ประชุมโคลงโลกนิติ
หนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ซึ่งประกอบด้วย โคลงโลกนิติพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร โคลงโลกนิติสำนวนเก่าไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง และคาถาบาลี เล่มนี้ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในชุดวรรณกรรมภาษิตและคำสอน ซึ่งคณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติได้จัดทำขึ้น และกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้พิมพ์เผยแพร่ไปยังสถานศึกษา หน่วยงาน และห้องสมุดต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนและประชาชนที่รักการศึกษาค้นคว้าได้ศึกษาเปรียบเทียบวรรณกรรมที่มีคุณค่าและนำแนวคิดข้อเตือนใจจากภาษิตคำสอนไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิต
คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาตินี้ กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้ทำหน้าที่พิจารณาคัดสรรวรรณกรรมที่มีคุณค่าและหาอ่านได้ยากนำมาจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่ออนุรักษ์วรรณกรรมอันเป็นสมบัติของชาติให้คงอยู่สืบไป ใน พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒ คณะกรรมการฯ ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์วิพุธ โสภวงศ์ เป็นประธาน ได้ศึกษารวบรวมภาษิตคำสอนที่คุ้นเคยกันมาแต่เก่าก่อน รวมทั้งภาษิตคำสอนของคนไทยในท้องถิ่นภาคต่าง ๆ เพื่อนำมาจัดเป็นหนังสือชุดวรรณกรรมภาษิตและคำสอน หนังสือในชุดนี้ที่ได้จัดทำและพิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว ได้แก่ ประชุมสุภาษิตพระร่วง และประชุมโคลงสุภาษิตพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การจัดทำต้นฉบับ ประชุมโคลงโลกนิติ นี้ คณะกรรมการฯ ได้นำโคลงโลกนิติฉบับที่พิมพ์ครั้งต่าง ๆ เช่น โคลงโลกนิติในหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน พ.ศ. ๒๕๑๗ โคลงโลกนิติฉบับหอพระสมุดวชิรญาณพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๐ ฉบับกรมศึกษาธิการ ร.ศ. ๑๒๖ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๐) และฉบับกรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๓๙ มาเทียบเคียงตรวจสอบและใช้เป็นต้นฉบับในการจัดพิมพ์ ส่วนการตรวจสอบคาถาของบทโคลงนั้น ได้ใช้หนังสือโคลงโลกนิติที่กล่าวมาข้างต้น พร้อมด้วยโลกนิติสำนวนอื่น ๆ อีกหลายฉบับ เช่น โลงนิติไตรพากย์ฉบับคารม พ.ศ. ๒๔๖๑ และโลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้น และเพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจภาษิตคำสอนในประชุมโคลงโลกนิติได้ดียิ่งขึ้น คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง รองประธานกรรมการ เป็นหัวหน้าคณะจัดทำคำอธิบายศัพท์ และเขียนเชิงอรรถชี้แจงเกี่ยวกับคาถาและคำศัพท์ที่ใช้ผิดแผกกันอย่างมีนัยสำคัญในโคลงนิติฉบับต่าง ๆ รวมทั้งให้เป็นผู้เขียนบทนำเสนอและพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศรด้วย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร กรรมการที่ปรึกษา ยังได้กรุณาเป็นประธานตรวจสอบเนื้อหาในเชิงอรรถและคำอธิบายศัพท์ด้วย
กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกโคลงโลกนิติบางบทไปให้นักเรียนเรียนในวิชาภาษาไทย รวมทั้งใช้เป็นบทอาขยานด้วย หนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับนี้ประกอบด้วยโคลงเก้าร้อยสองบท ถือได้ว่า เป็นฉบับสมบูรณ์ จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนได้ใช้ประกอบการศึกษาค้นคว้าหรือเป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความคิดให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น
กรมวิชาการขอขอบคุณคณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ ราชบัณฑิตยสถาน หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร และผู้มีส่วนให้เกิดหนังสือเล่มนี้ทุกท่าน กรมวิชาการหวังว่า เยาวชนผู้รักการศึกษาค้นคว้าและคนไทยทั่วไปจะได้ประโยชน์จากหนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับนี้โดยทั่วกัน
- อำรุง จันทวานิช
- อธิบดีกรมวิชาการ
- ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๒
หน้า | ||
| ||
| ||
| ||
| ||
|
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร[ก] เป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่สิบห้าในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดานิ่ม (สกุล บุญ-หลง) พระนามเดิม พระองค์เจ้า (ชาย) มั่ง ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๓๖ ณ พระนิเวศน์เดิม ฝั่งธนบุรี มีพระพี่นางร่วมพระชนนีอีกหนึ่งพระองค์ แต่สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเป็นหลานของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (หน ต้นสกุลบุญ-หลง) เสนาบดีด้านการคลังและการต่างประเทศในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมีนามที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ผู้มีฝีมือในการแต่งหนังสือจนได้รับยกย่องว่าเป็นกวีเอก ร่ายยาวเทศน์มหาชาติกัณฑ์กุมารและมัทรีที่ท่านแต่งยังเป็นสำนวนที่ใช้เทศน์กันมาจนทุกวันนี้ ส่วนร้อยแก้วเรื่องสามก๊กและราชาธิราชก็เป็นบทประพันธ์ที่รู้จักกันดีและมีผู้นิยมอ่านมาจนปัจจุบันเช่นกัน
เพื่อให้สะดวกต่อการศึกษาพระประวัติและพระกรณียกิจของพระองค์ท่านที่เปลี่ยนแปลงไปโดยลำดับ จึงจะได้แยกกล่าวเป็นในแต่ละรัชกาลไป
- พระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงปฏิบัติในรัชกาลที่ ๒
- เฉลิมพระอิสริยยศเป็นเจ้าต่างกรม
โดยโบราณราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จะทรงสถาปนา เลื่อนกรม ตั้งกรมเจ้านาย ทรงตั้งพระราชาคณะ และทรงเลื่อนตำแหน่งขุนนางเป็นบำเหน็จความชอบ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า (ชาย) มั่ง เป็นเจ้าต่างกรม มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า "กรมหมื่นเดชอดิศร" ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ทรงได้รับสถาปนาในปีใด ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังพระราชทานที่ริมแม่น้ำใต้วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในที่ดินซึ่งเดิมเป็นบ้านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ผู้เป็นขรัวตา อาณาเขตวังด้านทิศตะวันออกติดถนนมหาราช ด้านทิศตะวันตกติดแม่น้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบัน คือ บริเวณบ้านเมตตาของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ประทับที่วังนี้จนถึงรัชกาลที่ ๓ จึงเสด็จไปประทับที่วังริมถนนมหาชัยวังใต้
- ทรงกำกับราชการกรมพระอาลักษณ์
หลักจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชดำริว่า ในขณะนั้นมีเจ้านายผู้ใหญ่หลายพระองค์ที่ทรงพระปรีชาสามารถควรจะได้เป็นกำลังสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับขุนนางทั้งฝ่ายทหารพลเรือนด้วย จึงทรงแต่งตั้งเจ้านายให้มีหน้าที่กำกับราชการกรมต่าง ๆ เป็นทำนองที่ปรึกษาของเสนาบดีหรือผู้เป็นหัวหน้าในกรมนั้น ๆ เมื่อมีกระแสพระราชดำริในราชการเรื่องใด ก็จะทรงปรึกษาหารือกับเจ้านายผู้ทรงกำกับราชการกรมนั้น ๆ ด้วย พระราชดำริครั้งนี้มีความสำคัญในการบริหารราชการเป็นอันมาก และได้ใช้เป็นแบบแผนต่อมาอีกหลายรัชกาล
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ทรงกำกับราชการกรมพระอาลักษณ์ กรมพระอาลักษณ์นั้นเป็นกรมใหญ่และสำคัญกรมหนึ่ง มีหน้าที่อย่างราชเลขานุการ ปฏิบัติงานด้านเอกสารและหนังสือถวายพระมหากษัตริย์ รับพระบรมราชการ หมายรับสั่ง พระราชหัตถเลขา และจดหมายเหตุเรื่องต่าง ๆ แต่งพระราชสาสน์ซึ่งมีไปมาต่อเจ้าแผ่นดินทั้งปวง จารึกพระสุพรรณบัฏ หมายตั้งขุนนาง คัดเขียนหนังสือต่าง ๆ รักษาพระราชกำหนดกฎหมายฉบับข้างที่ เอกสาร และหนังสือสำคัญของบ้านเมือง ดูแลรักษาหนังสือในหอหลวง เจ้ากรมเป็นพระยา มีฐานะรองจากเสนาบดีลงมา งานราชเลขานุการและงานกรมพระอาลักษณ์ได้รวมกันอยู่เช่นนี้ จนในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๑๐ จึงโปรดให้แยกงานทั้งสองด้านออกจากกัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้สนองพระเดชพระคุณกำกับราชการกรมพระอาลักษณ์ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ สืบเนื่องกันโดยตลอดจนสิ้นพระชนม์ งานราชการกรมพระอาลักษณ์ซึ่งรวมทั้งงานราชเลขานุการและงานดูแลรักษาหนังสือหอหลวงไว้ด้วยนั้นทำให้ทรงมีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าหนังสือและสรรพตำราต่าง ๆ จนชำนาญรอบรู้ในหลักราชการและเป็นประโยชน์ต่อการนิพนธ์วรรณกรรมเรื่องต่าง ๆ ต่อมาอันเป็นผลงานที่เชิดชูพระเกียรติคุนให้ปรากฏมาจนทุกวันนี้
- พระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงปฏิบัติในรัชกาลที่ ๓
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๖๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชด้วย "ทรงพระปรีชารอบราชการ" ทั้งในราชการกรมพระอาลักษณ์ การต่างประเทศ การป้องกันพระนคร การศาสนา และที่สำคัญ คือ ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่งทั้งในเรื่องส่วนพระองค์และราชการ นอกจากนี้ งานพระนิพนธ์ที่สำคัญหลายเรื่องรวมทั้ง โคลงโลกนิติ ก็ทรงแต่งขึ้นในรัชกาลนี้
ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงพระกรณียกิจที่สำคัญบางเรื่อง
- ทรงเป็นกรมขุนเดชอดิศร
ใน พ.ศ. ๒๓๗๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เลื่อนพระอิสริยยศจาก "กรมหมื่นเดชอดิศร" เป็น "กรมขุนเดชอดิศร" มีพระเกียรติคุณปรากฏในแผ่นพระสุพรรณบัฏว่า
"มีพระบรมราชโองการมานพระบันทูลสุรสิงหานาทวิลาสดำเนิรตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า กรมหมื่นเดชอดิศร ทรงพระปรีชารอบราชการ ให้เสด็จเลื่อนพระนามขึ้นเป็น กรมขุนเดชอดิศร นาคนาม ศิริสวัสดิทฤฆายุศม"[ข]
- ทรงเป็นเชฐมัตตัญญู
