ข้ามไปเนื้อหา

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
พระราชกฤษฎีกา
ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๕๗[1]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
เป็นปีที่ ๖๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๒ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้

“คณะกรรมการสรรหา” หมายความว่า คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๔

“คณะกรรมการสรรหาประจําจังหวัด” หมายความรวมถึงคณะกรรมการสรรหาประจํากรุงเทพมหานครด้วย

“จังหวัด” หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย

มาตรา ๔ ให้มีคณะกรรมการสรรหาทําหน้าที่สรรหาบุคคลด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

(๑) คณะกรรมการสรรหาด้านการเมือง
(๒) คณะกรรมการสรรหาด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
(๓) คณะกรรมการสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
(๔) คณะกรรมการสรรหาด้านการปกครองท้องถิ่น
(๕) คณะกรรมการสรรหาด้านการศึกษา
(๖) คณะกรรมการสรรหาด้านเศรษฐกิจ
(๗) คณะกรรมการสรรหาด้านพลังงาน
(๘) คณะกรรมการสรรหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
(๙) คณะกรรมการสรรหาด้านสื่อสารมวลชน
(๑๐) คณะกรรมการสรรหาด้านสังคม
(๑๑) คณะกรรมการสรรหาด้านอื่น ๆ
(๑๒) คณะกรรมการสรรหาประจําจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคณะ

มาตรา ๕ ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๔ (๑) ถึง (๑๑) แต่ละคณะ ประกอบด้วยกรรมการสรรหาจํานวนเจ็ดคนซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในด้านที่ได้รับการแต่งตั้ง ทําหน้าที่สรรหาบุคคลเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

บุคคลใดจะเป็นกรรมการสรรหาเกินหนึ่งคณะมิได

ให้กรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งประชุมเพื่อเลือกกรรมการสรรหาคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหา

ให้ประธานกรรมการสรรหาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งคนหนึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา

ให้นําความในวรรคห้าและวรรคแปดของมาตรา ๖ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

มาตรา ๖ ให้คณะกรรมการสรรหาประจําจังหวัดแต่ละจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตําบลในระดับจังหวัดของจังหวัดนั้นครั้งล่าสุด และประธานกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัด เป็นกรรมการสรรหา

ในจังหวัดใดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดด้วย ให้กรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดเลือกกันเองเพื่อให้ได้คนหนึ่งเป็นกรรมการสรรหาแทนประธานกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัด

ในจังหวัดใดมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหลายคน ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดซึ่งมีอาวุโสสูงสุดเป็นกรรมการสรรหา

ให้คณะกรรมการสรรหาประจํากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเขตในระดับจังหวัดของกรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด และประธานกรรมการการเลือกตั้งประจํากรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการสรรหา

กรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งและวรรคสี่จะแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นทําการแทนมิได้

ผู้ดํารงตําแหน่งตามวรรคหนึ่งและวรรคสี่ให้หมายความรวมถึงผู้รักษาราชการแทนผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวด้วย

ให้กรรมการสรรหาประจําจังหวัดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสี่เลือกกรรมการสรรหาประจําจังหวัดคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหาประจําจังหวัดของคณะกรรมการสรรหาประจําจังหวัดนั้น

ในกรณีที่ไม่มีกรรมการสรรหาประจําจังหวัดในตําแหน่งใด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการสรรหาประจําจังหวัดประกอบด้วยกรรมการสรรหาประจําจังหวัดเท่าที่มีอยู่ จนกว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรให้เป็นกรรมการสรรหาประจําจังหวัดแทน

ให้ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัดเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหาประจําจังหวัด

มาตรา ๗ วิธีการประชุมและการลงมติของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นไปตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาแต่ละคณะกําหนด

มาตรา ๘ ให้สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งรับผิดชอบงานเลขานุการและงานธุรการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดําเนินการสรรหาและของคณะกรรมการสรรหา เพื่อการนี้ให้สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอํานาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกฤษฎีกานี้

ให้กรรมการสรรหาได้รับค่าตอบแทนการประชุมครั้งละสองพันบาท และให้กรรมการสรรหาซึ่งเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายอีกคนละสามพันบาท

มาตรา ๙ ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๔ (๑) ถึง (๑๑) สรรหาบุคคลซึ่งสมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติคณะละไม่เกินห้าสิบคน แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรายชื่อที่ได้รับมาตามมาตรา ๑๐ ในด้านนั้น ๆ

ให้คณะกรรมการสรรหาประจําจังหวัดตามมาตรา ๔ (๑๒) สรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบุคคลซึ่งมีภูมิลําเนาในจังหวัดนั้น จังหวัดละห้าคน

การสรรหาตามมาตรานี้ ให้คํานึงถึงบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านต่าง ๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคอื่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส

มาตรา ๑๐ ในการสรรหาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาบุคคลจากชื่อที่เสนอโดยนิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากําไรมาแบ่งปันกันที่อยู่ในภาคต่าง ๆ ตามมาตรา ๙ วรรคสาม โดยแต่ละนิติบุคคลเสนอได้ไม่เกินสองชื่อ

ให้นิติบุคคลที่ประสงค์จะเสนอชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง เสนอชื่อต่อหน่วยงานที่สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนด ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๔ (๑) ถึง (๑๑)

มาตรา ๑๑ ในการเสนอชื่อบุคคลของนิติบุคคลตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ให้ดําเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ส่วนราชการ ให้เสนอชื่อตามมติของ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม แล้วแต่กรณี
(๒) รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน
(๓) หน่วยงานอื่นของรัฐที่มีคณะกรรมการเป็นผู้กํากับดูแลหรือบริหารงาน ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการดังกล่าว ในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการเป็นผู้กํากับดูแลหรือบริหารงาน ให้หัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้เสนอชื่อ
(๔) นิติบุคคลที่มีลักษณะเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือสภา ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการสมาคมหรือมูลนิธิ หรือคณะกรรมการของสภา
(๕) นิติบุคคลอื่นที่มีคณะกรรมการเป็นผู้กํากับดูแลหรือบริหารงาน ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการของนิติบุคคลนั้น
(๖) สถาบันการศึกษา ให้เสนอชื่อตามมติของสภาหรือคณะกรรมการสถาบัน
(๗) นิติบุคคลใดไม่มีคณะกรรมการเป็นผู้กํากับดูแลหรือบริหารงาน ให้ผู้มีอํานาจทําการแทนนิติบุคคลนั้นเป็นผู้เสนอชื่อ

มาตรา ๑๒ ให้นิติบุคคลตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง เสนอชื่อตามแบบที่สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนด และต้องแนบเอกสารและหลักฐานดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) สําเนาทะเบียนบ้าน และสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนหรือสําเนาบัตรประจําตัวอื่นของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้
(๒) เอกสารที่บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อแสดงความประสงค์ว่าจะเข้ารับการสรรหาในด้านใดด้านหนึ่งตามมาตรา ๔
(๓) หนังสือยินยอมให้เสนอชื่อ ทั้งนี้ บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อจะทําหนังสือยินยอมให้มีการเสนอชื่อเกินหนึ่งฉบับมิได้
(๔) คํารับรองของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อว่าตนมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด

เอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องด้วย

แบบการเสนอชื่อที่สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีรายการที่กําหนดให้ผู้เสนอต้องระบุถึงความรู้ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อด้วย

มาตรา ๑๓ ให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ รวมทั้งตรวจสอบว่าการเสนอชื่อเป็นไปโดยชอบด้วยพระราชกฤษฎีกานี้หรือไม่ แล้วส่งให้คณะกรรมการสรรหาภายในสิบวันนับแต่วันที่ครบกําหนดเวลาตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง เพื่อดําเนินการต่อไป

มาตรา ๑๔ ให้คณะกรรมการสรรหาเสนอบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามจํานวนที่กําหนดในมาตรา ๙ ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายในสิบวันนับแต่วันที่พ้นระยะเวลาตามมาตรา ๑๓

มาตรา ๑๕ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ให้ดําเนินการดังต่อไปนี้

(๑) พิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาประจําจังหวัดเสนอ จังหวัดละหนึ่งคน
(๒) พิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาแต่ละด้านตามมาตรา ๔ (๑) ถึง (๑๑) เสนอ ตามจํานวนที่เห็นสมควร แต่เมื่อรวมกับจํานวนตาม (๑) แล้ว ต้องไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน

ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินํารายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกตามวรรคหนึ่งขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๑๔ เพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป

เมื่อทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว ให้ประกาศรายชื่อนั้นในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๖ ในกรณีที่ตําแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือมีเหตุอันสมควรที่จะแต่งตั้งเพิ่ม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะดําเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งบุคคลจากบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๑๔ เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแทนตําแหน่งที่ว่างนั้นหรือเพิ่มขึ้นก็ได้

มาตรา ๑๗ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเสนอชื่อหรือการสรรหา หรือมีปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการดําเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติวินิจฉัย และเมื่อได้ดําเนินการตามคําวินิจฉัยของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยพระราชกฤษฎีกานี้และกฎหมาย

ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อให้การสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจประกาศเปลี่ยนแปลงระยะเวลา กําหนดให้ดําเนินการหรืองดเว้นการดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ได้

มาตรา ๑๘ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

หมายเหตุ

[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ บัญญัติว่า องค์ประกอบและจํานวนกรรมการในคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ วิธีการสรรหา กําหนดเวลาในการสรรหา จํานวนบุคคลที่จะต้องสรรหา และการอื่นที่จําเป็น ให้เป็นไปตามที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา จึงจําเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๕๙ ก/หน้า ๒/๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗.

ดูเพิ่ม

[แก้ไข]

ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"