ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมโคลงโลกนิติ/คำชี้แจง

จาก วิกิซอร์ซ
คำชี้แจงการจัดทำหนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ





ขอบเขตการดำเนินงาน


คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พบว่า หนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ และหนังสือ โคลงโลกนิติ ซึ่งจัดพิมพ์ในครั้งต่าง ๆ ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ทั้งคาถาและโคลงจำนวนมากมีความคลาดเคลื่อนกันในบางฉบับพิมพ์ จนไม่สามารถยึดฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นแบบเพื่อนำมาพิมพ์ซ้ำได้ คณะกรรมการฯ จึงได้จัดทำ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ และจัดพิมพ์โลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ขึ้นมาใหม่ โดยตรวจสอบคาถาและคำที่ใช้แตกต่างกันในโคลงแต่ละบทจากหนังสือหลาย ๆ ฉบับ แก้ไขอักขรวิธีเท่าที่จำเป็น บันทึกคำที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญไว้ที่เชิงอรรถ จัดทำคำอธิบายศัพท์ตามความหมายในบริบทของโคลงนั้น ๆ และจัดทำดรรชนีค้นโคลงเพื่อสะดวกในการค้นหา


วิธีดำเนินการตรวจสอบและจัดทำคำอธิบายศัพท์


กำหนดขั้นตอนดังนี้

๑. การตรวจสอบคาถาและโคลง มอบให้นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง เป็นผู้ตรวจสอบ

๒. การจัดทำคำอธิบายศัพท์ มอบให้นางสาวสุปัญญา ชมจินดา นางสาวกระลำภักษ์ แพรกทอง นางสาวจงกลนี มณฑาทิพย์ เป็นผู้จัดทำ และนางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง เป็นผู้ตรวจสอบในเบื้องต้น

๓. การตรวจสอบรับรองคาถา โคลง และคำอธิบายศัพท์ มอบให้คณะทำงานเฉพาะกิจเป็นผู้ดำเนินการ คณะทำงานนี้ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิพุธ โสภวงศ์ ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี นายจุลทัศน์ พยาฆรานนท์ นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง และนางบุษบา ประภาสพงศ์ ร่วมเป็นคณะทำงาน


หนังสือสือที่ใช้เป็นหลักในการตรวจสอบ และคำย่อที่ใช้อ้างอิง


๑. ต้นฉบับหลัก

๑. ๑.๑ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าสมรศรีโสภา เทวกุล ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๙ (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์, ๒๕๓๙) คำย่อว่า กรมศิลปากร (๒๕๓๙)

๑. ๑.๒ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ (โรงพมพ์อักษรนิติ, ๒๔๖๐) คำย่อว่า วชิรญาณ (๒๔๖๐)

๑. ๑.๓ หนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้เลือกใช้สามเล่ม คือ

๑. ๑.๓ ๑.๓.๑ หนังสือ สอนอ่าน จิตกระวีนิพนธ์ กรมศึกษาธิการ เรื่อง สุภาษิตโลกนิติ์คำโคลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ทรงชำระของเก่า พิมพ์ครั้งที่ ๒ [โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐)]

๑. ๑.๓ ๑.๓.๒ หนังสือ สอนอ่าน กวีนิพนธ์ สำหรับประถมศึกษา กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง สุภาษิตโลกนิติ์คำโคลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระของเก่า พิมพ์ครั้งที ๔ (โรงพิมพ์อักษรนิติ, พ.ศ. ๒๔๖๕)

๑. ๑.๓ ๑.๓.๓ หนังสือ สอนอ่าน กวีนิพนธ์ เรื่อง สุภาษิตโลกนิติคำโคลง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระของเก่า พิมพ์ครั้งที่ ๕ (โรงพิมพ์อักษรนิติ, พ.ศ. ๒๔๗๕)

๑. ๑.๓ โดยที่หนังสือทั้งสามเล่มนี้เป็นฉบับพิมพ์ซ้ำกัน ต่างกันที่หน่วยราชการผู้จัดพิมพ์ซึ่งเปลี่ยนชื่อไปตามการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมในแต่ละสมัย คำย่อจึงใช้ว่า สอนอ่าน (ร.ศ. ๑๒๖) หรือ สอนอ่าน (๒๔๖๕) หรือ สอนอ่าน (๒๔๗๕) หรือหากปรากฏซ้ำกันในทั้งสามเล่มก็ใช้ว่า สอนอ่าน (ร.ศ. ๑๒๖, ๒๔๖๕, ๒๔๗๕)

๑. ๑.๔ ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (โรงพิมพ์ศิวพร, ๒๕๑๗) คำย่อว่า วัดพระเชตุพน (๒๕๑๗)


๒. ต้นฉบับรอง

๒. ๒.๑ โคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา ของศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ซึ่งหนังสือเล่มนี้ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ใช้โคลงโลกนิติจากต้นฉบับเอกสารสมุดไทยมาตรวจสอบกับเอกสารอื่น ๆ เล่มที่นำมาใช้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ (สำนักพิมพ์แม่คำผาง, ๒๕๓๘) คำย่อว่า นิยะดา (๒๕๓๘)

๒. ๒.๒ โคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๙๐) คำย่อว่า กรมศิลปากร (๒๔๙๐)


๓. คัมภีร์ที่ใช้ตรวจสอบคาถา

๓. ๓.๑ ธรรมนีติ-ราชนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๕) คำย่อว่า ธรรมนีติ ร. และ ราชนีติ ร.

