พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕/๓ มีนาคม ๒๕๕๑/หมวด ๕ ทวิ
มาตรา ๒๙ ทวิ[2] ในหมวดนี้
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า
(๑) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(๒) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และ
(๓) สถาบันอื่นที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุน
มาตรา ๒๙ ตรี[3] ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกว่า “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” ให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยมี “ฝ่ายจัดการกองทุน” เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น ๆ
มาตรา ๒๙ จัตวา[4] กองทุนประกอบด้วย
(๑) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๒๙ เบญจ และมาตรา ๒๙ สัตต
(๒) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้
(๓) เงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ตกเป็นของกองทุน
(๔) ดอกผลของกองทุน
มาตรา ๒๙ เบญจ[5] ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อัตราดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของยอดเงินฝาก ยอดเงินกู้ยืมหรือยอดเงินที่รับจากประชาชน แล้วแต่กรณี ที่สถาบันการเงินแห่งนั้นมีอยู่ ณ วันสิ้นงวดการบัญชีรอบระยะเวลาหกเดือนก่อนหน้างวดที่จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด
ในกรณีที่กองทุนเข้ารับประกันเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน คณะกรรมการจัดการกองทุนจะกำหนดให้สถาบันการเงินต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนในอัตราไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของยอดหนี้สินที่กองทุนรับประกันที่สถาบันการเงินแห่งนั้นมีอยู่ ณ วันสิ้นงวดการบัญชีรอบระยะเวลาหกเดือนก่อนหน้างวดที่จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้ โดยให้นำส่งพร้อมกับการนำส่งเงินตามวรรคหนึ่ง
อัตราตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจะกำหนดให้แตกต่างกันตามประเภทของสถาบันการเงินก็ได้
การคำนวณเงินนำส่งเข้ากองทุน มิให้นำเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่สถาบันการเงินได้จากกองทุนมารวมคำนวณเข้าด้วย
ในกรณีที่กองทุนมีเงินและทรัพย์สินเพียงพอที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว คณะกรรมการจัดการกองทุนจะประกาศงดการนำส่งเงินเข้ากองทุนก็ได้
มาตรา ๒๙ ฉ[6] สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนให้ถูกต้องและครบถ้วนตามมาตรา ๒๙ เบญจ ต้องเสียเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงินอีกไม่เกินสองเท่าของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินนั้นนำส่งไม่ครบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด
มาตรา ๒๙ สัตต[7] ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาจัดสรรเงินสำรองตามมาตรา ๙ ส่งสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นคราว ๆ ไป
ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจออกเงินทดรองให้กองทุนไปก่อนได้ตามความจำเป็น แต่กองทุนต้องชำระคืนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด และคณะกรรมการอาจกำหนดให้กองทุนจ่ายค่าตอบแทนสำหรับเงินที่จ่ายทดรองดังกล่าวได้
มาตรา ๒๙ อัฏฐ[8] ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา ๒๙ ตรี และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(๒) ค้ำประกันหรือรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน
(๓) มีเงินฝากไว้ในสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการจัดการกองทุนเห็นว่าจำเป็นและสมควร
(๔) กู้หรือยืมเงิน ออกตั๋วเงินและพันธบัตร
(๕) ลงทุนเพื่อนำมาซึ่งรายได้ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดการกองทุน
(๖) ทำกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
มาตรา ๒๙ นว[9] ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการจัดการกองทุน” ประกอบด้วยผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเก้าคน ให้ผู้จัดการเป็นเลขานุการคณะกรรมการจัดการกองทุน
มาตรา ๒๙ ทศ[10] กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
ในกรณีที่กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา ๒๙ เอกาทศ[11] นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๙ ทศ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออก
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๒๙ ทวาทศ[12] การประชุมของคณะกรรมการจัดการกองทุนต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๒๙ เตรส[13] คณะกรรมการจัดการกองทุนมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของกองทุน อำนาจและหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ออกข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา ๒๙ ตรี มาตรา ๒๙ เบญจ และมาตรา ๒๙ อัฏฐ
(๒) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดการกองทุน
(๓) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้จัดการ
(๔) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย
มาตรา ๒๙ จตุทศ[14] ให้ประธานกรรมการและกรรมการจัดการกองทุนได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๙ ปัณรส[15] ให้คณะกรรมการจัดการกองทุนเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนผู้จัดการ
ผู้จัดการนั้นให้แต่งตั้งจากพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย
มาตรา ๒๙ โสฬส[16] ผู้จัดการมีหน้าที่ดำเนินกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของกองทุน และตามนโยบายหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด
ในการดำเนินกิจการ ผู้จัดการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการจัดการกองทุน
มาตรา ๒๙ สัตตรส[17] ในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนของกองทุน และเพื่อการนี้ ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด
มาตรา ๒๙ อัฏฐารส[18] เงินของกองทุนให้นำมาใช้จ่ายได้เฉพาะเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของกองทุนตามที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดรวมทั้งค่าตอบแทนต่าง ๆ ตามหมวดนี้
วรรคสอง[19] (ยกเลิก)
มาตรา ๒๙ เอกูนวีสติ[20] ให้กองทุนวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้องมีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำและมีสมุดบัญชีลงรายการ
(๑) การรับและจ่ายเงิน
(๒) สินทรัพย์และหนี้สิน
ซึ่งแสดงการเงินที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรพร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น
มาตรา ๒๙ วีสติ[21] ทุกปี ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและตรวจบัญชีรวมทั้งการเงินของกองทุน
มาตรา ๒๙ เอกวีสติ[22] ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลของการสอบบัญชีเสนอรัฐมนตรีภายในเก้าสิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชี และให้ส่งสำเนารายงานดังกล่าวต่อธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ หมวด ๕ ทวิ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มาตรา ๒๙ ทวิ ถึง มาตรา ๒๙ เอกวีสติ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ ทวิ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ ตรี เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ จัตวา เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ เบญจ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐
- ↑ มาตรา ๒๙ ฉ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ สัตต เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ อัฏฐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
- ↑ มาตรา ๒๙ นว เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ ทศ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ เอกาทศ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ ทวาทศ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ เตรส เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ จตุทศ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ ปัณรส เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ โสฬส เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ สัตตรส เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ อัฏฐารส เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ อัฏฐารส วรรคสอง ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
- ↑ มาตรา ๒๙ เอกูนวีสติ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ วีสติ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
- ↑ มาตรา ๒๙ เอกวีสติ เพิ่มโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"