ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเมื่อก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
- พระรูปสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร
- ฉายเมื่อเป็นนายเรือโทราชนาวี พ.ศ. ๒๔๕๙
- พระรูปสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร
- ฉายเวลาเสด็จไปทอดพระเนตรการแพทย์ประเทศอังกฤษ
- เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔
- พระรูปสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร
- ฉายกับคณะแพทย์สาธารณสุข พ.ศ. ๒๔๖๗
- พระรูปสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร
- ฉายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘
อธิบายเบื้องต้น | หน้า | ๑ | ||
ชาติของสมเด็จเจ้าพระยา | " | ๒ | ||
การศึกษาของสมเด็จเจ้าพระยา | " | ๒ | ||
สมเด็จเจ้าพระยาแรกเข้ารับราชการ | " | ๓ | ||
ว่าด้วยเหตุที่สมเด็จเจ้าพระยาจะมีเกียรติในทางราชการ | " | ๔ | ||
ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาในหนังสือพิมพ์บางกอกกาเลนเดอร | " | ๕ | ||
เรื่องคนไทยเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ | " | ๙ | ||
เฮนรีเบอร์นีเข้ามาแก้สัญญา | " | ๑๑ | ||
ประเพณีเลื่อนกรมเมื่อพระมหาอุปราชสวรรคต | " | ๑๓ | ||
สมเด็จเจ้าพระยาขวนขวายในการที่จะถวายราชสมบัติแก่พระบาท | ||||
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | " | ๑๕ | ||
ทรงตั้งสมเด็จเจ้าพระยาสำเร็จราชการในรัชชกาลที่ ๔ | " | ๑๖ | ||
เรื่องทำสัญญากับต่างประเทศในรัชชกาลที่ ๓ | " | ๑๘ | ||
เรื่องเซอจอนเบาริงมาขอแก้สัญญา | " | ๒๐ | ||
ความลำบากของการเปลี่ยนหนังสือสัญญา | " | ๒๑ | ||
สมเด็จเจ้าพระยาเป็นคนสำคัญในการปรึกษาสัญญา | " | ๒๓ | ||
เซอจอนเบาริงชมสมเด็จเจ้าพระยา | " | ๒๔ | ||
ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองเพราะเหตุทำสัญญากับฝรั่ง | " | ๒๕ | ||
ว่าด้วยเหตุที่สมเด็จเจ้าพระยาคิดยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ | ||||
เป็นอุปราช | " | ๒๗ | ||
ว่าด้วยอันตรายของพระเจ้าแผ่นดินเพราะเหตุมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน | " | ๒๙ |
- ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ
- เมื่อก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
หนังสือซึ่งข้าพเจ้าเรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายในงานพระราชกุศลหน้าพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร ๒ เรื่องที่พิมพ์มาแล้ว คือ เรื่อง จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พิมพ์ในงานสัตมวาร และเรื่อง พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์ พิมพ์ในงานปัญญาสมวาร มีข้อความกล่าวถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ที่สมุหพระกลาโหม ทั้ง ๒ เรื่อง ครั้นถึงเวลาเรียบเรียงหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับพิมพ์ในงานศตมาห ข้าพเจ้าคิดว่า ถ้าเป็นเรื่องประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เห็นจะเหมาะดี จะได้เป็นเรื่องเนื่องต่อกันในหนังสือแจกทั้ง ๓ งาน ข้าพเจ้าจึงได้เรียบเรียงเรื่องประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศตอนเมื่อก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ความที่กล่าวในเรื่องประวัตินี้โดยมากกล่าวตามที่พบในจดหมายเหตุต่าง ๆ ทั้งของไทยและของฝรั่ง ที่ทราบด้วยตนเองก็มีบ้าง แห่งใดซึ่งเป็นแต่กล่าวโดยสันนิษฐานของข้าพเจ้าเองก็ได้บอกไว้ เพื่อผู้อ่านจะได้วินิจฉัย หวังว่า จะเป็นประโยชน์ในทางความรู้โบราณคดีแก่ท่านทั้งปวง
- รูปสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ (ช่วง บุนนาค)
- (รูปนี้ฉายเมื่อในรัชชกาลที่ ๕)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ (ช่วง บุนนาค) เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ (ดิศ บุนนาค) ท่านผู้หญิงจัน (น้องกรมหมื่นนรินทรภักดี) เป็นมารดา เกิดในรัชชกาลที่ ๑ เมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะโรง[1] พ.ศ. ๒๓๕๑ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๙ คน แต่อยู่มาจนเป็นผู้ใหญ่แต่ตัวท่านกับน้องอีก ๔ คน คือ เจ้าคุณหญิงแข เรียกกันว่า เจ้าคุณตำหนักใหม่ คน ๑ เจ้าคุณหญิงปุก เรียกกันว่า เจ้าคุณกลาง คน ๑ เจ้าคุณหญิงหรุ่น เรียกกันว่า เจ้าคุณน้อย คน ๑ พระยามนตรีสุริยวงศ (ชุ่ม) คน ๑
เรื่องประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ ปรากฏว่า ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กแต่ในรัชชกาลที่ ๒ แต่ส่วนการศึกษานั้น มีเค้าเงื่อนทราบในชั้นหลังว่า เห็นจะไม่ได้เรียกอักขรสมัยลึกซึ้งนัก เพราะการเล่าเรียนของลูกผู้ดีในสมัยเมื่อท่านยังเยาว์วัยนั้นมักเป็นแต่ฝากให้พระภิกษุสอนตามวัด ไม่ได้ร่ำเรียนกันกวดขัน จะรู้ได้มากหรือน้อยก็แล้วแต่ความนิยมของเด็ก แม้การที่เรียนวิชชาสำหรับเป็นอาชีพเมื่อเติบใหญ่ในสมัยนั้นก็มักเรียนโดยกระบวนฝึกหัดอบรมในสำนักผู้ปกครอง คือบิดาเป็นอาทิ ดังเช่นบิดาเป็นช่างหรือเป็นแพทย์ บุตรก็ฝึกหัดศึกษาวิชานั้นจากบิดาต่อไป ดังนี้เป็นต้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ ซึ่งเป็นพระยาพระคลัง เสนาบดีว่าการต่างประเทศ (ในสมัยนั้น เมื่อยังมิได้แยกออกเป็นกระทรวงหนึ่งต่างหาก) และได้ว่าการปกครองหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันออกมาแต่ในรัชชกาลที่ ๒ คงจะได้ศึกษาราชการที่เนื่องกับชาวต่างประเทศและกระบวนการปกครองหัวเมืองในสำนักของบิดาเป็นวิชชาสำคัญสำหรับตัวมาแต่แรก จึงไม่ปรากฏว่า ท่านสันทัดในการช่าง[2] หรือในการขี่ช้างม้า และวิชชาอื่นอย่างหนึ่งอย่างใด ได้ยินท่านผู้หลักผู้ใหญ่ชมมาก็แต่ข้อที่มีความสามารถฉลาดในกระบวนราชการบ้านเมืองอย่างเดียว
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเห็นจะเป็นคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ในรัชชกาลที่ ๒ ด้วยบิดาของท่านเป็นผู้ซึ่งทรงชอบชิดสนิทสนม และได้มารับราชการกรมท่าร่วมกันเมื่อตอนปลายรัชชกาล เพราะฉะนั้น พอถึงรัชชกาลที่ ๓ เมื่อทรงตั้งบิดาของท่านให้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง ตัวท่านก็ได้เป็นที่นายชัยขรรค์ หุ้มแพรมหาดเล็ก และต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่หลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก[3] สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ แต่งงานสมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น ธิดาหลวงแก้วอายัติ (จาด) บุตรของเจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค แต่เจ้าคุณนวลมิได้เป็นมารดา แต่จะแต่งงานเมื่อปีใดนั้น ทราบได้แต่ว่า ก่อน พ.ศ. ๒๓๗๑ เพราะเจ้าพระยาสุรวงศวัยวัฒน์ บุตรของท่าน เกิดเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๑ แล้วมีธิดาอีกคนหนึ่งชื่อ กลาง ได้แต่งงานสมรสกับพระยาสีหราชฤทธิไกร (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) บุตรเจ้าพระยาภูธราภัย
พิเคราะห์ดูตามความที่ปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุเก่า ๆ ดูเหมือนความสามารถฉลาดหลักแหลมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศจะเริ่มปรากฏแก่คนทั้งหลายตั้งแต่เมื่อเป็นหลวงสิทธิ์ นายเวร เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้โอกาส ประกอบกับฐานะของท่านที่เป็นบุตรเจ้าพระยาพระคลัง เป็นต้นว่า พอถึงรัชชกาลที่ ๓ แล้วไม่ช้า อังกฤษก็เริ่มมามีอำนาจขึ้นใกล้ชิดกับประเทศสยาม ด้วยตีได้หัวเมืองของพะม่าที่ต่อแดนไทยไว้เป็นเมืองขึ้น และมาตั้งเมืองเกาะหมากเป็นที่มั่นต่อแดนไทยทางหัวเมืองมะลายู ต้องทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับบริษัทอังกฤษซึ่งปกครองอินเดีย เริ่มมีการเมืองและการค้าขายเกี่ยวข้องขึ้นกับอังกฤษต่อนั้นมา (เมื่อเสร็จการปราบกบฏเวียงจันทน์แล้ว) ไทยเกิดรบกับญวน ต้องเตรียมรักษาปากน้ำเจ้าพระยาและเมืองจันทบุรีมิให้ญวนจู่มาทำร้ายได้โดยทางทะเล ในการปรึกษาทำหนังสือสัญญากับทูตอังกฤษก็ดี การสร้างป้อมและเตรียมกำลังรักษาเมืองสมุทรปราการก็ดี การสร้างเมืองจันทบุรีใหม่ที่เนินวงบางกระจะก็ดี อยู่ในกระทรวงของเจ้าพระยาพระคลัง บิดาของท่าน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นบุตรผู้ใหญ่ ก็ได้รับใช้เป็นผู้ช่วยอย่างกับมือขวาบิดาของท่านในการทั้งปวง[4] จึงเป็นโอกาสที่ได้แสดงคุณวุฒิให้ปรากฏ จะนำเรื่องมาสาธกพอเป็นอุทาหรณ์ ดั่งเช่นเมื่อบิดาของท่านลงไปสร้างเมืองจันทบุรี ตัวท่านเองรับต่อเรือกำปั่นรบ คิดพยายามทำเรือกำปั่นอย่างฝรั่งได้ แล้วพากำปั่นบริค[5] ลำแรกเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ โปรดพระราชทานชื่อว่า "เรือแกล้วกลางสมุท" (แต่มีชื่อเรียกอย่างฝรั่งอีกชื่อหนึ่งว่า "เรืออาเรียล")
มีจดหมายเหตุของพวกมิชชันนารีอเมริกันแต่งพิมพ์ไว้ในหนังสือบางกอกริคอเดอรว่าด้วยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเมื่อยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ร่วมเวลาเมื่อพาเรือกำปั่นลำนั้นเข้ามาถวาย ได้คัดคำแปลมาลงไว้ต่อไปนี้[6]
"วันนี้มีขุนนางไทยหนุ่มคนหนึ่งมาหาพวกมิชชันนารี ขุนนางหนุ่มผู้นี้ท่าทางคมชำ เฉียบแหลม พูดจาไพเราะ เมื่อแรกมาถึง ได้สนทนากับพวกมิชชันนารีอยู่สักพักหนึ่ง ครั้นจวนจะกลับ จึงได้สนทนากับยอนแบบติสต์ ผู้ช่วยในร้านขายยา ตอนที่คุยกับยอนแบบติสต์นี้เอง ขุนนางหนุ่มคนนั้นได้บอกว่า ตัวท่านคือหลวงนายสิทธิ์ (คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) บุตรหัวปีของเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ พึ่งกลับมาจากจันทบุรีโดยเรือที่ต่อมาจากที่นั่นซึ่งได้ชื่อว่า อาเรียล ส่วนบิดาของท่านยังคงอยู่ที่จันทบุรี เมื่อพวกมิชชันนารีรู้เข้าเช่นนี้ จึงเชื้อเชิญให้ท่านอยู่สนทนากันอีกก่อน ท่านก็ยอมอยู่สนทนาด้วยอีกสักครู่หนึ่ง ขณะเมื่อจะลาไป ได้เชิญให้พวกมิชชันนารีไปเที่ยวที่บ้านของท่านบ้าง
วันที่ ๒๔ ตุลาคม วันนี้ พวกมิชชันนารีได้ไปหาหลวงนายสิทธิ์ยังบ้านของท่าน บ้านของหลวงนายสิทธิ์นี้ หมอบรัดเลกล่าวว่า ใหญ่โตงดงามมาก ที่หน้าบ้านเขียนป้ายติดไว้ว่า "นี่บ้านหลวงนายสิทธิ์ ขอเชิญท่านสหายทั้งหลาย" ที่บ้านหลวงนายสิทธิ์นี้ พวกมิชชันนารีได้รู้จักคนดี ๆ อีกหลายคน ข้อนี้พวกมิชชันนารีรู้สึกชอบพอและรักใคร่ท่านมาก
พวกมิชชันนารีไปชมเรือใบอาเรียลซึ่งต่อมาจากเมืองจันทบุรีมาถึงได้ ๒–๓ วันเท่านั้น จะนำมาถวายให้ในหลวงทอดพระเนตร พวกมิชชันนารีกล่าวว่า เรืออาเรียลนี้เป็นเรือลำแรกที่ทำเทียมเรือฝรั่ง หลวงนายสิทธิ์ไม่มีแบบดี แต่เที่ยวได้จำแบบเรือจากเรือฝรั่งลำโน้นนิด ลำนี้หน่อย แล้วมาทำขึ้น ถึงเช่นนั้น ก็นับว่า ทำพอใช้ทีเดียว หลวงนายสิทธิ์ผู้นี้เป็นคนฉลาดไหวพริบนัก คนไทยออกจะฉลาดเทียมฝรั่งแล้ว นอกจากเรืออาเรียลที่นำมาถวายทอดพระเนตร หลวงนายสิทธิ์ยังได้ต่อเรืออื่น ๆ ที่เมืองจันทบุรีนั้นอีกเป็นจำนวนมาก น้ำหนักตั้งแต่ ๓๐๐ ตันถึง ๔๐๐ ตัน
ภรรยาของหลวงนายสิทธิ์ (ท่านผู้หญิงกลิ่น) นิสสัยก็คล้ายกับสามี ชอบสมาคมกับชาวต่างประเทศ ได้ชอบพอรักใคร่กับนางแบบติสต์มาก ถึงกับเคยไปนอนค้างที่บ้านนางแบบติสต์ กินหมากติด
เรเวอเรนด์ ยอนสัน กับภรรยา มาหาหมอบรัดเล แจ้งว่า หลวงนายสิทธิ์เชิญเขาทั้ง ๒ ไปเมืองจันทบุรี และจะให้พักอยู่ที่นั่นสัก ๖ เดือน ด้วยหลวงนายสิทธิ์ ภรรยา และลูกมีความประสงค์จะเรียนภาษาอังกฤษในโอกาสอันนี้ ยอนสันจะได้แจกหนังสือและสอนศาสนาแก่พวกจีนที่จันทบุรีด้วย
วันที่ ๘ ยอนสันกับภรรยาตกลงจะไปกับหลวงนายสิทธิ์แน่นอน หมอบรัดเลก็จะไปด้วย แต่ไปเปลี่ยนอากาศชั่วคราว เมื่อสบายดีแล้วจะกลับมา เพราะหมอบรัดเลไม่ใคร่จะสบายมาตั้งแต่พวกมิชชันนารีถูกไล่ออกจากที่อยู่เดิม หมอเป็นผู้วิ่งเต้นเรื่องที่อยู่กันเป็นภาระธุระมากมาย
หมอบรัดเลออกจากบ้านไปลงเรืออาเรียลซึ่งจะไปยังเมืองจันทบุรี พร้อมด้วยยอนสันกับภรรยา ไปถึงเรือเวลาเที่ยงตรง ได้พบกับมารดาและภรรยาของหลวงนายสิทธิ์ไปถึงเรือก่อนแล้ว มารดาและภรรยาของหลวงนายสิทธิ์นี้เป็นคนอัธยาศัยดีทั้งคู่ คุณกลิ่น (ภรรยาหลวงนายสิทธิ์) ออกตัวและขอโทษแก่พวกฝรั่งว่า เรือคับแคบ หลวงนายสิทธิ์จัดให้พวกฝรั่งพักบนดาดฟ้าชั้นบน หมอบรัดเลต้องอยู่พรากจากเมียเป็นครั้งแรกตั้งแต่แต่งงานมา เรือแล่นไปสดวกดีเกินที่คาดหมายกัน
รุ่งเช้า เรือล่องลงมาถึงปากน้ำ มารดาและญาติพี่น้องผู้หญิงของหลวงนายสิทธิ์ลงเรือมาส่งแค่นี้ แล้วขึ้นจากเรือที่ปากน้ำ ตกเวลากลางคืน พวกมิชชันนารีร้องเพลงเล่นกันแก้ง่วง หลวงนายสิทธิ์บอกว่า บนดาดฟ้าดีกว่าข้างล่าง เพราะข้างล่างปะปนกันมากนัก พวกที่อยู่ข้างล่างก็ซ้อมเพลงกล่อมช้างเผือกที่ได้ณเมืองจันทบุรีกัน วันหนึ่งร้องหลาย ๆ เที่ยวกลับไปกลับมาจนน่าเบื่อ หมอยอนสันกับภรรยาอยู่ห้องใกล้ ๆ กับหมอบรัดเล พวกมิชชันนารีที่ไปเมืองจันทบุรีคราวนี้ได้รับความเอาใจใส่จากกัปตันลีช พวกลูกเรือ และผู้ที่มาด้วยเป็นอย่างดี.
พอน้ำมาก ข้ามสันดอนได้ ก็ออกเรือ หลวงนายสิทธิ์แสดงว่า มีความเสียใจที่ต้องจากมารดาไป และมารดาก็เหมือนกัน เมื่อจะไป แสดงว่า เสียดายที่จะจากบุตรและหลาน ในจำพวกบุตรของหลวงนายสิทธิ์ชั้นหลังได้เป็นอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีกระทรวงกลาโหมคนหนึ่ง (คือ เจ้าพระยาสุรวงศวัยวัฒน วอน บุนนาค) เรือแล่นไปโดยสวัสดิภาพ.
วันนี้ หลวงนายสิทธิ์มีความกรุณาเตรียมข้าวของและเครื่องสะเบียงอาหารอันจะใช้เป็นของสำหรับเดินทางกลับกรุงเทพฯ ให้แก่หมอบรัดเลเป็นจำนวนมาก
วันนี้ หมอบรัดเลลงเรือที่ปากน้ำจันทบุรี เดิรทางกลับกรุงเทพฯ กลับมาพร้อมกับน้องเขยของหลวงนายสิทธิ์ (พระยาสุรเสนา สวัสดิ์)
วันที่ ๑๙ ถึงปากน้ำเมืองสมุทร วันที่ ๒๐ ลงเรือสำปั้นเข้ามากรุงเทพฯ กับนายสุจินดา[7] วันที่ ๒๑ ถึงกรุงเทพฯ มีความสุขสบายดี"
การที่คบหาสมาคมกับพวกมิชชันนารีอเมริกันในสมัยนั้น ไม่แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เท่านั้น ตั้งแต่พวกมิชชันนารีอเมริกันเริ่มเข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ เดิมมาเช่าที่ตั้งอยู่ที่หน้าวัดเกาะ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ มีฝรั่งพวกนายเรือใบไปอาศัยพวกมิชชันนารี แล้วเลยเข้าไปยิงนกในวัดเกาะ เป็นเหตุวิวาทขึ้นกับพระ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง จึงให้พวกมิชชันนารีย้ายขึ้นมาอยู่ใต้บ้านพวกเข้ารีตที่กุฎีจีนใกล้กับจวนของท่าน เป็นเหตุให้พวกมิชชันนารีได้โอกาสเข้าใกล้ชิดกับไทยที่มียศบรรดาศักดิ์ ก็ลักษณะที่พวกมิชชันนารีประพฤตินั้นมีการสอนคฤสตศาสนาเป็นเบื้องต้นก็จริง แต่พอในสอนภาษาอังกฤษและวิชชาความรู้ต่าง ๆ ของฝรั่งไปด้วยกันกับทั้งรักษาไข้เจ็บด้วย ถึงกระนั้น ไทยโดยมากก็มีความรังเกียจพวกมิชชันนารีด้วยเห็นว่า จะมาสอนให้เข้ารีตถือศาสนาอื่น แต่มีบางคนซึ่งเป็นชั้นหนุ่ม หรือถ้าจะเรียกตามอย่างปัจจุบันนี้ก็ว่า เป็นจำพวกสมัยใหม่ ใคร่จะเรียนภาษาและวิชชาของฝรั่งเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ไม่รังเกียจการที่จะคบหาสมาคมและศึกษาวิชชาการกับพวกมิชชันนารี ในพวกสมัยใหม่ที่กล่าวนี้ ได้มาเป็นบุคคลสำคัญในชั้นหลัง ๔ คน คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวช พอพระราชหฤทัยใคร่จะเรียนภาษาและหนังสืออังกฤษกับทั้งวิชชาต่าง ๆ มีโหราสาสตร์เป็นต้น พระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พอพระราชหฤทัยจะทรงเรียนวิชชาทหารเป็นที่ตั้ง ทั้งเรียนหนังสือเพื่อจะให้ทรงอ่านตำหรับตำราได้เอง พระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งได้ทรงศึกษาวิชชาแพทย์ไทยอยู่แล้ว ใคร่จะทรงศึกษาวิชชาแพทย์ฝรั่ง แต่ไม่ประสงค์จะทรงเรียนภาษาอังกฤษ พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อยังเป็นหลวงสิทธิ์ นายเวร ใคร่จะเรียนวิชชาต่อเรือกำปั่นเป็นสำคัญ และภาษาอังกฤษก็ดูเหมือนจะได้เรียนบ้าง[8] อีกคน ๑
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเห็นจะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่จมื่นวัยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก เมื่อราวปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ ด้วยปรากฏในการทำสงครามกับญวนในปีนั้นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสให้จัดกองทัพเรือใช้เรือกำปั่นที่ต่อใหม่เป็นพื้น และโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นแม่ทัพใหญ่ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อเป็นที่จมื่นวัยวรนาถ เป็นนายทัพหน้า ยกลงไปตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) แต่ไปทำการไม่สำเร็จดังพระราชประสงค์ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มสร้อยนามพระราชทานว่า "จมื่นวัยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ"[9] จะเป็นด้วยทำความชอบพิเศษอย่างไรหาทราบไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์ตามเหตุการณ์ในสมัยนั้น ก็พอจะสันนิษฐานเค้าเงื่อนได้ ด้วยบิดาของท่านได้เป็นตำแหน่งเสนาบดีกลาโหมกับกรมท่ารวมกัน ๒ กระทรวงมาหลายปี เมื่อจับแก่ชรา และมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งมากขึ้น ตัวท่านไม่สันทัดการฝรั่ง ก็เป็นธรรมดาที่จะปรึกษาหารือบุตรซึ่งได้ศึกษาการนั้นช่วยปลดเปลื้องกิจธุระในตำแหน่ง ได้ช่วยราชการต่างหูต่างตามากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่จะให้ปรากฏคุณวุฒิแก่พระญาณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งขึ้นเป็นอันดับมา ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือจดหมายเหตุ เรื่อง เซอเชมสบรุก ทูตอังกฤษ เข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาเมื่อเดือน ๙ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ เป็นเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มทรงประชวรในคราวที่จะเสด็จสวรรคต เสด็จออกว่าราชการไม่ได้ เพราะทรงพระวิตกว่า การครั้งนี้ผิดกับครั้งครอเฟอรดเป็นทูตมาในรัชชกาลที่ ๒ และเฮนรีเบอร์นีเป็นทูตมาเมื่อต้นรัชชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นแต่ทูตของบริษัทอังกฤษที่ปกครองหัวเมืองในอินเดีย เซอร์เชมสบรุกเป็นทูตมาจากรัฐบาลอังกฤษ มีศุภอักษรของลอร์ดปาลเมอสตอน อัครมหาเสนาบดีประเทศอังกฤษ มาว่ากล่าวจะให้แก้สัญญา จะประมาทไม่ได้ ด้วยรัฐบาลอังกฤษเอากำลังเข้ารบพุ่งบังคับให้จีนทำสัญญามาไม่ช้านัก ได้โปรดฯ ให้ตระเตรียมป้องกันปากน้ำไว้อย่างแขงแรง ครั้นเซอร์เชมสบรุกมีหนังสือมา จึงมีรับสั่งให้เขียนข้อพระราชดำริพระราชทานออกมาให้เสนาบดีกับผู้อื่นซึ่งทรงเลือกสรรโดยฉะเพาะให้ประชุมปรึกษากัน ความในกระแสรับสั่งแห่งหนึ่งว่า "การครั้งนี้เป็นการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรจะเอาเป็นที่ปรึกษาใหญ่ได้ ก็แต่ว่า ติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทปราการ จมื่นวัยวรนาถ (คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ) เล่า ก็เป็นคนสันทัดหนักในอย่างธรรมเนียมฝรั่ง ก็ลงไปรักษาเมืองสมุทปราการอยู่ แต่ทว่า เห็นจะได้พูดจาปรึกษาหารือกับเจ้าพระยาพระคลังแล้ว ก็เห็นจะถูกต้องกันกับเจ้าพระยาพระคลัง" ดังนี้[10] กระแสรับสั่งที่กล่าวมา พระราชทานออกมาเมื่อณวันอังคาร เดือน ๙ ขึ้น ๑๒ ค่ำ คือ ก่อนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็สวรรคตเพียง ๘ เดือน ปรากฏว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศยังเป็นที่จมื่นวัยวรนาถอยู่ เพราะฉะนั้น เห็นจะได้เลื่อนเป็นที่พระยาศรีสุริยวงศ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก[11] เมื่อจวนจะสิ้นรัชชกาลที่ ๓ และเป็นพระยาอยู่ไม่ถึงปี ก็ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา
ในเวลาเมื่อใกล้จะสิ้นรัชชกาลที่ ๓ นั้น ปรากฏว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศได้อาศัยสติปัญญาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศช้วยแก้ไขเหตุลำบากเรื่องหนึ่ง จะต้องกล่าวย้อนขึ้นไปถึงเรื่องอันเป็นมูลเหตุก่อน[12] คือ ในรัชชกาลที่ ๓ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์สวรรคตแล้ว พวกข้าเจ้าต่างกรมพากันคาดว่า เจ้านายของตนจะได้เลื่อนขึ้นเป็นพระมหาอุปราชหลายกรม บางแห่งถึงเตรียมตัวหาผ้าสมปักขุนนางและที่เป็นตำรวจหาหอกไว้ถือแห่เสด็จก็มี กิตติศัพท์นั้นทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศเมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ พระยาศรีพิพัฒน์กราบทูลความเห็นว่า ควรจะโปรดฯ ให้เลื่อนกรมเจ้านายที่มีความชอบเสียทันที จะได้ปรากฏแก่ข้าในกรมว่า เจ้านายของตนจะได้เลื่อนพระยศเป็นเพียงนั้นเอง ก็ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย[13] เมื่อจวนสิ้นรัชชกาลที่ ๓ เจ้านายซึ่งได้เลื่อนกรมครั้งนั้นยังดำรงพระชนม์อยู่หลายพระองค์ แต่กรมขุนพิพิธภูเบนทร์นั้นเกิดทรงหวาดหวั่น เพราะข้าในกรมเคยขึ้นชื่ออวดอ้างยิ่งกว่ากรมอื่น ทรงพระวิตกเกรงเจ้าพระยาพระคลังกับพระยาศรีพิพัฒน์จะพาลเอาผิดในเวลาเปลี่ยนรัชชกาล[14] จึงเรียกระดมพวกข้าในกรมเข้ามารักษาพระองค์ ที่ในวังเชิงสะพานหัวจรเข้ไม่พอให้คนอยู่ ต้องให้ไปอาศัยพีกอยู่ตามศาลาในวัดพระเชตุพน ความนั้นทราบถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ แต่ยังสงสัยอยู่ จึงให้บุตร ๒ คน[15] ไปดูที่วัดพระเชตุพนว่า จะจริงอย่างว่าหรือฉันใด ก็ไปเห็นผู้คนมีอยู่ตามศาลามากผิดปกติ ไต่ถามได้ทราบว่า เป็นข้าในกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ทั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์จึงเรียกสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศมาปรึกษาว่า จะทำอย่างไรดี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเรียนว่า ขอให้สงบไว้สักวันหนึ่งก่อน ในวันนั้น ท่านรีบลงไปยังเมืองสมุทรปราการ เรียกพวกทหารปืนเล็กเอาลงบรรทุกเต็มเรือกำปั่นลำหนึ่งแล่นขึ้นมาในกลางคืน พอเช้าถึงกรุงเทพฯ ให้เรือทอดสมอที่ตรงท่าเตียน แล้วตัวท่านก็ไปเฝ้ากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ทูลว่า บิดาให้มาทูลถามว่า ที่ทรงระดมผู้คนเข้ามาไว้มากมายเช่นนั้น มีพระประสงค์อย่างใด กรมขุนพิพิธฯ ตรัสตอบว่า ด้วยเกรงภัยอันตราย[16] จึงเรียกคนมาไว้เพื่อจะป้องกันพระองค์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศทูลว่า บิดาของท่านกับเสนาบดีช่วยกันรักษาราชการบ้านเมืองเป็นปกติอยู่ ไม่มีเหตุอันสมควรจะทรงหวาดหวั่นเช่นนั้น ขอให้ไล่คนกัลบไปเสียใหม้หมดโดยเร็ว มิฉะนั้น จะให้ทหารมาจับเอาคนเหล่านั้นไปทำโทษ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ก็จนพระหฤทัย ต้องให้ปล่อยคนกลับไปหมด
เรื่องประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศอันเนื่องด้วยการถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เคยได้ยินท่านผู้หลักผู้ใหญ่แต่ก่อนเล่กาันมาว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศได้คิดเห็นก่อนบิดาของท่านว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ราชสมบัติต้องได้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองจึงจะเป็นปกติต่อไป อาศัยเหตุนั้น ตัวท่าน เมื่อยังเป็นที่จมื่นวัยวรนารถ กับเจ้าพระยาทิพากรวงศ เมื่อยังเป็นที่จมื่นราชามาตย์ ซึ่งมีความเห็นพ้องกัน จึงชวนกันปฏิสังขรณ์วัดดอกไม้[17] ซึ่งอยู่ในสวนแห่งหนึ่งไม่ห่างไกลกับบ้านที่ท่านอยู่นั้น แล้วกราบทูลขอคณะสงฆ์ธรรมยุติกาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปครอง เมื่อเช่นนั้น ก็เกิดมีกิจที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จไปทรงตรวจตราและสั่งสอนพระสงฆ์ซึ่งออกวักไปใหม่เนือง ๆ ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศกับเจ้าพระยาทิพากรวงศก็ได้โอกาสมาเฝ้าแหน เกิดวิสาสะประกอบกับสมานฉันท์ในความนิยมศึกษาวิชชาความรู้ทางข้างฝรั่ง ก็เลยทรงชอบชิดสนิทสนมแต่นั้นมา ครั้นถึงเวลาปัญหาเกิดขึ้นจริงด้วยเรื่องรัชชทายาท ท่านทั้งสองนั้นก็ได้เป็นกำลังสำคัญอยู่ข้างหลังบิดาในการที่ขวนขวายให้พร้อมเพรียงกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงสถาปนาเจ้าพระยาพระคลังขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ ตำแหน่ง "ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน" และทรงสถาปนาพระยาศรีพิพัฒน์ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ตำแหน่ง "ผู้สำเร็จราชการพระนคร" แล้วจึงทรงตั้งพระยาศรีสุริยวงศ จางวางมหาดเล็ก เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ "ว่าที่สมุหพระกลาโหม" และทรงตั้งจมื่นราชามาตย์เป็นเจ้าพระยารวิวงศ "ผู้ช่วยราชการกรมท่า[18]" ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างตราสุริยมณฑลพระราชทานสำหรับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ และตราจันทรมณฑลสำหรับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศยังคงถือตราพระคชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหมกับตราบัวแก้วสำหรับตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังอยู่อย่างเดิม จึงโปรดฯ ให้สร้างตราศรพระขรรค์ขึ้นอีกดวงหนึ่งพระราชทานสำหรับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศใช้ ครั้นต่อมาเมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศได้เป็นที่สมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่งแล้ว จึงโปรดฯ ให้ใช้ตราศรพระขรรค์เป็นคู่กับตราพระคชสีห์เหมือนอย่างตราจักรเป็นคู่กับตราพระราชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหนายก[19] เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศได้เป็นเจ้าพระยาว่าที่สมุหพระกลาโหมนั้น ได้พระราชทานที่บ้านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี อันอยู่ที่ริมคลองสะพานหันฝั่งตะวันออกตรงหน้าวังบุรพาภิรมย์ข้าม) อันเป็นบ้านหลวง ให้เป็นจวนที่อยู่ด้วย แต่เห็นจะอยู่เรือนของเดิม เป็นแต่ซ่อมแซ่ม ไม่ได้สร้างเย่าเรือนขึ้นใหม่[20] ได้อยู่ในจวนแห่งนี้จนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศถึงพิราลัย ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ และโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศเป็นอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่ง จึงได้ข้ามกลับไปอยู่ทางฟากธนบุรี แต่ไปสร้างจวนอยู่ใหม่ (ที่เรียกว่า โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อยู่ริมคลองสานบัดนี้) ที่จวนเดิมของบิดาท่าน ให้น้องอยู่
เรื่องประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศมามีเป็นตอนสำคัญปรากฏเมื่อครั้งสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียประเทศอังกฤษให้เซอจอนเบาริงเป็นราชทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ อธิบายเรื่องนี้ก็จะต้องกล่าวความย้อนถอยหลังขึ้นไปสักหน่อย คือ เมื่อในรัชชกาลที่ ๓ ไทยได้ทำหนังสือสัญญาค้าขายกับบริษัทอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ แล้วต่อมาทำหนังสือสัญญาเช่นเดียวกันกับรัฐบาลสหปาลรัฐอเมริกาเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๗๕ สัญญานั้นมีเนื้อความว่า ไทยยอมให้เรือกำปั่นของอังกฤษและอเมริกันเข้ามาค้าขายในพระราชอาณาเขตต์โดยสดวก ข้างอังกฤษและอเมริกันยอมให้ไทยเก็บค่าจังกอบตามขนาดปากเรือ ถ้าเป็นเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาขาย ให้เก็บค่าจังกอบวาละ ๑,๗๐๐ บาท ถ้าเป็นเรือเปล่าเข้ามาซื้อสินค้า ไทยรับว่า จะไม่เรียกเก็บภาษาอย่างอื่นอีกเช่นนี้ ต่อมา พวกพ่อค้าอังกฤษและอเมริกันเกิดไม่พอใจ เหตุด้วยในสมัยนั้น การเก็บภาษีภายในใช้วิธีให้ผูกขาดอยู่เป็นพื้น[21] ก็วิธีภาษีผูกขาดอย่างโบราณนั้นมอบอำนาจให้เจ้าภาษีซื้อขายสินค้าสิ่งซึ่งตนรับผูกได้แต่คนเดียว ใครมีสินค้าสิ่งนั้นจะขาย ก็ต้องขายแก่เจ้าภาษี ใครจะต้องการซื้อ ก็ต้องมาซื้อไปจากเจ้าภาษี ยังสินค้าซึ่งเป็นของมีราคามาก ดังเช่น นอแรด งาช้าง และดีบุก เป็นต้น ก็ผูกขาดเป็นของหลวง ขายซื้อได้แต่ที่พระคลังสินค้าแห่งเดียว นอกจากวิธีภาษีผูกขาดดังกล่าวมา ในสมัยนั้นทั้งในหลวงและเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยยังทำการค้าขายเองตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ แต่งเรือไปซื้อขายสินค้าถึงนานาประเทศบ้าง เช่าระวางเรือผู้อื่นฝากสินค้าไปมาบ้าง และผู้พาสินค้าเข้าออกยังต้องเสียภาษีอีกชั้นหนึ่ง พวกพ่อค้าฝรั่งกล่าวหาว่า รัฐบาลเก็บค่าจังกอบแล้วยังแย่งค้าขายและให้ผูกขาดเก็บภาษีโดยทางอ้อม ไม่ทำตามหนังสือสัญญา ข้างฝ่ายไทยเถียงว่า ไม่ได้ทำผิดสัญญา เพราะพวกพ่อค้าแขกและจีนก็ต้องเสียภาษีขาเข้าขาออกอยู่อย่างเดิม พวกฝรั่งมาขอเปลี่ยนเป็นเสียค่าจังกอบตามขนาดปากเรือ ก็อนุญาตให้ตามประสงค๋ เมื่อไม่สมัครเสียค่าปากเรือ จะเสียภาษีขาเข้าขาออกอย่างเดียวกับพวกพ่อค้าแขกและจีนก็ได้ จะยอมตามใจสมัคร อีกประการหนึ่ง ในหนังสือสัญญาก็ไม่ได้รับว่า จะเลิกภาษีผูกขาดและการค้าขายของหลวง หรือไม่อนุญาตให้เจ้านายข้าราชการค้าขาย จะว่าผิดสัญญาอย่างไรได้ เป็นข้อถุ้มเถียงกันมาดังนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓ รัฐบาลอเมริกันให้นายบัลเลศเตียเป็นทูตมาขอแก้หนังสือสัญญาเมื่อต้นปี ก็ไม่ตกลงกัน ต่อมาในปีจอนั้นเอง รัฐบาลเมืองอังกฤษ[22] แต่งให้เซอเชมสบรุกเป็นทูตเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญา แต่มาประจวบเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรเมื่อคราวจะเสด็จสวรรคต พระราชทานกระแสพระราชดำริออกมาให้ข้าราชการผู้ใหญ่ปรึกษาหารือกันว่ากล่าวเจรจากับเซอเชมสบรุก ที่สุดก็ไม่คกลงกันได้อีก เซอเชมสบรุกต้องกลับไปเปล่า แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ผิดกับคราวเฮนรีเบอนีเป็นทูตของบริษัทอังกฤษที่ปกครองอินเดียเข้ามาทำหนังสือสัญญาเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๖๙ ด้วยเดิมมา จีนก็ไม่ยอมทำหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศ จนเกิดรบกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ จีนแพ้ ต้องยอมทำหนังสือสัญญา จึงเป็นเหตุให้ฝรั่งได้ใจ เห็นว่า ต้องใช้อำนาจจึงจะให้พวกชาวประเทศตะวันออกยอมทำหนังสือสัญญาค้าขายตามประสงค์ได้ เซอเชมสบรุกกลับไปคราวนั้น ความปรากฏว่า ไปเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษขอให้ส่งกองทัพเรือเข้ามาบังคับไทยให้ทำหนังสือสัญญาอย่างเดียวกับจีน แต่ผเอิญประจวบเวลาทางเมืองไทยเปลี่ยนรัชชกาลใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริโดยพระปรีชาญาณเห็นมาแต่เมื่อยังทรงผนวชอยู่ว่า เหตุการร์ทางประเทศตะวันออกไม่เหมือนแต่ก่อน ด้วยฝรั่งกลับมามีอำนาจขึ้น ซึ่งจะไม่ยอมแก้หนังสือสัญญานั้นไม่ได้ ฝ่ายข้างอังกฤษมาถึงสมัยนี้ได้เกาะฮ่องกงของจีนมาตั้งเป็นเมืองขึ้น รัฐบาลอังกฤษจึงมอบอำนาจให้เซอจอนเบาริง เจ้าเมืองฮ่องกง เป็นผู้มาจัดการทำหนังสือสัญญากับไทยให้สำเร็จ เซอจอนเบาริงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาสันทัดภาษาอังกฤษ และมีพระราชอัธยาศัยกว้างขวาง จึงมีจดหมายเข้ามาทำทางพระราชไมตรีให้มีต่อส่วนพระองค์ไว้เสียก่อน แล้วตัวเซอจอนเบาริงจึงเชิญพระราชสาสนของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีขอทำหนังสือสัญญาในระวางประเทศที่เป็นอิสสระด้วยกันเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งข้าหลวง ๕ คน คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ องค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ องค์ ๑ เจ้ายาศรีสุริยวงศ คน ๑ เจ้าพระยา (รวิวงศ ผู้ช่วยราชการกรมท่า) ว่าที่พระคลัง คน๑ ให้เป็นผู้ปรึกษาข้อสัญญากับเซอจอนเบาริง
