พระธรรมนูญศาลทรัพย์เชลย พระพุทธศักราช ๒๔๖๐
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๖๐ พรรษา ปรัตยุบันกาล ผณินทรสัมวัตสร วิมศสุรทิน กรกฎาคมมาส ศุกรวาร กาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงศ อดิศัยพงศวิมลรัตน วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสถิต ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นมหินทรราชสมาคม พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ แลเสนาบดี รัฐมนตรี องคมนตรี กวีชาติ ชุมนุมเฝ้าเบื้องพระบาทประวร ทรงพระอนุสรรำพึงว่า ในบุรพังคมรัชกาล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระธรรมนูญศาลยุติธรรมขึ้นไว้เป็นเดิม บัดนี้ สมควรจะจัดตั้งเพิ่มขึ้นให้บริบูรณ์ด้วยประดิษฐานศาลทรัพย์เชลยไว้ให้เป็นกระทรวงศาล ได้พิจารณาพิพากษากรณี อันกำลังทหารพลนาวีแลพนักงานกรมเจ้าท่า ได้จับคร่าเรือแลสินค้าของลงระวางเป็นทรัพย์เชลยในน่านน้ำสยามแลชะเลหลวง ตามทำนองราชการแห่งเจ้ากระทรวงทหารเรือในเวลาสงคราม จึงมีพระบรมราชโองการสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ตราพระธรรมนูญศาลเพิ่มขึ้นไว้ โดยพระราชบัญญัติบทมาตราดังนี้
พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า พระธรรมนูญศาลทรัพย์เชลย พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ บทวิเคราะห์คำว่า “ทรัพย์เชลย” นี้ ได้แก่ เรือฤๅสินค้าอันกำลังพลนาวิกของผู้ทำสงครามเข้าจับคร่ายึดเอาได้ด้วยอำนาจยุทธธรรมนิยม ในชะเลน่านน้ำฤๅเมืองท่า แลให้ใช้เป็นพระราชกำหนดกฎหมายตั้งแต่วันที่ลงประกาศสืบไป
ให้ตั้งศาลเพิ่มขึ้นในสนามสถิตยุติธรรมอีกศาลหนึ่ง เรียกชื่อว่า ศาลทรัพย์เชลย เป็นกระทรวงศาลมีอำนาจตลอดพระราชอาณาจักร ได้รับบังคับบัญชาสรรพกรณีจับทรัพย์เชลย คือ เรือใหญ่น้อยแลสินค้าของลงระวางเรือ แลกรณีจับทรัพย์เชลยวิสามัญ คือ ร่วมมือกับสัมพันธมิตรจับได้ ประการ ๑ ส่งกำลังทหารเรือขึ้นบกจับได้ ประการ ๑ อันนายเรือแลลูกเรือซึ่งมิใช่เป็นเรือรบจับได้ ประการ ๑ อีกทั้งกรณีกู้คืนเรือแลสินค้าที่ตกศึก ๑ แลกรณีบำเหน็จแต่ทรัพย์เชลย ๑ เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่า จับคร่าได้โดยชอบฤๅมิชอบ แล้วพิพากษาชี้ขาดบังคับว่า ทรัพย์เชลยอันใดควรริบเป็นหลวง ฤๅควรกักยึดไว้ ฤๅควรปล่อยคืนให้แก่เจ้าของ ฤๅควรใช้ค่ากู้คืน ฤๅควรแก่สถานใด ตามทำนองประเพณีธรรมแห่งชาติทั้งหลาย (ชูส เซ็นเชี่ยม[2]) แลพระราชกำหนดบทบัญญัติวิธีการซึ่งได้ประดิษฐานไว้บังคับสำหรับกรณีทั้งปวงนี้
สรรพเรือน้อยใหญ่ แลสินค้าของลงระวางเรือ อันนายทหารพลทหารราชนาวีจับได้ก็ดี อันพนักงานกรมเจ้าท่าจับได้ในท่าแลน่านน้ำอาณาจักรก็ดี อันกำลังเรือหลวงเรือราษฎร์ซึ่งมิใช่เรือรบจับได้ก็ดี สรรพทรัพย์เชลยแต่ขณะที่จับยึดคร่ามาได้นี้ ย่อมตกเป็นสิทธิ์เป็นพัทธยาโดยราชศักดานุภาพของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์จอมพลพยุหรรณพราชนาวี
บำเหน็จแห่งทรัพย์เชลยเรือน้อยใหญ่ฤๅสินค้าของลงระวางเรืออันนายทหารพลทหารราชนาวีจับได้เป็นความชอบนั้น สุดแต่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาชุบเกล้าฯ ประสาทประสิทธิแก่นายทหารพลทหารเรือโดยสัดส่วนมากน้อยสถานใด จะได้โปรดเกล้าฯ ให้ปรึกษาปูนบำเหน็จตามอย่างธรรมเนียมแต่ปางก่อน
อัตราค่ากู้คืนเรือน้อยใหญ่ฤๅสินค้าที่ตกศึกซึ่งศาลจะพิพากษาให้เจ้าของใช้แก่ผู้ช่วยกู้คืนได้นั้น ศาลพึงพินิจชั่งเหตุยากแลง่ายหนักแลเบาโดยสมควรแก่การ แต่อย่ากำหนดบังคับให้เกินอัตรากว่า ๑๐ หยิบหนึ่งแห่งราคาเรือฤๅสินค้าซึ่งกู้คืนได้มานั้นเลย
ผู้พิพากษาในศาลทรัพย์เชลยนี้ให้มีจำนวนแต่ ๓ นายขึ้นไป ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลือกสรรตั้งไว้ แลคณะผู้พิพากษาประชุม ๓ นายให้นับเป็นองค์แห่งศาลพิจารณาตัดสินกรณีได้
