ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 18/เรื่องที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ
เรื่องราวเจ้าพระยาวิชาเยนทร์

แปลจากหนังสือเรื่องอังกฤษมาเกี่ยวข้องกับกรุงสยามครั้งโบราณ ที่ได้รวบรวมหนังสือที่คนในครั้งนั้นแต่ง ซึ่งยังรักษาไว้ในศาลากลางเมืองอินเดียบ้าง ตีพิมพ์ขึ้นไว้เปนเล่มบ้าง

เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ นามเดิม คอนสะแตนต์ฟอลกอน นั้น เปนคนเคราะห์ดี ในไม่ช้าได้มีบุญวาศนาบารมีเปนอรรคมหาเสนาบดีในกรุงสยาม ได้มีหนังสือไปมากับพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ได้รับพระราชสาส์นตอบตรัสเรียกฟอลกอนนั้นว่า "สหายที่รัก" แลได้ส่งบรรณาการไปมาถวายพระเจ้าเยมส์ที่ ๒ ราคาราว ๖๐๐ ชั่งโดยสมัค เมื่อพิจารณาถึงเกียรติยศอย่างสูงของท่านแล้ว ก็เปนพยานให้เห็นการที่ฝรั่งได้เปนใหญ่กว่าเจ้าของเมือง

มีหนังสือได้ตีพิมพ์เล่าถึงเรื่องวงศ์ตระกูลของฟอลกอนนั้นเปนอันมากต่างแผกเพี้ยนกัน บ้างก็ว่า ท่านเปนเทือกเถาเหล่ากอชาติกรีก ชาติเยนัว แลชาวเวนิศ แต่ถึงมาทว่า บิดามารดาของท่านจะเปนเทือกเถาเหล่ากอชาติไหนก็ตามเถิด เปนแต่รู้แน่ได้ว่า ตัวของท่านได้เกิดที่หมู่บ้านคัสโตด ในเกาะเชฟโลเนียร ในปีคฤศตศักราช ๑๖๔๐ ฤๅจุลศักราช ๑๐๑๒ เปนบุตรนายโรงเข้าแกงย่อม ๆ ท่านทิ้งบ้านอาไศรยไปในเรือกำปั่นใบอังกฤษเมื่ออายุท่านได้ ๑๐ ขวบ แลปรากฎว่า อยู่ในอิงแคลนด์จนปีคฤศตศักราช ๑๖๗๐ ฤๅจุลศักราช ๑๐๓๒ เมื่อท่านมายังประเทศแถบตวันออกนี้ ท่านเปนบ่าวสำหรับวิ่งเต้นรับใช้สอยในเรือกำปั่นใบของยอชไวต์ ๆ เที่ยวค้าขายอยู่ห้าปีในระหว่างแหลมโกโรแมนเดล แลอ่าวเปอเซียน ในเวลานั้น ก็ดูเหมือนฟอลกอนจะยังคงรับใช้อยู่กับยอชไวต์ด้วย แลในปีคฤศตศักราช ๑๖๗๕ ฤๅจุลศักราช ๑๐๓๗ ได้เข้ามายังกรุงศรีอยุทธยากับยอชไวต์ด้วย แลได้ช่วยทำการค้าขายเปนนายห้างของไวต์ โดยอุบายนี้แล ฟอลกอนจึงค่อยสามารถที่จะเขม็ดแขม่เงินไว้ได้บ้าง ก่อนที่ไวต์ไปจากกรุงศรีอยุทธยานั้น ฟอลกอนเก็บรวบรวมเงินของตนไว้ได้พอซื้อเรือชื่อ เมรี ได้ลำหนึ่ง แลรู้วิชาวิธีเดินเรือแลคุ้นเคยชำนิชำนาญในการที่ตนได้เคยเดินเรือกับไวต์มาแต่ก่อนบ้าง ท่านก็เปนนายเรือของท่านเองแล่นออกทเล แต่ถูกคลื่นลมจัดซัดกลับเข้ามาเสีย แลถูกคลื่นลมปัดกลับเข้ามายังปากน้ำถึงสองครั้ง แต่มิได้มีอันตรายอย่างใด