พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕/๓ มีนาคม ๒๕๕๑/หมวด ๖

จาก วิกิซอร์ซ


หมวด ๖
การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ธปท.[1]

ส่วนที่ ๑
การออกธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร


มาตรา ๓๐[2] ให้ ธปท. เป็นผู้ออกธนบัตรของรัฐบาลโดยอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

มาตรา ๓๑[3] ให้ ธปท. มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะออกบัตรธนาคารในราชอาณาจักร

ให้ถือว่าบัตรธนาคารที่ ธปท. ออกตามวรรคหนึ่งเป็นธนบัตรตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา และให้การออกและจัดการบัตรธนาคารอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวด้วย

มาตรา ๓๒[4] ให้ถือว่าบัตรธนาคารเป็นเงินตราตามประมวลกฎหมายอาญา


ส่วนที่ ๒
การดำเนินนโยบายการเงิน


มาตรา ๓๓[5] ให้ ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนด โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับเงินฝากประจำหรือกระแสรายวันตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนด

(๒) กำหนดอัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามมาตรา ๔๑ (๑)

(๓) ซื้อขายและแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต ซึ่งเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

(๔) กู้ยืมเงินตราต่างประเทศเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งค่าของเงินตรา โดยวิธีออกตั๋วเงินที่กำหนดระยะเวลาใช้เงิน หรือพันธบัตร หรือวิธีการอื่นใด และจัดให้มีหลักประกันสำหรับเงินกู้ยืมนั้นด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

(๕) กู้ยืมเงินเพื่อการดำเนินนโยบายการเงินโดยจัดให้มีหลักประกันสำหรับเงินกู้ยืมนั้น

(๖) เข้าชื่อซื้อ ซื้อขาย และแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต ซึ่งหลักทรัพย์เท่าที่จำเป็นเพื่อควบคุมปริมาณเงินในระบบการเงินของประเทศดังต่อไปนี้

(ก) หลักทรัพย์ของรัฐบาลไทยหรือหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย
(ข) หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ตามที่ ธปท. กำหนด
(ค) ตั๋วเงิน พันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่ ธปท. เป็นผู้ออก
(ง) ตราสารหนี้อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

(๗) ยืมหรือให้ยืมโดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทนซึ่งหลักทรัพย์ตาม (๖) โดยในกรณีที่เป็นการให้ยืมต้องมีสินทรัพย์หลักประกันชั้นหนึ่งตามที่ ธปท. กำหนดเป็นหลักประกัน

(๘) ขายและจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ธปท. เพื่อบังคับสิทธิเรียกร้องของ ธปท. ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

(๙) ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินนโยบายการเงินตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนด

ซื้อขายตามวรรคหนึ่ง (๓) และ (๖) อาจมีข้อกำหนดอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้

(๑) กำหนดให้ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินและผู้ซื้อชำระราคาทันทีภายในเวลาที่กำหนดไว้

(๒) กำหนดให้ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินและผู้ซื้อชำระราคา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตเป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้

(๓) กำหนดให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำสัญญาซื้อขายภายในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต เป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้

(๔) กำหนดให้ผู้ซื้อขายคืนและผู้ขายซื้อคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตเป็นจำนวนและราคาที่กำหนดไว้

(๕) ข้อกำหนดอื่น ๆ ตามที่ ธปท. กำหนด

แลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคตตามวรรคหนึ่ง (๓) และ (๖) ได้แก่ สัญญาซึ่งคู่สัญญาตกลงแลกเปลี่ยนภาระการรับจ่ายดอกเบี้ยหรือแลกเปลี่ยนภาระการรับจ่ายเงินตราต่างสกุล ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้

มาตรา ๓๔[6] เพื่อประโยชน์ในการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท. อาจกำหนดให้สถาบันการเงินดำรงเงินฝากไว้ที่ ธปท. นอกจากการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงินที่ ธปท. กำหนดตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. ประกาศกำหนด


ส่วนที่ ๓
การบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.


