ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา/เรื่องที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
เจดีย์ศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
เจดีย์ศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

คำจาฤกที่พระเจดีย์ศรีสองรักษ์เมืองด่านซ้าย

ว่าด้วยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กับพระไชยเชษฐา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุต ทำพิธีปักปันเขตรแดนกันเมื่อปีวอก โทศก จุลศักราช ๙๒๒ พ.ศ. ๒๑๐๓ สอบกับเรื่องราวในหนังสือพระราชพงษาวดารในเวลานั้น พระเจ้าหงษาวดีตะเบงชะเวตี้ได้ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาแล้วหลายปี เป็นเวลากรุงศรีอยุธยาว่างการสงครามเปนเวลากำลังพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองปราบปรามข้าศึกทางเมืองพม่ารามัญอีก ๓ ปี ต่อปีกุญ เบญจศก จุลศักราช ๙๒๕ พ.ศ. ๒๑๐๖ สมเด็จพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองจึงยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาคราวขอช้างเผือก

นมามิ รัตนัต์เตยยํ สัพสิทธิ์สวัสดี จักกล่าวตำนานศิลาเหล็ก พระยาธรรมมิกะราช ตั้งแต่ศุภมสันตุ(มหา)ศักราชอติเรกได้ ๑๔๘๒[1] โทศก ปีวอก อตีตะวรพุทธสาสนาตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่นิระพานไปแล้วได้ ๒๑๐๓ ปี จึงมีพระมหากระษัตราธิราชเจ้า ๒ พระองค์ ทรงนามกรชื่อว่าพระยาธรรมมิกราช ๑ ตน เปนอาชญในเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนะหุตมหานครบวรณราชธานี แต่นั้นยังมีพระมหากษัตริย์เอกองค์ ๑ ชื่อว่ามหาจักรวรติตถวรราชาธิราชตนเปนอาชญในเมืองกรุงศรีอโยธิยามหาดิลกนพรัตนบุรีศรีมหานครบวรณราชธานีบุรีเลิงรม[2] พรหมจารีศรีมหากระษัตริย์เจ้าทั้ง ๒ ก็จริงปองหิตะประโยชน์สบถต่อกัน

ครั้นตั้งคำต่อพระสาสนาพระตถาคตเจ้าเท่า ๕๐๐๐ พระวษา ก็จิงตั้งเมตาไมตรีจิตรคิดให้เปนประโยชน์แก่แผ่นดินทั้ง ๒ คือ คองผารบ[3] ในธรรมหนักหนา ก็จึงใช้ราชาอำมาตย์ไปถึงมหาอุปราชาเจ้าทั้ง ๒ ให้นำคองคระดี[4] ไมตรีทำปรมัถศุขเปนอันยิ่ง จิงพร้อมกันทั้ง ๒ กระษัตริย์ให้ไปนิมนต์เอาพระสงฆ์เจ้าตนทรงศีลอันบริสุทธิตนชื่อว่าพระมหาอุบาลีตน ๑ แล้วจิงนิมนต์พระอริยะกะสปตน ๑ แล้วจิงนิมนต์พระมหาธรรมเสนาปัติตน ๑ แล้วจิงนิมนต์พระพุทธวิลาศมหาเถรตน ๑ แล้วจึงนิมนต์พระธรรมรังษีมหาเถรตน ๑ แล้วจึงนิมนต์พระวิริยาธิกมุนีตน ๑ พระสงฆ์เจ้าทั้ง ๗[5] ตนนี้มีลูกษิษย์บัวรบัด[6] ๑๐ ตนซูตนแล

พระสงฆ์เจ้าอันอยู่ฝ่ายกรุงศรีอโยธิยาตน ๑ ชื่อว่า พระครูบรมจาริยะ ตน ๑ ชื่อว่า พระอริยะมุนี ตน ๑ มีพระศีลวิสุทธอุตมเปนเค้าเปนประธาน แลมีพระครูสุเมธารุจิวิญญา ตน ๑ มีมหาสธรรมมาตุลย ตน ๑ มีมหาพรหมสาล ตน ๑ มีมหาราชมุนี ตน ๑ แลพระสงฆ์เจ้า ๗ คนนี้มีลูกศิษย์บัวรบัด[6] ๑๐ ตนซูตนแล มหาอำมาตย์ฝ่ายกรุงศรีสัตนาคบุรี คือ องค์จันทประสิทธิราชภักดี หมื่นอุปนารีลูกเมีย พร้อมกันสำฤทธิ์ไมตรีรักแพงกันกับมหาอำมาตย์ฝ่ายกรุงศรีอโยธิยามหาดิลกนพรัตนมหานคร ก็พร้อมกัน ครั้นพระสงฆ์แลอำมาตย์ทั้ง ๒ ก็หมายมาชุมนุมกันในที่จะหล่อน้ำสัจจา พระสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิแลหลวงราชามหาอำมาตย์ก็เอาน้ำสัจะในกระออมแก้วแห่งมหากษัตริย์เจ้าทั้ง ๒ เจือกันเปนกระออมแก้วอันเดียวกัน แล้วจิงเอาน้ำในเมืองหงษาในกระออมทองแห่งพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ เจือกันเปนกระออมทองอันเดียวกัน แล้วจิงเอาน้ำกระพังจาในกระออมแห่งมหาอุปราชเจ้าทั้ง ๒ เจือกันเปนกระออมน้ำอันเดียวกัน แล้วจึงเอาน้ำในกระออมแก้วแล้วเอาน้ำในกระออมเงินแห่งมหาอำมาตย์ทั้ง ๒ เจือกันเปนกระออมเงินอันเดียวกัน แล้วให้อ่านสัตยาธิษฐานว่าดังนี้

สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้ากรุงศรีสัตนาค สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้ากรุงศรีอโยธิยามหาดิลก จิงมีพระราชวงษาสองพระองค์ จิงจา[7] กับนางให้เปนพระราชไมตรีโดยบุพประเวณีเพื่อจะสืบเชื้อ คือ สุริยวงษา และญาติวงษาพันธุมิตอุสารัมมาเพื่อจัดให้เป็นบรมศุขสวัสดี เปนประโยชน์แก่สมณพราหมณาจาริย์เจ้าชาวประชาราษฎรทั้งหลายกราบต่อเท่าถ้วนกัปอันนี้ เปนเค้าเปนประธานสาคดีในมหาปัตถพีคีรัตในห้อมห้วยภูเขาลกลสีลวํถ[8] ขอจงเปนเอกสิมาปริมณฑลอันเดียวกันเกลี้ยงกลมงามมณฑลเท่าพงษ์พันธุลูกเต้าหลานเหลนอย่าได้ชิงช่วงด่านแดนแสนหญ้า อย่าได้กระทำโลภเลี้ยวแก่กัน จนเท่าเสี้ยงพระอาทิตย์ พระจันทร์เจ้าตกลงมาอยู่เหนือแผ่นดินอันนี้เทอญ