ฟอลกอนมานะแล่นเรือฝ่าคลื่นฝืนลมออกไปในทเลอิกครั้งหนึ่ง ถูกเรือแตกอับปางลงในคราวที่สาม แต่ยังอุสาหพยายามรักษาเงินไว้รอดได้จากฉิบหายในคราวเรือแตกนั้น ๒๐๐๐ เหรียญ การครั้งนี้เปนเคราะห์ร้ายจวนแจแก่ฟอลกอนทีเดียว ต้องทนลำบากยากเย็น ไหนจะระวังตัวระวังทรัพย์ ทั้งเหน็ดเหนื่อยอ่อนเปลี้ยก็แสนแล้ว ท่านล้มหลับอยู่บนฝั่งทเล วันหนึ่ง แลนิมิตรฝันว่า ท่านได้เห็นคนผู้หนึ่ง ท่าทางอย่างมหากระษัตริย์ เสด็จมาประทับทอดพระเนตรดูตัวท่าน แสดงพระอาการยิ้มแย้ม ออกพระโอษฐตรัสว่า "กลับไป กลับไปยังที่ ๆ เจ้ามา" คำนี้แลทำให้ซึมซาบหัวใจฟอลกอนอยู่มิรู้ลืม ท่านมิได้หยุดที่จะคิดถึงความฝัน จนท่านคิดที่จะจำหน่ายเงินของท่าน ๒๐๐๐ เหรียญหาซื้อเรือกำปั่นที่จะพาท่านกลับมายังกรุงสยามได้ ณวันรุ่งขึ้นกำลังท่านเดินอยู่ตามฝั่งทเล ท่านแลไปเห็นคนผู้หนึ่งเดินตรงเข้ามาหาท่าน ผ้าผ่อนเปียกน้ำหมด มอลอมอแก ทั้งหน้าตาก็ซีดเศร้าสลด การข้อนี้แลทำให้เห็นชัดได้ว่า คงจะเปนคนถูกเรือแตกเหมือนตัวท่านเข้าอิก แต่คงไม่ใช่คนอื่นไกลนอกจากราชทูตของพระมหากระษัตริย์กรุงสยามผู้ถูกเรือแตกเมื่อขากลับมาจากเมืองเปอเซีย เพราะฟอลกอนพูดภาษาไทยได้ ท่านก็พูดจาไถ่ถามคนผู้นั้นด้วยภาษาอันเปนลิ้นของเขา จึงได้ทราบความยากเข็ญของท่านราชทูตผู้นั้น ฟอลกอนจึงชวนให้ราชทูตกลับไปกรุงสยามพร้อมกับตัวท่านโดยเรือที่ท่านตั้งใจจะซื้อใหม่ ท่านราชทูตสยามเห็นด้วยโดยขอบอกขอบใจเปนล้นพ้น เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ท่านราชทูตก็พาฟอลกอนไปหาเจ้าพระยาพระคลัง แลได้กล่าวคำสรรเสริญคุณความดีของฟอลกอนมาก ตั้งแต่นั้นมา ฟอลกอนก็ฝากตัวรับใช้สอยพระยาพระคลังต่อมา จนเปนที่รักใคร่ไว้ใจอย่างสนิทสนมแลชมเชยเอาไว้ใช้สอยการในกรมของท่าน ภายหลัง ได้อุดหนุนให้ฟอลกอนได้เปนเจ้ากรมพระคลังสินค้าของพระมหากระษัตริย์ ได้รับผิดชอบในน่าที่ราชการตำแหน่งนี้มาไม่ทันนาน ก็เปนคั่นศิลาที่จะก้าวขึ้นไปยังอำนาจสำคัญในทางราชการ ซึ่งท่านพยายามยกตัวของท่านขึ้นเชิดชูได้โดยความประพฤติบากบั่น เมื่อกำลังรับราชการอยู่ในตำแหน่งนี้ ท่านทำการค้าขายสำหรับตัวท่านเองด้วยเหมือนทำการสนองพระเดชพระคุณในราชการของพระมหากระษัตริย์ ฉนั้น ทำไม่รู้ไม่เห็นเรื่องที่พวกบริษัทอินเดียทิศตวันออกเอื้อมคิดทำการโดยเห็นแก่ตัวเปนประมาณ คิดแต่จะรวบรัดทำการค้าขายในทิศตวันออกเสียพวกเดียว