พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช/ภาค 1

จาก วิกิซอร์ซ
ภาค ๑
เรื่องบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ

(๑)

เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๐๘๙ สมเด็จพระไชยราชาธิราชซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาสวรรคต มีพระราชบุตรพระองค์เดียวแต่พระแก้วฟ้าอันท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอก เป็นเจ้าจอมมารดา พระแก้วฟ้าได้รับรัชชทายาท แต่พระแก้วฟ้ายังทรงพระเยาว์พระชันษาได้เพียง ๑๑ ปี ว่าราชการบ้านเมืองเองยังไม่ได้ พระเฑียรราชา สันนิษฐานว่าเป็นพระเจ้าน้องยาเธอต่างพระชนนีกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่การภายในพระราชวังตกอยู่ในอำนาจท้าวศรีสุดาจันทร์อันได้เป็นสมเด็จพระชนนีพันปีหลวง ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงและมีราคจริตกล้า ปรารถนาเอาพระเฑียรราชาไว้ในมือ แต่ไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ ก็พยายามขัดขวางด้วยอำนาจที่มีในราชสำนัก มิให้พระเฑียรราชาว่าราชการได้สะดวก พระเฑียรราชามิรู้ที่จะทำอย่างไร ก็ต้องทูลลาออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุเสียให้พ้นภัย แต่นั้นอำนาจในราชการบ้านเมืองก็ตกไปอยู่ในมือท้าวศรีสุดาจันทร์ พอมีอำนาจเต็มที่แล้วในไม่ช้า ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็เป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพซึ่งนับเป็นญาติกันมาแต่ก่อน ให้เลื่อนขึ้นเป็นขุนวรวงศาธิราช ด้วยอ้างเหตุที่เป็นพระญาติกับพระแก้วฟ้า และให้ช่วยว่าราชการบ้านเมืองมีอำนาจขึ้นโดยลำดับ เป็นชู้กันมาจนท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น ขุนวรวงศาธิราชเห็นว่าจะปกปิดความชั่วต่อไปไม่ได้แล้ว ก็ลอบปลงพระชนม์พระแก้วฟ้าเสีย ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ต้องจัดการเชิญขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชสมบัติไปตามเลย จึงมีข้าราชการพวก ๑ ซึ่งขุนพิเรนทรเทพเป็นตัวหัวหน้า พร้อมใจกันจับขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์และเด็กหญิงที่เป็นลูกฆ่าเสีย แล้วเชิญพระเฑียรราชาขึ้นครองราชสมบัติเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อพูนบำเหน็จข้าราชการที่ช่วยกันกำจัดพวกทรยศครั้งนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริว่า ขุนพิเรนทรเทพผู้เป็นตัวหัวหน้ามีความชอบยิ่งกว่าผู้อื่น และเป็นเชื้อเจ้าในราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย จึงโปรดให้สถาปนาขุนพิเรนทรเทพขึ้นเป็นเจ้าทรงนามว่าพระมหาธรรมราชา พระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีราชธิดาเป็นมเหสี แล้วให้ขึ้นไปครองหัวเมืองเหนือทั้ง ๖ อยู่ณเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาขึ้นไปครองเมืองเหนืออยู่ยังไม่ทันถึงปี ก็เกิดศึกหงสาวดีมาตีกรุงศรีอยุธยา คือเมื่อครั้งเสียพระสุริโยทัยนั้น เวลากองทัพพะม่ามอญเข้ามาตั้งประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตรัสสั่งให้พระมหาธรรมราชายกกองทัพหัวเมืองเหนือลงมาตีโอบหลังข้าศึก พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้เกรงจะถูกกระหนาบ ก็รีบเลิกทัพหนีไป ฝ่ายไทยได้ที สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตรัสสั่งให้พระราเมศวรราชโอรส กับพระมหาธรรมราชา ติดตามตีข้าศึก แต่ไปเสียกลถูกข้าศึกล้อมจับได้ทั้ง ๒ พระองค์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ต้องยอมเลิกรบ ไถ่พระราเมศวรกับพระมหาธรรมราชากลับมา แต่นั้นก็ว่างศึกหงสาวดีมา ๑๔ ปี ตั้งแต่ปีระกา พ.ศ. ๒๐๙๒ จนปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๖

พระโอรสธิดาของพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรีสมภพในระหว่างเวลาที่ว่างสงครามนั้นทั้ง ๓ พระองค์ พระสุพรรณกัลยาณีพี่นางเห็นจะแก่กว่าสมเด็จพระนเรศวรราวสัก ๓ ปี จึงทรงเจริญเป็นสาว ได้เป็นพระยาชาของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเมื่อสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๑๕ ปี พระน้องยาเอกาทศรถก็เห็นจะอ่อนกว่าสมเด็จพระนเรศวรไม่เกิน ๓ ปี จึงทรงเจริญวัยได้ช่วยพระเชษฐารบพุ่งตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อรบพระยาจีนจันตุ ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า

(๒)

พอสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๘ ขวบ ก็เกิดศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ คือคราวพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขอช้างเผือก อันเป็นต้นเรื่องตอนสำคัญของประวัติสมเด็จพระนเรศวร ในพงศาวดารพะม่าว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ล่าทัพไปจากเมืองไทย พอกิตติศัพท์เลื่องลับว่าแพ้ไทยไป พวกมอญเห็นได้ช่องก็ชวนกันคิดร้าย เพราะพระเจ้าหงสาวดีเป็นพะม่าเมืองตองอู มิใช่มอญ่ เป็นแต่มีอานุภาพปราบเมืองมอญไว้ในอำนาจ แล้วมาตั้งราชธานีอยู่ณเมืองหงสาวดี พวกมอญที่เป็นขุนนางคบคิดกันล่อลวงพระเจ้าหงสาวดีให้ออกไปตามช้างเผือกที่ในป่า แล้วจับปลงพระชนม์เสีย พอพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ถูกปลงพระชนม์ เจ้าเมืองต่าง ๆ ก็พากันตั้งตัวเป็นอิสสระ มิได้รวมกันเป็นประเทศใหญ่เหมือนอย่างแต่ก่อน พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มีพระญาติองค์ ๑ ซึ่งเป็นคู่คิดช่วยทำศึกสงครามมาแต่แรก จึงสถาปนาให้ทรงศักดิ์เป็นบุเรงนอง ตรงกับว่าพระเชษฐาธิราช เป็นแม่ทัพคนสำคัญของเมืองหงสาวดีต่อมา เมื่อเกิดกบฏที่เมืองหงสาวดี บุเรงนองหนีไปได้ ไปอาศัยอยู่ถิ่นเดิมณเมืองตองอู คอยสังเกตเหตุการณ์เห็นพวกหัวเมืองมอญที่ตั้งเป็นอิสสระเกิดชิงกันเป็นใหญ่จนถึงรบพุ่งกันเอง บุเรงนองจึงคิดอ่านตั้งตัว ก็สามารถรวบรวมรี้พลได้โดยสะดวก เพราะไพร่บ้านพลเมืองมอญกำลังเดือดร้อนที่เกิดรบพุ่งกันเอง และเคยนับถือว่าบุเรงนองเป็นแม่ทัพสำคัญมาแต่ก่อน บุเรงนองก็สามารถตีเมืองมอญได้ทั้งหมด แล้วทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดีเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๐๙๖ ก่อนสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสมภพได้ ๒ ปี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจัดการปกครองเมืองมอญเรียบร้อยแล้ว ขึ้นไปตีเมืองพะม่าและเมืองไทยใหญ่ได้ทั้งหมด แล้วมาตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่เมกุติเห็นจะสู้ไม่ไหว ก็ยอมเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองพยายามสะสมกำลังอยู่กว่า ๑๐ ปี เพราะฉะนั้น เมืองไทยจึงได้ว่างศึกหงสาวดีอยู่ ๑๔ ปีดังกล่าวแล้ว แต่ในระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ระแวงว่าจะมีศึกหงสาวดีมาอีก ทรงตระเตรียมป้องกันบ้านเมืองทั้งที่ในกรุงฯ และทางหัวเมืองเหนือ มิได้ประมาท แต่เมืองไทยมีกำลังไม่พอจะไปบุกรุกตีเมืองหงสาวดีก่อน จึงได้แต่เตรียมตัวคอยต่อสู้ พอพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแผ่อำนาจได้ดังว่ามาแล้ว ก็เริ่มคิดจะเอาเมืองไทย จึงใช้อุบายมีราชสาส์นมาขอช้างเผือกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ๒ ช้าง การที่ขอช้างเผือกเป็นแต่จะหาเหตุ เพราะทุกประเทศทางตะวันออกนี้ถือกันว่า ช้างเผือกเป็นคู่บารมีของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่เคยมีเยี่ยงอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นอิสสระจะยอมสละให้ช้างเผือกแก่กัน ถ้าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมให้ช้างเผือก ก็เหมือนยอมอยู่ในอำนาจพระเจ้าหงสาวดี ถ้าไม่ยอมให้ช้างเผือก ก็เหมือนกับท้าให้พระเจ้าหงสาวดีมาตีเมืองไทย ข้างฝ่ายไทย ข้างฝ่ายไทยก็รู้เท่าว่า พระเจ้าหงสาวดีจะเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น และรู้ว่า เมืองหงสาวดีมีกำลังมากกว่าแต่ก่อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริเห็นว่า ถึงให้ช้างเผือกก็ไม่คุ้มภัยได้ เป็นแต่จะเสียเกียรติยศเพิ่มขึ้น จึงไม่ยอมให้ช้างเผือก พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็ยกกองทัพมาตีเมืองไทย

ศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ ซึ่งยกมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ พะม่าได้เปรียบไทยกว่าครั้งก่อน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้อาณาเขตต์กว้างขวางมีกำลังรี้พลมากกว่าไทยมาก อีกอย่าง ๑ พะม่ายกมาเมื่อครั้งพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มีความลำบากด้วยต้องมาเที่ยวหาสะเบียงอาหารสำหรับกองทัพ ครั้งนี้ได้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นส่งสะเบียงลงมาทางเรือจนเพียงพอไม่ขัดสน อีกอย่าง ๑ ซึ่งเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่งนั้น คือ ที่พระเจ้าบุเรงนองเคยเข้ามาในกองทัพพะม่าเมื่อครั้งก่อน ได้รู้เห็นทั้งภูมิลำเนาและกำลังของคนไทยที่รบพุ่ง เห็นตระหนักว่า จะยกตรงมาตีพระนครศรีอยุธยาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์เหมือนอย่างครั้งก่อน จะเอาชัยชะนะไม่ได้ ครั้งนี้จึงเปลี่ยนกระบวนศึกยกกองทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา (เดี๋ยวนี้เรียกว่าด่านแม่สอด) หมายเอากำลังมากเข้าทุ่มเทตีหัวเมืองเหนือตัดกำลังที่จะช่วยราชธานีเสียก่อน แล้วจึงลงมาตีพระนครศรีอยุธยาจากทางข้างเหนือ แต่ฝ่ายทางข้างไทยไม่รู้ความคิดของพระเจ้าบุเรงนอง คาดว่ากองทัพหงสาวดีจะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์เหมือนครั้งก่อน ก็ตระเตรียมป้องกันพระนครเป็นสามารถ แต่ทางหัวเมืองเหนือตระเตรียมกำลังยังไม่พรักพร้อม พระเจ้าหงสาวดียกเข้ามถึงเมืองกำแพงเพ็ชร ก็ตีได้โดยง่าย กองทัพที่พระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนั้นจัดเป็นทัพกษัตริย์ ๕ ทัพซึ่งอาจจะแยกไปรบณที่ต่าง ๆ กันได้โดยลำพัง พระเจ้าหงสาวดีตั้งกองทัพหลวงอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชร ให้กองทัพพระเจ้าอังวะกับกองทัพพระเจ้าตองอูไปตีเมืองพิษณุโลกทาง ๑ ให้กองทัพพระมหาอุปราชากับกองทัพพระเจ้าแปรยกไปตีเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิชัย ทาง ๑ เมืองสุโขทัยต่อสู้จนเสียเมือง เมืองสวรรคโลก เมืองพิชัย ยอมอ่อนน้อมต่อข้าศึกโดยดี แต่พระมหาธรรมราชาตั้งต่อสู้ณเมืองพิษณุโลกอย่างเข้มแข็ง ข้าศึกจะตีหักเอาเมืองไม่ได้ ก็ตั้งล้อมไว้จนในเมืองสิ้นสะเบียงอาหารและเผอิญเกิดโรคทรพิษขึ้นด้วย พระมหาธรรมราชาก็ต้องรับแพ้ยอมอ่อนน้อมต่อข้าศึก เมืองพิษณุโลกต่อสู้ข้าศึกครั้งนี้เป็นแรกที่สมเด็จพระนเรศวรจะได้ทรงเห็นการสงครามเมื่อพระชันษาได้ ๘ ขวบ

(๓)

