ข้ามไปเนื้อหา

พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว/บทที่ 10

จาก วิกิซอร์ซ
สารบัญ
พระราชนิยม เรื่อง ให้ใช้สรรพนามสิ่งต่าง ๆ และตัวสะกดหนังสือ
  1. ให้เรียก "กางเกงไทย" แทน "กางเกงจีน"
  2. ให้เรียก "สัตยาบัน" แทน "รติฟิเคชั่น"
  3. ให้เรียก "ยาตราทัพ" แทน "กรีฑาทัพ"
  4. ให้ใช้คำว่า "เสด็จออกทะเลเพื่อทอดพระเนตรการฝึกซ้อมในกองทัพเรือ" แทนคำว่า "เสด็จพระราชดำเนินประพาสทะเล"
  5. อธิบายความหมายของคำ Reich ในภาษาเยอรมัน
  6. ให้เขียนคำว่า "บัญชี" แทนคำว่า "บาญชี"
  7. ให้เขียนคำว่า "สมพัตสร" แทนคำว่า "สมพักศร"
  8. ให้เขียนคำว่า "ประพาส" แทนคำว่า "ประพาศ"
  9. แปลยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  10. แปลเทียบศัพท์เกี่ยวกับการศึกษา
  11. เทียบตำแหน่งในกระทรวงวังเป็นภาษาต่าง ๆ
  12. เทียบศัพท์นามเมือง

วันที่ ๘ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๓๐
ถึง พระยาไพศาล

จดหมายและระเบียบการ ได้อ่านตลอดแล้ว ในหมู่นี้มีงานติด ๆ กันนัก จึงพึ่งมีเวลาพิจารณาโดยละเอียด แลพึ่งจะมีโกาสตอบมาบัดนี้

ข้อความที่บอกมาเรื่องมิสเตอร์สิเวลนั้น เป็นที่พอใจแล้ว หวังใจว่า มิสเตอร์สิเวลจะอยู่มั่นคงไปได้นาน กับในระหว่างที่มิสเตอร์สิเวลเป็นอาจารย์อยู่ในโรงเรียนมหาดเล็กนั้น จะควรอนุญาตให้ใช้เครื่องแต่งตัวอย่างมหาดเล็กได้กระมัง บางทีจะทำให้เป็นเครื่องบำรุงน้ำใจอย่าง ๑ ถ้าเจ้าเห็นชอบด้วยแล้ว จะได้มีคำสั่งอนุญาตให้ต่อไป แลคงเป็นที่เข้าใจกันว่า ในเมื่อแต่งธรรมดา มิสเตอร์สิเวลไม่ต้องนุ่งผ้ากับยุนิฟอร์ม เพราะได้มีอนุญาตให้แล้ว ให้ข้าราชการที่เป็นชาวยุโรปใช้กางเกงผ้าขาวขายาวแทนผ้าไหมสีน้ำเงินได้ แต่งนุ่งกางเกงขาว เสื้อขาว ติดคอแผ่นผ้า ดูก็จะเข้าทีดี หมวกก็ใช้หมวกกันแดดอย่างแบบที่ข้าราชการไทย ๆ เราใช้อยู่แล้วนั้นเอง

หม่อมหลวงทิศทิศที่จัดให้เข้ามาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่อยู่ก่อนนั้น เป็นการดีแล้ว จะได้ทำความคุ้นเคยไว้ ถ้าเมื่อได้เข้าทำการตามหน้าที่แล้ว ก็จะได้ตั้งให้เป็นหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ ซึ่งเป็นชื่อคิดขึ้นไว้เป็นคู่กันกับ หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ของเดิม

ระเบียบการนั้นดีแล้ว แต่ขอแก้คำบ้าง คือ คำเรียกเทอมว่า "เทอมวิสาขบูชา" กับ "เทอมมาฆบูชา" ทั้ง ๒ นี้ ถ้าตัด "บูชา" ออกเสีย จะกะทัดรัดกว่า แล "วิสาขะ" กับ "มาฆะ" ก็เป็นคำที่คนโดยมากเรียกชื่อการบูชาทั้ง ๒ อย่างนั้นอยู่แล้ว คงจะเป็นที่เข้าใจกันดี กับกางเกงชนิดที่เรียกได้ว่า "กางเกงจีน" นั้น อยากให้แก้เรียก "กางเกงไทย" เรื่องชื่อกางเกงนี้ได้โจษกันขึ้นเมื่อไปทะเลคราวที่แล้วมานี้เอง เวลานี้กำลังแค้นเจ๊กด้วยเรื่องต่าง ๆ จึ่งกล่าวติเตียนอยู่ มีใครก็จำไม่ได้กล่าวขึ้นว่า ไทยเราควรขอบใจเจ๊กอยู่อย่าง ๑ ที่เราได้เอากางเกงของเขามาใช้นุ่ง เป็นของสบายนัก ข้าจึงตอบว่า ในโบราณกาลจะเป็นมาแล้วอย่างไรไม่ทราบ บางทีไทยจะได้จำอย่างกางเกงมาจากจีนจริง แต่ไทยเราได้เคยนุ่งกางเกงมาช้านานแล้ว เมื่อเขมรมาเป็นนาย บังคับให้ไทยนุ่งผ้า ยังนุ่งทับกางเกงเข้าไปอีกชั้น ๑ ดังปรากฏอยู่ในเครื่องต้นแลเครื่องละครจนทุกวันนี้ แลในปัตยุบันนี้ กางเกงที่เรียกกันว่า "กางเกงจีน" นั้น ข้าไม่เห็นเจ๊กใช้เลย เห็นแต่คนไทยนุ่ง กางเกงที่เจ๊กใช้ เห็นขาแคบ ๆ ทั้งนั้น เพราะเมืองเขาหนาว นุ่งกางเกงอย่างเรา ๆ นุ่งกันทนไม่ได้ ข้าจึงเห็นว่า กางเกงที่พวกเรา ๆ ใช้นุ่งกันอยู่กับบ้าน ควรจะเรียกว่า "กางเกงไทย" มากกว่า "กางเกงจีน" กรมหลวงดำรง[1] รับรอง แลยังมีคำอธิบายอีกชั้น ๑ ว่า "กางเกงไทย คือ กางเกงที่ถลกขาขึ้นถ่ายปัสสาวะได้" ซึ่งเป็นเดฟินิชั่นที่ตลก ๆ แต่ก็ตรงอยู่

เรื่องเปิดโรงเรียนนั้น ในชั้นต้นควรมีงานแต่เล็กน้อย เพียงแต่สวดมนต์เลี้ยงพระ แลควรเป็นการทำบุญของโรงเรียนเองก่อน ถ้าแม้ข้าจะไปในงานนั้น ก็เป็นไปช่วยส่วนตัว คล้าย ๆ งานขึ้นโรงเรียนมหาดเล็กใหม่ ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ แลปว่า ไม่ต้องมีบัตรหมายอันใด ส่วนวันนั้นก็ให้เข้าปรึกษาหารือกับกรรมการตกลงกันแล้วบอกให้ทราบด้วย

อนึ่ง เห็นว่า กรมหลวงดำรง[1] เป็นผู้ที่มีความคิดในการศึกษาดีอยู่ จึงได้ขอให้เป็นผู้ตรวจพิเศษ ()[2] ของโรงเรียนมหาดเล็กด้วย ได้บอกพระยาเทพให้ทราบแล้ว เขาจะได้บอกเจ้าแล้วหรือยังไม่ทราบ เห็นควรจะลงพระนามไว้ในระเบียบการ แลถ้ายังมิได้แจ้งความในราชกิจจา ก็ควรแจ้งความไปเสียด้วย

กับมีอยู่อีกข้อ ๑ ซึ่งข้าควรจะบอกเจ้าไว้ คือ มีนักเรียนหลวงบางคนได้เคยฝึกหัดวิชาโขนอยู่แล้ว ถ้าจะทิ้งเสีย ข้าก็ออกเสียดาย เพราะวิชานี้มันจะสูญอยู่แล้ว ยังมีที่หวังอยู่ในแต่พวกนี้ เพราะฉะนั้น ข้าอยากจะขอให้ได้มีโอกาสฝึกซ้อมต่อไปบ้างตามสมควร แลบางครั้งบางคราว ถ้าจวน ๆ จะเล่น อาจจะต้องขอมาซ้อมผสมบ้าง การซ้อมผสมเช่นนี้บางทีก็มีต้องอยู่ดึกไปบ้าง แต่คงจะไม่มีบ่อยนัก แลข้าเข้าใจว่า เด็ก ๆ ไม่ใคร่จะรู้สึกอะไร เพราะเคยสังเกตมาแล้วว่า เวลาไรที่มิใช่บทเรียน เขาก็แอบไปหลับไปงีบกันได้ ถ้าแม้จะต้องขาดในระเบียบเวลาไปบ้าง ก็คงจะมีแต่ในตอนเช้า ซึ่งเห็นจดไว้เป็นเวลาสำหรับหัดทหารหรือหัดยิมนาสติกส์อยู่ในตัวแล้ว ผู้ที่ข้าจะขอมาฝึกซ้อมโขนเป็นพิเศษเช่นกล่าวมาแล้วนั้นคงจะเป็นจำพวกนักเรียนหลวงทั้งสิ้น ซึ่งแปลว่า ถ้าเสียเวลาเรียนบ้าง จะต้องอยู่ในโรงเรียนช้าไป แลเสียเงินค่าเรียนนานไปอีก ก็เป็นเงินของข้าเอง ไม่ต้องเกรงใจใคร.

