ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค 1/หมวด 5/เรื่อง 1

จาก วิกิซอร์ซ
เรื่อง 1 พระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445)
พระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพ
กับพระราชพงศาวดาร
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๑

เมื่อสิ้นแผ่นดินพระเพทราชาแล้ว ท่านผู้หญิงเดิม ซึ่งตั้งเปนพระมเหษีกลาง อันได้เปนผู้อุปถัมภ์บำรุงขุนหลวงเสือมา ออกไปอยู่ที่ตำหนักวัดดุสิต ซึ่งเปนตำหนีกเดิมของเจ้าแม่วัดดุสิตครั้งพระนารายน์ เห็นจะเปนจัดการเพื่อจะให้เหมือนครั้งพระนารายน์ ภายหลัง ตั้งให้เปนกรมพระเทพามาตย์

พระมเหษีขวา กรมหลวงโยธาทิพ พระมเหษีซ้าย กรมหลวงโยธาเทพ ออกไปตั้งตำหนักอยู่ริมวัดพุทไธสวรรย์ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๐๖๒ โสกันต์ตรัสน้อยที่ตำหนักนั้น เปนปีที่ ๓ แผ่นดินขุนหลวงเสือ ดูไม่เกี่ยวข้องอันใดในราชการตลอดทั้งแผ่นดิน

ขุนหลวงท้ายพระขึ้นเสวยราชย์ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๐๖๘

ปีเถาะ ตรีศก จุลศักราช ๑๐๗๓ กรมพระเทพามาตย์สวรรคต ดูการศพจะไม่สู้กระไรนัก เห็นจะไม่ได้เผาในเมือง

ปีมะแม สัปตศก ศักราช ๑๐๗๗ กรมหลวงโยธาทิพทิวงคต ทำการเมรุขื่อ ๕ วา ๒ ศอก สูง ๒๐ วา ๒ ศอก มีพระเมรุทอง ศพขึ้นรถ งาม ๗ วัน

ขุนหลวงบรมโกษฐ์ขึ้นเสวยราชย์ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๐๙๔ ราชาภิเศกในวังน่า แลเสด็จอยู่วังน่า ซึ่งไม่ได้เข้ามาอยู่วังหลวงนั้นคงจะเปนด้วยไม่ไว้ใจพวกวังหลวง กลัวจะยังไม่สิ้นเสี้ยนหนาม แลอีกประการหนึ่ง ดูก็เก๋ดีคล้ายพระนารายน์ สังเกตุดูแผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐชอบเล่นอย่างแบบบุราณมาก เช่น มหาดเล็กขี่คอไปสั่งราชการ เปนต้น แต่มีเหตุซึ่งจำให้ต้องเข้าไปอยู่วังหลวงเมื่อภายหลัง คือ ถูกเจ๊กเข้าปล้นวังเมื่อปีขาล ฉศก จึงได้ลงมือซ่อมปราสาท ฤๅปีมะโรง อัฐศก กรมหลวงอภัยนุชิตจึงได้มาสิ้นพระชนม์ที่พระปรัศในวังหลวงเมื่อวัน ๑๒ ค่ำ

กรมหลวงโยธาเทพสิ้นพระชนม์วัน ค่ำ ปีรกา สัปตศก ศักราช ๑๐๙๗ อยู่ในระหว่างเสด็จอยู่วังหน้า แต่ไม่มีปรากฎในพระราชพงศาวดาร

ข้อที่อ้างตัวอย่างพระบรมศพปีฉลู เบญจศก ๑๐๙๕ นั้น คือ พระบรมศพขุนหลวงท้ายสระ ซึ่งทำพระเมรุขนาดน้อย ขื่อ ๕ วา ๒ ศอก เท่าพระเมรุกรมหลวงโยธาทิพ แต่พระเมรุทั้ง ๒ คราวนี้คงจะเปนงาน ๓ วัน ๔ วันทั้งเก็บพระอัฐิ ฤๅ ๕ วันทั้งฉันสามหาบเปล่า ๆ อย่างเดียวกัน ด้วยในขณะนั้น เจ้าแผ่นดินดูกลัวแถบข้างวังหลวงมาก จะเสด็จออกจากวังเสมอน่าจักรวรรดิ ก็ต้องรีบกลับ อยู่ได้เพียงชั่วโมงหนึ่งเป็นอย่างช้า แลข้าราชการก็ร่วงโรยเบาบาง เพราะฆ่ากันมาเสียหลายแผ่นดินแล้ว

แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ฆ่าขุนนางเก่าครั้งแผ่นดินเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์

แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ฆ่าขุนนางพวกพระเชษฐา แต่เห็นจะน้อย

แผ่นดินพระนารายน์ ฆ่าขุนนางที่เปนพวกเจ้าฟ้าไชยและพระศรีสุธรรมราชา เห็นจะเกือบหมด เปลี่ยนใหม่ทั้งสำรับ

แผ่นดินพระเพทราชา ฆ่าขุนนางแผ่นดินพระนารายน์หย่อยมาจนถึงไปตีนครราชสิมา เห็นจะเรียกว่า เกือบหมดได้

แผ่นดินขุนหลวงเสือ เห็นจะฆ่ามาก เพราะคนนิยมเจ้าพระขวัญฤๅพวกเจ้าพระพิไชยสุรินทร์จะเปนขุนนางอยู่ไม่ได้

แผ่นดินขุนหลวงท้ายสระ เคราะห์ดี ไม่ต้องฆ่าใคร แต่ขุนนางแผ่นดินขุนหลวงเสือ เห็นจะมีน้อย เพราะอยู่ในราชสมบัติน้อย ตั้งไม่ทันเต็มที่

แผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ ชาววังหลวงเห็นจะตายเกือบหมด แต่สมุหนายกยังถอดเปนพระยาราชนายก ซึ่งนับว่า เปนคนออกหน้าค่าชื่ออยู่คนเดียว เพราะฉนั้น ขุนนางตามในจดหมายตำรานี้จึงได้ร่องแร่ง เพราะแรกเสวยราชย์ หาคนตั้งไม่ทัน ฤๅตั้งผู้ใดขึ้นก็ไม่รู้ตำราเก่าเลยทั้งสิ้น

คิดดูในระหว่าง ๙๐ ปี ฆ่าเททิ้งกันเสียถึง ๗ ครั้ง เกือบปน ๑๓ ปีฆ่ากันครั้งหนึ่ง ฤๅถ้ารอดตาย ก็กลายเปนไพร่หลวงแลตะพุ่นหญ้าช้าง ถ้าจะนับพวกที่ไม่ตาย ก็ต้องว่า ผู้ดีกลายเปนไพร่ ๆ กลายเปนผู้ดีถึง ๗ ครั้งใน ๙๐ ปีนั้น ฯ[1]


  1. จากเรื่อง เรื่องสมเด็จพระบรมศพ จดหมายเหตุงานพระเมรุครั้งกรุงเก่า ฉบับพิมพ์ปี ๒๔๕๙ หน้า ๑–๓