พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ

หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง

ภาคที่ ๑

พระราชอาณาเขตรสยามภาคหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างแลติจูตเหนือ ๑๓ ดีกรีเศษ ถึง ๑๖ ดีกรีเศษ ลองติจูตตวันออก ๑๐๓ ดีกรี ถึง ๑๐๕ ดีกรีเศษ ตรงทิศตวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพมหานคร (บางกอก) ซึ่งเรียกว่ามณฑลอิสาณนั้น เปนมณฑลใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งนับเข้าในมาตราเปนมณฑลชั้นที่ ๑ เดิมมีอาณาเขตรทางฝ่ายตวันออกข้ามแม่น้ำโขงไปจนถึงเขาบันทัดต่อแดนญวน ครั้นมาเมื่อปี ร.ศ. ๑๑๒ ประเทศสยามได้ยกอาณาเขตรทางฝั่งโขงตวันออกฤๅฝั่งซ้าย แลทั้งเกาะดอนในลำน้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส เพราะฉนั้นอาณาเขตรมณฑลอิสาณข้างตวันออกในปัจจุบันนี้จึ่งคงเพียงจดลำน้ำโขง ฝั่งตวันตกเท่านั้น (แลในที่ดินพ้นฝั่งแม่น้ำโขงตวันตกฤๅฝั่งขวาเข้ามา ๒๕ กิโลเมเตอ ฤๅ ๖๒๕ เส้นนี้ประเทศสยามได้ทำสัญญาแก่ฝรั่งเศสว่า จะไม่ตั้งป้อมค่าย แลมีกำลังทหาร แลเก็บภาษีสินค้าเข้าออกด้วย)

ส่วนอาณาเขตรมณฑลอิสาณฝ่ายทิศใต้นั้น จดแดนมณฑลบุรพาแลแดนเขมรในบำรุงฝรั่งเศส ฝ่ายทิศตวันตกจดแดนมณฑลนครราชสิมา ฝ่ายทิศเหนือจดแดนมณฑลอุดร รวมที่ดินกว้างยาวประมาณ ๕๖๐๐๐๐๐๐ ตรางเส้น รวมหัวเมืองซึ่งอยู่ในมณฑลนี้ทั้งสิ้น ๑๔ เมือง อำเภอ ๗๘ อำเภอ ตำบล ๒๓๖๗ ตำบล คนพื้นเมืองเปนไทยเปนพื้น นอกจากไทยมีเขมรส่วย แลลว้า แลมีชนชาวประเทศอื่นคือ ฝรั่ง, ญวน, พม่า, ตองซู, จีน, เข้าไปอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก รวมพลเมืองทั้งสิ้นในปี ๑๒๒ นี้ประมาณ ๙๒๔๐๐๐ คนเศษ

เดิมพื้นที่ในมณฑลลาวกาวนี้ เมื่อก่อนจุลศักราชได้ ๑๐๐๐ ปี ก็เปนทำเลป่าดง ซึ่งเปนที่อาไศรยของคนป่าอันสืบเชื้อสายมาแต่ขอมต่อมาเรียกกันว่าพวกข่า, ส่วย, กวย, ซึ่งยังมีอยู่ในฝั่งโขงตวันออกณบัดนี้นั้น ครั้นเมื่อชนชาติไทยซึ่งอยู่ประเทศข้างเหนือ มีเมืองศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันท์) เปนต้น ได้แตกสานส้านเซนลงมาตั้งเคหสถานโดยความอิศรภาพแห่งตน เปนหมวดเปนหมู่แน่นหนามั่นคงขึ้นแล้ว จึ่งได้ยกย่องผู้เปนใหญ่เปนหัวน่าแห่งตนขึ้นเปนกระษัตริย์โดยประชุมชนสมมต เปนเอกเทศส่วนหนึ่ง ตลอดมาจนถึงกระษัตริย์องค์ ๑ ได้สร้างเมืองขึ้นริมแม่น้ำโขงฝั่งตวันตก ตรงกันกับเมืองที่พระเจ้ากรรมทาสร้างไว้ณเชิงเขา คือตำบลที่เรียกว่าบ้านกระตึบเมืองกลางณบัดนี้นั้น ขนานนามเมืองว่าพระนครกาละจำบากนาคบุรีศรี เปนทางไมตรีกันกับเจ้าเขมรกรุงกัมพูชา พระองค์มีโอรสองค์หนึ่งพอเจริญไวยขึ้นมา เมื่อพระบิดาถึงแก่พิราไลยท้าวพระยาเสนาพฤฒามาตย์ จึ่งได้เชิญกุมารนั้นขึ้นครองเมืองแทนพระบิดา ถวายนามว่า เจ้าสุทัศนราชา ปกครองประชุมชนณที่นั้นเปนความศุขเรียบร้อยตลอด จนถึงจุลศักราช ๑๐๐๐ ปี ๆ ขาลสัมฤทธิศก เจ้าสุทัศนราชาถึงแก่พิราไลย หามีเชื้อวงษ์ที่จะสืบตระกูลครองเมืองต่อไปไม่ ประชุมชนจึ่งได้ยกชายผู้มีตระกูลคนหนึ่งขึ้นเปนหัวน่าบัญชาการเด็ดขาดในอาณาเขตรนครกาละจำบากนาคบุรีศรีนั้น โดยเรียบร้อยตลอดมาได้ ๖ ปีถึงแก่กรรม นางแพงบุตร นางเภาหลาน ได้เปนผู้อำนวยการบ้านเมืองสืบต่อมาอิก ในจุลศักราช ๑๐๐๕ ปีมแมเบญจศก

สมัยกาลครั้งนั้น ยังมีพระภิกษุรูปหนึ่ง เปนพระครูเจ้าวัด อยู่วัดโพนเสม็ดแขวงกรุงศรีสัตนาคนหุต ประชุมชนเรียนพระภิกษุรูปนั้นว่าพระครูโพนเสม็ด มีสานุศิษย์ญาติโยมแลประชาชนในแว่นแคว้นนั้นนับถือ รักใคร่เข้าเปนพรรคพวกมาก ครั้นจุลศักราช ๑๐๕๐ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตถึงแก่พิราไลย พระยาเมืองแสนชิงเอาสมบัติขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุต พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต มีโอรสองค์หนึ่ง ชื่อเจ้าองค์หล่อ อายุได้ ๓ ปี มารดาของเจ้าองค์หล่อผู้เปนชายาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ยังมีครรภ์ค้างอยู่ด้วย ฝ่ายพระยาเมืองแสนผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตจะรับเอามารดาเจ้าองค์หล่อไปเปนภรรยา นางหายินดีด้วยไม่ จึ่งพาเจ้าองค์หล่อหนีมาอยู่กับพระครูโพนเสม็ด ๆ จึ่งให้นางชายาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตกับเจ้าองค์หล่อโอรสไปอยู่ณตำบล ภูฉะง้อหอคำ พอถึงกำหนดครรภ์ นางนั้นก็คลอดบุตรเปนชาย คนทั้งหลายเรียกกันว่าเจ้าหน่อกระษัตริย์ ฝ่ายเจ้าองค์หล่อผู้เปนเชษฐานั้นมีความโกรธคิดแค้นพระยาเมืองแสน จึ่งพาบ่าวไพร่ของตนไปอยู่เมืองญวน ตั้งเกลี้ยกล่อมมั่วสุมกำลังผู้คนคอยหาโอกาศแก้แค้นพระยาเมืองแสนอยู่ ฝ่ายพระยาเมืองแสนผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต เห็นว่าพระครูโพนเสม็ดมีผู้คนรักใคร่กลัวเกรงนับถือมาก ถ้าละไว้เกรงว่าพระครูโพนเสม็ดจะแย่งชิงเอาบ้านเมือง จึ่งคิดเปนความลับจะกำจัดพระครูโพนเสม็ดเสีย ฝ่ายพระครูโพนเสม็ดรู้ระแคะระคายว่าพระยาเมืองแสนจะคิดทำร้าย เห็นว่าจะอยู่ในที่นี้ต่อไปไม่มีความศุข จึ่งได้ปฤกษาญาติโยมแลสานุศิษย์เห็นว่า ควรจะไปตั้งอาไศรยอยู่เสียให้พ้นเขตรแขวงกรุงศรีสัตนาคนหุต จึ่งรวบรวมบรรดาพวกพ้องได้ประมาณสามพันเศษแล้วไปเชิญเจ้าหน่อกระษัตริย์กับ มารดามาพร้อมกันแล้ว ก็พากันอพยพออกจากแขวงกรุงศรีสัตนาคนหุต ไปถึงตำบลงิ้วพันลำโสมสนุก พระครูโพนเสม็ดจึ่งให้เจ้าหน่อกระษัตริย์กับมารดาแลสานุศิษย์ตั้งเคหสถาน อยู่ในตำบลนั้นบ้าง เหลือจากนั้นพระครูโพนเสม็ดก็พากันเดินทางต่อไป เมื่อพระครูโพนเสม็ดไปถึงตำบลใด ก็มีผู้คนนับถือรับรองแลยินดีเข้าเปนพวกพ้องติดตามไปด้วยเปนอันมาก ท่านพระครูก็พาครอบครัวไปถึงแดนเขมรแขวงเมืองบรรทายเพ็ชร์ คิดว่าจะตั้งที่พักอาไศรยอยู่ในแขวงกรุงกัมพูชานั้น ฝ่ายเจ้ากรุงกัมพูชาจึ่งให้พระยาพเขมรมาตรวจสัมโนครัวพรรคพวกพระครูโพนเสม็ด พระยาพเขมรจะเรียกเอาเงินแก่ครัวเหล่านั้นครัวละ ๘ บาท พระครูโพนเสม็ดเห็นว่าจะเปนความเดือดร้อนแก่พวกพ้องญาติโยม จึ่งได้อพยพพากันเดินกลับขึ้นมาทางลำแม่น้ำโขง จนถึงนครกาละจำบากนาคบุรีศรี หยุดตั้งพักอาไศรยอยู่ในเมืองนั้น ฝ่ายพวกศิษย์แลญาติโยมของพระครูโพนเสม็ดซึ่งเปนไทยฝ่ายเหนือบ้าง เปนเขมรบ้าง ต่างก็ย้ายแยกไปตั้งนิวาศสถานอยู่ณที่ตำบลต่าง ๆ คละปะปนอยู่กับพวกข่ากวย ตามภูมิ์ลำเนาอันสมควร

ฝ่ายนางแพง นางเภา ผู้บัญชาการเมืองแก่เฒ่าชราลง แลตั้งแต่พระครูโพนเสม็ดเข้ามาอยู่ในบ้านเมืองแล้ว นางก็มีความนิยมนับถือในท่านพระครูโพนเสม็ดมากจึ่งได้พร้อมด้วยแสนท้าวพระยา เสนามาตย์อาราธนาให้ท่านพระครูช่วยบำรุงรักษาพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองถาวรต่อ ไป แลทั้งส่วนการบ้านเมืองซึ่งเปนฝ่ายอาณาจักร ก็ได้มอบให้พระครูโพนเสม็ดเปนผู้อำนวยการสิทธิขาดด้วย แต่นั้นมาท่านพระครูก็ได้เปนใหญ่โดยอิศรภาพขึ้นในเขตรแขวงนครกาละจำบากนาค บุรีศรีตลอดมาจนถึงจุลศักราช ๑๐๗๑ ปีฉลูเอกศก ประชาชนทั้งหลายเกิดการวิวาทวาทาพากันมีน้ำใจกำเริบขึ้น คบกันตั้งเปนชุมนุมประพฤติเปนโจรผู้ร้าย ราษฎรทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในความสุจริต ต่างก็มีความเดือดร้อนยิ่งขึ้นเปนอันดับเกือบจะเกิดเหตุจลาจลใหญ่โต ฝ่ายพระครูโพนเสม็ดได้ว่ากล่าวห้ามปรามโดยทางธรรมก็หาเปนเหตุให้สงบเรียบ ร้อยสมดังความประสงค์ไม่ ครั้นจะใช้ปราบปรามเอาตามอาญาจักรก็เกรงจะผิดทางวิไนย เปนที่หม่นหมองแก่ทางสมณะเพศ พระครูโพนเสม็ดเห็นว่าเจ้าหน่อกระษัตริย์ซึ่งให้ตั้งอยู่ตำบลงิ้วพันลำน้ำ โสมสนุก เจริญไวยแลประกอบด้วยเกียรติยศเกียรติคุณพอจะเปนผู้ปกครองบ้านเมืองได้จึง ได้แต่งแสนท้าวพระยาคุมกำลังไปอัญเชิญรับเอาเจ้าหน่อกระษัตริย์กับมารดามา ยังนครกาละจำบากนาคบุรีศรี

ครั้นจุลศักราช ๑๐๗๕ ปีมเสงเบญจศก พระครูโพนเสม็ดพร้อมด้วยแสนท้าวพระยา จึงได้ตั้งพิธียกเจ้าหน่อกระษัตริย์ขึ้นเปนกระษัตริย์ถวายพระนามว่าเจ้า สร้อยศรีสมุทพุทธางกูร ครองสมบัติเปนเอกราชตามประเพณีกระษัตริย์ แล้วผลัดเปลี่ยนนามนครกาละจำบากนาคบุรีศรี เปนนามใหม่เรียกว่า นครจำปาศักดินัคบุรีศรี เจ้าสร้อยศรีสมุทจึงได้จัดการบ้านเมืองตั้งตำแหน่งเจ้านายแสนท้าวพระยาเสนา ขวา พระยาเสนาซ้ายฝ่ายน่าฝ่ายในแลตำแหน่งจัตุสดมภ์ กรมอาสาหกเหล่า สี่เท้าช้าง ตำรวจ มหาดเล็ก ชาวที่ กรมแสง ตามจารีตแบบอย่างกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันท์) แต่นั้นมาครบทุกตำแหน่ง แลตั้งอัตราเก็บส่วยแก่ชายที่มีบุตรเขย ๑๐ เก็บแก่พ่อตา ๑ บุตรเขย ๑ ถ้ามี ๕ เก็บเฉภาะแก่พ่อตา ๑ กำหนดคนละ ๑ ลาด แลเข้าเปลือกหนักคนละ ๑๐๐ ชั่ง (เข้าเวลานั้นหนักร้อยชั่งต่อบาท แลลาดนั้นใช้กันเปนอัตรา ๑๖ อันต่อบาทของเงินพดด้วงในพื้นเมือง ที่เรียกว่าเงินเป้งแปดน้ำหนัก ๓ สลึง ๑ เฟื้อง ส่วนเงินพดด้วงไทยนั้นเรียกว่าเงินเป้งเก้า เพราะหนักเต็มบาท) แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทสร้างอารามใหม่ขึ้นในเมืองวัดหนึ่ง เรียกว่าวัดหลวงใหม่ซึ่งปรากฎมาจนกาลบัดนี้ แล้วได้อาราธนาพระครูโพนเสม็ดกับอันดับสงฆ์มาอยู่ณวัดหลวงใหม่นั้น

เจ้าสร้อยศรีสมุท มีโอรส ๓ องค์ คือ เจ้าไชยกุมาร ๑ เจ้าธรรมเทโว ๑ เจ้าสุริโย ๑ แล้วมีราชสาสนแต่งให้แสนท้าวพระยา นำเครื่องบรรณาการไปขอธิดาเจ้าเขมรณเมืองบรรทายเพ็ชร์มาเปนบาทบริจา มีโอรสอิกองค์หนึ่ง ให้นามว่าเจ้าโพธิสาร แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งให้จารหวดเปนอำเภอรักษาบ้านดอนโขงในลำน้ำโขง (ฤๅของ)

คำที่เรียกว่าดอนโขงฤๅน้ำโขงนี้มีตำนานมาแต่บุราณว่า ครั้งเมื่อช้างเที่ยวทำร้ายคนอยู่ในเขตรแขวงเมืองศรีสัตนาคนหุต พระยาโคตระบองได้ไปปราบช้างฆ่าช้างตายเสียตั้งล้าน เมืองศรีสัตนาคนหุตจึ่งได้เรียกว่าเมืองล้านช้างมาก่อน ส่วนช้างที่ตายนั้นก็ลอยไปตามลำแม่น้ำ ติดอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่งมีกลิ่นเหม็นโขลงตลบไปทั่วตลอดไปตามลำน้ำ อาการกลิ่นที่เหม็นอย่างนี้ ภาษาทางนั้นเรียกว่าเหม็นโขง เพราะฉนั้นจึ่งได้เรียกลำน้ำนี้ว่าลำน้ำโขง ส่วนดอนที่ช้างตายลอยไปติดอยู่นั้นจึ่งเรียกว่าดอนโขง กับได้พบอิกตำราหนึ่งว่า ดอนโขลง ไม่ใช่โขงคือแต่ก่อนเปนที่ไว้โขลงช้าง ดอนนี้ต่อมาเรียกว่าสี่พันดอน คือมีดอนเกาะในที่เหล่านี้มากมายตั้งสี่พัน ซึ่งต่อมาในปัจจุบันนี้เรียกว่าสีทันดร

ให้ท้าวสุดเปนพระไชยเชฐรักษาอำเภอบ้านหางโคปากน้ำเซกองฝั่งโขงตวันออก (คือเมืองเชียงแตงเดี๋ยวนี้) ให้จารแก้วเปนอำเภอ รักษาบ้านทง ภายหลังเรียกบ้านเมืองทง (คือเมืองสุวรรณภูมิ์เดี๋ยวนี้) ให้จันทสุริยวงษ์เปนอำเภอรักษาบ้านโพนสิม เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง ให้นายมั่นข้าหลวงเดิมของนางแพงเปนหลวงเอกรักษา อำเภอบ้านโพน ภายหลังเรียกว่าเมืองมั่นตามชื่อนายมั่น (คือเมืองสาลวันเดี๋ยวนี้) ให้นายพรหมเปนซาบุตรโคตร รักษาอำเภอบ้านแก้วอาเฮิม ซึ่งมีเจดีย์อยู่ที่นั้นเรียกกันว่าธาตุกำเดาทึก ภายหลังเรียกว่าเมืองคำทองหลวง (คือเมืองคำทองใหญ่บัดนี้) ให้จารโสมรักษาอำเภอบ้านทุ่งอิ๊ดกระบือ เปนทำเลเมืองร้างมาก่อน เรียกว่าเมืองโสก เมืองซุง คือ ซองแลพะเนียด เพราะแต่ก่อนพวกเวียงจันท์แทรกคล้องแลฝึกหัดช้างเถื่อนที่นี้ คือเมืองอัตปือบัดนี้ ให้ท้าวหลวงบุตรพระละงุมเปนขุนนักเฒ่า รักษาอำเภอตำบลโขงเจียง ในอำเภอซึ่งเจ้าสร้อยศรีสมุทได้ตั้งแต่งให้มีผู้ไปรักษาปกครองอยู่ดังกล่าว มาแล้วนี้นั้น ดูเหมือนจะให้เปนอย่างเมืองออกกลาย ๆ ถ้าผู้ใหญ่ซึ่งรักษาในตำบลเหล่านั้นล่วงลับไปแล้ว ทางเมืองปาศักดิก็มักจะตั้งแต่งให้บุตรหลานของผู้ล่วงลับไปนั้น ปกครองเปนใหญ่ในตำบลนั้น ๆ สืบเชื้อวงษ์เนื่องกันต่อ ๆ มา แลตำบลเหล่านั้นก็มักจะปรากฎนามโดยประชุมชนสมมตเรียกกันว่าเมืองนั้นเมือง นี้ ดังเมืองมั่น (สาลวัน) เปนต้นมาแต่เดิม เพราะฉนั้นจะถือว่าตำบลเหล่านั้นได้สมญาตั้งขึ้นเปนเมืองมาแต่เวลานั้นก็จะ ได้ เพราะเมืองกาละจำบากนาคบุรีศรีในสมัยนั้น ก็เปนเอกราชโดยความอิศรภาพอยู่ส่วนหนึ่ง สมควรที่จะมีเมืองขึ้นเมืองออกได้อยู่แล้ว แต่หากยังมิได้ตั้งแต่งตำแหน่งกรมการรอง ๆ ขึ้นให้เปนระเบียบดังเมืองเดี๋ยวนี้เท่านั้น แลทั้งอาไศรยความที่มิได้มีปรากฎว่า ในตำบลเหล่านั้นได้เปนอิศรภาพแห่งตน ฤๅตกอยู่ในอำนาจความปกครองของประเทศใดนอกจากอยู่ในอำนาจของเมืองนครจำบาก ด้วย แลกำหนดเขตรแขวงเมืองนครจำปาศักดิในเวลานั้นมีว่าทิศเหนือตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวาย หลักทอดยอดยาง ทิศตวันออกถึงแนวภูเขาบันทัดต่อแดนญวน ทิศใต้เวลานั้นยังไม่ปรากฎ ทิศตวันตกต่อเขตรแขวงเมืองพิมายฟากลำน้ำกยุง บ้านเมืองก็อยู่เย็นเปนศุขเรียบร้อยมา

ลุจุลศักราช ๑๐๘๒ ปีชวดโทศก วันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ พระครูโพนเสม็ดอาพาธเปนโรคชราถึงแก่มรณภาพที่วัดหลวงใหม่อายุ ๙๐ ปี เจ้าสร้อยศรีสมุทพร้อมด้วยแสนท้าวพระยา กระทำการปลงศพพระครูโพนเสม็ดเสร็จแล้ว จึ่งสร้างพระเจดีย์ที่ตรงหอไว้ศพสามองค์ กับสร้างเจดีย์ องค์ใหญ่ที่ปลงศพพระครูโพนเสม็ด ๑ องค์ พระเจดีย์องค์นี้เรียกว่า ธาตุฝุ่น ภายหลังได้สร้างวิหารขึ้นในที่นี้ จึ่งได้ปรากฎนามว่าวัดธาตุฝุ่นมาจนบัดนี้

ในปีนี้เจ้าสร้อยศรีสมุทได้ให้เจ้าโพธิสารราชบุตร ซึ่งมารดามาแต่ฝ่ายเขมรนั้นไปเปนเจ้าเมืองควบคุมคนเขมรอยู่ณบ้านทุ่งบัวศรี ยกบ้านทุ่งบัวศรีเปนเมือง ขนานนามว่าเมืองศรีจำปัง (คือตำบลที่ตั้งอยู่ฝั่งลำน้ำใต้เมืองเซลำเภาในปัตยุบันนี้) เมืองเขมรจึ่งได้ปันแดนให้เปนเขตรแขวงเมืองนครจำปาศักดิในทิศใต้ตั้งแต่ริม น้ำโขงฝั่งตวันตกปากคลองน้ำจะหลีกไปตามปลายคลองถึงลำน้ำเสนต่อแดนเมืองสทง กำพงสวาย ฝั่งน้ำโขงตะวันออกแต่บุ่งขลาไปถึงลำน้ำปากคลองสะบา

ฝ่ายขุนนักเฒ่าอำเภอตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม เจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งตั้งให้ท้าวสักโพผู้บุตร เปนขุนนักสักโพรักษาที่ตำบลนั้นแทนบิดาต่อไป

ลุจุลศักราช๑๐๘๖ ปีมโรงฉศก มีพรานป่าคนหนึ่งนำความแจ้งต่อแสนท้าวพระยาว่า เห็นพรานทึง พรานเทือง ข่าบ้านส้มป่อยนายอน (คือที่เปนเมืองสพาดเดี๋ยวนี้) ได้พระแก้วผลึกมาไว้เข้าใจว่ารูปมนุษย์น้อย นายพรานเอาเชือกผูกพระสอให้บุตรลากเล่นจนพระกรรณบิ่นไปข้างหนึ่ง ครั้นความทราบถึงเจ้าสร้อยศรีสมุท จึงให้แสนท้าวพระยาไปเชิญรับพระแก้วผลึกแห่มาประดิษฐานไว้ณเมืองปาศักดิ มีการสมโภช ๓ วัน แล้วให้พวกข่าที่มาส่งพระแก้วนั้นตั้งอยู่บ้านขามเนิง เรียกว่าข่าข้าพระแก้วมาจนบัดนี้ แลตั้งให้พรานทึง พรานเทือง เปนนายบ้านควบคุมพวกข่าบ้านส้มป่อยนายอน ให้เปนส่วยส่งขี้ผึ้งผ้าขาวถวาย พระแก้วต่อมาจนส่งพระแก้วลงมากรุงเทพ ฯ

จุลศักราช ๑๐๘๗ ปีมเสงสัปตศก จารแก้วอำเภอบ้านเมืองทงป่วยถึงแก่กรรม อายุได้ ๘๔ ปี มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อท้าวมืด ๑ (คลอดเมื่อวันสุริยอุปราคา) ชื่อท้าวทนหนึ่ง เจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งตั้งให้ท้าวมืดบุตรเปนตำแหน่งเจ้าเมือง ให้ท้าวทนเปนอุปฮาด ปกครองรักษาบ้านเมืองทงต่อไป ท้าวมืดได้ตั้งแต่งตำแหน่งเมืองแสน เมืองจัน แลกรมการขึ้น ณ ครั้งนั้น ฝ่ายข้างเมืองปาศักดิ เจ้าสร้อยศรีสมุทป่วยลง จึ่งให้เจ้าไชยกุมารว่าราชการเมืองแทนแล้วก็ออกจำศีลอยู่

จุลศักราช ๑๐๙๔ ปีชวดจัตวาศก ฝ่ายเจ้าองค์หล่อโอรสพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ผู้เปนเชษฐาเจ้าสร้อยศรีสมุท ซึ่งหนีไปอยู่เมืองญวนครั้งเมื่อพระยาเมืองแสนชิงเอาสมบัติกรุงศรีสัต นาคนหุตนั้น ได้ไปตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนได้เปนกำลังมากขึ้นแล้ว จึ่งยกกำลังมายังกรุงศรีสัตนาคนหุต จับพระยาเมืองแสนฆ่าเสีย แล้วเจ้าองค์หล่อก็ขึ้นครองเมืองศรีสัตนาคนหุตต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๐๙๙ ปีมเสงนพศก เจ้าสร้อยศรีสมุทรถึงแก่พิราไลย อายุได้ ๕๐ ปี ครองเมืองได้ ๒๕ ปี เสนาแสนท้าวพระยาจึ่งอภิเศกให้เจ้าไชยกุมารโอรสขึ้นครองราชสมบัติในนครจำปา ศักดินัคบุรีศรีต่อไป มีนามปรากฎโดยสามัญชนเรียกว่า พระพุทธเจ้าองค์หลวง ให้เจ้าธรรมเทโวผู้น้องเปนเจ้าอุปราช แลเจ้าไชยกุมารได้เปลี่ยนธรรมเนียมเก็บส่วยเปนไหมหนักคนละ๑ บาท แก่ชายฉกรรจ์ที่มีภรรยาแล้วทุกคนแต่นั้นมา ส่วนเข้าเปลือกคงเก็บตามเดิม

ฝ่ายพระนักสักโพผู้รักษาอำเภอโขงเจียงถึงแก่กรรม เมืองปาศักดิจึ่งตั้งให้ท้าวโกษาบุตร เปนพระนักโกษาครอบครองอำเภอนั้นต่อไป

จุลศักราช ๑๑๐๐ ปีมเมียสัมฤทธิศก เจ้าไชยกุมารได้สร้างพระพุทธรูปทองเหลืององค์หนึ่งน่าตักกว้าง ๑ คืบ ๘ นิ้ว แต่แท่นถึงพระเศียรสูง ๒ คืบ ๔ นิ้ว แท่นสูง ๑๐ นิ้ว มีคำอักษรจารึกไว้ที่แท่นว่า ลุศักราชราชาได้ ๑๑๐๐ ปีกาบศรีวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ มื้อกัดไส้ สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงเปนผู้ศรัทธา กับทั้งน้องพระเจ้ามหาธรรมเทโวโพธิสัตว์ขัติยราชขนิษฐา กับทั้งพระราชเทวีสร้างไว้ในพระพุทธสาสนา พระพุทธรูปองค์นี้ยังประดิษฐานปรากฏอยู่ณวัดศรีสุมังจนบัดนี้

ลุจุลศักราช ๑๑๒๐ ปีขาลสัมฤทธิศก เจ้าไชยกุมารกับเจ้าอุปราชธรรมเทโวผู้น้องวิวาทกัน เจ้าอุปราชจึ่งคบคิดกับศรีธาตุบุตรจารหวดผู้รักษาอำเภอดอนโขงซ่องสุมผู้คน ได้มาก แล้วยกมายังเมืองปาศักดิ เจ้าไชยกุมารก็มิได้คิดจะต่อสู้ จึ่งหนีไปอยู่ดอนมดแดง ซึ่งตั้งอยู่เหนือเมืองปาศักดิ ในลำน้ำมูลแขวงปาศักดิ (บัดนี้เปนแขวงเมืองอุบล) ฝ่ายเจ้าอุปราชจึ่งเข้ารักษาเมืองปาศักดิอยู่ ครั้นรู้ว่าเจ้าไชยกุมารหนีไปตั้งอยู่ดอนมดแดง จึงเกณฑ์กำลังจะยกไปขับไล่ให้เจ้าไชยกุมารไปเสียให้พ้นเขตรแขวงปาศักดิ ฝ่ายมารดาเจ้าอุปราชจึ่งห้ามเจ้าอุปราชไว้ มิให้ยกกำลังไปขับไล่เจ้าไชยกุมารผู้เปนเชษฐา แลว่ากล่าวให้เจ้าอุปราชคืนดีกันเสียกับเจ้าไชยกุมาร ฝ่ายเจ้าอุปราชก็มิกล้าจะขัด จึ่งได้แต่งให้แสนท้าวพระยาไปเชิญเจ้าไชยกุมารผู้เชษฐากลับคืนมาครองเมืองปา ศักดิตามเดิม ระหว่างนั้นขุนนักโกษา ผู้รักษาอำเภอตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม เจ้าไชยกุมารจึ่งตั้งให้ท้าวจันหอมบุตร เปนขุนนักจันหอม รักษาตำบลนั้นต่อมา

จุลศักราช ๑๑๒๑ ปีเถาะเอกศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ ฤๅไนยหนึ่งเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (คือเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) ขึ้นครองราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ ๓๓ อยู่ณกรุงศรีอยุทธยา เวลานั้นพระยาช้างเผือก แตกโรงออกจากกรุงไปอยู่ในป่าดงทางตวันตกแขวงเมืองปาศักดิ โปรดให้สองพี่น้อง (ซึ่งผู้จดพงษาวดารเดิมเข้าใจว่าเปนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) คุมไพร่พลแลกรมช้างออกเที่ยวติดตามพระยาช้างเผือกมาทางแขวงเมืองพิมาย แลเลยไปจนถึงดงฟากฝั่งลำน้ำมูลข้างใต้ จึ่งได้ข่าวพระยาช้างเผือกจากพวกเขมร, ส่วยป่าดง คือ ตากะจะแลเชียงขัน ซึ่งตั้งอยู่บ้านประสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนใหญ่ ๑ ตาฆะบ้านดงยาง (ฤๅเรียกโคกอัจประหนึ่ง) ๑ เชียงปุ่มบ้านโคกเมืองที่ ๑ เชียงสี (ฤๅตาพ่อควาน) บ้านกุดหวาย (ฤๅบ้านเมืองเตา ตามชื่อเชียงสีเมื่อเปนหลวงศรีนครเตา) ๑ เปนผู้นำสองพี่น้อง แลไพร่พลไปติดตามพระยาช้างเผือกมาได้ ตากะจะ เชียงขัน เชียงฆะ เชียงปุ่ม เชียงสี ก็ตามสองพี่น้องนำพระยาช้างเผือกกลับคืนไปณกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงโปรดตั้งให้ ตากะจะเปนหลวงแก้วสุวรรณ เชียงขันเปนหลวงปราบ เชียงฆะเปนหลวงเพ็ชร เชียงปุ่มเปนหลวงสุรินทรภักดี เชียงสีเปนหลวงศรีนครเตา ให้ควบคุมพวกเขมรส่วยป่าดงในตำบลบ้านที่ตนอยู่นั้น ๆ ทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย พวกนายกองเขมรส่วยป่าดงทั้งห้าคนพากันกลับมายังบ้านแห่งตนฝ่ายเมืองพิมาย เห็นว่าบ้านเมืองซึ่งหลวงสุรินทรภักดีเปนนายกองรักษาอยู่นั้นเปนบ้านน้อย จึงให้ยกมาอยู่ณตำบลคูปะทายสมัน ภายหลังพวกนายกองเขมรส่วยป่าดงทั้งห้าคนนี้ ได้นำช้าง, ม้า, แก่นสน, ยางสน, ปีกนก, นอรมาด, งาช้าง, ขี้ผึ้ง ซึ่งเปนของส่วยไปส่งณกรุงศรีอยุทธยา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้หลวงสุวรรณ (ตากะจะ) เปนพระไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนเปนเมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพ็ชร (เชียงฆะ) เปน พระสังฆะบุรีศรีนครอัดจะเจ้าเมือง ยกบ้านโคกอัดจะ (ฤๅบ้านดงยาง) เปนเมืองสังฆะ ให้หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุ่ม) เปนพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางเจ้าเมือง ตั้งบ้านคูปะทายเปนเมืองปะทายสมัน (คือเมืองสุรินทร์) ให้หลวงศรีนครเตา (เชียงสี) (ฤๅตาพ่อควาน) เปนพระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย (ฤๅบ้านเมืองเตา) เปนเมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมาย

ลุจุลศักราช ๑๑๒๕ ปีมแมเบญจศก ฝ่ายทางเมืองทง ท้าวมืดผู้เปนเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ท้าวมืดมีบุตรสองคน ชื่อท้าวเชียง ๑ ท้าวสูน ๑ เมืองแสน เมืองจัน แลกรมการจึงได้บอกไปยังเมืองจำปาศักดิขอยกท้าวทน น้องท้าวมืด ขึ้นเปนอุปราชรักษาบ้านเมืองต่อไป อยู่ได้ประมาณสี่ปี ฝ่ายท้าวเชียง, ท้าวสูนบุตรท้าวมืดเจ้าเมืองผู้ถึงแก่กรรมมีความวิวาทบาดหมางหาถูกกันกับ ท้าวทนผู้อาว์ไม่ จึงคบคิดกับกรมการพากันไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ ณกรุงศรีอยุทธยา ขอกำลังขึ้นมาปราบปรามท้าวทน โปรดให้พระยากรมท่าพระยาพรหมเปนข้าหลวงขึ้นไปจัดการกับท้าวเชียง, ท้าวสูน ครั้นจวนจะมาถึงเมืองทง ฝ่ายท้าวทนเจ้าเมืองรู้ข่าวเข้า ก็พาครอบครัวอพยพหนีไปอยู่ณบ้านกุดจอก พระยาพรหม พระยากรมท่า เข้าตั้งพักอยู่ในเมืองแล้ว จึงบอกขอท้าวเชียงเปนเจ้าเมือง ท้าวสูนเปนที่อุปฮาด รักษาปกครองเมืองทงต่อไป แล้วพระยาพรหม พระยากรมท่า ก็ออกไปตั้งที่พักอยู่ณทุ่งสนามโนนกระเบา เมืองทงก็เปนอันขาดจากความปกครองของเมืองจำปาศักดิ เข้าอยู่ในอำนาจกรุงศรีอยุทธยาแต่นั้นมา

จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญนพศก พระเจ้าองค์หล่อผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตถึงแก่พิราไลย หามีโอรสที่จะสืบตระกูลไม่ แสนท้าวพระยาแลนายวอ นายตา จึ่งได้พร้อมกันเชิญกุมารสองคน (มิได้ปรากฎนาม) ซึ่งเปนเชื้อวงษ์พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตคนเก่า (ไม่ปรากฎว่าคนไหน) อันได้หนีไปอยู่กับนายวอ นายตา เมื่อพระเจ้าองค์หล่อยกกำลังมาจับพระยาเมืองแสนฆ่านั้น ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วนายวอ นายตา จะขอเปนที่มหาอุปราชฝ่ายน่า ราชกุมารทั้งสองเห็นว่า นายวอ นายตา มิได้เปนเชื้อเจ้า จึ่งตั้งให้นายวอ นายตา เปนแต่ตำแหน่งพระเสนาบดีณกรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วราชกุมารผู้เชษฐาจึ่งตั้งราชกุมารผู้เปนอนุชาให้เปนมหาอุปราชขึ้น ฝ่ายพระวอ พระตาก็มีความโทมนัศ ด้วยมิได้เปนที่มหาอุปราชดังความประสงค์ จึ่งได้อพยพครอบครัวพากันมาตั้งสร้างเวียงขึ้นบ้านหนองบัวลำภู แขวงเวียงจันท์เสร็จแล้วยกขึ้นเปนเมือง ให้ชื่อว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบเหตุดังนั้น จึ่งให้แสนท้าวพระยาไปห้ามปรามมิให้ พระวอ พระตา ตั้งเปนเมือง พระวอ พระตา ก็หาฟังไม่ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจึ่งได้ยกกองทัพมาตีพระวอพระตา สู้รบกันอยู่ได้ประมาณสามปี พระวอ พระตา เห็นจะต้านทานมิได้ จึ่งได้แต่งคนไปอ่อนน้อมต่อพม่า ขอกำลังมาช่วย ฝ่ายผู้เปนใหญ่ในพม่าจึ่งได้แต่งให้มองละแงะเปนแม่ทัพคุมกำลังจะมาช่วยพระวอ พระตา ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบดังนั้น จึ่งแต่งเครื่องบรรณาการ ให้แสนท้าวพระยาคุมลงมาดักกองทัพพม่าอยู่กลางทาง แล้วพูดเกลี้ยกล่อมชักชวนเอาพวกพม่าเข้าเปนพวกเดียวกันได้แล้ว พากันยกทัพมาตีพระวอ พระตาก็แตก พระตาตายในที่รบ ยังอยู่แต่พระวอกับท้าวฝ่ายน่า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม ผู้เปนบุตรพระตา แลท้าวทิดก่ำ ผู้บุตรพระวอ แล้วจึ่งพาครอบครัวแตกหนีอพยพลงไปขอพึ่งอยู่กับพระเจ้าองค์หลวงเจ้าไชยกุมาร เมืองจำปาศักดิ ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงดอนกอง คือ ที่เรียกว่าบ้านดู่ บ้านแกแขวงเมืองจำปาศักดิณบัดนี้ ในเวลานั้นเจ้าอุปราชธรรมเทโวเมืองจำปาศักดิถึงแก่กรรม พระเจ้าองค์หลวงได้กระทำการปลงศพเจ้าอุปราชตามถานานุศักดิอุปราช เจ้าอุปราชธรรมเทโว มีบุตรชาย ๔ คือ เจ้าโอ ๑ เจ้าอิน ๑ เจ้าธรรมกิติกา ๑ เจ้าคำสุก ๑ บุตรหญิง ชื่อนางตุ่ย ๑

ลุจุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ทราบว่า พระวอแตกหนีมาตั้งอยู่ตำบลเวียงดอนกองแขวงเมืองจำปาศักดิ จึ่งได้แต่งให้อัคฮาดคุมกำลังยกตามมาถึงแขวงจำปาศักดิ ฝ่ายพระเจ้าองค์หลวงได้ทราบดังนั้น จึ่งได้แต่งให้พระยาพลเชียงสาคุมกองทัพ ขึ้นไปต้านทานไว้ แล้วมีศุภอักษรถึงพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตขอโทษพระวอไว้ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมีศุภอักษรตอบมาว่า พระวอเปนคนอกตัญญู จะเลี้ยงไว้ก็คงจะไม่มีความเจริญ แต่เมื่อพระเจ้านครจำปาศักดิให้มาขอโทษไว้ดังนี้แล้วก็จะยกให้มิให้เสียทาง ไมตรี แล้วก็มีคำสั่งให้อัคฮาดแลนายทัพนายกองยกกำลังกลับไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต

ในปีนั้นพระเจ้าองค์หลวงดำริห์จะสร้างเมืองใหม่ ถอยไปจากเมืองเดิมที่ตำบลศรีสุมังทางประมาณ ๒๐๐ เส้น พระวอรับอาสาเปนผู้สร้างกำแพงเมือง พระมโนสาราชแลพระศรีอัคฮาดเมืองโขงรับอาสาสร้างหอคำ ถวายพระเจ้าองค์หลวงเสร็จแล้ว (ในจุลศักราช ๑๑๓๔ ปีมโรง) เจ้านายแสนท้าวพระยา จึ่งเชิญพระเจ้าองค์หลวงแห่ไปอยู่ณเมืองใหม่ แลมีการมหะกรรมสมโภชเสร็จแล้ว ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าองค์หลวงออกว่าราชการณหอราชสิงหาร พร้อมด้วยเจ้านายแสนท้าวพระยาประชุมอยู่ณที่นั้น พระวอจึ่งได้ทูลพระเจ้าองค์หลวงว่าการที่พระวอได้สร้างกำแพงเมืองถวาย กับผู้ที่ได้สร้างหอคำถวายนั้น สิ่งใดจะประเสริฐกว่ากัน พระเจ้าองค์หลวงจึ่งตอบว่า กำแพงเมือง นั้นก็ดีด้วยเปนที่กำบังสำหรับป้องกันศัตรูซึ่งจะมาทำร้าย แต่หอคำนั้นจะดีกว่าสักหน่อย ด้วยเปนที่ได้อาไศรยนั่งนอนมีความศุขสำราญมาก ฝ่ายพระวอได้ฟังพระเจ้าองค์หลวงตอบดังนั้น ก็บังเกิดมีความอัปยศโทมนัศขึ้น คิดเอาใจออกหากจากพระเจ้าองค์หลวง พาครอบครัวอพยพหนีขึ้นไปตั้งซ่องสุมผู้คนอยู่ที่ดอนมดแดง (อยู่ในลำน้ำมูลซึ่งเปนแขวงเมืองอุบลเดี๋ยวนี้) แล้วมีบอกแต่งให้ท้าวเพี้ยพี่น้องคุมเครื่องบรรณาการมายังเมืองนครราชสิมา ให้นำสมัคขึ้นอยู่ในความปกครองของประเทศสยาม

ลุจุลศักราช ๑๑๓๔ ปีมโรงจัตวาศก เมื่อเจ้าตากสินเสวยราชย์อยู่ณกรุงธนบุรี พระยาพรหม พระยากรมท่า เห็นว่าตำบลเมืองทง เปนไชยภูมิ์ไม่สมควรจะตั้งเปนเมือง เพราะเปนที่โนนลำเซน้ำไหลแทงแรงอยู่อันจะไม่ถาวรต่อไป จึ่งปฤกษาท้าวเชียง ท้าวสูน เห็นพร้อมกันว่า ที่ตำบลดงเท้าสารห่างไกลจากเมืองทงประมาณ ๑๐๐ เส้นเศษ เปนที่ตำบลภูมิ์เมืองเก่าไชยภูมิ์ดี จึ่งได้อพยพย้ายจากเมืองทงไปตั้งอยู่ยังดงเท้าสาร แล้วมีใบบอกมายังกรุงธนบุรี ขอตั้งดงเท้าสารเปนเมือง จึ่งโปรดให้ตั้งดงเท้าสารขึ้นเปนเมือง ขนานนามว่าเมืองสุวรรณภูมิมาแต่ครั้งนั้น ท้าวเชียงได้สร้างวัดขึ้นสองวัด ชื่อวัดกลาง ๑ วัดใต้ ๑ สร้างวิหารกว้างห้าวา ยาวแปดวา สูงหกวา สร้างพระพุทธรูปด้วยอิฐแลปูนลง รักปิดทอง น่าตักกว้างสี่ศอกคืบ สูงแปดศอกคืบ เหมือนกันทั้งสองวัด

ลุจุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมแมสัปตศก ฝ่ายท้าวทนเจ้าเมืองทงคนเก่าซึ่งหนีไปอยู่ณบ้านกุดจอกจึ่งเข้าหาพระยาพรหม พระยากรมท่า ๆ เห็นว่าท้าวทนมีผู้คนบ่าวไพร่ควบคุมอยู่มาก จึ่งมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรีขอตั้งท้าวทนเปนเจ้าเมือง ขอยกบ้านกุ่มซึ่งเปนที่เมืองร้อยเอ็ดเก่าเปนเมืองจึ่งโปรดตั้งให้ท้าวทนเปนพ ระขัติยวงษาเจ้าเมือง ยกบ้านกุ่มขึ้นเปนเมืองร้อยเอ็ดตามนามเดิม ครั้งนั้นเขตรเมืองสุวรรณภูมิ แลเมืองร้อยเอ็ดมีว่า ตั้งแต่ปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูล ขึ้นมาตามลำน้ำพาชีถึงปากห้วยดางเดียขึ้นไปทุ่งลาดไถ ไปบ้านข้อเหล็ก บ้านแก่งทรายหิน ตั้งแต่ถ้ำเต่าเหวฮวดดวงสวนอ้อย บึงกุยศาลาอีเก้งภูเมง หนองม่วงคลุ้ม กุ่มปักศาลาหักมูลเดง ประจบปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูลนี้เปนเขตรเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ลำน้ำยางตกลำน้ำพาชี ขึ้นไปภูดอกซ้อน หินทอด ยอดยาง ดู่สามต้น อ้นสามขวาย สนามหมาดหญ้า ผ้าขาวพันนา ฝายพระยานาคภูเมง มาประจบหนองแก้วศาลาอีเก้งมาบึงกุย นี้เปนอาณาเขตรเมืองร้อยเอ็ด

ครั้นลุจุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต รู้ข่าวว่าพระวอมีความอริวิวาทกันกับพระเจ้านครจำปาศักดิ ยกครอบครัวมาตั้งอยู่ณดอนมดแดง จึ่งแต่งให้พระยาสุโพคุมกองทัพมาตีพระวอๆ เห็นจะสู้มิได้ จึ่งพาครอบครัวอพยพหนีขึ้นมาตั้งอยู่ตำบลเวียงดอนกองตามเดิม แล้วแต่งคนให้ไปขอกำลังพระเจ้านครจำปาศักดิมาช่วย พระเจ้าจำปาศักดิก็หาช่วยไม่ กองทัพพระยาสุโพก็ยกตามขึ้นมาล้อมเวียงไว้ จับพระวอได้แล้วก็ให้ฆ่าเสียที่ตำบลเวียงดอนกอง (ที่ซึ่งพระวอตายนี้ ภายหลังท้าวฝ่ายน่าบุตรพระตาได้เปนที่เจ้าจำปาศักดิได้สร้างเจดีย์สวมไว้ คำในพื้นเมืองเรียกว่าธาตุพระวอ อยู่ณวัดบ้านศักดิ แขวงเมืองจำปาศักดิตราบเท่าบัดนี้) ฝ่ายท้าวก่ำบุตรพระวอ กับท้าวฝ่ายน่า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม บุตรพระตาหนีออกจากที่ล้อมได้จึ่งมีบอกแต่งให้คนถือมายังเมืองนครราชสิมา ให้นำกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีขอกำลังกองทัพมาช่วย

ลุจุลศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึ่งโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ แต่ครั้งยังดำรงพระยศเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกเปนแม่ทัพยกไปทางบก สมทบกับกำลังเกณฑ์เมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ สังฆะ แลโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท แต่ครั้งยังดำรงพระยศเปนเจ้าพระยาสุรสีห์เปนแม่ทัพยกไปกรุงกัมพูชา เกณฑ์พลเมืองเขมรต่อเรือรบยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง (ในจุลศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศก) ฝ่ายกองทัพพระยาสุโพรู้ข่าวว่ากองทัพกรุงยกขึ้นไปเห็นจะต้านทานไว้มิได้ ก็ยกถอยกลับคืนไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต ส่วนกองทัพกรุงธนบุรีทั้งสองก็ยกขึ้นไปตีเมืองจำปาศักดิ พระเจ้าองค์หลวงเห็นว่าจะต่อสู้มิได้ จึ่งพาครอบครัวอพยพหนีออกจากเมืองไปตั้งอยู่ที่เกาะไชย กองทัพไทยตามไปจับได้ตัวพระเจ้าองค์หลวงเมืองนครจำปาศักดิ แล้วก็เลยยกไปตีเมืองนครพนมบ้านหนองคายได้ แล้วยกไปล้อมเมืองเวียงจันท์ไว้ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตต้านทานมิได้ก็หนีไปทางเมืองคำเกิด กองทัพไทยยกเข้าเมืองได้แล้ว ตั้งให้พระยาสุโพเปนผู้รั้งเมืองศรีสัตนาคนหุต แล้วเชิญพระแก้วมรกฎ ๑ พระบาง ๑ ซึ่งอยู่ในเมืองเวียงจันท์ กับคุมเอาตัวพระเจ้าองค์หลวง (คือเจ้านครจำปาศักดิไชยกุมาร) ยกกองทัพกลับมายังกรุงธนบุรี

พระเจ้ากรุงธนบุรีจึ่งโปรดให้เจ้าไชยกุมาร กลับไปครองเมืองจำปาศักดิตามเดิม ทำราชการเปนเมืองประเทศราชขึ้นกับกรุงธนบุรีแต่นั้นมา แลโปรดให้ยกบ้านอิ้ดกระบือเปนเมืองอิ้ดกระบือ (คือเมืองอัตปือซึ่งตั้งอยู่ฝั่งโขงตวันออกบัดนี้) ให้เจ้าโอบุตรเจ้าอุปราชธรรมเทโวเปนเจ้าเมือง เจ้าอินน้องเปนเจ้าอุปฮาด ครอบครองเมืองอิ้ดกระบือ แลโปรดให้เลื่อนเจ้าเมืองขุขันธ์ สังฆะ สุรินทร์ ขึ้นเปนตำแหน่งพระยาทั้งสามเมือง ในปีนี้เจ้าสุริโย, ราชวงษ์เมืองจำปาศักดิถึงแก่กรรม มีบุตรชื่อเจ้าหมาน้อย ๑ แลท้าวคำผงบุตรพระตาไปได้นางตุ่ยบุตรเจ้าอุปราชธรรมเทโวเปนภรรยา เจ้าปาศักดิไชยกุมารเห็นว่า ท้าวคำผงมาเกี่ยวเปนเขยแลเปนผู้มีครอบครัวบ่าวไพร่มาก จึ่งตั้งให้ท้าวคำผงเปนพระประทุมสุรราช เปนนายกองใหญ่ควบคุมครอบครัวตัวเลขเปนกองขึ้น เมืองจำปาศักดิ ตั้งอยู่ณบ้านเวียงดอนกอง (คือที่เรียกว่าบ้านดู บ้านแก บัดนี้) ภายหลังเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๘ ปีมเมีย พระประทุมจึ่งได้ย้ายมาตั้งอยู่ณตำบลห้วยแจะละแม๊ะ คือตำบลซึ่งตั้งอยู่ทิศเหนือเมืองอุบลบัดนี้ คำที่เรียกว่าห้วยแจะละแม๊ะนั้นมีตำนานมาว่า เดิมมีคนไปตั้งต้มเกลืออยู่ที่ห้วยนั้น คนเดินทางผ่านห้วยนั้นไปมาก็มักจะแวะเข้าไปขอเกลือต่อผู้ต้มเกลือว่าขอแจะละ แม๊ะ คือแตะกินสักหน่อยเถิด จึ่งได้มีนาม ปรากฎว่าห้วยแจะละแม๊ะมาแต่เหตุนั้น แต่บัดนี้ฟังสำเนียงที่เรียกกันเลือนๆ เปนแจละแมฤาจาละแมไป พระประทุมสุรราชมีบุตรชื่อท้าวโท ๑ ท้าวทะ๑ ท้าวกุทอง๑ นางพิม๑ นางคำ ๑ นางคำสิง ๑ นางจำปา ๑

ในปีนี้พระยาขุขันธ์ (ตากะจะ) ถึงแก่กรรม โปรดให้หลวงปราบ (เชียงขัน) เปนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมืองขุขันธ์ เลื่อนมาตั้งบ้านแตระเปนเมืองขุขันธ์

ลุจุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก เจ้าโอเจ้าเมือง เจ้าอินอุปฮาดเมืองอิ้ดกระบือ กระทำการกดขี่ข่มเหงราษฎรได้ความเดือดร้อน ความทราบถึงเจ้าจำปาศักดิไชยกุมาร จึ่งให้เจ้าเชษฐ เจ้านูหลาน คุมกำลังไปจับเจ้าโอ เจ้าอิน เจ้าอินรู้ตัวหลบหนีไปเสียก่อน ส่วนเจ้าโอนั้นรู้ว่าอันตรายจะมาถึงตัวจะหนีไปไม่รอด จึ่งหนีเข้าไปกอฅอพระปฏิมากรอยู่ เจ้าเชษฐ เจ้านูไปพบเข้า จึ่งให้ไปจับตัวเจ้าโอออกมาจากพระปฏิมากร แล้วเจ้าโอขอผัดกับเจ้าเชษฐเจ้านูว่า ถ้าโทษตนจะต้องประหารชีวิตรแล้ว ขอให้รอไว้แต่พอได้บังสุกุลตัวเสียก่อน แล้วเจ้าโอก็เอาผลสบ้า มาประมาณ ๑๐๐ เศษ ควักเอาไส้ในออกเสีย เอาทองคำทรายกรอกเข้าไว้แล้ว นิมนต์พระมาบังสุกุล ถวายผลสบ้าทองคำทรายทุกองค์แล้ว จึ่งกล่าววาจาอธิฐานว่า เราไม่มีผิด เจ้าเชษฐ เจ้านูมาจับเราจะฆ่า ขอให้บาปนี้จงเปนผลสนอง อย่าให้เจ้าเชษฐ เจ้านูได้เปนเจ้าเมืองสืบวงษ์ตระกูลต่อไปเลย ทันใดนั้น เจ้าเชษฐ เจ้านู ก็สั่งให้ไพร่เข้าจับตัวเจ้าโอเข้ามัด แล้วเอาเชือกหนังเข้ารัดฅอเจ้าโอถึงแก่กรรม เจ้าโอมีบุตรสองคน ชื่อเจ้านาค ๑ เจ้าฮุย ๑ ในตำบลที่เจ้าโอถึงแก่กรรมนั้น ภายหลังเจ้านาค เจ้าฮุยผู้บุตรได้ก่อเจดีย์ขึ้นไว้ คำในพื้นเมืองเรียกว่า ธาตุเจ้าโอ ปรากฏอยู่ในเมืองอัตปีอมาจนทุกวันนี้