(พระบรมนามาภิไธย) วชิราวุธ

หนังสือต่างประเทศ ที่ ๒๖๐ ลงวันที่ ๑๔ มกร ๒๔๖๒ เรียนพระราชปฏิบัติในคำใช้แทน รติฟิเคชั่น โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ว่า สัตยาบัน.

ต้นเรื่องเก็บอยู่ทางสัญญาสันติภาพ เลข ๑๖/๕๔.

เสนาบดีกระทรวงวัง Minister of the Royal Household. Le Ministre de la Maison Royale.
ปลัดบัญชาการกระทรวงวัง Chief Secretary of the Ministry of the Royal Household. Le Grand Secretaire de la Ministère de la Maison Royale.
ปลัดบาญชีกระทรวงวัง Comptroller of the Ministry of the Royal Household. Le Chef de la Comptabilité de la Ministère de la Maison Royale.
สมุหะพระราชมณเฑียร Grand Marshal of the Court. Le Grand Maréchal de le Cour.
สมุหะพระตำรวจ Captain-General of His Majesty's Royal Bodyguard of Gentlemen-at-Arms. Le Capitaine-Général de la Garde du Corps Personnel de Sa Majesté.
สมุหะพระราชพิธี Grand Master of Ceremonies. Le Grand Maître des Cérémonies.
สมุหะพระนิติศาสตร์ His Majesty's Principal Legal Councillor. Le Grand Conseiller Légal de Sa Majesté.

สำเนา
ที่ ๑๗๓/๖๔
ทูลเกล้าฯ ถวายที่ ๒๙/๕/๖๔
พระราชทานออกมาที่ ๓๐/๕/๖๔
 
หนังสือเรื่อง พระราชกระแส
ขอเดชะ
เรื่องร่างพระราชบัญญัติประถมศึกษาซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจแล้วส่งความเห็นไปให้เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการดูอีกที โดยพระราชทานนัยะไว้ว่า เมื่อมีเวลาได้อ่านกันดูแล้ว แลถ้าความเห็นเป็นทางต่าง ๆ กัน ก็จะได้นำปรึกษาในประชุมเสนาบดีนั้น บัดนี้ เสนาบดีศึกษาฯ ได้ตอบแก้ข้อทักท้วงของเสนาบดีนครบาล ฯลฯ มาแล้ว
ข้อสำคัญที่เสนาบดีนครบาลทักท้วงในชั้นต้น คือ
(๑)สงสัยในประโยชน์ของการที่จะบังคับพลเมืองให้เรียนหนังสือ แลถ้าต้องไปเรียนหมดจะเป็นการตัดทอนกำลังแลเปลืองทรัพย์ของครอบครัว
(๒)เกรงว่า จะเป็นการปลีกการเล่าเรียนออกจากวัด เพราะเด็กต้องมาเข้าโรงเรียน ไม่ได้อยู่รับใช้พระ ทั้งจะหาเงินมาบำรุงสถานที่เล่าเรียนได้ยาก
(๓)สงสัยว่า ถ้าจะตั้งโรงเรียนขึ้น ต่างว่าตำบลละโรง จะยังไม่สะดวกพอสำหรับการไปมา
(๔)ถ้าจะตั้งให้มากกว่านั้น สงสัยว่า จะเก็บเงินการศึกษาพลีมาบำรุงไม่ได้พอ
(๕)กลัวจะเก็บเงินศึกษาพลีไม่ได้ดังคาด เพราะแม้การเก็บรัชชูปการปีละ ๖ บาทยังเป็นปัญหาเสียแล้วว่าเป็นผลสำเร็จแล้วหรือ
(๖)พระราชบัญญัตินี้จะทำให้เด็กเป็นคนจรจัด จะต้งองเป็นภาระรัฐบาลจัดอีก (จะต้องหาเงินอีก)
เสนาบดีศึกษาตอบดังนี้
(๑)ฝ่ายนครบาลจะยังไม่เข้าใจคำว่า "ศึกษา" ตรงกันกับเจ้าหน้าที่ การศึกษาไม่ใช่เรียนหนังสืออย่างเดียว แต่เป็นการอบรมเด็กให้เป็นประโยชน์ตามอัตตภาพของตน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มุ่งหมายจะให้คนเป็นเสมียนรับราชการไปหมดทั้งนั้นดังว่า ข้อที่ว่าตัดทอนกำลังแลเปลืองทรัพย์ ก็เห็นว่ามีทางผ่อนอยู่แล้ว จะไม่เป็นเช่นนั้น
(๒)ไม่ปลีก เพราะที่มีมาแล้ว โรงเรียนก็อยู่ในวัด พระดูก็ยินดี ไม่รังเกียจ
(๓)มิได้ตั้งใจจะให้ตั้งแต่โรงเรียนเดียวในตำบล ๑ เพราะหลายโรง จำนวนนักเรียนก็คงที่เท่ากันอยู่
(๔)ถึงศึกษาพลีไม่พอบำรุงโรงเรียน ก็อาจใช้วิธีอื่นได้ เช่น ราษฎรสมัครออกเอง
(๕)การเก็บศึกษาพลีคงไม่ยากเหมือนรัชชูปการ เพราะเอามาใช้ประจำตำบลที่เก็บ ไม่น่ารังเกียจ
(๖)เป็นเรื่องที่จะต้องมีพระราชบัญญัติดรุณาภิบาลอีกส่วน ๑ ไม่เกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้
ได้รับพระราชทานแนบร่างพระราชบัญญัติฉบับที่แก้ใหม่พร้อมกับร่างเก่าแลบันทึกข้อโต้เถียงระหว่างกระทรวงนครบาลกับกระทรวงศึกษามาด้วย เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการตอบมาถูกต้องแล้ว.
อนึ่ง เสนาบดีต่างประเทศทรงทักการแปลคำแบ่งท้องที่ว่าไม่เป็นระเบียบแน่นอน ทรงเห็นควรกำหนดลงให้เป็นแบบจะดี ดังนี้
มณฑล Province
จังหวัด Township คำว่า Township เข้าใจว่าใช้แต่สำหรับหมู่บ้านใหญ่ ๆ (หรือเมืองที่พึ่งจะเริ่มโตขึ้น).
อำเภอ District (กิ่งอำเภอ Sub-district)
ตำบล Village
หมู่บ้าน Hamlet
คำแบ่งท้องที่นี้ พระราชบัญญัติรถไฟก็ใช้ไปอีกอย่าง ๑
แต่ในร่างพระราชบัญญัติประถมศึกษานี้ นายกียองอ้างว่า อนุโลมตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ (ซึ่งใช้ตามกระแสพระราชนิยม) ได้รับพระราชทานตรวจเรื่องดูตลอด ไม่ปรากฏว่า บันทึกพระราชนิยมนี้ได้พระราชทานไปแห่งอื่นนอกจากมหาดไทย พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่า ถ้าเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ได้ทราบว่า เป็นพระราชนิยมแปลดังนี้แล้ว คงไม่มีเหตุอะไรดีขึ้นไปกว่าการที่จะทำให้วิธีแปลตามหลักนี้เป็นระเบียบอันเป็น เห็นว่าควรวางลงเป็นระเบียบดังนี้
ตามหลักพระราชนิยมแปลดังนี้
มณฑล Circle มณฑล - Circle
จังหวัด - Province
นคร - City (คือ เมืองหลวงของมณฑลเป็นต้น, แลกรุง)
เมือง Province (ภายหลังเปลี่ยนเมืองเป็นจังหวัด คำว่าเมืองคงใช้แต่สำหรับ Town) เมือง - Town
อำเภอ District อำเภอ - District
กิ่งอำเภอ Sub-district กิ่งอำเภอ - Sub-district
ตำบล Township ตำบล - Commune
หมู่บ้าน Village หมู่บ้าน - Village
จงบอกไปให้กระทรวงต่าง ๆ ทราบทั่วกัน.
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้า พระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ขอเดชะ. (พระบรมนามาภิไธย)
ราม ร.

  1. 1.0 1.1 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  2. ในต้นฉบับเว้นว่างไว้