ข้ามไปเนื้อหา

ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
โปรดให้พิมพ์ในงานทำบุญ ๗ วันศพ
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)
ณวันพุธที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗
พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์
จังหวัดพระนคร

ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
โปรดให้พิมพ์ในงานทำบุญ ๗ วันศพ
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)
ณวันพุธที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗
พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์
จังหวัดพระนคร

คำนำ

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา มีพระประสงค์จะพิมพ์หนังสือแจกในงานทำบุญ ๗ วันศพท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระบิดา และทรงขอให้หอสมุดแห่งชาติจัดหาหนังสือให้ได้พิมพ์ทันพระประสงค์

หอสมุดแห่งชาติได้รับคำขอเรื่องนี้โดยมีเวลาน้อยที่สุด ปัญหาที่ว่าจะพิมพ์เรื่องอะไรนั้นเป็นอันว่าไม่ต้องคิด เพราะเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในทางศาล เรื่องที่จะพิมพ์ก็ควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนิติศาสตร แต่โดยเหตุที่หอสมุดแห่งชาติมีเวลาเพียง ๒ วัน ก็จำเป็นจะต้องหยิบเรื่องอะไรเรื่องหนึ่งที่หยิบง่าย ๆ

ข้าพเจ้าได้เคยคิดจะรวบรวมคำอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไว้ให้เป็นหมวดหมู่ คำอธิบายในที่นี้ หมายถึง ข้อความที่ทรงเขียนไว้ในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง โดยมากอยู่ในคำนำหนังสือที่พิมพ์จากต้นฉะบับของหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นคำอธิบายในเชิงประวัติเกี่ยวข้องกับวิชาการเกือบทุกสาขา และไปอยู่เกลื่อนกล่นตามหน้าหนังสือต่าง ๆ ตั้งหลายสิบเล่ม ถ้าหากได้ประมวลมาไว้ในที่เดียวกันและเรียงลำดับให้ต้องตามลักษณะของวิชาแล้ว หนังสือที่ประมวลคำอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนี้จะกลายเป็น "วิทยาจักร (Encyclopedia)" น้อย ๆ ได้ชุดหนึ่งทีเดียว และจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษามาก ในขณะที่ข้าพเจ้าคิดคำนึงอยู่ดังนี้ ก็ประสบโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีต้องพระประสงค์หนังสือ ข้าพเจ้าจึ่งตกลงถวายประมวลคำอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเรื่องแรก และเลือกเอาเรื่องเกี่ยวกับนิติศาสตรเพื่อให้เหมาะแก่งาน

นักนิติศาสตรอาจตั้งปัญหาว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเชี่ยวชาญทางนิติศาสตรอย่างไร จึงได้ยกย่องถึงกับเอาคำอธิบายของพระองค์ท่านในทางนิติศาสตรมาพิมพ์ ถ้ามีปัญหาขึ้นดังนี้ ก็ตอบได้ว่า ไม่ได้ยกย่องเรื่องที่พิมพ์นี้ในเชิงนิติศาสตร แต่ข้าพเจ้ายกย่องในเชิงประวัติ และเรื่องที่พิมพ์ไว้นี้ ไม่ใช่เรื่องนิติศาสตรโดยตรง เป็นแต่เรื่องประวัติของนิติศาสตรในเมืองไทย และความรู้ในเชิงประวัติของสิ่งต่าง ๆ ในเมืองไทยนั้น จนกระทั่งถึงบัดนี้ เรายังหาผู้มีความรู้ดีกว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่ได้ ฉะนั้น หนังสือเรื่องนี้ต้องมีประโยชน์แก่นักศึกษาทางนิติศาสตรและนักศึกษาวิชาทั่วไปอย่างแน่นอน

โดยเหตุที่หนังสือเรื่องนี้ได้พิมพ์ขึ้นโดยรีบร้อน จึงยังมิได้มีประวัติของท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีลงไว้ด้วย เพราะไม่สามารถเรียบเรียงได้ทัน แต่ถึงแม้จะไม่ได้นำประวัติลงในเล่มนี้ ผู้ที่ได้รับแจกหนังสือเล่มนี้ก็ย่อมรู้จักทั่วกันว่า เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในทางศาล และรับหน้าที่ในศาลอันเกี่ยวแก่คดีของชาวต่างประเทศ ซึ่งในครั้งกระนั้น ย่อมทราบกันดีแล้วว่า มีความยากลำบากเนื่องจากสัญญาทางพระราชไมตรีอยู่เพียงไร ศาลที่เกี่ยวข้องกับคดีของชาวต่างประเทศในครั้งกระนั้นมีลักษณะเหมือนเรือเดินทะเล ซึ่งต้องเผชิญกับมรสุมอยู่ตลอดเวลา การที่เรือแล่นไปได้วันหนึ่ง ๆ โดยไม่ถึงอัปปางนั้น ย่อมแสดงให้เห็นความสามารถและความพยายามอันแรงกล้าของนายเรือ ซึ่งเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีได้รับตำแหน่งนายเรือลำนี้มาเป็นเวลานาน ในทางส่วนตัวนั้น ญาติมิตรทั้งหลายจะได้เห็นอัธยาศัยอันละมุนละม่อมปราศจากความไว้ยศถือตัว เป็นการแน่นอนว่า ความแตกดับแห่งสังขารของท่านย่อมทำความสลดใจให้แก่ญาติมิตรทั้งหลาย

ขอให้กุศลบุญญราศีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทรงพิมพ์หนังสือเรื่องนี้แจกเป็นวิทยาทานจงบรรลุผลดลบรรดาลแก่ท่านเจ้าคุณสุธรรมมนตรีเพื่อให้ท่านดำรงอยู่ในคติสุขทุกเมื่อเทอญ.