ครั้นอ่านสัจอธิษฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว พระสงฆ์แลอำมาตย์ทั้ง ๒ ฝ่ายก็หลั่งน้ำสัจในมหาปัตถพี แม้นสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายกระษัตริย์ก็มีใจภิรมย์ชมชื่นยินดี มีเสน่หาไมตรีรักแพง[9] กัน เท่าเสี้ยงมหาปัตถพีพุทธันดรกัป ๑ แล้วบ่มิให้กระทำโลภเลี้ยวแก่กันเลย ตั้งแต่วันกระทำสร้างแปลงอุทิศเจดีย์ศรีมหาธาตุ ให้เปนเอกสิมาอันเดียวกันไว้ให้เปนหลักด่านตั้งแต่หลักด่านนี้ไปน้ำของ[10] แลไปน้ำน่าน[11] กึ่งกันนี้แล น้ำของแลน้ำน่านก็ปันแดนกัน โคกไม้ติดกันนี้แล แรกกระทำสร้างแปลงอุทิศเจดีย์ศรีสองรักษ์เจ้า สร้างปีวอก โทศก เถิงปีกุญ เบญศก[12] เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พ่ำว่า ได้จิตฤกษ์ราษี พระอาทิตย์สถิตย์สิงหริราช[13]มีพระมหาอุปราชเจ้าทั้ง ๒ พระยาพันหัวเมืองมันทมุขแสนหมื่นชุมนุมกันในอนาสันทสิมาสองรักษ ถึงเดือน ๖ เพ็ญวันพฤหัศบดี ก็เสี้ยงแล้วบรบวร พระพฤหัศบดีสถิตย์รื้อมังกรราษี พระอาทิตย์สถิตย์สิงหราษี[13] พระจันทร์สถิตย์ดุลราษี พระอังคารสถิตย์กุมภราษี พระพุฒสถิตย์เมษราษี พระพฤหัศบดี พระเสาร์ สถิตย์เมถุนราษี พระศุกร์สถิตย์มินราษี พระราหูสถิตย์มังกรราษี พระลักขณาสถิตย์เมถุนราษี พอเมื่อแล้ว จดนาฬิกาบาทสัญญา ๔ เล่ม[14] มีคณะสงฆ์มหานาคแลสงฆ์ฝ่ายกรุงศรีสัตนาค คือ สมเด็จพระสังฆราชาเปนเค้าเปนประธาน คือ พญาวัตตมหาสุวรรณคูหา ตน ๑ มหันตญาณวชิณะราษีสากยสงฆ์ทั้งหลาย แลพระมหาอุปราชราชศรีวิภักดี พระเวียงอรหัตตระญาน พญาพลเทศนายก เจ้าทิพมณฑา เจ้าศรียศสเถียร อันพญามหานามหมื่น ๓ แสน ๓ หมื่นเจ้าขุนหมื่นขุนแสนทั้งหลาย พระสงฆ์ฝ่ายกรุงศรีอโยธิยา คือ สมเด็จพระสังฆราชาธิปัติ พระสังฆ์นายก คือ พระอริยะกะสป คือ พระธรรมโคตมมุนี คือ พระอริยวงษา คือ พระมหานพภะมภาหุ คือ พระครูบรมจริยะ แลพระมหากระษัตริย์เจ้าทั้ง ๒ พระองค์ จิงปราถนาเปนพระยาพันธุมิต สมเด็จบพิตพระเจ้ากรุงพระนครศรีอโยธิยามหาดิลกกล่าวแต่อรรคชายาแก่พระรัตนบุตถธิราชเจ้า กรุงพระมหานคร คือ กรุงนาคนะหุต สืบสุริยพันธุพงษาวรรณวงษาธิราช สมเด็จพระกระษัตริย์ลี้ลาจากอันสันทสิมาในวันศุกร์ เดือน ๖ แรมค่ำ ๑ ก็แล้วนาฬิกา ๓ บาท เสด็จไปยังพระนครจันทบุรี คือ กรุงนาคนะหุตมหานครปฐมจธรรมสมันตา[15]


  1. จุลศักราช ๙๒๒
  2. ตามจารึกเขียนเป็น เลิงรม
  3. ข้อปรารภ
  4. ข้อคดี
  5. ในที่นี้มีรายนามพระเถระเพียง ๖ รูป
  6. 6.0 6.1 ปรนนิบัติ
  7. จึงพูด หรือ จึงตรัส
  8. เอกสีมํว
  9. รักใคร่
  10. แม่น้ำโขง
  11. แม่น้ำน่าน
  12. จุลศักราช ๙๒๕
  13. 13.0 13.1 "พระอาทิตย์สิงหราษี" นี้น่าจะไม่ถูกต้อง เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พระอาทิตย์สถิตย์ราษีพฤษภ จึงจะถูกต้องตามคัมภีร์สุริยยาตร์ และทางดาราศาสตร์ พระอาทิตย์จะอยู่ห่างจากดาวพระพุธ ดาวพระศุกร์ ถึง ๕ ราษีไม่ได้เป็นอันขาด
  14. ๔ เงาเท้า
  15. คัดจาก เทศาภิบาล เล่มที่ ๒๐ แผ่นที่ ๑๑๔ หน้า ๘–๑๑ ฉบับพิมพ์ปี ๒๔๕๘ พระยาอนุมานราชธนเสนอเพิ่มเติม