การปรึกษาสัญญาคราวนี้ เมื่อพิจารณาดูเรื่องราวซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุ[23] เป็นการลำบากมิใช่น้อย ด้วยรัฐบาลอังกฤษได้วางแบบหนังสือสัญญาไว้เมื่อรบชะนะประเทศจีนว่า จะทำสัญญากับประเทศทางตะวันออกเป็นทำนองเดียวกันหมด ไม่ใช่มาปรึกษาหาความตกลงตามแต่จะสะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง เสมออังกฤษร่างหนังสือสัญญาเข้ามาแล้ว ยอมให้ไทยแก้ไขแต่พลความ ส่วนใจความอันเป็นข้อสำคัญ เช่น ว่าด้วยอำนาจของกงสุลซึ่งจะให้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ดี สิทธิของคนในบังคับอังกฤษที่จะไม่ต้องอยู่ในบังคับของรัฐบาลไทยเพียงใดก็ดี ยุตติมาเสียแล้ว มีการปรึกษาแต่ด้วยเรื่องเก็บภาษีอากรแก่คนในบังคับอังกฤษ อังกฤษขอให้เลิกภาษีผูกขาดอย่างปิดซื้อปิดขายตลอดจนวิธีซื้อขายของพระคลังสินค้า เปลี่ยนเป็นเก็บภาษีมีพิกัดตามจำนวน (คือ ร้อยละเท่านั้นเท่านี้ในจำนวนสินค้า) และจำกัดอัตราภาษีศุลกากร เช่น เรียกภาษีสินค้าเข้าตามราคาได้แต่เพียงร้อยละ ๓ เป็นต้น เมื่อเสึยภาษีตามหนังสือสัญญาแล้ว ไทยต้องยอมให้คนในบังคับอังกฤษซื้อขายได้ตามใจ เว้นแต่สินค้าต้องห้ามบางอย่าง มีฝิ่นและเครื่องอาวุธปืนไฟเป็นต้น ฝ่ายข้างไทยในเวลานั้น ความเห็นก็เห็นจะร่วมกันหมดในข้อที่ว่า ต้องยอมทำหนังสือสัญญาใหม่กับอังกฤษ จะปฏิเสธอย่างครั้งเซอเชมสบรุกไม่ได้ ข้อสัญญาว่าด้วยการอย่างอื่น เช่น อำนาจของกงสุลก็ดี หรือสิทธิของคนในบังคับอังกฤษก็ดี ดูไม่ปรากฏความรังเกียจเพียงใดนัก ความขัดข้องโต้แย้งของท่านผู้ใหญ่ คือ สมเด็จเจ้าพระยาทั้ง ๒ องค์เป็นสำคัญ อยู่ในข้ออื่น คือ เรื่องเลิกภาษีผูกขาดเป็นต้น อ้างว่า เคยเป็นประเพณีบ้านเมืองมาช้านาน ถ้าเลิกผูกขาดภาษีเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เงินผลประโยชน์สำหรับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินก็จะตกต่ำถึงฝืดเคือง อีกประการหนึ่ง (ข้อนี้ คิดดูในเวลานี้ก็ชอบกล) เห็นว่า การทำนาในเมืองไทยได้เข้าก็พอแต่จะเลี้ยงไพร่บ้านพลเมืองมิให้อัตคัด ถ้าให้ชาวต่างประเทศมาซื้อเข้าเอาไปจากบ้านเมืองตามชอบใจ ก็จะเป็นเหตุให้ราษฎรในพื้นเมืองอดอยาก อีกประการหนึ่ง ถ้าทำหนังสือสัญญาอย่างนั้นแล้ว ฝรั่งเข้ามาค้าขายมากขึ้น ก็จะมาค้าขายแข่งคนในพื้นเมือง ทำให้พวกพ่อค้าตลอดจนผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งเคยอาศัยเลี้ยงชีพในการค้าขายพากันย่อยยับ เพราะฝรั่งมีทุนมากกว่า การโต้แย้งขัดขวางในข้อเหล่านี้เป็นเหตุให้การปรึกษาติดขัดในชั้นแรก จนถึงเซอจอนเบาริงเตรียมตัวจะกลับไป ว่าจะไปปรึกษากับราชทูตฝรั่งเศส ราชทูตอเมริกัน ที่เมืองจีน กับทั้งแม่ทัพเรือของอังกฤษว่า จะควรทำอย่างไรต่อไป ที่การปรึกษาสำเร็จได้ครั้งนั้นเพราะสติปัญญาบุคคลแต่ ๒ คน คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[24] พระองค์ ๑ กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ องค์ ๑ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะเข้าทรงปรึกษาว่ากล่าวเองไม่ถนัด ได้แต่คอยทรงอำนวยการและแนะนำ อย่างว่า "อยู่ข้างหลังฉาก" ในจดหมายเหตุของเซอจอนเบาริงกล่าวว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นตัวผู้ที่ได้เข้าพูดจาว่ากล่าวกับทูตอังกฤษ ทั้งเมื่อเวลาประชุมข้าหลวงปรึกษาสัญญาณะจวนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ หลาย ๆ วันประชุมกันครั้งหนึ่ง และไปพูดจาปรึกษาหารือกับเซอจอนเบาริงเป็นอย่างส่วนตัวเองแทบทุกวัน พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้นทรงพระราชดำริว่า ความข้อใดซึ่งเห็นว่า อังกฤษคงจะเอาให้จงได้ ยอมให้เสียโดยดี แลกเอาข้อที่ไทยต้องการจะให้เขาลดหย่อนผ่อนผันให้ดีกว่า[25] เพราะอย่างไร ๆ ก็ต้องทำหนังสือสัญญา จึงจะพ้นเหตุเภทภัยแก่บ้านเมือง ครั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นผู้อยู่กลางในระวางทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสอง แต่สามารถเข้าได้สนิททั้งสองฝ่าย จนเซอจอนเบาริงชมไว้ในจดหมายรายวันซึ่งเขียนในระวางเวลาเมื่อปรึกษาสัญญากันอยู่นั้นแห่ง ๑ เขียนเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๘๕๕ (พ.ศ. ๒๓๙๘) ว่า "เจ้าพระยาศรีสุริยวงศคนนี้ ถ้าไม่เป็นเจ้ามารยาอย่างยอด ก็เป็นคนรักบ้านเมืองของตนอย่างยิ่ง แต่จะเป็นเจ้ามารยาหรือเป็นคนรักบ้านเมืองก็ตาม ต้องยอมว่า ฉลาดล่วงรู้การล้ำคนทั้งหลายที่เราได้มาพบในที่นี้ ทั้งมีกิริยาอัชฌาสัยสุภาพอย่างผู้ดี และรู้จักพูดจาพอเหมาะแก่การ" อีกแห่ง ๑ เขียนเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ว่า "อัธยาศัยของอัครมหาเสนาบดี (คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ) นั้น น่าสรรเสริญมาก ท่านได้กล่าวแก่เราหลายครั้งว่า ถ้าเรามีความมุ่งหมายจะช่วยประชาชนให้พ้นความกดขี่ และช่วยบ้านเมืองให้พ้นภาษีผูกขาด ซึ่งเอาประโยชน์ของบ้านเมืองไปเป็นส่วนบุคคลนั้น ก็จะช่วยเราเหนื่อยด้วย และถ้าเราทำการสำเร็จ ชื่อเสียงของเราก็จะเป็นที่ยกย่องต่อไปชั่วกาลนาน ท่านเล่าให้เราทราบความบกพร่องต่าง ๆ โดยมิได้ปิดบังเลย และบางคราวพูดอย่างโกรธเกรี้ยว (ไม่พอใจในการที่เป็นอยู่) ถ้าท่านผู้นี้มีใจจริงดังปากว่า ก็ต้องนับว่า เป็นคนรักบ้านเมืองและฉลาดเลิศที่สุดคนหนึ่งในเหล่าประเทศตวันออกนี้ อนึ่ง การใช้เงินนั้น ท่านเป็นผู้ไม่ตระหนี่ กล่าวว่า เงินทำให้ร้อนใจ จึงใช้สอยเสียอย่างไม่เบียดกรอเลย ส่วนความยากซึ่งมีในฐานะของตัวท่านนั้น ท่านก็ชี้แจงให้เราทราบหมด แม้ความลำบากเกี่ยวกับผู้ที่อยู่ในสกุลเดียวกัน (เห็นจะหมายความว่า สมเด็จเจ้าพระยาทั้งสององค์) ก็ไม่ปกปิด คำเซอจอนเบาริง[26] ส่อให้เห็นความสามารถฉลาดหลักแหลมของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศเพียงไรในสมัยนั้น พอทำหนังสือสัญญากับอังกฤษแล้ว ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ นั้นเอง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศก็ถึงพิราลัย ต่อมาอีก ๒ ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติก็ถึงพิราลัยในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ แต่นั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศก็เป็นตัวหัวหน้าเสนาบดีทั้งปวงทั้งโดยตำแหน่งและโดยความสามารถในราชการงานเมืองทั่วไป[27]
ตั้งแต่อังกฤษเข้ามาทำหนังสือสัญญาสำเร็จแล้ว ต่อมาอีกปีหนึ่ง อเมริกันและฝรั่งเศสก็เข้ามาขอทำหนังสือสัญญาบ้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริโดยพระปรีชาญาณเห็นการอันเป็นข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งว่า ไหน ๆ ก็จำต้องทำสัญญากับฝรั่งแล้ว ทำสัญญาเสียให้หลายชาติด้วยกัน ความเป็นอิศรภาพของบ้านเมืองก็จะมั่นคง ดีกว่าให้ฝรั่งแต่ชาติหนึ่งชาติเดียวเข้ามามีอำนาจ เพราะฉะนั้น เมื่อชาติไหนมาขอทำหนังสือสัญญา ก็โปรดฯ ให้รับทำด้วย เป็นพระบรมราโชบายมาตลอดในรัชชกาลที่ ๔ เป็นแต่ระวังมิให้เสียเปรียบกว่าสัญญาที่ทำมาแล้ว การที่ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งต่างชาติครั้งนั้น เป็นเหตุให้ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงกิจการบ้านเมืองหลายอย่าง เป็นต้นว่า วิธีเก็บภาษีภายใน ต้องเลิกผูกขาดซื้อขายอย่างแต่ก่อน เปลี่ยนวิธีเก็บชักส่วนตามจำนวนสินค้าแล้วแต่ใครจะค้าสิงใดก็ได้ และต้องตั้งภาษีต่าง ๆ ขึ้นใหม่อีกหลายอย่างทดแทนจำนวนเงินผลประโยชน์แผ่นดินที่ขาดไปเพราะเลิกภาษีผูกขาด[28] ส่วนการทดแทนผลประโยชน์ของเจ้านายและข้าราชการทั้งพ่อค้าที่ต้องขาดไปเพราะทำหนังสือสัญญากับฝรั่งนั้น ก็แก้ไขด้วยให้พวกพ่อค้า (ซึ่งเป็นเชื้อจีนโดยมาก) เข้ารับเป็นเจ้าภาษีนายอากรที่ตั้งขึ้นใหม่ และแจกการควบคุมภาษีนั้น ๆ ให้ขึ้นอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งขาดประโยชน์เป็นเจ้ากระทรวงอยู่โดยมาก ก็ได้รับส่วนแบ่งจากเงินภาษีอากรที่ตนได้ควบคุมนั้น[29] ยังการที่ต้องคิดป้องกันมิให้ชาวเมืองเกิดอดอยากเพราะฝรั่งมาซื้อเข้าเอาไปเสียนั้น ก็ต้องคิดอ่านบำรุงการกสิรกรรมและพาณิชยกรรมให้เพิ่มพืชผลขึ้นให้พอแก่การค้าขาย จึงเกิดความคิดขุดคลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ เพิ่มทางคมนาคมและเบิกที่ให้คนทำไร่นามากขึ้น นอกจากที่ได้กล่าวมา เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศออกไปเมืองสิงคโปร์ด้วยกันกับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร ซึ่งได้ทรงบัญชาการกรมพระคลังมหาสมบัติ ให้ตรวจตราพิจารณาวิธีที่อังกฤษทำนุบำรุงบ้านเมือง แต่จะกลับมากราบบังคมทูลถวายรายงานอย่างไรบ้างหาปรากฏไม่ การทำนุบำรุงกรุงเทพฯ ตามคติฝรั่ง เช่น ทำถนนและสะพานสำหรับใช้รถ จัดโปลิศ เป็นต้น เนื่องมาตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับต่างประเทศ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นผู้รับสั่งให้ดูแลการเหล่านั้นแทบทุกอย่าง ครั้นเมื่อทำหนังสือสัญญาแล้ว มีฝรั่งเข้ามาค้าขายมากขึ้นโดยลำดับ และมีกงสุลเข้ามาตั้งคอยอุดหนุนคนในบังคับของตน ก็มีกิจการเกี่ยวข้องและความลำบากซึ่งมิได้เคยมีมาแต่ก่อนเกิดขึ้นต่าง ๆ การที่แก้ไขความลำบากต่าง ๆ กับฝรั่งในครั้งนั้นก็ได้อาศัยแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นสำคัญ ถ้าจะเปรียบด้วยการทหาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเหมือนเป็นแม่ทัพ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นเสนาธิการ ช่วยกันมาจนตลอดรัชชกาลที่ ๔ ด้วยฐานะเป็นดังกล่าวมา เมื่อความจำเป็นจะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเกิดขึ้นครั้งเริ่มรัชชกาลที่ ๕ จึงไม่มีผู้อื่นนอกจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศซึงจะเป็นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้
ข้อสำคัญอันหนึ่งในเรื่องประวัติของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเมื่อตอนก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คือ ท่านคิดอ่านยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ดังปรากฏอยู่ในเรื่องจดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต (ซึ่งได้พิมพ์ในงานสตมวาร) นั้น มีหลักฐานปรากฏว่า ท่านได้ตกลงใจมาแล้วหลายปี เห็นจะเป็นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๗ และได้กราบบังคมทูลความคิดนั้นแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบด้วย เรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเล่าว่า วันหนึ่ง[30] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจาอยู่หัวเสด็จออกประทับณพระทวารหน้ามุขพระที่นั่งอนันตสมาคม[31] อันเป็นที่รโหฐาน สมเด็⟨จ⟩เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเข้าเฝ้าฯ ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับคอยรับใช้อยู่ข้างเบื้องพระขนองของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ทรงสดับตรัสประภาษกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศด้วยเรื่องต่าง ๆ มาจนถึงเรื่องวังหน้า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศจะได้กราบทูลอธิบายว่ากะไร หาทรงได้ยินถนัดไม่ ได้ยินแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสตอบว่า "ถ้าเช่นนั้น กั้นกำแพงแบ่งกันเสียที่ท้องสนามหลวงก็แล้วกัน" เข้าพระราชหฤทัยว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศคงกราบทูลอธิบายว่า เห็นจำเป็นจะต้องให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย แต่จะทรงโต้แย้งขัดขวาง ก็เห็นไม่เป็นประโยชน์ จึงได้มีพระราชดำรัสอย่างนั้น เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่านี้ ก็สมกับการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องกรมหมื่นบวรวิชัยชาญในเวลาต่อมา เช่น โปรดฯ ให้ไปเยี่ยมตอบราชทูตฝรั่งเศส (ที่ปรากฏในหนังสือ เรื่อง พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์) และเล่ากันว่า เมื่อเสด็จออกรับเจ้าเมืองสิงคโปร์ที่พลับพลาหว้ากอ โปรดฯ ให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญหมอบเฝ้าฯ ข้างที่ประทับฝ่ายหนึ่งคู่กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นต้น
เหตุใดสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศจึงคิดยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ข้อนี้ ท่านที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่แต่ก่อนมีความเห็นพ้องกันโดยมากว่า คงเป็นเพราะสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศคิดเกรงว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญวัยขึ้น จะทรงตัดอำนาจวาศนาของท่าน หรืออย่างต่ำ ก็จะคอยโต้แย้งขัดขวางมิให้ท่านทำการงานได้สดวก และอาจทรงทำได้ด้วยเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงคิดตั้งพระมหาอุปราชไว้เป็นที่กัดกั้น และเลือกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราชด้วยเห็นว่า จะเข้ากันกับวังหลวงไม่ได้ ก็จะจำเป็นต้องอาศัยตัวท่านทั้งฝ่ายวังหลวงและวังหน้า ดังนี้ ความคิดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเช่นผู้อื่นสันนิษฐานดังกล่าวมา แม้ท่านจะคิดอย่างนั้นจริง ก็เห็นจะไม่กล้ากราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นนั้น จึงน่าสันนิษฐานว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศจะได้ยกเหตุอันใดขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเห็นความจำเป็นในการที่จะต้องยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ข้อนี้ ไม่เคยได้ยินท่านผู้ใดกล่าว ได้แต่ลองคิดเดาดูโดยอาศัยความจริงมีอยู่ ๒ ข้อ ข้อ ๑ คือ ประเพณีที่มีผู้อื่นสำเร็จราชการบ้านเมืองแทนพระเจ้าแผ่นดินเมื่อยังทรงพระเยาว์มิได้เคยมีเยี่ยงอย่างในกรุงรัตนโกสินทรนี้ แม้เคยมีในสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ก็มักเป็นภัยอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินซึ่งยังทรงพระเยาว์นั้น มีตัวอย่างครั้งหลังที่สุด คือ เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราช ราชโอรสพระเจ้าทรงธรรม ได้รับรัชชทายาท พระชันษาได้ ๑๕ ปี พระเจ้าปราสาททอง เมื่อยังเป็นเจ้าพระยากลาโหม (อย่างเดียวกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นอยู่เมื่อในรัชชกาลที่ ๔ และมีราชทินนามว่า "สุริยวงศ" คล้ายกันด้วย) ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จะคัดความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารตรงนั้นมาลงไว้พอให้เห็น[32]
"อยู่มาเดือนเศษ มารดาเจ้าพระยากลาโหมถึงชีพิตักษัย แต่งการศพเสร็จแล้ว เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศออกไปตั้งการปลงศพณวัดกุฎ ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนผู้ใหญ่ผู้น้อยออกไปช่วย (ถึง) นอนค้างแรมอยู่เป็นอันมาก ฝ่ายข้าหลวงเดิมพระเจ้าอยู่หัว (คือ สมเด็จพระเชษฐาธิราช) กราบทูลยุยงเป็นความลับว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศทำการครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก หากเอาการศพเข้ามาบังไว้ เห็นทีจะคิดประทุษฐร้ายต่อพระองค์เป็นมั่นคง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้มีวิจารณ์ให้ถ่องแท้ ตกพระทัย ตรัสให้เหล่าชาวป้อมล้อมพระราชวังขึ้นประจำหน้าที่ แล้วเตรียมทหารไว้เป็นกอง ๆ จึงดำรัสให้ขุนมหามนตรีออกไปหาตัวเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศเข้ามา (เฝ้า)
ขณะนั้น จมื่นสรรเพ็ธภักดีสอดหนังสือลับออกไปก่อนว่า พระโองการให้หาเข้ามาดูมวย บัดนี้ เตรียมไว้พร้อมอยู่แล้ว เมื่อเจ้าคุณจะเข้ามานั้น ให้คาดเชือกเข้ามาทีเดียว ครั้นขุนมหามนตรีออกไปถึง กราบเรียนว่า พระโองการให้หา เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศแจ้งการซึ่งจมื่นสรรเพ็ธภักดีบอกให้สิ้นอยู่แล้ว จึงว่าขึ้นท่ามกลางขุนนางทั้งปวงว่า เราทำราชการกตัญญูแต่ครั้งพระพุทธเจ้าหลวงมา ท่านทั้งปวงก็แจ้งอยู่สิ้นแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว ถ้าเรารักซึ่งราชสมบัติ ท่านทั้งหลายเห็นจะพ้นเราเจียวหรือ ขุนนางทั้งปวงกราบแล้วจึงว่า ราชการทั้งปวงก็สิทธิ์ขาดอยู่แก่ฝ่าเท้ากรุณาเจ้าสิ้น ที่จะมีผู้ใดขัดแขงนั้น ข้าพเจ้าทั้งปวงก็ไม่เห็นมีตัวแล้ว เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศจึงว่า ท่านทั้งปวงจงเห็นจริงด้วยเราเถิด เรากตัญญูคิดว่าเป็นลูกเจ้าเข้าแดง จึงเป็นต้นคิดอ่านปรึกษามิให้เสียราชประเพณี ยกราชสมบัติถวาย แล้วยังหามีความดีไม่ ฟังแต่คำคนยุยง กลับจะมาทำร้ายเราผู้มีความชอบต่อแผ่นดินอีกเล่า ท่านทั้งปวงจะทำราชการต่อไปข้างหน้า จงเร่งคิดถึงตัวเถิด ขุนนางทั้งนั้นกราบแล้วว่า อันฝ่าเท้ากรุณา (ว่า) ทั้งนี้ควรหนักหนา เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศดูท่วงทีขุนนางทั้งปวง เห็นยังไว้อารมณ์เป็นกลางอยู่ มิลงใจเป็นแท้ จึงสั่งทลวงฟันให้กุมเอาตัวขุนมหามนตรีและบ่าวไพร่ซึ่งพายเรือมานั้นไว้ให้สิ้น ทลวงฟันก็กรูกันจับเอาขุนมหามนตรีและไพร่ไปคุมไว้ ขุนนางทั้งปวงเห็นดังนั้น ต่างคนตกใจหน้าซีดลงทุกคน เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศเห็นดังนั้นจึงว่า บัดนี้ พระเจ้าแผ่นดินว่า เราทำการประชุมขุนนางพร้อมมูลทั้งนี้ คิดการเป็นกบฏ ก็ท่านทั้งปวงซึ่งมาช่วยโดยสุจริตนั้นจะมิพลอยเป็นกบฏไปด้วยหรือ ขุนนางพร้อมกันกราบเรียนว่า เป็นธรรมดาอยู่แล้ว อุปมาเหมือนหนึ่งนิทานพระบรมโพธิสัตว์เป็นนายสำเภา คนทั้งหลายโดยสารไปค้า ใช้ใบไปถึงท่ามกลางมหาสมุทรต้องพายุใหญ่ สำเภาจะอับปางอยู่แล้ว พระบรมโพธิสัตว์จึงคิดว่า ถ้าจะนิ่งอยู่ดังนี้ ก็จะพากันตายเสียด้วยสิ้นทั้งสำเภา จึงตั้งสัจอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะสำเร็จแก่พระบรมโพธิญาณ ขออย่าให้สำเภาอับปางในท้องมหาสมุทรเลย เดชะอานุภาพพระบารมีบรมโพธิสัตว์ สำเภาจึงมิได้จลาจล แล่นล่วงถึงประเทศธานีซึ่งจะไปค้านั้น ก็เหมือนการอันเป็นครั้งนี้ ถ้าฝ่าเท้ากรุณานิ่งตาย คนทั้งหลายก็จะพลอยตายด้วย ถ้าฝ่าเท้ากรุณาคิดการรอดจากความตาย คนทั้งปวงก็จะรอดด้วย เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศได้ฟังขุนนางว่าดังนั้นก็หัวเราะแล้วว่า เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้ว เราจะทำตามรับสั่ง ท่านทั้งปวงจะว่าประการใด ขุนนางทั้งปวงกราบแล้วจึงว่า ถ้าฝ่าเท้ากรุณาจะทำการใหญ่จริง ข้าพเจ้าทั้งปวงจะขอเอาชีวิตสนองพระคุณตายก่อน เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศเห็นขุนนางปลงใจพร้อมโดยสุจริต ก็จัดแจงเป็นหมวดเป็นกองกำหนดกฎหมายกันมั่นคง"
"ครั้นเพลาบ่าย ๓ โมงเศษ จุดเพลิงเผาศพแล้วได้อุดมฤกษ์เวลาเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศก็ลงเรือพร้อมด้วยขุนนางทั้งปวงสักร้อยลำ คนประมาณสามพันเศษ สรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธล่องมาขึ้นประตูชัย วันนั้นเป็นวันเสาร์ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศใส่เสื้อดำกางเกงดำขึ้นม้าดำ ขุนนางและไพร่ตามมาเป็นอันมาก ครั้นถึงหน้าพระกาฬ จึงลงมาม้า ตั้งสัจอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าปราร์ถนาโพธิญาณ ถ้าจะสำเร็จแก่พุทธสมบัติเป็นแท้ จะยกเข้าไปล้างผู้อาสัจ ขอให้สำเร็จดังปราร์ถนา เสร็จอธิษฐานแล้ว เพลาพลบค่ำ จึงมาตั้งชุมพลอยู่ณวัดสุทธาวาส ครั้นเพลา ๘ ทุ่ม นั่งคอยฤกษ์พร้อมกัน เห็นพระสารีริกบรมธาตุเสด็จมาแต่ประจิมทิศผ่านไปปราจิณทิศ ได้นิมิตรเป็นมหามงคลฤกษ์อันประเสริฐ ก็ยกพลเข้าประตูมงคลสุนทร ให้ทหารเอาขวานฟันประตูมงคลสุนทรเข้าไปได้ ด้วยเดชะกฤษฎาภินิหารอันใหญ่ยิ่ง หามีผู้ใดจะออกต่อต้านมิได้ ก็กรูกันเข้าไปในท้องสนามใน ข้าหลวงเดิมซึ่งนอนเวรประจำซองร้องกราบทูลเข้าไปว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศยกเข้ามาได้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินได้ฟัง ตกพระทัยนัก มิได้คิดอ่านที่จะต่อสู้ ออกจากพระราชวังกับพวกข้าหลวงเดิมลงเรือพระที่นั่งหนีไป เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศเข้าไปในพระราชวังได้ รู้ว่า พระเจ้าแผ่นดินหนี จึงสั่งให้พระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ ไปตามแต่ในเพลากลางคืนวันนั้น รุ่งขึ้นเช้า พระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ ทันพระเจ้าแผ่นดินที่ป่าโมกข์น้อย ล้อมจับเอาตัวมาได้ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศสั่งให้เอาไปสำเร็จโทษตามประเพณีกษัตริย์ พระเชษฐาธิราชอยู่ในราชสมบัติปีหนึ่งกับเจ็ดเดือน"
ความที่คัดมาลงตรงนี้อยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉะบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นหนังสือพระราชพงศาวดารฉะบับแรกที่ได้ลงพิมพ์เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ ในรัชชกาลที่ ๔ บรรดาผู้ศึกษาพงศาวดารในสมัยนั้นได้อาศัยอ่านหนังสือฉะบับนี้ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อใครปรารภถึงเรื่องที่จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คิดถึงเรื่องพงศาวดารตรงนี้ ก็คงหวาดหวั่น แม้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศก็คงรู้สึกความลำบากใจ ยังความจริงอีกข้อหนึ่ง คือ ที่ราชการบ้านเมืองตั้งแต่มีฝรั่งเข้ามาเกี่ยวข้อง การบังคับบัญชาลำบากยากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศถ้อยทีได้อาศัยกันในการรักษาบ้านเมืองให้เป็นปกติมา ถ้าสิ้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียแล้ว ภาระอันลำบากยิ่งทั้งปวงก็จะตกหนักอยู่แก่ท่าน ถ้ามีแต่ตัวท่านเป็นคนสำคัญในแผ่นดินแต่ผู้เดียว ทำอะไรคนทั้งหลายก็จะพากันคอยแต่สงสัยว่า ท่านจะคิดกบฏอย่างเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงเห็นควรให้มีพระมหาอุปราชขึ้นไว้ให้เป็นคนสำคัญในแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่งอยู่เหนือตัวท่าน ทำนองเดียวกับเมื่อมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พอเป็นเครื่องป้องกันตัวท่านมิให้ถูกสงสัยว่าจะคิดกบฏ บางทีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศจะกราบบังคมทูลอธิบายแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยทำนองที่กล่าวมานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย แต่มิรู้ที่จะทรงขัดขวางอย่างไร เพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า ถ้าจำต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศก็คงได้เป็น เมื่อเป็นแล้ว จะยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นพระมหาอุปราชก็คงยกได้ จึงได้มีพระราชดำรัสว่า "ถ้าเช่นนั้น กั้นกำแพงแบ่งกันเสียทีท้องสนามหลวงก็แล้วกัน" น่าคิดวินิจฉัยต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จดำรงพระชนม์อยู่จนถึงได้ทรงมอบเวนราชสมบัติแก่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมพระราชประสงค์แล้ว จะทรงตั้งกรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นพระมหาอุปราชหรือไม่ ข้อนี้คิดใคร่ครวญดูเห็นว่า คงไม่ทรงตั้ง เพราะผิดราชประเพณีสถานหนึ่ง กับอีกสถานหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีปกติทรงตริตรองการรอบคอบ มักจะทรงเห็นการไกลกว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศซึ่งเป็นผู้ฉลาดยิ่งแต่ที่จะแก้ไขกิจการอันเป็นปัจจุบันทันด่วน
- ↑ คนสำคัญของประเทศสยามเกิดเป็นสหชาติกันในปีมะโรงมี ๔ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระองค์ ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ๑ เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธ์) ที่สมหุนายก ๑
- ↑ ต่อเมื่อมีตำแหน่งในราชการแล้ว จึงได้ศึกษาวิชชาต่อเรือกำปั่นจนชำนิชำนาญ กับอีกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนจะชอบศึกษาพงศาวดารจีนด้วย แต่ก็เป็นการชั้นหลังเหมือนกัน
- ↑ สันนิษฐานว่า ได้เป็นที่นายชัยขรรค์ในปีต้นรัชชกาลที่ ๓ เวลานั้นอายุได้ ๑๘ ปี และมีจดหมายเหตุของมิชชันนารีเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๘ เรียกท่านว่า หลวงนายสิทธิ์ เห็นจะได้เป็นที่หลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก เมื่ออายุราว ๒๕ ปี
- ↑ บุตรสมเด็จเจ้าพระยามหาประยุรวงศก็ได้เป็นกำลังช่วยบิดาอีกคนหนึ่งในครั้งนั้น คือ เจ้าพระยาทิพากรวงศ (ขำ บุนนาค) ต่อมาในรัชชกาลที่ ๓ ได้เป็นที่จมื่นราชามาตย์ในกรมตำรวจ.
- ↑ เป็นเรือชะนิดใช้ใบ เหลี่ยมทั้งเสาหน้าเสาท้าย.
- ↑ ขุนภิบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ เปรียญ) เป็นผู้แปล
- ↑ คือ พระยาสุรเสนา (สวัสดิ์) ต้นสกุลสวัสดิชูโตนั้นเอง
- ↑ จะรู้ภาษาอังกฤษเพียงใดทราบไม่ได้ ข้าพเจ้าเคยได้ยินท่านพูดภาษาอังกฤษกับฝรั่งครั้งหนึ่ง ดูเหมือนจะพอพูดสนทนาปราศัยได้ แต่การต่อเรือกำปั่น ท่านศึกษาจนชำนิชำนาญ ไม่มีตัวสู้ในสมัยของท่าน ได้เป็นผู้ต่อตลอดมาจนเรือกำปั่นไฟในรัชชกาลที่ ๔ และรัชชกาลที่ ๕
- ↑ นามนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุครั้งเซอเชมสบรุกเป็นทูตอังกฤษเข้ามาเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓
- ↑ จดหมายการปรึกษาครั้งนั้น หอพระสมุดฯ ได้พิมพ์แล้วในเรื่อง เซอรเชมสบรุกเป็นทูตเข้ามาประเทศสยาม
- ↑ ในรัชชกาลที่ ๒ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศได้เป็นที่พระยาสุริยวงศมนตรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้เป็นที่พระยาศรีสุริยวงศ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็กทั้ง ๒ คน
- ↑ เรื่องที่กล่าวตอนนี้ เจ้าพระยาทิพากรวงศแสดงไว้ในพระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๓
- ↑ ชอบกล่าวกันว่า เรื่องครั้งนี้เป็นมูลเหตุ จึงเลยเป็นประเพณีที่เลื่อนกรมและตั้งกรมเจ้านายเมื่อพระมหาอุปราชสวรรคตในรัชชกาลหลัง ๆ ต่อมา
- ↑ เรื่องตอนที่จะกล่าวต่อไปนี้ เจ้าพระยาภาณุวงศฯ ท่านเล่าให้ฟัง
- ↑ คือ พระยามนตรีสุริยวงศ (ชุ่ม) เมื่อยังเป็นนายพลพันหุ้มแพร คน ๑ กับเจ้าพระยาภาณุวงศฯ เมื่อยังเป็นมหาดเล็ก คน ๑
- ↑ คำว่า ภัยอันตราย ในสมัยนั้น หมายความได้กว้างออกไปจนถึงเช่น เกิดโจรผู้ร้ายกำเริบขึ้นในพระนคร หรือเกิดแย่งชิงราชสมบัติกันเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต
- ↑ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า วัดบุบผาราม สันนิษฐานว่า ในสมัยนั้น เห็นจะเป็นวัดร้าง
- ↑ การตั้งขุนนางผู้ใหญ่ ดูเหมือนจะมีประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อทรงตั้งสมเด็จเจ้าพระยา ๒ องค์นี้ แต่ที่ทรงตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศและเจ้าพระยารวิวงศ หาปรากฏว่ามีประกาศไม่
- ↑ แต่สมุหพระกลาโหมคนอื่นต่อมาหาได้ถือตราศรพระขรรค์ไม่ เห็นจะเป็นเพราะเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อตอนต้นรัชชกาลที่ ๕ ใช้ตราศรพระขรรค์เป็นตราอาญาสิทธิ์ ตรานั้นก็เลยเกินศักดิ์สมุหพระกลาโหม
- ↑ เจ้าคุณพระประยุรวงศบอกว่า เมื่อท่านเกิดนั้น เจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒน์ บิดาของท่าน อยู่ในบ้านนี้ ท่านเกิดที่เรือนแพ จึงได้ตั้งนามว่า แพ มีพี่ของท่านคนหนึ่งชื่อว่า ฉาง เพราะเกิดที่ฉางเข้าของเก่า (ซึ่งแก้ไขเป็นเรือนที่อยู่)
- ↑ ภาษีผูกขาดในชั้นหลังเป็นแต่ชักส่วนสิ่งของซึ่งต้องภาษี เห็นจะแก้วิธีผูกขาดอย่างเดิมในรัชชกาลที่ ๔ เมื่อทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศแล้ว.
- ↑ แต่ก่อนนั้นเป็นแต่พูดจาและทำสัญญากับบริษัทอังกฤษที่ปกครองอินเดีย พึ่งจะจับเกี่ยวข้องตรงกับรัฐบาลที่ประเทศอังกฤษแต่ครั้งนี้.
- ↑ ความพิศดารทางฝ่ายอังกฤษกล่าว แจ้งอยู่ในหนังสือเซอจอนบาวริงแต่งว่าด้วยเรื่องประเทศสยาม เล่ม ๒ ตอนที่ ๑๖
- ↑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เซอจอนเบาริงว่า ไม่ได้ทรงเกี่ยวข้องในการปรึกษาทีเดียว เพราะเกรงใจสมเด็จเจ้าพระยาทั้งสอง.
- ↑ อุทาหรณ์ในข้อนี้ ตามที่ได้ยินเล่ากันมาว่า เดิมอังกฤษจะขอที่ตั้ง "ฟอเรนคอนเซสชัน" อย่างเช่นได้ตั้งในเมืองจีน คือ เป็นอาณาเขตต์สำหรับพวกฝรั่งอยู่และปกครองกันเองแห่งหนึ่งต่างหาก จะเป็นที่ช่องนนทรีหรือที่อ่างศิลาแห่งใดแห่งหนึ่งนี้ไม่ทราบแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจ เซอจอนเบาริงก็ยอมตามพระราชประสงค์ จึงมิได้มีเมืองฝรั่งตั้งขึ้นในเมืองไทยอย่างเช่นที่เมืองเซี่ยงไฮ้และเมืองเทียนสิน
- ↑ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงช่วยแปลคำเซอจอนเบาริงที่พิมพ์ไว้ในนี้จากภาษาอังกฤษ
- ↑ เจ้าพระยานิกรบดินทร์เป็นที่สมุหนายกยังอยู่ แต่แก่ชรา อายุถึง ๘๐ ปี ไม่สามารถรับราชการเสียแล้ว กรมหลวงวงศาธิราชสนิทได้ทรงกำกับราชการกระทรวงมหาดไทย
- ↑ เจ้าพระยาทิพากรวงศบอกรายชื่อภาษีซึ่งตั้งใหม่ไว้ในพระราชพงศาวดาร รัชชกาลที่ ๔ ว่า ๑๔ อย่าง และแก้ไขเลิกถอนภาษีเดิมบ้าง
- ↑ ที่การเก็บภาษีอากรแยกขึ้นอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ในรัชชกาลที่ ๔ เป็นด้วยเหตุดังกล่าวมา เพราะในสมัยนั้น ประเพณีที่เสนาบดีได้เงินเดือนตามตำแหน่งยังไม่เกิดขึ้น
- ↑ เมื่อฟัง ข้าเจ้าไม่ได้กราบทูลฯ ถามว่า ปีไหน สันนิษฐานว่า เห็นจะในราวปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐
- ↑ พระที่นั่งอนันตสมาคม องค์ในพระอภิเนาวนิเวศ เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว
- ↑ ต้องคัดมายาวสักหน่อย เพราะความตรงนี้สำคัญแก่เรื่องที่วินิจฉัย
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก