ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมโคลงโลกนิติ/บทนำ

จาก วิกิซอร์ซ
บทนำเสนอ





โลกนิติ หรือโลกนีติ เป็นคัมภีร์คำสอนของอินเดียที่โบราณจารย์ได้รวบรวมไว้ และเป็นที่รู้จักกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะในประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาและวัฒนธรรมอินเดีย อีกทั้งเป็นคัมภีร์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่าคัมภีร์อื่น ๆ ในแนวเดียวกัน เช่น คัมภีร์ธรรมนีติ คัมภีร์ราชนีติ และคัมภีร์สุตวัฑฒนนีติ ซึ่งล้วนมีเนื้อหาเป็นคติสอนใจ และให้แนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ตลอดจนเป็นหลักในการปกครองและบริหารบ้านเมือง เพราะคัมภีร์โลกนีติมีขอบข่ายเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมวิถีชีวิตของคนทั่วไปมากกว่า สำนวนภาษาตลอดจนความหมายก็ง่ายต่อการทำความเข้าใจมากกว่าคัมภีร์อื่น ๆ คัมภีร์โลกนีติที่เข้ามาในประเทศไทยนอกจากจะแทรกอยู่ในสุภาษิตต่าง ๆ แล้ว ยังมีผู้แปลเป็นภาษาไทยทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง สำนวนที่รู้จักกันแพร่หลายมากกว่าสำนวนอื่น ๆ คือ โคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร


ผู้แต่งคัมภีร์โลกนีติ


ในบทขึ้นต้นของคัมภีร์โลกนีติมีข้อความว่า

"นมัสการพระรัตนตรัยแล้ว ข้าพเจ้าจักแถลงนีติประจำโลกซึ่งรวบรวมมาจากคัมภีร์ต่าง ๆ โดยสังเขปด้วยภาษามคธล้วน"

(โลกนีติไตรพากย์)

แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ใดว่า "ข้าพเจ้า" ผู้รวบรวมคัมภีร์โลกนีติขึ้นนี้คือนักปราชญ์ท่านใด ศาสตราจารย์ ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร ได้วิจัยเกี่ยวกับความเป็นมาของคัมภีร์โลกนีติไว้ในผลงานวิจัยเรื่อง "โคลงโลกนิติ: การศึกษาที่มา" (๒๕๒๗) ว่า มีความเชื่อเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเชื่อว่า เป็นของชาวมณีปุระซึ่งอพยพหนีภัยสงคามจากเมืองมณีปุระในภาคเหนือของประเทศอินเดียวเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่า กลุ่มที่ ๒ เชื่อว่า เป็นผลงานของจตุรงคพล นักปราชญ์ชาวพม่าผู้มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งคัมภีร์โลกนีติเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาและมีความรอบรู้ในคัมภีร์คำสอนต่าง ๆ เป็นอย่างใด เช่น พระไตรปิฎก พระธรรมบท ชาดก ธรรมนีติ หิโตปเทศ และจาณักยศตกะ คาถาในคัมภีร์โลกนีติซึ่งแต่งไว้เป็นภาษาบาลีหรือภาษามคธเท่าที่ปรากฏในวรรณกรรมไทยมีหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดคาถา และมีหลายบทที่แปลงมาจากคาถาภาษาสันสกฤตในคัมภีร์ต่าง ๆ ดังกล่าว


โลกนิติในวรรณกรรมไทย


สุภาษิตจากคัมภีร์โลกนีติน่าจะแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย และคงจะได้รับความนิยมมากตั้งแต่ในสมัยนั้น ด้วยมีสาระจากคำสอนบางบทในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยตรงกับที่ปรากฏในโลกนิติ เช่น


๑. "ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน ผิดแลผิดแยกแสกว้างกัน สวนดูแท้แลจึ่งแล่งความแก่เขาด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน"

(ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)

"ท้าวพญาพึงทรงรอบรู้เองในทางได้และทางจ่าย
พึงทราบเองว่าสิ่งไรควรและไม่ควรกระทำ
พึงลงทัณฑ์แก่ผู้ควรรับทัณฑ์
และพึงยกย่องผู้ควรยกย่อง"

(โลกนีติไตรพากย์)

"นรินทร์พึงรอบรู้ สรรพสรรพ์
การก่อนบ่กอบทัน เท่ารู้
ชาติทุรพลพันธุ์ ควรข่ม ข่มพ่อ
ควรยกยกย่องผู้ ชอบให้รางวัล"
(โคลงโลกนิติ – สำนวนเก่า)


๒. "เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด"[ซ]

(ศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)

"เมียท่านพิศพ่างเพี้ยง มารดา
ทรัพย์ท่านคืออิฐผา กระเบื้อง
รักสัตว์อื่นอาตมา เทียมเท่า กันแฮ
ตรองดั่งนี้จักเปลื้อง ปลดพ้นสงสาร"
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)


ในสมัยต่อมา จึงได้มีผู้แปลคัมภีร์โลกนีติเป็นภาษาไทยทั้งในรูปร้อยกรองและร้อยแก้วดังนี้

๑. โคลงโลกนิติ หรือโลกนิติที่เป็นร้อยกรอง เป็นการแปลคัมภีร์โลกนีติ แล้วแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ และเพิ่มภาษิตอื่น ๆ (ที่เชื่อกันว่าเป็นโลกนิติ) เข้าไปด้วย จำนวนภาษิตจึงมีมากกว่าที่มีในคัมภีร์โลกนีติ และมีหลายสำนวน เช่น

๑. ๑.๑ โคลงโลกนิติสำนวนเก่า โคลงโลกนิตินี้น่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หรืออย่างน้อยก็ก่อนรัชกาลที่ ๓ มีหลายสำนวนดังปรากฏในสมุดไทยซึ่งเก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระโคลงโลกนิติ ก็ได้ทรงตรวจสอบจากโคลงโลกนิติสำนวนเก่าเหล่านี้ ต่อมา เมื่อหอพระสมุดวชิรญาณจัดพิมพ์หนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็ได้รวมพิมพ์ไว้ทั้งโลกนีติคาถาภาษาบาลี โคลงโลกนิติสำนวนเก่า และโคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

๑. ๑.๒ โคลงโลกนิติ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ฉบับนี้แต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๔-๒๓๗๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร แล้วให้จารึกตำรับตำราต่าง ๆ ทั้งด้านวรรณคดี โบราณคดี พุทธศาสนา ประเพณี ตำรายา ตลอดจนสุภาษิต ลงบนแผ่นศิลาที่ประดับผนังปูชนียสถานต่าง ๆ ที่ทรงปฏิสังขรณ์นั้น สำหรับให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้ ในการนี้ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่าให้ถูกต้องตามพระบาลี บางโคลงก็ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่ ปรากฏต้นฉบับในสมุดไทยสี่ร้อยแปดบท แล้วจารึกแผ่นศิลาประดับศาลาทิศพระมณฑปสี่หลัง แต่จำนวนโคลงที่จารึกไว้มีมากกว่านี้ เข้าใจว่า ทรงเพิ่มเติมภายหลังเพื่อให้พอดีกับพื้นที่ที่จะจารึก โคลงโลกนิติพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศรนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่าสำนวนอื่น ๆ รวมทั้งได้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนด้วย

๑. ๑.๓ โคลงโลกนิติ (เข้าใจว่าเป็น) สำนวนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ฉบับนี้แปลจากคัมภีร์โลกนีติฉบับภาษาบาลีซึ่งหนังสือ วชิรญาณ เล่ม ๒ จ.ศ. ๑๒๔๗ ได้นำคัมภีร์โลกนีติฉบับภาษาบาลีซึ่งแบ่งออกเป็นเจ็ดกัณฑ์ โคลงโลกนิติสำนวนพระยาศรีสุนทรโวหาร และโคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร มารวมพิมพ์ไว้ในเล่มเดียวกันเรียงตามลำดับสำนวน

๒. โลกนิติที่เป็นร้อยแก้ว โลกนิติที่เป็นร้อยแก้วมีหลายสำนวน เช่น

๒. ๒.๑ โลกนีติไตรพากย์ หรือ โลกนีติคารม พ.ศ. ๒๔๖๑ สำนวนของพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)[ฌ] ที่เรียกว่า "ไตรพากย์" นั้นด้วยในแต่ละคาถาจัดทำเป็นสามภาษาเพื่อสะดวกต่อการศึกษาเทียบเคียง คือ ภาษาบาลี ภาษาไทย (ร้อยแก้ว) และภาษาอังกฤษ จำแนกเนื้อหาเป็นเจ็ดกัณฑ์ คือ ปัณฑิตกัณฑ์ สาธุชนกัณฑ์ พาลทุรชนกัณฑ์ มิตรกัณฑ์ อิตถีกันฑ์ ราชกัณฑ์ และเบ็ดเตล็ด รวมทั้งสิ้นหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดคาถา คาถาใดที่ตรงกับโคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ก็จะคัดโลงบทนั้น ๆ มาพิมพ์ไว้ด้วย

๒. ๒.๒ โลกนิติปกรณ์ สำนวนของแสง มนวิทูร ท่านได้แปลคัมภีร์โลกนิติเป็นภาษาไทย (ร้อยแก้ว) โดยแบ่งออกเป็นเจ็ดกัณฑ์ คือ บัณฑิตกัณฑ์ สุชนกัณฑ์ พาลทุชชนกัณฑ์ มิตรกัณฑ์ อิตถีกัณฑ์ ราชกัณฑ์ และปกิรณกกัณฑ์ ในแต่ละกัณฑ์พิมพ์คาถาภาษาบาลีไว้ทางหน้าซ้าย พิมพ์คำแปลภาษาไทยไว้ทางหน้าขวา เทียบกันบทต่อบท รวมทั้งสิ้นหนึ่งร้อยห้าสิบแปดคาถา

๒. ๒.๓ โลกนีตี-สุตวัฑฒนนีติ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ราชบัณฑิตยสถานได้ชำระและแปลคัมภีร์โลกนีติและคัมภีร์สุตวัฑฒนนีติเป็นสี่ภาษา คือ คาถาภาษาบาลี คาถาภาษาบาลีเขียนเป็นอักษรโรมัน คำแปลภาษาไทย และคำแปลภาษาอังกฤษของคาถานั้น ๆ เฉพาะภาคโลกนีตินั้นแบ่งเนื้อหาเป็นเจ็ดกัณฑ์ รวมหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดคาถา เช่นเดียวกับ โลกนีติไตรพากย์ โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ นี้จัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐

๓. โลกนิติคำฉันท์ สำนวนของขุนสุวรรณสารวัดแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เป็นคำฉันท์จำนวนสองร้อยหกสิบห้าบท ดำเนินเนื้อความตรงตามคาถาของคัมภีร์โลกนีติ


สาระจากโคลงโลกนิติ


โลกนิติเป็นวรรณคดีประเภทคำสอนที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทยมากกว่าเจ็ดร้อยปี และกล่าวได้ว่า เป็นที่รู้จักไม่แต่เฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาผู้สนใจวรรณคดีไทยเท่านั้น แต่ประชาชนคนไทยทุกคนก็รู้จักสุภาษิตคำสอนจากโลกนิติยิ่งกว่าจากสุภาษิตเรื่องอื่น ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากโคลงโลกนิติพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าโคลงโลกนิติมีสาระจับใจคนไทยสามประการ คือ


๑. ขอบข่ายของคติคำสอน เป็นคำสอนที่จำแนกเนื้อหาตามลักษณะของบุคคลประเภทต่าง ๆ คือ ผู้รู้หรือผู้มีปัญญา คนดีคนพาล ผู้เป็นมิตร สตรี ผู้ปกครองหรือพระราชา และคำสอนเบ็ดเตล็ด สาระคำสอนจึงกว้างขวางครอบคลุมความรู้สึกนึกคิดและชีวิตความเป็นอยู่ของชนทุกกลุ่ม และมักนำไปกล่าวอ้างในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น

๑. ๑)

"วิชาควรรักรู้ ฤๅขาด
อย่าหมิ่นศิลปศาสตร์ ว่าน้อย
รู้จริงสิ่งเดียวอาจ มีมั่ง
เลี้ยงชีพช้าอยู่ร้อย ชั่วหลื้อเหลนหลาน"
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)


"อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์ ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี"
(นิติสารสาธก – พระยาศรีสุนทรโวหาร)

