ประกาศลักษณฉ้อ ลงวันที่ 25 กันยายน ร.ศ. 119
หน้าตา
ประกาศลักษณฉ้อ
|
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ด้วยแต่ก่อน ถ้าราษฎรผู้ใดได้หลอกฉ้อทรัพย์สมบัติของผู้อื่นโดยประการต่าง ๆ แล้ว ผู้ที่ต้องเสียทรัพย์ทั้งหลายก็ฟ้องร้องเรียกเงินปรับเปนสินไหมพินัย ถ้าผู้ฉ้อไม่มีเงินให้ ก็มีวิธีจำเร่งซึ่งเปนโทษอาญากลาย ๆ ครั้นได้มีพระราชบัญญัติยอมอนุญาตให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ การจำเร่งเงินก็เปนอันเลิกไป ผู้ฉ้อผู้โกงจึงมีใจกำเริบขึ้น ถือว่า ถ้าฉ้อเขามาได้ โทษก็เพียงแต่ต้องให้ของเขาคืน ไม่ต้องถูกเร่งจำจองเปนโทษอาญาอย่างไร สมควรที่จะให้มีกฎหมายทำโทษผู้ร้ายเช่นนี้ไว้บ้าง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป ถ้าผู้ใดประพฤติตนดังจะได้กล่าวต่อไปนี้ ให้มีโทษดังที่ได้บ่งไว้ |
มาตรา๑ถ้าผู้ใดหลอกลวงเอาเงินฤๅของมาได้จากผู้อื่นโดยจงใจที่จะฉ้อแล้ว ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี ฤๅปรับไม่เกินจัตุรคูณ ฤๅทั้งจำทั้งปรับ |
มาตรา๒คำที่ว่า หลอกลวง นั้น คือ หลอกลวงโดยวาจาก็ดี โดยหนังสือก็ดี โดยกิริยาก็ดี ให้เขาเข้าใจว่า การอย่างใดอย่างหนึ่งได้เปนไป ฤๅเกิดขึ้น ฤๅมีอยู่ผิดจากที่เปนจริง แต่หลอกลวงในการที่ว่า ตั้งใจจะทำอะไรในเบื้องน่านั้น ไม่เรียกว่า หลอกลวง เรียกแต่ว่า ไม่ทำตามคำปฏิญาณ |
มาตรา๓เอามาได้จากผู้อื่น นั้น คือ จะเอามาเอง ฤๅหลอกให้เขาให้ไปแก่ผู้อื่น แลมีเจตนาที่จะไม่ให้เจ้าของได้คืนไปเลย |
มาตรา๔ถ้าผู้ใดหลอกขาย หลอกแลก ฤๅหลอกให้เปนประกัน เช่น จำนำ แลขายฝาก เปนต้น ที่ดินโรงเรือนซึ่งพึงเคลื่อนจากที่ไม่ได้ โดยที่ทราบว่า ที่ดินโรงเรือนนั้นหาใช่ของตนไม่ แลโดยที่มีความประสงค์จะฉ้อเอาผลประโยช แลได้รับผลประโยชนมาบ้างแล้ว ดังนี้ ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี ฤๅให้ปรับไม่เกินจัตุรคูณ ฤๅทั้งจำทั้งปรับ |
มาตรา๕ถ้าผู้ใดหลอกขาย หลอกแลก หลอกให้เปนประกัน เช่น จำนำ ฤๅขายฝาก เปนต้น ที่ดินโรงเรือนซึ่งพึงเคลื่อนจากที่ไม่ได้ แต่ที่ดินโรงเรือนนั้นตนได้ให้เปนประกัน เช่น จำนำ ฤๅขายฝาก ไว้แก่ผู้อื่นครั้งหนึ่งแล้ว หาบอกความสำคัญนี้ ให้ผู้ซื้อ ผู้แลก ผู้รับประกัน จำนำ ขายฝาก ภายหลังทราบไม่ โดยที่มีความประสงค์จะฉ้อผลประโยชน์ แลได้รับผลประโยชน์มาบ้างแล้ว ดังนี้ ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี ฤๅปรับไม่เกินจัตุรคูณ ฤๅทั้งจำทั้งปรับ |
มาตรา๖ผู้ที่ถูกฉ้อมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์ที่มันได้ฉ้อไปได้ แต่จะต้องฟ้องครั้งเดียว จะเปนความอาญาอย่างเดียวก็ดี ฤๅแพ่งเรียกทรัพย์คืนก็ดี ฤๅทั้งอาญาแลแพ่งรวมกันก็ดี แต่ถ้ากรมอัยการฟ้องทางอาญาแล้ว ผู้ที่ถูกฉ้อจะฟ้องแพ่งรวมสำนวนกับสำนวนกรมอัยการก็ได้ ฤๅจะฟ้องเปนคดีของตนต่างหากก็ได้ |
อย่างไรก็ดี จะเปนแพ่งฤๅอาญา ต้องฟ้องภายในกำหนด ๖ เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้ทราบความ |
มาตรา๗พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้ได้แต่เรื่องที่ได้ฉ้อกันภายหลังวันนี้ไป |
ประกาศ มาณ วันที่ ๒๕ กันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ เปนวันที่ ๑๑๖๔๑ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ |
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ประกาศลักษณฉ้อ ลงวันที่ 25 กันยายน ร.ศ. 119". (2443, 30 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 17, ตอน 27. หน้า 327–328.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"