ในจุลศักราช ๑๑๔๑ ปีกุญเอกศก ฝ่ายทางเมืองเขมรเกิดจลาจลด้วยฟ้าทะละหะ (มู) กับพระยาวิบูลยราช (ชู) คิดขบถจับสมเด็จ พระบรมราชาธิราชเจ้ากรุงกัมพูชาไปถ่วงน้ำเสีย ยกนักองค์เองขึ้นเปนเจ้าแผ่นดินเขมร ครั้นลุจุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก เมืองเขมรกลับไปฝากฝ่ายขึ้นอยู่กับญวนข่าวทราบมาถึงกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนจึ่งโปรดให้ สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปปราบปรามยังมิทันราบคาบดี พอข้างฝ่ายในกรุงธนบุรี พระเจ้าแผ่นดินมีสัญญาวิปลาศทรงประพฤติการวิปริตต่าง ๆ พระยาสรรค์คิดขบถจับพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เอาจำไว้แล้ว พระยาสรรค์ก็ตั้งตนขึ้นเปนผู้ว่าราชการกรุงธนบุรี บรรดาโจรผู้ร้ายทั้งหลายต่างก็กำเริบ ตั้งมั่วสุมกันขึ้นเปนหมู่เปนเหล่า เที่ยวตีชิงปล้นฆ่าฟันไพร่ฟ้าประชาชนได้ความเดือดร้อนแตกตื่นกันไปเปนโกลาหล เมื่อข่าวทราบไปถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ก็เสด็จยาตราทัพรีบกลับคืนมายังพระมหานคร ทรงปราบปรามพวกทุจริต รงับจลาจลราบคาบเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเศกในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยาในจุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาลจัตวาศก ครั้นทรงทราบว่าทางเมืองจำปาศักดิแลเมืองอิ้ดกระบือเกิดฆ่าฟันกัน จึ่งโปรดให้ข้าหลวงขึ้นไปคุมเอาตัวเจ้าจำปาศักดิไชยกุมาร กับเจ้าเชษฐ เจ้านู เจ้าหมาน้อย ลงมากรุงเทพ ฯ ถึงกลางทางเจ้าจำปาศักดิไชยกุมารป่วยลง จึ่งโปรดให้กลับคืนไปรักษาตัวยังบ้านเมือง แล้วข้าหลวง ก็คุมเอาแต่เจ้าเชษฐ เจ้านู เจ้าหมาน้อย ลงมาณกรุงเทพ ฯ

ในปีขาลจุลศักราช ๑๑๔๔ นั้น พระยาขุขันธ์ (เชียงขัน) มีใบบอกขอตั้งท้าวบุญจันทร์บุตรเลี้ยง ซึ่งติดมารดามาแต่ครั้งเข้ากองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศกนั้น เปนตำแหน่งพระไกรผู้ช่วย อยู่มาพระยาขุขันธ์เรียกพระไกรว่าลูกชเลย พระไกรมีความโกรธ ครั้นภายหลังมีพวกญวนพ่อค้าประมาณ ๓๐ คนมาเที่ยวหาซื้อโคกระบือถึงเมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์จัดที่ให้พวกญวนพักอยู่ศาลากลาง แล้วเกณฑ์คนทำทางไปทางช่องโพย ให้ญวนนำกระบือลงไปทางเมืองพนมเปนฝ่ายพระไกรผู้ช่วยมีความพยาบาทพระยาขุ ขันธ์ จึ่งบอกกล่าวโทษมายังกรุงเทพ ฯ ว่า พระยาขุขันธ์คบพวกญวนต่างประเทศจะเปนขบถ จึ่งโปรดให้เรียกพระยาขุขันธ์ไปพิจารณาได้ความตามหา ต้องจำคุกอยู่ณกรุงเทพ ฯ เวลานั้นท้าวอุ่นผู้เปนที่พระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ลงมาณกรุงเทพฯ กราบบังคมทูลขอ เปนเจ้าเมืองๆ หนึ่งแยกออกจากเมืองขุขันธ์ ไปตั้งอยู่ณบ้านโนนสามขา สระกำแพงใหญ่ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้ยกบ้านโนนสามขาสระกำแพงขึ้นเปนเมืองศรีสระเกษ ตั้งให้พระภักดีภูธรสงครามปลัดเมืองขุขันธ์เปนพระยารัตนวงษา เจ้าเมืองศรีสะเกษ แล้วโปรดตั้งให้พระไกร (บุญจันทร์) ผู้ช่วยเมืองขุขันธ์ เปนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมือง ให้ท้าวมะนะ เปนที่พระภักดีภูธรสงครามปลัด ท้าวเทศ เปนที่พระแก้วมนตรียกรบัตรเมืองขุขันธ์ เมื่อในจุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมโรงฉศก อยู่มาพระยาไกรภักดี แต่งให้กรมการออกไปจับพวกราษฎรในกองเจ้าเมืองนัน ๆ เกณฑ์กำลังยกมาตีพระยาไกรภักดี ๆ สู้มิได้หนีไปอยู่เมืองสังฆะ แล้วบอกลงมาณกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงคุมกำลังไปจับเจ้าเมืองนันได้พาเอาตัวลงมากรุงเทพ ฯ

จุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะเบญจศกนั้น พระขัติยวงษา (ทน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดป่วยถึงแก่กรรม พระขัติยวงษา (ทน) มีบุตร ๓ คน ชื่อท้าวสีลัง ๑ ท้าวภู ๑ ท้าวอ่อน ๑ จึ่งโปรดตั้งให้ท้าวสีลังเปนพระขัติยวงษาเจ้าเมือง ให้ท้าวภูเปนอุปฮาดเมืองร้อยเอ็ด

จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมโรงฉศก โปรดตั้งให้นายเชียงแตง บ้านหางโคปากน้ำเซกองฝั่งตวันออกแม่น้ำโขง ซึ่งเปนผู้ได้พาญาติพี่น้องพรรคพวกเฃ้าสามิภักดิรับอาสานำร่องเรือกระบวนทัพ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท แต่ครั้งยังดำรงพระยศเปนเจ้าพระยาสุรสีห์แม่ทัพยกไปตีเวียงจันท์ครั้งนั้น เปนที่พระอุดมเดชเจ้าเมือง ยกบ้านหางโคเปนเมืองเชียงแตง มีกำหนดเขตรแขวงทิศตวันออกถึงตำบลแสพวก ทิศใต้ ถึงเขาเชิงโดย ทิศตวันตกเฉียงเหนือถึงห้วยม่วง ทิศเหนือถึงดอนตะแบง เปนบริเวณเชียงแตง ขึ้นกรุงเทพ ฯ

จุลศักราช ๑๑๔๗ ปีมเสงสัปตศก พระยารัตนวงษา (อุ่น) เจ้าเมืองศรีสะเกษถึงแก่กรรม โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวชมบุตรพระยารัตนวงษา (อุ่น) เปนพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองศรีสระเกษ ครั้นจุลศักราช ๑๑๔๘ ปีมเมียอัฐศก เมืองศรีสระเกษกับเมืองขุขันธ์เกิดวิวาทแย่งชิงเขตรแดนกัน จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ปันเขตรแดนเมืองศรีสระเกษกับเมืองขุขันธ์ดังนี้ ทิศใต้ตั้งแต่เขาบันทัด ช่องจันหอมมาบ้านหัวดอยถึงทุ่งประทายมาบ้านขามมาบ้านคันร่ม ถึงบ้านลาวเดิมไปตามลำห้วยทาด ไปบ้านเก่าศาลาบ้านสำโรงบ้านดอยกองไปวังขี้นาค ไปบ้านแก่งเก่าไปกุดสมอ ไปสระสี่เหลี่ยม ไปหลักหินลงท่าลำน้ำพาชี ไปลำน้ำมูล ไปบ้านด่านบ้านหมากเยา ถึงบ่อพันขันธ์ไปถึงท่าหัวลำพาชี ลงไปข้างใต้เปนพรมแดนเมืองขุขันธ์ ข้างเหนือเปนเขตรแดนเมืองศรีสระเกษ

จุลศักราช ๑๑๔๙ ปีมแมนพศก ท้าวเชียงผู้เปนที่อุปราชเจ้าเมือง ๆ สุวรรณภูมิถึงแก่กรรม มีบุตรสองคน ชื่อท้าวโอะ ๑ ท้าวเพ ๑ กับบุตรหญิง ๔ คน จึ่งโปรดตั้งให้ท้าวสูนน้องท้าวเชียงเปนอุปราชเจ้าเมือง ๆ สุวรรณภูมิ แลโปรดตั้งให้ท้าวเพบุตรท้าวเชียงเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนเก่า เปนที่พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์เจ้าเมืองหนองหาร (เปนเมืองเก่าอยู่ในแขวงมณฑลอุดร) แยกเอาไพร่เมืองสุวรรณภูมิไป ๖๐๐

ลุจุลศักราช ๑๑๕๓ ปีกุญตรีศก อ้ายเชียงแก้วซึ่งตั้งอยู่ตำบลเขาโองฝั่งโขงตวันออกแขวงเมืองโขง แสดงตนเปนผู้วิเศษ มีคนนับถือมาก อ้ายเชียงแก้วรู้ข่าวว่า เจ้าจำปาศักดิไชยกุมารป่วยหนักอยู่ เห็นเปนโอกาศอันดี จึ่งคิดการเปนขบถยกกำลังมาล้อมเมืองจำปาศักดิไว้ ขณะนั้นเจ้าจำปาศักดิไชยกุมารทราบข่าวว่า อ้ายเชียงแก้วยกมาตีเมืองจำปาศักดิก็ตกใจอาการโรคกำเริบขึ้นก็เลยถึงแก่พิรา ไลย อายุได้ ๘๑ ปี ครองเมืองจำปาศักดิได้ ๕๓ ปี มีบุตรชายชื่อเจ้าหน่อเมือง ๑ บุตรหญิงชื่อเจ้าป่อมหัวขวากุมารี ๑ เจ้าท่อนแก้ว ๑ ฝ่ายกองทัพอ้ายเชียงแก้วก็เข้าตีเอาเมืองจำปาศักดิได้ ความทราบถึงกรุงเทพ ฯ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยานครราชสิมา (ทองอิน) แต่ครั้งยังเปนพระพรหมยกรบัตร ยกกองทัพขึ้นไปกำจัดอ้ายเชียงแก้ว แต่พระพรหมไปยังมิทันถึง ฝ่ายพระประทุมสรราชบ้านห้วยแจละแมผู้พี่ กับท้าวฝ่ายน่าซึ่งไปตั้งอยู่บ้านสิงทา (คือเปนเมืองยโสธรเดี๋ยวนี้) ผู้น้อง จึ่งพากันยกกำลังไปตีอ้ายเชียงแก้ว ๆ ยกกองทัพออกต่อสู้ที่แก่งตนะ (อยู่ในลำน้ำมูลแขวงเมืองพิมูลบัดนี้) กองทัพอ้ายเชียงแก้วแตกหนี ท้าวฝ่ายน่าจับตัวอ้ายเชียงแก้วได้ให้ฆ่าเสียแล้ว พอกองทัพเมืองนครราชสิมายกไปถึงก็พากันไปเมืองจำปาศักดิ แลพากันยกเลยไปตีพวกข่าชาติกระเสงสวางจะรายระแดร์ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งโขงตวันออกจับได้มาเปนอันมาก จึ่งได้มีไพร่ข่าแลประเพณีตีข่ามาแต่ครั้งนั้น แล้วโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวฝ่ายน่าบุตรพระตาผู้มีความชอบ เปนเจ้าพระวิไชยราชขัติยวงษาครองเมืองจำปาศักดิ โปรดให้เจ้าเชษฐ เจ้านู ขึ้นไปช่วยราชการอยู่ด้วยเจ้าพระวิไชยราช จึ่งได้ย้ายเมืองขึ้นมาตั้งอยู่ทางเหนือ คือที่เรียกว่าเมืองเก่าคันเกิงณบัดนี้ เจ้าพระวิไชยราชขัติยวงษา จึ่งตั้งท้าวสิงผู้หลานอยู่ณบ้านสิงทาเปนราชวงษ์เมืองโขง (สีทันดร) แลทูลขอตั้งให้ท้าวบุตร เปนเจ้าเมืองนครพนม (อันเปนเมืองเก่าแขวง มณฑลอุดร) แลโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระประทุมสุรราช (คำผง) เปนเจ้าเมือง ยกบ้านห้วยแจละแมขึ้นเปนเมืองอุบลราชธานี (ตามนามพระประทุม) ขึ้นกรุงเทพ ฯ ทำส่วยผึ้ง ๒ เลข ต่อเบี้ย น้ำรัก ๒ ขวด ต่อ เบี้ยป่าน๒ เลขต่อขอด พระประทุมจึ่งย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านร้างริมลำพมูล ใต้ห้วยแจละแมประมาณทาง ๑๒๐ เส้น คือ ที่ซึ่งเปนเมืองอุบลเดี๋ยวนี้ แลได้สร้างวัดหลวงขึ้นวัดหนึ่ง เขตรแดนเมืองอุบลมีปรากฎในเวลานั้นว่า ทิศเหนือถึงน้ำยังตกลำน้ำพาชีไปยอดบังอี่ ตามลำบังอี่ไปถึงแก่งตนะไปภูจอกอ ไปช่องนาง ไปยอดห้วยอะลีอะลองตัดไปดงเปื่อยไปสระดอกเกษ ไปตามลำกะยุงตกลำน้ำมูล ปันให้เมืองสุวรรณภูมิ ฝ่ายเหนือหินสิลาเลขหนองกองแก้วตีนภูเขียว ทางใต้ ปากเสียวตกลำน้ำมูล ยอดห้วยกากวากเกี่ยวชี ปันให้เมืองขุขันธ์ แต่ปากห้วยทัพทันตกมูลถึงภูเขาวงก์

ครั้งนั้นขุนนักจันหอมผู้ครองตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม เจ้าพระวิไชยขัติยราชวงษาจึ่งตั้งท้าวอินทวงษ์ บุตรขุนนักจันหอม เปนขุนนักอินทวงษ์ ครองตำบลโขงเจียงต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๑๕๔ ปีชวดจัตวาศก ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิมีคนลอบฟันท้าวสูนผู้เปนอุปราชเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ท้าวเพี้ยกรมการจับตัวทิดโคตรพิจารณาได้ความเปนสัตย์ว่าเปนผู้ฟัน ทิดโคตรถูกเฆี่ยนตายอยู่กับคา แล้วเจ้าเมืองกรมการจึงมีบอกลงมายังกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวอ่อนท้าว บุตรพระขัติยวงษา (ทน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนเก่าซึ่งได้มาถวายตัวเปนมหาดเล็กอยู่ในกรุงเทพ ฯ นั้นเปนอุปราชเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานหมวกตุ้มปี่กระบี่บั้งทองเปนเกียรติยศ

ในปีนั้นเมืองแสนสุวรรณภูมิไม่ถูกกับเจ้าเมือง อพยพมาตั้งอยู่บ้านหนองกองแก้ว สมัคทำราชการขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสิมา ๆ จึ่งบอกกราบบังคมทูลขอตั้งให้เมืองแสนเปนเจ้าเมือง ขอยกบ้านหนองแก้วขึ้นเปนเมือง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เมืองแสนเปน ที่พระจันตประเทศ ยกบ้านหนองแก้วขึ้นเปนเมืองชนบท (แขวงมณฑลอุดร) ขึ้นเมืองนครราชสีมา แบ่งเอาที่ดินเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งแต่ตำบลบ้านกู่ทองไปจนถึงหนองกองแก้ว เปนเขตรของเมืองชนบทแต่ครั้งนั้น

ลุจุลศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลูเบญจศก ท้าวโสมพมิตร ท้าวอุปชา ซึ่งเดิมอยู่บ้านผ้าขาวแขวงเมืองศรีสัตนาคนหุต แลพาครอบครัวยกมาตั้งอยู่บ้านท่าแก่งสำโรงริมน้ำปาวนั้น ได้พาพวกญาติพี่น้องมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพ ฯ ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารควบคุมบ่าวไพร่ตัวเลขเก็บผลเร่วส่งทูลเกล้า ฯ ถวาย จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวโสมพมิตรเปนพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวคำหวาเปนที่อุปฮาด ยกบ้านแก่งสำโรงขึ้นเปนเมืองกาฬสินธุ์ทำราชการขึ้นกรุงเทพ ฯ อาณาเขตรเมืองกาฬสินธุ์ครั้งนั้นมีว่า ทิศตวันออกลำพยังตกลำน้ำชี ทิศเหนือเฉียงตวันตกภูเหล็กยอดลำน้ำสงครามมาลำไก่เขี่ย ตัดลงคูไชเถ้าเกาะจนกระทั่งห้วยสายบาทตกลำพวง ทิศเหนือเฉียงตวันออกภูศรีถานยอดลำห้วยหลักทอดตกลำพยัง แต่ภูศรีถานเฉียงเหนือยอดห้วยก้าน เหลืองลงน้ำก่ำเมืองหนองหาร เฉียงเหนือภูเหล็กยอดลำน้ำสงครามมา ลำน้ำยามถึงลำน้ำอุ่น ตัดมาหนองบัวส้างยอดน้ำลาดตกน้ำหนองหาร

ครั้นพระยาไชยสุนทร (โสมพมิตร) อุปฮาด (คำหวา) ถึงแก่กรรมแล้ว จึ่งโปรดตั้งให้ท้าวหมาแพงบุตรท้าวอุปชา เปนพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวหมาสุยเปนอุปฮาด ให้ท้าวหมาพวงเปนราชวงษ์ ทั้งสองคนนี้เปนบุตรพระยาไชยสุนทร (โสมพมิตร) เปนผู้รักษาเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป แลโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปสักตัวเลขเปนเลข ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์มีจำนวนครั้งนั้นรวม ๔๐๐๐ คน แบ่งเปนส่วนขึ้นกับเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงษ์ตามสมควร

ฝ่ายราชวงษ์ (พอง) นั้น กระทำการเกี่ยงแย่งหาเปนสามัคคี กับพระยาไชยสุนทรไม่ จึ่งอพยพครอบครัวแยกไปตั้งอยู่ณบ้านเชียงชุมแล้วไปยอมสมัคขึ้นอยู่กับเมือง เวียงจันท์ (ศรีสัตนาคนหุต)

ลุจุลศักราช ๑๑๕๖ ปีขาลฉศก พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุ่ม) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม พระยาสุรินทร (เชียงปุ่ม) มีบุตรชาย ๒ ชื่อท้าวตี ๑ ท้าวมี๑ บุตรหญิง ๒ ชื่อนางน้อย ๑ นางเงิน ๑ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวตีบุตรพระยาสุรินทร์ (เชียงปุ่ม) เปนพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ว่าราชการเมืองสุรินทร์ต่อไป ครั้งนั้นอาณาเขตรเมืองสุรินทร์ปรากฎว่า ทิศตวันออกถึงห้วยทัพทัน ทิศใต้ถึงเขาตก ทิศตวันตกถึงห้วยลำสโดง ทิศเหนือถึงลำห้วยพลับพลา ข้างทิศอิสาณต่อกับเมืองรัตนบุรีถึงหลักหินหัวห้วยปูน ไปหลักหิน สร้างบด ไปหลักหินโสกสาวแอ ถึงหลักหินหนองหลักไปลำห้วยจริง

ในปีนั้นขุนนักอินทวงษ์ผู้รักษาตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม ขุนนักราชบาอินน้องได้เปนใหญ่รักษาในตำบลโขงเจียมต่อมา

วันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗ พระประทุมสุรราช (คำผง) เจ้าเมืองอุบลถึงแก่กรรม โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวทิดพรหม บุตรพระตา เปนพระพรหมราชวงษาเจ้าเมือง ให้ท้าวก่ำบุตรพระวอ เปนที่อุปฮาดรักษาเมืองอุบลราชธานีต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมเสงนพศก ฝ่ายเพี้ยเมืองแพนบ้านชีโล่นเมืองสุวรรณภูมิ เห็นว่าเมืองแสนได้เปนเจ้าเมืองชนบทก็อยากจะได้เปนบ้าง จึ่งเกลี้ยกล่อมผู้คนได้อยู่ในบังคับสามร้อยเศษ จึ่งสมัคขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสิมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเปนเมือง เจ้าพระยานครราชสิมาได้มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เมืองแพนเปนที่พระนครบริรักษ์เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเปนเมืองขอนแก่น (มณฑลอุดร) ขึ้นเมืองนครราชสิมา

ลุจุลศักราช ๑๑๖๐ ปีมเมียสัมฤทธิศก เพี้ยมุขเปนบุตรพระศรีมหาเทพเขมรซึ่งพาครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งบ้านเรือนอยู่ณบ้านเมืองแสนในเมืองโขงนั้น ได้ไปเกลี้ยกล่อมชนชาติข่าซึ่งอยู่ตามฟากโขงตวันออก ได้พวกข่าบ้านแคะ บ้านจาร บ้านตาปางเข้าเปนพวกแล้ว ก็อพยพครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ณบ้านตาปาง แล้วก็เกลี้ยกล่อมได้พวกข่าชาติระแว, จะราย, จุมพอน, ซึ่งตั้งอยู่ตามตำบลห้วยสมองขึ้นไปจนถึงน้ำสระไทยมาเข้าเปนพวกอิกเปนอันมาก เพี้ยมุขจึ่งได้ส่งขี้ผึ้งงาช้างแลของป่าต่าง ๆ เข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เพี้ยมุขเปนพระศรีมหาเทพเจ้าเมือง ตั้งท้าวอุ่นเมืองโขงเปนอุปฮาดยกบ้านตาปางขึ้นเปนเมืองแสนปางขึ้นกรุงเทพฯ ให้ปันเขตรแขวงเมืองเชียงแตงกับเมืองจำปาศักดิเปนเขตรแขวงเมืองแสนปาง คือ ทิศตวันออกถึงลำน้ำเซซาน ทิศตวันตกถึงห้วยตลุน ทิศเหนือถึงแก่งสักแอก ทิศใต้ถึงแก่งบางเหยาะ

ลุจุลศักราช ๑๑๖๑ ปีมแมเอกศก เพี้ยศรีปาก เพี้ยเหล็กสะท้อน เพี้ยไกรสร เสนาเมืองสุวรรณภูมิ คบคิดกันเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าเปนพวกพ้องตัวเลขได้สองร้อยคนเศษ แยกออกจากเมืองสุวรรณภูมิ ไปสมัคขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสิมา ๆ มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เพี้ยศรีปากเปนพระเสนาสงครามเจ้าเมือง ยกบ้านหมากเฟืองบ้านหนองหัวแรดซึ่งอยู่ริมเมืองพุดไทยสงเก่า เปนเมืองพุดไทยสงขึ้นกับเมืองนครราชสิมา (มณฑลนครราชสิมา) โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองสุวรรณภูมิปันเขตรแขวงให้ ตั้งแต่ฟากลำพังชูทางตวันตกไป ถึงลำสะแอกเปนเขตรแดนเมืองพุดไทยสง

ในระหว่างปีนี้มีตราโปรดเกล้า ฯ ขึ้นไปเกณฑ์กำลังเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองละ ๑๐๐ รวม ๓๐๐ คนเข้ากองทัพยกไปตีกองทัพพม่า ซึ่งเข้ามาตั้งอยู่ในเขตรแขวงเมืองนครเชียงใหม่ แต่กองทัพไทยมิทันไปถึง พอได้ข่าวว่ากองทัพพม่ายกเลิกถอยไปแล้ว ก็โปรดเกล้า ฯ ให้ยกกลับมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยน นามพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ตี) เปนพระสุรินทรภักดีศรี ปะทายสมัน

ครั้นลุจุลศักราช ๑๑๖๗ ปีฉลูสัปตศก พระเจ้าวิไชยราชขัติยวงษาผู้ครองเมืองนครจำปาศักดิจึ่งขอตั้งบ้านนายอนเปน เมือง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ขนานนามว่า เมืองสพาด (อยู่ฝั่งโขงตวันออก) ตั้งพระศรีอัคฮาดบุตรจารหวดเจ้าเมืองโขงเปนเจ้าเมือง ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ

ลุจุลศักราช ๑๑๖๘ ปีขาลอัฐศก ทรงพระราชดำริห์ว่าเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เปนเมืองเคยได้ตามเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหลายครั้งมีความชอบมาก ให้ยกเมือง ทั้ง ๓ นี้ขึ้นกรุงเทพ ฯ อย่าให้ขึ้นอยู่ในบังคับเมืองพิมายเมืองนครราชสิมาเหมือนแต่ก่อนนั้น

ลุจุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมโรงสัมฤทธิศก พระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน (ตี) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม พระสุรินทร์มีบุตรชาย ๖ ชื่อท้าวสูน ๑ ท้าวแก้ว๑ ท้าวทอง ๑ ท้าวยง ๑ ท้าวปรัง ๑ ท้าวสอน ๑ บุตรหญิง ชื่อนางไข ๑ นางคำ ๑ นางตี ๑ นางต้ม ๑ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวมีผู้เปนที่หลวงวิเศษราชาน้องชายพระสุรินทร์ (ตี) เปนพระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมันเจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป

วันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมเสงเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เปนพระเจ้าแผ่นดินสยามต่อมา

ลุจุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมเมียโทศก พระยาเดโช (เมง) เจ้าเมืองกำแพงสวาย (เขมร) กับนักปรังซึ่งเปนน้องชายมีความอริวิวาทกันกับนักพระอุไทยราชา (นักองค์จันทร์) เจ้ากรุงกัมพูชา พระยาเดโชกับนักปรังจึ่งอพยพครอบครัวเข้ามา ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ณแขวงเมืองโขง เมืองนครจำปาศักดิจึ่งมีบอกเข้ามาณกรุงเทพ ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยากระลาโหมราชเสนาเกณฑ์กำลังตามหัวเมืองตวันออก ยกไปขัดตาทัพรับครัวเขมรอยู่ณท่าม่อออมใต้ปากน้ำเซลำเภาลงไปถึงปากคลองเสียม โบก รับครัวพระยาเดโชมาตั้งอยู่บ้านลงปลา ครัวนักปรังตั้งอยู่เวินฆ้อง (เมืองเซลำเภา) จึ่งมีเขมรแทรกปนอยู่ในแขวงเมืองโขงตั้งแต่นั้นมา ฝ่ายนักปรังนั้น ได้นางเตียงภรรยาเจ้าเมืองเชียงแตงมาเปนภรรยา มีบุตรชื่อนักอินติดมาด้วยคนหนึ่ง ภายหลังนางเตียงเกิดบุตรกับนักปรังอิก ๓ คน ชื่อนักกม ๑ นักเมือง ๑ นักเต๊ก ๑ แลในระหว่างนั้น นายพรหมคนเมืองสังฆะ ไปได้นางมก บุตรสาวพระยาเดโช (เมง) เปนภรรยา พระยาเดโช (เมง) จึ่งตั้งนายพรหมให้เปนที่หลวงจำนงเสมียนตรา

วันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ เจ้าพระวิไชยราชขัติยวงษา (หน้า) เจ้านครจำปาศักดิพิราไลย ครองเมืองได้ ๒๑ ปี มีบุตรชายชื่อเจ้าบุตร ๑ บุตรหญิง ๓ ชื่อนางแดง ๑ นางไทย ๑ นางก้อนแก้ว ๑ แสนท้าวพระยาจึ่งมีบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระ บาทแล้ว จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยากระลาโหมราชเสนา เปนข้าหลวงนำหีบศิลาน่าเพลิง เครื่องไทยทานไปปลงศพเจ้าพระวิไชยราชขัติยวงษา แลให้นำสุวรรณบัตรไปพระราชทานให้เจ้านู บุตรเจ้าหน่อเมืองหลานเจ้านครจำปาศักดิไชยกุมารเปนเจ้านครจำปาศักดิ พอข้าหลวงเชิญตราไปถึงเมืองนครจำปาศักดิ ได้ ๓ วัน วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ ยามเที่ยงคืน เจ้านครจำปาศักดิ (นู) ก็ถึงแก่พิราไลยในเมืองที่เรียกว่าเมืองเก่าคันเกิงอยู่บัดนี้ พวกข้าหลวงแลแสนท้าวพระยาจึ่งพร้อมกันกระทำการปลงศพเจ้าพระวิไชยขัติยราชวงษา (หน้า) เสร็จแล้ว ได้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิเจ้านครจำปาศักดิ (หน้า) ไว้ณวัดเหนือในเมืองเก่าคันเกิง คำลาวเรียกว่าธาตุหลวงเฒ่ามาจนบัดนี้ ในปีนี้พระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน (มี) เจ้าเมืองสุรินทร์ ถึงแก่กรรม จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวสุ่น บุตรพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ตี) เปนพระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมันเจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป

ครั้นจุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอกจัตวาศก พระยากระลาโหมราชเสนาจัดราชการณเมืองจำปาศักดิเรียบร้อยแล้ว จึ่งได้เชิญเอาพระแก้วผลึก ซึ่งเจ้าสร้อยศรีสมุทได้มาแต่บ้านนายอนมาประดิษฐานไว้ณเมืองจำปาศักดินั้น นำลงมาทูลเกล้า ฯ ถวายณกรุงเทพ ฯ พระแก้วผลึกองค์นี้น่าตักกว้าง ๙ นิ้วกึ่ง สูง ๑๒ นิ้วเศษ ซึ่งปรากฎนามในปัจจุบันนี้ว่า พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย นั้น ลุจุลศักราช ๑๑๗๕ ปีรกาเบญจศก จึ่งทรงพระกรุณาโปรด ตั้งให้เจ้าหมาน้อย บุตรเจ้าราชวงษ์ (สุริโย) หลานเจ้าสร้อยศรีสมุท เปนเจ้านครจำปาศักดิ ให้เจ้าธรรมกิติกา บุตรเจ้าอุปราช (ธรรมเทโว) เปนเจ้าอุปราชรักษาเมืองนครจำปาศักดิต่อไป

ภายหลังเจ้านครจำปาศักดิ (หมาน้อย) กับเจ้าอุปราชมีความอริวิวาทกัน จึ่งคุมกันลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพ ฯ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้แยกเจ้าอุปราชไว้เสียณกรุงเทพ ฯ โปรดให้เจ้านครจำปาศักดิหมาน้อยกลับขึ้นไปครองเมืองจำปาศักดิต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๑๗๖ ปีจอฉศก ฝ่ายอุปฮาด (ก่ำ) เมืองอุบลราชธานี กับราชวงษ์ (สิง) เมืองโขง ซึ่งเปนญาติกันกับเจ้าพระวิไชยขัติยราชวงษา เจ้านครจำปาศักดิเก่านั้น มิพอใจที่จะทำราชการกับเมืองนครจำปาศักดิ แลเมืองอุบล

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านสิงทาเปนเมืองยโสธร ให้ราชวงษ์ (สิง) เมืองโขง เปนที่พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมืองยโสธร ท้าวชีชาเปนอุปฮาด ท้าวบุตรเปนราชวงษ์ ท้าวเสนเปนราชบุตร ขึ้นกรุงเทพ ฯ ผูกส่วยน้ำรัก ๒ เลขต่อเบี้ย ป่านสองเลขต่อขอด

โปรดให้ตั้งบ้านโคกกงพเนียง ริมฝั่งน้ำโขงตวันตก เปนเมืองเขมราษฎร์ธานี ให้อุปฮาด (ก่ำ) เมืองอุบล เปนที่พระเทพวงษา เจ้าเมืองเขมราษฎร์ ขึ้นกรุงเทพ ฯ ผูกส่วยน้ำรัก ๒ เลขต่อเบี้ย ป่าน ๒ ขอดต่อ ๑๐ บาท แลโปรดตั้งให้ท้าวกุทอง บุตรพระประทุมสุรราชเปนอุปฮาดเมืองอุบล

ครั้งนั้นจึ่งได้กำหนดเขตรแขวงแบ่งปันเขตรแดนเมืองนครจำปาศักดิฝ่ายเหนือ เลื่อนลงมาถึงปากคลองน้ำโดมใหญ่ ไปถึงคลองเท้าสาร คลองตองแอก ตัดลงลำน้ำกระยุงต่อเขาบันทัด ฝ่ายตวันออกตรงปากคลองน้ำโดมใหญ่ ไปตามลำคลองทรายถึงคลองบางโกย ตัดลงปาด เซบังเหียงขึ้นไปเขาบันทัด ต่อแดนเมืองญวน เปนกำหนดเขตรแดนเมืองนครจำปาศักดิ

ในปีนั้น ฝ่ายเมืองสุวรรณภูมิท้าวอ่อนผู้เปนอุปราช เจ้าเมืองสุวรรณภูมิเปนคนมีภรรยามาก หลงรักภรรยาน้อย ฝ่ายนางแก้วภรรยาใหญ่มีความขัดใจ จึ่งได้ลงมาทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวาย กล่าวโทษท้าวอ่อนเจ้าเมืองว่าประพฤติการทุจริตกดขี่ข่มเหงราษฎรได้ความเดือด ร้อนต่าง ๆ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หาตัวท้าวอ่อน เจ้าเมืองลงมาแก้คดีณกรุงเทพ ฯ พิจารณาได้ความจริงว่า ท้าวอ่อนเปนผู้ประพฤติการทุจริตต่าง ๆ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้เอาตัวไปกักไว้ ณบ้านหนองหอย แขวงเมืองสารบุรี

แล้วโปรดตั้งให้ท้าวโอ๊ะ บุตรท้าวเชียง หลานท้าวมืด เหลนจารแก้วเจ้าเมืองคนต้น เปนพระรัตนวงษา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก มีภิกษุอลัชชีรูปหนึ่งชื่อสา อยู่บ้านหลุบเลาเตาปูนแขวงเมืองสารบุรี เดินธุดงค์มาหยุดพักอาไศรยอยู่ที่เขาเกียดโง้งฝั่งโขงตวันออก ซึ่งเปนแขวงเมืองจำปาศักดิแต่ก่อน อ้ายสาแสดงตัวว่าเปนคนมีวิชาฤทธานุภาพต่าง ๆ เปนต้นว่าเอาแว่นแก้วมาส่องกับแดดให้ติดเชื้อเปนไฟลุกขึ้นแล้วอวดว่าเรียก ไฟฟ้าได้ แลสามารถที่จะเรียกให้ไฟนั้นมาเผาบ้านเมือง แลมนุษย์ เดรัจฉาน ให้ไหม้วินาศฉิบหายไปทั้งโลกย์ก็ได้ ฝ่ายคนในประเทศเหล่านั้น มีพวกข่าเปนต้น อันประกอบไปด้วยสันดานความเขลา มิรู้เท่าเล่ห์กลอ้ายสา ครั้นเห็นอ้ายสาแสดงวิชาดังนั้นก็เห็นเปนอัศจรรย์ ต่างมีความกลัวเกรงก็พากันยินดีนิยมเชื่อถือ เข้าเปนพวกอ้ายสาเกียดโง้งเปนอันมาก ครั้นอ้ายสาเห็นมีผู้คนเกรงกลัวเข้ามาสมัคเปนพรรคพวกมากแล้วก็มีใจกำเริบ จึ่งคิดขบถยกเปนกระบวนทัพเที่ยวตีตามตำบลบ้านใหญ่น้อยต่าง ๆ ในเขตรแขวงเมืองจำปาศักดิตามรายทาง แล้วมาลงเรือที่ปากคลองตะปุงแขวงเมืองสีทันดรยกมาณเมืองปาศักดิ ฝ่ายเจ้านครจำปาศักดิ (หมาน้อย) รู้ข่าวว่าอ้ายสาเกียดโง้งยกทัพมาดังนั้น ก็ตกใจโดยมิทันได้เตรียมตัว จึ่งอพยพพาครอบครัวหลบหนีเข้าป่าไป วันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ อ้ายสาเกียดโง้งก็พากองทัพเข้าเมืองนครจำปาศักดิได้แล้ว ก็เทียวเก็บริบเอาทรัพย์สมบัติต่าง ๆ แลทั้งเอาไฟจุดเผาเมืองเสียด้วย เวลานั้นเจ้าพระยานครราชสิมา (ทองอิน) กำลังเทียวกำจัด ตีข่าพวกเสม็ดกันชา ข่าประไรนบ ประไรต่าง อยู่ณแขวงเมืองโขง จึ่งมีบอกลงมากรุงเทพ ฯ แล้ว เจ้าพระยานครราชสิมา กับพระศรีอัคฮาด พระโพสาราชเมืองโขง จึ่งเกณฑ์กองทัพยกมาตีกองทัพอ้ายสาเกียดโง้งแตกหนีไปตั้งอยู่ณเขายาปุแขวง เมืองอัตปือ

ฝ่ายทางกรุงเทพ ฯ ก็โปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม)[1] กับพระศรสำแดงคุมกองทัพขึ้นไปตามจับอ้ายสาเกียดโง้งหาได้ตัวไม่ พระยามหาอำมาตย์ พระศรสำแดงจึ่งได้คุมเอาตัวเจ้านครจำปาศักดิ(หมาน้อย) ลงมาณกรุงเทพ ฯ เจ้านครจำปาศักดิ (หมาน้อย) ก็ถึงพิราไลยอยู่ในกรุงเทพ ฯ ครองเมืองได้ ๙ ปี มีบุตรชาย ๙ คน ชื่อเจ้าอุ่น ๑ เจ้านุด ๑ เจ้าแสง ๑ เจ้าบุญ ๑ เจ้าจุ่น ๑ เจ้าจู ๑ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าอนุเวียงจันท์ ยกกำลังทัพเที่ยวตามจับอ้ายสาเกียดโง้ง กองเจ้าราชบุตร ( โย่ ) บุตรเจ้า อนุเวียงจันท์จับตัวอ้ายสาเกียดโง้งได้ส่งลงมากรุงเทพ ฯ

ลุจุลศักราช ๑๑๘๓ ปีมเสงตรีศก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าราชบุตร (โย่) เมืองเวียงจันท์ เปนเจ้านครจำปาศักดิ ให้เจ้าคำป้องเมืองเวียงจันท์เปนเจ้าอุปราช

เจ้านครจำปาศักดิ (โย่) มาอยู่ณเมืองนครจำปาศักดิ ซึ่งเรียกว่าเมืองเก่าคันเกิงบัดนี้ แล้วก็เกณฑ์ไพร่พลให้ขุดดินพูนขึ้นเปนกำแพงเมือง แลก่อสร้างกำแพงวัง แลสร้างหอพระแก้ว ไว้สำหรับเจ้านาย แสนท้าวพระยาลาว ได้รับน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามธรรมเนียม แลได้เปลี่ยนธรรมเนียมเก็บส่วยแก่ชายฉกรรจ์ที่มีภรรยาแล้ว เปนไหมฤๅป่านฤๅผลเร่วคนหนึ่งหนักชั่งห้าตำลึงแต่นั้นมา ส่วนเข้าเปลือกก็เก็บตามเดิม

ในระหว่างนั้น ขุนนักราชบาอินทร์ผู้รักษาเมืองโขงเจียงมีความผิด เจ้านครจำปาศักดิ (โย่) จึ่งเอาตัวทำโทษแล้วจึ่งมีบอก กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอตั้งให้ท้าวมหาอินทร์ บุตรขุนนักอินทวงษ์ ผู้รักษาอำเภอตำบลโขงเจียงเก่าเปนพระกำแหงสงคราม ยกบ้านนาค่อขึ้นเปนเมืองโขงเจียง แลขอยกบ้านช่างคูเปนเมืองเสมียะ ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิแต่นั้นมา

ลุจุลศักราช ๑๑๘๕ ปีมแมเบญจศก ฝ่ายทางเมืองยโสธร พระสุนทรราชวงษา (สิง) เจ้าเมืองถึงแก่กรรม จึ่งโปรดเกล้า ฯ ตั้ง ให้อุปฮาด (สีชา) เปนพระสุนทรราชวงษา เจ้าเมือง ให้ราชวงษ์ (บุตร) เปนอุปฮาด เลื่อนราชบุตร (เสน) เปนราชวงษ์ ให้ท้าวสุดตาเปนราชบุตร รักษาเมืองยโสธรต่อไป พระสุนทรราชวงษา (สีชา) เปนเจ้าเมืองยโสธรได้ ๓ เดือนเศษก็ถึงแก่กรรม ยังหาทัน โปรดเกล้า ฯ ให้ผู้ใดเปนเจ้าเมืองไม่ มีแต่อุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตรกรมการรักษาราชการอยู่

ครั้นวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยสวรรคต วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอกฉศกจุลศักราช ๑๑๘๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินสยาม

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปแยกย้ายกันตรวจสัมโนครัว แลตั้งกองสักอยู่ตามหัวเมืองมณฑลอิสาณบางเมือง มีเมืองกาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ดเปนต้น แลให้เรียกส่วย ผลเร่วเปนธรรมเนียมแต่นั้นมา ในระหว่างนั้น พระยาวิเศษภักดีเจ้าเมืองศรีสระเกษถึงแก่กรรม

ครั้นวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ ปีรกาสัปตศก จุลศักราช ๑๑๘๗ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระภักดีปลัดเปนพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมือง ให้หลวงยกรบัตรเปนที่พระปลัด ให้ราชบุตรเปนหลวงยกรบัตร ให้ทิดอูดเปนหลวงมหาดไทย ให้ขุนไชยณรงค์เปนหลวงธิเบศร์

ลำดับนั้น ตั้งแต่เขตรแขวงเมืองจำปาศักดิ ไปจนเมืองเวียงจันท์อยู่ในอำนาจเจ้าอนุเวียงจันท์กับเจ้าโย่บุตรที่ครอง เมืองจำปาศักดิพ่อลูกทั้งสองเห็นว่ามีเขตรแขวงแลกำลังผู้คนมากขึ้น ก็มีใจกำเริบคิดขบถต่อกรุงเทพฯ เมื่อปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ เจ้าอนุก็แต่งให้เจ้าอุปราช (สีถาน) กับเจ้าราชวงษ์เมืองเวียงจันท์ คุมกองทัพยกตีหัวเมืองรายทางเข้ามาถึงเมืองกาฬสินธุ์ จับพระยาไชยสุนทร (แพง) เจ้าเมืองแลอุปฮาด (สุย) กับกรมการเมืองกาฬสินธุ์ฆ่าเสียแล้ว ให้กวาดเอาครอบครัวไพร่บ้านพลเมืองส่งไปยังเมืองเวียงจันท์ แล้วเจ้าอุปราชราชวงษ์ก็ยกทัพเลยล่วงเข้ามาถึงเมืองเขมราษฎร์ จับพระเทพวงษา เจ้าเมืองเขมราษฎร์ได้ฆ่าเสียแล้วยกทัพไปถึงเมืองร้อยเอ็ด พระยาขัติยวงษาเจ้าเมืองเห็นว่าจะสู้รบต้านทานมิได้ แลจะหนีก็ไม่ทัน จึ่งคิดกันกับกรมการ พาเอานางหมานุย นางตุ่ย นางแก้ว บุตรสาวพระยา ขัติยวงษา ยกให้เจ้าอุปราช แล้วเจ้าอุปราชก็ยกกองทัพมาถึงเมืองสุวรรณภูมิ จับข้าหลวงกองสักได้ฆ่าเสียแล้ว จะเอาตัวพระรัตนวงษาเจ้าเมืองฆ่าเสียด้วย พระรัตนวงษาเจ้าเมืองจึ่งเอานางอ่อมบุตรสาวเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนเก่ากับม้าผ่าน ๑ มายกให้เจ้าอุปราช จึ่งได้งดไว้มิได้ฆ่า แล้วกองทัพเจ้าอุปราช ราชวงษ์ ก็เลยยกตีหัวเมืองรายทาง ลงมาจนถึงเมืองนครราชสิมา[2]

ฝ่ายทางเมืองจำปาศักดิ เจ้านครจำปาศักดิ (โย่) ก็เกณฑ์กำลังยกเปนกองทัพลงมาตีเมืองขุขันธ์ สังฆะ สุรินทร์ แตกทั้ง ๓ เมือง จับพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (บุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์กับพระภักดีภูธรสงครามปลัด (มะนะ) พระแก้วมนตรียกรบัตร (เทศ) กับ กรมการได้ฆ่าเสีย แต่ส่วนพระยาสังฆะ พระสุรินทร์ ทั้ง ๒ นั้นหนีไปได้แล้วกองทัพเจ้าจำปาศักดิ (โย่) ก็ยกมาตั้งอยู่ณเมืองอุบล พระพรหมราชวงษายอมเข้าด้วยไม่ต่อสู้ เจ้าจำปาศักดิ (โย่) จึ่งมิได้ทำอันตรายแล้วเจ้าจำปาศักดิ (โย่) ก็ให้กวาดครอบครัวไทยเขมรส่งไปยังเมืองจำปาศักดิเปนอันมาก ครั้งนั้นกองทัพเวียงจันท์ แลเมืองจำปาศักดิ ตั้งค่ายอยู่ที่มูลเคง แขวงเมืองนครราชสิมาแห่ง ๑ ที่บ้านส้มป่อย แขวงเมืองขุขันธ์แห่ง ๑ ที่ทุ่งมนแห่ง ๑ ค่ายน้ำคำแห่ง ๑ ที่บกหวานแขวงเมืองหนองคายแห่ง ๑

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึ่งโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเปนทัพหลวง เจ้าพระยาบดินทร เดชาแต่ครั้งยังดำรงยศเปนเจ้าพระยาราชสุภาวดีเปนทัพน่า ยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามศึกขบถ ครั้นกองทัพกรุงยกไปถึงแขวงเมืองนครราชสิมา ก็ได้พบกับกองทัพเจ้าราชวงษ์เวียงจันท์ สู้รบกันเปนสามารถ กองทัพเจ้าราชวงษ์เวียงจันท์ต้านทานกองทัพกรุงมิได้ ก็แตกถอยร่นขึ้นไปถึงค่ายมูลเคง กองทัพกรุงก็ตามตีขึ้นไปค่ายมูลเคงแตกเล้ว ก็ยก ตามตีไปถึงค่ายส้มป่อย ค่ายทุ่งมน ค่ายน้ำคำแตกกระจัดกระจายไปทุกค่าย จนถึงกองทัพเจ้าจำปาศักดิ (โย่) ขณะนั้นฝ่ายพวก ครัวไทยเขมรที่เจ้าจำปาศักดิ (โย่) ให้กวาดส่งไปไว้ยังเมืองจำปาศักดินั้น ครั้นรู้ข่าวว่ากองทัพกรุงยกขึ้นไป ครั้นวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุญนพศก จุลศักราช ๑๑๘๙ พวกครัวก็พากันเอาไฟเผาเมืองจำปาศักดิลุกลามขึ้น ราษฎรไพร่บ้านพลเมืองก็พากันแตกตื่นเปนอลหม่าน

ฝ่ายกองทัพเจ้าจำปาศักดิ (โย่) ก็แตกหนีข้ามไปทางแม่น้ำโขงแต่เจ้าอุปราช (คำป้อง) เมืองจำปาศักดินั้นหนีไปตายอยู่กลางป่า ส่วนกองทัพเจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ์เวียงจันท์ ก็แตกหนีร่นไปตั้งรวบรวมไพร่พลอยู่ณค่ายบกหวาน เจ้าพระยาราชสุภาวดี จึ่งได้ยกกองทัพไปตั้งอยู่ณเมืองยโสธร ผ่อนไพร่พลแลจัดเกณฑ์กำลังหัวเมืองต่าง ๆ มาเข้ากองทัพ แลให้เจ้าฮุยบุตรเจ้าโอ เจ้าเมืองอัตปือยกกำลังกองหนึ่งไปเที่ยวติดตามจับเจ้าจำปาศักดิ (โย่) ณฟากโขงตวันออก ให้เจ้านาค ผู้พี่เจ้าฮุย คุมกำลังมาสมทบเข้ากองทัพพร้อมด้วยกองทัพหัวเมือง ต่าง ๆ พร้อมแล้ว ก็ยกไปตีกองทัพเวียงจันท์ ซึ่งตั้งอยู่ณตำบล บกหวานได้สู้รบกันเปนสามารถ ครั้งนั้นมีเสียงว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพหลวง ได้ถูกเจ้าราชวงษ์แทงเอาด้วยหอกที่สีข้าง ๆ ซ้าย แต่ถูกพลาดถลากไปเปนแผลเล็กน้อย เมื่อถูกแทงนั้น บางข่าวว่ากำลังขี่ช้างสู้กันบ้าง บ้างก็ว่าขี่ม้า บ้างก็ว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดีกำลังขี่ม้าไป ในป่ากับนายทัพนายกองรอง ๆ สองสามคน เพื่อจะไปหาตำบลไชยภูมิที่ตั้งค่าย ขณะนั้นพอมาถึงหัวเลี้ยวแห่งหนึ่ง ก็พบเจ้าราชวงษ์เวียงจันท์ซึ่งขี่ม้ามากับทหารสองสามคน จนหน้าม้าชนกันโดยต่างคนยั้งตัวมิทัน ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีนั้นหารู้จักเจ้าราชวงษ์ไม่ แต่ฝ่ายเจ้าราชวงษ์นั้นรู้จักเจ้าพระยาราชสุภาวดี ทันใดนั้นเจ้าราชวงษ์ก็เอาหอกที่ถืออยู่นั้นแทงเจ้าพระยาราชสุภาวดี ๆ หลบเบี่ยงตัวปลายหอกจึ่งพลาดถูกตรงสีข้าง ๆ ซ้ายตกม้าลง บรรดานายทัพนายกองที่ขี่ม้าตามมาข้างหลัง ซึ่งรู้จักตัวเจ้าราชวงษ์ จึ่งได้สอึกเข้าต่อสู้กั้นกางไว้ พอเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นม้าได้แล้ว ก็พากันเข้าช่วยกลุ้มรุมสู้รบกับเจ้าราชวงษ์ ข้างฝ่ายพวกเจ้าราชวงษ์น้อยตัวกว่า ก็พากันควบม้าหนีไปทางฝั่งโขงกองทัพเวียงจันท์ก็เลยแตกในวันนั้น กองทัพกรุงก็เลยยกไปตีเวียงจันท์แตก จับเจ้าอนุได้ เข้าตั้งพักอยู่ในเมือง[3]

ฝ่ายเจ้าฮุยตามไปจับตัวเจ้านครจำปาศักดิ (โย่) ได้ที่ป่าปลายลำน้ำคลองบางเรียงฟากโขงตวันออกแล้ว ก็คุมมาส่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพ ๆ หยุดพักไพร่พลแลจัดหัวเมืองทางตวันออก ฝ่ายเหนือทั้งปวง ในเวลานั้นเมืองอุบลปรากฎจำนวนคนมีอยู่ ๕๕๐๐ คน เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึ่งให้แบ่งเปนส่วนทำส่วยส่ง ๒๐๐๐ คน เปนเงิน ๑๐๐ ชั่ง ให้ไว้ใช้ราชการสงคราม ๒๐๐๐ คน ไว้เลี้ยงข้าราชการ ๑๕๐๐ คน ครั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีจัดการเรียบร้อยดีแล้ว ก็คุมเอาตัวเจ้าอนุ เจ้าจำปาศักดิ (โย่) ยกกองทัพกลับกรุงเทพ ฯ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนยศเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นเปนเจ้าพระยาบดินทรเดชา แลโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เจ้าฮุย เปนเจ้านครจำปาศักดิ ให้เจ้านาคผู้พี่เปนเจ้าอุปราช ให้ตั้งเงินส่วยปีละ ๑๐๐ ชั่ง กำหนดให้เก็บแก่ชายฉกรรจ์ทุกคน ๆ ละสี่บาทสลึง ถ้าชราพิการเก็บคนละ ๒ บาทสลึง เศษสลึงนั้นคือเปนค่าเผาฤๅที่เรียกว่าค่าสูญเพลิง แลเจ้าฮุยได้ปันตัวเลขให้แก่ญาติพี่น้อง เปนเจ้าหมู่นายหมวดสำหรับไว้ใช้สอยการงาน ถ้าคนใดไม่อยากจะให้เจ้าหมู่นายหมวดใช้ ก็ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าหมู่นายหมวดอิกคนละ ๔ บาท รวมเปน ๘ บาทสลึง ส่วนเข้าเปลือกนั้นก็คงเก็บตามเดิม สำหรับขึ้นฉางไว้จ่ายใช้ราชการบ้านเมือง

แลโปรดเกล้าฯ ให้เมืองนครจำปาศักดิ ส่งเครื่องราชบรรณา การแก่กรุงเทพ ฯ คือ ต้นไม้ทองต้นหนึ่งทองหนัก ๑๐ บาท ต้นไม้เงินต้นหนึ่งเงินหนัก ๑๐ บาท งาช้างหนัก ๒ หาบ นอรมาดหนักสองชั่งจีนผลเร่วหนัก๔ หาบกำหนด ๓ ปีครั้งหนึ่ง แบ่งเปนส่วนเจ้านครจำปาศักดิออกต้นไม้ทอง ๑ เงิน ๑ นอรมาด ๑ ส่วนงาช้างแบ่ง ๓ ส่วน เจ้านครจำปาศักดิออก ๒ ส่วน เจ้าอุปราช ๑ ส่วน ส่วนผลเร่วเจ้าอุปราชออกฝ่ายเดียว เปนธรรมเนียมแต่นั้นมา

ขณะนั้นพระศรีเชียงใหม่เจ้าเมืองโขง พระเอกราชาเมืองมั่น ท้าวเง่าเมืองคำทอง พระคำแหงสงครามเมืองโขงเจียง อัคฮาดเมืองสพาด จารบุดดาเมืองคง ร้องไม่สมัคเต็มใจทำราชการขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ

ลุจุลศักราช ๑๑๙๐ ปีชวดสัมฤทธิศก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองโขงที่เกาะในแม่น้ำโขงเปนเมืองสีทันดร แยกมา ขึ้นกรุงเทพ ฯ ตั้งพระศรีเชียงใหม่เจ้าเมือง เปนพระอภัยราชวงษา ปันเขตรแขวงต่อกับแขวงจำปาศักดิ คือตวันออกแต่บ้านม่วงหางนา ฝั่งฟากตวันตกแต่บ้านใหม่บาโดน ยืนขึ้นไปถึงภูปะอาว ตั้งแต่หางดอนไทรขึ้นมาเปนแขวงเมืองนครจำปาศักดิ

ให้ตั้งเมืองคำทองหลวงเปนเมืองคำทองใหญ่ (อยู่ฝั่งโขงตวันออก) ตั้งท้าวเง่าเปนพระสุวรรณราชวงษา เจ้าเมืองคำทองใหญ่ขึ้นกรุงเทพ ฯ แยกเมืองคง เมืองสพาด ไปขึ้นเมืองคำทองใหญ่

ให้ตั้งเมืองมั่นเปนเมืองสาลวัน (ฝั่งโขงตวันออก) ตั้งเพี้ยเอกราชาเปนพระเอกราชา เจ้าเมืองสาลวันขึ้นกรุงเทพ ฯ

โปรดตั้งท้าวบุญจัน บุตรพระเทพวงษา (ก่ำ) เจ้าเมือง เขมราษฎร์ เปนพระเทพวงษา เจ้าเมืองเขมราษฎร์ ยกเมืองโขงเจียง เมืองเสมียะ ขึ้นเมืองเขมราษฎร์

โปรดให้พระยาสังฆะ ไปเปนพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมือง ให้พระไชยเปนพระภักดีภูธรสงครามปลัด ให้พระสะเพื้อน (นวน) เปนพระแก้วมนตรียกรบัตร ให้ท้าวหล้าบุตรพระยาขุขันธ์ (หลวงปราบ) เปนพระมหาดไทย รักษาเมืองขุขันธ์ต่อไป

ให้ท้าว บุตรพระยาสังฆะ เปนพระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจะ

เลื่อนพระสุรินทร์ภักดีศรีประทายสมัน (สุ่น) เจ้าเมืองสุรินทร์ เปนพระยาสุรินทรภักดีศรีประทายสมัน