ในอุบายเช่นนี้ ท่านกล้าทำได้ ด้วยได้เคยรับคำสั่งสอนของยอชไวต์ซึ่งเปนศัตรูตัวสำคัญของบริษัทนั้น ผลของการที่ทำนี้ทำให้พวกบริษัทแค้นเคืองเหมาว่า ท่านเปนคนอวดดีตั้งตนขึ้นด้วยถูกโชคเหมาะ แลเที่ยวประจานลำเลิกว่า ท่านได้เคย เปนบ่าวสำหรับรับใช้ในห้องเรือของยอชไวต์ ฤทธิ์ที่ทำการพลาดพลั้งกลับเปนช่องหาชื่อเสียงได้มิใช่เพราะเปนการคดโกง ไวต์เปนผู้มีความรู้ในเรื่องการค้าขายในประเทศทิศตวันออก ความเห็นอันเปนที่พอใจของไวต์นั้น คือ ชอบหัวข้อการที่ปล่อยให้ค้าขายเปนอิศร ซึ่งสมควรจะต้องอุดหนุนแลลงมือกระทำวิธีนี้ ได้ศึกษาจับสันดานฦกซึ้งมาจากหัวใจของชาวกรีก ฟอลกอนได้รับราชการตำแหน่งที่เจ้ากรมพระคลังสินค้ามาได้อย่างดี เปนที่พอพระไทยพระมหากระษัตริย์ จนเมื่อเจ้าพระยาพระคลังถึงแก่พิราไลยในปีคฤสตศักราช ๑๖๘๓ ฤๅจุลศักราช ๑๐–๔๕ พระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะใคร่ยกย่องฟอลกอน (ซึ่งเปนพระวิชาเยนทร์) ให้มีเกียรติยศเปนเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีว่าการต่างประเทศ แต่ฟอลกอนไม่เต็มใจรับพระราชทานเกียรติยศ ด้วยท่านกลัวว่า ถ้าแม้นท่านขืนรับตำแหน่งสำคัญขึ้น ตัวท่านจะเปนผู้จุดให้ความอิจฉาแลเกลียดชังของขุนนางทั้งหลายลุกลามรุมเผาเอาตัวท่านผู้เดียว แต่ถึงจะอย่างไรต่อ ๆ มา ท่านก็เลยหมดความกลัวเกรง พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเลือกตั้งแต่งให้เปนเจ้าพระยาว่าราชการตำแหน่งพระคลังต่างพระเนตรพระกรรณ ทั้งเปนสมุหนายกอรรคมหาเสนาบดีว่าการหัวเมืองฝ่ายเหนือรวมทั้งเมืองตะนาวศรีด้วย เมื่อท่านได้รับราชการในตำแหน่งสูงสุดเช่นนี้ พวกบริษัทอินเดียทิศตวันออกเขาพากันพูดถึงท่านว่า "ท่านอรรคมหาเสนาบดีของพระมหากระษัตริย์กรุงสยาม" ตามคำที่พวกบริษัทอินเดียทิศตวันออกเขาว่านั้น กล่าวกันว่า ฟอลกอนได้ออกไปยังเมืองอินเดีย เปนนายครัวเรือของบริษัทลำหนึ่ง เรือลำนั้นชื่อ โฮปเวล แลฟรานซิสเดเวนปอตได้ไปกับท่านด้วย ยอชไวต์นั้นว่า ถ้าไม่เปนกับตัน ก็คงเปนนายดูแลสินค้าเท่านั้น

มีเรื่องราวที่ได้พรรณาถึงอาการกิริยาอัธยาไศรยของฟอลกอนเปนอันมาก ผู้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งก็ว่า ฟอลกอน ฤๅเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เปนคนหละหลวม ปลิ้นปล้อน เจ้าเล่ห์เพโทบาย แลเปนคนกลับกลอกโกงปลิ้นปล้อน ทำอะไรก็ชุ่ย ๆ ใจง่าย ยอมทำทุกอย่างไม่เลือกดีเลือกชั่ว แลลิ้นตวัดง่าย ๆ เที่ยวยุแหย่ข่มเหงก่อโพยไภยมาก แลเพราะเปนคนนิไสยไม่ร้อนรี้ร้อนรนที่จะแสวงทางซึ่งเปนที่สุดของตนโดยอุบายที่ชอบที่สุจริตอันเปนที่เย็น แต่ถึงจะถูกติเตียนปานใดแล้ว ก็ยังต้องยอมว่า ตัวฟอลกอนเปนคนมีสติปัญญา สามารถที่จะกลับให้เปนอย่างไรก็เปนได้ คำพรรณาถึงฟอลกอนที่ผิดกันตรงกับฉบับนี้ก็ยังมีอิกโดยหนังสือของฝรั่งชื่อ กิมป์เฟอ ผู้ซึ่งได้มาเยี่ยมเยียนกรุงศรีอยุทธยาสองปีภายหลังเมื่อท่านฟอลกอนถึงแก่กรรมแล้ว ถูกเวลาเมื่อความฤษยาในการที่ท่านทำราชการตั้งตัวได้สำเร็จดีซึ่งระดมกันรุมล้อมอยู่รอบทุกด้านในขณะยังมีชีวิตอยู่เสื่อมสูญไปเสียหมดแล้ว ยังคงเหลืออยู่แต่ส่วนความดีของท่านอย่างเดียวนั้น กิมป์เฟอพรรณาถึงฟอลกอนว่า ท่านเปนคนมีความรู้ เข้าใจการงานมาก กิริยาอัธยาไศรยก็น่าสรรเสริญ แลเฉลียวฉลาดในโวหารในเชิงพูดจา ถึงมาทว่า ท่านจำเริญขึ้นด้วยมิได้ศึกษาก็จริงอยู่แล แต่ทว่า ท่านได้เปลืองชีวิตรตอนหนุ่มของท่านอยู่ในทเลระหว่างมนุษย์ชาติต่าง ๆ แต่อยู่ในพวกอังกฤษมากนั้น ท่านรู้ภาษาต่าง ๆ หลายชาติ อนึ่ง ท่านเปนคนมีสติปัญญาสามารถยวดยิ่ง แลคงเปนคนรู้ประหยัดบังคับความประพฤติตนสรรแต่ที่ดีได้โดยไม่ต้องสงไสย เพราะอาจที่จะประคองตัวตั้งแต่ยังแสนขัดสนเปนบ่าวสำหรับช่วงใช้ในห้องเรือ แลภายหลัง เปนพ่อครัวในเรือกำปั่นค้าขาย จนยกตัวของตัวเองเชิดชูขึ้นเปนถึงอรรคมหาเสนาบดีในเมืองต่างประเทศแปลกจากชาติของตัวเอง ได้แหวกว่ายกระแสฤษยากีดกันของข้าราชการในราชสำนักต่างประเทศได้โดยสดวก การที่จะได้มีวาศนาบันดาศักดิ์ในตำแหน่งสูงถึงเพียงนี้นั้น ฟอลกอนคงต้องพากเพียรพยายามโดยความมานะอุสาหเปนอย่างยวดยิ่ง แลยังต้องประกอบด้วยความทเยอทยานแลเชื่ออำนาจของตนเองอย่างอึกทึกด้วย นั่นแล บางทีถูกโชคเหมาะ จึ่งจะได้สมมุ่งมาดปราถนา ความสามารถจัดการของท่าน แลความพยายามในการทำการค้าขายส่วนในตัวของท่าน แข่งขันประชันแย้งต่อผลประโยชน์ของบริษัทใหญ่ ๆ อันมีอำนาจแลกำลังมากก็ถึงสองบริษัท เหมือนเช่นบริษัทอินเดียทิศตวันออกแลบริษัทอินเดียทิศตวันออกชาติวิลันดา หะแรก ก็ทำให้เขาพากันเพ่งตาเขม็งอยู่แล้ว แลยังการที่สำเร็จเปนประโยชน์แก่ท่านขึ้นเพียงไร ทำให้เปนที่เสียผลประโยชน์ของบริษัทลงเพียงนั้น ๆ ไม่ต้องสงไสยเลยคงต้องเปนเหตุให้บริษัททั้งสองรายนี้ตั้งฤษยาอย่างร้ายแรงแลเกลียดชังอาฆาฏท่านไม่มีที่สุด ยังส่วนการที่ท่านรับราชการของพระมหากระษัตริย์ก็อิกเรื่องหนึ่ง ยิ่งทำให้เปนข้อแค้นเคืองมุ่งร้ายหมายขวัญของพวกบริษัทเหล่านั้นหนักมือขึ้น แลเมื่อบริษัทฝรั่งเศสมาปรากฎขึ้นในพระนครศรีอยุทธยา ข้างท่านฟอลกอนก็นิยมชมชื่นคิดที่จะอุดหนุนเกื้อกูลประโยชน์ของฝรั่งเศส การค้าขายของบริษัทอินเดียทิศตวันออกแลวิลันดาที่หยั่งลงฦกเสียแล้วในทีแรกยากที่จะเพิกถอนได้ แต่ก็ยังไม่มีความเย่อหยิ่งในความคิดของบริษัทพวกนั้น ซึ่งจะนึกว่า ท่านไม่สามารถจะทำแก่พวกตนได้ เมื่อฟอลกอนได้เปนสมุหนายกอรรคมหาเสนาบดีขึ้น ความยากลำบากในตำแหน่งของท่านก็ทวีขึ้น เพราะว่า พระมหากระษัตริย์ของท่านเปนพ่อค้าใหญ่ในพระราชอาณาจักรของพระองค์เอง บรรดาการซื้อขายทั้งปวงต้องให้กระทำต่อนายห้างหลวงฤๅกรมพระคลังสินค้า แลทั้งฟอลกอนตกหนักเปนเป้าที่จะคิดอ่านการค้าขายของพระมหากระษัตริย์ จะควรแบ่งปันแจกให้ในจำพวกชาติต่าง ๆ ผู้ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารฉันใดดี ตัวท่านต้องเปนผู้รับความเกลียดชังจากพ่อค้าทั้งปวงบรรดาที่คิดว่า ความประสงค์ขอร้องของตัวมิได้รับจากฟอลกอนสมควรที่ตนจะพึงได้อนุเคราะห์ แลท่านฟอลกอนยังได้สั่งสมความคิดของท่านต่างออกไปอิก คือ ใช้อุบายอยากจะให้ฝรั่งเศสได้เปนใหญ่กว่าอำนาจฝรั่งอื่น ๆ บรรดาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในพระราชอาณาจักร เพราะการที่ฟอลกอนคิดมิชอบเองเช่นนี้จริงด้วย จึงยิ่งทำให้เจ็บร้อนพลุ่งพลั่งขึ้นในหัวอกชาวอังกฤษแลวิลันดา ท่านฟอลกอนเกิดเห็นชอบยึดเอาอุบายนี้ตามความปราถนาของพวกบาดหลวงเยซูอิต การข้อนี้แลเปนข้ออ่อนแอของท่าน แต่สติปัญญาความวินิจฉัยของท่าน ดูเหมือนตัวท่านเองจะเห็นว่า จะถูกต้องตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ด้วยเห็นทรงยกย่องพระราชอาณาจักรสยามโดยจะคิดทรงอุดหนุนผิดกว่าชาติอื่น ๆ โดยพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงพระปราถนาเพื่อจะเพิ่มภูลเฉลิมพระเกียรติยศพระพุทธเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุทธยา ในการส่งราชทูตแลเครื่องมงคลราชบรรณาการเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีถึงพระราชสำนัก เปนวิธีที่รู้อย่างใหม่ขึ้นแก่กรุงสยามในการที่จะคบค้าสมาคมกับอำนาจในประเทศยุโรป ๚