ประชุมโคลงโลกนิติ/๐๓๒

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
หน้า ๑๐๓-๑๐๕

สารบัญโคลง



๓๒.

สุกฺโขปิ จนฺทนตรํ น ชหาติ คนฺธํ
นาโค คโต รณมุเข น ชหาติ ลีฬํ
ยนฺเต คโต มธุรสํ น ชหาติ อุจฺฉุ
ทุกฺโข ปิ ปณฺฑิตชโน น ชหาติ ธมฺมํ[ก]
โลกนีติ ร.


ก.   จันทน์เผาเหือดแห้งห่อน กลิ่นธาร
อ้อยหีบแล้วหอมหวาน กลิ่นอ้อย
ช้างเข้าศึกเสี่ยมสาร ยกย่าง งามนา
บัณฑิตแม้ทุกข์ร้อย ห่อนรื้อเสียธรรม
สำนวนเก่า


ข.   จวงจันทน์แม้แห่งห่อน โรยรส
ช้างสู่สงครามขยด ค่อยเข้า
อ้อยหีบพร่ำสาหส ฤๅจืด จางนา
นักปราชญ์ทุกข์ร้อนเร้า ห่อนรื้อลืมธรรม
สำนวนเก่า


ค.   รัตจันทน์แม้มาตรแห้ง ฤๅหาย กลิ่นเฮย
คชสารสู้รณเยื้องผาย ห่อนทิ้ง
อ้อยอัดบดยนต์ขยาย รสห่อน เสียแฮ
ปราชญ์ทุกข์แทบตัวกลิ้ง ห่อนได้เสียธรรม
สำนวนเก่า


ง.   จันทน์แดงแห้งห่อนสิ้น กลิ่นอาย
สารบ่ละลาดผาย ศึกเข้า[ข]
อ้อยอัดหีบห่อนหาย หวานรส นะพ่อ
ปราชญ์ทุกข์ลำเค็ญเร้า ไป่ร้างโรยธรรม
สำนวนเก่า


จ.   จันทน์แห้งกลิ่นห่อนได้ ดรธาน
อ้อยหีบชานยังหวาน[ค] โอชอ้อย
ช้างเข้าศึกเสี่ยมสาร ยกย่าง งามนา
บัณฑิตแม้นทุกข์ร้อย เท่ารื้อลืมธรรม
สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร



เชิงอรรถ[แก้ไข]

คาถาหมายเลข ๓๒ เดิมไม่ปรากฏที่มา ได้ตรวจสอบพบใน โลกนีติ ร. ส่วน ธรรมนีติ ร. มีคาถาที่มีความหมายใกล้เคียงกับบทนี้ดังนี้

"ยนฺตคโต อุจฺฉุ รสํ น ชหาติ คโช ตถา
สงฺคาเมสุ คโต ลีฬํ สุสฺสุเตนาปิ จนฺทนํ
สารคนฺธํ น ชหาติ ทุกฺขปฺปตฺโตปิ ปณฺฑิโต
น ชหาติ สตํ ธมฺมํ สุขกาเล กถา ว กา"

สารบ่ละลาดผาย ศึกเข้า – ช้างจะไม่เคลื่อนหรือละทิ้งไป แต่จะเข้าไปสู้ศึก (ลาด คือ เคลื่อนไป); ละลาด กรมศิลปากร (๒๕๓๙) ใช้ ละลาย

ชานยังหวาน – นิยะดา (๒๕๓๘) ใช้ บ่หายหวาน

บทอธิบายศัพท์[แก้ไข]

หมายเหตุต้นฉบับ
  • ห่อนรื้อเสียธรรม – หรือจะเคยทิ้งธรรม คือ ไม่ทิ้งธรรม (ห่อน คือ เคย, รื้อ คือ หรือ, เสีย คือ ทิ้ง)[a]
  • จวงจันทน์ – ไม้จันทน์ที่กรางหรือถูด้วยวัตถุอื่น ๆ ให้เป็นผง
  • ขยด – กด กระเถิบ เลื่อนจาก
  • สาหส – สาหัส
  • รัตจันทน์ – จันทร์แดง (รัต คือ สีแดง)
  • บดยนต์ – เครื่องหีบอ้อย
  • หีบ – คั้น บีบเค้นให้น้ำ (หวาน) ออกมา
  • ดรธาน – หายไป ลับไป (มาจาก อันตรธาน)
  • เท่ารื้อลืมธรรม – แต่หรือจะลืมธรรม คือ ไม่ลืมธรรม (เท่า คือ แต่[b]; รื้อ คือ หรือ)
หมายเหตุของวิกิซอร์ซ

a ความจริงแล้ว "ห่อน" แปลว่า ไม่ ตามความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (เช่น "ห่อนเห็นเจ้าเศร้าใจครวญ" แปลว่า ไม่เห็นเจ้า ก็เศร้าใจและคร่ำครวญอยู่) ฉะนั้น "ห่อนรื้อเสียธรรม" ก็ควรแปลว่า ไม่เลิกละธรรม มากกว่า (รื้อ แปลว่า เลิกออก ขนออก)

b ความจริงแล้ว "เท่า" ในวรรคที่สองของบาทที่สี่นี้ไม่น่าจะแปลว่า "แต่" เพราะ "เท่า" ในที่นี้ควรต่อเนื่องกับคำว่า "ร้อย" ในวรรคที่หนึ่งของบาทเดียวกัน ("บัณฑิตแม้นทุกข์ร้อย เท่ารื้อลืมธรรม") โดยทั้งบาทนี้มีความหมายว่า บัณฑิตต่อให้เผชิญความทุกข์ร้อยเท่าก็ไม่เลิกละธรรม




๓๑. พริกเผ็ดใครเผ็ดให้ ฉันใด ขึ้น ๓๓. หงส์ทองเสพส้องสู่ ฝูงกา