตรา๒ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ให้เพิ่มข้อความอีกสองตอนต่อไปนี้เข้าต่อท้ายมาตรา ๒๗๐ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา
“ผู้ใด เพื่อสินไถ่ บังอาจหน่วงเหนี่ยวกักขัง หรือบังอาจพาผู้หนึ่งผู้ใดไป โดยใช้กำลังก็ดี หรือขู่เข็ญให้ไปด้วยความกลัวก็ดี หรือใช้อุบายล่อลวงด้วยประการใด ๆ ก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิดฐานจับคนเพื่อสินไถ่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่พันบาทจนถึงห้าพันบาท”
“สินไถ่ หมายความว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอาหรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนคนที่ถูกจับกลับคืนมา”
มาตรา๔ให้เพิ่มข้อความอีกสองตอนต่อไปนี้เข้าต่อท้ายมาตรา ๒๗๒ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา
“ในกรณีจับคนเพื่อสินไถ่ ถ้าทำให้เขามีบาดเจ็บถึงสาหัสหรือถึงวิกลจริต หรือถูกข่มขืนทำชำเรา ท่านว่า มันต้องระวางโทษจำคุกยี่สิบปี หรือจำคุกจนตลอดชีวิต
ในกรณีอย่างเดียวกันนั้น ถ้าทำให้เขาได้รับบาดเจ็บโดยกระทำทรมานหรือการแสดงความดุร้ายให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัส หรือทำให้เขาถึงแก่ความตาย ท่านให้จำคุกมันไว้จนตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตมันเสีย”
มาตรา๕ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เข้าเป็นมาตรา ๒๗๒ ทวิ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา
“ผู้ใดช่วยเหลือในการกระทำผิดโดยลักษณะที่กล่าวไว้ในมาตรา ๖๕ จะเป็นก่อนหรือในขณะกระทำผิด หรือภายหลังการกระทำผิด ฐานจับเพื่อสินไถ่ก็ดี หรือขัดขวางทางดำเนินการของเจ้าพนักงานที่พยายามสืบสวนหรือจับผู้กระทำผิดก็ดี หรือกระทำตนเป็นคนกลางโดยมีเงื่อนไขว่า ผู้กระทำผิดจำต้องแบ่งสินไถ่เป็นรางวัลอันมิควรได้ให้แก่มัน หรือบุคคลผู้ให้สินไถ่จำต้องให้รางวัลอันมิควรได้แก่มันก็ดี ท่านว่า มันมีความผิดฐานเป็นตัวการดุจกัน”
มาตรา๖ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เข้าเป็นมาตรา ๒๗๒ ตรี แห่งกฎหมายลักษณะอาญา
“ในกรณีจับคนเพื่อสินไถ่ ถ้าผู้กระทำผิดจัดการให้ผู้ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือถูกพาไปได้กลับคืนมาโดยมิได้รับบาดเจ็บสาหัส วิกลจริต หรือตกอยู่ในสภาพอดอยากซึ่งเป็นภยันตรายต่อชีวิต ท่านให้ลดอาญาให้มันหนึ่งในสาม แต่ทั้งนี้ ต้องได้จัดให้กลับคืนมาก่อนศาลพิพากษาคดี”
มาตรา๗ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เข้าเป็นมาตรา ๓๐๑ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา และใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา๓๐๑ถ้าคนตั้งแต่สามคนด้วยกันขึ้นไป และมันมีสาตราวุธแม้แต่คนเดียวก็ดี กระทำการชิงทรัพย์ ท่านว่า มันมีความผิดฐานเป็นโจรปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปจนถึงสิบห้าปี
ถ้าในการปล้นนั้นทำให้เขามีบาดเจ็บถึงสาหัส ท่านว่า มันผู้เป็นโจรนั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปจนถึงยี่สิบปี หรือจำคุกจนตลอดชีวิต
ถ้าในการปล้นนั้นทำให้เขามีบาดเจ็บโดยใช้อาวุธปืนยิง หรือใช้วัตถุระเบิดทำร้าย หรือกระทำทรมานหรือการแสดงความดุร้ายให้ได้รับความลำบากอย่างสาหัส ท่านว่า มันผู้เป็นโจรนั้นต้องระวางโทษจำคุกยี่สิบปี หรือจำคุกจนตลอดชีวิต
ถ้าแลในการปล้นนั้นทำให้เขาถึงตาย ท่านว่า มันผู้เป็นโจรนั้นต้องระวางโทษจำคุกจนตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต แต่ความในตอนนี้ท่านไม่ประสงค์จะให้เอาไปใช้ลบล้างอาญาที่ท่านบัญญัติไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยฉกรรจ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่ท่านกล่าวไว้ในมาตรา ๒๕๐ นั้น”
(ตามมติคณะรัฐมนตรี)
รัฐมนตรี