ข้ามไปเนื้อหา

พระราชกำหนดวิธีปกครองหัวเมืองครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ

จาก วิกิซอร์ซ
ตราของหอพระสมุดวชิรญาณ
ตราของหอพระสมุดวชิรญาณ
พระราชกำหนดวิธีปกครองหัวเมือง
ครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ
พิมพ์ในงารปลงศพนายพลอย ณป้อมเพ็ชร์
เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

นายพลอย ณป้อมเพ็ชร์

คำนำ

พระราชกำหนดวิธีปกครองหัวเมืองครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระนี้มีอยู่ในสมุดไทยเล่ม ๑ หอพระสมุดวชิรญาณได้มา ครวจดูเห็นมีพระราชกำหนดครั้งกรุงเก่าอยู่ในนั้นหลายบทซึ่งยังมิได้รวมพิมพ์อยู่ในกฎหมาย ๒ เล่ม เห็นควรพิมพ์รักษาไว้มิให้สูญเสีย จึงได้พิมพ์ลงไว้ในหนังสือเทศาภิบาล เล่ม ๙ ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ครั้งหนึ่ง แต่หนังสือเทศาภิบาลที่พิมพ์คราวนั้นมิได้แจกจ่ายเปนสาธารณะ แจกไปแต่ตามกระทรวงราชการโดยมาก

บัดนี้ คุณหญิงศรีสุริยพาหะพร้อมด้วยพี่น้องจะทำการปลงศพสนองคุณนายพลอย ณป้อมเพ็ชร ผู้บิดา ประสงค์จะพิมพ์หนังสือแจกเนื่องในการกุศลทักษิณานุปทานเวลาฌาปนกิจสักเรื่องหนึ่ง จึงมอบฉันทะให้พระยาศรีสุริยพาหะมาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครขอให้กรรมการราชบัณฑิตยสภาช่วยเลือกเรื่องหนังสือให้ แลแสดงความประสงค์จะใคร่ได้หนังสือที่เกี่ยวด้วยกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าจึงเลือกหนังสือเรื่องนี้ให้พิมพ์ตามประสงค์ หวังว่าจะให้ประโยชน์ความรู้ในทางวรรณคดีบ้างมิมากก็น้อย

ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในการกุศลบุญราศีทักษิณานุปทานซึ่งคุณหญิงศรีสุริยพาหะพร้อมด้วยพี่น้องได้บำเพ็ญเปนปัตติทานมัยฐานมาตาปิตุปัฏฐานธรรมด้วยความกตัญญูกตเวที แลที่ได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลาย

  • หอพระสมุดวชิรญาณ
  • วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๙
  • ลายมือชื่อของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
  • นายกราชบัณฑิตยสภา

พระราชกำหนดวิธีปกครองหัวเมือง
ครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ

กฎให้แก่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการแลขุนยุกรบัตรกรมการทั้งหลาย ด้วยพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า แต่นี้ไปเมื่อหน้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดไปอยู่รักษาเมืองแลผู้รั้งเมืองเอกโทตรีจัตวาทั้งปวง แลไปราชการพระราชสงคราม แลมิได้บอกสารทุกข์ แลมิได้มีหนังสือมา แลมาเองนั้น มิชอบ จะให้ลงพระราชอาญาถึงสิ้นชีวิต อนึ่ง บอกกิจสุขทุกข์มา แลมีหนังสือไปหาให้มา แลมาก่อน แลหนังสือไปหา แลพบแต่กลางทางนั้น มิชอบ แลจะให้ลงพระราชอาชญาโดยโทษานุโทษ อนึ่ง อย่าให้เจ้าเมืองแลรั้งเมืองเก็บเอาลูกหลานราษฎรทั้งหลายมาเปนเมียแลคนใช้ ถ้าพ่อแม่พี่น้องญาติรักสมัคให้ด้วยไมตรีก็ดี กล่าวถามให้คำนับไซ้ ก็ให้ตามพ่อแม่พี่น้องญาติสมัคด้วยนั้น อนึ่ง จะตัดไม้ทำเรือนเอาโดยขนาดเจ้าเมืองทั้งหลายทอดไปแก่พลเมืองให้ทำโดยเจ้าเมืองทั้งหลายอันให้ทำแต่ในรัฐสำหรับเมืองนั้นก่อน ผิจะทำเรือนทำเรือเจ้าเมืองแลบุตรภรรยาเจ้าเมืองนอกทำเมืองให้เจ้าเมืองชาวโคแลเกวียนพลเมืองตัดไม้นั้นแลให้ค่าจ้างเปนค่าราษฎรเคยจ้าง อนึ่ง ให้เจ้าเมืองผู้รักษาพยาบาลประชาราษฎรอันมีในจักรวรรดิแขวงเมืองนี้อย่าให้มีผู้เบียดเบียนกรรโชกรุมรันฆ่าฟันไพร่เมืองท่าน ถ้าแลเจ้าเมืองแลผู้รั้งเจ้าเมืองมิได้พิทักษ์รักษาราษฎรไพร่เมือง แลผู้ร้ายปล้นสดมภ์เบียดเบียนกรรโชกรุมรันฟันแทงไพร่ทั้งหลายได้ไซ้ จะให้ลงโทษแก่เจ้าเมืองแลผู้รั้งจงหนัก ถ้ามีผู้มากรรโชกล้ำเหลือที่จะว่ามิได้ไซ้ ให้บอกหนังสือเข้าไปยังมหาดไทยให้เอากราบทูลพระกรุณาให้ทราบฝ่าลอองฯ อนึ่ง จะนั่งพิพากษากิจบ้านเมืองแลราษฎรร้องฟ้องสำหรับเมืองนั้นประการใด ให้ยุกรบัตรรู้เห็นผิดแลชอบนั้นด้วย อนึ่ง ชาวต่างเมืองไปเปนความด้วยชาวเมืองใด ๆ ไซร้ ให้ยุกรบัตรนำชี้แก่เจ้าเมือง อย่าให้ผู้ใดเอาชี้นอกขุนยุกรบัตร อนึ่ง ให้เจ้าเมืองผู้รั้งแลยุกรบัตรพิจารณาดูตราซึ่งจะออกมาเอากระทรวงความทั้งปวงนั้น แลชอบด้วยพระราชกำหนดแลพระธรรมนูญให้ใช้ตรานั้น จึงให้ทำตามพระราชกำหนดแลพระธรรมนูญนั้น ถ้าแลตราผู้ใดออกไปเอาก็ค้างความ แลมิต้องด้วยพระราชกำหนดแลพระธรรมนูญนี้ไซ้ อย่าให้ส่ง แลให้บอกหนังสือแลเอาตัวผู้ถือตรานั้นส่งเข้ามายังมหาดไทย อนึ่ง แลเจ้าเมืองจะออกไปรักษาเมืองแลรั้งเมืองก็ดี อย่าให้ให้เอาสมกาสังกัดพันไว้เปนสมกำลังเอา ครั้นออกไปถึงเมืองไซ้ ให้กรมการนำด่านทางตำบลใดจะไปต่อแดนตำบลใดก็ดี ให้รู้จักตำบลแล้ว แลให้เจ้าเมืองผู้รั้งแลกรมการไปพิจารณาดูด่านจักรวรรดิแขวงเมืองนั้นจงทั่วให้รู้จักว่า จักรวรรดิด่านใดไปต่อแดนตำบลใดแลเห็นมิมั่นคง ถ้าแลที่ใดชอบกล ให้ตั้งด่านจงมั่นคง แลตั้งขุนหมื่นกรมการอันพ่อแก่พ่อร้างแลไพร่สมควรสรรพไปด้วยศัสตราอาวุธผลัดกันอยู่รักษาด่านอย่าให้ขาด ถ้าแลทางตำบลใดเห็นจะเล็ดลอดมาได้แลจะรักษายากไซ้ ให้ตัดไม้ทับทางตำบลนั้นเสียแล้ว แลให้ลงขวากหนามจงหนักหนา แลแต่งกรมการตรวจตระเวรด่านบรรจบกันทุกตำบลอย่าให้ขาด ถ้าแลพบลาวมอญประม่านไทยใหญ่เขมรราษฎรไปค้าขายแลหาตราเบิกด่านมิได้ก็ดี มีผู้ถือตราเบิกด่านญวนลาวมอญประม่านไทยใหญ่เขมรราษฎรแปลกปลอมนอกตราเบิกด่านก็ดี ให้คุมเอาผู้ถือตราแปลกปลอมมานั้นส่งเข้าไปยังกรุงฯ จงฉับพลัน อย่าให้หลบหลีกเปนเหตุการณ์ประการใด ๆ อนึ่ง ให้เจ้าเมืองแลผู้รั้งรู้สารบาญชีหมู่ทหาร แลไพร่หลวงข้าพระโยมสงฆ์สมนอกสมในสมกำลังกรมการ แลกรมการ แลคนแอบแฝงหาสารบาญชีมิได้ แลข้าหนีเจ้าไพร่หนีนาย ให้รู้จักมั่นแม่น แลให้รู้ว่า พลเมืองแตกฉานไปอยู่เมืองใด ๆ ก็ดี ไปซุ่มซ่อนอยู่ณป่าดงก็ดี ให้แต่งไปส้องสุมเอาให้ได้แล้ว แลให้รู้เหตุไปซุ่มซ่อนอยู่ณป่าดง ผู้ใดข่มเหงรุกราชบาทว์ให้ราษฎรแค้นเคืองเปนมั่นแม่น อนึ่ง ถ้าแลเห็นเปนเหล่าเปนกอแลส้องสุมเอามิได้ ให้บอกหนังสือแลส่งตัวผู้ข่มเหงแลตำบลที่ราษฎรไปซุ่มซ่อนอยู่แลแค้นเคืองนั้นให้บอกเข้าไปจงแจ้งจงฉับพลัน อนึ่ง ให้เจ้าเมืองแลยุกรบัตรแลกรมการให้รู้สารบาญชีช้างใหญ่น้อยศอกนิ้วเข้าไปณมหาดไทยจงแจ้ง อนึ่ง ให้รู้จักว่า คนเมืองใดตำบลใดมาแอบแฝงอยู่ณเมืองนั้นมากน้อยเท่าใด ให้รู้จักไว้จงมั่นคง ครั้นมีราชการเมื่อใด จะได้ราชการเมื่อนั้น อนึ่ง กรมการซึ่งหาตัวมิได้ ให้จัดเอาเปนพ่อแก่แม่ร้างอันสัตย์ซื่อมิได้เบียดเบียนประชาราษฎรเปนกรมการให้ครบ อนึ่ง ให้บำรุงชาวด่าน แลให้จัดซ่องเอาสมีใหม่ซึ่งหาบาญชีมิได้ แลข้าหนีเจ้าไพร่หนีนาย ให้เอาใจเปนชาวด่านจงมั่นคง แล้วบอกสารบาญชีเข้าไปจงฉับพลันให้จงแจ้งแล้ว ถ้าแลสัสดีเกณฑ์เอาชาวด่านไปราชการสิ่งใด อย่าเพ่อให้ส่งชาวด่านนั้น แลให้บอกหนังสือเข้าไปยังมหาดไทยก่อน เมื่อใดมีหนังสือออกมาว่าประการใด จึงให้ทำตาม อนึ่ง ให้ว่ากรมการแลนายอำเภอแขวงนายบ้านให้พิทักษ์รักษาให้ว่าราชการซึ่งอยู่อำเภอทั้งปวงผู้ใดเข้าไปรับราชการผู้ใดไปแห่งใด แลให้พิจารณาได้จงทุกเดือนอย่าให้ขาด แลมีราชการสิ่งใดจึงจะครบด้วยราชการ อนึ่ง ให้ขุนหมื่นชาวด่านแลไพร่จงสมควรผลัดกันไปตระเวนด่านถึงแดนต่อแดนจงทุกตำบลจงทุกเดือนอย่าให้ขาด ถ้าได้กิจราชการเปนประการใดไซ้ ให้บอกเข้าไปจงฉับพลันแลให้แจ้งแล้ว อนึ่ง ถ้าแลมีตราพระราชสีห์แลตราโกษาธิบดีมายังแก่เจ้าเมืองแลผู้รั้งกรมการด้วยการพระราชสงคราม แลกิจราชการซึ่งบำรุงกรุงเทพพระมหานคร แลกิจต้องพระราชประสงค์ แลการให้ทำกำแพงแลค่ายคูจะรักษาเมืองนั้นก็ดี ถ้าให้เจ้าเมืองแลผู้รั้งกรมการตอบแลให้รับเอาทำตามตรามานั้น ถ้าแลราชการนั้นพ้นกำลังเปนประการใดไซ้ ให้บอกหนังสือฟ้องเข้ามา อนึ่ง ถ้าทอดราชการสิ่งใดแก่พลเมืองทั้งปวง ให้เจ้าเมืองแลผู้รั้งยุกรบัตรพิจารณาแล้ว แลให้ยกสมกำลังกรมการไว้พอราชการ ด้วยกรมการเหลือนั้นให้มาตั้งทอดราชการด้วยพลเมืองจงทั่วกัน อย่าให้กรมการป้องกันสมกำลังพรรคพวกบ่าวไพร่เหลือนั้นไว้ได้ อนึ่ง ผู้รับราชการเปนหัวเมืองเอกโทตรีจัตวาก็ดี จงรั้งคดีที่จะพิทักษ์รักษาบ้านเมืองการทั้งปวงเอาเปนอารมณ์ซึ่งชอบด้วยผู้รักษาเมืองร่วมขัณฑเสมาซึ่งจะให้มั่นคงสืบไปเมื่อหน้านั้น อนึ่ง ให้รู้ว่า ไพร่ทั้งปวงแค้นเคืองด้วยกรมการทั้งปวงข้าหลวงคนเร็วม้าใช้ไปมากิจราชการ แลข่มเหงเอาทรัพย์สินของเงินทองแก่ประชาราษฎรทั้งปวงให้มีความยากแค้นเคือง ถ้าแลประชาราษฎรมาฟ้องให้เจ้าเมืองแลผู้รั้งยุกรบัตรถามข้าหลวงคนเร็วม้าใช้ข่มเหงนั้นเปนสัตย์ไซ้ ให้เรียกเอาทรัพย์สิ่งของเงินทองนั้นส่งให้แก่ราษฎร ถ้าแลกรมการข้าหลวงคนเร็วม้าใช้ทำเหลือจะถามเอาทรัพย์สิ่งของให้แก่ราษฎรด้วยฉับพลันมิได้ไซ้ ให้กฎหมายจงมั่นแม่น แลครั้นข้าหลวงคนเร็วม้าใช้ข่มเหงราษฎรนั้นแลกลับมาแต่ราชการเมื่อใดไซ้ ให้กรมการบอกหนังสือคุมเอาราษฎรซึ่งข้าหลวงคนเร็วม้าใช้ทำข่มเหงนั้นเข้าไปยังกรุงเทพฯ ถ้าแลกรมการผู้ใดข่มเหงราษฎรกรรโชกราษฎรด้วยสิ่งใดไซ้ ให้ถามจงสัตย์ แล้วให้กรมการนั้นเข้ามายังกรุงเทพพระมหานคร อนึ่ง ถ้าท้าวพระยาพระเมืองขุนหมื่นพันทนายแลหมู่องครักษ์แลคนเร็วม้าใช้ไปคอยกิจราชการเจ้าเมืองแลผู้รั้งกรมการ มิได้ตามพระราชกำหนดกฎหมาย แลทำล้ำเหลือรุกราษฎร์พระสาสนาอาราม แลข่มเหงตีด่าฆ่าฟันสมณะประชาราษฎรทั้งปวง เอาทรัพย์สิ่งของแลช้างม้าโคกระบือเกวียนแลกรรโชกราษฎรทั้งปวงแลให้แค้นเคืองด้วยประการใดก็ดี ถ้าแลต้องเจ้าเมืองแลผู้รั้งแลกรมการไซ้ ให้ยุกรบัตรกฎหมายไว้จงมั่นแม่น แลให้ปลัดยุกรบัตรกฎหมายบอกหนังสือเข้าไป ถ้าต้องปลัดต้องยุกรบัตรแลกรมการไซ้ ให้เจ้าเมืองผู้รั้งบอกหนังสือเข้าไปยังลูกขุนณศาลา ถ้าต้องเจ้าเมืองผู้รั้ง ให้ขุนปลัดขุนยุกรบัตรบอกหนังสือเข้าไปยังมหาดไทย ถ้าแลมหาดไทยมิเอาว่าให้มูลนายพระยาบ้านนำเอาแค้นเคืองนั้นเข้าไปฟ้องณศาลาลูกขุนเปนหลายครั้ง