"เชฐมัตตัญญู" แปลว่า พี่ใหญ่ผู้เจริญอย่างสูงสุดที่รู้ประมาณ หมายถึงว่า ทรงเป็นพระเชษฐา เป็นพระบรมวงศ์ผู้ทรงอาวุโสมีพระอิสริยยศอันสูงยิ่ง และทรงรอบรู้ในการที่ควรหรือไม่ควรกระทำ คำสรรเสริญว่าทรงเป็นเชฐมัตตัญญูนี้มาจากกระแสพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต ทรงพระปริวิตกถึงการที่พระสงฆ์ส่วนหนึ่งพากันโดยเสด็จพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระผนวชอยู่และทรงครองจีวรห่มแหวกอย่างพระมอญซึ่งทรงเห็นว่ามิใช่แบบแผนของพระไทย ด้วยพระบรมราโชบายอันแยบคาย จึงมีพระกระแสบรมราชโองการถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศรแทน ขอให้ทรงนำจีวรองค์หนึ่งไปถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่อีกพระองค์หนึ่งซึ่งทรงพระผนวชอยู่และยังทรงครองจีวรอย่างพระไทยทั่วไป หากทรงรับจีวรไว้ครอง ก็น่าจะเปรียบเสมือนนิมิตหมายว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ยังทรงเป็นหลักสำคัญของบรรดาสงฆ์ที่ยึดมั่นในแบบแผนประเพณีเดิม
ความในพระบรมราชโองการฉบับนี้ นอกจากมีสาระอันแสดงเหตุผลตามกระแสพระราชดำริแล้ว ยังเป็นเอกสารที่ได้รับยกย่องว่า มีถ้อยคำสำนวนที่ไพเราะ สละสลวย และแยบคายเป็นอย่างยิ่ง ความบางตอนนั้นมีว่า
"พ่อมั่งขา พ่อจงเป็นเชฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วารน้ำจิตและอธิบายของข้าผู้พี่อันขันธะทุพพลภาพมากอยู่แล้ว...พม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยูนั้นและเห็นครองผ้าผิดกับพระภิกษุของเราจึงเรียกกันว่าพระมอญ เดี๋ยวนี้พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญ โดยอัตโนมัติปัญญาของพี่เห็นว่า ถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสด็จอยู่ ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่าควรไม่ควรอยู่นานแล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญเป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้กล่าว...ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดินก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเป็นเมืองมอญเมืองพม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา ให้พ่อเห็นแก่พี่ ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระเจ้าเป็นอันมาก แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่ง ให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอจะรับเอาไว้ครองได้ ก็ให้ถวายเธอเถิด ถ้าเธอจะมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย"[ค]
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เชฐมัตตัญญูถวายโดยเรียบร้อย ครั้นความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีสมณสาสน์มาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า การที่ทรงครองจีวรแบบพระมอญนั้นมิได้คาดว่าจะเป็นข้อให้ขุ่นเคืองพระราชหฤทัย จึงจะได้ทรงเปลี่ยนเป็นครองจีวรอย่างพระไทยให้ต้องตามพระบรมราชโองการต่อไป
- ทรงเป็นผู้รักษาพระนครด้านทิศตะวันออก
การนี้เกิดจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริถึงการป้องกันรักษาพระนครทั้งสี่ทิศ ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างวังพระราชทานให้เจ้านายผู้ใหญ่ที่เป็นหลักสำคัญในราชการเสด็จไปประทับ แต่บริเวณด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นบริเวณที่มีชุมชนชาวจีนอยู่หนาแน่นยังหามีไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังถนนมหาชัยบริเวณใกล้ประตูสะพานหันซึ่งเป็นต้นทางที่จะไปสำเพ็งอันเป็นชุมชนชาวจีน วังถนนมหาชัยแบ่งเป็นสามวัง คือ วังเหนือ วังกลาง วังใต้ เฉพาะวังใต้นั้นมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงเป็นเจ้านายองค์สำคัญที่ควรจะเป็นประธานในการรักษาพระนครด้านทิศตะวันออก จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายจากวังริมแม่น้ำใต้วัดพระเชตุพนฯ ไปประทับที่วังถนนมหาชัยวังใต้ และได้ประทับที่วังนี้จนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๐๒
- ทรงปฏิสังขรณ์พระอาราม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามที่สำคัญสองพระอาราม คือ วัดราชคฤห์ ฝั่งธนบุรีที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ขรัวตาของท่าน ได้บูรณปฏิสังขรณ์แล้วถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ ๑ ได้รับพระราชทานนามว่า วัดราชคฤห์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงบูรณปฏิสังขรณ์โดยสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แทนพระอุโบสถเดิม ประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปรินิพพานบรรทมหงายศิลปะอยุธยา ปัจจุบัน พระอุโบสถหลังนี้ใช้เป็นพระวิหาร และบรรดาผู้สืบสายราชสกุลเดชาติวงศ์ของพระองค์ท่านได้รับภาระในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามนี้กันต่อ ๆ มาอีกด้วย อีกวัดหนึ่งที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ คือ วัดทองธรรมชาติ ฝั่งธนบุรี เป็นวัดที่กรมหลวงนรินทรเทวี (พระองค์เจ้ากุ) และกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ พระภัสดา ทรงบูรณะมาแต่ก่อน กรมหลวงนรินทรเทวีทรงเป็นพระน้องนางต่างพระชนนีในรัชกาลที่ ๑ จึงทรงมีศักดิ์เป็นพระอัยยิกา (ย่า) ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
- ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ
พระกรณียกิจด้านวรรณกรรมเรื่องสำคัญ ๆ ที่ทรงพระนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ ได้แก่
๑. โคลงโลกนิติ โคลงโลกนิติเป็นวรรณกรรมโบราณที่มีมาแต่ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรืออย่างน้อยก็ก่อนรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๔-๒๓๗๘ และให้จารึกตำรับตำราต่าง ๆ ทั้งด้านวรรณคดี โบราณคดี พุทธศาสนา ประเพณี ตำรายา ตลอดจนสุภาษิตลงบนแผ่นศิลาที่ประดับผนังปูชนียสถานต่าง ๆ ในพระอารามสำหรับให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้ทรงชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่าให้ถูกต้องตามพระบาลี บางโคลงก็ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่ ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทยสี่ร้อยแปดบท แล้วจารึกไว้ที่แผ่นศิลาประดับศาลาทิศพระมณฑปสี่หลัง แต่จำนวนโคลงที่จารึกไว้มีมากกว่านี้ เข้าใจว่า ทรงเพิ่มเติมภายหลังเพื่อให้พอดีกับพื้นที่ที่จะจารึก อนึ่ง โคลงโลกนิตินี้มีแต่งกันหลายสำนวน และที่แต่งเป็นร้อยแก้วก็มี แต่สำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่าสำนวนอื่น ๆ รวมทั้งใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนด้วย
๒. โคลงภาพต่างภาษา ทรงพระนิพนธ์ขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๔-๒๓๗๘ คราวเดียวกับพระนิพนธ์เรื่องโคลงโลกนิติ ด้วยในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปและวาดรูปคนต่างชาติต่างภาษารวมสามสิบสองชาติประดับไวที่ศาลารายรอบวัดพระเชตุพนฯ รวมสิบหกหลัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงแต่งโคลงภาพคนต่างภาษาเป็นโคลงดั้นบาทกุญชรจารึกบนแผ่นศิลาใต้รูปคนต่างภาษาสี่ชาติ คือ สระกาฉวน (เป็นชนอินเดียพวกหนึ่ง) ญี่ปุ่น ญวน และจีน
๓. โคลงนิราศเสด็จไปทัพเวียงจันทน์ ทรงพระนิพนธ์โคลงนิราศเรื่องนี้ขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๗๐ เมื่อเจ้าอนุเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏยกทัพเข้ามายึดเมืองโคราชและสระบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดกำลังทัพยกไปปราบ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้ตามเสด็จไปในทัพหลวง และได้ทรงพระนิพนธ์โคลงนิราศเสด็จไปทัพเวียงจันทน์เป็นร่ายและโคลงสี่สุภาพหนึ่งร้อยหกสิบสามบท
- พระกรณียกิจสำคัญที่ทรงปฏิบัติในรัชกาลที่ ๔
ในรัชกาลนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ไม่เพียงแต่จะทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์สำคัญ หากยังเป็นช่วงเวลาที่ทรงมีโอกาสได้ปฏิบัติพระกรณียกิจในเรื่องต่าง ๆ สนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มที่จนถึงบั้นปลายของพระชนมชีพ ทั้งทรงได้รับยกย่องในพระอิสริยยศและพระเกียรติคุณอย่างสูงสุด งานพระนิพนธ์ร้อยกรองหลายเรื่องเป็นวรรณกรรมที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญทั้งในรัชกาลที่ ๔ และในรัชกาลต่อมา
เหตุการณ์ในช่วงผลัดแผ่นดินจากรัชกาลที่ ๓ เป็นรัชกาลที่ ๔ ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่ต้น ในฐานะที่ทรงเป็นเชฐมัตตัญญูในทั้งสองรัชกาล และทรงเป็นที่เคารพนับถือในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายทหารพลเรือนได้ประชุมปรึกษากัน แล้วพร้อมกันไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์ และสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติทั้งสองพระองค์ การผลัดแผ่นดินจึงเป็นไปโดยเรียบร้อย เป็นผลให้ได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบอันเป็นเกียรติยศสูงสุด คือ ทรงได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "กรมสมเด็จพระเดชาดิศร" หม่อมเจ้านฤมล พระธิดาพระองค์ใหญ่ ได้รับสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า (หญิง) นฤมลมณีรัตน และในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีกระบวนแห่เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกไปสมโภช ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า "แต่กรมสมเด็จพระเดชาดิศรนั้นทรงพระราชยานกง มีกระบวนแห่เครื่องสูงกลองชนะสังข์แตรด้วย ผิดกันกับพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง"[ง]
ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงพระกรณียกิจที่สำคัญแต่ละเรื่องไปโดยลำดับ
- ได้ทรงเลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร
แต่โบราณครั้งกรุงศรีอยุธยามา พระอิสริยยศเจ้าต่างกรมมีเพียงชั้นกรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง และกรมพระ ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดให้กำหนดพระอิสริยยศเจ้าต่างกรมเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่งเหนือชั้นกรมพระ นับเป็นกรมพระพิเศษ เรียกว่า "กรมสมเด็จพระ" ในหนังสือ ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวว่า พระอิสริยยศพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดให้เลื่อนได้มีเจ็ดชั้น คือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข กรมสมเด็จพระ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน และกรมหมื่น พระอิสริยยศ "กรมสมเด็จพระ" จึงนับว่าสูงเป็นลำดับที่สาม และในขณะนั้นไม่มีการสถาปนาตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขแล้ว พระอิสริยยศจึงเป็นรองจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสถาปนาพระอิสริยยศนี้แก่พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ เป็นประถมรวมสามพระองค์ คือ
- ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศและพระนามพระบรมอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด สมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง เป็น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
- ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ซึ่งทรงพระผนวชอยู่ เป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
- ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร เป็น กรมสมเด็จพระเดชาดิศร
มีข้อพึงสังเกตว่า การสถาปนาพระอิสริยยศครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงได้เลื่อนกรมจาก "กรมขุน" ขึ้นเป็น "กรมสมเด็จพระ" เลยทีเดียว ไม่ต้องเป็น "กรมหลวง" หรือ "กรมพระ" ก่อนตามลำดับ และในประกาศเลื่อนกรมระบุทรงให้ตั้งเจ้ากรมเป็น "พระยา" ส่วนเจ้านายอีกสองพระองค์นั้น "เจ้ากรม" เป็น "พระ" นับว่าทรงได้รับการยกย่องสูงกว่าเจ้านายสองพระองค์นั้น หลังจากนั้นแล้ว มิได้สถาปนาพระอิสริยยศนี้แก่เจ้านายพระองค์ใดอีกจนสิ้นรัชกาล
- ทรงกำกับราชการกรมนา
การปกครองบ้านเมืองในขณะนั้นแบ่งเสนาบดีเป็นหกตำแหน่ง ประกอบด้วย อัครมหาเสนาบดีสองตำแหน่ง คือ สมุหนายกบังคับกรมฝ่ายพลเรือน และสมุหพระกลาโหมบังคับกรมฝ่ายทหารทั่วไป ส่วนเสนาบดีอีกสี่ตำแหน่งเรียกว่าจตุสดมภ์ มีพระคลังกรมท่า กรมเมืองหรือกรมพระนครบาล กรมวัง และกรมนา นอกจากนี้ ยังมีกรมใหญ่ ๆ ที่มิได้ขึ้นกับเสนาบดีทั้งหกตำแหน่ง เจ้ากรมมีหน้าที่เสมอกับเสนาบดีหรือยิ่งกว่าเสนาบดีก็มีอีกหลายกรม
กรมนามีหน้าที่เป็นพนักงานดูแลรักษานาหลวง เก็บหางข้าวค่านาจากราษฎร จัดซื้อข้าวขึ้นฉางหลวงสำหรับจ่ายในพระราชวังและในพระนคร ทำตัวอย่างชักจูงให้ราษฎรทำนาโดยตัวเสนาบดีเองลงไถนาเป็นคราวแรกในแต่ละปีที่เรียกกันว่า "แรกนาขวัญ" ทำนุบำรุงไร่นาให้อุดมสมบูรณ์ และมีอำนาจตั้งศาลพิจารณาความที่เกี่ยวข้องด้วยที่นาและโคกระบือ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงได้รับมอบหมายให้กำกับราชการกรมนาซึ่งเป็นกรมที่ใหญ่กว่ากรมพระอาลักษณ์ด้วยเจ้ากรมเป็นเสนาบดีเช่นนี้ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๔ จนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๐๒
- ทรงเป็นมหาสยามกวีชาตินักปราชญ์อันประเสริฐ
คำสรรเสริญพระปรีชาสามารถในทางภาษาและพระปัญญาอันเลิศนี้ปรากฏในลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นจอมปราชญ์ของไทยพระองค์หนึ่งซึ่งได้ทรงมีไปถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ขอให้ทรงช่วยคิดคำนำพระนามเจ้านายที่เป็นพระเจ้าลูกเธอแท้ ๆ ไม่ให้ใช้พ้องกับเจ้านายพวกที่มีมารดาเป็นคนต่ำศักดิ์ตระกูลหรือที่มิใช่เป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน ความในพระราชหัตถเลขานั้นว่า
"กราบทูลหารือในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ขอให้ทรงจัดแจงการเสียให้สมควร เพราระทรงนับถือจริง ๆ ว่า เปนผู้ใหญ่ในพระองค์เจ้าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยกัน แลทรงพระสติปัญญาสามารถ ฉลาดในโวหารอันควรแลไม่ควร แลสรรพพจนโวหารในสยามาทิพากย์พิเศษต่าง ๆ หาผู้จะเสมอมิได้ในกาลบัดนี้ ขอพระสติปัญญาทรงพระดำริห์ตั้งบัญญัติให้ดีให้สมควรสักเรื่อง ๑ ขอจงทรงโดยความตามพระหฤทัยเถิด อย่าเกรงใจใครเลย ทรงบังคับมาอย่างไร จะขอรับประทานทำตามทุกประการในเรื่องนี้ คำว่า พระเจ้าลูกเธอ ดังนี้ตามกฎหมายแลอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนเปนคำนำชื่อพระราชบุตรในพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในเวลาประจุบันนั้น ๆ แต่บัดนี้ คนเรียกสองพวกสามพวกไปจนเจ้านายที่มารดาต่ำชาติต่ำตระกูลไม่ควรจะเปนเจ้าจอมมารดาก็เรียกว่า พระเจ้าลูกเธอ เสียหมด...แลเจ้านายที่ควรเรียกว่า ลูกเธอ นั้นก็เรียกแต่ว่า พระองค์ นั้นเปล่า ๆ ดูถูกมากนัก ไม่ใคร่จะมีใครอ้างอิงนับถือ ด้วยเหนว่า เด็กแลบิดาแก่ชรา...เพราะฉะนั้น ขอพระดำริห์ในกรมเปนผู้ใหญ่ในราชตระกูลแลเปนมหาสยามกวีชาตินักปราชญ์อันประเสริฐทรงพระดำริห์ให้ตั้งคำนำชื่อพระเจ้าลูกเธอเสียใหม่อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าให้พ้องกับพวกอื่น..."[จ]
แม้จะสอบไม่พบหลักฐานว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร กราบบังคมทูลตอบว่าอย่างไร และได้ถวายความเห็นให้ทรงจัดระเบียบการใช้คำนำพระนามพระราชวงศ์โดยถือความสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินด้วยหรือไม่ แต่ต่อมา ได้มีประกาศพระบรมราชโองการและพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกมาเป็นหลายฉบับเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำกราบบังคมทูลต่าง ๆ รวมทั้งคำนำพระนามแทนคำ "พระเจ้าลูกเธอ" ที่ใช้กันมาช้านานโดยโบราณราชประเพณี และคำนำพระนามของเจ้านาย เช่น พระอัยการเธอ พระพี่ยาเธอ พระน้องยาเธอ พระลูกยาเธอ พระหลานเธอ ให้เป็นการนับความสัมพันธ์ฉันพระประยูรญาติกับพระเจ้าแผ่นดินโดยตรง เจ้านายสายอื่นจะนำไปใช้นับความสัมพันธ์เช่นนั้นด้วยไม่ได้ หากจะพิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีกว่า ทำไมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่ทรงประกาศพระบรมราชโองการห้ามปรามโดยตรง ก็น่าจะเป็นเพราะปัญหาอันละเอียดอ่อนในหมู่พระราชวงศ์เช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยกลอุบายอันแยบคายเข้าช่วยด้วย จึงต้องมีพระราชหัตถเลขาขอให้พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่อีกพระองค์หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ถวายความเห็นมาประกอบพระบรมราชวินิจฉัยก่อนที่จะมีประกาศพระบรมราชโองการใด ๆ ออกไป
- ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ
พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ที่ทรงไว้ในรัชกาลที่ ๔ ส่วนใหญ่เป็นฉันท์ดุษฎีสมโภชและประกาศพระราชพิธีเรื่องต่าง ๆ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำนำหนังสือ ประกาศการพระราชพิธี ว่า นอกจากบรรดาประกาศในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งโดยมากเป็นพระราชนิพนธ์แล้ว ที่เหลือนอกนั้นมักเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระนิพนธ์ที่สำคัญ เช่น
๑. ประกาศพระราชพิธีสารท ประกาศพระราชพิธีสารทมีแปดฉบับ ที่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร มีสองสำนวน คือ ฉบับร่ายยาว และฉบับร่ายดั้น ฉบับร่ายดั้นนี้ได้ใช้ในพระราชพิธีสารทสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ จนโปรดให้เลิกพิธีกวนข้าวทิพย์ จึงตัดตอนที่ว่าด้วยการกวนข้าวทิยพ์ออกแล้วใช้กันต่อมา ประกาศฉบับอื่น ๆ ที่เป็นของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ก็ได้แก้ไขจากพระนิพนธ์ฉบับร่ายดั้นนั้น
๒. ประกาศพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลใหม่ เป็นร่ายยาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงแต่งขึ้นแทนฉบับที่ใช้กันมาแต่เดิม ส่วนคาถาข้างต้นน่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ และได้ใช้กันต่อมาจนในรัชกาลที่ ๖
๓. ประกาศพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน เป็นร่ายยาว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ทรงให้ความเห็นไว้ว่า จะเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงแต่งหรือผู้ใดแต่งไม่ทราบแน่ชัด พระราชพิธีคเชนทรัศวสนานเป็นพิธีโบราณ กระทำในเดือนห้า มีการบำเพ็ญพระราชกุศล เชิญพระแสงทั้งปวงออกประดิษฐานในพิธี อาลักษณ์อ่านประกาศพระราชพิธี เวลาบ่ายมีกระบวนแห่ช้าง ม้า โค กระบือ ทหารปืนใหญ่ปืนเล็ก เป็นต้น และมีบายศรีสมโภชเวียนเทียนพระยาช้างต้นม้าต้น ประกาศพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานได้ใช้ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนแต่พระปรมาภิไธยและชื่อพระยาช้างต้นม้าต้น จนเลิกพิธีในรัชกาลที่ ๕ นั้น
๔. ฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตร มีสามเรื่อง คือ ฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตรพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตรพระที่นั่งไพศาลทักษิณ และฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตรพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยและพระที่นั่งอนันตสมาคม (องค์เดิมในพระบรมมหาราชวัง) ด้วยในรัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริว่า งานบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ประกอบกับในรัชกาลของพระองค์นั้นอยู่ในเดือนหกซึ่งเจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ มาแต่เดิม จึงควรจัดให้เป็นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ การพระราชกุศลอย่างใหม่นั้นพระราชทานชื่อว่า "พระราชพิธีฉัตรมงคล" ฉันท์สังเวยพระมหาเศวตฉัตรทั้งสามเรื่องนี้ได้ใช้ในพระราชพิธีฉัตรมงคลต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕
๕. ฉันท์กล่อมมงคลคเชนทรชำนิเผือกพลาย บทกล่อมช้างชุดนี้ไม่ทราบว่าทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อใด ผู้เขียน[ฉ] ได้สอบบัญชีรายชื่อพระยาช้างต้นที่สมโภชขึ้นระวางในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ แล้ว ไม่พบว่า มีช้างต้นที่ได้รับพระราชทานนามดังกล่าว ฉันท์บทนี้ได้รวมพิมพ์ไว้ในหนังสือ ชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย เล่ม ๑ หากพิเคราะห์โดยชื่อแล้ว ก็น่าจะเป็นบทกล่อมช้างต้นทั้งที่เป็นช้างงา ช้างเผือก และช้างพลายรวม ๆ กัน
๖. ฉันท์ดุษฎีสังเวยพระพุทธบุษยรัตน์ เนื้อความกล่าวถึงประวัติพระพุทธบุษยรัตน์ การอัญเชิญจากเมืองจำปาศักดิ์มาประดิษฐานในกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๒ จนถึงการสมโภชพระพุทธบุษยรัตน์ใน พ.ศ. ๒๔๐๔ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึงสองปี พระนิพนธ์เรื่องนี้จึงน่าจะได้ใช้ในการสมโภชพระพุทธบุษยรัตน์วาระต่าง ๆ แล้วมีผู้แต่งต่อในภายหลังด้วย
๗. คำฤษฎี เป็นหนังสืออธิบายความหมายศัพท์แบบพจนานุกรม โดยแยกหมวดอักษรอย่างคร่าว ๆ ศัพท์ที่รวบรวมไว้มีทั้งคำภาษาบาลี คำบาลีแผลงเป็นสันสกฤต คำเขมร ลาว ไทย และคำโบราณจากหนังสือต่าง ๆ สำหรับผู้แต่งร้อยกรองได้ใช้ประโยชน์ แบ่งออกเป็นสองเล่ม เล่มที่หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงรวบรวมคำศัพท์และอธิบายความหมาย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้เพิ่มเติมคำและตรวจแก้ในส่วนที่บกพร่อง ส่วนเล่มที่สอง สมด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ทรงร่วมกันรวบรวมคำศัพท์และอธิบายความหมาย
- สิ้นพระชนม์
ใน พ.ศ. ๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองทะเลตะวันตก เมื่อเสด็จกลับถึงพระนคร ปรากฏความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า
"ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมง พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี เข้าไปเฝ้าที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ยินดีที่เสด็จกลับมา เสด็จออกตรัสอยู่ด้วยจนเวลา ๔ ทุ่ม
"ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง กรมสมเด็จพระเดชาดิศรประชวรลมสิ้นพระชนม์ พระชนม์นับเรียงปีได้ ๖๗ พรรษา"[ช]
วันที่สิ้นพระชนม์ที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวน่าจะคลาดเคลื่อน เพราะผู้เขียน[ฉ] สอบปฏิทินแล้ว วันจันทร์ เดือน ๑๐ ปี มะแม จุลศักราช ๑๒๒๑ จะต้องเป็นวันขึ้น ๙ ค่ำ อันตรงกับวันจันทร์ที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๐๒
การพระราชทานเพลิงศพ พระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันบันทึกไว้ว่า
"จุลศักราช ๑๒๒๒ ปีวอก โทศก (พ.ศ. ๒๔๐๓) เป็นปีที่ ๑๐ ได้ทำการเมรุผ้าขาวกรมสมเด็จพระเดชาดิศรที่ท้องสนามหลวง วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๑ ค่ำ ชักพระศพไปเข้าเมรุ ณ วันจันทร์ เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ได้พระราชทานเพลิง"
วันพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระเชฐมัตตัญญูและมหาสยามกวีชาตินักปราชญ์อันประเสริฐ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๓
- ทรงเป็นต้นราชสกุลเดชาติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงเป็นต้นราชสกุล "เดชาติวงศ์" หลวงราชภักดี (หม่อมหลวงเสงี่ยม เดชาติวงศ์) กรมการฝ่ายเหนือ กระทรวงมหาดไทย ผู้เป็นหลานทวดและเป็นผู้สืบสายสกุล ได้รับพระราชทานนามสกุล "เดชาติวงศ์" (Dejâtivongse) จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นลำดับที่หนึ่งพันสองร้อยเก้าสิบสาม เมื่อวันพุธที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗
โลกนิติ หรือโลกนีติ เป็นคัมภีร์คำสอนของอินเดียที่โบราณจารย์ได้รวบรวมไว้ และเป็นที่รู้จักกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะในประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาและวัฒนธรรมอินเดีย อีกทั้งเป็นคัมภีร์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่าคัมภีร์อื่น ๆ ในแนวเดียวกัน เช่น คัมภีร์ธรรมนีติ คัมภีร์ราชนีติ และคัมภีร์สุตวัฑฒนนีติ ซึ่งล้วนมีเนื้อหาเป็นคติสอนใจ และให้แนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ตลอดจนเป็นหลักในการปกครองและบริหารบ้านเมือง เพราะคัมภีร์โลกนีติมีขอบข่ายเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมวิถีชีวิตของคนทั่วไปมากกว่า สำนวนภาษาตลอดจนความหมายก็ง่ายต่อการทำความเข้าใจมากกว่าคัมภีร์อื่น ๆ คัมภีร์โลกนีติที่เข้ามาในประเทศไทยนอกจากจะแทรกอยู่ในสุภาษิตต่าง ๆ แล้ว ยังมีผู้แปลเป็นภาษาไทยทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง สำนวนที่รู้จักกันแพร่หลายมากกว่าสำนวนอื่น ๆ คือ โคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
- ผู้แต่งคัมภีร์โลกนีติ
ในบทขึ้นต้นของคัมภีร์โลกนีติมีข้อความว่า
"นมัสการพระรัตนตรัยแล้ว ข้าพเจ้าจักแถลงนีติประจำโลกซึ่งรวบรวมมาจากคัมภีร์ต่าง ๆ โดยสังเขปด้วยภาษามคธล้วน"
(โลกนีติไตรพากย์)
แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ใดว่า "ข้าพเจ้า" ผู้รวบรวมคัมภีร์โลกนีติขึ้นนี้คือนักปราชญ์ท่านใด ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ได้วิจัยเกี่ยวกับความเป็นมาของคัมภีร์โลกนีติไว้ในผลงานวิจัยเรื่อง "โคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา" (๒๕๒๗) ว่า มีความเชื่อเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเชื่อว่า เป็นของชาวมณีปุระซึ่งอพยพหนีภัยสงคามจากเมืองมณีปุระในภาคเหนือของประเทศอินเดียวเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่า กลุ่มที่ ๒ เชื่อว่า เป็นผลงานของจตุรงคพล นักปราชญ์ชาวพม่าผู้มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งคัมภีร์โลกนีติเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาและมีความรอบรู้ในคัมภีร์คำสอนต่าง ๆ เป็นอย่างใด เช่น พระไตรปิฎก พระธรรมบท ชาดก ธรรมนีติ หิโตปเทศ และจาณักยศตกะ คาถาในคัมภีร์โลกนีติซึ่งแต่งไว้เป็นภาษาบาลีหรือภาษามคธเท่าที่ปรากฏในวรรณกรรมไทยมีหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดคาถา และมีหลายบทที่แปลงมาจากคาถาภาษาสันสกฤตในคัมภีร์ต่าง ๆ ดังกล่าว
- โลกนิติในวรรณกรรมไทย
สุภาษิตจากคัมภีร์โลกนีติน่าจะแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย และคงจะได้รับความนิยมมากตั้งแต่ในสมัยนั้น ด้วยมีสาระจากคำสอนบางบทในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยตรงกับที่ปรากฏในโลกนิติ เช่น
๑. "ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิดแลผิดแยกแสกว้างกัน สวนดูแท้แลจึ่งแล่งความแก่เขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน"
(ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)
- "ท้าวพญาพึงทรงรอบรู้เองในทางได้และทางจ่าย
- พึงทราบเองว่าสิ่งไรควรและไม่ควรกระทำ
- พึงลงทัณฑ์แก่ผู้ควรรับทัณฑ์
- และพึงยกย่องผู้ควรยกย่อง"
(โลกนีติไตรพากย์)
"นรินทร์พึงรอบรู้ | สรรพสรรพ์ | |
การก่อนบ่กอบทัน | เท่ารู้ |
ชาติทุรพลพันธุ์ | ควรข่ม ข่มพ่อ | |
ควรยกยกย่องผู้ | ชอบให้รางวัล" | |
(โคลงโลกนิติ – สำนวนเก่า) |
๒. "เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด"[ซ]
(ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)
"เมียท่านพิศพ่างเพี้ยง | มารดา | |
ทรัพย์ท่านคืออิฐผา | กระเบื้อง |
รักสัตว์อื่นอาตมา | เทียมเท่า กันแฮ | |
ตรองดั่งนี้จักเปลื้อง | ปลดพ้นสงสาร" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
ในสมัยต่อมา จึงได้มีผู้แปลคัมภีร์โลกนีติเป็นภาษาไทยทั้งในรูปร้อยกรองและร้อยแก้วดังนี้
๑. โคลงโลกนิติ หรือโลกนิติที่เป็นร้อยกรอง เป็นการแปลคัมภีร์โลกนีติ แล้วแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ และเพิ่มภาษิตอื่น ๆ (ที่เชื่อกันว่าเป็นโลกนิติ) เข้าไปด้วย จำนวนภาษิตจึงมีมากกว่าที่มีในคัมภีร์โลกนีติ และมีหลายสำนวน เช่น
๑. ๑.๑ โคลงโลกนิติสำนวนเก่า โคลงโลกนิตินี้น่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรืออย่างน้อยก็ก่อนรัชกาลที่ ๓ มีหลายสำนวนดังปรากฏในสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระโคลงโลกนิติ ก็ได้ทรงตรวจสอบจากโคลงโลกนิติสำนวนเก่าเหล่านี้ ต่อมา เมื่อหอพระสมุดวชิรญาณจัดพิมพ์หนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็ได้รวมพิมพ์ไว้ทั้งโลกนีติคาถาภาษาบาลี โคลงโลกนิติสำนวนเก่า และโคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
๑. ๑.๒ โคลงโลกนิติ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ฉบับนี้แต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๔-๒๓๗๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร แล้วให้จารึกตำรับตำราต่าง ๆ ทั้งด้านวรรณคดี โบราณคดี พุทธศาสนา ประเพณี ตำรายา ตลอดจนสุภาษิต ลงบนแผ่นศิลาที่ประดับผนังปูชนียสถานต่าง ๆ ที่ทรงปฏิสังขรณ์นั้น สำหรับให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้ ในการนี้ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่าให้ถูกต้องตามพระบาลี บางโคลงก็ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่ ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทยสี่ร้อยแปดบท แล้วจารึกแผ่นศิลาประดับศาลาทิศพระมณฑปสี่หลัง แต่จำนวนโคลงที่จารึกไว้มีมากกว่านี้ เข้าใจว่า ทรงเพิ่มเติมภายหลังเพื่อให้พอดีกับพื้นที่ที่จะจารึก โคลงโลกนิติพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศรนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่าสำนวนอื่น ๆ รวมทั้งได้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนด้วย
๑. ๑.๓ โคลงโลกนิติ (เข้าใจว่าเป็น) สำนวนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ฉบับนี้แปลจากคัมภีร์โลกนีติฉบับภาษาบาลีซึ่งหนังสือ วชิรญาณ เล่ม ๒ จ.ศ. ๑๒๔๗ ได้นำคัมภีร์โลกนีติฉบับภาษาบาลีซึ่งแบ่งออกเป็นเจ็ดกัณฑ์ โคลงโลกนิติสำนวนพระยาศรีสุนทรโวหาร และโคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร มารวมพิมพ์ไว้ในเล่มเดียวกันเรียงตามลำดับสำนวน
๒. โลกนิติที่เป็นร้อยแก้ว โลกนิติที่เป็นร้อยแก้วมีหลายสำนวน เช่น
๒. ๒.๑ โลกนีติไตรพากย์ หรือ โลกนีติคารม พ.ศ. ๒๔๖๑ สำนวนของพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)[ฌ] ที่เรียกว่า "ไตรพากย์" นั้นด้วยในแต่ละคาถาจัดทำเป็นสามภาษาเพื่อสะดวกต่อการศึกษาเทียบเคียง คือ ภาษาบาลี ภาษาไทย (ร้อยแก้ว) และภาษาอังกฤษ จำแนกเนื้อหาเป็นเจ็ดกัณฑ์ คือ ปัณฑิตกัณฑ์ สาธุชนกัณฑ์ พาลทุรชนกัณฑ์ มิตรกัณฑ์ อิตถีกันฑ์ ราชกัณฑ์ และเบ็ดเตล็ด รวมทั้งสิ้นหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดคาถา คาถาใดที่ตรงกับโคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ก็จะคัดโลงบทนั้น ๆ มาพิมพ์ไว้ด้วย
๒. ๒.๒ โลกนิติปกรณ์ สำนวนของแสง มนวิทูร ท่านได้แปลคัมภีร์โลกนิติเป็นภาษาไทย (ร้อยแก้ว) โดยแบ่งออกเป็นเจ็ดกัณฑ์ คือ บัณฑิตกัณฑ์ สุชนกัณฑ์ พาลทุชชนกัณฑ์ มิตรกัณฑ์ อิตถีกัณฑ์ ราชกัณฑ์ และปกิรณกกัณฑ์ ในแต่ละกัณฑ์พิมพ์คาถาภาษาบาลีไว้ทางหน้าซ้าย พิมพ์คำแปลภาษาไทยไว้ทางหน้าขวา เทียบกันบทต่อบท รวมทั้งสิ้นหนึ่งร้อยห้าสิบแปดคาถา
๒. ๒.๓ โลกนีตี-สุตวัฑฒนนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ราชบัณฑิตยสถานได้ชำระและแปลคัมภีร์โลกนีติและคัมภีร์สุตวัฑฒนนีติเป็นสี่ภาษา คือ คาถาภาษาบาลี คาถาภาษาบาลีเขียนเป็นอักษรโรมัน คำแปลภาษาไทย และคำแปลภาษาอังกฤษของคาถานั้น ๆ เฉพาะภาคโลกนีตินั้นแบ่งเนื้อหาเป็นเจ็ดกัณฑ์ รวมหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดคาถา เช่นเดียวกับ โลกนีติไตรพากย์ โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ นี้จัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐
๓. โลกนิติคำฉันท์ สำนวนของขุนสุวรรณสารวัดแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เป็นคำฉันท์จำนวนสองร้อยหกสิบห้าบท ดำเนินเนื้อความตรงตามคาถาของคัมภีร์โลกนีติ
- สาระจากโคลงโลกนิติ
โลกนิติเป็นวรรณคดีประเภทคำสอนที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทยมากกว่าเจ็ดร้อยปี และกล่าวได้ว่า เป็นที่รู้จักไม่แต่เฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาผู้สนใจวรรณคดีไทยเท่านั้น แต่ประชาชนคนไทยทุกคนก็รู้จักสุภาษิตคำสอนจากโลกนิติยิ่งกว่าจากสุภาษิตเรื่องอื่น ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากโคลงโลกนิติพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าโคลงโลกนิติมีสาระจับใจคนไทยสามประการ คือ
๑. ขอบข่ายของคติคำสอน เป็นคำสอนที่จำแนกเนื้อหาตามลักษณะของบุคคลประเภทต่าง ๆ คือ ผู้รู้หรือผู้มีปัญญา คนดีคนพาล ผู้เป็นมิตร สตรี ผู้ปกครองหรือพระราชา และคำสอนเบ็ดเตล็ด สาระคำสอนจึงกว้างขวางครอบคลุมความรู้สึกนึกคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของชนทุกกลุ่ม และมักนำไปกล่าวอ้างในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น
๑. ๑)
"วิชาควรรักรู้ | ฤๅขาด | |
อย่าหมิ่นศิลปศาสตร์ | ว่าน้อย |
รู้จริงสิ่งเดียวอาจ | มีมั่ง | |
เลี้ยงชีพช้าอยู่ร้อย | ชั่วหลื้อเหลนหลาน" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
"อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว | แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล | |
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์ | ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี" | |
(นิติสารสาธก – พระยาศรีสุนทรโวหาร) |
๑. ๒)
"ราชรถปรากฏด้วย | ธงชัย | |
ควันประจักษ์แก่กองไฟ | เที่ยงแท้ |
ราชาอิสระใน | สมบัติ | |
ชายย่อมเฉลิมเลิศแล้ | ปิ่นแก้วเกศหญิง" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
"ธงชัยอันไพบุลในงอน | เป็นอาภรณ์แห่งรถยาน | |
ธุมาก็ปรากฏแก่กรานต์ | แลเถกิงระเริงแสง |
ราชาก็ปรากฏเป็นปิ่น | นครินทรเขตแขวง | |
สวามีเป็นศรีสวัสดิแสดง | ศักดิ์สง่าแก่นารี" | |
(กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ – กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส) |
๒. เนื้อหาของคติคำสอน อินเดียกับไทยนั้นมีความเชื่อบางประการคล้ายคลึงกันอยู่มาก ทำให้คนไทยเข้าใจความหมายเปรียบเทียบในคำสอนนั้น ๆ ได้ดี ทั้งบางคติก็ตรงกับนิทานชาดกและคติพื้นบ้านที่คนไทยรู้จักดี และบางคติก็มีสาระตรงกับคติของชาติอื่น ๆ ด้วย เช่น
บทที่มีคติคำสอนที่เปรียบเทียบกับนิทานชาดกเรื่อง นกแขกเต้า หรือสัตติคุมพชาดก ในนิบาตชาดก
"ได้เห็นนักปราชญ์ไซร้ | เป็นสุข | |
อยู่ร่วมเรือนหายทุกข์ | ค่ำเช้า |
ผู้พาลสั่งสอนปลุก | ใจดั่ง พาลนา | |
ยลเยี่ยงนกแขกเต้า | ตกต้องมือโจร" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
บทที่มีคติคำสอนตรงกับคติพื้นบ้านของไทย เช่น
"หมาใดตัวร้ายขบ | บาทา | |
อย่าขบตอบต่อหมา | อย่าขึ้ง |
ทรชนชาติช่วงทา | รุณโทษ | |
อย่าโกรธทำหน้าบึ้ง | ตอบถ้อยถือความ" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
"สุวานขบอย่าขบตอบ"
(สุภาษิตพระร่วง)
"หมากัดอย่ากัดตอบ"
(สุภาษิตไทย)
บทที่มีคติคำสอนตรงกับคติของชาติอื่น ๆ ด้วย เช่น
"รู้น้อยว่ามากรู้ | เริงใจ | |
กลกบเกิดอยู่ใน | สระจ้อย |
ไป่เห็นชเลไกล | กลางสมุทร | |
ชมว่าน้ำบ่อน้อย | มากล้ำลึกเหลือ" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
"กบในสระไม่เคยเห็นทะเลหลวงเลย"
(สุภาษิตญี่ปุ่น)
"คนมีความรู้น้อยก็เหมือนกับกบ"
(สุภาษิตจีน)
คติคำสอนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายนอกจากนำไปอ้างในวรรณกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว กวียังได้นำไปแต่งเป็นเรื่องสุภาษิตโดยตรงก็มีอยู่บ้าง เช่น สุนทรภู่นำไปแต่ง สุภาษิตสอนเด็ก ดังตัวอย่างเปรียบเทียบต่อไปนี้
"ยอข้ายอเมื่อแล้ว | ภารกิจ | |
ยอยกครูยอสนิท | ซึ่งหน้า |
ยอญาติประยูรมิตร | เมื่อลับ หลังแฮ | |
คนหยิ่งแบกยศบ้า | อย่ายั้งยอควร |
ทรัพย์มีสี่ส่วนไซร้ | ปูนปัน | |
ภาคหนึ่งพึงเกียดกัน | เก็บไว้ |
สองส่วนเบ็ดเสร็จสรรพ์ | การกิจ ใช้นา | |
ยังอีกส่วนควรให้ | จ่ายเลี้ยงตัวตน |
เริ่มการตรองตรึกไว้ | ในใจ | |
การจะลุจึ่งไข | ข่าวแจ้ง |
เดื่อดอกออกห่อนใคร | เห็นดอก | |
ผลผลิตติดแล้วแผร้ง | แพร่ให้คนเห็น" | |
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
"จะยอข้าควรยอต่อแล้วกิจ | จะยอมิตรอย่าให้มากจะบัดสี | |
จะยอครูดูระบอบให้ชอบที | ยอสตรีชมรูปซูบทรงงาม... |
อนึ่งทรัพย์มีส่วนให้ควรแบ่ง | สองส่วนแจงแจกใช้ตามปรารถนา | |
อีกส่วนหนึ่งซื้อเสบียงเลี้ยงอาตมา | ส่วนหนึ่งอย่าหยิบใช้ไว้กับตน... |
อนึ่งเริ่มกิจเก็บไว้แต่ในอก | ต่อคิดตกจึงค่อยแย้มขยายไข | |
เช่นกับเดื่อออกดอกไม่บอกใคร | ครั้นผลใหญ่เห็นทั่วทุกตัวคน" | |
(สุภาษิตสอนเด็ก – สุนทรภู่) |
๓. ลักษณะฉันทลักษณ์ คาถาในคัมภีร์โลกนีติมีสี่บาท กวีไทยจึงได้เลือกใช้โคลงสี่สุภาพในการแต่งแปลเป็นภาษาไทย ด้วยสามารถจำกัดจำนวนบาทให้จบในสี่บาทได้เท่าคาถาเดิม และโคลงสี่สุภาพนั้นยังเป็นคำประพันธ์ที่บังคับทั้งจำนวนคำและวรรณยุกต์ ทำให้อ่านได้ไพเพราะกว่ากลอน ทั้งไม่ต้องใช้อลังการศัพท์มากเหมือนการแต่งเป็นฉันท์หรืออื่น ๆ โคลงโลกนิติจึงมีความไพเราะทั้งในด้านสำนวนภาษาอันสละสลวย ด้านน้ำหนักเสียงสูงเสียงต่ำตามบังคับแห่งวรรณยุกต์ และด้านความชัดเจนในการสื่อความหมาย เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่า ก็ได้ทรงรักษาฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพไว้ แต่ทรงปรับแก้สำนวนภาษาและการใช้ศัพท์ให้ชัดเจนและง่ายต่อการทำความเข้าใจยิ่งขึ้น ดังจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นทั้งสำนวนเก่า สำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และสำนวนร้อยแก้ว ดังนี้
๓. ๑)
"ปมํ น ปราชิโต สิปฺปํ | ทุติยํ น ปราชิโต ธนํ | |
ตติยํ น ปราชิโต ธมฺมํ | จตุตฺถํ กํ กริสฺสติ" |
"วัยหนึ่งไป่เรียนรู้ | วิทยา | |
วัยสองไป่หาทรัพย์ | สิ่งแก้ว |
วัยสามไป่รักษา | ศีลสืบ บุญนา | |
วัยสี่เกินแก่แล้ว | ก่อสร้างสิ่งใด" | |
(สำนวนเก่า) |
"ปางน้อยสำเหนียกรู้ | เรียนคุณ | |
ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน | ทรัพย์ไว้ |
เมื่อกลางแก่แสวงบุญ | ธรรมชอบ | |
ยามหง่อมทำใดได้ | แต่ล้วนอนิจจัง" | |
(สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
- "ชั้นที่หนึ่ง ไม่หาวิชาใส่ตัว
- ชั้นที่สอง ไม่แสวงทรัพย์ [ไว้บำรุงตน]
- ชั้นที่สาม ไม่ประกอบธรรมเพื่อเปนที่พึ่ง
- [แล้วทีนี้] จัดทำอไรในชั้นที่สี่เล่า"[ญ]
(โลกนีติไตรพากย์)
- "บุคคลมิได้สร้างสมซึ่งศิลปะศาสตร์ในปฐมวัย
- มิได้สร้างสมทรัพย์ในทุติยวัย มิได้สมธรรมในตติยวัย
- เขาจะกระทำอะไรในจตุตถวัย"
(โลกนีติปกรณ์)
- "ในวัยที่ ๑ (วัยเด็ก) ไม่แสวงหาวิชา
- ในวัยที่ ๒ (วัยหนุ่มสาว) ไม่แสวงหาทรัพย์
- ในวัยที่ ๓ (วัยผู้ใหญ่) ไม่แสวงหาธรรม
- ในวัยที่ ๔ (วัยแก่เฒ่า) จักทำอะไรได้"
(โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ)
๓. ๒)
"ติลมตฺตํ ปเรสํ ว | อปฺปโทสญฺจ ปสฺสติ | |
นาฬิเกรมฺปิ สโทสํ | ขลชาโต น ปสฺสติ" |
"โทษท่านปานหนึ่งน้อย | เม็ดงา | |
พาลเพ่งเล็งเอามา | เชิดชี้ |
ผลพร้าวใหญ่เต็มตา | เปรียบโทษ ตนนา | |
บ่อยบ่อยร้อนหนจี้ | บอกแล้วฤๅเห็น" | |
(สำนวนเก่า) |
"โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง | เม็ดงา | |
ปองติฉินนินทา | จะไจ้ |
โทษตนใหญ่หลวงสา | หัสยิ่ง นักนา | |
ปูนดั่งผลพร้าวไส้ | อาจโอ้อับเสีย" | |
(สำนวนเก่า) |
"โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง | เมล็ดงา | |
ปองติฉินนินทา | ห่อนเว้น |
โทษตนเท่าภูผา | หนักยิ่ง | |
ป้องปิดคิดซ่อนเร้น | เรื่องร้ายหายสูญ" | |
(สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร) |
- "โทษของคนอื่นแม้เลกเท่าเมล็ดงา
- คนพาลก็สอดเหน
- โทษของตนแม้ใหญ่เท่าผลมะพร้าว
- ตนเองก็มิเหน"[ญ]
(โลกนีติไตรพากย์)
- "คนชาติชั่วเห็นโทษน้อยของผู้อื่นเพียงเท่าเมล็ดงา
- แต่โทษของตนโตเท่าลูกมะพร้าวมองไม่เห็น"
(โลกนิติปกรณ์)
- "โทษของคนอื่นแม้เพียงเล็กน้อยเท่าเมล็ดงาคนชั่วก็มองเห็นได้
- แต่โทษของตนแม้ใหญ่โตเท่าผลมะพร้าวกลับมองไม่เห็น"
(โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโลกนิตินี้จะปรากฏในรูปของคาถาภาษาบาลีหรือร้อยแก้วร้อยกรองลักษณะใด คุณค่าในคติคำสอนย่อมเป็นเครื่องจรรโลงวรรณกรรมเรื่องนี้ให้แพร่หลายเป็นหลักประพฤติปฏิบัติของชนทุกชาติทุกภาษาในโลกสมตามชื่อแห่งวรรณกรรมตลอดไป
- ต้นฉบับหนังสือโคลงโลกนิติของทางราชการ
โคลงโลกนิติสำนวนต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นที่ได้ชำระ สอบทาน และจัดพิมพ์เผยแพร่ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของทางราชการ ในปัจจุบันมีสามสำนวน คือ
๑. โคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร หนังสือเล่มนี้ กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ได้ชำระสอบทานและจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ (ร.ศ. ๑๒๓) ใช้เป็นแบบเรียนสำหรับนักเรียนในชื่อเรื่อง "หนังสือสอนอ่าน จินตกระวีนิพนธ์ สุภาษิตโลกนิติ์คำโคลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ทรงชำระของเก่า" ขอบเขตของต้นฉบับมีเฉพาะโคลงที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระไว้สี่ร้อยแปดบท (รวมโคลงนำสองบท และเป็นโคลงที่ซ้ำกันอยู่ห้าบท) กับโคลงส่งท้ายอีกสองบท[ฎ] นอกจากนี้ กรมศึกษาธิการได้นำโคลงที่พบในแผ่นศิลาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามซึ่งมิได้ซ้ำกับโคลงสี่ร้อยแปดบทนั้นมาพิมพ์รวมไว้ข้างท้ายด้วยอีกสามสิบบท วิธีการชำระสอบทานนั้นใช้ต้นฉบับสมุดไทยสี่ฉบับ คือ ฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ของเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ ของพระยาอนุรักษ์ราชมนเทียรซึ่งมีแต่เล่มเต้นเล่มเดียว กับของกระทรวงธรรมการซึ่งมีแต่เล่มสองเล่มเดียว และได้สอบทานกับโคลงโลกนิติในแผ่นศิลาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามด้วย ผู้ชำระสอบทานที่บันทึกไว้ใน "คำนำเฉภาะเรื่อง" ของฉบับพิมพ์ครั้งแรก คือ "ขุนประสิทธิ์อักษรสาร เปนเจ้าหน้าที่ตรวจ และหลวงศรีวรโวหาร หลวงญาณวิจิตร หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เปนที่ปรึกษาหารือและค้นคว้าหาหลักถานในอักขระวิธีและถ้อยคำที่สงสัย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธ์ ได้ทรงพระอุสาหะประทานเวลาช่วยตรวจถ้อยคำและเนื้อความ และประทานความเห็นเปนครั้งที่สุดด้วยจนตลอด เหตุฉะนั้น ควรเปนที่จดจำไว้ว่า ท่านผู้ที่ได้มีพระนามและนามทั้งนี้ได้มีพระคุณอยู่ในหนังสือฉบับนี้มาก"[ฏ] ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ปัจจุบันตกเป็นลิขสิทธิ์ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
ต่อมา คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำต้นฉบับมาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่โดยสอบทานกับฉบับพิมพ์ครั้งต่าง ๆ และกับโคลงโลกนิติจากหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน รวมทั้งหนังสือประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร แก้ไขอักขรวิธีให้ถูกต้องเหมาะสม จัดทำคำอธิบายศัพท์ ดรรชนีค้นโคลง และภาพประกอบ แล้วจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นจำนวนโคลงสี่ร้อยสี่สิบบท
๒. ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เมื่อหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งเป็นหอสมุดสำหรับพระนครรวบรวมสมุดไทยที่เป็นต้นฉบับโคลงโลกนิติมาได้อีกเป็นจำนวนมาก พบว่า ฉบับครั้งกรุงศรีอยุธยามีคาถากำกับโคลงไว้ด้วย โคลงบทหนึ่งมีหลายสำนวน จึงได้มอบหมายให้หลวงญาณวิจิตร (สิทธิ์ โลจนานนท์ เปรียญ) รวบรวม ชำระ สอบทานทั้งคาถาและโคลง จัดเข้าเป็นชุดตามเนื้อความ เฉพาะส่วนที่เป็นคาถา สอบรู้ว่ามาจากคัมภีร์ใด ก็จะระบุชื่อคัมภีร์นั้นกำกับไว้ด้วย เช่น "ธรรมบท" "โลกนิติ" ส่วนโคลงที่เป็นสำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร จะกำกับท้ายโคลงว่า "สมเด็จพระเดชาฯ" สำนวนที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่งใช้ว่า "สำนวนเก่า" หรือ "จารึกศิลา" ได้โคลงภาษิตรวมห้าร้อยเก้าสิบสามชุด จำนวนเก้าร้อยสิบเอ็ดบท (ไม่รวมโคลงนำสองบท และโคลงส่งท้ายอีกสองบท)[ฐ] ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้เมื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ใช้ชื่อว่า ประชุมโคลงโลกนิติ และปัจจุบันใช้ว่า ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
๓. ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขออนุญาตกรมศิลปากรนำต้นฉบับหนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ มาตรวจสอบกับหนังสือโคลงโลกนิติซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์สำหรับใช้เป็นหนังสือแบบเรียน ก็พบว่า มีโคลงหลายบทในฉบับหอสมุดแห่งชาติที่เป็นโคลงซ้ำกันและควรตัดออก กับโคลงบางโคลงที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่จัดพิมพ์แยกเป็นคนละชุดไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน อีกทั้งยังมีความคลาดเคลื่อนในคำและอักขรวิธีทั้งของคาถาและโคลงอันเนื่องมาจากการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติได้ตรวจสอบคาถาประจำโคลงที่มีอยู่เดิมให้ถูกต้องตามคัมภีร์ฉบับที่ชำระใหม่ ตรวจสอบคาถาเพิ่มเติมจากคัมภีร์ภาษิตอื่น ๆ ตัดโคลงที่ซ้ำซ้อน แก้ไขอักขรวิธีเท่าที่จำเป็น และจัดทำคำอธิบายศัพท์ รวมเป็นโคลงภาษิตห้าร้อยเก้าสิบสี่ชุด จำนวนเก้าร้อยสองบท (รวมโคลงนำสองบท และโคลงส่งท้ายอีกสี่บท) รายละเอียดการดำเนินงานปรากฏในคำชี้แจงนั้นแล้ว
- ขอบเขตการดำเนินงาน
คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พบว่า หนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ และหนังสือ โคลงโลกนิติ ซึ่งจัดพิมพ์ในครั้งต่าง ๆ ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ทั้งคาถาและโคลงจำนวนมากมีความคลาดเคลื่อนกันในบางฉบับพิมพ์ จนไม่สามารถยึดฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นแบบเพื่อนำมาพิมพ์ซ้ำได้ คณะกรรมการฯ จึงได้จัดทำ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ และจัดพิมพ์โลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ขึ้นมาใหม่ โดยตรวจสอบคาถาและคำที่ใช้แตกต่างกันในโคลงแต่ละบทจากหนังสือหลาย ๆ ฉบับ แก้ไขอักขรวิธีเท่าที่จำเป็น บันทึกคำที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญไว้ที่เชิงอรรถ จัดทำคำอธิบายศัพท์ตามความหมายในบริบทของโคลงนั้น ๆ และจัดทำดรรชนีค้นโคลงเพื่อสะดวกในการค้นหา
- วิธีดำเนินการตรวจสอบและจัดทำคำอธิบายศัพท์
กำหนดขั้นตอนดังนี้
๑. การตรวจสอบคาถาและโคลง มอบให้นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง เป็นผู้ตรวจสอบ
๒. การจัดทำคำอธิบายศัพท์ มอบให้นางสาวสุปัญญา ชมจินดา นางสาวกระลำภักษ์ แพรกทอง นางสาวจงกลนี มณฑาทิพย์ เป็นผู้จัดทำ และนางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง เป็นผู้ตรวจสอบในเบื้องต้น
๓. การตรวจสอบรับรองคาถา โคลง และคำอธิบายศัพท์ มอบให้คณะทำงานเฉพาะกิจเป็นผู้ดำเนินการ คณะทำงานนี้ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิพุธ โสภวงศ์ ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี นายจุลทัศน์ พยาฆรานนท์ นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง และนางบุษบา ประภาสพงศ์ ร่วมเป็นคณะทำงาน
- หนังสือสือที่ใช้เป็นหลักในการตรวจสอบ และคำย่อที่ใช้อ้างอิง
๑. ต้นฉบับหลัก
๑. ๑.๑ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าสมรศรีโสภา เทวกุล ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๙ (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์, ๒๕๓๙) คำย่อว่า กรมศิลปากร (๒๕๓๙)
๑. ๑.๒ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ (โรงพมพ์อักษรนิติ, ๒๔๖๐) คำย่อว่า วชิรญาณ (๒๔๖๐)
๑. ๑.๓ หนังสือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้เลือกใช้สามเล่ม คือ
๑. ๑.๓ ๑.๓.๑ หนังสือ สอนอ่าน จิตกระวีนิพนธ์ กรมศึกษาธิการ เรื่อง สุภาษิตโลกนิติ์คำโคลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ทรงชำระของเก่า พิมพ์ครั้งที่ ๒ [โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐)]
๑. ๑.๓ ๑.๓.๒ หนังสือ สอนอ่าน กวีนิพนธ์ สำหรับประถมศึกษา กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง สุภาษิตโลกนิติ์คำโคลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระของเก่า พิมพ์ครั้งที ๔ (โรงพิมพ์อักษรนิติ, พ.ศ. ๒๔๖๕)
๑. ๑.๓ ๑.๓.๓ หนังสือ สอนอ่าน กวีนิพนธ์ เรื่อง สุภาษิตโลกนิติคำโคลง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระของเก่า พิมพ์ครั้งที่ ๕ (โรงพิมพ์อักษรนิติ, พ.ศ. ๒๔๗๕)
๑. ๑.๓ โดยที่หนังสือทั้งสามเล่มนี้เป็นฉบับพิมพ์ซ้ำกัน ต่างกันที่หน่วยราชการผู้จัดพิมพ์ซึ่งเปลี่ยนชื่อไปตามการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมในแต่ละสมัย คำย่อจึงใช้ว่า สอนอ่าน (ร.ศ. ๑๒๖) หรือ สอนอ่าน (๒๔๖๕) หรือ สอนอ่าน (๒๔๗๕) หรือหากปรากฏซ้ำกันในทั้งสามเล่มก็ใช้ว่า สอนอ่าน (ร.ศ. ๑๒๖, ๒๔๖๕, ๒๔๗๕)
๑. ๑.๔ ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน (โรงพิมพ์ศิวพร, ๒๕๑๗) คำย่อว่า วัดพระเชตุพน (๒๕๑๗)
๒. ต้นฉบับรอง
๒. ๒.๑ โคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา ของศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ซึ่งหนังสือเล่มนี้ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ใช้โคลงโลกนิติจากต้นฉบับเอกสารสมุดไทยมาตรวจสอบกับเอกสารอื่น ๆ เล่มที่นำมาใช้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ (สำนักพิมพ์แม่คำผาง, ๒๕๓๘) คำย่อว่า นิยะดา (๒๕๓๘)
๒. ๒.๒ โคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๙๐) คำย่อว่า กรมศิลปากร (๒๔๙๐)
๓. คัมภีร์ที่ใช้ตรวจสอบคาถา
๓. ๓.๑ ธรรมนีติ-ราชนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๕) คำย่อว่า ธรรมนีติ ร. และ ราชนีติ ร.