ให้ท้าววรบุตร (เจียม) หลานพระยาพิไชยสุนทร (แพง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เปนพระยาพิไชยสุนทรเจ้าเมืองให้ท้าวหล้าบุตรเมืองแสนล้านช้าง เปนอุปฮาด ให้ท้าวอินทิสารบุตรอุปฮาดเมืองจันคนเก่า เปนราชวงษ์ ให้ท้าวพิมพ์บุตรจารเปีย เปนราชบุตร รักษา เมืองกาฬสินธุ์ แลโปรดให้ราชวงษ์ (พวง) ที่สมัคแยกไปขึ้นเวียงจันท์ นั้น พาครอบครัวไปตั้งอยู่ที่อ่างศิลาชายทเลตวันออก แขวงเมืองชลบุรี

ลุจุลศักราช ๑๑๙๑ ปีฉลูเอกศก ครั้งนั้นหัวเมืองทางฝ่ายตวันออกยังไม่เรียบร้อยดี จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไปตั้งจัดราชการทำสัมโนครัวแลตั้งกองสักอยู่ณกุด ปะไทย (ซึ่งเปนแขวงเมืองศรีขรภูมิเดี๋ยวนี้)

ในปีนั้นพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อท้าวบง ๑ ท้าวสาร ๑

ขณะนั้นอุปฮาด (ภู) เมืองร้อยเอ็ด ซึ่งเปนบุตรพระขัติยวงษา (ทน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนเก่า กับท้าวบง ท้าวสาร บุตรพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิซึ่งถึงแก่กรรม แลท้าวสินลา ท้าวเกษก็พากันไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชาณกุดปะไทย ต่างคนขอแย่งกันจะเปนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าบุตรพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ยังเด็กหนุ่มนัก อุปฮาด (ภู) เมืองร้อยเอ็ดเปนคนสัตย์ซื่อหลักถานมั่นคงดี แลได้ช่วยรบทัพเวียงจันท์แขงแรง จึ่งได้มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ ขอตั้งให้อุปฮาด (ภู) เปน เจ้าเมือง แลตั้งตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองสุวรรณภูมิ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้อุปฮาด (ภู) เปนพระรัตนวงษาเจ้าเมือง ให้ท้าวเกษเปนอุปฮาด ให้ท้าวบงเปนราชวงษ์ ท้าวสินลาเปนราชบุตร ท้าวสารเปนท้าวสุริยวงษ์ พระรัตนวงษาได้แยกเอาตัวเลขมาจากเมืองร้อยเอ็ด ๗๐๐ เศษ

ในลำดับนั้น ฝ่ายเจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) ได้จัดราชการ บ้านเมืองอยู่ณเมืองเก่าคันเกิงตั้งตำแหน่งเจ้านายแสนท้าวพระยาขึ้นครบ ตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนเรียบร้อยแล้ว เจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) เห็นว่าเขตรแขวงเมืองจำปาศักดิลดน้อยลง ด้วยยกแยกหัวเมืองไปขึ้นกรุงเทพ ฯ แลเมืองอื่น ๆ เสียหลายเมือง จึ่งได้มีบอกกราบบังคมทูลขอตั้งบ้านแก่งน้อยในลำน้ำเซโดน ขึ้นเปนเมืองคำทองน้อยไว้เปนคู่กับเมืองคำทองใหญ่ ผูกส่วยน้ำใจเงินปีละ ๕ ชั่ง ๑๒ ตำลึง

ลุศักราช ๑๑๙๒ ปีขาลโทศก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านแก่งน้อยขึ้นเปนเมืองคำทองน้อย (อยู่ฟากโขงตวันออก) ตั้งท้าวสารนายบ้านเปนพระพุทธพรหมวงษาเจ้าเมืองคำทองน้อยขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ

ฝ่ายทางเมืองยโสธร ตั้งแต่พระสุนทรราชวงษา (สีซา) เจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังหาทันมีเจ้าเมืองไม่ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวฝ่ายผู้มีความชอบแต่ครั้งรบทัพเวียงจันท์ เปนพระสุนทรราชวงษาเจ้าเมือง ให้ท้าวแพงเปนอุปฮาด เลื่อนราชบุตร (สุดตา) เปน ราชวงษ์ ให้ท้าวอินเปนราชบุตร รักษาเมืองยโสธรต่อไป โปรดเกล้า ฯ ให้พระสุนทรราชวงษาเจ้าเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิขาดในเมืองนครพนม (ในมณฑลอุดร) ด้วย พระสุนทรราชวงษาจึ่งได้ให้อุปฮาด รักษาราชการอยู่ทางเมืองยโสธร แล้วตนก็ไปจัดราชการอยู่ณเมืองนครพนม ได้เกลี้ยกล่อมพวกครัวเมืองพิน เมืองนอง เมืองตะโปน เมืองมหาไชยกองแก้วเมืองวัง มาขึ้น ตั้งอยู่ในเขตรแขวงเมืองนครพนมเปนอันมาก แลต่อมาได้มีบอกมาขอตั้งเมืองสกลนคร เมืองวานรนิวาศ เมืองเรณูนคร เมืองท่าอุเทน (ในแขวงมณฑลอุดร) ขึ้น

ในปีนั้นองแวนเถือ องเตียนกง เมืองภูซุน[4] พากองทัพญวนล่วงเข้ามาตั้งอยู่ในชายพระราชอาณาเขตรทางริมเขตรเขมร โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เกณฑ์กำลังทางหัวเมืองฝ่ายตวันออก ไปสู้รบต้านทานกองทัพญวน ๆ ก็ยอมแพ้เลิกทัพกลับไป ครั้งนั้นได้พวกญวนที่เข้าสามิภักดิส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ เปนอันมาก

ขณะนั้น ฝ่ายพระยาเดโช (เมง) กับนักปรังซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งถิ่นฐานอยู่ณตำบลลงปลาแลเวินฆ้องแต่ก่อนนั้น พากันจะคิดหนีคืนไปเมืองเขมร หลวงจำนงเสมียนตรา (พรหม) บุตรเขยพระยาเดโช (เมง) จึ่งฟ้องกล่าวโทษขึ้น โปรดให้กวาดครอบครัวพระยาเดโช (เมง) นักปรังลงมากรุงเทพ ฯ

ภายหลังเจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) จึ่งเรียนเจ้าพระยาบดินทร เดชา ขอครัวพระยาเดโช (เมง) นักปรัง เจ้าพระยาบดินทรเดชามีบอกกราบทูล จึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานครัวพระยาเดโช (เมง) นักปรังแก่เจ้านครจำปาศักดิฮุย ๆ จึ่งได้ให้ครัวนักปรังไปตั้งอยู่ณเมืองเก่าปากเซโดน ให้ครัวพระยาเดโชไปตั้งอยู่บ้าน กลันแยง จึ่งเรียกว่าท่าเดโช มาเท่าบัดนี้

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๙๖ เจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) ขี่ช้างไปนาพลัดตกช้าง ๆ แทงเอาบอบช้ำเลยป่วยเปนวรรณโรคภายในมาแต่นั้น

ลุจุลศักราช ๑๑๙๗ ปีมแมสัปตศก สนองอี่พาครัวเมืองสะโทง กำปงสวายรวมหญิงชายใหญ่น้อย ๑๕๐๐ คนเศษเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) จึ่งแต่งให้เพี้ยอุปชาหลานพระยาเดโช (เมง) ไปรับครัวสนองอี่ขึ้นมาไว้ที่บ้านท่าแสงใต้ปากน้ำบางขมวนแล้วมีบอกมากราบบังคมทูล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หัก เงินส่วย ๑๒ ชั่ง ๑๕ บาท จัดซื้อเสบียงอาหารจ่ายให้ครัวสนองอี่

ลุจุลศักราช ๑๑๙๘ ปีวอกอัฐศก โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) แลพระมหาสงคราม เกณฑ์กำลังพลเมืองฝ่ายเหนือเฉียงตวันออกยกกองทัพไปตั้งอยู่ณเมืองนครพนม จัดราชการแลปราบปรามบรรดาหัวเมืองฝั่งโขงตวันออกมีเมืองมหาไชยเปนต้น ครั้งนั้นพระคำแดงซึ่งเปนอุปฮาด แลราชวงษ์ ท้าวขัติย ท้าวสุริยเมืองคำมวน พระคำดวน (ฤๅคำกอน) แลราชวงษ์ ราชบุตร เมืองคำเกิด พา ครอบครัวอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระยามหาอำมาตย์ ได้ ให้ครัวพระคำดวนซึ่งมีจำนวนคน ๒๘๕๙ คนตั้งอยู่ที่ท่าขอนยาง ครัวพระคำแดงจำนวนคน ๙๓๓ คน ตั้งอยู่ที่ตำบลบึงกระดาน เปนแขวงเมืองกาฬสินธุ์ทั้ง ๒ ตำบล

ลุจุลศักราช ๑๑๙๙ ปีรกานพศก ฝ่ายเมืองกาฬสินธุ์ พระยา พิไชยสุนทร (เลื่อน) เจ้าเมืองถึงแก่กรรม แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้อุปฮาด (หล้า) เปนพระยาพิไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้พระสุวรรณเปนอุปฮาด ให้พันทองเปนราชวงษ์ ให้ท้าวทิดปัดสาเปนราชบุตร รักษา ปกครองเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป อุปฮาด (พระสุวรรณ) ถึงแก่กรรม จึ่งโปรดให้ราชวงษ์ (พันทอง) เปนอุปฮาด

ในปีนั้นเกิดเพลิงใหญ่ไหม้ ในเมืองนครจำปาศักดิ บ้านเรือนเจ้านายแสนท้าวพระยาแลราษฎรเสียไปในเพลิงครั้งนั้นเกือบหมดทั้งเมือง เจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) จึ่งได้พาไพร่บ้านพลเมืองอพยพจากเมืองเก่าคันเกิง ย้ายลงไปตั้งเปนเมืองอยู่ที่ตำบลหินรอด จึ่งเรียกว่าเมืองเก่าหินรอดมาจนทุกวันนี้

ลุจุลศักราช ๑๒๐๒ ปีชวดโทศก อาการป่วยเจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) ทรุดลง ครั้นถึงวันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๕ เจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) ก็ถึงพิราไลย (ณเมืองเก่าหินรอด) อายุได้ ๖๓ ครองเมืองได้ ๑๓ ปี มีบุตรชาย ๗ คนชื่อ ๑ เจ้าโสม ๒ เจ้าอินทร์ ๓ เจ้าคำใหญ่ ๔ เจ้าคำสุก ๕ เจ้าสุย ๖ เจ้าน้อย ๗ เจ้าพรหม บุตรหญิง ๗ คนชื่อ ๑ เจ้าพิมพ์ ๒ เจ้าเขม ๓ เจ้าทุม ๔ เจ้าคำสิง ๕ เจ้าไข ๖ เจ้าคำแพง ๗ เจ้าดวงจันทร์ รวมชายหญิง ๑๔ คน ได้พร้อมกันก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณวัดไชยเมืองเก่าหินรอด ชาวเมืองเรียกว่าธาตุเจ้าย่ำขม่อม ปรากฎอยู่จนทุกวันนี้

ลุจุลศักราช ๑๒๐๓ ปีฉลูตรีศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าอุปราช (นาก) เปนเจ้านครจำปาศักดิ ให้เจ้าเสือบุตรเจ้าอินทร์หลานเจ้าอุปราช (ธรรมเทโว) เปนเจ้าอุปราช เจ้าเสนเปนเจ้าราชวงษ์ เจ้าสาเปนเจ้าราชบุตร ทั้งสองคนนี้เปนบุตรเจ้านครจำปาศักดิ (นาก)

ในปีนี้พระมหาสงครามแลเจ้าอุปราชเวียงจันท์ ยกกองทัพไป ตีเมืองวังแตก เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร แลท้าวเพี้ยราษฎรพาครอบครัวหนีกองทัพไทยระส่ำระสาย พระมหาสงครามได้จัดให้ท้าวสายท้าวเพี้ยเมืองวัง ไปเกลี้ยกล่อมได้ครอบครัวราชวงษ์ (กอ) แลท้าวคองบุตรเจ้าเมือง ท้าวตั้วบุตรอุปฮาดเมืองวังเข้าสามิภักดิ พาครัวข้ามมาฝั่งโขงตวันตกจำนวนคน ๓๐๐๓ คน ตั้งอยู่ณบ้านกุดฉิมนารายน์แขวงเมืองกาฬสินธุ์

ลุจุลศักราช ๑๒๐๕ ปีเถาะเบญจศก เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งขัดตาทัพอยู่เมืองอุดงมีไชยในกรุงกัมพูชา มีตราถึงเจ้านครจำปาศักดิ (นาก) แลหัวเมืองฝ่ายเหนือมีเมืองสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ขุขันธ์ สังฆะ สุรินทร์เปนต้น ให้เกณฑ์กำลังขึ้นไปสมทบทัพกรุง ฯ ฝ่ายเจ้านคร จำปาศักดิ (นาก) จึ่งแต่งท้าวพระยาคุมกำลังไปตั้งอยู่ณตำบลเปี่ยมมะเหล็กแขวงเมืองพนมศกได้ประมาณเดือน ขัดเสบียงอาหารลง เจ้าพระยาบดินทรเดชา จึ่งสั่งให้กองทัพเมืองนครจำปาศักดิยกกลับบ้านเมือง ให้เปนกองส่งลำเลียงแลกองตระเวนตรวจตรารักษาด่านทางแดนญวน เจ้านครจำปาศักดิ (นาก) จึ่งได้จัดส่งลำเลียงส่งไปยังกองหลวงอาสาณรงค์ ซึ่งตั้งอยู่ณบ้านหม้ออ้อม แลแต่งท้าวพระยาคุมกำลังไปเที่ยวลาดตระเวน แลเกลี้ยกล่อมพวกข่าผู้ไทย เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง เมืองวังได้เปนอันมาก

ลุจุลศักราช ๑๒๐๗ ปีมเสงสัปตศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้หมื่นเดชอุดม ซึ่งพาครอบครัวยกจากบ้านห้วยนายม แขวงเมืองวัง (ฝั่งโขงตวันออก) มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งอยู่บ้านภูแล่นช้างนั้น เปนพระพิไชยอุดมเดชเจ้าเมือง ให้เพี้ยโคตรหลักคำเปนอุปฮาด ให้เพี้ยมหาราชเปนราชวงษ์ ให้เพี้ยพรหมดวงสีเปนราชบุตร ยกบ้าน ภูแล่นช้าง ซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาภูแล่นช้าง ขึ้นเปนเมืองภูแล่นช้าง ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ตามความสมัคของพระพิไชยอุดมเดช ให้ผูกส่วยผลเร่วส่งเงินแทนปีละ ๘ ชั่งในจำนวนเลข ๓๑๔ คน แลโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระพิไชยอุดมเดช คือ เงินตรา ๒ ชั่ง ครอบเงินเครื่องในถม ๑ คนโทเงิน ๑ สัปทนแพรคัน ๑ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าดำปักทองมีซับผืน ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูมผืน ๑ พระราชทานอุปฮาด (โคตรหลักคำ) เงินตราชั่ง ๑ เสื้อเข้มขาบดอกถี่ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าดำปักไหมมีซับ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูม ๑ พระราชทานราชวงษ์ (มหาราช) เงินตรา ๑๕ ตำลึง เสื้อเข้มขาบดอกสเทิน ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าเชิงปูม ๑ พระราชทานราชบุตร (พรหมดวงสี) เงินตรา ๑๐ ตำลึง เสื้ออัดตลัดดอกลาย ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าเชิงปูม ๑

กับโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระคำดวน (ฤๅคำกอน) เมืองคำเกิด ซึ่งตั้งอยู่บ้านท่าขอนยาง เปนพระสุวรรณภักดีเจ้าเมือง ให้อุปฮาดเมืองคำเกิดเปนอุปฮาด ราชวงษ์เมืองคำเกิดเปนราชวงษ์ ราชบุตรเมืองคำเกิดเปนราชบุตร ยกบ้านท่าขอนยางขึ้นเปนเมืองท่าขอนยาง ผูกส่วยผลเร่วในจำนวนคน ๔๐๗ คน เปนผลเร่วสี่สิบหาบ คิดหาบละ ๕ ตำลึง รวมเปนเงินส่งแทนผลเร่วปีละ ๑๐ ชั่ง แลพระราชทานพระสุวรรณภักดี (คำดวนฤๅคำกอน) เงินตราชั่ง ๕ ตำลึง ถาดหมากคนโทเงิน ๑ สัปทนแพรคัน ๑ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ ผ้าโพกแพรขลิบ ๑ ผ้าดำปักทอง มีซับ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูม ๑

พระราชทานอุปฮาด, ราชวงษ์, ราชบุตรเมืองท่าขอนยางอย่างเดียวกันกับเมืองภูแล่นช้าง

กับโปรดตั้งให้อุปฮาด (คำแดง) เมืองคำมวน ซึ่งตั้งอยู่บ้าน บึงกระดานนั้น เปนพระศรีสุวรรณเจ้าเมือง ยกบ้านบึงกระดานเปนเมืองแซงบาดาล (อยู่ริมหนองแซงบาดาล) ให้ราชวงษ์ (จารจำปา) บุตรท้าวศรีสุราช เปนอุปฮาด ให้ท้าวขัติย (พก) บุตรพระคำราน เปนราชวงษ์ ให้ท้าวสุริย (จารโท) บุตรพระศรีสุวรรณ (คำแดง) เปนราชบุตร

กับให้ราชวงษ์ (กอ) เมืองวัง ซึ่งตั้งอยู่บ้านกุดฉิมนารายน์ เปนพระธิเบศร์วงษาเจ้าเมือง ให้ท้าวควงเปนอุปฮาดท้าวตั้วเปนราชวงษ์ ท้าวเนตรบุตรพระธิเบศร์วงษา (กอ) เปนราชบุตร ยกบ้านกุดฉิมนารายน์ ซึ่งตั้งอยู่ริมโบถนารายน์เก่า ขึ้นเปนเมืองกุดฉิมนารายน์ ทั้งสามเมืองดังกล่าวมาแล้ว ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินตราแลเสื้อผ้าเครื่องยศบันดาศักดิ แก่ผู้เปนเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร เปนอย่างเดียวกันกับเมืองท่าขอนยางฉนั้น

อนึ่งเมื่อจุลศักราช ๑๒๐๒ ปีชวดโทศกนั้น พระพรหมราชวงษา (ท้าวทิดพรหม) เจ้าเมืองอุบลราชธานีป่วยถึงแก่กรรมแล้ว ครั้นถึงวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีมเสงสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ จึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้อุปฮาด (กุทอง) เมืองอุบล เปนพระพรหมราชวงษาเจ้าเมืองอุบลราชธานี เปนลำดับที่ ๓ ให้ราชวงษ์เปนอุปฮาด ให้ท้าวโพธิสาร หลานพระพรหมราชวงษา (กุทอง) เปนราชวงษ์ ให้ท้าวสุริยบุตรพระพรหมราชวงษา (กุทอง) เปนราชบุตร

พระราชทานเครื่องยศให้พระพรหมราชวงษาคือพานถมเครื่องในทองคำสำรับ ๑ คนโททองคำ ๑ กระโถนถม ๑ ลูกประคำทองคำ ๑ สายกระบี่บั้งถม ๑ เสื้อหมวกตุ้มปี่ ๑ สัปทนปัสตู ๑ ปืนคาบศิลาฅอลาย ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วมลิเลื้อย ๑ ส่านไทยปักทอง ๑ ผ้าปูม ๑ ส่วนอุปฮาด ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ ปืนคาบศิลา ๑ สัปทนแพร ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ ส่านไทยปักทอง ๑ แพรสีทับทิม ติดขลิบ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูม ๑

ส่วนราชวงษ์ ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพร ๑ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ ผ้าดำปักทองมีซับ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่มนอน ๑ ผ้าปูม ๑

(ส่วนราชบุตรไม่ปรากฎว่าได้รับพระราชทานสิ่งใดในที่นี้)

ในเวลานั้นพระพรหมราชวงษาเจ้าเมืองอุบล ได้นำพระศรีสุราชเมืองตะโปน ท้าวอุปฮาดเมืองชุมพร ท้าวฝ่ายเมืองผาปัง ท้าวมหาวงษ์เมืองคางซึ่งพาครอบครัวรวม ๑๘๔๗ คน เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งอยู่บ้านช่องนาง แขวงเมืองอุบลนั้น เข้าเฝ้าใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพ ฯ ด้วย

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านช่องนางเปนเมืองเสนางคนิคม ให้ท้าวจันศรีสุราชเมืองตะโปน เปนที่พระศรีสินธุสงครามเจ้าเมือง ให้ท้าวฝ่ายเมืองผาปังเปนอัคฮาด ท้าวมหาวงษ์เมืองคางเปนอัควงษ์ รักษาเมืองเสนางคนิคม ขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี แลโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานเงินตราหนึ่งชั่ง ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพรคัน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขาวเสื้อ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบผืน ๑ ผ้าดำปักทองมีเชิงผืน ๑ แพรขาวห่มผืน ๑ผ้าปูมผืนหนึ่ง แก่พระศรีสินธุสงคราม

โปรดเกล้า ฯ พระราชทานอัคฮาด เงินตรา ๑๕ ตำลึง เสื้อเข้มขาบก้านแย่งเสื้อ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบผืน ๑ ผ้าดำปักไหมมีซับ ๑ ผ้าเชิงปูมผืน ๑

พระราชทานอัควงษ์เงินตรา ๑๐ ตำลึง เสื้อเข้มขาบดอกสเทินผืน ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าดำปักไหมมีซับ ๑ แพรขาวห่มผืน ๑ ครั้นแล้วพระศรีสินธุสงครามเจ้าเมือง อัคฮาด อัควงษ์ เมืองเสนางคนิคม จึ่งกราบถวายบังคมลาพากันกลับขึ้นไปตั้งอยู่เสียที่บ้านห้วยปลาแดกแขวงเมืองอุบล, ซึ่งเปนแขวงเมืองอำนาจเจริญทุกวันนี้ หาได้ไปตั้งเมืองอยู่ณบ้านช่องนาง ตามตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ไม่

ในระหว่างนั้น หลวงธิเบศร์ หลวงมหาดไทย หลวงอภัยกรมการเมืองศรีสระเกษ ร้องไม่สมัคที่จะทำราชการกับพระยาวิเศษภักดีเจ้าเมืองศรีสระเกษ จึ่งอพยพครอบครัวไปตั้งอยู่บ้านน้ำโดมใหญ่ ซึ่งเปนพรมแดนระหว่างเมืองจำปาศักดิ อุบล ขุขันธ์ ศรีสะเกษต่อกัน มีจำนวนเลขฉกรรจ์ ๖๐๖ คน สัมโนครัว ๒๑๕๐ คน

ครั้นวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีมเสงสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยกบ้านน้ำโดมใหญ่ขึ้นเปนเมืองเดชอุดม ตั้งหลวงธิเบศร์เปนพระศรีสุระเจ้าเมือง ให้หลวงมหาดไทยเปนหลวงปลัดให้หลวงอภัยเปนหลวงยกรบัตร รักษาราชการเขตรแขวงเมืองเดชอุดมทิศเหนือตั้งแต่ลำน้ำห้วยเท้าสารฝั่งใต้ ข้างทิศตวันตกแต่ลำน้ำห้วยเท้าสารไปถึงเชิงเขา เพียงลำน้ำชอง (ฤๅชอม) โอบตามเชิงเขาไปถึงโดมน้อยข้างทิศตวันออก แต่ลำน้ำโดมน้อยฟากข้างตวันตกไปจนถึงลำน้ำพมูลฝั่งใต้เปนเขตรแขวงเมืองเดชอุดมขึ้นกรุงเทพ ฯ

ฝ่ายเจ้าแก้ว เจ้าเมืองศรีจำปัง ซึ่งเปนบุตรเจ้าสุวรรณสาร ๆ เปนบุตรเจ้าโพธิสาร ๆ เปนบุตรเจ้าสร้อยศรีสมุทนั้น กับนักเมืองบุตรนักปรัง ทั้งสองนี้เกลี้ยกล่อมได้เขมรป่าดงเปนอันมาก เจ้านครจำปาศักดิ (นาก) จึ่งพาเจ้าแก้วกับนักเมืองไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชาณเมืองอุดงมีไชย เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึ่งมีบัญชาให้เจ้าแก้วควบคุมพวกเขมรป่าดง ผูกส่วยน้ำใจเปนขี้ผึ้งปีละหนึ่งหาบ

กับมีตราอนุญาตตั้งให้นักเมืองเปนพระณรงค์ภักดีเจ้าเมือง ให้ท้าวอินทรบุตรท้าวบุญสาร เปนหลวงอภัยภูธรปลัด นักเต๊กเปนหลวงแก้วมนตรียกรบัตร ยกบ้านท่ากะสังปากน้ำเซลำเภาขึ้นเปนเมืองขนานนามว่า เมืองเซลำเภา, กำหนดเขตรแขวงฝั่งน้ำโขงตวันตก แต่ปากห้วยละออกลงไปถึงห้วยชหลีกใต้เสียมโบกเปนแขวงเมืองเซลำเภา ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิแต่นั้นมา

ในลำดับนั้น เจ้านครจำปาศักดิ (นาก) ได้มีบอกขอยกบ้านห้วยทรายขึ้นเปนเมืองโพนทอง ตั้งให้ท้าวอินทร์นายครัว เปนที่พระอินทร์ศรีเชียงใหม่ กินน้ำคลองฉะแก ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิอิกเมืองหนึ่ง

ในปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านไพรตระหมัก (ฤๅบ้านดาสี) ขึ้นเปนเมืองมโนไพร ให้หลวงภักดีจำนง (ทิดพรหม) เสมียนตรา กรมการเมืองขุขันธ์ ซึ่งเปนบุตรเขยพระยาเดโช (เมง) เปนพระมโนจำนงเจ้าเมืองมโนไพร ขึ้นเมืองขุขันธ์ ครั้งนั้นโปรดให้หลวงอนุรักษภูเบศร์เปนข้าหลวงขึ้นไปจัดราชการหัวเมืองตวันออก แลจัดปันเขตรแดนเมืองจำปาศักดิ แลเมืองขุขันธ์ให้เปนเขตรแดนเมืองมโนไพร

ในระหว่างนี้ พระสีหนาท พระไชยเชษฐา นายครัวเมืองตะโปนยกครอบครัวมาตั้งอยู่ณบ้านคำเมืองแก้ว ฝั่งโขงตวันตกแขวงเมืองเขมราษฎร์ พระเทพวงษา (บุญจันทร์) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ จึงมีบอกลงมากรุงเทพ ฯ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านคำเมืองแก้ว ขึ้นเปนเมืองคำเขื่อนแก้ว ให้ตั้งพระสีหนาทเปนที่พระรามนรินทร์ เจ้าเมืองคำเขื่อนแก้ว ขึ้นเมืองเขมราษฎร์

เวลานั้นฝ่ายทางเมืองกาฬสินธุ์ พระยาไชยสุนทร (หล้า) เจ้าเมืองถึงแก่กรรม

โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้อุปฮาด (พันทอง) เปนพระยาไชยสุนทร เจ้าเมือง ให้ราชวงษ์เปนอุปฮาด ให้ท้าวกิ่งบุตรอุปฮาด เปนราชวงษ์ รักษาราชการเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๒๐๘ ปีมเมียอัฐศก วันจันทร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ พระยาขัติยวงษา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดป่วยถึงแก่กรรม อุปฮาด (สิง) ราชวงษ์ (อิน) บุตรพระยาขัติยวงษา จึ่งพาท้าวเพี้ยลงมากรุงเทพ ฯ พบกับพระพิไชยสุริยวงษ์เจ้าเมืองโพนพิไสยซึ่งเปนพี่ชาย พระพิไชยสุริยวงษ์ จึ่งพาอุปฮาด ราชวงษ์ ท้าวเพี้ย กรมการเมืองร้อยเอ็ดลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้พระพิไชยสุริยวงษ์กลับขึ้นไปรักษาราชการเมืองร้อยเอ็ด ครั้นพระพิไชยสุริยวงษ์ไปถึงเมืองร้อยเอ็ด จัดการเผาศพพระยาขัติยวงษาบิดาเสร็จแล้ว คืนวันหนึ่งอุปฮาด (สิง) ตั้งบ่อนโป นัดให้พระพิไชยสุริยวงษ์กับพวกนักเลงมาเล่นที่หอนั่งบ้านพระยาขัติยวงษา ครั้นเวลาดึกมีคนมาลอบแทงพระพิไชยสุริยวงษ์ถูกที่สีข้าง ๆ ซ้ายถึงแก่กรรม ได้ความว่าอุปฮาด (สิง) เกี่ยวในคดีนี้ ครั้นความทราบถึงกรุงเทพ ฯ จึ่งมีตราโปรดเกล้า ฯ ให้พระรัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ส่งอุปฮาด (สิง) แลบรรดาบุตรหลานพระยาขัติยวงษาลงมาณกรุงเทพฯ โปรดเกล้า ฯ ให้มีตระลาการชำระอุปฮาด (สิง) พิจารณาได้ความเปนสัตย์ว่า อุปฮาด (สิง) เปนผู้ใช้ให้จีนจั้นแทงพระพิไชยสุริยวงษ์ อุปฮาด (สิง) เลยต้องจำ ตายอยู่ในที่คุมขัง แลในระหว่างนั้นเมืองร้อยเอ็ดว่างอยู่ ยังหาทันได้โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ผู้ใดเปนเจ้าเมืองไม่

ลุจุลศักราช ๑๒๐๙ ปีมแมนพศก เจ้านครจำปาศักดิ (นาก) เห็นว่าเขตรแดนบ้านเมืองทางฝ่ายตวันตกลดน้อยแคบเข้า ด้วยเขตรแดนเมืองเดชก็ล่วงเข้ามาถึงบ้านดงกระชุ จึ่งได้ตั้งบ้านดงกระชุ (ฤๅบ้านไร่) ขึ้นเปนเมืองบัวกันแขวงเมืองเดชไว้ ตั้งให้ท้าวโสเปนที่พระอภัยธิเบศร์วิเศษสงครามเจ้าเมืองบัว ขึ้นเมืองจำปาศักดิอิกเมืองหนึ่ง

ในปีนี้พระสุนทรราชวงษาเจ้าเมืองยโสธรแต่งให้หมอควาญช้างต่อไปแทรกโพนได้ ช้างสีปลาด ๒ ช้าง จึ่งมีบอกแต่งให้กรมการนำช้างนั้นลงไปถวายณกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ขึ้นระวางขนานนามช้าง ทั้ง ๒ นั้นว่า พระพิมลรัตนกิรินีช้าง ๑ พระวิสูตรรัตนกิรินีช้าง ๑[5]

ลุจุลศักราช ๑๒๑๐ ปีวอกสัมฤทธิศก พระศรีสุวรรณ (พระคำแดง) เจ้าเมืองแซงบาดาลป่วยถึงแก่กรรม โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งอุปฮาด (จำปา) เปนพระศรีสุวรรณ ว่าราชการเมืองต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๒๑๑ ปีรกาเอกศก โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งราชวงษ์ (อินทร์) เมืองร้อยเอ็ด เปนพระขัติยวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด ให้ท้าวจัน บุตรราชบุตร เปนอุปฮาด ให้ท้าวภู บุตรราชวงษ์ (หล้า) เปนราชวงษ์ ให้ท้าวก่ำบุตร พระยาขัติยวงษา เปนราชบุตร พระขัติยวงษาเปนเจ้าเมืองร้อยเอ็ดได้ ๙ เดือนถึงแก่กรรม จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนอุปฮาด (จัน) ขึ้นเปนพระขัติยวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด เลื่อนราชวงษ์ (ภู) เปนอุปฮาด เลื่อนราชบุตร (ก่ำ) เปนราชวงษ์ ตั้งให้ท้าวสารบุตรพระพิไชยสุริยวงษ์ เจ้าเมืองโพนพิไสย เปนราชบุตร อยู่ได้เดือนเศษราชวงษ์ (ก่ำ) ถึงแก่กรรม พระขัติยวงษาจึ่งบอกขอตั้งราชบุตร (สาร) เปนราชวงษ์ ขอท้าวจอมบุตรพระขัติยวงษา (สีลัง) เปนราชบุตร

ลุจุลศักราช ๑๒๑๒ ปีจอโทศก เจ้าเมืองบัว เจ้าเมืองเดช เกิดวิวาทแย่งชิงเขตรแดนว่ากล่าวมิตกลงกัน เจ้านครจำปาศักดิ (นาก) กับพระศรีสุระเจ้าเมืองเดชจึ่งได้พากันลงมาณกรุงเทพ ฯ เพื่อขอให้กรมมหาดไทยตัดสินเรื่องวิวาทเขตรแดนให้ตกลงกัน

ครั้นวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีจอโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ เจ้านครจำปาศักดิ (นาก) ป่วยเปนอหิวาตกะโรคถึงพิราไลยอยู่ณกรุงเทพ ฯ เจ้านครจำปาศักดิ (นาก) ครองเมืองจำปาศักดิได้ ๙ ปี อายุได้ ๗๖ ปี มีบุตรชาย ๖ คน คือ ๑ เจ้าราชวงษ์ (เสน) ๒ เจ้าราชบุตร (สา) ๓ เจ้าโพธิสาร (หมี) ๔ เจ้าอินทชิต (บุตร) ๕ เจ้าสิงคำ ๖ เจ้าคำน้อย บุตรหญิง ๔ คน ๑ ชื่อนางดวงจัน ๒ นางอิ่ม ๓ นางเจียง ๔ นางเขม ในระหว่างนั้นยังมิทันโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ผู้ใดเปนเจ้านครจำปาศักดิ

ฝ่ายทางเมืองขุขันธ์พระยาขุขันธ์ซึ่งมาแต่เมืองสังฆะถึงแก่กรรม แล้วโปรดตั้งให้พระภักดีภูธรสงคราม (ใน) ปลัด เปนพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง เลื่อนพระมหาดไทย (ลา) เปนพระภักดีภูธรสงคราม ๆ ถึงแก่กรรม โปรดให้ท้าวกึ่งบุตรพระยาขุขันธ์ (หลวงปราบ) เปนปลัด ท้าวศรีเมืองเปนพระมหาดไทย

ครั้นต่อมาพระยาขุขันธ์ (ใน) ถึงแก่กรรม โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระยกรบัตร (นวล) เปนพระยาขุขันธ์ เลื่อนพระมหาดไทย (ศรีเมือง) เปนพระยกรบัตรต่อมา

จนลุศักราช ๑๒๑๒ ปีจอโทศก พระยาขุขันธ์ (นวล) ป่วยถึงแก่กรรม โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระภักดีภูธรสงคราม (กึ่ง) ปลัด เปนพระยาขุขันธ์เลื่อนพระยกรบัตร (ศรีเมือง) เปนพระปลัด ให้พระวิเศษ (พิมพ์) เปนพระแก้วมนตรียกรบัตร

วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุญยังเปนโทศกจุลศักราช ๑๒๑๒-๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สิ้นรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเศกสืบสวริยาธิปัติ เปนพระเจ้าแผ่นดินสยามโดยลำดับรัชกาล ที่ ๔ ต่อไป

ในปีนั้นพระยาสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน(สุ่น)เจ้าเมืองสุรินทร์ แลพระยาไชยสุนทร (ทอง) เจ้าเมือง แลราชบุตร (ปัดชา) เมืองกาฬสินธุ์ถึงแก่กรรม

จึ่งโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ เปนพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ราชวงษ์ (กิ่ง) เลื่อนเปนอุปฮาด ให้ท้าวขัติย (เกษ) เปนที่ราชวงษ์เมืองกาฬสินธุ์

กับโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์เปนข้าหลวงขึ้นไปจัดราชการ แลเร่งเงินส่วยอยู่ณเมืองนครจำปาศักดิ

ครั้นวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวดยังเปนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ - ๔ เจ้าอุปราช (เสือ) เมืองนครจำปาศักดิป่วยถึงอนิจกรรม

ลุจุลศักราช ๑๒๑๔ ปีชวดจัตวาศก หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ จึ่งพาเจ้าบัวบุตรเจ้านู กับเจ้าราชวงษ์ (เสน) เจ้าโพธิสาร (หมี) เจ้าแสง คุมเครื่องยศแลเงินส่วยเมืองนครจำปาศักดิ ลงมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ณกรุงเทพ ฯ

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าบัวเปนเจ้านครจำปาศักดิ แต่ยังหาทันได้รับพระราชทานหิรัญบัตรไม่ เจ้าบัวป่วยถึงแก่กรรมอยู่ ณบ้านแสงกรุงเทพ ฯ

ฝ่ายเจ้าราชวงษ์ (เสน) กับเจ้าแสง ต่างชิงกันจะขอเปนเจ้านครจำปาศักดิ ต่างคนก็ต่างกล่าวโทษซึ่งกันแลกันอยู่

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ กับหลวงศักดิเสนี เปนข้าหลวงขึ้นไปถามสมัคแลจัดราชการอยู่ณเมืองนครจำปาศักดิ

ในระหว่างปีนั้น พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมืองขุขันธ์ อุปฮาดว่าที่พระยาไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ พระรัตนวงษา (ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระเทพวงษา (บุญจันทร์) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ พระศรีสุระเจ้าเมืองเดชอุดม พระสุวรรณภักดี (คำกอน) เจ้าเมือง ท่าขอนยาง ถึงแก่กรรม

ฝ่ายทางเมืองสุรินทร์ พระไชยณรงค์ภักดีปลัด พระพิไชยราชวงษาผู้ช่วย แลกรมการเมืองสุรินทร์ คุมเครื่องยศพระยาสุรินทร์ (สุ่น) ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ที่สมุหนายกปฤกษาพร้อมด้วยกรมการเมืองสุรินทร์ หาตัวผู้เปนเจ้าเมืองสุรินทร์ ขณะนั้นพระวิเศษ พระนรินทร์กรมการ จึ่งกราบเรียนเจ้าพระยานิกรบดินทร์ว่าพระพิไชยราชวงษา(ม่วง) ผู้ช่วยซึ่งเปนบุตรพระยาสุรินทร์ (สุ่น) เปนผู้มีสติปัญญาชำนิชำนาญในราชการแลมีใจโอบอ้อมอารีแก่กรมการไพร่บ้านพลเมือง สมควรที่จะเปนเจ้าเมืองสุรินทร์ได้ แลฝ่ายพระไชยณรงค์ภักดีปลัดก็แสดงตัวว่าเปนคนชรา มิได้มีความรังเกียจในการที่จะให้พระพิไชยราชวงษาผู้ช่วยเปนเจ้าเมือง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้พระพิไชยราชวงษา (ม่วง) ผู้ช่วย เปนพระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมันผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ พระราชทานครอบถมเครื่องในถมเขียวปริกทอง ๒ จอกหมาก ๒ ตลับ ๑ ซองพลู ๑ มีด ๑ คนโทถม ๑ ประคำทองสาย ๑ กระบี่บั้งถม ๑ สัปทนปัสตูคัน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วมลเลื้อย ๑ แพรโพกขลิบ ๑ ผ้าส่านบัวทอง๑ ผ้าขาว ๑ ผ้าปูม ๑ เปนเครื่องยศ แต่วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีชวดจัตวาศก ๑๒๑๔

ลุจุลศักราช๑๒๑๕ ปีฉลูเบญจศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระวิไชย (วัง) บุตรพระยาขุขันธ์ (หลวงปราบ) เปนพระยาขุขันธ์ ให้อุปฮาด (กิ่ง) เปนพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวหนู น้องพระยาไชยสุนทร (กิ่ง) เปนอุปฮาด ให้ท้าวขีบุตรพระยาไชยสุนทร (ทอง) เปนราชบุตร รักษาราชการเมืองกาฬสินธุ์

ให้ท้าวศาลบุตรพระรัตนวงษา (โอ๊ะ) เปนพระรัตนวงษา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ

ให้ท้าวบุญเฮา เปนพระเทพวงษา เจ้าเมืองเขมราษฎร์

ให้หลวงปลัด เปนพระศรีสุระ เจ้าเมืองเดชอุดม

ให้อุปฮาด เปนพระสุวรรณภักดีเจ้าเมือง เลื่อนราชวงษ์ เปนอุปฮาด ให้ท้าวพรหมาเปนราชวงษ์ รักษาราชการเมืองท่าขอนยาง ครั้นราชวงษ์ ราชบุตรถึงแก่กรรม ท้าวหงษ์ได้รับตำแหน่งเปนราชวงษ์ต่อไป

ในระหว่างปีนั้น เจ้านายท้าวพระยาเมืองจำปาศักดิ มีบอกกล่าวโทษหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงเสนีพิทักษ์ ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ไปจัดราชการอยู่ณเมืองจำปาศักดินั้นว่า ทำการกดขี่ลงเอาเงินราษฎร จึ่งมีตราให้หาตัวหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงเสนีพิทักษ์กลับกรุงเทพ ฯ แลให้นำตัวเจ้าคำใหญ่บุตรเจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) เจ้าจูบุตรเจ้านครจำปาศักดิ (หมาน้อย) มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทด้วย

ลุจุลศักราช ๑๒๑๖ ปีขาลฉศก พระรัตนวงษา (ศาล) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม ยังหาทันได้โปรดให้ผู้ใดเปนเจ้าเมืองไม่

อุปฮาดว่าที่พระยาไชยสุนทรเมืองกาฬสินธุ์ มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ ว่าราชบุตรเมืองกุดฉิมนารายน์ไม่มีตัว ขอพระราชทานท้าวขัติยเปน ราชบุตรเมืองกุดฉิมนารายน์

วันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ปีนี้จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวขัติยเปนราชบุตรเมืองกุดฉิมนารายน์ พระราชทานเสื้ออัดตลัดดอกสเทิน ๑ แพรขาว ๑ ผ้าเชิงปูม ๑

ลุจุลศักราช ๑๒๑๗ ปีเถาะสัปตศก อุปฮาด, ราชบุตร เมืองกาฬสินธุ์ มีบอกขอตั้งราชบุตรเมืองกุดฉิมนารายน์เปนราชวงษ์เมืองกุดฉิมนารายน์

วันจันทร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙ จึ่งโปรดให้ราชบุตรเปนราชวงษ์เมืองกุดฉิมนารายน์ตามขอ พระราชทานเสื้ออัดตลัด ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าลายนุ่ง ๑ ในปีนี้โปรดเกล้า ฯ ให้พระวัชรินทรารักษ์ พระมหาวินิจฉัยข้าหลวง พาเจ้าคำใหญ่เจ้าจูกลับไปจัดราชการบ้านเมืองณเมืองจำปาศักดิ พระวัชรินทรารักษ์ป่วยถึงแก่กรรมอยู่ณเมืองจำปาศักดิ พระมหาวินิจฉัยจึ่งพาเจ้าคำใหญ่ เจ้าจู กลับมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพ ฯ

ลุจุลศักราช ๑๒๑๘ ปีมโรงอัฐศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าคำใหญ่ เปนเจ้ายุติธรรมสุนทร เจ้านครจำปาศักดิ ตั้งเจ้าจูเปนเจ้าอุปราช ตั้งเจ้าหมี บุตรเจ้าราชบุตร (เกษ) เปนเจ้าราชวงษ์ ให้เจ้าอินทชิต บุตรเจ้านครจำปาศักดิ (นาก) เปนเจ้าราชบุตร ให้เจ้าสุริย (บ้ง) น้องเจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) เปนเจ้าศรีสุราช กลับไปรักษาราชการณเมืองนครจำปาศักดิ แลโปรดเกล้า ฯ กำหนดให้เปลี่ยนธรรมเนียมส่งเครื่องราชบรรณาการเปนปีละครั้งทุกปีแต่นั้นมา

ในปีนี้ พระศรีสินธุสงคราม เจ้าเมืองเสนางคนิคมป่วยถึงแก่กรรม ท้าววรบุตรได้บัญชาการเมืองต่อไป ในระหว่างซึ่งยังไม่มีตัวเจ้าเมือง

ลุจุลศักราช ๑๒๑๙ ปีมเสงนพศก พระสุนทรราชวงษา (ฝ่าย) เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองยโสธรถึงแก่กรรม ยังแต่พระศรีวรราช บุตรพระสุนทร แลกรมการช่วยกันดูแลราชการบ้านเมืองอยู่

ลุจุลศักราช ๑๒๒๐ ปีมเมียสัมฤทธิศกวันพุธ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๘ เจ้านครจำปาศักดิ (คำใหญ่) ถึงแก่พิราไลย อายุได้ ๒๘ ปี ครองเมืองได้ ๓ ปี มีบุตรหญิง ๒ คน ชื่อนางคำผิว ๑ นางมาลา ๑ เจ้าอุปราช (จู) ได้บังคับบัญชาการเมืองต่อไป ยังหาทันโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ผู้ใดเปนเจ้านครจำปาศักดิไม่

ในปีนี้ พระเทพวงษาเจ้าเมืองเขมราษฎร์ ได้มีบอกขอตั้งบ้านค้อใหญ่เปนเมือง ขอตั้งท้าวจันทบรมเปนพระอมรอำนาจเจ้าเมือง ตั้งท้าวบุตตะเปนอุปฮาด ให้ท้าวสิงหราชเปนราชวงษ์ ท้าวสุริโยเปนราชบุตร รักษาราชการเมืองอำนาจเจริญ ขึ้นกับเมืองเขมราษฎร์ ผูกส่วยเงินแทนผลเร่วปีละ ๑๒ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่พระรัตนวงษา (ศาล) เจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้วก็ยังหามีตัวเจ้าเมืองไม่ ท้าวเพี้ยกรมการเห็นว่า ท้าวมหาราช (เลน) บุตรอุปฮาด (อ่อน) ราชวงษ์ (คำผาย) บุตรพระรัตนวงษา (ภู) ทั้ง ๒ นี้สมควรจะเปนผู้รักษาราชการบ้านเมืองได้ จึ่งได้พากันมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ณกรุงเทพ ฯ ขอตั้งท้าวมหาราช ราชวงษ์ เปนที่เจ้าเมือง แลอุปฮาดรักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวมหาราช เปนพระรัตนวงษาเจ้าเมือง แลเลื่อนราชวงษ์เปนอุปฮาด เลื่อนราชบุตรเปนราชวงษ์ ตั้งท้าวคำสิงเปนราชบุตร กลับไปรักษาราชการณเมืองสุวรรณภูมิ

ฝ่ายเมืองเดชอุดม พระศรีสุระเจ้าเมืองที่ ๒ ป่วยถึงแก่กรรมโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้หลวงวิเศษ (สาร) ผู้ช่วย บุตรพระศรีสุระเจ้าเมืองที่ ๑ เปนพระศรีสุระเจ้าเมืองที่ ๓ ให้ท้าวแพงเปนที่หลวงปลัด ท้าวแสงบุตรพระศรีสุระเจ้าเมืองที่ ๓ เปนหลวงยกรบัตร รักษาราชการเมืองเดชอุดมต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๒๒๑ ปีมแมเอกศก โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยายมราช (แก้ว) แต่ครั้งยังเปนเจ้า พระยากำแหงสงครามเจ้าเมือง ๆ นครราชสิมา เปนข้าหลวงแม่กองสัก ตั้งกองสักเลขหัวเมืองตวันออก อยู่ณเมืองยโสธร บรรดาเลขในมณฑลอิสาณได้สักหมายหมู่ไว้ณครั้งนั้นเปนอันมาก

ในปีนี้ คนใช้ของพระรัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิไปแทรกโพนได้ช้างพลายเผือกหนึ่งช้าง สูงสี่ศอก จึ่งบอกไปกราบเรียนเจ้าพระยากำแหงสงครามส่งบอกลงมาณกรุงเทพ ฯ มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ให้ส่งช้างพลายเผือกนั้นลงมาณกรุงเทพ ฯ พระรัตนวงษาเจ้าเมือง

แลอุปฮาด ท้าวเพี้ยกรมการเมืองสุวรรณภูมิ จึ่งได้นำช้างสำคัญมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้มีการสมโภช ขึ้นระวางขนานนามช้างพลายเผือกนั้นว่า พระมหาศรีเสวตรวิมลวรรณ ตั้งหมอช้างให้เปนขุนประสบสารเสวตร ตั้งควาญเปนหมื่นวิเศษนัคราช แลโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินแก่พระรัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิห้าชั่ง ให้ขุนประสบสารเสวตรหมอห้าชั่ง แหวนทองคำสามสำรับ ให้หมื่นวิเศษนัคราชควาญสามชั่ง แหวนทองคำสองสำรับ กับตราภูมิคุ้มห้าม แลเสื้อผ้าตามสมควร

ลุจุลศักราช ๑๒๒๓ ปีรกาตรีศก คนใช้พระรัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคล้องได้ช้างเผือกอิกช้างหนึ่ง นำมาถวายณกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้าฯให้มีการสมโภชตามธรรมเนียม พระราชทานนามช้างสำคัญนั้นว่า พระเสวตรสุวรรณาภาพรรณ ตั้งหมอเปนขุนสุวรรณเสวตร ตั้งควาญเปนหมื่นวิเศษกำราบ พระราชทานเงินแลเสื้อผ้าให้หมอควาญตามธรรมเนียม กับพระราชทานเงินให้พระรัตนวงษาห้าชั่ง แลทั้งเพิ่มเติมเครื่องยศให้ด้วย

เมื่อวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระศรีวรราช (เหม็น) ผู้ช่วย บุตรพระสุนทรราชวงษา (ฝ่าย) เปนพระสุนทรราชวงษา มหาขัติยชาติ ประเทศราชดำรงรักษ์ ศักดิยศไกร ศรีพิไชยสงคราม เจ้าเมืองยโสธร พระราชทานพานหมากเงินกลมถมตะทองปากจำหลักกลีบบัว ๑ เครื่องในทองคำ คือ จอกหมาก ๒ ผะอบ ๒ ตลับขี้ผึ้ง ๑ ซองพลู ๑ ซองบุหรี่ ๑ มีดหนีบหมาก ๑ คนโททองคำ ๑ กระโถนเงินถม ๑ ประคำทองสาย ๑ กระบี่บั้งทอง ๕ บั้ง ๑ สัปทนปัสตู ๑ เสื้อทรงประภาศหมวกตุ้มปี่กำมะหยี่สำรับ ๑ ปืนชนวนทองแดงต้นเลี่ยมเงิน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดี ๑ เสื้อแพรจินเจา ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ส่านไทยปักทอง ๑ ผ้าปูมเขมร ๑ ผ้าลายเกี้ยว ๑ แพรขาวหงอนไก่ลาย ๑ แพรขาวโล่ ๑

แลโปรดตั้งให้ท้าวแข้ บุตรอุปฮาด (แพง) เปนอุปฮาด ให้ท้าวอ้น บุตรพระจันทศรีสุราช เปนราชวงษ์ ให้ท้าวพิมพ์หลานอุปฮาด (แพง) เปนราชบุตร ให้ท้าวสุพรหมบุตรพระสุนทรราชวงษา (เหม็น) เปนพระศรีวรราช ผู้ช่วยรักษาราชการเมืองยโสธร

ในปีนี้ พระศรีสุวรรณ (จำปา) เจ้าเมืองแซงบาดาลถึงแก่กรรม ราชวงษ์ (พก) ได้รับราชการเปนทิ่พระศรีสุวรรณเจ้าเมือง ท้าวบุญ บุตรพระศรีสุวรรณ (จำปา) เปนอุปฮาด ท้าวขีบุตรพระศรีสุวรรณ (พระคำแดง) เปนราชวงษ์ ท้าวพรหม บุตรพระศรี เปนราชบุตร รักษาบัญชาราชการเมืองแซงบาดาลต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๒๒๔ ปีจอจัตวาศก เมืองกาฬสินธุ์มีบอกขออุปฮาด (ดวง) เปนพระธิเบศร์วงษาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ แลเมืองอุบลมีบอกขอตั้งท้าววรบุตร เปนพระศรีสินธุสงครามเจ้าเมืองเสนางคนิคม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้อุปฮาด (ดวง) แลท้าววรบุตร เปนเจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ แลเจ้าเมืองเสนางคนิคม ตามเมืองกาฬสินธุ์แลเมืองอุบล, ขอ

ฝ่ายทางเมืองนครจำปาศักดิตั้งแต่เจ้านครจำปาศักดิ (คำใหญ่) พิราไลยแล้ว เจ้าอุปราช (จู) ได้ว่าราชการเมืองต่อมา ก็หาถูกต้องกับแสนท้าวพระยาไม่ มีผู้ทำเรื่องราวกล่าวโทษเจ้าอุปราช (จู) ครั้นมาถึงปีนี้จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราหาตัวเจ้าอุปราช (จู) มาแก้คดีณกรุงเทพ ฯ แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราพระราชสีห์ไปถึงเจ้าพระยากำแหงสงครามซึ่งตั้งกองสักอยู่ณเมืองยโสธรนั้น ให้เลือกหาบุตรหลานเจ้านครจำปาศักดิเก่า ซึ่งสมควรจะได้รับเปนเจ้านครจำปาศักดิต่อไป เจ้าพระยากำแหงสงครามจึ่งบอกขอเจ้าคำสุก บุตรเจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) เปนเจ้านครจำปาศักดิ

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๒๕ ปีกุญเบญจศก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เจ้าคำสุกเปนเจ้านครจำปาศักดิ มีราชทินนามว่า เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ ระหว่างนั้นเจ้าอุปราช (จู) ป่วยถึงแก่กรรมอยู่ณบ้านช่างแสงกรุงเทพ ฯ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เจ้าแสง บุตรเจ้านครจำปาศักดิ (หมาน้อย) เปนเจ้าอุปราช ให้เจ้าหน่อคำ บุตรเจ้าเสือ หลานเจ้าอนุเวียงจันท์ เปนเจ้าราชวงษ์

พระพรหมราชวงษาเจ้าเมืองอุบล, กราบเรียนเจ้าพระยากำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสิมา ขอตั้งบ้านกว้างลำชะโด บ้านสะพือ บ้านเวินไชย เปนเมือง ขอให้ท้าวจุมมณี ท้าวสุริยวงษ์ (อ้ม) ท้าวคำพูน ผู้บุตรเปนเจ้าเมือง เจ้าพระยากำแหงสงครามเห็นชอบด้วย จึ่งมีบอกมา กราบบังคมทูลพระกรุณาณกรุงเทพ ฯ

วันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีนี้ พระพรหมราชวงษา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลถึงแก่กรรม ยังหาทันโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ผู้ใดเปนเจ้าเมืองไม่ มีแต่อุปฮาด, ราชวงษ์,ราชบุตร, ท้าวเพี้ยกรมการช่วยกันรักษาราชการบ้านเมืองอยู่เท่านั้น

วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านกว้างลำชะโด ตำบลปากน้ำมูล เปนเมืองพิมูลมังษาหาร ตั้งท้าวธรรมกิติกา (จุมมณี) เปนพระบำรุงราษฎรเจ้าเมือง ให้ท้าวโพสาราช (เสือ) เปนอุปฮาด ท้าวสีฐาน (สาง) เปนราชวงษ์ ท้าวขัติยเปนราชบุตร

ให้ตั้งบ้านสะพือ เปนเมืองตระการพืชผล ตั้งท้าวสุริยวงษ์ (อ้ม) เปนพระอมรดลใจเจ้าเมือง ท้าวพรหมา (บุตร) เปนอุปฮาด ท้าวสีหาจักร (ฉิม) เปนราชวงษ์ ท้าวกุลบุตร (ท้าว) เปนราชบุตร ตั้งบ้านเวินไชย เปนเมืองมหาชนะไชย ตั้งท้าวคำพูนเปนพระเรืองไชยชนะเจ้าเมือง ท้าวโพธิราช (ผา) เปนอุปฮาด ท้าววรกิติกา (ไชย) เปนราชวงษ์ ท้าวอุเทนหอย เปนราชบุตร ขึ้นเมืองอุบลราชธานีทั้ง สามเมือง พระราชทานเครื่องยศส่วนเจ้าเมือง คือถาดหมากเงิน ๑ คนโทเงิน ๑ สัปทนแพร ๑ ผ้าวิลาศห่มนอน ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ เสื้อเข้มขาบ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ ส่วนราชวงษ์ เสื้อ อัดตลัดดอก ๑ แพรขาวแถบ ๑ ผ้าลายนุ่ง ๑ ส่วนราชบุตร เสื้อ อัดตลัด ๑ แพรขาวห่ม ๑ เหมือนกันทั้ง ๓ เมือง แลโปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งท้าวเพี้ยไพร่พลเมืองอุบล ไปอยู่เมืองละสองพันเศษ แต่เมืองมหาชนะไชยนั้นผู้ว่าราชการกรมการยกไปตั้งว่าราชการเมืองอยู่ณตำบลดง ฝั่งแดงริมลำน้ำพาชี หาได้ตั้งที่บ้านเวินไชยไม่

ลุจุลศักราช ๑๒๒๖ ปีชวดฉศก เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) เจ้านครจำปาศักดิ ได้ย้ายครอบครัวจากเมืองเก่าหินรอด มาตั้งอยู่ณตำบลระหว่างโพนบกกับวัดลครริมแม่น้ำโขงตวันตก เปนเมืองนครจำปาศักดิซึ่งคงอยู่ในบัดนี้ แลเวลานั้น เพี้ยเมืองโคตร บ้านคันซมซัวแขวงเมืองเจียมโจทสมัคขึ้นเจ้านครจำปาศักดิ ๆ จึ่งตั้งบ้านคันซมซัวเปนเมืองนครเพ็ง (อยู่ฝั่งโขงตวันออก) ให้เพี้ยเมืองโคตรเปนเจ้าเมือง ขึ้น เมืองนครจำปาศักดิอิกเมืองหนึ่ง (ภายหลังเมืองนี้กลับขึ้นเมืองเจียมดังเก่า) วันศุกร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนอ้าย พระยาไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ มีหมายตั้งเจ้าขัติยให้ว่าที่ราชวงษ์เมืองภูแล่นช้าง

แลในปีนี้หัวเมืองฝ่ายตวันออกเกิดฝนแล้งเข้าแพง ซื้อขายกันราคาสัดละตำลึง ฤๅ ๔ ทนานต่อบาทบ้าง

ลุจุลศักราช ๑๒๒๗ ปีฉลูสัปตศก พระขัติยวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ดมีบอกขอตั้งบ้านลาดกุดยางใหญ่ (ฤๅนางใหญ่ ฤๅใย) เปนเมือง จึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลาดกุดยางใหญ่ ฤๅนางใย เปนเมืองมหาสารคาม ให้ท้าวมหาไชย บุตรอุปฮาด (สิง) เมืองร้อยเอ็ด เปนพระเจริญราชเดชเจ้าเมือง ให้ท้าวบัวทองบุตรอุปฮาด (ภู) เปนอัคฮาด ให้ท้าวไชยวงษา (ฮึง) บุตรพระยาขัติยวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด เปนอัควงษ์ ให้ท้าวเถื่อนบุตรพระขัติยวงษา (จัน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด เปนอัคบุตร รักษาเมืองมหาสารคามขึ้นเมืองร้อยเอ็ด เมืองร้อยเอ็ดได้แบ่งเลขให้ ๔๐๐๐ คน ทั้งสัมโนครัวประมาณ ๙๐๐๐ คน

ฝ่ายเมืองร้อยเอ็ด อุปฮาด (ภู) ถึงแก่กรรม แลพระขัติยวงษาเจ้าเมืองก็แก่ชรา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระขัติยวงษา เปนพระนิคมจางวาง ตั้งให้ราชวงษ์ เปนพระขัติยวงษาเจ้าเมือง ตั้งให้ราชบุตร เปนอุปฮาด ให้ท้าวก่ำ เปนราชวงษ์ ท้าวเสือบุตรพระวิไสยสุริยวงษ์เปนราชบุตร

ในปีนี้เจ้าพระยานิกรบดินทรที่สมุหนายกถึงแก่อาสัญกรรม ครั้นวันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสุวรรณบัตร ตั้งให้เจ้ากรมพระยายมราช (นุช) เปนเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก แทนเจ้าพระยานิกรบดินทรต่อไป

ในปีนี้ ฝ่ายเมืองยโสธร ไปแทรกโพนได้ช้างสีปลาดบอกส่งมาถวายณกรุงเทพฯ ๑ ช้าง

ฝ่ายทางเมืองเขมราษฎร์ พระเทพวงษา (บุญเฮา) ป่วย ถึงแก่กรรม

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๒๘ ปีขาลอัฐศก โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวบุญสิงเปนเจ้าเมืองเขมราษฎร์

กับโปรดเกล้า ฯ ตั้งเมืองพรหมกัน ให้หลวงสัศดี (สิน) เปน ที่พระวิไชย เจ้าเมืองพรหมกันขึ้นกับเมืองสังฆะในปีนี้ด้วย

ในปีนี้จีนหอยลูกค้าเมืองอุบลไปพักอยู่ที่ริมบ้านเหมือดแอ ห้วยกากวาก ถูกผู้ร้ายปล้นฆ่าตาย พี่น้องของจีนหอยได้ร้องต่อเมืองอุบล ๆ ว่าเปนแขวงเมืองสุวรรณภูมิ ครั้นไปร้องทางเมืองสุวรรณภูมิ ๆ ก็ว่าไม่ใช่แขวงเมืองสุวรรณภูมิ พี่น้องจีนหอยจึ่งได้ไปกราบเรียนเจ้าพระยานครราชสิมา ๆ จึ่งเรียกเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ เจ้าเมืองอุบล เจ้าเมืองศรีสระเกษไปพร้อมกันแล้วมีบัญชาว่า เกิดความฆ่ากันตายในที่ใกล้บ้านแขวงเมืองอุบล เมืองศรีสระเกษ เมืองสุวรรณภูมิ ถ้าเมืองใดสืบผู้ร้ายได้จะยกที่ตำบลนั้นให้เปนของเมืองนั้นถ้าสืบไม่ได้จะ ให้เฉลี่ยเสียเงินให้แก่พี่น้องจีนหอย ฤๅถ้าเมืองใดอยากจะได้ที่ดินตำบลนั้นแล้ว ก็ให้เอาเงินเสียให้แก่พี่น้องจีนหอยห้าชั่ง จะยกที่ดินตำบลนั้นให้เปนแขวงเมืองนั้น เจ้าเมืองอุบลจึ่งยอมเสียเงินให้แก่พี่น้องจีนหอย เจ้าพระยานครราชสิมา จึ่งได้ตัดสินยกที่ดินตำบลนั้นให้แก่เมืองอุบล ตั้งแต่ห้วยกากวากถึงปากซีตกมูลตั้งแต่นั้นมา เมืองอุบลจึ่งได้ไปปักหลักเขตรแดนไว้เปนสำคัญ

ฝ่ายเมืองสุวรรณภูมิ จึ่งบอกกล่าวโทษเมืองอุบลลงมากรุงเทพ ฯ ว่า เมืองอุบลปักหลักล่วงเขตรแดนเมืองสุวรรณภูมิ จึ่ง โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองทั้งสองส่งแผนที่ แลให้ถามกรมการเมืองอุบล ซึ่งลงมาอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ในเวลานั้น ได้ความในเรื่องจีนหอย ตามที่เจ้าพระยานครราชสิมาตัดสินแล้วนั้น จึ่งได้มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ตัดสินขึ้นไปว่า ตั้งแต่ห้วยกากวากฝั่งตวันออกไปจนถึงลำมูลลำซี ให้เปนเขตรแขวงเมืองชนะไชยขึ้นเมืองอุบล ตั้งแต่ห้วยกากวากฝั่งตวันตกให้เปนแขวงเมืองสุวรรณภูมิ

พระธิเบศร์วงษาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ถึงแก่กรรม พระยาไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ มีบอกขอตั้งอุปฮาดเมืองกุดฉิมนารายน์เปนเจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีนี้จึ่งโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้อุปฮาดเปนพระธิเบศร์วงษาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ พระราชทานถาดหมากคนโทเงิน ๑ สำรับ สัปทนแพรหลิน ๑ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าดำปักไหมทอง ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูม ๑ เปนเครื่องยศ

ฝ่ายเมืองอุบลนั้น ตั้งแต่พระพรหมราชวงษา (กุทอง) ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังไม่มีเจ้าเมืองมาจนถึงปีนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เจ้าหน่อคำ หลานเจ้าอนุเวียงจันท์ ซึ่งเปนเจ้าราชวงษ์อยู่เมืองจำปาศักดินั้น ไปเปนเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์เจ้าเมืองอุบลราชธานีต่อไป

ส่วนตำแหน่งเจ้าราชวงษ์เมืองจำปาศักดินั้นโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพิมพิสาร (บัวพรรณ) บุตรเจ้านุด หลานเจ้านครจำปาศักดิ (หมาน้อย) รับตำแหน่งเปนเจ้าราชวงษ์นครจำปาศักดิ

ในปีนี้มีกอมมันดองลาครองเดียฝรั่งเศส มาเที่ยวตรวจตาม ลำแม่น้ำโขงแลได้แวะยังเมืองจำปาศักดิ

ลุจุลศักราช ๑๒๒๙ ปีเถาะนพศก เจ้านครจำปาศักดิได้ยกบ้านด่านสองยาง ตั้งเปนเมืองกุสุมาลย์มณฑล ตั้งทิดโมกเปนพระนรินทรภักดีศรีสิทธิสงครามเจ้าเมืองกุสุมาลย์ขึ้นเมืองนคร จำปาศักดิ กินน้ำคลองบางขมวน ในปีนี้เจ้าอุปราช (แสง) เมืองนครจำปาศักดิถึงแก่กรรม ยังไม่มีผู้ใดรับตำแหน่งเปนเจ้าอุปราช ระหว่างนั้นเงินส่วยเมืองจำปาศักดิคั่งค้างมาก จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ชำระแลยกที่ค้างพระราชทานเสีย แล้วโปรดให้เปลี่ยนกำหนดเก็บเงินส่วยลดลงคงเก็บแต่คนละ ๒ บาทส่งหลวงแต่นั้นมา ส่วนเข้าก็เก็บขึ้นฉางไว้จ่ายใช้ราชการตามกำหนดเดิม

ฝ่ายทางเมืองกาฬสินธุ์ พระยาไชยสุนทร (กิ่ง) เจ้าเมืองบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอตั้งบ้านสระบัวตำบลดงมขามเฒ่า ปากน้ำห้วยกอก กับบ้านพันลำ ตำบลภูคนโทเปนเมือง ขอราชวงษ์ (เกษ) กับท้าวแสนบุตรอุปฮาด เปนเจ้าเมือง

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านสระบัวดงมขามเฒ่าเปนเมืองกมลาไศรย ให้ราชวงษ์ (เกษ) เปนพระราษฎรบริหารเจ้าเมืองให้ท้าววันทองเปนอุปฮาด ให้ท้าวบัวเปนราชวงษ์ ทั้งสองคนนี้เปนบุตรพระราษฎรบริหาร (เกษ) ให้ท้าวมหานามเปนที่ราชบุตร

โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านพันลำ เปนเมืองสหัสขันธ์ ให้ท้าวแสนเปนพระประชาชนบาลเจ้าเมือง ให้ท้าวพรหมเปนอุปฮาด ให้ท้าวคำไภยน้องพระประชาชนบาล (แสน) เปนราชวงษ์ ให้ท้าวแสงเปนราชบุตร ทั้งสองเมืองนี้โปรดเกล้า ฯ ให้ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์

เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์เจ้าเมืองอุบลราชธานี ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แลกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอตั้งท้าวโพธิราชบุตรพระพรหมราชวงษาคนเก่าเปนอุปฮาด ขอท้าวหอยเปนราชบุตรเมืองมหาชนะไชย

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งตามเจ้าพรหมขอ แลพระราชทานเสื้อเข้มขาบ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาศ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ แก่อุปฮาด แลราชบุตรเมืองมหาชนะไชย

ฝ่ายทางเมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์ (วัง) จับพระพล (รศ) น้องชายบอกส่งมาต้องจำถึงแก่กรรมณกรุงเทพ ฯ แลพระยาขุขันธ์ (วัง) ได้บอกกล่าวโทษพระปลัด (ศรีเมือง) เมืองขุขันธ์ว่าบังเงิน หลวง โปรดเกล้า ฯ ให้ส่งตัวพระปลัด (ศรีเมือง) มาพิจารณาณกรุงเทพ ฯ ได้ความสมดังพระยาขุขันธ์ (วัง) กล่าวโทษ ตุลาการตัดสินให้พระปลัด (ศรีเมือง) ใช้เงินหลวง แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้พระปลัด (ศรีเมือง) กลับมารับราชการยังเมืองขุขันธ์ ครั้นพระปลัด (ศรีเมือง) มาถึงเมืองปราจิณก็ถึงแก่กรรม ฝ่ายท้าวอ้นบุตรพระปลัด (ศรีเมือง) เห็นว่าจะรับราชการอยู่ในเมืองขุขันธ์ดังแต่ก่อนเกรงว่าจะได้รับความเดือดร้อน จึ่งกลับมากรุงเทพ ฯ ขอออกทำราชการเปนกองนอก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เปนพระบริรักษ์ภักดีกองนอก ทำราชการขึ้นเมืองขุขันธ์ แลโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวบุนนาค บุตรพระยาขุขันธ์ (วัง) เปนพระอนันต์ภักดีผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์ตามซึ่งพระยาขุขันธ์ (วัง) มีบอกขอมานั้นด้วย

กับพระยาขุขันธ์ (วัง) ได้มีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอตั้งตำบลห้วยลำแสนไพรอาบาล กับบ้านกันตวด ตำบลห้วยอุทุมพรเชิงเขาตกเปนเมือง ขอให้พระแก้วมนตรี (พิมพ์) ยกรบัตร แลท้าว บุตดี บุตรพระยาขุขันธ์ (วัง) เปนเจ้าเมือง

วันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกห้วยอาบาลเปนเมืองกันทรลักษณ์ ให้พระแก้วมนตรี (พิมพ์) ยกรบัตร เปนพระกันทรลักษณบาลเจ้าเมือง

ให้ยกบ้านกันตวด ห้วยอุทุมพร เปนเมืองอุทุมพรพิไสย ให้ท้าวบุตดี เปนพระอุทุมพรเทศานุรักษ์เจ้าเมือง ขึ้นเมืองขุขันธ์ พระราชทานถาดหมากคนโทเงิน ๑ สำรับประคำทอง ๑ สัปทนปัสตู ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดอก ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาศ ๑ แพรเพลาะ ๑ ผ้าลายเกี้ยว ๑ เปนเครื่องยศเหมือนกันทั้ง ๒ เมือง

ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ พระรัตนวงษา (เลน) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๓๐ ปีมโรงสัมฤทธิศก อุปฮาด (คำผาย) ราชวงษ์ (เหง้า) ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพ ฯ ต่างแย่งกันขอรับพระราชทานเปนที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้อุปฮาด (คำผาย) เปนพระรัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ให้ราชวงษ์เลื่อนขึ้นเปนอุปฮาด กลับขึ้นมารักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แยกเมืองมหาสารคามจากเมืองร้อยเอ็ดมาขึ้นกรุงเทพ ฯ

แอดมิราลแม่ทัพฝรั่งเศสเมืองไซ่ง่อน แจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า พระยาขุขันธ์มีหนังสือแจ้งยังเมืองกะพงสวายเขมรในบำรุงฝรั่งเศสว่า ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองเกราะ ครั้นความทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระราชดำริห์สงไสยว่า เมื่อปีเถาะนพศก ศักราช ๑๒๒๙ เมืองขุขันธ์ขอตั้งบ้านลำแสนเปนเมืองกันทรลักษณ์ แลบ้านอุทุมพรเปนเมืองอุทุมพรพิไสย ขึ้นเมืองขุขันธ์ ไม่ได้ความชัดว่าเขตรแขวงเมือง ทั้งสองจะขนาบคาบเกี่ยวกับเขตรแดนฝ่ายเขมรประการใด จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงเดชอัศดร ขุนอินทร์อนันต์ เปนข้าหลวงออกไปพร้อมด้วยพระยาทรงพลกรมการไต่สวนแลตรวจทำแผนที่ส่งกรุงเทพ ฯ แลให้ย้ายเมืองกันทรลักษณ์เมืองอุทุมพรขึ้นมาตั้งเสียบนเขาก่อน เพราะฉนั้นเมืองกันทรลักษณ์จึ่งได้ย้ายมาตั้งที่บ้านลาวเดิม แลเมืองอุทุมพรมาตั้งณบ้านปรือในปีนี้

พระยาไชยสุนทร (กิ่ง) เจ้าเมือง กับราชบุตร (ขี) เมืองกาฬสินธุ์ แลราชวงษ์ (คำไภย) เมืองสหัสขันธ์ถึงแก่กรรม จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้อุปฮาด (หนู) เปนพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวเหม็น บุตรพระยาไชยสุนทร (ทอง) เปนอุปฮาด ให้ท้าวเชียงโคตร บุตรอุปฮาด เปนราชวงษ์ ให้ท้าวสุริยมาตย์บุตรราชบุตร เปนราชบุตรรักษาราชการเมืองกาฬสินธุ์

โปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวทองบุตรพระประชาชนบาล (แสน) เปนราชวงษ์เมืองสหัสขันธ์

กับโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เปนพระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์เจ้าเมือง ให้หลวงนรินทรราชวงษา (นาก) บุตรพระยาสุรินทร (สุ่น) เปนพระไชยณรงค์ภักดีปลัด ให้พระมหาดไทย (จันทร์) บุตรท้าวษร หลานพระยาสุรินทร (สุ่น) เปนพระพิไชยนครบวรวุฒิยกรบัตร รักษาราชการ เมืองสุรินทร โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระจำนง (แก้ว) เปนพระภักดีภูธรสงครามปลัดให้พระบริรักษ์ (อ้น) เปนพระแก้วมนตรียกรบัตร เมืองขุขันธ์ พระภักดีภูธรสงครามปลัด (แก้ว) ยังหาทันกลับบ้านเมืองไม่ ถึงแก่กรรมอยู่ณกรุงเทพฯ

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติในรัชกาลปัตยุบันนี้

ลุจุลศักราช ๑๒๓๑ ปีมเสงเอกศก พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านกุดประไทย ฤๅบ้านจารพัด เปนเมือง ขอหลวงไชยสุริยง (คำมี) บุตรหลวงไชยสุริวงษ์ (หมื่นคม) กองนอกเปนเจ้าเมือง แลว่าตำแหน่งปลัดแลยกรบัตรเมืองสังฆะว่างขอพระสุนทรพิทักษ์บุตรพระปลัดคน เก่าเปนปลัด ขอหลวงศรีสุราชผู้หลาน เปนยกรบัตรเมืองสังฆะ

ครั้น ณ วันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในปีมเสงนั้น จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราพระราชสีห์ ตั้งบ้านกุดประไทย ฤๅบ้านจารพัด เปนเมืองศีขรภูมิพิไสย ตั้งให้หลวงไชยสุริยงกองนอกเปนพระศีขรภูมานุรักษ์เจ้าเมือง ขึ้นเมืองสังฆะ พระราชทานเครื่องยศพระศีขรภูมานุรักษ์ คือ ถาดหมากเงิน ๑ คนโทเงิน ๑ สัปทนแพรหลิน ๑ กับเสื้อผ้าตามสมควร เขตรแดนเมืองศีขรภูมิมีปรากฎตามตราพระราชสีห์ว่า ตั้งแต่ลำวังประปอ ลำคลองกุดประไทย ห้วยอังกัน ถึงห้วยตราฝั่งเหนือ ข้างห้วยอังกันมาบ้านตังโก คลองลำน้ำฉิงฝั่งใต้ ขึ้นไปบ้านแขม บ้านหลวงอาต บ้านปอม ออกลำพมูล เปนแขวงเมืองศีขรภูมิพิไสย แลมีความต่อไปว่า แล้วพระยาสังฆะ พระยาสุรินทรว่ากลับมาถึงบ้านเมืองแล้วจะพร้อมกันไปปักหลักที่ปลายห้วยตัดจุกแห่ง ๑ ที่ปลายคลองลำน้ำแห่ง ๑ ต้น คลองลำน้ำแห่ง ๑ บรรจบลำน้ำวังปอแห่ง ๑ เปนแขวงเมืองศีขรภูมิพิไสย

แลเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระสุนทรพิทักษ์ เปนพระไชยสงครามปลัด ให้หลวงศรีสุราชเปนพระแก้วภักดียกรบัตรเมืองสังฆะ พระราชทานปลัด คือ ถาดหมากคนโทเงิน ๑ สำรับ สัปทนแพรหลิน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดอก ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าห่มนอน ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ พระราชทานยกรบัตร เสื้อเข้มขาบริ้วยอ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าห่มนอน ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ เปนเครื่องยศ

ฝ่ายทางเมืองนครจำปาศักดิ เชียงเกษ บ้านโส้งใหญ่ ฝั่งโขงตวันออกแขวงเมืองคำทองใหญ่ สมัคขึ้นเจ้านครจำปาศักดิ ๆ จึ่งตั้งบ้านโส้งใหญ่เปนเมือง ขนานนามว่า เมืองสุวรรณคิรี ตั้งเชียงเกษเปนที่พระสุริยวงษาเจ้าเมืองสุวรรณคิรี ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิอิกเมือง ๑

ในปีนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองกมลาไศรยออกจากเมืองกาฬสินธุ์ขึ้นกรุงเทพ ฯ เขตรแดนเมืองกมลาไศรยซึ่งปรากฎในเวลานั้นว่า ทิศเหนือตั้งแต่บ้านนาดี บ้านหลุบ ตลอดขึ้นไปถึงหนองสพังคำหมากม่าย หนองสพังคำ ปากอางรัง ทิศตวันออกตั้งแต่ห้วยหินทอดตกยัง ตลอดลงไปถึงปากยังตกซี ทิศใต้ตั้งแต่ปากยังตกซีตลอดไปถึงท่าปะทาย ทิศตวันตกตั้งแต่ท่าปะทายตลอดไปถึงทุ่งแม่นางม้วนบรรจบกับบ้านนาดี

ฝ่ายทางเมืองขุขันธ์ ครั้นพระปลัด (แก้ว) ถึงแก่กรรมแล้ว วันเสาร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีนี้ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระมหาดไทย (แอก) เปนที่พระภักดีภูธรสงครามปลัด พระราชทานครอบเงินกลมถมตะทอง เครื่องในถมยาเขียวปริกทองคำ จอกหมาก ๒ ผะอบ ๒ ซองบุหรี่ ๑ มีดหมาก ๑ คนโทเงินถมตะทอง ๑ ประคำทอง ๑๐๘ เม็ดสาย ๑ เสื้อเข้มขาบริ้ว ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ผ้ากำมะหลิดห่มนอน ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ สัปทนปัสตูแดง ๑ เปนเครื่องยศ แลให้ท้าวแก้วเปนที่พระบริรักษ์กองนอก ครั้นพระยกรบัตร (อ้น) ถึงแก่กรรม จึ่งโปรดตั้งให้ท้าวบุญจันทร์ บุตรพระปลัด (ศรีเมือง) เปนที่พระแก้วมนตรียกรบัตร พระบริรักษ์ (แก้ว) ถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวบุญเรือง บุตรพระปลัด (ศรีเมือง) เปนที่พระเจริญกองนอกต่อไป

ระหว่างปีนี้ได้มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์คนเมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ สังฆะ ศรีสระเกษ เดชอุดม ไปทำอิฐก่อกำแพงเมืองปราจิณบุรี

มีชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งชื่อมองซิเออไซแง มาแต่ไซ่ง่อนทางนครจำปาศักดิ ถึงเมืองอุบลเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีนี้ ม. ไซแง ได้ไปหาเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ แจ้งว่ามาทำแผนที่ลำน้ำมูลแลได้เอาสิ่งของต่าง ๆ มาจำหน่ายด้วย เจ้าพรหมเทวา ฯ จึ่งให้กรมการจัดที่ให้ ม.ไซแง พักตามสมควร

ครั้นวันอังคาร แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ม.ไซแง เอาแผนที่ไปให้เจ้าพรหมเทวา ฯ ๒ แผ่น แลพูดว่ามาอยู่เมืองนี้ต้องซื้อเสบียงอาหารรับประทาน พักที่เมืองอื่นหาได้ซื้อไม่ เพราะเจ้าเมืองกรมการได้เกื้อหนุน เจ้าพรหมเทวา ฯ จึ่งตอบว่าถ้า ม.ไซแงขัดขวางด้วยเสบียงอาหารอย่างไรก็จะรับอนุเคราะห์ตามควร ให้ ม.ไซแงไปรับเอาที่เพี้ยพันนา เพี้ยศรีสุนน ซึ่งอยู่ณบ้านอุปฮาดเถิด ม.ไซแงตอบขอบใจ แลว่าจะได้ไปขอเสบียงอาหารณบ้านอุปฮาดในวันพรุ่งนี้ แล้วก็ลากลับไปที่พัก

ในระหว่างนั้นเปนเวลาที่เจ้าพรหมเทวา ฯ กับอุปฮาดหาถูกต้องปรองดองกันไม่ ฝ่ายกรมการผู้น้อยก็แยกเปนพวกเปนเหล่าตามหัวน่า ครั้นกรมการฝ่ายข้างเจ้าพรหมเทวา ฯ ได้ทราบว่า ม.ไซแงจะไปบ้านอุปฮาดในวันพรุ่งนี้ ก็เห็นเปนโอกาศที่จะเล่นสนุก จึ่งได้ไปเที่ยวพูด ให้เข้าหูถึงกรมการฝ่ายอุปฮาดว่า พรุ่งนี้ฝรั่งจะมาจับอุปฮาดส่งไปไซ่ง่อน ฝ่ายอุปฮาดทราบดังนั้นสำคัญว่าจริงจึ่งสั่งการว่า ถ้าพรุ่งนี้ฝรั่งมาถามหาอุปฮาดก็ให้บอกว่าไม่อยู่

ครั้นวันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาเช้า ม.ไซแง ไปหาเจ้าพรหมเทวา ฯ ขอให้กรมการพาไปบ้านอุปฮาดเพื่อได้ขอเสบียงอาหาร เจ้าพรหมจึ่งให้เพี้ยขันอาสาเสมียนบงนายเหล็ก นำ ม.ไซแงไปถึงบ้านอุปฮาด เพี้ยขันอาสา เสมียนบง หยุดคอยอยู่นอกรั้วบ้านอุปฮาด ให้แต่นายเหล็กพา ม.ไซแง เข้าไปถึงหอนั่งเรือนอุปฮาด พบท้าวสุริโยแลท้าวสุวรรณเสน จึ่งถามหาอุปฮาด ท้าวสุริโยบอกว่าไม่อยู่ ม.ไซแง จึ่งถามหาเพี้ยศรีสุนน กรมการในที่นั้นบอกว่าไปรับประทานอาหารที่บ้านยังไม่กลับมา ม.ไซแง บอกกรมการให้ไปตามเพี้ยศรีสุนนมาหา กรมการยังหาทันแต่งให้ผู้ใดไปไม่ ขณะนั้น ม.ไซแง จึ่งถามว่าใครเปนผู้ใหญ่อยู่ในที่นี้ ท้าวสุริโยจึ่งชี้ไปที่ท้าวสุวรรณเสนแลบอกว่าท้าวสุวรรณเสนเปนผู้ใหญ่ ทันใดนั้น ม.ไซแง ก็ลุกตึงตังเดินโครมครามตรงเข้าไปจับมือท้าวสุวรรณเสนสั่น ๆ เปนกิริยาคำนับตามธรรมดาของธรรมเนียมยุโรป ข้างฝ่ายท้าวสุวรรณเสนไม่รู้จักธรรมเนียมคำนับของฝรั่ง สำคัญใจว่าฝรั่งจะจับเอาตนไป ก็ร้องเอะอะแลสลัดมือหลุดออกมาได้แล้วก็กลับชกเอา ม.ไซแง ข้างฝ่ายท้าวสุริโยแลกรมการซึ่งอยู่ในที่นั้นก็พร้อมกันเข้ากลุ้มรุมชกฝรั่ง ถูกร่างกายเปนบาดเจ็บหลายแห่ง แลจับ ม.ไซแง ไปจำตรวนไว้

ข้างฝ่ายเจ้าพรหมแลอุปฮาด ต่างก็มีบอกเหตุที่เกิดขึ้นนี้ไปยังกรุงเทพ ฯ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ส่ง ม.ไซแง แลกรมการซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มายังกรุงเทพฯ พิจารณาได้ความจริงว่ากรมการมีความผิด โปรดเกล้า ฯ ให้ปรับกรมการเสียเงินทำขวัญให้แก่ ม.ไซแง เปนเงิน ๖๐๐๐ บาท แลให้ลงพระราชอาญาแก่กรมการผู้ผิดตามควร

แลต่อนั้นมา อาการที่เจ้าพรหมกับอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร มิได้ร่วมสามัคคีรศกันนั้นก็ให้ผลรุนแรงขึ้นโดยลำดับ จนถึงต่างคนก็ต่างกล่าวโทษซึ่งกันแลกันต่าง ๆ ส่งมาณกรุงเทพ ฯ มีต้นว่า ข้างฝ่ายเจ้าพรหมหาว่าอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร ขัดขวางไม่ให้เก็บเงินส่วยแก่ตัวไพร่ ข้างฝ่ายอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร ก็กล่าวโทษเจ้าพรหมว่าฉ้อบังพระราชทรัพย์ แล้วเจ้าพรหมกับราชวงษ์ราชบุตร ก็พากันลงมาสู้ความกันณกรุงเทพ ฯ ทางเมืองอุบลมีแต่อุปฮาดอยู่รักษาเมือง คดีความก็ยังหาทันแล้วกันไม่ จนอุปฮาดผู้อยู่รักษาเมืองอุบล แลราชวงษ์ ราชบุตร ซึ่งอยู่สู้ความกับเจ้าพรหมณกรุงเทพ ฯ นั้น ก็พากันถึงแก่กรรมไปหมด จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวไชยกุมาร (ท้าว) บุตรราชวงษ์ เปนราชวงษ์ ให้ท้าวหนูคำ บุตรราชบุตร เปนราชบุตร ฝ่ายราชวงษ์ ราชบุตรก็พากันลงมาสู้ความกับเจ้าพรหม ณกรุงเทพ ฯ แทนบิดาของตนต่อไปอิก

ลุจุลศักราช ๑๒๓๒ ปีมเมียโทศก โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เจ้าราชวงษ์ (บัวระพันธุ์) เปนเจ้าอุปราช ให้เจ้าจุ่น บุตรเจ้านครจำปาศักดิ (หมาน้อย) เปนเจ้าราชวงษ์เมืองนครจำปาศักดิ ฝ่ายเจ้าราชบุตร (อินทชิต) มีความผิดส่งมากรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ถอดเสียแล้วเอาตัวจำไว้ แล้วโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เจ้าศรีสุราช (พันธ์) บุตรเจ้าอุปราช (เสือ) เปนเจ้าราชบุตร

ฝ่ายนายทิดภูมี บ้านบึงจวงพรมแดนเมืองคงกับเมืองสพาด แขวงเมืองคำทองใหญ่ ฝั่งโขงตวันออก โจทสมัคมาพึ่งเจ้านครจำปาศักดิ ๆ จึ่งตั้งบ้านบึงจวง เปนเมืองวาปีไพรบูรณ์ ตั้งนายทิดภูมีเปนพระพิศาลสุรเดชเจ้าเมือง ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ

พระยาสังฆะมีบอกขอตั้งหลวงจัตุรงค์เปนปลัด ขุนจำนงเปนยกรบัตรเมืองศีขรภูมิ วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ ปีนี้จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งหลวงจัตุรงค์เปนหลวงจัตุรงค์วงษาปลัด ให้ขุนจำนงเปนหลวงประสิทธิเกรียงไกร ยกรบัตรเมืองศีขรภูมิ พระราชทานเสื้ออัดตลัดดอกเล็ก ๑ ผ้าโพกขลิบ ๑ ผ้าห่มนอน ๑ แพรขาว ๑ ผ้าลายนุ่ง ๑ เหมือนกันทั้งสองคน

เมื่อเดือนยี่ปีนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระพิไชยสรเดช หลวงทรงวิไชย ขุนมณีโอสถ หมื่นไชยสงคราม เปนข้าหลวงขึ้นไปตรวจ (สักเลข) เมืองสังฆะแลเมืองขึ้น

ฝ่ายทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทร์เห็นว่าพระยาสังฆะได้ขอบ้านกุดประไทยเปนเมืองศีขรภูมิแล้ว ก็เกรงว่าพระยาสังฆะจะเอาบ้านลำดวนเปนเขตรแขวงด้วย จึ่งได้มีบอกขอตั้งบ้านลำดวนเปนเมือง ขอให้พระไชยณรงค์ภักดีปลัด (นาก) เมืองสุรินทร์เปนเจ้าเมือง

จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านลำดวนขึ้นเปนเมือง ปรากฎนามว่าเมืองสุรพินทนิคม ให้พระปลัด (นาก) เปนพระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองสุรพินทนิคม ขึ้นเมืองสุรินทร์มาแต่นั้น

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้ท้าวมหาไชยเปนราชบุตรเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานเสื้อเข้มขาบดอกกระจาย ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ผ้ากำมหลิด แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

วันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวจันชมภู เปนท้าวศรีวรราชผู้ช่วยเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานเสื้อเข้มขาบดอกกระจาย ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้ากำมหลิดห่มนอน ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

ลุจุลศักราช ๑๒๓๓ ปีมแมตรีศก เจ้านครจำปาศักดิได้ตั้งบ้านแก่งไม้เฮียะในคลองจำปีฝั่งโขงตวันออกเปนเมือง ขนานนามว่าเมืองมธุรศาผล ตั้งให้ท้าวอินนายครัวซึ่งเกลี้ยกล่อมมาจากเมืองตะโปน เปนที่พระจันทร์ศรีสุราชเจ้าเมืองมธุรศาผล ขึ้นเมืองจำปาศักดิ

ฝ่ายเมืองอำนาจเจริญ พระอมรอำนาจ (จันบรม) เจ้าเมือง แลอุปฮาด (บุตร) ราชวงษ์ (ศรีหาราช) ราชบุตร (สุริโย) ถึงแก่กรรมแล้วยังหาทันโปรดเกล้า ฯ ให้ผู้ใดเปนเจ้าเมืองไม่ มีแต่ท้าวมืดผู้รับตำแหน่งอุปฮาดได้พร้อมกันกับท้าวเพี้ยกรมการ ช่วยกันรักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๒๓๔ ปีวอกจัตวาศก เจ้านครจำปาศักดิให้ตั้งบ้านท่าคา (คือทุ่งบัวสีศิริจำปังเก่า) เปนเมืองอุทุม (ฤๅอุทุมธารา) ตามนามที่ใช้บัดนี้ ตั้งให้เจ้าอ้นบุตรเจ้าแก้วเขมรเชื้อวงษ์ เปนที่พระสุริยวงษาเจ้าเมือง ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิอิกเมืองหนึ่ง

ฝ่ายพระยาสังฆะได้มีบอกขอตั้งบ้านลำพุกเปนเมือง ขอพระมหาดไทยเมืองสังฆะเปนเจ้าเมือง

จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านลำพุกขึ้นเปนเมืองกันทรารมย์ ตั้งให้พระมหาดไทยเปนพระกันทรานุรักษ์เจ้าเมืองกันทรารมย์ ขึ้นกับเมืองสังฆะ

โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราถึงบรรดาหัวเมืองตวันออกว่า ได้ให้ยกเลิกตั้งธรรมเนียมตั้งข้าหลวงกองสักมาสักเลขตามหัวเมือง แลยอมอนุญาตให้ไพร่ยอมไปอยู่ตามใจสมัค แลให้ทำบาญชีสัมโนครัวตัวเลขส่งยังกรุงเทพ ฯ

ในปีนี้คนใช้ของพระยารัตนวงษา (คำผาย) เจ้าเมือง ไปแทรกโพนได้ช้างพลายสีปลาดสูงสามศอก พระยารัตนวงษาจึ่งมีบอกกราบบังคมทูลพระ กรุณาทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้พระเหมสมาหาร เมืองนครราชสิมา เปนข้าหลวงไปตรวจพิจารณาดูช้างนั้นแล้ว พระยารัตนวงษาจึ่งพร้อมด้วยพระเหมสมาหาร นำช้างพลายสีปลาดมาณกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้รับช้าง มีมหะกรรมสมโภชขึ้นระวางขนานนามว่า พระเสวตรสุวภาพรรณ ตั้งให้หมอช้างเปนขุนเสวตรสารศรี ให้ควาญช้างเปนหมื่นกรีกำราบ แลโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานเงินตราเสื้อผ้าแก่พระยารัตนวงษา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิแลหมอช้างควาญช้างตามสมควร

ท้าวเหม็นว่าที่อุปฮาด ท้าวโคตว่าที่ราชวงษ์ ท้าวสุริยว่าที่ราชบุตร ท้าวโพธิสารว่าที่ผู้ช่วยเมืองกาฬสินธุ์ มีบอกขอตั้งท้าวโคตเปนพระศรีสุวรรณ เจ้าเมืองแซงบาดาล ขอตั้งท้าวหงษ์เปนราชวงษ์เมืองท่าขอนยาง วันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งท้าวหงษ์ เปนราชวงษ์ท่าขอนยาง พระราชทานเสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาศ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาตร โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวโคต เปนพระศรีสุวรรณ เจ้าเมืองแซงบาดาล พระราชทานถาดหมากคนโทเงิน ๑ สำรับ สัปทนแพร ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาศ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ เปนเครื่องยศ

ลุจุลศักราช ๑๒๓๕ ปีรกาเบญจศก ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้อุปฮาด (คำผาย) เปนพระยารัตนวงษาเจ้าเมือง ให้ราชวงษ์ (เง่า) เปนอุปฮาด แล้วพระรัตนวงษากับอุปฮาดต่างก็หามีสามัคคีรศต่อกันไม่

ครั้นเมื่อจุลศักราช ๑๒๓๔ ปีวอกจัตวาศก มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ไปว่าท้าวเพี้ยตัวเลขเมืองนี้จะไปสมัคขึ้นเมืองโน้นก็ได้ตามใจไพร่สมัค ครั้นท้าวเพี้ยตัวเลขข้างพระรัตนวงษาจะมาสมัคขึ้นกับอุปฮาด ท้าวเพี้ยตัวเลขข้างอุปฮาดจะไปสมัคขึ้นกับพระยารัตนวงษา ๆ แลอุปฮาด ต่างก็หาผ่อนปรนให้ท้าวเพี้ยตัวเลขได้สมัคไปมาตามกระแสตราพระราชสีห์ซึ่ง โปรดเกล้าฯ มีไปเมื่อปีวอกจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ นั้นไม่ ต่างถือเปรียบแก่งแย่งกันอยู่ ฝ่ายราชการเกิดมีขึ้นอย่างใดก็ต่างคนต่างหาได้ปฤกษาปรองดองกันไม่ ฝ่ายอุปฮาดจึ่งได้มาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ณกรุงเทพ ฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านดอนเสาโรงเปนเมือง ขอไปเปนเจ้าเมือง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านดอนเสาโรงเปนเมืองเกษตรวิไสย ตั้งให้อุปฮาด (เง่า) เปนที่พระศรีเกษตราธิไชยเจ้าเมือง ให้ท้าวสังบุตรท้าวสุริยเปนอัคฮาด ให้ท้าวพรหมบุตร ท้าวผายเปนอัควงษ์ ให้ท้าวสาบุตรท้าวสุริโยเปนอัคบุตร รักษาราชการเมืองเกษตรวิไสย พระศรีเกษตราธิไชยกับกรมการกราบถวายบังคมลาพาท้าวเพี้ยกรมการไปตั้งเมืองอ ยู่ณบ้านกู่กะโดนแขวงเมืองสุวรรณภูมิ หาได้ไปตั้งที่ดอนเสาโรงตามโปรดเกล้าฯ นั้นไม่ ครั้งนั้นท้าวเพี้ยตัวเลขในท้องแขวงเมืองสุวรรณภูมิ ได้พากันไปสมัคขึ้นกับเมืองเกษตรวิไสย มีจำนวนสี่พันแปดร้อยคนเศษ

ในปีนี้ทิดคำหมอช้างชาวเมืองขอนแก่น นายแปรควาญคนเมืองสุวรรณภูมิ แลนายจันหมอชาวเมืองสุวรรณภูมิ ทิดบุญมาควาญ ชาวเมืองขอนแก่น ไปแทรกโพนช้างทางฝั่งโขงตวันออก คล้องได้ช้างพังเผือกสูงสี่ศอกเท่ากัน ๒ ช้าง พระยารัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ได้มีบอกส่งมาถวายณกรุงเทพ ฯ โปรดให้สมโภชขึ้นระวางเปนพระเทพคชรัตนกิรินีช้าง ๑ พระศรีสวัสดิเสวตรวรรณช้าง ๑ ในระหว่างนั้นพระยารัตนวงษา (คำผาย) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิก็ถึงแก่กรรมลง แลยังหาทันโปรดเกล้า ฯ ให้ผู้ใดเปนเจ้าเมืองไม่ ทางเมืองสุรพินทนิคม พระสุรพินท์เจ้าเมืองก็ถึงแก่กรรมในปีนี้ พระยาสุรินทร์เห็นว่าหลวงพิทักษ์สุนทร บุตรพระปลัดกรมการเมืองสังฆะ ซึ่งสมัคมาอยู่เมืองสุรพินท์เปนคนหลักถานมั่นคงดี จึ่งได้ให้หลวงพิทักษ์สุนทรรับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรพินท์ แต่ยังหาทันได้มีบอกขอตั้งไม่ หลวงพิทักษ์สุนทรรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสุรพินท์ได้สามปีก็ถึงแก่กรรม แต่นั้นมาเมืองสุรพินท์ก็ยังหามีเจ้าเมืองไม่

ฝ่ายทางเมืองยโสธร พระสุนทรราชวงษาเจ้าเมือง ได้บอกขอตั้งพระศรีสุพรหมเปนอุปฮาด ขอท้าวบาเปนที่ราชบุตร ขอท้าวแกเปนที่พระศรีวรราชผู้ช่วยราชการณเมืองยโสธร ได้โปรดเกล้า ฯ ให้คนทั้งนี้ รับตำแหน่งยศตามพระสุนทรขอ

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๓๖ ปีจอฉศก เจ้านครจำปาศักดิพร้อมด้วยเจ้าอุปราชแลพระราษฎรบริหารเจ้าเมืองกมลาไศรย นำช้างพลายเผือก ซึ่งพวกเมืองนครจำปาศักดิกับเมืองกมลาไศรยช่วยกันคล้องได้ในปีก่อนมาถวาย ณกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้นามช้างสำคัญนั้นว่า พระเสวตรวรลักษณ ตั้งให้หมอเปนขุนวรบาทคชคุณ ให้ควาญเปนหมื่นอนุกูลคชลาภ พระราชทานเงินตราเสื้อผ้าแก่เจ้านครจำปาศักดิ เจ้าอุปราชแลเจ้านายท้าวพระยาหมอควาญตามสมควร แลเจ้านครจำปาศักดิได้ตั้งขุนโยธาภักดีชาวเมืองแก่นท้าว ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ณตำบลดอนตะแบงแขวงเมืองแสนปางฝั่งโขงตวันออก เปนที่พระแหงพลศักดิภักดีเจ้าเมือง ตั้งเพี้ยเมืองแสนเมืองเชียงแตงเปนอุปฮาด นายทิดพิลาเปนราชวงษ์ นายทิดพรหมเปนราชบุตรยกบ้านดอนตะแบงเปนเมืองสูตนคร ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ เทียมเมืองแสนปางขึ้นอิกเมืองหนึ่ง

ในปีนี้พระศรีเกษตราธิไชย (เง่า) เจ้าเมืองเกษตรวิไสย แลพระกันทรารักษบาล (พิมพ์) เจ้าเมืองกันทรารักษ์ป่วยถึงแก่กรรม

อัคฮาด (สัง) เมืองเกษตรวิไสยแลท้าวอ่อนผู้ช่วยบุตรพระกันทรารักษบาล ได้ควบคุมกรมการรักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

พระยาขุขันธ์ภักดี ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์มีใบบอกขอพระวิเศษสัจจาเปนที่ยกรบัตรเมืองขุขันธ์ วันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระวิเศษสัจจา เปนพระแก้วมนตรียกรบัตรเมืองขุขันธ์ พระราชทานถาดหมากคนโทเงิน ๑ สำรับ ประคำทอง ๑ เสื้อเข้มขาบดอกสเทิน ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าดำปักไหมมีซับ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูม ๑

ฝ่ายทางเมืองกาฬสินธุ์ พระยาไชยสุนทรเจ้าเมืองมีบอกขอตั้งบ้านกันทราร้างเปนเมือง ขอท้าวคำมูลคนเมืองมหาสารคาม ซึ่งอพยพพาท้าวเพี้ยตัวเลขที่สมัครวม ๒๗๐๐ เศษมาตั้งอยู่นั้นเปนเจ้าเมือง แลขอตั้งเพี้ยเวียงแก เพี้ยเมืองทอ เพี้ยไชยสุริยา เพี้ยนามวิเศษ รับตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร ผู้ช่วย เต็มตามอัตรา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านกันทราร้าง เปนเมืองกันทรวิไชย ตั้งให้เพี้ยคำมูล เปนพระประทุมวิเศษเจ้าเมือง ให้เพี้ยเมืองทอเปนราชวงษ์ ให้เพี้ยไชยสุริยาเปนราชบุตร ให้เพี้ยนามวิเศษเปนที่หลวงจำนงภักดี ผู้ช่วย ทำราชการขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ แต่เพี้ยเมืองแกมิได้ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพ ฯ จึ่งหาได้มีตราพระราชสีห์ตั้งไม่ เปนแต่ได้รับตำแหน่งอุปฮาด ตามใบบอกพระยาไชยสุนทรเท่านั้น

ในปีนี้ได้โปรดเกล้าฯให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) เปนข้าหลวงไปจัดรักษาราชการอยู่ณเมืองอุบล,

เดือนสี่แรม ๑๔ ค่ำปีนี้ เวลาบ่ายโมงเศษมีสุริยอุปราคาจับมืดอยู่ครู่หนึ่งก็แจ้งสว่าง

ลุจุลศักราช ๑๒๓๗ ปีกุญสัปตศก เจ้านครจำปาศักดิ ขอตั้งพระวิเศษสัจจาเปนเจ้าเมืองเซลำเภา วันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ตั้งให้พระวิเศษสัจจา เปนพระณรงค์ลำเภา เจ้าเมืองเซลำเภา ขึ้นเมืองจำปาศักดิ

ปีนี้เกิดทัพฮ่อยกเข้ามาทางแขวงเมืองเวียงจันท์แลหนองคาย มีตราโปรดเกล้า ฯ ถึงบรรดาหัวเมืองตวันออกว่า จะโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงเปนแม่ทัพน่า แลให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์ เปนแม่ทัพใหญ่ออกไปปราบปรามพวกฮ่อ ให้หัวเมืองทั้งปวงจัดหาเสบียงอาหารขึ้นยุ้งฉาง แลรวบรวมพาหนะเตรียมไว้ ในการปราบฮ่อครั้งนั้น โปรดให้พระยาพิไชย (ดิศ) ยกกองทัพขึ้นไปตั้งอยู่ณเมืองหลวงพระบาง ให้เจ้าพระยาภูธราภัยยกกองทัพไปตั้ง ณเมืองพิไชย ให้เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงยกกองทัพไปตั้งอยู่ ณเมืองนครราชสิมา โปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ซึ่งเวลานั้นอยู่ณเมืองอุบล, เกณฑ์กำลังคนในหัวเมืองตวันออก ยกไปก่อน พระยามหาอำมาตย์ได้รบพุ่งปราบปรามพวกฮ่อพ่ายแพ้ไป

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๓๘ ปีชวดอัฐศก พระยามหาอำมาตย์จึ่งกลับมาตั้งจัดราชการอยู่ณเมืองร้อยเอ็ด เดือนห้าแรม ๙ ค่ำปีนี้ นักองค์วัดถาผู้น้ององค์สมเด็จพระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชาซึ่งอยู่ณกรุงเทพ ฯ นั้นได้พร้อมด้วยนักขำมารดาแลบ่าว ๔ คนลงเรือหนีไปจากกรุงเทพฯ จะไปทำศึกกับองค์สมเด็จพระนโรดม ทรงพระราชดำริห์เกรงว่า นักองค์วัดถาจะมาตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนตามหัวเมืองตวันออกก่อการจลาจลขึ้นกับเมืองเขมร จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาเจริญราชไมตรี (ตาด) แลพระยาวิเศษฦๅไชยผู้ว่าราชการเมืองฉเชิงเทรา หลวงศักดิเสนี หลวงเสนีพิทักษ์ กรมมหาดไทย หลวงไชยเดช หลวงสรสำแดง กรมพระกลาโหม หลวงสุจริตวินิจฉัย ศาลต่างประเทศ ออกไปตั้งจัดรักษาราชการอยู่ ณเมืองพระตะบอง แลเมืองนครเสียมราฐ ให้มีอำนาจบังคับการ เด็ดขาดตลอดถึงนครจำปาศักดิ แลหัวเมืองตวันออก แลโปรดให้มีตราถึงบรรดาหัวเมืองตวันออก ห้ามมิให้กรมการเข้าเกลี้ยกล่อมแลส่งอาวุธเสบียงอาหารให้แก่นักองค์วัดถาเปนอันขาด

ในปีนี้พระยาไชยสุนทร (หนู) เจ้าเมือง อุปฮาด (เหม็น) ราชบุตร (สุริยมาตย์) เมืองกาฬสินธุ์ พระขัติยวงษา (สาร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด พระสุวรรณภักดีเจ้าเมืองท่าขอนยาง แลพระบำรุงราษฎร เจ้าเมืองพิมูลมังษาหาร ถึงแก่กรรม

พระยามหาอำมาตย์จึ่งตั้งอุปฮาด (พรหมา) รับราชการตำแหน่งพระสุวรรณภักดีเจ้าเมือง ให้ราชวงษ์ (หงษ์) เปนอุปฮาด เมืองท่าขอนยาง

ให้ราชบุตร (บุฮม) รับราชการตำแหน่งพระบำรุงราษฎรเจ้าเมือง ให้ท้าวรอดแลท้าวมินบุตรพระยาบำรุงราษฎร (จุมมณี) เปนอุปฮาดแลราชวงษ์ ให้ท้าวแสงบุตรพระบำรุงราษฎร (บุฮม) เปนราชบุตรเมืองพิมูลมังษาหาร กับให้อุปฮาด (มืด) รับราชการตำแหน่งพระอมรอำนาจเจ้าเมืองอำนาจเจริญด้วย แต่ตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิยังหาทันมีผู้ใดได้รับตำแหน่งไม่ เจ้าอุปราช (บัวระพันธุ์) เมืองจำปาศักดิ แลพระสุริยวงษาเจ้าเมืองอุทุมถึงแก่กรรม

เจ้านครจำปาศักดิจึ่งตั้งเจ้าบัว บุตรพระสุริยวงษารับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองอุทุมแทนที่บิดาต่อไป

เมื่อเดือน ๕ ปีฉลูยังเปนอัฐศก จุลศักราช ๑๒๓๘-๙ พระยาเจริญราชไมตรี ได้มีบอกส่งตัวพระมโนจำนงผู้ว่าราชการเมืองมโนไพรมายังกรุงเทพ ฯ โดยหาว่าพระมโนจำนงได้ส่งเสบียงอาหารให้แก่นักองค์วัดถา ซึ่งหลบหนีไปพักอยู่ที่บ้านลำจากแขวงเมืองมโนไพรพิจารณาได้ความจริง โปรดเกล้า ฯ ให้เสนาบดีประชุมปฤกษาโทษลงพระราชอาญาพระมโนจำนง ๑ ยก ๓๐ ที แลจำตรวนไว้ ๓ เดือนครบแล้ว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้คงยศบันดาศักดิกลับออกไปรักษาราชการบ้านเมืองตามเดิม

ลุจุลศักราช ๑๒๓๙ ปีฉลูนพศก พระยามหาอำมาตย์กลับกรุงเทพ ฯ ราชบุตร (เสือ) เมืองร้อยเอ็ด แลราชวงษ์ (คำสิง) บุตรพระรัตนวงษา (ภู) แลหลวงรัตนวงษา (บุญตา) ผู้ช่วย บุตร พระยารัตนวงษา (คำผาย) กรมการเมืองสุวรรณภูมิ ได้ตามพระยามหาอำมาตย์ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทด้วย

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งราชบุตร (เสือ) เมืองร้อยเอ็ด ผู้มีความชอบในราชการไปทัพฮ่อ เปนพระขัติยวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด

ฝ่ายราชวงษ์ (คำสิง) ผู้อาว์ แลหลวงรัตนวงษา (บุญตา) ผู้ช่วย ผู้หลานต่างคนก็แย่งกันขอเปนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ แทนที่พี่ชายแลบิดา

จึ่งมีพระบรมราชโองการปฤกษาด้วยเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก ๆ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ควรจะให้ราชวงษ์ (คำสิง) ได้เปนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิแทนพระยารัตนวงษา (คำผาย) ที่เปนพี่ชาย ส่วนหลวงรัตนวงษา (บุญตา) ผู้ช่วย บุตรพระยารัตนวงษา (คำผาย) นั้น ควรให้แยกเปนเจ้าเมืองเสียเมืองหนึ่งต่างหาก

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งราชวงษ์ (คำสิง) เปนพระรัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานถาดหมากปากกลีบบัว ถมตะทองเครื่องในทอง ๑ คนโททอง ๑ กะโถนถม ๑ กระบี่บั้งทอง ๕ บั้ง ๑ สัปทนปัสตูแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้ว ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ เปนเครื่องยศ

แลโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านโป่งแขวงเมืองสุวรรณภูมิ เปนเมืองพนมไพรแดนมฤค ให้หลวงรัตนวงษา (บุญตา) ผู้ช่วย เปนพระดำรงฤทธิไกรเจ้าเมือง แล้วเจ้าเมืองทั้งสองก็กราบถวายบังคมลากลับไปบ้านเมือง

แต่พระดำรงฤทธิไกรนั้นได้พาครอบครัวไปตั้งเมืองพนมไพรแดนมฤคอยู่ที่บ้าน เมืองแสนเมื่อปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐ ทางห่างกันกับบ้านโป่งประมาณ ๓๐๐ เส้น หาได้ไปตั้งอยู่ที่บ้านโป่งตามโปรดเกล้า ฯ ไม่ แล้วพระดำรงฤทธิไกร จึ่งให้ท้าวสุวรรณราชว่าที่อุปฮาดให้ท้าวมหาราชว่าที่ราชวงษ์ ให้เพี้ยมหาเสนาเปนเมืองแสน ให้หลวงราชเปนเพี้ยเมืองจัน รักษาราชการเมืองพนมไพรแดนมฤคอยู่ณที่ตำบลนั้นแต่นั้นมา

อนึ่งเมื่อเวลาพระรัตนวงษา (คำสิง) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ยังอยู่กรุงเทพ ฯ มิทันได้กลับขึ้นไปบ้านเมืองนั้น ท้าวเพี้ยกรมการเมืองเกษตรวิไสย ได้มีบอกขอตั้งอัคฮาด (สัง) เปนที่พระศรีเกษตราธิไชยเจ้าเมืองเกษตรวิไสย ฝ่ายพระรัตนวงษาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิทราบดังนั้น จึ่งได้กราบเรียนสมุหนายกว่า เมืองเกษตรวิไสยไปตั้งอยู่บ้านกู่กะโดนแขวงสุวรณภูมิ หาได้ไปตั้งเมืองที่ตำบลดอนเสาโรง ตามนามเมืองไม่ สมุหนายกจึ่งบัญชาว่าซึ่งเมืองเกษตรวิไสยไปตั้งอยู่ณบ้าน กู่กะโดนนั้นก็ล่วงมาถึง ๙ - ๑๐ ปีแล้ว แต่แรกเมื่อไปตั้ง พระยารัตนวงษา (คำผาย) แต่ยังมีชีวิตรอยู่ก็ไม่ห้ามปรามบอกกล่าวเสีย บัดนี้ท้าวเพี้ยกรมการราษฎรก็ได้ตั้งภูมถานบ้านเรือนมั่นคงเสียแล้ว จะให้ย้ายเมืองเกษตรไปตั้งตามนามเมืองที่ทรงพระกรุณาโปรดฯ ก็จะเกิดความลำบากเดือดร้อนขึ้น สมุหนายกได้นำความทั้งนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งอัคฮาด (สัง) เปนพระศรีเกษตราธิไชย เจ้าเมืองเกษตรวิไสย ให้บ้านกู่กะโดนเปนเมืองเกษตรวิไสยแต่นั้นมา

พระขัติยวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด ครั้นกราบถวายบังคมลากลับไปรักษาราชการบ้านเมืองแล้ว จึ่งได้มีบอกขอตั้งตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร ด้วยอุปฮาด (จอม) นั้นต้องถูกถอดเสียแล้ว ส่วนราชวงษ์ (สาร) ก็ถึงแก่กรรม

จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งท้าวก่ำบุตรราชวงษ์ (หล้า) เปนอุปฮาดท้าวเชียงน้องท้าวก่ำเปนราชวงษ์ ท้าวจักรหลานพระขัติยวงษาเปนราชบุตร ช่วยพระขัติยวงษารักษาราชการเมืองร้อยเอ็ดสืบไป

ฝ่ายราชวงษ์ (เชียงคำ) กลับมาถึงบ้านสนามแจงถึงแก่กรรม

พระยาสุรินทร์ ผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ พระยาสังฆะ ผู้ว่าราชการเมืองสังฆะ มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ ว่า เกิดโจรผู้ร้ายปล้นลักทรัพย์สิ่งของ ๆ ราษฎรในท้องแขวงเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ แล้วหนีเข้าไปในเขตรแขวงเมืองบุรีรำ เมืองนางรอง เมืองประโคนไชย เมืองขึ้นนครราชสิมา พระยาสังฆะ พระยาสุรินทร์ จะเอาตัวโจรผู้ร้ายนั้นมิได้ กรมการแลราษฎรได้ความเดือดร้อน

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระศักดิเสนีเปนข้าหลวงออกไปตั้งสืบสวนจับโจรผู้ร้ายอยู่ตามหัวเมืองตวันออกในปีนั้น

ในปีนี้พระสุนทรราชวงษา (เหม็น) เจ้าเมืองยโสธร พระเจริญราชเดช (มหาไชย) เจ้าเมืองมหาสารคาม พระราษฎรบริหาร (เกษ) เจ้าเมืองกมลาไศรย พระพิไชยสุนทรเจ้าเมืองจงกัน อุปฮาด (พรหม) เมืองสหัสขันธ์ ถึงแก่กรรม พระราษฎรบริหารมีบุตรชาย ๖ คน คือ อุปฮาด (วันทอง) ๑ ราชวงษ์ (บัว) ๑ หลวงชาญวิไชย (นวน) ๑ ท้าวทะ ๑ ท้าวเทพ ๑ ท้าวทำ ๑

ในระหว่างนี้มีตราโปรดเกล้า ฯ ให้ส่งพิมพ์รูปพรรณสัตว์พาหนะไปให้บรรดาหัวเมืองฝ่ายตวันออก เพื่อได้ซื้อขายให้ปันจะได้ทำรูปพรรณพิมพ์กันเปนหลักถานแต่นั้นมา

วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐ พระเจริญราชเดชผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามถึงแก่กรรม

วันพุธ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีนี้ เจ้าพระยาภูธราภัยสมุหนายกถึงอาสัญกรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ทรงบังคับบัญชากรมมหาดไทยต่อไป ในปีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งอุปฮาด (สุพรหม) เมืองยโสธรเปนพระสุนทรราชวงษาเจ้าเมือง ให้ราชบุตร (บา) เปนอุปฮาด ให้พระศรีวรราช (แก) ผู้ช่วยเปนราชวงษ์ ให้ท้าวกันยา บุตรอุปฮาด (แพง) เปนราชบุตร ให้ท้าวโอะ บุตรราชวงษ์ (สุดตา) เปนพระศรีวรราชผู้ช่วยรักษาเมืองยโสธร ส่วนเมืองมหาสารคามยังหาทันได้โปรดเกล้า ฯ ให้ผู้ใดเปนเจ้าเมืองไม่ อุปฮาดได้เปนผู้รักษาเมืองต่อไป

ส่วนเมืองกมลาไศรยโปรดเกล้าฯ ตั้งให้อุปฮาด (วันทอง) เปนพระราษฎรบริหารเจ้าเมือง ให้ราชวงษ์ (บัว) เปนอุปฮาด ให้หลวงชาญวิไชย (นวน) ผู้ช่วยเปนราชวงษ์ ทั้งสามคนนี้เปนบุตรพระราษฎรบริหาร (เกษ)

ส่วนเมืองจงกัน พระศักดิเสนี ซึ่งเวลานั้นโปรดเกล้า ฯ ให้ไปเปนข้าหลวงรักษาราชการอยู่เมืองสังฆะพร้อมด้วยพระยาสังฆะ ได้จัดให้หลวงสุนทรนุรักษ์ ไปรักษาราชการแทนพระพิไชยสุนทร เจ้าเมืองจงกัน

พระประชาชนบาล (แสน) เจ้าเมืองสหัสขันธ์ แลราชวงษ์ (ท้าว) เมืองอุบล ซึ่งลงมาอยู่ณกรุงเทพ ฯ ถึงแก่กรรรมในปีนี้

วันพุธ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีนี้ พระยาวิเศษภักดี (บุญจัน) ผู้ว่าราชการเมืองศรีสระเกษไปดูไร่ที่ฟากห้วยสำราญ เวลาค่ำพระยาวิเศษลงอาบน้ำที่ห้วยสำราญ ดำน้ำครู่หนึ่งเปนลมจมน้ำ บุตรภรรยาบ่าวไพร่ช่วยกันฉุดลากหาขึ้นไม่ กลับหลุดมือจมน้ำหายไป ต่อรุ่งขึ้นจึ่งพบศพพระยาวิเศษ

ฝ่ายทางเมืองจำปาศักดิตั้งแต่เจ้าอุปราช (บัวระพันธุ์) ถึงแก่กรรมแล้วก็ยังหาทันมีผู้ใดได้รับตำแหน่งเจ้าอุปราชไม่ ครั้นมาในปีนี้เจ้านครจำปาศักดิ จึ่งแต่งให้เจ้าราชบุตร เจ้าธรรมนุเรศ แลแสนท้าวพระยา คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ แลเงินส่วยมาทูลเกล้า ฯ ถวายกับได้มีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งเจ้าราชบุตรเปนตำแหน่งเจ้าอุปราช เจ้าธรรมนุเรศเปนเจ้าราชบุตรด้วย

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เจ้าราชบุตร (พัน) บุตรเจ้าอุปราช (เสือ) เปนเจ้าอุปราช ให้เจ้าธรรมนุเรศ บุตรเจ้าอินทร์ หลานเจ้านครจำปาศักดิ (ฮุย) เปนเจ้าราชบุตร

เมืองเชียงแตงมีบอกมายังกรุงเทพ ฯ ว่านายด่านแซแมรแจ้งว่า นักขำมารดานักองค์วัดถา ๑ พระยาจักรี ๑ สมเด็จ ๑ มหาเทพ ๑ แลครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยรวมร้อยเศษ พระสงฆ์ ๔ รูป ช้าง ๘ ม้า๘ เกวียน ๒ หนีมาแต่บ้านไซมัง มาตั้งอยู่บ้านด่านแซแมร เหนือบ้านแซอังกรอง แขวงเมืองเชียงแตง แลนักขำได้แจ้งต่อเพี้ยมนตรีนายด่านบ้านแซแมรว่า จะไปกรุงเทพ ฯ ดังนี้ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราสั่งยังบรรดาหัวเมืองตวันออกว่า ถ้าพบนักขำกับครอบครัวเขมรก็ให้ส่งมายังกรุงเทพ ฯ

แลในระหว่างนั้น พระยาประเสริฐสุริยวงษ์แม่ทัพเมืองพนมเปนได้ยกกองทัพไปตามจับพระราชเดชะแม่ ทัพของนักองค์วัดถา กับสนองกุยซึ่งอยู่ณเมืองกะพงสวาย จับได้แต่สนองกุย ส่วนพระราชเดชะหนีไปได้ พระยาประเสริฐจึ่งตั้งให้สนองกุยเปนมะโนบริภาศ ใช้ให้ไปตามจับพระราชเดชะ มะโนบริภาศกลับไปเข้ากับพระราชเดชะเสีย ครั้นพระยาประเสริฐทราบดังนั้น จึ่งยกทัพตามจับพระราชเดชะได้ฆ่าเสียส่วน มะโนบริภาศ (กุย) จึ่งยกครอบครัวหนีกองทัพพระยาประเสริฐเข้ามาตั้งอยู่ที่ลำแสนแขวงเมืองสังฆะ จึ่งมีตราโปรดเกล้า ฯ ให้พระศักดิเสนี ซึ่งเวลานั้นเปนข้าหลวงอยู่เมืองสังฆะกับพระยาสังฆะ ให้จับมะโนบริภาศ (กุย) ได้ ส่งตัวมาณกรุงเทพ ฯ

อนึ่งเมื่อปี ๑๒๓๗ ท้าวอินทิสาร (ทัน) ท้าวสุริยวงษ์ (ยง) ท้าวทิศาราช (ทองดี) ซามาตย์ (ภา) บ้านหัวดอนโขง กรมการ เมืองสีทันดร ได้จดชื่อไพร่ ๒๕๐ คน ไปขอสมัคขึ้นเจ้านครจำปาศักดิ ๆ จึ่งตั้งให้ท้าวอินทิสาร (พัน) เปนพระอุไทยราชา นายกองนอก ตั้งท้าวสุริยวงษ์ (ยง) เปนท้าวศรีวรราช ตั้งท้าวทิศาราช (ทองดี) เปนหลวงรามภักดี ตั้งซามาตย์ (ภา) เปนหลวงเสนาสงคราม ตั้งอยู่ณห้วยหินห้วยโก

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๔๑ ปีเถาะเอกศก เจ้านครจำปาศักดิจึ่งมีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานตั้งบ้านห้วยหินห้วยโกเปนเมือง ขอพระอุไทยราชา (ทัน) เปนเจ้าเมือง

จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ขนานนามบ้านห้วยหินห้วยโก เปนเมืองสพังภูผา ให้พระอุไทยราชา (ทัน) เปนพระราชฤทธิบริรักษ์เจ้าเมืองตั้งท้าวศรีวรราช (ยง) เปนอุปฮาด ตั้งหลวงเสนาสงคราม (ภา) เปนราชวงษ์ ตั้งหลวงรามภักดี (ทองดี) เปนราชบุตร เมืองสพังภูผาขึ้นนครจำปาศักดิ

ระหว่างปีนี้ มีอ้ายขุนแสวงสุวรรณพันธนากร (คำภา) อ้ายขุนสุนทรภักดี ตั้งตัวเองว่าเปนข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปเที่ยวตามหัวเมืองตวันออก อ้างว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ มาชำระคดีถ้อยความของราษฎร แต่หนังสือที่ว่าเปนท้องตรานั้นประทับตราเปนรูปราชสีห์ถือเสวตรฉัตรสองตัว เปนเส้นลายทอง กับถือหนังสือขุนบันเทาทิพราชกรมมหาดไทย ว่าเปนนายเวรสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ มาถึงอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร กรมการเมืองมหาสารคามให้ชำระคดีเรื่องขุนสุนทรภักดี ท้าวจันชมภูด้วย ฝ่ายเมืองมหาสารคามได้มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราสั่งถึงบรรดาหัวเมืองตวันออกให้ตรวจจับอ้ายขุนแสวงสุวรรณพันธนากร อ้ายขุนสุนทรภักดีส่งกรุงเทพ ฯ

ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ พระรัตนวงษาเจ้าเมือง แลกรมการ ได้มีบอกขอตั้งบ้านเมืองเสือเปนเมือง ขอท้าวขัติยบุตรพระรัตนวงษาเปนเจ้าเมือง

โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเมืองเสือเปนเมืองพยัคฆภูมิพิไสย ให้ท้าวขัติยเปนพระศรีสุวรรณวงษา เจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิไสย ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ

พระศรีสุวรรณวงษาเห็นว่าบ้านนาข่าแขวงเมืองสุวรรณภูมิเปนทำเลพืชผลดี จึ่งขออนุญาตพระรัตนวงษา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พาครอบครัวไปตั้งเมืองพยัคฆภูมิอยู่ณบ้านนาข่า หาได้ไปตั้งที่บ้านเมืองเสือตามขอไม่

ฝ่ายทางเมืองยโสธร พระศรีวรราช (โอะ) ผู้ช่วยถึงแก่กรรมพระสุนทรราชวงษาเห็นว่าท้าวสุย บุตรราชบุตร(กันยา) เปนคนสัตย์ซื่อมั่นคง จึ่งมีบอกขอตั้งให้ท้าวสุยเปนหลวงศรีวรราช ผู้ช่วยราชการต่อไป

อนึ่งหลวงจุมพลภักดีนายกอง บุตรพระประทุม อยู่บ้านบึงโดนเมืองยโสธร ซึ่งพระสุนทรราชวงษา (เหม็น) เจ้าเมืองยโสธรผู้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ได้ตั้งให้เปนกรมการเมืองยโสธรนั้น จะขอทำส่วยผลเร่วแยกขึ้นกรุงเทพ ฯ ฝ่ายพระสุนทรราชวงษา (สุพรหม) เจ้าเมืองยโสธรคนใหม่ไม่ยอมตามหลวงจุมพล ๆ มีความขุ่นเคือง จึ่งเอาบาญชีรายชื่อตัวเลขไปสมัคขึ้นพระราษฎรบริหาร เจ้าเมืองกมลาไศรย ๆ จึ่งได้มีบอกขอตั้งบ้านบึงโดนเปนเมือง ขอตั้งหลวงจุมพลภักดีเปนเจ้าเมือง

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านบึงโดนเปนเมืองเสลภูมินิคม ให้หลวงจุมพลภักดี เปนพระนิคมบริรักษ์เจ้าเมือง ให้ท้าวสุริยเปนอัคฮาด ให้ท้าวผู้ช่วยเปนอัควงษ์ ท้าวสุทธิสารเปนอัคบุตร รักษาราชการเมืองเสลภูมิ ขึ้นเมืองกมลาไศรย

ฝ่ายเมืองสหัสขันธ์ ตั้งแต่พระประชาชนบาล (แสน) เจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้ว ก็มีแต่ราชบุตร (แสง) เปนผู้รักษาเมืองอยู่ ครั้นมาปีนี้ราชบุตร (แสง) ถึงแก่กรรมลง จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งหลวงจุมพลพนาเวศ บุตรนายบัวเมืองเชียงใหม่ เปนพระประชาชนบาลเจ้าเมือง รักษาราชการเมืองสหัสขันธ์ต่อไป กับโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งอุปฮาด (บัวทอง) เมืองมหาสารคาม เปนพระเจริญราชเดช เจ้าเมืองมหาสารคาม

พระธิเบศร์วงษาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ มีความบาดหมางกับพระไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ร้องขอไม่สมัครทำราชการกับเมืองกาฬสินธุ์ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองกุดฉิมนารายน์ไปขึ้นเมืองมุกดาหาร

พระธิเบศร์วงษาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ มีความบาดหมางกับพระยาไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ร้องขอไม่สมัคทำราชการกับเมืองกาฬสินธุ์ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกเมืองกุดฉิมนารายน์ไปขึ้นเมืองมุกดาหาร

ในปีนี้ เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานี ได้พาพระปลัดซ้าย (เคน) บุตรท้าวมณฑาธิราชเมืองลำเนาหนองปรือ กับเพี้ยเมืองจันเมืองเขมราษฎร์ ซึ่งพาท้าวเพี้ยตัวเลขมาสมัคอยู่กับเจ้าพรหมเทวานั้นเผ้าทูลลอองธุลีพระบาท แลให้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานตั้งบ้านท่ายักขุ แลบ้านเผลาแขวงเมืองอุบล, เปนเมือง ขอตั้งพระปลัดซ้ายแลเพี้ยเมืองจันเปนเจ้าเมือง แลขอตั้งท้าวบุตตะ บุตรพระพรหมราชวงษาเปนอุปฮาดเมืองตระการ จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านท่ายักขุ เปนเมืองชาณุมานมณฑล ให้พระปลัดซ้าย เปนพระผจญจัตุรงค์เจ้าเมืองชาณุมานมณฑล

ให้ตั้งบ้านเผลาเปนเมืองพนานิคม ให้เพี้ยเมืองจันเปนพระจันทวงษาเจ้าเมือง ท้าวอินทิจักรเปนอุปฮาด ท้าวไชยแสงบุตรพระจันทวงษาเปนราชวงษ์ ให้ท้าวสิงทองเปนราชบุตร ท้าวอุปไชยเปนผู้ช่วยเมืองพนานิคม ในเมืองพนานิคมนี้มีพระพุทธรูปใหญ่ก่อด้วยอิฐองค์หนึ่ง ซึ่งเปนของโบราณประมาณ ๑๕๐ ปีเศษ เมืองชาณุมานแลเมืองพนานิคมนี้โปรดเกล้า ฯ ให้ขึ้นเมืองอุบลทั้งสองเมือง

แต่เมืองชาณุมานมณฑลนั้นพระประจญได้พาท้าวเพี้ยกรมการไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านกระดาน หาได้ตั้งขึ้นที่บ้านท่ายักขุตามโปรด เกล้า ฯ ไม่

แลส่วนท้าวบุตตะนั้น โปรดเกล้า ฯ ให้มีสารตราตั้งให้เปนอุปฮาดเมืองตระการตามเจ้าพรหมขอ

พระราชทานเครื่องยศให้พระประจญจัตุรงค์ แลพระจันทวงษาคือ ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพรหลินแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑

พระราชทานอุปฮาดเมืองตระการ คือ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรส่านวิลาศ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

อุปฮาด (ก่ำ) เมืองร้อยเอ็ดถึงแก่กรรม

ระหว่างปีนี้ มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ถึงบรรดาหัวเมืองตวันออกว่า ถ้าคนสัปเยกต์ฮอลันดามาค้าขายเปนความกับคนไทย ให้เจ้าเมืองเรียกตัวมาว่ากล่าวตัดสินแล้วแจ้งมายังกรุงเทพฯ ถ้าชำระตัดสินมิตกลง ก็ให้บอกส่งโจทย์จำเลยมายังกรุงเทพ ฯ

แลได้โปรดเกล้า ฯ ให้หลวงเทเพนทร์เปนข้าหลวงขึ้นไปชำระความที่เมืองมหาสารคาม เรื่องมองคำมอตองซู่หาว่าผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามจับจำขื่อ ว่าคุมกระบือไม่มีพิมพ์รูปพรรณ เร่งเอาเงิน ๗ ชั่งได้แล้วปล่อยตัวไป

นายนู นายสีดา คนเมืองกุสุมาลย์มณฑลคล้องได้ช้างพลายเผือกที่ตำบลเขาโองแขวงข่าระแดฝั่งโขง ตวันออก ๑ ช้าง สูงสองศอกคืบสี่นิ้ว นำมาส่งเจ้านครจำปาศักดิ

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๔๒ ปีมโรงโทศก เจ้านครจำปาศักดิพร้อมด้วยเจ้านายแสนท้าวพระยา จึ่งคุมช้างเผือกแลต้นไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการแลเงินส่วย มาถวายณกรุงเทพ ฯ ช้างนี้เปนช้างเผือกเอก โปรดเกล้า ฯ ให้มีการสมโภชพระราชทานนามช้างว่า พระเสวตรสกลวโรภาศ แลโปรดให้ตั้ง นายนูหมอเปนขุนเสวตรคชสาร ตั้งนายสีดาควาญเปนหมื่นประสานคชประสบ พระราชทานเงินตราแลเสื้อผ้าโดยสมควร

แล้วเจ้านครจำปาศักดิ ได้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอตั้งหลวงชำนาญไพรสณฑ์ (แดง) บุตรพระเทพ วงษา (ก่ำ) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ ซึ่งโจทย์สมัคมาขึ้นเจ้านครจำปาศักดินั้นเปนเจ้าเมือง ขอตั้งบ้านนากอนจอเปนเมือง

จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งหลวงชำนาญไพรสณฑ์ เปนพระกำจรจตุรงค์เจ้าเมือง ตั้งท้าวไชยบุตรพระเทพวงษา (บุญเฮา) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ เปนอุปฮาด ให้ท้าวสิทธิจางวาง (อุทา) บุตรนายโสดา เปนราชวงษ์ ให้ท้าวจันทบุฮม (อัม) บุตรเพี้ยพรหมมหาไชย เปน ราชบุตร ตั้งบ้านนากอนจอเปนเมือง ขนานนามว่า วารินชำราบ ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ

ปีนี้ พระพิไชยอุดมเดช (เดช) เจ้าเมืองภูแล่นช้าง พระ ธิเบศร์วงษา (ดวง) เจ้าเมืองกุดฉินารายน์ ผู้ช่วย (อ่อน) ผู้ว่าการตำแหน่งเจ้าเมืองกันทรารักษ์ ราชบุตร (มหานาม) เมืองกมลาไศรย ราชบุตร (กันยา) พระศรีวรราชผู้ช่วย (สุย) เมืองยโสธรถึงแก่กรรม

ฝ่ายทางเมืองร้อยเอ็ด พระขัติยวงษา (เสือ) เจ้าเมืองพร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการได้มีใบบอก ขอตั้งราชบุตร (จักร) เปนอุปฮาด ขอท้าวสุริย (เภา) บุตรท้าวสุริยวงษ์ เปนราชวงษ์ ขอท้าวเคือ บุตรพระขัติยวงษา (เสือ) เปนราชบุตรเมืองร้อยเอ็ด กับบอกขอตั้งบ้านท่าเสาธงริมลำน้ำพาชี แขวงเมืองร้อยเอ็ดเปนเมือง ขอท้าวโพธิราช เปนเจ้าเมือง ขอท้าวสุวอ บุตรพระพิไสยสุริยวงษ์ เปนอุปฮาด ทั้งสองคนนี้ เปนน้องชายพระขัติยวงษา (เสือ)

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเสาธงเปนเมืองธวัชบุรี ตั้งท้าวโพธิราช เปนพระธำนงไชยธวัชเจ้าเมือง แลตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองร้อยเอ็ด เมืองธวัชบุรีนั้น ก็โปรดให้ตามใบบอกเมืองร้อยเอ็ดขอ

ครั้นพระธำนงไชยธวัช (โพธิราช) กับอุปฮาด (จักร) เมืองร้อยเอ็ด แลราชวงษ์ ราชบุตร กรมการ เมืองร้อยเอ็ด เมืองธวัชบุรี กราบถวายบังคมลาไปถึงบ้านสาริกา อุปฮาด (จักร) กับพระธำนงไชยธวัชถึงแก่กรรมเสียตามทาง หาทันถึงเมืองไม่

ครั้นจุลศักราช ๑๒๔๓ ปีมเสงตรีศก พระขัติยวงษา (เสือ) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด จึ่งได้มีบอกขอให้ราชวงษ์ (เภา) เปนอุปฮาด ขอราชวงษ์ (เคือ) เปนราชวงษ์ ขอท้าวอุปชิตน้องชายพระขัติยวงษา (เสือ) เปนราชบุตรเมืองร้อยเอ็ด ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ คนทั้งนี้ได้รับตำแหน่งตามพระขัติยวงษาบอกขอทุกคน

อนึ่งเมืองกาฬสินธุ์ ตั้งแต่พระยาไชยสุนทร (หนู) เจ้าเมืองแลอุปฮาด (เหม็น) ราชบุตร (สุริยมาตย์) ถึงแก่กรรมแล้ว ก็มีแต่ราชวงษ์ (เชียงโคต) เปนผู้ใหญ่ได้ควบคุมท้าวเพี้ยกรมการ รักษา ราชการบ้านเมืองต่อมาจนปีนี้ ท้าวเพี้ยกรมการเมืองกาฬสินธุ์ จึ่งได้มีบอกให้ราชวงษ์นำเงินส่วยมาทูลเกล้า ฯ ถวายณกรุงเทพ ฯ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ราชวงษ์ (เชียงโคต) เปนตำแหน่งพระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป

พระราษฎรบริหารผู้ว่าราชการเมืองกมลาไศรย มีใบบอกมายังกรุงเทพ ฯ ว่า ตำแหน่งอุปฮาดเมืองสหัสขันธ์ไม่มีตัว ขอท้าวโพธิสาร บุตรท้าวขุลู เปนอุปฮาดเมืองสหัสขันธ์ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งท้าวโพธิสารเปนอุปฮาดเมืองสหัสขันธ์พระราชทานเสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

อุปฮาด ( บา ) เมืองยโสธรถึงแก่กรรมปีนี้

ฝ่ายทางเมืองพรหมกันตั้งแต่โปรดเกล้า ฯ ให้หลวงสัศดี (สิน) เปนพระวิไชย เจ้าเมืองพรหมกันแล้ว พระวิไชยรับราชการได้ ๗ ปีก็ถึงแก่กรรม ครั้นมาปีนี้ พระยาสังฆะจึงได้ให้พระสุนทรนุรักษ์ผู้หลานนำใบบอกมากรุงเทพ ฯ ขอให้พระสุนทรนุรักษ์ เปนพระทิพชลสินธุ์อินทรนฤมิตร

ฝ่ายทางเมืองนครจำปาศักดิ ครั้นเจ้านครจำปาศักดิได้บอกขอตั้งบ้านห้วยหินกองเปนเมืองสพังภูผา ขอพระอุไทยราชา ซึ่งจดชื่อไพร่เมืองสีทันดรมาสมัคขึ้น เปนพระราชฤทธิบริรักษ์เจ้าเมืองได้แล้ว ฝ่ายเมืองสีทันดรทราบดังนั้นจึ่งได้มีใบบอก แต่งให้ท้าวสุริยวงษากรมการอยู่บ้านจาร ถือเข้ามาร้องด้วยเรื่องพระอุไทยราชา ผู้เปนที่พระราชฤทธิบริรักษ์เจ้าเมืองสพังภูผา ลักเอาชื่อไพร่เมืองสีทันดรไปสมัคขึ้นเมืองนครจำปาศักดินั้น แต่ท้าวสุริยวงษาเห็นจะรื้อถอนมิไหว จึ่งไปคิดอ่านกับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ ซึ่งเวลานั้นยังพักอยู่กรุงเทพ ฯ ขอตั้งบ้านจารเปนเมือง ขอตัวท้าวสุริยวงษาเปนเจ้าเมือง จึ่งโปรดให้ตั้งบ้านจารเปนเมืองมูลปาโมกข์ ให้ท้าวสุริยวงษา บุตรท้าวศรีวรราช เปนพระวงษาสุรเดชเจ้าเมืองขึ้นเมืองสีทันดรในปีนี้ แลเมืองมูลปาโมกข์นี้แซกอยู่ท่ามกลางระหว่างเมืองสพังภูผา กับเมืองอุทุมเมืองขึ้นเมืองจำปาศักดิ เมืองสีทันดรจึงได้มีเมืองขึ้นแต่นั้นมา

ฝ่ายพระวงษาสุรเดช เจ้าเมืองมูลปาโมกข์ ครั้นกลับไปถึงบ้านเมือง จึ่งมีบอกขอตั้งตำเแหน่ง อุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร เต็มตามธรรมเนียม จึ่งโปรดให้ตั้งท้าวสุริย บุตรพระอภัยราชวงษา เจ้าเมืองสีทันดร เปนอุปฮาด ให้ท้าวสีหราช บุตรท้าวจิตราช เปนราชวงษ์ ให้ท้าวจันทเสน บุตรท้าววรบุตร เปนราชบุตร เมืองมูลปาโมกข์

ในระหว่างนี้ พระเจริญรัตนสมบัติ (บุญจัน) นายกองนอกเมืองขุขันธ์ มีความวิวาทบาดหมางกันกับพระยาขุขันธ์ (วัง) พาสัมโนครัวตัวเลขรวม ๔๖๑๑ คน ไปสมัคอยู่กับเมืองจำปาศักดิ มีตราโปรดเกล้าฯ ให้เมืองขุขันธ์กับเมืองจำปาศักดิ หักโอนกันตามธรรมเนียม

อนึ่งหลวงมหาดไทย กรมการเมืองเดชอุดม ได้พาครอบครัวตัวเลขโจทมาสมัคขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ ตั้งอยู่บ้านจันลานาโดม แขวงเมืองนครจำปาศักดิ เจ้านครจำปาศักดิได้ตั้งให้หลวงมหาดไทย เปนพระรัตนเขื่อนขันธ์นายกองส่วย ครั้นมาปีนี้ เจ้านครจำปาศักดิจึ่งได้บอกขอตั้งบ้านจันลานาโดมเปนเมือง ขอพระรัตนเขื่อนขันธ์นายกองส่วยเปนเจ้าเมือง จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านจันลานาโดมเปนเมืองโดมประดิษฐ ให้ตั้งพระรัตนเขื่อนขันธ์ เปนพระดำรงสุริยเดชเจ้าเมือง ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ

อนึ่งท้าวเลื่อน บุตรผู้ช่วยเมืองสาลวัน กับท้าวจันทร์ชมภู ท้าวอินทิแสง กรมการเมืองสาลวัน อยู่บ้านน้ำคำแก่งเสร็จ แขวงเมืองสาลวัน ฝั่งโขงตวันออก โจทสมัคมาขอทำราชการขึ้นกับเจ้านครจำปาศักดิ ๆ จึ่งยกบ้านน้ำคำแก่งเสร็จ เปนเมืองสูตวารี ขึ้นเมืองจำปาศักดิ

พระธิเบศร์วงษาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ แลพระอุทุมพรเทศานุรักษ์ เจ้าเมืองอุทุมพรถึงแก่กรรมในปีนี้

ฝ่ายทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทร์ ได้มีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตำแหน่งยกรบัตรเมืองสุรินทร์ว่าง ขอพระมหาดไทยเปนพระยกรบัตร วันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ตั้งให้พระมหาดไทย เปนพระพิไชยนครวรวุฒิ ยกรบัตรเมืองสุรินทร์ ถือศักดินา ๕๐๐

มีตราโปรดเกล้า ฯ ถึงหัวเมืองตวันออกว่า ถ้าคนในบังคับ ต่างประเทศฟ้องคนใด ซึ่งอยู่ในบังคับสยามก็ให้บอกส่งฟ้องฤๅตัวโจทย์จำเลยมายังกรุงเทพ ฯ

พระพรหมภักดี (โท) ยกรบัตร บุตรหลวงวิเศษกับท้าวคำปานผู้ช่วย บุตรพระยาวิเศษ (บุญจัน) เจ้าเมืองศรีสระเกษลงมา เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพ ฯ เพื่อแย่งกันขอเป็นเจ้าเมือง ตั้งแต่ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ แต่ครั้นมาถึงกรุงเทพฯฝ่ายท้าวคำปานผู้ช่วยก็ถึงแก่กรรมเสีย ครั้นมาปีนี้จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระพรหมภักดี (โท) บุตรหลวงวิเศษ ยกรบัตรเมืองศรีสะเกษ เปนพระยาวิเศษภักดี ให้ท้าวเง่าบุตรพระยาวิเศษ (บุญจัน) เปนพระภักดีโยธาปลัด ให้ราชวงษ์ (ปัญญา) บุตรหลวงไชย (สุก) เปนพระพรหมภักดียกรบัตร แลโปรดให้ท้าวเศษ บุตรพระยาวิเศษ (โท) รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยเมืองศรีสระเกษ แลเมืองศรีสระเกษได้มีบอกขอตั้งบ้านโนนหินกอง ซึ่งเมืองสุวรรณภูมิว่าเปนแขวงเมืองสุวรรณภูมินั้นเปนเมือง ขอพระพล (จันศรี) บุตรหลวงอภัยกรมการเมืองศรีสระเกษเปนเจ้าเมือง โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านโนนหินกองเปนเมืองราษีไศล ให้พระพล (จันศรี) เปนพระผจญปัจนึกเจ้าเมือง ขึ้นกับเมืองศรีสระเกษแต่นั้นมา แลมีตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้หลวงแสง (จัน) น้องชายพระผจญ เปนหลวงหาญศึกพินาศปลัด ให้ท้าวคำเม็ก บุตรพระผจญ เปนหลวงพิฆาฎไพรียกรบัตร เมืองราษีไศล ขึ้นกับเมืองศรีสระเกษแต่นั้นมา

ลุจุลศักราช ๑๒๔๔ปีมแมจัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) แต่ยังเปนพระยาศรีสิงหเทพ พร้อมด้วยข้าราชการหลายนายเปนข้าหลวงขึ้นไปรักษาราชการหัวเมืองตวันออกตั้ง อยู่ณเมืองนครจำปาศักดิ

ระหว่างนั้นข่าปะตงภูคล้องได้ช้างพลายเผือกตัวหนึ่งที่ฝั่งโขงตวันออก พระยาศรีสิงหเทพ พร้อมด้วยเจ้ายุติธรรมธรเจ้านครจำปาศักดิ ได้เอาเงินสำหรับบ้านเมือง ๓๐ ชั่งซื้อช้างพลอยเผือกตัวนี้ไว้

เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์เจ้าเมืองอุบล, มีบอกขอตั้งท้าวพระไชย (จันดี) กรมการเมืองเขมราษฎร์ซึ่งอพยพครัวมาตั้งอยู่บ้าน ทีแขวงเมืองอุบล เปนเจ้าเมือง ขอยกบ้านที่เปนเมือง ครั้นวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งท้าวพระไชย เปนพระพิไชยชาญณรงค์เจ้าเมือง ยกบ้านที่เปนเมืองเกษมสิมาขึ้นเมืองอุบล พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เสื้อเข้มขาบ ๑ ผ้าแพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑ แก่พระพิไชยชาญณรงค์เปนเกียรติยศ แล้วเจ้าพรหมได้ตั้งให้ท้าวไชยแสง (เสือ) เปนอุปฮาด ให้เพี้ยกรมเมือง (พรหม) เปนราชวงษ์ ให้ท้าวพรหมท้าวเปนราชบุตร เมืองเกษมสิมา ครบตามตำแหน่ง

พระกำแหงสงครามเจ้าเมือง แลราชวงษ์ ราชบุตร กรมการเมืองโขงเจียง ไม่พอใจจะทำราชการขึ้นกับเมืองเขมราษฎร์ โจทสมัคมาขอขึ้นเมืองอุบล เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์เจ้าเมืองอุบล จึ่งได้บอกมายังกรุงเทพ ฯ มีตราโปรดเกล้า ฯ ให้ยกเมืองโขงเจียงออกจากเมืองเขมราษฎร์ มาขึ้นเมืองอุบลตามใจสมัค

ระหว่างปีนี้คนทางเมืองสุรินทร์ ได้อพยพครอบครัวเปนอันมากข้ามไปตั้งอยู่ฟากลำน้ำมูลข้างเหนือ มีบ้านทัพค่ายเปนต้น (ซึ่งเมืองสุวรรณภูมิได้ร้องว่าเปนแขวงของสุวรรณภูมินั้น) ครั้นแล้วพระยาสุรินทร์ได้มีบอกขอตั้งบ้านทัพค่ายเปนเมือง ขอพระวิเศษราชา (ทองอิน) เปนเจ้าเมือง แลขอท้าวปรางบุตร เปนพระสุรพินทนิคมานุรักษ์เจ้าเมือง สุรพินทนิคม วันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ อุตราสาตร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านทัพค่ายเปนเมืองชุมพลบุรี ให้พระวิเศษราชา (ทองอิน) (ไนยหนึ่งว่าหลวงราชรินทร์) เปนพระฤทธิรณยุทธเจ้าเมือง พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพรหลินแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑ แลโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวปรางเปนพระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองสุรพินทนิคม ตามพระยาสุรินทร์ขอ พระราชทานเครื่องยศตามบันดาศักดิ พระยาสุรินทร์ได้ให้ท้าวเพ็ชรเปนที่ปลัด ให้ท้าวกลิ่นเปนที่ยกรบัตร ทั้งสองคนนี้เปนพี่ชายพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) แลให้ท้าวนุด บุตรพระฤทธิรณยุทธ (ทองอิน) เปนผู้ช่วยเมืองชุมพลบุรี

หลวงจินดานุรักษ์ บุตรพระศรีนครไชยคนเก่ากรมการเมืองรัตนบุรี ได้นำเอาบาญชีหางว่าวกรมการขุนหมื่นตัวเลขของพระศรีนครไชยเจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่า ซึ่งตั้งอยู่ณบ้านหนองสนมแขวงเมืองรัตนบุรี รวม ๕๐๐ คนเศษ มาร้องทุกข์ยัง ฯพณฯ ลูกขุนณศาลาว่า พระศรีนครไชยเจ้าเมืองรัตนบุรีคนใหม่กดขี่ข่มเหงได้ความเดือดร้อน จะขอสมัคไปขึ้นอยู่กับเมืองสุรินทร์ จึ่งมีตราโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาสุรินทร์รับหลวงจินดาแลขุนหมื่นตัวเลข ให้ทำราชการขึ้นกับเมืองสุรินทร์ตามใจสมัค พระยาสุรินทร์จึ่งได้ตั้งให้หลวงจินดา เปนที่พระภักดีพัฒนากรควบคุมสัมโนครัวตัวเลขเสียส่วยขึ้นเมืองสุรินทร์ ตั้งอยู่ณโคกหนองสนม แลต่อมาเมืองสุรินทร์ได้มีบอกขอตั้งบ้านหนองสนมเปนเมืองสนมมีตราโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสิงหเทพ (หรุ่น) ข้าหลวงณเมืองนครจำปาศักดิไต่สวนเขตรแดนแผนที่อยู่ ยังหาทันได้โปรดให้เปนเมืองตามที่เมืองสุรินทร์ขอไม่

พระขัติยวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด มีบอกขอตั้งอุปฮาด (สุวอ) เมืองธวัชบุรี น้องพระธำนงไชยธวัช (โพธิราช) เปนพระธำนงไชยธวัชเมืองธวัชบุรี วันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้อุปฮาด (สุวอ)เปนพระธำนงไชยธวัช เจ้าเมืองธวัชบุรี พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพรหลินแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

พระขัติยวงษา (เสือ) เจ้าเมือง ราชวงษ์ (เคือ) ราชบุตร (อุปชิต) เมืองร้อยเอ็ดถึงแก่กรรมในระหว่างปีนี้ ยังคงอยู่แต่อุปฮาด (เภา) รักษาราชการเมืองร้อยเอ็ดต่อไป

พระรัตนวงษา (คำสิง) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ มีบอกขอตั้ง บ้านเมืองหงษ์เปนเมือง ขอหลวงพรหมพิทักษ์ (พรหม) ผู้ช่วย ผู้บุตรเปนเจ้าเมือง แลขอพระศรีวรราช (สอน) ผู้น้องเปนอุปฮาด เมืองสุวรรณภูมิ วันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านเมืองหงษ์เปนเมืองจัตุรภักตร์พิมาน ให้หลวงพรหมพิทักษ์ (พรหม) เปนพระธาดาอำนวยเดชเจ้าเมือง ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานเครื่องยศตามบันดาศักดิ แล้วพระธาดาอำนวยเดชได้อพยพครอบครัวไปตั้ง ที่ว่าการเมืองอยู่ที่บ้านเปลือยหัวช้าง ทางห่างกันกับบ้านเมืองหงษ์ประมาณ ๙๐ เส้น หาได้ไปตั้งที่ว่าการเมืองอยู่บ้านเมืองหงษ์ตามกระแสตราโปรดเกล้า ฯ ไม่

แลโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระศรีวรราช (สอน) เปนอุปฮาด เมืองสุวรรณภูมิ ตามพระรัตนวงษาขอ

พระศรีเกษตราธิไชย (สัง) เจ้าเมืองเกษตรวิไสย ถึงแก่กรรมในปีนี้ พระยาศรีสิงหเทพ (หรุ่น) ได้มีตราจุลราชสีห์ตั้งให้ท้าวสินลาบุตรพระศรีเกษตราธิไชย (สัง) เจ้าเมืองเกษตรวิไสย ซึ่งไปฝากตัวรับราชการอยู่กับพระยาศรีสิงหเทพณเมืองจำปาศักดินั้น เปนผู้รักษาเมืองเกษตรวิไสยต่อไป

ฝ่ายทางเมืองกาฬสินธุ์ พระยาไชยสุนทร (เชียงโคต) เจ้าเมืองถึงแก่กรรม พระวิชิตพลหาร แลเมืองแสน เมืองจัน ท้าวเพี้ยกรมการจึ่งมีบอกให้ท้าวพั่ว บุตรพระยาไชยสุนทร ว่าที่เจ้าเมือง ให้ท้าวหนู บุตรพระยาไชยสุนทร (ทอง) ว่าที่อุปฮาด ให้ท้าวโพธิสารบุตรพระยาไชยสุนทร (หล้า) ว่าที่ราชวงษ์ ให้ท้าวฮวด บุตรพระยาไชยสุนทร (หนู) ว่าที่ราชบุตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คน ทั้งนี้รับราชการตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป ตามกรมการขอ แต่ยังหาทันได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรไม่

พระประทุมวิเศษ (คำมูล) เจ้าเมือง แลราชวงษ์ (เมืองทอ) เมืองกันทรวิไชย ซึ่งลงมาเปนความอยู่กับเพี้ยเมืองกลางเมืองมหาสารคามณกรุงเทพ ฯ นั้นถึงแก่กรรม เมืองกันทรวิไชยคงมีแต่เวียงแกผู้รับราชการตำแหน่งอุปฮาดกับราชบุตร (ไชยสุริยา) อยู่รักษาบ้านเมือง แต่เวียงแกแลราชบุตรเห็นว่าตนเปนคนชรา จึ่งได้พร้อมด้วยกรมการมีบอกขอท้าวทองคำเมืองร้อยเอ็ด รับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองแลขอหลวงศรีสงคราม ว่าที่ราชวงษ์ ขอท้าวสีทะ ว่าที่หลวงจำนงภักดีผู้ช่วย มีตราโปรดอนุญาตให้คนทั้งนี้รับราชการในน่าที่ตามขอ รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

พระศรีสุวรรณ (พก) เจ้าเมืองแซงบาดาลถึงแก่กรรม ราชวงษ์ (ขี) ได้รักษาราชการบ้านเมืองต่อไปได้ ๒ เดือน ราชวงษ์ (ขี) ก็ถึงแก่กรรมลงอิก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวจารโคต บุตรอุปฮาด (พรหม) เปนพระศรีสุวรรณเจ้าเมือง ให้ท้าวเชียงทุมเปนอุปฮาด รักษาราชการเมืองแซงบาดาลต่อไป

ฝ่ายทางเมืองมหาสารคาม พระเจริญราชเดชเจ้าเมือง มีบอกขอตั้งบ้านนาเลาเปนเมือง ขอท้าวสุริยวงษ์ เปนเจ้าเมือง ขอท้าวมหาพรหม บุตรพระขัติยวงษา เจ้าเมืองร้อยเอ็ด เปนอุปฮาด ขอเพี้ยพละคร บุตรเพี้ยราชโยธาเมืองร้อยเอ็ด เปนราชวงษ์ ให้ท้าวสุริยวงษานำใบบอกลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ ครั้นวันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าว สุริยวงษ์ เปนพระพิทักษ์นรากรเจ้าเมือง ยกบ้านนาเลาเปนเมืองวาปีประทุม ขึ้นเมืองมหาสารคาม แลส่วนตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษ์นั้น ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราพระราชสีห์ ตั้งตามพระเจริญราชเดชขอ พระพิทักษ์นรากร แลอุปฮาด ราชวงษ์ ได้กราบถวายบังคมลากลับไปถึงบ้านสำโรงแขวงเมืองพุดไทยสง วันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ พระพิทักษ์นรากรป่วยถึงแก่กรรมอยู่ตามทาง เหลืออยู่แต่อุปฮาด ราชวงษ์ กลับไป ถึงบ้านได้ ๔ เดือน ราชวงษ์ก็ถึงแก่กรรมลงอิก ยังเหลือแต่อุปฮาด จึ่งอพยพครอบครัวไปตั้งอยู่บ้านนาเลาได้ ๗ วัน เห็นว่าที่บ้านนาเลาเปนที่กันดารด้วยเสบียงอาหาร จึ่งได้พาครอบครัวอพยพมาตั้งอยู่ที่บ้านหนองแสง (ซึ่งเมืองร้อยเอ็ดร้องว่าเปนแขวงของเมืองร้อยเอ็ดนั้น) เปนที่ว่าราชการบ้านเมืองต่อมา

แลในปีนี้ พระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคาม ได้ขอตั้งบ้านวังทาหาขวาง เปนเมืองขึ้นอิกเมืองหนึ่ง ขอท้าวสุริโย บุตรท้าวโพธิราช หลานพระขัติยวงษาเมืองร้อยเอ็ด เปนเจ้าเมือง ขอท้าวเชียง น้องพระเจริญราชเดช เปนอัคฮาด ขอท้าวราชามาตย์ บุตรเวียงแก หลานพระเจริญ เปนอัควงษ์ ขอท้าวสายทอง บุตรท้าวสุทธิสารเมืองร้อยเอ็ด เปนอัคบุตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านวังทาหอขวางเปนเมืองโกสุมพิไสย ให้ท้าวสุริโยเปนพระสุนทรพิพิธเจ้าเมือง ขึ้นเมืองมหาสารคาม ส่วนตำแหน่งอัคฮาด อัควงษ์ อัคบุตร ก็ได้โปรดให้มีตราพระราชสีห์ตั้งตามพระเจริญราชเดชขอ

ซึ่งเรียกว่าบ้านวังทาหอขวางนั้นมีตำนานมาว่า เดิมทีนั้นเรียกกันว่าดงวังทามาก่อนภายหลังมีพราน ๒ คนมาพักนอนที่ทำเนบ้านร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในดงวังทานั้นหลับไป พรานคนหนึ่งนิมิตรว่า เห็นผู้เฒ่าคนหนึ่งถือตระบองแก้วเข้ามาพูดขู่สำทับหยาบช้ากับพรานคนนั้นโดยอาการต่าง ๆ จนกระทั่งพรานคนนั้นตกใจตื่นขึ้น พรานคนนั้นเห็นว่าที่นั้นมีเทพารักษ์แรง จึ่งได้สร้างเปนหอเทพารักษ์ขึ้นหลังหนึ่ง แต่หอนั้นขวางตวัน เพราะฉนั้นคนทั้งปวง จึ่งได้เรียกที่นั้นว่า ดงวังทาหอขวาง ภายหลังคนเมืองร้อยเอ็ดแลมหาสารคามได้อพยพครอบครัวไปตั้งเปนภูมิลำเนาในที่นั้นมากขึ้น จึ่งได้เรียกกันว่า บ้านวังทาหอขวางตั้งแต่นั้นมา

ฝ่ายเมืองสหัสขันธ์ พระประชาชนบาลเจ้าเมืองไม่ถูกต้องกันกับเมืองกาฬสินธุ์ โจทย์ไปสมัคขอขึ้นกับพระราษฎรบริหาร เจ้าเมืองกมลาไศรย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกเมืองสหัสขันธ์ไปขึ้นกับเมืองกมลาไศรยตามใจสมัคตั้งแต่ปีนี้มา

ลุจุลศักราช ๑๒๔๕ ปีมะแมเบญจศก พระยาศรีสิงหเทพ (หรุ่น) ได้มีตราจุลราชสีห์ ตั้งให้หลวงอภัยภูธร (แย้ม) ปลัด ซึ่งออกไปเปนกองนอกนั้น รับราชการตำแหน่งพระณรงค์ภักดี เจ้าเมืองเซลำเภา ให้หลวงแก้วมนตรี (เหมา) เปนหลวงอภัยภูธรปลัด ปลัดแย้มรับราชการน่าที่เจ้าเมืองได้ ๓ เดือนก็ถึงแก่กรรม แลพระยาศรีสิงหเทพ (หรุ่น) ได้ตั้งให้อุปฮาด (ทะ) เมืองแสนปาง เปนผู้รักษาเมืองแสนปาง

พระยาศรีสิงหเทพ (หรุ่น) กลับมาจากเมืองนครจำปาศักดิมากรุงเทพ ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เปนพระยามหาอำมาตยาธิบดีแล้ว กลับออกไปเปนข้าหลวงรักษาราชการอยู่ณเมืองจำปาศักดิตามเดิม

แลได้โปรดเกล้าฯ ให้พระวิภาคภูวดล (แมกคาที) เจ้ากรมแผนที่ พระยาพิไชยรณรงค์ (ดิศ) แต่ยังเปนหลวงกำจัดไพรินทร์ ขึ้นไปตรวจทำแผนที่ชายพระราชอาณาเขตรฝ่ายบูรพทิศ ซึ่งติดต่อกับแดนญวนนั้นด้วย

ฝ่ายเมืองกาฬสินธุ์ พระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง มีบอกขอยกเมืองกุดฉิมนารายน์ ออกจากเมืองมุกดาหาร กลับมาขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ดังเดิม แลขอท้าวกินรี ว่าที่พระธิเบศร์วงษาเจ้าเมือง วันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ จึ่งโปรดเกล้า ฯให้ยกเมืองกุดฉิมนารายน์ มาขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ แลให้ท้าวกินรีรับราชการตำแหน่งเจ้าเมือง ตามความประสงค์ของพระยาไชยสุนทร

ฝ่ายเมืองมหาสารคาม พระเจริญราชเดช ได้มีบอกแต่งให้ท้าวโพธิสาร ( อุ่น ) บุตรอุปฮาดมหาสารคาม ลงมาเฝ้าทูลลอองธุลี พระบาทณกรุงเทพ ฯ ขอเปนที่พระพิทักษ์นรากร เจ้าเมืองวาปีปทุม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวโพธิสาร ( อุ่น ) เปนพระพิทักษ์นรากร เจ้าเมืองวาปีประทุมในปีนี้ แลพระประชาชนบาล เจ้าเมืองสหัสขันธ์ถึงแก่กรรม

เดือน ๗ ปีนี้ พระยาขุขันธ์ภักดี (วัง) ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ถึงแก่กรรมแล้ว ท้าวปัญญาบุตรพระยาขุขันธ์ (วัง) กับพระรัตนวงษา (จันลี) ได้นำช้างพังสีปลาด ๑ ช้างพังตาดำ ๑ ลงมาถวายณกรุงเทพ ฯ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวปัญญาว่าที่พระยาขุขันธ์ ให้พระรัตนวงษาว่าที่พระปลัด กลับไปรักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

อนึ่งพระเจริญราชสมบัติ (บุญจัน) นายกองนอกเมืองขุขันธ์ ซึ่งสมัคไปขึ้นอยู่กับเมืองนครจำปาศักดิแต่ก่อนนั้น ครั้นพระยาขุขันธ์ (วัง) ถึงแก่กรรมแล้ว เจ้านครจำปาศักดิก็ให้พระเจริญราชสมบัติ กลับมาขึ้นยังเมืองขุขันธ์ตามเดิม

ผู้รักษาเมืองกรมการเมืองขุขันธ์ ได้มีบอกขอให้ยกรบัตร (วัด) เมืองอุทุมพรพิไสยเปนพระ อุทุมพรเทศานุรักษ์ เจ้าเมืองอุทุมพรพิไสย วันพุธ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้ยกรบัตร (วัด) เปนพระอุทุมพรเทศานุรักษ์ เจ้าเมืองอุทุมพรพิไสย พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพรหลินแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้ว ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

ลุจุลศักราช ๑๒๔๖ ปีวอกฉศก ฝรั่งเศสได้ประเทศเขมรอยู่ในความปกครองแล้ว นักองค์วัดถามีหนังสือถึงเมืองนครจำปาศักดิ เมืองสีทันดร เมืองแสนปาง เมืองเชียงแตง เมืองเซลำเภา เมืองมโนไพร ว่านักองค์วัดถาจะยกกองทัพไปรบกับฝรั่งเศสในเดือนยี่ปีนี้ ถ้าครอบครัวของนักองค์วัดถา ซึ่งตั้งอยู่ณบ้านเสียมโบกเปนอันตรายประการใด นักองค์วัดถาจะเอาโทษแก่เจ้าเมืองกรมการ เสมอเปนขบถต่อกรุงเทพ ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีท้องตราไปยังหัวเมืองฝ่ายตวันออกว่า ซึ่งนักองค์วัดถามีหนังสือมายังเมืองในพระราชอาณาเขตรโดยแอบอ้างอำนาจกรุงเทพฯ ดังนี้ ก็ประสงค์จะให้เจ้าเมืองกรมการมีความยำเกรงเชื่อถ้อยฟังคำนักองค์วัดถา ดูเปนทีว่านักองค์วัดถาหาได้มีความผิดต่อกรุงเทพ ฯ ไม่ แลเจ้าเมืองกรมการจะได้ไม่จับกุมทำอันตรายแก่นักองค์วัดถาตามที่ได้มีตราสั่งมาแต่ก่อน แลทั้งเพื่อจะได้เกลี้ยกล่อมคนได้ง่าย เพราะฉนั้นอย่าให้เจ้าเมืองกรมการคนใดเชื่อฟังเปนอันขาด ถ้าผู้ใดมิฟังจะเอาโทษ

ระหว่างปีนี้ องแลงบิง องเถือเวียน องเผาะ ขุนนางญวน คุมกำลังแลครอบครัวประมาณคนร้อยเศษเข้ามาตั้งปลูกที่พักแลยุ้งฉางอยู่ณด่านดีงเหลาแลเมืองพิน พระยาศรีสิงหเทพ (ทัด) แต่ยังเปนหลวงภักดีณรงค์ข้าหลวงเมืองอุบล, ได้แต่งให้ท้าวไชยวงษ์ไปทักถาม ขุนนางญวนเหล่านั้นแจ้งว่าจะมาตั้งด่านดีงเหลาเปนเมืองพิน จะเอาเมืองพินเปนด่านดีงเหลา แลว่าจะเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพ ฯ หลวงภักดีณรงค์ได้มีบอกแจ้งเหตุทั้งนี้มายังกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้มีท้องตราแจ้งไปยังหลวงภักดีข้าหลวงเมืองอุบล, แลพระยามหาอำมาตย์ ข้าหลวงเมืองนครจำปาศักดิว่า ตามเหตุนี้ดูไม่สมต้นสมปลาย เกรงว่าจะเปนด้วยพูดไม่เข้าใจภาษากัน ให้พระยามหาอำมาตย์แลหลวงภักดีณรงค์ปฤกษาหารือกันจัดการ เพื่ออย่าให้เปนที่บาดหมางต่อต่างประเทศได้ต่อไป

คราวนั้นมีผู้ร้ายฆ่ามองซิเออบุระเวนตายที่เมืองสมบุกในเขตรเขมรในบำรุงฝรั่งเศส กงสุลฝรั่งเศสได้ขอให้รัฐบาลสยามช่วยสืบสวนจับผู้ร้าย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราถึงหัวเมืองตวันออกให้สืบสวนจับผู้ร้ายรายนี้โดยแขงแรง แลทั้งให้กำชับมิให้เจ้าเมืองกรมการส่งเสบียงอาหารกระสุนดินดำแลเข้าเปนพวกนักองค์วัดถา อันจะพาให้เปนที่บาดหมางต่อทางพระราชไมตรีด้วย

มีสารตราห้ามมิให้คนทั้งปวงเล่นการพนันนอกจากวันนักขัตฤกษ์

ปีนี้ราษฎรลาวข่า บ้านสะดำ แขวงเมืองแสนปาง ได้พบบ่อทองคำที่ตำบลภูโงกริมห้วยเซซาน แขวงเมืองแสนปาง ร่อนได้ทองคำก้อนใหญ่หนัก ๔๐บาท ๕๐ บาท กับทองทรายหนักประมาณสามชั่งเศษ พระยามหาอำมาตย์ได้มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ โปรดให้เก็บภาคหลวงเปนภาษี พระยามหาอำมาตย์จึ่งได้มีตราจุลราชสีห์ ตั้งให้ท้าวไชยราชว่าที่อุปฮาดเมืองแสนปาง เปนเจ้าภาษีมาตั้งแต่ปีรกาสัปตศก ๑๒๔๗ เปนต้นไป

หลวงภักดีณรงค์ (ทัด) ได้มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ ว่า แต่ก่อนพวกลาวจับข่ามาซื้อขายเปนทาษแลผสมใช้เปนทาษจนตลอดลูกหลานเหลน หลวงภักดีณรงค์ได้ตัดสินชั้นหลานแลเหลนทาษให้เปนพลเมืองเสียส่วยตามธรรมเนียมบ้านเมือง จึ่งมีตราโปรดเกล้า ฯ ไปยังบรรดาหัวเมืองตวันออก ห้ามมิให้จับข่ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนแลใช้สอยการงานต่าง ๆ แต่ส่วนข่าที่ผู้ใดได้ซื้อหามาจากผู้ใดแต่ก่อนนั้น ก็ให้คงอยู่กับเจ้าหมู่มุลนายไป เพราะจะให้ข่าทาษเดิมนั้นพ้นค่าตัวไป ก็จะเปนเหตุเดือดร้อนแก่มุลนายที่ได้เสียเงินซื้อไถ่แลกเปลี่ยนมาแต่ก่อนนั้น

พระสุวรรณภักดี เจ้าเมืองท่าขอนยาง ไม่พอใจจะทำราชการขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ จึ่งอพยพครอบครัวออกจากเมืองท่าขอนยางไปสมัคทำราชการขึ้นกับเมืองท่าอุเทน ส่วนเมืองท่าขอนยางคงมีแต่อุปฮาดราชวงษ์แลกรมการรักษาราชการบ้านเมืองอยู่ อุปฮาด (ทุม) เมืองแซงบาดาลถึงแก่กรรม ท้าวหงษ์ได้รับตำแหน่งเปนอุปฮาดรักษาราชการต่อไป

วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ หลวงภักดีณรงค์ (ทัด) เตรียมจะไปฟังราชการที่พระยามหาอำมาตย์ณนครจำปาศักดิ คืนวันนั้นเวลาย่ำค่ำเศษเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ริมเรือนหลวงภักดีณรงค์ ลมพัดจัดไฟลุกลามไปไหม้เรือนหลวงภักดีณรงค์ แลคุก แลศาลา เสมียนตาย ๒ คน คนโทษตาย ๑๔๙ คน เงินส่วยของหลวงแลหนังสือราชการเสียหายไปเปนอันมาก ความทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินตรา ๒ ชั่ง เสื้อเยียรบับ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ แพรขาวห่ม ๑ แก่หลวงภักดีณรงค์ (ทัด) พระราชทานเงินตราชั่งหนึ่ง เสื้อเข้มขาบดอกริ้ว ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ แพรขาวห่ม ๑ แก่พระยาภักดีณรงค์ (สิน) เวลานั้นเปนขุนพรพิทักษ์ พระราชทานเงินตราชั่งหนึ่ง เสื้อเข้มขาบดอกสเทิน ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ แพรขาวห่ม ๑ แก่นายเคลือบมหาดเล็ก พระราชทานเงินตรา ๑๐ ตำลึง เสื้อเข้มขาบดอกเล็ก ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ แก่นายรอดมหาดเล็ก แลได้พระราชทานปืนวินเชศเตอ ๒ กระบอก กระสุน ๒๐ โหล แลปืนสไนเดอ ๕๐ กระบอก กระสุน ๑๐๐ โหล แลทั้งพระบรมรูปทรงเครื่องต้นไปไว้สำหรับราชการด้วย

ปีนี้พระยาสังฆะ ผู้ว่าราชการเมืองสังฆะป่วยถึงแก่กรรม โปรดเกล้า ฯ พระราชทานหีบศิลาน่าเพลิง ๑ ผ้าไตร ๒ ไตร ผ้าขาว ๕ พับ ร่ม ๕๐ คัน รองเท้า ๕๐ คู่สำหรับปลงศพพระยาสังฆะ ส่วนเมืองสังฆะ พระอนันตภักดีผู้ช่วย แลกรมการได้รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

ได้มีตราอนุญาตให้หลวงภักดีณรงค์ ข้าหลวงเมืองอุบล เก็บเงินแทนเกณฑ์ใช้ราชการ แก่คนซึ่งอยู่เขตรแขวงเมืองอุบล แลเมืองขึ้น กำหนดคนละ ๓๒ อัฐ เปนธรรมเนียมตั้งแต่ปีนี้เปนต้นมา

ลุจุลศักราช ๑๒๔๗ ปีรกาสัปตศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตัดทางโทรเลขแต่นครจำปาศักดิไปเมืองขุขันธ์ แต่เมืองขุขันธ์ไปต่อกับนครเสียมราฐ พระยามหาอำมาตย์ ข้าหลวงเมืองนครจำปาศักดิจึ่งได้แต่งให้หลวงเสนีพิทักษ์ หลวงเทเพนทร์ หลวงโจมพินาศ หลวงนคร มาเปนข้าหลวง เกณฑ์คนเมืองขุขันธ์ เมืองสังฆะ ตรวจตัดทางโทรเลขอยู่ณเมืองขุขันธ์ อุทุมพร แลมโนไพร แลทั้งได้ให้หลวงพิไชยชาญยุทธไปเปนข้าหลวงประจำอยู่ณเมืองมโนไพรด้วย หลวงภักดีณรงค์ (ทัด) ได้ไปจัดตั้งด่านที่บ้านจะรับ แลบ้านแสพอก แขวงเมืองเชียงแตง แลด่านบ้านคันกะโงก บ้านกรูด บ้านดองกำเป็ดแขวงเมืองเซลำเภา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนหลวงภักดีณรงค์ (ทัด) ข้าหลวงเมืองอุบล เปนพระยาราชเสนา ให้ขุนพรพิทักษ์ (สิน) เปนหลวงภักดีณรงค์ ให้นายเคลือบมหาดเล็ก เปนขุนพรพิทักษ์ ข้าหลวงเมืองอุบล แลให้ฟังบังคับบัญชา พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่นครจำปาศักดิ

แลได้โปรดให้มีท้องตราให้ผู้ว่าราชการกรมการหัวเมืองทั้งปวงฟังบังคับบัญชาอธิบดีกรมไปรสนีย์โทรเลขในส่วนราชการไปรสนีย์โทรเลข แลมีบอกในราชการที่เกี่ยวกับไปรสนีย์โทรเลขตรงยังอธิบดีกรมไปรสนีย์โทรเลขได้

โปรดเกล้า ฯ ให้หัวเมืองน่าด่าน ซึ่งขึ้นกับเมืองอุบล แลเมืองเขมราษฎร์ เก็บภาษีร้อยชักสาม ภาษีเบ็ดเสร็จสินค้าเข้าออก ถึงสามเดือนให้งบบาญชีส่งครั้งหนึ่ง แลโปรดให้ค่าสิบลดแก่ผู้เก็บทำภาษีนั้นด้วย

ในปีนี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้เยเนอราลดิดัวร์ชีเปนราชทูตคุมทหารไปเมือง ประเทศญวน เพื่อได้บังคับให้ญวนจัดราชการบ้านเมือง ตามสัญญาคฤศตศักราช ๑๘๘๓ แลทำโทษผู้ซึ่งคบคิดกับพวกธงดำ แลทหารจีน ให้รบกวนฝรั่งเศสนั้น ครั้นเยเนอราลดิดัวร์ชี ไปถึงเมืองญวน จึ่งได้เอาทหารพักไว้ที่เมืองท่าเรือ ๕๐๐ คน แลได้เอาไปรักษาตัวที่เมืองเว้ ๕๐๐ คน แลได้ปฤกษากันในการที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินญวนอยู่ เวลานั้นฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินญวนได้เรียกทหารมาประชุมไว้ที่เมืองเว้สามหมื่นคนโดยกลอุบายว่า จะรับราชทูตฝรั่งเศสให้เต็มเกียรติยศอันใหญ่ ครั้นถึงเวลา ๗ ทุ่ม ทหารญวนเอาเพลิงจุดเผา โรงทหารฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลนางคา ฝ่ายฝรั่งเศสไม่ทันรู้ตัว เพลิงไหม้เสียสิ่งของเปนอันมาก แต่หากว่าเปนผู้ชำนาญในการรบ แลทั้งอาวุธก็ดีกว่าญวน จึ่งได้ต่อสู้เอาพวกญวนแพ้พ่ายหนีไป พอรุ่งขึ้นเช้าฝรั่งเศสก็เข้าเมืองญวนได้ เวลานั้นพวกญวนตาย ๑๒๐๐ คนเศษ ฝ่ายฝรั่งเศสตาย ๑ ป่วย ๖๒ คน แลฝรั่งเศสจับผู้สำเร็จราชการที่เรียกว่าริเยนต์ ชื่อทูฮองได้ ส่วนพระเจ้าแผ่นดินญวนกับเสนาบดีนั้น หนีไปอยู่ที่ป้อมเขาตวันตก

ครั้นความทั้งนี้ได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่า บางทีพวกญวนจะแตกหนีฝรั่งเศสเข้ามาในพระราชอาณาเขตร จะพาเหตุการณ์ที่เกิดในระหว่างญวนกับฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องถึงไทย จึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงเมืองนครจำปาศักดิเกณฑ์กำลังหัวเมืองขึ้นไปตั้งขัดตาทัพอยู่ณเมืองเขมราษฎร์แล้วให้สืบสวนดูพวกญวนที่มาตั้งอยู่ณด่านดีงเหลาแต่ก่อนนั้นจะตั้งอยู่นอกพระราชอาณาเขตล่วงล้ำเข้ามา ถ้าล่วงเข้ามาก็ให้บังคับให้ละวางอาวุธเสียอย่ามาอาไศรยแผ่นดินสยามก่อเหตุทำร้ายแก่ฝรั่งเศส ถ้าห้ามไม่ฟังก็ให้ขับไล่ไปให้พ้นพระราชอาณาเขตร ถ้าดื้อดึงก็ให้ยกกองทัพไปปราบปรามให้พวกญวนเลิกถอนไปจากพระราชอาณาเขตรจงได้ แลให้จัดนายทัพนายกองแยกย้ายกันไปรักษาด่านทาง ระวังอย่าให้พวกญวนเข้ามาเกลี้ยกล่อมผู้คนในพระราชอาณาเขตร แลอาไศรยกำลังอาวุธเสบียงอาหารอย่างใด อย่าให้เปนที่บาดหมางต่อทางพระราชไมตรีแก่ประเทศฝรั่งได้เปนอันขาด ถ้าเจ้าเมืองกรมการราษฎรในพระราชอาณาเขตรคนใดเข้าเปนพวกญวนฤๅส่งเสบียงอาหารอาวุธให้แก่ญวนก็ให้จับทำโทษจงหนัก

ในปีนี้เจ้ายุติธรรมธรเจ้านครจำปาศักดิ ได้นำช้างพลายสำคัญตัวที่ ๓ ซึ่งซื้อจากข่าปะตงภูลงมาถวายณกรุงเทพ ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการสมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนามว่า พระเสวตรรุจิราภาพรรณ

เจ้านครจำปาศักดิได้มีบอกขอหลวงนรา (คำผุย) ผู้ช่วยเมืองเซลำเภา บุตรพระณรงค์ภักดี (อิน) เจ้าเมืองเซลำเภา เปนพระยาภักดีศรีสิทธิสงคราม เจ้าเมืองเซลำเภา โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองเซลำเภา เปนเมืองธาราบริวัตร ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ พระยาภักดีศรีสิทธิสงคราม ได้ยกไปตั้งอยู่ณบ้านเดิมตำบลเวินฆ้อง ตรงฟากเมืองเชียงแตง แล้วตั้งตำแหน่งกรมการเปนชุดเมืองธาราบริวัตรขึ้นใหม่อิกต่างหาก ส่วนเมืองเซลำเภาก็คงมีตำแหน่งผู้รักษาเมืองกรมการอยู่ตามเดิม แล้วพระยามหาอำมาตย์จึ่งมีตราจุลราชสีห์ ตั้งหลวงภักดี (บุญจัน) บุตรพระณรงค์ภักดี (เต๊ก) เจ้าเมืองเซลำเภา เปนพระภักดีภุมเรศ กองนอกส่วยผึ้ง มีตำแหน่งปลัด ยกรบัตร มหาด ไทย เมือง วัง คลัง นา เปนชุดเมืองเซลำเภาอยู่ตามเดิม บังคับบัญชาปกครองเขตรแขวง แยกจากเมืองธาราบริวัตรฝ่ายละฟากห้วยตลาด ระยะทางเมืองธาราบริวัตรกับเมืองเซลำเภาไกลกันทางเดินเท้า ๓ วัน แลเขตรแขวงเมืองเซลำเภา ธาราบริวัตรในเวลานั้น ฝ่ายเหนือตั้งแต่ห้วยละอ๊อกต่อแขวงเมืองสพังภูผาลงไปถึงคลองเสียมโบก ต่อเขมรนอกพระราชอาณาเขตร ฝ่ายใต้ทิศตวันตกถึงตำบลหนองปรัง สวาย ต่อแขวงเมืองมโนไพร

ปีนั้นโปรดเกล้า ฯ มีตราถึงหัวเมืองตวันออกว่า ห้ามมิให้ทำหนังสือเดินทางให้แก่พ่อค้าที่ต้อนไล่สัตว์พาหนะไปขายโดยไม่มี พิมพ์รูปพรรณสำหรับสัตว์พาหนะ

พระยามหาอำมาตย์ ได้ให้หลวงศรีคชรินทร์ หลวงสุนทรบริรักษ์ยกรบัตรเมือง กลับเปนข้าหลวงไปตรวจพระราชอาณาเขตร ฝ่ายแขวงเมืองมโนไพรที่ติดต่อกับเมืองกะพงสวายเขตรเขมรในบำรุงฝรั่งเศส หลวงศรีคชรินทร์ได้พบกับออกยาเสนาราชกุเชน แลออกยาแสนพรหมเทพ ซึ่งอพยพครอบครัวมาอยู่ณบ้านชำกระสานในพระราชอาณาเขตรได้ ๘ ปี ๙ ปีแล้วนั้น แลออกยาเสนาราชกุเชน ออกยาแสนพรหมเทพ ได้ร้องขอสมัคเปนข้าขอบขัณฑเสมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลวงศรีคชรินทร์จึ่งพาออกยาทั้งสองไปเมืองมโนไพร ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แล้วมีบอกมายังพระยามหาอำมาตย์ ๆ จึ่งมีตราจุลราชสีห์ ตั้งให้ออกยาเสนาราชกุเชน เปนพระภักดีสยามรัฐนายกอง ให้ออกยาแสนพรหมเทพเปนหลวงสวัสดิจุมพลปลัดกอง ควบคุมญาติพี่น้องบ่าวไพร่ทำราชการขึ้นกับเมืองขุขันธ์

พระเทพวงษา (บุญจัน) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ มีความชรากราบถวายบังคมลาออกจากราชการ พระยามหาอำมาตย์ได้มีตราจุลราชสีห์ให้ท้าวขัติยกรมการเปนผู้รักษาเมืองเขมราษฎร์ต่อไป

ในปีนี้พวกฮ่อได้ยกเปนกระบวนทัพมาเที่ยวตีปล้นบ้านเมืองในพระราชอาณาเขตรทางแขวงเมืองหนองคาย จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม แต่ยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่น พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ยกขึ้นไปตั้งระงับปราบปรามอยู่ณเมืองหนองคาย มณฑลอุดร แลได้โปรดเกล้า ฯ ให้หัวเมืองตวันออกบางเมืองเกณฑ์กำลังแลพาหนะไปเข้าสมทบกองทัพที่ตั้งอยู่ ณหนองคาย

พระรัตนวงษา (คำสิง) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม จึ่งมีตราโปรดเกล้า ฯ ให้พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) ผู้ว่าราชการเมืองพนมไพร ไปเปนข้าหลวงช่วยกำกับรักษาราชการอยู่ณเมืองสุวรรณภูมิ พร้อมด้วยอุปฮาด (ษร) แลกรมการ

พระศรีสุระ (สาร) เจ้าเมืองเดชอุดมถึงแก่กรรม พระยามหาอำมาตย์ได้ให้หลวงพรหมภักดียกรบัตร (แสง) บุตรพระศรีสุระ (สาร) เปนผู้รักษาราชการเมือง ให้ท้าวโทผู้น้องยกรบัตร (แสง) ว่าที่ปลัด ให้ท้าวภู บุตรท้าวฝ้ายว่าที่ยกรบัตร ให้ท้าวทองปัญญา น้องยกรบัตร (แสง) ว่าที่ผู้ช่วย รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

ในปีนี้บาดหลวงอาเล็กซี โปรดม ฝรั่งเศส กับบาดหลวงอื่นอิก๕นายไปเที่ยวตั้งสอนสาสนาอยู่ณเมืองอุบลราชธานี เมืองอำนาจเจริญ เมืองสกลนคร เมืองนครพนม โดยอ้างว่าสังฆราชฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ จัดให้ออกไป บาดหลวงโปรดม กับบาดหลวงโยเซ เปน ผู้เที่ยวเกลี้ยกล่อมราษฎร แลบาดหลวงเกรแมนต์ เปนผู้ตั้งสอนสาสนาอยู่ณเมืองอุบล

ลุจุลศักราช ๑๒๔๘ ปีจออัฐศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ขุนมหาวิไชย เปนข้าหลวงคุมเครื่องไทยทานไปส่งยังพระยาราชเสนา ( ทัด ) ข้าหลวงเมืองอุบล เพื่อได้ถวายพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย วัดเมืองอุบล เมืองพิมูล เมืองมหาชนะไชย เมืองยโสธร เมืองสีทันดร รวม ๑๘๕ รูป ในการพระราชกุศลฉลองวัดราชประดิษฐ เมื่อเดือนสี่ ปีรกาสัปตกศก ๑๒๔๗ นั้น

วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ เจ้าเมืองอุบล ซึ่งมาต้องคดีอยู่ณกรุงเทพ ฯ ป่วยเปนอหิวาตกโรค ถึงอนิจกรรม

วันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีนี้ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ สมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย สิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพลเทพ (รอด) ว่าที่สมุหนายก บังคับบัญชาราชการกรมมหาดไทย ต่อมาได้รับพระราชทานสุพรรณบัตร เปนเจ้าพระยารัตนบดินทร

วันจันทร์ แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๐ พระเรืองไชยชำนะเจ้าเมืองมหาชนะไชย ป่วยเปนโรคเรื้อรังถึงแก่กรรม อายุได้ ๕๔ ปี อุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร ได้รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

อุปฮาดเมืองโขงเจียงทำเรื่องราวร้องยังข้าหลวงเมืองอุบลว่า เมื่อปีกุญสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ ท้าวเพี้ยตัวไพร่บ้านบังพวนแขวงเมืองโขงเจียงโจทไปสมัคขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ ครั้นมาปีนี้เมืองนครจำปาศักดิยกบ้านบังพวนเปนเมือง ให้เพี้ยเมืองโคตรเปนพระจันทสุริยวงษ์เจ้าเมือง แลตั้งตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตร ผู้ช่วยกรมการครบตำแหน่ง เงินส่วยขาดค้างกับคนบ้านบังพวนหลายจำนวน ข้าหลวงเมืองอุบลได้ส่งเรื่องราวแลตัวอุปฮาดผู้ร้องมายังพระยามหาอำมาตย์ ณเมืองจำปาศักดิ พระยามหาอำมาตย์ได้ให้ตุลาการชำระตัดสินตกลงให้เมืองจำปาศักดิคืนคนบ้านบังพวนกลับขึ้นยังเมืองโขงเจียงตามเดิม

พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมืองยโสธร มีบอกขอตั้งราชวงษ์ (แก) เปนอุปฮาด ขอท้าวฮูเปนราชวงษ์เมืองยโสธร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งตามขอ

เมืองแสนแลท้าวเพี้ยกรมการเมืองร้อยเอ็ด มีบอกมายังพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวง ขอให้ตั้งท้าวโสม บุตรพระขัติยวงษา (เสือ) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนเก่า เปนพระขัติยวงษา เจ้าเมือง ขอเมืองกลางเปนราชวงษ์ แล้วภายหลังกลับบอกขออุปฮาด (เภา) เปนพระขัติยวงษา ขอท้าวไชยเสนเปนอุปฮาดขอท้าวสุเมเปนราชวงษ์ ขอท้าวสุริย (อุทา) เปนราชบุตร พระยามหาอำมาตย์ ได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้อุปฮาด (เภา) เปนพระขัติยวงษา เจ้าเมืองร้อยเอ็ด แต่ส่วนตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษ์ราชบุตรนั้น พระยามหาอำมาตย์ได้มีตราจุลราชสีห์ให้ว่าที่ตามที่กรมการขอ

แลมีตราจุลราชสีห์ตั้งให้ท้าวโสมเปนอุปฮาด เมืองกลางเปนราชวงษ์ ท้าวพุดเปนราชบุตร เมืองธวัชบุรี ตั้งให้ท้าวธรรมรังษี เปนอุปฮาดเมืองเสลภูมิ

แลตั้งให้อุปฮาด (ษร) ว่าที่พระรัตนวงษาเจ้าเมือง ให้ราชบุตร (อำคา) ว่าที่อุปฮาด ให้ท้าวชาลีว่าที่ราชวงษ์ ให้ท้าวภูว่าที่ราชบุตรเมืองสุวรรณภูมิ

ข้างฝ่ายพระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) เจ้าเมืองพนมไพร ซึ่งกำกับราชการเมืองสุวรรณภูมิเวลานั้นคิดจะแย่งเอาที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ จึ่งเข้ามากรุงเทพ ฯ แต่ก็หาสำเร็จไม่ เลยป่วยพักรักษาตัวอยู่ ณกรุงเทพฯ

ท้าวหนูว่าที่อุปฮาด แลท้าวโพธิสาร ว่าที่ราชวงษ์เมืองกาฬสินธุ์ถึงแก่กรรม เวลานั้นท้าวพั่วผู้ว่าราชการไปติดราชการอยู่ ณเมืองหนองคาย พระวิชิตพลหารผู้ช่วยก็ไปติดราชการอยู่ณสำนักข้าหลวงเมืองนครจำปาศักดิ ที่เมืองกาฬสินธุ์คงมีแต่เมืองจันเปนหัวน่าบัญชาการเมืองพร้อมด้วยกรมการต่อไป จนถึงปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๒๕๒ รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ท้าวพั่วแลพระวิชิตพลหารจึ่งได้กลับมารักษาราชการบ้านเมืองตามเดิม

ราชทูตฝรั่งเศสณกรุงเทพฯ แจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า ผู้สำเร็จราชการไซ่ง่อนได้จัดทหารฝรั่งเศสออกต่อรบกับนักองค์วัดถา ๆ แตกหนีทหารฝรั่งเศสไล่นักองค์วัดถาไปห่างประมาณอิกสัก ๒๐ ก้าว จะจับตัวได้ นักองค์วัดถาพาพวกหนีเข้ามาเสียในเขตรแขวงเมืองมโนไพร ทหารฝรั่งเศสเห็นว่าเปนพระราชอาณาเขตรสยาม จึ่งหาติดตามต่อไปไม่ ดังนี้

จึ่งได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีท้องตราไปยังเมืองขุขันธ์ แลเมืองมโนไพรว่า แต่ก่อนก็ได้มีตราสั่งให้หัวเมืองปลายพระราชอาณาเขตรคอยสืบจับนักองค์วัดถาโดยแขงแรง เพื่อมิให้นักองค์วัดถาหลบหนีเข้ามาตั้งซ่องสุมในพระราชอาณาเขตร มาบัดนี้รัฐบาลฝรั่งเศสแจ้งดังนี้ ดูเปนประหนึ่งว่าเจ้าเมืองกรมการฝ่ายสยามไม่เอาใจใส่ระวังรักษาด่านทางให้มั่นคงแขงแรง จะเปนเหตุให้มีความบาดหมางต่อทางพระราชไมตรี เพราะฉนั้นให้เมืองขุขันธ์ แลเมืองมโนไพร แต่งกรมการออกตรวจลาดตระเวนสืบจับนักองค์วัดถาโดยแขงแรง

ฝ่ายเมืองขุขันธ์ แลเมืองมโนไพร จึ่งได้แต่งกรมการออกตรวจจับโดยกระแสตรา ก็หาได้ความว่านักองค์วัดถาหนีเข้ามาในพระราชอาณาเขตรไม่

อุปฮาดท้าวเพี้ยกรมการเมืองภูแล่นช้าง มีบอกขอท้าวคำบุตรพระพิไชยอุดมเดช เปนราชบุตรเมืองภูแล่นช้าง ได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้ตามขอ แลพระราชทานเสื้ออัดตลัดดอกเล็ก ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าพื้นนุ่งผืน ๑

ลุจุลศักราช ๑๒๔๙ ปีกุญนพศก มีตราโปรดเกล้า ฯ ไปยังหัวเมืองทั้งปวงว่า ให้บอกรายงานอาการป่วยเจ็บของราษฎรซึ่งเกิดขึ้น แลรักษาหายไป แลตาย ยังกรุงเทพ ฯ คือถ้าหัวเมืองที่อยู่ใกล้ เดือนละครั้ง เมืองชั้นกลาง ๔ เดือนครั้ง ๑ ชั้นนอก ๖ เดือนครั้ง ๑ หัวเมืองปลายพระราชอาณาเขตร แลประเทศราชบอกเมื่อสิ้นปี ๆ ละครั้ง ทั้งนี้ก็โดยอำนาจแห่งความที่ทรงพระมหากรุณาแก่สมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร เพื่อว่าจะได้ทรงพระราชดำริห์แก้ไขป้องกันให้ประชาชนลุถึงซึ่งความศุขต่อไป

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์ แก่พระยาราชเสนา (ทัด) ข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี

พระยาราชเสนา (ทัด) ได้มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ ว่า แต่ก่อนราษฎรเมืองอุบล ใช้ลาดทองเหลืองซึ่งหล่อเอาเองเล็กบ้างใหญ่บ้าง ใช้สอยซื้อสิ่งของต่างเบี้ยอัฐทองแดง คิดราคาตั้งแต่ ๓๐ ลาดจนถึง ๘๐ ลาดเปนบาทโดยไม่เปนอัตราแน่นอน ราษฎรมีความลำบากในการใช้สอยแลกเปลี่ยน ขอรับพระราชทานเบี้ยอัฐทองแดงไปจำหน่าย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จ่ายเบี้ยอัฐทองแดง ซีก เสี้ยว อัฐ โสฬศ ไปจำหน่ายในหัวเมืองตวันออกตั้งแต่นั้นเปนต้นมา

วันอังคาร แรม ๖ ค่ำ เดือนอ้าย มองซิเออโตแปงฝรั่งเศส ภรรยาเขมร ๑ ล่ามเขมร ๑ มาจากไซ่ง่อน ถึงเมืองอุบล เชิญตราพระราชสีห์แจ้งต่อข้าหลวงเมืองอุบลว่า ผู้สำเร็จราชการเมืองไซ่ง่อนได้ให้มาเรียนหนังสือแลภาษาลาว, ไทย, ข้าหลวงได้จัดที่ให้พัก แลได้ให้ท้าวสุวรรณสาร กรมการเมืองอุบลเปนผู้สอนหนังสือ แลภาษาลาว, ไทย, แก่ ม.โตแปง อยู่ ๗ เดือน ม.โตแปงรู้หนังสือ แลภาษาลาว, ไทย, ได้บ้างแล้วก็กลับไป

วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ มองซิเออเซนเต็นร์ฝรั่งเศส ๑ ล่ามเขมร ๒ มาจากไซ่ง่อน โดยทางเมืองนครจำปาศักดิ ถึงเมืองอุบล แจ้งว่าจะมาตรวจสินค้า แลเที่ยวชมบ้านเมือง พักอยู่เมืองอุบลจนวันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ จึ่งกลับโดยทางเรือไปจำปาศักดิแลไซ่ง่อน

วันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือนยี่ มุกเขียนมาริตินชาวสเปน ๑ กับล่ามญวน ๒ มาแต่ไซ่ง่อนทางเสียมราฐ ถึงเมืองอุบล แจ้งว่ามาเที่ยวหาซื้อม้า ครั้นซื้อได้ม้า ๒๒ ม้าแล้วก็กลับไซ่ง่อนโดยทางเมืองนครจำปาศักดิ

ในระหว่างเดือน ๗ ปีนี้ ฝรั่งเศสได้ยกกองทหารเที่ยวปราบปรามพวกขบถซึ่งเกิดขึ้นในเขตรแดนญวน แลมีทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อโลศปีตาลิเย ซึ่งได้แตกไปเมื่อเวลาพวกขบถตีตัดกองทัพฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสผู้นั้นจะกลับไปยังกองทัพของตนมิได้ เพราะเหตุพวกขบถตั้งสกัดอยู่ ทหารฝรั่งเศสผู้นั้นเห็นว่าประเทศสยามเปนพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส จึ่งได้หนีเข้ามาในพระราชอาณาเขตรสยาม ข้ามมาฟากโขงตวันตกถึงบ้านเจียดพะไลแขวงเมืองเขมราษฎร์ ทหารฝรั่งเศสคนนั้นป่วยถึงแก่กรรม ผู้รักษาเมืองกรมการเมืองเขมราษฎร์ได้พร้อมด้วยบาดหลวงโยดาแบง ซึ่งตั้งสอนสาสนาอยู่เมืองอุบล ได้จัดการฝังศพฝรั่งผู้นั้นไว้ที่บ้านเจียดพะไลตามสมควร แลข้าหลวงเมืองอุบลได้มีบอกส่งสิ่งของ ๆ ฝรั่งผู้นั้นมายังกรุงเทพ ฯ

ครั้นเดือน ๑๒ ปีนี้ องถงถื้อ องเผาะ องกาย ญวน มาถึงเมืองพิน แจ้งว่าฝรั่งเศสผู้สำเร็จราชการเมืองภูซุน ใช้ให้มาสืบข่าวฝรั่งผู้ตาย ครั้นได้ทราบว่าฝรั่งนั้นตายแล้ว ญวนทั้งสามก็กลับไป

กรมโทรเลขได้จัดให้มิศเตอร์อัสวอนไลแมน ไปตรวจรักษาสายโทรเลขระหว่างเมืองนครจำปาศักดิไปเมืองขุขันธ์ ๆ ไปเมืองเสียมราฐ ครั้นมิศเตอร์อัสซอนมาถึงเมืองขุขันธ์ วันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ มิสเตอร์อัสซอนเปนไข้ถึงแก่กรรม

พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ) ได้จัดให้หลวงเสนีพิทักษ์ เปนข้าหลวงกำกับราชการอยู่ณเมืองขุขันธ์

เมืองวารินทร์ชำราบมิพอใจขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ โจทมาสมัคขึ้นกับเมืองเขมราษฎร์ในปีนี้

พระรามนรินทร์ เจ้าเมืองคำเขื่อนแก้ว มีความชราทุพลภาพ กราบถวายบังคมลาขอออกจากราชการ แลขอให้ท้าวพระศรีผู้บุตรเปนผู้รับราชการแทน จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระศรีเปนผู้รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

เมืองจันแลกรมการเมืองกาฬสินธุ์ มีบอกยังกรุงเทพฯ ว่าตำแหน่งพระธิเบศร์วงษา เจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ว่าง โปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวกินรีว่าการแทนมาแต่ปีมแมเบญจศก จุลศักราช ๑๒๔๕ ก็ได้ราชการเรียบร้อยดี ขอรับพระราชทานท้าวกินรีเปนพระธิเบศร์วงษา เจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปีนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ท้าวกินรีเปนพระธิเบศร์วงษาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายน์ พระราชทานถาดหมากคนโทเงิน ๑ สัปทนปัสตูแดง ๑ เสื้อโหมดเทศริ้วเล็ก ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

ราชวงษ์ (นวน) เมืองกมลาไศรยถึงแก่กรรม

หลวงพรหมภักดี (แสง) ผู้รักษาเมืองแลกรมการ เมืองเดชอุดม มีบอกวางเวรกระทรวงต่างประเทศ ขอตั้งนายร้อยคำนานตองซูคนในบังคับอังกฤษ เปนนายกองคุมพวกกุลาตองซูคนในบังคับอังกฤษมีตราโปรดเกล้า ฯ ลงวันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีนี้ว่า คนสัปเยกต์มีหนังสือ เดินทางสำหรับตัวไปมาค้าขายเพียงปีหนึ่ง หาได้ให้ไปตั้งทำสวนไร่นาในแขวงเมืองนั้น ๆ ไม่ ถ้าพ้นกำหนดหนังสือแล้ว ต้องไปกลับฤๅไปเปลี่ยนหนังสือเสียใหม่จึ่งจะกลับมาค้าขายในพระราชอาณาเขตรต่อไปได้ ไม่สมควรที่จะต้องตั้งนายกองให้ควบคุมคนซึ่งจะต้องไป ๆ มา ๆ ให้ผิดด้วยแบบธรรมเนียมราชการ แลให้ห้ามคนสัปเยกต์ อย่าให้ตั้งแลซื้อที่สวนไร่นาบ้านเรือนให้ผิดสัญญาทางพระราชไมตรี

ท้าวนากเมืองศรีสระเกษทำหนังสือเบิกล่องเดินทางให้แก่นายร้อยคำยี่ คำอ่อน เชียงน้อย ตองซูซึ่งคุมโคกระบือไม่มีพิมพ์รูปพรรณไปจำหน่ายผิดพระราชบัญญัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลูกขุนณศาลาปฤกษาโทษท้าวนาก ตัดสินทวน ๕๐ จำคุก ๓ ปี แลให้ปรับพระยาวิเศษภักดี (โท) เจ้าเมืองศรีสระเกษ ซึ่งให้การอ้างว่ามีตราพระราชสีห์ อนุญาตว่าถ้าราษฎรจะซื้อขายโคกระบือ ให้เจ้าเมืองทำเบิกล่องเดินทางให้ ให้ตรวจตำหนิรูปพรรณลงในใบเบิกล่องก็ได้โดยไม่จริงนั้น เปนเบี้ยละเมิดจัตุรคูณเปนเงิน ๕ ชั่ง ๖ ตำลึงกึ่ง ๓ สลึง ๖๐๐ เบี้ย

ลุจุลศักราช ๑๒๕๐ ปีชวดสัมฤทธิศก พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ) และพระยาราชเสนา (ทัด) ได้มีหนังสือแนะนำบรรดาหัวเมืองซึ่งอยู่ในบังคับให้ทำการเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลสมเด็จพระบรมราชเทวี แลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ตามกำหนดอันเปนธรรมเนียมต่อมาจนทุกวันนี้

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ว่าที่นายพันตรี หลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) พร้อมด้วยนายร้อยนายสิบไปตั้งกองฝึกหัดทหารอยู่ณเมืองจำปาศักดิแลเมืองอุบล ครั้นฝึกหัดได้เรียบร้อยแล้ว พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวงเมืองจำปาศักดิ แลพระยาราชเสนา (ทัด) ข้าหลวงเมืองอุบล จึ่งได้จัดให้กรมการ พร้อมด้วยนายสิบพลทหาร แลกำลังตามสมควร แยกย้ายกันไปตั้งรักษาอยู่ณช่องด่านต่าง ๆ ซึ่งอยู่ณชายพระราชอาณาเขตรทางตวันออกตามที่ได้รักษามาแต่เดิม

แลได้โปรดเกล้า ฯ ให้หลวงภักดีณรงค์ (สิน) หลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ไปตรวจจัดราชการณเมืองสองคอนดอนดง เมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองตะโปน เมืองลำเนาหนองปรือ ซึ่งอยู่ณฝั่งโขงตวันออก แล้วหลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ได้ไปตั้งพัก จัดราชการอยู่ณเมืองตะโปน แต่หลวงภักดีณรงค์ (สิน) นั้น ได้โปรดให้ขุนพรพิทักษ์ (เคลือบ) ไปเปลี่ยนกลับมาณเมืองอุบล ขุนพรพิทักษ์ (เคลือบ) จึ่งได้ไปตั้งพักจัดราชการอยู่ณเมืองนอง แลเมืองสองคอนดอนดง เมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองตะโปน เมืองลำเนาหนองปรือ รวม ๗ เมืองนี้ เดิมจะเปนบ้านอะไร แลได้ตั้งขึ้นเปนเมืองโดยเหตุผลอย่างไรแต่เมื่อใดแลมีพงษาวดารเปนมาอย่างไร เพียงไรนั้น ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงพงษาวดารนี้หาทราบถึงไม่ เพราะเมื่อขณะเรียบเรียงพงษาวดารนี้ เปนเวลาที่เมืองทั้ง ๗ ได้ตกไปอยู่ในเขตรของฝรั่งเศสเสียแล้ว แลทั้งมิได้พบปะตำนานของเมืองทั้ง ๗ นี้ ในที่แห่งใดด้วย เพราะฉนั้นจึ่งไม่สามารถรู้ถึงกำเนิดของเมืองทั้ง ๗ นี้ตลอดได้

มีตราโปรดเกล้า ฯ ไปยังหัวเมืองตวันออกว่า บรรดาที่ดินซึ่งคนสัปเยกต์ซื้อฤๅมีตั้งบ้านเรือนไร่นาสวนอยู่นั้นจะเปนสิทธิ ไม่ได้ เพราะมิได้แจ้งต่อกงสุลให้ขออนุญาตต่อรัฐบาลสยามให้ตกลงกันตามหนังสือสัญญา แลให้เมืองทั้งปวงทำบาญชีที่ดินซึ่งคนสัปเยกต์ได้มาโดยเหตุอย่างไรนั้นส่ง ยังกรุงเทพ ฯ

วันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ พระศรีสุวรรณวงษา เจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิไสยป่วยถึงแก่กรรม พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ได้มีตราจุลราชสีห์ให้อุปฮาด (เดช) ผู้น้องพระศรีสุวรรณวงษา รักษาราชการเมืองพยัคฆภูมิพิไสยต่อไป

พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) เจ้าเมืองพนมไพร ซึ่งลงมา ณกรุงเทพฯ เพื่อจะขอเปนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิมิสำเร็จ เลยป่วยพักรักษาตัวอยู่ณกรุงเทพ ฯ นั้น ครั้นอาการป่วยทุเลาแล้ว จึ่งกราบถวายบังคมลากลับบ้านเมือง ครั้นไปถึงเมืองนครราชสิมา กลับเปนไข้หนักลงอิก ครั้นวันพฤหัสบดี แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พระดำรงฤทธิไกร (บุญตา) ถึงแก่กรรม

พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) จึ่งได้ให้ท้าวสุวรรณราชผู้เปนอุปฮาดรักษาราชการเมืองพนมไพรต่อไป

อุปฮาดผู้รักษาเมืองภูแล่นช้างถึงแก่กรรม ท้าวทองสุกได้เปนผู้รักษาราชการบ้านเมืองต่อมา

ฝ่ายเมืองสหัสขันธ์ ตั้งแต่พระประชาชนบาลเจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้ว ก็มีแต่อุปฮาดว่าราชการต่อมา ครั้นถึงปีนี้อุปฮาดถึงแก่กรรม ยังคงมีแต่ราชบุตร (แสง) เมืองแสน เมืองจัน แลกรมการ จึ่งได้พร้อมกันมีบอกมายังพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น )ขอราชบุตร (แสง) เปนที่พระประชาชนบาล ฝ่ายข้างพระราษฎรบริหาร (ทอง) ผู้ว่าราชการเมืองกมลาไศรยทราบดังนั้น จึ่งรีบมีบอกล่วงน่าไปยังพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ชิงขอให้อุปฮาด (บัว) เมืองกมลาไศรยเปนพระประชาชนบาล พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) จึ่งได้มีตราจุลราชสีห์ ตั้งให้อุปฮาด (บัว) รับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสหัสขันธ์ อุปฮาด (บัว) จึ่งได้ย้ายที่ว่าการเมืองสหัสขันธ์ มาตั้งอยู่ณบ้านโคก

หลวงเสนีพิทักษ์ ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ไปตรวจราชการณเมืองอุทุมพร ครั้นวันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ป่วยถึงแก่กรรมณเมืองอุทุมพร

พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ได้จัดให้หลวงนครบุรี ไปรับราชการเปนข้าหลวงอยู่ณเมืองขุขันธ์ต่อไป

พระทิพชนสินธุ์อินทนิมิตร เจ้าเมืองพรหมกัน ป่วยถึงแก่กรรม พระอนันตภักดี ผู้รักษาเมืองสังฆะ ได้ให้หลวงพินิจสมบัติเปนผู้รักษาเมืองพรหมกันต่อไป

นายแก้วหมอ นายสีดาควาญ นำช้างต่อไปแทรกโพนได้ช้างเผือกพลายตัวหนึ่งที่แขวงข่าระแดฝั่งโขงตวันออก ได้ส่งช้างนั้นมายังเมืองนครจำปาศักดิ

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๕๑ ปีฉลู รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) จึ่งให้เจ้าราชวงษ์ (จุ่น) แลเจ้าราชบุตร นครจำปาศักดิ คุมช้างพลายสำคัญตัวที่ได้ใหม่นี้ มาถวายณกรุงเทพ ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ขึ้นระวางพระราชทานนามว่า พระเสวตรวรนาเคนทร์

แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเจ้าราชวงษ์ (จุ่น) เปนเจ้าประชากรเกษม จางวางนครจำปาศักดิ

วันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีนี้ หลวงภักดีณรงค์ ( สิน ) ออกจากเมืองอุบลมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท เพื่อได้กราบบังคมทูลพระกรุณาในข้อราชการต่าง ๆ

พระวงษาสุรเดช เจ้าเมืองมูลปาโมกข์ ซึ่งขึ้นกับเมืองสีทันดรนั้น มิถูกต้องเปนสามัคคีรศกันกับผู้ว่าราชการกรมการเมืองสีทันดร แลทั้งต้องไปเปนความรายคดีวิวาทกับราชวงษ์เมืองสพังภูผา ต้องคุมขังพิจารณาอยู่ณสำนักข้าหลวงนครจำปาศักดิ เสียทรัพย์สินยากแค้นลง เจ้านครจำปาศักดิเข้าทนุบำรุง ให้กู้ยืมทรัพย์สิน พระวงษาสุรเดชตกเปนลูกหนี้เจ้านครจำปาศักดิ ๆ จึ่งให้พระวงษาสุรเดช แลราชบุตร อพยพครอบครัว ลงไปตั้งอยู่ณหนองไก่ป่าท่ากลัน ลำน้ำเซซาน แขวงเมืองแสนปางเปนเมืองใหม่ แต่ยังหาทันขนานนามเมืองไม่ ฝ่ายทางเมืองมูลปาโมกข์ก็คงมีแต่อุปฮาด แลท้าวสุทธิสาร แลกรมการอยู่รักษาราชการบ้านเมือง

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้ท้าวไชยเสนผู้ว่าที่อุปฮาด เปนอุปฮาด ให้ท้าวสุริย (อุทา) ผู้ว่าที่ราชบุตร เปนราชบุตรเมืองร้อยเอ็ด

ราษฎรเมืองสหัสขันธ์พากันทำเรื่องราวร้องทุกข์ไปถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ณเมืองหนองคาย กล่าวโทษอุปฮาด (บัว) ผู้รักษาเมืองสหัสขันธ์ว่ากระทำการกดขี่ข่มเหงลงเอาเงินกับราษฎร รับสั่งให้พิจารณาได้ความจริง โปรดเกล้า ฯ ให้คืนเงินแก่ราษฎร แลให้อุปฮาดออกจากตำแหน่งผู้รักษาเมืองสหัสขันธ์กลับไปอยู่เมืองกมลาไศรยตาม เดิม ส่วนเมืองสหัสขันธ์ ก็คงมีแต่ ราชบุตร (แสง) แลเมืองแสน เมืองจัน กรมการอยู่รักษาราชการ บ้านเมืองต่อไป

พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) มีตราจุลราชสีห์ ตั้งให้ท้าวทองอิน บุตรพระศรีเกษตราธิ ไชย (เง่า) เจ้าเมืองเกษตรวิไสย ซึ่งไปศึกษา ราชการอยู่ณที่ว่าการข้าหลวงนครจำปาศักดินั้น เปนอุปฮาดเมืองเกษตรวิไสย

อุปฮาด (หงษ์) เมืองแซงบาดาล ถึงแก่กรรม

เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม องบาง ขุนนางญวนที่สององภู ผู้บังคับการเมืองลาดคำโล กับองเกลายเมืองลาดคำโล องโดยเมืองกวางตี้ องเถอเบี้ยน องโดน พร้อมด้วยทหารญวนถือปืนชนวนทองแดงปลายหอก ๔ ถือดาบ ๒ ถือธงนำน่า ๒ ตีกลองนำน่า ๑ ถือหีบหมาก ๒ ถือไม้เท้า ๑ ถือกล้องยาแดง ๑ ถือร่มสำหรับยศ ๑ มาหาหลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ๆ ได้ต้อนรับตามสมควร องบางถามหลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ว่า มาอยู่เมืองตะโปนด้วยเหตุประการใด หลวงพิทักษ์นรินทร์ตอบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามโปรดเกล้า ฯ ให้มาอยู่รักษาเพื่อปราบปรามโจรผู้ร้าย ให้ราษฎรได้รับความศุขสำราญ แล้วองบางก็ลากลับไป

โปรดเกล้า ฯ ให้กรมยุทธนาธิการส่งนายร้อยเอกขุนพิศลยุทธการ (ปึก) ๑ นายร้อยตรีชื่น ๑ นายร้อยตรีคำ ๑ นายร้อยตรีพลับ ๑ นายร้อยตรีพึ่ง ๑ นายร้อยตรีวาด ๑ นายร้อยตรีพรหม ๑ กับพลแตรเดี่ยว ๑ ขึ้นไปรับราชการ กับว่าที่นายพันตรีหลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ขุนพิศล ฯ กับนายร้อย ๗ นาย ได้ไปถึงเมืองอุบล เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม แล้วหลวงพิทักษ์นรินทร์จัดให้ขุนพิศล ๑ นายร้อยตรีพึ่ง ๑ นายร้อยตรีคล้าย ๑ นายร้อยตรีคำ ๑ ไปรับราชการอยู่กับหลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ณ ด่านเมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง แลจัดให้นายร้อยตรีวาด ๑ นายร้อยตรีชื่น ๑ นายร้อยตรีพลับ ๑ นายร้อยตรีพรหม๑ ไปรักษาราชการน่าด่านเมืองนครจำปาศักดิ

รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า มองซิเออเดอมาเรียนา ฤๅเลอ กอมเต เดอ ดะเร ซึ่งตั้งตัวเปนเจ้าแผ่นดินเมืองซิดัง ได้หนีมาจากปารีศ ไปเมืองซิดัง (แขวงข่าระแด ตั้งอยู่ตำบลที่เรียกว่าโปโล ปลายลำน้ำเซโขงฤๅเซกอง ฝั่งโขงตวันออก) กับคนยุโรป ๕ คน มีปืน ๔๘ หีบ ขอให้รัฐบาลสยามช่วยสืบจับ

แลรัฐบาลอังกฤษแจ้งว่าเจ้าเมงกูน บุตรพระเจ้ามินดงมินเจ้าแผ่นดินเมืองพม่าคนเก่า ซึ่งอังกฤษได้เอาตัวไปขังไว้ประเทศอินเดีย หนีมาทางเมืองไซ่ง่อน รัฐบาลอังกฤษเกรงว่าเจ้าเมงกูนจะหนีเข้ามาในพระราชอาณาเขตรสยามทางหัวเมือง ลาวตวันออก จึ่งขอให้รัฐบาลสยามช่วยสืบจับ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราสั่งยังบรรดาหัวเมืองตวันออกให้ช่วยสืบจับมองซิเออเดอมาเรียนาแล เจ้าเมงกูน ตามความประสงค์ของรัฐบาลฝรั่งเศสแลอังกฤษตามทางพระราชไมตรีโดยแขงแรง ก็หาได้ความว่า มองซิเออเดอมาเรียนา แลเจ้าเมงกูน ได้เข้ามาในพระราชอาณาเขตรไม่

อุปฮาด (สุวรรณ) ราชวงษ์ แลกรมการเมืองพนมไพรแดนมฤค ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีความวิวาทบาดหมางกับอุปฮาดผู้รักษาเมืองสุวรรณภูมิ มิพอใจจะสมัคขึ้นกับเมืองสุวรรณภูมิ จึ่งพร้อมกันมีบอกไปยังพระพิเรนทรเทพ (ทองคำ) ข้าหลวงเมืองนครราชสิมา ขอสมัคขึ้นกับนครราชสิมา แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเขตรแขวงเมืองพนมไพรมิได้ติดต่อกับเขตรแขวงนครราชสิมา ซึ่งจะเปนทางสดวกแก่การบังคับบัญชา จึ่งหาได้โปรดเกล้าฯ ให้การเปนไปดังความประสงค์ของผู้รักษาเมืองกรมการเมืองพนมไพรไม่ ฝ่ายอุปฮาดผู้รักษาเมือง แลกรมการเมืองสุวรรณภูมิ มีบอกกล่าวโทษเมืองมหาสารคาม เมืองสุรินทร์ เมืองศรีสระเกษ ว่าแย่งชิงเขตรแขวงเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งเปนเมืองขึ้น คือเมืองมหาสารคามขอบ้านนาเลาเปนเมืองวาปีประทุม เมืองสุรินทร์ขอบ้านทัพค่ายเปนเมืองชุมพลบุรี เมืองศรีสระเกษขอบ้านโนนหินกองเปนเมืองราษีไศล ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงนครจำปาศักดิแลเมืองอุบลไต่สวนว่ากล่าวในเรื่องนี้ ก็รื้อถอนไม่ไหวเพราะเหตุเมืองทั้งนี้ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเปนเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามมาได้หลายปีแล้ว เปนอันโปรดเกล้า ฯ ให้ตกลงคงเปนเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามอยู่ตามเดิม

รัฐบาลฝรั่งเศสแจ้งขออนุญาตต่อรัฐบาลสยามว่า จะแต่งให้มองซิเออปาวีเปนข้าหลวงหัวน่า พร้อมด้วย ม.เลเฟฟปอนตาลิศวัดเซ ๑ ม.กูเป็ด ๑ ม.ปันเจต ๑ ม.กอยนาร์ ๑ ม.มาซิหมอ ๑ ม.เปนเคน ๑ ม.ลาซัน ๑ ม.นิลวน ๑ ม.สตราไวซ์ ๑ ม.มอเลอ ๑ ม.ลูกัน ๑ ม.มาซิ ๑ ม.กูดาศ ๑ ม.อาดลี ๑ รวม ๑๕ นาย แบ่งออกเปนสามกอง ไปเที่ยวตรวจทำแผนที่เขตรแดนชายพระราชอาณาเขตรสยามซึ่งติดต่อกับเขตรแดนญวน ในบำรุงฝรั่งเศส เพื่อรัฐบาลทั้งสองจะได้ปฤกษาแบ่งปันให้เปนที่ตกลงกัน รัฐบาลสยามได้อนุญาตให้ตรวจตามความประสงค์ของรัฐบาลฝรั่งเศส

แลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กรมแผนที่ จัดให้หลวงสากลกิจประมวญ (ม.ร.ว. เฉลิม) ๑ หลวงคำนวณคัคณานต์ (สี) ๑ นายแถลงการวิธกิจ ๑ นายมานิตรัถยา (เอม) ๑ หม่อมราชวงษ์ชื่น ๑ นายเย็น ๑ นายปาน ๑ นายเสม ๑ นายถัด ๑ นายผิว ๑ นายเจริญ ๑ แยกกันเปนกอง ๆ ออกไปพร้อมด้วยข้าหลวง ซึ่งรักษาหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตรตรวจแผนที่ชายพระราชอาณาเขตร แลเพื่อต้อนรับชี้แจงแก่ข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศส วันที่ ๑๐ มีนาคม หลวงคำนวณคัคณานต์ ไปถึงเมืองอุบล

พระธำนงไชยธวัช (สุวอ) ผู้ว่าราชการเมืองธวัชบุรี มีบอกมายังพระยาราชเสนา (ทัด) ข้าหลวงเมืองอุบล ว่ามีความชราทุพลภาพ ขอกราบถวายบังคมลาออกจากน่าที่ราชการ แลขอให้เพี้ยเมืองขวาบุตรเขยเปนผู้รักษาราชการเมืองแทน พระยาราชเสนา (ทัด) ได้อนุญาตแลได้ให้เพี้ยเมืองขวารับราชการน่าที่ผู้รักษาเมืองธวัชบุรีแทน ตามประสงค์ของพระธำนงไชยธวัช แล้วได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ

พระเจริญราชเดช ผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคาม แลพระขัติยวงษา ผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็ด มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ ว่า พระสุวรรณวงษาผู้ว่าราชการเมืองพยัคฆภูมิไปตั้งเมืองที่บ้านนาข่าแขวง เมืองมหาสารคามแลพระธาดาอำนวยเดช ผู้ว่าราชการเมืองจัตุรภักตร์พิมานไปตั้งเมืองที่บ้านหัวช้างเปลือยกลางแขวง เมืองร้อยเอ็ด หาได้ไปตั้งที่บ้านเมืองเสือ แลที่บ้านกุดพิมาน ตามกระแสตราโปรดเกล้า ฯ ไม่ ทั้งสองรายนี้ ได้มีท้องตราโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงเมืองอุบลไต่สวน

มองซิเออโซแมน พ่อค้าฝรั่งเศสได้นำสินค้าต่างๆ มาตั้งจำหน่ายที่เมืองอุบล

แลในปีนี้ฝนแล้งเข้าแพงถึงเกวียนละชั่ง ๘ ตำลึง

ได้มีประกาศโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้วันตามทางสุริยคติกาลในปีนี้

ลุรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๒๕๒ มีสารตราโปรดเกล้า ฯ ให้ปันน่าที่ข้าหลวงเปน ๔ กอง คือ

ข้าหลวงนครจำปาศักดิ ได้บังคับราชการ แลชำระตัดสินความอุทธรณ์เร่งรัดเงินส่วย เมืองนครจำปาศักดิ ๑ เมืองเชียงแตง ๑ เมืองแสนปาง ๑ เมืองสีทันดร ๑ เมืองอัตปือ ๑ เมืองสาลวัน ๑ เมืองคำ ทองใหญ่ ๑ เมืองสุรินทร์ ๑ เมืองสังฆะ ๑ เมืองขุขันธ์ ๑ เมืองเดช อุดม ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๑ เมืองขึ้น ๒๑ เหล่านี้ ให้เรียกว่าหัวเมืองลาวฝ่ายตวันออก

ข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี บังคับเมืองอุบล ๑ เมืองกาฬสินธุ์ ๑ เมืองสุวรรณภูมิ ๑ เมืองมหาสารคาม๑ เมืองร้อยเอ็ด ๑ เมืองภูแล่นช้าง ๑ เมืองกมลาไศรย ๑ เมืองยโสธร ๑ เมืองเขมราษฎร์ ๑ เมืองสองคอนดอนดง ๑ เมืองนอง ๑ เมืองศรีสระเกษ ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๒ เมืองเล็ก ๒๙ เหล่านี้ให้เรียกว่าหัวเมืองลาวฝ่ายตวันออกเฉียงเหนือ

ข้าหลวงเมืองหนองคาย บังคับเมืองหนองคาย ๑ เมืองเชียงขวาง ๑ เมืองบริคัณหนิคม ๑ เมืองโพนพิไสย ๑ เมืองไชยบุรี ๑ เมืองท่าอุเทน ๑ เมืองนครพนม ๑ เมืองสกลนคร ๑ เมืองมุกดาหาร ๑ เมืองกมุทาไสย ๑ เมืองบุรีรัมย์ ๑ เมืองหนองหาร ๑ เมืองขอนแก่น ๑ เมืองคำเกิด ๑ เมืองคำมวน ๑ เมืองหล่มศักดิ ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๖ เมืองขึ้น ๓๖ เหล่านี้ ให้เรียกว่าเมืองลาวฝ่ายเหนือ

ข้าหลวงเมืองนครราชสิมา บังคับเมืองนครราชสิมา ๑ เมืองชนบท ๑ เมืองภูเขียว ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑ เมืองขึ้น ๑๒ เหล่านี้ ให้เรียกว่าหัวเมืองลาวกลาง

แลเมืองสองคอนดอนดงนั้น แต่ก่อนก็ขึ้นกับเมืองอุบล ครั้นเมื่อท้าวหนูเปนพระจันทรเทพสุริยวงษ์ เจ้าเมืองมุกดาหาร แลเจ้าราชวงษ์หน่อคำเปนเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ เจ้าเมืองอุบล ได้ยกเมืองสองคอนดอนดงไปขึ้นเมืองมุกดาหารข้ามเขตรแขวงเมืองอุบล แลเมืองขึ้นไประยะทางไกลถึง ๔ วัน ๕ วัน

แลเมืองคำเกิด เมืองคำมวน เดิมขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ ข้ามเขตรแขวงเมืองไชยบุรี เมืองท่าอุเทนเข้ามาหลายคืน แต่เปนน่าที่ข้าหลวงหนองคายจัดข้าหลวงไปรักษาราชการอยู่แล้ว

จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เมืองสองคอนดอนดงเมืองขึ้นเมืองมุกดาหาร มาขึ้นเมืองอุบล ในบังคับข้าหลวงหัวเมืองลาวฝ่ายตวันออกเฉียงเหนือ

ให้ยกเมืองคำเกิด เมืองคำมวนเมืองขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ ไปขึ้นเมืองท่าอุเทน ในบังคับข้าหลวงหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ

แลโปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่ซึ่งอยู่ณนครจำปาศักดิมีอำนาจบังคับว่ากล่าวข้าหลวงหัวเมืองลาว ฝ่ายตวันออกเฉียงเหนือ ฝ่ายเหนือ แลลาวกลางได้ตามควรแก่ราชการ

แลโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราประจำชาดสำหรับตำแหน่งข้าหลวงทั้ง ๔ กอง เปนรูปอาร์มแผ่นดินใช้ประทับเปนสำคัญในหนังสือราชการด้วย

ขุนพรพิทักษ์ (เคลือบ) ข้าหลวงตุลาการเมืองอุบล ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนหลวงโยธีบริรักษ์ แลนายรอดมหาดเล็ก ข้าหลวงผู้ช่วยเมืองอุบล เปนหลวงพิทักษ์สุเทพ ในเดือนเมษายนปีนี้

โปรดเกล้า ฯ ให้พระพิศณุเทพ (ช่วง) ข้าหลวงที่ ๒ ขึ้นไปเปลี่ยนพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ณเมืองนครจำปาศักดิ แลโปรด ให้หลวงสุเทพนุรักษ์ หลวงเทเพนทรเทพ หลวงบุรินทามาตย์ หลวงเทพนเรนทร์ ขุนมหาวิไชย ขุนวิชิตชลหาร เปนข้าหลวงผู้ช่วยไปด้วยพระพิศณุเทพ ๆ กับข้าหลวงผู้ช่วยไปถึงนครจำปาศักดิ เมื่อมิถุนายน ร.ศ. ๑๐๙

พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) มอบราชการเสร็จแล้ว ได้เดินจากนครจำปาศักดิ กลับมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือนกรกรฎาคม ร.ศ. ๑๐๙

หลวงสุเทพนุรักษ์ ไปเปนข้าหลวงรักษาราชการอยู่ณเมืองแสนปาง

หลวงเทเพนทรเทพ เจ้าพระยาศรีวิไชย ฯ เมื่อยังเปนหลวงเสนีพิทักษ์ ขุนมหาวิไชย ไปเปนข้าหลวงกำกับราชการอยู่ณเมืองสีทันดร

หลวงบุรินทามาตย์ ไปเปนข้าหลวงกำกับราชการอยู่ณเมืองเชียงแตง

หลวงเทพนเรนทร์ นายร้อยโทพุ่ม เปนข้าหลวงอยู่ณเมืองคำทองใหญ่แลเมืองสาลวัน

มองซิเออโกโรกือแร ลุตเตอแนนต์ฝรั่งเศส กับขุนนางญวน แลทหาร ๑๕ คน มาแต่เมืองกวางบิ้ง กวางติ้ ถึงด่านบ้านห้วยสาร แจ้งต่อนายสิบโทเฟื่องผู้รักษาด่านพระราชอาณาเขตรว่า ฝรั่งเศสผู้บังคับการเมืองเว้ ให้ ม.โกโรกือแร มาตรวจด่านฝ่ายสยามซึ่งได้ตั้งไว้แล้ว ม.โกโรกือแร มีหนังสือแจ้งยังหลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ข้าหลวง เมืองตะโปนว่าซึ่งสยามมาตั้งกองทัพในที่ซึ่งเรียกว่าเชียงแกเมืองตะโปนบ้าน ห้วยสารนั้นผิดยุติธรรมแลหนังสือสัญญา ให้รีบถอยกองทัพไปตั้งเสียในเมืองวัง เมืองผาบัง เมืองห้างถุย

หลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) มีหนังสือตอบยัง ม.โกโรกือแรว่า รัฐบาลสยามยังมิได้มีคำสั่งออกมา หลวงพิทักษ์จะต้องอยู่รักษาเพื่อระงับปราบปรามโจรผู้ร้ายให้ราษฎรมีความศุข ไปก่อน แล้ว ม. โกโร กือแร ก็กลับไปจากบ้านห้วยสาร

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม หลวงพิทักษ์นรินทร์ข้าหลวงเมืองตะโปนแลจมื่นศักดิบริบาล ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ออกไปเปนข้าหลวงผู้ช่วย ณกองข้าหลวงหัวเมืองลาวตวันออกเฉียงเหนือ ไปถึงเมืองอุบล, แลที่เมืองตะโปนนั้น หลวงพิทักษ์นรินทร์จัดให้นายร้อยตรีพรหมรักษาราชการ

วันที่ ๕ สิงหาคม มองซิเออปาวี หัวน่าผู้ตรวจแผนที่ กับพวกกอมิแซฝรั่งเศส ๕ นายมาถึงเมืองอุบล,

วันที่ ๒๒ ตุลาคม หม่อมราชวงษ์ชื่น ข้าหลวงตรวจการแผนที่ฝ่ายสยามถึงเมืองอุบล

วันที่ ๒๖ ตุลาคม พระพิไชยสุริยวงษา (นาก) ผู้รักษาเมืองสุรินทร์ป่วยเปนฝีถึงแก่กรรม

วันที่ ๖ พฤศจิกายน มองซิเออโกยา ๑ มองซิเออลูกวง ๑ มองซิเออกือก๊าด ๑ มองซิเออกูเป ๑ ข้าหลวงตรวจแผนที่ฝ่ายฝรั่งเศส มาถึงเมืองอุบล แล้วไปนครจำปาศักดิ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พระภักดีณรงค์ (สิน) ข้าหลวงเมืองอุบลซึ่งลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ นั้นกลับถึงเมืองอุบลวันนี้

วันที่ ๑๐ ธันวาคม องโดนญวน ซึ่งอยู่บ้านดีงเหลา ไปหานายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงเมืองตะโปน แจ้งว่า องภูเมืองลาดคำโล ให้องโดนมาตามตัวผู้ว่าราชการเมืองตะโปน เมืองนอง เมืองพิน เมืองวังคำ ไปหาองภู ๆ จะมาที่บ้านดีงเหลา นายร้อยตรีพรหมตอบว่า ถ้าคนต่างประเทศจะเข้ามาในพระราชอาณาเขตรต้องมีตราพระราชสีห์จึงจะเข้ามาได้ ให้องโดนกลับเสีย ครั้นรุ่งขึ้นองโดนก็ลากลับไป

มีท้องตราโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาราชเสนา (ทัด) ไปพิจารณาความโจรผู้ร้ายณเมืองนครราชสิมา พระยาราชเสนาได้ออกจากเมืองอุบลวันที่ ๑๒ ธันวาคม

มกราคม มองซิเออปาวี แลมองซิเออมะละแกว กับทหารญวน ๒๐ ไพร่ญวน ๑๕ คน ซึ่งตรวจแผนที่ชายพระราชอาณาเขตรไปถึงด่านบ้านห้วยสารแล้วออกจากด่านบ้าน ห้วยสาร ไปด่านเมืองตะโปน ผู้รักษาด่านฝ่ายสยามได้ต้อนรับแลอุปการะตามสมควร

มกราคม พระรามนรินทร์ผู้ว่าราชการเมืองคำเขื่อนแก้ว ขึ้นเมืองเขมราษฎร์ มีบอกยังข้าหลวงเมืองอุบล, ว่ามีความชราทุพลภาพขอลาออกจากน่าที่ราชการ แลขอให้ท้าวจารจำปาผู้หลาน เปนผู้รักษาเมืองรับราชการฉลองพระเดชพระคุณแทน พระภักดีณรงค์ (สิน) ข้าหลวงเมืองอุบลได้อนุญาตตามความประสงค์ของพระรามนรินทร์ แลได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ

มีนาคม บริษัทสยามบุรพทิศสิทธิการ ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองอุบล ได้เปิดโรงจักรเลื่อยไม้ต่าง ๆ นาย อ. จ.ยัย เปนผู้จัดการ

พระเจริญพลรบผู้ว่าราชการเมืองสองคอนดอนดง ถึงแก่กรรม ราชวงษ์ บุตรพระเจริญพลรบ ได้เปนผู้รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

พระภักดีณรงค์ (สิน) ได้ให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน) ไปเปนข้าหลวงช่วยนำหลวงคำนวณคัคณานต์ (สี) ตรวจทำแผนที่เขตรแขวงเมืองตะโปน

พระพิไชยชาญณรงค์ ผู้ว่าราชการเมืองเกษมสิมา ขึ้นเมืองอุบล ถึงแก่กรรม

ผู้รักษาเมืองกรมการเมืองกาฬสินธุ์ มีบอกขอท้าวทองคำเปนพระประทุมวิเศษผู้ว่าราชการเมือง ขอราชวงษ์เปนอุปฮาด ขอท้าวแฮดเปนราชวงษ์ ขอท้าวสีทะเปนราชบุตรเมืองกันทรวิไชย ท้าวทองคำได้นำใบบอกลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวทองคำเปนพระประทุมวิเศษ ผู้ว่าราชการเมืองกันทรวิไชย ส่วนตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษ์ ราชบุตรนั้น ก็ได้มีตราพระราชสีห์ตั้งให้ตามเมืองกาฬสินธุ์ขอ

เมืองแสนเมืองจันแลกรมการเมืองสหัสขันธ์ มีบอกขอท้าวขำบุตรพระประชาชนบาล ผู้ว่าราชการเมืองสหัสขันธ์ ให้ท้าวขำนำใบบอกลงมาณกรุงเทพฯ ฝ่ายอุปฮาด (บัว) เมืองกมลาไศรยทราบความดังนั้น จึ่งชิงมีใบบอกขอท้าวขัติยวงษา บุตรพระราษฎรบริหาร (เกษ) ผู้ว่าราชการเมืองกมลาไศรย เปนพระประชาชนบาล ให้ท้าวขัติยวงษารีบนำลงมายังพระราษฎรบริหาร (ทอง) ซึ่งเวลานั้นมามีคดีพักอยู่ ณกรุงเทพฯ ถึงกรุงเทพฯ ได้ก่อนท้าวขำ พระราษฎรจึ่งนำตัวท้าวขัติยวงษาแลใบบอกวางเวรนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระ กรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้ท้าวขัติยวงษาเปนพระประชาชนบาล ผู้ว่าราชการเมืองสหัสขันธ์ ขึ้นเมืองกมลาไศรย

พระสุรพินทนิคมานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสุรพินทนิคม ซึ่งตามพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ลงมาพักอยู่ณกรุงเทพ ฯ ถึงแก่กรรม

ลุรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารถว่า กรุงสยามได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี กับนานาประเทศมาช้านาน บ้านเมืองก็เดินขึ้นสู่ความเจริญเปนอันดับ แลบัดนี้ฝรั่งเศสปราบปรามได้เมืองเขมรแลญวนตังเกี๋ยอยู่ในอำนาจ ฝรั่งเศสได้จัดการทนุบำรุงเขตรแดนใกล้ชิดติดต่อกับชายพระราชอาณาเขตรตั้งแต่ ทิศใต้ไปทิศตวันออกจนโอบถึงทิศเหนือ แลฝ่ายอังกฤษก็ได้จัดการเขตรแดนพม่า ติดต่อเข้ามากับเขตรแดนสยามทางฝ่ายทิศใต้แลทิศตวันตกโอบถึงยางแดง เงี้ยว เขิน เชียงตุง เขตรแขวงทั้งสามพระนครนี้ ก็ยังไม่ได้ตัดสินแบ่งปันให้เปนที่ตกลงกัน ผู้คนเขมร ข่า ป่า ดง ญวน ลาว เงี้ยว ซึ่งเปนข้าขอบขัณฑสิมากรุงเทพมหานคร อันตั้งคฤหสถานอยู่ตามปลายพระราชอาณาเขตร ก็สับสนปะปนกันกับคนที่อยู่นอกพระราชอาณาเขตร อันรัฐบาลฝรั่งเศสแลอังกฤษได้จัดการทนุบำรุงอยู่นั้น จำเปนที่รัฐบาลสยาม กับฝรั่งเศส อังกฤษ จะต้องปฤกษาหารือแบ่งปันเขตรแขวงบ้านเมืองให้เปนที่ตกลงกัน แต่หัวเมืองในพระราชอาณาเขตรที่ได้แบ่งปันไว้โดยกำหนดแต่ก่อนนั้น ยังหาสมควรแก่กาลสมัยไม่ ควรจะจัดข้าหลวงที่ทรงคุณวุฒิปรีชาสามารถออกไปประจำรักษาพระราชอาณาเขตร ซึ่งติดต่อกับหัวเมืองต่างประเทศ เพื่อจะได้ปฤกษากันด้วยเรื่องผู้คนเขตรแขวง แจ้งยังรัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้จัดราชการบ้านเมืองให้เปนที่เรียบร้อย เพื่อรักษาทางพระราชไมตรีให้มีความเจริญยิ่งขึ้น แลจะได้รักษาด่านทางปราบปรามโจรผู้ร้าย ให้ราษฎรไพร่บ้านพลเมืองได้ทำมาหาเลี้ยงชีพเปนความสดวก จะได้เปนความศุขสมบูรณ์แก่ผู้คนภายนอกในพระราชอาณาเขตร อันจะได้ไปมาค้าขายได้โดยสำเร็จสดวกสืบไป

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเปนข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนออกไปตั้งรักษาอยู่ณเมืองนครจำปาศักดิกอง หนึ่ง ให้เรียกว่าข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว

ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เปนข้าหลวงใหญ่พร้อมด้วยข้าราชการทหารพลเรือนตั้งอยู่ณเมืองหนองคายกองหนึ่ง ให้เรียกว่าข้าหลวงหัวเมืองลาวพวน

ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เปนข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการทหารพลเรือน ตั้งอยู่ณเมืองหลวงพระบางกองหนึ่ง ให้เรียกว่าข้าหลวงหัวเมืองลาวพุงขาว (แต่กองนี้ภายหลังเปลี่ยนมาประจำเมืองนครราชสิมา หาได้ไปเมืองหลวงพระบางไม่)

แลให้คงมีข้าหลวงประจำอยู่ณเมืองเชียงใหม่ ตามเดิมกองหนึ่ง ให้เรียกว่าข้าหลวงหัวเมืองลาวเฉียง

ให้เมืองนครจำปาศักดิ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองสาลวัน เมืองอัตปือ เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศรีสระเกษ เมืองอุบล เมืองยโสธร เมืองเขมราษฎร์ เมืองกมลาไศรย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองใหญ่ ๒๑ เมือง ขึ้น ๔๓ เมือง อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว

ให้เมืองหนองคาย เมืองเชียงขวาง เมืองบริคัณหนิคม เมืองโพนพิไสย เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร เมืองขอนแก่น เมืองหล่มศักดิ เมืองใหญ่ ๑๓ เมือง ขึ้น ๓๖ อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงหัวเมืองลาวพวน

ให้เมืองหลวงพระบางราชธานี แลพวกสิบสองปันนา ลื้อ สิบสองจุไทย หัวพันทั้งห้า หัวพันทั้งหก หัวเมืองชนในพระราชอาณาเขตร อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงหัวเมืองลาวพุงขาว

ให้เมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน เมืองน่าน เมืองแพร่ เมืองเถิน แลเมืองขึ้น อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมือง ลาวเฉียง

ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวพุงขาวนั้นหาได้เสด็จไม่ ที่เมืองนครหลวงพระบางคงมีแต่พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข) เปนข้าหลวงประจำนครอยู่ตามเดิม

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ เปนข้าหลวงใหญ่ตั้งชำระพิจารณาโจรผู้ร้ายหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขตร ตั้งอยู่ณเมืองนครราชสิมา

โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิมนตรี (เจิม) เปนแม่กองตรวจจับโจรผู้ร้าย ส่งถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ชำระตัดสิน

วันที่ ๑๖ เมษายน พระยาภักดีณรงค์ข้าหลวงได้เปิดโรงเรียนอุบลวาสิกสถานสอนหนังสือไทยณเมืองอุบล

วันที่ ๑๘ เมษายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้ท้าวพระศรีผู้รักษาเมืองอำนาจเจริญ เปนพระอมรอำนาจ ผู้ว่าราชการเมืองอำนาจเจริญ ขึ้นเมืองเขมราษฎร์ พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เสื้อโหมดเทศ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

วันที่ ๒๑เมษายน พระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวสัมพันธวงษ์ ผู้ช่วยเมืองเขมราษฎร์ เปนราชวงษ์เมืองเขมราษฎร์ พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เสื้อโหมดเทศ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑

วันที่ ๔ มิถุนายน ขุนพิศลยุทธการ (ปึก) ออกจากเมืองอุบล กลับกรุงเทพ ฯ

วันที่ ๑๓ กรกฎาคม หลวงสากลกิจประมวญ (เฉลิม) นายแถลงการวิธกิจ นายมานิตรัถยา ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ออกไปตรวจทำแผนที่หัวเมืองลาวกาวเสร็จราชการแล้วออกจากเมืองอุบลกลับ กรุงเทพฯ

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พระอริยกระวี (อ่อน) ซึ่งโปรดให้เปน เจ้าคณะใหญ่ณเมืองอุบล ไปถึงเมืองอุบล พักอยู่ณวัดสีทอง

วันที่ ๘ สิงหาคม พระอมรดลใจ ผู้ว่าราชการเมืองตระการพืชผล เปนโรคเรื้อรังถึงแก่กรรม อายุ ๖๖ ปี

วันที่ ๑๕ สิงหาคม หลวงคำนวณคัคณานต์ ซึ่งตรวจแผนที่เสร็จราชการแล้ว ออกจากเมืองอุบลกลับกรุงเทพฯ

กันยายน จมื่นศักดิบริบาล ขุนรักษ์หิรัญ ไปเปนข้าหลวงรักษาราชการอยู่ณเมืองเขมราษฎร์

วันที่ ๑๖ กันยายน พระขัติยวงษา ผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็ด เปนไข้จับถึงแก่กรรม อายุ ๔๙ ปี อุปฮาดเปนผู้รักษาเมืองร้อยเอ็ดต่อไป

บริษัทสยามบุรพทิศสิทธิการณเมืองอุบล ได้สร้างเรือกลไฟจักรท้าย ๒ จักร ชื่อบำรุงบุรพทิศลำหนึ่งยาว ๔๕ ฟิต ปากกว้าง ๑๑ ฟิต ชื่อพานิชพัฒนาลำหนึ่ง ยาว ๕๐ ฟิต ปากกว้าง ๑๒ ฟิต สำหรับเปนเรือรับจ้างบรรทุกสินค้า แลโดยสาน เดินในลำน้ำมูลระหว่างเมืองอุบลไปท่าช้างแขวงเมืองนครราชสิมา แลเรือลำที่ชื่อบำรุงบุรพทิศได้ใช้จักรออกเดินไปนครราชสิมา ในตุลาคมปีนี้

วันที่ ๑ ตุลาคม ข้าหลวงเมืองอุบลได้จัดให้นายร้อยตรีพึ่ง ๑ นายสิบเอก ๑ พลทหาร ๑๒ คน ไปเปลี่ยนนายร้อยตรีเจริญซึ่งรักษาด่านเมืองนอง

แลให้นายร้อยตรีพรหม ๑ นายสิบเอก ๑ พลทหาร ๑ ไปเปลี่ยนนายร้อยตรีคล้ายรักษาด่านเมืองตะโปน

แลให้ข้าหลวงผู้รักษาเมืองเขมราษฎร์จัดกรมการเขมราษฎร์ไปเปลี่ยนหลวง ชำนาญท้าวพรหมบุตร รักษาด่านเมืองพิน ตามกำหนด ๖ เดือนเปลี่ยนกันครั้งหนึ่ง

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ราชบุตรเมืองอุบล เปนไข้จับถึงแก่กรรมอายุ ๕๐ ปี

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พระสุนทรราชวงษา ผู้ว่าราชการเมืองยโสธร ป่วยเปนอุจาระธาตุถึงแก่กรรม อายุได้ ๕๔ ปี

มีตราลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน โปรดเกล้า ฯ ให้ว่าที่นายพันโทพระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เมื่อยังเปนหลวงจำนงยุทธกิจ ไปเปลี่ยนว่าที่นายพันตรีหลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ผู้บังคับการทหารหัวเมืองลาวกาว

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน มองซิเออกุนซองฝรั่งเศสไปเที่ยวตรวจตามลำน้ำเซซาน แลแจ้งว่าจะเอาเรือกลไฟเข้ามาเดินในลำน้ำเซซาน

มีตราลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ว่าท้าวสิลารับการตำแหน่ง ระศรีเกษตราธิไชย ผู้รักษาราชการเมืองเกษตรวิไสย เมืองขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีบอกส่งบาญชีสัมโนครัวมายังกรุงเทพฯ ข้ามเมืองสุวรรณภูมิเมืองใหญ่ มีความผิด ให้ข้าหลวงเมืองอุบลเรียกตัวมาว่ากล่าวภาคทัณฑ์อย่าให้ทำต่อไป

วันที่ ๑๓ ธันวาคม มองซิเออดิแซฝรั่งเศสกับไพร่ญวนเขมรรวม ๔๐ คนมาระเบิดศิลาที่แก่งลีผี แลตัดไม้ทำทางที่แก่งลีผีกว้าง ๒ วา ตั้งแต่เกาะพะแพง ถึงแก่งกระแจะเวียน ข้าหลวงเจ้าน่าที่ฝ่ายสยามเห็นว่า ม.ดิแซ มาทำโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยาม จึ่งได้ให้ คนออกไปห้ามปราม ม.ดิแซ ก็กลับไป

วันที่ ๒๗ ธันวาคม องกายญวน ถือหนังสือองภูเมืองลาดคำโลมาด่านห้วยสาร แจ้งต่อผู้รักษาด่านฝ่ายสยามว่า องกงทือฝรั่งเศสกับองภูจะมาด่านดีงเหลา แล้วจะให้พวกข่าแลภูไทยตัดทางแต่ด่านดีงเหลาไปทางฝั่งโขงทางหนึ่ง ไปทางเมืองสาลวันทางหนึ่ง ไปทาง เมืองนองทางหนึ่ง ไปทางเมืองวังคำทางหนึ่ง

วันที่ ๙ มกราคม ฝรั่งเศสกับองคำผายกวนภู่ขุนนางญวนเมืองกงชุน ให้นายพ่อจิ๋วญวนมาแจ้งต่อผู้ว่าราชการกรมการเมืองนองว่า ให้ตัดทางกว้าง ๖ วา แต่เมืองนองถึงดีงเหลา ด้วยฝรั่งเศสแลขุนนางญวนจะเข้ามาเมืองนอง เมืองตะโปน เมืองพิน ในเดือนมกราคม ร.ศ. ๑๑๐ ฝ่ายนายร้อยตรีพึ่งข้าหลวงเมืองนอง จึ่งได้กำชับห้ามปรามมิให้เชื่อฟังถ้อยคำนายพ่อจิ๋ว เพราะเปนที่ในพระราชอาณาเขตร แลมิได้มีตราสั่งอนุญาต

มกราคม พระภักดีณรงค์ (สิน) ข้าหลวงเมืองอุบล พร้อมด้วยขุนหมื่นท้าวเพี้ยกรมการเมืองอุบล ได้ประชุมปฤกษาจะจัดพาหนะไปรับเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว ซึ่งได้เสด็จออกจากกรุงเทพฯ ไปแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๑๑๐ แล้วนั้น พระภักดีณรงค์จึ่งให้นายแจ้งไปหยิบปืนโค๊ตปืนแฝดมาชำระถนิมเพื่อเอาไปราชการ ด้วย นายแจ้งเอาปืนโค๊ตมาส่งให้พระภักดีณรงค์ ๆ รับมารูดเอาปัสตันออก ๓ นัดแล้ว แต่ปัสตันยังหาออกหมดไม่ พระภักดีณรงค์จึ่งเอาปืนวางไว้ที่โต๊ะเขียนหนังสือขณะนั้นปืนลั่นกระสุนออก ไปถูกฅอเพี้ยชาเนตร (บุญศรี) กรมการเมืองอุบลถึงแก่กรรม พระภักดีณรงค์ได้จัดเงิน ๕ ชั่ง กับยกเงินที่ติดค้างเพี้ยชาเนตร (บุญศรี) ชั่ง ๕ ตำลึง รวมเปน ๖ ชั่ง ๕ ตำลึง ให้แก่บุตรภรรยาเพี้ยชาเนตร แลกำหนดจะให้เงินสำหรับเลี้ยงบุตรภรรยาเพี้ยชาเนตรอิกปีละ ๑๐ ตำลึงทุกปี

วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือนยี่ ร.ศ. ๑๑๐ ท้าวสุทธิสารเมืองมูลปาโมกข์ ให้นายมั่นหมอ นายตาควาญ เมืองสีทันดร นำช้างต่อไปคล้อง ได้ช้างพลายสีปลาด ๑ ช้าง สูง ๔ ศอก ที่ป่าแขวงข่าพะนองฝั่งโขงตวันออก ขุนมหาวิไชย ข้าหลวงเมืองสีทันดร ได้ไปรับช้างพลายสีปลาดตัวนี้มาเลี้ยงรักษายังเมืองสีทันดร แลมีบอกมายังข้าหลวงนครจำปาศักดิ ๆ บอกมายังกรุงเทพ ฯ

วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาวพร้อมด้วยพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม) เมื่อยังเปนพระประชาคดีกิจ ๑ พระทิพจักษุสาตรธำรงแพทย์ ๑ หลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) ๑ หลวงพิพิธสุนทร (อิน) ๑ ขุนราชพัดถุพิธภาร ๑ ขุนไผทไทยพิทักษ์ (เกลื่อน) ๑ ขุนกัมพุชพาจา ๑ ล่าม ๑ นายร้อยตรีถมยา ๑ นายผาดมหาดเล็ก ๑ หมื่นภาษามิลักขุ ล่าม ๑ กับเสมียนพนักงานขุนหมื่นคนใช้ ทั้งข้าราชการฝ่ายทหารรวม ๒๐๐ คนเศษไปถึงเมืองอุบล

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปี ร.ศ.๑๑๐ นายร้อยตรีพลับซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ไปฝึกหัดทหารอยู่ณเมืองแสนปางเสียจริต เอาปืนยิงตัวเองถึงแก่กรรม

กุมภาพันธ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้หลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) ขุนกัมพุชพาจา ไปเปนข้าหลวงรักษาราชการณเมืองสุรินทร์

โปรดให้หลวงจำนงยุทธกิจ (อิ่ม) ขุนไผทไทยพิทักษ์ (เกลื่อน) เปนข้าหลวงอยู่เมืองศรีสระเกษ

ให้นายสุจินดา เปนข้าหลวงเมืองกาฬสินธุ์

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ มองซิเออดาวิด มองซิเออสาดแซง ฝรั่งเศส กับองบาง องกาย ขุนนางญวน คุมทหารญวน ๑๒ คน ไพร่ญวน ๔๐ มาที่ด่านห้วยสาร แจ้งต่อผู้รักษาด่านฝ่ายสยามว่า จะมาตรวจเมืองตะโปน เมืองผาบัง เมืองวังคำ แลหัวเมืองตามริมฝั่งโขง ข้าหลวงผู้รักษาด่านฝ่ายสยามจึ่งห้ามปรามไว้ ฝรั่งแลญวนก็หยุดอยู่ที่ด่านห้วยสาร แลแจ้งต่อผู้รักษาด่านฝ่ายสยามว่า จะจัดให้ทหารตั้งรักษาอยู่ด่านดีงเหลา อย่าให้คนฝ่ายสยามข้ามด่านออกไปเหมือนกัน แล้วฝรั่งเศสได้ปลูกโรงทหารแลยุ้งฉางขึ้นที่ด่านดีงเหลา แลจัดให้ทหารผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่รักษาโดยแขงแรง

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ มิศเตอร์แบ๊กเกต ผู้ช่วยกงสุลอังกฤษ ซึ่งขอตราพระราชสีห์ไปเที่ยวตามหัวเมืองลาวกลาง ลาวพวน ลาวกาวไปถึงเมืองอุบล, พักอยู่ ๓ วันออกจากเมืองอุบล, ไปนครจำปาศักดิ เพื่อกลับกรุงเทพ ฯ ทางไซ่ง่อน

มีนาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้ถอนนายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงรักษาเมืองตะโปนกลับเมืองอุบล แลโปรดให้นายร้อยตรีเจริญ ข้าหลวงรักษาเมืองพิน ไปเปนข้าหลวงรักษาเมืองตะโปน ส่วนเมืองพินให้นายร้อยตรีเจริญมอบให้นายสิบรักษาราชการแทนไปพลาง

วันที่ ๓ มีนาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสด็จจากเมืองอุบลไปตรวจราชการณนครจำปาศักดิ ได้โปรดให้ยกเลิกธรรมเนียมเกณฑ์เลี้ยงข้าหลวง แลเข้าเวรรับใช้ข้าหลวง ซึ่งเปนธรรมเนียมมาแต่ครั้งพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) นั้นเสีย

วันที่ ๑๕ มีนาคม การสายโทรเลขแล้วเสร็จ ได้เสด็จไปทรงเปิดออฟฟิศโทรเลข ระหว่างนครจำปาศักดิ กับกรุงเทพฯ ใช้การกันได้ตั้งแต่วันนี้เปนต้นไป

แล้วโปรดให้ขุนมหาวิไชย ข้าหลวงเมืองสีทันดร คุมกำลังไปตั้งรักษาอยู่ณแก่งลีผี ให้ออกประกาศห้ามมิให้ผู้ใดตัดไม้ แลระเบิดแก่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยาม

แลโปรดให้หลวงบุรินทามาตย์ ข้าหลวงเมืองเชียงแตง ตรวจรักษาด่านลำน้ำโขง เพื่อมิให้ผู้ใดนำเครื่องระเบิดแลกระสุนดินดำของต้องห้ามข้ามด่านล่วงเข้ามา ในพระราชอาณาเขตร แล้วพระองค์ท่านได้เสด็จไปตรวจเมืองสีทันดรแลแก่งลีผี แล้วเสด็จกลับมาประทับ ณเมืองอุบลตามเดิม

พระวงษาสุรเดชผู้ว่าราชการเมืองมูลปาโมกข์ถึงแก่กรรม ส่วนอุปฮาดไปรับราชการอยู่เมืองสีทันดร ท้าวสิทธิสารจึ่งได้เปนผู้รักษาราชการเมืองมูลปาโมกข์ต่อไป

ขุนอาจหมอ นายโสควาญ คนนครจำปาศักดิ คล้องได้ช้างพลายสำคัญที่ภูมืดแขวงข่าระแด ๑ ช้าง ข้าหลวงได้รับมาเลี้ยงรักษาไว้ยังเมืองนครจำปาศักดิ

พระอมรดลใจ ผู้ว่าราชการเมืองตระการพืชผล ถึงแก่กรรม

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ทรงตั้งให้ท้าวสิทธิกุมาร ว่าที่ราชวงษ์เมืองยโสธร

พระศรีสินธุสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองเสนางคนิคม ถึงแก่กรรม

โปรดให้ท้าวศรีเมือง บุตรพระศรีสินธุสงครามซึ่งถึงแก่กรรม เปนผู้รักษาเมืองเสนางคนิคมต่อไป

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้ท้าวสิลาผู้รักษาเมืองเกษตรวิไสย เปนพระศรีเกษตราธิไชย ผู้ว่าราชการเมืองเกษตรวิไสย

หลวงพรหมภักดี (แสง) ยกรบัตร ผู้รักษาเมืองเดชอุดม ถึงแก่กรรม

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้โปรดให้ท้าวโท ผู้รับราชการตำแหน่งปลัด เปนผู้รักษาเมืองเดชอุดมต่อไป

ลุรัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ปีมโรงจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๕๔ วันที่ ๑ เมษายนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร์ สมุหนายก ซึ่งมีความชราทุพลภาพพ้นจากน่าที่ตำแหน่งราชการกระทรวงมหาดไทย แต่คงดำรงเกียรติยศอยู่ในที่สมุหนายกตามเดิม

แลโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกระทรวงธรรมการซึ่งตั้งขึ้นใหม่ ย้ายมาเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยต่อไป

วันนี้นายสิบตรีเฟื่องกับทหาร ๓ นาย ซึ่งรักษาด่านบ้านห้วยสารไปเที่ยวหาซื้อสิ่งของรับประทานที่บ้านเฟื่อง มองซิเออสาดแซง ยึดตัวไว้ทั้ง ๔ คน นายร้อยตรีคล้าย ข้าหลวงเมืองตะโปนมีหนังสือไปถามยัง ม.สาดแซง ๆ หาตอบไม่ ครั้งรุ่งขึ้น ม. สาดแซงจึ่งปล่อยนายสิบตรีเฟื่อง แลพลทหาร ๓ นายกลับมา แลสั่งความมาว่า อิก ๒-๓ วัน ม.แจงตนเกวียน ม.ดาวิต ฝรั่งเศส จะคุมทหารมาตรวจทางให้ถึงฝั่งโขง

มีตราโปรดเกล้าฯส่งประกาศชักภาษีสัตว์พาหนะซึ่งพ่อค้านำไปขายต่างประเทศ กำหนดให้ใช้ในหัวเมืองลาวกาว ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ปีนี้เปนต้นไป คือ โค, ล่อ, ลา, ชักตัวละ ๒ บาท กระบือตัวละ ๓ บาท ม้าตัวละ ๔ บาท ช้างตัวละ ๓๐ บาท

ภาษีฝิ่นมณฑลลาวกาวปีนี้มีพวกจีนกะประมูลกันแต่เพียง ๘๐ ชั่ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร จึ่งทรงจัดการน่าที่ภาษีฝิ่นให้เปนของรัฐบาลทำ โปรดให้พระยาราชเสนา (ทัด) พระพิศณุเทพ พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) เปนเจ้าน่าที่จัดการภาษีฝิ่น

วันที่ ๒ เมษายน หลวงสุเทพนุรักษ์ ข้าหลวงเมืองแสนปาง ถึงแก่กรรม

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงจัดให้พระประชาคดีกิจ (แช่ม) พร้อมด้วยหลวงสุนทรอุไทยพิทักษ์ นายร้อยโทคร้าม นายร้อยตรีถมยา เปนข้าหลวงออกไปตรวจจัดราชการ เมืองสีทันดร เชียงแตง แสนปาง อัตปือ สาลวัน คำทองใหญ่

อุปฮาด (ทะ) ผู้รักษาเมืองแสนปาง คบคิดใช้ให้เพี้ยเทพมหาจักร ท้าวอินทิสาร อ้ายพิลา ฆ่าเพี้ยนาใต้เมืองแสนปาง ซึ่งเปนผู้กล่าวโทษอุปฮาด (ทะ) ตาย โปรดเกล้า ฯ ให้ประหารชีวิตรอ้ายทะอุปฮาด แลลงพระราชอาญาคนอื่น ๆ ซึ่งสมรู้ร่วมคิดโดยโทษานุโทษ

ส่วนเมืองแสนปางโปรดให้ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองสีทันดร รักษาราชการแทน

โปรดเกล้า ฯ ให้พระภักดีณรงค์ (สิน) หลวงบริรักษ์รัษฎากร นายบรรหารภูมิสถิตย์ แลนายเพิ่มพนักงานแผนที่ ออกไปตรวจ จัดราชการ ณเมืองพิน เมืองนอง เมืองตะโปน เมืองลำเนาหนองปรือ เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองสองคอนดอนดง

ให้นายสุจินดา เปนข้าหลวงเมืองกาฬสินธุ์ กมลาไศรย ภูแล่นช้าง ตั้งอยู่ณเมืองกาฬสินธุ์

ให้นายรองชิต เปนข้าหลวงเมืองมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ณเมืองมหาสารคาม

ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) เปนข้าหลวงเมืองขุขันธ์ สุรินทร์ สังฆะ ตั้งอยู่ณเมืองขุขันธ์

ให้หลวงเทเพนทรเทพ ตั้งชำระเรื่องคดีจับคนขาย แลเปนผู้จัดการด่านชั้นใน ตั้งอยู่ณเมืองสีทันดร

ให้หลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) เปนข้าหลวงเมืองคำทองใหญ่ สาลวัน

ให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน) เปนข้าหลวงเมืองตะโปน

ให้พันพิศณุราช เปนข้าหลวงเมืองอัตปือ

จมื่นศักดิบริบาล นายร้อยโทเล็ก เปนข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ

รัฐบาลฝรั่งเศสแจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า จะให้พ่อค้าฝรั่งเศสออกมาตั้งเปนเอเยนต์ค้าขายอยู่ณเมืองหลวงพระบาง ๑ เมืองท่าอุเทน ๑ เมืองนครจำปาศักดิ ๑ เมืองเชียงแตง ๑ เมืองพระตะบอง ๑

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ให้ออกประกาศห้ามมิให้เจ้าหมู่เก็บเงินส่วยแก่ตัวไพร่โดยไม่มีกำหนดอัตรา แลไม่มีประมาณ ไม่มีฎีกาใบเสร็จให้เปนคู่มือแก่ผู้เสียเงินเหมือนดังแต่ก่อน

วันที่๑๒ พฤษภาคมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้ราชวงษ์ว่าที่อุปฮาด ให้ราชบุตรว่าที่ราชวงษ์ ให้ท้าวภักดีนุชิตว่าที่ราชบุตร ให้ท้าวคำว่าที่ผู้ช่วยเมืองแสนปาง

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม มองซิเออกุศตาว ดอมเร มองซิเออกุนซอง มาถึงเมืองนครจำปาศักดิ มองซิเออลุกัง ซึ่งพักอยู่ณเมืองนครจำปาศักดิ ได้พาไปหาพระพิศณุเทพข้าหลวง แจ้งว่า มองซิเออกุนซองนั้นเปนพ่อค้า ได้นำสินค้ามาตั้งจำหน่ายที่อยู่เมืองเชียงแตง แต่ส่วน ม.ดอมเร นั้นจะตั้งจำหน่ายสินค้าอยู่ณนครจำปาศักดิ ขอให้ข้าหลวงช่วยจัดที่พักไว้สินค้า ข้าหลวงจึ่งได้ให้ ม.ดอมเร ขนสินค้าไปพักไว้ที่ออฟฟิศโทรเลขเก่า แล้ว ม.ดอมเร ก็ได้ทำสัญญาเช่าที่พัก ณเมืองนครจำปาศักดิ ต่อข้าหลวงแลเจ้านครจำปาศักดิ สำหรับจำหน่ายสินค้า ให้ค่าเช่าเดือนละ ๓๐ บาทแต่นั้นมา

วันที่ ๙ มิถุนายนเปนวันแรกที่เรือกลไฟรับคนโดยสานชื่อพานิชพัฒนาของบริษัทสยามบุรพทิศสิทธิการ ณเมืองอุบล ได้ออกเดินจากท่าเมืองอุบลมาท่าช้างนครราชสิมาวันนี้

วันที่ ๑๔ มิถุนายน ปรินส์คอนสะแตนไตน์ เวียเซมสะกี ชาติรัสเซีย กับคนใช้รัสเซีย ๒ ล่าม ๑ แลมองซิเออ กานอย มองซิเออ เกนิเย ฝรั่งเศสแลญวน ๘ รวม ๑๔ คน ถือหนังสือพระยาศรีสิงหเทพเดินทางเข้ามาทางด่านดีงเหลา ถึงด่านบ้านห้วยสาร หลวงเทพนรินทร์ (วัน) ผู้รักษาด่านได้ต้อนรับตามสมควร แล้วปรินส์เวียเซมสะกี กับคนใช้ ๒ ล่าม ๑ ออกจากบ้านห้วยสารเดินมาทางแขวงเมืองนอง เมืองพิน เมืองพ้อง เมืองสองคอนดอนดง เมืองคำทองใหญ่ ลงเรือที่เมือง คงล่องน้ำเซโดน น้ำโขง ไปถึงนครจำปาศักดิวันที่ ๕ กรกฎาคม ครั้นวันที่ ๙ กรกฎาคม ออกจากนครจำปาศักดิไปพนมเปน แลเมืองไซ่ง่อนแลกลับมาพนมเปน เดินบกมาเมืองนครเสียมราฐ นครวัด เมืองสุรินทร์ถึงเมืองอุบลวันที่ ๑๓ กันยายน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้โปรดให้จัดการรับรองโดยสมควรแก่พระอัธยาไศรยไมตรี ครั้นวันที่ ๒๕ กันยายน ปรินส์เวียเซมสะกี ออกจากเมืองอุบลไปทางนครราชสิมา แจ้งว่าจะมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ

อ้ายตังแกโบ ซึ่งตั้งบ้านอยู่ณบ่อทองคำ ตำบลภูโงก ลำน้ำเซซาน แขวงเมืองแสนปาง กระทำการขัดแขงอำนาจราชการบ้านเมืองขึ้นต่าง ๆ คือแย่งชิงร่อนทองคำในบ่อหลวง แลขัดแขงไม่ยอมเสียภาษีแก่เจ้าภาษีซึ่งรัฐบาลตั้ง แลจับเจ้าพนักงานภาษีจำจอง แล้วตั้งตัวเองเปนเจ้าภาษี เก็บเอาทองแก่ผู้ขุดร่อนได้เดือนละ ๒ หุนครึ่ง ถ้าผู้ไม่ได้ส่งก็เก็บเอาเหล็กคนละ ๔ ดวง คิดราคาเหล็กดวงตามที่ใช้สอยกันอยู่ในตำบลนั้น แลเวลานั้น ๘, ๙, ๑๐ ดวงต่อบาท แลตั้งศาลเตี้ยบังคับความจับกุมราษฎรข่าลาวชาวบ้านมาชำระปรับไหมลงเอาเงิน แลจับขังจำจองโดยอำนาจพลการ แลคุมพรรคพวกไปเที่ยวปล้นตีจับเอาไพร่ข่าไปแลกเปลี่ยนซื้อขาย แลตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนกระทำโจรกรรมต่าง ๆ กำเริบขึ้นโดยลำดับ จนเมื่อที่สุดได้จับเจ้าพนักงานแลทหาร ซึ่งออกไปรักษาด่านปากน้ำสระไทย แขวงเมืองแสนปาง แลจับกรมการของเจ้านครจำปาศักดิ ซึ่งเจ้านครจำปาศักดิใช้ให้ถือหนังสือออกมาตามตัวอ้ายตังแกโบจำไว้ จนความนั้นได้ทราบถึงพระประชาคดีกิจ (แช่ม) ข้าหลวงผู้ราชการหัวเมืองฝ่ายใต้

ครั้นวันที่ ๒๐ มิถุนายน พระประชาจึ่งพร้อมด้วยหลวงสุนทรอุไทยพิทักษ์ นายร้อยโทคร้าม นายร้อยตรีถมยา แลพระยาเมืองแพนจำปาศักดิ ราชวงษ์เมืองสีทันดร ราชวงษ์เมืองเชียงแตง คุมทหาร ๓๘ คนจู่ไปจับอ้ายตังแกโบถึงที่อยู่อ้ายตังแกโบ เวลานั้นอ้ายตังแกโบรู้ตัวออกหลบอยู่นอกบ้านพระประชาพูดแต่โดยดี อ้ายตังแกโบไม่รับผิด พระประชาจึ่งให้นายร้อยตรีถมยาจับอ้ายตังแกโบ แต่พอจับข้อมืออ้ายตังแกโบ ทันใดนั้นพรรคพวกอ้ายตังแกโบประมาณ ๘๐ คนเศษ ซึ่งซุ่มอยู่ก็ยิงพวกพระประชาจะแย่งชิงอ้ายตังแกโบ ฝ่ายพวกทหารกองจับต้องสู้รบยิงถูกพวกอ้ายตังแกโบตายคนหนึ่ง แลจับเปนได้ ๒๐ คนพร้อมทั้งเครื่องสาตราวุธเปนอันมาก แล้วพระประชาได้บอกส่งอ้ายตังแกโบแลพรรคพวกที่จับได้มาถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ณเมืองอุบล พิจารณาได้ความจริงโปรดให้ตัดสิน (ประ หารชีวิตร) ตามโทษานุโทษ

กรมไปรสนีย์โทรเลขได้จัดให้มิศเตอร์โทมัศปาเมอ มิศเตอร์แมกสมูลเลอ มิศเตอร์วิลเลียม ไปจัดตั้งไปรสนีย์ตามหัวเมืองในมณฑลลาวกาว คือเมืองเขมราษฎร์ เมืองอุบล เมืองพิมูลมังษาหาร ด่านปากมูล เมืองปาศักดิเก่า เมืองนครจำปาศักดิ เมืองเดชอุดม เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสระเกษ เมืองสังฆะ เมืองสุรินทร์ เมืองสุวรรณภูมิ ไปต่อกับหัวเมืองในมณฑลลาวกลางมากรุงเทพ ฯ กำหนดเดินอาทิตย์ละครั้ง

หลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ซึ่งเปนข้าหลวงเมืองสาลวัน แลเมืองคำทองใหญ่นั้นป่วยเปนไข้ป่าอาการถึงเสียจริต จึ่งโปรดให้กลับมารักษาตัวยังเมืองอุบล ครั้นมาถึงเมืองโขงเจียง หลวงพิทักษ์นรินทร์ (ผึ้ง) ผูกฅอถึงแก่กรรม

ส่วนเมืองสาลวันแลเมืองคำทองใหญ่นั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้โปรดให้ขุนจงรักษ์ราชกิจ ไปเปนข้าหลวงรักษาราชการต่อไป

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ท้าวขัติยผู้รักษาเมืองเขมราษฎร์ ป่วยเปนโรคท้องร่วง ถึงแก่กรรม

วันที่ ๓ สิงหาคม ขุนมหาวิไชย ข้าหลวงเมืองสีทันดร เปนไข้จับถึงแก่กรรม

วันที่ ๒๖ สิงหาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ออกประทวนตั้งให้ผู้รักษาราชการเมืองพิน เปนพระยาเจริญศักดิสยามกิติ ให้ผู้รักษาเมืองตะโปน เปนพระยาอนุรักษ์สยามรัฐ ให้ผู้รักษาเมืองนอง เปนพระยาประเสริฐสัตย์สยามภักดิ แลให้ท้าวขัติย ว่าที่ราชวงษ์เมืองกาฬสินธุ์

กันยายน โปรดให้นายร้อยตรีพรหม พระดุษฎีตุลกิจ (สง) นายสวนมหาดเล็ก เปนข้าหลวงรักษาราชการ ณเมืองสุวรรณภูมิ

แลให้หลวงพิพิธสุนทร (อิน) เปนข้าหลวงเมืองเชียงแตง

ให้ร้อยโทนายเล็ก ๑ พระสุจริตรัฐการี กรมการเมืองอุบล ๑ เปนข้าหลวงรักษาราชการเมืองร้อยเอ็ด

วันที่ ๓๑ ตุลาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงออกประกาศให้ราษฎรในมณฑลลาวกาวทำสารกรมธรรม์ต่าง ๆ ด้วยกระดาษพิมพ์หลวง ถ้าใครไม่ทำสารกรมธรรม์ด้วยกระดาษพิมพ์หลวงภายหลังวันออกประกาศนี้แล้ว ห้ามมิให้ข้าหลวงผู้ว่าราชการกรมการรับพิจารณา

วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน มองซิเออมาซี ฝรั่งเศสมาจากเมืองหลวงพระบาง พักอยู่ดอนเบงเมืองสีทันดร เปนไข้ถึงเสียจริตเอาปืนยิงตนตาย

ธันวาคม มองซิเออดอมเร พ่อค้าฝรั่งเศสเมืองนครจำปาศักดิ นำเอาสินค้ามาจำหน่ายที่เมืองอุบล

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ให้พระพิศณุเทพ ข้าหลวงนครจำปาศักดิ แลเจ้าอุปราชนครจำปาศักดิ ราชวงษ์ผู้รักษาเมืองสีทันดร ท้าวสุทธิสารผู้รักษาเมืองมูลปาโมกข์ แลหมอควาญช้าง คุมต้นไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการ แลช้างพลายเผือกของเมืองนครจำปาศักดิ แลช้างพลายสีปลาดของเมืองสีทันดรมาถวายณกรุงเทพ ฯ

ส่วนน่าที่ข้าหลวงนครจำปาศักดิ โปรดให้ถอนขุนวิชิตพลหาร ข้าหลวงเมืองเดชอุดมเมืองโดมประดิษฐ ไปเปนข้าหลวงนครจำปาศักดิ

แลให้หลวงเทพนเรนทร์ ไปเปนข้าหลวงเมืองเดชอุดม เมืองโดมประดิษฐ

พระพิศณุเทพแลเจ้าอุปราชมาถึงกรุงเทพฯ ประจวบเวลาทรงพระประชวร จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้พักช้างสีปลาดไว้ที่บ่อโพงกรุงเก่า ส่วนช้างเผือกนั้นเปนเผือกเอก ได้เอาลงแพมาขึ้นโรงสมโภชที่เกาะ (ช้างเผือก) ณพระราชวังบางปอิน แต่ยังหาทันได้ขึ้นระวางไม่ ช้างนั้นล้มเสีย

แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ช้างเผือกสยามชั้นที่ ๔ ภูษนาภรณ์ แลเสื้อเข้มขาบริ้วดี ๑ เงินเบี้ยเลี้ยง ๓ ชั่ง ๔ ตำลึง แก่เจ้าอุปราช

พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แลเงินเบี้ยเลี้ยง ๑๑ ตำลึง เสื้ออัดตลัดดอกสเทิน ๑ แก่ราชวงษ์ผู้ว่าที่พระอภัยราชวงษา ผู้ว่า ราชการเมืองสีทันดร

พระราชทานเงินเบี้ยเลี้ยง ๑๑ ตำลึง เสื้ออัดตลัดดอกสเทิน ๑ แก่ท้าวสิทธิสารผู้ว่าที่พระวงษาสุรเดช ผู้ว่าราชการเมืองมูลปาโมกข์

พระราชทานหีบถมตะทอง ๑ แหวนทองคำมรกฎ ๑ แหวนทองคำไข่ปลา ๒ เสื้ออัดตลัด ๑ เสื้อจีนเจา ๒ แพรเพลาะต่างสี ๕ ผ้าลายอย่าง ๔ ผ้าส่านวิลาศ ๒ ผ้าแดงน้ำมัน ๑ ผ้าขาว ๑ กระโถนทองเหลือง ๑ ขันน้ำมีฝาพานรองชุบเงิน ๑ สำรับ กานวมทองเหลือง ๑ ล่วมเยียระบับ ๑ เสื่ออ่อน ๑ หมอนอิง ๑ ที่นอน ๑ มุ้ง ๑ หีบหนังใหญ่ ๑ หีบหนังเล็ก ๑ ชามเข้ามีฝาพานรอง ๑ โต๊ะเท้าช้างคาว ๑ หวาน ๑ เหล่านี้ แก่ขุนอาจหมอ นายหงษ์ควาญ

แลพระราชทานเงินตรา ให้แก่ขุนอาจหมอ ๕ ชั่ง นายหงษ์ควาญ ๓ ชั่ง แลนายมั่นหมอ ๒ ชั่ง นายตาควาญชั่ง ๑

แลพระราชทานเสื้อผ้าแก่ท้าวเพี้ยกรมการ นอกนี้ตามสมควร

แลโปรดเกล้า ฯ ให้พระพิศณุเทพ รับราชการอยู่ณกรุงเทพฯ

มีนาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้จมื่นวิไชยยุทธเดชาคนี (อิ่ม) เปนข้าหลวงตรวจจัดราชการเมืองมหาสารคาม แลสุวรรณภูมิ

แลโปรดให้ท้าวธรรม ว่าที่ราชบุตรเมืองกมลาไศรย

แลทรงตั้งให้ท้าวสุวอ ว่าที่ราชบุตรเมืองสองคอนดอนดง

แลให้ราชบุตรเมืองอัตปือเปนอุปฮาด ให้ท้าวสุริยมาตย์เปนราชวงษ์ ให้ท้าวสุรินทร์ชมภูเปนราชบุตรเมืองอัตปือ

แลโปรดให้ย้ายที่ว่าการเมืองชาณุมานมณฑลซึ่งไปตั้งอยู่ณบ้านกระดาน มาตั้งอยู่ณบ้านท่ายักขุให้ตรงตามกระแสตราพระราชสีห์ซึ่งโปรดเกล้า ฯ นั้น

พระกันทรานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองกันทรารมย์ ขึ้นเมืองสังฆะ ถึงแก่กรรม หลวงสุนทรพิทักษ์ผู้บุตรได้รักษาราชการบ้านเมืองแทนต่อไป

ในปีนี้ เมืองรัตนบุรีกล่าวโทษเมืองสุรินทร์ว่าแย่งชิงเขตรแดน มีท้องตราโปรดเกล้า ฯ ว่า เมื่อปีมเมียจุลศักราช ๑๒๔๔ หลวงจินดานุรักษ์บุตรพระศรีนครไชย เจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่า กับขุนหมื่น ตัวไพร่ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ณบ้านหนองสนม แขวงเมืองรัตนบุรี รวม ๕๐๐ คนเศษ ร้องสมัคไปขึ้นเมืองสุรินทร์ ๆ ได้ร้องขอหักโอนคนเหล่านั้นตามท้องตราประกาศเดิม ซึ่งอนุญาตให้ได้อยู่ตามใจสมัคนั้น แลต่อมาเมืองสุรินทร์ไปขอตั้งบ้านหนองสนมเปนเมืองสนมขึ้นเมืองสุรินทร์ ได้มีตราถึงพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ซึ่งเปนข้าหลวงหัวเมืองลาวกาวอยู่ในเวลานั้นให้ไต่สวนแล้ว พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) จะได้ไต่สวนฤๅประการใด ก็หาได้บอกมายังกรุงเทพ ฯ ไม่ การก็ติดอยู่เพียงนั้น แลบ้านหนองสนมก็ยังมิได้โปรดให้ยกขึ้นเมืองสุรินทร์ เพราะฉนั้นเขตรบ้านหนองสนมเพียงเดิมก่อน แล้วจึ่งให้ข้าหลวงปันเขตรแดนสุรินทร์กับรัตนบุรีให้ตกลงกันต่อไป แลส่วนคนซึ่งอยู่ในเขตรบ้านหนองสนมเท่าใด ก็ให้เปนคนสังกัดอยู่กับเมืองรัตนบุรีตามเดิม

== เหตุสงครามระหว่างฝรั่งเศส ==

วันที่ ๓๑ มีนาคม รัฐบาลฝรั่งเศสแต่งให้เรสิดองปัสตาเปนแม่ทัพ พร้อมด้วยนายร้อยเอกโทเรอ แลนายร้อยตรีโมโซ แลมองซิเออปรุโช คุมทหารญวนเมืองไซ่ง่อน ๒๐๐ คน แลกำลังเมืองเขมรพนมเปน ๆ อันมากลงเรือ ๓๓ ลำ พร้อมด้วยสาตราวุธยกเปนกระบวนทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขง เข้ามาในพระราชอาณาเขตร ขับไล่ทหารซึ่งรักษาด่านบงขลาแขวงเมืองเชียงแตง แลด่านเสียมโบก ยึดเอาด่านทั้ง ๒ ตำบลได้แล้ว

ครั้นลุรัตนโกสินทรศก ๑๑๒ วันที่ ๒ เมษายน ฝรั่งเศสก็ยกกระบวนทัพล่วงเข้ามาถึงเมืองเชียงแตง บังคับขับไล่หลวงพิพิธสุนทร (อิน) แลนายร้อยโทคร้ามข้าหลวงกับทหาร ๑๒ คน ซึ่งอยู่รักษาเมืองเชียงแตงให้ข้ามไปอยู่ณเมืองธาราบริวัตรฝั่งโขงตวันตกโดย อ้างเหตุว่า ดินแดนในฝั่งโขงตวันออกแลเกาะดอนในลำน้ำโขงเปนเขตรแขวงของญวนซึ่งอยู่ในบำรุงฝรั่งเศส

เวลานั้นข้าหลวงแลผู้รักษาเมือง กรมการ ราษฎรเมืองเชียงแตงมิทันรู้ตัวก็พากันแตกตื่นควบคุมกันมิติด เพราะมิได้คิดเห็นว่าฝรั่งเศสอันเปนพระราชไมตรีกับประเทศสยามจะเปนอมิตรขึ้น ในก่อนที่จะประกาศแสดงขาดทางพระราชไมตรีฝ่ ายข้าหลวงกับพลทหาร ๑๒ คนก็จำต้องออกจากเมืองเชียงแตง ข้ามมาอยู่ณเมืองธาราบริวัตร ครั้นฝรั่งเศสได้เมืองเชียงแตงแล้ว ก็แต่งนายทัพนายกองคุมทหารแยกย้ายกันยกเปนกระบวนทัพล่วงเข้ามาตั้งอยู่ตามเกาะดอนต่าง ๆ ณแก่งลีผี แลเดินกระบวนทัพ เข้ามาโดยทางบก ตลอดฝั่งโขงตวันออกจนถึงเมืองหลวงพระบาง

เวลานั้นพระประชาคดีกิจ (แช่ม) ซึ่งเปนข้าหลวงน่าที่หัวเมืองลาวฝ่ายใต้ พักอยู่ณเมืองสีทันดร เห็นว่าฝรั่งเศสประพฤติผิดสัญญาทางพระราชไมตรี จึ่งได้แต่งให้ข้าราชการฝ่ายทหารแลพลเรือนซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาคุมกำลังแยกย้ายไปตั้งป้องกันกองทัพฝรั่งเศสไว้ แล้วมีหนังสือไปห้ามปรามกองทัพฝรั่งเศสตามทางพระราชไมตรี เพื่อให้ฝรั่งเศสยกถอนกองทัพกลับออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขตรโดยดี ฝ่าย ฝรั่งเศสก็หาฟังไม่ กลับยกกองทหารรุดล่วงเข้ามาเปนอันดับ แลกองทัพฝรั่งเศสกองหนึ่ง มีกำลังทหารพร้อมด้วยสาตราวุธประมาณ ๔๐๐ คนเศษยกมาโดยกระบวนเรือ ๒๖ ลำ เข้าจอดณดอนละงา ขึ้นบกเดินเปนกระบวนมาบนดอน ขณะนั้นหลวงเทเพนทรเทพ ซึ่งคุมกำลังยกไปตั้งกันอยู่ณดอนนั้นจึ่งได้ออกไปทักถามนายทหารฝรั่งเศส แลได้บอกให้ฝรั่งเศสยกกองทัพกลับออกไปจากพระราชอาณาเขตรสยาม ฝรั่งเศสกลับว่าที่ตำบลเหล่านั้นเปนของฝรั่งเศส ให้หลวงเทเพนทร์ยกกำลังไปเสียถ้าไม่ไปจะรบ แล้วฝรั่งเศสก็เป่าแตรเรียกทหารเข้าแถวเตรียมรบ ฝ่ายหลวงเทเพนทร์เห็นว่าห้ามปรามทหารฝรั่งเศสมิฟัง จึ่งได้ถอยมาตั้งอยู่ณดอนสม แลแจ้งข้อราชการยังพระประชา ๆ จึ่งได้เขียนคำโปรเตศสำหรับยื่นกับฝรั่งเศส ลงเรือน้อยไปหาฝรั่งเศสณค่ายดอนสาคร ถามได้ความว่า นายทหารฝรั่งเศสซึ่งเปนแม่ทัพในกองนี้นั้น ชื่อเรสิดองโปลิติก ๑ กอมมันดองมิลิแตร์ ๑ พระประชาจึ่งได้แจ้งต่อนายทัพฝรั่งเศสว่า ที่ตำบลเหล่านี้เปนพระราชอาณาเขตรสยาม การซึ่งฝรั่งเศสยกเปนกระบวนทัพล่วงเข้ามาดังนี้ ผิดด้วยสัญญาทางพระราชไมตรี ขอให้ฝรั่งเศสรีบยกทหารกลับออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขตร ฝ่ายนายทัพฝรั่งเศสตอบว่าราชทูตไทยที่ปารีศกับรัฐบาลสยามที่กรุงเทพ ฯ ได้ยอมยกที่ตำบลเหล่านี้ แลตามลำแม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว พระประชาจึ่งตอบว่า จะยอมเชื่อตามถ้อยคำของฝรั่งเศสที่กล่าวนี้มิได้ เพราะยังมิได้รับคำสั่งจากรัฐบาลสยาม ขอให้ฝรั่งเศสยกทหารถอยออกไปเสียให้พ้นพระราชอาณาเขตรก่อน ฝ่ายฝรั่งเศสก็หายอมเลิกถอนไปไม่ พระประชาจึ่งยื่นคำโปรเตศไว้ต่อนายทัพฝรั่งเศส แล้วลากลับมา ฝ่ายฝรั่งเศสก็ยกกระบวรทัพรุดล่วงเข้ามาเปนอันดับ แลซ้ำระดมยิงเอากองรักษาฝ่ายสยามซึ่งไปตั้งป้องกันรักษาขึ้นก่อน ถึงกระนั้นกองรักษาฝ่ายสยามก็หาได้ยิงโต้ตอบต่อสู้ไม่ โดยถือว่ากรุงฝรั่งเศสกับประเทศสยามยังมิได้ขาดจากสัญญาทางพระราชไมตรีกัน เพราะรัฐบาลสยามยังหาได้มีคำสั่งไปให้ต่อสู้ฝรั่งเศสประการใดไม่ จึ่งได้จัดการแต่เพียงให้ตั้งรักษามั่นอยู่ แลได้พยายามทุกอย่าง ที่จะมิให้มีความบาดหมางต่อทางพระราชไมตรี แลทั้งได้มีหนังสือห้ามปรามซ้ำไปอิก ข้างฝ่ายฝรั่งเศสก็กลับรบรุกระดมยิงปืนใหญ่น้อยมายังกองรักษาฝ่ายสยามเปนสามารถ ฝ่ายสยามจึ่งได้ยิงโต้ตอบไปบ้างแต่เล็กน้อยโดยมิได้มีเจตนาที่จะทำลายชีวิตรผู้คนอย่างใด เปนแต่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายไทยก็มีปืนบ้างเหมือนกันเท่านั้น แต่ข้างฝ่ายฝรั่งเศสก็ยิ่งหนุนเนื่องรุกรบเข้ามาทุกที จนเจ้าน่าที่ฝ่ายสยามเห็นว่าเหลือกำลังที่จะห้ามปรามแลปฏิบัติจัดการโดยดีกับฝรั่งเศสได้แล้ว จึ่งจำเปนต้องจัดกองรบออกระดมยิงต่อสู้บ้าง เพื่อรักษาความเปนอิศรภาพแลทั้งป้อง กันชีวิตรของประชาชนชายหญิง อันอยู่ในความปกครองไว้ แลทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องอาวุธป่วยตายแลตั้งประชันหน้ากันอยู่

เวลานั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว ซึ่งประทับอยู่ณเมืองอุบล เมื่อได้ทรงทราบว่าฝรั่งเศสแสดงเปนอมิตรขึ้นดังนั้นแล้ว จึ่งได้โปรดให้เกณฑ์กำลังเมืองศรีสระเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองละ ๘๐๐ คน แลเมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร เมืองละ ๕๐๐ คน แลให้เกณฑ์เมืองขุขันธ์อิก ๕๐๐ คน ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้า หลวงเมืองขุขันธ์คุมไปตั้งรักษาอยู่ณเมืองมโนไพร แลเมืองเซลำเภา โปรดให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน) ซึ่งกลับจากน่าที่เมืองตะโปนไปเปนข้าหลวงแทนพระศรีพิทักษ์อยู่เมืองขุขันธ์

แลให้นายสุจินดา ขุนอินทรประสาท (กอน) นายร้อยตรีคล้าย นายร้อยตรีโชติ คุมทหาร ๑๐๐ คน แลกำลัง ๕๐๐ คน พร้อมด้วยสาตราวุธ เปนทัพน่า รีบยกออกจากเมืองอุบลแต่วันที่ ๑๐ เมษายน ลงไปสมทบช่วยพระประชาณเมืองสีทันดร

แลโปรดให้เมืองใหญ่ทุกเมืองในลาวกาวเรียกคนพร้อมด้วยสาตราวุธ มาเตรียมไว้กับบ้านเมือง ๆ ละ ๑๐๐๐ คน

แล้วให้ท้าววรกิติกา (ทุย) เพี้ยเมืองซ้าย (เถื่อน) กรมการ เมืองอุบล คุมคนเมืองอุบล ๕๐๐ คน พร้อมด้วยสาตราวุธไปสมทบกองนายสุจินดา

วันที่ ๒๐ เมษายน ฝรั่งเศสชื่อกองซือ กับทหารญวน ๑๙ คน อาวุธครบมือ มาที่เมืองอัตปือ บังคับว่ากล่าวมิให้ผู้ว่าราชการกรมการแลราษฎรเมืองอัตปือเชื่อฟังบังคับ บัญชาไทย เวลานั้นราชบุตรแลนายร้อยโทพุ่ม ซึ่งรักษาราชการอยู่ณเมืองอัตปือจึ่งขับไล่ฝรั่งเศส แลทหารญวนล่องเรือไปจากเมืองอัตปือ

วันที่ ๒๘ เมษายน ฝรั่งเศสคุมทหารประมาณ ๘๐๐ คนยกมาเมืองตะโปน ขับไล่เจ้าน่าที่สยาม ถอยมาอยู่ณเมืองพิน

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร จึ่งโปรดให้นายร้อยโทเล็ก ๑ ท้าวบุตวงษา (พั่ว) กรมการเมืองอุบล ๑ คุมคนเมืองอุบล ๕๐๐คน แลคนเมืองสองคอนดอนดง ๕๐๐ เมืองพลาน ๒๐๐ เมืองลำเนาหนองปรือ ๘๐๐ รวมเปน ๒๐๐๐ คน ไปตั้งรับรักษาอยู่บ้านตังหวายห้วยคันแทะใหญ่ปากดงกะเพาะภูกะไดแก้ว

แลให้ขุนอาสาสงคราม (สวน) ข้าหลวง ราชบุตร เมืองมหาสารคาม พระพิทักษ์นรากร (อุ่น) ผู้ว่าราชการเมืองวาปีประทุม คุมคน ๑๐๐๐ คนไปตั้งรักษาอยู่ณภูด่านแดนด่านแขวนฆ้อง

วันที่ ๒๙ เมษายน โปรดให้ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองยโสธร คุมคนเมืองยโสธร ๕๐๐ แลให้อุปฮาด (บัว) เมืองกมลาไศรย คุมคนเมืองศรีสระเกษ ๕๐๐ รวมเปน ๑๐๐๐ คน พร้อมด้วยสาตราวุธ ยกไปสมทบกองทัพพระประชา นายสุจินดา ณเมืองสีทันดร

แลให้พระไชยภักดี ผู้ช่วยเมืองศรีสระเกษ คุมคนเมืองศรีสระเกษ ๕๐๐ พร้อมด้วยสาตราวุธยกไปตั้งรักษาอยู่ณช่องโพย แลด่านพระประสบแขวงเมืองขุขันธ์

ฝ่ายทางพระประชา ได้จัดให้หลวงพิพิธสุนทร (อิน) ซึ่งมาแต่ธาราบริวัตร คุมคนไปตั้งรักษาอยู่ท้ายดอนเดช

ให้นายสุจินดา แลนายร้อยโทพุ่ม ซึ่งมาแต่อัตปือ คุมคน ๔๐๐ คนไปตั้งรับอยู่ณดอนสาคร

ให้หลวงเทเพนทรเทพ ขุนศุภมาตรา นายร้อยตรีถมยา คุม คน ๔๐๐ คนไปรักษาท้ายดอนสะดำ แลท้ายดอนสาคร

ให้เจ้าราชบุตรจำปาศักดิ คุมกำลังตามสมควรไปรักษาอยู่ท้ายดอนสม แลหัวดอนเดช

ครั้นวันที่ ๕ พฤษภาคม นายสุจินดา ล่องเรือถึงหัวดอนสาครฝรั่งเศสซึ่งตั้งค่ายอยู่ณดอนสาครแลเห็น ให้ทหารระดมปืนใหญ่น้อย ออกมาตั้งแต่บ่ายโมง จนถึงบ่าย ๒ โมง

ฝ่ายหลวงเทเพนทรเทพ ได้ยินเสียงปืนหนาแน่น จึ่งแบ่งให้ขุนศุภมาตราไปท้ายดอนสะดำ ส่วนหลวงเทเพนทรเทพ กับนายร้อยตรีถมยา แยกเข้าท้ายดอนนางชมด้านตวันออกดอนสาคร ขึ้นตั้งค่ายประชิดค่ายฝรั่งเศสประมาณ ๑๖, ๑๗, วา ฝ่ายฝรั่งเศสก็ระดมยิงกราดมาเปนอันมาก กองทัพไทยเข้าตั้งในวัดบ้านดอนเปนที่มั่นได้ จึ่งได้ยิงโต้ตอบฝรั่งเศสบ้างก็สงบไป

วันที่ ๖ พฤษภาคมพระประชาไปตรวจค่ายที่ดอนสาคร ขณะนั้นกองทัพฝรั่งเศสยิงปืนมาเปนอันมาก ถูกนายสีพลทหารตายคนหนึ่ง ฝ่ายทัพสยามได้ยิงตอบถูกทหารฝรั่งเศสที่ส่องกล้องอยู่บนหอรบคน ๑ แลทหารแตรคน ๑ พลัดตกลงมา ฝรั่งเศสก็สงบยิง

พระประชาจึ่งได้มีหนังสือห้ามทัพมิให้ยิงปืน แลให้ฝรั่งเศสยกกองทัพกลับออกไปให้พ้นพระราชอาณาเขตร ให้หญิงชาวบ้านถือไปให้แม่ทัพฝรั่งเศสณค่ายดอนสาคร ฝรั่งเศสก็หาตอบหนังสือไม่ แต่ต่างก็สงบยิงทั้งสองฝ่ายอยู่จนบ่าย ๔ โมง ฝรั่งเศสกลับระดมยิงทัพสยามมาอิก ทัพสยามได้ยิงโต้ตอบฝรั่งเศสถูกทหารฝรั่งเศสพลัดตกจากหอรบอิกคนหนึ่ง ฝรั่งเศสก็ยิ่งระดมยิงกองทัพสยามเปนอันมาก แต่ฝ่ายสยามหาได้ยิงตอบสักนัดหนึ่งไม่

ในวันนี้ เรือลาดตระเวนฝ่ายสยาม ซึ่งอยู่ในบังคับขุนศุภมาตราจับนายสิง นายสุทาชาวบ้านดอนสาคร ซึ่งฝรั่งเศสใช้ให้ถือหนังสือ จะไปส่งให้ฝรั่งเศสณเมืองเชียงแตง เพื่อให้ส่งกองทัพเพิ่มเติมมานั้น ได้ถามให้การรับ พระประชาได้พร้อมด้วยนายทัพนายกองปฤกษาโทษเอาตัวนายสิง นายสุทา ประหารชีวิตรเสีย ตามบทพระอัยการศึก

แลในวันนั้น กับตันโทเรอ นายทหารฝรั่งเศส คุมเรือเสบียงอาหารจะมาส่งยังกองทัพฝรั่งเศสณแก่งลีผี พอมาถึงหางดอนสะดำพบเรือลาดตระเวนฝ่ายสยาม ๆ ได้ห้ามปรามให้หยุด เรือกับตันโทเรอหาหยุดไม่ มิหนำซ้ำกลับยิงเอาเรือลาดตระเวนฝ่ายสยาม ๆ ได้ออกสกัดยิงตอบเรือกับตันโทเรอถอยกลับลงไป ขุนศุภมาตราจึ่งได้ให้ เรือลาดตระเวนไล่ตามไป ฝ่ายกองทัพราชวงษ์ ราชบุตร เมืองสพังภูผา แลกองพระภักดีภุมเรศ พระวิเศษรักษา ซึ่งตั้งรักษาอยู่ณบ้านพละคันก็ลงเรือช่วยกันตามจับได้กับตันโทเรอแลนายตี๋ ล่าม ๑ ทหารญวน ๓ คน ลาวเมืองเชียงแตง ๑๓ คน ส่งไปยังพระประชา ๆ ได้ส่งยังเมืองอุบล ส่วนกองทัพสยามแลฝรั่งเศสก็ตั้งประชิดกันอยู่โดยกำลังสามารถณดอนสาคร

ฝ่ายกองทัพฝรั่งเศสณเมืองตะโปน ก็ยกกองทัพเข้ามาทางเมืองนอง จับหลวงบริรักษ์รัษฎากร นายบรรหารภูมิสถิตย์ แลหลวงสำแดงฤทธิเจ้าน่าที่ฝ่ายสยามอันมิได้ต่อรบนั้นได้

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร จึ่งได้ให้หลวงรอดพิทักษ์สุเทพ (รอด) ท้าวไชยกุมาร (กุคำ) คุมคนเมืองยโสธร ๕๐๐ ไปตั้งอยู่ณเมืองเขมราษฎร์ แลให้จัดนายกองคุมคนไปช่วยนายร้อยโทเล็ก

ฝ่ายกองทัพฝรั่งเศสเมืองนองก็ยกกองทัพรีบรุดล่วงเข้ามาทางเมืองพิน เมืองนอง เมืองพลาน เมืองสองคอนดอนดง ส่วนกอง นายร้อยโทเล็ก แลท้าวบุตรวงษา ราชบุตรวาปี ต้องล่าหนีข้ามโขงมา ฝรั่งเศสก็เดินกองทัพมาจนถึงฝั่งโขงโดยรวดเร็ว แล้วก็เลิกทัพกลับไป แล้วฝรั่งเศสได้ปล่อยหลวงบริรักษ์รัษฎากรมาพร้อมกับหลวงมลโยธานุโยค ข้าหลวงเมืองเชียงฮม ซึ่งฝรั่งเศสจับได้ไว้ทางมณฑลลาวพวน แต่ส่วนนายบรรหารภูมิสถิตย์นั้น ฝรั่งเศสส่งไปเมืองกวางตี้ แต่ภายหลังก็ได้ปล่อยกลับมา

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้อุปฮาด (อำคา) เมืองสุวรรณภูมิ ๑ พระศรีเกษตราธิไชย (ศิลา) ผู้ว่าราชการเมืองเกษตรวิไสย ๑ คุมคนเมืองสุวรรณภูมิ ๕๐๐ แลให้พระสุนทรพิพิธ ผู้ว่าราชการเมืองโกสุม ๑ หลวงจำนงวิไชย ผู้ช่วยเมืองร้อยเอ็ด ๑ คุมคนมหาสารคาม แลร้อยเอ็ด ๓๐๐ รวม ๘๐๐ ยกออกจากเมืองอุบลไปช่วยพระประชาณค่ายดอนสาคร

แลให้นายร้อยตรีหุ่น ๑ คุมคนเมืองจัตุรภักตร ๑๐๕ เมืองร้อยเอ็ด ๒๑๐ เมืองมหาสารคาม ๒๑๐ รวม ๕๒๕ คน ยกไปตั้งรักษาอยู่ณเมืองมโนไพร แลธาราบริวัตร แลด่านลำจาก เปลี่ยนเอาพระศรีพิทักษ์ (หว่าง) กลับมาตั้งรักษาอยู่ณช่องโพย

แลให้นายร้อยตรีวาด ไปเรียกคนเมืองขุขันธ์อิก ๕๐๐ คน สำหรับส่งไปเพิ่มเติมยังกองพระศรีพิทักษ์ (หว่าง)

แลให้ขุนไผทไทยพิทักษ์ (เกลื่อน) ข้าหลวงเมืองศรีสระเกษ เปนน่าที่ส่งเสบียงไปยังกองพระศรีพิทักษ์

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม หลวงเสนานนท์ ๑ หลวงอนุรักษ์ภักดี (พุด) ๑ หลวงวิจารณ์ภักดี ๑ พระสิทธิศักดิสมุทเขตร (บุษย์) ๑ หลวงสิทธิเดชสมุทขันธ์ (ล้อม) ๑ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คุมเครื่องสาตราวุธได้ไปถึงเมืองอุบล

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ฝรั่งเศสคุมกองทัพเพิ่มเติมยกมาถึง บ้านพละคันอิกประมาณพันเศษ พระประชาเห็นศึกกำลังกล้า จึ่งให้เลิกค่ายท้ายดอนไปรวมตั้งรับที่ดอนสะดำ แลเลิกค่ายหัวดอนคอนไปรวมตั้งรับณค่ายดอนเดช ดอนสม

แลในวันนี้เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ กองทัพฝรั่งเศส ยกขึ้นตั้ง ที่บ้านเวินยางฝั่งตวันตกตรงค่ายกองทัพสยามที่ดอนสะดำแลฝรั่งเศส ระดมปืนใหญ่น้อย แลกระสุนแตกมาที่ค่ายสยามณดอนสะดำเปนอันมาก หลวงเทเพนทรเทพ นายร้อยตรีถมยา เห็นจะตั้งรับอยู่ที่ดอนสะดำมิได้จึ่งได้ล่าถอยมาตั้งค่ายรับอยู่ณดอนโสม

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ฝรั่งเศสยกกองทัพมาขึ้นท่าสนามท้ายดอนคอน ครั้นบ่าย ๔ โมง ฝรั่งเศสยกมาตีค่ายสยามหัวดอนคอน หลวงอภัย เมืองสีทันดร แลท้าววรกิติกา (ทุย) กรมการเมืองอุบลซึ่งพระณรงค์วิชิต (เลื่อน) ให้เปนนายกองอยู่ณค่ายหัวดอนคอน ต้านทานกองทัพฝรั่งเศสมิหยุด จึ่งยกล่าถอยข้ามมาดอนเดช ฝรั่งเศสตามจับหลวงอภัยได้ ฝ่ายค่ายสยามที่ดอนเดชได้ยิงต่อสู้กองทัพฝรั่งเศสๆ ก็ระดมยิงมาที่ค่ายดอนเดชเปนสามารถ พลสยามที่ดอนเดชทานกำลังลูกแตกมิได้ ก็ล่าถอยมาตั้งรับอยู่ณค่ายดอนสม พอเวลาพลบค่ำ กองทัพฝรั่งเศสก็ยกเลิกไปค่าย

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พระณรงค์วิชิต (เลื่อน) ได้ให้กำลังไปรักษาค่ายที่ดอนเดชไว้ตามเดิม แลแต่งกองซุ่มไปอยู่ดอนตาล ดอนสะดำ คอยตีตัดมิให้ฝรั่งเศสเวียนเดินเรือเข้ามาในช่องได้

แลเพี้ยศรีมหาเทพ นครจำปาศักดิ พาพล ๑๙ คนหนี อุปฮาด (บัว) เมืองกมลาไศรย ซึ่งตั้งค่ายอยู่ตำบลชลเวียงจับได้ พระประชา (แช่ม) ได้ปฤกษาโทษให้ประหารชีวิตรตามบทพระอัยการศึก ฝ่ายนายทัพนายกองได้ขอชีวิตรไว้ พระประชา (แช่ม) จึ่งได้ให้ทำโทษ เฆี่ยนเพี้ยศรีมหาเทพ ๙๐ ที พวกพลคนละ ๓๐ ที

วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ฝรั่งเศสยกกองทัพขึ้นตั้งดอนเดชประชิดค่ายสยาม แล้วระดมยิงกระสุนแตกมาที่ค่ายสยามเปนอันมาก ฝ่ายกองทัพสยามมิได้ยิงตอบ ครั้นฝรั่งเศสยกกองทหารรุกเข้ามาใกล้ ฝ่ายสยามจึ่งได้ระดมยิงกองทัพฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสถูกกระสุนปืนล้มตายหลายคนแตกถอยกลับไป ฝ่ายสยามถูกกระสุนปืนเจ็บป่วย ๓ คน

ในวันนี้พระประชา (แช่ม) ได้จัดให้นายทัพนายกองคุมกำลัง ไปตั้งค่ายรับที่ดอนสมอิกครั้งหนึ่ง

ระหว่างนี้ฝ่ายฝรั่งเศส แลสยามต่างก็ตั้งมั่นรักษาอยู่

แลฝ่ายฝรั่งเศสได้ถอนลุดเตอร์แนนต์ปูโชนายทัพฝรั่งเศสกลับไป ให้กอมมันดองเดลาวิเลเปนนายทัพมาบังคับการแทนอยู่ณค่ายดอนคอน

ครั้นวันที่ ๑๑ มิถุนายน เวลาบ่าย ๔ โมง ฝรั่งเศสก็ระดม ยิงปืนใหญ่น้อยกระสุนแตกมาที่ค่ายสยามณดอนเดช ๑๕ ครั้งแล้วก็สงบไป

ครั้นเวลาย่ำรุ่งฝรั่งเศสยิงอิกพักหนึ่ง จนโมงเช้าจึ่งหยุด ครั้นเวลาเย็นฝรั่งเศสยิงปืนใหญ่มานัด ๑ แลยิงปืนเล็ก ๒๐ ตับ แล้วก็สงบไป

วันที่๑๔มิถุนายนฝรั่งเศสยิงปืนเล็กกราดมาแต่ดอนคอน๑๐ตับ เวลาเที่ยงยิง ๖ ตับ เวลาบ่ายยิงปืนใหญ่นัด ๑ ที่ค่ายดอนช้าง ๑ นัด แล้วต่างก็สงบไป

วันที่ ๑๖ มิถุนายน เวลาเช้าฝรั่งเศสยกกองทหารขึ้นดอนเดช

ถึงหัวดอนเดชตรงค่ายไทยที่ดอนหางสม ก็ปักธงฝรั่งเศสลงแล้ว เป่าแตรให้ทหารระดมยิงค่ายหางสมเปนอันมาก ฝ่ายไทยได้ยิงโต้ตอบอยู่ประมาณชั่วโมงเศษ แล้วกองทหารฝรั่งเศสก็ล่าถอยกลับไป

ในค่ำวันนี้คนตระเวนฝ่ายกองทัพไทยไปพบหนังสือที่ฝรั่งเศสปักไว้ ที่ดอนนางแอ่นจึงนำมาส่งพระประชา ในหนังสือนั้นเซ็นชื่อกอมมันดันเดลาวิเลแม่ทัพฝรั่งเศส ถึงแม่ทัพไทยใจความว่า ดอนสมแลเกาะดอนฝั่งตวันออกเปนของฝรั่งเศส ให้ฝ่ายไทยถอยทัพไปเสีย ถ้าไม่ฟังจะขับไล่ พระประชาจึ่งตอบไปว่าฝรั่งเศสฝันเห็นเอาเองผิดจากถ้อยคำของคนที่ถือสาสนาคฤสเตียน ถ้าฝรั่งเศสขืนบุกรุกมา ชาวประเทศสยามก็จำต้องต่อสู้มิให้ฝรั่งเศสดูหมิ่นได้

แลพระประชาได้ให้นายสุกนายสิงปลอมเข้าไปในค่ายฝรั่งเศส กลับมาแจ้งว่าฝรั่งเศสกำลังหามเรือข้ามแก่งสมพมิตรมาแต่ท่าสนาม ๑๗ ลำ แลแต่งเรือเตรียมทัพจะยกอ้อมดอนตาลขึ้นทางฝั่งตวันตกมาตีตัดหลังค่ายดอนสม ขนาบกับทัพบกจึงจะเดินมาทางดอนเดช พระประชาก็ได้จัดให้นายทัพนายกอง แยกย้ายกันออกไปตั้งกองรับกองทัพฝรั่งเศสทุกด้าน แลเวลานั้นฝรั่งเศสกำลังตั้งพิธีขุดคลองดอนคอน โดยคิดจะเอาเรือรบข้ามลีผีอยู่

วันที่ ๒๖ มิถุนายนพระฤทธิเดชะ (แขก) ๑ พระชาติสุเรนทร์ ๑ จมื่นอินทรเสนา ๑ จ่าฤทธิพิไชย ๑ จ่าการประกอบกิจ ๑ นายร้อยเอกเราซิง ๑ ว่าที่นายร้อยตรีโต ๑ ว่าที่นายร้อยตรีเฟื่อง ๑ ว่าที่นายร้อยตรีชม ๑ ว่าที่นายร้อยตรีสาตร ๑ ว่าที่นายร้อยตรีเกิด ๑ ว่าที่นายร้อยตรีช้อย ๑ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ไปราชการมณฑลลาวกาว ได้ไปถึงอุบล

นายพันโทพระศรีณรงค์วิไชย (นิล) ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ไปราชการมณฑลลาวกาวได้ไปถึงเมืองอุบล เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พร้อมด้วยว่าที่นายพันตรีหม่อมราชวงษ์ดัด ๑ ว่าที่นายพันตรี หลวงอรรคสรกิจ ๑ แลนายร้อยผู้ช่วย ๔ นายร้อยประจำกอง ๒๐ จ่านายสิบ ๑๑นายสิบเอก ๑๖นายสิบโท ๑๖นายสิบตรี ๖๔ พลแตรเดี่ยว ๘ กองทหารปืนใหญ่นายร้อย ๖ นายสิบ ๔๔ พนักงานเสมียน ๕ คนใช้ ๖ คนครัว ๑๒ กองพยาบาลจ่านายสิบ ๔ พลพยาบาล ๘ อาวุธปืนแมนลิเคอร์๑๐๐บอก ปัสตัน ๒๐๐๐๐๐ นัด ปืนใหญ่ล้อ ๖ กระสุน ๑๐๐๐ นัด แลเครื่องปืนพร้อม

วันที่ ๓ กรกฎาคม พระศรีสิทธิสงคราม ผู้ช่วยเมืองนครราชสิมาซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คุมพลนครราชสิมารวม ๑๐๔๕ คน ไปช่วยการสงครามมณฑลลาวกาว ไปถึงเมืองอุบลวันนี้

วันที่ ๔ กรกฎาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรได้โปรดให้หลวงเสนานนท์ ข้าหลวง ๑ นายร้อยโทธูป ๑ นายร้อยตรีสาตร๑ นายร้อยตรีเฟื่อง ๑ คุมทหาร ๑๕๐ คนพร้อมด้วยปืนใหญ่น้อยยกออกจากอุบลไปสมทบกองทัพพระประชา

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ฝรั่งเศสยกกองทัพยิงระดมค่ายหางสม แลค่ายอื่น ๆ จนถึงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ฝ่ายสยามก็ได้ยิงโต้ตอบต่อสู้เปนสามารถ ต่างล้มตายป่วยเจ็บด้วยกันทั้งสองฝ่าย แลฝ่ายสยามรักษาค่ายหางสมไว้ไม่ได้

วันที่ ๒๕ กรกฎาคมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้นายพันโทพระศรีณรงค์วิไชย (นิล) เปนแม่ทัพ พร้อมด้วยนายพันตรีหลวงอรรคสรกิจ (อิ่ม) ๑ นายร้อยเอกขุนผลาญสรแสง ๑ นายร้อยเอกนายแย้ม ๑นายร้อยเอกนายจิ๋ว ๑ นายร้อยเอกนายสวาดิ ๑ นายร้อยเอกสาย ๑ นายร้อยเอกจิตร ๑ นายร้อยโทขุนสุรินทร์บริบาล (กิ่ง) ๑ นายร้อยโทอ่ำ ๑นายร้อยโทปิ๊ด ๑ นายร้อยโทกลิ่น ๑ นายร้อยโทพุกใหญ่ ๑ นายร้อยโทแขก ๑ นายร้อยตรีอยู่ ๑ แลนายสิบพลทหาร ๔๘๐

กับให้นายร้อยเอกหม่อมราชวงษ์วิง ๑ นายร้อยตรีช่วงเล็ก ๑ นายร้อยตรีพิน ๑ ซึ่งอยู่ในบังคับกองทัพนายพลจัตวา พระพิเรนทรเทพ (สาย) แม่ทัพ อันได้ล่วงน่ามาถึงเมืองอุบลก่อนนั้น คุมทหารกรุงเทพฯ ๒๐๐ คน แลพลทหารหัวเมือง ๔๘๐ คน รวม ๖๘๐ คน พร้อมด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ยกออกจากอุบลไปช่วยพระประชาณเมืองสีทันดร

วันที่ ๒๙ กรกฎาคมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้นายร้อยเอกเราซิง ๑ นายร้อยตรีลไม ๑ นายร้อยตรีตาด ๑ ว่าที่นายร้อยตรีโต ๑ ว่าที่นายร้อยตรีช้อย ๑ คุมพลทหารรวม ๒๒๐ คน พร้อมด้วยสาตราอาวุธยกออกจากอุบล เพิ่มเติมไปณเมืองสีทันดร

วันที่ ๙ สิงหาคม นายรองชิดซึ่งกลับมากรุงเทพ ฯ เมื่อเมษายน ๑๑๒ นั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เปนจมื่นศรีบริรักษ์ ได้คุมปืนใหญ่ทองเหลืองปากบางเฮาเวศเซอร์ ๒ กระบอก ไปถึงเมืองอุบลวันนี้

วันที่ ๒๒ สิงหาคม นายพลจัตวา พระพิเรนทรเทพ (สาย) แม่ทัพ พร้อมด้วยนายพัน นายร้อย นายสิบ พลทหาร แลพนักงานคนใช้ไปถึงเมืองอุบล

ในเดือนนี้ฝ่ายรัฐบาลฝรั่งเศส แลสยามได้ปฤกษาตกลงกันเลิกการสงคราม แลฝ่ายสยามได้เรียกให้กองทัพทุก ๆ กองกลับ แลได้ตกลงสัญญากันเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๑๑๒

(เหตุตามรายวัน)

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอราชวงษ์สีทันดร แลท้าวสิทธิสารเมืองมูลปาโมกข์ ซึ่งคุมช้างเผือกลงมาณกรุงเทพฯ เปนผู้ว่าราชการเมืองสีทันดร แลเมืองมูลปาโมกข์

วันที่ ๕ เมษายน ๑๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ราชวงษ์เมืองสีทันดรเปนพระอภัยราชวงษา ผู้ว่าราชการเมืองสีทันดร พระราชทานครอบเงินกลีบบัวถมดำเครื่องในพร้อมสำรับ ๑ ลูกประคำร้อยแปดเม็ดสาย ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แลพระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวสิทธิสารเปนพระวงษาสุรเดช ผู้ว่าราชการเมืองมูลปาโมกข์ ขึ้นเมืองสีทันดร พระราชทานเครื่องยศตามบันดาศักดิ

วันที่ ๒๓ เมษายน พระยาราชเสนา (ทัด) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนเปนพระยาศรีสิงหเทพ แลได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า แลพานทองคำเครื่องพร้อม ๑ คนโททองคำ ๑

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เปนพระราชวรินทร์

วันที่ ๑ มิถุนายน นายสุจินดา (เลื่อน) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนเปนพระณรงค์วิชิต

วันที่ ๒ มิถุนายน กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้พระสิทธิศักดิสมุทเขตร (บุษย์) เปนข้าหลวงบังคับเมืองมหาสารคาม เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ณเมืองมหาสารคาม

ให้หลวงสิทธิเดชสมุทขันธ์ (ล้อม) เปนข้าหลวงบังคับเมืองกมลาไศรย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง ตั้งอยู่ณเมืองกาฬสินธุ์

ให้พระสุจริตรัฐการี (ทำมา) กรมการเมืองอุบล ไปเปนข้าหลวงประจำเมืองร้อยเอ็ด

ให้พระดุษฎีตุลกิจ (สง) ข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ ไปช่วย พระสิทธิศักดิ อยู่ณเมืองมหาสารคาม ถอนนายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงเมืองมหาสารคาม มาอยู่เมืองสุวรรณภูมิ

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้โปรดให้นายร้อยตรีพึ่ง กับพลทหาร ๑๒ คน คุมกับตันโทเรว นายตี๋ล่าม แลทหารญวน ๓ คน ออกจากอุบล มาส่งกรุงเทพฯ แลได้ทรงจ่ายเงิน ๓๒๕ บาท ๕๐ อัฐ ให้เปนเงินเดือนแก่กับตันโทเรว แลล่ามแลทหารญวนด้วย พวกนี้ปล่อยที่ชายแดน ไม่ได้ส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ

ในระหว่างเดือนนี้ พระยาภักดีศรีสิทธิสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองธาราบริวัตรได้อพยพครอบครัวหนีไปอยูณดอนสาย

มิศเตอร์วิลเลียม ซึ่งกรมไปรสนีย์ได้ให้ไปจัดตั้งการไปรสนีย์มณฑลลาวกาว ได้ไปเปิดการส่งไปรสนีย์ณเมืองอุบลในเดือนนี้

วันที่ ๒ กรกฎาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกสยามชั้นที่ ๒ จุลวราภรณ์ ๑ แลเหรียญดุษฎีมาลา ๑ พระภักดีณรงค์ (สิน) แลพระ ราชวรินทร์ (หว่าง) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พระภักดีณรงค์ (สิน) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เปนพระยาภักดีณรงค์ พระประชาคดีกิจ (แช่ม) เปนพระยาประชากิจกรจักร

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้นายร้อยตรีเกิด ไปเปนข้าหลวงช่วยหลวงธนสารสุทธารักษ์ (หว่าง) ณเมืองสุรินทร์

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม โปรดให้จ่าการประกอบกิจ ไปเปนข้าหลวงช่วยหลวงสิทธิเดชสมุทขันธ์(ล้อม) อยู่ที่เมืองกาฬสินธุ์

วันที่ ๗ สิงหาคม โปรดให้พระยาศรีสิงหเทพ (ทัด) ออกจากอุบล นำข้อราชการไปทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ณเมืองนครราชสิมา แลโปรดให้หลวงธนะผลพิทักษ์ (ดิศ) ๑ ขุนชาญรณฤทธิ (ชม) ๑ ข้าหลวงนครราชสิมามารับราชการมณฑลลาวกาว

วันที่ ๑๔ สิงหาคม โปรดให้นายเพิ่มพนักงานแผนที่ ไปตรวจทำแผนที่ตั้งแต่เมืองชาณุมานมณฑล ไปโขงเจียง ปากมูล แลตามสันเขาบันทัด จนถึงช่องโพยแขวงเมืองขุขันธ์

วันที่ ๓ กันยายน นายร้อยโทพุ่มได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เปนนายร้อยเอก ขุนโหมหักปัจนึก นายร้อยตรีถมยา เปนนายร้อยเอกขุนอึกอธึกยุทธกรรม

วันที่ ๑๔ ตุลาคม นายร้อยตรีเชิด เปนลมชิวหาสดมภ์ถึงแก่กรรม

หลวงจักรพาฬภูมิพินิจ (ใหญ่) พนักงานแผนที่มณฑลลาวกลาง มารับราชการมณฑลลาวกาว

วันที่ ๒๔ ตุลาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้พระณรงค์วิชิต (เลื่อน) เปนข้าหลวงตรวจจัดราชการเมืองกาฬสินธุ์ กมลาไศรย ภูแล่นช้าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม

แลให้หลวงธนะผลพิทักษ์ (ดิศ) ขุนชาญรณฤทธิ (ชม) เปนข้าหลวงบังคับเมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาไศรย เมืองภูแล่นช้าง ตั้งอยู่ณเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยจ่าการประกอบกิจ หมื่นวิชิตเสนา ถอนหลวงสิทธิเดชสมุทขันธ์ (ล้อม) ไปเปนข้าหลวงอยู่ณเมืองสุรินทร์

วันที่ ๔ พฤศจิกายน โปรดให้ขุนอาสาสงคราม (สวน) ไป เปนข้าหลวงช่วยนายร้อยตรีพรหมอยู่ณเมืองสุวรรณภูมิ

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พระชาตสุเรนทร์ ๑ จมื่นอินทรเสนา ๑ จ่าแล่นประจญผลาญ ๑ ออกจากอุบลกลับกรุงเทพ ฯ

วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน มองซิเออซิมอง มองซิเออลูเว มองซิเออลูเย นำเรือกลไฟจักรท้าย ๒ สกรู ชื่อมาซี ปากกว้าง ๖ ศอกเศษ ยาว ๑๑ วาเศษกินน้ำลึกศอกเศษลำหนึ่ง แลเรือกลไฟชื่อฮำรอง ปากกว้างวาเศษ ยาว ๘ วาลำหนึ่ง มาที่บ้านด่านปากมูล แลเรือชื่อมาซีมาเที่ยวที่แก่งตนะลำน้ำมูลแล้วกลับไป

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายนจ่าฤทธิพิไชย ออกจากอุบลกลับกรุงเทพ ฯ

ในเดือนนี้นายฉัตรซึ่งกรมโทรเลขให้ออกไปจัดการโทรเลขได้ไปถึงเมืองอุบล

วันที่ ๒ ธันวาคม มองซิเออซิมอง มองซิเออลูเว นำเรือกลไฟ มาซี แลฮำรอง ไปแวะที่นครจำปาศักดิ ขึ้นหาขุนวิชิตชลหาร (ต่อ) ภายหลังเปนหลวงพลอาไศรย ข้าหลวง แจ้งว่าจะเยี่ยมเจ้านครจำปาศักดิ ครั้นรุ่งขึ้นวันหลัง มองซิเออซิมอง แลมองซิเออลูเว ได้ไป หาเจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ พูดจาโดยอ่อนหวานต่าง ๆ แลว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะยอมให้เจ้านครจำปาศักดิมีอำนาจบังคับบัญชาตลอดถึงฝั่งโขงตวันออก เจ้านครจำปาศักดิตอบว่า ฝั่งโขงตวันออกตกเปนของฝรั่งเศส ส่วนเจ้านครจำปาศักดิเปนข้าสยาม จะยอมรับบังคับมิได้ แล้วมองซิเออซิมอง มองซิเออลูเว ก็ลากลับไป

วันที่ ๓ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้หลวงภักดีนุชิต เปนพระสุนทรบริรักษ์ ว่าที่ผู้ช่วยเมืองสุรินทร์ แลให้ขุนจงราชกิจ ไปเปนข้าหลวงเมืองร้อยเอ็ด

วันนี้ พระไชยณรงค์ภักดี (จัน) ปลัด ผู้รักษาเมืองสุรินทร์ เปนไข้พิศม์ถึงแก่กรรม

วันที่ ๙ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวกลาง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ไปเปนข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลลาวกาว เปลี่ยนพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากรนั้น พร้อมด้วยพระอนุรักษ์โยธา (นุช) ๑ หลวงจัตุรงค์โยธา ๑ หลวงพิไชยชำนาญ ๑ หม่อมราชวงษ์ปฐมเลขานุการ ๑ ขุนเวชวิสิฐ (นิ่ม) แพทย์ ๑ ขุนพิไชยชาญยุทธ ๑ นายร้อยโทสอน ทำการพลเรือน ๑ นายเลื่อนมหาดเล็ก ๑ นายร้อยเอก หม่อมราชวงษ์ร้าย ๑ นายร้อยโทพลัด ๑ ไปถึงเมืองอุบล

วันที่ ๑๐ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ให้ประชุมข้าราชการ ฝ่ายทหารพลเรือน ฟังกระแสตราพระราชสีห์ ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้มอบน่าที่ราชการมณฑลลาวกาว ถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ แลได้ทรงมอบน่าที่ราชการถวายกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ในวันนั้น

วันที่ ๑๑ ธันวาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสด็จออกจากเมืองอุบล พร้อมด้วยพระราชวรินทร์ (หว่าง) ๑ จมื่นศักดิบริบาล ๑ นายร้อยเอกหลวงพิทักษ์นรินทร์ (กอน) ๑ นายร้อยเอกขุนโหมหักปัจนึก (พุ่ม) ๑ นายร้อยเอกขุนอธึกยุทธกรรม (ถมยา) ๑ นายร้อยตรีโชติ ๑ นายร้อยตรีคล้าย ๑ นายร้อยตรีผล ๑ กลับ กรุงเทพฯ โดยทางช่องตะโก แลมณฑลปราจิณ

วันที่ ๑๙ ธันวาคม นายร้อยเอกเราซิง ๑ หลวงจัตุรงค์โยธา ๑ หลวงพิไชยชำนาญ ๑ จ่าสรวิชิต ๑ นายเลื่อนมหาดเล็ก ๑ ออกจากอุบลกลับกรุงเทพ ฯ

วันที่ ๓๐ ธันวาคม พระณรงค์วิชิต (เลื่อน) ออกจากอุบล กลับกรุงเทพ ฯ

อนึ่ง เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสด็จกลับกรุงเทพ ฯ ถึงบ้านเพี้ยราม แขวงเมืองสุรินทร์นั้น ได้โปรดให้พระพิไชยนครบวรวุฒิ (จรัญ) ยกรบัตรเมืองสุรินทร์ เปนผู้รักษาเมืองสุรินทร์

วันที่ ๑๑ มกราคม เปนวันแรกที่สายโทรเลขเมืองอุบล แลระหว่างขุขันธุ์ ใช้การกันได้จนตลอดถึงกรุงเทพฯ

วันที่ ๒๒ มกราคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ๑ แลช้างเผือกสยามชั้นที่ ๑ มหาวราภรณ์ ๑

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ โปรดให้นายร้อยโทสอนไปเปนข้าหลวงอยู่เมืองยโสธร แลให้อุปฮาดรับราชการตำแหน่งผู้รักษาเมือง ให้ราชบุตรรับราชการตำแหน่งอุปฮาด ให้หลวงศรีวรราชผู้ช่วยพิเศษ รับราชการตำแหน่งราชบุตรเมืองยโสธร

ในปีนี้ ขุนเทพคชกิรินีหมอ นายเอาะควาญ บ้านดงมันเมืองสุวรรณภูมิ คล้องได้ช้างพังสำคัญสูง ๓ ศอก ๖ นิ้ว ช้าง ๑ ได้โปรดให้ส่งมาเลี้ยงรักษาไว้ณเมืองอุบล เพื่อได้ส่งกรุงเทพฯ ต่อไป ช้างนี้เปนช้างเผือกโทส่งมาถึงเมืองนครราชสิมาแล้ว เอาขึ้นรถไฟมากรุงเทพฯ สมโภชโรงใน ขึ้นรวางเปนพระศรีเสวตรวรรณิภา

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. พระยามหาอำมาตย์ ฯ (ป้อม) ต้นสกุล อมาตยกุล เวลานั้นจะเปนตำแหน่งอะไรไม่ทราบ เมื่อเจ้าอนุเวียงจันท์เปนขบถในรัชกาลที่ ๓ เปนพระสุริยภักดี ต่อภายหลังนั้นมาจึ่งได้เปนพระยามหาอำมาตย์ ฯ
  2. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เจ้าอุปราชไม่ได้เปนใจขบถด้วย มากับเจ้าอนุโดยกลัวอาญา ได้อุปการะส่งพระสุริยภักดี (ป้อม) เข้ามา แลสั่งให้มากราบทูล เมื่อเสร็จสงครามก็ไม่ได้รับพระราชอาญา ครั้งนั้นเจ้าอุปราชไม่ได้ลงมาถึงเมืองนครราชสิมา.
  3. ความที่กล่าวตรงนี้คลาศอยู่ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าเจ้าอนุเวียงจันท์ลงมาตั้งอยู่เมืองนครราชสิมา ครั้นกองทัพกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพยกขึ้นไป เจ้าอนุฯ เห็นว่าจะสู้ทัพกรุงฯ ไม่ได้ จึงถอยกลับไปตั้งรับที่หนองบัวลำภู กองทัพกรุงฯ ตามไปตีกองทัพเวียงจันท์แตก เจ้าอนุฯ ก็เลยทิ้งเมืองเวียงจันท์หนีไปเมืองญวน กองทัพกรุงฯ ได้เมืองเวียงจันท์ครั้งที่ ๑ ส่วนเจ้าพระยาบดินทรออกไปตีเมืองนครจำปาศักดิ จับได้ตัวเจ้านครจำปาศักดิ (โย่) กองทัพกรุงฯ ปราบพวกเวียงจันท์เรียบร้อยแล้วกลับกรุงเทพฯ โดยมาก อยู่รักษาเมืองเวียงจันท์แต่น้อย ต่อมาโปรดให้เจ้าพระยาบดินทร เมื่อเปนเจ้าพระยาราชสุภาวดี ขึ้นไปรักษาเมืองเวียงจันท์ ไปจวนจะถึงเมือง ประจวบเวลาญวนให้ข้าหลวงพาเจ้าอนุฯ กลับเข้ามาเมืองเวียงจันท์ ว่าจะมาขออ่อนน้อมโดยดี ข้าราชการชาวกรุงฯ ที่รักษาเมืองเวียงจันท์หลงเชื่อคำญวน ค่ำวันหนึ่งเจ้าอนุฯ รวบรวมผู้คนเข้าปล้นฆ่าไทยที่อยู่เมืองเวียงจันท์ตายเกือบหมด ที่เหลือหนีข้ามมาได้มาบอกเจ้าพระยาบดินทรๆ กำลังผู้คนมีไม่พอที่จะต่อสู้ จึงถอยทัพ หมายจะมาตั้งรวบรวมคนที่เมืองยโสธร ยกมาถึงบ้านบกหวานแขวงเมืองหนองคาย เจ้าอนุฯ ให้ราชวงษ์ยกกองทัพตามมาทัน ได้รบกันถึงตัวต่อตัว เจ้าพระยาบดินทรตีกองทัพเวียงจันท์แตก เมื่อรวบรวมกำลังได้พอแล้ว เจ้าพระยาบดินทรจึงยกตามไปตีได้เมืองเวียงจันท์เปนครั้งที่ ๒ แลจับเจ้าอนุฯ ได้ในคราวนี้ .
  4. ที่เรียกว่าเมืองภูซุน หมายความว่าเมืองเว้ เมืองหลวงของประเทศญวน.
  5. ช้าง ๒ ช้างนี้มาคนละคราว พระพิมลฯ มาแต่ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ พ.ศ. ๒๓๙๖ พระวิสูตรฯ มาทีหลังนั้น.
กลับไปหน้าหลัก
ก่อนหน้า