ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1/เล่ม 1/คำนำ (1)

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย

เนื่องจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้กำหนดการศึกษาลักษณะวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยไว้ในหลักสูตรชั้นปริญญาโท จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องให้นักศึกษามีบทกฎหมายซึ่งได้ชำระสะสางในรัชกาลที่ ๑ นั้นไว้ค้นคว้าได้โดยสะดวก เพราะบทกฎหมายเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะได้พบเอกสารที่เก่าแก่กว่าก็ตาม ก็ยังคงใช้เป็นหลักฐานสำคัญเพื่อแสวงหาความรู้เรื่องกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ต่อไปอีกนาน

ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา ประมวลกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ นั้นได้มีผู้จัดพิมพ์ขึ้นหลายครั้งแล้ว ฉะบับที่แพร่หลายที่สุด คือ ฉะบับของหมอบรัดเลย์ ซึ่งเรียกกันว่า กฎหมายเก่า ๒ เล่ม และฉะบับของเสด็จในกรมหลวงราชบุรีฯ ทั้งสองฉะบับนี้ในปัจจุบันไม่มีจำหน่ายเสียแล้ว และนับวันจะหายากขึ้นทุกที

ในการที่จะจัดพิมพ์กฎหมายเก่านี้ขึ้นใหม่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีความมุ่งหมายผิดกับท่านผู้จัดพิมพ์ก่อน ๆ ท่านผู้จัดพิมพ์เหล่านั้นมุ่งหมายแต่ฉะเพาะในอันที่จะเผยแผ่ความรู้ในตัวบทกฎหมาย จึงได้แก้ไขอักขรวิธีเสียใหม่ให้สมกับสมัย และบางตอนถึงกับแก้ไขถ้อยคำสำนวนเสียบ้างก็มี กรมหลวงราชบุรีฯ ก็ได้ทรงยึดถือคติอันเดียวกันนี้ โดยได้ทรงตัดทอนบทบัญญัติซึ่งเลิกใช้บังคับแล้วออกเสียด้วย

ในเวลานี้ ประมวลกฎหมายใหม่ต่าง ๆ ก็ได้ประกาศใช้จนครบถ้วน ประมวลกฎหมายปี จ.ศ. ๑๑๖๖ จึงมีประโยชน์เพียงในฐานตำนานกฎหมายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ในการจัดพิมพ์ใหม่นี้ จึงมีข้อสำคัญที่จะพึงยึดถืออยู่ว่า จะต้องคัดแบบจากตัวบทบัญญัติซึ่งได้ชำระสะสางขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ให้ถูกต้องตามอักขรวิธีที่ใช้ในต้นฉะบับนั้น เพื่อนักศึกษาจักได้ใช้เป็นเครื่องมือค้นคว้าโดยไม่ต้องพึ่งฉะบับเขียนตามแต่จะสามารถทำได้

การจัดพิมพ์กฎหมายเก่าขึ้นนั้นใช่จะเป็นประโยชน์แต่ฉะเพาะนักนีติศาสตร์เท่านั้นก็หาไม่ ยังเป็นคุณแก่นักประวัติศาสตร์ เพราะการศึกษาในวิชาประวัติศาสตร์ย่อมต้องอาศัยพระราชปรารภในกฎหมายและตัวบทกฎหมายเองประกอบด้วย นักโบราณคดีและนักศึกษาโบราณประเพณีของสยามก็เช่นกัน ย่อมได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งบัญญัติขึ้นโดยอาศัยจารีตประเพณี ธรรมนิยม หรือความเชื่อถือต่าง ๆ เป็นหลัก และจารีตประเพณีเหล่านี้แม้ในรัชกาลที่ ๑ ได้เลิกถือเสียแล้วก็มีบ้าง ประโยชน์อีกข้อหนึ่ง ได้แก่ ประโยชน์ในทางภาษาศาสตร์และวรรณคดี แม้อักขรวิธีและสำนวนโวหารในสมัยโบราณเท่าที่มีอยู่ในตัวบทกฎหมายนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปมากแล้ว เนื่องจากการชำระสะสางหลายต่อหลายครั้งมาแล้วก็ตาม (ซึ่งข้อสมมตินี้มิใช่จะถูกต้องเสมอไป) วิธีเขียนภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็ยังเป็นประโยชน์แก่นักภาษาศาสตร์อยู่มาก และโดยเหตุที่ต้นฉะบับแห่งบทกฎหมายที่ชำระสะสางในรัชกาลที่ ๑ คือ ฉะบับตรา ๓ ดวงนั้น อาลักษณ์ได้เขียนโดยความเอาใจใส่ระมัดระวังและสอบทานถึง ๓ ครั้งให้ถูกต้องแล้ว จึงควรที่จะเคารพต่อต้นฉะบับนั้นยิ่งนัก อีกประการหนึ่ง กฎหมายเก่าในบางตอนอาจถือได้ว่า เป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญ ซึ่งสมควรจะนับรวมเข้าในตำราวรรณคดีทั้งหลายอันสืบมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ด้วยเหตุผลดั่งกล่าวมานี้ มหาวิทยาลัยจึงได้ให้พิมพ์ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ นั้นขึ้นใหม่ตามที่เขียนไว้ในฉะบับหลวงตรา ๓ ดวงให้ถูกต้องตามต้นฉะบับ

การจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้มอบหมายให้มองซิเออ เอร์. แลงกาต์ ดอกเตอร์กฎหมายฝรั่งเศส สมาชิกวิเศษแห่งเนติบัณฑิตยสภา อาจารย์ผู้สอนประวัติศาสตร์กฎหมายไทย (กฎหมายเอกชน) เป็นผู้จัดพิมพ์.