ประเพณีทำสงครามแต่โบราณ ถ้าตีบ้านเมืองได้ด้วยรบพุ่ง ฝ่ายชะนะย่อมจับชาวเมืองทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายหญิงเป็นชะเลยไม่เลือกหน้า และปล่อยให้พวกทหารเก็บเอาทรัพย์สมบัติของชาวเมืองได้ตามชอบใจ บางทีก็เลยเผาบ้านเมืองเสียด้วย ถ้าหากว่ายอมแพ้แต่โดยดี ก็ไม่ริบทรัพย์จับชาวเมืองเป็นชะเลย เป็นแต่เก็บเครื่องศัสตราวุธและเกณฑ์เอาของแต่บางสิ่งซึ่งต้องการ แล้วใช้ชาวเมืองทำการต่าง ๆ ให้กองทัพ เช่น เป็นกรรมกรหาบขนและปลูกสร้าง เป็นต้น ให้มุลนายควบคุมอยู่อย่างเดิม เมื่อเสียเมืองเหนือครั้งนั้น เห็นจะยับเยินป่นปี้แต่เมืองกำแพงเพ็ชรกับเมืองสุโขทัยซึ่งข้าศึกตีได้ แต่เมืองอื่นยอมอ่อนน้อมโดยดี พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระมหาธรรมราชากับเจ้าเมืองกรมการกระทำสัตย์แล้วให้บังคับบัญชาผู้คนพลเมืองอยู่ตามเดิม ให้ไทยชาวเมืองเหนือเป็นพนักงานทำการโยธาให้กองทัพ และให้เกณฑ์เรือในเมืองเหนือมารวมกันจัดเป็นกองทัพเรือขึ้นอีกทัพ ๑ ให้พระเจ้าแปรยกลงมาทางลำแม่น้ำ ส่วนกองทัพบกให้พระมหาอุปราชาเป็นปีกขวา พระเจ้าอังวะเป็นปีกซ้าย พระเจ้าตองอู่เป็นกองกลาง และกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีหนุนตามลงมายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีเอาพระมหาธรรมราชากับพระยาสวรรคโลกและพระยาพิชัยมาด้วยในกองทัพหลวง ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อรู้ข่าวว่าข้าศึกเปลี่ยนกระบวนไปตีเมืองเหนือ มิได้ยกตรงมากรุงศรีอยุธยาดังคาด ก็รีบจัดกองทัพให้พระราเมศวรราชโอรสขึ้นไปช่วยเมืองเหนือ ได้รบกับข้าศึกที่เมืองชัยนาท ทานข้าศึกไว้ได้พักหนึ่ง แต่เมื่อกองทัพเรือของข้าศึกยกมาช่วยรบ สู้ไม่ไหว ก็ต้องล่าถอยกลับลงมา พระเจ้าหงสาวดียกลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา ให้ตีป้อมที่ตั้งรายรอบนอกพระนครได้ทั้งหมดแล้วเข้าไปตั้งล้อมถึงชานพระนคร มีราชสาส์นถามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่า จะสู้รบต่อไปหรือจะยอมเป็นไมตรีโดยดี ถ้ายอมเป็นไมตรี ก็จะให้คงเป็นบ้านเมืองต่อไป ถ้าขืนต่อสู้ ตีพระนครได้ จะเอาเป็นเมืองชะเลย ครั้งนั้นไทยเพิ่งแพ้ศึกใหญ่เป็นครั้งแรก คงเป็นเวลากำลังท้อใจ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตรัสปรึกษาข้าราชการ เห็นว่า ไม่มีทางที่จะเอาชัยชะนะข้าศึกได้แล้ว ควรยอมเป็นไมตรีเสียโดยดี ถึงจะต้องเสียสินไหมอย่างใดบ้าง ก็ยังมีปริมาณ ดีกว่าให้ข้าศึกล้างผลาญบ้านเมืองฉิบหายหมด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงรับเป็นไมตรี คือ ยอมแพ้แต่โดยดี ให้ปลูกพลับพลาขึ้นข้างนอกพระนครที่ริมวัดช้างระหว่างที่ตั้งกองทัพหลวงของข้าศึกกับคูเมืองทางด้านเหนือ แล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเสด็จไปพบกันที่พลับพลานั้น พระเจ้าหงสาวดีเรียกค่าไถ่เมืองตามปรารถนา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ต้องยอม

ข้อความที่ตกลงกันเมื่อทำสัญญาเลิกสงครามครั้งนั้น ในพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพะม่าว่าผิดกันเป็นข้อสำคัญบางข้อ ในพงศาวดารไทยว่า เดิมพระเจ้าหงสาวดีขอช้างเผือกแต่ ๒ ช้าง เพิ่มขึ้นเป็น ๔ ช้าง กับขอตัวพระราเมศวรกับพระยาจักรีและพระสุนทรสงครามซึ่งเป็นตัวหน้าในการต่อสู้ ๓ คนเอาไปเมืองหงสาวดี ได้แล้วก็เลิกทัพกลับไป ในพงศาวดารพะม่าก็ว่า ขอช้างเผือก ๔ ช้างกับตัวหัวหน้า ๓ คนนั้นเช่นเดียวกับพงศาวดารไทย แต่ยังมีอย่างอื่นต่อออกไปอีก คือว่า ให้ไทยส่งส่วยช้างปีละ ๓๐ เชือก เงินปีละ ๓๐๐ ชั่ง กับทั้งเงินอากรค่าปากเรือบรรดาที่เก็บได้ณเมืองมะริด ถวายพระเจ้าหงสาวดีเสมอไป และยังมีข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นอีกว่า ครั้งนั้นเมื่อพระเจ้าหงสาวดีจะเลิกทัพกลับไป เชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จไปเมืองหงสาวดีด้วย เพราะฉะนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงต้องมอบสมบัติให้พระมหินทรฯ ราชโอรส ครองกรุงศรีอยุธยา ในพงศาวดารพะม่ายังพรรณนาต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จไปถึงเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีให้ทำวังสร้างตำหนักอย่างราชมนเทียรประทานเป็นที่ประทับ และว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกไปอยู่เมืองหงสาวดีได้สัก ๒ ปี สมัครออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อทรงผนวชแล้ว พระเจ้าหงสาวดีจึงปล่อยให้เสด็จกลับคืนมาเมืองไทย ความตอนนี้ในพงศาวดารไทยว่า เมื่อเสร็จศึกครั้งนั้นแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงมอบเวนราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราชครองกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระองค์เสด็จออกไปประทับอยู่ณวังหลัง และต่อมาเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ความที่แตกต่างกันนี้ พิจารณาประกอบกับเหตุการณ์ที่มีต่อมา เห็นว่า ความจริงน่าจะเป็นอย่างพะม่าว่า คือ พระเจ้าหงสาวดี้เชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิออกไปอยู่เมืองหงสาวดีอย่างเป็นตัวจำนำอยู่สักสองสามปี ใช่แต่เท่านั้น เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจะเลิกทัพกลับไป ตรัสขอสมเด็จพระนเรศวรต่อพระมหาธรรมราชาว่าจะเอาไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรมด้วย แต่ที่จริงก็เอาไปเป็นตัวจำนำสำหรับพระมหาธรรมราชานั่นเอง พระมหาธรรมราชาก็จำต้องถวาย สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องเสด็จออกไปอยู่เมืองหงสาวดีเมื่อพระชันษาได้ ๙ ขวบ แต่คงมีผู้หลักผู้ใหญ่และข้าไทยตามไปอยู่ด้วย ถึงเวลาเมื่ออยู่ที่เมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็คงทรงอุปการะเลี้ยงดูให้อยู่กับเจ้านายรุ่นเดียวกัน อันน่าจะมีมากทั้งที่เป็นเชื้อวงศ์ของพระเจ้าหงสาวดีและที่ไปจากต่างประเทศเช่นเดียวกันกับสมเด็จพระนเรศวร ได้โอกาสศึกษาและได้รับความอบรมเลี้ยงดูอย่างดีด้วยกันทั้งนั้น

(๔)

