ประชุมกฎหมายประจำศก/เล่ม 5/ภาค 7/เรื่อง 12

จาก วิกิซอร์ซ
ประกาศ
ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ สุทธสมมติเทพยพงษ์ วงษาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพัดิราชสังกาษ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจอมเกล้าเจาแผ่นดินสยาม ทรงพระราชดำหริตริตรองในการจะทนุบำรุงแผ่นดินให้เรียบร้อยสำเรทธประโยชน์ทั่วถึงแลแน่นอนให้ดีขึ้นไปกว่าแต่ก่อน จึ่งทรงพระราชวิตกว่า ราชการต่าง ๆ ซึ่งสั่งด้วยบาทหมายแต่กรมวังให้สัสดีแลทลวงฟันเดินบอกตามหมู่ตามกรมต่าง ๆ นั้นก็ดี การที่บังคับให้นายอำเพอที่หมายเป่าประกาษแก่ราษฎรในกรุงก็ดี การที่มีท้องตราไปให้เจ้าเมืองกรมการหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือมีหมายให้กำนันรั้วแขวงอำเพอประกาษแก่ราษฎรในแขวงนั้น ๆ ก็ดี พระราชบัญญัติใหม่ ๆ ตั้งขึ้นเพื่อจะห้ามการที่ควรแลบังคับการที่มิควรก็ดี การเตือนสติในระฦกและถือพระราชกำหนดกฎหมายเก่าก็ดี ตั้งขึ้นแลเลิกทิ้งอากรภาษีต่าง ๆ แลพิกัดภาษีนั้น ๆ แลลดหย่อนลงฤๅเพิ่มขึ้นพิกัดของในภาษีนั้น ๆ ก็ดี การกะเกนแลขอแรงแลบอกบุญก็ดี ว่าโดยสั้นโดยย่อ เหตุใด ๆ การใด ๆ ที่ควรข้าราชการทั้งปวงฤๅราษฎรทั้งปวงจะพึงรู้ทั่วกันนั้น แต่ก่อนเปนแต่บาทหมายแลทำคำประกาษเขียนเส้นดินสอดำลงกระดาษส่งกันไปส่งกันมาแลให้ลอกต่อกันไปผิด ๆ ถูก ๆ แลก็เพราะฉบับหนังสือนั้นน้อย ผู้ที่จะได้อ่านก็น้อย ไม่รู้ทั่วถึงกันว่า การพระราชประสงค์แลประสงค์ของผู้ใหญ่ในแผ่นดินจะบังคับมาแลตกลงประการใด ข้าราชการทั้งปวงแลราษฎรทั้งปวงก็ไม่ทราบทั่วกัน ได้ยินแต่ว่า มีหมายเกนว่า ประกาษว่า บังคับมา เมื่อการนั้นเกี่ยวข้องกับตัวใคร ก็เปนแต่ถามกันต่อไป ผู้ที่จะได้อ่านต้นหมายต้นท้องตรานั้นน้อยตัว ถึงจะได้อ่านก็ไม่เข้าใจ เพราะราษฎรเมืองไทยผู้ที่รู้หนังสือนั้นน้อยกว่าผู้ที่ไม่รู้ คนไพร่ ๆ ในประเทศบ้านนอก หนังสือก็อ่านไม่ออก ดวงตราของขุนนางในตำแหน่งซึ่งจะบังคับราชการเรื่องไรจะเปนอย่างไรก็ไม่รู้จักดู สักแต่ว่า เห็นดวงตราที่ตีมาด้วยชาดแลเสนแดง ๆ แล้วก็กลัว ผู้ที่ถือมาว่ากะไรก็เชื่อหมด เพราะฉนั้น จึงมีคนโกง ๆ คด ๆ แต่งหนังสือเปนดังท้องตราแลบาทหมายอ้างรับสั่งวังหลวง แลวังน่า แลเจ้านาย แลเสนาบดี ที่เปนที่ราษฎรนับถือยำเยง แล้วก็ว่าการบังคับไปต่าง ๆ ตามใจตัวปราถนาด้วยการที่มิได้เปนธรรม แลทำให้ราษฎรเดือดร้อน แลเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน แลพระนามเจ้านาย แลชื่อของขุนนางไป เพราะฉนั้น บัดนี้ ทรงพระราชดำริห์จะบำบัดโทษต่าง ๆ ดังว่ามาแล้วนั้นทุกประการ จึงโปรดให้ตั้งการตีพิมพ์หนังสืออย่างหนึ่ง มีชื่อโดยภาษาสังษกฤษว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษา แปลว่า หนังสือเปนที่เพ่งดูราชกิจ มีตรารูปพระมหามงกุฎแลฉัตรกระหนาบสองข้างดวงใหญ่ตีในเส้นดำ กำกับตัวหนังสือนำน่าเปนอักษรตัวใหญ่ว่า ราชกิจจานุเบกษา อยู่เบื้องบนบันทัดทุกฉบับเปนสำคัญ แจกมาแก่คนต่าง ๆ ที่ควรจะรู้ทุกเดือนทุกปักษตั้งแต่เดือนห้า ปีมเมิย เปนปีที่แปดในราชกาลอันเปนประจุบันนี้ไป หนังสือในราชกิจจาบุเบกษานี้ คือ การใด ๆ ซึ่งได้มีในท้องบัฎใบตราแลบาทหมายแลประกาศด้วยหนังสือเขียนเส้นดินสอดำประทับตราตามตำแหน่งตามธรรมเนียมเก่านั้น ซึ่งได้แล้วไปในปักษนั้น ฤๅปักษที่ล่วงแล้วในเดือนนั้น ฤๅเดือนที่ล่วงแล้ว ก็จะเก็บเอามาว่าแต่ย่อ ๆ ในสิ่งซึ่งเปนสำคัญ เพื่อจะให้เปนพยานแก่ท้องบัฎใบตราแลบาทหมายคำประกาศซึ่งมีไปแล้วก่อนนั้น เพื่อจะให้คนที่ได้อ่านหนังสือก่อนเชื่อแท้แน่ใจไม่สงไสย ที่ไม่เข้าใจความ จะได้เข้าใจ ผู้ใดไม่รู้ความในหนังสือท้องบัฎใบตราบาทหมายก่อน ก็จะได้รู้ถนัด อนึ่ง ถ้าเหตุแลการในราชการแผ่นดินประการใด ๆ เกิดขน พระบาทสมเดจ์พระเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดีพร้อมกันบังคับไปอย่างไร บางทีก็จะเล่าความนั้นใส่มาในหนังสือราชกิจจานุเบกษานี้บ้าง เพื่อจะให้รู้ทั่วกัน มิให้เล่าฦๅผิด ๆ ไปต่าง ๆ ขาด ๆ เกิน ๆ เปนเหตุให้เสียราชการแลเสียพระเกียรติยศแผ่นดินได้ หนังสือราชกิจจานุเบกษานี้ เมื่อตกไปอยู่กับผู้ใด ขอให้เก็บไว้ อย่าให้ฉีกทำลายล้างเสีย เมื่อได้ฉบับอื่นต่อไป ก็ให้เย็บต่อ ๆ เข้าเปนสมุดเหมือนสมุดจีนสมุดฝรั่งตามลำดับตัวเลขที่หมายหนึ่งสองสามสี่ต่อ ๆ ไปซึ่งมีอยู่ทุกน่ากระดาษนั้นเถิด ขอให้มีหนังสือราชกิจจานุเบกษานี้เก็บไว้สำหรับจะได้ค้นดูข้อราชการต่าง ๆ ทุกหมู่ทุกกรมข้าราชการแลทุกหัวเมืองโดยประกาศนี้เทอญ

ประกาศมาณวันจันทร เดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมเมีย ยังเปนนพ เปนวันที่ ๒๔๙๖ ในราชกาลประจุบันนี้

ขุนปฏิพานพิจิตร
ขุนมหาสิทธิโวหาร
กรมพระอาลักษณ์ เป็นผู้รับสั่ง