๓. ๓.๒ พระธรรมบทจตุรพากย์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (บริษัทเพื่อนเพิมพ์ จำกัด, ๒๕๓๐) คำย่อว่า พระธรรมบท ร.

๓. ๓.๓ โลกนิติปกรณ์ ของร้อยตำรวจโท แสง มนวิทูร (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์, ๒๕๑๗) คำย่อว่า โลกนิติปกรณ์ ส.

๓. ๓.๔ โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙) คำย่อว่า โลกนีติ ร. และ สุตวัฑฒนนีติ ร.

๓. ๓.๕ โลกนีติไตรพากย์ หรือ โลกนีติคารม (โรงพิมพ์ไท, ๒๔๖๑) คำย่อว่า ไตรพากย์ (๒๔๖๑)


เกณฑ์การพิจารณาตรวจสอบคาถา


๑. กรณีที่ต้นฉบับเดิมไม่มีคาถา

๑. ๑.๑ เมื่อสืบค้นพบคาถาอื่นที่มีความหมายตรงกับโคลงอย่างครบถ้วน ก็จะนำคาถานั้น ๆ มาใส่ไว้เหนือโคลงพร้อมกับระบุที่มาของคาถา แล้วทำเชิงอรรถว่า "เดิมไม่มีคาถา"

๑. ๑.๒ เมื่อสืบค้นพบคาถาในคัมภีร์เล่มอื่น ๆ มากกว่าหนึ่งแห่ง โดยมีความแผกเพี้ยนกันในถ้อยคำ แต่ความหมายเดียวกัน คณะกรรมการจะถือเอาคาถาจาก โลกนีติ ร. เป็นหลัก แล้วระบุคาถาที่ปรากฏในคัมภีร์อื่น ๆ ไว้ที่เชิงอรรถ แต่ถ้าไม่ปรากฏคาถาจาก โลกนีติ ร. ก็จะเลือกคาถาบทซึ่งมีความหมายตรงมากที่สุดใส่ไว้เหนือโคลง แล้วพิมพ์คาถาจากคัมภีร์อื่น ๆ ไว้ที่เชิงอรรถ

๑. ๑.๓ ในกรณีที่ไม่มีคาถา แต่สืบค้นพบคาถาในคัมภีร์อื่น ๆ ซึ่งมีแนวคิดเป็นทำนองเดียวกับโคลง แต่รายละเอียดต่างกัน ก็จะใส่คาถาที่พบใหม่นี้ไว้ที่เชิงอรรถ


๒. กรณีที่ต้นฉบับเดิมมีคาถา แต่ไม่ปรากฏที่มาของคาถา

๒. ๒.๑ เมื่อสืบค้นไม่ได้ ก็จะบอกไว้ท้ายคาถาว่า "ไม่ปรากฏที่มา"

๒. ๒.๒ ถ้าเดิมมีคาถา แต่ไม่ปรากฏที่มา และสืบค้นได้จากแหล่งอื่น ๆ ก็จะระบุที่มาดังกล่าวไว้ท้ายคาถา แล้วทำเชิงอรรถว่า "เดิมไม่ปรากฏที่มา"

๒. ๒.๑ ๒.๒.๑ ถ้าคาถาตรงหรือเหมือนกันทั้งหมดในคัมภีร์หลายฉบับ ก็จะใส่ชื่อคัมภีร์ทุกฉบับไว้ที่ท้ายคาถา

๒. ๒.๑ ๒.๒.๒ ถ้าคาถาเหมือนกันเกือบทั้งหมด แต่มีรายละเอียดต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ คือ

๒. ๒.๑ ๒.๒.๒ ก. ใช้ตัวสะกดต่างกัน คำต่างกัน จะถือตามคัมภีร์ฉบับที่ราชบัณฑิตยสถานชำระ แล้วใส่ข้อแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ปรากฏในคาถาฉบับเดิมไว้ที่เชิงอรรถ

๒. ๒.๑ ๒.๒.๒ ข. ใช้คำต่างกันในความหมายเดียวกัน เช่น มกฺกฏ/มรฺกฏ = ลิง จะรักษาคำเดิมในต้นฉบับ (กรมศิลปากร ๒๕๓๙) ไว้ แล้วนำคำที่ต่างกันใส่ไว้ในเชิงอรรถ เว้นแต่เมื่อต้นฉบับไม่ถูกต้อง ก็จะเลือกคำที่ถูกต้องจากคัมภีร์อื่น ๆ มาใช้แทน