๑. ๒)

"ราชรถปรากฏด้วย ธงชัย
ควันประจักษ์แก่กองไฟ เที่ยงแท้
ราชาอิสระใน สมบัติ
ชายย่อมเฉลิมเลิศแล้ ปิ่นแก้วเกศหญิง"
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)


"ธงชัยอันไพบุลในงอน เป็นอาภรณ์แห่งรถยาน
ธุมาก็ปรากฏแก่กรานต์ แลเถกิงระเริงแสง
ราชาก็ปรากฏเป็นปิ่น นครินทรเขตแขวง
สวามีเป็นศรีสวัสดิแสดง ศักดิ์สง่าแก่นารี"
(กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ – กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส)


๒. เนื้อหาของคติคำสอน อินเดียกับไทยนั้นมีความเชื่อบางประการคล้ายคลึงกันอยู่มาก ทำให้คนไทยเข้าใจความหมายเปรียบเทียบในคำสอนนั้น ๆ ได้ดี ทั้งบางคติก็ตรงกับนิทานชาดกและคติพื้นบ้านที่คนไทยรู้จักดี และบางคติก็มีสาระตรงกับคติของชาติอื่น ๆ ด้วย เช่น

บทที่มีคติคำสอนที่เปรียบเทียบกับนิทานชาดกเรื่อง นกแขกเต้า หรือสัตติคุมพชาดก ในนิบาตชาดก

"ได้เห็นนักปราชญ์ไซร้ เป็นสุข
อยู่ร่วมเรือนหายทุกข์ ค่ำเช้า
ผู้พาลสั่งสอนปลุก ใจดั่ง พาลนา
ยลเยี่ยงนกแขกเต้า ตกต้องมือโจร"
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)

บทที่มีคติคำสอนตรงกับคติพื้นบ้านของไทย เช่น

"หมาใดตัวร้ายขบ บาทา
อย่าขบตอบต่อหมา อย่าขึ้ง
ทรชนชาติช่วงทา รุณโทษ
อย่าโกรธทำหน้าบึ้ง ตอบถ้อยถือความ"
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)

"สุวานขบอย่าขบตอบ"

(สุภาษิตพระร่วง)

"หมากัดอย่ากัดตอบ"

(สุภาษิตไทย)

บทที่มีคติคำสอนตรงกับคติของชาติอื่น ๆ ด้วย เช่น

"รู้น้อยว่ามากรู้ เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน สระจ้อย
ไป่เห็นชเลไกล กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย มากล้ำลึกเหลือ"
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)

"กบในสระไม่เคยเห็นทะเลหลวงเลย"

(สุภาษิตญี่ปุ่น)

"คนมีความรู้น้อยก็เหมือนกับกบ"

(สุภาษิตจีน)

คติคำสอนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายนอกจากนำไปอ้างในวรรณกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว กวียังได้นำไปแต่งเป็นเรื่องสุภาษิตโดยตรงก็มีอยู่บ้าง เช่น สุนทรภู่นำไปแต่ง สุภาษิตสอนเด็ก ดังตัวอย่างเปรียบเทียบต่อไปนี้

"ยอข้ายอเมื่อแล้ว ภารกิจ
ยอยกครูยอสนิท ซึ่งหน้า
ยอญาติประยูรมิตร เมื่อลับ หลังแฮ
คนหยิ่งแบกยศบ้า อย่ายั้งยอควร
ทรัพย์มีสี่ส่วนไซร้ ปูนปัน
ภาคหนึ่งพึงเกียดกัน เก็บไว้
สองส่วนเบ็ดเสร็จสรรพ์ การกิจ ใช้นา
ยังอีกส่วนควรให้ จ่ายเลี้ยงตัวตน
เริ่มการตรองตรึกไว้ ในใจ
การจะลุจึ่งไข ข่าวแจ้ง
เดื่อดอกออกห่อนใคร เห็นดอก
ผลผลิตติดแล้วแผร้ง แพร่ให้คนเห็น"
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)