ตั้งแต่เสร็จศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ พอสมเด็จพระมหินทราธิราชขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ก็เริ่มรังเกียจกันกับพระมหาธรรมราชา น่าจะเป็นด้วยสมเด็จพระมหินทรฯ ทรงขัดเคืองพระมหาธรรมราชาว่า เมื่อยอมแพ้ข้าศึกแล้ว ประจบประแจงพระเจ้าหงสาวดีเกินกว่าเหตุ ฝ่ายพระมหาธรรมราชาก็ไม่นับถือสมเด็จพระมหินทรฯ มาแต่ก่อน และบางทีจะเคยดูหมิ่นว่าไม่ทรงพระปรีชาสามารถด้วย ซ้ำมามีสาเหตุเกิดขึ้นด้วยพระยารามณรงค์ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพ็ชรเอาใจออกหากจากพระมหาธรรมราชาขอลงมารับราชการในกรุงฯ สมเด็จพระมหินทรฯ ยกย่องความชอบพระยารามฯ เมื่อครั้งต่อสู้พระเจ้าหงสาวดี ให้ว่าที่สมุหนายกอันเป็นผู้บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพราะฉะนั้น รัฐบาลในกรุงฯ สั่งราชการบ้านเมืองไปอย่างไร เมืองเหนือก็มักโต้แย้งไม่ฟังบังคับบัญชาโดยเคารพเหมือนอย่างเมื่อครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็เลยเกิดระแวงสงสัยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายสมเด็จพระมหินทรฯ สงสัยว่า พระมหาธรรมราชาจะไปเข้ากับพระเจ้าหงสาวดี ข้างฝ่ายพระมหาธรรมราชาก็สงสัยว่า สมเด็จพระมหินทรฯ คอยหาเหตุจะกำจัดเสียจากเมืองเหนือ ความส่อต่อไปอีกอย่าง ๑ ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิคงต้องออกไปเป็นตัวจำนำอยู่เมืองหงสาวดีจริงดังกล่าวในพงศาวดารพะม่า ถ้าหากเสด็จอยู่ในเมืองไทย ก็เห็นจะสามารถสมัครสมานสมเด็จพระมหินทรฯ กับพระมหาธรรมราชามิให้แตกร้าวกัน หรือมิฉะนั้นก็อาจกลับขึ้นครองราชสมบัติแต่ในเวลานั้น คงไม่มีเหตุร้ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลา ๔ ปีต่อมาจนถึงเสียอิสสรภาพของเมืองไทย

เริ่มเกิดเหตุตอนนี้ด้วยเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเลิกทัพกลับไปจากเมืองไทย ไปได้ข่าวว่า พระเจ้าเชียงใหม่เมกุติคบคิดกับพระยานครลำปาง พระยาแพร่ (เรียกในพงศาวดารพะม่าว่า พระเชรียง) พระยาน่าน และพระยาเชียงแสน จะตั้งแข็งเมือง พระเจ้าหงสาวดีจึงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๑๐๗ ครั้งนั้นพระเจ้าหงสาวดีเกณฑ์กองทัพไทยให้ขึ้นไปช่วยตีเมืองเชียงใหม่ด้วย สมเด็จพระมหินทรฯ จึงตรัสสั่งให้พระมหาธรรมราชาจัดกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปช่วยพระเจ้าหงสาวดี พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพขึ้นไปเอง ไปถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อพระเจ้าหงสาวดีได้เมืองเชียงใหม่แล้ว เพราะพระเจ้าเชียงใหม่เมกุติยอมแพ้โดยดี แต่พระยา ๔ คนจับได้แต่พระยาเชียงแสน ที่เหลืออีก ๓ คนหนีไปอยู่กับพระเจ้าลานช้างไชยเชษฐาที่เมืองเวียงจันท์ พระมหาธรรมราชาได้เฝ้าพระเจ้าหงสาวดีที่เมืองเชียงใหม่ พระเจ้าหงสาวดีคงไต่ถามทราบความว่า พระมหาธรรมราชากับพระมหินทรฯ เกิดกินแหนงกัน เห็นเป็นช่องที่จะมีอำนาจยิ่งขึ้นในเมืองไทย ก็ยกย่องความชอบของพระมหาธรรมราชาที่ขึ้นไปช่วยครั้งนั้น รับจะอุดหนุนมิให้ต้องเดือดร้อนในภายหน้า พิเคราะห์ความตามเรื่อง ดูเหมือนพระมหาธรรมราชาจะฝักใฝ่หมายพึ่งพระเจ้าหงสาวดีแต่นั้นมา เมื่อพระเจ้าหงสาวดีพักอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ได้ข่าวมาจากเมืองหงสาวดีว่า พวกชะเลยไทยใหญ่เป็นกบฏขึ้น จึงตรัสสั่งให้พระมหาอุปราชายกกองทัพตามพระยาทั้ง ๓ ไปตีเมืองเวียงจันท์ แล้วเลิกกองทัพหลวงไปเมืองหงสาวดี ส่วนกองทัพพระมหาธรรมราชาก็ให้เลิกกลับมายังเมืองพิษณุโลก กิตติศัพท์ที่พระเจ้าหงสาวดีผูกพันทางไมตรีกับพระมหาธรรมราชาทราบมาถึงกรุงศรีอยุธยาก็ยิ่งเพิ่มความกินแหนงหนักขึ้น

เมื่อกองทัพหงสาวดียกไปถึงแดนลานช้าง พระเจ้าไชยเชษฐาต่อสู้เห็นเหลือกำลัง ก็ทิ้งเมืองเวียงจันท์พากองทัพหลบไปตั้งซุ่มซ่อนอยู่ในป่า พระมหาอุปราชาก็ได้เมืองเวียงจันท์โดยง่าย แต่เวลานั้นพอเข้าฤดูฝน ฝนตกชุก พระมหาอุปราชาไม่สามารถจะยกกองทัพติดตามพระเจ้าไชยเชษฐาต่อไปได้ ก็ตั้งพักอยู่ที่เมืองเวียงจันท์ แต่พวกชาวลานช้างคุ้นเคยกับฤดูในถิ่นฐานของตน พอเห็นข้าศึกต้องหยุดอยู่ที่เมืองเวียงจันท์ พระเจ้าไชยเชษฐาก็แต่งกองโจรให้แยกย้ายกันไปเที่ยวตีตัดลำเลียงสะเบียงอาหาร จนกองทัพหงสาวดีอดอยาก ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายลงตามกัน เมื่อสิ้นฤดูฝน พระมหาอุปราชาไม่มีกำลังพอจะทำสงคราม ต้องล่าทัพกลับไป พระเจ้าไชยเชษฐาได้ทีก็ออกติดตามข้าศึกเสียรี้พลพาหนะอีกเป็นอันมาก เป็นครั้งแรกที่ปรากฏว่า กองทัพเมืองหงสาวดีครั้งพระเจ้าบุเรงนองต้องล่าหนีข้าศึก ก็เลื่องลือระบือเกียรติพระเจ้าไชยเชษฐาว่าเป็นวีรบุรุษขึ้นในครั้งนั้น แต่เมื่อพระมหาอุปราชาล่าทัพกลับไปจากเมืองเวียงจันท์ รวบรวมครอบครัวของพระเจ้าไชยเชษฐาทั้งมเหสีเทวีและอุปราชญาติวงศ์ซึ่งตกอยู่ในเมืองเวียงจันท์พาเอาไปเมืองหงสาวดีหมด พระเจ้าไชยเชษฐากลับมาครองเมือง จึงคิดจะหามเหสีใหม่ ให้สืบหาราชธิดาในประเทศที่ใกล้เคียง ได้ความว่า ในกรุงศรีอยุธยามีราชธิดาพระองค์น้อยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิอันเกิดด้วยพระสุริโยทัยอยู่องค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเทพกษัตรี พระเจ้าไชยเชษฐาเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาก็แค้นเคืองเมืองหงสาวดีอยู่เหมือนกัน ถ้าเป็นสัมพันธมิตรกัน ก็จะได้ช่วยกันต่อสู้ศึกหงสาวดีในวันหน้า จึงมีราชสาส์นมายังสมเด็จพระมหินทรฯ ทูลขอพระเทพกษัตรีไปอภิเษกเป็นพระมเหสี ฝ่ายสมเด็จพระมหินทรฯ ก็คิดเช่นเดียวกัน จึงอนุญาตด้วยความยินดีที่จะเป็นสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐา กิตติศัพท์ทราบถึงพระมหาธรรมราชาว่า สมเด็จพระมหินทรฯ จะทำทางไมตรีเป็นสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐา ก็เกิดวิตกด้วยเกรงว่า พระเจ้าหงสาวดีจะสงสัยว่ารู้เห็นเป็นใจด้วย ทั้งพระวิสุทธิกษัตรีก็เป็นห่วงพระเทพกษัตรีองค์พระกนิษฐา เกรงว่า ถ้าไปอยู่เมืองเวียงจันท์ จะถูกกวาดเป็นชะเลยเอาไปเมืองหงสาวดีเหมือนกับพระมเหสีองค์ก่อนของพระเจ้าไชยเชษฐา พระมหาธรรมราชาจึงบอกเป็นความลับไปทูลพระเจ้าหงสาวดี และแนะให้แต่งกองทหารลอบเข้ามาคอยดักทางชิงพระเทพกษัตรีเอาไปเมืองหงสาวดี แต่พระมหาธรรมราชาทำไม่รู้เรื่องที่กรุงศรีอยุธยาจะเป็นไมตรีกับเมืองลานช้าง เพราะสมเด็จพระมหินทรฯ มิได้ตรัสบอกให้ทราบ ฝ่ายพระเจ้าไชยเชษฐาเมื่อสมเด็จพระมหินทรฯ ยอมยกพระเทพกษัตรีให้ตามความประสงค์ ก็แต่งให้ข้าหลวงลงมารับ แต่เผอิญข้าหลวงมาถึงพระนครฯ เมื่อเวลาพระเทพกษัตรีประชวรอยู่ ไม่สามารถจะไปได้ ชะรอยพระเจ้าไชยเชษฐาจะได้กำหนดฤกษ์การพิธีอภิเษกบอกมาด้วย สมเด็จพระมหินทรฯ จะขอผัดเลื่อนเวลาไปไม่ได้ จึงส่งพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระแก้วฟ้า อันเกิดด้วยพระสนม ไปแทนพระเทพกษัตรี พระมหาธรรมราชารู้ว่ามิใช่พระเทพกษัตรี ก็ปล่อยให้ไปโดยสะดวก แต่เมื่อพระแก้วฟ้าไปถึงเมืองเวียงจันท์ พระเจ้าไชยเชษฐาทราบว่าเป็นแต่ลูกพระสนม มิใช่พระราชธิดาอันเกิดด้วยพระมเหสี ก็ไม่รับไว้ ให้ส่งคืนกลับมา โดยอ้างว่า จำนงจะอภิเษกแต่กับพระเทพกษัตรีที่เป็นพระธิดาของพระสุริโยทัยผู้ทรงเกียรติ เวลานั้นพระเทพกษัตรีหายประชวรแล้ว สมเด็จพระมหินทรฯ ก็ให้ส่งไป ไปถึงกลางทาง พวกทหารเมืองหงสาวดีก็ชิงพระเทพกษัตรีพาไปถวายพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระมหินทรฯ กับพระเจ้าไชยเชษฐารู้ชัดว่า พระมหาธรรมราชาเป็นผู้คิดอ่านให้เกิดเหตุ แต่สมเด็จพระมหินทรฯ จะว่ากล่าวอย่างไรก็ยาก ด้วยได้ปิดบังเรื่องเป็นสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐามิให้พระมหาธรรมราชารู้ ทั้งเมื่อส่งพระเทพกษัตรีไปเมืองเวียงจันท์ จะไปทางด่านสมอสอในลุ่มน้ำสักผ่านหลังเมืองพิษณุโลกไป ก็มิได้สั่งให้พระมหาธรรมราชาดูแลพิทักษ์รักษา จะเอาผิดอย่างไรมิได้ จึงลอบคิดกลอุบายแก้แค้นด้วยกันกับพระไชยเชษฐา นัดให้พระเจ้าไชยเชษฐายกกองทัพลงมาตีกรุงศรีอยุธยาทางเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหินทรฯ ก็จะยกกองทัพขึ้นไปเหมือนอย่างว่าจะไปช่วยรักษาเมือง แล้วจะร่วมมือกันกำจัดพระมหาธรรมราชาเสีย ฝ่ายพระมหาธรรมราชาเมื่อทราบข่าวว่าเมืองลานช้างเกณฑ์กองทัพจะมาตีเมืองไทย ก็บอกลงมายังกรุงศรีอยุธยา แต่ระแวงว่าจะเป็นกลอุบายของสมเด็จพระมหินทรฯ จึงรีบให้ไปทูลพระเจ้าบุเรงนองขอกองทัพเมืองหงสาวดีมาช่วยด้วยอีกทางหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระมหินทรฯ ได้ทราบข่าวศึกจากพระมหาธรรมราชา ก็โปรดให้พระยาสีหราชเดโชชัยกับพระยาท้ายน้ำคุมพลอาสากอง ๑ ล่วงหน้าขึ้นไปช่วยรักษาเมืองพิษณุโลก แต่ตรัสสั่งเป็นความลับไปว่า เมื่อเมืองพิษณุโลกถูกล้อมแล้ว ให้เป็นไส้ศึกข้างภายใน แต่พระยาทั้ง ๒ กลับเอาความลับไปขยายแก่พระมหาธรรมราชา ๆ ก็ให้เตรียมการป้องกันเมืองพิษณุโลกทั้ง ๒ ทาง กองทัพเมืองลานช้างยกลงมาถึงก่อน ก็ตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกทางด้านเหนือกับด้านตะวันออก ครั้นกองทัพเรือกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึง พระยารามฯ คุมกองทัพหน้าไปตั้งอยู่ที่วัดจุฬามณีข้างใต้เมืองพิษณุโลก กองทัพหลวงของสมเด็จพระมหินทรฯ ตั้งอยู่ที่ปากน้ำพิงค์ต่อลงมาข้างใต้ พระมหาธรรมราชาแกล้งทำแพไฟไหม้ปล่อยลงมาเผาเรือกองทัพพระยารามฯ ทนอยู่ไม่ไหว ก็ต้องถอยลงมาหากองทัพหลวง ฝ่ายกองทัพเมืองลานช้างรู้ว่า กองทัพในกรุงฯ ขึ้นไปถึง ก็เตรียมจะเข้าตีเมืองพิษณุโลกตามที่นัดกันไว้ แต่ได้ยินว่า กองทัพของพระยารามฯ ถอยลงไปเสียแล้ว ก็ยั้งอยู่ พอรู้ว่า กองทัพเมืองหงสาวดีเข้ามาถึง พระเจ้าไชยเชษฐาก็ล่าทัพถอยไปจากเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหินทรฯ ไม่สมคะเน ก็อ้างเหตุที่กองทัพเมืองลานช้างล่าไปแล้ว ถอยทัพกลับคืนมายังพระนครฯ แต่พระยาพุกามกับพระยาเสือหาญนายทัพหงสาวดีมาถึงช้าไป ไม่ทันรบข้าศึก เกรงความผิด ก็ยกติดตามกองทัพลานช้างต่อไป ไปเสียกล ถูกล้อม ต้องพ่ายแพ้หนีกลับมา กลัวพระเจ้าหงสาวดีจะลงอาญา อ้อนวอนพระมหาธรรมราชาให้ช่วยทูลขอโทษ พระมหาธรรมราชาเห็นเหมาะ เพราะยังมิได้เป็นข้าศึกกับกรุงศรีอยุธยาโดยเปิดเผย ก็อ้างเหตุที่จะขอโทษพระยาทั้ง ๒ นั้นรีบออกไปยังเมืองหงสาวดีไปทูลร้องทุกข์ที่ถูกสมเด็จพระมหินทรฯ ปองร้าย พระเจ้าหงสาวดีได้ทีที่จะตัดกำลังไทย ก็ตั้งพระมหาธรรมราชาให้เป็นเจ้าฟ้าศรีสรรเพ็ชญ์เจ้าประเทศราชครองเมืองเหนือทั้งปวงขึ้นต่อกรุงหงสาวดี มิต้องอยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จพระมหินทรฯ อีกต่อไป ยศเจ้าฟ้าแรกมีขึ้นในประเพณีไทยเราในครั้งนั้น แรกใช้นำพระนามแต่พระเจ้าแผ่นดิน ครั้นถึงรัชชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ เลื่อนลงมาใช้นำพระนามพระราชกุมารที่พระมารดาเป็นเจ้าสืบมาจนบัดนี้

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อได้ทราบว่า พระมหาธรรมราชาออกไปเมืองหงสาวดี สมเด็จพระมหินทรฯ ก็คาดว่าคงไปยุยงให้เกิดเหตุร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะนั้นเผอิญประจวบเวลาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งทรงผนวชเสด็จกลับเข้ามายังพระนคร สมเด็จพระมหินทรฯ ก็เชิญเสด็จขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลกด้วยดัน ชะรอยจะอ้างว่าสงสารพระวิสุทธิกษัตรีกับพระโอรสธิดาต้องอยู่เปล่าเปลี่ยว จะรับลงมาอยู่ในพระนครจนกว่าพระมหาธรรมราชากลับ จึงจะส่งคืนขึ้นไป แต่เมื่อพระเจ้าหงสาวดีทราบว่า ครอบครัวของพระมหาธรรมราชาถูกจับเป็นตัวจำนำ ก็ถือว่า สมเด็จพระมหินทรฯ ดูหมิ่น จึงสั่งให้พระมหาธรรมราชากลับเข้ามาเกณฑ์รี้พลพาหนะทางเมืองเหนือเตรียมไว้ พอถึงฤดูแล้ง พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นศึกหงสาวดีครั้งที่ ๓

(๕)

พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกกองทัพจากเมืองหงสาวดีเมื่อเดือน ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๑๑ เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปอยู่เมืองหงสาวดีได้ ๖ ปีพระชันษาเข้า ๑๕ ปี เป็นหนุ่มแล้ว พระเจ้าหงสาวดีก็ให้ตามเสด็จมาในกองทัพหลวงด้วย กองทัพหงสาวดีมาตั้งประชุมกันที่เมืองกำแพงเพ็ชร จัดกระบวนที่จะลงมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นกองทัพกษัตริย์ ๗ ทัพ นับกองทัพไทยเมืองเหนือของพระมหาธรรมราชาด้วยเป็นทัพ ๑ แต่ให้ไปสมทบกับทัพพระมหาอุปราชาเป็นทำนองกองพาหนะ จึงไม่ปรากฏว่าไทยต้องรบกันเอง จะเป็นเพราะพระเจ้าหงสาวดีไม่ไว้พระทัยหรือพระมหาธรรมราชาร้องขออย่าให้ต้องรบกันเองก็เป็นได้ ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยาเมื่อรู้ว่าพระเจ้าหงสาวดีจะยกกองทัพมาตีเมืองไทยอีก สมเด็จพระมหินทรฯ เห็นเป็นการคับขันเหลือพระกำลัง ก็ไปกราบทูลวิงวอนขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวชเสด็จกลับขึ้นครองแผ่นดินอีก ด้วยผู้คนเคยสามิภักดิ์ทั้งชาวเมืองเหนือและเมืองใต้ แม้พระมหาธรรมราชาเองก็จะค่อยยำเกรง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสงสาร ก็ลาผนวชขึ้นเสวยราชย์อีกครั้ง ๑ เมื่อเสด็จออกอยู่นอกราชสมบัติได้ ๔ ปี เห็นจะทรงผนวชได้สัก ๒ พรรษา แต่การต่อสู้ข้าศึกในครั้งนี้ไม่มีท่าทางที่จะรบรับที่อื่นได้ เพราะหัวเมืองเหนือเป็นกบฏไปเข้ากับข้าศึกเสียหมดแล้ว แม้ผู้คนตามหัวเมืองข้างตอนใต้ใกล้ราชธานีก็ตื่นแตกหลบหนีเสียมาก รวบรวมกำลังรี้พลไม่ได้บริบูรณ์ตามสมควร ก็ต้องคิดต่อสู้ด้วยเอาพระนครเป็นที่มั่น และนัดให้พระเจ้าไชยเชษฐายกกองทัพเมืองลานช้างลงมาตีกระหนาบข้าศึกเหมือนอย่างเมื่อครั้งต่อสู้พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ แต่การที่เตรียมต่อสู้ที่ในกรุงฯ ครั้งนี้ เอาความที่คุ้นเคยแก้ไขวิธีป้องกันพระนครได้เปรียบข้าศึกอยู่หลายอย่าง เพราะพระนครมีลำแม่น้ำล้อม ยากที่ข้าศึกจะข้ามเข้ามาได้ถึงกำแพงเมือง อย่าง ๑ ข้าศึกยกมาทางบกเอาปืนใหญ่มาได้แต่ขนาดย่อม ที่ในกรุงฯ มีปืนใหญ่ทุกขนาด อาจจะยิงข้าศึกได้ไกลกว่าปืนของข้าศึก อย่าง ๑ และอาจจะหาเครื่องยุทธภัณฑ์เพิ่มเติมมาได้โดยทางทะเลไม่ขาดแคลน อย่าง ๑ การที่ได้เปรียบนี้ปรากฏแต่แรกกองทัพเมืองหงสาวดียกเข้ามาถึง กองทัพของพระเจ้าหงสาวดีเข้ามาตั้งอยู่ที่ทุ่งลุมพลี ก็ถูกปืนใหญ่ยิงผู้คนและช้างม้าพาหนะล้มตายจนทนไม่ไหว ต้องถอยออกไปตั้งที่ตำบลมหาพราหมณ์ กองทัพอื่น ๆ ก็ต้องตั้งห่างพระนครออกไปตามกัน พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่าจะตีหักเอาพระนครไม่ได้ง่ายดังคาด ก็ให้กองทัพทั้ง ๗ ตั้งรายล้อมรอบพระนคร ให้เข้าตีแต่ทางด้านตะวันออก (ที่ทำทางรถไฟเดี๋ยวนี้) แต่ด้านเดียว ด้วยในสมัยนั้นคูเมืองยังเป็นคลองแคบกว่าด้านอื่น ถึงกระนั้น เข้าตีทีไรก็ถูกชาวพระนครยิงล้มตาย ต้องถอยกลับไปทุกที รบกันมาได้ไม่ช้า เผอิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรสวรรคต พวกชาวพระนครเสียใจ ก็เริ่มย่อท้อ แต่เมื่อสมเด็จพระมหินทรฯ กลับขึ้นครองราชสมบัติ ให้พระยารามฯ เป็นผู้บัญชาการต่อสู้เข้มแข็ง ข้าศึกก็ยังตีพระนครไม่ได้

พระเจ้าหงสาวดีหงสาวดีตั้งล้อมอยู่ถึง ๔ เดือน ยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยา ก็เกิดวิตกด้วยใกล้จะถึงฤดูฝน จึงปรึกษาพระมหาธรรมราชาว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะเสร็จศึกได้โดยเร็ว พระมหาธรรมราชารับอาสาจะไปว่ากล่าวเกลี้ยกล่อมชาวพระนครให้ยอมแพ้เสียโดยดี แล้วทรงพระราชยานกั้นพระกลดเข้าไปยังคูเมือง ยังไม่ทันจะเจรจาว่ากล่าวอย่างไร พอพวกชาวพระนครแลเห็นก็โกรธแค้น ระดมยิงพระมหาธรรมราชาจนต้องหนีกลับไป ไม่สามารถจะเกลี้ยกล่อมได้ จึงไปเขียนหนังสือลับให้ข้าหลวงลอบถือเข้าไปถวายพระวิสุทธิกษัตรีมเหสีที่ในพระนครว่า ศึกหงสาวดีเข้ามาล้อมประชิดพระนครได้ถึงเพียงนั้นแล้ว ไม่พอที่สมเด็จพระมหินทรฯ จะดื้อดึงต่อสู้ไปให้ผู้คนล้มตายเสียเปล่า ๆ ควรจะขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดีเสียแต่โดยดี พระเจ้าหงสาวดีก็ตรัสอยู่ว่า เหตุการณ์ทั้งปวงที่ได้มีมา เป็นเพราะพระยารามฯ คนเดียวยุยงให้พี่น้องเกิดวิวาทกัน ถ้าไม่มีพระยารามฯ กีดขวาง ก็เห็นจะกลับดีกันได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสมเด็จพระมหินทรฯ ส่งตัวพระยารามฯ ถวายพระเจ้าหงสาวดีเสียแล้วขอเป็นไมตรี พระเจ้าหงสาวดีก็เห็นจะยอมเลิกรบเหมือนอย่างครั้งก่อน พระวิสุทธิกษัตรีถวายหนังสือนั้นแก่สมเด็จพระมหินทรฯ ก็โปรดให้แม่ทัพนายกองประชุมปรึกษากัน เวลานั้นพวกแม่ทัพนายกองท้อใจมาตั้งแต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคตแล้ว ปรึกษากันเห็นว่า การต่อสู้เสียเปรียบข้าศึกมากนัก ถึงจะรบพุ่งกันไป ก็พ้นวิสัยที่จะหมายเอาชัยชะนะได้ แม้ตัวพระยารามฯ เองก็สิ้นความคิด มิรู้ที่จะทำอย่างไร จึงเห็นร่วมกันโดยมากว่า ควรจะขอเป็นไมตรีตามที่พระมหาธรรมราชาแนะนำ ในเวลานั้นพระองค์พระมหินทรฯ เองก็ทนทุกข์มาจนจวนจะประชวรอยู่แล้ว จึงตรัสอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชให้ออกไปเจรจาขอเป็นไมตรียอมแพ้ด้วยผ่อนผันกันโดยดี และให้คุมตัวพระยารามฯ ไปถวายพระเจ้าหงสาวดีด้วย พระเจ้าหงสาวดีรับตัวพระยารามฯ ไว้แล้วตรัสสั่งให้แม่ทัพนายกองปรึกษากันว่าจะควรรับเป็นไมตรีหรืออย่างไร พวกแม่ทัพนายกองปรึกษากันแล้วทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า กรุงศรีอยุธยาต่อสู้จนผู้คนในกองทัพเมืองหงสาวดีต้องล้มตายเป็นอันมาก มาขอเป็นไมตรีต่อเมื่อจวนจะเสียเมือง เปรียบเหมือนลูกไก่อยู่ในเงื้อมมือแล้ว ที่จะยอมผ่อนผันรับเป็นไมตรีหาควรไม่ พระเจ้าหงสาวดีจึงตรัสสั่งสมเด็จพระสังฆราชให้มาทูลสมเด็จพระมหินทรฯ ว่า ต้องยอมเป็นเมืองชะเลย จึงจะรับเป็นไมตรี ข้างฝ่ายไทยเมื่อตระหนักใจว่า พระเจ้าหงสาวดีหมายจะริบทรัพย์จับเอาชาวพระนครไปเป็นชะเลย ก็พากันโกรธแค้น ทูลขอรบพุ่งต่อไป ด้วยยังมีความหวังว่า กองทัพเมืองลานช้างจะมาช่วย หรือมิฉะนั้น ถ้ารักษาพระนครไว้ได้จนถึงฤดูน้ำท่วมทุ่ง กองทัพเมืองหงสาวดีก็น่าที่จะต้องเลิกทัพกลับไปเอง ขณะนั้นพอได้ข่าวว่า พระเจ้าไชยเชษฐายกกองทัพลงมาทางเมืองเพ็ชรบูรณ์ ชาวพระนครก็ยิ่งมีใจต่อสู้ข้าศึก ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีทราบว่า กองทัพเมืองลานช้างยกลงมาในเวลากำลังตีพระนครติดพันอยู่ ก็ทรงพระวิตก จึงคิดกลอุบายให้พระยารามฯ ซึ่งเคยเป็นที่สมุหนายก ปลอมตราพระราชสีห์มีศุภอักษรไปยังพระเจ้าไชยเชษฐาว่า กองทัพพระเจ้าหงสาวดีตีพระนครไม่ได้ กำลังรวนเรอยู่แล้ว ให้รีบยกลงมาตีกระหนาบหลัง กองทัพในกรุงฯ ก็จะออกไปตีทางด้านหน้าให้พร้อมกัน พระเจ้าไชยเชษฐาไม่รู้เท่า ก็สั่งให้กองทัพหน้ารีบยกมาโดยประมาท พระเจ้าหงสาวดีให้พระมหาอุปราชาไปซุ่มสะกัดอยู่ที่เมืองสระบุรีตีทัพหน้าเมืองลานช้างแตกยับเยิน พระเจ้าไชยเชษฐาเห็นจะเอาชัยชะนะข้าศึกไม่ได้ ก็ถอยกลับไปเมืองเวียงจันท์ ข่าวทราบมาถึงในกรุงฯ พวกแม่ทัพนายกองก็พากันเสียใจ สมเด็จพระมหินทรฯ ทนทุกข์ทรมานมาจนทนไม่ไหว ก็เกิดอาการประชวร เสด็จออกว่าราชการได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เวลานั้นได้พระเจ้าน้องยาเธอองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระศรีเสาวราช ช่วยบัญชาการศึกแทนพระองค์ และพวกแม่ทัพนายกองต่างก็มีมานะต่อสู้ข้าศึก กองทัพหงสาวดียังตีเอาพระนครไม่ได้ พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมพระนครมาเกือบถึง ๘ เดือน เสียไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก เกณฑ์กองทัพพระมหาธรรมราชาให้ออกไปเที่ยวตัดต้นตาลมาถมคูพระนคร จนพวกทหารข้ามไปได้ถึงกำแพงเมือง แต่ก็ยังไม่สามารถตีพระนครได้ เวลาก็ใกล้ฤดูน้ำท่วมเข้าทุกที พระเจ้าหงสาวดีจึงปรึกษากับพระมหาธรรมราชาให้เอาพระยาจักรีที่ถูกเอาไปเมืองหงสาวดีด้วยกันกับพระราเมศวรและพระสุนทรสงครามนั้นมาเกลี้ยกล่อม ก็รับอาสาเป็นไส้ศึก จึงทำกลอุบายให้เอาตัวพระยาจักรีไปจำไว้ในค่ายแห่งหนึ่ง แล้วแกล้งให้หนีไปได้ ให้ผู้คนเที่ยวค้นคว้าติดตาม และเอาผู้คุมตัดศีรษะเสียบไว้ที่ริมแม่น้ำ ให้พวกชาวพระนครเข้าใจว่านักโทษคนสำคัญหนี พระยาจักรีหนีเล็ดลอดมาได้ถึงชานเมือง พวกที่รักษาหน้าที่ก็รับตัวเข้าไปในพระนคร สมเด็จพระมหินทรฯ ไม่ทรงทราบว่าเป็นกลอุบายของข้าศึก เชื่อคำพระยาจักรีทูลว่าหนีมาได้ ก็ทรงยินดี ด้วยพระยาจักรีเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และได้เคยเป็นตัวหัวหน้าต่อสู้ศึกหงสาวดีแข็งแรงมาแต่ก่อน จึงให้พระยาจักรีเป็นผู้บัญชาการรักษาพระนครแทนพระยารามฯ พระยาจักรีสมคะเน ก็ไปเที่ยวตรวจตราตามหน้าที่ต่าง ๆ สังเกตเห็นว่าใครมีฝีมือหรือความคิดต่อสู้ข้าศึกเข็มแข็ง ก็แกล้งย้ายให้ไปรักษาหน้าที่เสียทางด้านที่ไม่มีข้าศึกเข้ามาตี เอาคนอ่อนแอเข้าประจำทำการแทน และแก้ไขกระบวนการป้องกันพระนครให้หละหลวมลงกว่าแต่ก่อน การที่พระยาจักรีทำนั้นคงมีพวกแม่ทัพนายกองบางคน เช่นพระศรีเสาวราชเป็นต้น เห็นท่วงทีวิปริตผิดสังเกต พากันโต้แย้ง พระยาจักรีก็หาเหตุทูลกล่าวโทษว่า พวกนั้นคิดเป็นกบฏ จะเอาพระศรีเสาวราชขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระมหินทรฯ หลงเชื่อฟัง ก็ให้ปลงพระชนม์พระศรีเสาวราชเสีย แต่นั้นอำนาจก็ตกอยู่แก่พระยาจักรีสิทธิ์ขาด พระยาจักรีใช้อุบายลดกำลังรักษาพระนครลงจนเห็นว่าจะต่อสู้ไม่ไหวแล้ว ก็ลอบให้สัญญาออกไปยังกองทัพพระเจ้าหงสาวดี ๆ ให้เข้าระดมตี ก็เสียพระนครอยุธยาแก่ข้าศึกเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๑๒ นับเวลาที่ต่อสู้รักษาพระนครมาได้ถึง ๙ เดือน คิดดูจึงน่าเสียใจที่เสียพระนครเพราะไทยคิดทรยศกันเอง ไม่เช่นนั้นถ้าต่อสู้ไปได้อีกสัก ๒ เดือน พอถึงเดือน ๑๑ น้ำจะท่วมทุ่งที่ข้าศึกอาศัย คงต้องถอยทัพกลับไปเอง แต่พระยาจักรีที่เป็นไส้ศึกนั้น ในพงศาวดารพะม่าว่า เดิมพระเจ้าหงสาวดีจะพูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก แต่ตัวขอไปรับราชการอยู่เมืองหงสาวดี ก็คงเป็นเพราะรู้ตัวว่าจะอยู่ดูหน้าไทยไม่ได้ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้เป็นเจ้าเมืองขึ้นแห่ง ๑ ในแดนหงสาวดี แต่มีในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าต่อมาว่า พระเจ้าหงสาวดีรังเกียจพระยาจักรีว่าเป็นคนทรยศ จะไว้ใจไม่ได้ ชุบเลี้ยงตามสัญญาอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็พาลเอาผิดให้ประหารชีวิตเสีย