เมื่อใดเป็นกาลสมัยสมควรจะให้ศาลทรัพย์เชลยออกนั่งพิจารณา จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ตั้งผู้พิพากษาเป็นศาลมีอำนาจโดยพระธรรมนูญ เพื่อพิจารณาตัดสินกรณีจับทรัพย์เชลยในระหว่างเวลามีสงคราม ตลอดถึงเวลาสงบสงครามแล้วเฉพาะกรณีที่ยังค้างพิจารณาในศาลนั้น ก็ให้บังคับบัญชาชำระให้สำเร็จ
เมื่อผู้พิพากษาในศาลทรัพย์เชลยพิเคราะห์เห็นว่า กรณีใดต้องการความรู้ลึกซึ้งเป็นพิเศษแลความชำนาญในกิจการนั้น ๆ ก็มีอำนาจจะรียกตั้งผู้ช่วยฟังการพิจารณาคนเดียวฤๅหลายคนได้สุดแต่จะเห็นสมควร
กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์เชลยนี้ ให้ใช้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งอนุโลมแต่ข้อที่ควรจะต้องยกอ้างเอามาใช้ได้ ถ้าแม้ว่าข้อบังคับในกระบวนพิจารณาบทใดจะอ้างมาใช้มิได้ ก็ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์เชลยมีอำนาจสั่งให้ใช้ข้อบังคับกระบวนพิจารณาแลวิธีการสถานอื่นซึ่งได้ประพฤติในกรณีจับทรัพย์เชลยทั้งหลายนี้
อุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์เชลยให้ยื่นยังศาลฎีกา ได้รับพิจารณาแล้วทำคำปรึกษาขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโดยหน้าที่กรรมการองคมนตรีวินิจฉัยอรรถคดี เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติแล้ว ให้บังคับเป็นคำพิพากษากรณีจับทรัพย์เชลยได้เด็ดขาด
ถ้าศาลทรัพย์เชลยนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นใช้พิจารณากรณีเมื่อใด ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจัดตั้งจ่าศาลแลเสมียนพนักงานมากน้อยตามสมควรแก่การ แลให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังจ่ายพระราชทรัพย์ตามงบประมาณพิเศษได้จนตลอดกาลที่ศาลจะได้นั่งพิจารณาพิพากษากรณีจนเสร็จสิ้น
ให้กองหมายในกระทรวงยุติธรรมเป็นภารธุระหน้าที่ดำเนินการบังคับกรณีทรัพย์เชลยให้เป็นไปตามคำพิพากษาตัดสินคำสั่งบังคับบัญชาทั้งปวง
เจ้าพนักงานบังคับกรณีทรัพย์เชลยตามคำพิพากษาคำสั่งของศาลได้ขายเรือฤๅสินค้าซึ่งจับไว้นั้น ผู้ซื้อสิ่งใดปรารถนาจะได้ใบสำคัญคู่มือ ให้ร้องต่อศาลภายในเวลา ๑ เดือนแต่วันขายฤๅวันที่ศาลสั่งริบ นับเอาวันหลังเป็นประมาณ เมื่อศาลได้รับคำร้องดังนี้แล้วก็ให้สั่งให้ออกใบสำคัญให้แก่ผู้ซื้อฤๅจะสั่งให้สลักหลังหนังสือซื้อขายนั้นเองก็ได้ ถ้าว่าในกรณีศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยคืนเรือฤาสินค้าซึ่งจับยึดกักไว้ให้แก่เจ้าของ เจ้าของปรารถนาจะได้ใบสำคัญคู่มือก็ให้ร้องต่อศาลภายใน ๑ เดือนนับแต่วันสั่งคืน เมื่อศาลได้รับคำร้องดังนี้แล้ว ก็ให้สั่งให้ออกใบสำคัญนั้นให้แก่เจ้าของ
การฟ้องกรณีทรัพย์เชลยขอให้ริบเรือน้อยใหญ่ฤๅสินค้าของลงระวางเรือเป็นราชสิทธิพัทธยาของหลวงนั้น ให้ตกเป็นหน้าที่เจ้าพนักงานกรมอัยการเป็นโจทก์ว่าคดีความแผ่นดิน แต่ในกรณีทรัพย์เชลยอย่างอื่นนอกนี้ ผู้ใดมีสิทธิจะเรียกร้องโดยทำนองประเพณีธรรมแลพระราชบัญญัติสถานใด จะฟ้องว่ากล่าวขึ้นเองก็ชอบ
ประกาศมา ณ วันศุกร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ เป็นวันที่ ๒๔๔๔ ในรัชกาลปรัตยุบันนี้
เชิงอรรถ
[แก้ไข]ดูเพิ่ม
[แก้ไข]- ประกาศพระบรมราชโองการให้ศาลทรัพย์เชลยนั่งพิจารณาตามพระธรรมนูญศาล พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐
- ประกาศให้ศาลทรัพย์เชลยนั่งพิจารณาตามพระธรรมนูญศาลทรัพย์เชลย พุทธศักราช ๒๔๖๐ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕
- ประกาศยกเลิกประกาศให้ศาลทรัพย์เชลยนั่งพิจารณาตามพระธรรมนูญศาลทรัพย์เชลย พุทธศักราช ๒๔๖๐ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๘๙
- พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"