ประกาศแก้ไขตำแหน่งฯ ตามพระราชบัญญัติเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาญาฯ ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2459
- ประกาศแก้ไขตำแหน่งเจ้าพนักงาน
- ในกรมตำรวจพระนครบาลซึ่งมีอำนาจออกหมายจับ
- หมายเรียก หมายค้น ได้ตามพระราชบัญญัติ
- เพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๔๔ (ศก ๑๒๐)
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ตามความในพระราชบัญญัติเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาญา ลงวันที่ ๒๙ เมษายน ศก ๑๒๐ มาตรา ๓ ซึ่งมีข้อความว่า ในมณฑลกรุงเทพฯ ให้ผู้ว่าราชการเมือง อธิบดี รองอธิบดี เจ้ากรม ปลัดกรม กองตระเวน มีอำนาจออกหมายจับส่งศาล และออกหมายค้นบ้านเรือน ออกหมายเรียกพยาน ได้เหมือนอย่างผู้พิพากษาศาลโปริสภานั้น
บัดนี้ กรมกองตระเวนกรุงเทพฯ และกรมตำรวจภูธรในหัวเมือง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเปนกรมเดียวกัน อยู่ในความบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงนครบาล เรียกว่า กรมตำรวจพระนครบาล และตำรวจภูธร ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ และได้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งน่าที่ราชการเทียบเคียงเปนอย่างเดียวกันแล้ว ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ และผู้บังคับกองตำรวจภูธร ก็ย่อมมีน่าที่ปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้ายในหัวเมืองต่อเนื่องกัน เพื่อที่จะให้เปนการสดวกต่อน่าที่ราชการ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ตำแหน่งเจ้าพนักงานกรมกองตระเวนซึ่งมีอำนาจออกหมายเรียก หมายจับ หมายค้น ตามพระราชบัญญัติเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาญา ศก ๑๒๐ เสียใหม่ให้ถูกต้องตามที่ได้เปลี่ยนแปลงในเวลานี้ คือ
๑อธิบดีกรมกองตระเวน ให้แก้เปน อธิบดีกรมตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธร
๒เจ้ากรม ให้แก้เปน ผู้บังคับการกรมตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรประจำมณฑล
๓ปลัดกรม ให้แก้เปน ผู้กำกับการกรมตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรประจำมณฑล
กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานตำแหน่งผู้บังคับกองตำรวจภูธรเมืองมีอำนาจตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาญา ศก ๑๒๐ นั้นด้วยทุกประการ
ประกาศมาณวันที่ ๕ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ เปนวันที่ ๒๑๕๖ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ประกาศแก้ไขตำแหน่งเจ้าพนักงานในกรมตำรวจพระนครบาลซึ่งมีอำนาจออกหมายจับหมายเรียกหมายค้นได้ตามพระราชบัญญัติเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2444 (ศก 120) ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2459". (2459, 8 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 33, ตอน 0 ก. หน้า 173–174.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"