ข้ามไปเนื้อหา

พระราชกำหนดลักษณหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤๅเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษนาการ รัตนโกสินทร์ศก 118

จาก วิกิซอร์ซ
สารบัญ
พระราชกำหนด
คำปรารภ
มาตรา
  1. นามพระราชกำหนด
  2. กำหนดวันใช้พระราชกำหนด
  3. ห้ามมิให้ยกเอากฎหมายเก่ามาลบล้างพระราชกำหนดนี้
  4. หมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้า พระอรรคมเหสี พระบรมโอรสาธิราช แลพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ
  5. ยุยงให้ราษฎรมีใจกำเริบต่อสู้อำนาจแผ่นดิน
  6. ประจานผู้อื่นให้เสียชื่อเสียงโดยเอาข้อความฤๅสิ่งที่บังควรออกโฆษนาประกาศ
  7. เจ้าของหนังสือพิมพ์มีโทษเสมอผู้โฆษนาข้อความฤๅสิ่งที่ต้องห้าม เว้นแต่ไม่รู้เห็นด้วย และไม่ได้ให้อนุญาตอย่างสามัญ
  8. การอนุญาตอย่างสามัญนั้นอย่างไร
  9. ป้องกันผู้ขายหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ
  10. น่าที่ของกรมอัยการจะต้องฟ้อง ผู้ทำผิดต่อมาตรา 4 และมาตรา 5
  11. กำหนดฟ้องในภายใน 12 เดือน
  12. เงินปรับให้เปนพิไนยและให้เปนค่าทำขวัญแก่ผู้ถูกประจาน
  13. ผู้ทำผิดขอขะมาโทษและขอทำขวัญ ก็ให้ศาลเปรียบเทียบ

วันที่ ๙ เมษายน ๑๑๘
เล่ม ๑๖ น่า ๑๘
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชกำหนด
ลักษณหมิ่นประมาทด้วยการพูด
ฤๅเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษนาการ
รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘

ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๑ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม จุลศักราชยังเปน ๑๒๖๐ วราหะสังวัจฉระ จิตรมาศ กฤษณปักษ นะวะมีดิถี สุริยคติวิธี ลุรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘ เมษายนมาศ จะตุตถะมาสาหคุณพิเศษ ภุมวาร ปัญจมรัชกาลทวัตติงสะติมะสังวัจฉระทวาธิกสะตุตตะระสะหัสสะมุปะริทะศะสะหัสสิมะทิวสะเขตร ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ เสด็จออกณพระที่นั่งจักกรีมหาปราสาทบรมราชพิมานโดยสฐานอุตราภิมุขภายใต้พระมหานพปดลเสวตรฉัตรเหนือรัตนบรรยงก์ พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์แลเสนาบดีรัฐมนตรีองคมนตรีข้าทูลลอองธุลีพระบาทกระวีชาติราชบริพารฝ่ายทหารพลเรือนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทบงกช โดยกำหนดตำแหน่งเปนอันดับกัน

