ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช 2484

จาก วิกิซอร์ซ
ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ควบคุมการขอทาน
พุทธศักราช ๒๔๘๔

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)
  • อาทิตย์ทิพอาภา
  • พล.อ. พิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔
เป็นปีที่ ๘ ในรัชชกาลปัจจุบัน

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรมีกฎหมายควบคุมการขอทาน

จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช ๒๔๘๔”

มาตราให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป แต่จะใช้ในท้องที่ใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา

มาตราตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ให้ยกเลิกบรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตราการปฏิบัติอันเป็นกิจวัตรตามลัทธิสาสนา ไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตราในพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีแห่งกรมซึ่งรัฐมนตรีกำหนดให้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้หมายความตลอดถึง บุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัตินี้

“สถานสงเคราะห์” หมายความว่า สถานที่ซึ่งรัฐมนตรีกำหนด หรือจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการควบคุมตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตราห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทาน

การขอทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิได้ทำการงานอย่างใด หรือให้ทรัพย์สินสิ่งใดตอบแทน และมิใช่เป็นการขอกันในฐานญาติมิตรนั้น ให้ถือว่า เป็นการขอทาน

การขับร้อง การดีดสีตีเป่า การแสดงการเล่นต่าง ๆ หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันนั้น เมื่อมิได้มีข้อตกลงโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเรียกเก็บค่าฟังค่าดู แต่ขอรับทรัพย์สินตามแต่ผู้ฟังผู้ดูจะสมัครใจให้นั้น ไม่ให้รับฟังเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้ทำการขอทานตามบทบัญญัติแห่งมาตรานี้

มาตราเมื่อปรากฏจากการสอบสวนว่า ผู้ใดทำการขอทาน และผู้นั้นเป็นคนชราภาพหรือเป็นคนวิกลจริต พิการ หรือเป็นคนมีโรค ซึ่งไม่สามารถประกอบการอาชีพอย่างใด และไม่มีทางเลี้ยงชีพอย่างอื่น ทั้งไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดู ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์

มาตราเมื่อปรากฏจากการสอบสวนว่า ผู้ที่ทำการขอทานไม่อยู่ในลักษณะดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ไปติดต่อกับสำนักงานจัดหางานของรัฐบาลเพื่อได้รับความช่วยเหลือจากสถานที่ดังกล่าวนั้นต่อไป

ถ้าภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งดั่งกล่าวในวรรคก่อน ผู้รับคำสั่งหาได้ไปติดต่อกับสถานที่ตามคำสั่งนั้นไม่ก็ดี ไปติดต่อแล้วแต่ไม่ยอมรับการช่วยเหลือโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นข้อแก้ตัวก็ดี หรือได้รับการช่วยเหลือแล้ว ต่อมาได้ละทิ้งการช่วยเหลือนั้นเสียก็ดี หรือใช้อุบายด้วยประการใด หลีกเลี่ยงไม่ยอมทำการงานหรือรับการช่วยเหลือซึ่งทางการแห่งสถานที่ที่กล่าวแล้ว ได้จัดการช่วยเหลือให้มีงานทำ หรือมีที่อยู่กินอาศัยก็ดี และปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำการขอทานอีก ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวไปยังแหล่งประกอบการงาน ตามนัยแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานให้ผู้ไร้อาชีพ

มาตราผู้ที่ถูกส่งไปยังสถานสงเคราะห์นั้นอยู่ในอำนาจการควบคุมของอธิบดี อธิบดีอาจมอบหมายให้ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายกเทศมนตรีเป็นผู้มีอำนาจควบคุมต่อไปอีกชั้นหนึ่งได้

ถ้าปรากฏว่า ผู้ที่ถูกส่งไปยังสถานสงเคราะห์นั้นมีที่อาศัยและทางดำรงชีพพอสมควรแก่อัตตภาพ ให้อธิบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพิจารณาปล่อยตัวไป ถ้าบุคคลนั้นเป็นโรคเรื้อน วัณโรค หรือโรคติดต่ออันตรายจะต้องมีหลักฐานแสดงให้เป็นที่พอใจด้วยว่า ได้พ้นเขตต์ระยะติดต่อแพร่หลายแล้ว หรือเมื่อปล่อยตัวไปแล้วจะไปอยู่ในที่ซึ่งมีขอบเขตต์จำกัดการแพร่หลายของโรคดั่งว่านั้น

มาตรา๑๐อธิบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะสั่งให้ผู้ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ทำการงานตามที่เห็นสมควร หรือจะส่งไปทำการงานที่อื่นก็ได้

มาตรา๑๑ถ้าผู้ที่ถูกส่งไปยังสถานสงเคราะห์หรือที่อื่นใดเป็นโรคเรื้อน หรือวัณโรคหรือโรคติดต่ออันตราย ให้แยกการควบคุมผู้นั้นไว้เพื่อป้องกันมิให้โรคนั้นแพร่หลายและติดต่อ

มาตรา๑๒ให้อธิบดีตราข้อบังคับกำหนดวินัยแห่งความประพฤติขึ้น

โทษทางวินัยพึงทำได้ไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ ดั่งต่อไปนี้ คือ

(ก)ขัง หรือขังห้องมืด

(ข)ตัดหรือลดประโยชน์อันจัดขึ้นเพื่อดำเนินการควบคุม

มาตรา๑๓ผู้ที่ถูกส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์หรือที่อื่นใด ไม่ไปหรือหลบหนีจากสถานที่นั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา๑๔ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจกำหนดกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้มีหน้าที่ควบคุมดำเนินการปฏิบัติ กับมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • พิบูลสงคราม
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"