พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า
การที่คณะราษฎรคณะหนึ่งซึ่งมีความปรารถนาอันแรงกล้าในอันที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสยามและชาติไทยให้หายไป แล้วจะพากันจรรโลงสยามรัฐและชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรมั่นคงเท่าเทียมกับชาติและประเทศอื่นต่อไป จึ่งพากันยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ ด้วยความมุ่งหมายจะให้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นเป็นข้อใหญ่ แล้วร้องขอไปยังเราเพื่อให้เราคงดำรงเป็นกษัตริย์แห่งสยามรัฐต่อไปภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ทั้งนี้ แม้ว่าการจะได้เป็นไปโดยขัดกับความพอพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และขัดใจสมาชิกในรัฐบาลเดิมบางคนก็ดี ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเจริญรุ่งเรืองแล้วเท่าไร ๆ ก็ไม่อาจจะก้าวล่วงการนี้เสียได้ ถึงกระนั้น ก็เพิ่งปรากฏเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของโลกที่การได้เป็นไปโดยราบรื่นปกติมิได้รุนแรง
และแม้ว่าจะได้อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคนมาประทับและไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคม ก็เพียงเพื่อประกันภัยของคณะ และเพื่อให้การดำเนิรลุล่วงไปได้เท่านั้น หาได้กระทำการประทุษฐร้ายหรือหยาบหยามอย่างใด ๆ และไม่มุ่งหมายจะกระทำเช่นนั้นด้วย ได้แต่บำรุงรับไว้ด้วยดีสมควรแก่พระเกียรติยศทุกประการ
อันที่จริง การปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่ราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ด้วย และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติอาณาประชาชนแท้ ๆ จะหาการกระทำหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็มิได้
เหตุนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดนี้ไว้ ดั่งต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชกำหนดนี้ให้เรียกว่า "พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕"
มาตรา๒ให้ใช้พระราชกำหนดนี้ตั้งแต่ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระบรมนามาภิธัยเป็นต้นไป
มาตรา๓บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านั้น ไม่ว่าของบุคคลใด ๆ ในคณะราษฎรนี้ หากว่าจะเป็นการละเมิดบทกฎหมายใด ๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475". (2475, 26 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 49, ตอน 0 ก. หน้า 163–165.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"