มาตรา ๓๕[7] ให้ ธปท. มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. ซึ่งรวมถึงการนำสินทรัพย์นั้นไปลงทุนหาประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง และผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ

สินทรัพย์ตามวรรคหนึ่งไม่หมายความรวมถึง สินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

มาตรา ๓๖[8] ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ตามมาตรา ๓๕ หากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ให้กระทำได้เฉพาะสินทรัพย์ต่อไปนี้

(๑) ทองคำ

(๒) เงินตราต่างประเทศอันเป็นเงินตราของประเทศที่รับปฏิบัติตามพันธะที่ตั้งไว้ตามหมวด ๘ แห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งต้องอยู่ในรูปเงินฝากในธนาคารพาณิชย์นอกราชอาณาจักร สถาบันการเงินต่างประเทศนอกราชอาณาจักร สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือต้องอยู่ในรูปเงินที่เก็บรักษาในสถาบันผู้เก็บรักษาหลักทรัพย์นอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามลักษณะหรือคุณสมบัติที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

(๓) หลักทรัพย์ต่างประเทศที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ใน (๒) เฉพาะหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้

(ก) หลักทรัพย์ของรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
(ข) หลักทรัพย์ที่รัฐบาลต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศค้ำประกันการชำระหนี้ตามหลักทรัพย์นั้น
(ค) ตราสารที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกออกให้เป็นหลักฐานว่า ผู้ถือตราสารได้มีส่วนร่วมกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศดังกล่าวในการให้กู้ยืมเงินแก่รัฐบาลสมาชิกหรือองค์การของรัฐบาลสมาชิกของสถาบันการเงินระหว่างประเทศดังกล่าวตามจำนวนดังที่ระบุไว้ในตราสารนั้น
(ง) หลักทรัพย์ที่ออกโดยองค์การหรือนิติบุคคลต่างประเทศอื่นตามที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

(๔) สิทธิซื้อส่วนสำรองตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ

(๕) สิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

(๖) สินทรัพย์อื่นใดที่ ธปท. นำส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และมิได้นับเป็นสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

(๗) สินทรัพย์อื่นตามที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

มาตรา ๓๗[9] ให้ ธปท. รายงานผลการบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. ต่อคณะกรรมการ ธปท. เพื่อทราบเป็นรายไตรมาส


ส่วนที่ ๔
การเป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล


มาตรา ๓๘[10] ให้ ธปท. เป็นนายธนาคารของรัฐบาลโดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับเงินเพื่อเข้าบัญชีฝากของกระทรวงการคลังและจ่ายเงินจำนวนต่าง ๆ ไม่เกินจำนวนลัพธ์ของบัญชีนั้น โดยกระทรวงการคลังไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาบัญชีดังกล่าว และ ธปท. ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามบัญชีฝากให้แก่กระทรวงการคลัง

(๒) รับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ หรือของมีค่าอย่างอื่น รวมทั้งผลประโยชน์ในหลักทรัพย์นั้นไม่ว่าจะเป็นเงินต้นหรือดอกเบี้ยเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล

(๓) แลกเปลี่ยนเงิน ส่งเงินไปต่างประเทศ และกิจการธนาคารบรรดาที่เป็นของรัฐบาล

(๔) เป็นตัวแทนของรัฐบาลในกิจการดังต่อไปนี้

(ก) การซื้อและขายโลหะทองคำและเงิน
(ข) การซื้อ ขาย และโอนตั๋วแลกเงิน หลักทรัพย์ และใบหุ้น
(ค) การควบคุมและการรวมไว้ในแหล่งกลางซึ่งเงินปริวรรตต่างประเทศ
(ง) การทำกิจการอื่นใดของรัฐบาลตามที่ได้รับมอบหมาย

มาตรา ๓๙[11] ธปท. อาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาลก็ได้ และให้มีอำนาจกระทำการในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐบาล

(๒) จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขของหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายตาม (๑)

(๓) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการตาม (๑) และ (๒)

มาตรา ๔๐[12] ธปท. อาจเป็นนายธนาคารของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรืออาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐก็ได้ โดยให้นำความในมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๓๙ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ส่วนที่ ๕
การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน


มาตรา ๔๑[13] ให้ ธปท. เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินโดยมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกเดือน และต้องมีสินทรัพย์หลักประกันชั้นหนึ่งที่ ธปท. กำหนดตามมาตรา ๓๓ (๗) เป็นประกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด

(๒) รับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ หรือของมีค่าอย่างอื่นของสถาบันการเงิน รวมทั้งผลประโยชน์ในหลักทรัพย์นั้นไม่ว่าจะเป็นเงินต้นหรือดอกเบี้ย

(๓) สั่งให้สถาบันการเงินใดส่งรายงานเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพันตามที่ ธปท. กำหนด และอาจเรียกให้สถาบันการเงินชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความในรายงานนั้นได้

การให้กู้ยืมเงินตาม (๑) ให้หมายความรวมถึงการซื้อสินทรัพย์หลักประกันชั้นหนึ่งตามมาตรา ๓๓ (๗) จากสถาบันการเงินโดยมีสัญญาขายคืนแก่สถาบันการเงินนั้นด้วย

มาตรา ๔๒[14] ในกรณีที่สถาบันการเงินใดประสบปัญหาสภาพคล่องอันอาจมีผลกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินเป็นส่วนรวม และ ธปท. เห็นว่าการให้กู้ยืมเงินหรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินนั้น อาจช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และระบบการเงินได้ ธปท. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จะให้กู้ยืมเงินหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินในลักษณะอื่นใดแก่สถาบันการเงินดังกล่าวก็ได้

หากสถาบันการเงินนั้นมีหุ้นหรือทรัพย์สินของสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นใดซึ่งอาจนำมาเป็นประกันได้ ให้นำหุ้นหรือทรัพย์สินนั้นมาเป็นประกันการให้กู้ยืมเงิน หรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินกำหนด

การให้กู้ยืมเงินหรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการซื้อ การซื้อโดยมีสัญญาขายคืน ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินตราสารเปลี่ยนมือ และการก่อภาระผูกพันเพื่อประโยชน์ของสถาบันการเงินด้วย

มาตรา ๔๓[15] ให้ ธปท. เป็นผู้ทรงบุริมสิทธิพิเศษในลำดับก่อนบุริมสิทธิอื่นสำหรับมูลหนี้ที่เกิดจากการให้กู้ยืมเงินหรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามมาตรา ๔๒ และมีอยู่เหนือเงินหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินของสถาบันการเงิน และหุ้นหรือทรัพย์สินของนิติบุคคลอื่นใดที่นำมาเป็นประกันหนี้นั้น ทั้งนี้ เฉพาะที่อยู่ในความครอบครองของ ธปท.


ส่วนที่ ๖
การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน


มาตรา ๔๔[16] ให้ ธปท. จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงินและการบริหารจัดการระบบดังกล่าว เพื่อให้ระบบการชำระเงินเกิดความปลอดภัยตลอดจนดำเนินไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ธปท. ประกาศกำหนด

มาตรา ๔๕[17] ในการดำเนินการระบบการชำระเงินที่ ธปท. จัดตั้งตามมาตรา ๔๔ หาก ธปท. จำเป็นต้องให้กู้ยืมเงินให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการระบบการชำระเงินกำหนด ในกรณีที่เป็นการให้กู้ยืมเงินที่เป็นการให้สภาพคล่องระหว่างวัน ธปท. จะเรียกดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทนหรือกำหนดให้วางหลักประกันหรือไม่ก็ได้


เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. หมวด ๖ การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ธปท. มาตรา ๓๐ ถึง มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  2. มาตรา ๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  3. มาตรา ๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  4. มาตรา ๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  5. มาตรา ๓๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  6. มาตรา ๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  7. มาตรา ๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  8. มาตรา ๓๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  9. มาตรา ๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  10. มาตรา ๓๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  11. มาตรา ๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  12. มาตรา ๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  13. มาตรา ๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  14. มาตรา ๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  15. มาตรา ๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  16. มาตรา ๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑
  17. มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"