พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕/๓ มีนาคม ๒๕๕๑/หมวด ๑๐

จาก วิกิซอร์ซ
หมวด ๑๐
บทกำหนดโทษ[1]


มาตรา ๖๒[2] ห้ามมิให้บุคคลใดนอกจาก ธปท. ใช้คำว่า “ชาติ” “รัฐ” “ประเทศไทย” หรือ “กลาง” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อหรือคำแสดงชื่อธนาคาร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๖๓[3] บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา ๖๔[4] ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๘/๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๕[5] สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะปฏิบัติถูกต้อง

มาตรา ๖๖[6] ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใด เบียดบังทรัพย์สินนั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๗[7] ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างผู้ใดใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๘[8] ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๙[9] ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างผู้ใดกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๐[10] ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่ ธปท. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๑[11] ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ ธปท. มอบหมายหรือตามข้อบังคับของ ธปท. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๒[12] ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่จ่ายทรัพย์สิน จ่ายทรัพย์สินนั้นเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๓[13] ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๔[14] ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างผู้ใดล่วงรู้กิจการของ ธปท. อันเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ อันเป็นกิจการที่ตามปกติวิสัยพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย หรือเป็นกิจการที่คณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี มีมติให้สงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับแก่การเปิดเผยในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) การเปิดเผยตามหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี

(๒) การเปิดเผยเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(๓) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

(๔) การเปิดเผยแก่ผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

(๕) การเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในประเทศและต่างประเทศ การเปิดเผยแก่ทางการหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่กำกับดูแลหลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์ หรือกำกับดูแลสถาบันการเงิน

(๖) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

มาตรา ๗๕[15] ผู้ใดนอกจากบุคคลตามมาตรา ๗๔ รู้ความลับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ ธปท. ตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้ความลับดังกล่าวซึ่งมิใช่เป็นการปฏิบัติการตามกฎหมายหรือตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. หมวด ๑๐ บทกำหนดโทษ มาตรา ๖๒ ถึง มาตรา ๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  2. มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  3. มาตรา ๖๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  4. มาตรา ๖๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  5. มาตรา ๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  6. มาตรา ๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  7. มาตรา ๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  8. มาตรา ๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  9. มาตรา ๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  10. มาตรา ๗๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  11. มาตรา ๗๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  12. มาตรา ๗๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  13. มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  14. มาตรา ๗๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  15. มาตรา ๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"