พจนานุกรมกฎหมาย/ฎ
หน้าตา
ฎ.
ฎีกา
ฎีกา | (๑) ฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือกล่าวโทษเสนาบดีเจ้ากระทรวงในข้อที่เกี่ยวด้วยหน้าที่ราชการซึ่งห้ามไม่ให้ฟ้องร้องยังโรงศาลได้ (พ.ธ.ย. มาตรา ๕) (๒) ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรับพระมหากรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง (พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗) | |
คดีที่ห้ามมิให้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา นับว่ายุตติเพียงศาลอุทธรณ์นั้น มีดังนี้ คือ— | ||
(๑)ความอาชญา— | ||
(ก)คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คงตามศาลเดิมให้ยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง (พ.ร.บ. ลักษณะฎีกาอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๕) | ||
(ข)คดีที่ศาลพิพากษาให้คงตามศาลเดิม หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับเป็นพินัย หรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำไม่เกิน ๕ ปี (พ.ร.บ. ลักษณะฎีกาอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๓) | ||
(ค)คดีที่ศาลเดิมได้พิพากษาลงโทษจำเลยไม่เกิน ๑ ปี ปรับเป็นพินัยหลวงไม่เกิน ๑๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แม้ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ไขมากก็ดี แต่คงให้ลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ (พ.ร.บ. ลักษณะฎีกาอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๖) | ||
(๒)ความแพ่ง— | ||
(ก)คดีมีทุนทรัพย์ที่ฟ้องหากันเป็นจำนวนไม่เกิน ๒๐๐๐ บาท หรือ | ||
(ข)คดีที่ไม่มีทุนทรัพย์ เช่น คดีฟ้องอย่า, ฟ้องห้าม, ฟ้องขับไล่, ฟ้องให้เปิดทาง เป็นต้น | ||
เมื่อศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคงตามศาลเดิมหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย (พ.ร.บ. ลักษณะฎีกาอุทธรณ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ มาตรา ๔) | ||
ตามข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ห้ามมิให้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นไว้แต่— | ||
(ก)ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งซึ่งได้พิจารณาในชั้นศาลเดิมและศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีเป็นปัณหาสำคัญอันควรยกขึ้นสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ถวายฎีกา หรือ | ||
(ข)อธิบดีกรมอัยยการได้ลงชื่อรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันสมควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย | ||
(พ.ร.บ. ลักษณะฎีกาอุทธรณ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๗) | ||
(๓)คดีที่เกี่ยวกับคนบังคับอังกฤษแลคนบังคับฝรั่งเศสที่ได้พิพากษาโดยศาลคดีต่างประเทศหรือศาลต่างประเทศตามสัญญาทางพระราชไมตรี ห้ามมิให้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในข้อเท็จจริง (ดู ข้อบังคับว่าด้วยการพิจารณาคดีซึ่งเกิดขึ้นภายหลังวันใช้หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระวางกรุงสยามกับอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๖๘ ข้อ ๙ และข้อบังคับสำหรับศาลตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระวางกรุงสยามกับฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๖๗ ข้อ ๖–๑๑) | ||
(๔)คดีล้มละลาย หรือสาขาคดีล้มละลาย ห้ามมิให้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในปัณหาข้อเท็จจริง (พ.ร.บ. ลักษณะล้มละลาย ร.ศ. ๑๓๐ มาตรา ๗๙) | ||
ส่วนการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรับพระมหากรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรงนั้น มีดังนี้ คือ— | ||
(๑)ขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษซึ่งศาลหลวงใด ๆ ตั้งแต่ศาลฎีกาลงไปได้วางบทแล้วตามพระราชกำหนดกฎหมาย (แต่ไม่ใช่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลนั้น ๆ) | ||
(๒)ขอพระราชทานพระมหากรุณาขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจส่วนตัวเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์อันจะหาหนทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้นอกจากขอรับพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรง | ||
(๓)กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจนอกเหนือที่สมควรแก่หน้าที่ราชการซึ่งตนปฏิบัติอยู่ หรือใช้อำนาจนั้นโดยอาการอันรุนแรงเกินเหตุจนทำให้ข้าแผ่นดินได้ความเดือดร้อน | ||
(๔)กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ผู้ประพฤติทุจริตในหน้าที่ มีการใช้อำนาจทางราชการเพื่อกดขี่ข่มเหงหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น | ||
(พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗) |