พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕/๓ มีนาคม ๒๕๕๑/หมวด ๙

จาก วิกิซอร์ซ
หมวด ๙
การบัญชี การตรวจสอบ การสอบบัญชี และการรายงาน[1]


มาตรา ๕๓[2] ปีการเงินของ ธปท. ให้เป็นไปตามปีปฏิทิน

มาตรา ๕๔[3] การบัญชีของ ธปท. ให้จัดทำตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เว้นแต่คณะกรรมการ ธปท. จะกำหนดเฉพาะเรื่องเป็นอย่างอื่นเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติของธนาคารกลางอื่นโดยทั่วไป

มาตรา ๕๕[4] ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะหนึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง ไม่น้อยกว่าสามคนและไม่เกินห้าคน ซึ่งต้องมาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. อย่างน้อยสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาจากบุคคลภายนอกอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการตรวจสอบกิจการของ ธปท. และรายงานต่อคณะกรรมการ ธปท. และรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส

มาตรา ๕๖[5] ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของ ธปท.

มาตรา ๕๗[6] ภายในเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีการเงิน ให้ ธปท. เสนองบการเงินของ ธปท. ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตรประจำปีการเงินนั้นซึ่งผู้ว่าการได้รับรองและผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้วต่อรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในการเสนองบการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ ธปท. เสนอรายงานของคณะกรรมการ ธปท. สรุปผลการดำเนินการของ ธปท. ภายในรอบปีนั้นต่อรัฐมนตรีด้วย

มาตรา ๕๘[7] ให้ ธปท. จัดทำรายงานแสดงฐานะของเงินสำรองระหว่างประเทศของทางการทั้งในฐานะรวม ฐานะสุทธิ และฐานะล่วงหน้าสุทธิ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นประจำทุกเดือน

มาตรา ๕๙[8] ทุกสิ้นสัปดาห์ ให้ ธปท. เผยแพร่รายงานแสดงฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของ ธปท. ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร และเสนอต่อรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๖๐[9] เพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทางการเงินหรือของระบบสถาบันการเงิน ให้ ธปท. จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อรัฐมนตรีเป็นประจำทุกเดือน โดยต้องวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินงานด้วย

มาตรา ๖๑[10] ทุกหกเดือน ให้ ธปท. จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน แนวทางการดำเนินงานและประเมินผล เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ ทั้งนี้ ให้จัดทำรายงานภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน และวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของทุกปี


เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. หมวด ๙ การบัญชี การตรวจสอบ การสอบบัญชี และการรายงาน มาตรา ๕๓ ถึง มาตรา ๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  2. มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  3. มาตรา ๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  4. มาตรา ๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  5. มาตรา ๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  6. มาตรา ๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  7. มาตรา ๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  8. มาตรา ๕๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  9. มาตรา ๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  10. มาตรา ๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"