  • หลวงวิจิตรวาทการ
  • หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
  • วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗

  • ในวาระที่คุณพ่อได้ถึงอสัญญกรรม
  • เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนนี้ ได้มีญาติมิตรผู้
  • คุ้นเคยและผู้มีพระคุณมาเยี่ยมศพและ
  • แสดงความเศร้าเสียใจในการที่คุณพ่อ
  • ล่วงลับไป จึ่งขอแสดงความขอบใจ
  • และขอบคุณในความเมตตาอารีที่ท่าน
  • ทั้งหลายมีต่อท่านผู้ถึงอสัญญกรรมด้วย.
  • บุตรและธิดา

ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์


ประเพณีประกาศพระราชกฤษฎีกาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสสั่งให้ประกาศกิจการอันใด คือ เช่น ตั้งพระราชบัญญัติ เป็นต้น โดยปกติมักดำรัสสั่งให้อาลักษณ์เป็นพนักงานเรียบเรียงข้อความที่จะประกาศลงเป็นหนังสือ บางทีดำรัสให้ผู้อื่นรับพระราชโองการมาสั่งอาลักษณ์ให้เรียบเรียงประกาศก็มี ผู้รับสั่งมักเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องอำนวยการที่ประกาศ แต่ที่มิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นแต่ข้าเฝ้าคนใดคนหนึ่ง ดำรัสใช้ตามสดวกพระราชหฤทัยก็มี ลักษณะที่อาลักษณ์เรียบเรียงประกาศนั้น ตั้งข้อความเป็นหลัก ๕ อย่าง คือ (๑) วันเดือนปีที่สั่ง (๒) นามผู้สั่ง ถ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินดำรัสเอง ก็อ้างแต่ว่า มีพระราชโองการ ถ้ามีผู้อื่นมาสั่ง ก็อ้างนามผู้นั้นรับพระราชโองการ (๓) กล่าวถึงคดีอันเป็นมูลเหตุแห่งประกาศนั้น (๔) พระราชวินิจฉัย (๕) ข้อบัญญัติพระราชนิยมที่ให้ประกาศ เมื่ออาลักษณ์ร่างเสร็จแล้ว คงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทรงตรวจแก้ก่อน จึงประกาศ แต่ข้อนี้หาได้กล่าวไว้ให้ปรากฎไม่ ลักษณะที่ประกาศนั้น แต่โบราณเป็นหน้าที่กรมพระสุรัสวดีโดยเป็นผู้ถือบาญชีกระทรวงทบวงการทั้งปวง ที่จะคัดสำเนาประกาศแจกจ่ายไปยังกรมต่าง ๆ ทุกกรม ส่วนหัวเมืองทั้งปวงนั้น เมื่อมหาดไทย กลาโหม กรมท่า อันเป็นเจ้ากระทรวงบังคับบัญชาหัวเมือง ได้รับประกาศจากกรมพระสุรัสวดี ก็คัดสำเนาส่งไปยังหัวเมืองอันขึ้นอยู่ในกรมนั้น ๆ อิกชั้น ๑ ลักษณการที่จะประกาศให้ราษฎรทราบพระราชกฤษฎีกานั้น ประเพณีเดิมในกรุงเทพฯ กรมเมืองให้นายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานไปเที่ยวอ่านประกาศตามตำบลที่ประชุมชน ส่วนหัวเมืองทั้งปวง เจ้าเมือง กรมการ ให้กำนันเป็นพนักงานอ่านประกาศ เมื่อพนักงานจะอ่านประกาศที่ตำบลไหน ให้ตีฆ้องเป็นสัญญาเรียกราษฎรมาประชุมกัน แล้วอ่านประกาศให้ฟังณที่นั้น วิธีประกาศเช่นว่ามานี้จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า "ตีฆ้องร้องป่าว" ส่วนต้นฉะบับประกาศพระราชกฤษฎีกาทั้งปวงนั้น อาลักษณ์รักษาไว้ในหอหลวงฉะบับ ๑ คัดส่งไปรักษาไว้ที่ศาลาลูกขุนอันเป็นที่ประชุมเสนาบดีฉะบับ ๑ และส่งไปรักษาไว้ที่ศาลหลวงอันเป็นที่ประชุมผู้พิพากษาด้วยอิกฉะบับ ๑ ประเพณีเดิมมีลักษณะดังว่ามานี้