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า แต่ก่อนมา ก็มีพระราชกำหนดกฎหมายสำหรับลงโทษแลปรับไหมกันในการกล่าวถ้อยคำวาจาหยาบช้าด่าประจานกันต่าง ๆ ด้วยปากให้เปนที่อับอายอดสู เมื่อผู้ใดกระทำผิดล่วงละเมิดต่อพระราชกำหนดกฎหมายนี้ ก็ต้องรับโทษฤๅถูกปรับไหมตามโทษานุโทษไปส่วนหนึ่ง อยู่มาภายหลัง บ้านเมืองวัฒนาการรุ่งเรืองเจริญมากขึ้นกว่ากาลก่อน อาณาประชาราษฎรทั้งหลายก็มีความเปนอิศรภาพแก่ตัวขึ้นมาก จนมีโอกาศแสดงความเห็นของตนโดยเรียบเรียงแต่งเปนหนังสือวินิจฉัยความเปนไปในทางราชการรักษาบ้านเมืองบ้าง ความประพฤติดีและชั่วของข้าราชการบ้าง และความประพฤติดีและชั่วของอาณาประชาราษฎรบ้าง แล้วเอาออกประกาศโฆษณา เขียนลงในหนังสือบัตรสนเท่ห์ทิ้งบ้าง ส่งไปลงในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ บ้าง ให้รู้ทั่วกันโดยไม่ต้องมีความหวั่นหวาดแก่ความผิดร้ายอย่างไร การเช่นนี้มีคุณบ้างก็มี มีโทษบ้างก็มี ส่วนที่มีคุณนั้น คือ ผู้กล่าวนั้นแสดงความเห็นของตนโดยน้ำใจสุจริตปราศจากความรักและความโกรธ มิได้มีความเจตนาหาแต่ความชั่วร้ายอันไม่จริงมาใส่โทษท่านให้เปนที่เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณความดีไป ส่วนที่มีโทษนั้น คือ ผู้ที่กล่าวนั้นแสดงความเห็นของตนโดยน้ำใจอันทุจริตกอบไปด้วยความรักแลความโกรธ มิได้มีความเจตนาต่อประโยชน์อันดีแก่บ้านเมืองและประชาชนทั่วไป หากมีใจอาฆาฏท่านอยู่แล้วตบแต่งความชั่วร้ายอันไม่จริงมาใส่โทษท่านให้เปนที่เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณความดีไป

ครั้นอยู่มาในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศว่าด้วยทิ้งหนังสือและลงหนังสือพิมพ์ ใจความว่า คนที่เขียนหนังสือทิ้งฤๅส่งไปลงหนังสือพิมพ์กล่าวนินทาว่าประจานคนอื่นนั้น ส่อความพิรุธของตนเองว่า ข้อความที่ตนกล่าวนั้นเปนความไม่จริง ถ้าจริงแล้ว ทางที่จะว่านั้นก็ยังมีอยู่ คือ ที่โรงศาลฤๅทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้โดยเปิดเผยไม่ห้าม เมื่อผู้ใดทิ้งหนังสือฤๅส่งหนังสือไปลงในหนังสือพิมพ์นั้น ถึงว่าจะปักหน้าค่าชื่อฤๅกล่าวโทษบ้านเมืองต่าง ๆ ก็จะไม่ทรงชำระสะสางให้ แต่ความในประกาศนี้ยังหามีข้อบัญญัติไว้ไม่ว่า การที่ทิ้งหนังสือฤๅส่งหนังสือไปลงในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ กล่าวนินทาว่าประจานกันด้วยความเท็จนั้นจะเปนความผิดฤๅไม่ผิด และจะควรมีโทษฤๅไม่ควรมีโทษ เหตุฉนี้ จึงทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรจะให้มีพระราชกำหนดกฎหมายขึ้นไว้ให้เปนบันทัดสำหรับวินิจฉัยข้อคดีวิวาทซึ่งจะเกิดในการเช่นนี้ต่อไปภายน่า

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ต่อไปดังนี้

มาตราพระราชกำหนดนี้ให้เรียกว่า พระราชกำหนดลักษณหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤๅเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รัตนโกสินทรศก ๑๑๘

มาตราพระราชกำหนดนี้ให้ใช้เปนกฎหมายทั่วพระราชอาณาเขตรสยามตั้งแต่วันที่ได้ลงในพระราชกำหนดนี้เปนต้นไป

มาตราบันดาพระราชกำหนดกฎหมายเก่าบทใดซึ่งยังมิได้ให้ยกเลิกเสียนั้น ถ้าเปนการขัดขวางกับความในพระราชกำหนดนี้ในข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ก็อย่าให้ยกเอาพระราชกำหนดกฎหมายบทนั้นมาลบล้างข้อความในพระราชกำหนดนี้ ให้ถือเสียว่า เหมือนดังได้ยกเลิกพระราชกำหนดกฎหมายบทนั้นเสียฉนั้น กับประกาศในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งว่าด้วยการทิ้งหนังสือและลงหนังสือพิมพ์นั้น ก็ให้ยกเลิกเสียด้วยเหมือนกัน

มาตราผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล ฤๅสมเด็จพระอรรคมเหสี ฤๅสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ดี ฤๅสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าผู้ครองเมืองต่างประเทศ ฤๅมหาประธานาธิบดีผู้ครองเมืองต่างประเทศ ซึ่งมีทางพระราชสำพันธมิตรไมตรีอันสนิทด้วยกรุงสยามก็ดี โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤๅเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤๅกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในที่เปิดเผยท่ามกลางประชุมชนทั้งหลายด้วยกายวาจาอันมิบังควรซึ่งเปนที่แลเห็นได้ชัดว่า เปนการหมิ่นประมาทแท้ ท่านว่า ผู้นั้นกระทำผิด

เมื่อพิจารณาเปนสัตย์ว่า ผู้นั้นกระทำผิดต่อข้อห้ามดังเช่นกล่าวมานี้แล้ว ก็ให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า ๓ ปี ฤๅให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่า ๑๕๐๐ บาท ฤๅทั้งจำคุกและปรับด้วย

แต่ถ้าในเมืองต่างประเทศของสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าฤๅมหาประธานาธิบดีซึ่งถูกหมิ่นประมาทนั้นไม่มีกฎหมายห้ามและลงโทษคนในบังคับของเมืองต่างประเทศนั้นในการหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล โดยกล่าวเจรจาปาก ฤๅเขียนด้วยลายลักษณอักษร ฤๅกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในที่เปิดเผยท่ามกลางประชุมชนทั้งหลายด้วยกายวาจาอันมิบังควรซึ่งเปนที่แลเห็นได้ชัดว่า เปนการหมิ่นประมาทแล้ว ก็ห้ามมิให้ฟ้องและมิให้ลงโทษแก่ผู้หมิ่นประมาทสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าฤๅมหาประธานาธิบดีผู้ครองเมืองต่างประเทศตามมาตรานี้เหมือนกัน

มาตราผู้ใดกล่าวเจรจาด้วยปากในท่ามกลางประชุมชนทั้งหลาย ด้วยตนเองก็ดี ฤๅโฆษนาประกาศด้วยตัวเองก็ดี ฤๅสำแดงด้วยตนเองก็ดี ฤๅยังให้ผู้อื่นทำแทนตัวเองก็ดี ในสรรพถ้อยคำวาจา ฤๅลายลักษณอักษร ฤๅเครื่องหมายต่าง ๆ ฤๅสิ่งอื่นอันเปนที่ให้เข้าใจได้ชัดเจนฤๅให้เปนที่แลเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเปนข้อความฤๅสิ่งที่มิบังควร ด้วยมีความปราถนาจะให้เปนเหตุอันร้าย ๓ ประการ ดังนี้ คือ

ข้อเพื่อจะยุยงส่งเสิมให้อาณาประชาราษฎรทั้งหลายคิดเอาใจออกหากจากความซื่อสัตย์สวามิภักดิ์ต่อพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑลก็ดี ฤๅเพื่อจะยังให้รัฐบาลฤๅพระราชประเพณีสำหรับการปกครองบ้านเมืองอันได้ตั้งขึ้นไว้แล้วตามกฎหมาย ฤๅรัฐมนตรีสภา ฤๅการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงตามกฎหมายของสยามรัฐมณฑลนี้ก็ดี ให้เปนที่หมิ่นประมาทดูถูกในท่ามกลางประชุมชนทั้งหลายทั่วไป ประการหนึ่ง

ข้อเพื่อจะยุยงส่งเสิมให้อาณาประชาราษฎรทั้งหลายคิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชประเพณีราชการสำหรับปกครองสยามรัฐมณฑลอันได้ตั้งขึ้นไว้แล้วตามกฎหมาย ในทางใดทางหนึ่งนอกจากทางที่ชอบด้วยกฎหมาย ประการหนึ่ง และ

ข้อเพื่อจะยุยงส่งเสิมให้อาณาประชาราษฎรทั้งหลายมีใจเกลียดชังซึ่งกันแลกัน แล้วก่อการประทุษฐร้ายกันต่าง ๆ ประการหนึ่ง ท่านว่า ผู้นั้นกระทำผิด

เมื่อพิจารณาเปนสัตย์ว่า ผู้นั้นกระทำผิดต่อข้อห้ามดังเช่นกล่าวมาแล้ว ก็ให้จำคุกไว้มีกำหนดไม่เกินกว่า ๓ ปี ฤๅให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่ากว่า ๑๕๐๐ บาท ฤๅทั้งจำคุกแลปรับด้วย เว้นไว้แต่ผู้นั้นมีความประสงค์แต่จะชี้แจงความพลั้งพลาดฤๅความไม่เต็มบริบูรณในการปฏิบัติน่าที่ราชการของรัฐบาลก็ดี ฤๅในข้อความของพระราชประเพณีสำหรับปกครองบ้านเมืองอันได้ตั้งขึ้นไว้แล้วตามกฎหมายทั้งหมดฤๅแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ดี ฤๅในข้อความของการพิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมาย คือ

ข้อกล่าวคือ ผู้นั้นซึ่งกล่าวเจรจาพูดฤๅเขียนโฆษนาประกาศเห็นว่า การปฏิบัติน่าที่ราชการของรัฐบาลอย่างนั้น ฤๅพระราชประเพณีสำหรับปกครองบ้านเมืองอย่างนั้น จะเปนดีกว่าฤๅจะเปนที่พอใจกว่าการปฏิบัติน่าที่ราชการของรัฐบาลฤๅพระราชประเพณีสำหรับปกครองบ้านเมืองอันได้ตั้งขึ้นไว้แล้วตามกฎหมายซึ่งยังคงมีอยู่ในสมัยนั้น

ข้อกล่าวคือ ผู้นั้นมีความประสงค์แต่ที่จะแนะนำให้อาณาประชาราษฎรทั้งหลายคิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชประเพณีราชการสำหรับปกครองสยามรัฐมณฑลอันได้ตั้งขึ้นไว้แล้วตามกฎหมายในทางใดทางหนึ่งซึ่งไม่เปนที่ห้ามตามกฎหมาย และ

ข้อผู้นั้นมีความประสงค์แต่จะชี้แจงให้เห็นว่า ขนบธรรมเนียมราชการอันใดอันหนึ่งซึ่งตนเชื่อว่า นำให้เกิดผลอันไม่ดี ยังให้อาณาประชาราษฎรทั้งหลายมีน้ำใจกระด้างกระเดื่องเกลียดชังซึ่งกันแลกันจนจะเกิดอันตรายขึ้น เพื่อจะจะให้เลิกถอนฤๅแก้ไขขนบธรรมเนียมราชการอันนั้นเสีย

เมื่อผู้นั้นมีความประสงค์แต่จะชี้แจงข้อความซึ่งได้ยกเว้นไว้ ๓ ข้อเหมือนดังว่ามานี้แล้ว ท่านว่า ผู้นั้นไม่มีผิด หาโทษมิได้

มาตราผู้ใดโฆษนาประกาศเอง ฤๅยังให้ผู้อื่นโฆษนาประกาศแทนตัว เพื่อให้คนทั้งหลาย (จะเปนคนผู้ถูกหมิ่นประมาทเองก็ดี ฤๅคนอื่นก็ดี) ได้อ่านได้เห็นฤๅได้รับข้อความอันใดอันหนึ่ง ฤๅสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เปนถ้อยคำวาจา ฤๅเครื่องหมาย ที่ได้เขียน ฤๅตีพิมพ์ ฤๅทำอย่างอื่นให้แลเห็นเปนที่เข้าใจได้ จะเปนความจริงก็ดี ฤๅมิเปนความจริงก็ดี ซึ่งตนมุ่งหมายจะหมิ่นประมาทผู้อื่นฤๅจะยั่วเย้าให้ผู้อื่นโกรธแค้นด้วยข้อความฤๅสิ่งที่กล่าวมาแล้วที่เปนเหตุประจานผู้อื่นให้ได้รับความเกลียดชัง ความเย้ยเยาะ ฤๅความสบประมาทดูถูกของมหาชนทั้งหลาย จนเขาต้องเสียชื่อเสียงกิตติคุณความดีไป ท่านว่า ผู้นั้นกระทำผิด

เมื่อพิจารณาเปนสัตย์ว่า ผู้นั้นกระทำผิดต่อข้อห้ามดังเช่นกล่าวมาแล้ว ก็ให้จำคุกไว้มีกำหนดไม่เกินกว่า ๒ ปี ฤๅให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่า ๑๐๐๐ บาท ฤๅทั้งจำคุกและปรับด้วย

เว้นไว้แต่ผู้นั้นโฆษนาประกาศเอง ฤๅยังให้ผู้อื่นโฆษนาประกาศแทนตัว ด้วยข้อความฤๅสิ่งซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

ข้อข้อความฤๅสิ่งใดซึ่งตนเอามาสำแดงฤๅอ่านในเวลาพิจารณาคดีในศาลใดศาลหนึ่ง ฤๅในเวลาใต่สวนเหตุการอันใดอันหนึ่ง ตามพระบรมราชโองการ ฤๅตามคำสั่งของรัฐมนตรีสภา ฤๅตามคำสั่งของเสนาบดีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ฤๅตามอำนาจของพระราชกำหนดกฎหมายบทใดบทหนึ่งซึ่งยังคงใช้อยู่ฤๅซึ่งจะได้ตั้งขึ้นไว้ต่อไปภายน่า อันเปนข้อความฤๅสิ่งที่เกี่ยวกับการพิจารณาฤๅการไต่สวนนั้น ด้วยเหตุที่ตนเชื่อโดยใจอันสุจริตว่า ควรเอามาสำแดงฤๅอ่านในการพิจารณาฤๅการไต่สวนนั้นได้

ข้อข้อความฤๅสิ่งใดซึ่งตนใส่ลงในฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย ฤๅในเรื่องราวซึ่งตนมุ่งหมายโดยใจอันสุจริตว่า จะยื่นต่อเสนาบดีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง และต้องเปนเรื่องราวที่เสนาบดีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งมีน่าที่รับไว้วินิจฉัยได้ตามพระราชกำหนดกฎหมาย

ข้อข้อความฤๅสิ่งใดซึ่งมีอยู่ในรายงานการปฤกษาตั้งกฎหมายในรัฐมนตรีสภาก็ดี ฤๅในรายงานการไต่สวนฤๅการพิจารณาคดีในศาลใดศาลหนึ่งก็ดี โดยย่อก็ดี ฤๅโดยพิศดารก็ดี อันเปนรายงานที่ถูกต้องจริง ซึ่งตนนำเอามาโฆษนาประกาศ ฤๅซึ่งตนแต่งเปนคำวินิจฉัยข้อความฤๅสิ่งใดที่มีอยู่ในรายงานนั้นในทางที่ตนเห็นเปนยุติธรรมโดยจริงใจอันสุจริตแล้วออกโฆษนาประกาศ

ข้อข้อความฤๅสิ่งใดซึ่งเปนความจริงแท้ และซึ่งเปนหิตานุหิตประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลายควรรู้ทั่วไปแล้ว ตนนำเอาออกโฆษนาประกาศ ด้วยมีความเจตนาจะให้เปนหิตานุหิตประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลายจะได้รู้ทั่วไป

ข้อข้อความฤๅสิ่งใดที่เปนจริงก็ดี ฤๅมิเปนจริงก็ดี ซึ่งตนได้เขียนเปนลายลักษณอักษรไปให้ผู้หนึ่งทราบ โดยที่ตนมีเหตุอันสมควรเชื่อว่า เปนจริง และโดยที่ตนมีเหตุอันสมควรที่จะให้ผู้นั้นทราบไว้ และในการที่ตนเขียนลายลักษณอักษรกล่าวถึงข้อความฤๅสิ่งดังว่ามาแล้วไปให้ผู้นั้นทราบนั้น ตนมิได้มีใจชิงชังโกรธแค้นฤๅอีจฉาอาฆาฏผู้ที่ต้องถูกประจานด้วยข้อความฤๅสิ่งนั้นเลย

