ปัญญาสชาดก/ภาคที่ 16/เรื่อง

จาก วิกิซอร์ซ
ปัญญาสชาดก

เรื่องที่ ๕๐
พระราชาภิรมย์ (แจ่ม บูรณนนท์) เปรียญ ๖ ประโยค
วัดราชบุรณ เรียง
๕๐ พากุลชาดก

สุนขทาส วจนนฺติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต เทวทตฺตํ อารพฺภ กเถสิ

สตฺถา สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เมื่อเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ณพระเชตวัน อารพฺภ ทรงพระปรารภพระเทวทัตให้เปนเหตุเบื้องต้น กเถสิ จึงทรงแสดงผลคือชาดกนี้ อันพระสังคีติกาจารย์กำหนดด้วยบาทพระคาถาว่า สุนขทาส วจนํ ดังนี้เปนอาทิ

เอกทิวสํ หิ แท้จริง วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตทำความเพียรตะเกียกตะกายเพื่อจะฆ่าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ก็ไม่สามารถที่จะฆ่าพระพุทธองค์ได้ มาบัดนี้ พระเทวทัตนั้นก็ถึงความพินาศฉิบหายไปเอง

ในลำดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสดับอุปวาทกถาของภิกษุทั้งหลายด้วยทิพย์โสตญาณ จึงเสด็จอุฏฐาการจากอาสน์ เสด็จพุทธลิลาสมาทรงประทับณโรงธรรมสภา แล้วมีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายนั่งสนทนาถึงเรื่องอะไรกัน ครั้นภิกษุทั้งหลายทูลความตามที่ได้สนทนานั้นให้ทรงทราบ จึงมีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตจะได้คิดประทุษร้ายตถาคตแล้วแลถึงความฉิบหายแต่ในชาตินี้เท่านั้นหามิได้ แม้ถึงในชาติปางก่อน พระเทวทัตก็ได้คิดประทุษร้ายตถาคตแล้วแลถึงความฉิบหายดุจชาตินี้ มีพระพุทธดำรัสดังนี้แล้วก็ทรงดุษณีภาพ พระภิกษุเหล่านั้นจะใคร่ทราบอดีตนิทานจึงทูลอาราธนา พระพุทธองค์ก็ทรงนำเรื่องในอดีตกาลมาตรัสเทศนาดังต่อไปนี้ว่า

อตีเต ภิกฺขเว พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺโต นาม ราชา รชฺชํ กาเรสิฯ ลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลเปนอดีตล่วงแล้ว พระราชาทรงพระนามว่า พรหมทัต ทรงครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ในกาลนั้น มีเศรษฐีผู้มีทรัพย์คนหนึ่งชื่อว่า โภควุฒิ ตั้งบ้านเรือนอยู่ในทิศบูรพาแห่งเมืองพาราณสี เศรษฐีนั้นเปนผู้บริบูรณด้วยโภคทรัพย์สมบัติ แลมีทรัพย์นับประมาณได้ ๗ โกฏิ ทั้งเปนผู้มีบริวารมากมาย แต่ไร้บุตร คือ ยังหามีบุตรไม่ ครั้นอยู่นานมา โภคทรัพย์ที่มีอยู่นั้นก็ร่อยหรอไป ยังเหลืออยู่ประมาณสักเล่มเกวียนหนึ่งหย่อน ๆ เศรษฐีนั้นจึงประกอบการทำมาหากินด้วยตนสองคนกับภรรยา

ฝ่ายบิดาของเศรษฐีนั้นตายไปเกิดเปนพระอินทร์อยู่ในพิภพดาวดึงส์ ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายก็ขึ้นไปอุบัติอยู่ในชั้นดาวดึงส์เหมือนกัน แต่ถึงคราวที่จะสิ้นอายุจุติแล้ว ขณะนั้น โภควุฒิเศรษฐีมีอายุได้ ๔๐ ปี เปนผู้ยากจนลงโดยลำดับ ๆ มา ทีนั้น บิดาที่ไปเปนพระอินทร์จึงนึกขึ้นมาถึงเศรษฐีที่เปนบุตรว่า บุตรของเราที่อยู่ในมนุษย์โลกเปนอย่างไรหนอ ครั้นพิจารณาไปก็รู้ว่า บุตรนั้นยากจนลง จึงดำริห์เห็นว่า บุตรของเราผู้นี้จะดำรงวงศ์ตระกูลไว้ไม่ได้ ตระกูลของเราก็จะเสื่อมสูญเสีย อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องปลูกหน่อตระกูลของเราขึ้นให้สืบต่อประเวณีเชื้อสายของตระกูลต่อไป ครั้นดำริห์ดังนี้แล้ว จึงพิจารณาเลือกหาผู้ที่มีบุญญาธิการ ก็ได้เห็นพระโพธิสัตว์ผู้จะสิ้นอายุสังขารจุติอยู่แล้ว จึงไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์นั้น ยืนแทบประตูวิมานแล้วกล่าวว่า ดูกรท่านผู้เนียรทุกข์ ตัวท่านจะสิ้นอายุจุติจากภพนี้แล้ว ขอท่านจงได้ไปเกิดในครรภ์ภรรยาของโภควุฒิเศรษฐีนั้นเทอญ

พระโพธิสัตว์นั้นรับคำเชื้อเชิญของท้าวสักกเทวราชแล้ว ครั้นเวลามัชฌิมยามกึ่งราตรี ก็จุติจากดาวดึงสเทวพิภพลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาของโภควุฒิเศรษฐี

ในเวลากึ่งแห่งราตรีที่พระโพธิสัตว์ปฏิสนธินั้น ภรรยาของโภควุฒิเศรษฐีได้เห็นสุบินนิมิตว่า มีต้นจำปาต้นหนึ่งประดิษฐานเอารากหยั่งลงในอ่างทองทั้งสองอันตั้งอยู่โดยลำดับกันในท่ามกลางเรือน เมื่อกาลล่วงไปได้ ๑๐ ปี อ่างทองใบที่หนึ่งก็แตกทำลาย ฝ่ายอ่างทองใบที่สองนั้น ครั้นกาลล่วงไปได้ ๑๕ ปี ก็แตกทำลายอีก แต่ต้นจำปานั้นทลึ่งสูงขึ้นไปในอากาศ แล้วกลับลงมาประดิษฐานอยู่ณท่ามกลางพระนคร มีกิ่งแลใบวรรณสัณฐานแลดอกอันงามวิจิตรยิ่งนัก ครั้นนางตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ จึงคิดรำพึงว่า สุบินนิมิตของเราจะดีร้ายอย่างไรหนอ คิดดังนี้แล้ว ก็ไปสู่สำนักพราหมณ์ผู้ทำนายสุบิน จึงเล่าความตามนิมิตฝันนั้นให้ฟัง แล้วถามว่า สุบินนิมิตของข้าพเจ้านี้จะร้ายดีประการใด ขอท่านได้เมตตาพิจารณาดูให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด

พราหมณ์ผู้ทำนายสุบินนั้นก็พิจารณาใคร่ครวญดูตามสุบินนิมิตแล้วทำนายว่า ดูกรนางผู้เจริญ ท่านจักได้บุตรผู้หนึ่งซึ่งมีบุญญาธิการมาก แต่ทว่า เมื่อบุตรนั้นมีอายุได้ ๑๐ ปี ตัวท่านผู้เปนมารดาก็จักถึงซึ่งตวามตาย ครั้นต่อมาเมื่อบุตรนั้นมีอายุได้ ๑๕ ปี ท่านที่เปนบิดาก็จักจะทำกาลกิริยาตาย ต่อไปเบื้องหน้าบุตรของท่านนั้นจักได้ครองราชสมบัติเปนอิศรภาพในเมืองพาราณสีนี้

ภรรยาของโภควุฒิเศรษฐีได้ฟังคำทำนายดังนั้น ก็มีความโสมนัสยินดีเปนอันมาก จึงอำลาพราหมณ์ผู้ทายนิมิตกลับมาเรือนตน แล้วเล่าความที่ได้นิมิตฝัน แลเล่าความตามที่พราหมณ์ผู้ทายสุบินได้ทำนายนั้น ให้สามีฟังถี่ถ้วนทุกประการ แต่นั้นมา นางก็กระทำคัพภปริหาร คือ ระวังพิทักษ์รักษาครรภ์ ไม่บริโภคของที่เผ็ดร้อนนัก เปนต้น จนครรภ์นั้นถ้วนทศมาส ลมกัมมัชวาตก็บังเกิดจลนาการป่วนปั่น นางก็คลอดบุตรเปนชายมีผิวพรรณดุจทองคำธรรมชาติ มารดาบิดาก็มีจิตต์พิศวาสยิ่งนัก จึงตั้งชื่อบุตรนั้นว่า พากุลกุมาร ดังนี้ เพราะถือเอาเหตุที่พราหมณ์ผู้ทายสุบินได้ทำนายไว้ว่า กุมารนี้จะได้เปนอิศรภาพในตระกูลทั้งสองนั้น เปนเนมิตกนาม แลมารดาบิดานั้นก็มิได้มีความประมาท เพราะเหตุที่รู้ว่า ตัวนั้นจักตายเปนแน่ จึงตั้งหน้าบำเพญทานรักษาศีลห้าแลอุโบสถศีล ทั้งประคับประคองเลี้ยงรักษาบุตรนั้นโดยชอบธรรม

เบื้องหน้าแต่นั้น ครั้นพากุลกุมารอายุได้ ๑๐ ปี ฝ่ายมารดาก็ทำกาลกิริยาตาย ขึ้นไปบังเกิดในวิมานทองในดาวดึงสเทวพิภพ ครั้นพากุลกุมารมีอายุได้ ๑๕ ปี เศรษฐีผู้เปนบิดาก็เกิดพยาธิป่วยไข้ เมื่อได้รับทุกขเวทนาเพราะพยาธิบีบคั้น จึงเรียกบุตรนั้นเข้ามาใกล้แล้วสั่งว่า ดูกรพ่อผู้เปนลูกรัก บิดานี้เห็นจะตายเปนแน่ ถ้าบิดาตายแล้ว เจ้าอย่าเผาทรากศพของบิดาเสียเลย จงนำทรากศพของบิดาไปให้นอนหงายอยู่ในป่าช้า แล้วจงตั้งอ่างน้ำไว้ในใกล้ที่ศพนั้น บิดาตั้งใจจะให้เนื้อในสริระเปนทานแก่สัตว์ทั้งหลาย ก็เมื่อสัตว์ทั้งปวงกินเนื้อหมดเหลือแต่กระดูกแล้ว เจ้าจงนำเอากระโหลกศีร์ษะของบิดามารักษาไว้ ถ้าหากว่าเจ้าจะไถนาหว่านเข้าในที่ใด เจ้าจงเอาเชือกผูกกระโหลกศีร์ษะของบิดาลากไปในที่นั้น ถ้ากระโหลกศีร์ษะของบิดามิได้ติดข้องอยู่ในที่นั้น เจ้าจงอย่าทำไร่ไถนาในที่นั้นเลย ถ้ากระโหลกศีร์ษะของบิดาติดข้องอยู่ในที่ตำบลใด เจ้าจงไถนาหว่านเข้าลงในที่ตำบลนั้น ครั้นเศรษฐีสั่งบุตรดังนี้แล้ว ก็กระทำกาลกิริยาตายไปเกิดในดาวดึงสพิภพ

ฝ่ายพากุลกุมารนั้น ครั้นบิดาตายแล้ว ก็ทำตามคำสั่งของบิดา แล้วเก็บกระโหลกศีร์ษะของบิดารักษาไว้ จำเติมแต่นั้นมา ก็อยู่แต่ผู้เดียว ไม่มีญาติแลสหายเปนเพื่อนสอง ครั้นอยู่มาอายุได้ ๑๖ ปี จึงคิดว่า ตัวเรานี้เปนคนผู้เดียว อยู่ครอบครองเรือนอันใหญ่โต มิได้มีผู้ใดเปนเพื่อนสอง อย่ากระนั้นเลย เราจะไปแสวงหาสัตว์สักตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้เปนเพื่อนเรา เมื่อเราลากกระโหลกศีร์ษะบิดาไปข้องอยู่ในที่ใด จะได้ไถนาหว่านเข้าลงในที่นั้น ครั้นคิดดังนี้แล้ว ก็ไปเที่ยวหาสัตว์ที่จะมาเลี้ยงไว้เปนเพื่อน จึงเดิรมาถึงเรือนหญิงหม้ายคนหนึ่ง

ฝ่ายหญิงหม้ายนั้นเลี้ยงนางสุนัขไว้ตัวหนึ่ง นางสุนัขนั้นคลอดลูกออกมาสามตัว ในลูกสุนัขสามตัวนั้น ตัวหนึ่งขาว ตัวหนึ่งเหลือง ตัวหนึ่งแดง

พากุลกุมารนั้น ครั้นไปถึงเรือนหญิงหม้าย ก็ได้เห็นลูกสุนัขทั้งสามนั้น จึงขึ้นไปหาหญิงหม้ายแล้วพูดว่า ข้าแต่แม่ ข้าพเจ้าเปนคนกำพร้าไม่มีญาติ ตั้งแต่มารดาบิดาตายแล้ว ข้าพเจ้าก็เปนคนผู้เดียวแท้ ๆ ไม่มีใครเปนเพื่อนสองเลย แม่จงขายลูกสุนัขให้ข้าพเจ้าสักตัวหนึ่ง ข้าพเจ้าจะซื้อไปเลี้ยงไว้เปนเพื่อน

หญิงหม้ายได้ฟังดังนั้นก็มีความสงสารจึงพูดว่า ดูกรพ่อ เราไม่ต้องการที่จะซื้อขายเอามูลค่า พ่อจะต้องการตัวไหนก็จับเอาไปตามปราถนาเถิด แต่ทว่า ตัวเรานี้ก็เปนคนผู้เดียว มิได้มีบุตรธิดา เราปราถนาจะตั้งท่านไว้ในที่เปนบุตรเรา ท่านจงเปนบุตรของเราแต่วันนี้ไป พูดดังนี้แล้ว ก็เข้าสวมกอดพากุลกุมาร จูบเกล้า แล้วก็ให้อาบน้ำชำระกาย แลให้บริโภคโภชนาหาร จึงเตือนให้เลือกจับลูกสุนัขเอาตามชอบใจ

ในลำดับนั้น พากุลกุมารก็จับเอาลูกสุนัขตัวขาว แล้วลาหญิงหม้ายพาลูกสุนัขนั้นไปเลี้ยงไว้ที่เรือน ครั้นต่อมาถึงฤดูฝน มหาชนจะทำไร่ไถนา ต่างก็เที่ยวซื้อหาโคกระบือเปนต้น บางคนก็ลงมือไถหว่านในที่นานั้น ๆ

ฝ่ายพากุลกุมารนั้นเอาเชือกผูกกระโหลกศีร์ษะของบิดาลากไปในที่นาต่าง ๆ ตามคำที่บิดาสั่งไว้ แต่ลากมาลากไปถึง ๓ วันล่วงแล้ว หัวกระโหลกบิดาก็มิได้ติดข้องอยู่ในที่นาใด ๆ พากุลกุมารก็ลากต่อไป จนถึงประเทศที่อันดอนสูงประมาณได้ ๑๐๐ วา หัวกระโหลกศีร์ษะบิดาก็ข้องอยู่ในที่นั้น พากุลกุมารจึงคิดว่า ประเทศที่นี้เปนที่สูงเกินประมาณนัก เราไม่ควรจะถากไถทำไร่เข้าสาลีเลย แต่ทว่า เราจะละทิ้งถ้อยคำของบิดาที่สั่งไว้ก็ไม่เปนการสมควร เพราะฉนั้น เราควรจะพากเพียรถากไถที่อันนี้แลทำให้เปนที่นาจนกว่าจะหว่านเข้าสาลีลงให้จงได้ คิดดังนี้แล้วจึงยกกระโหลกศีร์ษะบิดาขึ้นวางไว้ณที่ข้างหนึ่ง จึงกระทำความเคารพกราบไหว้แล้วกลับมาเรือน ครั้นรุ่งขึ้น ก็รีบบริโภคอาหารแต่เช้า จึงเรียกลูกสุนัขด้วยเสียงว่า หุหุ แล้วก็พาลูกสุนัขไปสู่ที่อันดอนสูงนั้น พอไปถึงก็แผ้วถางถากทำที่นั้นสิ้นวันยังค่ำ แล้วก็กลับมาเรือน อาบน้ำ บริโภคอาหาร แล้วก็เข้าที่นอน รุ่งเช้าก็พาลูกสุนัขไปแผ้วถางที่นั้นอีก เวลาเย็นก็กลับบ้าน กระทำอาการโดยนัยนี้อยู่สามวัน

ในกาลนั้น พิภพของท้าวสักกเทวราชก็แสดงความร้อนผิดปรกติ ท้าวสักกเทวราชจึงดำริห์ว่า ผู้ใดที่จะทำเราให้เคลื่อนจากเทวสถานหนอ ครั้นพิจารณาดูแล เห็นพากุลกุมารหน่อพุทธางกูรซึ่งประกอบการงารอยู่อย่างนั้น จึงพาเทพบริษัทลงไปสู่มนุษยโลก ช่วยกันแผ้วถางชำระที่ดอนนั้นให้สำเร็จดี แล้วจึงเขียนหนังสือปักไว้ว่า เราคือท้าวสักกเทวราช ได้มาชำระถากถางที่อันนี้ไว้สำหรับให้แก่พากุลกุมารผู้เดียว ปักหนังสือแล้วก็กลับไปยังเทวโลก

ปุนทิวเส ครั้นเวลารุ่งเช้า พากุลกุมารบริโภคอาหารแล้วจึงเรียกสุนักไปสู่ที่นั้น ครั้นได้เห็นที่อันแผ้วถางเตียนเปนอันดี ก็เสียใจด้วยนึกว่า มีผู้มาชำระชิงครอบครองเสียแล้ว จึงแลดูไปในทิศต่าง ๆ ก็ได้เห็นหนังสือที่เขียนปักไว้ เข้าไปอ่านดูรู้ว่า ท้าวสักกเทวราชมาชำระไว้ให้ ก็มีใจโสมนัสยินดี จึงกลับมาเรือน เมื่อต้นไม้ใบหญ้าที่แผ้วถางไว้นั้นแห้งดีแล้ว ก็เอาไฟไปจุดทำให้เตียนเปนที่นา จึงหว่านเข้าเปลือกลงในที่นั้น แล้วก็กลับมาเรือนอีก จึงจัดแจงรวบรวมทรัพย์สิ่งของเก็บงำซ่อนฝังดีแล้ว ก็ไปยังที่นานั้นกับลูกสุนัข จึงปลูกเรือนเปนกระท่อมลงในที่นานั้น แล้วอยู่เฝ้าเข้าเปลือกในนาของตน ครั้นเข้าในนานั้นเกิดผลมีรวงเต็มบริบูรณด้วยอานุภาพแห่งกระโหลกศีร์ษะของบิดา ก็ทำการเก็บเกี่ยวกองเปนลอมขึ้นไว้ ภายหลัง พากุลกุมารโพธิสัตว์นั้นจะใคร่รักษาอุโบสถศีล จึงจัดแจงอาบน้ำชำระกายแต่เวลาเช้า แล้วสมาทานศีลพร้อมด้วยองค์แปดประการ ครั้นสมาทานถือมั่นแล้ว ก็พิจารณาใคร่ครวญดูศีลที่ตนรักษา เมื่อเห็นว่า ศีลของตนบริสุทธิ์บริบูรณดีแล้ว ก็เกิดความปีติโสมนัส จึงคิดว่า เรานี้อนาถาเปนคนผู้เดียวหาญาติกามิได้ จะมาอยู่กลางทุ่งกลางป่าดังนี้ ที่ไหนเราจะได้ภรรยากับเขาบ้าง คิดแล้วก็เกิดความสลดใจ จึงปริวิตกต่อไปว่า โอ้ตัวของเรานี้เปนคนผู้เดียวแท้ ๆ มารดาบิดาแลญาติสาโลหิตมิตรสหายก็มิได้มีเลย เรานี้มีแต่ลูกสุนัขตัวเดียวอยู่เปนเพื่อน ถ้าเกิดพยาธิป่วยไข้หรือถูกอันตรายแต่เนื้อร้ายเปนต้นมาเบียดเบียฬ ก็จักถึงซึ่งความตายโดยแท้ อนึ่งเล่า เราก็ปราถนาจะเปนพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้เปลื้องสัตว์ทั้งปวงออกจากสังสารวัฏ ความปราถนาของเรานี้จะสำเร็จหรือหนอ รำพึงถึงตัวดังนี้แล้ว ก็เกิดความทุกข์โทมนัสน้ำตาไหล

ในขณะนั้น ด้วยอานุภาพแห่งศีลแลความปราถนาของพากุลกุมารโพธิสัตว์ อาสนะของท้าวสักกเทวราชก็แสดงอาการอันร้อน

แท้จริงในกาลก่อนหน้านั้น ท้าวสักกเทวราชได้ให้นางเทวธิดาผู้หนึ่งซึ่งจวนจะสิ้นอายุจุติจากเทวโลกไปบังเกิดในครรภ์ของนางอัคมเหษีของพระยาสัตตกุฏราชแล้ว เพราะฉนั้น เมื่ออาสนะแสดงความร้อน ท้าวสักกเทวราชจึงพิจารณาดู ก็รู้ความปริวิตกของพากุลกุมารโพธิสัตว์นั้น จึงพิจารณาดูนางเทวธิดาต่อไป ก็รู้ว่า นางไปเกิดเปนธิดาของพระยาสัตตกุฏราชซึ่งครองราชสมบัติอยู่ในสัตตกุฏนคร

แท้จริงเมืองสัตตกุฏนครนั้นตั้งอยู่ในทวีปน้อยอันหนึ่งซึ่งเปนบริวารของชมพูทวีป แลเปนเมืองขึ้นของเมืองพาราณสีด้วย แต่ไกลจากชมพูทวีปถึง ๕๓ โยชน์ โดยยาวแลกว้างของเมืองนั้นได้ ๔ โยชน์ แลเปนเมืองดอนสูงกว่าชมพูทวีปถึง ๕๐๐ วา ทั้งเปนมีสวน อุทยาน แลแม่น้ำ แลสระโบกขรณีทั้งหลายแวดล้อม บริบูรณพร้อมไปด้วยไร่นาทั้งหลาย มีไร่เพาะปลูกแลไร่นาเข้าสาลีเปนต้น

พระยาสัตตกุฏราชซึ่งครองเมืองนั้นมีพระมเหษี ๗ คน พระมเหษีทั้ง ๗ นั้นมีธิดาคนละคน ๆ รวมเปนธิดา ๗ คนด้วยกัน แต่ฝ่ายนางเทวธิดาที่จุติจากโลกนั้นมาบังเกิดในครรภ์นางอัคมเหษีที่หนึ่ง ครั้นนางเจริญวัยได้ ๑๖ ปี มีรูปทรงสัณฐานผิวพรรณอันงามอุดมอย่างยิ่ง เปรียบประดุจดังว่านางเทพอับสรในสวรรค์

เมื่อท้าวสักกเทวราชส่องทิพเนตรเห็นนางนั้น จึงเสด็จลงจากเทวโลก แล้วไปสู่สำนักพระยาสัตตกุฏราช ประดิษฐานอยู่ณอากาศ แสดงรูปสิริให้เห็นปรากฎ แล้วกล่าวสุนทรพจน์ว่า ดูกรพระยามนุษย์ เรามาหาท่านบัดนี้ เพื่อจะขอธิดาท่านคนหนึ่ง ท่านจงให้ธิดาคนที่เกิดในนางอัคมเหษีที่หนึ่งแก่เราเถิด เราจะพาเอาไปให้แก่มาณพหน่อพุทธางกูรผู้มีบุญญาธิการอันยิ่งใหญ่ ต่อไปมาณพหน่อพุทธางกูรนั้นจะได้ครองราชสมบัติในเมืองพาราณสี จักได้เปนพระราชามีบุญญาธิการอันล้ำเลิศ ธิดาของท่านนั้นก็จักได้เปนอัคมเหษี

พระยาสัตตกุฏราชได้ทรงฟัง ก็ประคองอัญชลี มีพระหฤทัยโสมนัส จึงมีพระราชดำรัสตอบเทวโองการว่า ข้าแต่ท้าวมฆวานเทวราช ขอพระองค์จงเปนที่พึ่งของข้าพเจ้า จงพาธิดาของข้าพเจ้าไปตามพระประสงค์ที่ได้ทรงเห็นชอบ แล้วจงทรงประกอบให้เปนคุณเปนประโยชน์นั้นเถิด

ท้าวสักกเทวราชได้รับอนุญาตแล้ว ก็เข้าอุ้มราชธิดานั้นเหาะมาโดยอากาศ ครั้นมาถึงที่นาของพากุลกุมารโพธิสัตว์ จึงนฤมิตไข่ฟองหนึ่งใหญ่ประมาณเท่าผลฝัก มีสัณฐานภายในอ่อนนุ่มดุจปุยนุ่น ในภายในของไข่นั้นบริบูรณด้วยอาภรณ์เครื่องประดับแลชิ้นเนื้อโภชนาหารต่าง ๆ อันเปนทิพย์เปนต้น เมื่อราชธิดานั้นปราถนาสิ่งใด ก็ได้สิ่งนั้นสมดังปราถนา ครั้นนฤมิตสำเร็จแล้ว จึงให้ราชธิดาเข้าไปอยู่ในภายในไข่นั้น แล้วเอาไข่นั้นไปวางไว้ในที่นาของพากุลกุมาร จึงบันดาลให้ลูกสุนัขไปยืนเห่าไข่นั้นอยู่ แล้วท้าวสักกเทวราชก็เสด็จกลับไปเทวโลก

ฝ่ายพากุลกุมารได้ยินเสียงลูกสุนัขเห่าอยู่มิได้หยุด ก็นึกประหลาดใจยิ่งนัก จึงลงจากเรือนกระท่อมเดิรไปดู ก็ได้เห็นไข่วางอยู่ที่นั้น จึงหยิบเอาไข่นั้นมาเก็บไว้บนเรือนกระท่อมอันเปนที่อยู่ ครั้นรุ่งขึ้นเช้า ก็ไปทำการงารในที่อันเปนไร่นา

ส่วนราชธิดาที่อยู่ในไข่นั้น เมื่อพากุลกุมารไปแล้วก็ออกจากไข่จึงทำการชำระล้างถูเก็บกวาด ทำเรือนกระท่อมนั้นให้หมดจดสอาดเปนอันดี แล้วก็จัดแจงตกแต่งโภชนาหารพร้อมทั้งคาวหวานตั้งไว้ แล้วนางก็กลับเข้าไปอยู่ในไข่ตามเดิม

ฝ่ายพากุลกุมารทำการอยู่ในที่นา พอเย็นลงก็กำหนดในใจว่า เวลานี้เปนเวลาบริโภคอาหาร จึงเดิรกลับมาแล้วขึ้นไปบนเรือนกระท่อม ก็ได้เห็นโภชนาหารที่นางตกแต่งวางไว้ จึงนึกว่า ใครหนอมาจัดแจงโภชนาหารไว้ให้เรา อาหารนี้ล้วนเปนของดีประกอบด้วยโอชารสเลิศต่าง ๆ ประดุจดังว่า พระกระยาหารที่เขาตกแต่งถวายพระราชาฉนั้น อย่ากระนั้นเลย ถ้าวันพรุ่งนี้มีผู้มาตกแต่งไว้อีก เราจึงจะคอยสอดแนมดูต่อไป คิดดังนี้แล้วก็บริโภคโภชนาหารนั้น แล้วเอาโภชนาหารที่เหลือจากบริโภคให้ลูกสุนัขกิน ลูกสุนัขนั้นครั้นได้กินอาหารทิพย์ก็เลยพูดภาษามนุษย์ได้ เพราะอานุภาพอาหารที่เปนทิพย์นั้น

ครั้นรุ่งขึ้นเช้า พากุลกุมารตื่นขึ้นบ้วนปากล้างหน้าแล้ว ก็มิได้เก็บงำที่นอนหมอนมุ้งแลของที่ใช้สอยทั้งปวง เปิดประตูไว้แล้วก็ไปทำการในที่นาของตน

ฝ่ายราชธิดาก็ออกจากไข่ไปเก็บงำสิ่งของทั้งปวงเรียบร้อย แล้วก็ตกแต่งโภชนาหารไว้ดุจกาลก่อน แล้วก็กลับเข้าไปอยู่ในไข่ตามเดิม

ส่วนพากุลกุมารทำการแล้ว ถึงเวลาก็กลับมาเรือน เห็นสิ่งของทั้งปวงเก็บอยู่เรียบร้อย จึงบริโภคอาหารที่นางตกแต่งไว้แล้วคิดในใจว่า เราจะคอยสอดแนมจับให้จงได้ ครั้นรุ่งขึ้นวันที่สาม พากุลกุมารตื่นนอนบ้วนปากล้างหน้าแล้ว ก็ทำอาการเหมือนจะไปทำงารดุจวันก่อน จึงไปนั่งซ่อนอยู่ในที่แห่งหนึ่งเพื่อจะคอยดูว่า ใครเปนผู้มาจัดการบ้านเรือนแลตกแต่งอาหารไว้ให้เราบริโภค

ส่วนราชธิดานั้นสำคัญว่า พากุลกุมารไปนาแล้ว จึงออกมาจากฟองไข่ ทำการเก็บกวาดแลตกแต่งโภชนาหารดุจกาลก่อน ครั้นรู้ว่า พากุลกุมารออกไปซ่อนอยู่ภายนอก นางจึงคิดว่า เราก็คงเปนภรรยาของพากุลกุมารโดยแท้ต่อไปภายหน้า พากุลกุมารคงจักได้เปนพระราชาครองเมืองพาราณสี ตัวเราก็จักได้เปนอัคมเหษีคู่ราชาภิเษก นางคิดดังนี้แล้วก็มิได้กลับเข้าไปอยู่ในฟองไข่อันเปนที่อยู่ของตน เลยนั่งเปนปรกติอยู่บนเรือนนั้น

พากุลกุมารเห็นนางนั่งอยู่เปนปรกติแล้ว ก็ไปทำการงารที่ควรจะพึงกระทำในที่อันเปนไร่นา ครั้นถึงเวลาเย็นกลับมา แลขึ้นไปบนเรือนก็ยังเห็นนางนั่งอยู่อย่างนั้น จึงขึ้นไปปิดประตูเรือนแล้วถามว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ เจ้านี้มีนามชื่อไร มาแต่ไหน เจ้าเปนหญิงมนุษย์ หรือเปนยักขินี หรือเปนนางเทวธิดาองค์ใด เหตุไฉนจึงได้มาอยู่ในที่นี้ ราชธิดาจึงตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เปนเจ้า ข้าพเจ้านี้เปนธิดาของพระยาสัตตกุฏราช ท้าวสหัสนัยผู้มีอำนาจพาข้ามาเพื่อจะให้ปฏิบัติท่าน อนึ่ง ท้าวสักกเทวราชนั้นได้ให้ไข่ฟองนี้ไว้เพื่อสำหรับได้ซ่อนเร้นหนีภัยอันจะมาถึง เปลือกไข่นี้จะเปนที่พึ่งของข้าพเจ้าเมื่อเวลาต้องภัยได้ทุกข์ต่าง ๆ พากุลกุมารได้ฟังดังนั้น จึงหยิบเปลือกไข่มาดูแล้วส่งให้แก่นาง นางรับเปลือกไข่แล้วก็เอาไปเก็บไว้ จึงตกแต่งอาหารให้พากุลกุมารบริโภค ครั้นพากุลกุมารบริโภคเสร็จแล้ว นางก็บริโภคต่อภายหลัง แล้วให้โภชนะที่เหลือจากบริโภคแก่ลูกสุนัข

จำเดิมแต่นั้นมา ชนทั้งสองก็อยู่ร่วมสมัคสังวาสเปนสามีภริยากัน แลราชธิดานั้นก็ได้นามชื่อว่า นางสุขุมาอัณฑา เพราะเหตุที่นางได้อาศรัยอยู่มาในฟองไข่

ฝ่ายชนชาวบ้านทั้งหลายที่ได้คุ้นเคยกับพากุลกุมารมาแต่ก่อน พากันเที่ยวไปมาอยู่ที่นั้น ครั้นเห็นสองสามีภริยาอยู่กินด้วยกัน ก็พูดซุบซิบกันว่า พากุลกุมารนี้เปนคนทุคคตะยากจนหาที่พึ่งมิได้ กลับมาได้เมียมีรูปร่างงดงามน่าดูน่าชมดุจนางเทพอับสรในสวรรค์ พากุลกุมารนี่มีบุญเปนอัศจรรย์หนอ กิติศัพท์ที่ชาวบ้านพูดกันนั้นก็เลื่องลืออื้ออึงไปตลอดบ้านตำบลนั้น

ฝ่ายคามโภชกขุนส่วยผู้เก็บส่วยในบ้านตำบลนั้น เมื่อได้ฟังกิติศัพท์แต่ลูกบ้านของตน ก็มีความปราถนาจะไปดูสองสามีภริยา จึงออกจากบ้านตรงไปยังที่นาของพากุลกุมาร ครั้นเห็นนางมีรูปทรงสัณฐานงามอุดม แลประกอบไปด้วยลักษณะสิริวิสาส มีผิวพรรณอันงามบริสุทธิ์สอาด ดุจดังว่านางเทพอับสรในสวรรค์ ทั้งบริบูรณ์ไปด้วยสีลาจารวัตรอันดี จึงคิดว่า นางคนนี้มีลักษณะอันงาม มิได้สมควรแก่พากุลกุมารอันเปนคนเลวทรามนั้นเลย เพราะเหตุว่าพากุลกุมารนั้นเปนยากจนอนาถา อนึ่ง นางคนนี้ก็มิได้สมควรแก่อาตมาผู้เปนคามโภชกชนเหมือนกัน เพราะเหตุว่านางนั้นมีรูปอันงามเลิศยิ่งนัก อย่ากระนั้นเลย เราจะเข้าไปเฝ้าพระราชาในเมืองพาราณสี ทูลให้ทรงทราบว่า พากุลกุมารคนนี้มาได้อิตถีรัตนะเปนภรรยา แต่นางนั้นมิได้สมควรแก่พากุลกุมารเลย เพราะพากุลกุมารนั้นเปนคนจนอนาถา ควรจะไปนำอิตถีรัตนะนั้นมาตั้งไว้ให้เปนอัคมเหษีของพระองค์ ครั้นคามโภชกคิดดังนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสีทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวดา บัดนี้ พากุลกุมารผู้เปนคนทุคคตะอนาถาได้หญิงแก้วมีนามชื่อว่า สุขุมาอัณฑา เปนภรรยา ควรพระองค์จะไปนำหญิงแก้วนั้นมา แล้วตั้งไว้ในที่เปนอัคมเหษีของพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพาราณสีได้ทรงฟังดังนั้น จึงตรัสว่า ดูกรคามโภชก ท่านอย่ากล่าวอย่างนี้ ถ้อยคำของท่านไม่สมควร เพราะว่าพากุลกุมารนั้นมิได้มีโทษแลความผิดอันใดอันหนึ่ง ซึ่งจะให้เราไปชิงเอาภรรยาของเขามานั้น เปนการมิได้สมควรเลย

คามโภชกจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระบาทได้บอกกล่าวพากุลกุมารนั้นแล้วว่า ท่านจงไปเฝ้าพระราชาผู้เปนพระมหากษัตริย์เจ้าขอพระบารมีปกเกล้าเปนที่พึ่งเถิด เพราะว่าพระราชามหากษัตริย์นั้นพระองค์เปนที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วไปมิได้เลือกหน้า เมื่อข้าพระบาทกล่าวอย่างนี้ พากุลกุมารนั้นก็มิได้มาเฝ้าฝ่าพระบาท พระเจ้าพาราณสีได้ทรงสดับก็ทรงนิ่ง มิได้มีพระดำรัสประการใด คามโภชกจึงกราบทูลต่อไปอีกว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ขอพระองค์ได้โปรดส่งคำสั่งไปถึงพากุลกุมารนั้นว่า ให้พากุลกุมารหาไก่ตัวหนึ่งมาชนกับไก่ของหลวง ถ้าว่าไก่ของพากุลกุมารนั้นแพ้ไก่ของหลวง ก็ควรจะไปนำเอาภรรยาของพากุลกุมารนั้นมาแทนเงินค่าเดิมพันของไก่ที่แพ้นั้นเถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพาราณสีได้ทรงสดับอุบายดังนั้นก็ทรงรับว่า อุบายอันนี้ดี สามารถให้สำเร็จประโยชน์ได้ จึงตรัสบังคับราชบุรุษผู้หนึ่งว่า ดูกรพระนาย เจ้าจงไปหาพากุลกุมารซึ่งตั้งเคหสถานอยู่ณที่นานั้น แล้วจึงกล่าวว่า ดูกรพากุลกุมาร ท่านจงแสวงหาไก่ชนตัวหนึ่งไปชนกับไก่ของพระราชาในวันพรุ่งนี้ ราชบุรุษรับพระราชโองการแล้วก็ไปหาพากุลกุมาร บอกความตามมีพระราชโองการนั้น

พากุลกุมารได้ฟังดังนั้นจึงเข้าไปบอกภรรยาว่า ดูกรเจ้าผู้มีพักตร์อันเจริญ บัดนี้ พระราชามีรับสั่งให้ราชบุรุษมาบอกว่า ให้พี่หาไก่ไปชนกับไก่ของพระราชาในวันพรุ่งนี้ ก็แต่ว่าเมื่อวันวานคามโภชกได้มายังเคหสถานของเรานี้ ได้เห็นเจ้าผู้บริบูรณด้วยรูปสิริอันงาม คงจะนำเอาความไปทูลพระราชาให้ทรงทราบเปนแน่แต่เราทั้งสองจะคิดประการใด

นางสุขุมาอัณฑาจึงกล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เปนสามี ท่านอย่าคิดวิตกกลัวไปเลย การที่จะแสวงหาไก่ไปชนนั้นเปนภารธุระของดิฉันเอง ครั้นนางตอบดังนี้แล้ว ก็ไปยังที่อันเปนที่เก็บซึ่งฟองไข่ จึงเอามือล้วงเข้าไปภายในกระเปาะแห่งฟอง จับเอาไก่ตัวหนึ่งมาส่งให้แก่สามี แล้วบอกว่า ข้าแต่ท่านผู้สามี ท่านจงนำเอาไก่ตัวนี้ไปชนกับไก่ของพระราชา แลซ้ำให้พรว่า ขอให้ท่านมีชัยชำนะเถิด

พากุลกุมารรับไก่แล้วก็มีจิตต์ชื่นชมโสมนัส จึงอุ้มไก่นั้นเข้าไปเฝ้าพระราชา ครั้นถึงจึงถวายบังคมแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เปนมหาราช ข้าพระบาทได้ทราบเกล้าว่า พระองค์ส่งราชบุรุษไปถึงข้าพระบาท พระพุทธเจ้าข้า จึงมีพระราชดำรัสว่า เออ ดูกรพากุลกุมาร เราได้ส่งราชบุรุษให้นำข่าวสาส์นไปถึงท่าน บัดนี้ ท่านได้นำไก่มาชนหรือ ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ข้าพระบาทได้นำไก่มาแล้ว สุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพาราณสีจึงมีพระราชดำรัสว่า ถ้ากระนั้น เราพากันไปที่หน้าพระลานท้องสนามหลวงเถิด มีพระราชดำรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จอุฏฐาการไปยังหน้าพระลานพร้อมกับพากุลกุมารนั้น ครั้นถึงจึงทรงประทับณราชอาสน์ ตรัสบังคับอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า ดูกรพระนาย ท่านจงไปนำเอาไก่ที่จะชนนั้นมา

อำมาตย์รับพระบัญชาแล้ว ก็ไปนำไก่ชนขนาดใหญ่มาตัวหนึ่ง ไก่นั้นสูงใหญ่กว่าไก่ของพากุลกุมารในราวสามสองหรือสองเอาหนึ่ง ครั้นมาถึงจึงปล่อยไก่นั้นให้พระราชาทอดพระเนตร

พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตร์แล้วจึงตรัสซ้อมว่า ดูกรพากุลกุมาร ถ้าหากว่าไก่ของท่านแพ้ไก่ของเราไซร้ ท่านจงให้ภรรยาของท่านแก่เรา ตรัสซ้อมดังนี้แล้วจึงมีรับสั่งให้ปล่อยไก่ทั้งสองลงในสังเวียนเปนที่ชนไก่ พากุลกุมารจึงปล่อยไก่ของตนลงในสังเวียน ข้างฝ่ายอำมาตย์ก็ปล่อยไก่หลวงลงในสังเวียนพร้อมกัน

ฝ่ายไก่ทิพย์นั้นก็ขันแลปรบปีกยืนอยู่ ข้างฝ่ายไก่หลวงมิได้ปรบปีกแลมิได้ขันเลย ขณะนั้น ไก่ทั้งสองต่างก็เข้าจิกตีกันพัลวันไปมา ข้างไก่ทิพย์จึงลงเดือยแทงลูกตาทั้งสองของไก่หลวง แล้วเลยตีเตะเอาแข้งแลปีกทั้งสองของไก่หลวงหักในทันใด ไก่หลวงก็ถึงอัปราชัยพ่ายแพ้ไก่ของพากุลกุมาร

ขณะนั้น มหาชนทั้งหลาย มีมหาอำมาตย์เปนประธาน ต่างก็พูดกันว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยพบเคยเห็นไม่ควรจะเปนก็เปนไปได้ ไก่ตัวเล็กกลับชนะไก่ตัวใหญ่ ไก่หลวงนั้นใหญ่กว่าราวสองเอาหนึ่ง กลับอัปราชัย

ฝ่ายพระเจ้าพาราณสีนั้นมีพระหฤทัยประกอบด้วยความโทมนัส ทั้งมีความละอายอดสูพวกราชบริษัทแลมหาชนทั้งหลาย ทรงซบเซานิ่งอยู่ แล้วทอดพระเนตร์ดูหน้าคามโภชก ๆ ก็แลดูพระพักตร์พระเจ้าพาราณสี มิรู้ที่ว่าจะทำประการใด

ส่วนพากุลกุมารนั้น ครั้นไก่ชนของตนมีชัยชนะแล้ว ก็กราบถวายบังคมลาพระเจ้าพาราณสี อุ้มไก่กลับมายังเรือนอันเปนที่อยู่ของตน แล้วบอกความนั้นแก่ภรรยา

พระเจ้าพาราณสีนั้น ครั้นพากุลกุมารกลับไปแล้ว จึงตรัสปรึกษากับคามโภชกว่า ดูกรคามโภชก เราจะคิดอุบายอย่างไรต่อไปอีกเล่า

คามโภชกกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า พากุลกุมารนั้นเปนคนทุคคตะอนาถา จักได้ม้ามาแต่ไหน โดยเหตุนี้ ขอพระองค์จงส่งราชทูตไปบอกว่า ให้พากุลกุมารหาม้าตัวหนึ่งมาวิ่งแข่งขันกับม้าหลวงในวันพรุ่งนี้ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพาราณสีได้ทรงฟังก็เห็นชอบด้วย จึงมีรับสั่งให้ราชบุรุษผู้หนึ่งไปบอกพากุลกุมารตามคำที่คามโภชกกราบทูลแล้วนั้น พากุลกุมารจึงบอกความตามที่ราชบุรุษมาบอกนั้นแก่นางสุขุมาอัณฑาผู้เปนภรรยา ๆ จึงไปล้วงเอาม้าตัวหนึ่งมีรูปอันงามดังสินธพชาติอาชาไนยออกจากกระเปาะฟองไข่ของตน แล้วมอบให้แก่พากุลกุมารผู้เปนสามี

พากุลกุมารก็ขึ้นขี่อาชาไนยตรงไปยังราชตระกูล ครั้นถึงจึงลงจากอาชาเข้าไปเฝ้าพระเจ้าพาราณสี ถวายบังคมแล้วทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระบาทได้ทราบเกล้าว่า มีรับสั่งให้ข้าพระบาทผู้ทุคคตะอนาถานำอาชามาวิ่งแข่งขันกับม้าหลวงหรือ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพาราณสีตรัสว่า เออ จริงดังนั้นและ มีพระราชดำรัสตอบดังนี้แล้ว จึงตรัสบังคับอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า ดูกรพระนาย ท่านจงไปนำเอาม้าของเรามาบัดนี้

อำมาตย์นั้นรับพระราชโองการแล้ว ก็ตรงไปยังโรงม้าหลวง เลือกได้อาชาตัวหนึ่งซึ่งพ่วงพีมีกำลังมาก แล้วนำมาถวายพระเจ้าพาราณสี ๆ จึงมีรับสั่งให้นายสารถีขึ้นขี่อาชาตัวนั้น แล้วให้พากุลกุมารขึ้นขี่ม้าที่นำมาจะวิ่งแข่งขัน แท้จริง เมืองพาราณสีนั้นโดยส่วนยาวได้ ๙ โยชน์ โดยส่วนกว้างประมาณ ๗ โยชน์ เพราะเหตุนั้น พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสบังคับว่า ท่านทั้งสองจงควบอาชาแข่งกันไปตั้งแต่ต้นกำแพงเมืองข้างนี้ วงไปโดยรอบจนถึงที่สุดกำแพงข้างหน้า แล้วตรัสกำชับพากุลกุมารอีกว่า ถ้าม้าของท่านอัปราชัย ท่านจะต้องให้ภรรยาของท่านแก่เรา ตรัสดังนี้แล้ว จึงมีรับสั่งให้ปล่อยม้าทั้งสองพร้อมกัน ม้าทั้งสองนั้นก็วิ่งแข่งเสมอกันไปหน่อยหนึ่ง

ฝ่ายม้าทิพย์เปนสินธพอาชาไนย มีกำลังอันว่องไวรวดเร็วยิ่งนัก วิ่งไปพักหนึ่งครู่เดียวก็ถึงที่สุดกำแพงข้างหน้า พากุลกุมารโพธิสัตว์จึงลงจากอาชาเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าพาราณสี แล้วนั่งอยู่ณที่อันควรข้างหนึ่ง ฝ่ายม้าหลวงนั้นมีฝีเท้าอันช้ายิ่งนัก ต่อเวลาสายัณหสมัย จึงวิ่งไปถึงที่สุดกำแพงข้างหน้า พระเจ้าพาราณสีก็ถึงซึ่งความอัปราชัย มีพระหฤทัยประกอบไปด้วยความละอายแลโทมนัส ข้างพากุลกุมารโพธิสัตว์ก็ถวายบังคมลาขึ้นอาชาไนยกลับไปยังบ้านเรือนของตน

ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสปรึกษาคามโภชกอีกว่า ดูกรคามโภชก เราจะคิดอุบายอย่างไรต่อไปอีกเล่า คามโภชกกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า พากุลกุมารนั้นเปนคนทุคคตะอนาถา จะได้ช้างงามาแต่ที่ไหน ข้าพระบาทเห็นด้วยเกล้าเช่นนี้ ขอพระองค์จงส่งราชบุรุษไป ให้บอกพากุลกุมารหาช้างงามาชนกับช้างหลวงในวันพรุ่งนี้ พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพาราณสีทรงเห็นชอบด้วย จึงส่งราชบุรุษให้ไปบอกพากุลกุมารเหมือนดังนั้น

พากุลกุมารโพธิสัตว์จึงบอกความนั้นแก่ภรรยา นางสุขุมาอัณฑาจึงไปยังที่เก็บฟองไข่ ตั้งสัตยาธิษฐานแล้วก็นำเอาคชสารตัวหนึ่งออกจากกระเปาะไข่ คชสารนั้นมีอวัยวะทั้งปวงอันขาวล้วนควรเปนราชพาหนะ ทั้งบริบูรณ์ไปด้วยสรรพลักษณะอันอุดม มีงาทั้งสองอันงอนงามดูช้อยชด แลมีเล็บเท้าทั้งหมดอันแดงดุจน้ำครั่ง ทั้งประกอบด้วยกำลังอันแกล้วกล้าสามารถ นางจึงพากุญชรชาตินั้นมา แล้วมอบให้แก่พระโพธิสัตว์ ๆ ก็จับงากุญชรนำไปสู่ราชตระกูล ถวายบังคมพระเจ้าพาราณสีแล้วทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า ข้าพระบาทได้ทราบเกล้าว่า มีรับสั่งให้ข้าพระบาทนำช้างงามาชนกับช้างหลวง บัดนี้ ข้าพระบาทได้นำมาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพาราณสีมีพระราชดำรัสว่า เออ จริงดังนั้นและ แล้วบัญชาอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า ดูกรพระนาย ท่านจงไปนำเอาช้างหลวงมาเชือกหนึ่ง ครั้นอำมาตย์นั้นรับพระราชโองการแล้ว ก็ไปสู่โรงช้าง จึงนำเอาช้างหลวงตัวหนึ่งทั้งสูงทั้งใหญ่มาถวายให้ทอดพระเนตร์ จึงมีรับสั่งว่า ท่านทั้งสองจงไปให้ช้างชนกันณสนามหน้าพระลาน ชนทั้งหลายก็กระทำตามพระราชโองการ ปล่อยคชสารทั้งสองออกให้สู้กัน ช้างหลวงนั้นมีรูปร่างอันสูงใหญ่มาก ช้างทิพย์นั้นมีร่างกายอันเล็กกว่า แต่มีกำลังอันแกล้วกล้าสามารถ

ช้างทิพย์นั้น ครั้นแลเห็นช้างหลวง ก็กระทำโกญจนาทดุจเสียงอัสนีบาตฉนั้น ช้างหลวงได้ฟังเสียงโกญจนาทก็มีความสดุ้งครั่นคร้ามกลัว จึงยกงวงขึ้นแล้วทำหางแขงซื่อดุจท่อนไม้ ทำอาการหมุนออกเหมือนจะวิ่งหนี แล้วก็ล้มนอนอยู่ณที่นั้น

พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตร์เห็นดังนั้น ก็มีพระหฤทัยโทมนัสยิ่งนัก ทั้งประกอบไปด้วยความละอายอดสูแก่หมู่ราชบริพาร ทั้งพวกมหาชนทั้งปวงก็ซ้องสาธุการให้พรแก่พากุลกุมารโพธิสัตว์ ๆ ก็กราบถวายบังคมลาพระเจ้าพาราณสีพาทิพย์หัตถีกลับมายังที่นาของตน

ในลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีจึงมีรับสั่งให้หาคามโภชกชนเข้ามาเฝ้าแล้วตรัสปรึกษาว่า ดูกรคามโภชก พากุลกุมารนั้นได้หัตถีมีอวัยวะอันขาวล้วน มีงาอันงอนงาม แลมีเล็บเท้าอันแดง มาชนกับช้างหลวงของเรา ช้างของพากุลกุมารนั้นมีกำลังแกล้วกล้าแลมีมหิทธิฤทธิยิ่งนัก ทำให้ช้างหลวงของเราพ่ายแพ้ เพราะเหตุนี้ ท่านจะคิดอุบายอย่างไรต่อไปอีก

คามโภชกกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้าขอพระองค์อย่าทรงพระปริวิตกเลย ข้าพระบาทเห็นด้วยเกล้าว่า ควรให้ต้มน้ำให้ร้อนเดือดพล่านใส่ลงในอ่าง แล้วบังคับให้พากุลกุมารเอามือจุ่มลงในอ่างน้ำร้อนนั้น ถ้าพากุลกุมารขัดรับสั่งไม่ทำตาม ก็จะต้องรับราชทัณฑ์อันสาหัส เพราะเหตุนี้ ความปราถนาของพระองค์ก็จะสำเร็จดังพระราชประสงค์ พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพาราณสีทรงเห็นด้วย จึงทำตามความแนะนำของคามโภชก แล้วสั่งราชทูตให้ไปบอกพากุลกุมารมาเฝ้า ราชทูตจึงไปบอกพากุลกุมารว่า ดูกรพากุลกุมาร บัดนี้ พระราชามีรับสั่งให้ท่านเข้าไปเฝ้า พากุลกุมารได้ฟังดังนั้นจึงบอกแก่ภรรยา นางสุขุมาอัณฑาจึงไปยังที่เก็บซึ่งฟองไข่ ตั้งสัตยาธิษฐาน แล้วนำเอาผลหมากผลหนึ่งออกจากฟองไข่มาส่งให้พระโพธิสัตว์ แล้วบอกว่า ข้าแต่ท่านผู้เปนสามี ท่านจงถือเอาผลหมากนี้ไปเฝ้าพระราชา ถ้าหากพระราชาทรงบังคับให้ทำกิจการอันใด จงใส่ผลหมากนี้เข้าไปในปากก่อน แล้วจึงกระทำซึ่งกิจการอันนั้น ท่านอย่าสดุ้งกลัวภัยอันหนึ่งอันใดเลย พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงถือเอาผลหมากนั้นเข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ณที่ควรข้างหนึ่ง

ในกาลนั้น ราชบุรุษทั้งหลายต้มน้ำไว้ให้เดือดพล่านแล้วใส่ลงในอ่าง เพราะฉนั้น พระเจ้าพาราณสีตรัสบังคับพระโพธิสัตว์ว่า ดูกรพากุลกุมาร ท่านจงเอามือจุ่มลงในอ่างน้ำนั้น ถ้าท่านไม่ทำตามคำเรา เราจะให้ลงอาญาท่านถึงสาหัส

ในขณะนั้น พระโพธิสัตว์พากุลกุมารจึงใส่ผลหมากเข้าในปาก ตั้งสัตยาธิษฐานในใจว่า ถ้าต่อไปในอนาคตภายหน้าข้าพเจ้าจะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าไซร้ น้ำร้อนที่เดือดพล่านนี้จงกลับเปนน้ำเย็น ตั้งสัตยาธิษฐานดังนี้แล้ว จึงเอามือจุ่มลงไปในอ่างน้ำร้อนนั้น ครั้นรู้ว่า น้ำร้อนนั้นเปนน้ำเย็น จึงลงไปในอ่างอาบน้ำ ดำเกล้า แล้วจึงขึ้นจากอ่างมาถวายบังคมพระราชา นั่งอยู่ พระเจ้าพาราณสีเห็นดังนั้น ก็มีความพิศวงประหลาดพระทัยยิ่งนัก ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ถวายบังคมลากลับมายังที่นาของตน

ในลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีจึงทรงปรึกษากับคามโภชกว่า ดูกรคามโภชก ทีนี้ เราจะทำอย่างไรต่อไป คามโภชกกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวดา ข้าพระบาทเห็นด้วยเกล้าว่า ควรให้ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปอยู่ในกลองใหญ่ แล้วให้นำเอากลองนั้นไปวางไว้ณที่เรือนของพากุลกุมาร ผัวเมียทั้งสองเห็นกลองนั้น ก็จะพูดปรึกษาหารือกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ราชบุรุษที่อยู่ในกลองได้ยินผัวเมียพูดกันอย่างไร ก็คงจะมาบอกตามคำที่พูดกันนั้น เมื่อได้ฟังคำพูดของผัวเมียทั้งสองก่อนแล้ว จึงค่อยคิดอุบายต่อภายหลัง พระเจ้าพาราณสีได้ทรงฟัง เห็นชอบด้วย จึงรับสั่งให้ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปอยู่ในกลองใหญ่ แล้วตรัสบังคับอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า ดูกรพระนาย ท่านจงนำเอากลองใหญ่นี้ไปตั้งไว้ณเรือนของพากุลกุมาร

อำมาตย์นั้นรับพระราชโองการแล้ว จึงให้คน ๘ คนยกเอากลองใหญ่ไปยังนาของพากุลกุมาร แล้วพูดว่า ดูกรพากุลกุมาร ถ้ากลองนันทเภรีใบนี้ตั้งอยู่ในเรือนของผู้ใด มาทว่าสักคืนเดียวเท่านั้น ผู้เจ้าของเรือนนั้นจักบริบูรณด้วยบุตรแลธิดา บัดนี้ พระราชาทรงพระเมตตาท่าน มีรับสั่งให้เรานำเอากลองนี้มาตั้งไว้ในเรือนท่าน

พากุลกุมารได้ฟังดังนั้นจึงรับว่า เปนการดีแล้ว ท่านจงให้ตั้งไว้ภายในเรือนของเราเถิด อำมาตย์ราชบุรุษก็ยกกลองขึ้นตั้งไว้ในเรือนของพากุลกุมาร แล้วก็พากันกลับยังบ้านเรือนของตน ๆ

ฝ่ายสามีภรรยาทั้งสองนั้นมิทันที่จะได้พิจารณาดูกลองให้ถ้วนถี่ ครั้นเวลามัชฌิมยามก็ลุกขึ้นสนทนากัน นางสุขุมาอัณฑานั้นจึงพูดขึ้นก่อนว่า ข้าแต่สามี ถ้าหากว่าท่านบริโภคฟองไข่ของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไซร้ ข้าพเจ้าก็จักมีความเร่าร้อน ไม่สามารถที่จะยืนจะนั่งนอนได้ เมื่อเปนดัง นี้ข้าพเจ้าก็จะต้องลาท่านไปบ้านเมืองของข้าพเจ้า ถ้าหากว่าท่านไม่บริโภคฟองไข่ของสัตว์ทั้งหลาย มีไก่เปนต้นไซร้ เราทั้งสองก็จะได้อยู่กินด้วยกันมีความสุขต่อไป เพราะฉนั้น ข้าพเจ้าจักขอพรอันนี้แต่ท่าน คือ จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงอย่าได้บริโภคฟองไข่ทั้งปวงเลยเปนอันขาด ครั้นผัวเมียทั้งสองสนทนากันดังนี้แล้ว ก็พากันเข้าที่นอนหลับไป

ฝ่ายราชบุรุษที่อยู่ภายในกลอง เมื่อได้ฟังถ้อยคำผัวเมียทั้งสองสนทนากัน ก็กำหนดจดจำไว้มั่นคงแล้ว ก็นอนอยู่ในกลองนั้น ครั้นรุ่งเช้า ราชบุรุษทั้งหลายก็มานำเอากลองนั้นไปถวายพระราชา ๆ จึงตรัสถามราชบุรุษที่อยู่ในกลองว่า ผัวเมียทั้งสองนั้นมันพูดกันว่ากระไรบ้าง ราชบุรุษที่อยู่ในกลองก็ทูลความตามที่ได้ฟังนั้นให้ทรงทราบ

คามโภชกได้ฟังดังนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระบาทเห็นด้วยเกล้าว่า เมื่อไม่ได้ภรรยาของพากุลกุมารแล้ว ก็ควรจะกระทำให้ภรรยาของพากุลกุมารนั้นหนีไปเสีย หรือกระทำให้สองผัวเมียพลัดพรากจากกันไป พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสถามว่า ดูกรคามโภชก ท่านจะกระทำประการใด จึงจะให้นางนั้นหนีไปได้ แลจะกระทำอย่างไรจึงจะให้สามีภริยาทั้งสองมันพลัดพรากจากกันได้

คามโภชกกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระบาทเห็นด้วยเกล้าว่า ควรให้ตกแต่งภัตตาหารอันหมดจดสอาดด้วย ควรให้ตกแต่งขาทนิยโภชนิยาหารอันเจือด้วยฟองไข่ด้วย แล้วจึงเชิญอำมาตย์ทั้งหลาย มีเสนาบดีเปนต้นด้วย เขิญคฤหบดีทั้งหลาย มีเศรษฐีเปนต้นด้วย ให้มาบริโภคพร้อมกันกับพากุลกุมาร พากุลกุมารนั้นก็จักบริโภคขาทนิยโภชนิยาหารอันเจือด้วยฟองไข่ ครั้นบริโภคแล้ว ภริยาของพากุลกุมารก็จักเกิดความเดือดร้อนหนีไป เมื่อเปนดังนี้ ผัวเมียทั้งสองนั้นก็ต้องพลัดพรากจากกันเปนธรรมดา เพราะฉนั้น ไม่ควรจะให้เนิ่นช้า ขอพระองค์จงมีรับสั่งให้กระทำพิธีดังข้าพระบาทกราบทูลนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระเจ้าพาราณสีจึงมีรับสั่งให้พ่อครัวแต่งขาทนิยโภชนิยาหารอันเจือด้วยฟองไข่ แล้วให้เชิญอิศรชนทั้งหลาย มีเสนาบดีแลเศรษฐีเปนต้น มาบริโภคพร้อมกันทั้งพากุลกุมารโพธิสัตว์ ตามคำของคามโภชกซึ่งกราบทูลแนะนำนั้น

ฝ่ายพากุลกุมารโพธิสัตว์มิได้รู้ว่า โภชนาหารนั้นเจือไปด้วยฟองไข่ ก็บริโภคโภชนาหารตามความปราถนา เมื่อบริโภคแล้ว นางสุขุมาอัณฑาก็ให้มีกายแลจิตต์ใจอันหวั่นไหวเร่าร้อน ไม่สามารถที่จะนั่งนอนให้เปนสุขอยู่ได้ จึงเที่ยวเดิรไปตลอดที่นาทั้งสิ้น แล้วเรียกสุนัขนั้นเข้ามาใกล้ เมื่อจะสั่งความให้บอกแก่สามี จึงกล่าวคาถาว่า

สุนขทาส วจนํ มม สามิกํ วทตุ
มยฺหํ หทยปริฬาหา อิธ วสิตุํ นาสกฺขึ
สเจ มํ อนุพนฺธิตุํ อิมาย ปจฺฉิมาทิสาย
ตํ อุชุมคฺคํ คจฺฉตุ ฯ

ความว่า ดูกรสุนัขทาส เจ้าจงบอกถ้อยคำของเรากะสามีของเราว่า เรามีหทัยอันร้อนกระวนกระวายยิ่งนัก ไม่สามารถที่จะอยู่ในที่นี้ได้ ถ้าหากว่าสามีของเราจะไปตามเราไซร้ จงไปโดยหนทางอันตรงในทิศประจิมนี้

เมื่อนางสุขุมาอัณฑาสั่งความถึงสามีดังนี้แล้ว จึงส่งแหวนหัว ๓ วงให้แก่ลูกสุนัขขาวแล้วบอกว่า เราจะขอลาไปบ้านเมืองของเรา ถ้าแม้ว่าสามีของเราปราถนาจะไปตามเรา ก็จงไปตามที่เมืองเรานั้นเถิด แต่ในระหว่างทางที่ไปนั้น มีแม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่งกว้างประมาณ ๑๐ โยชน์ขวางทางอยู่ ตั้งแต่เมืองพาราณสีนี้ไปถึงแม่น้ำนั้น ไกลประมาณสองแสนแปดสิบวา ตั้งแต่แม่น้ำนั้นไปถึงเมืองที่อยู่ของเรา ไกลประมาณ ๒๘ โยชน์ นางบอกดังนี้แล้วก็ไปโดยอานุภาพของเทวดา โดยปราศจากสรรพโรคาพาธทุกข์ มีแต่ความผาสุกสำราญนิราศภัยในมรรคา จนตราบเท่าถึงเมืองอันเปนแคว้นของบิดาแห่งตน

ฝ่ายพากุลกุมารโพธิสัตว์นั้นบริโภคโภชนาหารมีรสอันเลิศต่าง ๆ แล้ว ครั้นเวลาเย็นก็กลับมายังที่นาของตน เมื่อไม่เห็นนางสุขุมาอัณฑาอันเปนภรรยา ก็ประดุจดังว่ามีหทัยอันแตกได้ ๗ ภาค จึงถามลูกสุนัขขาว ๆ นั้นก็บอกความตามที่นางสั่งไว้แล้ว คาบเอาแหวนหัว ๓ วงมาส่งให้แก่พระโพธิสัตว์ ๆ ได้ฟังดังนั้นก็รับเอาแหวนหัวแล้วเข้าไปในเรือนกระท่อม เมื่อระลึกถึงนางขึ้นมา ก็ร้องไห้รำพรรณพิลาป มีหน้าอันอาบไปด้วยน้ำตา จึงกล่าวคาถาทั้งหลายว่า

สเจ สา จ นาภวิสฺส โก จ มม ตาโณ โหติ
อิทานิ ปาโป ราชา จ มม คนฺตฺวา ตาณา จ กา
ปุพฺเพปิ กุกฺกุฏยุชฺโฌ อสฺสอภิธาวนโต จ
หตฺถิยุทฺธา มยฺหํ ตาณา อุณฺโหทโกตารณญฺจ
ตุยฺหานุภาเวน เจว ปุญฺญสฺสานุภาเวน จ
ปาปโก ราชา น มม ปสยฺหํ กาตุํ สกฺโกติ
อิโต จ มยฺหํ ตาโน โก อนาถาหํ จ เอกโก
น สหาโย จ ญาติโก น มาตาปิตุอุปฏฺโฐ
กา จ อมฺเหหิ สทฺธึว นิสินฺโน วา สยโน วา
กา อมฺเหหิ สลฺลปนฺตา ภุญฺชนฺตาหํ เกหิ สทฺธึ
โภชนํ กา สมฺปาเทฺนฺตา อโห อนาถาหํ เอโก
อญฺโญ สทฺธึ โส น มยฺหํ มม หทยํ ผลิสฺสติ ฯ

ความว่า ถ้านางสุขุมาอัณฑามิได้อยู่กับเราแล้ว ใครเล่าจะเปนที่พึ่งของเรา อนึ่ง บัดนี้ พระราชาก็เปนผู้ลามกมักมาก เมื่อนางมาไปเสียจากเราแล้ว ใครเล่าเขาจะเปนที่พึ่งแก่เราได้ แต่กาลก่อนนั้น พระราชาบังคับให้หาไก่ไปชน แลให้หาม้าไปวิ่งแข่งขัน แลให้หาช้างไปชนกันกับช้างหลวง แลบังคับให้เอามือล้วงลงไปในอ่างน้ำอันเดือดพล่าน นางก็ได้เปนที่พึ่งต้านทานเราไว้ พระราชาผู้ลามกไม่สามารถจะข่มแหงข่มขี่เราได้ ก็ด้วยอานุภาพของนางแลบุญญานุภาพของนางนั้น แต่นี้ไปใครเล่าจะเปนที่พึ่งต้านทานเรา อนึ่งเล่า เราก็เปนคนผู้เดียวเปล่าเปลี่ยวอนาถาหาที่พึ่งมิได้ ทั้งสหายแลญาติกามารดาบิดาก็มิได้มี เรานี้จะนั่งนอนเจรจาปราสัยกับใครเล่า ใครจะหาสำรับกับเข้าให้เราบริโภค แลเราจะบริโภคโภชนาหารกับใคร โอ้ตัวเรานี้อนาถาหาที่พึ่งมิได้ เปนคนผู้เดียวแท้ ๆ มีแต่สุนัขเปนเพื่อนสอง ผู้อื่นที่จะเปนที่พึ่งปกครองเปนที่อาศรัยของเรามิได้มี หทัยของเรานี้น่าที่จะแตกทำลาย

เมื่อพระโพธิสัตว์ร่ำร้องไห้รำพรรณพิลาปอยู่อย่างนี้จนสิ้นกำลังหยั่งลงสู่ความหลับ ครั้นรุ่งเช้าตื่นขึ้น ก็เก็บงำสรรพทรัพย์ของตนบรรดามี แล้วปิดประตูเรือน ผูกทำให้มั่นคงเปนอันดี จึงไปหามารดาเลี้ยงผู้ที่ให้ลูกสุนัข กับด้วยสุนัขซึ่งเปนสหายของตน แล้วเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่เบื้องต้นให้ฟังทุกประการ มารดาเลี้ยงได้ฟังก็สลดใจ มีความสงสาร ร้องไห้พลางทางหาอาหารให้พระโพธิสัตว์บริโภค แล้วให้พักอยู่ในเรือนนั้นคืนหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นเช้า พระโพธิสัตว์ก็อำลามารดาเลี้ยง จึงเอาแหวน ๓ วงนั้นผูกขอดชายผ้า แล้วมีสุนัขเปนเพื่อนสอง ผันหน้าเฉพาะทิศประจิมตรงไป ครั้นถึงแม่น้ำใหญ่ ก็พาสุนัขข้ามแม่น้ำไปด้วยกัน

แท้จริง แม่น้ำนั้นใหญ่กว้างประมาณ ๑๐ โยชน์ แต่เปนแม่น้ำอันตื้น บางแห่งก็ยืนพอเท้าถึงดิน บางแห่งก็ลึกยืนหยั่งเท้าไม่ถึง เพราะเหตุนั้น แม่น้ำนั้นจึงมีนามชื่อว่า อุตตานา เปนแม่น้ำตื้นพอจะข้ามได้ แต่พระโพธิสัตว์ข้ามแม่น้ำนั้นไปประมาณสามคืนสามวันจึงถึงฝั่ง

ฝ่ายสุนัขนั้นพยายามตามเจ้าของ มิได้หยุดยั้งยืนอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ก็มีกายอันเหน็ดเหนื่อยทุพลภาพสิ้นกำลัง พอถึงฝั่งก็มีหทัยอันเหี่ยวแห้งตายอยู่ณที่นั้น

พระโพธิสัตว์เห็นสุนัขทำกาลกิริยาตาย ก็ไม่สามารถที่จะอดกลั้นความโศกไว้ได้ ก็ร้องไห้ปริเทวนาการรำพรรณด้วยวาจา จึงกล่าววิลาปคาถาทั้งหลายว่า

อโห ทุกฺขํ โข วตาหํ อยํ สหาโย มมญฺจ
อิทานิ โก สหาโย จ กถํ โข เอโกว คจฺฉติ
สุนข มม สหาย กุหึ เอกโก คโตสิ
อิทานาหํ คมิสฺสามิ เกน มคฺเคน วิจรนฺโต
หทยปริฬาโหหํ กถํ หทยํ วูปสเม ฯ

ความว่า โอเรานี้ประกอบไปด้วยความทุกข์จริงหนอ สุนัขตัวนี้เปนเพื่อนของเราด้วย ที่นี้ ใครเล่าจะเปนเพื่อนของเรา เราจะได้ใครเปนเพื่อนเดิรทางในกลางมรรคา เราผู้เดียวเท่านั้นจะไปตามนางสุขุมาอัณฑาอย่างไรได้ ดูกรสุนัขผู้เปนสหายของเรา เจ้ามาทิ้งเราไว้ไปแต่ผู้เดีย วเจ้าไปอยู่ณที่ไหน บัดนี้ เราจะเที่ยวไปโดยหนทางอะไรเล่า เรานี้มีหทัยอันเร่าร้อนเหลือที่จะทนทาน ใครจะพึงระงับความกระวนกระวายของเราได้ เราเปนคนอนาถาแท้ ๆ เที่ยวอยู่แต่ผู้เดียว ไม่มีใครเปนเพื่อนในหนทางอันเปลี่ยวเลย

ฝ่ายหมู่ญาติทั้งหลายของพากุลกุมารโพธิสัตว์ ซึ่งตายไปอุบัติบังเกิดในดาวดึงสพิภพนั้นมีอยู่ เพราะเหตุฉนั้น เทวบุตรผู้เปนญาติองค์หนึ่งเห็นพากุลกุมารร่ำปริเทวนาการอยู่อย่างนั้น ก็มีจิตต์อันประถอบไปด้วยความกรุณา จึงลงมาจากเทวโลก นฤมิตอัตภาพเปนแร้งบินไปสู่สำนักพากุลกุมาร ประดิษฐานอยู่ณที่เฉพาะหน้า แล้วกล่าวพระคาถาว่า

มหาปุริส นิราหาโร สุนขสฺส มํสํ ยาจามิ
ตุวํ เม เทหิ อาหารํ อหํ เต มคฺคํ เทสฺสามิ ฯ

ความว่า ดูกรมหาบุรุษ เราเปนผู้อดอาหาร มีความหิวกระหายยิ่งนัก จักมาขอเนื้อสุนัขท่านกิน ท่านจงให้เนื้อสุนัขนั้นเปนอาหารแก่เราเถิด เราจะชี้บอกหนทางที่ท่านจะไปให้แก่ท่าน

พากุลกุมารโพธิสัตว์นั้นก็อนุญาตเนื้อสุนัขให้เปนอาหารแร้ง เทวบุตรก็กระทำอาการเหมือนบริโภค แล้วก็พาพระโพธิสัตว์ไปสิ้นระยะทางได้ ๗ โยชน์ จึงกระทำอาการประหนึ่งว่าตายอยู่ในทางนั้น

ในลำดับนั้น เทวบุตรผู้เปนญาติอีกองค์หนึ่งจึงลงมาจากเทวโลก นฤมิตกายเปนกาเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ แล้วขอแร้งที่ตายนั้นว่า ดูกรมหาบุรุษ ท่านจงให้แร้งที่ตายนั้นแก่เราเถิด เราจะบอกหนทางที่จะไปให้แก่ท่าน พระโพธิสัตว์ก็อนุญาตแร้งตายนั้นให้ กาเทวบุตรนั้นก็พาพระโพธิสัตว์ไปสิ้นระยะทางอีก ๗ โยชน์ ก็ทำประหนึ่งว่าตายอยู่ในที่นั้น

ในลำดับนั้น เทวบุตรผู้เปนญาติอีกองค์หนึ่งลงมานฤมิตเปนแมลงวันทองเข้าไปขอกาที่ตายนั้นแก่พระโพธิสัตว์ ๆ ก็อนุญาตให้ แมลงวันเทวบุตรนั้นก็พาพระโพธิสัตว์ไปสิ้นระยะทางได้ ๗ โยชน์ ก็ทำประหนึ่งว่าตายอยู่ณที่นั้น

แต่พากุลกุมารโพธิสัตว์เดิรทางไปโดยอานุภาพของเทวดาที่แปลงเพศมาดังกล่าวแล้วนั้น สิ้นระยะทางอันไกลได้ ๒๑ โยชน์เปนประมาณ

ในลำดับนั้น ท้าวมัฆวานสักกเทวราชจึงลงมาจากสวรรค์ นฤมิตทิพกายให้มีรัศมีพร้อยพรายประหนึ่งว่าหิ่งห้อย ไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์ยืนอยู่ แล้วกล่าวคาถาว่า

มหาปุริส ตุมฺหญฺจ ภริยา มม อวทา
ตุวํ มคฺค วทตฺถาย สตฺตกุฏํ คมิสฺสามิ

ความว่า ดูกรมหาบุรุษ ภรรยาของท่านเขาได้สั่งเราไว้เพื่อให้บอกหนทางแก่ท่าน บัดนี้ เราจักไปยังเมืองสัตตกุฏนคร

ท้าวสักกเทวราชกล่าวคาถาดังนี้แล้ว จึงพาพระโพธิสัตว์ไปสิ้นระยะทางได้ ๗ โยชน์ ก็ถึงฝั่งสระโบกขรณีสระหนึ่ง ในสระโบกขรณีนั้นระดาดาษไปด้วยดอกประทุม แลดอกกระมุท แลดอกอุบลทั้งหลาย ที่บริเวณสระนั้นประดับไปด้วยต้นไม้ทั้งหลายอันมีดอกแลผลต่าง ๆ กัน น้ำในสระนั้นมีกลิ่นอันหอมฟุ้งด้วยสุคนธชาติ ควรเปนราชบริโภคแลเทวบริโภค บุคคลอื่นที่เปนสามัญไม่ควรบริโภค ที่ขอบสระนั้นแวดล้อมไปด้วยต้นอโสกพฤกษ์ทั้งปวง แลมีเรือนหลวงเปนตำหนักตั้งอยู่หลังหนึ่ง เพราะเหตุนั้น เมื่อท้าวสักกเทวราชพาพระโพธิสัตว์พากุลกุมารไปถึง จึงให้พระโพธิสัตว์เข้าไปพักอยู่ณตำหนักหลวงนั้น แล้วจึงกล่าวคาถาว่า

อิธ วสตุ กุมาร สฺเว ตโย ทาสี อาคมฺม
อุทกญฺจ อาหริตุํ ตฺวํ ตโย ปุจฺฉสฺสุ การณํ ฯ

ความว่า ดูกรพากุลกุมาร ท่านจงอยู่ในตำหนักนี้ วันพรุ่งนี้ ทาสีสามคนจักพากันมาตักน้ำในสระนี้ ท่านจงถามเหตุผลกะทาสีสามคนนั้นเถิด ท้าวสักกเทวราชสั่งดังนี้แล้ว ก็อันตรธานหายไปจากที่นั้น

เมื่อสมเด็จพระบรมโลกนาถจะประกาศความนั้นให้แจ้งชัด จึงมีพระพุทธดำรัสเปนพระคาถาว่า

เทวราชา สุชมฺปติ สกฺโก ปุรินฺทโท พฺรวิ
อิติ โส วตฺวา พากุล สคฺคกายํ อปกฺกมิ ฯ

ความว่า ท้าวสุชัมบดีสักกเทวราชนั้น ครั้นบอกพากุมารโพธิสัตว์ดังนี้แล้ว ก็หลีกไปสู่สัคคเทวโลกอมรพิมาน

ฝ่านนางสุขุมาอัณฑานั้น เมื่อคมนาการไปด้วยอานุภาพแห่งเทพดา ครั้นถึงเมืองสัตตกุฏนคร ก็ไปเฝ้าพระราชบิดามารดา ถวายบังคมสองกษัตริย์แล้วนั่งอยู่

ในกาลนั้น พระเจ้าสัตตกุฏราชทอดพระเนตรเห็นพระราชธิดา จึงตรัสถามว่า ดูกรแม่ เจ้าไปอยู่กินกับสามีของเจ้าแล้ว เหตุไฉนเจ้าจึงกลับมาหาบิดาเล่า หรือตัวเจ้ามีทุกข์ร้อนเปนประการใด จึงให้มาหาบิดาในกาลนี้

นางสุขุมาอัณฑาเทวีจึงทูลว่า ข้าแต่สมเด็จพระราชบิดา พากุลกุมารผู้เปนสามีของหม่อมฉันนั้นเปนบุรุษประกอบด้วยลักษณะแลบุญญาธิการแต่บังเกิดในตระกูลมหาสารอันก่อนเก่า บิดามารดาแลญาติสักคนหนึ่งเล่าก็มิได้มีเลย เปนผู้อนาถาทำนาเลี้ยงชีพอยู่แต่ผู้เดียว เพราะเหตุที่เปนคนยากจนนั้นและ พระเจ้าพาราณสีผู้มีจิตต์บาปจึงทำการเบียดเบียฬมีประการต่าง ๆ หม่อมฉันไม่สามารถจะอยู่กับสามีของหม่อมฉันได้ จึงหนีมาเฝ้าพระราชบิดาในกาลนี้ แล้วนางก็ทูลเล่าประพฤติเหตุทั้งปวงให้พระราชบิดาทรงทราบถี่ถ้วนทุกประการ เมื่อนางสุขุมาอัณฑามาถึงสัตตกุฏนครได้สองสามวัน พากุลกุมารโพธิสัตว์นั้นก็มาถึงสระโบกขรณี

พระเจ้าสัตตกุฏราชได้ทรงฟังประพฤติเหตุทั้งปวง ก็มิได้ตรัสประการใด มีพระหฤทัยปราถนาจะให้มีการสมโภชทำขวัญ ทั้งปราถนาจะให้พระราชธิดานั้นสระพระเศียร จึงมีพระราชดำรัสสั่งทาสีสามคนว่า เจ้าทั้งสามจงไปนำเอาน้ำในสระโบกขรณีมาให้ธิดาเราอาบ เราจะมีการสมโภชทำขวัญธิดาของเรา ทาสีทั้งสามรับพระราชอาณัติแล้วก็พากันไปยังสระโบกขรณี ปราถนาจะตักน้ำในสระนั้น

ฝ่ายพากุลกุมารโพธิสัตว์แลเห็นพวกทาสี จึงเดิรเข้าไปใกล้ เมื่อจะไต่ถามทาสีทั้งสามนั้น จึงกล่าวคาถาว่า

ภคินีโย ตรุณรูปา อุทกภาชนหตฺถา
อาคตา หริตุทกํ กิสฺสตฺถาย เม อาจิกฺขถ

ความว่า ดูกรน้องหญิงทั้งหลายผู้แรกรุ่น ผู้มีมือถือภาชนะสำหรับตักน้ำ ท่านทั้งหลายพากันมาตักน้ำเพื่อประโยชน์อะไร จงบอกให้เราทราบในกาลนี้

นางทาสีทั้งสามได้ฟังคำถามดังนั้นจึงบอกว่า ข้าแต่ท่านผู้เปนสัตบุรุษ พระราชธิดาผู้เปนเจ้านายของเรากลับมา พระเจ้าสัตตกุฏราชผู้เปนพระราชบิดาปราถนาจะทำการสมโภช จึงมีพระราชดำรัสให้ข้าพเจ้าทั้งหลายมาตักน้ำ เพื่อจะให้พระราชธิดานั้นสรงสนานแลสระพระเศียร

พากุลกุมารโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น ก็มีความโสมนัส จึงดำริห์ว่า ทำไฉนราชธิดานั้นจึงจะรู้ว่า เรามาอยู่ที่นี้ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะตั้งสัตย์เสี่ยงบารมี ดำริห์ดังนี้แล้ว จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าในอนาคตกาลภายหน้า ข้าพเจ้าจะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าไซร้ ขออย่าให้ทาสีทั้งสามยกหม้อน้ำขึ้นได้

ในกาลนั้น ทาสีทั้งสามก็ไม่สามารถจะยกหม้อน้ำขึ้นได้ จึงพากันยกมือไหว้พระโพธิสัตว์แล้วบอกว่า ข้าแต่ท่านผู้เปนสัตบุรุษ ท่านจงช่วยยกหม้อน้ำให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด เมื่อพระโพธิสัตว์จะเข้าไปช่วยยกหม้อน้ำ จึงเอาแหวนหัววงหนึ่งใส่ลงในหม้อน้ำแล้วยกส่งให้ ทาสีเหล่านั้นก็นำเอานำไปไห้พระราชธิดาสรงสนาน

ในขณะพระราชธิดาสรงสนานอยู่ แหวนหัวก็ตกลงจากหม้อน้ำสวมนิ้วพระหัตถ์ พระราชธิดาพิจารณาดูแหวนหัวนั้นก็รู้ชัดว่า สามีของเราตามมาถึงแล้ว จึงถามทาสีทั้งสามว่า ดูกรแม่ทั้งหลาย นี่แหวนหัวของใคร ทาสีทั้งสามจึงตอบว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายมิได้ทราบเลย แต่ทว่า ที่ใกล้สระโบกขรณีนั้น มีมานพหนุ่มน้อยคนหนึ่ง มีรูปร่างผิวพรรณอันงามยิ่งนัก มาช่วยยกหม้อน้ำส่งพวกข้าพเจ้า ๆ จึงได้นำน้ำนี้มาถวาย

พระราชธิดาได้ฟังดังนั้นจึงรีบไปเฝ้าพระราชบิดาถวายบังคมแล้วทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราชเจ้า สามีของหม่อมฉันตามมาถึงเมืองนี้แล้ว บัดนี้ พักอยู่ที่ตำหนักหลวงอันใกล้สระโบกขรณี ขอพระราชบิดาได้โปรดพระราชทานผ้าสาฎกไปสักคู่หนึ่งในกาลนี้

พระเจ้าสัตตกุฏราชได้ทรงฟัง จึงพระราชทานคู่ผ้าสาฎกในมืออำมาตย์ผู้หนึ่ง แล้วตรัสว่า ดูกรพระนาย ท่านจงนำผ้าสาฎกคู่นี้ไปที่สระโบกขรณี แล้วจงให้แก่บุรุษผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในตำหนักหลวง ให้บุรุษนั้นนุ่งห่มผ้าคู่นี้แล้วจงนำมาหาเรา

อำมาตย์นั้นรับพระราชโองการแล้ว ก็ถือเอาคู่ผ้าสาฎกไปให้พระโพธิสัตว์นุ่งห่ม แล้วนำมาเฝ้าพระเจ้าสัตตกุฏราช ๆ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ ก็บังเกิดความพิศวง จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ด้วยเราชมเชย บุรุษผู้นี้มีรูปร่างผิวพรรณงามยิ่งนัก บุรุษในพื้นปฐพีที่จะมีรูปร่างผิวพรรณอันงามเหมือนบุรุษผู้นี้ เรายังมิเคยเห็นเลย ทรงพระดำริห์ดังนี้แล้ว เมื่อจะตรัสเชิญพระโพธิสัตว์ให้นั่งณอาสนะ จึงตรัสว่า ดูกรพ่อพากุลกุมาร ท่านจงนั่งณอาสนะอันนี้ แล้วจงบริโภคสุธาหารตามสบายเถิด

พระโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น ก็มีพระหฤทัยโสมนัสยินดีเปนที่ยิ่ง จึงถวายบังคมแล้วนั่งณที่อันควรข้างหนึ่ง แล้วบริโภคโภชนาหารมีรสอันเลิศต่าง ๆ ครั้นพระโพธิสัตว์บริโภคเสร็จแล้ว พระเจ้าสัตตกุฏราชปราถนาจะใคร่ทดลองให้รู้ว่า บุรุษผู้นี้จักบริบูรณ์ด้วยกำลังอิทธิฤทธิ์หรือไม่ จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนำเอาสหัสสถามธนู (ธนูที่ต้องใช้กำลังบุรุษพันคนจึงจะยกหรือโก่งขึ้นได้) คู่เมืองมา อำมาตย์นั้นจึงพาบุรุษทั้งหลายพันคน ไปนำเอาสหัสสถามธนูมาวางลงหน้าที่นั่ง

ในกาลนั้น พระเจ้าสัตตกุฏราชจึงมีรับสั่งแก่พระโพธิสัตว์ว่า ดูกรพากุลกุมาร เจ้าอาจยกสหัสสถามธนูนี้ขึ้นได้หรือไม่ ถ้าเจ้ามีกำลังสามารถอาจยกธนูนี้ขึ้นได้ ก็จงยกขึ้นให้เราเห็นประจักษ์ในกาลนี้

พระโพธิสัตว์จึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช ข้าพระองค์สามารถจะยกขึ้นถวายให้ทอดพระเนตรได้ ทูลดังนี้แล้วก็ถวายบังคมพระเจ้าสัตตกุฏราช จึงลุกขึ้นจากอาสน์ไปยกสหัสสถามธนูขึ้น ดีดสายเสียงสนั่น เสียงสายธนูที่พระโพธิสัตว์ดีดนั้นประดุจดังว่าเสียงอัสนีอันบัลลือลั่นไปในอากาศ แล้วพระโพธิสัตว์ก็เอาลูกธนูขึ้นพาดยิงไป ลูกธนูนั้นแล่นไปตลอดจักรวาฬ แล้วก็กลับเข้ามาสู่แหล่ง

พระเจ้าสัตตกุฏราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็มีพระทัยโสมนัสเปนอย่างยิ่ง แลมีพระราชประสงค์จะทดลองบุญญานุภาพของพระโพธิสัตว์อีก จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์นำเอาเกวียนมาสองเล่ม แล้วให้เอาเมล็ดงามาบันทุกลงในเกวียนเล่มหนึ่งให้เต็ม เกวียนอีกเล่มหนึ่งนั้นทำให้ว่างเปล่า แล้วมีพระราชดำรัสแก่พระโพธิสัตว์ว่า ดูกรพากุลกุมาร เจ้าจงนำเอาเมล็ดงาออกจากเกวียนเล่มนี้ แล้วบันทุกลงในเกวียนเล่มที่ว่างเปล่าในกาลนี้

พระโพธิสัตว์ทูลฉลองพระราชโองการว่า ข้าพระองค์จะฉลองพระเดชพระคุณตามความสามารถ แล้วตั้งสัตยาธิษฐานในใจว่า ถ้าข้าพเจ้าจะได้ตรัสเปนพระพุทธสัพพัญญูในอนาคตกาลภายหน้าไซร้ ขอให้เทพดาทั้งหลายลงมาช่วยข้าพเจ้าในกาลนี้

ขณะนั้น ท้าวโกสีย์สักกเทวราชได้ทราบคำสัตยาธิษฐานด้วยทิพยโสต จึงพาเทพดาทั้งหลายลงมาจากดาวดึงสพิภพ ช่วยกันนำเอาเมล็ดงาออกจากเล่มเกวียนที่บันทุก แล้วใส่ลงในเล่มเกวียนที่ว่างเปล่าให้เต็มในทันใด มิให้ชนทั้งหลายได้แลเห็นทิพย์กายปรากฎ

ในกาลนั้น มหาชนทั้งหลาย มีพระราชาเปนประธาน ก็มีจิตต์เบิกบานโสมนัส พระเจ้าสัตตกุฏราชจึงมีพระราชดำรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูกรพากุลกุมาร เจ้ารู้จักภรรยาของเจ้าหรือไม่ ครั้นพระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าพระองค์รู้จักพระพุทธเจ้าข้า จึงมีรับสั่งให้ราชธิดาทั้งหลาย ๗ พระองค์ประดับกายมานั่งอยู่ภายในม่าน แล้วให้ยื่นนิ้วมือออกไปจากม่านทีละองค์ ๆ ตามลำดับกัน

ในขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงกล่าวกระซิบที่หูพระโพธิสัตว์ว่า เราจะเปนแมลงวันทอง ถ้าเราไปจับอยู่ที่นิ้วมือที่ยื่นออกมานิ้วใด ท่านจงจับนิ้วมือนิ้วนั้น ครั้นกระซิบบอกแล้ว ก็แปลงเปนแมลงวันไปจับอยู่ที่นิ้วมือของนางสุขุมาอัณฑาซึ่งยื่นออกมานั้น

พระโพธิสัตว์เห็นแมลงวันทองเปนสำคัญ จึงจับนิ้วมือที่ยื่นออกมานั้น แล้วร้องว่า นิ้วนี้เปนนิ้วมือภรรยาของข้าพระองค์ ฝ่ายนางสุขุมาอัณฑาก็คลานออกมาจากม่าน กราบลงแทบเท้าของพระโพธิสัตว์ แล้วนั่งอยู่ ครั้นวันรุ่งขึ้น พระเจ้าสัตตกุฏราชก็อภิเษกชนทั้งสองให้ปกครองราชสมบัติเปนกษัตริย์สืบสันตติวงศ์ในสัตตกุฏนครนั้น

ฝ่ายพากุลกุมารโพธิสัตว์เสวยราชสมบัติได้ ๓ วัน ระลึกขึ้นมาถึงพระราชาในเมืองพาราณสี ก็มีพระหฤทัยโสมนัสยิ่งนัก จึงทรงดำริห์ว่า เราจักไปเมืองพาราณสี จักไปดูหน้าพระราชาผู้ลามกมักมากในกาลนี้ ดำริห์ดังนี้แล้ว จึงปรึกษากับนางสุขุมาอัณฑาผู้เปนอัคมเหษี ๆ จึงทูลว่า ที่ทรงพระดำริห์นี้ดีแล้ว หม่อมฉันจักขอตามเสด็จไปด้วย กษัตริย์ทั้งสองปรึกษากันแล้ว ครั้นรุ่งขึ้นเช้า จึงพากันไปเฝ้าพระราชบิดา ทูลเหตุที่จะไปนั้นให้ทรงทราบ

พระราชบิดามารดาทั้งสองทรงอนุญาตแล้วตรัสกำชับว่า เจ้าทั้งสองจะไปนั้น จงเอาสหัสสถามธนูไปด้วย แล้วจงขึ้นอัศวราชพากันไปยังเมืองพาราณสี

กษัตริย์ทั้งสองได้รับอนุญาต ก็มีความยินดี จึงพร้อมกันถวายอภิวาทพระราชบิดามารดา แล้วพากันลงจากปรางค์ปราสาท จึงให้นำอัศวราชซึ่งมีกำลังกล้าหาญมาตัวหนึ่ง แล้วพากันขึ้นนั่งบนหลังอัศวราชอาชาไนย ขับอาชาไนยตรงไปยังเมืองพาราณสี สิ้นมรรคาวิถีประมาณ ๒๗ โยชน์ ก็ถึงเรือนกระท่อมในที่นาซึ่งเคยอยู่มาแต่ก่อน

แท้จริง พระยาอัสดรที่เปนพาหนะนั้นประกอบด้วยกำลังอันสามารถอาจไปสิ้นระยะทางได้ ๑๐๐ โยชน์ เพราะเหตุนั้น พอเพลาสายัณหสมัยจึงได้พาสองกษัตริย์ไปยังเมืองพาราณสี

ฝ่ายคามโภชกคนพาล เมื่อได้เห็นพากุลกุมารโพธิสัตว์อันมาในที่นั้น จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าพาราณสีว่า ข้าแต่สมมติเทวราช บัดนี้ พากุลกุมารไปได้เครื่องอลังการแต่พระราชาองค์ใดองค์หนึ่งมา ประดับกายกับทั้งภรรยาพากันขึ้นอาชามาในเมืองนี้ ถ้าละทิ้งไว้ให้เนิ่นช้า พลนิกายของพระราชานั้นก็จะยกมาแวดล้อมเมืองพาราณสีเปนมั่นคง ขอพระองค์ทรงรีบไปจับพากุลกุมารฆ่าเสีย เอาเมียมาตั้งให้เปนนางอัคมเหษี เมื่อทำได้ดังนี้ พลนิกายของพระราชานั้นก็จักไม่มาถึงเมืองนี้

พระเจ้าพาราณสีได้ทรงฟังก็ทรงเชื่อถือ จึงมีพระราชโองการให้ประชุมโยธาหาญอันประกอบด้วยองค์ ๔ ครั้นเหล่าจตุรงคเสนีโยธาหาญผูกสอดอาวุธยุทธภัณฑ์ประชุมกันพร้อมแล้ว พระเจ้าพาราณสีก็ทรงเครื่องอลังการวิภูสิตเสร็จสรรพ เสด็จขึ้นประทับณคอคชสารพระที่นั่งต้นแวดล้อมไปด้วยหมู่พหลพลนิกร ยาตราทัพออกจากพระนครพาราณสี ส่วนคามโภชกก็ขึ้นขี่คอช้างตัวหนึ่งนำเสด็จไปในเบื้องหน้า ครั้นถึงที่นาของพากุลกุมาร พระเจ้าพาราณสีทอดทัศนาการเห็นพระโพธิสัตว์อันยืนม้าอยู่ณที่นานั้น จึงชี้พระหัตถ์ ตรัสว่า ดูกรอ้ายพากุลกุมาร มึงได้เครื่องอลังการมาแต่กษัตริย์องค์ใด แล้วพากษัตริย์องค์นั้นมาล้อมเมืองกูหรือ กูจะไม่ไว้ชีวิตมึงละ จะจับมึงฆ่าเสียในวันนี้ แล้วจะริบเอาภรรยาของมึงเสียด้วย

พากุลกุมารโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวตอบว่า ดูกรพระยาอันธพาล ท่านได้คามโชกเปนที่ปรึกษา ปราถนาจะใคร่ได้ภรรยาเรา แล้วกระทำความข่มเหงข่มขี่เราด้วยอุบายต่าง ๆ บัดนี้ ท่านปราถนาจะมาฆ่าเราอีก เพราะเหตุนี้และ เราจะไม่ไว้ชีวิตท่านละ เราจะปลงชีวิตท่านเสียด้วยธนูนี้ พูดดังนี้แล้วก็ยกสหัสสถามธนูขึ้นเหนี่ยวสายดีดไป เสียงสายธนูที่พระโพธิสัตว์ดีดนั้นก็ดังประดุจดังว่าเสียงอัสนีอันลั่นไปร้อยครั้ง

ด้วยอานุภาพแห่งเสียงสายธนูนั้น พระเจ้าพาราณสีแลคามโภชกก็ตกจากหลังคชสาร กระทำกาลกิริยาตายอยู่ณพื้นปฐพีดล บรรดาพวกหมู่พหลพลโยธาหาญบางพวกก็ตกจากหลังคชสารแลหลังอาชา บางพวกก็ตกจากรถจากยานพาหนะต่าง ๆ พลโยธาพวกใดที่ตั้งใจจะฆ่าพากุลกุมารโพธิสัตว์ พลโยธาจำพวกนั้นก็วิบัติถึงชีวิตอันตราย พวกโยธาทั้งหลายที่มีชีวิตอยู่ต่างก็มีความสดุ้งกลัวต่อมรณภัย พากันทิ้งศัสตราวุธแล้วประคองอัญชลีทูลว่า ข้าแต่สมมติเทวราช พระองค์จงโปรดพระราชทานชีวิตแก่ข้าพระบาททั้งปวงเถิด ข้าพระบาททั้งหลายขอถวายริสิราชสมบัติแก่พระองค์

ในกาลนั้น หมู่พหลจตุรงค์ราชโยธี อีกทั้งชาวพระนครพาราณสีสิ้นทั้งปวง ก็พร้อมใจกันอัญเชิญพระโพธิสัตว์แลพระราชเทวีให้ขึ้นประทับณหลังคชาธาร แล้วแห่ห้อมกษัตริย์ทั้งสองเข้าไปในเมืองพาราณสี ตั้งพิธีราชาภิเษกให้กษัตริย์ทั้งสองครองราชอาณาจักร แล้วถวายพระนามว่า พระเจ้าพากุลราช

จำเดิมแต่นั้นมา พระเจ้าพากุลราชก็ดำรงราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรม เมื่อถึงวันอัฏฐมีอุโบสถ แลจาตุทสีอุโบสถ แลปัญจทสีอุโบสถ ก็มีรับสั่งให้มหาชนทั้งหลายมาประชุมกัน แล้วพระราชทานโอวาทสั่งสอนแนะนำแลแสดงธรรมเทศนา มหาชนทั้งหลายทั้งปวงก็ตั้งอยู่ในศีล ๕ พากันกระทำบุญ มีบริจาคทานเปนต้น ครั้นสิ้นอายุ ก็กระทำกาลกิริยาตายไปเกิดในสวรรค์

ฝ่ายพระราชาโพธิสัตว์นั้น ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมจรรย าแลทรงสงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ แล้วให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง ทรงบริจาคพระราชทรัพย์วันละ ๖ แสนสำหรับโรงทาน มีพระหฤทัยโสมนัสเบิกบานในมหาทานบริจาค พร้อมด้วยพระราชเทวีสุขุมาอัณฑา ครั้นสิ้นพระชนมชีพ ก็ขึ้นไปบังเกิดในดาวดึงสพิภพ

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา สมเด็จพระบรมนราสภผู้ศาสดาจารย์ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาตรัสประทานเทศนาแล้ว จึงมีพระพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตนั้นได้พยายามที่จะฆ่าพระตถาคตแต่ในกาลนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ถึงในชาติปางก่อนก็ได้พยายามในการที่จะฆ่าพระตถาคตดังแสดงมาแล้วนี้ มีพระพุทธดำรัสดังนี้แล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า คามโภชกในกาลครั้งนั้นกลับชาติมา คือ พระเทวทัตในกาลนี้ พระยาพาราณสีในกาลครั้งนั้นกลับชาติมา คือ สุปปพุทธสักยราชในกาลนี้ บิดามารดาพากุลกุมารโพธิสัตว์ในกาลครั้งนั้นกลับชาติมา คือ พุทธบิดาพุทธมารดาในกาลนี้ มารดาเลี้ยงของพากุลกุมารโพธิสัตว์ในกาลครั้งนั้น กลับชาติมา คือ พระนางโคตมีในกาลนี้ ลูกสุนัขขาวในกาลครั้งนั้นกลับชาติมา คือ ราหุลกุมารพุทธชิโนรสในกาลนี้ เทพดาที่เปนแร้งในกาลครั้งนั้นกลับชาติมา คือ อานนท์พุทธอุปัฏฐากในกาลนี้ เทพดาที่เปนกาในกาลครั้งนั้นกลับชาติมา คือ พระโมคคัลลานะในกาลนี้ เทพดาที่เปนแมลงวันในกาลครั้งนั้นกลับชาติมาคือกาลุทายีภิกษุในกาลนี้ ท้าวสักกเทวราชในกาลครั้งนั้นกลับชาติมา คือ พระอนุรุทธสักยราชในกาลนี้ พระยาสัตตกุฏราชในกาลครั้งนั้นกลับชาติมา คือ พระสาริบุตรในกาลนี้ ราชธิดาหกคนในกาลนั้นกลับชาติมา คือ นางอุบลวรรณาเถรี ๑ นางวิสาขามหาอุบาสิกา ๑ นางเขมาภิกษุนี ๑ นางชนบทกัลยาณี ๑ นางสามาวดี ๑ นางขุชชุตตรา ๑ รวม ๖ คนในกาลนี้ นางสุขุมาอัณฑาในกาลนั้นกลับชาติมา คือ พิมพายโสธรา มารดาราหุลกุมารในกาลนี้ ฝ่ายพากุลกุมารโพธิสัตว์ในกาลครั้งนั้นสืบขันธประวัติมา คือ พระตถาคตผู้เปนอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลนี้ ท่านทั้งหลายจงจำทรงชาดกไว้โดยนัยที่ตถาคตแสดงมานี้แล

จบพากุลกุมารชาดก