๓. ๓.๒ พระธรรมบทจตุรพากย์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (บริษัทเพื่อนเพิมพ์ จำกัด, ๒๕๓๐) คำย่อว่า พระธรรมบท ร.
๓. ๓.๓ โลกนิติปกรณ์ ของร้อยตำรวจโท แสง มนวิทูร (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์, ๒๕๑๗) คำย่อว่า โลกนิติปกรณ์ ส.
๓. ๓.๔ โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙) คำย่อว่า โลกนีติ ร. และ สุตวัฑฒนนีติ ร.
๓. ๓.๕ โลกนีติไตรพากย์ หรือ โลกนีติคารม (โรงพิมพ์ไท, ๒๔๖๑) คำย่อว่า ไตรพากย์ (๒๔๖๑)
- เกณฑ์การพิจารณาตรวจสอบคาถา
๑. กรณีที่ต้นฉบับเดิมไม่มีคาถา
๑. ๑.๑ เมื่อสืบค้นพบคาถาอื่นที่มีความหมายตรงกับโคลงอย่างครบถ้วน ก็จะนำคาถานั้น ๆ มาใส่ไว้เหนือโคลงพร้อมกับระบุที่มาของคาถา แล้วทำเชิงอรรถว่า "เดิมไม่มีคาถา"
๑. ๑.๒ เมื่อสืบค้นพบคาถาในคัมภีร์เล่มอื่น ๆ มากกว่าหนึ่งแห่ง โดยมีความแผกเพี้ยนกันในถ้อยคำ แต่ความหมายเดียวกัน คณะกรรมการจะถือเอาคาถาจาก โลกนีติ ร. เป็นหลัก แล้วระบุคาถาที่ปรากฏในคัมภีร์อื่น ๆ ไว้ที่เชิงอรรถ แต่ถ้าไม่ปรากฏคาถาจาก โลกนีติ ร. ก็จะเลือกคาถาบทซึ่งมีความหมายตรงมากที่สุดใส่ไว้เหนือโคลง แล้วพิมพ์คาถาจากคัมภีร์อื่น ๆ ไว้ที่เชิงอรรถ
๑. ๑.๓ ในกรณีที่ไม่มีคาถา แต่สืบค้นพบคาถาในคัมภีร์อื่น ๆ ซึ่งมีแนวคิดเป็นทำนองเดียวกับโคลง แต่รายละเอียดต่างกัน ก็จะใส่คาถาที่พบใหม่นี้ไว้ที่เชิงอรรถ
๒. กรณีที่ต้นฉบับเดิมมีคาถา แต่ไม่ปรากฏที่มาของคาถา
๒. ๒.๑ เมื่อสืบค้นไม่ได้ ก็จะบอกไว้ท้ายคาถาว่า "ไม่ปรากฏที่มา"
๒. ๒.๒ ถ้าเดิมมีคาถา แต่ไม่ปรากฏที่มา และสืบค้นได้จากแหล่งอื่น ๆ ก็จะระบุที่มาดังกล่าวไว้ท้ายคาถา แล้วทำเชิงอรรถว่า "เดิมไม่ปรากฏที่มา"
๒. ๒.๑ ๒.๒.๑ ถ้าคาถาตรงหรือเหมือนกันทั้งหมดในคัมภีร์หลายฉบับ ก็จะใส่ชื่อคัมภีร์ทุกฉบับไว้ที่ท้ายคาถา
๒. ๒.๑ ๒.๒.๒ ถ้าคาถาเหมือนกันเกือบทั้งหมด แต่มีรายละเอียดต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ คือ
๒. ๒.๑ ๒.๒.๒ ก. ใช้ตัวสะกดต่างกัน คำต่างกัน จะถือตามคัมภีร์ฉบับที่ราชบัณฑิตยสถานชำระ แล้วใส่ข้อแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ปรากฏในคาถาฉบับเดิมไว้ที่เชิงอรรถ
๒. ๒.๑ ๒.๒.๒ ข. ใช้คำต่างกันในความหมายเดียวกัน เช่น มกฺกฏ/มรฺกฏ = ลิง จะรักษาคำเดิมในต้นฉบับ (กรมศิลปากร ๒๕๓๙) ไว้ แล้วนำคำที่ต่างกันใส่ไว้ในเชิงอรรถ เว้นแต่เมื่อต้นฉบับไม่ถูกต้อง ก็จะเลือกคำที่ถูกต้องจากคัมภีร์อื่น ๆ มาใช้แทน
๓. กรณีที่ต้นฉบับมีคาถาและระบุที่มาของคาถา
๓. ๓.๑ ถ้าต้นฉบับระบุที่มาด้วยชื่อสั้น ๆ ก็จะคงชื่อเดิมไว้ แล้วใส่ชื่อคัมภีร์เดียวกันซึ่งราชบัณฑิตยสถานชำระใหม่ หรือที่คณะกรรมการฯ ตรวจสอบพบ ไว้ที่เชิงอรรถ
๓. ๓.๒ ถ้าสอบค้นพบคาถาเดียวกันนั้นในหลาย ๆ คัมภีร์ และคาถาต่างกันเล็กน้อย เช่น ตัวสะกดต่างกัน หรือใช้คำต่างกันในความหมายเดียวกัน (เช่น สินธุ/อุทก) ก็จะใส่คาถาเดิมไว้ข้างบน และชี้ความแตกต่างไว้ในเชิงอรรถ
- ข้อสังเกตในการตรวจสอบคาถาและโคลง
๑. ประชุมโคลงโลกนิติ คือ การนำโคลงสำนวนต่าง ๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกันมารวมกันเป็นชุด ให้ลำดับหมายเลขเรียงกันไป หมายเลขหนึ่ง ๆ อาจมีโคลงบทเดียวหรือมากถึงสี่ห้าบทก็ได้ แล้วมีคาถาภาษิตประจำโคลงแต่ละหมายเลขกำกับไว้ ในการตรวจสอบ คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับความลักลั่นคลาดเคลื่อนของโคลงดังนี้
๑. ๑.๑ มีโคลงที่ซ้ำกัน แต่อยู่คนละหมายเลข และระบุผู้แต่งหรือที่มาไว้ตรงกันบ้างต่างกันบ้าง เช่น โคลงบทเดียวกัน ที่หนึ่งระบุว่าแต่งโดยสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร แต่อีกที่หนึ่งว่าเป็นสำนวนเก่า
๑. ๑.๒ มีโคลงที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ซึ่งควรจะอยู่ในชุดหรือหมายเลขเดียวกัน กลับเก็บไว้คนละหมายเลขก็มี
๑. ๑.๓ มีโคลงที่มีความหมายใกล้เคียงและอยู่คนละหมายเลข ที่หนึ่งมีคาถาภาษิตกำกับ ส่วนอีกที่หนึ่งไม่มีภาษิตกำกับ
๑. ๑.๔ โคลงที่มีความหมายต่างกัน แต่เก็บรวมไว้ในหมายเลขเดียวกัน
๑. ๑.๕ โคลงสองบทที่มีความหมายต่อเนื่องกัน เพราะแต่งจากคาถาภาษิตบทเดียวกัน เก็บไว้ในหมายเลขเดียวกันก็มี เก็บไว้ต่างหมายเลขก็มี
ในการพิมพ์ครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ตัดโคลงที่ซ้ำกันออก ได้ย้ายโคลงที่ระบุว่าเป็นพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ซึ่งเดิมพิมพ์ไว้ห่างกัน มาลำดับไว้ในหมายเลขใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาเทียบเคียงกับเรื่อง โคลงโลกนิติ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ซึ่งกรมวิชาการได้จัดพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม เฉพาะโคลงส่งท้ายซึ่งไม่ใช่ตัวภาษิต ปรากฏในหนังสือโคลงโลกนิติและประชุมโคลงโลกนิติทั้งสองเล่ม รวมสี่บทนั้น คณะกรรมการฯ ได้จัดพิมพ์ไว้ที่ท้ายเล่ม และทำเชิงอรรถแสดงข้อคลาดเคลื่อนต่าง ๆ รวมทั้งข้อควรสังเกตที่ตรวจสอบพบไว้ด้วย
๒. การเพิ่มคาถาภาษิต เนื่องจากหนังสือประชุมโคลงโลกนิติซึ่งใช้เป็นแบบในการจัดพิมพ์ครั้งนี้มีโคลงหลายบทที่ไม่มีคาถากำกับ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบคาถาจากคัมภีร์ต่าง ๆ และนำมาเพิ่มไว้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้ชี้แจงไว้ในเกณฑ์การพิจารณาตรวจสอบข้างต้น แล้วยังมีคาถาอีกจำนวนหนึ่งที่คณะกรรมการฯ ได้อ้างจากหนังสือ โคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ได้ตรวจสอบไว้ และคณะกรรมการฯ เห็นว่า เป็นประโยชน์ที่จะรวบรวมไว้ให้ค้นคว้าอ้างอิงต่อไป จึงได้นำคาถาดังกล่าวมาใส่ไว้ด้วย และมีเชิงอรรถแจ้งไว้ว่า เป็นคาถาที่อ้างอิงโดยผ่านหนังสือ โคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา ซึ่งใช้คำย่อว่า นิยะดา (๒๕๓๘)
โคลงหมายเลข | บาทแรก | หน้า |
---|---|---|
อัญขยมบรมนเรศร์เรื้อง รามวงศ์ | ๖๕ | |
ครรโลงโลกนิตินี้ นมนาน | ๖๕ | |
ทัศนัขนอบน้อมมิ่ง อุตมางค์ | ๖๖ | |
โลกนิติในโลกล้วน แก่นสาร | ๖๗ | |
ปลาร้าหุ้มห่อด้วย ใบคา | ๖๘ | |
ใบพ้อคนห่อหุ้ม กฤษณา | ๗๐ | |
ลูกเดื่อครั้นสุกไซร้ มีพรรณ | ๗๑ | |
ผลขนุนภายนอกนั้น หนามหนา | ๗๓ | |
ยางยลขนสุทธิ์ไซร้ ดูดี | ๗๕ | |
คนพาลยังไป่รู้ ชาญชิด | ๗๖ | |
คนใดใจฉลาดด้วย ปัญญา | ๗๘ | |
หมูเห็นสีหราชร้อง ชวนรบ | ๗๙ | |
สีหราชกล่าวว่าโอ้ พาลหมู | ๘๐ | |
กบกับบัวเกิดใกล้ กันนา | ๘๑ | |
ใจหวาดใจฟั่นฟื้น โฉงเฉง | ๘๒ | |
ไม้ค้อมมีลูกน้อม นวยงาม | ๘๔ | |
เป็นคนควรที่รู้ สมาคม | ๘๕ | |
คนใดแสวงเสพด้วย คนพาล | ๘๖ | |
ได้เห็นนักปราชญ์ไซร้ เป็นสุข | ๘๗ | |
จงเจ้าแหห่างห้อง ทุรชน พ่อฮา | ๘๘ | |
คบกากาโหดให้ เสียพงศ์ | ๘๙ | |
มดแดงแมลงป่องไว้ พิษหาง | ๙๐ | |
นาคาพิษพ่างเพี้ยง สุริโย | ๙๑ | |
ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น นักเรียน | ๙๔ | |
กัลออมเพ็ญเพียบน้ำ ฤๅมี เสียงนา | ๙๔ | |
งาสารฤๅห่อนเหี้ยน หดคืน | ๙๖ | |
ทรชนอย่าเคียดแค้น อย่าสนิท | ๙๗ | |
มีมิตรจิตอย่าให้ สนิทนัก | ๙๙ | |
หมาใดตัวร้ายขบ บาทา | ๑๐๐ | |
ขมสะเดาน้ำผึ้งทส กรปน | ๑๐๒ | |
พริกเผ็ดใครเผ็ดให้ ฉันใด | ๑๐๓ | |
จันทน์เผาเหือดแห้งห่อน กลิ่นธาร | ๑๐๓ | |
หงส์ทองเสพส้องสู่ ฝูงกา | ๑๐๖ | |
แมลงวันแสวงเสพด้วย ลามก | ๑๐๘ | |
เนื้อปองน้ำหญ้าบ่ ปองทอง | ๑๐๙ | |
กายเกิดพยาธิโรคร้าย ยาหาย | ๑๑๑ | |
เขาใหญ่สูงร้อยโยชน์ คณนา | ๑๑๒ | |
คบคนผู้โฉดเคลิ้ม อับผล | ๑๑๒ | |
ภูเขาอเนกล้ำ มากมี | ๑๑๓ | |
ภูเขาทั้งแท่งล้วน ศิลา | ๑๑๓ | |
ห้ามเพลิงไว้อย่าให้ มีควัน | ๑๑๔ |
ด้วยกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติให้ดำเนินการพิจารณาคัดสรรวรรณคดีและวรรณกรรมที่มีคุณค่าซึ่งเป็นสมบัติของชาติที่ควรอนุรักษ์ไว้นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่ให้เกิดประโยชน์แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป
คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติจึงได้ศึกษา รวบรวม และคัดสรรวรรณกรรมประเภทภาษิตคำสอนซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างสรรค์สั่งสมไว้นำมาจัดทำเป็นหนังสือชุดวรรณกรรมภาษิตและคำสอน
ประชุมโคลงโลกนิติ นี้เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในชุดวรรณกรรมภาษิตและคำสอนซึ่งกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เพื่ออนุรักษ์สืบทอดวรรณกรรมดีเด่นอันเป็นสมบัติของชาติและส่งเสริมให้เยาวชน บุคคลทั่วไป ตลอดจนผู้รักการศึกษาค้นคว้าได้อ่าน ศึกษา เปรียบเทียบ และใช้วิจารณญาณในการเลือกสรรภาษิตคำสอนไปใช้เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและสังคมสืบไป
ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร | กรรมการที่ปรึกษา |
ศาสตราจารย์ คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส | กรรมการที่ปรึกษา |
ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ | กรรมการที่ปรึกษา |
นายจุลทัศน์ พยาฆรานนท์ | กรรมการที่ปรึกษา |
อธิบดีกรมวิชาการ (นายอำรุง จันทวานิช) | กรรมการที่ปรึกษา |
รองอธิบดีกรมวิชาการ (นางอารีรัตน์ วัฒนสิน) | กรรมการที่ปรึกษา |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิพุธ โสภวงศ์ | ประธานกรรมการ |
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ชลธิรา สัตยาวัฒนา | รองประธานกรรมการ |
นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง | รองประธานกรรมการ |
นางปรุงศรี วัลลิโภดม (ผู้อำนวยการกองวรรณกรมและประวัติศาสตร์) | กรรมการ |
นางวารีย์ แย้มวงษ์ (ผู้แทนผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการถ่ายทอดวัฒนธรรม) | กรรมการ |
นางศิริมาลา สุวรรณโภคิน (ผู้แทนผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา) | กรรมการ |
นายบรรเจิด อินทุจันทร์ยง | กรรมการ |
ศาสตราจารย์กุสุมา รักษมณี | กรรมการ |
นางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ | กรรมการ |
นางสาวนิยะดา ทาสุคนธ์ | กรรมการ |
นางพจมาน พงษ์ไพบูลย์ | กรรมการ |
นางสาวสมพร จารุนัฏ | กรรมการ |
นางบุษบา ประภาสพงศ์ | กรรมการและเลขานุการ |
นายอุทัย ไชยกลาง | กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
นางลัตติยา อมรสมานกุล | กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
นางสาวกาญจนา แดงถึก | กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร | นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง |
บทนำเสนอ | นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง |
คำชี้แจงการจัดทำ | นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง |
ตรวจสอบคาถาและชำระโคลง |
|
คำอธิบายศัพท์ |
|
ตรวจสอบเชิงอรรถและคำอธิบายศัพท์ |
|
ที่ปรึกษาศิลปกรรม | นายจุลทัศน์ พยาฆรานนท์ |
ศิลปกรรม | นายอุทัย ไชยกลาง |
วาดภาพลายเส้น | นายเศรษฐมันตร์ กาญจนกุล |
ถ่ายภาพ | นายทวีพร ทองคำใบ |
บรรณาธิการ |
|
เชิงอรรถ
[แก้ไข]ก ทรงได้รับสถาปนาพระอิสริยยศสูงสุดตามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฏเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกตำแหน่ง "กรมสมเด็จพระ" เปลี่ยนเป็น "สมเด็จกรมพระยา" พระนามที่ปรากฏในเอกสารต่าง ๆ จึงมีพระอิสริยยศที่ต่างกันตามแต่ว่าเอกสารนั้น ๆ เขียนขึ้นในช่วงเวลาใด.
ข หอพระสมุดวชิรญาณ, จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงษานุวงษ์กรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ตลอดจนรัชกาลที่ ๕ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์, ๒๔๕๗), หน้า ๕๕. สะกดการันต์ตามต้นฉบับ.
ค กรมศิลปากร, "ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๑ จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต" ใน ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่มที่ ๑๒ (กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า, ๒๕๑๓), หน้า ๔๙๒-๔๙๓. สะกดการันต์ตามต้นฉบับ.
ง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๔ เล่ม ๑ (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔), หน้า ๘๖.
จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๑), หน้า ๔๒๖-๔๒๗. สะกดการันต์ตามต้นฉบับ.
ฉ หมายถึง นางสาวทรงสรรค์ นิลกำแหง.
ช เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ เล่มที่ ๑ (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔), หน้า ๒๒๒-๒๒๓.
ซ ประชุมจารึกภาคที่ ๑ ให้ความหมายว่า "เห็นข้าวของท่านก็ไม่อยากยินดี เห็นทรัพย์ของท่านก็ไม่อยากยินร้าย" คือ ไม่อยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่นนั่นเอง.
ฌ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ ไม่ระบุชื่อผู้แปล ต่อมาในฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงระบุชื่อ "นาคะประทีป" แต่บางตำรากล่าวว่า เป็นผลงานร่วมกันของพระยาอนุมานราชธนกับพระสารประเสริฐ.
ญ สะกดการันต์ตามต้นฉบับ.
ฎ โคลงส่งท้ายสองบทปรากฏอยู่ในหนังสือพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร ได้แก่
"สี่ร้อยแปดบทสิ้น | สุดแสวง | |
ข้ายุคลบาทแปลง | เปลี่ยนถ้อย |
ผ่อนผิดเพิ่มเติมแสดง | ใดขาด เขียนแฮ | |
เพียงประพาฬพู่ร้อย | เรียบได้โดยเพียร |
เขียนลงคัดเลือกแล้ว | หลายยก | |
ถวายแด่สมเด็จดิลก | เลิศหล้า |
ขอเอาพระเดชปก | เปนปิ่น ปักแฮ | |
เฉลิมพระยศอยู่ช้า | ชั่วร้อยพันปี" |
ฏ สะกดการัตน์และวรรคตอนตามต้นฉบับ "คำนำเฉภาะเรื่อง" ของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อธิบดีกรมศึกษาธิการ ในหนังสือ สอนอ่าน จินตกระวีนิพนธ์ สุภาสิตโลกนิติ์คำโคลง กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ จัดพิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๒๓ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ร.ศ. ๑๒๖ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.
ฐ โคลงส่งท้ายสองบทปรากฏเฉพาะในเล่ม ประชุมโคลงโลกนิติ แต่ไม่ปรากฏในเล่มที่เป็นพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร มีว่า
"สารสืบฉบับสิ้น | เสร็จสนอง | |
ชำระเรื่องคงของ | เก่าแก้ |
ผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลงลอง | ลิขิต เดิมนา | |
ล้วนโอวาทปราชญ์แท้ | ถี่ถ้วนควรถนอม" | |
(สำนวนเก่า) |
"จำลองลักษณ์แล้วเนิ่น | นานครัน | |
มีหมดบทสิ่งสรรพ์ | เสร็จสิ้น |
ไว้สำหรับผู้ปัญ | ญาโฉด เฉาแฮ | |
ขอจงเจริญสวัสดิ์พ้น | ยศหยิ้งยาวนาน" | |
(สำนวนเก่า) |
งานนี้ประกอบด้วยงานย่อยหลายส่วนซึ่งอยู่ในบังคับแห่งลิขสิทธิ์หลายเรื่องต่างกัน เช่น งานอันลิขสิทธิ์หมดอายุ และงานที่ไม่มีลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ดี งานนี้ทุกส่วนล้วนเป็นสาธารณสมบัติแล้ว | |
ส่วนบทประพันธ์: |
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
|
ส่วนอื่น ๆ: |
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
|