พระราชบัญญัติคืนฐานะเดิมแก่ข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือตำรวจฯ พุทธศักราช 2489
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรคืนฐานะเดิมแก่ข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือตำรวจซึ่งกระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่นอันเป็นนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พุทธศักราช ๒๔๘๙
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคืนฐานะเดิมแก่ข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือตำรวจ ซึ่งกระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พุทธศักราช ๒๔๘๙”
มาตรา๒พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา๓ข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือตำรวจซึ่งกระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น หรือดำเนินงานเพื่อการนั้น อันเป็นนิรโทษกรรมตามพระราชพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พุทธศักราช ๒๔๘๙ ถ้าได้ลาออกจากราชการก็ดี หรือถูกปลดออกจากราชการก็ดี ให้กระทรวงเจ้าสังกัดรับบรรจุกลับเข้าเป็นข้าราชการในตำแหน่งเดิม ในเมื่อมีตำแหน่งว่าง
ถ้าจะรับบรรจุกลับเข้าเป็นข้าราชการในตำแหน่งเดิมไม่ได้ ก็ให้บรรจุในตำแหน่ง ชั้น และอันดับอันไม่ต่ำกว่าที่ข้าราชการผู้นั้นเคยได้อยู่เดิม
มาตรา๔ให้กระทรวงเจ้าสังกัดสอบสวนให้ได้ความชัดก่อนว่า ข้าราชการที่ได้ลาออกหรือถูกปลดออกนั้นได้ลาออกหรือถูกปลดออกเพราะไปทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่นหรือดำเนินงานเพื่อการนั้นจริง แม้เหตุผลในใบลาหรือการปลดจะเป็นอย่างอื่นก็ตาม แล้วจึงรับบรรจุกลับเข้าประจำการตามความในมาตรา ๓
มาตรา๕ข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือตำรวจซึ่งได้รับบรรจุกลับเข้าประจำการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า มีวันราชการติดต่อกัน คือ เวลาก่อนวันที่ลาออกหรือถูกปลดออก กับวันที่ได้กลับเข้ารับราชการนั้น ให้นับสำหรับคำนวณเบี้ยหวัดหรือบำเหน็จบำนาญด้วย
มาตรา๖ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- ปรีดี พนมยงค์
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "พระราชบัญญัติคืนฐานะเดิมแก่ข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือตำรวจฯ พุทธศักราช 2489". (2489, 9 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 63, ตอน 29 ก. หน้า 292–295.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"