หนังสือประกาศชั้นเดิม ต้นร่างและสำเนามักเขียนในสมุดดำด้วยเส้นดินสอขาว ส่วนตัวประกาศที่ส่งไปณที่ต่าง ๆ มักใช้เขียนลงม้วนกระดาษข่อยด้วยดินสอดำ เพราะวิธีตีพิมพ์หนังสือไทยยังไม่เกิดขึ้นในชั้นนั้น มาจนในรัชกาลที่ ๓ พวกมิชชันนารีอเมริกันตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยขึ้น ความปรากฎว่า เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯ ให้โรงพิมพ์พวกอเมริกันพิมพ์หมายประกาศห้ามมิให้คนสูบฝิ่นและค้าขายฝิ่นเป็นหนังสือ ๙๐๐๐ ฉะบับ นับเป็นครั้งแรกที่ได้พิมพ์หมายประกาศ แต่พิมพ์ครั้งนั้นแล้ว มิได้ปรากฎว่า พิมพ์ประกาศเรื่องอื่นต่อมาอีก ถึงรัชกาลที่ ๔ ในชั้นแรก ประกาศต่าง ๆ ก็ยังใช้เขียนแจกตามแบบเดิม ปรากฎแต่ว่า ทรงแก้ไขวิธีแจกประกาศ ซึ่งแต่เดิมกรมพระสุรัสวดีเปนพนักงานเขียนประกาศแจกจ่ายไปตามกระทรวงทบวงการต่าง ๆ นั้น โปรดฯ ให้กรมต่าง ๆ ไปคัดสำเนาหมายประกาศเองณหอหลวง ยังคงส่งสำเนาประกาศไปแต่ที่มหาดไทย กลาโหม และกรมท่า สำหรับจะได้มีท้องตราประกาศออกไปตามหัวเมือง การที่แก้ไขชั้นนี้ก็พอเห็นเหตุได้ คงเป็นเพราะการเขียนประกาศแจกจ่ายมาแต่ก่อนเป็นการมากมายเหลือกำลังพนักงานกรมพระสุรัสวดี แจกไปไม่ทั่วถึงทุกกระทรวงทบวงการได้จริงดังที่กล่าวในลักษณะประกาศ จึงได้โปรดฯ ให้กรมอื่น ๆ ไปคัดประกาศเอาเองณหอหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ นั้น โปรดฯ ให้สร้างโรงพิมพ์หลวงขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวัง ขนานนามว่า โรงอักษรพิมพการ (อยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญบัดนี้) เริ่มพิมพ์หมายประกาศเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ ในชั้นต้น โปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวออกโดยระยะเวลา ขนานนามว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษา บอกข่าวในราชสำนักและเก็บความจากประกาศต่าง ๆ ซึ่งได้ออกในระยะนั้นบอกไว้ให้ทราบเพียงเนื้อความ หนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งออกในรัชกาลที่ ๔ ครั้งนั้น พิเคราะห์ดูเรื่องที่พิมพ์เป็นพระราชนิพนธ์สมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมาก เห็นจะไม่มีผู้อื่นกล้ารับผิดชอบเป็นผู้แต่ง ครั้นต่อมา ทรงติดพระราชธุระอื่นมากขึ้น ไม่มีเวลาพอจะทรงแต่งหนังสือราชกิจจานุเบกษา เพราะฉะนั้น พิมพ์อยู่ได้สักปี ๑ จึงต้องหยุด แต่การที่พิมพ์หมายประกาศ เห็นจะนิยมกันมาก เมื่อหยุดหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงโปรดฯ ให้พิมพ์แต่หมายประกาศ และให้พิมพ์ตลอดเรื่อง ไม่คัดแต่เนื้อความเหมือนอย่างที่ลงพิมพ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษามาแต่ก่อน ทำเป็นใบปลิวแจกตามกระทรวงทบวงการ และจ่ายไปปิดไว้ตามที่ประชุมชนแทนป่าวร้อง เป็นประเพณีสืบมาจนรัชกาลที่ ๕ จนกลับออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาอิกเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่นั้น บรรดาประกาศจึงใช้ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และเลิกวิธีแจกจ่ายหมายประกาศอย่างแต่ก่อนสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