๓. กรณีที่ต้นฉบับมีคาถาและระบุที่มาของคาถา

๓. ๓.๑ ถ้าต้นฉบับระบุที่มาด้วยชื่อสั้น ๆ ก็จะคงชื่อเดิมไว้ แล้วใส่ชื่อคัมภีร์เดียวกันซึ่งราชบัณฑิตยสถานชำระใหม่ หรือที่คณะกรรมการฯ ตรวจสอบพบ ไว้ที่เชิงอรรถ

๓. ๓.๒ ถ้าสอบค้นพบคาถาเดียวกันนั้นในหลาย ๆ คัมภีร์ และคาถาต่างกันเล็กน้อย เช่น ตัวสะกดต่างกัน หรือใช้คำต่างกันในความหมายเดียวกัน (เช่น สินธุ/อุทก) ก็จะใส่คาถาเดิมไว้ข้างบน และชี้ความแตกต่างไว้ในเชิงอรรถ


ข้อสังเกตในการตรวจสอบคาถาและโคลง


๑. ประชุมโคลงโลกนิติ คือ การนำโคลงสำนวนต่าง ๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกันมารวมกันเป็นชุด ให้ลำดับหมายเลขเรียงกันไป หมายเลขหนึ่ง ๆ อาจมีโคลงบทเดียวหรือมากถึงสี่ห้าบทก็ได้ แล้วมีคาถาภาษิตประจำโคลงแต่ละหมายเลขกำกับไว้ ในการตรวจสอบ คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับความลักลั่นคลาดเคลื่อนของโคลงดังนี้

๑. ๑.๑ มีโคลงที่ซ้ำกัน แต่อยู่คนละหมายเลข และระบุผู้แต่งหรือที่มาไว้ตรงกันบ้างต่างกันบ้าง เช่น โคลงบทเดียวกัน ที่หนึ่งระบุว่าแต่งโดยสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร แต่อีกที่หนึ่งว่าเป็นสำนวนเก่า

๑. ๑.๒ มีโคลงที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ซึ่งควรจะอยู่ในชุดหรือหมายเลขเดียวกัน กลับเก็บไว้คนละหมายเลขก็มี

๑. ๑.๓ มีโคลงที่มีความหมายใกล้เคียงและอยู่คนละหมายเลข ที่หนึ่งมีคาถาภาษิตกำกับ ส่วนอีกที่หนึ่งไม่มีภาษิตกำกับ

๑. ๑.๔ โคลงที่มีความหมายต่างกัน แต่เก็บรวมไว้ในหมายเลขเดียวกัน

๑. ๑.๕ โคลงสองบทที่มีความหมายต่อเนื่องกัน เพราะแต่งจากคาถาภาษิตบทเดียวกัน เก็บไว้ในหมายเลขเดียวกันก็มี เก็บไว้ต่างหมายเลขก็มี

ในการพิมพ์ครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ตัดโคลงที่ซ้ำกันออก ได้ย้ายโคลงที่ระบุว่าเป็นพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ซึ่งเดิมพิมพ์ไว้ห่างกัน มาลำดับไว้ในหมายเลขใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาเทียบเคียงกับเรื่อง โคลงโลกนิติ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ซึ่งกรมวิชาการได้จัดพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม เฉพาะโคลงส่งท้ายซึ่งไม่ใช่ตัวภาษิต ปรากฏในหนังสือโคลงโลกนิติและประชุมโคลงโลกนิติทั้งสองเล่ม รวมสี่บทนั้น คณะกรรมการฯ ได้จัดพิมพ์ไว้ที่ท้ายเล่ม และทำเชิงอรรถแสดงข้อคลาดเคลื่อนต่าง ๆ รวมทั้งข้อควรสังเกตที่ตรวจสอบพบไว้ด้วย


๒. การเพิ่มคาถาภาษิต เนื่องจากหนังสือประชุมโคลงโลกนิติซึ่งใช้เป็นแบบในการจัดพิมพ์ครั้งนี้มีโคลงหลายบทที่ไม่มีคาถากำกับ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบคาถาจากคัมภีร์ต่าง ๆ และนำมาเพิ่มไว้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้ชี้แจงไว้ในเกณฑ์การพิจารณาตรวจสอบข้างต้น แล้วยังมีคาถาอีกจำนวนหนึ่งที่คณะกรรมการฯ ได้อ้างจากหนังสือ โคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ได้ตรวจสอบไว้ และคณะกรรมการฯ เห็นว่า เป็นประโยชน์ที่จะรวบรวมไว้ให้ค้นคว้าอ้างอิงต่อไป จึงได้นำคาถาดังกล่าวมาใส่ไว้ด้วย และมีเชิงอรรถแจ้งไว้ว่า เป็นคาถาที่อ้างอิงโดยผ่านหนังสือ โคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา ซึ่งใช้คำย่อว่า นิยะดา (๒๕๓๘)