พระราชดำรัสทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา

จาก วิกิซอร์ซ
พระราชดำรัสทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา.

ณวันเสาร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออกณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงตั้งองคมนตรีแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นโดยกระแสพระราชดำรัส ดังนี้

พระราชดำรัส

ขอขอบพระทัยและขอบใจท่านทั้งหลายผู้เปนองคมนตรีที่ได้กระทำสัตยสัญญารับจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรงจงรักภักดีต่อตัวเรา.

ตั้งแต่เราได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์แห่งสมเด็จพระบุรพมหาราชเจ้าซึ่งได้ทรงปกครองป้องกันและทำนุบำรุงสยามประเทศอันเปนที่รักของเราทั้งหลายให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมาช้านาน. เราก็รู้สึกความรับผิดชอบในส่วนเรา ซึ่งจะต้องพยายามปกครองสยามประเทศกับทั้งประชาชนทั้งหลายให้ร่มเย็นเปนสันติสุข และให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง โดยเต็มความสามารถของเราที่จะพึงกระทำได้ทุกอย่างทุกประการต่อไปจนสุดกำลัง. อาศัยความปรารภที่กล่าวมา. เราคิดเห็นว่า ตามราชประเพณีซึ่งมีอยู่ในบัดนี้ พระเจ้าแผ่นดินมีมนตรีสำหรับเปนที่ทรงปรึกษาหารือสองคณะด้วยกัน. คือ องคมนตรีซึ่งทรงตั้งไว้เปนจำนวนมากสำหรับทรงปรึกษากิจการพิเศษอันเกิดขึ้นฉะเพาะสิ่งฉะเพาะอย่างคณะ ๑, กับเสนาบดีสภาผู้บังคับบัญชาราชการกระทรวงต่าง ๆ มีจำนวนหย่อนญี่สิบ สำหรับทรงปรึกษาหารือราชการอันกำหนดไว้เปนหน้าที่ในกระทรวงนั้น ๆ คณะ ๑, แต่ยังมีราชการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเปนการสำคัญอย่างยิ่ง กล่าวคือ ที่จะคิดให้กิจการตลอดรัฏฐาภิปาลโนบายของรัฐบาลเปนอุปการอันหนึ่งอันเดียวกันทุกกระทรวงทบวงการแต่ก่อนมาตกอยู่แต่ตามพระบรมราชวินิจฉัย, แม้มีพระราชประสงค์จะทรงปรึกษาหารือผู้อื่นก็ได้อาศัยแต่เสนาบดีสภา. เราเห็นว่า ยังไม่เหมาะ เพราะเหตุที่เสนาบดีสภาสมาชิกตั้งตามตำแหน่งกระทรวงมีจำนวนมากนั้นอย่าง ๑, และล้วนเปนเจ้าหน้าที่ฉะเพาะกิจการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งนั้นอีกอย่าง ๑, เราจึงคิดจะตั้งมนตรีขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง เรียกว่า "อภิรัฐมนตรีสภา" ให้มีจำนวนสมาชิกแต่น้อย สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงปรึกษาราชการทั้งปวงเปนนิจ เพื่อจะได้เปนกำลังแก่การที่ทรงพระราชวินิจฉัยราชการทั้งปวง. ในการตั้งสภาอภิรัฐมนตรีนี้ ผู้ซึ่งสมควรจะเปนสมาชิกจำต้องเปนผู้ซึ่งมีความคุ้นเคยและชำนิชำนาญราชการมากมาแต่ก่อน และประกอบด้วยเกียรติคุณทั้งความปรีชาสามารถ สมควรเปนที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินตลอดจนมหาชนทั้งหลาย, เราจึงได้เลือกสรร—

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ ๑

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ ๑

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์ ๑

กรมพระดำรงราชานุภาพ พระองค์ ๑

กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระองค์ ๑

ด้วยทั้ง ๕ พระองค์นี้ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญมาแต่รัชกาลที่ ๕ เคยเปนที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ทั้งได้คุ้นเคยทราบกระแสพระราชดำริห์และพระบรมราโชบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาแต่ก่อน ล้วนทรงปรีชาสามารถและมีเกียรติคุณจะหาผู้อื่นเสมอเหมือนได้ยาก. เราตั้งให้เจ้านายผู้ใหญ่ทั้ง ๕ พระองค์เปนอภิรัฐมนตรีแต่นี้ไป ด้วยไว้วางใจในความซื่อตรงจงรักภักดีซึ่งทรงมีต่อบ้านเมืองและตัวเราด้วยกันทุกพระองค์. การที่เราคิดจัดดังกล่าวมานี้ หวังว่า จะเปนคุณเปนประโยชน์สืบต่อไป.

ในที่สุด เราขออำนวยพรแก่บรรดาองคมนตรี. ขอให้คุณพระศรีรัตนตรัยบันดาลให้ท่านทั้งหลายเจริญสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลชนมสุขสถาพรทุกประการเทอญ ๚

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก