ปัญญาสชาดก/ภาคที่ 25/ผู้วายชนม์

จาก วิกิซอร์ซ
  • อำมาตย์โท พระยาพิพิธภักดี (เพิ่ม เดชะคุปต์)
  • พ.ศ. ๒๔๐๙–๒๔๖๗

ประวัติ
อำมาตย์โท พระยาพิพิธภักดี (เพิ่ม เดชะคุปต์)

อำมาตย์โท พระยาพิพิธภักดี (เพิ่ม เดชะคุปต์) เกิดที่บ้านในคลองบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เมื่อวัน ปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ ตรงกับวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๙ เป็นบุตรคนที่ ๒ ของขุนฤทธิดรุณเสรฐ (เดช เดชะคุปต์) สารวัตร์ใหญ่มหาดเล็กเวรฤทธิในรัชชกาลที่ ๕ และนางไผ่ ฤทธิดรุณเสรฐ เมื่ออายุเจริญวัยได้เล่าเรียนอักขรสมัยอยู่กับอาจารย์รอดที่บ้าน ถึง พ.ศ. ๒๔๒๖ ได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาพิพิธภักดีเป็นผู้มีวิริยะอุตสาหะ เมื่อมีเวลาว่างราชการ ก็ศึกษาวิชชาไปกับนายทหาร มีนายพันโท พระยาพินิจสารา (ทิม บุณยรัตพันธ์) ซึ่งเป็นผู้รอบรู้อักษรสาสตรและเป็นกวีอยู่ในเวลานั้น ครั้นเมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงโปรดเกล้า ให้ย้ายพระยาพิพิธภักดีไปเป็นเสมียนในกรมศึกษาธิการ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นนายเวรในกรมนั้น ถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็นขุนวรพิทย์พิจารณ์ พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นหลวงในราชทินนามเดิม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นมหาดไทยมณฑลอยุธยาอยู่ปีหนึ่ง เวลานั้นกำลังจัดการปกครองจังหวัดสระบุรีให้เข้าระเบียบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นปลัดจังหวัดสระบุรี พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นปลัดจังหวัดปัตตานี พ.ศ. ๒๔๔๖ ย้ายไปเป็นปลัดจังหวัดสายบุรี พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็นพระพิพิธภักดี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์ตรี ถึง พ.ศ. ๒๔๕๒ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นมหาดไทยมณฑลปัตตานี พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นปลัดมณฑลปัตตานีประจำจังหวัดยะลา ถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิพิธภักดี ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาอยู่ ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา

ราชการเสือป่า พระยาพิพิธภักดีได้เป็นตั้งแต่พลเสือป่ามาแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้วได้เป็นว่าที่นายหมู่ผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ จังหวัดยะลา ถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายหมวดตรีผู้บังคับกองร้อยที่ ๔ จังหวัดยะลา พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นนายหมวดโทผู้บังคับกองพันที่ ๒ จังหวัดยะลา พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นนายหมวดเอก

เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ ได้รับพระราชทานตรามงกุฎสยามและช้างเผือกตั้งแต่ชั้น ๕ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นลำดับถึงที่สุด ได้รับพระราชทานจัตุรถาภรณ์ช้างเผือก และตริตาภรณ์มงกุฎสยาม เหรียญจักรพรรดิมาลา กับได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกในงานพระราชพิธี มีลำดับตั้งแต่เหรียญรัชฎาภิเษกมาลาเป็นต้น มาทุกคราวงาน

เงินเดือนแรกที่พระยาพิพิธภักดีเข้ารับราชการในกรมทหารมหาดเล็ก ฯลฯ ได้รับพระราชทานเดือนละ ๑๐ บาท แล้วเลื่อนขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาจนถึงที่สุดเมื่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ได้รับพระราชทานเดือนละ ๕๐๐ บาท

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ พระยาพิพิธภักดีได้ทำการสมรสกับคุณหญิงพันธ์มีบุตร์บุตรีด้วยกัน ๙ คน ถึงแก่กรรมเสีย ๓ คน คงเหลือบุตร์ชายที่ ๑ ชื่อ พงษ์ เป็นรองอำมาตย์โท หลวงศรีคณาภิบาล บุตร์ชายที่ ๔ ชื่อ พฤติ์ เป็นรองอำมาตย์เอก ขุนสารักษรการ ที่ ๕ เป็นหญิงชื่อ นิตย์ นางบริรักษ์ภูธร ภรรยาอำมาตย์ตรี พระยาบริรักษ์ภูธร ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ที่ ๖ เป็นหญิงชื่อ น้อม ที่ ๗ เป็นชายชื่อ พร้อง ที่ ๙ เป็นหญิงชื่อ เนียน

พระยาพิพิธภักดีเป็นผู้มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยนและโอบอ้อมอารีต่อพี่น้องและวงศ์ญาติตลอดจนผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชา เมื่อมีโอกาสจะอุปการะได้สถานใด ก็พยายามช่วยเหลือตามควร จึงเป็นที่รักใคร่นับถือของวงศ์ญาติกับผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชา และทั้งเป็นผู้ที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชามาทุกชั้น และเป็นคนมีใจหนักแน่นมั่นคง เมื่อได้รับราชการในตำแหน่งใด ก็พยายามกระทำการในหน้าที่โดยเต็มกำลังและสุดความสามารถ พระยาพิพิธภักดีมีนิสสัยชอบในการช่าง จึงได้เป็นกำลังช่วยมหาอำมาตย์โท พระยาเดชานุชิต ครั้งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี ทำถนนหนทางและการก่อสร้างสถานที่ของรัฐบาลในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดอื่น ๆ ในมณฑลปัตตานี ซึ่งยังคงเห็นปรากฎอยู่ในปัจจุบันนี้ พระยาพิพิธภักดีได้รับราชการตรากตรำมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็ล้มป่วยลงด้วยโรคอัมพาต แต่ได้รักษาอาการคลายขึ้นมีกำลัง ยังคงรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ เห็นว่า เป็นผู้มีโรคภัยเบียดเบียฬ จะรับราชการต่อไป ก็จะทำให้ราชการเจริญขึ้นอีกไม่ได้ จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา แล้วกลับเข้ามาอยู่ยังบ้านเดิม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญเลี้ยงชีพต่อมา ถึงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ โรคเดิมกำเริบขึ้น ถึงอนิจจกรรมในขณะนั้น อายุ ๕๘ ปี รับราชการมา ๔๑ ปี ได้รับพระราชทานน้ำอาบศพและหีบทองทึบเป็นเกียรติยศ