เพราะเรื่องตำนานเป็นดังแสดงมา ประกาศในรัชกาลที่ ๔ จึงมีสำเนาเป็น ๒ ชนิด คือ ประกาศในชั้นต้นเมื่อยังมิได้ตั้งโรงพิมพ์หลวงนั้น มีแต่สำเนาเป็นหนังสือเขียน ประกาศตอนหลังเมื่อตั้งโรงพิมพ์หลวงแล้ว มีสำเนาเป็นหนังสือพิมพ์ สำเนาประกาศชั้นที่เป็นหนังสือเขียนมีฉะบับน้อยมาแต่เดิม ยิ่งนานมาก็ยิ่งหายากขึ้นทุกที ประกาศที่มีฉะบับพิมพ์หาง่ายกว่า จึงมีผู้รวบรวมไว้บ้าง แต่ก็ไม่ปรากฎว่า มีใครที่สามารถรวบรวมไว้ได้หมดทุกฉะบับ เป็นแต่มีกันมากบ้างน้อยบ้าง การที่รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ พิมพ์ขึ้นใหม่ให้เป็นสาธารณะประโยชน์ ได้จับทำเมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงบัญชาการโรงพิมพ์หลวงและเป็นผู้จัดการหนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งกลับพิมพ์อีกในรัชกาลที่ ๕ นั้น ได้ทรงหาสำเนาประกาศครั้งรัชกาลที่ ๔ มาพิมพ์ไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาบ้าง เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ออกหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท ก็ได้ทรงหาฉะบับมาพิมพ์ไว้ในหนังสือดรุโณวาทอีกบ้าง ต่อมาเมื่อหอพระสมุดวชิรญาณออกหนังสือพิมพ์ กรรมการหอพระสมุดฯ ก็หาสำเนาประกาศรัชกาลที่ ๔ มาพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณอีกบ้าง แต่ที่รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ พิมพ์เป็นเล่มสมุดโดยฉะเพาะ พึ่งมาพิมพ์เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงบัญชาการโรงพิมพ์หลวง ได้ทรงพยายามหาต้นฉะบับแต่ที่ต่าง ๆ มารวบรวมพิมพ์ขึ้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) พิมพ์ได้ ๓ เล่มสมุด โรงพิมพ์อักษรพิมพการเลิก โรงพิมพ์อักษรนิติจึงพิมพ์ต่อมาอีกเล่ม ๑ รวมเป็น ๔ เล่มด้วยกัน

เมื่อตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการได้รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ บรรดามีอยู่ในหนังสือต่าง ๆ ที่กล่าวมา และหาฉะบับได้เพิ่มเติมมาแต่ที่อื่นอีก คือ ได้ฉะบับซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ได้ทรงรวบรวมไว้ประทานมาราย ๑ สำเนาประกาศรัชกาลที่ ๔ ในจำนวนหนังสือซึ่งหอพระสมุดหาได้จากที่ต่าง ๆ แห่งละเรื่องสองเรื่อง ก็มีหลายราย แต่ที่สำคัญนั้น คือ ได้ในสำเนาหมายรับสั่งกระทรวงมหาดไทยซึ่งส่งมายังหอพระสมุด มีสำเนาหมายประกาศรัชกาลที่ ๔ ปรากฎอยู่ในจดหมายรายวันของกรมมหาดไทยหลายเรื่อง ล้วนเป็นประกาศในชั้นที่ยังมิได้มีการพิมพ์ เริ่มแต่ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ อันเป็นปีแรกพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นต้นมา กรรมการจึงเห็นว่า สมควรจะพิมพ์ประกาศรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ ให้เป็นสาธารณะประโยชน์ได้

แต่ประกาศรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีฉะบับอยู่ในหอพระสมุดฯ เป็นประกาศพระราชนิยมก็มี เป็นประกาศพระราชบัญญัติก็มี ความที่ประกาศยังคงใช้เป็นกฎหมายและประเพณีอยู่ก็มี ยกเลิกเสียแล้วก็มี การที่หอพระสมุดฯ พิมพ์ ประสงค์จะพิมพ์ประกาศรัชกาลที่ ๔ บรรดามี ไม่เลือกว่าอย่างใด ๆ ความมุ่งหมายมีแต่จะให้เป็นประโยชน์ในทางศึกษาโบราณคดีและวรรณคดีเป็นประมาณ จึงขอบอกให้ท่านผู้อ่านทราบว่า บรรดาประกาศในฉะบับซึ่งหอพระสมุดฯ พิมพ์นี้ มิใช่สำหรับจะเอาไปยกอ้างใช้ในทางอรรถคดีที่ใด ๆ เพราะความในประกาศเรื่องใดจะยังคงใช้อยู่ฤๅจะยกเลิกเสียแล้ว ข้อนี้กรรมการหอพระสมุดฯ มิได้เอาเป็นธุระสอบสวน ประสงค์จะให้อ่านแต่เป็นอย่างเป็นจดหมายเหตุเก่าเท่านั้น.


กฎมนเทียรบาลเขมรดูไม่เก่าเหมือนกฎมนเทียรบาลไทย เห็นจะเป็นเพราะชำระเรียบเรียงกันหลายคราว ด้วยกรุงกัมพูชาแต่ก่อนมาเกิดจลาจลบ่อย ๆ ตำหรับตำราที่มีมักแตกฉานซ่านเซ็น บ้านเมืองเป็นปกติคราว ๑ ก็ต้องรวบรวมกฎหมายกันใหม่ครั้ง ๑ กฎมนเทียรบาลกรุงกัมภูชานี้ ปรากฎในบานแพนกว่า พึ่งรวบรวมในครั้งองค์สมเด็จพระนโรดมเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๑๘ ตรงกับในรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทรนี้เอง พิเคราะห์ดูความ เป็นกฎหมายตั้งใหม่ก็มีบ้าง เอากฎหมายเดิมมารวบรวมก็มีบ้าง มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อองค์สมเด็จพระนโรดมจะตั้งกฎมนเทียรบาลนี้ ได้หารือเรสิดังฝรั่งเศส ทำนองเรสิดังคนนั้นจะไม่ชำนาญภาษาเขมร คงไม่ตรวจตราถ้วนถี่ จึงให้อนุมัติ ครั้นตั้งกฎหมายนี้แล้ว มีคดีอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นที่ในวังเมืองพนมเป็ญ องค์สมเด็จพระนโรดมจะลงอาญาตามกฎมนเทียรบาล เรสิดังฝรั่งเศสแย้งว่า อาญาแรงนักเกินกว่าความผิด องค์สมเด็จพระนโรดมโต้ว่า กฎหมายนี้ เมื่อจะตั้ง ฝรั่งเศสก็ได้เห็นชอบยอมให้ตั้งแล้ว ไยจะมาห้ามไม่ให้บังคับคดีตามกฎหมาย เกิดทุ่มเถียงกัน แต่ลงปลายจะยุติอย่างไร หาทราบต่อไปไม่.


