ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕/๓ มีนาคม ๒๕๕๑/หมวด ๔

จาก วิกิซอร์ซ


หมวด ๔
คณะกรรมการ[1]


มาตรา ๑๗[2] ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ธปท. ตามมาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้

(๑) คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ธปท.” เพื่อควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งการบริหารงานของ ธปท.

(๒) คณะกรรมการนโยบายการเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายการเงินของประเทศ

(๓) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน

(๔) คณะกรรมการระบบการชำระเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ ธปท. กำกับดูแล และระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน

กรรมการในคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่บัญญัติในหมวดนี้ในส่วนที่ว่าด้วยคณะกรรมการแต่ละคณะ ทั้งนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์สำหรับการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการนั้น ๆ

มาตรา ๑๘[3] กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ ต้องมีสัญชาติไทย และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(๓) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๕) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๖) เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ

(๗) เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท.

มาตรา ๑๙[4] ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือน้อยกว่าเก้าสิบวัน และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน

มาตรา ๒๐[5] นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) อายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๘

(๕) ขาดการประชุมคณะกรรมการเกินสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๖) รัฐมนตรีให้ออกตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ธปท. เนื่องจากมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง โดยต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

มาตรา ๒๑[6] การประชุมคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ามีรองประธานมากกว่าหนึ่งคน ให้รองประธานที่มีอาวุโสสูงสุดในที่ประชุมเป็นประธานในที่ประชุม แต่ถ้าทั้งประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมให้เลื่อนการประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๒[7] ในการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณา ให้แจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หรือคณะกรรมการระบบการชำระเงิน แล้วแต่กรณีทราบ การแจ้ง การพิจารณา และการมีคำสั่งเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียของประธานกรรมการหรือกรรมการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อบังคับที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

มาตรา ๒๓[8] ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด และให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ธปท.


ส่วนที่ ๑
คณะกรรมการ ธปท.


มาตรา ๒๔[9] ให้คณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการ รองผู้ว่าการสามคน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกห้าคน เป็นกรรมการ ให้ผู้ว่าการเป็นรองประธานกรรมการและแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

มาตรา ๒๕[10] คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการและการดำเนินการของ ธปท. เพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ เว้นแต่กิจการและการดำเนินการที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินกิจการและการดำเนินการของ ธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ

(๒) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กร และการบริหารงานบุคคล

(๓) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน

(๔) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนได้เสียและจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ ผู้ว่าการพนักงานและลูกจ้าง

(๕) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจ การรักษาการแทน การบริหารงาน หรือดำเนินกิจการอื่นใด

(๖) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยงบประมาณและรายจ่าย และการจัดซื้อและจัดจ้าง

(๗) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการให้กู้ยืมเงินการสงเคราะห์และให้สวัสดิการต่าง ๆ แก่พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว

(๘) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ ๓ ของหมวด ๖

(๙) พิจารณาให้ความเห็นชอบการตั้งและการเลิกสาขาหรือสำนักงานตัวแทน

(๑๐) กำหนดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรา ๕๕

(๑๑) กำกับดูแลการจัดทำงบการเงิน รายงานประจำปี และรายงานอื่น ๆ ของ ธปท. ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

(๑๒) ปฏิบัติการอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น

มาตรา ๒๖[11] ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับแก่ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. โดยอนุโลม

มาตรา ๒๗[12] ในวาระเริ่มแรก เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบหนึ่งปีหกเดือน ให้ออกจากตำแหน่งสามคนโดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตำแหน่งโดยการจับสลากดังกล่าวเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ

มาตรา ๒๘[13] ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา ๒๘/๑ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง

หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการในคณะกรรมการ ธปท. เท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เว้นแต่มีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเจ็ดคน

มาตรา ๒๘/๑[14] ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการดังกล่าวในคณะกรรมการ ธปท. และให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

คณะกรรมการคัดเลือกตามวรรคหนึ่งให้แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

กรรมการคัดเลือกจะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์ หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในขณะที่ได้รับการแต่งตั้ง และในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการคัดเลือก

ให้ประธานกรรมการคัดเลือกและกรรมการคัดเลือกได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด และให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ธปท.

มาตรา ๒๘/๒[15] ให้คณะกรรมการคัดเลือกกำหนดระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ และลักษณะการมีส่วนได้เสียของผู้ทรงคุณวุฒิที่อาจขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ธปท. อย่างเพียงพอ เพื่อที่คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกได้

ระเบียบตามวรรคหนึ่งให้มีผลใช้บังคับต่อไปแม้คณะกรรมการคัดเลือกที่กำหนดระเบียบดังกล่าวจะพ้นจากตำแหน่งแล้ว

การแก้ไขเพิ่มเติม การยกเลิก หรือการกำหนดระเบียบขึ้นใหม่จะกระทำได้ก็แต่โดยคณะกรรมการคัดเลือกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ให้คณะกรรมการคัดเลือกเปิดเผยระเบียบที่กำหนดขึ้นตามมาตรานี้ในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้

มาตรา ๒๘/๓[16] การประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการคัดเลือกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา ๒๘/๔[17] คณะกรรมการคัดเลือกทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อการดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วแต่กรณีเสร็จสิ้น

มาตรา ๒๘/๕[18] ให้ผู้ว่าการและปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๘ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์สำหรับการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ ธปท. ต่อคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. แล้วแต่กรณี โดยให้ผู้ว่าการเสนอเป็นจำนวนไม่เกินสองเท่า และปลัดกระทรวงการคลังเสนอเป็นจำนวนไม่เกินหนึ่งเท่าของจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้งตามลำดับ

เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งแล้ว ในกรณีประธานกรรมการให้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบแล้วให้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ในกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง


ส่วนที่ ๒
คณะกรรมการนโยบายการเงิน


มาตรา ๒๘/๖[19] ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้งจำนวนสี่คน เป็นกรรมการ

ให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

มาตรา ๒๘/๗[20] ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศโดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะทางเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศ

(๒) กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

(๓) กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม (๑) และ (๒)

(๔) ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (๓) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน

มาตรา ๒๘/๘[21] ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินจัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไป เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและ ธปท. ในการดำเนินการใด ๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคาโดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรี และให้รัฐมนตรีเสนอเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ได้ทำความตกลงร่วมนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงินอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเป้าหมายของนโยบายการเงินได้โดยต้องดำเนินการตามที่กำหนดในวรรคหนึ่ง


ส่วนที่ ๓
คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน


มาตรา ๒๘/๙[22] ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวนห้าคนเป็นกรรมการ

ให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

มาตรา ๒๘/๑๐[23] ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน และติดตามการดำเนินการของ ธปท. ตามมาตรา ๘ (๕) และ (๗) รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสถาบันการเงิน

(๒) กำหนดนโยบายการเปิดและปิดสาขาสถาบันการเงิน

(๓) กำหนดอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(๔) เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันการเงินรายใหม่

ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ ธปท. ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด


ส่วนที่ ๔
คณะกรรมการระบบการชำระเงิน


มาตรา ๒๘/๑๑[24] ให้คณะกรรมการระบบการชำระเงิน ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ประธานสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวนสามคนเป็นกรรมการ

ให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

มาตรา ๒๘/๑๒[25] คณะกรรมการระบบการชำระเงินมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ ธปท. กำกับดูแลและระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยตลอดจนดำเนินไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามการดำเนินงานของ ธปท. ตามมาตรา ๘ (๖)

ให้คณะกรรมการระบบการชำระเงินรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ ธปท. ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด


เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. หมวด ๔ คณะกรรมการ มาตรา ๑๗ ถึง มาตรา ๒๘/๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  2. มาตรา ๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  3. มาตรา ๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  4. มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  5. มาตรา ๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  6. มาตรา ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  7. มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  8. มาตรา ๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  9. มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  10. มาตรา ๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  11. มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  12. มาตรา ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  13. มาตรา ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  14. มาตรา ๒๘/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  15. มาตรา ๒๘/๒ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  16. มาตรา ๒๘/๓ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  17. มาตรา ๒๘/๔ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  18. มาตรา ๒๘/๕ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  19. มาตรา ๒๘/๖ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  20. มาตรา ๒๘/๗ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  21. มาตรา ๒๘/๘ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  22. มาตรา ๒๘/๙ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  23. มาตรา ๒๘/๑๐ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  24. มาตรา ๒๘/๑๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  25. มาตรา ๒๘/๑๒ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"