ข้อข้อความฤๅสิ่งใดที่เปนจริงก็ดี ฤๅมิเปนจริงก็ดี ซึ่งตนเอาออกโฆษนาประกาศ เพื่อประสงค์จะชี้แจงป้องกันรักษาตัวของตัว ประการหนึ่ง แลเพื่อประสงค์จะร้องขอความยุติธรรมในเรื่องที่ตนได้รับความข่มเหงแล้ว ประการหนึ่ง และในการโฆษนาประกาศดังนี้ ตนต้องสะแดงให้เห็นว่า ข้อความฤๅสิ่งนั้น ตนมีมูลที่พอจะเชื่อได้ว่า เปนความจริง กับการที่ตนโฆษนาประกาศด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่มากมายเหลือเกินกว่าความจำเปนในความประสงค์ประการใดประการหนึ่งดังที่ว่ามาแล้วนั้น

ข้อข้อความฤๅสิ่งใดที่เปนจริงก็ดี ฤๅมิเปนจริงก็ดี ซึ่งตนเอาออกโฆษนาประกาศโดยมีเหตุอันสมควรที่ตนเชื่อว่า เปนจริง เพื่อประสงค์จะเชิญให้มหาชนทั้งหลายสะแดงความเห็นให้เกิดหิตานุหิตประโยชน์ทั่วกัน

ข้อข้อความฤๅสิ่งใดที่เปนจริงก็ดี ฤๅมิเปนจริงก็ดี ซึ่งตนเอาออกโฆษนาโดยสะแดงความเห็นของตนที่เกี่ยวด้วยคนใดคนหนึ่งฤๅสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเปนคนฤๅสิ่งที่มหาชนทั้งหลายควรจะสะแดงความเห็นเกี่ยวข้องได้ และในการสะแดงความเห็นเช่นนี้ ตนต้องมีเหตุผลอันสมควรที่จะกล่าวและต้องกอบไปด้วยความระวังอย่างมาก อย่าให้ร้ายแรงเปนที่เสียหายแก่คนฤๅสิ่งนั้นจนเกินไปกว่าความจำเปน

เมื่อผู้นั้นโฆษนาประกาศเองฤๅยังให้ผู้อื่นโฆษนาประกาศแทนตัวด้วยข้อความซึ่งได้ยกเว้น ๘ ข้อเหมือนดังว่ามานี้แล้ว ท่านว่า ผู้นั้นไม่มีผิด หาโทษมิได้

มาตราผู้ใดซึ่งลงทุนออกหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ขายเอากำไรแต่คนเดียวก็ดี ฤๅลงทุนเข้าหุ้นส่วนด้วยผู้อื่นออกหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ขายเอากำไรด้วยกันก็ดี ถ้ามีข้อความฤๅสิ่งใดซึ่งต้องห้ามโดยพระราชกำหนดนี้ลงโฆษนาประกาศในหนังสือพิมพ์ของตนแล้ว ท่านว่า ผู้นั้นกระทำผิด และต้องรับโทษเสมอกับผู้ที่เอาข้อความฤๅสิ่งซึ่งต้องห้ามโดยพระกำหนดนี้ออกโฆษนาประกาศเองฤๅให้ผู้อื่นเอาออกโฆษนาประกาศแทนตนฉนั้น เว้นไว้แต่ผู้นั้นจะสืบให้สมจริงได้ว่า การที่เอาข้อความฤๅสิ่งซึ่งต้องห้ามโดยพระราชกำหนดนี้ลงในหนังสือพิมพ์ของตนนั้น ตนมิได้รู้เห็นด้วยแลตนมิได้ให้อนุญาตอย่างสามัญทั่วไปฤๅอย่างอื่นในการที่นำเอาลงในหนังสือพิมพ์ของตนนั้น

มาตราการอนุญาตอย่างสามัญทั่วไปซึ่งเจ้าของหนังสือพิมพ์มอบให้แก่ผู้จัดการดูแลการออกหนังสือพิมพ์นั้น ต้องถือว่า ไม่ใช่เปนการอนุญาตให้ผู้จัดการนำเอาข้อความฤๅสิ่งซึ่งต้องห้ามโดยพระราชกำหนดนี้ลงโฆษนาประกาศในหนังสือพิมพ์นั้น เว้นไว้แต่การอนุญาตอย่างสามัญทั่วไปนั้นมีปรากฎชัดว่า เจ้าของหนังสือพิมพ์ยอมให้เอาข้อความฤๅสิ่งซึ่งต้องห้ามโดยพระราชกำหนดนี้ลงในหนังสือพิมพ์ด้วย ฤๅเว้นไว้แต่เจ้าของหนังสือพิมพ์ได้เห็นชอบด้วยในการที่นำเอาข้อความฤๅสิ่งซึ่งต้องห้ามโดยพระราชกำหนดนี้ลงในหนังสือพิมพ์ของตนด้วย

มาตราผู้ใดรับเอาสรรพสมุดหนังสือเรื่องต่าง ๆ หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ฤๅลายลักษณอักษรอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ฤๅเขียนฤๅใช้เครื่องหมายอย่างใดซึ่งนำให้แลเห็นเปนที่เข้าใจได้ไปจำหน่ายขายเช่นขายสินค้าตามธรรมดานั้น ท่านว่า ผู้นั้นไม่ได้กระทำผิด และไม่ต้องรับโทษเสมอผู้ที่เอาข้อความฤๅสิ่งซึ่งต้องห้ามโดยพระราชกำหนดนี้ออกโฆษนาประกาศ เว้นไว้แต่จะสืบให้สมจริงได้ว่า ผู้นั้นได้รู้อยู่แล้วว่า สมุดหนังสือเรื่องต่าง ๆ หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ฤๅลายลักษณอักษรอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งตนรับเอามาจำหน่ายขายนั้นมีข้อความฤๅสิ่งซึ่งต้องห้ามโดยพระราชกำหนดนี้ ฤๅในส่วนหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งเคยออกอยู่นั้น ผู้นั้นได้รู้อยู่ว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเคยลงข้อความฤๅสิ่งซึ่งต้องห้ามโดยพระราชกำหนดนี้อยู่เนือง ๆ

มาตรา๑๐ผู้ใดกระทำผิดต่อข้อห้ามในมาตรา ๔ แลมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดนี้ ถ้าในมณฑลกรุงเทพฯ ต้องเปนน่าที่ของเจ้ากรมอัยการจะต้องฟ้องร้องกล่าวโทษ ถ้าในมณฑลหัวเมือง ต้องเปนน่าที่ของพนักงานอัยการจะต้องฟ้องร้องกล่าวโทษ แต่ต้องได้รับความอนุมัติของข้าหลวงเทศาภิบาลเสียก่อน พนักงานอัยการจึงจะฟ้องร้องได้

ห้ามไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่งนอกจากเจ้ากรมอัยการ ในมณฑลกรุงเทพฯ และพนักงานอัยการ ในมณฑลหัวเมือง ฟ้องร้องกล่าวโทษผู้กระทำผิดดังเช่นว่ามานี้ เว้นไว้แต่ตนได้รับอนุญาตให้ฟ้องเสียก่อน จึงจะร้องฟ้องได้ ถ้าในมณฑลกรุงเทพฯ ต้องขอและรับอนุญาตจากเจ้ากรมอัยการ ถ้าในมณฑลหัวเมือง ต้องขอและรับอนุญาตจากข้าหลวงเทศาภิบาล เจ้ากรมอัยการฤๅข้าหลวงเทศาภิบาลจะไม่ให้อนุญาตโดยมีเหตุอันสมควรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ฤๅเจ้ากรมอัยการจะฟ้องเสียเองฤๅข้าหลวงเทศาภิบาลจะสั่งให้พนักงานอัยการฟ้องเสียเองก็ได้

มาตรา๑๑กรมอัยการ ในมณฑลกรุงเทพฯ ก็ดี ฤๅพนักงานอัยการ ในมณฑลหัวเมืองก็ดี ฤๅคนอื่นผู้ถูกประจานก็ดี จะฟ้องกล่าวโทษผู้ใดผู้หนึ่งหาว่า กระทำผิดต่อมาตราใดมาตราหนึ่งแห่งพระราชกำหนดนี้ ต้องยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนด ๑๒ เดือนนับตั้งแต่วันที่ผู้ต้องหาซึ่งเปนจำเลยได้กระทำผิดเปนต้นไป เว้นแต่ผู้กล่าวหาซึ่งเปนโจทย์นั้นมีกิจธุระของตนเองฤๅมีกิจราชการไปอยู่ยังหัวเมืองไกลในพระราชอาณาเฃตรก็ดี ฤๅไปอยู่ยังหัวเมืองต่างประเทศนอกพระราชอาณาเฃตรก็ดี ยังไม่รู้ว่า ตนถูกประจานซึ่งเปนการที่ต้องห้ามตามพระราชกำหนดนี้ ครั้นกลับมาแล้วจึงรู้เข้าดังนี้ ก็ให้ผู้นั้นยื่นฟ้องต่อศาลได้ภายในกำหนด ๖ เดือนนับตั้งแต่วันที่ตนกลับมาถึงบ้านเรือนเปนต้นไป

ถ้ายื่นฟ้องพ้นกำหนดดังว่ามานี้แล้ว ห้ามมิให้ศาลรับฟ้องไว้พิจารณา ฤๅถ้าศาลได้รับไว้แล้วโดยไม่รู้ว่า พ้นกำหนด ภายหลังจึงรู้ว่า พ้นกำหนดแล้ว ก็ให้ตัดสินยกฟ้องนั้นเสีย

มาตรา๑๒บันดาเงินซึ่งศาลปรับผู้กระทำผิดต่อมาตรา ๔ และมาตรา ๕ นั้น ต้องให้ส่งเปนพิไนยไว้จ่ายราชการ แต่เงินซึ่งศาลปรับผู้กระทำผิดต่อมาตรา ๖ นั้น ต้องเปนเงินทำขวัญให้แก่ผู้ซึ่งถูกประจานด้วยข้อความฤๅสิ่งซึ่งต้องห้ามโดยพระราชกำหนดนี้ ซึ่งมาเปนโจทย์ฟ้องร้องกล่าวโทษผู้กระทำผิด

มาตรา๑๓ผู้ใดซึ่งกระทำผิดต่อข้อห้ามในมาตรา ๖ แห่งพระราชกำหนดนี้ รู้สึกว่า ตนกระทำผิดจริง แล้วตนได้นำเอาคำขอขะมาโทษต่อผู้ซึ่งถูกประจานออกโฆษนาประกาศ กับได้นำเอาเงินทำขวัญมากน้อยเท่าใดสุดแต่ตนจะเห็นสมควร (แต่ไม่มากกว่าเงินที่ตนจะต้องถูกปรับ) ไปวางไว้กลางศาลเพื่อจะให้แก่ผู้ซึ่งถูกประจานก่อนเวลาวันเดือนปีที่ศาลกำหนดนัดพิจารณาความแล้ว ก็ให้ศาลเปรียบเทียบให้ผู้ซึ่งถูกประจานที่เปนโจทย์รับคำขะมาโทษและรับเอาเงินทำขวัญไป แล้วให้ความเปนเลิกแล้วแก่กัน ถ้าผู้ซึ่งถูกประจานที่เปนโจทย์นั้นไม่ยอมตามคำเปรียบเทียบแล้ว ก็ให้ศาลพิจารณาความเรื่องนั้นต่อไป ถ้าพิจารณาได้ความว่า ผู้นั้นกระทำผิดจริง แต่ความผิดนั้นไม่ร้ายแรงมากมายจนถึงกับจะเปนเหตุให้ผู้ถูกประจานต้องรับทัณฑโทษตามกฎหมาย ก็ให้ศาลถือว่า การที่ผู้นั้นได้ขอขะมาโทษแลยอมทำขวัญดังว่ามาแล้วนั้น ควรเปนเหตุที่จะกรุณาลดหย่อนผ่อนโทษผู้นั้นให้เบาลงแต่เพียงปรับเท่านั้น เว้นไว้แต่ความผิดของผู้นั้นมากมายจนถึงกับจะเปนเหตุให้ผู้ถูกประจานต้องรับทัณฑโทษตามกฎหมาย จึงควรลงโทษจำคุก

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"