อันกฎหมายกรุงกัมพูชามีลักษณะและประเพณีคล้ายคลึงกับกฎหมายของไทยเราโดยมาก ที่หลักเดิมเหมือนกันทีเดียวก็มี เช่น ลักษณะโจร กับลักษณะรับฟ้องความโจรกรรม คาถาและข้อความตอนต้นล้วนแต่คัดมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตรที่ได้ฉะบับไปจากไทย แต่ส่วนตัวบทกฎหมายนั้นได้แก้ไขกันต่อ ๆ มาตามภูมิประเทศและกาลสมัยในกรุงกัมพูชา ถึงดังนั้น รูปรอยก็ไม่ไกลกับของไทย

กฎหมายกรุงกัมพูชาที่ปรากฎอยู่ทุกวันนี้ได้รวบรวมในครั้งสมเด็จพระนโรดมทรงราชย์โดยมาก.


การตั้งทำเนียบศักดินาที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงจัดขึ้นอีกอย่าง ๑ นั้น ได้ความในกฎหมายว่า ตั้งเมื่อปีจอ จุลศักราช ๘๑๖ พ.ศ. ๑๙๙๗ คือ ตั้งกำหนดว่า ผู้มียศชั้นใดควรมีนาเท่าใด ดังเช่น เจ้าพระยา หรือพระยาชั้นสูง มีนาได้คนละ ๑๐๐๐๐ ไร่บ้าง ๕๐๐๐ ไร่บ้าง ๓๐๐๐ ไร่บ้าง ขุนนางผู้น้อย ตั้งแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป ส่วนพลเมืองมีนาได้คนละ ๒๕ ไร่ แปลว่า ในเวลาที่ตั้งกำหนดศักดินาขึ้นนั้น คนทำราชการไม่ได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือน เวลานั้น ที่ดิน คือ ที่นา เป็นสมบัติอันมีราคายิ่งกว่าอย่างอื่น ผู้ที่แสวงหาทรัพย์สมบัติย่อมแสวงหาที่ดินเป็นสำคัญ เพื่อจะไม่ให้แย่งที่ดินกันนั้น ประการ ๑ เพื่อจะให้คนมีที่ดินมากแลน้อยตามกำลังและยศศักดิ ประการ ๑ จึงได้ตั้งพระราชบัญญัติกำหนดศักดินา คือว่า ถ้าผู้มียศถึงเท่านั้น รัฐบาลอนุญาตให้มีที่นาได้เท่านั้นเป็นอย่างมาก จะมีเกินอนุญาตไม่ได้ นี่เป็นมูลเหตุของศักดินา แต่เมื่อได้ตั้งศักดินาขึ้นแล้ว ศักดินาเลยเป็นเครื่องกำหนดสำหรับใช้ในการอื่นต่อไปอีกหลายอย่าง เช่น เป็นหลักในการปรับไหม เป็นหลักอำนาจในการบางอย่าง เช่น แต่งทนายว่าความ เป็นต้น ไม่ใช่แต่เพียงจะมีนาได้กี่ไร่อย่างเดียว ประเพณีศักดินายังมีอยู่จนทุกวันนี้[1] แต่อำนาจแลประโยชน์ทั้งปวงที่ได้จากศักดินาได้เลิกเสียแล้วแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.


กฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยาที่เราจะรู้ได้ในเวลานี้อยู่ในกฎหมายพิมพ์ ๒ เล่ม ซึ่งต้นฉะบับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชำระเรียบเรียงไว้เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๖๖ พ.ศ. ๒๓๔๗ แลหมอบรัดเลได้พิมพ์จำหน่ายในครั้งแรกเมื่อปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ พ.ศ. ๒๔๑๖ ยังมีกฎหมายครั้งกรุงเก่าที่ไม่ได้พบหรือไม่เอาเข้าเรื่องเมื่อชำระกฎหมายในรัชกาลที่ ๑ อยู่อีกบ้าง หอพระสมุดได้ไว้สัก ๒–๓ เล่ม ลักษณะทำกฎหมายแต่โบราณมาคงจะทำเป็นชั้น ๆ ดังนี้ คือ.

ชั้นที่เมื่อแรกตั้งกฎหมาย ตั้งด้วยประกาศพระราชกฤษฎีกาบอกวันคืน เหตุผล แลพระราชนิยม อย่างพระราชกฤษฎีกาที่ยังแลเห็นได้ในพระราชกำหนดเก่า พระราชกำหนดใหม่ แลกฎหมายพระสงฆ์ เหล่านี้ล้วนเป็นพระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่แรกตั้งอย่างนั้น.

ชั้นที่เมื่อพระราชกฤษฎีกามีมาก ๆ เข้า จะสอบค้นยาก จึงตัดทอนพระราชกฤษฎีกาเก่า คงไว้แต่ใจความเป็นย่ออย่างกลาง ดังจะเห็นได้ในกฎหมาย ๓๖ ข้อ แลกฎหมายหมวดพระราชบัญญัติ

ชั้นที่เพื่อจะจัดระเบียบกฎหมายเก่าให้สะดวกแก่สุภาตุลาการให้ค้นได้โดยง่าย นาน ๆ จึงมีการชำระกฎหมายครั้ง ๑ อย่างเราเรียกทุกวันนี้ว่า ทำประมวลกฎหมาย คือ รวบรวมกฎหมายเก่าจัดเป็นหมวด ๆ ตามลักษณะความ ตัดเหตุผลวันคืนที่ตั้งกฎหมายออกเสีย คงไว้แต่ใจความซึ่งเป็นพระราชนิยม เรียงเข้าลำดับเป็นมาตรา ๆ ในลักษณะนั้น ๆ.

วิธีชำระกฎหมายดังกล่าวมานี้สำหรับทำแต่กฎหมายเก่าที่ตั้งมานาน ๆ แล้ว แต่กฎหมายที่ออกใหม่ก็ยังคงออกอย่างพระราชกฤษฎีกาตามเดิม ทำอย่างนี้เป็นวิธีมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในครั้งหลังที่สุด การชำระกฎหมายได้ทำเมื่อปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ พ.ศ. ๒๓๔๗ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลานั้น หนังสือกฎหมายครั้งกรุงเก่าคงจะเป็นอันตรายหายสูญไปเสียเมื่อเสียกรุงเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรวบรวมค้นหาได้เท่าใด ก็เอามาเรียบเรียงตรวจแก้ตัดทอดทำเป็นกฎหมายฉะบับหลวงขึ้นใหม่ คือ ฉะบับพิมพ์เป็น ๒ เล่มนั้น มีกฎหมายชั้นกรุงรัตนโกสินทรอยู่ในนั้น ๔ ลักษณะ คือ (๑) พระราชบัญญัติ (๒) กฎหมายพระสงฆ์ (๓) พระราชกำหนดใหม่ ๓ ลักษณะนี้ตั้งในรัชกาลที่ ๑ กับ (๔) ลักษณะโจร ๕ เส้น ตั้งในรัชกาลที่ ๓ รวมเข้าเมื่อพิมพ์ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ กฎหมาย ๒ เล่มพิมพ์นั้น เชื่อได้ว่า คงตามรูปกฎหมายครั้งกรุงเก่า แลเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งกรุงเก่าเป็นอันมาก จะเห็นได้ว่า กฎหมายตอนปลายกรุงเก่าที่ได้ตัดความเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษ แต่ยังไม่ทันแยกเข้าลักษณะตามประมวลก็มี คือ กฎหมาย ๓๖ ข้อ แลมีกฎหมายที่ยังเป็นพระราชกฤษฎีกายังไม่ได้ตัดความทีเดียวอยู่ในพระราชกำหนดเก่าก็อีกหลายสิบบท.


ลักษณจัดหมวดประมวลกฎหมายครั้งกรุงเก่า อย่างเห็นในกฎหมายฉะบับพิมพ์ ๒ เล่ม พิเคราะห์ดูตามรูปกฎหมายและเนื้อความที่ปรากฏในหมวดพระธรรมศาสตร ทำให้เข้าใจว่า แต่เดิม ประมวลกฎหมายไทยเห็นจะจัดเป็นหมวดหมู่อย่างหนึ่ง แต่จะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ชัด อยู่มาในกาลครั้ง ๑ น่าจะเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเกี่ยวข้องกับกรุงหงสาวดีอยู่ ได้กฎหมายมนูธรรมศาสตรซึ่งแปลเป็นภาษารามัญเข้ามาในเมืองไทย แลมีผู้มาแปลมนูธรรมศาสตรจากภาษารามัญออกเป็นภาษาไทย แต่จะแปลเมื่อใด ข้อนี้ถ้าจะคาดตามเรื่องในพระราชพงศาวดาร ก็น่ายุติว่า คงจะแปลในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเอง หรือมิฉะนั้น ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ เพราะในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรติดการทัพศึก เห็นจะไม่มีเวลาแปล.

ที่เรียกว่า ธรรมศาสตรของพระมโนสาร หรือ มนู นี้ เป็นต้นเค้าของกฎหมายในมัธยมประเทศ เป็นหนังสือคัมภีร์ใหญ่โตมาก ข้าพเจ้าได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิมมอญได้มาเป็นภาษาสังสกฤต มีพระภิกษุรูป ๑ มาแปลออกเป็นภาษามคธที่เมืองรามัญ (แล้วจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษารามัญอีกที ๑) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตรรามัญ พึ่งได้มาไม่ช้านัก เป็นหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตรอินเดียเป็นอันมาก มีภาษามคธชั่วแต่มาติกากฎหมาย นอกนั้นเป็นภาษารามัญ ได้วานพระเทวโลก แต่ยังเป็นหลวงโลกทีป[2] ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษารามัญ แปลออกดู ได้ความตามมาติกามูลคดีวิวาทของรามัญตรงกับพระธรรมศาสตรมัธยมประเทศ และตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตรรามัญ ถึงเรื่องพระเจ้ามหาสมมตราช ตรงกับในพระธรรมศาสตรของไทย แต่นอกจากนั้นไปคนละทางหมด ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระธรรมศาสตรมัธยมประเทศซึ่งเป็นภาษาสังสกฤตเป็นหนังสือในสาสนาพราหมณ์และเป็นหนังสือคัมภีร์ใหญ่ เมื่อพระเอามาแปลที่เมืองรามัญ จะเลือกแปลแต่บางแห่ง และแปลงเนื้อความที่แปลนั้นให้เป็นหนังสือฝ่ายพระพุทธศาสนาด้วย ไทยเราได้พระธรรมศาสตรมาจากมอญ ดังปรากฏอยู่ในคาถาคำนมัสการข้างต้น เห็นจะได้มาเมื่อกฎหมายไทยเรามีเป็นแบบแผนและจัดเป็นหมวดหมู่อยู่อย่างอื่นแล้ว มาจัดเอาเข้ามาติกาพระธรรมศาสตรเมื่อทีหลัง จึงเข้าไม่ได้สนิท ข้อนี้จะแลเห็นได้ถนัดในกฎหมาย แม้สังเกตแต่มาติกามูลคดี ๆ รามัญว่า มี ๑๘ เท่าธรรมศาสตรมัธยมประเทศ แต่มูลคดีในพระธรรมศาสตรไทยขยายออกไปเป็น ๒๙ เห็นผิดกันมากอยู่ดังนี้ จึงเข้าใจว่า เมื่อจะจัดกฎหมายไทยให้เป็นหมวดตามพระธรรมศาสตร์ จะเอาเข้าไม่ได้สนิท จึงทำอย่างขอไปที.


หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวอีกข้อ ๑ ว่า สมเด็จพระเอกาทศรฐโปรดให้ตั้ง "ส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด" ว่าเพียงเท่านี้ ยากที่จะเข้าใจได้ว่า จัดการที่ว่านั้นอย่างไร ๆ บ้าง แต่เชื่อได้ว่า ไม่ใช่พึ่งตั้งภาษีอากรขึ้นคราวนั้นเหมือนกัน ภาษีอากรคู่กับรัฐบาล เหมือนกับกฎหมายคู่กับประชุมชน มีรัฐบาลเมื่อใด ภาษีอากรก็มีมาแต่เมื่อนั้น ผิดกันต่างกันแต่วิธีเก็บภาษี ภาษีอากรที่เรียกรวมในชื่อว่า "ส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด" นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า จำแนกเป็น ๓ อย่าง คือ ส่วย อย่าง ๑ อากรขนอน อย่าง ๑ อากรตลาด อย่าง ๑ วิธีเก็บ ถ้าหมายความว่า ๓ อย่างนี้ ได้ความตามหนังสือของมองสิเออร์เลอลูแบ ประกอบกับที่เข้าใจความตามที่กล่าวในกฎหมาย เป็นดังนี้.

ส่วยนั้น ตามความที่เข้าใจกันทุกวันนี้ หมายความว่า ยอมให้ไพร่พลส่งสิ่งของได้แทนแรงที่ต้องมาเข้าเวรรับราชการ เป็นต้นว่า ไพร่พลพวกใดตั้งภูมิลำเนาอยู่ในที่มีป่าไม้ ยอมให้ไพร่พลพวกนั้นตัดไม้ที่ต้องการใช้ในราชการส่งมาโดยกำหนดคนละเท่านั้น ๆ ไม้นั้นเรียกว่า ไม้ส่วย เมื่อผู้ใดได้ส่งส่วยแล้ว ก็ไม่ต้องรับราชการประจำในที่นั้น รัฐบาลเอาของส่วยมาใช้ในราชการ ดังเช่น ไม้ ก็เอาใช้ในการปลูกสร้างสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น ลักษณะของการส่วยเป็นดังว่ามานี้มาแต่ประเพณีโบราณซึ่งเป็นข้อกำหนดให้เมืองขึ้นหรือให้หมู่บ้านที่ขึ้นต้องจัดสิ่งของดีซึ่งมีในเมืองและบ้านนั้น ๆ ส่งแก่ผู้ซึ่งเป็นเจ้าเป็นใหญ่ เป็นพยานในการที่เป็นข้าขอบขัณฑเสมา ยกตัวอย่างดังเรื่องในพงศาวดารเหนือที่พระร่วงเมืองละโว้ต้องเป็นส่วยส่งน้ำทเลชุบศรไปถวายพระเจ้ากรุงขอมทุก ๆ ปี ไม่ใช่ว่าเพราะเมืองขอมกันดารน้ำหรือมีความจำเป็นโดยแท้จริงอันใดที่จะต้องได้น้ำทเลชุบศรไปใช้ในเมืองขอม การที่บังคับให้เมืองละโว้ส่งน้ำทเลชุบศร ก็เพื่อจะให้ชาวละโว้รู้สึกทั่วกันอยู่เสมอว่า เป็นข้าของพระเจ้าแผ่นดินขอมเท่านั้นเอง ประเพณีอันนี้ แม้อย่างต่ำแต่เมืองที่ต้องส่งต้นไม้เงินทองถวายแทนของส่วย ทุนที่จะใช้ทำต้นไม้เงินทองนั้นยังใช้เก็บเฉลี่ยเรียกจากราษฎร เพื่อให้ความรู้สึกมีอยู่แก่ราษฎรทั่วกันว่า เป็นข้าขอบขัณฑเสมาตามธรรมเนียมเดิม ยังใช้เป็นประเพณีในหัวเมืองมลายูมาจนเลิกประเพณีถวายต้นไม้เงินทองในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิธีเก็บส่วยจากราษฎร เห็นว่า เอามาจากประเพณีโบราณนี้เอง เปลี่ยนเป็นการฉะเพาะตัวไพร่พลในชาติเดียวกัน และกำหนดให้ส่งแต่ของที่จะเป็นประโยชน์แก่ราชการ ยกหน้าที่ ๆ จะรับราชการประจำให้เป็นการตอบแทน ซึ่งต้องเป็นความยินดีพอใจของพวกไพร่พลที่อยู่ไกลอยู่เป็นธรรมดา วิธีเก็บส่วยจากไพร่พล ถ้าตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐจริงดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เกิดแต่จะบำรุงการทำมาหากิน ด้วยไพร่พลต้องทำศึกสงครามบอบช้ำมาช้านาน และเข้าใจว่า วิธีที่ยอมให้ส่งส่วยนี้เอง ในรัชกาลอื่นภายหลัง มาขยายต่อออกไปจนให้ส่งเงินแทนรับราชการได้ จึงเกิดมีประเพณีเสียเงินค่าราชการสืบมา ของส่วยที่เรียกในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ ทราบไม่ได้ว่า อะไรบ้าง มาทราบได้ในชั้นหลัง ซึ่งข้าพเจ้าจะเอาไว้อธิบายในรัชกาลอื่นต่อไป.

ที่เรียกว่า อากรขนอน นั้น ตามเนื้อความเท่าที่จะทราบได้ เป็นภาษีเก็บในจังหวัดราชธานี คือ ตั้งด่านขึ้นตามทางน้ำทางบกที่มหาชนไปมาค้าขายต้องผ่าน ครั้งกรุงเก่าเรียกด่านภาษีว่า ขนอน จะเป็นเรือก็ตาม เกวียนก็ตาม เมื่อพาสินค้าผ่านขนอน เก็บสินค้านั้นเป็นภาคหลวงโดยอัตรา ๑๐ ชัก ๑ ซึ่งเราเรียกกันทุกวันนี้ว่า ภาษีภายใน หรือภาษีผ่านด่าน มาจากอากรขนอนนี้เอง ถ้าเชื่อตามหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ก็ตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐเป็นปฐมเหมือนกัน

อากรตลาดนั้น เข้าใจว่า อย่างเดียวกับที่เรียกว่า เก็บจังกอบ เก็บแต่ในจังหวัดราชธานีเหมือนกัน คือ ที่ใดราษฎรประชุมกันตั้งตลาดค้าขาย ที่นั้นก็ตั้งให้มีกำนันตลาดเก็บภาษีจากร้านและผู้ซึ่งมาขายของ อัตราที่เก็บเท่าใดในครั้งกรุงเก่า ข้าพเจ้ายังค้นไม่พบ.


ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวอีกอย่าง ๑ ว่า สมเด็จพระเอกาทศรฐพระราชทานที่กัลปนาเป็นนิจภัตรพระสงฆ์ ที่เรียกว่า พระราชทานที่กัลปนา นั้น หมายความว่า พระราชทานผลประโยชน์ซึ่งได้ในภาษีที่ดินเป็นนิจภัตรเลี้ยงพระสงฆ์ ไม่ได้พระราชทานตัวที่ดิน ประเพณีพระราชทานที่กัลปนาเป็นพระราชประเพณีโบราณ มีมาแต่ครั้งสุโขทัย ไม่ใช่ตั้งขึ้นใหม่แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐเป็นแน่ ที่หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าว เห็นจะหมายความว่า พระราชทานเพิ่มเติมที่กัลปนาขึ้นอีก คือวัดหลวงวัดใดที่ยังไม่มีกัลปนามาแต่ก่อน ก็จัดให้มีขึ้นให้เหมือนกับวัดที่มีแล้วให้บริบูรณ์เท่านี้เอง.


  1. เลิกเสียเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญ
  2. เดี๋ยวนี้เป็นพระยาโหราธิบดี

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก