ข้ามไปเนื้อหา

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554

[แก้ไข]


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554
เป็นปีที่ 66 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศูนย์คุณธรรมขึ้นเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกา ขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1

[แก้ไข]

พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554”

มาตรา 2

[แก้ไข]

พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป [1]

มาตรา 3

[แก้ไข]

ในพระราชกฤษฎีกานี้

  • คุณธรรมความดี หมายความว่า สภาพคุณงามความดีที่สังคมไทยพึงยึดถือ เพื่อสร้างประโยชน์สุขของปวงชน
  • ศูนย์ หมายความว่า ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
  • คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการบริหารศูนย์คุณธรรม
  • ผู้อำนวยการ หมายความว่า ผู้อำนวยการศูนย์
  • เจ้าหน้าที่ หมายความว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์
  • ลูกจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างศูนย์
  • รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 4

[แก้ไข]

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

หมวด 1 การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่

[แก้ไข]

มาตรา 5

[แก้ไข]

ให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้น เรียกว่า “ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “ศคธ.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Moral Promotion Center (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “MPC”

มาตรา 6

[แก้ไข]

ให้ศูนย์มีที่ตั้งของสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือในจังหวัดอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา และอาจตั้งสำนักงานสาขาได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

มาตรา 7

[แก้ไข]

ให้ศูนย์มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

  • (1) ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมพลังของกลุ่มหรือเครือข่ายทางสังคม และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่สอดคล้องกับแนวทางหรือกรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย
  • (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ค้นคว้า พัฒนาองค์ความรู้ สร้างองค์ความรู้ใหม่รวบรวมองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ บริหารจัดการความรู้ เผยแพร่องค์ความรู้ด้านคุณธรรมความดีและเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบของการประพฤติปฏิบัติดีของบุคคลและการเป็นคนดีของสังคม
  • (3) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการและนวัตกรรมในกระบวนการพัฒนาคุณธรรมความดีในรูปแบบต่าง ๆ
  • (4) ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ และการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณธรรมความดี

มาตรา 8

[แก้ไข]

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 ให้ศูนย์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • (1) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ
  • (2) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมทุกประเภทผูกพันทรัพย์สิน ตลอดจนทำนิติกรรมอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของศูนย์
  • (3) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของศูนย์
  • (4) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านคุณธรรมความดีและการดำเนินงานของศูนย์
  • (5) เข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของศูนย์
  • (6) กู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของศูนย์
  • (7) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของศูนย์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
  • (8) ดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของศูนย์

การเข้าร่วมทุนตาม (5) และการกู้ยืมเงินตาม (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หมวด 2 ทุน รายได้ และทรัพย์สิน

[แก้ไข]

มาตรา 9

[แก้ไข]

ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของศูนย์ ประกอบด้วย

  • (1) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 39
  • (2) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสม
  • (3) เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่น รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
  • (4) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของศูนย์
  • (5) ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของศูนย์

การรับเงินหรือทรัพย์สินตาม (3) จะต้องไม่กระทำในลักษณะที่ทำให้ศูนย์ขาดความเป็นอิสระหรือความเป็นกลาง

มาตรา 10

[แก้ไข]

บรรดารายได้ของศูนย์ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือสมควร ศูนย์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาจนำรายได้ของศูนย์ ในจำนวนที่เห็นสมควรส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

มาตรา 11

[แก้ไข]

ให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งศูนย์ได้มาจากการให้หรือซื้อด้วยเงินรายได้ของศูนย์เป็นกรรมสิทธิ์ของศูนย์

ให้ศูนย์มีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ จำหน่าย และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของศูนย์

มาตรา 12

[แก้ไข]

การใช้จ่ายเงินของศูนย์ ให้ใช้จ่ายไปเพื่อกิจการของศูนย์โดยเฉพาะ

การเก็บรักษาและเบิกจ่ายเงินของศูนย์ ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด 3 การบริหารและการดำเนินกิจการ

[แก้ไข]

มาตรา 13

[แก้ไข]

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารศูนย์คุณธรรม” ประกอบด้วย

  • (1) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงทางด้านการส่งเสริมคุณธรรมหรือจริยธรรม ด้านการบริหาร หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของศูนย์
  • (2) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนสามคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  • (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินหกคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการส่งเสริมคุณธรรมหรือจริยธรรม ด้านการบริหารหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของศูนย์ โดยในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำร่วมอยู่ด้วยไม่น้อยกว่าสามคน

ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ตามความจำเป็น

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งแทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระตามมาตรา 17 ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการ

มาตรา 14

[แก้ไข]

ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

  • (1) มีสัญชาติไทย
  • (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ และไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
  • (3) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  • (4) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  • (5) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
  • (6) ไม่เป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง หรือที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีสัญญาจ้างกับศูนย์
  • (7) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับศูนย์ หรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของศูนย์หรือขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของศูนย์ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้แทนของศูนย์ในการเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นตามมาตรา 8 (5)

ความใน (1) มิให้ใช้บังคับแก่กรรมการชาวต่างประเทศซึ่งศูนย์จำเป็นต้องแต่งตั้งตามข้อผูกพันหรือตามลักษณะของกิจการของศูนย์

มาตรา 15

[แก้ไข]

ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี

เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

มาตรา 16

[แก้ไข]

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

  • (1) ตาย
  • (2) ลาออก
  • (3) คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
  • (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 14

มาตรา 17

[แก้ไข]

ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แทนก็ได้

ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำ แหน่งก่อนวาระให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง และในกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้กรรมการที่เหลือเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานกรรมการเป็นการชั่วคราว

มาตรา 18

[แก้ไข]

คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลศูนย์ให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

  • (1) กำหนดทิศทาง เป้าหมาย และนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของศูนย์
  • (2) อนุมัติแผนการลงทุน แผนการเงิน และงบประมาณประจำปีของศูนย์
  • (3) ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดเก็บและอัตราค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการดำเนินกิจการของศูนย์
  • (4) ดูแลฐานะและความมั่นคงทางการเงิน ให้ความเห็นชอบรายงานการเงินพิจารณารายงานของผู้ตรวจสอบการเงิน และวางระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือข้อห้ามทางการเงิน
  • (5) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการให้ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านคุณธรรมความดีและการดำเนินงานของศูนย์
  • (6) จัดตั้งและยุบเลิกสำนักงานสาขาของศูนย์ในกรณีที่มีความจำเป็นและเห็นสมควรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของศูนย์ และกำหนดวิธีการบริหารงานของสำนักงานสาขาของศูนย์ดังกล่าว
  • (7) ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการและผู้ปฏิบัติงานของศูนย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
  • (8) ควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับศูนย์ในเรื่องดังต่อไปนี้
    • (ก) การบริหารงานทั่วไปของศูนย์ การจัดแบ่งส่วนงานของศูนย์ และขอบเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
    • (ข) การกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง
    • (ค) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การประเมินผลงาน การถอดถอน วินัยและการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษของเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้าง
    • (ง) การบริหารและการจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของศูนย์ รวมทั้งการบัญชีและการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ
    • (จ) การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง
    • (ฉ) ขอบเขตอำนาจหน้าที่และระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
    • (ช) การสรรหา การแต่งตั้ง และการถอดถอนผู้อำนวยการ การปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ และการมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทน
  • (9) กระทำการอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของศูนย์ระเบียบเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญตาม (8) (ง) ต้องเป็นไปตาม

หลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 19

[แก้ไข]

การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ในการปฏิบัติหน้าที่ ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียโดยตรง หรือโดยอ้อมในเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณา ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้นั้นแจ้งให้ที่ประชุมทราบและให้ที่ประชุมพิจารณาว่าประธานกรรมการหรือกรรมการผู้นั้นสมควรจะอยู่ในที่ประชุม หรือจะมีมติในการประชุมเรื่องนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 20

[แก้ไข]

คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของศูนย์เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

ที่ปรึกษาคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานจะต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับศูนย์ หรือในกิจการที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของศูนย์ หรือขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของศูนย์ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้แทนของศูนย์ในการเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นตามมาตรา 8 (5)

การประชุมคณะอนุกรรมการและคณะทำงานให้นำมาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลมมาตรา 21 ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ ประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 22

[แก้ไข]

ให้ศูนย์มีผู้อำนวยการคนหนึ่ง คณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสรรหา แต่งตั้ง และถอดถอนผู้อำนวยการ

ในกรณีที่ไม่มีผู้อำนวยการหรือผู้อำนวยการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองผู้อำนวยการที่มีอาวุโสตามลำดับปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าไม่มีรองผู้อำนวยการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน

มาตรา 23

[แก้ไข]

ผู้อำนวยการต้องเป็นผู้สามารถทำงานให้แก่ศูนย์ได้เต็มเวลา และต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

  • (1) มีสัญชาติไทย
  • (2) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์
  • (3) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เหมาะสมกับกิจการของศูนย์ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 7 และมาตรา 8
  • (4) ไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 14 (3) (4) (5) (6) หรือ (7)

มาตรา 24

[แก้ไข]

ผู้อำนวยการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

มาตรา 25

[แก้ไข]

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้อำนวยการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

  • (1) ตาย
  • (2) ลาออก
  • (3) ออกตามกรณีที่กำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการกับผู้อำนวยการ
  • (4) คณะกรรมการให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
  • (5) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 23

มติของคณะกรรมการให้ผู้อำนวยการออกจากตำแหน่งตาม (4) ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มีอยู่โดยไม่นับรวมตำแหน่งผู้ อำนวยการ

มาตรา 26

[แก้ไข]

ผู้อำนวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของศูนย์ให้เป็นไปตามกฎหมายวัตถุประสงค์ของศูนย์ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ และประกาศของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกตำแหน่ง เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายในตามมาตรา 34 วรรคสอง รวมทั้งให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • (1) เสนอเป้าหมาย แผนงาน และโครงการต่อคณะกรรมการ เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์บรรลุวัตถุประสงค์
  • (2) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของศูนย์ รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี ตลอดจนเสนอแผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
  • (3) เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดำเนินงานของศูนย์ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของศูนย์ต่อคณะกรรมการ

ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของศูนย์

มาตรา 27

[แก้ไข]

ผู้อำนวยการมีอำนาจ

  • (1) แต่งตั้งรองผู้อำนวยการหรือผู้ช่วยผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเพื่อเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานของผู้อำนวยการตามที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
  • (2) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่และลูกจ้างตลอดจนให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด
  • (3) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย มติของคณะรัฐมนตรี และระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ หรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 28

[แก้ไข]

ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้แทนของศูนย์ เพื่อการนี้ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

นิติกรรมใดที่ผู้อำนวยการหรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการกระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดย่อมไม่ผูกพันศูนย์ เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

มาตรา 29

[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หมวด 4 ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์

[แก้ไข]

มาตรา 30

[แก้ไข]

ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์มีสามประเภท คือ

  • (1) เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง ได้แก่ ผู้ซึ่งปฏิบัติงานโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากงบประมาณของศูนย์
  • (2) ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ผู้ซึ่งศูนย์จ้างให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญโดยมีสัญญาจ้าง
  • (3) เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาปฏิบัติงานของศูนย์เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 33

มาตรา 31

[แก้ไข]

เจ้าหน้าที่และลูกจ้างต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

  • (1) มีสัญชาติไทย
  • (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์
  • (3) สามารถทำงานให้แก่ศูนย์ได้เต็มเวลา
  • (4) มีคุณวุฒิหรือประสบการณ์เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของศูนย์
  • (5) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • (6) ไม่เป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีสัญญาจ้างกับศูนย์
  • (7) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 (3) (4) (5) หรือ (7)

ความใน (1) มิให้ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้างชาวต่างประเทศซึ่งศูนย์จำเป็นต้องจ้างหรือแต่งตั้งตามข้อผูกพันหรือตามลักษณะของกิจการของศูนย์

มาตรา 32

[แก้ไข]

เจ้าหน้าที่และลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

  • (1) ตาย
  • (2) ลาออก
  • (3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 31
  • (4) ถูกให้ออก เพราะไม่ผ่านการประเมินผลงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในระเบียบหรือข้อบังคับ
  • (5) ถูกไล่ออกหรือปลดออก เพราะผิดวินัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในระเบียบหรือข้อบังคับ

มาตรา 33

[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของศูนย์ รัฐมนตรีอาจขอให้ข้าราชการพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนอื่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ มาปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างของศูนย์เป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างของผู้นั้น และมีข้อตกลงที่ทำไว้ในการอนุมัติ

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับอนุมัติให้มาปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของศูนย์เป็นการชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการได้รับอนุญาตให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไปปฏิบัติงานใด ๆ และให้นับระยะเวลาระหว่างที่มาปฏิบัติงานในศูนย์สำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นทำนองเดียวกันเสมือนอยู่ปฏิบัติราชการ หรือปฏิบัติงานเต็มเวลาดังกล่าวแล้วแต่กรณี

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติให้มาปฏิบัติงานในศูนย์ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งมีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนในส่วนราชการหรือหน่วยงานเดิมไม่ต่ำกว่าตำแหน่งและเงินเดือนเดิมตามข้อตกลงที่ทำไว้ในการอนุมัติ

หมวด 5 การบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผลงานของศูนย์

[แก้ไข]

มาตรา 34

[แก้ไข]

การบัญชีของศูนย์ ให้จัดทำ ตามหลักสากล ตามแบบและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของศูนย์ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง

ในการตรวจสอบภายใน ให้มีผู้ปฏิบัติงานของศูนย์ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะและให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตามระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 35

[แก้ไข]

ให้ศูนย์จัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี

ในทุกรอบปี ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของศูนย์ โดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด แล้วทำบันทึกรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการ

เพื่อการนี้ ให้ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของศูนย์สอบถามผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ผู้ตรวจสอบภายใน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างหรือบุคคลอื่น และเรียกให้ส่งสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของศูนย์เป็นการเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น

มาตรา 36

[แก้ไข]

ให้ศูนย์ทำรายงานประจำปีเสนอรัฐมนตรีทุกสิ้นปีงบประมาณรายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของศูนย์ในปีที่ล่วงมาแล้ว บัญชีทำการ พร้อมทั้งรายงานของผู้สอบบัญชี รวมทั้งคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการ และแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า

มาตรา 37

[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบการปฏิบัติงานของศูนย์ให้มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ สร้างความรับผิดชอบและความเชื่อถือแก่สาธารณชนในกิจการของศูนย์ตลอดจนการติดตามความก้าวหน้าและการตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ และแผนงานที่ได้จัดทำไว้ ให้ศูนย์จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่นานกว่าสามปี

การประเมินผลการดำเนินงานตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำโดยสถาบัน หน่วยงาน องค์กรหรือคณะบุคคลที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีการคัดเลือกหรือแต่งตั้งตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

การประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์จะต้องแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏในด้านประสิทธิผลในด้านประสิทธิภาพ ในด้านการพัฒนาองค์กร และในรายละเอียดอื่นตามที่คณะกรรมการจะได้กำหนดเพิ่มเติมขึ้น

ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็นเป็นการเฉพาะกาล คณะกรรมการจะจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานเป็นครั้งคราวตามมาตรานี้ด้วยก็ได้ให้ศูนย์รายงานผลการประเมินผลการดำเนินงานต่อรัฐมนตรีและคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการด้วย

หมวด 6 การกำกับดูแล

[แก้ไข]

มาตรา 38

[แก้ไข]

ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการของศูนย์ให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ นโยบายของรัฐบาล และมติของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับศูนย์ เพื่อการนี้ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ศูนย์ชี้แจง แสดงความคิดเห็นทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำของศูนย์ที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ นโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับศูนย์ ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการของศูนย์ได้

บทเฉพาะกาล

[แก้ไข]

มาตรา 39

[แก้ไข]

เมื่อพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้รัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการ ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เพื่ออนุมัติให้มีการโอนบรรดาอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เฉพาะในส่วนของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรมที่มีอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ไปเป็นของศูนย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 40

[แก้ไข]

ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการบริหารศูนย์คุณธรรมประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงทางด้านการส่งเสริมคุณธรรมหรือจริยธรรม ด้านการบริหาร หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของศูนย์ เป็นประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการส่งเสริมคุณธรรมหรือจริยธรรม หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของศูนย์ เป็นกรรมการ และให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการตามมาตรา 41 เป็นกรรมการและเลขานุการ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

มาตรา 41

[แก้ไข]

ในวาระเริ่มแรก ให้ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรมสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

มาตรา 42

[แก้ไข]

เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม มีสิทธิขอเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของศูนย์

เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างตามวรรคหนึ่งซึ่งสมัครใจเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของศูนย์ให้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบที่คณะกรรมการตามมาตรา 40 กำหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

การเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของศูนย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ ไม่ถือเป็นการออกจากงานเพราะสังกัดเดิมเลิกจ้าง

การจะบรรจุและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างตามวรรคหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งใดให้เป็นไปตามอัตรากำลัง คุณสมบัติ และอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างที่คณะกรรมการตามมาตรา 40 กำหนดซึ่งจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับโครงสร้างและอัตรากำลังของศูนย์ที่จะมีขึ้นด้วย และจะต้องได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนหรือสวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นไม่น้อยกว่าที่เจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างผู้นั้นเคยได้รับอยู่แล้ว ทั้งนี้ โดยผู้นั้นต้องผ่านการคัดเลือกและประเมินผลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการตามมาตรา 40 กำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 10 แห่ง พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542

การบรรจุและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างที่ผ่านการคัดเลือกและประเมินผลเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของศูนย์ ให้มีผลในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มีการดำเนินการตามมาตรา 39

มาตรา 43

[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาการทำงานสำหรับคำนวณสิทธิประโยชน์ตามข้อบังคับของคณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ผู้ใดเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของศูนย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ ประสงค์จะให้นับเวลาการทำงานในขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างต่อเนื่องกับเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของศูนย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้มีสิทธิ กระทำได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้กำหนด

มาตรา 44

[แก้ไข]

ในระหว่างที่ยังไม่มีระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดของศูนย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้นำระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดของสำนักงานบริหารและ พัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ที่จะเป็นของศูนย์ตามพระราชกฤษฎีกานี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ

[แก้ไข]
  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่การดำเนินภารกิจด้านการส่งเสริมและสนับสนุนคุณธรรมความดีภายใต้บริบทของสังคมไทยซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีที่เหมาะสม และมีการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยรวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ บริหารจัดการความรู้ด้านคุณธรรมความดี ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุน และประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการและนวัตกรรมในกระบวนการพัฒนาคุณธรรมความดีในรูปแบบต่าง ๆ สมควรจัดตั้งศูนย์คุณธรรมขึ้นเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความอิสระ คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 46 ก 9 มิถุนายน 2554