(๖)

พระเจ้าหงสาวดีประสงค์จะให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองไทยต่อไป เมื่อตีพระนครศรีอยุธยาได้แล้ว จึงห้ามมิให้เผาบ้านเมือง แต่อ้างว่ากว่าจะตีได้ต้องเสียผู้คนล้มตายมากลำบากนัก เพื่อจะชดใช้ความลำบากนั้น จึงให้ริบทรัพย์จับชาวพระนครทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่เป็นชะเลยศึกเอาไปเมืองหงสาวดี แม้เจ้านายตั้งแต่องค์สมเด็จพระมหินทรฯ เป็นต้น กับทั้งขุนนางทั้งปวง พระเจ้าหงสาวดีว่าเกลียดชังพระมหาธรรมราชาอยู่โดยมาก ก็ให้เอาไปเมืองหงสาวดีเสียด้วย แต่สมเด็จพระมหินทรฯ ประชวรอยู่แล้ว ไปได้เพียงกลางทางก็สวรรคต พระเจ้าหงสาวดียอมให้พระมหาธรรมราชาขอข้าราชการกับพวกพลเมืองไว้ช่วยรักษาพระนครรวมกันเพียง ๑๐,๐๐๐ คนเท่านั้น พระเจ้าหงสาวดีตั้งพักอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาจนตลอดฤดูฝน ถึงเดือนอ้ายในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๑๒ นั้น ให้ทำพิธีปราบดาภิเษกยกพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และให้กองทัพหงสาวดีมีจำนวน ๓,๐๐๐ คนอยู่ช่วยรักษาพระนคร แล้วพระเจ้าหงสาวดีก็ยกกองทัพจากพระนครศรีอยุธยาไปตีเมืองลานช้างแก้แค้นพระเจ้าไชยเชษฐาที่ยกกองทัพลงมาช่วยเมืองไทย