"จะยอข้าควรยอต่อแล้วกิจ จะยอมิตรอย่าให้มากจะบัดสี
จะยอครูดูระบอบให้ชอบที ยอสตรีชมรูปซูบทรงงาม...
อนึ่งทรัพย์มีส่วนให้ควรแบ่ง สองส่วนแจงแจกใช้ตามปรารถนา
อีกส่วนหนึ่งซื้อเสบียงเลี้ยงอาตมา ส่วนหนึ่งอย่าหยิบใช้ไว้กับตน...
อนึ่งเริ่มกิจเก็บไว้แต่ในอก ต่อคิดตกจึงค่อยแย้มขยายไข
เช่นกับเดื่อออกดอกไม่บอกใคร ครั้นผลใหญ่เห็นทั่วทุกตัวคน"
(สุภาษิตสอนเด็ก – สุนทรภู่)


๓. ลักษณะฉันทลักษณ์ คาถาในคัมภีร์โลกนีติมีสี่บาท กวีไทยจึงได้เลือกใช้โคลงสี่สุภาพในการแต่งแปลเป็นภาษาไทย ด้วยสามารถจำกัดจำนวนบาทให้จบในสี่บาทได้เท่าคาถาเดิม และโคลงสี่สุภาพนั้นยังเป็นคำประพันธ์ที่บังคับทั้งจำนวนคำและวรรณยุกต์ ทำให้อ่านได้ไพเพราะกว่ากลอน ทั้งไม่ต้องใช้อลังการศัพท์มากเหมือนการแต่งเป็นฉันท์หรืออื่น ๆ โคลงโลกนิติจึงมีความไพเราะทั้งในด้านสำนวนภาษาอันสละสลวย ด้านน้ำหนักเสียงสูงเสียงต่ำตามบังคับแห่งวรรณยุกต์ และด้านความชัดเจนในการสื่อความหมาย เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่า ก็ได้ทรงรักษาฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพไว้ แต่ทรงปรับแก้สำนวนภาษาและการใช้ศัพท์ให้ชัดเจนและง่ายต่อการทำความเข้าใจยิ่งขึ้น ดังจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นทั้งสำนวนเก่า สำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และสำนวนร้อยแก้ว ดังนี้

๓. ๑)

"ปฐมํ น ปราชิโต สิปฺปํ ทุติยํ น ปราชิโต ธนํ
ตติยํ น ปราชิโต ธมฺมํ จตุตฺถํ กํ กริสฺสติ"


"วัยหนึ่งไป่เรียนรู้ วิทยา
วัยสองไป่หาทรัพย์ สิ่งแก้ว
วัยสามไป่รักษา ศีลสืบ บุญนา
วัยสี่เกินแก่แล้ว ก่อสร้างสิ่งใด"
(สำนวนเก่า)


"ปางน้อยสำเหนียกรู้ เรียนคุณ
ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน ทรัพย์ไว้
เมื่อกลางแก่แสวงบุญ ธรรมชอบ
ยามหง่อมทำใดได้ แต่ล้วนอนิจจัง"
(สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)


"ชั้นที่หนึ่ง ไม่หาวิชาใส่ตัว
ชั้นที่สอง ไม่แสวงทรัพย์ [ไว้บำรุงตน]
ชั้นที่สาม ไม่ประกอบธรรมเพื่อเปนที่พึ่ง
[แล้วทีนี้] จัดทำอไรในชั้นที่สี่เล่า"[ญ]

(โลกนีติไตรพากย์)


"บุคคลมิได้สร้างสมซึ่งศิลปะศาสตร์ในปฐมวัย
มิได้สร้างสมทรัพย์ในทุติยวัย มิได้สมธรรมในตติยวัย
เขาจะกระทำอะไรในจตุตถวัย"

(โลกนีติปกรณ์)


"ในวัยที่ ๑ (วัยเด็ก) ไม่แสวงหาวิชา
ในวัยที่ ๒ (วัยหนุ่มสาว) ไม่แสวงหาทรัพย์
ในวัยที่ ๓ (วัยผู้ใหญ่) ไม่แสวงหาธรรม
ในวัยที่ ๔ (วัยแก่เฒ่า) จักทำอะไรได้"

(โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ)

๓. ๒)

"ติลมตฺตํ ปเรสํ ว อปฺปโทสญฺจ ปสฺสติ
นาฬิเกรมฺปิ สโทสํ ขลชาโต น ปสฺสติ"