แลมิเอาว่าให้ทำฎีกาให้มูลนายประชาบาลนำมาฟ้องมิได้ไซ้ ให้ทำฎีกายื่นณศาลาลูกขุน แลให้ขุนดาบนำเอาว่าตามธรรมเนียม แลยุกรบัตรกรมการแลผู้ใดว่าราชการนั้นลอกเอากฎนี้ไว้จงทุกคน อนึ่ง ให้รู้จักสารบาญชีซึ่งว่าคนอยู่ณจังหวัดเมืองนั้นไพร่หลวงแลสมในสมนอกข้าพระโยมสงฆ์แลพลเมืองสมสังกัดทั้งปวงนั้นหมู่ใดกรมใดเท่าใดช้างโคม้ากระบือไร่นาเท่าใด ให้เอาสารบาญชีไว้จงแจ้งจงสิ้นเชิง อนึ่ง ให้รู้สารบาญชีว่า ข้าหนีเจ้าไพร่หนีนาย แลคนแอบแฝงเข้ามาอยู่บ้านใดตำบลใดณแขวงเมืองนี้ แลเดิมเปนหมู่ใดกรมใดแลอยู่แขวงเมืองใด แลแค้นเคืองด้วยเนื้อความประการใดแลจึงมาอยู่ณแขวงนี้ แลแต่มาอยู่นี้ช้านานเท่าใด อนึ่ง ถ้าคนจรมาซัดพลัดซุ่มซ่อนอยู่ณป่าดงห้วยเขาณจักรวรรดิแขวงเมืองนี้ไซ้ ให้รู้จักว่า ซุ่มซ่อนอยู่เปนเหล่าเปนกอสกรรจ์อพยพมากน้อยเท่าใด ๆ อยู่แห่งใดตำบลใดเท่าใด แลทางใกล้ไกลเมืองเท่าใด ให้รู้จักมั่นแม่น แลให้เอาแก่เจ้าเมืองแลผู้รั้งให้จัดส้องไว้สำหรับเมืองจงมั่นคง ถ้าพ้นกำลัง ให้บอกเข้าไปยังกรุงฯ อนึ่ง คนอยู่อำเภอแขวงเมืองนี้แล ให้รู้ที่ภูมิลำเนาตามอำเภอ แลรื้อเรือนไปอยู่อำเภออื่นนั้น เปนเหตุสิ่งใดจึงไปจากบ้านเซิงอยู่ แลมิได้อยู่เข้าบ้านเลย แลตั้งบ้านอื่นนั้นด้วยอันใด แลผู้อยู่อื่นมาตั้งบ้านใหม่ปีละเท่าใด แลคนอยู่เมืองนี้แลไปทำมาหากินอยู่ด้วยผู้ใดก็ดีเมืองอื่นไซ้ ให้มีหนังสือยุกรบัตรแลกรมการบอกไปณเมืองนั้นว่า คนเมืองไปอยู่ทำมาหากินในบ้านนั้นแขวงเมืองนั้น ถ้าแลหาตรายุกรบัตรแลกรมการบอกไปมิได้แลไปอยู่ไซ้ ให้บอกหนังสือเข้าไปยังมหาดไทย อนึ่ง เมืองนี้่บ้านนี้ขี่ตำบล แลตำบลหนึ่งมีคนมากน้อยเท่าใด แลผู้จะเปนนายนั้นคนซึ่งอยู่บ้านแต่ก่อนมากน้อยเท่าใด มาอยู่ใหม่มากน้อยเท่าใด ให้รู้จัดทุกคน อนึ่ง ผู้จะเปนยุกรบัตร ครั้นราชการสิ่งใดจะเอาโดยฉับพลันมาให้นายอำเภอแลแขวงนายบ้านให้รับคนก็ดี ให้ทำตามราชการจงฉับพลันมานั้นก็ดี แลมิได้คนไซ้ ให้มัดผูกนายอำเภอแลแขวงนายบ้านตีรันเอาให้ได้จงฉับพลันให้ทันราชการสิ่งนั้น ถ้ามิได้คนสารโทษนั้นตกแก่ยุกรบัตร อนึ่ง ถ้าคนอยู่ณแขวงเมืองนี้เข้าไปทำราชการแลหลบหลีกออกมาก็ดี แลเปนผู้ร้ายก็ดี ข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลคนจรจัดพลัด แลมีตราออกมาให้เอาเข้าไปทำราชการ แลพิจารณาแลยอมจำหน่ายว่าหนีแลจับเอาตัวมิได้นั้น โทษอยู่แก่ยุกรบัตรแลนายอำเภอแลนายบ้าน ด้วยมิรู้จักสารบาญชี แลมิได้ตรวจด่านตระเวนให้มั่นคงมิให้คนเล็ดลอดหนีไปจากแขวงเมืองนี้ได้ แลให้ขุนหมื่นกรมการประกับด้วยชาวด่านตระเวนบรรจบต่อกันต่อเมืองนั้นอย่าให้ขาด ให้รู้จักว่า ผู้นั้นมาตระเวนพบกันนั้นแล้ว แลมันมิพบผู้คนผิดประหลาทหามิได้ ให้บอกหนังสือทัณฑ์บลเข้าไปยังกรุงเทพฯ จงทุกเดือนอย่าให้ขาด อนึ่ง ผู้จะเปนกรมการ ให้ตั้งใจสมัคภักดีรักษาอบขัณฑเสมาประชาราษฎรทั้งปวงให้เปนสุข แลอย่าให้ตั้งกรมการแขวงนายบ้านอันขี้ฉ้อโกหกขี้ตระบัตรแลแต่ชื่อ ๆ มาเปนกรมการ แลแขวงนายบ้านอำเภอใด ถ้าผู้ใดจะมาข่มเห่งประชาราษฎรทั้งปวง แลรู้เห็นด้วยประการใดไซ้ จะให้เอาเงินหลอมใส่ปากเสีย อนึ่ง กฎมาให้ทำสิ่งใด ๆ ให้พิจารณา ก็ให้ทำจงทุกสิ่งให้ชอบด้วยราชการ ถ้ามิได้ทำตาม จะให้มีโทษถึงสิ้นชีวิต อนึ่ง ครั้นปลัดยุกรบัตรเข้าไปกิจราชการก็ดี มารับพระราชทานน้ำพระพัฒนสัจจาเมื่อใด จะให้มหาดไทยแลกรมวังถามด้วยกิจราชการแลกิจสุขทุกข์ราษฎรทั้งปวง แลคนแอบแฝงซุ่มซ่อมจรจัดพลัดให้ ๆ การจนสิ้นเชิง ถ้าแลมิว่าตามจริงไซ้ จะให้เฆี่ยนถามให้สิ้นเชิง ถ้าแลเข้ามาแก้แต่ปากเปล่าแลให้การมิได้ไซ้ จะให้มีโทษถึงสิ้นชีวิต อนึ่ง ถ้าเทศกาลการพระราชพิธีตรุษสารทไซ้ ยุกรบัตรเข้าไปถือน้ำพระพัฒนสัจจาโดยการพระราชพิธี อนึ่ง ถ้าเทศกาลจะทำนาแลอาณาประชาราษฎรทั้งปวงทำนั้นน้อยอยู่ภูมิไซ้ ให้ยุกรบัตรแลเจ้าเมืองแลผู้รั้งแลกรมการแลกำนันให้ว่าแก่ราษฎรทั้งปวงนั้นให้ทำนาจงมั่งคั่งกว่าก่อนนั้น ถ้าแลทำนามากน้อยเท่าใด ให้เร่งรัดเอาใจอย่าให้พ้นเทศกาล ถ้าแลผู้ใดมิฟัง ให้บอกหนังสือเข้าไป แลสิ่งใดจะเปนงารวัน อย่าให้เปนงารเดือน แลกรมการทั้งหลายลอกเอากฎใส่สมุดไว้จงทุกคน แต่ต้นกฎนี้ ให้ยุกรบัตรเอาไว้ ถ้าแลมีผู้จะมาผลัดรับราชการเปนยุกรบัตรแลกรมการไซ้ ส่งกฎนี้แลกฎซึ่งลอกไว้นั้นให้แก่ผู้จะมาเปนกรมการแทนจงสิ้น ครั้นสืบไปเมื่อหน้า ให้ผู้เปนขุนยุกรบัตรแลกรมการทั้งปวงทำตามกฎหมายนี้แลกฎซึ่งมีมาแต่ก่อนนั้นจงทุกประการ ถ้าแลมิได้ทำตามกฎมานี้แลกฎหมายซึ่งมาแต่ก่อนไซ้ จะให้มีโทษถึงสิ้นชีวิต

กฎให้ไว้แต่ณวัน ค่ำ จุลศักราช ๑๐๘๙ ปีมะแม นพศก.

  • พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
  • ตำบลถนนราชบพิธ จังหวัดพระนคร
  • วันที่ ๒๙ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๙

บรรณานุกรม

[แก้ไข]
  • หอพระสมุดวชิรญาณ (ผู้รวบรวม). (2469). พระราชกำหนดวิธีปกครองหัวเมืองครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (พิมพ์ในงารปลงศพนายพลอย ณป้อมเพ็ชร์ เมื่อปีขาล พ.ศ. 2469).

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก