ประชุมโคลงโลกนิติ/๐๓๓
หน้าตา
หน้า ๑๐๖-๑๐๗
๓๓.
หํโส มชฺเฌ น กากานํ | สีโห คุนฺนํ น โสภเต | |
คทฺรภมชฺเฌ ตุรงฺโค | พาลมชฺเฌ จ ปณฺฑิโต[ก] | |
โลกนิติ |
ก. หงส์ทองเสพส้องสู่ | ฝูงกา | |
สีหราชเคียงโคคลา | คลาดเคล้า |
อัสดรอยู่กลางลา | หินชาติ | |
นักปราชญ์พาลพาเต้า | สี่นี่บ่งาม | |
สำนวนเก่า |
ข. ชาติหงส์การอบล้อม | ฤๅงาม | |
โครอบราชสีห์ทราม | เสื่อมแท้ |
อัสดรเลื่องฦๅนาม | ลารอบ ควรฤๅ | |
ปราชญ์อยู่กลางพาลแส้ | ยศสิ้นเสื่อมสูญ | |
สำนวนเก่า |
ค. ฝูงหงส์หลงอยู่ด้วย | ฝูงกา | |
อุศุภราชเป็นโคนา | ท่านใช้ |
ม้าต้นเป็นม้าลา | ตกต่ำ | |
นักปราชญ์เป็นบ้าใบ้ | เพราะใกล้คนพาล | |
สำนวนเก่า |
ง. ฝูงหงส์หลงเข้าสู่ | ฝูงกา | |
สีหราชเคียงโคนา[ข] | คลาดเคล้า[ค] |
ม้าต้นระคนลา | เลวชาติ | |
นักปราชญ์พาลพาเต้า | สี่นี้ไฉนงาม[ง] | |
สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร |
เชิงอรรถ
[แก้ไข]ก คาถาหมายเลข ๓๓ ตรงกับใน โลกนีติ ร. ส่วน ธรรมนีติ ร. มีคาถาที่มีความหมายตรงกันแต่เขียนต่างไปบ้างดังนี้
"หํโส มชฺเฌ น กากานํ | สีโห คุนฺนํ น โสภเต | |
คทฺรภานํ น ตุรงฺโค | พาลานญฺจ น ปณฺฑิโต" |
ข สีหราชเคียงโคนา – สอนอ่าน (ร.ศ. ๑๒๖, ๒๔๖๕, ๒๔๗๕) ใช้ สีหราชเคียงโคคลา; นิยะดา (๒๕๓๘) ใช้ อุศุภราชเป็นโคนา
ค คลาดเคล้า – นิยะดา (๒๕๓๘) ใช้ ท่านใช้
ง พาลพาเต้า สี่นี้ไฉนงาม – นิยะดา (๒๕๓๘) ใช้ เป็นบ้าใบ้ เพราะใกล้คนพาล
บทอธิบายศัพท์
[แก้ไข]- อุศุภราช – อุสุภราช คือ พญาวัว (อุสภ, อุสุภ คือ วัวตัวผู้)