"โทษท่านปานหนึ่งน้อย เม็ดงา
พาลเพ่งเล็งเอามา เชิดชี้
ผลพร้าวใหญ่เต็มตา เปรียบโทษ ตนนา
บ่อยบ่อยร้อนหนจี้ บอกแล้วฤๅเห็น"
(สำนวนเก่า)


"โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เม็ดงา
ปองติฉินนินทา จะไจ้
โทษตนใหญ่หลวงสา หัสยิ่ง นักนา
ปูนดั่งผลพร้าวไส้ อาจโอ้อับเสีย"
(สำนวนเก่า)


"โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา
ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น
โทษตนเท่าภูผา หนักยิ่ง
ป้องปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้ายหายสูญ"
(สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร)


"โทษของคนอื่นแม้เลกเท่าเมล็ดงา
คนพาลก็สอดเหน
โทษของตนแม้ใหญ่เท่าผลมะพร้าว
ตนเองก็มิเหน"[ญ]

(โลกนีติไตรพากย์)


"คนชาติชั่วเห็นโทษน้อยของผู้อื่นเพียงเท่าเมล็ดงา
แต่โทษของตนโตเท่าลูกมะพร้าวมองไม่เห็น"

(โลกนิติปกรณ์)


"โทษของคนอื่นแม้เพียงเล็กน้อยเท่าเมล็ดงาคนชั่วก็มองเห็นได้
แต่โทษของตนแม้ใหญ่โตเท่าผลมะพร้าวกลับมองไม่เห็น"

(โลกนีติ-สุตวัฑฒนนีติ)

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโลกนิตินี้จะปรากฏในรูปของคาถาภาษาบาลีหรือร้อยแก้วร้อยกรองลักษณะใด คุณค่าในคติคำสอนย่อมเป็นเครื่องจรรโลงวรรณกรรมเรื่องนี้ให้แพร่หลายเป็นหลักประพฤติปฏิบัติของชนทุกชาติทุกภาษาในโลกสมตามชื่อแห่งวรรณกรรมตลอดไป


ต้นฉบับหนังสือโคลงโลกนิติของทางราชการ


โคลงโลกนิติสำนวนต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นที่ได้ชำระ สอบทาน และจัดพิมพ์เผยแพร่ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของทางราชการ ในปัจจุบันมีสามสำนวน คือ

๑. โคลงโลกนิติพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร หนังสือเล่มนี้ กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ได้ชำระสอบทานและจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ (ร.ศ. ๑๒๓) ใช้เป็นแบบเรียนสำหรับนักเรียนในชื่อเรื่อง "หนังสือสอนอ่าน จินตกระวีนิพนธ์ สุภาษิตโลกนิติ์คำโคลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ทรงชำระของเก่า" ขอบเขตของต้นฉบับมีเฉพาะโคลงที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ทรงชำระไว้สี่ร้อยแปดบท (รวมโคลงนำสองบท และเป็นโคลงที่ซ้ำกันอยู่ห้าบท) กับโคลงส่งท้ายอีกสองบท[ฎ] นอกจากนี้ กรมศึกษาธิการได้นำโคลงที่พบในแผ่นศิลาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามซึ่งมิได้ซ้ำกับโคลงสี่ร้อยแปดบทนั้นมาพิมพ์รวมไว้ข้างท้ายด้วยอีกสามสิบบท วิธีการชำระสอบทานนั้นใช้ต้นฉบับสมุดไทยสี่ฉบับ คือ ฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ของเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ ของพระยาอนุรักษ์ราชมนเทียรซึ่งมีแต่เล่มเต้นเล่มเดียว กับของกระทรวงธรรมการซึ่งมีแต่เล่มสองเล่มเดียว และได้สอบทานกับโคลงโลกนิติในแผ่นศิลาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามด้วย ผู้ชำระสอบทานที่บันทึกไว้ใน "คำนำเฉภาะเรื่อง" ของฉบับพิมพ์ครั้งแรก คือ "ขุนประสิทธิ์อักษรสาร เปนเจ้าหน้าที่ตรวจ และหลวงศรีวรโวหาร หลวงญาณวิจิตร หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เปนที่ปรึกษาหารือและค้นคว้าหาหลักถานในอักขระวิธีและถ้อยคำที่สงสัย พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธ์ ได้ทรงพระอุสาหะประทานเวลาช่วยตรวจถ้อยคำและเนื้อความ และประทานความเห็นเปนครั้งที่สุดด้วยจนตลอด เหตุฉะนั้น ควรเปนที่จดจำไว้ว่า ท่านผู้ที่ได้มีพระนามและนามทั้งนี้ได้มีพระคุณอยู่ในหนังสือฉบับนี้มาก"[ฏ] ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ปัจจุบันตกเป็นลิขสิทธิ์ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

ต่อมา คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำต้นฉบับมาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่โดยสอบทานกับฉบับพิมพ์ครั้งต่าง ๆ และกับโคลงโลกนิติจากหนังสือประชุมจารึกวัดพระเชตุพน รวมทั้งหนังสือประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร แก้ไขอักขรวิธีให้ถูกต้องเหมาะสม จัดทำคำอธิบายศัพท์ ดรรชนีค้นโคลง และภาพประกอบ แล้วจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นจำนวนโคลงสี่ร้อยสี่สิบบท

๒. ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เมื่อหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งเป็นหอสมุดสำหรับพระนครรวบรวมสมุดไทยที่เป็นต้นฉบับโคลงโลกนิติมาได้อีกเป็นจำนวนมาก พบว่า ฉบับครั้งกรุงศรีอยุธยามีคาถากำกับโคลงไว้ด้วย โคลงบทหนึ่งมีหลายสำนวน จึงได้มอบหมายให้หลวงญาณวิจิตร (สิทธิ์ โลจนานนท์ เปรียญ) รวบรวม ชำระ สอบทานทั้งคาถาและโคลง จัดเข้าเป็นชุดตามเนื้อความ เฉพาะส่วนที่เป็นคาถา สอบรู้ว่ามาจากคัมภีร์ใด ก็จะระบุชื่อคัมภีร์นั้นกำกับไว้ด้วย เช่น "ธรรมบท" "โลกนิติ" ส่วนโคลงที่เป็นสำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร จะกำกับท้ายโคลงว่า "สมเด็จพระเดชาฯ" สำนวนที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่งใช้ว่า "สำนวนเก่า" หรือ "จารึกศิลา" ได้โคลงภาษิตรวมห้าร้อยเก้าสิบสามชุด จำนวนเก้าร้อยสิบเอ็ดบท (ไม่รวมโคลงนำสองบท และโคลงส่งท้ายอีกสองบท)[ฐ] ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้เมื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๐ ใช้ชื่อว่า ประชุมโคลงโลกนิติ และปัจจุบันใช้ว่า ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

๓. ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับกรมวิชาการ คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขออนุญาตกรมศิลปากรนำต้นฉบับหนังสือ ประชุมโคลงโลกนิติ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ มาตรวจสอบกับหนังสือโคลงโลกนิติซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์สำหรับใช้เป็นหนังสือแบบเรียน ก็พบว่า มีโคลงหลายบทในฉบับหอสมุดแห่งชาติที่เป็นโคลงซ้ำกันและควรตัดออก กับโคลงบางโคลงที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่จัดพิมพ์แยกเป็นคนละชุดไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน อีกทั้งยังมีความคลาดเคลื่อนในคำและอักขรวิธีทั้งของคาถาและโคลงอันเนื่องมาจากการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติได้ตรวจสอบคาถาประจำโคลงที่มีอยู่เดิมให้ถูกต้องตามคัมภีร์ฉบับที่ชำระใหม่ ตรวจสอบคาถาเพิ่มเติมจากคัมภีร์ภาษิตอื่น ๆ ตัดโคลงที่ซ้ำซ้อน แก้ไขอักขรวิธีเท่าที่จำเป็น และจัดทำคำอธิบายศัพท์ รวมเป็นโคลงภาษิตห้าร้อยเก้าสิบสี่ชุด จำนวนเก้าร้อยสองบท (รวมโคลงนำสองบท และโคลงส่งท้ายอีกสี่บท) รายละเอียดการดำเนินงานปรากฏในคำชี้แจงนั้นแล้ว